ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 440อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 459อ่านอรรถกถา 12 / 479อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค
มหาอัสสปุรสูตร ว่าด้วยธรรมทำความเป็นสมณพราหมณ์

               อรรถกถามหาอัสสปุรสูตร               
               มหาอัสสปุรสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในมหาอัสสปุรสูตรนั้น.
               บทว่า องฺเคสุ ได้แก่ พวกเจ้าชาวชนบทนามว่า อังคะ. ที่ประทับอยู่แห่งเจ้าอังคะเหล่านั้น แม้เป็นชนบทเดียวก็เรียกว่าอังคา ดังนี้ เพราะศัพท์ขยายความถึง ในอังคชนบทนั้น.
               บทว่า อสฺสปุรํ นาม องฺคานํ นิคโม ความว่า นิคมหนึ่งแห่งอังคชนบทมีโวหารอันได้แล้วโดยนามเมืองว่า อัสสปุระ. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำนิคมนั้นให้เป็นโคจรคามแล้ว ประทับอยู่.
               บทว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพุทธพจน์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่าเป็นสมณะๆ ดังนี้ เป็นต้น.
               ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสอย่างนี้.
               ได้ยินว่า ในนิคมนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธาเลื่อมใส มีความนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา นับถือพระธรรมว่าเป็นของเรา นับถือพระสงฆ์ว่าเป็นของเรา เห็นแม้สามเณรผู้บวชในวันนั้น ก็ทำให้เป็นเช่นกับพระเถระมีพรรษาตั้งร้อย.
               พวกเขาเห็นภิกษุสงฆ์เข้าไปบิณฑบาตในเวลาเช้า แม้ถือพืชและคันไถเป็นต้นไปยังนา แม้ถือวัตถุมีขวานเป็นต้น เข้าไปยังป่า ก็จะวางอุปกรณ์เหล่านั้น แล้วปัดกวาดที่สำหรับนั่งของภิกษุสงฆ์หรืออาสนศาลา หรือมณฑป หรือว่าโคนไม้ แล้วปูลาดอาสนะทั้งหลาย ตั้งเชิงรองบาตรและน้ำดื่ม แล้วนิมนต์ให้ภิกษุสงฆ์นั่ง ถวายข้าวยาคูและของที่ควรเคี้ยวเป็นต้น ส่งภิกษุสงฆ์ผู้ทำภัตตกิจเสร็จแล้วไป จึงถืออุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จากที่นั้นไปสู่นาหรือว่าป่ากระทำการงานทั้งหลายของตน. ในที่ทำงานเขาก็ไม่พูดกันอย่างอื่น พวกเขาเหล่านั้นย่อมกล่าวคุณความดีของภิกษุสงฆ์นั่นแหละ ด้วยคำว่า บุคคล ๘ คือผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ชื่อว่าอริยสงฆ์ พระอริยสงฆ์เหล่านั้นประกอบด้วยศีลเห็นปานนี้ ด้วยอาจาระเห็นปานนี้ ด้วยข้อปฏิบัติเห็นปานนี้ เป็นผู้ละอาย เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นผู้มีคุณอันโอฬารดังนี้ มาจากที่ทำการงานแล้ว บริโภคอาหารเย็นแล้วนั่งอยู่ที่ประตูเรือนก็ดี เข้าไปห้องนอน นั่งแล้วก็ดี ก็ย่อมกล่าวคุณความดีของพระภิกษุสงฆ์นั่นแหละ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความนับถือของพวกมนุษย์เหล่านั้นแล้วทรงประกอบภิกษุสงฆ์ไว้ ในความเคารพในบิณฑบาต จึงได้ตรัสพระดำรัสนั้น.
               บทว่า เย ธมฺมา สมณกรณา จ พฺราหฺมณกรณา จ ความว่า ธรรมเหล่าใดอันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำให้เป็นสมณะ มีบาปอันสงบ และให้เป็นพราหมณ์ มีบาปอันลอยแล้ว ดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมอันสมณะควรทำไว้ในข้อนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะอันสมณะพึงกระทำเหล่านี้มี ๓ อย่าง
               ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑. การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑ ดังนี้.
               แม้ธรรมเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นธรรมกระทำให้เป็นสมณะเหมือนกัน.
               แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เทศนาพิสดารแล้วด้วยอำนาจแห่งหิริโอตตัปปะเป็นต้น.
               ในบทว่า เอวํ โน อยํ อมฺหากํ นี้ บทว่า โน สักว่าเป็นนิบาต. อธิบายว่า ธรรมนี้จักมีแก่พวกเราด้วยอาการอย่างนี้. แม้บททั้งสอง คือ มหปฺผลา และ มหานิสํสา ว่าโดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน. บทว่า อวญฺฌา ได้แก่ ไม่เป็นโมฆะ. บทว่า สผลา เนื้อความนี้ก็มีอรรถแห่งอโมฆะนั่นแหละ. จริงอยู่ ผลแห่งความไม่เป็นหมันไม่มี ผลนั้นชื่อว่ามีโทษ. บทว่า สอุทฺรยา แปลว่า มีกำไร คำนี้เป็นไวพจน์กัน เพราะมีผล. บทว่า เอวญฺหิ โว ภิกฺเว สิกฺขิตพฺพํ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญธรรมมีหิริและโอตตัปปะเป็นต้นด้วยฐานะนี้มีประมาณเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุไร เพราะเพื่อตัดทางแห่งคำพูด.
               จริงอยู่ ถ้าใครๆ บวชไม่นานเป็นภิกษุโง่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอสมาทานธรรมมีหิริและโอตตัปปะเป็นต้น แล้วประพฤติเถิดดังนี้ ก็อะไรหนอ เป็นอานิสงส์ในการสมาทานธรรมเหล่านั้นประพฤติ เพื่อตัดทางแห่งคำพูดของภิกษุนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่า ธรรมเหล่านี้ บุคคลสมาทานทำให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำให้มีชื่อว่าสมณะผู้มีบาปสงบแล้ว ให้มีชื่อว่าพราหมณ์ผู้ลอยบาปแล้ว ทั้งให้เกิดลาภคือปัจจัยสี่ ย่อมยังความมีผลมากให้ถึงพร้อมแก่ผู้ให้ปัจจัย ย่อมกระทำการบรรพชาไม่ให้เป็นหมัน ให้มีผล ให้มีกำไร นี้เป็นอานิสงส์ดังนี้.
               พึงทราบเนื้อความโดยสังเขปในที่นี้เพียงนี้ แต่โดยพิสดารพึงทราบการกล่าวสรรเสริญโดยนัยที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐาน.
               บทว่า หิโรตฺตปฺเปน ได้แก่ ด้วยหิริและโอตตัปปะที่ท่านขยายออกไปอย่างนี้ว่า สิ่งใดอันบุคคลผู้ควรละอายย่อมละอาย สิ่งใดอันบุคคลผู้ควรเกรงกลัวย่อมเกรงกลัว ดังนี้
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้ หิริมีภายในเป็นสมุฏฐาน โอตตัปปะมีภายนอกเป็นสมุฏฐาน หิริเป็นอัตตาธิปไตย โอตตัปปะเป็นโลกาธิปไตย. หิริดำรงอยู่ในสภาพความละอาย โอตตัปปะดำรงอยู่ในสภาพความกลัว.
               ก็กถาพิสดารในธรรมทั้งสองนี้ กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งสองเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก เพราะรักษาโลก.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ ย่อมคุ้มครองโลก
               ๒ อย่างเป็นไฉน คือ หิริ และโอตตัปปะ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ เหล่านี้ไม่พึงคุ้มครองโลก ไม่พึงปรากฏในที่นี้ไซร้ โลกไม่ว่ามารดาหรือป้าน้า ภรรยาของอาจารย์หรือว่าภรรยาของครู ก็จักถึงการเจือปนกันเหมือนแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก.
               ธรรมเหล่านี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในชาดกว่า เป็นเทวธรรม.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
                         สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร.

               แปลว่า
                         สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบแล้วในโลก ผู้ถึงพร้อมด้วยหิริ
                         และโอตตัปปะ ประกอบด้วยสุกกธรรม ท่านกล่าวว่า
                         เป็นผู้มีเทวธรรม ดังนี้.
               หิริและโอตตัปปะธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระมหาจุนทเถระว่าเป็นปฏิปทาเครื่องขัดเกลากิเลส.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า เธอพึงทำการขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ เราจักเป็นผู้มีโอตตัปปะในที่นี้ ดังนี้.
               ก็หิริและโอตตัปปะธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสำหรับกระทำให้เป็นโอวาทูปสัมทา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะอย่างแรงกล้า ในพระเถระ ในพระนวกะ ในพระมัชฌิมะทั้งหลาย ดังนี้ ดูก่อนกัสสปะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
               แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงหิริและโอตตัปปะธรรมเหล่านี้ว่า ชื่อว่าสมณธรรม. ก็เพราะประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ ย่อมไม่ถึงซึ่งที่สุด ด้วยธรรมมีประมาณเท่านี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงธรรมอันกระทำความเป็นสมณะแม้อื่นๆ จึงตรัสคำว่า สิยา โข ปน ภิกฺเว ตุมฺหากํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า สามญฺญตฺโถ ก่อนอื่นในคัมภีร์สังยุตนิกายที่ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สามัญญะความเป็นสมณะเป็นไฉน อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แล เราเรียกว่า สามัญญะ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะเป็นไฉน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะโทสะโมหะอันใด อันนี้เราเรียกว่าประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ.
               มรรคท่านเรียกว่า สามัญญะ ผลและนิพพานท่านเรียกว่า ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ.
               แต่ในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ เพราะรวมทั้งมรรคและผลเข้าด้วยกัน.
               บทว่า อาโรจยามิ แปลว่า ย่อมบอก. บทว่า ปฏิเวทยามิ ได้แก่ เตือนให้รู้.
               ในบทว่า ปริสุทฺโธ โน กายสมาจาโร นี้ ได้แก่ กายสมาจาร ๒ อย่าง คือ บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์.
               จริงอยู่ ภิกษุใดฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ประพฤติผิดในกาม กายสมาจารของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. ก็กายสมาจารนี้ท่านห้ามไว้โดยเป็นกรรมบถ. ก็ภิกษุใดย่อมตี ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นด้วยฝ่ามือ หรือด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศาตรา กายสมาจารของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. กายสมาจารแม้นี้ ท่านก็ห้ามไว้โดยเนื่องด้วยสิกขาบททีเดียว. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสข้อความทั้งสองนั้น ตรัสแต่ชื่อเป็นธรรมขัดเกลาอย่างยิ่ง.
               จริงอยู่ ภิกษุใดเงื้อก้อนดินหรือท่อนไม้ โดยไล่กาทั้งหลายซึ่งกำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิกกินข้าวสุกในบาตร กายสมาจารของภิกษุนั้น ไม่บริสุทธิ์. ตรงกันข้ามชื่อว่าสมาจารบริสุทธิ์.
               บทว่า อุตฺตาโน ได้แก่ ขึ้นไปแล้ว คือปรากฏแล้ว. บทว่า วิวโฏ ได้แก่ เปิดเผย คือไม่ปกปิด ย่อมแสดงความบริสุทธิ์ด้วยธรรมแม้ทั้งสองนั่นเอง. บทว่า น จ ฉิทฺทวา ได้แก่ เป็นเช่นเดียวกันในกาลทุกเมื่อ คือไม่มีช่องในระหว่างๆ. บทว่า สํวุโต ได้แก่ ปิดแล้วด้วยเครื่องปิดประตูของกิเลสทั้งหลาย มิใช่เพื่อต้องการปกปิดโทษ.
               แม้ในวจีสมาจาร ภิกษุใดพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ วจีสมาจารของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. ก็วจีสมาจารนี้ ท่านห้ามไว้โดยเป็นกรรมบถแล้ว. ก็ภิกษุใดเมื่อกล่าวดูหมิ่นด้วยคำทั้งหลายมีคำว่าคฤหบดี หรือว่าทาส หรือว่าคนรับใช้เป็นต้น วจีสมาจารของภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. วจีสมาจารนี้ ท่านห้ามไว้โดยเนื่องด้วยสิกขาบท. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสวจีสมาจารทั้งสองนั้น ตรัสแต่ชื่อเป็นธรรมขัดเกลาอย่างยิ่ง.
               ก็เมื่อภิกษุหนุ่ม หรือว่าสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายเห็นพระอุปัชฌาย์ของพวกกระผมบ้างหรือดังนี้ ภิกษุใดแม้มีความประสงค์เพียงหัวเราะ กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้อยู่โดยนัยเป็นต้นว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุณีมากรูปอยู่แล้วในถิ่นนี้ พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านจักไปช่วยยกห่อใส่ผักขายดังนี้ วจีสมาจารของภิกษุนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์. วจีสมาจารตรงกันข้ามชื่อว่าบริสุทธิ์.
               ในมโนสมาจาร ภิกษุใดเป็นผู้มีอภิชฌา มีจิตพยาบาท เป็นผู้มีความเห็นผิด มโนสมาจารของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. ก็มโนสมาจารอันนี้ ท่านห้ามไว้แล้วโดยเป็นกรรมบถ. ก็ภิกษุใดยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน มโนสมาจารของภิกษุนั้นชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. มโนสมาจารแม้นี้ก็ห้ามไว้แล้วโดยเนื่องด้วยสิกขาบท. ในสูตรนี้ ไม่ตรัสถึงมโนสมาจารทั้งสองนั้น โดยตรัสแต่ธรรมชื่อขัดเกลาอย่างยิ่ง.
               ภิกษุใดย่อมตรึกถึงกามวิตก หรือพยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก มโนสมาจารของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. มโนสมาจารที่ตรงกันข้าม ชื่อว่าบริสุทธิ์.
               ในอาชีวะ ภิกษุใด เพราะอาชีวะเป็นเหตุย่อมเลี้ยงชีพด้วยอำนาจอเนสนา ๒๑ อย่าง เช่นทำเวชกรรมรับใช้ค่าฝี การให้น้ำมันทาขา ย่อมหุงน้ำมันเป็นต้น หรือว่า ภิกษุใดทำวิญญัติบริโภค อาชีวะของภิกษุนั้นชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. ก็อาชีวะอันไม่บริสุทธิ์นี้ ตรัสห้ามไว้โดยเนื่องด้วยสิกขาบท. ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสถึงอาชีวะอันไม่บริสุทธิ์ทั้งสอง ได้ตรัสแต่ธรรมชื่อขัดเกลาอย่างยิ่ง.
               จริงอยู่ ภิกษุใดได้ปัจจัยมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นแล้วคิดว่า จักฉันในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แล้วฉันสิ่งที่ตนสั่งสมไว้. หรือว่า ภิกษุใดเห็นช่อสะเดาเป็นต้น แล้วกล่าวกะพวกสามเณรว่า พวกเธอจงเคี้ยวกินช่อสะเดา ดังนี้. พวกสามเณรคิดว่า พระเถระอยากจะเคี้ยวกิน จึงทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวาย. ภิกษุกล่าวกะภิกษุหนุ่มหรือสามเณรว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พวกเธอจงดื่มน้ำดังนี้. ภิกษุหนุ่มหรือสามเณรเหล่านั้นคิดว่า พระเถระต้องการจะดื่มน้ำ จึงทำน้ำนั้นให้สะอาดแล้วถวาย. อาชีวะของภิกษุผู้บริโภคน้ำนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์. อาชีวะตรงกันข้ามชื่อว่าบริสุทธิ์.
               บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่ ผู้รู้จักพอดี รู้จักพอควร รู้จักพอประมาณ ในการแสวงหาการรับและการบริโภค.
               บทว่า ชาคริยมนุยุตฺตา ได้แก่ ทำการแบ่งกลางคืนกลางวันออกเป็น ๖ ส่วนแล้วกระทำโอกาสเพื่อการหลับส่วนหนึ่ง ประกอบขวนขวายแล้วในธรรมเป็นเครื่องตื่น ๕ ส่วน.
               ในบทว่า สีหเสยฺยํ นี้ ได้แก่ การนอน ๔ คือ กามโภคิไสยา เปตไสยา สีหไสยา ตถาคตไสยา.
               ในบรรดาการนอนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้บริโภคกามโดยมาก ย่อมนอนตะแคงข้างซ้าย เพราะฉะนั้น การนอนนี้ จึงชื่อว่ากามโภคีไสยา. จริงอยู่ ในบรรดาสัตว์ผู้บริโภคกามเหล่านั้น โดยมากไม่นอนตะแคงข้างขวา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรตโดยมากย่อมนอนหงาย เพราะฉะนั้น การนอนนี้ จึงเรียกว่าเปตไสยา.
               จริงอยู่ เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย เปรตมีร่างกระดูกยุ่งเหยิง ย่อมไม่อาจนอนตะแคงข้างหนึ่งได้ จึงนอนหงายเท่านั้น.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหมิคราชโดยมาก ใส่หางเข้าไปในระหว่างขาอ่อนแล้วนอนตะแคงข้างขวา เพราะฉะนั้น การนอนนี้ จึงเรียกว่าสีหไสยา.
               จริงอยู่ สีหมิคราชเพราะมากด้วยอำนาจ วางสองเท้าข้างหน้าไว้ในที่หนึ่ง วางสองเท้าหลังไว้ที่หนึ่ง เอาหางสอดเข้าในระหว่างขาอ่อน กำหนดโอกาสอันตั้งอยู่แห่งเท้าหน้า เท้าหลังและหางแล้วนอนวางศีรษะ พาดเท้าหน้าทั้งสอง หลับไปแม้ตลอดวัน เมื่อตื่นก็ไม่มีการหวาดผวาตื่น ยกศีรษะขึ้นแล้วกำหนดดูโอกาสอันเป็นที่ตั้งแห่งเท้าหน้าเป็นต้น ถ้าฐานะอะไรๆ ที่ตนตั้งไว้แล้วผิดปกติไป ก็เป็นผู้เสียใจว่า ฐานะนี้ไม่สมควรแก่ชาติและความเป็นผู้กล้าหาญของท่านดังนี้ ก็จะนอนในที่นั้นนั่นแหละ ไม่ออกไปเพื่อหาอาหาร. ก็ครั้นเมื่อฐานะที่ตนตั้งไว้ไม่ผิดปกติไป ก็จะเป็นผู้ร่าเริงพอใจว่า ฐานะนี้สมควรแก่ชาติและแก่ความเป็นผู้กล้าหาญของท่านดังนี้ ลุกขึ้นแล้วก็เอี้ยวตัว สะบัดขนสร้อยบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วจึงออกไปเพื่อหาอาหาร.
               ก็การนอนด้วยฌานที่สี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตถาคตไสยา.
               ในบรรดาการนอนสี่เหล่านั้น การนอนอย่างสีหะมาแล้วในที่นี้ เพราะว่าการนอนนี้ ชื่อว่าการนอนอย่างประเสริฐ เพราะเป็นอิริยาบถของผู้มากด้วยอำนาจ.
               บทว่า ปาเทน ปาทํ ได้แก่ เอาเท้าซ้ายทับเท้าขวา.
               บทว่า อุจฺจาธาย ได้แก่ วางไว้เหลื่อมกันหน่อยหนึ่ง. เพราะว่า ข้อเท้ากระทบกับข้อเท้า เข่ากระทบกับเข่า เวทนาย่อมเกิดเนืองๆ จิตย่อมไม่สงบ การนอนก็ไม่ผาสุก ก็ข้อเท้ากับข้อเท้า เข่ากับเข่าย่อมไม่เสียดสีกัน โดยประการใด เมื่อวางไว้เหลื่อมโดยประการนั้น เวทนาย่อมไม่เกิดขึ้น จิตย่อมสงบ การนอนย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า อภิชฺฌํ โลเก เป็นต้นกล่าวพิสดารแล้วในจุลลหัตถิปทสูตร.
               บทว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว เป็นอุปมา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิณมาทาย ได้แก่ ถือเอาทรัพย์โดยเสียดอกเบี้ย (กู้).
               บทว่า พฺยนฺตีกเรยฺย ได้แก่ พึงกระทำให้หมดไป. อธิบายว่า พึงใช้คืนไปทั้งหมด.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ เหตุแห่งความไม่มีหนี้.
               จริงอยู่ บุรุษนั้น เมื่อระลึกว่า เราเป็นผู้ไม่มีหนี้ ดังนี้ ก็จะได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เขาพึงได้ความปราโมทย์ พึงถึงความโสมนัส ดังนี้. ชื่อว่าอาพาธ เพราะเกิดเวทนาอันเป็นข้าศึก เพราะตัดอยู่ซึ่งอิริยาบถ ดุจถูกตัดด้วยเลื่อยเบียดเบียนอยู่ อาพาธนั้นมีอยู่แก่บุคคลนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้มีอาพาธ. ชื่อว่ามีทุกข์ เพราะทุกข์อันมีอาพาธนั้นเป็นสมุฏฐาน. ชื่อว่าเจ็บหนัก เพราะป่วยมีประมาณยิ่ง.
               บทว่า นจฺฉาเทยฺย ได้แก่ ไม่พึงชอบใจ เพราะมีพยาธิหนักเป็นเบื้องหน้า.
               บทว่า พลมตฺตา ได้แก่ กำลังนั่นแหละ. อธิบายว่า เขาพึงมีกำลังกาย.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ เหตุความไม่มีโรค.
               จริงอยู่ เมื่อเขาระลึกอยู่ว่า เราเป็นผู้ไม่มีโรค ดังนี้ เหตุทั้งสองนั้นย่อมเกิดขึ้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ลเภถ ปาโมชฺชํ อธิคจฺเฉยฺย โสมนสฺสํ ดังนี้.
               บทว่า น จสฺส กิญฺจิ โภคานํ วโย ความว่า ไม่พึงเสื่อมโภคะทั้งหลายแม้เพียงว่า กากณิกหนึ่ง. บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ เหตุพ้นจากการจองจำ.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง พึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อนตฺตาธีโน ได้แก่ ตัวเองไม่ได้เป็นใหญ่ คือว่าย่อมทำอะไรๆ ไม่ได้ตามชอบใจของตน. บทว่า ปราธีโน ได้แก่ ผู้อื่นเป็นใหญ่ คือว่าเป็นไปตามความชอบใจของผู้อื่น. บทว่า น เยนกามงฺคโม ความว่า เขาใคร่จะไป ต้องการไปโดยทิสาภาคใด ย่อมไม่ได้โดยทิสาภาคนั้น. บทว่า ทาสพฺยา ได้แก่ ความเป็นทาส. บทว่า ภุชิสฺโส ได้แก่ เป็นไทแก่ตน. บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ เหตุความเป็นไท.
               บทว่า กนฺตารทฺธานมคฺคํ ได้แก่ ทางไกลกันดาร. อธิบายว่า ทางไกลปราศจากน้ำ.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ เหตุแดนอันเกษม.
               ในบทว่า อิเม ปญฺจ นีวรเณ อปฺปหีเน นี้ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงกามฉันทนิวรณ์ที่ยังละไม่ได้ เป็นเช่นกับความเป็นหนี้ นิวรณ์ที่เหลือเป็นเช่นกับโรคเป็นต้น.
               ในข้อนั้น พึงทราบความเป็นเช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ บุคคลใดกู้หนี้เขาไปแล้วไม่ใช้ บุคคลนั้นถูกเจ้าหนี้ทวงว่า เจ้าจงใช้หนี้ ดังนี้ก็ดี ถูกเขาพูดคำหยาบก็ดี ถูกเขาจับไปก็ดี ถูกเขาประหารก็ดี ย่อมไม่อาจโต้ตอบอะไรได้ ย่อมอดกลั้นทุกอย่าง เพราะว่า หนี้นั้นมีการอดกลั้นเป็นเหตุฉันใด บุคคลใดย่อมยินดีสิ่งใด ด้วยกามฉันทะย่อมถือเอาซึ่งสิ่งนั้นด้วยการถือเอาด้วยตัณหาฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลนั้นถูกเขากล่าวคำหยาบก็ดี ถูกเขาจับไปก็ดี ถูกเขาประหารก็ดี ย่อมอดทนทุกอย่าง เพราะว่า กามฉันทะนั้นมีการอดกลั้นเป็นเหตุ ดุจความพอใจในกามของหญิงทั้งหลายที่ถูกสามีในเรือนฆ่า เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบกามฉันทะ ราวกะความเป็นหนี้อย่างนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้กระสับกระส่ายเพราะโรคดี เมื่อใครๆ ให้วัตถุทั้งหลายมีน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ก็ย่อมไม่ได้รสแห่งวัตถุเหล่านั้น เพราะความที่ตนกระสับกระส่ายด้วยโรคดี ย่อมอาเจียนออกนั่นเทียว ด้วยสำคัญว่า รสขมๆ ดังนี้ฉันใด บุคคลผู้มีจิตพยาบาทก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อถูกอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ผู้หวังประโยชน์กล่าวสอนอยู่เพียงเล็กน้อย ก็ไม่รับโอวาท จะกล่าวว่า พวกท่านย่อมขัดใจเราเหลือเกิน แล้วก็สึกออกไป เขาย่อมไม่ประสบรสแห่งพระศาสนาอันต่างด้วยความสุขในฌานเป็นต้น เพราะความกระสับกระส่ายด้วยความโกรธ เหมือนบุคคลนั้น ผู้ไม่ประสบอยู่ซึ่งรสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น เพราะความกระสับกระส่ายด้วยโรคดี. บัณฑิตพึงเห็นความพยาบาท เหมือนโรคอย่างนี้.
               ภิกษุผู้ถูกถีนมิทธะครอบงำแล้ว ครั้นเมื่อธรรมสวนะการฟังธรรม แม้มีนัยอันวิจิตรกำลังเป็นไปอยู่ก็ย่อมไม่รู้เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งธรรมสวนะนั้น เหมือนบุรุษผู้ถูกจองจำในเรือนจำในวันนักขัตฤกษ์ ย่อมไม่เห็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งงานนักขัตฤกษ์ เขาพ้นเรือนจำในวันที่สองแล้ว แม้ได้ฟังคำว่า โอ เมื่อวันวานได้มีงานรื่นเริงสนุกสนานมีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น ก็ไม่กล่าวตอบ. เพราะเหตุไร เพราะความที่ตนไม่ได้ประสบงานนักขัตฤกษ์ ฉะนั้น ภิกษุนั้น เมื่อธรรมสวนะตั้งขึ้นแล้ว แม้ฟังผู้อื่นกล่าวสรรเสริญธรรมสวนะว่า โอ ฟังธรรม โอ การณะ โอ อุปมาเป็นต้น ก็ไม่ให้คำตอบ. เพราะเหตุไร. เพราะความที่ตนไม่ประสบธรรมกถาด้วยอำนาจแห่งถีนมิทธะ. ถีนมิทธะ บัณฑิตพึงทราบดุจเรือนจำอย่างนี้.
               เหมือนอย่างว่า ทาสแม้จะเล่นงานนักขัตฤกษ์ ถูกนายสั่งว่า ชื่อว่ากรณีเร่งด่วนนี้มีอยู่ เจ้าจงไปในที่นั้นทันที ถ้าเจ้าไม่ไป เราจะตัดมือและเท้า หรือว่าหู จมูกของเจ้าดังนี้ เขาย่อมรีบไปทีเดียว ย่อมไม่ได้เพื่อประสบเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของงานนักขัตฤกษ์. เพราะเหตุไร เพราะตนมีผู้อื่นเป็นใหญ่ฉันใด ภิกษุผู้ไม่รู้ข้อปฏิบัติในพระวินัยแม้เข้าไปสู่ที่อื่น ด้วยวิเวกกถาเรื่องวิเวก เมื่อมีความสำคัญในอกัปปิยะอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว โดยที่สุดแม้ในกัปปิยะมังสะ ก็ละวิเวกไปในสำนักพระวินัยธร เพื่อชำระศีล เพราะฉะนั้น เธอย่อมไม่ได้เพื่อเสวยความสุขอันเกิดแต่วิเวก. เพราะเหตุไร เพราะถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบอุทธัจจกุกกุจจะ ดุจทาสอย่างนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษเดินทางไกลกันดาร เห็นโอกาสที่พวกมนุษย์ถูกโจรปล้นแล้ว ก็ระแวงสงสัยว่า พวกโจรมาแล้วด้วยเสียงของท่อนไม้บ้าง ด้วยเสียงของพรานนกบ้างดังนี้ ย่อมเดินไปบ้าง หยุดอยู่บ้าง ย่อมกลับบ้างที่ที่มามากกว่าที่ไป บุคคลนั้นย่อมไปถึงที่อันเป็นแดนเกษมได้โดยยากลำบาก หรือไม่ถึงฉันใด วิจิกิจฉา คือความสงสัยของบุคคลใดในฐานะ ๘ อย่างเกิดขึ้นแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน เขาเมื่อสงสัยว่า พุทฺโธ นุโข น นุโข พุทฺโธ ใช่พระพุทธเจ้า หรือไม่ใช่พระพุทธเจ้าหนอเป็นต้น ไม่อาจน้อมเพื่อจะถือเอาด้วยศรัทธา เมื่อไม่อาจก็ย่อมไม่บรรลุมรรคผล. เมื่อบุคคลยังความลังเลสังสัย ความไม่เชื่อมั่น ความเป็นผู้สะดุ้งให้เกิดแก่จิตบ่อยๆ ว่า พวกโจรมีอยู่ในทางไกลกันดารหรือไม่หนอดังนี้ ย่อมกระทำอันตรายแก่การถึงที่ปลอดภัยฉันใด แม้วิจิกิจฉาก็ฉันนั้น ยังความลังเลสงสัย ความไม่เชื่อมั่น ความสะดุ้งให้เกิดแก่จิตบ่อยๆ โดยนัยว่า พุทฺโธ เป็นต้น ย่อมกระทำอันตรายแก่การบรรลุอริยมรรค. บัณฑิตพึงทราบดุจบุคคลผู้เดินทางไกลกันดาร.
               บัดนี้ ในบทว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว อานณฺยํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงซึ่งกามฉันทะอันละได้แล้ว ให้เป็นเช่นกับความไม่มีหนี้และซึ่งนิวรณ์ที่เหลืออันภิกษุละได้แล้ว ให้เป็นเช่นกับความไม่มีโรคเป็นต้น.
               ในข้อนั้น ความเป็นเช่นเดียวกันพึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า บุรุษกู้หนี้มาแล้วประกอบการงาน เสร็จการงานแล้ว คิดว่าขึ้นชื่อว่าหนี้แล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กังวลใจดังนี้ จึงใช้หนี้คืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยแล้วฉีกหนังสือทิ้งเสีย. ทีนั้นก็ไม่มีใครๆ มาทวงหนี้ หรือส่งหนังสือมาทวงเขาจำเดิมแต่กาลนั้น. เขาเห็นเจ้าหนี้แล้ว ถ้าปรารถนาจะนั่งหรือจะลุกขึ้นจากที่นั่ง หรือไม่ปรารถนาจะนั่ง ไม่ต้องการจะลุกขึ้นก็ได้. เพราะเหตุไร เพราะความที่เขาหมดหนี้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับด้วยเจ้าหนี้เหล่านั้นฉันใด ภิกษุนี้คิดว่า ชื่อว่ากามฉันทะมีความกังวลใจเป็นเหตุดังนี้ แล้วเจริญธรรมทั้ง ๖ อย่างโดยนัยที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐานแล้ว ละกามฉันทนิวรณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน. ความกลัว ความสะดุ้งย่อมไม่มีแก่บุรุษหมดจากหนี้แล้ว เพราะเห็นเจ้าหนี้ฉันใด ความข้องเกี่ยวความผูกพันของภิกษุผู้มีกามฉันทะอันละได้แล้ว ย่อมไม่มีในวัตถุอื่น ฉันนั้นเหมือนกัน. เมื่อเห็นรูปทั้งหลายแม้เป็นทิพย์ กิเลสก็ไม่ฟุ้งขึ้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละกามฉันทะ เหมือนผู้หมดหนี้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้กระสับกระส่ายด้วยโรคดีนั้น ทำโรคนั้นให้สงบระงับไปด้วยการทำเภสัช จำเดิมแต่นั้น ย่อมรู้รสแห่งน้ำตาลกรวดเป็นต้นฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันคิดว่า ขึ้นชื่อว่าพยาบาทนี้กระทำความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ดังนี้ แล้วเจริญธรรม ๖ อย่าง ละพยาบาทนิวรณ์ได้. ภิกษุนั้น ชื่อว่าละความพยาบาทได้อย่างนี้. บุรุษผู้หายจากโรคดี ชอบเสพของหวานมีน้ำตาลกรวดเป็นต้นฉันใด ภิกษุนั้นอันอาจารย์ให้ศึกษาอยู่ซึ่งอาจาระและพระวินัยบัญญัติเป็นต้น รับด้วยศีรษะชอบศึกษาอยู่ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละพยาบาทดุจความไม่มีโรค.
               บุรุษผู้ถูกจับเข้าไปสู่เรือนจำในวันนักขัตฤกษ์ แม้ในวันนักขัตฤกษ์อื่นอีก เขาคิดว่า เราเคยถูกจองจำด้วยโทษแห่งความประมาท จึงไม่ได้เล่นงานวันนักขัตฤกษ์ เพราะโทษนั้น บัดนี้ เราจักเป็นผู้ไม่ประมาทดังนี้ฉันใด ศัตรูของเขาย่อมไม่ได้โอกาส เขาเป็นผู้ไม่ประมาท จึงได้เล่นงานนักขัตฤกษ์แล้วเปล่งอุทานว่า อโห วันนักขัตฤกษ์ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันคิดว่า ขึ้นชื่อว่าถีนมิทธะนี้กระทำความฉิบหายใหญ่ดังนี้ จึงเจริญธรรม ๖ อย่าง ละถีนมิทธะได้ ภิกษุนั้นชื่อว่าละถีนมิทธะแล้วอย่างนี้ บุรุษผู้พ้นจากเครื่องจองจำเล่นงานนักขัตฤกษ์ตลอดเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดได้แม้ทั้ง ๗ วัน ก็เสวยอยู่ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งธรรมนักขัตต์ฉันใด บรรลุพระอรหัต พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละถีนมิทธะ เหมือนการพ้นจากเครื่องจองจำ.
               เหมือนอย่างว่า ทาสเข้าไปอาศัยมิตรคนใดคนหนึ่ง ให้ทรัพย์แก่นาย กระทำตนให้เป็นไทได้แล้ว จำเดิมแต่นั้นมา พึงทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันคิดว่า ขึ้นชื่อว่าอุทธัจจกุกกุจจะกระทำความฉิบหายใหญ่ดังนี้ จึงเจริญธรรม ๖ อย่าง แล้วละอุทธัจจกุกกุจจะได้. ภิกษุนั้นชื่อว่า ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ บุรุษผู้เป็นไทแก่ตัว ปรารถนาจะทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นได้ ใครจะยับยั้งเขาจากการกระทำนั้นโดยพลการไม่ได้ฉันใด ภิกษุย่อมปฏิบัติเนกขัมมปฏิปทาตามสบายฉันนั้นเหมือนกัน อุทธัจจกุกกุจจะใครๆ จะยังเธอให้กลับจากเนกขัมมปฏิปทานั้นมาสู่อุทธัจจกุกกุจจะโดยพลการไม่ได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละอุทธัจจกุกกุจจะได้เหมือนความเป็นไท.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มีกำลังถือเสบียงกรังตระเตรียมอาวุธพร้อมกับบริวารดำเนินไปสู่ทางกันดาร พวกโจรเห็นเขาแต่ไกลพึงหนีไป บุรุษนั้นก็ผ่านทางกันดารนั้นไปถึงความปลอดภัยได้ด้วยความสวัสดี พึงเป็นผู้ร่าเริงยินดีแล้วฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันคิดว่า ชื่อว่าวิจิกิจฉานี้ย่อมกระทำความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ดังนี้ จึงเจริญธรรม ๖ อย่างแล้วละวิจิกิจฉาได้ ภิกษุนั้นชื่อว่าละวิจิกิจฉาแล้วด้วยอาการอย่างนี้ บุรุษผู้มีกำลังมีอาวุธอันตระเตรียมไว้แล้ว พร้อมกับบริวารเห็นโจรแล้ว ไม่กลัว ไม่คำนึงพวกโจรเท่าเส้นหญ้า ออกไปถึงสถานที่อันปลอดภัยโดยความสวัสดีฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผ่านพ้นทางกันดารคือทุจริตแล้ว ถึงอมตนิพพานอันเกษมอย่างยิ่ง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละวิจิกิจฉา ดุจผู้ที่ถึงสถานที่ปลอดภัย.
               บทว่า อิมเมว กายํ ได้แก่ กรชกายนี้.
               บทว่า อภิสนฺเทติ ได้แก่ ทำให้ชุ่มชื่น ทำให้สิเนหา คือย่อมกระทำปีติและสุขเป็นไปในกรชกายทั้งปวง.
               บทว่า ปริสนฺเทติ ได้แก่ ย่อมหลั่งไหลไปโดยรอบ. บทว่า ปริปูเรติ ได้แก่ ย่อมเต็มเหมือนถูกลมเป่า. บทว่า ปริปฺผรติ ได้แก่ ย่อมถูกต้องโดยรอบ.
               บทว่า สพฺพาวโต กายสฺส ความว่า ที่แม้น้อยหนึ่งตามผิวเนื้อโลหิต ในที่สืบต่อเป็นไปของอุปาทินนกรูปอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งกายทุกส่วนของภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่ถูกต้องด้วยความสุขในปฐมฌาน ย่อมไม่มี.
               บทว่า ทกฺโข ได้แก่ ผู้ฉลาดสามารถเพื่อกระทำ เพื่อประกอบ เพื่อผสมซึ่งจุณสำหรับอาบ.
               บทว่า กํสถาเล ได้แก่ ภาชนะที่กระทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ก็ภาชนะที่ทำด้วยดินเหนียว เป็นภาชนะไม่มั่นคง เมื่อบุคคลทุบอยู่ย่อมแตกได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่แสดงภาชนะที่ทำด้วยดินเหนียวนั้น.
               บทว่า ปริปฺโผสกํ ปริปฺโผสกํ แปลว่า ประพรม. บทว่า สนฺเนยฺย ความว่า ถือถาดสำริดด้วยมือซ้าย พรมแล้วพรมอีกซึ่งน้ำพอประมาณด้วยมือขวาแล้วขยำกระทำให้เป็นก้อน.
               บทว่า สิเนหานุคตา ได้แก่ ติดกันด้วยยางเหนียวคือน้ำ. บทว่า สิเนหปเรตา ได้แก่ ซึมไปด้วยยางเหนียวคือน้ำ. บทว่า สนฺตรพาหิรา ความว่า พร้อมทั้งส่วนข้างในข้างนอก. ย่อมถูกต้องส่วนทั้งหมดทีเดียวด้วยยางเหนียวคือน้ำ. บทว่า น จ ปคฺฆรณี ความว่า น้ำย่อมไม่ไหลไปเป็นหยดๆ. อธิบายว่า สามารถเพื่อถือเอา แม้ด้วยมือ แม้ด้วยนิ้วเพียงสองนิ้ว เพื่อกระทำให้วนได้.
               พึงทราบข้ออุปมาความสุขในทุติยฌาน.
               บทว่า อุพฺภิโตทโก ได้แก่ น้ำที่ไม่ไหลไป คือไม่ไหลไปข้างล่าง ไม่ไหลไปข้างบน. อธิบายว่า เป็นน้ำเกิดอยู่ในภายในนั่นแหละ. บทว่า อายมุขํ ได้แก่ ทางมา. บทว่า เทโว ได้แก่ เมฆ. บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ทุกกึ่งเดือน หรือทุกสิบวัน. บทว่า ธารํ แปลว่า ฝน.
               บทว่า อานุปเวจฺเฉยฺย ได้แก่ ไม่พึงเข้าไป คือว่าไม่พึงตกลงไป. อธิบายว่า ธารน้ำเย็นพุขึ้น คือทำห้วงน้ำเย็นที่ขังอยู่ให้เต็มแล้ว.
               จริงอยู่ น้ำที่พุขึ้นแต่ข้างล่าง ทำน้ำที่พุขึ้นไม่ให้แตกกระเพื่อมออกไป น้ำที่ไหลเข้าไปโดยทิศทั้งสี่ ย่อมกระเพื่อมด้วยใบไม้ หญ้า เศษไม้ ท่อนไม้เก่าเป็นต้น น้ำย่อมกระเพื่อมเพราะฟองน้ำฝน ธารน้ำที่ตกลงมา แต่น้ำสงบนิ่งเกิดขึ้นอยู่ ย่อมแผ่ไปสู่ประเทศนี้ ย่อมไม่แผ่ไปสู่ประเทศนี้ เหมือนเนรมิตไว้ด้วยฤทธิ์ เพราะฉะนั้น โอกาสอันน้ำนั้นไม่ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มี หามิได้.
               ในข้อนั้น กรชกายเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ความสุขในทุติยฌานเหมือนน้ำ.
               คำที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยก่อน.
               พึงทราบคำอุปมาในความสุขแห่งตติยฌาน
               ดอกอุบลทั้งหลายมีอยู่ในที่นี้ เพราะเหตุนั้น ที่นี้จึงชื่อว่า กออุบล. แม้สองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้ว่า ในคำนี้ บรรดาดอกอุบลมีสีขาว สีแดง สีเขียว ดอกอุบลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จัดเป็นอุบลทั้งนั้น ดอกอุบลที่มีใบเก้าสิบเก้าใบ เรียกว่าบุณฑริก มีใบร้อยใบ เรียกว่าประทุม. อีกอย่างหนึ่ง ดอกอุบลสีขาว แม้ไม่กำหนดใบ ก็เรียกว่าประทุม ดอกอุบลสีแดง เรียกว่าบุณฑริก.
               บทว่า อุทกานุคฺคตานิ ได้แก่ ไม่โผล่จากน้ำ.
               บทว่า อนฺโตนิมุคฺคโปสิตานิ ความว่า จมอยู่ภายในพื้นน้ำเท่านั้น ย่อมถูกต้อง คือย่อมเจริญ.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนแล.
               พึงทราบความอุปมาความสุขในจตุตถฌานต่อไป
               ในบทว่า ปริสุทฺเธน เจตสา ปริโยทาเตน นี้ พึงทราบชื่อว่าบริสุทธิ์แล้ว เพราะอรรถว่าหมดอุปกิเลส ชื่อว่าผ่องแผ้วแล้ว เพราะอรรถว่าประภัสสร.
               บทว่า โอทาเตน วตฺเถน นี้ ท่านกล่าวเพื่อการแผ่ไปแห่งโอกาส.
               พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า
               ผ้าที่เศร้าหมองความอบอุ่นย่อมไม่แผ่ไป. ทันใดที่ผ้าขาวซักบริสุทธิ์สะอาด ความอบอุ่นย่อมมีกำลังแผ่ไป. จริงอยู่ สำหรับอุปมานี้ กรชกายเปรียบเหมือนผ้า ความสุขในจตุตถฌาน เปรียบเหมือนการแผ่ไปแห่งโอกาส เพราะฉะนั้น เมื่อบุรุษอาบน้ำชำระดีแล้ว นั่งห่มผ้าขาวคลุมศีรษะ อุตุจากสรีระ ย่อมแผ่ไปตลอดผ้าทั้งหมดทีเดียว โอกาสอะไรๆ ไม่เป็นโอกาสที่จะถูกผ้ามิได้มีฉันใด โอกาสอะไรๆ อันความสุขในจตุตถฌานไม่ถูกต้องกรชกายของภิกษุ ย่อมไม่มีฉันนั้น. อีกอย่างหนึ่ง จิตในจตุตถฌานนั่นแหละ เปรียบเหมือนผ้าที่ห่มแล้ว รูปที่มีจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน เปรียบเหมือนการแผ่ไปแห่งโอกาส.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อผ้าขาวในที่บางแห่งแม้ไม่ถูกกาย กายก็เป็นอันโอกาส ซึ่งมีกายนั้นเป็นสมุฏฐานถูกต้องแล้วทั้งหมดทีเดียวฉันใด กายของภิกษุก็เป็นอันสุขุมรูปซึ่งจตุตถฌานให้เกิดขึ้นถูกต้องทั่วไปหมดก็ฉันนั้น.
               พึงทราบอุปมาในปุพเพนิวาสญาณ
               กิริยาอันภิกษุนั้นทำแล้วในวันนั้นย่อมปรากฏชัด เพราะฉะนั้น ในวันนั้นเธอยึดเอาบ้านสามหลัง ในข้อนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ภิกษุผู้ได้ปุพเพนิวาสญาณ เหมือนบุรุษไปสู่บ้านสามหลัง. ภพสาม บัณฑิตพึงเห็นเหมือนบ้านสามหลัง. ความแจ่มแจ้งแห่งกิริยาอันภิกษุผู้มุ่งจิตไปในปุพเพนิวาสญาณนั่งทำแล้วในภพสาม บัณฑิตพึงทราบ เหมือนความแจ่งแจ้งแห่งกิริยาอันบุรุษนั้นกระทำแล้วในวันนั้นในบ้านสามหลัง.
               พึงทราบอุปมาในทิพยจักษุ
               บทว่า เทฺว อคารา ได้แก่ บ้านสองหลัง. บทว่า สทฺวารา ได้แก่ มีประตูข้างหน้า. บทว่า อนุจงฺกมนฺเต ได้แก่ เดินไปมา.
               บทว่า อนุวิจรนฺเต ได้แก่ เที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้. อธิบายว่า พึงทราบด้วยสามารถแห่งการออกจากบ้านหลังนี้ แล้วเข้าไปสู่บ้านหลังนั้น หรือออกจากบ้านหลังนั้น แล้วเข้าไปสู่บ้านหลังนี้.
               ในข้อนั้น จุติและปฏิสนธิ เปรียบเหมือนบ้านสองหลังมีประตูร่วมกัน ภิกษุผู้ได้ทิพยจักษุญาณเปรียบเหมือนบุรุษมีจักษุ กาลเวลาที่สัตว์ผู้กำลังจุติและปฏิสนธิปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้ทิพยจักษุผู้เจริญอาโลกกสิณ ตรวจดูอยู่ เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษเดินเข้าและเดินออกตลอดบ้านสองหลัง ปรากฏแก่บุรุษผู้มีจักษุผู้ยืนแลดูอยู่ในระหว่างบ้านสองหลัง.
               ถามว่า ก็กาลเหล่านั้นปรากฏแก่ญาณ หรือแก่บุคคล.
               ตอบว่า แก่ญาณ. แต่ว่า เพราะปรากฏแก่ญาณนั้น จึงปรากฏแก่บุคคลเหมือนกัน.
               พึงทราบอุปมาแห่งอาสวักขยญาณ ดังนี้
               บทว่า ปพฺพตสงฺเขเป ได้แก่ ยอดภูเขา.
               บทว่า อนาวิโล ได้แก่ ไม่มีเปือกตม.
               หอยโข่งด้วย หอยกาบด้วย ชื่อว่าหอยโข่งและหอยกาบ. ก้อนกรวดด้วย กระเบื้องด้วย ชื่อว่าก้อนกรวดและกระเบื้อง. ชื่อว่าฝูงปลา เพราะปลาเป็นหมู่เป็นฝูง.
               ในบทว่า ติฏฺฐนฺตํปิ จรนฺตํปิ นี้ ได้แก่ ก้อนกรวดและกระเบื้องหยุดอยู่ แต่นอกนี้มีหอยโข่งเป็นต้น เดินไปบ้าง หยุดอยู่บ้าง. เหมือนอย่างว่า เมื่อแม่โคยืนบ้าง หมอบบ้าง นอนบ้าง ในระหว่างๆ ฝูงโคเหล่านี้ย่อมเที่ยวไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาโคที่เที่ยวไป จึงตรัสว่า โคนอกนี้ย่อมเที่ยวไปฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอา ก้อนกรวดและกระเบื้องที่หยุดอยู่นั่นเอง จึงตรัสว่า สองหมวดนอกนี้หยุดอยู่. ทรงหมายเอาสองหมวดนี้เคลื่อนไป จึงตรัสว่า แม้ก้อนกรวดและกระเบื้องก็เคลื่อนไป ดังนี้. ในข้อนั้น พึงทราบกาลที่สัจจะ ๔ แจ่มแจ้งแล้วแก่ภิกษุผู้นั่งน้อมจิตไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ดุจกาลที่หอยโข่งและหอยกาบเป็นต้นแจ่มแจ้งแล้วแก่บุรุษผู้มีจักษุยืนดูอยู่ที่ฝั่งฉะนั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงถือเอาชื่อพระขีณาสพทั้งเพศ ทั้งคุณด้วยอาการ ๗ อย่าง จึงตรัสบทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สมโณ อิติปิ เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น
               ในบทว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ สมโณ โหติ เป็นต้น.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าสมณะ เพราะมีบาปอันสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้. ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะมีบาปอันลอยแล้ว.
               ชื่อว่านหาตกะ (ผู้อาบ) เพราะมีกิเลสล้างออกแล้ว คือมีกิเลสอันกำจัดออกแล้ว.
               ชื่อว่าเวทคู เพราะอกุศลธรรมทั้งหลายไปแล้วด้วยเวททั้งหลายคือมรรคญาณ ๔. อธิบายว่า เพราะรู้แล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิทิตสฺส โหนฺติ เป็นต้น.
               ชื่อว่าโสตติยะ เพราะกิเลสทั้งหลายหลับไปแล้ว คือเพราะกิเลสทั้งหลายไม่ไหลออกไปมา. ชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย. อธิบายว่า เพราะกิเลสทั้งหลายถูกกำจัดแล้ว. ชื่อว่าอรหันต์ เพราะไกล คือเป็นผู้ห่างไกลแล้ว.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ปรากฏแจ่มแจ้งแล้วแล.

               จบอรรถกถามหาอัสสปุรสูตรที่ ๙               

               จบอรรถกถามหาตัณหาสังขยสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค มหาอัสสปุรสูตร ว่าด้วยธรรมทำความเป็นสมณพราหมณ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 440อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 459อ่านอรรถกถา 12 / 479อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8507&Z=8743
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=5612
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=5612
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :