ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 1อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 13 / 24อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อัฏฐกนาครสูตร พระอานนท์แสดงธรรมโปรดทสมคฤหบดี ชาวเมืองอัฏฐกะ

               ๒. อรรถกถาอัฏฐกนาครสูตร               
               อัฏฐกนาครสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุวคามเก ความว่า ยังมีหมู่บ้านชื่อเวฬุวคาม ไม่ไกล อยู่ทางทิศใต้แห่งเมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์กระทำเวฬุวคามนั้นให้เป็นโคจรคาม.
               บทว่า ทสโม ความว่า คฤหบดีแม้นั้นนับเข้าในฐานะที่ ๑๐ โดยชาติและตระกูล และโดยการนับตระกูลที่ถึงความเป็นตระกูลมหาศาล ด้วยเหตุนั้น คฤหบดีนั้นจึงชื่อว่า ทสมะ.
               บทว่า อฏฺฐกนาคโร แปลว่า ชาวอัฏฐกนคร.
               บทว่า กุกฺกุฏาราโม แปลว่า อารามที่กุกกุฏเศรษฐีสร้าง.
               ในบาลีนี้ว่า เตน ภควตา ฯเปฯ อกฺขาโต มีความสังเขปดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นใดทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วน ทรงหักกิเลสทั้งปวง ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงรู้อัธยาศัยและอนุสัยของเหล่าสัตว์นั้นๆ ทรงเห็นไญยธรรมทั้งปวงนั้น ดุจผลมะขามป้อมอันวางไว้บนฝ่ามือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงรู้ด้วยปุพเพนิวาสญาณเป็นต้น ทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ. ก็หรือว่าทรงรู้ด้วยวิชชา ๓ หรืออภิญญา ๖ ทรงเห็นด้วยสมันตจักษุ อันอะไรๆ ไม่ขัดขวางในธรรมทั้งปวง. ทรงรู้ด้วยปัญญาอันสามารถรู้ธรรมทั้งปวง. ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่ล่วงจักษุวิสัยของสัตว์ทั้งปวง หรือที่อยู่นอกฝาเรือนเป็นต้น ด้วยมังสจักษุอันบริสุทธิ์ยิ่ง. ทรงรู้ด้วยปัญญาอันให้สำเร็จประโยชน์ส่วนพระองค์ ทรงเห็นด้วยเทศนาปัญญาอันมีพระกรุณาเป็นปทัฏฐาน อันให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น.
               ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะทรงกำจัดข้าศึกเสียได้ และเพราะควรแก่การสักการะมีปัจจัยเป็นต้น. ส่วนชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้สัจจะ ๔ โดยชอบและด้วยพระองค์เอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงรู้อันตรายิกธรรม ทรงเห็นนิยยานิกธรรม เป็นพระอรหันต์ เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เอง รวมความว่า พระองค์ถูกสดุดีด้วยเหตุ ๔ คือเวสารัชชธรรม ๔ อย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ธรรมอันเอกมีอยู่หรือหนอ?
               บทว่า อภิสงฺขตํ แปลว่า อันปัจจัยกระทำแล้ว ให้เกิดแล้ว.
               บทว่า อภิสญฺเจตยิตํ ความว่า ก่อให้สำเร็จแล้ว.
               คำว่า โส ตตฺถ ฐิโต ความว่า คฤหบดีนั้นตั้งอยู่แล้วในธรรมคือสมถะและวิปัสสนานั้น.
               ด้วยสองบทว่า ธมฺมราเคน ธมฺมนนฺทิยา พระองค์ตรัสฉันทราคะในสมถะและวิปัสสนา.
               จริงอยู่ บุคคลเมื่อสามารถครอบงำฉันทราคะโดยประการทั้งปวงในสมถะและวิปัสสนาย่อมเป็นพระอรหันต์ เมื่อไม่สามารถก็จักเป็นพระอนาคามี เธอย่อมบังเกิดในชั้นสุทธาวาสด้วยเจตนาอันสัมปยุตด้วยจตุตถฌาน เพราะยังละฉันทราคะในสมถะและวิปัสสนาไม่ได้. นี้เป็นกถาสำหรับอาจารย์ทั้งหลาย.
               ก็นักชอบพูดเคาะ พูดว่า "พระอนาคามีบังเกิดในสุทธาวาส เพราะอกุศล ตามพระบาลีว่า เตเนว ธมฺมราเคน ผู้นั้นจะพึงถูกกล่าวว่าจงชักพระสูตรมา ผู้นั้นเมื่อไม่เห็นบาลีอื่นก็จะชักบาลีนี่แหละมาเป็นแน่ ดังนั้น ผู้นั้นพึงถูกต่อว่าว่า ก็พระสูตรนี้มีอรรถที่ควรอธิบาย มีอรรถที่อธิบายมาแล้วหรือ. ผู้นั้นก็จักกล่าวว่า มีอรรถที่ท่านอธิบายไว้แล้วเป็นแน่ ต่อนั้นเขาจะพึงพูดต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ความติดด้วยอำนาจความพอใจในสมถะและวิปัสสนา ก็จักเป็นกิเลสที่ผู้ต้องการอนาคามีผลพึงกระทำ เมื่อทำให้เกิดฉันทราคะขึ้น ก็จักแทงตลอดอนาคามิผล. ท่านอย่าแสดงลอยๆ ว่าข้าพเจ้าได้สูตรมาแล้ว ผู้แก้ปัญหาควรเรียนในสำนักของพระอริยเจ้าจนรู้แจ้งอรรถรสแล้วจึงแก้ปัญหา ด้วยว่าชื่อว่าการปฏิสนธิในสวรรค์ด้วยอกุศล หรือว่าในอบายด้วยกุศลไม่มี.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ภิกษุทั้งหลาย เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏด้วยกรรมที่เกิดแต่โลภะ เกิดแต่โทสะและเกิดแต่โมหะหามิได้ ก็หรือว่าสุคติแม้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็เหมือนกัน โดยที่แท้ นรก กำเนิดเดียรัจฉานและปิตติวิสัย ย่อมปรากฏด้วยกรรมที่เกิดแต่โลภะโทสะและโมหะ หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งก็เหมือนกัน.
____________________________
๑- องฺ ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๑๐

               เขาผู้นั้นก็จะพึงถูกทำให้เข้าใจอย่างนี้ว่า หากว่าท่านเข้าใจได้ก็จงเข้าใจไปเถิด หากไม่เข้าใจก็จะต้องถูกส่งกลับวัดให้ฉันข้าวต้มแต่เช้าๆ.
               ท่านกล่าวสมถะและวิปัสสนาไว้ในมหามาลุงกโยวาทสูตรบ้าง มหาสติปัฏฐานสูตรบ้าง กายคตาสติสูตรบ้าง เหมือนในพระสูตรนี้.
               ในบรรดาพระสูตรเหล่านั้น ในพระสูตรนี้พระองค์ตรัสหมายถึง ธุระคือวิปัสสนาธุระเท่านั้น สำหรับภิกษุผู้ทั้งดำเนินไปด้วยสามารถแห่งสมถธุระ ทั้งดำเนินไปด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาธุระ. ในมหามาลุงกโยวาทสูตร พระองค์ตรัสหมายถึงธุระคือวิปัสสนาธุระ. ส่วนในมหาสติปัฏฐานสูตร พระองค์ตรัสหมายถึงธุระคือวิปัสสนาธุระอันเยี่ยม. ในกายคตาสติสูตร พระองค์ตรัสหมายถึงธุระคือสมถธุระอันเยี่ยม.
               ธรรมแม้ทั้ง ๑๑ อย่างชื่อว่าเป็นธรรมเอก เพราะเป็นการถามถึงธรรมอันเอกว่า อยํ โข คหปติ ฯเปฯ เอกธมฺโม อกฺขาโต จึงแสดงเป็นปุจฉาอย่างนี้ว่า แม้นี้ก็จัดเป็นธรรมเอก.
               จริงอยู่ ในมหาสกุลุทายีสูตรมีปุจฉาถึง ๑๙ ปุจฉาทั้งหมดก็จัดเป็นธรรมเอกโดยปฏิปทา. ธรรม ๑๑ อย่างในที่นี้มาว่าเป็นธรรมเอกโดยปุจฉา.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรจะกล่าวว่า แม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าธรรมเอก โดยอรรถว่าทำให้เกิดอมตธรรม.
               บทว่า นิธิมุขํ คเวสนฺโต แปลว่า แสวงหาขุมทรัพย์.
               บทว่า สกิเทว แปลว่า โดยการประกอบครั้งเดียวเท่านั้น.
               ถามว่า ก็การได้ขุมทรัพย์ ๑๑ อย่าง โดยการประกอบครั้งเดียวมีได้อย่างไร?
               ตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เที่ยวแสวงหาขุมทรัพย์ในป่า ผู้แสวงหาทรัพย์อีกคนหนึ่งพบคนนั้น แล้วถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านเที่ยวไปทำไม? เขาตอบว่า ข้าพเจ้าแสวงหาทรัพย์เครื่องเลี้ยงชีวิต. อีกคนหนึ่งบอกว่า เพื่อน ถ้าอย่างนั้น มาไปพลิกหินก้อนนั้น. เขาพลิกหินก้อนนั้นแล้วพบหม้อทรัพย์ ๑๑ หม้อที่วางซ้อนๆ กัน หรือที่วางเรียงกันไว้. การได้ขุมทรัพย์ ๑๑ ขุมด้วยการประกอบครั้งเดียว มีได้อย่างนี้.
               บทว่า อาจริยธนํ ปริเยสิสฺสนฺติ ความว่า ก็อัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์ใด นำทรัพย์ออกจากเรือนมอบให้อาจารย์นั้นก่อน หลังหรือระหว่างเรียนศิลปศาสตร์. คนที่ไม่มีทรัพย์ในเรือนย่อมแสวงหาทรัพย์จากญาติ หรือจากผู้ที่ชอบพอกัน เมื่อไม่ได้อย่างนั้นก็ต้องขอเขาให้ ท่านหมายเอาทรัพย์นั้น จึงกล่าวคำนี้.
               บทว่า กิมงฺคมฺปนาหํ ความว่า ก่อนอื่น คนภายนอกศาสนาแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ผู้ให้เพียงศิลปะในศาสนาแม้ที่มิใช่เป็นนิยยานิกธรรม ก็ไฉนเราจักไม่กระทำการบูชาอาจารย์ผู้แสดงปฏิปทาที่ให้เกิดอมตธรรม ๑๑ อย่างในศาสนาที่เป็นนิยยานิกะธรรมเล่า. เขาจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักทำการบูชาทีเดียว.
               บทว่า ปจฺเจกํ ทุสฺสยุเคน อจฺฉาเทสิ ความว่า เราได้ถวายคู่ผ้าแก่ภิกษุแต่ละองค์ องค์ละคู่. ในที่นี้คำที่เปล่งขึ้น ก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อจฺฉาเทสิ.
               คำว่า ปญฺจสตํ วิหารํ ความว่า ได้สร้างบรรณศาลาราคา ๕๐๐.
               คำที่เหลือในทุกๆ บท ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอัฏฐกนาครสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อัฏฐกนาครสูตร พระอานนท์แสดงธรรมโปรดทสมคฤหบดี ชาวเมืองอัฏฐกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 1อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 13 / 24อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=303&Z=479
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=218
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=218
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :