ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 153อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 159อ่านอรรถกถา 12 / 194อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท

               อรรถกถามหาสีหนาทสูตร               
               มหาสีหนาทสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับ ดังนี้ :-
               ในมหาสีหนาทสูตรนั้น บทว่า เวสาลิยํ ความว่า ใกล้พระนครซึ่งมีชื่ออย่างนั้น. ได้ยินว่า พระนครนั้นถึงอันนับว่า เวสาลี เพราะเป็นนครเจริญไพศาลบ่อยๆ.
               ในมหาสีหนาทสูตรนั้น มีการกล่าวตามลำดับดังนี้.
               ได้ยินว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระครรภ์. พระนางทรงทราบแล้ว ทูลให้พระราชาทรงทราบ. พระราชาได้พระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์. พระนางเมื่อทรงได้รับการบริหารโดยชอบ ก็เสด็จเข้าสู่เรือนเป็นที่ทรงประสูติ ในกาลทรงมีพระครรภ์แก่. ในสมัยใกล้รุ่ง ผู้มีบุญทั้งหลายก็ได้คลอดออกจากพระครรภ์. ก็พระนางนอกจากพระเทวีเหล่านั้น ทรงประสูติชิ้นเนื้อเป็นเช่นกับกลีบดอกชบาที่ไม่เหี่ยวแห้งในสมัยใกล้รุ่งนั้น. พระเทวีเหล่าอื่นจากพระอัครมเหสีนั้น ทรงประสูติพระโอรสทั้งหลายเป็นเช่นกับพิมพ์ทอง. พระนางอัครมเหสีทรงรู้ว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึงทรงดำริว่า ความอัปยศของเรา พึงเกิดขึ้นเบื้องพระพักตรของพระราชา ดังนี้ เพราะความทรงกลัวต่อความอัปยศนั้น จึงทรงใส่ชิ้นเนื้อนั้นในภาชนะหนึ่ง ทรงปิด ทรงประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้ทิ้งลงในกระแสน้ำคงคา.
               ครั้นเมื่อภาชนะนั้นสักว่ามนุษย์ทิ้งแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็เตรียมการรักษา.
               ก็มนุษย์ทั้งหลายได้จารึกแผ่นทองคำด้วยชาดสีแดง ผูกไว้ในภาชนะนั้นว่า ราชโอรสของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสี. แต่นั้น ภาชนะนั้นไม่ถูกภัยทั้งหลายมีภัยแต่คลื่นเป็นต้นเบียดเบียนเลย ได้ลอยไปตามกระแสน้ำคงคา.
               ก็โดยสมัยนั้น ยังมีดาบสตนหนึ่งอาศัยตระกูลผู้เลี้ยงโคอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา. ดาบสนั้นลงสู่แม่น้ำคงคาแต่เช้าตรู่ ได้เห็นภาชนะนั้นลอยมา จึงจับยกขึ้นด้วยสำคัญว่าเป็นบังสุกุล. ลำดับนั้น ได้เห็นแผ่นอักษรและรอยพระราชลัญจกรนั้นในภาชนะนั้นแล้ว แก้ออกดูเห็นชิ้นเนื้อนั้น. ดาบสนั้นครั้นเห็นแล้วจึงคิดว่า พึงเป็นครรภ์ แต่ทำไมครรภ์นั้นจึงไม่เหม็นและไม่เน่าเล่า จึงนำมาสู่อาศรมตั้งไว้ในโอกาสอันหมดจด. ลำดับนั้นโดยล่วงไปกึ่งเดือน ชิ้นเนื้อก็เป็นสองส่วน. ดาบสเห็นแล้วก็ตั้งไว้ในที่ดีกว่า. โดยล่วงไปอีกกึ่งเดือนจากนั้น ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นก็แบ่งเป็นปมอย่างละห้าปม เพื่อประโยชน์แก่มือเท้าและศีรษะ. ลำดับนั้นโดยล่วงไปกึ่งเดือนจากนั้น ชิ้นเนื้อหนึ่งเป็นเด็กชายเช่นกับพิมพ์ทอง ชิ้นหนึ่งเป็นเด็กหญิง.
               ดาบสได้เกิดความรักดุจบุตรในเด็กเหล่านั้น. น้ำนมได้เกิดแม้แต่หัวแม่มือของดาบสนั้น. ก็จำเดิมแต่นั้น ได้น้ำนมเป็นภัต. ดาบสนั้นบริโภคภัตแล้ว หยอดน้ำนมในปากของทารกทั้งหลาย. สถานที่ซึ่งดาบสเข้าไปทั้งหมดปรากฏแก่ทารกเหล่านั้น เหมือนอยู่ในภาชนะแก้วมณี. ทารกทั้งสองปราศจากฉวีอย่างนี้. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ทารกเหล่านั้นมีฉวีเร้นลับกันและกันดุจเย็บตั้งไว้. ด้วยประการฉะนี้ ทารกเหล่านั้นจึงปรากฏว่า ลิจฉวี เพราะความที่ทารกเหล่านั้นปราศจากผิว หรือมีผิวเร้นลับ.
               ดาบสเลี้ยงดูทารกทั้งหลาย เข้าไปสู่บ้านในกลางวันเพื่อภิกษา กลับมาเมื่อสายมาก. คนเลี้ยงโคทั้งหลายรู้ความกังวลนั้นของดาบสนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การเลี้ยงดูทารกย่อมเป็นกังวลแก่นักบวช ขอท่านจงให้ทารกเหล่านั้นแก่พวกผมเถิด พวกผมจักเลี้ยงดู ท่านจงทำการงานของตนเถิด. ดาบสรับว่า ดีแล้ว.
               ในวันที่สองนายโคบาลทั้งหลายทำทางให้ราบเรียบ โปรยด้วยดอกไม้ทั้งหลาย ยกธงผ้ามีดุริยางค์บรรเลง มาสู่ทางอันไม่ราบเรียบ. ดาบสกล่าวว่า ทารกเป็นผู้มีบุญมาก ท่านทั้งหลายจงให้เจริญด้วยความไม่ประมาท และครั้นให้เจริญแล้ว จงทำอาวาหวิวาหะกะกันและกัน ท่านทั้งหลายต้องให้พระราชาทรงพอพระทัยด้วยปัญจโครส จับจองพื้นที่สร้างนคร อภิเษกกุมารในนครนั้น ดังนี้แล้ว ได้ให้ทารกทั้งหลาย. นายโคบาลเหล่านั้นรับว่า ดีละ นำทารกทั้งหลายไปเลี้ยงดู.
               ทารกทั้งหลายอาศัยความเจริญ เล่นอยู่ก็ประหารเด็กนายโคบาลเหล่าอื่นด้วยมือบ้าง ด้วยเท้าบ้าง ในที่ทะเลาะกัน. ก็เด็กของนายโคบาลเหล่านั้นร้องไห้อยู่ผู้อันบิดามารดาพูดว่า พวกเจ้าร้องไห้เพื่ออะไร จึงบอกว่า เด็กผู้ไม่มีบิดามารดาซึ่งดาบสเลี้ยงเหล่านี้ ประหารพวกผมเหลือเกิน.
               แต่นั้น บิดามารดาของเด็กเหล่านั้น จึงกล่าวว่า เด็กสองคนนี้ยังเด็กพวกอื่นให้พินาศ ให้ถึงความทุกข์ พวกเราไม่พึงสงเคราะห์เด็กเหล่านี้ ควรไล่เด็กเหล่านี้ออกไปเสีย ดังนี้.
               ได้ยินว่า จำเดิมแต่กาลนั้น ประเทศนั้นจึงเรียกว่า วัชชี.
               ลำดับนั้น นายโคบาลทั้งหลายยังพระราชาทรงพอพระทัยแล้ว ได้รับประเทศนั้นโดยปริมาณหนึ่งร้อยโยชน์. และได้สร้างนครในประเทศนั้นแล้ว อภิเษกกุมารซึ่งมีอายุได้สิบหกปีให้เป็นพระราชา. ได้ให้พระราชานั้นทรงทำวิวาหะกับเด็กหญิงแม้นั้นแล้ว ทำกติกาว่า พวกเราไม่พึงนำเด็กหญิงมาจากภายนอก ไม่พึงให้เด็กชายจากตระกูลนี้แก่ใคร ดังนี้. ด้วยการอยู่ร่วมกันครั้งแรก เขาทั้งสองคนนั้นมีบุตรแฝดสองคน คือ ธิดา ๑ บุตร ๑ โดยประการฉะนี้ จึงมีบุตรแฝดถึงสิบหกครั้ง.
               ต่อแต่นั้น ทารกเหล่านั้นเจริญขึ้นตามลำดับ จึงขยายนครซึ่งไม่เพียงพอ เพื่อเอาเป็นอารามอุทยานสถานที่อยู่ และบริวารสมบัติ ถึง ๓ ครั้ง โดยห่างกันครั้งละหนึ่งคาวุต. นครนั้นจึงมีชื่อว่า เวสาลี เพราะความเป็นนครที่มีความเจริญกว้างขวางบ่อยๆ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เวสาลิยํ ความว่า ใกล้พระนครที่มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า พหินคเร ความว่า ในภายนอกแห่งพระนคร คือไม่ใช่ภายในพระนครเหมือนอัมพปาลีวัน. ก็นี้คือ ราวป่าภายนอกพระนคร เหมือนชีวกัมพวัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในภายนอกพระนคร.
               บทว่า อปรปุเร ความว่า ตรงกันข้ามกับทิศตะวันออก คือในทิศตะวันตก.
               บทว่า วนสณฺเฑ ความว่า ได้ยินว่า ราวป่านั้นอยู่ในที่ประมาณหนึ่งคาวุต ในทิศตะวันตกแห่งพระนคร. ในราวป่านั้น มนุษย์ทั้งหลายทำพระคันธกุฎีถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ล้อมพระคันธกุฎีนั้น ตั้งที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม ที่เร้น กุฏิ มณฑปเป็นต้น ถวายแด่พระภิกษุทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในราวป่านั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าในราวป่า ด้านตรงกันข้ามกับทิศตะวันออก.
               คำว่า สุนักขัตตะ นั้นเป็นชื่อของเขา ก็สุนักขัตตะนั้นเรียกว่า ลิจฉวีบุตร เพราะความที่เขาเป็นบุตรของลิจฉวีทั้งหลาย.
               บทว่า อจิรปกฺกนฺโต ความว่า สึกออกมาเป็นคฤหัสถ์หลีกไปไม่นาน.
               บทว่า ปริสติ ได้แก่ ในท่ามกลางบริษัท.
               กุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่ามนุษยธรรม ในบทนี้ว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา
               สุนักขัตตะไม่อาจเพื่อจะปฏิเสธกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านั้น. เพราะเหตุไร.
               เพราะกลัวแต่คำตำหนิ.
               ด้วยว่า ในเมืองเวสาลี มนุษย์จำนวนมากเลื่อมใสแล้วในพระรัตนตรัย นับถือพระพุทธเจ้า นับถือพระธรรม นับถือพระสงฆ์ มนุษย์เหล่านั้น ครั้นเมื่อสุนักขัตตะกล่าวว่า แม้สักว่า กุศลกรรมบถสิบของพระสมณโคดมไม่มี ดังนี้ ก็จะกล่าวคำเป็นต้นว่า ท่านได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฆ่าสัตว์ในที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาของที่ไม่ได้ให้ในที่ไหน แล้วพึงกล่าวว่า ท่านไม่รู้ประมาณของตน ท่านกินหินและก้อนกรวด ด้วยคิดว่าฟันทั้งหลายของเรามีหรือ ท่านพยายามเพื่อจะจับหางงู ท่านปรารถนาเพื่อจะเล่นพวงดอกไม้ในฟันเลื่อย พวกเราจักยังฟันทั้งหลายของท่านให้หลุดร่วงจากปาก ดังนี้.
               เขาไม่อาจเพื่อจะกล่าวอย่างนี้ เพราะกลัวแต่การตำหนินั้น. ก็เขาเมื่อจะปฏิเสธการบรรลุคุณพิเศษนอกจากอุตริมนุษยธรรมนั้น จึงกล่าวว่า ญาณทัสสนะพิเศษอันควรเป็นพระอริยเจ้านอกจากมนุษยธรรม ดังนี้.
               ในบทนั้น ชื่อว่า อลมริยะ เพราะควรเพื่อรู้อริยะ.
               อธิบายว่า อันสามารถเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า. ญาณทัสสนะนั้นเทียวชื่อว่าญาณทัสนะวิเศษ ญาณทัสสนวิเสสนั้นด้วย เป็นอันควรแก่พระอริยเจ้าด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อ อลมริยญาณทัสสวิเสส. ทิพยจักษุก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ปัจจเวกขณญาณก็ดี สัพพัญญุตญาณก็ดี เรียกว่าญาณทัสสนะ.
               จริงอยู่ ทิพยจักษุ ชื่อว่าญาณทัสสนะ ในบทนี้ว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมบรรลุญาณทัสสนะ. ก็วิปัสสนาญาณ ชื่อว่าญาณทัสนะ ในบทนี้ว่า นำไปเฉพาะ น้อมไปเฉพาะซึ่งจิต เพื่อญาณทัสสนะ. มรรคชื่อว่าญาณทัสสนะ ในบทนี้ว่า เขาเหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อตรัสรู้อันยอดเยี่ยม. ผลญาณชื่อว่าญาณทัสสนะ ในบทนี้ว่า ญาณทัสสนะพิเศษอันควรแก่พระอริยเจ้า นอกจากอุตตริมนุษยธรรมนี้อันเป็นการอยู่ผาสุก ได้บรรลุแล้วกระมัง. ปัจจเวกขณญาณชื่อว่าญาณทัสนะ ในบทนี้ว่า ก็ญาณทัสนะได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มี. สัพพัญญุตญาณชื่อว่าญาณทัสนะ ในบทนี้ว่า ก็ญาณทัสสนะของเราได้เกิดขึ้นแล้ว อาฬารดาบส กาฬามโคตร ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ๗ วัน.
               ส่วนโลกุตตรมรรค ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ก็สุนักขัตตะนั้นปฏิเสธโลกุตตรมรรคแม้นั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ห้ามอาจารย์ด้วยบทนี้ว่า ตกฺกปริยาหตํ.
               นัยว่า เขามีปริวิตกอย่างนี้ ธรรมดาพระสมณโคดมทรงเข้าหาอาจารย์ทั้งหลายแล้ว ถือเอาลำดับธรรมอันละเอียดไม่มี ก็พระสมณโคดมทรงแสดงธรรม ยึดความตรึก คือทรงตรึก ทรงตรองแล้ว แสดงธรรมยึดความตรึกว่าจักเป็นอย่างนี้ จักมีอย่างนั้น ดังนี้. ย่อมรับรู้โลกิยปัญญาของพระสมณโคดมนั้น ด้วยบทนี้ว่า วีมํสานุจริตํ. พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา. พระสมณโคดมนั้นทรงยังพระวิมังสาอันเปรียบเหมือนอินทวิเชียร กล่าวคือปัญญานั้นให้เที่ยวไปข้างนั้นและข้างนี้ว่า จักเป็นไปอย่างนั้น จักเป็นไปอย่างนี้ ย่อมทรงแสดงธรรมคล้อยตามพระวิมังสา. ห้ามความที่พระสมณโคดมนั้นทรงประจักษ์ในธรรมทั้งหลาย ด้วยบทนี้ว่า สยํ ปฏิภานํ.
               ก็สุนักขัตตะนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่าวิปัสสนา หรือมรรค หรือผล อันเป็นลำดับแห่งธรรมอันละเอียดของพระสมณโคดมนั้น ชื่อว่าประจักษ์ย่อมไม่มี ก็สมณโคดมนี้ทรงได้บริษัท วรรณ ๔ ย่อมแวดล้อมพระองค์เหมือนพระจักรพรรดิ ก็ไรพระทนต์ของพระองค์เรียบสนิท พระชิวหาอ่อน พระสุรเสียงอ่อนหวาน พระวาจาไม่มีโทษ พระองค์ทรงถือเอาสิ่งที่ปรากฏแก่เทพแล้ว ตรัสพระดำรัสตามไหวพริบของพระองค์ทรงยังมหาชนให้ยินดี.
               บทว่า ยสฺส จ ขฺวสฺส อตฺถาย ธมฺโม เทสิโต ความว่า ก็ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดแล.
               อย่างไร
               คือ อสุภกรรมฐานเพื่อประโยชน์แก่การกำจัดราคะ เมตตาภาวนาเพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโทสะ ธรรม ๕ ประการเพื่อประโยชน์แก่การกำจัดโมหะ อานาปานัสสติเพื่อตัดวิตก.
               บทว่า โส นิยฺยาติ ตกฺกรสฺส สมฺมาทุกฺขกฺขยาย ความว่า สุนักขัตตะแสดงว่า ธรรมนั้นย่อมนำออกคือไป เพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏฏทุกข์โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย โดยการณ์ แก่ผู้ปฏิบัติตามธรรมที่ทรงแสดงนั้น คือยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จ.
               แต่สุนักขัตตะไม่กล่าวถึงเนื้อความนี้นั้นด้วยอัธยาศัยของตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเครื่องไม่นำออกจากทุกข์ ดังนี้. แต่ไม่สามารถจะกล่าวได้ เพราะเหตุไร. เพราะกลัวแต่การถูกตำหนิ.
               จริงอยู่ ในเมืองเวสาลี มีอุบาสกเป็นโสดาบัน สกทาคามีและอนาคามีจำนวนมาก. อุบาสกเหล่านั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะสุนักขัตตะ ท่านกล่าวว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ดังนี้ ผิว่า ธรรมนี้ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ไซร้ เพราะเหตุไร ในนครนี้ อุบาสกเหล่านี้เป็นโสดาบันประมาณเท่านี้ เป็นสกทาคามีประมาณเท่านี้ เป็นอนาคามีประมาณเท่านี้เล่า. อุบาสกเหล่านั้นพึงกระทำการคัดค้าน โดยนัยที่กล่าวแล้วในบทก่อน.
               สุนักขัตตะนั้น เมื่อไม่อาจเพื่อจะกล่าวว่า ธรรมนี้ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เพราะกลัวถูกตำหนินี้ จึงกล่าวว่า ธรรมของพระสมณโคดมนั้น ไม่เป็นโมฆะ ย่อมนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้โดยไม่ถูกเผา แต่พระสมณโคดมนั้นไม่มีอะไรในภายในเลย ดังนี้.
               บทว่า อสฺโสสิ โข ความว่า เมื่อสุนักขัตตะกล่าวอย่างนี้ในท่ามกลางบริษัทนั้นๆ ในตระกูลทั้งหลายมีตระกูลพราหมณ์และตระกูลเศรษฐีเป็นต้นในพระนครเวสาลี ท่านพระสารีบุตรได้ฟังคำพูดนั้นแล้ว ไม่คัดค้าน เพราะเหตุไร.
               เพราะท่านมีความกรุณา.
               นัยว่า ท่านพระสารีบุตรนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า สุนักขัตตะนี้กระเสือกกระสนด้วยอำนาจแห่งความโกรธ เหมือนไม้ไผ่ถูกเผา และเหมือนเกลือที่ถูกใส่ในเตาไฟ ก็สุนักขัตตะถูกเราคัดค้านแล้ว จักผูกความอาฆาตแม้ในเรา เมื่อเป็นอย่างนี้ สุนักขัตตะนั้นก็จักผูกอาฆาตเป็นภาระอย่างยิ่งในชนทั้งสอง คือในพระตถาคตและในเรา เพราะฉะนั้น จึงไม่คัดค้านเพราะท่านมีความกรุณา.
               อนึ่ง ท่านพระสารีบุตรนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า ธรรมดาการกล่าวตำหนิพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นเช่นกับโปรยโทษในพระจันทร์เต็มดวงฉะนั้น ใครเล่าจักถือเอาถ้อยคำของสุนักขัตตะนี้ เขาเองนั้นแหละ ครั้นหมดน้ำลาย ปากแห้งแล้วจักงดการกล่าวตำหนิ เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงไม่คัดค้าน เพราะความกรุณานี้.
               บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต ความว่า กลับจากการแสวงหาบิณฑบาตแล้ว.
               บทว่า โกธโน คือ เป็นผู้ดุร้าย คือเป็นผู้หยาบคาย.
               บทว่า โมฆปุริโส ความว่า บุรุษเปล่า จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเรียกบุรุษผู้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคและผลในอัตภาพนั้นว่าโมฆบุรุษ. ครั้นเมื่ออุปนิสัยแม้มีอยู่ แต่มรรคหรือผลไม่มีในขณะนั้น ก็เรียกว่า โมฆบุรุษเหมือนกัน. แต่สุนักขัตตะนี้ได้ตัดขาดอุปนิสัยแห่งมรรคและผลทั้งหลายแล้วในอัตภาพนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกสุนักขัตตะนั้นว่า โมฆบุรุษ.
               บทว่า โกธา จ ปนสฺส เอสา วาจา ภาสิตา ความว่า ก็วาจาของสุนักขัตตะนั้นนั่นและ ได้กล่าวแล้วด้วยความโกรธ.
               ก็เพราะเหตุไร สุนักขัตตะนั้นจึงโกรธพระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะในกาลก่อน สุนักขัตตะนี้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามถึงการบริกรรมทิพยจักษุ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่สุนักขัตตะนั้นแล้ว.
               สุนักขัตตะนั้นยังทิพยจักษุให้เกิดขึ้น เจริญอาโลกสัญญา เมื่อมองดูเทวโลก ก็ได้เห็นเทพบุตรทั้งหลายและเทพธิดาทั้งหลาย ซึ่งกำลังเสวยทิพยสมบัติในนันทนวัน จิตตลดาวัน ปารุสกวันและมิสสกวัน เป็นผู้ประสงค์จะฟังเสียงของเทพบุตรและเทพธิดาเหล่านั้น ที่ดำรงอยู่ในอัตภาพสมบัติเห็นปานนั้นว่า จักมีเสียงอ่อนหวานอย่างไรหนอแล จึงเข้าไปเฝ้าพระทศพลแล้วทูลถามการบริกรรมทิพยโสตธาตุ.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า สุนักขัตตะนั้นไม่มีอุปนิสัยแห่งทิพยโสตธาตุ จึงไม่ตรัสบอกการบริกรรมแก่เขา. เพราะพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ตรัสบริกรรมแก่ผู้เว้นจากอุปนิสสัย.
               เขาได้ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว คิดว่า เราได้ทูลถามการบริกรรมถึงทิพยจักษุครั้งแรกกะพระสมณโคดม พระองค์ได้ตรัสแก่เราว่า ทิพยจักษุบริกรรมนั้นจงสำเร็จ หรือว่าจงอย่าสำเร็จ แต่เรายังทิพยจักษุบริกรรมนั้นเกิดขึ้นด้วยการทำของบุรุษจำเพาะตนแล้ว จึงถามถึงการบริกรรมโสตธาตุ พระองค์ไม่ตรัสบอกการบริกรรมโสตธาตุนั้นแก่เรา ชะรอยพระองค์จะมีพระดำริอย่างนี้ว่า สุนักขัตตะนี้บวชจากราชตระกูล ยังทิพยจักษุญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ยังทิพยโสตธาตุญาณให้เกิด ยังเจโตปริยญาณให้เกิด ยังญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้เกิดแล้ว จักทัดเทียมเราแน่แท้ พระองค์จึงไม่ตรัสบอกแก่เราด้วยอำนาจแห่งความริษยาและความตระหนี่ ดังนี้.
               สุนักขัตตะผูกอาฆาตโดยประมาณยิ่งแล้ว ทิ้งผ้ากาสายะทั้งหลายแล้วแม้ถึงความเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังไม่นิ่งเที่ยวไป. แต่เขากล่าวตู่พระทศพล ด้วยความเปล่าไม่เป็นจริงเที่ยวไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วาจานั้น เขากล่าวเพราะความโกรธ ดังนี้.
               บทว่า วณฺโณ เหโส สารีปุตฺต ความว่า ดูกรสารีบุตร ตถาคตบำเพ็ญบารมีทั้งหลายอยู่สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ได้กระทำความพยายามเพื่อประโยชน์แห่งบารมีเหล่านั้น เทศนาธรรมของเราจักเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวสรรเสริญตถาคตนั่นเทียว. พระองค์ทรงแสดงว่า ดูกรสารีบุตร ก็การสรรเสริญนั้นเป็นคุณ นั้นเป็นคุณของตถาคต. ทรงแสดงอะไรด้วยบทเป็นต้นว่า อยํปิ หิ นาม สารีปุตฺต ดังนี้. ทรงแสดงความที่อุตตริมนุษยธรรมที่สุนักขัตตะปฏิเสธมีอยู่ในพระองค์.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเทศนานี้ โดยนัยว่า อยํปิ หิ นาม สารีปุตฺต เป็นต้น เพื่อทรงแสดงอรรถนั้นว่า ดูก่อนสารีบุตร สุนักขัตตะนี้เป็นโมฆบุรุษ ย่อมกล่าวว่า อุตตริมนุษยธรรมของพระตถาคตไม่มี ดังนี้ ก็เรามีสัพพัญญุตญาณ มีอิทธิวิธญาณ มีทิพยโสตธาตุญาณ มีเจโตปริยญาณ มีทศพลญาณ มีจตุเวสารัชชญาณ มีญาณที่ไม่ครั้นคร้ามในบริษัทแปด มีญาณกำหนดกำเนิดสี่ มีญาณกำหนดคติห้า ก็ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก็คืออุตตริมนุษยธรรมนั้นเทียว ก็ธรรมดา แม้สักว่าความคล้อยตามธรรมที่สามารถรู้อุตตริมนุษยธรรมแม้ข้อหนึ่งในบรรดาอุตริมนุษยธรรมเห็นปานนี้ จักไม่มีแก่โมฆบุรุษนั้น ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น ชื่อว่าอันวยะ เพราะอรรถว่าคล้อยตาม. อธิบายว่า รู้คือรู้ตาม. ความคล้อยตามธรรม ชื่อธัมมันวยะ. นั้นเป็นชื่อของปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมมีสัพพัญญุตญาณเป็นต้นนั้นๆ. ทรงแสดงว่า แม้ธัมมันวยะจักไม่มีแก่โมฆบุรุษนั้น เพื่อให้รู้อุตตริมนุษยธรรม กล่าวคือสัพพัญญุตญาณแม้เห็นปานนี้ของเรามีอยู่นั่นเทียวว่า มีอยู่ ด้วยบทว่า อิติปิ โส ภควา เป็นต้น. พึงทราบการประกอบอย่างนี้ แม้ในญาณทั้งหลายมีอิทธิวิธญาณ เป็นต้น.
               อนึ่ง พึงกล่าววิชชา ๓ ในลำดับแห่งเจโตปริยญาณในบทนั้นโดยแท้.
               ถึงกระนั้น ครั้นเมื่อวิชชา ๓ เหล่านั้นกล่าวแล้ว ธรรมดาทศพลญาณเบื้องสูง ย่อมบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ตรัสวิชชา ๓ นั้น ทรงแสดงกระทำให้บริบูรณ์ด้วยทสพลญาณของตถาคตจึงตรัสว่า ทส โข ปนิมานิ สารีปุตฺต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตถาคตพลานิ ได้แก่ พละของตถาคตเท่านั้น ไม่ทั่วไปกับบุคคลเหล่าอื่น คือพละที่มาแล้วโดยประการที่พละของพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย ซึ่งมาด้วยบุญสมบัติและอิสสริยสมบัติ.
               ในพละเหล่านั้น พละของตถาคตมี ๒ อย่าง คือ กายพละ ๑ ญาณพละ ๑.
               ในพละเหล่านั้น กายพละ พึงทราบโดยทำนองแห่งตระกูลช้าง.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่โบราณกาจารย์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
                         ตระกูลช้าง ๑๐ ตระกูลนี้คือ กาฬาวกะ ๑
                         คังเคยยะ ๑ ปัณฑระ ๑ ตัมพะ ๑ ปิงคละ ๑
                         คันธะ ๑ มังคละ ๑ เหมะ ๑ อุโบสถ ๑ ฉัททันตะ ๑.
               ก็ตระกูลแห่งช้าง ๑๐ ตระกูลเหล่านี้.
               ในตระกูลช้างเหล่านั้น พึงเห็นตระกูลช้างธรรมดาว่า กาฬาวกะ. กำลังกายของบุรุษ ๑๐ คนเท่ากับกำลังช้างกาฬาวกะ ๑ เชือก. กำลังของช้างกาฬาวกะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างคังเคยยะ ๑ เชือก. กำลังช้างคังเคยยะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างปัณฑระ ๑ เชือก. กำลังช้างปัณฑระ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างตัมพะ ๑ เชือก. กำลังช้างตัมพะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างปิงคละ ๑ เชือก. กำลังช้างปิงคละ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างคันธะ ๑ เชือก. กำลังช้างคันธะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างมังคละ ๑ เชือก. กำลังช้างมังคละ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างเหมวัต ๑ เชือก. กำลังช้างเหมวัต ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างอุโบสถ ๑ เชือก. กำลังช้างอุโบสถ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังช้างฉัททันตะ ๑ เชือก. กำลังช้างฉัททันตะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังพระตถาคต ๑ พระองค์.
               ตถาคตพละนี้นั้นเทียวเรียกว่ากำลังรวมของพระนารายนะบ้าง. กำลังนี้นั้น เป็นกำลังช้างพันโกฏิด้วยการนับช้างธรรมดา เป็นกำลังบุรุษสิบพันโกฏิด้วยการนับบุรุษ. นี้เป็นกำลังกายของพระตถาคตก่อน.
               ส่วนญาณพละมาแล้วในบาลีก่อนเทียว. ญาณหลายพันแม้เหล่าอื่นอย่างนี้คือ ทสพลญาณ จตุเวสารัชชญาณ ญาณในไม่ทรงครั้นคร้ามในบริษัทแปด ญาณกำหนดกำเนิดสี่ ญาณกำหนดคติห้า ญาณ ๗๓ ญาณ ๗๗ ที่มาในสังยุตตกนิกายนั่นชื่อ ญาณพละ.
               ญาณพละนั้นเทียว ท่านประสงค์แล้วแม้ในที่นี้.
               ก็ญาณ ท่านกล่าวว่าพละ ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหว และอรรถว่าอุดหนุน.
               บทว่า เยหิ พเลหิ สมนฺนาคโต ความว่า ทรงถึง คือทรงถึงพร้อมด้วยญาณพละ ๑๐ ประการเหล่าใด.
               บทว่า อาสภณฺฐานํ คือ ฐานะซึ่งประเสริฐที่สุด คือฐานะอุดม. อธิบายว่า ฐานะแห่งพระพุทธเจ้าในปางก่อน ซึ่งเป็นผู้นำเหล่านั้น. อนึ่ง โคโจกในโคร้อยตัว ชื่ออุสภะ. โคโจกในโคพันตัว ชื่อวสภะ.
               อีกประการหนึ่ง โคโจกในคอกโคร้อยตัว ชื่ออุสภะ โคโจกในคอกโคพันตัว ชื่อวสภะ. โคที่เป็นโจกในโคทั้งปวงเป็นตัวนำฝูงโคทั้งหมด ขาวปลอด น่าเลื่อมใส นำภาระมาก ไม่หวั่นไหวด้วยเสียงฟ้าผ่าร้อยครั้ง ชื่อนิสภะ.
               นิสภะนั้น ท่านประสงค์ว่าอุสภะในที่นี้.
               จริงอยู่ แม้คำนี้เป็นคำโดยทางอ้อมของอุสภะนั้น. ชื่อว่าอาสภะ เพราะอรรถว่านี้ของอุสภะ.
               บทว่า ฐานํ ความว่า ก็ฐานะที่ทำลายแผ่นดินด้วยเท้าทั้ง ๔ แล้วไม่หวั่นไหว นี้เป็นราวกะโคอุสภะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอาสภะ. ก็โคอุสภะกล่าวคือนิสภะ ถึงพร้อมด้วยกำลังแห่งโคอุสภะ ทำลายแผ่นดินด้วยเท้าทั้งสี่ แล้วยืนอยู่โดยไม่หวั่นไหวฉันใด แม้พระตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงถึงพร้อมด้วยกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ทรงทำลายแผ่นดินคือบริษัทแปดด้วยพระบาท คือเวสารัชชะ ๔ ประการแล้ว ไม่พรั่นพรึงต่อข้าศึก คือปัจจามิตรไรๆ ในโลกพร้อมกับเทวโลก ทรงดำรงอยู่โดยไม่หวั่นไหว.
               ก็เมื่อทรงดำรงอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าทรงประกาศ คือทรงเข้าถึงฐานะแห่งความเป็นผู้นำนั้น คือทรงยกไว้ในพระองค์โดยไม่ประจักษ์. เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ.
               บทว่า ปริสาสุ คือ ในบริษัทแปด. บทว่า สีหนาทํ นทติ ความว่า ทรงบันลือถึงการบันลืออันประเสริฐที่สุด คือที่ไม่มีใครกลัว หรือทรงบันลือถึงการบันลืออันเป็นเช่นกับการบันลือของสีหะ.
               เนื้อความนี้พึงแสดงโดยสีหนาทสูตร.
               อีกประการหนึ่ง ราชสีห์เรียกว่าสีหะ เพราะครอบงำและเพราะฆ่าฉันใด พระตถาคตเรียกว่าสีหะ เพราะครอบงำโลกธรรมทั้งหลายและเพราะฆ่าลัทธิของศาสดาอื่นๆ ฉันนั้น. การบันลือของสีหะตามที่กล่าวแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าสีหนาทะ. ในบทนั้นมีอธิบายว่า สีหะถึงพร้อมด้วยกำลังของสีหะแล้ว แกล้วกล้า ปราศจากขนพอง ย่อมบันลือสีหนาทในที่ทั้งปวงฉันใด แม้สีหะคือพระตถาคต ถึงพร้อมด้วยกำลังของพระตถาคตทั้งหลายแล้ว แกล้วกล้า ปราศจากขนพอง ทรงบันลือสีหนาท ที่ถึงพร้อมด้วยความกว้างขวางแห่งพระเทศนามีวิธีต่างๆ โดยนัยเป็นอาทิว่า รูป ด้วยประการฉะนี้ ในบริษัทแปดฉันนั้น. เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า ทรงบันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ดังนี้.
               ในบทว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ นี้ บทว่า พฺรหฺมํ ได้แก่ ประเสริฐที่สุด คืออุดม สละสลวย.
               ก็ศัพท์แห่งจักรนี้
                         ย่อมปรากฏในสมบัติ ลักษณะ องค์แห่งรถ อิริยาบถ
                         ทาน รัตนะ และในจักรทั้งหลายมีธรรมจักรเป็นต้น
                         ท่านประสงค์เอาในธรรมจักรนี้ ก็ธรรมจักรนั้นแบ่ง
                         เป็น ๒ อย่าง.
               จริงอยู่ ศัพท์จักรนี้ย่อมปรากฏในสมบัติ ในบททั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายถึงพร้อมด้วยจักรเหล่าใด จักรทั้งหลาย ๔ นี้. ในลักษณะ ในบทนี้ว่า จักรทั้งหลายเกิดแล้วในพื้นแห่งพระยุคลบาท. ในองค์แห่งรถ ในบทนี้ว่า จักรเทียวชื่อว่าเป็นบท เพราะนำไป. ในอิริยาบถ ในบทนี้ว่า จักรสี่ ทวารเก้า. ในทาน ในบทนี้ว่า เมื่อให้ทาน จงบริโภคและอย่าประมาท จงหมุนจักรเพื่อสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย. ในรัตนจักร ในบทนี้ว่า จักรรัตนะอันเป็นทิพย์ได้ปรากฏแล้ว. ในธรรมจักร ในบทนี้ว่า จักรอันเราให้เป็นไปแล้ว. ในขรุจักร ในบทว่า จักรหมุนบดศีรษะของคนผู้อันริษยาครอบงำแล้ว. ในปหรจักร ในบทนี้ว่า ถ้าแม้โดยจักรอันมีคมแข็งเป็นที่สุดรอบ. ในอสนิมณฑล ในบทนี้ว่า อสนิจักร.
               ส่วนศัพท์จักรนี้ ท่านประสงค์ในธรรมจักรนี้.
               ก็ธรรมจักรนั้นมี ๒ อย่างคือ ปฏิเวธญาณ ๑ เทสนาญาณ ๑.
               ในธรรมจักร ๒ อย่างนั้น ธรรมจักรที่ปัญญาอบรมแล้ว นำมาซึ่งอริยผลแก่ตน ชื่อว่าปฏิเวธญาณ. ธรรมจักรที่กรุณาอบรมแล้ว นำมาซึ่งอริยผลแก่สาวกทั้งหลาย ชื่อว่าเทสนาญาณ.
               ในญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณมี ๒ อย่าง คือเกิดขึ้นอยู่ เกิดขึ้นแล้ว. ก็ปฏิเวธญาณนั้น ตั้งแต่การเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ ถึงพระอรหัตมรรค ชื่อว่าเกิดขึ้นอยู่. ปฏิเวธญาณในขณะแห่งผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว.
               อนึ่ง ปฏิเวธญาณตั้งแต่ชั้นดุสิต จนถึงพระอรหัตมรรคในมหาโพธิบัลลังก์ ชื่อว่าเกิดขึ้นอยู่. ปฏิเวธญาณในขณะแห่งผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว. ปฏิเวธญาณตั้งแต่พระพุทธเจ้าทีปังกรจนถึงพระอรหัตมรรค ชื่อว่าเกิดขึ้นอยู่. ในขณะแห่งผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว.
               ฝ่ายเทสนาญาณก็มี ๒ อย่าง คือเป็นไปอยู่ เป็นไปแล้ว.
               จริงอยู่ เทสนาญาณนั้น ตั้งแต่พระอัญญาโกญฑัญญะบรรลุพระโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าเป็นไปอยู่. ในขณะแห่งผล ชื่อว่าเป็นไปแล้ว.
               ในญาณทั้ง ๒ อย่างนั้น ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ เทสนาญาณเป็นโลกิยะ. ก็ญาณแม้ทั้งสองนั้นไม่ทั่วไปแก่บุคคลเหล่าอื่น เป็นญาณของโอรสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างเดียว.
               พระตถาคตทรงถึงพร้อมด้วยพละเหล่าใด ทรงประกาศฐานะแห่งความเป็นผู้นำ และพละเหล่าใดที่ยกขึ้นในเบื้องต้นว่า ดูก่อนสารีบุตร ก็ตถาคตพละของตถาคต ๑๐ อย่างนี้แล บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงพละเหล่านั้นโดยพิสดาร จึงตรัสว่า กตมานิ ทส อิธ สารีปุตฺต ตถาคโต ฐานญฺจ ฐานโต ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ฐานญฺจ ฐานโต ความว่า ซึ่งการณ์ โดยการณ์.
               จริงอยู่ การณ์เรียกว่าฐานะ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งผล คือเป็นที่เกิดและเป็นที่เป็นไปแห่งผล เพราะความที่ผลเป็นไปเนื่องจากการณ์นั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงรู้ชัดฐานะนั้นว่า ธรรมเหล่าใดๆ เป็นเหตุปัจจัยแก่ธรรมเหล่าใดๆ เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ จึงชื่อว่าฐานะ. ธรรมเหล่าใดๆ ไม่เป็นเหตุปัจจัยแก่ธรรมเหล่าใดๆ เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ จึงชื่อว่าอฐานะ. ชื่อว่าทรงรู้ชัดฐานะโดยฐานะ และอฐานะโดยอฐานะ ตามความเป็นจริง.
               ก็การณ์นั้นได้ให้พิสดารแล้วในอภิธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า ในญาณเหล่านั้น การรู้ฐานะโดยฐานะ และอฐานะโดยอฐานะตามความเป็นจริงของตถาคตเป็นไฉน ดังนี้.
               บทว่า ยํปิ ความว่า ด้วยญาณใด.
               บทว่า อิทํปิ สารีปุตฺต ตถาคตสฺส ความว่า ก็ฐานาฐานญาณแม้นี้ชื่อว่าเป็นกำลังของตถาคต.
               พึงทราบโยชนาในบททั้งปวงอย่างนี้.
               บทว่า กมฺมสมาทานานํ ความว่า แห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่สมาทานแล้วกระทำ หรือกรรมนั้นเทียว เป็นกรรมสมาทาน.
               บทว่า ฐานโส เหตุโส ได้แก่ โดยปัจจัยและโดยเหตุ.
               ในบทนั้น คติ อุปธิ กาลและปโยคเป็นฐานะ คือเป็นกรรม เป็นเหตุของวิบาก.
               ก็กถาโดยพิสดารแห่งญาณนี้มาแล้วในอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า กรรมสมาทานอันเป็นบาปบางอย่างมีอยู่ อันคติสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผล ดังนี้.
               บทว่า สพฺพตฺถคามินึ ความว่า อันให้ไปสู่คติในที่ทั้งปวงและอันไม่ให้ไปสู่คติ.
               บทว่า ปฏิปทํ ได้แก่ มรรค.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ความว่า ทรงรู้สภาพโดยไม่ผิดเพี้ยนแห่งการปฏิบัติทั้งหลาย กล่าวคือกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา แม้ในวัตถุหนึ่ง โดยนัยนี้ว่า ครั้นเมื่อมนุษย์ทั้งหลายแม้มากฆ่าสัตว์แม้ตัวหนึ่ง เจตนาของคนนี้จักยังให้ไปสู่นรก เจตนาของคนนี้จักยังให้ไปสู่กำเนิดดิรัจฉาน. ก็กถาโดยพิสดารแห่งญาณแม้นี้ มาแล้วในอธิธรรมนั่นเทียว โดยนัยเป็นต้นว่า ในญาณเหล่านั้น ความรู้ตามความเป็นจริง อันเป็นปฏิปทาให้ไปในที่ทั้งปวงของตถาคตเป็นไฉน ตถาคตในโลกนี้ย่อมรู้ชัดว่า นี้มรรค นี้ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ไปสู่นรก.
               บทว่า อเนกธาตุํ ความว่า ธาตุเป็นอันมากด้วย ธาตุทั้งหลายมีจักขุธาตุเป็นต้น หรือกามธาตุเป็นต้น. บทว่า นานาธาตุํ ความว่า ธาตุมีประการต่างๆ เพราะความที่ธาตุเหล่านั้นมีลักษณะพิเศษ. บทว่า โลกํ คือ โลกอันได้แก่ขันธ์ อายตนะและธาตุ.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ความว่า ทรงแทงตลอดสภาพโดยไม่ผิดเพี้ยนแห่งธาตุทั้งหลายเหล่านั้นๆ.
               ญาณแม้นี้ให้พิสดารแล้วในอภิธรรมนั่นเทียว โดยนัยมีอาทิว่า ในญาณเหล่านั้น ความรู้ตามความจริงซึ่งโลกอันเป็นอเนกธาตุ นานาธาตุของตถาคตเป็นไฉน ตถาคตในโลกนี้ย่อมรู้ชัดถึงความเป็นต่างๆ แห่งขันธ์.
               บทว่า นานาธิมุตติกตํ ได้แก่ความมีอธิมุตติต่างๆ ด้วยอธิมุตติทั้งหลายมีเลวเป็นต้น.
               ญาณแม้นี้ก็ให้พิสดารในอภิธรรมนั่นเทียว โดยนัยมีอาทิว่า ในญาณเหล่านั้น ความรู้ตามความจริงซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุตติต่างๆ ของตถาคตเป็นไฉน ตถาคตในโลกนี้ย่อมรู้ชัดว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีอธิมุตติเลวมีอยู่.
               บทว่า ปรสตฺตานํ ได้แก่ สัตว์เป็นประธานทั้งหลาย.
               บทว่า ปรปุคฺคลานํ คือ สัตว์เลวทั้งหลายเหล่าอื่นจากสัตว์เป็นประธานนั้น.
               อนึ่ง สองบทนั้นมีอรรถเป็นอย่างเดียวกัน แต่กล่าวไว้เป็น ๒ อย่างด้วยสามารถแห่งเวไนยสัตว์.
               บทว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตํ ได้แก่ ความที่อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นยิ่งและหย่อน ได้แก่ความเจริญและความเสื่อม. กถาพิสดารแห่งญาณแม้นี้ มาแล้วในอภิธรรมนั่นเทียว. โดยนัยมีอาทิว่า ในญาณเหล่านั้น ความรู้ตามความจริงถึงความที่สัตว์อื่นทั้งหลายบุคคลอื่นทั้งหลายมีอินทรีย์หย่อนและยิ่งของตถาคตเป็นไฉน ตถาคตในโลกนี้ย่อมรู้อาสัยย่อมรู้อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า ฌานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ ความว่า ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น วิโมกข์ ๘ มีอาทิว่า ผู้มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลาย สมาธิ ๓ ที่มีวิตกและมีวิจารเป็นต้น และอนุปุพพสมาบัติ ๙ มีปฐมฌานสมาบัติเป็นต้น.
               บทว่า สงฺกิเลสํ ได้แก่ ธรรมอันเป็นส่วนฝ่ายเสื่อม.
               บทว่า โวทานํ ได้แก่ ธรรมอันเป็นส่วนฝ่ายพิเศษ.
               บทว่า วุฏฺฐานํ ความว่า ฌานที่คล่องแคล้วและภวังคผลสมาบัติที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า แม้ความผ่องแผ้วก็คือความออก แม้ความออกจากสมาธินั้นๆ ก็เป็นความออก.
               จริงอยู่ ฌานที่คล่องแคล้วอันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ย่อมเป็นปทัฏฐานของฌานสูงๆ แม้ความผ่องแผ้วจากฌานนั้น เรียกว่าความออก. ความออกจากฌานทั้งปวงย่อมมีโดยภวังคะ. ความออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีโดยผลสมาบัติ. ท่านหมายถึงความออกนั้น จึงกล่าวว่า แม้ความออกจากสมาธินั้นๆ ว่า เป็นความออก. ญาณแม้นี้ให้พิสดารในอภิธรรม โดยนัยมีอาทิว่า ในญาณเหล่านั้น ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกแห่งฌานวิโมกข์สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย อันเป็นยถาภูตญาณของตถาคตเป็นไฉน ผู้มีฌานสี่ ชื่อว่าฌายี ฌายีบางคนมีอยู่ ย่อมเสวยสมบัติที่มีอยู่นั้นเทียว. ก็การวินิจฉัยถึงสัพพัญญุตญาณ ด้วยการกล่าวโดยพิสดาร ได้กล่าวแล้วในวิภังคอรรถกถาชื่อ สัมโมหวิโนทนี. กถาว่าด้วยบุพเพนิวาสานุสสติและทิพยจักษุญาณ ให้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค. กถาว่าด้วยความสิ้นไปแห่งอาสวะให้พิสดารแล้ว ในภยเภรวสูตร.
               บทว่า อิมานิ โข สารีปุตฺต ความว่า ย่อมทำอัปปนาว่า เราได้กล่าวว่า ดูก่อนสารีบุตร ตถาคตพละของตถาคต ๑๐ ในกาลก่อนเหล่าใด ตถาคตพละเหล่านี้นั้น.
               ในบทนั้นมี ปรวาทิกถา ดังนี้.
               ชื่อว่าทศพลญาณ ไม่มีการแยกออกเป็นส่วนหนึ่ง สัพพัญญุตญาณเท่านั้นมีการแยกประเภทอย่างนี้. ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้น.
               จริงอยู่ ทศพลญาณเป็นอย่างหนึ่ง สัพพัญญุตญาณเป็นอย่างหนึ่ง. ก็ทศพลญาณย่อมรู้เฉพาะกิจของตนๆ เท่านั้น สัพพัญญุตญาณย่อมรู้กิจของตนๆ นั้นบ้าง กิจที่เหลือจากกิจของตนๆ นั้นบ้าง.
               ก็ในทศพลญาณทั้งหลาย ญาณที่หนึ่งย่อมรู้เฉพาะเหตุและไม่ใช่เหตุเท่านั้น. ญาณที่สองย่อมรู้ลำดับแห่งกรรมและลำดับแห่งวิบากเท่านั้น. ญาณที่สามย่อมรู้การกำหนดกรรมเท่านั้น. ญาณที่สี่ย่อมรู้เหตุแห่งความที่ธาตุเป็นต่างๆ กันเท่านั้น. ญาณที่ห้าย่อมรู้อัธยาศัย และอธิมุตติของสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น. ญาณที่หกย่อมรู้ความที่อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้าและอ่อนเท่านั้น. ญาณที่เจ็ดย่อมรู้กิจมีความเศร้าหมองเป็นต้นแห่งอินทรีย์เหล่านั้นพร้อมกับฌานเป็นต้นเท่านั้น. ญาณที่แปดย่อมรู้ความสืบต่อแห่งขันธ์ที่เคยอยู่ในชาติปางก่อนเท่านั้น. ญาณที่เก้าย่อมรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น. ญาณที่สิบย่อมรู้การกำหนดสัจจะเท่านั้น.
               ส่วนสัพพัญญุตญาณย่อมรู้ชัดกิจที่ควรรู้ด้วยญาณเหล่านั้น และสิ่งอันยิ่งกว่ากิจนั้น. ก็กิจแห่งญาณเหล่านั่นย่อมไม่ทำกิจทุกอย่าง. เพราะญาณนั้นเป็นฌานแล้ว ย่อมไม่อาจเพื่อเป็นอัปปนา เป็นอิทธิแล้ว ย่อมไม่อาจเพื่อแสดงฤทธิ์ได้ เป็นมรรคก็ไม่อาจเพื่อยังกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปได้.
               อีกประการหนึ่ง ปรวาทีพึงถูกถามอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าทศพลญาณนั้นมีวิตกหรือมีวิจาร สักแต่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร เป็นโลกียะ เป็นโลกุตตระ ดังนี้. เมื่อรู้ก็จักตอบว่า ญาณ ๗ ตามลำดับมีวิตกมีวิจาร. จักตอบว่า ญาณสองอื่นจากญาณ ๗ นั้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร. จักตอบว่า อาสวักขยญาณพึงมีวิตกมีวิจาร พึงสักว่าไม่มีวิตกมีวิจาร. จักตอบว่า ญาณ ๗ ตามลำดับอย่างนั้น เป็นกามาวจร ญาณสองจากนั้นเป็นรูปาวจร ญาณหนึ่งสุดท้ายเป็นโลกุตตระ. จักตอบว่า ส่วนสัพพัญญุตญาณมีวิตกมีวิจารด้วย เป็นกามาวจรด้วย เป็นโลกิยะด้วย.
               บัณฑิตรู้การพรรณนาตามลำดับบทในที่นี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว.
               บัดนี้ พึงทราบทศพละเหล่านี้ว่า ได้กล่าวแล้วตามลำดับนี้ เพราะพระตถาคตทรงเห็นภาวะมีกิเลสเป็นเครื่องกั้น อันเป็นฐานะและอฐานะแห่งการบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะและการไม่บรรลุของเวไนยสัตว์ ด้วยฐานาฐานญาณก่อนทีเดียว เพราะทรงเห็นฐานะแห่งความเห็นชอบเป็นโลกิยะและทรงเห็นความเป็นฐานะแห่งความเห็นผิดดิ่งลงไป.
               ลำดับนั้น ทรงเห็นภาวะมีวิบากเป็นเครื่องกั้นของเวไนยสัตว์เหล่านั้น ด้วยกรรมวิปากญาณ เพราะทรงเห็นเหตุปฏิสนธิสาม ทรงเห็นภาวะมีกรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยสัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณเพราะทรงเห็นความไม่มีแห่งอนันตริยกรรม ทรงเห็นจริยพิเศษ เพื่อทรงแสดงธรรมที่สมควรแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีความอาลัยอย่างนี้ ด้วยอเนกธาตุนานาธาตุญาณ เพราะทรงเห็นความเป็นไปต่างๆ แห่งธาตุ.
               ลำดับนั้น ทรงเห็นอธิมุตติของเวไนยสัตว์เหล่านั้นด้วยนานาธิมุตติกตาญาณ เพื่อแม้ไม่ทรงประกอบความเพียรก็ทรงแสดงพระธรรม ด้วยอำนาจแห่งอธิมุตติ.
               ลำดับนั้น เพื่อทรงแสดงธรรมตามสติ ตามกำลังแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุตติได้เห็นแล้วอย่างนี้ ย่อมทรงเห็นความที่สัตว์มีอินทรีย์หย่อนและยิ่ง ด้วยอินทรียปโรปริยัตติญาณ เพราะทรงเห็นความที่อินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น เป็นธรรมชาติแก่กล้าและอ่อน ก็ถ้าความที่เวไนยสัตว์เหล่านั้นมีอินทรีย์ที่กำหนดรู้แล้วอย่างนี้หย่อนและยิ่ง ย่อมอยู่ในที่ไกล เพราะความที่เวไนยสัตว์เป็นผู้ชำนาญในฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น แต่เข้าถึงได้รวดเร็ว ด้วยอิทธิพิเศษนั้นเทียว และครั้นเข้าถึงแล้ว ก็เข้าถึงชั้นบุรพชาติของสัตว์เหล่านั้นด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อทรงเห็นสมบัติจิตพิเศษด้วยเจโตปริยญาณ อันทรงบรรลุโดยอานุภาพทิพยจักษุ ชื่อว่าทรงแสดงธรรม เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะความที่พระองค์ทรงปราศจากความหลุ่มหลงด้วยปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยอานุภาพแห่งอาสวักขยญาณ.
               ก็ในบทเป็นต้นว่า ตํ สารีปุตฺต วาจํ อปฺปหาย ดังนี้.
               บุคคลกล่าวว่า เราจักไม่กล่าววาจาเห็นปานนี้ ชื่อว่าละวาจานั้น. เมื่อคิดว่า เราจักไม่ยังความคิดเห็นปานนี้ เกิดขึ้นอีกชื่อว่าสละความคิด. เมื่อสละว่าเราจักไม่ยึดถือความเห็น เห็นปานนี้อีก ชื่อว่าสลัดความเห็น. เมื่อไม่กระทำอย่างนั้น ชื่อว่าไม่สละ ไม่สลัด. บุคคลนั้นก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ดำรงอยู่ในนรกนั้นเทียว เหมือนถูกนายนิรยบาลทั้งหลายนำมาตั้งอยู่ในนรก. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอุปมาอันให้สำเร็จประโยชน์แก่เขา จึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นโลกิยะและโลกุตตระในบทเป็นต้นว่า สีลสมฺปนฺโน ดังนี้. ภิกษุย่อมควรแม้เพื่อจะให้หมุนกลับด้วยอำนาจแห่งโลกุตตระนั่นเทียว. ก็ภิกษุนี้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยวาจาชอบ การงานชอบและการเลี้ยงชีพชอบ. ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยความเพียรชอบ ระลึกชอบและตั้งใจชอบ. ถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความเห็นชอบและความดำริชอบ.
               ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นอย่างนี้นั้น ย่อมกระหยิ่มอรหัต คือย่อมบรรลุอรหัตในทิฏฐธรรมเทียว คือในอัตภาพนี้นั้นเทียวฉันใด ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกล่าวข้ออุปไมยนี้ คือการณ์แม้นี้ เห็นปานนี้ฉันนั้น.
               ทรงแสดงว่า ก็ผลไม่คลายในลำดับแห่งมรรค ย่อมเกิดขึ้นฉันใด ปฏิสนธิในนรกไม่คลายในลำดับแห่งจุติของบุคคลแม้นี้ ก็ย่อมมีได้ฉันนั้นเหมือนกัน. ก็ขึ้นชื่อว่าอุปมาที่ตรัสให้หนักแน่นยิ่งขึ้นด้วยอุปมานี้ย่อมไม่มีในพุทธพจน์ทั้งสิ้น.
               ในบทว่า เวสารชฺชานิ นี้ ความปฏิปักษ์ต่อความครั่นคร้าม ชื่อว่าเวสารัชชะ นั้นเป็นชื่อของญาณอันสำเร็จแต่โสมนัส ซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้พิจารณาถึงความครั่นคร้ามในฐานะสี่.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส เต ปฏิชานโต ความว่า ท่านปฏิญญาณอย่างนี้ว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมทั้งหมดเราได้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว.
               บทว่า อนภิสมฺพุทฺธา ความว่า ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า ตตฺร วต ความว่า ในธรรมที่แสดงอย่างนี้ว่า ยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว เหล่านั้นหนอ.
               บทว่า สห ธมฺเมน ความว่า โดยคำที่มีเหตุมีการณ์ เหมือนสุนักขัตตะบ่นเพ้อไม่มีประมาณฉะนั้น. บุคคลก็ดี ธรรมก็ดี ท่านประสงค์ว่า นิมิต ในบทว่า นิมิตฺตเมตํ นี้.
               ในบทนั้นมีอธิบายอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นบุคคลที่ทักท้วงว่า เราไม่เห็นธรรมที่เขาแสดงแล้ว ทักท้วงเราว่า ธรรมชื่อนี้ ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า เขมปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงความเกษม.
               สองบทที่เหลือเป็นไวพจน์ของบทนี้นั้นเทียว.
               ก็บทนั้นทั้งหมด ตรัสหมายถึงเวสารัชชญาณเท่านั้น. ก็เมื่อพระทศพลไม่เห็นบุคคลผู้ทักท้วง หรือธรรมอันเป็นเหตุทักท้วง ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้แล้วว่า ธรรมชื่อนี้ ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ดังนี้ หรือเมื่อพิจารณาว่า เราเป็นพระพุทธเจ้าโดยสภาพนั้นเทียว กล่าวว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้ ความโสมนัสอันมีกำลังยิ่ง ก็ย่อมเกิดขึ้น. ญาณที่สัมปยุตด้วยโสมนัสนั้น ชื่อว่าเวสารัชชะ. ทรงหมายถึงเวสารัชชะนั้น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เขมปฺปตฺโต ดังนี้.
               พึงทราบอธิบายในบททั้งปวงดังนี้.
               ก็ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าอันตรายิกะ เพราะอรรถว่าทำอันตราย ในบทนี้ว่า อนฺตรายิกาธมฺมา ดังนี้. ธรรมเหล่านั้นโดยเนื้อความก็ได้แก่ กองอาบัติ ๗ ที่แกล้งล่วงละเมิด.
               จริงอยู่ กองอาบัติที่แกล้งล่วงละเมิดแล้ว โดยที่สุดแม้ทุกกฏและทุพภาษิต ก็ทำอันตรายแก่มรรคและผลทั้งหลายได้. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เมถุนธรรม. ก็ความปราศจากความสงสัยอย่างเดียวของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้เสพเมถุนย่อมเป็นอันตรายแก่มรรคและผลทั้งหลายได้.
               บทว่า ยสฺส โข ปน เตสุ อตฺถาย ความว่า เพื่อประโยชน์ใดในประโยชน์ทั้งหลายมีความสิ้นไปแห่งราคะเป็นต้น. บทว่า ธมฺโม เทสิโต ความว่า ธรรมมีการเจริญอสุภเป็นต้น อันท่านแสดงแล้ว. บทว่า ตตฺร วต มํ ได้แก่ กะเราในธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์นั้น.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเทียว.
               บทว่า อถโข อิเม สารีปุตฺต นี้ ทรงปรารภเพราะเหตุอะไร. เพราะเพื่อทรงแสดงกำลังแห่งเวสารัชชญาณ. เหมือนอย่างพระธรรมกถึกหยั่งลงสู่บุรุษผู้ฉลาดแล้ว ย่อมปรากฏเป็นผู้ฉลาดด้วยถ้อยคำที่สามารถยังจิตของวิญญูชนทั้งหลายให้ยินดีฉันใด ความที่เวสารัชชญาณเป็นธรรมชาติให้แกล้วกล้า แม้อันบริษัท ๘ เหล่านี้อาจเพื่อรู้ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงกำลังแห่งเวสารัชชญาณ จึงตรัสพระดำรัสว่า อถโข อิมา สารีปุตฺต ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ขตฺติยปริสา ได้แก่ สถานที่นั่งประชุมของกษัตริย์ทั้งหลาย.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยเช่นเดียวกัน. ก็สถานที่ที่หมู่มารทั้งหลายนั่งประชุม พึงทราบว่า มารบริษัท
               อนึ่ง บริษัทนั้นแม้ทั้งหมดของมารทั้งหลาย ไม่ได้ถือเอาด้วยสามารถแห่งการเห็นสถานที่เลิศ. เพราะมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่อาจเพื่อจะกล่าวแม้คำปกติว่า พระราชาประทับนั่งในที่นี้ เหงื่อทั้งหลายย่อมไหลออกจากรักแร้. ขัตติยบริษัทเลิศอย่างนี้. พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ฉลาดในเวทสาม. คหบดีทั้งหลายย่อมเป็นผู้ฉลาดในโวหารต่างๆ และในการคิดอักษร. สมณะทั้งหลายย่อมเป็นผู้ฉลาดในวาทะของตนและวาทะของคนอื่น. ชื่อว่าการกล่าวธรรมกถาในท่ามกลางบริษัทเหล่านั้น เป็นภาระหนักอย่างยิ่ง. แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นผู้เลิศ. เพราะครั้นแม้เพียงกล่าวว่า อมนุษย์ สรีระทั้งสิ้นย่อมสั่น. สัตว์ทั้งหลายได้เห็นรูป หรือฟังเสียงของอมนุษย์นั้น ย่อมปราศจากสัญญาได้. บริษัทของอมนุษย์เลิศอย่างนี้. ชื่อว่าการแสดงธรรมกถาในอมนุษย์บริษัทแม้เหล่านั้น ย่อมเป็นภาระหนักมาก. อมนุษย์บริษัทเหล่านั้น พึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้วด้วยอำนาจแห่งการเห็นฐานะอันเลิศ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อชฺโฌคาหติ คือ ตามเข้าไป. บทว่า อเนกสตํ ขตฺติยปริสํ คือ เช่น สมาคมพระเจ้าพิมพิสาร สมาคมพระญาติและสมาคมเจ้าลิจฉวี. ย่อมได้ในจักรวาลแม้เหล่าอื่น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่แม้จักรวาลเหล่าอื่นหรือ. เออ เสด็จไป. เป็นเช่นไร. เขาเหล่านั้นเป็นเช่นใด พระองค์ก็เป็นเช่นนั้นเทียว.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ก็เราเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อย ย่อมรู้เฉพาะแล ว่า ในบริษัทนั้น พวกเขามีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น พวกเขามีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น และเราให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา และพวกเขาไม่รู้เราผู้กล่าวอยู่ว่า ผู้กล่าวนี้เป็นใครหนอ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ และครั้นให้เห็นแจ้งแล้ว ให้สมาทานแล้ว ให้อาจหาญแล้ว ให้รื่นเริงแล้วด้วยธรรมีกถาก็หายไป และพวกเขาไม่รู้เราผู้หายไปว่า ผู้ที่หายไปนี้เป็นใครหนอแล เป็นเทพหรือมนุษย์ ดังนี้.
               เหล่ากษัตริย์ทรงประดับประดาด้วยสังวาลมาลาและของหอมเป็นต้น ทรงผ้าหลากสี ทรงสวมกุณฑลแก้วมณี ทรงโมลี ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประดับพระองค์เช่นนั้นหรือ กษัตริย์แม้เหล่านั้นมีพระฉวีขาวบ้าง ดำบ้าง คล้ำบ้าง แม้พระศาสดาทรงเป็นเช่นนั้นหรือ.
               พระศาสดาเสด็จไปด้วยเพศบรรพชิตของพระองค์เอง แต่ทรงปรากฏเป็นเช่นกับกษัตริย์เหล่านั้น ครั้นเสด็จไปแล้วทรงแสดงพระองค์ซึ่งประทับนั่งบนพระราชอาสน์ ย่อมเป็นเช่นกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า ในวันนี้พระราชาของพวกเรารุ่งโรจน์ยิ่งนักดังนี้. ถ้ากษัตริย์เหล่านั้น มีพระสุรเสียงแตกพร่าบ้าง ลึกบ้าง ดุจเสียงกาบ้าง พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมด้วยเสียงแห่งพรหมนั้นเทียว ก็บทนี้ว่า เราก็มีเสียงเช่นนั้น ตรัสหมายถึงลำดับภาษา. ก็มนุษย์ทั้งหลายได้ฟังเสียงนั้นแล้ว ย่อมมีความคิดว่า วันนี้ พระราชาตรัสด้วยเสียงอันอ่อนหวาน. ก็ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเสด็จหลีกไป เห็นพระราชาเสด็จมาอีก ก็เกิดการพิจารณาว่า บุคคลนี้ใครหนอแล. พระองค์จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า บุคคลนี้ใครหนอแลอยู่ในที่นี้ บัดนี้ แสดงด้วยเสียงอ่อนหวานด้วยภาษามคธ ด้วยภาษาสีหล หายไป เป็นเทพหรือมนุษย์ ดังนี้.
               ถามว่า ทรงแสดงธรรมแก่บุคคลทั้งหลายผู้ไม่รู้อย่างนี้เพื่ออะไร.
               ตอบว่า เพื่อประโยชน์แก่วาสนา. พระองค์ทรงแสดงมุ่งอนาคตว่า ธรรมแม้ได้ฟังอย่างนี้ ย่อมเป็นปัจจัยในอนาคตนั้นเทียว.
               บทว่า สนฺนิสินฺนปุพฺพํ ได้แก่ เคยร่วมนั่งประชุม.
               บทว่า สลฺลปิตปุพฺพํ คือ เคยทำการสนทนา.
               บทว่า สากจฺฉา ความว่า เคยเข้าสนทนาธรรม.
               ก็พึงทราบการเข้าร่วมประชุมด้วยอำนาจสมาคมมีสมาคมโสณฑัณฑพราหมณ์เป็นต้น และด้วยสามารถแห่งจักรวาลอื่น ด้วยบทเป็นต้นว่า อเนกสตํ พฺรหฺมณปริสํ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 153อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 159อ่านอรรถกถา 12 / 194อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=2296&Z=2783
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=8663
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=8663
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :