ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 147อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 13 / 160อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์

               ๔. อรรถกถามหามาลุงกยโอวาทสูตร               
               มหามาลุงกยโอวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า โอรมฺภาคิยานิ คือ สังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ยังสัตว์ให้เป็นไป คือเกิดในกามภพ.
               บทว่า สํโยชนานิ คือ เครื่องผูก.
               บทว่า กสฺส โข นาม แก่ใครหนอ คือเธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ที่เราแสดงแก่ใคร คือแก่เทวดา หรือแก่มนุษย์. เธอผู้เดียวเท่านั้นได้ฟัง ใครๆ อื่นมิได้ฟังหรือ.
               บทว่า อนุเสติ ย่อมนอนตาม คือชื่อว่าย่อมนอนตาม เพราะยังละไม่ได้. ชื่อว่าสังโยชน์ คือการนอนตาม.
               อนึ่ง ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสังโยชน์. แม้พระเถระก็พยากรณ์สังโยชน์เท่านั้น. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกโทษในวาทะของใคร.
               เพราะเหตุไร จึงทรงยกโทษพระเถระนั้นเล่า.
               เพราะพระเถระถือลัทธิอย่างนั้น. เพราะนี้เป็นลัทธิของพระเถระนั้น. พระเถระเป็นผู้ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลสในขณะประพฤตินั่นเอง. ไม่ประกอบในขณะนอกนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกโทษแก่พระเถระนั้น.
               ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มพระธรรมเทศนาโดยธรรมดาของพระองค์ว่า เราจักแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์. ภิกษุแม้ไม่ฉลาดนี้กล่าวตู่พระธรรมเทศนานั้น ช่างเถิดเราจะทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วให้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย. ท่านพระอานนท์ได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
               เพื่อแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอวํ วุตฺเต อายสฺมา อานนฺโท เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สกฺกายทิฏฺฐิปริยุฏฺฐิเตน มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมแล้ว คืออันสักกายทิฏฐิยึดไว้ ครอบงำแล้ว.
               บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิปเรเตน อันสักกายทิฏฐิครอบงำแล้ว คืออันสักกายทิฏฐิตามไปแล้ว.
               บทว่า นิสฺสรณํ อุบายเป็นเครื่องสลัดออก ได้แก่นิพพาน นิพพานชื่อว่าอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งทิฏฐิ. ไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกนั้น ตามความเป็นจริง.
               บทว่า อปฺปฏิวินีตา คือ อันปุถุชนบรรเทาไม่ได้แล้ว นำออกไปไม่ได้แล้ว.
               บทว่า โอรมฺภาคิยสํโยชนํ ได้แก่ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ธรรมฝ่ายขาวมีอรรถง่ายทั้งนั้น.
               อนึ่ง ในสูตรนี้เพราะบาลีว่า สานุสยา ปหียติ สักกายทิฏฐิพร้อมด้วยอนุสัย อันพระอริยบุคคลละได้แล้ว อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สังโยชน์เป็นอย่างหนึ่ง อนุสัยเป็นอย่างหนึ่ง. เหมือนเมื่อกล่าวว่า ภัตพร้อมด้วยกับ กับข้าวเป็นอย่างอื่นจากภัตฉันใด. ลัทธิของอาจารย์เหล่านั้นว่า อนุสัยพึงเป็นอย่างอื่นจากสักกายทิฏฐิอันกลุ้มรุม เพราะบาลีว่า สานุสยา พร้อมด้วยอนุสัยก็ฉันนั้น. อาจารย์เหล่านั้นปฏิเสธด้วยบทมีอาทิว่า สสีสํ ปารุเปตฺวา คลุมตลอดศีรษะ. เพราะคนอื่นไปจากศีรษะย่อมไม่มี.
               ถ้าเช่นนั้นพึงมีคำถามว่า ผิว่า สังโยชน์เป็นอย่างนั้น อนุสัยไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระเถระ อุปมาด้วยคนหนุ่มก็เป็นการปรารมภ์ที่ไม่ดีน่ะซิ. มิใช่ยกขึ้นไม่ดี. เพราะบทนี้ว่า เอวํ ลทฺธิกตฺตา เพราะมีลัทธิอย่างนี้ กล่าวพิสดารแล้ว. ฉะนั้น กิเลสนั้นชื่อว่าสังโยชน์ เพราะเป็นเครื่องผูก ชื่อว่าอนุสัย เพราะละไม่ได้.
               เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ สานุสยา ปหียติ สักกายทิฏฐิพร้อมด้วยอนุสัยอันพระอริยบุคคลละได้ หมายเอาความนี้.
               ในบทมีอาทิว่า ตจํ เฉตฺวา ถากเปลือก.
               บทนี้แสดงความเปรียบเทียบ พึงเห็นว่าสมาบัติดุจการถากเปลือก พึงเห็นวิปัสสนาดุจการถากกระพี้ พึงเห็นมรรคดุจการถากแก่น.
               อนึ่ง ปฏิปทาเจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระนั่นแหละจึงควร.
               บทว่า เอวเมเต ทฏฺฐพฺพา คือ พึงเห็นบุคคลเห็นปานนั้น ฉันนั้น.
               บทว่า อุปธิวิเวกา คือ เพราะอุปธิวิเวก. ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงความสงัดจากกามคุณ ๕.
               ด้วยบทนี้ว่า อกุสลานํ ธมฺมานํ ปหานา เพราะละอกุศลธรรมได้ ท่านกล่าวถึงการละนิวรณ์.
               ด้วยบทนี้ว่า กายทุฏฺฐุลฺลานํ ปฏิปสฺสทฺธิยา ท่านกล่าวถึงการระงับความคร้านกาย.
               บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ สงัดจากกาม คือเป็นผู้เว้นจากกามด้วยอุปธิวิเวก.
               บทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ สงัดจากอกุศล คือเป็นผู้เว้นจากอกุศล ด้วยการละอกุศลธรรมและด้วยการระงับความคร้าน.
               บทว่า ยเทว ตตฺถ โหติ คือ ธรรมชาติมีรูปเป็นต้น อันตั้งอยู่ในสมาบัติ ย่อมมีในภายในสมาบัตินั้นและในขณะแห่งสมาบัติ.
               บทว่า เต ธมฺเม ได้แก่ ธรรมเหล่านั้นมีรูปเป็นต้นดังกล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิว่า รูปคตํ คือรูป.
               บทว่า อนิจฺจโต โดยความเป็นของไม่เที่ยง คือโดยความเป็นของเที่ยงหามิได้.
               บทว่า ทุกฺขโต โดยความเป็นทุกข์ คือโดยความเป็นสุขหามิได้.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า โรคโต ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าโดยความเป็นโรค เพราะอรรถว่าเจ็บป่วย. ชื่อว่าโดยเป็นดังหัวฝี เพราะอรรถว่ามีโทษในภายใน. ชื่อว่าโดยเป็นดังลูกศร เพราะอรรถว่าเข้าไปเสียบแทง และเพราะอรรถว่าให้เกิดทุกข์. ชื่อว่าโดยเป็นความลำบาก เพราะอรรถว่าเป็นทุกข์. ชื่อว่าโดยเป็นไข้ เพราะอรรถว่าเป็นโรค. ชื่อว่าโดยเป็นอื่น เพราะอรรถว่าไม่เป็นของตน. ชื่อว่าโดยเป็นของทรุดโทรม เพราะอรรถว่าสลายไป. ชื่อว่าโดยเป็นของสูญ เพราะอรรถว่ามิใช่สัตว์. ชื่อว่าโดยเป็นของมิใช่ตัวตน เพราะอรรถว่าไม่เป็นตัวตน.
               ในบทเหล่านั้น ท่านกล่าวถึงอนิจจลักษณะด้วย ๒ บทคือ อนิจฺจโต ปโลกโต โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของทรุดโทรม. ท่านกล่าวถึงทุกขลักษณะด้วย ๖ บทมีอาทิคือ ทุกฺขโต โดยความเป็นทุกข์. ท่านกล่าวถึงอนัตตลักษณะด้วย ๓.
               บทว่า ปรโต สุญฺญโต อนตฺตโต โดยความเป็นอื่น โดยความเป็นของสูญ โดยความไม่เป็นตัวตน.
               บทว่า โส เตหิ ธมฺเมหิ เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น. ความว่า เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรม คือขันธ์ ๕ ในภายในสมาบัติที่ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันตนเห็นแล้วเหล่านั้นอย่างนี้.
               บทว่า จิตฺตํ ปฏิปาเทติ เปลื้องจิต คือปล่อยจิตนำจิตออกไป.
               บทว่า อุปสํหรติ น้อมจิตไป คือน้อมจิตไปในอมตธาตุอันเป็นอสังขตะอย่างนี้ว่า วิปัสสนาจิตเป็นความดับอันสงบด้วยการฟัง การสรรเสริญ การเรียน การบัญญัติ ย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ว่า มรรคจิตเป็นความสงบ เป็นความประณีตด้วยการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์.
               อนึ่ง มีอธิบายว่า เมื่อแทงตลอดธรรมชาตินั้นโดยอาการนี้ ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุนั้น.
               บทว่า โส ตตฺถ ฐิโต คือ เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น.
               บทว่า อาสวานํ ขยํ ปาปุณาติ ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย คือเจริญมรรค ๔ โดยลำดับแล้วจึงบรรลุ.
               บทว่า เตเนว ธมฺมราเคน เพราะความยินดีในธรรมนั้น คือเพราะความพอใจยินดีในธรรมคือสมถะและวิปัสสนา.
               จริงอยู่ เมื่อสามารถถือเอาความพอใจและความยินดีในสมถะและวิปัสสนาโดยประการทั้งปวง ย่อมบรรลุพระอรหัต. เมื่อไม่สามารถย่อมเป็นพระอนาคามี.
               บทว่า ยเทว ตตฺถ โหติ เวทนาคตํ คือ เวทนาย่อมมีในสมาบัตินั้น ในบทนี้ท่านไม่ถือเอารูป.
               เพราะเหตุไร. เพราะล่วงเลยไปแล้ว.
               จริงอยู่ ภิกษุนี้เข้าถึงรูปาวจรฌานในหนหลัง แล้วก้าวล่วงรูป เป็นผู้เข้าถึงอรูปาวจรสมาบัติ เพราะเหตุนั้น รูปจึงก้าวล่วงไปด้วยอำนาจสมถะ. ครั้นพิจารณารูปในหนหลังแล้ว ก้าวล่วงรูปนั้น ในบัดนี้ย่อมพิจารณาอรูป เพราะเหตุนั้น รูปจึงก้าวล่วงไปด้วยอำนาจวิปัสสนา แต่ในอรูปย่อมไม่มีรูป แม้โดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น แม้ท่านหมายถึงอรูปนั้น ในที่นี้ก็ไม่ถือเอารูป. ไม่ถือเอาโดยชอบ.
               บทว่า อถ กิญฺจรหิ เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร.
               พระอานนท์ทูลถามว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามว่า เพราะอะไร. พระเถระมิได้มีความสงสัย ในข้อนี้ว่า ธุระคือความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียว ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไปด้วยอำนาจแห่งสมถะ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นเจโตวิมุต. ธุระคือปัญญาย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไปด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นปัญญาวิมุต.
               พระเถระทูลถามว่า ภิกษุนี้เป็นบุรุษควรฝึกทั้งนั้น แต่เมื่อภิกษุทั้งหลายไปด้วยอำนาจสมถะ รูปหนึ่งเป็นเจโตวิมุต. แม้เมื่อไปด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา รูปหนึ่งชื่อว่าเป็นปัญญาวิมุต รูปหนึ่งเป็นเจโตวิมุต อะไรเป็นเหตุในข้อนี้.
               บทว่า อินฺทฺริยเวมตฺตตํ วทามิ คือ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์.
               ท่านอธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ เธอบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วยังไม่บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ. เพราะเหตุนั้น พระสัพพัญญุตญาณนั้นจึงไม่ปรากฏแก่เธอ แต่เราแทงตลอดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระสัพพัญญุตญาณนั้นจึงปรากฏแก่เรา.
               ความต่างแห่งอินทรีย์เป็นเหตุในข้อนี้แหละ เพราะเมื่อภิกษุทั้งหลายไปด้วยอำนาจแห่งสมถะ ธุระคือความเป็นผู้มีจิตดวงเดียวจึงมีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นเจโตวิมุต. ธุระคือปัญญาย่อมมีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นปัญญาวิมุต.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุทั้งหลายไปด้วยอำนาจวิปัสสนา ธุระคือปัญญาย่อมมีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นปัญญาวิมุต. ธุระคือความเป็นผู้มีจิตดวงเดียวย่อมมีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นเจโตวิมุต.
               พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัตด้วยธุระคือสมถะและวิปัสสนา.
               ในท่านทั้งสองนั้น พระธรรมเสนาบดีเป็นปัญญาวิมุต พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นเจโตวิมุต.
               พึงทราบว่า ความต่างแห่งอินทรีย์เป็นเหตุในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถามหามาลุงกยโอวาทสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 147อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 13 / 160อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2814&Z=2961
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2695
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2695
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :