ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 103อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 13 / 133อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
จูฬราหุโลวาทสูตร เรื่องพระราหุล

               ๑. อรรถกถาอัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร๑-               
๑-บาลีเป็น จูฬราหุโลวาทสูตร.

               อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพลฏฺฐิกายํ วิหรติ ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา คือ เมื่อเขาสร้างย่อส่วนของเรือนตั้งไว้ท้ายพระเวฬุวันวิหาร เพื่อเป็นที่อยู่ของผู้ต้องการความสงัด พระราหุลเจริญปวิเวกอยู่ ณ ปราสาทอันมีชื่ออย่างนี้ว่า อัมพลัฏฐิกา.
               ชื่อว่าหนามย่อมแหลมตั้งแต่เกิด. แม้ท่านพระราหุลนี้ก็เหมือนอย่างนั้น เจริญปวิเวกอยู่ ณ ที่นั้น ครั้งเป็นสามเณรมีพระชนม์ ๗ พรรษา.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น คือ เสด็จออกจากผลสมาบัติ.
               บทว่า อาสนํ คือ ณ ที่นี้ก็มีอาสนะที่ปูลาดไว้เป็นปรกติอยู่แล้ว พระราหุลก็ยังปัดอาสนะนั้นตั้งไว้.
               บทว่า อุทกาทาเน คือ ภาชนะใส่น้ำ. ปาฐะว่า อุทกาธาเน บ้าง.
               บทว่า อายสฺมนฺตํ ราหุลํ อามนฺเตสิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระราหุล คือตรัสเรียกเพื่อประทานโอวาท.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้มากแก่พระราหุลเถระ. พระองค์ตรัสสามเณรปัญหาแก่พระเถระไว้เช่นกัน. อนึ่ง พระองค์ตรัสราหุลสังยุต มหาราหุโลวาทสูตร จุลลราหุโลวาทสูตร รวมทั้งอัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตรนี้เข้าด้วยกัน.
               จริงอยู่ ท่านพระราหุลนี้ เมื่อพระชนม์ ๗ พรรษาทรงจับชายจีวร ทูลขอมรดกกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอได้ทรงประทานมรดกแก่ข้าพระองค์เถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมอบให้แก่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระบวชให้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ชื่อว่าเด็กหนุ่มย่อมพูดถ้อยคำที่ควรและไม่ควร เราจะให้โอวาทแก่ราหุล ดังนี้แล้ว ตรัสเรียกพระราหุลเถระ มีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนราหุล ชื่อว่าสามเณรไม่ควรกล่าวติรัจฉานกถา. เธอเมื่อจะกล่าว ควรกล่าวกถาเห็นปานนี้ คือ คำถาม ๑๐ ข้อ การแก้ ๕๕ ข้อ ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ ฯลฯ ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ อันพระพุทธเจ้าทั้งปวงไม่ทรงละแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสามเณรปัญหานี้ว่า เอกนฺนาม กึ อะไรชื่อว่า ๑ สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ฯลฯ ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า ๑๐ ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต อรหาติ วุจฺจติ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เรากล่าวว่าเป็นอรหันต์.
               พระพุทธองค์ทรงดำริต่อไปว่า ชื่อว่าเด็กหนุ่มย่อมกล่าวเท็จด้วยคำน่ารัก ย่อมกล่าวสิ่งที่ไม่เห็นว่าเราได้เห็นแล้ว กล่าวสิ่งที่เห็นว่าเราไม่เห็น เราจะให้โอวาทแก่ราหุลนั้น แม้แลดูด้วยตาก็เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จึงทรงแสดงอุปมาด้วยภาชนะใส่น้ำ ๔ ก่อน จากนั้นทรงแสดงอุปมาด้วยช้าง ๒ จากนั้นทรงแสดงอุปมาด้วยแว่น ๑ แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้. ทรงแสดงการเว้นตัณหาในปัจจัย ๔ การละฉันทราคะในกามคุณ ๕ และความที่อุปนิสัยแห่งกัลยาณมิตรเป็นคุณยิ่งใหญ่ แล้วจึงตรัสราหุลสูตร. เพื่อทรงแสดงว่า ไม่ควรทำฉันทราคะในภพทั้งหลาย ในที่ที่มาแล้วๆ จึงตรัสราหุลสังยุต. เพื่อทรงแสดงว่า ไม่ควรทำฉันทราคะอันอาศัยเรือน อาศัยอัตภาพว่า เรางาม วรรณะของเราผ่องใส แล้วจึงตรัสมหาราหุโลวาทสูตร.
               ในมหาราหุโลวาทสูตรนั้น ไม่ควรกล่าวว่าราหุลสูตร ท่านกล่าวไว้แล้วในกาลนี้. เพราะราหุลสูตรนั้นท่านกล่าวด้วยโอวาทเนืองๆ. ท่านตรัสราหุลสังยุต ตั้งแต่พระราหุลมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษาจนถึงเป็นภิกษุยังไม่มีพรรษา. ท่านตรัสมหาราหุโลวาทสูตรในเมื่อพระราหุลเป็นสามเณรมีพระชนม์ ๑๘ พรรษา ท่านตรัสจุลลราหุโลวาทสูตรในเมื่อพระราหุลเป็นภิกษุได้ครึ่งพรรษา. ท่านตรัสกุมารกปัญหา และอัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตรนี้ ในเมื่อพระราหุลเป็นสามเณรมีพระชนม์ ๗ พรรษา.
               ในพระสูตรเหล่านั้น ท่านตรัสราหุโลวาทสูตรเพื่อโอวาทเนืองๆ ตรัสราหุลสังยุตเพื่อถือเอาห้องวิปัสสนาของพระเถระ ตรัสมหาราหุโลวาทสูตรเพื่อกำจัดฉันทราคะที่อาศัยเรือน ตรัสจุลลราหุโลวาทสูตรเพื่อยึดเอาพระอรหัต ในเวลาที่ธรรมเจริญด้วยวิมุตติ ๑๕ ของพระเถระแก่กล้าแล้ว.
               พระราหุลเถระหมายถึงพระสูตรนี้ เมื่อจะสรรเสริญพระคุณของพระตถาคตในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   กิกีว พีชํ รกฺเขยฺย จมรี วาลมุตฺตมํ
                                   นิปโก สีลสมฺปนฺโน มมํ รกฺขิ ตถาคโต

                         พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์
                         ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิด พึงรักษา
                         พืชพันธุ์ เหมือนเนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น.


               ท่านตรัสสามเณรปัญหา เพื่อละถ้อยคำอันไม่ควรตรัส ในอัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตรนี้ เพื่อมิให้ทำสัมปชานมุสาวาท (พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่).
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺสสิ โน แก้เป็น ปสฺสสิ นุ คือ เธอเห็นหรือหนอ.
               บทว่า ปริตฺตํ คือ หน่อยหนึ่ง.
               บทว่า สามญฺญํ คือ สมณธรรม.
               บทว่า นิกฺกุชฺชิตฺวา คือ คว่ำ.
               บทว่า อุกฺกุชฺชิตฺวา คือ หงาย.
               บทว่า เสยฺยถาปิ ราหุล รญฺโญ นาโค ดูก่อนราหุล เหมือนช้างต้นของพระราชา ท่านกล่าวอุปมานี้ เพื่อแสดงความเปรียบเทียบของผู้ไม่มีสังวรในการกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อีสาทนฺโต มีงาอันงอนงาม คือมีงาเช่นกับงอนไถ.
               บทว่า อุรุฬฺหวา เป็นพาหนะที่เจริญยิ่ง คือน่าขี่.
               บทว่า อภิชาโต คือ มีกำเนิดดี สมบูรณ์ด้วยชาติ.
               บทว่า สงฺคามาวจโร คือ เคยเข้าสงคราม.
               บทว่า กมฺมํ กโรติ ย่อมทำกรรม คือประหารข้าศึกที่เข้ามาแล้วๆ ให้ล้มลง.
               อนึ่ง พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ด้วยกายเบื้องหน้า ดังนี้
               คือยังซุ้มแผ่นกระดานและกำแพงโล้นให้ล้มลงด้วยกายเบื้องหน้าก่อน. ด้วยกายเบื้องหลังก็เหมือนกัน. กำหนดกรรมด้วยศีรษะแล้วกลับแลดูด้วยคิดว่า เราจักย่ำยีประเทศนี้. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ก็ทำลายสิ่งตั้งร้อยตั้งพันให้ออกเป็นสองส่วน ชื่อว่าทำกรรมด้วยศีรษะ การประหารลูกศรที่มาแล้วๆ ให้ตกไปด้วยหู ชื่อว่าทำกรรมด้วยหู. การทิ่มแทงเท้าช้างข้าศึก ม้าข้าศึก กองช้าง กองม้า และพลเดินเท้าเป็นต้น ชื่อว่าทำกรรมด้วยงา. การตัดทำลายด้วยไม้ยาวหรือด้วยสากเหล็กที่ผูกไว้ที่หาง ชื่อว่าทำกรรมด้วยหาง.
               บทว่า รกฺขเตว โสณฺฑํ ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น คือใส่งวงไว้ในปากรักษาไว้.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในการที่ช้างรักษางวงนั้น.
               บทว่า อปริจฺจตฺตํ คือ ไม่ยอมสละ ถึงจะเห็นผู้อื่นชนะและเราแพ้.
               บทว่า โสณฺฑายปิ กมฺมํ กโรติ ย่อมทำกรรมแม้ด้วยงวง คือจับค้อนเหล็ก หรือสากไม้ตะเคียน แล้วย่ำยีที่ประมาณ ๑๘ ศอกได้โดยรอบ
               บทว่า ปริจฺจตฺตํ ยอมเสียสละแล้ว คือ บัดนี้ไม่กลัวแต่อะไรๆ อีกแล้ว ในกองทัพช้างเป็นต้น ย่อมเห็นชัยชนะของเรา.
               บทว่า นาหนฺตสฺส กิญฺจิ ปาปํ บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี. ความว่า บุคคลนั้นจะไม่พึงทำกรรมน้อยหนึ่งในการล่วงอาบัติทุกกฏเป็นต้น หรือในกรรมมีมาตุฆาตเป็นต้นไม่มี.
               บทว่า ตสฺมา ติห เต ความว่า เพราะผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่จะไม่ทำบาปไม่มี ฉะนั้นเธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวเท็จแม้เพราะหัวเราะ แม้เพราะใคร่จะเล่น.
               บทว่า ปจฺจเวกฺขณตฺโถ คือ มีประโยชน์สำหรับส่องดู. อธิบายว่า มีประโยชน์ส่องดูโทษที่ใบหน้า.
               บทว่า ปจฺจเวกฺขิตฺวา ปจฺจเวกฺขิตฺวา คือ ตรวจดูแล้ว ตรวจดูอีก.
               บทว่า สสกฺกํ น กรณียํ คือ ไม่พึงทำโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               บทว่า ปฏิสํหเรยฺยาสิ พึงเลิก คือพึงกลับอย่าพึงทำ.
               บทว่า อนุปทชฺเชยฺยาสิ พึงเพิ่ม คือพึงให้เกิดขึ้น พึงค้ำจุนไว้ พึงทำบ่อยๆ.
               บทว่า อโหรตฺตานุสิกฺขิตา คือ ศึกษาทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน.
               บทว่า อฏฺฏิยิตพฺพํ พึงกระดาก คือพึงระอา พึงบีบคั้น.
               บทว่า หรายิตพฺพํ คือ พึงละอาย.
               บทว่า ชิคุจฺฉิตพฺพํ พึงเกลียด คือพึงให้เกิดความเกลียดดุจเห็นคูถ.
               อนึ่ง เพราะมโนกรรมมิใช่วัตถุแห่งเทศนาอันควรแสดงไว้ในที่นี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่กล่าวไว้.
               ก็ในฐานะอย่างไรเล่าจึงควรชำระกายกรรมและวจีกรรม ในฐานะอย่างไรจึงควรชำระมโนกรรม.
               ควรชำระกายกรรมและวจีกรรม ในเวลาก่อนอาหารครั้งหนึ่งก่อน เมื่อฉันอาหารแล้วควรนั่งในที่พักกลางวันพิจารณาว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงนั่งในที่นี้ กายกรรมหรือวจีกรรมอันไม่สมควรแก่ผู้อื่นในระหว่างนี้ มีอยู่แก่เราหรือไม่หนอ. หากรู้ว่ามี ควรแสดงข้อที่ควรแสดง ควรทำให้แจ้งข้อที่ควรทำให้แจ้ง. หากไม่มี ควรมีปีติปราโมทย์.
               อนึ่ง ควรชำระมโนกรรม ในที่แสวงหาบิณฑบาตครั้งหนึ่ง.
               ชำระอย่างไร.
               ควรชำระว่า วันนี้ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความคับแค้นก็ดี ในรูปเป็นต้นในที่แสวงหาบิณฑบาตมีอยู่หรือหนอ. หากมี ควรตั้งจิตว่าเราจักไม่ทำอย่างนี้อีก. หากไม่มีควรมีปีติปราโมทย์.
               บทว่า สมณา วา พฺราหฺมณา วา ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวกของพระตถาคต.
               บทว่า ตสฺมา ติห ความว่า เพราะสมณพราหมณ์ทั้งหลาย แม้ในอดีตก็ชำระแล้วอย่างนี้ แม้ในอนาคตก็จักชำระอย่างนี้ แม้ในปัจจุบันก็ย่อมชำระอย่างนี้ ฉะนั้น แม้พวกเธอเมื่อศึกษาตามสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็พึงศึกษาอย่างนี้.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระธรรมเทศนานี้ให้จบลงด้วยสามารถแห่งบุคคลที่ควรแนะนำ ดุจเทวดาผู้วิเศษถือเอายอดแห่งกองรัตนะอันตั้งขึ้นจนถึงภวัคคพรหม ด้วยกองแห่งแก้วมณีที่ประกอบกัน.

               จบอรรถกถาอัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค จูฬราหุโลวาทสูตร เรื่องพระราหุล จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 103อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 13 / 133อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2383&Z=2540
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2337
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2337
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :