ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 383อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 12 / 392อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค
จูฬโคปาลสูตร อุปมาด้วยนายโคบาล

               อรรถกถาจูฬโคปาลสูตร               
               จูฬโคปาลสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ.
               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า อุกฺกเจลายํ คือ ในเมืองมีชื่ออย่างนั้น.
               ได้ยินว่า เมื่อเขากำลังสร้างเมืองนั้น ปลาจากกระแสแม่น้ำคงคา ขึ้นบกในเวลากลางคืน พวกมนุษย์ชุบผ้าในถาดน้ำมันให้เปียกทำเป็นคบเพลิงจับปลา. เมื่อเมืองนั้นสร้างเสร็จแล้ว พวกเขาเมื่อจะตั้งชื่อเมืองนั้น จึงได้ตั้งชื่อเมืองนั้นว่า อุกกเจลา ด้วยคิดว่า ในวันสร้างเมืองพวกเราจับปลาได้ด้วยคบเพลิงผ้า.
               บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า แม่น้ำคงคาทั้งหมดย่อมปรากฏแก่ผู้นั่งในสถานที่ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากห้อมล้อม ประทับนั่งในสถานที่เช่นนั้นเป็นหาดทรายฝั่งแม่น้ำคงคา เวลาเย็นกำลังทอดพระเนตรแม่น้ำมหาคงคาเต็มเปี่ยมกำลังไหล ทรงใคร่ครวญ ว่ามีใครๆ หนออาศัยแม่น้ำคงคานี้แล้ว ได้รับความเจริญและความเสื่อมในกาลก่อน ได้ทรงเห็นว่า ฝูงโคหลายพันอาศัยนายโคบาลโง่คนหนึ่ง ตกที่วนแม่น้ำคงคานี้เข้าไปสู่สมุทร ส่วนฝูงโคหลายแสนได้มีความสวัสดี ความเจริญความไม่มีโรค เพราะอาศัยนายโคบาลผู้ฉลาดอีกคนหนึ่ง. ครั้นทรงเห็นแล้ว ทรงดำริว่า เราจักอาศัยเหตุนี้แสดงธรรมแก่พวกภิกษุนี้ดังนี้ จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า มาคธโก คือ ชาวมคธรัฐ.
               บทว่า ทุปฺปญฺญชาติโก ได้แก่ มหาชนพวกไม่มีปัญญาเป็นสภาพ.
               บทว่า อสมเวกฺขิตฺวา ได้แก่ ไม่กำหนด คือไม่ใคร่ครวญ.
               บทว่า ปตาเรสิ เริ่มเพื่อจะให้ข้าม.
               บทว่า อุตฺตรํ ตีรํ สุวิเทหานํ ความว่า ให้โคข้ามไปสู่ฝั่งเหนือด้วยคิดว่า เราจักนำชาวมคธรัฐที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคาไปยังวิเทหรัฐที่ฝั่งโน้น นำโคจากมคธรัฐไปยังวิเทหรัฐแล้วรักษา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอานายโคบาลนั้น จึงตรัสว่า อุตฺตรํ ตีรํ สุวิเทหานํ ดังนี้.
               บทว่า อามณฺฑลิกํ กริตฺวา ได้แก่ ทำให้วน.
               บทว่า อนฺยพฺยสนํ อาปชฺชชึสุ ได้แก่ ถึงความพินาศคือไม่เจริญ คือเข้าไปสู่มหาสมุทร.
               ก็นายโคบาลนั้นเมื่อให้โคข้าม พึงตรวจดูท่าที่เสมอและไม่เสมอที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา พึงกำหนดเนินทรายไว้ ๒-๓ แห่งเพื่อเป็นสถานที่พักโคกลางแม่น้ำคงคา.
               อนึ่ง พึงกำหนดท่าไว้ ๓-๔ ท่าที่ฝั่งโน้นว่า โคลงแล้วจากท่านี้จักไปขึ้นท่านี้ ลงจากท่านี้จักไม่ขึ้นท่านี้ดังนี้.
               ส่วนนายโคบาลโง่นี้ไม่ตรวจดูท่าสำหรับโคที่ฝั่งนี้เรียบหรือไม่เรียบ ไม่กำหนดเนินทรายไว้ ๒-๓ แห่งเพื่อเป็นสถานที่พักโคกลางแม่น้ำคงคา ไม่พิจารณาหาที่เป็นที่ขึ้นไว้ ๔-๕ แห่งที่อีกฝั่งหนึ่ง ให้โคข้ามไปโดยสถานที่มิใช่ท่า.
               ครั้งนั้น โคใหญ่ของเขาว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ขวางไปถึงฝั่งโน้น เพราะถึงพร้อมด้วยความเร็วและเพราะถึงพร้อมด้วยกำลัง เห็นเขาขาดและหนามพุ่มไม้หนาแน่น แล้วรู้ว่านั่นออกไปได้ยากดังนี้ ไม่ได้ที่ว่างสำหรับยืนข้างบน ก็ว่ายกลับ.
               โคทั้งหลายคิดว่า โคใหญ่ว่ายกลับแล้ว แม้พวกเราก็จักว่ายกลับดังนี้ ก็ว่ายกลับด้วยกัน. ในที่ฝูงโคจำนวนมากกลับ น้ำวนตัดน้ำตั้งขึ้นกลางแม่น้ำคงคา ฝูงโคเข้าไปในน้ำวนถึงสมุทร โคตัวหนึ่งชื่อว่าไม่มีอันตราย มิได้มีแล้วแล. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โคทั้งหลายถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ในที่นั้นแล.
               บทว่า อกุสลา อิมสฺส โลกสฺส ได้แก่ สมณพราหมณ์เป็นผู้ไม่ฉลาดคือเฉียบแหลม ในโลกนี้ คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ. แม้ในปรโลกก็มีนัยนี้แล.
               บ่วงมาร ท่านเรียกเตภูมิกธรรม. มิใช่บ่วงมาร ท่านเรียกว่าโลกุตตรธรรม. แม้ที่ตั้งมัจจุ ท่านเรียกเตภูมิกธรรม. แม้ที่ตั้งอมัจจุ ท่านเรียกนวโลกุตตรธรรม. สมณพราหมณ์ผู้ไม่ฉลาดคือเฉียบแหลมในธรรมเหล่านั้น. ส่วนโดยเนื้อความของคำบ่วงมาร ชื่อว่า มารเธยฺยา โคจรอันเป็นฐานะที่อยู่และที่อาศัย ชื่อ เธยฺยา แม้ในมัจจุเธยยา ก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า เตสํ ได้แก่ สมณพราหมณ์เหล่านั้น คือเห็นปานนั้น.
               พึงทราบว่า ครูทั้ง ๖ ท่านแสดงไว้แล้วด้วยบทนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงจบกัณหปักษ์อย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงสุกกปักษ์ ตรัสคำเป็นต้นว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลวคาเว คือ โคที่ฝึกแล้วและแม่โคนม.
               บทว่า ทมฺมคาเว คือโคที่ควรฝึกและโคสาว.
               บทว่า วจฺฉตเร ได้แก่ ลูกโคมีกำลังที่ผ่านความเป็นลูกโค.
               บทว่า วจฺฉเก คือ ลูกโคหนุ่มยังดื่มนม.
               บทว่า กีสพลิเก คือ มีเนื้อและเลือดน้อย กำลังน้อย.
               บทว่า ตาวเทว ชาตโก คือ ลูกโคที่เกิดในวันนั้น.
               บทว่า มาตุ โครวเกน วุยฺหมาโน ความว่า แม่โคส่งเสียงโคข้างหน้าว่า หุง หุง ให้สัญญาณว่ายตัดน้ำไป. ลูกโคว่ายไปตามน้ำตามแม่โคนั้นแล โดยเสียงร้องของแม่โคนั้น ท่านเรียกว่าลอยตามเสียงร้องของแม่.
               บทว่า มารสฺส โสตํ เฉตฺวา ความว่า ตัดกระแสแห่งตัณหาของมารด้วยอรหัตตมรรค.
               บทว่า ปารํ คตา ได้แก่ ภิกษุถึงฝั่งสงสาร คือนิพพาน เหมือนโคใหญ่ว่ายไปถึงฝั่งแม่น้ำฉะนั้น.
               บทว่า ปารํ อคมํสุ ความว่า ในขณะที่โคใหญ่ถึงฝั่ง โคทั้งหลายว่ายล่วง ๓ ส่วนกระแสแม่น้ำคงคาแล้วเห็นโคใหญ่ถึงฝั่ง จึงไปตามทางที่โคใหญ่เหล่านั้นไปแล้ว.
               บทว่า ปารํ คมิสฺสนฺติ ความว่า ผู้ยังกิเลสที่มรรค ๔ พึงฆ่า ๓ ส่วนให้สิ้นแล้วตั้งอยู่.
               บัดนี้ พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งปวงโดยนัยนี้ว่า ภิกษุผู้ตัดกระแสตัณหาหมดสิ้นไป ด้วยอรหัตตมรรคแล้ว จักถึงฝั่งสงสารคือนิพพาน เหมือนโคที่กำลังว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ถึงฝั่งแม่น้ำฉะนั้น. ภิกษุ ๒ รูปเหล่านี้ คือที่เป็นธัมมานุสารี สัทธานุสารี เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคชั้นต้น.
               บทว่า ชานตา คือ พระพุทธเจ้าทรงรู้อยู่ซึ่งธรรมทั้งปวง.
               บทว่า สุปกาสิโต แปลว่า กล่าวไว้ดีแล้ว. บทว่า วิวภํ แปลว่า เปิดแล้ว.
               บทว่า อมตทฺวารํ ได้แก่ อริยมรรค. บทว่า นิพพานปตฺติยา คือ เปิดเพื่อประโยชน์แก่นิพพานนั้น.
               บทว่า วินฬีกตํ คือ ทำมานะดุจไม้อ้อให้ปราศจากไป.
               บทว่า เขมํ ปตฺเถถ ความว่า พวกเธอเป็นผู้ปรารถนาพระอรหัต คือเป็นผู้ต้องการให้พระอรหัตเกิดขึ้นด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ. บาลีว่า ปตฺตตฺถ ดังนี้ก็มี. มีอธิบายว่า พวกเธอได้พระศาสดาเห็นปานนี้ ชื่อว่าบรรลุแล้วเหมือนกัน.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบการแสดงธรรมตามอนุสนธิด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาจูฬโคปาลสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค จูฬโคปาลสูตร อุปมาด้วยนายโคบาล จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 383อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 12 / 392อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=7247&Z=7322
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=4410
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=4410
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :