ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

หน้าต่างที่ ๒ / ๖.

               มติของอรรถกถา               
               ส่วนในอรรถกถา ท่านกล่าวไว้เท่านี้เท่านั้นแหละว่า โดยระลึกและโดยการประมวลลงสู่จุดเดียวกันแล้ว สติปัฏฐานก็มีอย่างเดียวเท่านั้น แต่โดยอารมณ์มี ๔ อย่าง.
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่าในพระนครที่มีประตู ๔ ประตู คนมาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วเข้าพระนครนั้นเอง ทางประตูด้านตะวันออก. คนมาจากทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศอุดร ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศอุดรแล้ว เข้าสู่พระนครนั้นเอง ทางทิศอุดรฉันใด ข้ออุปไมยที่ให้อุปมาถึงพร้อมนี้ ก็ควรทราบฉันนั้น.

               ข้อเปรียบเทียบ               
               ความจริง พระนิพพาน เหมือนพระนคร.
               โลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เหมือนประตูพระนครหลวง.
               กายเป็นต้น เหมือนทิศตะวันออก เป็นต้น.
               และพระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยวิธี ๑๔ อย่างแล้ว จะไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของกายานุปัสสนา เหมือนคนทั้งหลายที่มาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศตะวันออกแล้ว ก็เข้าถึงพระนครได้เหมือนกันทางประตูทิศตะวันออกได้ฉะนั้น.
               พระโยคาวจร เมื่อดำเนินมาทางประตูเวทนานุปัสสนา เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี อย่าง ก็ไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนผู้มาจากทิศใต้ ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศใต้ ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางประตูทิศใต้ฉะนั้น.
               พระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อดำเนินมาทางประตูจิตตานุปัสสนา เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี ๑๖ อย่าง จะไปรวมที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนผู้มาจากทิศตะวันตก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศตะวันตก ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางทิศตะวันตกฉะนั้น.
               และพระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อดำเนินมาทางประตูธัมมานุปัสสนา เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี อย่างแล้ว จะไปรวมที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนกับผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศเหนือ ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางประตูทิศเหนือได้ฉะนั้น.
               สติปัฏฐาน พึงทราบว่า ตรัสไว้อย่างเดียวเท่านั้น โดยการระลึกและโดยการรวมลงสู่จุดเดียวกัน พึงทราบว่า ตรัสไว้ ๔ อย่างนั้นแหละโดยอารมณ์ด้วยประการฉะนี้.

               ความหมายของภิกษุ               
               บทว่า กตเม จตฺตาโร (๔ อย่าง คืออะไร) เป็น กเถตุกมฺมยตาปุจฺฉา (คำถามเพื่อจะตอบเอง).
               บทว่า อิธ ได้แก่ อิมสฺมึ โยก สาสเน แปลว่า ในศาสนานี้.
               คำว่า ภิกฺขเว นี้เป็นคำเรียกบุคคลผู้จะรับธรรมะ.
               คำว่า ภิกฺขุ เป็นคำแสดงถึงบุคคล ผู้จะยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อม.
               อีกอย่างหนึ่ง เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ก็ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมได้เหมือนกัน.
               แต่พระองค์ตรัสเรียกว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และเพราะทรงแสดงถึงภิกขุภาวะด้วยข้อปฏิบัติ.
               เพราะว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามอนุศาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็จะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะเป็น (เสมือน) ภาชนะ (รองรับ) อนุศาสนีทุกประการ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
               ก็ทรงระบุถึงภิกษุนั้นแล้ว เทวดาและมนุษย์ที่เหลือก็เป็นอันทรงระบุถึงด้วยเหมือนกัน เหมือนบริษัทที่เหลือถูกระบุถึงด้วยราชศัพท์ในกิจทั้งหลายมีการเสด็จพระราชดำเนินเป็นต้น.
               และผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุ เพราะทรงแสดงถึงภิกขุภาวะด้วยข้อปฏิบัติบ้าง. ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม เข้าถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า
                         ถึงผู้ที่ประดับประดาแล้ว หากประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
                         สงบแล้ว ฝึกแล้ว มีคติที่แน่นอน ประพฤติพรหมจรรย์
                         เขาเว้นอาชญาในสัตว์ทั้งมวลเสียแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็น
                         พราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.

               อธิบายคำว่า กาย               
               บทว่า กาเย ได้แก่ ในรูปกาย.
               ความจริง รูปกายพระองค์ทรงประสงค์ว่า กายในพระสูตรนี้ เหมือนกายช้างและกายม้าเป็นต้น. เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมของอวัยวะน้อยใหญ่ และของรูปธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น.
               ก็ (รูปกาย) ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม (แห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย) ฉันใด ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่มาถึงแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายฉันนั้น.
               เพราะว่า รูปกายนั้น เป็นที่มาถึง แห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย คือสิ่งที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากายบ้าง.
               บทว่า อาโย ได้แก่ แดนเกิด (ของสิ่งน่าเกลียด) ในบทว่า กาโย นั้นมีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแดนเกิด.
               อะไรเกิด?
               อวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้นที่น่าเกลียดเกิด ชื่อว่ากาย เพราะเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า กายานุปสฺสี ได้แก่ผู้พิจารณาเห็นกายเนืองๆ เป็นปกติ หรือผู้พิจารณาเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งกาย.
               แลควรทราบไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงแม้ตรัสไว้แล้วว่า กาเย แต่ก็ทรงทำ (ตรัส) กายศัพท์ไว้เป็นครั้งที่ ๒ อีกว่า กายานุปสฺสี เพื่อจะทรงแสดงถึงการแยกก้อน (ฆนสัญญา) ออกไปด้วยการกำหนดด้วยจตุธาตุววัตถานกรรมฐานโดยไม่ให้ปะปนกัน พระโยคาวจรไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในกาย หรือพิจารณาเห็นจิตและธรรมในกาย. โดยที่แท้แล้ว เป็นผู้พิจารณาเห็นกาย (ในกาย) นั้นเอง. เพราะฉะนั้น ด้วยบทว่า กายานุปสฺสี นั้น จึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงการกำหนดโดยมิให้ปนกัน ด้วยการทรงแสดงเฉพาะอาการ คือการพิจารณาเห็นกายในวัตถุกล่าวคือกายนั้นเอง.
               อนึ่ง ไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมอย่างเอก นอกเหนือไปจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นหญิงหรือบุรุษนอกเหนือไปจากผม ขนเป็นต้นในกาย.

               พิจารณากาย               
               และในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างเอกนอกเหนือจาก (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูป แม้ในกายกล่าวคือชุมนุม (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูป มีผม ขนเป็นต้น. โดยที่แท้แล้ว ก็เป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่งองคาพยพ เหมือนผู้มองเห็นเครื่องประกอบของรถฉะนั้น เป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่งผม ขนเป็นต้น เหมือนผู้เห็นส่วนต่างๆ ของตัวเมืองฉะนั้น และเป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่ง (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นแหละ เหมือนคนลอกกาบกล้วยออกจากต้นกล้วยฉะนั้น และเหมือนคนแบกำมือเปล่าออกอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้น โดยการทรงแสดงวัตถุกล่าวคือกายด้วยอำนาจแห่งชุมนุมโดยประการต่างๆ นั้นเอง เป็นอันพระองค์ทรงแสดงกายแยกฆนสัญญาออกไปแล้ว. เพราะว่า ในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ จะไม่เห็นเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นธรรมอะไรอื่น นอกเหนือไปจากชุมนุมแห่งธรรมตามที่กล่าวแล้ว. แต่สัตว์ทั้งหลายทำความเชื่อมั่นผิดๆ อย่างนั้นอย่างนั้น ในสภาวะเพียงการชุมนุมธรรมตามที่กล่าวแล้วเท่านั้น.
               เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-
                         สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่ สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว
                         สิ่งใดที่บุคคลเห็นแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นอยู่
                         เมื่อไม่เห็น (ตามความเป็นจริง) จึงหลงติดอยู่
                         เมื่อ (หลง) ติดอยู่ ย่อมไม่หลุดพ้น.
               มีอธิบายว่า เพื่อแสดงถึงการแยกความเป็นก้อน (ฆนสัญญา) ออกไปเป็นต้น.
               และด้วยอาทิศัพท์ ในคำว่า ฆนวินิพฺโภคาทิทสฺสนตฺถํ นี้ ก็ควรทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ความจริง พระโยคาวจรนี้พิจารณาเห็นกายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่น.
               มีอธิบายไว้อย่างไร?
               มีอธิบายไว้ว่า คน (ทั่วไป) มองเห็นพยับแดดที่ไม่ใช่น้ำเลย ว่าเป็นน้ำฉันใด พระโยคาวจรไม่ใช่เหมือนอย่างนั้น คือไม่เห็นกายนี้ที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและไม่งามเลยว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาและเป็นของงามไป โดยที่แท้แล้ว พิจารณาเห็นเป็น (แต่สักว่า) กาย คือพิจารณาเห็นว่าเป็นที่ประชุมของกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและเป็นของไม่งามเท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบเนื้อความแม้อย่างนี้ว่า
               กายนี้ใดมีลมหายใจออกหายใจเข้าเป็นเบื้องต้น มีกระดูกที่กลายเป็นผุยผงไปเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก่อนแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ในศาสนานี้ไปสู่ป่าหรือ ฯลฯ ภิกษุนั้นมีสติ หายใจออก และกายใดที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค ว่า พระโยคาวจรบางรูปในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิว กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก และกายคือเยื่อในกระดูก โดยเป็นของไม่เที่ยง เพราะพิจารณาเห็นกายนั้นทั้งหมดในกายนี้นั่นแล พระโยคาวจรจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นกายกล่าวคือที่ประชุมรูปธรรมมีผมเป็นต้นในกายต่างๆ เพราะไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายที่จะต้องยึดถืออย่างนี้ว่า เราหรือของเรา แต่เพราะพิจารณาเห็นชุมนุมของรูปธรรมต่างๆ นั้นๆ เอง มีผมและขนเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่งควรเข้าใจเนื้อความอย่างนี้ว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย แม้เพราะพิจารณาเห็นกาย กล่าวคือชุมนุมอาการมีอนิจจลักษณะเป็นต้น ทั่วทุกอย่างในกายนี้ มีนัยดังที่มาแล้วในปฏิสัมภิทามรรค โดยนัยมีอาทิว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยความเป็นของเที่ยง.
               จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติ กาเย กายานุปัสสนาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติว่าด้วยการพิจารณากายในกาย) นี้ พึงทราบว่า จะพิจารณาเห็นกายนี้ ด้วยอำนาจของอนุปัสสนา ๗ ประการมีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น คือจะพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง จะพิจารณาเห็นโดยเป็นทุกข์ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยเป็นสุข จะพิจารณาเห็นโดยเป็นอนัตตา ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยเป็นอัตตา จะเบื่อหน่าย ไม่ใช่จะเพลิดเพลิน จะคลายความกำหนัดยินดี ไม่ใช่จะกำหนัดยินดี จะดับ (ตัณหา) ไม่ใช่จะให้เกิด (ตัณหา) จะสลัดออกไป ไม่ใช่จะยึดมั่นไว้.
               เธอเมื่อพิจารณาเห็นกายนั้นโดยความไม่เที่ยงก็จะละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ก็จะละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ก็จะละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะละนันทิธรรม ความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายกำหนัดก็จะละราคะได้ เมื่อดับ (ตัณหา) ก็จะละสมุทัยได้ เมื่อสลัดออกได้ ก็จะละการยึดมั่นได้.

               อธิบายบท อาตาปี สติมา สมฺปชาโน               
               บทว่า วิหรติ ได้แก่ ดำเนินไป.
               ในบทว่า อาตาปี พึงทราบวิเคราะห์ดังนี้ ชื่อว่าอาตาปะ เพราะอรรถว่าย่อมเผาผลาญกิเลสในภพ ๓. คำว่าอาตาปะนี้เป็นชื่อของวิริยะ. อาตาปะของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า อาตาปี.
               บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ประกอบด้วยญาณ กล่าวคือสัมปชัญญะ.
               บทว่า สติมา คือประกอบด้วยสติที่ใช้กำหนดกาย.
               ก็ธรรมดาว่า อนุปัสสนา นี้ จะไม่มีแก่ผู้ปราศจากสติเลย เพราะพระโยคาวจรใช้สติกำหนดอารมณ์แล้ว จึงพิจารณาเห็น (กายเป็นตน) ด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็แลภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพูดถึงสติว่ามีประโยชน์ในธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้ พระองค์จึงตรัสไว้ว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ (พิจารณาเห็นกายในกายอยู่).
               ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระองค์ตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกรรมฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ผู้ที่ไม่มีความเพียร ความหดหู่ภายใน ย่อมทำอันตรายให้ได้ ผู้ที่ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมเป็นผู้หลงลืมสติ ในการกำหนดอุบายและในการเว้นสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย คือเป็นผู้ไม่สามารถในการกำหนดอุบาย และในการสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย (และ) กรรมฐานนั้น จะไม่สำเร็จแก่เธอด้วยวิธีนั้น ฉะนั้น พึงทราบว่า เพื่อจะทรงแสดงธรรมทั้งหลายที่มีอานุภาพเป็นเหตุสำเร็จแห่งกรรมฐานนั้น พระองค์จึงตรัสคำนี้ไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ สติมา มีสติ.

               อธิบายบท วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และวิธีประกอบกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ด้วยประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละกิเลส จึงได้ตรัสว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ พึงขจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกได้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเนยฺย ได้แก่ พรากออกไปด้วยการพรากออกไปด้วยองค์นั้น หรือด้วยการพรากออกไปด้วยการข่มไว้.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในกายนั้นเอง.
               ความจริง กาย พระองค์ทรงประสงค์เอาว่าโลกในที่นี้ เพราะอรรถว่าแตกสลาย. แต่เพราะเหตุที่เธอไม่ใช่จะละอภิชฌาและโทมนัสได้เฉพาะเพียงแต่ในกายเท่านั้น.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็ละได้เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า โลก คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะธรรมเหล่านั้นถูกนับว่าเป็นโลก คำว่า โลก นั้น ท่านจึงกล่าวไว้โดยอัตถุทธารนัย (โดยการขยายความ). ส่วนคำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า ในธรรมเหล่านั้น อันไหนเป็นโลก กายนั้นแหละเป็นโลก. นี้แหละเป็นอรรถาธิบายในคำนี้. พึงเห็นการสัมพันธ์ความอย่างนี้ว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้นออกไปได้.
               ก็เพราะเหตุที่ในสูตรนี้ กามฉันทะสงเคราะห์เข้ากับศัพท์ว่าอภิชฌา พยาบาทสงเคราะห์เข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น พึงทราบว่า การละนิวรณ์เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ด้วยการแสดงธรรมสองอย่างที่มีกำลังอันนับเนื่อง (กับการละ) นิวรณ์ แต่โดยพิเศษแล้ว ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละ ความยินดีที่มีกายสมบัติเป็นมูล ด้วยการขจัดอภิชฌา (และ) ความยินร้ายที่มีกายวิบัติเป็นมูลอีกด้วยการกำจัดโทมนัส
               อนึ่ง ตรัสการละความยินดีในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา (และ) ความไม่ยินดีในการเจริญกายภาวนา ด้วยการกำจัดโทมนัส ตรัสการละการเพิ่มความสวยงาม และความสุขเป็นต้น ที่ไม่มีอยู่จริงในกายด้วยการกำจัดอภิชฌา และการนำออกซึ่งความไม่สวยงาม และความเป็นทุกข์ที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส.
               ด้วยคำว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ นั้น เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานุภาพแห่งการบำเพ็ญเพียร และความเป็นผู้สามารถในการบำเพ็ญเพียรของพระโยคาวจรไว้แล้ว.
               ความจริง อานุภาพของความเพียรนั้น ได้แก่การที่พระโยคาวจรเป็นผู้ปลอดพ้นไปจากความยินดีและความยินร้าย เป็นผู้ข่มความยินดีและความยินร้ายเสียได้ และเป็นผู้เว้นจากการเพิ่มสิ่งที่ไม่เป็นจริงเข้าไป และนำสิ่งที่เป็นจริงออกมา.
               ก็พระโยคาวจรนี้ เมื่อปลอดพ้นจากความยินดีและความยินร้าย ข่มเสียได้ซึ่งความยินดีและไม่ยินดี ไม่เพิ่มสิ่งที่ไม่เป็นจริงเข้าไป และไม่นำสิ่งที่เป็นจริงออกมา ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการบำเพ็ญเพียรแล.
               อีกนัยหนึ่ง พึงทราบว่า พระองค์ตรัสกรรมฐานไว้ด้วยอนุปัสสนา (การพิจารณาเนืองๆ) ในบทว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้. ตรัสการบริหารกายไว้ สำหรับผู้บำเพ็ญกรรมฐาน ด้วยการพักผ่อนดังที่กล่าวไว้แล้วในบทว่า วิหรติ.
               ในบทว่า อาตาปี เป็นต้น พระองค์ตรัส สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ไว้ด้วยอาตาปะ (ความเพียรเป็นเหตุให้กิเลสเร่าร้อน) ตรัสกรรมฐานที่ให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง หรืออุบายสำหรับบริหารกรรมฐานไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ตรัสสมถะที่ได้มาแล้วด้วยอำนาจกายานุปัสสนาไว้ด้วยสติ. ตรัสวิปัสสนาด้วยสัมปชัญญะ. ตรัสพลังแห่งภาวนาไว้ด้วยการขจัดอภิชฌาและโทมนัสออกไป.

               อธิบายบท อนุปสฺสี               
               แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระองค์ตรัสไว้ว่า บทว่า อนุปสฺสี ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น อนุปัสสนาคืออะไร?
               คือปัญญา การรู้ทั่วถึง ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่า อนุปัสสนา. ภิกษุเข้าถึง เข้าถึงเรียบร้อยแล้ว เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงเรียบร้อยแล้ว เข้าไปถึงแล้ว ถึงพร้อมแล้ว ประกอบแล้วด้วยอนุปัสสนานี้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า อนุปสฺสี ผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ.
               บทว่า วิหรติ ความว่า ย่อมผลัดเปลี่ยน เป็นไป รักษาไว้ดำเนินไปเอง ให้ (ร่างกาย) ดำเนินไป นำไป พักผ่อน ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า วิหรติ.
               บทว่า อาตาปี ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น อาตาปะ (ความเพียร) คืออะไร?
               คือ การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ ความพยายามชอบ นี้เรียกว่าอาตาปะ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยอาตาปะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า อาตาปี.
               บทว่า สมฺปชาโน ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น สัมปชัญญะคืออะไร?
               คือ ปัญญา ความรู้ทั่วถึง ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยสัมปชัญญะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สมฺปชาโน.
               บทว่า สติมา ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น สติคืออะไร?
               คือ สติ ความระลึกได้ อนุสสติ ความระลึกถึงเนืองๆ ฯลฯ สัมมาสติ ความระลึกชอบ นี้เรียกว่าสติ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่าผู้มีสติ.
               บทว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น โลกคืออะไร?
               กายนั้นเอง ชื่อว่าโลก โลกคืออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้เรียกว่าโลก.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น อภิชฌาคืออะไร?
               คือ ความกำหนัด ความกำหนัดแรงกล้า ความยินดี ความคล้อยตาม ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดแรงกล้าแห่งจิต นี้เรียกว่าอภิชฌา.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น โทมนัสคืออะไร?
               คือ ความไม่ยินดีทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความไม่ยินดี ทุกขเวทนา เกิดแต่สัมผัสทางใจ นี้เรียกว่าโทมนัส.
               ทั้งอภิชฌา ทั้งโทมนัสในโลก คือ กายนี้ เป็นอันถูกขจัดแล้ว ถูกกำจัดออกไปแล้ว สงบแล้ว เงียบแล้ว ระงับแล้ว ถึงการดับแล้ว ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงการดับสูญไป ไม่อิ่มเอิบแล้ว สิ้นปรีดาแล้ว ซูบซีดแล้ว เหี่ยวแห้งแล้ว ทำให้เสื่อมสิ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ขจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก คือกายได้.
               เนื้อความของบทเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วอย่างที่พรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบนัยแห่งอรรถกถานี้ พร้อมด้วยเนื้อความนั้นโดยการเทียบเคียงกันเถิด.
               นี้เป็นกถาพรรณนาความแห่งอุเทศแห่งกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน.

               อธิบายเวทนานุปัสสนา               
               บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบประโยชน์ในการกล่าวซ้ำเวทนาเป็นต้น ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ (ซึ่งมีรวมอยู่ในคำนี้ว่า เวทนาสุ...จิตเต...ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ฯลฯ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ โดยนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในกายานุปัสสนา.
               ก็ในคำว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ จิตฺเต จิตตานุปสฺสี ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี นี้ คำว่า เวทนา ได้ แก่เวทนา ๓ และเวทนานั้นเป็นโลกิยะอย่างเดียว ถึงแม้จิตก็เหมือนกัน เป็นโลกิยะ. ธรรมก็เช่นนั้นเหมือนกัน (เป็นโลกิยะ). การจำแนกเวทนาเป็นต้นเหล่านั้น จักปรากฏในนิเทศวาร. แต่ในที่นี้ พึงทราบการจำแนกเวทนาล้วนๆ ไว้ว่า เวทนาต้องพิจารณาเห็นอย่างใด พระโยคาวจร เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้น ก็ชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา.
               ในจิตตานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนา ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า ก็เวทนาควรพิจารณาเห็นอย่างไร?
               ตอบว่า ก่อนอื่น สุขเวทนาควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นเสมือนลูกศร อทุกขมสุขเวทนา (เวทนาไม่ทุกข์ ไม่สุข) ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง.
               ดังที่ตรัสไว้ว่า :-
                         ภิกษุรูปใดได้เห็นความสุขโดยเป็นความทุกข์ ได้เห็น
                         ความทุกข์โดยเป็นลูกศร ได้เห็นความไม่ทุกข์ไม่สุข
                         ที่มีอยู่ โดยเป็นสิ่งไม่เที่ยง แน่นอนแล้ว ภิกษุรูปนั้น
                         เป็นผู้เห็นชอบ จักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป.
               ก็เวทนาหมดทุกอย่างนี้ ควรพิจารณาให้เห็นว่าเป็นทุกข์.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้เสวยแล้ว เราตถาคตกล่าวสิ่งนั้นทั้งหมดว่า (รวมลงใน) ทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง สุขเวทนาก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นทุกข์. ดังที่ตรัสไว้ว่า เวทนานี้เป็นสุข ความสุขที่ดำรงอยู่ เป็นวิปริณามทุกข์ เพราะฉะนั้น ควรขยายให้พิสดารทุกข้อ.
               อีกอย่างหนึ่ง เวทนาก็ควรพิจารณาให้เห็น แม้โดยอนุปัสสนาทั้ง ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น.
               คำที่เหลือจักมีปรากฏในนิเทศวารนั้นแหละ.
               แม้บรรดาจิตและธรรม จิตก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยการแยกออกไปเป็นจิตมีราคะเป็นต้นที่มาแล้วในนิเทศวารแห่งอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นที่จำแนกออกเป็นต่างๆ กัน มีอารมณ์ อธิบดี สหชาตธรรม ภูมิ กรรม วิบากและกิริยาเป็นต้น. (ธรรม) ก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยลักษณะของตน และลักษณะที่เสมอกันของธรรม โดยสุญญตธรรม, โดยอนุปัสสนาทั้ง ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น และโดยจำแนกออกเป็นสันตธรรม (ธรรมที่สงบ) และ อสันตธรรม (ธรรมที่ไม่สงบ) เป็นต้นที่มาแล้วในนิเทศวาร.
               คำที่เหลือมีนัยดุจที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               ก็ในการละอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้นนี้ ผู้ใดละอภิชฌาและโทมนัสในโลก กล่าวคือกายได้แล้ว ผู้นั้นก็ละอภิชฌาและโทมนัสแม้ในโลก คือเวทนาเป็นต้นได้อยู่นั่นเอง ก็จริง แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ได้ตรัสทุกๆ นิเทศวาร โดยบุคคลแตกต่างกัน และโดยสติปัฏฐานภาวนา ที่ปรากฏขึ้นในขณะจิตแตกต่างกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า โดยเหตุที่อภิชฌาและโทมนัสที่ละได้ในวาระหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันละได้ แม้ในวาระที่เหลือนั่นแหละ แม้เพื่อทรงแสดงการละอภิชฌาและโทมนัสไว้ในวาระนั้น จึงได้ตรัสไว้อย่างนี้ ดังนี้แล.
               จบอรรถกถาว่าด้วยอุเทศวาร               

               สมาธิ ๔               
               [๑๓๓] บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุคุณวิเศษมากประการด้วยพระธรรมเทศนาว่าด้วยสติปัฏฐาน จึงทรงจำแนกสัมมาสมาธิข้อเดียวนั่นแหละออกเป็น ๔ ข้อตามอารมณ์ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐานมี ๔ อย่าง ๔ อย่างคืออะไร? คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกาย ดังนี้แล้ว
               ต่อไป เมื่อจะทรงเอาสติปัฏฐานแต่ละข้อมาจำแนกออกไป (อีก) จึงได้ทรงปรารภเพื่อตรัสนิเทศวารไว้โดยนัยมีอาทิว่า กถญฺจ ภิกฺขเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นไฉน?) อุปมาเหมือนกับช่างจักสานผู้ฉลาด ประสงค์จะทำเครื่องใช้สอยมีเสื่อลำแพนหยาบ เสื่อลำแพนละเอียด ผอบ หีบและลุ้ง เป็นต้น ได้ไม้ไผ่ใหญ่มา ๑ ลำ ผ่าออกเป็น ๔ ซีก เอาแต่ละซีกมาจัก (ให้เป็นตอก) แล้วสานเครื่องใช้สอยฉะนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถญฺจ เป็นต้น เป็นคำถามโดยทรงมุ่งหมายจะตรัสตอบให้พิสดารด้วยพระองค์เอง.
               ก็ในบทนี้ มีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังต่อไปนี้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยประการอย่างไร? ภิกษุจึงเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
               นัยนี้จะมีในทุกวาระแห่งคำถาม.
               บทว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้. เพราะว่า อิธ ศัพท์นี้ ในคำว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ นี้บ่งชัดถึงศาสนาอันเป็นที่พำนักอาศัยของบุคคลผู้ให้เกิดกายานุปัสสนาทุกประการ และปฏิเสธศาสนาอื่นว่าไม่เป็นอย่างนั้น.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในศาสนานี้เท่านั้นมีสมณะ ศาสนาอื่น (ปรัปปวาท ลัทธิที่โจมตีลัทธิอื่น) ว่างจากสมณะเหล่าอื่น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้.
               คำว่า อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาคารคโต วา (ไปสู่ป่า ฯลฯ หรือไปสู่เรือนร้าง) นี้เป็นคำแสดงถึงการทรงกำหนดเสนาสนะที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสติปัฏฐานไว้.

               อุปมาจิตเหมือนลูกวัว               
               เพราะว่า จิตของภิกษุนี้ที่ซ่านไปในรูปารมณ์เป็นต้นมานานแล้ว ไม่ประสงค์จะเข้าร่องรอยกรรมฐานได้ วิ่งออกนอกทางถ่ายเดียว เหมือนรถที่เทียมด้วยวัวพยศก็ปานกัน เพราะฉะนั้น จึงอุปมาเสมือนหนึ่งว่า คนเลี้ยงวัว (เจ้าของ) เมื่อประสงค์จะฝึกลูกวัวพยศที่ดื่มนมทุกหยดจากแม่วัวพยศ เติบโตขึ้นมา ต้องพราก (มัน) ออกจากแม่ ตอกหลักใหญ่หลักหนึ่งไว้ในที่เหมาะสม แล้วเอาเชือกผูก (มัน) ไว้ที่หลักนั้น.
               ครั้นลูกวัวของเขาตัวนั้นทะยานไปทางโน้นทางนี้ ก็ไม่อาจหนีไปได้ จะต้องยืนชิด หรือนอนชิดหลักนั่นเองฉันใด. ภิกษุรูปนี้เองก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อประสงค์จะฝึกจิตร้ายของตน ที่เจริญขึ้นจากการดื่มรสรูปารมณ์เป็นต้นมานานแล้ว ต้องพราก (มัน) จากรูปารมณ์เป็นต้น เข้าไปสู่ป่า หรือรุกขมูล หรือเรือนร้าง เอาเชือกคือสติผูกมันไว้ที่หลัก คืออารมณ์ของสติปัฏฐานนั้น. จิตของเธอนั้นถึงจะดิ้นรนไปทางโน้นทางนี้อย่างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่เคยชินมาก่อน ไม่อาจจะทำลายเชือกคือสติ (ให้ขาด) แล้วหนีไป ก็จะซบเซา และเงื่องหงอย อยู่กะอารมณ์นั่นเองด้วยอุปจารสมาธิ.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-
                         พระโยคาวจร (ผู้บำเพ็ญเพียร) ต้องเอาสติผูกจิต
                         ของตนไว้ที่อารมณ์ (กรรมฐาน) ให้มั่น เหมือน
                         กับคนในโลกนี้ เมื่อจะฝึกวัว๑- ต้องผูกวัวที่จะต้อง
                         ฝึกไว้ที่หลักฉะนั้น.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ทมฺมํ แต่ฉบับพม่าเป็น ทมํ แปลตามฉบับพม่า.

               เสนาสนะนั้นเป็นเสนาสนะเหมาะสมที่จะบำเพ็ญ (กรรมฐาน) สำหรับเธอ ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาคารคโต วา นี้บ่งชัดถึงการกำหนดเสนาสนะที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญสติปัฏฐาน.

               เสียงเป็นข้าศึกต่อฌาน               
               ก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่พระโยคาวจรยังสละเสนาสนะท้ายบ้านที่อึกทึกด้วยเสียงสตรี เสียงบุรุษ เสียงช้างและเสียงม้าเป็นต้นไม่ได้ จะยังอานาปานสติกรรมฐาน อันเป็นยอดแห่งกายานุปัสสนา เป็นเหตุใกล้เคียงแห่งการบรรลุคุณพิเศษและทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรมของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทุกๆ พระองค์นี้ให้สมบูรณ์ ไม่ใช่ของที่จะทำได้ง่าย เพราะฌานมีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม (อุปสรรค).
               แต่ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน การกำหนดเอาพระกรรมฐานนี้ แล้วยังฌานที่ ๔ มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทำฌานนั่นเองให้เป็นเบื้องบาท (ของวิปัสสนา) พิจารณาสังขารแล้วได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลชั้นยอด เป็นสิ่งที่พระโยคาวจรทำได้ง่าย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะอันสมควรแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้เป็นต้น.
               ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเหมือนอาจารย์ผู้รู้พื้นที่ (นักดูที่ หรือนักธรณีวิทยา). พระองค์ ครั้นทรงใคร่ครวญเห็นเสนาสนะที่สมควรแก่พระโยคาวจรอย่างนี้แล้ว จึงทรงชี้ว่า ควรบำเพ็ญพระกรรมฐาน ณ ที่นี้.
               ต่อนั้นไป พระโยคี (ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร) บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ เมื่อได้บรรลุพระอรหัตตามลำดับแล้ว พระองค์ทรงได้รับสักการะอย่างมากมายด้วยคำสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ (จริงๆ) หนอ เหมือนกับอาจารย์ผู้รู้พื้นที่ดูพื้นที่ที่จะตั้งพระนครแล้ว พิจารณาดูถี่ถ้วนแล้ว ชี้บอกว่า ท่านทั้งหลายจงสร้างพระนคร ณ ที่นี้ และเมื่อพระนครสร้างสำเร็จโดยสวัสดี (เรียบร้อย) แล้ว จะได้รับพระราชทานสักการะมากมายจากราชตระกูลฉะนั้น.

               ทรงเปรียบพระเหมือนเสือเหลือง               
               แต่ภิกษุรูปนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเช่นกับเสือเหลือง.
               อธิบายว่า พญาเสือเหลืองใหญ่อาศัยพงหญ้าหรือพงป่า พงเขาในป่า ซุ่มจับหมู่มฤคมีควายป่า เนื้อสมัน และหมูป่าเป็นต้น (กิน) ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บำเพ็ญพระกรรมฐานบ่อยๆ ในป่าเป็นต้น จะบรรลุอริยมรรค ๔ และอริยผล ๔ ตามลำดับ.
               เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-
                         ภิกษุผู้เป็นพุทธบุตร บำเพ็ญวิปัสสนา ประกอบ
                         ความเพียรนี้ เข้าไปสู่ป่า แล้วบรรลุอรหัตตผล
                         เหมือนเสือเหลือง ซุ่มจับเนื้อกินฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่าอันเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะสมแก่การรีบเร่งในการประกอบความเพียรแก่ภิกษุนั้น จึงได้ตรัสไว้ว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้เป็นต้น.
               ต่อแต่นี้ไป คำใดที่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าว (อธิบาย) ในอานาปานบรรพนี้ก่อน คำนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล้ว.

               เจริญอานาปานสติ               
               ก็เมื่อพระโยคาวจรนั้น ศึกษาอยู่ด้วยอำนาจแห่งลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุสำเหนียกว่า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว ฌานทั้ง ๔ จะเกิดขึ้นในเพราะนิมิต คืออัสสาสะและปัสสาสะ.
               เธอออกจากฌานแล้ว กำหนดลมหายใจออกลมหายใจเข้า หรือกำหนดองค์ฌาน, ในจำนวนอัสสาสะปัสสาสะ และองค์ฌานทั้ง ๒ อย่างนั้น. (ถ้า) เป็นผู้กำหนดอัสสาสะปัสสาสะเป็นอารมณ์ ก็กำหนดรูปอย่างนี้ว่า อัสสาสะปัสสาสะอาศัยอยู่กับอะไร? อาศัยอยู่กับวัตถุกรชกาย ชื่อว่าวัตถุ. มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป (๒๔) ชื่อว่ากรชกาย.
               ต่อมา กำหนดนามรูปอย่างนี้ว่า นามมีอยู่ ในอารมณ์นั้น มีผัสสะเป็นที่ ๕ เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั้นจะเห็นปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น ข้ามความสงสัยได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสัตว์หรือบุคคล อื่นต่างหาก (จากอัสสาสปัสสาสะนั้น) ยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตตามลำดับ.
               นี้เป็นช่องทางแห่งการออกไป (จากทุกข์) จนถึงอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
               ส่วนผู้กำหนดฌานเป็นอารมณ์ จะกำหนดนามรูปว่า องค์ฌานทั้งหลายเหล่านี้๑- อาศัยอยู่กับอะไร?
____________________________
๑- ปาฐะว่า อิทานิ พม่าเป็น อิมานิ แปลตามฉบับพม่า.

               อาศัยอยู่กับวัตถุ กรชกาย ชื่อว่าวัตถุ องค์ฌานเป็นนาม กรชกายเป็นรูป เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั้น จะเห็นปัจจยาการมีอวิชชาเป็นต้น ข้ามความสงสัยเสียได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอื่นต่างหาก (จากนามรูปนั้น) ยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนา บรรลุอรหัตตามลำดับ.
               นี้เป็นช่องทางแห่งการออกไป (จากทุกข์) จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย คือลมหายใจออกหายใจเข้าของตนอยู่อย่างนี้หรือ.
               บทว่า พหิทฺธา วา ความว่า หรือ (พิจารณาเห็นกาย) ในกาย คือลมหายใจออกหายใจเข้าของคนอื่น.
               บทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ความว่า ในกายคือลมหายใจออกหายใจเข้าของตน (และ) ของผู้อื่น ตามกาลเวลาอย่างนี้.
               ด้วยบทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา นี้ พระองค์ตรัสถึงกาลเวลาที่ลมหายใจนั้นออกๆ เข้าๆ โดยไม่พักกรรมฐานที่ช่ำชองไว้. แต่ทั้ง ๒ อย่างนี้ จะมีในเวลาเดียวกันไม่ได้.
               บทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ความว่า อุปมาเสมือนหนึ่งว่า อาศัยทั้งสูบของช่างทองทั้งก้านสูบและความพยายามอันเกิดจากทั้ง ๒ อย่างนั้น (สูบและก้านสูบ) ลมจึงเดินไปมาได้ฉันใด. กายคืออัสสาสะปัสสาสะของภิกษุก็ฉันนั้น อาศัยกรชกาย โครงจมูกและจิต จึงสัญจรไปมาได้. ธรรมทั้งหลายมีกายเป็นต้น เป็นสมุทัย ภิกษุเมื่อพิจารณาธรรมเหล่านั้น เรียกว่าพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายอยู่.
               บทว่า วยธมฺมานุปสฺสี วา ความว่า เมื่อกายแตกดับ โครงจมูกโหว่ และเมื่อจิตดับ ขึ้นชื่อว่ากายคืออัสสาสะและปัสสาสะจะสัญจรไม่ได้ เหมือนกับเมื่อสูบถูกนำออกไปแล้ว เมื่อก้านสูบหัก และเมื่อไม่มีความพยายามอันเกิดแต่สูบและก้านสูบนั้น ลมนั้นจะไม่เดินฉะนั้น เพราะฉะนั้น ลมหายใจออกและหายใจเข้าดับไป เพราะกายเป็นต้นแตกดับไป ภิกษุเมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ พระองค์จึงตรัสเรียกว่าพิจารณาเห็นธรรมคือความดับไปในกายอยู่.
               บทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี ความว่า พิจารณาเห็นความเกิดตามกาลเวลา ความดับไปตามกาลเวลา.
               บทว่า อตฺถิ กาโย วา ปนสฺส ความว่า สติ เป็นอันเธอเข้าไปตั้งไว้อย่างนี้ว่า กายมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล. ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร.
               คำว่า ยาวเทว นี้ เป็นคำกำหนดการชี้ขาดประโยชน์.
               มีคำอธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งไว้นั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น. โดยที่แท้แล้ว เพียงเพื่อความรู้เท่านั้น คือเพื่อประโยชน์แก่ญาณที่ยิ่งขึ้นไปเป็นประมาณต่อๆ ไป และเพื่อต้องการสติเป็นประมาณ
               อธิบายว่า เพื่อต้องการให้สติและสัมปชัญญะเจริญขึ้น.
               บทว่า อนิสฺสิโต จ วิหรติ ความว่า เป็นผู้ไม่อาศัย (อะไร) ด้วยอำนาจแห่งตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย.
               ข้อว่า น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ (และเธอจะไม่ยึดมั่นอะไรในโลก) ความว่า เธอจะไม่ยึดถืออะไร คือ รูป ฯลฯ หรือวิญญาณในโลกว่า นี้เป็นอัตตาหรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาของเรา.
               ปิ อักษร ในคำว่า เอวํปิ ใช้ในความหมายว่า รวมเอาเนื้อความข้างหน้ามาไว้. อนึ่ง ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยอานาปานบรรพ มอบให้ (สาวกทั้งหลาย) ดังนี้แล.

               อริยสัจ ๔ ในอานาปานะ               
               บรรดาสัจจะเหล่านั้น สติที่กำหนดอัสสาสะและปัสสาสะ เป็นทุกขสัจ. ตัณหาที่มีแต่ก่อนที่เป็นสมุฏฐานของสตินั้น เป็นทุกขสมุทัย. ความไม่เป็นไปแห่งสติ และตัณหาทั้ง ๒ อย่างนั้น เป็นนิโรธ. อริยมรรคที่มีการกำหนดรู้ทุกข์ มีการละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ.
               เธอขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (นิพพาน) ฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นช่องทางแห่งการออกไปจาก (ทุกข์) จนถึงอรหัตของภิกษุผู้ไม่ยึดมั่นด้วยอำนาจอัสสาสะและปัสสาสะ รูปหนึ่ง.
               จบอานาปานบรรพ

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :