ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 175อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 186อ่านอรรถกถา 13 / 195อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
จาตุมสูตร เรื่องพระอาคันตุกะพูดเสียงดัง

               ๗. อรรถกถาจาตุมสูตร               
               จาตุมสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จาตุมายํ คือ ใกล้บ้านจาตุมา.
               บทว่า ปญฺจมตฺตานิ ภิกฺขุสตานิ คือ ภิกษุบวชไม่นานประมาณ ๕๐๐ รูป.
               นัยว่า พระเถระทั้งสองคิดว่า กุลบุตรเหล่านี้บวชแล้ว ไม่เคยเห็นพระทศพลเลย เราจักให้ภิกษุเหล่านี้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. ภิกษุเหล่านี้ฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักตั้งอยู่ตามอุปนิสัยของตน. เพราะฉะนั้น พระเถระทั้งสองจึงพาภิกษุเหล่านั้นมา.
               บทว่า สมฺโมทมานา ปราศรัยกัน คือ ภิกษุทั้งหลายกล่าวคำต้อนรับเป็นต้นว่า อาวุโส สบายดีหรือ.
               บทว่า เสนาสนานิ ปญฺญาปยมานา จัดเสนาสนะ คือกวาดถูที่อยู่ของอาจารย์และอุปัชฌาย์ของตนๆ แล้วเปิดประตูหน้าต่าง นำเตียงตั่งและเสื่อลำแพนเป็นต้นออกปัดกวาดตั้งไว้ในที่ตามลำดับ.
               บทว่า ปตฺตจีวรานิ ปฏิสามยมานา เก็บบาตรและจีวร คือคอยบอกกล่าวถึงสมณบริขารอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ ท่านจงวางบาตรนี้ จีวรนี้ ถาดนี้ คนโทน้ำนี้ ไม้ถือนี้.
               บทว่า อุจฺจาสทฺทา มหาสทฺทา เสียงสูงเสียงดัง คือทำเสียงเอะอะเอ็ดตะโรเพราะขึ้นเสียงสูง เพราะแผดเสียงดัง.
               บทว่า เกวฏฺฏา มญฺเญ มจฺฉํ วิโลเปนฺติ ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน.
               คือ หมู่ชนประชุมกันในที่ที่ชาวประมงวางกระจาดใส่ปลาไว้กล่าวว่า ท่านจงให้ปลาอื่นตัวหนึ่ง จงให้ปลาที่เชือดตัวหนึ่ง แล้วส่งเสียงเอ็ดตะโรลั่นว่า คนนั้นท่านให้ตัวใหญ่ ทีฉันให้ตัวเล็ก ดังนี้. ท่านกล่าวดังนี้หมายถึงการที่ภิกษุเถียงกันนั้น.
               เมื่อวางตาข่ายเพื่อจะจับปลา ชาวประมงและคนอื่นๆ ในที่นั้นส่งเสียงดังว่า ปลาเข้าไปแล้วโดยปลายังไม่เข้าไป จับได้ปลาแล้วโดยยังจับปลาไม่ได้. ท่านกล่าวดังนี้หมายถึงการที่ชาวประมงส่งเสียงดังนั้น.
               บทว่า ปณาเมมิ เราประณาม คือขับไล่ออกไป.
               บทว่า น โว มม สนฺติเก วตฺถพฺพํ พวกเธอไม่ควรอยู่ในสำนักเรา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พวกเธอมาถึงที่อยู่ของพระพุทธเจ้าเช่นเราแล้วยังทำเสียงดังถึงอย่างนี้ เมื่อพวกเธออยู่ตามลำพังของตนๆ จักทำความสมควรได้อย่างไร. พวกเช่นท่านไม่มีกิจที่จะอยู่ในสำนักของเรา. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุแม้รูปหนึ่งก็ไม่อาจทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงประณามพวกข้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุเพียงเสียงดังเลยพระเจ้าข้า หรือคำไรๆ อื่น.
               ภิกษุทั้งหมดรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. แล้วก็พากันออกไป.
               อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นได้มีความหวังว่า เราจักเฝ้าพระศาสดา จักฟังพระธรรมกถา จักอยู่ในสำนักของพระศาสดาดังนี้ จึงได้มา. แต่ครั้นมาเฝ้าพระศาสดาผู้เป็นพระบรมครูเห็นปานนี้แล้ว ยังทำเสียงดัง เป็นความผิดของพวกเรา จึงถูกประณาม. เราไม่ได้เพื่อจะอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้เพื่อจะเห็นพระสรีระสีดังทอง ไม่ได้เพื่อจะฟังธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นมีความโทมนัสอย่างแรง จึงพากันหลีกไป.
               บทว่า เตนูปสงฺกมึสุ เสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น คือนัยว่า เจ้าศากยะเหล่านั้น แม้ในเวลาที่ภิกษุมาก็ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ทรงเห็นภิกษุทั้งหลาย. เจ้าศากยะทั้งหลายได้มีพระวิตก จึงทรงดำริว่า เพราะอะไรหนอ ภิกษุเหล่านี้เข้าไปแล้วจึงพากันกลับ เราจักรู้เหตุนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น.
               บทว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งคำพูด.
               บทว่า กหํ ปน ตุมฺเห พระคุณเจ้าทั้งหลายจะไปไหนกัน คือพระคุณเจ้าทั้งหลายมาประเดี๋ยวเดียวจะพากันไปไหนอีก อันตรายไรๆ เกิดแก่พระคุณเจ้าหรือ หรือว่าเกิดแก่พระทศพล.
               ก็ภิกษุเหล่านั้นแม้จะไม่ปกปิดด้วยคำอย่างนี้ว่า ถวายพระพร อาตมาทั้งหลายมาเพื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้พวกอาตมาได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะกลับไปที่อยู่ของตนๆ ก็จริง แต่ไม่ได้ทำเลศนัยเห็นปานนี้ได้ ทูลตามความเป็นจริงแล้วกล่าวว่า ถวายพระพร ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประณามดังนี้.
               อนึ่ง พระราชาเหล่านั้นทรงขวนขวายในพระศาสนา เพราะฉะนั้นจึงทรงดำริว่า เมื่อภิกษุ ๕๐๐ รูปกับพระอัครสาวกทั้งสองไปกันหมด บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทำลาย. เราจักทำให้ภิกษุเหล่านี้กลับให้จงได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสคำมีอาทิว่า เตนหายสฺมนฺโต ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายอยู่ครู่หนึ่ง.
               บรรดาภิกษุแม้เหล่านั้นไม่มีภิกษุแม้แต่รูปเดียวที่จะเดือดร้อนใจว่า เราถูกประณามด้วยเหตุเพียงทำเสียงดัง. เราบวชแล้วไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้. แต่ภิกษุทั้งหมดรับพระดำรัสพร้อมกัน.
               บทว่า อภินนฺทตุ คือ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาการมาของภิกษุสงฆ์ ขอจงชื่นชมเถิด.
               บทว่า อภิวทตุ คือ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยพระกรุณารับสั่งว่า ขอภิกษุสงฆ์จงมาเถิด.
               บทว่า อนุคฺคหิโต ขอทรงอนุเคราะห์ คือทรงอนุเคราะห์ด้วยอามิสและธรรม.
               บทว่า อญฺญถตฺตํ คือ พึงถึงความน้อยใจว่า เราไม่ได้เห็นพระทศพล.
               บทว่า วิปริณาโม มีความแปรปรวน คือ เมื่อภิกษุสึกด้วยความน้อยใจ พึงถึงความแปรปรวน.
               บทว่า วีชานํ ตรุณานํ เหมือนพืชที่ยังอ่อนคือข้าวกล้าอ่อน.
               บทว่า สิยา อญฺญถตฺตํ พึงเป็นอย่างอื่น คือพืชที่ยังอ่อนเมื่อไม่ได้น้ำในเวลาที่ถึงคราวให้น้ำ พึงถึงความเป็นอย่างอื่นเพราะความเหี่ยว. พึงแปรปรวนเพราะถึงความแห้งเหี่ยว. ลูกวัวซูบผอมเพราะหิวนม ชื่อว่าถึงความเป็นอย่างอื่น. ลูกวัวซูบผอมตาย ชื่อว่าความแปรปรวน.
               บทว่า ปสาทิโต ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเจ้าศากยะและท้าวสหัมบดีพรหมทรงให้เลื่อมใสแล้ว.
               นัยว่า พระเถระนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้เห็นพรหมมาด้วยทิพยจักษุ ได้ยินเสียงทูลวิงวอนด้วยทิพโสต. ได้ทราบความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลื่อมใสแล้วด้วยเจโตปริยญาณ. เพราะฉะนั้นการส่งภิกษุไรๆ ไปจะไม่เป็นที่สบายแก่ภิกษุผู้ถูกเรียกจึงตั้งใจว่า เราจักไปจนกว่าพระศาสดาจะไม่ทรงส่งไป จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย คือเป็นผู้ไม่ขวนขวายในกิจอย่างอื่น.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารํ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะทรงขวนขวายธรรมเป็นเครื่องอยู่คือผลสมาบัติ มีพระประสงค์จะประทับอยู่. บัดนี้ พระองค์จักประทับอยู่ตามชอบใจ พระมหาโมคคัคลานเถระจึงกล่าวว่า จิตของข้าพระองค์ได้เป็นอย่างนี้.
               บทว่า มยมฺปิทานิ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราสั่งสอนผู้อื่นไล่ออกจากวิหาร. ประโยชน์อะไรด้วยโอวาทของผู้อื่นแก่เรา. บัดนี้แม้เราก็จักอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม. พระเถระผิดในฐานะนี้มิได้รู้ว่าเป็นภาระของตน. เพราะภิกษุสงฆ์นี้เป็นภาระของพระมหาเถระแม้ทั้งสอง. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงห้ามพระสารีบุตรนั้น จึงตรัสบทมีอาทิว่า อาคเมหิ เธอจงรอก่อน. ส่วนพระมหาโมคคัลลานเถระได้ทราบว่าเป็นภาระของตน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงประทานสาธุการแก่พระมหาโมคคัลลานเถระนั้น.
               บทว่า จตฺตารีมานิ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภขึ้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเทศนานี้ขึ้น เพื่อทรงแสดงว่าในศาสนานี้มีภัยอยู่ ๔ อย่าง. ผู้ใดไม่กลัวภัยเหล่านั้น ผู้นั้นสามารถดำรงอยู่ในศาสนานี้ได้. ส่วนพวกอื่นนอกนี้ไม่สามารถ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อุทโกโรหนฺเต คือ เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ.
               บทว่า กุมฺภีลภยํ ได้แก่ ภัยแต่จระเข้.
               บทว่า สุสุกภยํ ได้แก่ ภัยแต่ปลาร้าย.
               บทว่า อุมฺมิภยํ ภัยแต่คลื่นนี้ เป็นชื่อของความโกรธและความแค้น. เหมือนอย่างว่า บุคคลหยั่งลงสู่น้ำในภายนอก จมน้ำในคลื่นแล้วตายฉันใด ภิกษุในศาสนานี้จมลงในความโกรธและความแค้น แล้วสึกก็ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น ความโกรธและความแค้น ท่านกล่าวว่า ภัยแต่คลื่น.
               บทว่า กุมฺภีลภยํ ภัยแต่จระเข้นี้เป็นชื่อของความเห็นแก่ท้อง. เหมือนอย่างว่า บุคคลหยั่งลงสู่น้ำภายนอก ถูกจระเข้กัดตายฉันใด ภิกษุในศาสนานี้ก็ฉันนั้น กินเพราะเห็นแก่ท้องย่อมสึก. เพราะฉะนั้น ความเห็นแก่ท้อง ท่านกล่าวว่า ภัยแต่จระเข้.
               บทว่า อรกฺขิเตน กาเยน ไม่รักษากาย คือไม่รักษากายด้วยการสั่นศีรษะเป็นต้น.
               บทว่า อรกฺขิตาย วาจาย ไม่รักษาวาจา คือไม่รักษาด้วยพูดคำหยาบเป็นต้น.
               บทว่า อนุปติฏฺฐิตาย สติยา ไม่ตั้งสติมั่น คือไม่ตั้งสติเป็นไปในกาย.
               บทว่า อสํวุเตหิ ไม่สำรวม คือไม่ปกปิด.
               คำว่า ปญฺจนฺเนตํ กามคุณานํ อธิวจนํ ความว่า บรรพชิตในศาสนานี้ จมลงในกระแสน้ำวนของกามคุณ ๕ แล้วสึกออกไป ก็เหมือนกับบุคคลข้ามน้ำเพื่อไปฝั่งโน้น ครั้นดำลงในกระแสน้ำวนแล้วก็จมตายฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภัยแต่น้ำวนคือกามคุณ ๕.
               บทว่า อนุทฺธํเสติ ย่อมตามกำจัด คือ ทำให้ลำบาก ทำให้หดหู่.
               บทว่า ราคานุทฺ ธํเสน คือ มีจิตอันความกำหนัดกำจัดแล้ว.
               คำว่า มาตุคามสฺเสตํ อธฺวจนํ ความว่า ภัยเพราะปลาร้าย นี้เป็นชื่อของมาตุคาม. เหมือนอย่างว่า บุคคลหยั่งลงสู่น้ำภายนอกได้รับการประหารตายเพราะอาศัยปลาร้ายฉันใด ภิกษุในศาสนานี้ก็ฉันนั้น เกิดกามราคะอาศัยมาตุคามสึก. เพราะฉะนั้น มาตุคาม ท่านจึงกล่าวว่า ภัยแต่ปลาร้าย.
               เมื่อบุคคลกลัวภัย ๔ อย่างนี้แล้วไม่หยั่งลงสู่น้ำ ก็จะไม่ได้รับผลร้ายเพราะอาศัยน้ำ เป็นผู้กระหายเพราะอยากน้ำ และเป็นผู้มีร่างกายเศร้าหมองเพราะฝุ่นละอองฉันใด. เมื่อภิกษุกลัวภัย ๔ อย่างเหล่านี้แล้ว แม้ไม่บวชในศาสนา ก็ไม่ได้รับผลดีเพราะอาศัยศาสนา เป็นผู้กระหาย เพราะความอยากคือตัณหา และเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองด้วยธุลีคือกิเลสฉันนั้น. หรือว่าเมื่อบุคคลไม่กลัวภัย ๔ อย่างเหล่านี้ แล้วหยั่งลงสู่น้ำย่อมมีผลดังกล่าวแล้วฉันใด. เมื่อภิกษุไม่กลัวภัย ๔ อย่างนี้แล้ว แม้บวชในศาสนาก็ย่อมมีอานิสงส์ดังกล่าวแล้ว.
               อนึ่ง พระเถระกล่าวว่า บุคคลกลัวภัย ๔ อย่างแล้วไม่หยั่งลงสู่น้ำก็ไม่สามารถจะตัดกระแสข้ามถึงฝั่งโน้นได้. ครั้นไม่กลัว หยั่งลงก็สามารถข้ามไปได้ฉันใด. ครั้นเขากลัวแล้ว แม้บวชในศาสนา ก็ไม่สามารถตัดกระแสตัณหา แล้วเห็นฝั่ง คือนิพพานได้. ครั้นไม่กลัว ออกบวชจึงสามารถดังนี้.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.
               อนึ่ง เทศนานี้จบลงด้วยอำนาจแห่งบุคคลผู้ควรแนะนำได้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาจาตุมสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค จาตุมสูตร เรื่องพระอาคันตุกะพูดเสียงดัง จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 175อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 186อ่านอรรถกถา 13 / 195อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=3508&Z=3666
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3220
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3220
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :