ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 97อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 103อ่านอรรถกถา 13 / 125อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อปัณณกสูตร เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา

               ๑๐. อรรถกถาอปัณณกสูตร               
               อปัณณกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จาริกํ คือ จาริกไป ไม่รีบด่วน.
               เหตุไรท่านจึงกล่าวว่า อตฺถิ ปน โว คหปตโย.
               ดังได้สดับมา บ้านนั้นตั้งอยู่ใกล้ปากดง เหล่าสมณพราหมณ์ประเภทต่างๆ เดินทางมาตลอดวัน ย่อมเข้าไปหมู่บ้านนั้น เพื่อพักอาศัยในเวลาเย็นบ้าง เช้าบ้าง ชาวบ้านทั้งหลายก็ลาดเตียงตั่ง ถวายสมณพราหมณ์เหล่านั้นล้างเท้า ทาเท้า ถวายน้ำดื่มอันสมควร.
               วันรุ่งขึ้นก็นิมนต์ถวายทาน. สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็มีจิตผ่องใส สนทนากับชาวบ้านเหล่านั้น พูดอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย ทรรศนะไรๆ ที่ท่านทั้งหลายยึดถือไว้ มีอยู่หรือ?
               ชาวบ้านก็ตอบว่า ไม่มีหรอก ท่านเจ้าข้า.
               สมณพราหมณ์ก็พูดว่า ท่านคฤหบดีทั้งหลาย เว้นทรรศนะเสีย โลกก็ดำเนินไปไม่ได้ พวกท่านชอบใจทรรศนะอย่างหนึ่ง เห็นสมควรรับไว้ ก็ควร. พวกท่านจงถือทรรศนะอย่างหนึ่งว่า โลกเที่ยง ดังนี้ก็พากันหลีกไป.
               วันต่อๆ มา สมณพราหมณ์เหล่าอื่นก็มา แล้วก็ถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล. ชาวบ้านเหล่านั้นก็ตอบสมณพราหมณ์นั้นว่า ขอรับเจ้าข้า แล้วก็บอกว่า วันก่อนๆ เหล่าสมณพราหมณ์เช่นเดียวกับพวกท่านมาบอกให้พวกเราถือทรรศนะว่าโลกเที่ยง ดังนี้ก็ไป.
               สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ว่า พวกนั้นมันโง่ จะรู้อะไร โลกนี้ขาดสูญต่างหาก พวกท่านจงถือทรรศนะว่าขาดสูญ ให้ชาวบ้านแม้เหล่านั้นถือทรรศนะว่าขาดสูญ อย่างนี้แล้วก็หลีกไป.
               โดยทำนองนี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ให้ถือทิฏฐิ ๖๒ อย่างนี้ คือ พวกหนึ่งให้ถือทิฏฐิว่าโลกเที่ยงบางอย่าง พวกหนึ่งให้ถือทิฏฐิว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด พวกหนึ่งให้ถือทิฏฐิดิ้นได้ ไม่ตายตัว.
               แต่ว่าชาวบ้านเหล่านั้นไม่อาจตั้งอยู่ในทิฏฐิแม้สักอย่างเดียวได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปภายหลังสมณพราหมณ์ทั้งหมด ตรัสถามเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านเหล่านั้น จึงตรัสว่า อตฺถิ ปน โข คหปตโย เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาการวตี แปลว่า มีการณ์ มีเหตุ.
               บทว่า อปณฺณโก แปลว่า ไม่ผิด ไม่ถึงทางสองแพร่ง ยึดถือได้โดยส่วนเดียว.
               มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดอันมีวัตถุ ๑๐ มีว่า นตฺถิ ทินฺนํ คือ ทานที่ให้แล้วไม่มีผลดังนี้เป็นต้น ท่านกล่าวไว้พิศดารแล้วในสาเลยยกสูตรในหนหลัง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบที่เป็นข้าศึกต่อความเห็นผิดนั้น ก็เหมือนกัน.
               บทว่า เนกฺขมฺเม อานิสํสํ ความว่า อานิสงส์อันใดในความที่คนเหล่านั้นออกจากอกุศล และฝ่ายธรรมขาว ฝ่ายธรรมบริสุทธิ์อันใด คนเหล่านั้นย่อมไม่เห็นอานิสงส์และธรรมฝ่ายขาวอันนั้น.
               บทว่า อสทฺธมฺมปญฺญตฺติ๑- แปลว่า การบัญญัติธรรมอันไม่จริง.
____________________________
๑- บาลีข้อ ๑๐๖. ว่า อสทฺธมฺมสญฺญตฺติ

               บทว่า อตฺตานํ อุกฺกํเสติ ความว่า ยกตนว่าเว้นเราเสีย คนอื่นใครเล่า ยังจะสามารถนำให้คนอื่นๆ ยึดถือทรรศนะของตนได้.
               บทว่า ปรํ วมฺเภติ ความว่า เขี่ยคนอื่นไว้เบื้องหลังอย่างนี้ว่า ในชนทั้งหลายจำนวนถึงเท่านี้ แม้สักคนหนึ่งก็ไม่สามารถทำคนอื่นๆ ให้ยึดถือทรรศนะของตนได้.
               คำว่า ปุพฺเพว โข ปน ความว่า เมื่อคนยึดถือความเห็นมาก่อนนั่นแล ก็เป็นอันละความเป็นผู้มีศีลอันดีเสีย ปรากฏชัดแต่ความเป็นผู้ทุศีล.
               คำว่า เอวมสฺสิเม๒- ความว่า ธรรม ๗ อย่างมีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมมีแก่เขาอย่างนี้. แต่ธรรมฝ่ายบาปอกุศลเป็นอเนกที่มีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่าเกิดขึ้นด้วยอำนาจการเกิดขึ้นแล้วๆ เล่าๆ.
               บทว่า ตตฺร แปลว่า นั้น คือในลัทธิทั้งหลายของสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               บทว่า กลิคฺคาโห แปลว่า ถือเอาความพ่ายแพ้.
               บทว่า ทุสฺสมตฺโต ทุสฺสมาทินฺโน แปลว่า ถือเอาชั่ว ถือเอาผิด.
               บทว่า เอกํสํ ผริตฺวา ติฏฺฐติ ความว่า แผ่ขยายวาทะของตนนั่นแลไปข้างหนึ่ง ส่วนหนึ่งตั้งอยู่. ถ้าเมื่อถืออย่างนี้ว่า โลกอื่นไม่มี ก็จะนำมาซึ่งสวัสดิภาพ.
               บทว่า ริญฺฉติ๓- แปลว่า ย่อมละ.
               บทว่า สทฺธมฺมปญฺญตฺติ ความว่า บัญญัติธรรมที่เป็นจริง.
               บทว่า กฏคฺคาโห ความว่า ความมีชัย.
____________________________
๒- บาลีว่า สจฺจวชฺเชน  ๓- บางแห่งเป็น ริญฺจติ.

               บทว่า สุสมตฺโต สุมาทินฺโน แปลว่า ถือเอาดี จับต้องดี.
               บทว่า อุภยํ สํผริตฺวา ติฏฺฐติ ความว่า แผ่ขยายวาทะของตนและวาทะของผู้อื่นไปสองข้าง สองส่วนตั้งอยู่. ถ้าเมื่อถืออยู่อย่างนี้ว่า โลกอื่นไม่มี ก็จะนำมาซึ่งสวัสดิภาพเทียว พึงทราบความในปัญหาส่วนเดียวและสองส่วน แม้ของฝ่ายอื่นก็โดยนัยนี้.
               บทว่า กโรโต คือ กระทำด้วยมือของตน.
               บทว่า การยโต คือ ใช้ให้คนอื่นกระทำ.
               บทว่า ฉินฺทโต คือ ตัดมือเป็นต้นของคนอื่นๆ.
               บทว่า ปจโต คือ เบียดเบียนหรือคุกคามเขาด้วยของร้อน (ไฟ).
               บทว่า โสจยโต คือกระทำเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นกระทำก็ดี ซึ่งความโศกเศร้าแก่คนอื่นด้วยการลักทรัพย์เป็นต้น.
               บทว่า กิลมยโต คือ ลำบากเองก็ดี ทำให้คนอื่นลำบากก็ดี ด้วยการตัดอาหาร และกักขังในเรือนจำเป็นต้น.
               บทว่า ผนฺทโต ผนฺทาปยโต คือดิ้นรนเองก็ดี ทำผู้อื่นให้ดิ้นรนก็ดี ในเวลามัดคนอื่นซึ่งกำลังดิ้นรน.
               บทว่า ปาณมติปาตยโต คือ ฆ่าเองก็ดี ใช้ผู้อื่นฆ่าก็ดี ซึ่งสัตว์มีชีวิต.
               พึงทราบความในที่ทุกแห่ง โดยการทำเองและใช้ให้คนอื่นทำ โดยนัยที่กล่าวมานี้.
               บทว่า สนฺธึ คือ ตัดช่อง (ย่องเบา).
               บทว่า นิลโลปํ คือ ปล้นสดมภ์.
               บทว่า เอกาคาริกํ คือ ล้อมเรือนหลังเดียวเท่านั้น ปล้น.
               บทว่า ปริปนฺเถ ติฏฺฐโต คือ ยืนดักที่หนทางเพื่อชิงทรัพย์ของคนเดินทาง.
               บทว่า กโรโต น กริยติ ปาปํ ความว่า บาปของคนที่แม้กระทำด้วยเข้าใจว่า เราทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าไม่กระทำบาปไม่มี ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าใจอย่างนี้ว่า เรากระทำ.
               บทว่า ขุรปริยนฺเตน คือ ปลายคม.
               บทว่า เอกํ มํสขลํ คือ กองเนื้อกองหนึ่ง.
               บทว่า ปุญฺชํ เป็นไวพจน์ของคำว่า เอกํ มํสขลํ นั้นแล.
               บทว่า ตโตนิทานํ แปลว่า มีเหตุจากการกระทำให้เป็นกองเนื้อกองหนึ่งนั้น.
               เหล่าคนทางฝั่งใต้เป็นพวกกักขฬะ ทารุณ ท่านหมายเอาคนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า หนนฺโต เป็นต้น. เหล่าคนทางฝั่งเหนือมีศรัทธา เลื่อมใสนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา พระธรรมว่าเป็นของเรา พระสงฆ์ว่าเป็นของเรา ท่านหมายเอาคนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ททนฺโต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยชนฺโต คือ กระทำการบูชาใหญ่.
               บทว่า ทเมน คือ ด้วยการฝึกอินทรีย์ คืออุโบสถกรรม.
               บทว่า สํยเมน คือ ด้วยการสำรวมในศีล.
               บทว่า สจฺจวาเจน คือ ด้วยกล่าวคำสัตย์.
               การมา อธิบายว่า ความเป็นไปชื่อว่า อาคม.
               สมณพราหมณ์บางพวกปฏิเสธการทำบาปและบุญทั้งหลายแม้โดยประการทั้งปวง. แม้ในฝ่ายธรรมขาว (ฝ่ายดี) ก็พึงทราบความโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว.
               คำที่เหลือในฝ่ายดีนั้น ก็เหมือนคำที่กล่าวมาแล้วในวาระก่อน.
               ในคำว่า นตฺถิ เหตุ นตฺถี ปจฺจโย นี้ ปัจจัยเป็นคำไวพจน์ของเหตุ.
               สมณพราหมณ์บางพวกย่อมปฏิเสธปัจจัยแห่งความเศร้าหมองมีกายทุจริตเป็นต้น ปัจจัยแห่งความหมดจดมีกายสุจริตเป็นต้นที่มีอยู่ แม้ด้วยเหตุและปัจจัยทั้งสอง
               บทว่า นตฺถิ พลํ นตฺถิ วิริยํ นตฺถิ ปุริสตฺถาโม นตฺถิ ปุริสปรกฺกโม ความว่า กำลังก็ดี ความเพียรก็ดี เรี่ยวแรงของบุรุษก็ดี ความบากบั่นของบุรุษก็ดี ชื่อว่าอันบุรุษพึงทำ เพื่อความเศร้าหมองหรือเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มี.
               สมณพราหมณ์บางพวกแสดงถึงสัตว์ทั้งหลายมีอูฐ โค และแพะเป็นต้นไม่ให้เหลือ ด้วยคำว่า สพฺเพ สตฺตา. กล่าวโดยอำนาจคำเป็นต้นว่า สัตว์มีชีวิตอินทรีย์เดียว สัตว์มีชีวิตสองอินทรีย์ ด้วยคำว่า สพฺเพ ปาณา กล่าวหมายถึงสัตว์มีปาณะทั้งสิ้น.
               สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวหมายถึงสัตว์ผู้แสวงหาภพเกิด ในฟองไข่และในมดลูกด้วยคำว่า สพฺเพ ภูตา. กล่าวหมายถึงธัญชาติมีข้าวสาลี ข้าวเหนียว ข้าวละมานเป็นต้น ด้วยคำว่า สพฺเพ ชีวา. ด้วยว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีความเข้าใจว่า ในธัญชาติเหล่านั้นมีชีวะ เพราะงอกได้.
               คำว่า อวสา อพลา อวิริยา ความว่า เหล่านั้นไม่มีอำนาจ กำลัง หรือความเพียรเป็นของตน.
               ในคำว่า นิยติสงฺคติภาวปริณตา นี้ การประสพเคราะห์กรรม ชื่อว่า นิยติ ความไปในที่นั้นๆ แห่งอภิชาติทั้ง ๖ ชื่อว่า สงฺคติ ความชุมนุมกัน. สภาพนั้นชื่อว่าภาว สมณพราหมณ์บางพวกแสดงว่าสัตว์ทั้งปวงแปรปรวนไป คือถึงความเป็นประการต่างๆ ก็เพราะการประสพเคราะห์กรรม เพราะความชุมนุมกันและเพราะสภาวะด้วยประการฉะนี้.
               สมณพราหมณ์บางพวกย่อมแสดงว่าสภาวะใด พึงมีอย่างใด สภาวะนั้นก็ย่อมมีอย่างนั้น. สภาวะใดไม่มี สภาวะนั้นก็ไม่มีด้วย.
               คำว่า ฉเสฺววาภิชาตีสุ ความว่า สมณพราหมณ์บางพวกแสดงว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ในอภิชาติ ๖ เท่านั้น จึงเสวยสุขและทุกข์ได้ ภูมิแห่งสุขและทุกข์อื่นไม่มี.
               ในคำว่า ฉเสฺววาภิชาตีสุ นั้น ชื่อว่า อภิชาติ ๖ คือ กัณหาภิชาติ (อภิชาติดำ) นีลาภิชาติ (อภิชาติเขียว) โลหิตาภิชาติ (อภิชาติแดง) หลิททาภิชาติ (อภิชาติเหลือง) สุกกาภิชาติ (อภิชาติขาว) ปรมสุกกาภิชาติ (อภิชาติขาวอย่างยิ่ง).
               บรรดาอภิชาติ ๖ นั้น คนฆ่านก คนฆ่าหมู พราน คนฆ่าปลา โจร คนฆ่าโจร ก็หรือว่าคนที่มีงานหยาบช้าบางพวกแม้เหล่าอื่น นี้ชื่อว่ากัณหาภิชาติ. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า พวกภิกษุชื่อว่านีลาภิชาติ. สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีลัทธิอย่างนี้ว่า เขาว่าภิกษุเหล่านั้นใส่หนามลงในปัจจัย ๔ กิน ภิกษุจึงชื่อว่าประพฤติกัณฏกวัตร.
               อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า บรรพชิตพวกหนึ่งชื่อว่าประพฤติกัณฏกวัตรนั่นเทียว.
               จริงอยู่ แม้คำว่า สมณะ ผู้ประพฤติกัณฏกวัตร ก็เป็นลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า พวกนิครนถ์ผู้ชอบเพ้อลัทธิของตนฝ่ายเดียวชื่อว่า โลหิตาภิชาติ. เขาว่า นิครนถ์เหล่านั้นยังขาวกว่าสองพวกก่อน. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า คฤหัสถ์สาวกของชีเปลือยชื่อว่าหลิททาภิชาติ ดังนั้น สาวกของชีเปลือยจึงตั้งคนที่ให้ปัจจัยแก่ตนเป็นใหญ่แม้กว่านิครนถ์ทั้งหลาย.
               สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า นันทะ วัจฉะ สังกิจจะ นี้ชื่อว่าสุกกาภิชาติ. เขาว่า คนเหล่านั้นยังขาวกว่าสี่พวกก่อน. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ส่วนอาชีวกชื่อว่าปรมสุกกาภิชาติ. เขาว่า อาชีวกเหล่านั้นขาวกว่าทุกพวก. สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีลัทธิอย่างนี้ว่า บรรดาอภิชาติ ๖ นั้น สัตว์ทั้งปวงมีคนฆ่านกเป็นต้นก่อน. พวกสมณศากยบุตรยังบริสุทธิ์กว่าคนฆ่านกเป็นต้นนั้น พวกนิครนถ์ยังบริสุทธิ์กว่าพวกสมณศากยบุตรนั้น. สาวกของอาชีวกยังบริสุทธิ์กว่าพวกนิครนถ์นั้น. นันทะเป็นต้นยังบริสุทธิ์กว่าพวกสาวกของอาชีวก อาชีวกยังบริสุทธิ์กว่านันทะเป็นต้นนั้น.
               พึงทราบฝ่ายขาว โดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้แล้วในวาระก่อน.
               ก็บรรดาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามวิบาก อกิริยทิฏฐิ ห้ามกรรม อเหตุกทิฏฐิ ห้ามแม้ทั้งสอง (คือทั้งกรรมและวิบาก) ในกรรมและวิบากทั้งสองนั้น วาทะที่แม้ห้ามกรรมก็เป็นอันห้ามวิบากด้วย วาทะที่แม้ห้ามวิบากก็เป็นอันห้ามกรรมด้วย ดังนั้น โดยอรรถ วาทะเหล่านั้นแม้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะและนัตถิกวาทะ ย่อมห้ามกรรมและวิบากทั้งสอง.
               ก็คนเหล่าใดถือลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น นั่งท่องพิจารณาในที่พักกลางคืนและกลางวัน มิจฉาสติของคนเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นในอารมณ์นั้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล บาปของคนที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี จิตก็มีอารมณ์อันเดียว ชวนะทั้งหลายก็แล่นไป. ในชวนะที่หนึ่งยังพอแก้ไขได้ ในชวนะที่สองเป็นต้นก็เหมือนกัน. ในชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็แก้ไขไม่ได้ เป็นผู้ไม่หวนกลับเช่นเดียวกับอริฏฐะและกัณฏกภิกษุ.
               ในชวนะเหล่านั้นบางคนก็หยั่งลงทรรศนะเดียวบ้าง บางคนสองทรรศนะบ้าง บางคนสามทรรศนะบ้าง เมื่อเขาหยั่งลงทรรศนะหนึ่ง สองสามทรรศนะก็เป็นอันหยั่งลงแล้ว เขาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดดิ่งทีเดียว ห้ามทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์ในอันดับแห่งอัตภาพนั้นจะป่วยกล่าวไปไยถึงพระนิพพาน. สัตว์นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน ชื่อว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะ.
               ถามว่า ก็มิจฉาทิฏฐิสัตว์นี้ ดิ่งอยู่ในอัตภาพเดียวเท่านั้น หรือในอัตภาพอื่นด้วย.
               ตอบว่า ดิ่งอยู่ในอัตภาพเดียวเท่านั้น.
               แต่ถ้าเขายังชอบใจทิฏฐินั้นๆ อยู่ในระหว่างภพด้วยอำนาจการเสพบ่อยๆ คนเช่นนั้นโดยมากก็ออกไปจากภพไม่ได้.
                                   ตสฺมา อกลฺยาณชนํ    อาสีวิสมิโวรคํ
                                   อารกา ปริวชฺเชยฺย    ภูติกาโม วิจกฺขโณ
                         เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ต้องการความ
                         เจริญ พึงงดเว้นคนไม่ดีที่เป็นดังงูพิษ เสียให้ห่างไกล.

               บทว่า นตฺถิ สพฺพโส อารุปฺปา ความว่า ชื่อว่าฝ่ายอรูปพรหมโลก ย่อมไม่มีโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า มโนมยา คือ สำเร็จด้วยจิตอันประกอบด้วยฌาน.
               บทว่า สญฺญามยา คือ สำเร็จด้วยสัญญาโดยสัญญาในอรูปฌาน.
               บทว่า รูปานํเยว นิพฺพิทาย วิราคาย นิโรธาย ปฏิปนฺโน โหติ ความว่า ผู้นี้เป็นผู้ได้ก็มี เป็นผู้ตรึกก็มี.
               ผู้ได้รูปาวจรฌาน ชื่อว่าผู้ได้. ผู้ได้รูปาวจรฌานนั้นไม่มีความสงสัยในรูปาวจรฌาน ยังมีความสงสัยในโลกฝ่ายอรูปาวจรอยู่. ผู้ได้ฌานนั้นย่อมปฏิบัติอย่างนั้นด้วยเข้าใจว่า เราฟังผู้กล่าวว่าอรูปพรหมทั้งหลายมีอยู่ก็มี ผู้กล่าวว่าไม่มีก็มี แต่เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี เราจักทำจตุตถฌานให้เป็นปทัฏฐานแล้ว ทำอรูปาวจรฌานให้เกิด ถ้าอรูปพรหมทั้งหลายมีอยู่ เราจักบังเกิดในอรูปพรหมนั้น ถ้าไม่มี เราก็จักบังเกิดในโลกฝ่ายรูปาวจรพรหม ธรรมอันไม่ผิดของเราจักเป็นธรรมไม่ผิด ไม่พลาด ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้.
               ส่วนผู้ตรึกผู้ไม่ได้ฌาน แม้เขาจะไม่มีความสงสัยในรูปฌาน แต่ก็ยังมีความสงสัยในโลกฝ่ายอรูปพรหม. ผู้ตรึกนั้นย่อมปฏิบัติอย่างนั้นด้วยเข้าใจว่า เราฟังผู้กล่าวอรูปพรหมทั้งหลายว่าไม่มีก็มี ผู้กล่าวว่ามีก็มี แต่เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี เราจักทำบริกรรมในกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดแล้ว ทำจตุตถฌานนั้นให้เป็นปทัฏฐาน จักยังอรูปาวจรฌานให้เกิด ถ้าอรูปพรหมทั้งหลายมีอยู่ เราก็จักบังเกิดในอรูปพรหมนั้น ถ้าไม่มี เราก็จักบังเกิดในโลกฝ่ายรูปาวจรพรหม ธรรมอันไม่ผิดจักเป็นธรรมไม่ผิด ไม่พลาดด้วยการปฏิบัติอย่างนี้นี่แหละ.
               บทว่า ภวนิโรโธ คือ พระนิพพาน.
               บทว่า สราคาย สนฺติเก คือ ใกล้ความยินดีในวัฏฏะด้วยอำนาจความกำหนัด.
               บทว่า สํโยคาย คือ ใกล้ความประกอบตนไว้ด้วยตัณหาความทะยานอยาก.
               บทว่า อภินนฺทนาย คือ ใกล้ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า ปฏิปนฺโน โหติ ความว่า แม้ผู้นี้เป็นผู้ได้ก็มี เป็นผู้ตรึกก็มี.
               ผู้ได้สมาบัติ ๘ ชื่อว่าผู้ได้. ผู้ได้สมาบัติ ๘ นั้นไม่มีความสงสัยในอรูปพรหม ยังมีความสงสัยในพระนิพพาน. เขาปฏิบัติอย่างนี้ด้วยเข้าใจว่า เราฟังเขาพูดว่านิโรธมีก็มี ไม่มีก็มี เราไม่รู้เอง เราจักทำสมาบัติให้เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนา ถ้านิโรธจักมีไซร้ เราก็จักบรรลุพระอรหัตปรินิพพาน ถ้าไม่มี เราก็จักบังเกิดในอรูปพรหม.
               ส่วนผู้ตรึกไม่ได้แม้แต่สมาบัติสักอย่างหนึ่ง แต่เขาก็ไม่มีความสงสัยในอรูปพรหม ยังมีความสงสัยในภวนิโรธ (พระนิพพาน) อยู่. เขาปฏิบัติอย่างนี้ด้วยเข้าใจว่า เราฟังเขาพูดว่า นิโรธมีก็มี ไม่มีก็มี เราไม่รู้เอง เราจักกระทำบริกรรมในกสิณ แล้วทำสมาบัติ ๘ ให้เกิด เจริญวิปัสสนามีสมาบัติเป็นปทัฏฐาน ถ้านิโรธจักมีไซร้ เราจักบรรลุพระอรหัตปรินิพพาน ถ้าไม่มี เราก็จักบังเกิดในอรูปพรหม.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรนั้น คำว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ดังนี้เป็นต้นเป็นคำไม่ผิด ก็แล้วไปเถิด ส่วนคำว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ดังนี้เป็นต้นไม่ผิดด้วยอย่างไรเล่า.
               ตอบว่า ด้วยอำนาจความยึดถือกัน.
               จริงอยู่ คำเหล่านั้นที่เกิดชื่อว่า ไม่ผิด ก็เพราะเขายึดถือไว้อย่างนี้ว่า ไม่ผิด ไม่ผิด.
               ศัพท์ว่า จตฺตาโรเม นี้ แยกกันคนละส่วน แต่ข้อความเชื่อมโยงกัน.
               บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้คือ นัตถิกวาทะ อกิริยวาทะ อเหตุกวาทะและ ๒ จำพวกที่มีวาทะอย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มี นิโรธไม่มี บุคคล ๓ จำพวกหลังเท่านั้นมีอยู่.
               บุคคล ๕ จำพวกมีอัตถิกวาทะเป็นต้น บุคคลจำพวกที่ ๔ จำพวกเดียวเท่านั้น. เพื่อจะทรงแสดงความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้.
               โดยอรรถ คำทั้งหมดในวาทะนั้นตื้นทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอปัณณกสูตรที่ ๑๐               
               จบคหปติวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. กันทรกสูตร
                         ๒. อัฏฐกนาครสูตร
                         ๓. เสขปฏิปทาสูตร
                         ๔. โปตลิยสูตร
                         ๕. ชีวกสูตร
                         ๖. อุปาลิวาทสูตร
                         ๗. กุกกุโรวาทสูตร
                         ๘. อภัยราชกุมารสูตร
                         ๙. พหุเวทนิยสูตร
                         ๑๐. อปัณณกสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อปัณณกสูตร เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 97อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 103อ่านอรรถกถา 13 / 125อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1833&Z=2382
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2181
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2181
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :