ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

หน้าต่างที่ ๕ / ๖.

               เวทนานุปัสสนา               
               [๑๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยวิธี ๑๔ อย่างดังพรรณนามานี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสเวทนานุปัสสนาด้วยวิธี ๙ อย่าง จึงตรัสคำมีอาทิว่า กถญฺจ ภิกฺเว.

               ความรู้ที่ไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ เวทนํ มีอธิบายว่า พระโยคาวจร เมื่อเสวยสุขเวทนาที่เป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต ย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา ดังนี้.
               ในข้อนั้น แม้เด็กอ่อนยังนอนหงายอยู่ เมื่อเสวยความสุขในเวลาดื่มน้ำนมเป็นต้น ก็รู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขก็จริง ถึงกระนั้น คำนี้ พระองค์ก็มิได้ตรัสหมายเอาความรู้อย่างนี้ เพราะว่าความรู้แบบนี้ละสัตตูปลัทธิไม่ได้ ถอนสัตตสัญญาไม่ได้ ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา.

               ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา               
               ส่วนการรู้ของภิกษุนี้ละสัตตูปลัทธิได้ถอนสัตตสัญญาได้เป็นทั้งกัมมัฏฐาน เป็นทั้งสติปัฏฐานภาวนา. ก็ความรู้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการเสวยโดยการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า ใครเสวย การเสวยของใคร เพราะเหตุไรจึงเสวย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก เวทยติ (ใครเสวย) ความว่า ไม่ใช่ใคร คือสัตว์หรือบุคคลเสวย.
               บทว่า กสฺส เวทนา (การเสวยของใคร) ความว่า ไม่ใช่การเสวยของใคร คือของสัตว์หรือบุคคล.
               บทว่า กึ การณา เวทนา (เพราะเหตุไรจึงเสวย) ความว่า ก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์ เขาจึงมีการเสวย.
               เพราะเหตุนั้น เขารู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า เวทนานั้นเองเสวย โดยทำวัตถุแห่งความสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์. แต่เพราะหมายเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้น.
               คำว่า อหํ เวทยามิ (เราเสวยเวทนา) จึงเป็นเพียงโวหารเท่านั้น.
               พระโยคาวจรนั้น เมื่อกำหนดอยู่ว่า เวทนานั้นเองเสวยโดยทำวัตถุให้เป็นอารมณ์อย่างนี้ ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า เธอรู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา. เหมือนพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่จิตตลดาบรรพตฉะนั้น.

               เรื่องพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง               
               ได้ยินว่า พระเถระในเวลาที่ท่านไม่สบาย ถอนหายใจพลาง นอนกลิ้งไปมาอยู่.
               ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามท่านว่า ท่านขอรับ ที่ตรงไหนของท่านที่โรคเสียดแทง?
               พระเถระตอบว่า คุณ ชื่อว่าที่ซึ่งโรคเสียดเฉพาะแห่งไม่มี เวทนาต่างหากเสวยโดยกระทำวัตถุให้เป็นอารมณ์.
               ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านควรจะยับยั้งไว้ตั้งแต่เวลาที่รู้ มิใช่หรือ ท่านขอรับ?
               พระเถระตอบว่า ผมกำลังยับยั้ง คุณ.
               ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ การยับยั้งไว้เป็นของประเสริฐ.
               พระเถระได้ยับยั้งไว้แล้ว. ลำดับนั้น ลมเสียดแทงถึงหัวใจ ไส้ใหญ่ได้ออกมากองอยู่บนเตียง. พระเถระได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดูว่า ยับยั้งไว้ขนาดนี้ สมควรหรือยัง คุณ.
               ภิกษุหนุ่มนิ่ง.
               พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นพระอรหันต์ (ประเภท) ชีวิตสมสีสี ปรินิพพานแล้ว.
               ก็เมื่อพระโยคาวจรรู้ชัด (ว่า) สุขอย่างไร ทุกข์อย่างนั้น ฯลฯ เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่อิงอามิส ก็รู้ชัดว่า เรากำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนา ไม่อิงอามิส.

               รูปกัมมัฏฐาน-อรูปกัมมัฏฐาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสบอกรูปกัมมัฏฐานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน จึงได้ตรัสบอกด้วยอำนาจแห่งเวทนา. เพราะว่า กัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง คือ รูปกัมมัฏฐาน ๑ อรูปกัมมัฏฐาน ๑. รูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐานนี้นั้นแหละ ตรัสเรียกว่า รูปปริคคหะ (การกำหนดรูป) อรูปปริคคหะ (การกำหนดอรูป) ก็มี.
               บรรดารูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกรูปกัมมัฏฐาน จึงตรัสจตุธาตุววัตถาน (การกำหนดธาตุ ๔) ไว้ด้วยอำนาจแห่งมนสิการโดยสังเขปบ้าง ด้วยอำนาจการมนสิการโดยพิสดารบ้าง.
               กัมมัฏฐานแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นได้แสดงไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยอาการทั้งปวงนั่นแหละ.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน โดยมากก็จะตรัสบอกด้วยอำนาจแห่งเวทนา. เพราะว่า ความฝังใจในอรูปกัมมัฏฐาน มี ๓ อย่าง คือ (ฝัง) ด้วยอำนาจแห่งผัสสะ ๑ ด้วยอำนาจแห่งเวทนา ๑ ด้วยอำนาจแห่งจิต ๑.
               ฝังอย่างไร? (ฝังอย่างนี้ คือ) จริงอยู่ ผัสสะ เมื่อถูกต้องอารมณ์นั้นเกิดขึ้นในขณะที่จิตและเจตสิกตกไปเฉพาะครั้งแรกในอารมณ์นั้น จะปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูปในรูปกัมมัฏฐานที่ท่านกำหนดแล้วโดยย่อหรือโดยพิสดาร. เวทนาเมื่อเสวยอารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป. วิญญาณเมื่อกำหนดอารมณ์นั้นรู้อยู่เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรบางรูป.
               บรรดาผัสสะ เวทนา วิญญาณเหล่านั้น ผัสสะปรากฏแก่พระโยคาวจรใด ไม่เฉพาะผัสสะนั้นอย่างเดียวจะเกิดขึ้น ถึงเวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นนั่นแหละอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับผัสสะนั้น ถึงสัญญาที่จำได้หมายรู้ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ อยู่นั่นเอง.
               เวทนาใดปรากฏแก่พระโยคาวจร ไม่เฉพาะเวทนาอย่างเดียวเท่านั้นจะเกิดขึ้น ผัสสะที่ถูกต้องอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับเวทนานั้น ถึงสัญญาที่หมายอยู่ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอยู่ ก็จะเกิดขึ้นกับเวทนานั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นก็ย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ อยู่นั่นเอง.
               ถึงวิญญาณจะปรากฏแก่พระโยคาวจรใด ไม่เฉพาะแต่วิญญาณนั้นอย่างเดียวจะเกิดขึ้นถึง ผัสสะที่ถูกต้องอารมณ์นั้นนั่นแหละอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น ถึงเวทนาที่เสวยอยู่ ถึงสัญญาที่จำได้หมายรู้อยู่ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ซึ่งอารมณ์นั้น ก็จะเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ อยู่นั่นเอง.
               พระโยคาวจรนั้น เมื่อพิจารณาว่า ธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ เหล่านี้อาศัยอยู่.
               จะทราบชัดว่า อาศัยวัตถุอยู่.
               กรชกายชื่อว่า วัตถุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาว่า ก็แลวิญญาณของเรานี้อาศัยอยู่ในกรชกายนี้ ผูกพันอยู่ในกรชกายนี้.
               โดยเนื้อความ พระโยคาวจรนั้นย่อมเห็นทั้ง (มหา) ภูตรูปทั้งอุปาทายรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ในเวทนาบรรพนี้ พระโยคาวจรจะเห็นเพียงนามรูปเท่านั้นว่าวัตถุเป็นรูป เจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ เป็นนาม. และในข้อนี้ รูปได้แก่รูปขันธ์ นามได้แก่อรูปขันธ์ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น จึงมีเพียงเบญจขันธ์เท่านั้น. เพราะว่า เบญจขันธ์ที่จะพ้นจากนามรูป หรือนามรูปที่จะพ้นไปจากเบญจขันธ์ไม่มี.
               พระโยคาวจรนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูว่า เบญจขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็จะเห็นว่า มีอวิชชาเป็นต้นเป็นเหตุ. แต่นั้นพระโยคาวจรจะยก (เบญจขันธ์) ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยอำนาจนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยว่า นี้เป็น (เพียง) ปัจจัย และสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาตรวจตราไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับแห่งวิปัสสนา.
               เธอหมายมั่นปฏิเวธว่า (จะได้บรรลุ) วันนี้ วันนี้ ได้อุตุสัปปายะ (อากาศสบาย) ปุคคลสัปปายะ (บุคคลสบาย) โภชนสัปปายะ (โภชนะสบาย) ธัมมัสสวนะสัปปายะ (การฟังธรรมสบาย) นั่งขัดสมาธิท่าเดียว ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุด แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตตมรรค ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นอันตรัสบอกพระกัมมัฏฐานแก่ชนทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ จนถึงพระอรหัต.

               เวทนาคืออรูปกัมมัฏฐาน               
               แต่ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน จึงได้ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งเวทนา. เพราะว่า เมื่อตรัสบอกด้วยสามารถแห่งผัสสะ หรือด้วยสามารถแห่งวิญญาณ กัมมัฏฐานจะไม่ปรากฏ จะปรากฏเหมือนความมืด. ส่วนที่ตรัสบอกด้วยสามารถแห่งเวทนา กัมมัฏฐานจะปรากฏ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะกัมมัฏฐานจะปรากฏ ก็เพราะเวทนาเกิดขึ้น.
               จริงอยู่ ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา จะปรากฏต่อเมื่อความสุขเกิดขึ้น ได้แก่ความสุขที่เกิดขึ้นทำให้สั่นไปทั้งร่าง ไหลเอิบอาบไปจนท่วมท้น (หัวใจ) เหมือนการได้ดื่มเนยใสที่กวนตั้งร้อยครั้ง เหมือนให้ทาน้ำมันที่หุงแล้วร้อยครั้ง และเหมือนให้ดับความเร่าร้อนด้วยน้ำพันหม้อ ทำให้เปล่งวาจาออกไปว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ทีเดียว
               (และ) ต่อเมื่อทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทำให้สั่นไปทั้งร่าง ไหลเอิบอาบไปจนท่วมท้น (หัวใจ) เหมือนให้เข้าไปสู่เปลวไฟที่ร้อนระอุ เหมือนถูกลาดด้วยน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง และเหมือนโยนดุ้นไฟเข้าไปในป่าที่มีหญ้าแห้งและต้นไม้ยืนต้นตาย ถึงกับให้ร้องครวญครางว่า ทุกข์จริง ทุกข์จริง. การเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา จะปรากฏขึ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้.
               ส่วนอทุกขมสุขเวทนา แสดง (ให้เห็น) ได้ยาก มืดมน ไม่แจ่มชัด. อทุกขมสุขเวทนานั้นจะปรากฏแก่พระโยคาวจรผู้ยึดถือ โดยนัยว่าอทุกขมสุขเวทนามีอาการเป็นกลาง โดยการทิ้งความสำราญและไม่สำราญในเมื่อสุขและทุกข์หมดไป.
               เปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนนายพรานเนื้อตามรอยเนื้อตัวที่กระโดดขึ้นพลาญหินในระหว่างทาง แล้วหนีไปได้ (เขา) เห็นรอยเท้าทั้งฟากนี้ทั้งฟากโน้นของพลาญหิน แม้จะไม่เห็น (รอยเท้า) ตรงกลาง (บนพลาญหิน) ก็ทราบได้โดยนัยว่า เนื้อตัวที่ขึ้นทางฟากนี้ แล้วไปลงทางฟากโน้น คงจะผ่านไปด้านนี้บนพลาญหินตรงกลางฉันใด ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาก็ฉันนั้น จะปรากฏเหมือนรอยเท้า (ของเนื้อปรากฏ) ในที่ที่มันจะขึ้นไป. ความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาจะปรากฏเหมือนรอยเท้า (ของเนื้อปรากฏ) ในที่ๆ มันลงแล้วฉะนั้น.
               อทุกขมสุขเวทนาจะปรากฏแก่พระโยคาวจรผู้ยึดถือโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนามีอาการเป็นกลางโดยทิ้งความสำราญ และความไม่สำราญ ในเมื่อสุขและทุกข์หายไป เหมือนการยึดถือโดยนัยว่า ผ่านไปตรงกลางนี้แหละ โดยขึ้นทางฟากข้างนี้ แล้วลงทางฟากข้างโน้นฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยตรัสรูปกัมมัฏฐานก่อนแล้ว ยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิด ด้วยอำนาจแห่งเวทนาในภายหลัง.
               เวทนาคืออรูปกัมมัฏฐานมีในพระสูตรหลายแห่ง
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนี้ เฉพาะในสติปัฏฐานสูตรนี้แห่งเดียว ก็หามิได้ (แต่) ได้ทรงแสดงโดยตรัสรูปกัมมัฏฐานก่อน แล้วยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิดด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง ในพระสูตรหลายพระสูตรหลายแห่งอย่างนี้ คือ ในจุลลตัณหาสังขยสูตร ในมหาตัณหาสังขยสูตร ในจุลลเวทัลลสูตร ในมหาเวทัลลสูตร ในรัฏฐปาลสูตร ในมาคัณฑิยสูตร ในธาตุวิภังคสูตร ในอาเนญชสัปปายสูตร ในมหานิทานสูตร ในสักกปัญหสูตร ในมหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกาย ในจุลลนิทานสูตร ในรุกโขปมสูตร ในปริวีมังสนสูตร และในเวทนาสังยุตทั้งหมดในสังยุตตนิกาย และแม้ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงโดยตรัสบอกรูปกัมมัฏฐานก่อนแล้ว จึงทรงยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิด ด้วยอำนาจแห่งเวทนาในภายหลัง เหมือนในพระสูตรเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น มีปริยายแห่งการรู้ชัด (เวทนา) แม้อีกอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-

               สุขเวทนาแปรปรวน               
               ข้อว่า สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ ความว่า เพราะไม่มีทุกขเวทนาในขณะแห่งสุขเวทนา พระโยคาวจรเมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา. เวทนาชื่อว่าไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะทุกขเวทนาที่เคยเสวยมาก่อน ในบัดนี้ไม่มีแล้ว และเพราะสุขเวทนานี้ก่อนแต่นี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรจึงเป็นอันรู้ชัดในสุขเวทนาและทุกขเวทนานั้น ดังพรรณนามาฉะนี้ ด้วยคำว่า สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ นั้น.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ดังนี้ว่า :-
                         ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใด บุคคลเสวยสุขเวทนาอยู่
               ในสมัยนั้นจะไม่เสวยทุกขเวทนา จะไม่เสวยอทุกขมสุขเวทนา
               ในสมัยนั้นเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียว
                         ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใดบุคคลเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ
               เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ในสมัยนั้นจะไม่เสวยสุขเวทนาเลย
               ในสมัยนั้นเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียว
                         ดูก่อนอัคคิเวสนะ แม้สุขเวทนาเอง ก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุง
               แต่ง อาศัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น
               ธรรมดา มีความคลายความกำหนัดเป็นธรรมดา มีความดับเป็น
               ธรรมดา แม้ทุกขเวทนาเอง ฯลฯ
                         ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถึงอทุกขมสุขเวทนาเองก็ไม่เที่ยง ฯลฯ
               มีความดับเป็นธรรมดา
                         ดูก่อนอัคคิเวสนะ พระอริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้
               ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสุขเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในทุกขเวทนา
               ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลาย
               กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า
               เราหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัด ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
               กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำอย่างอื่น เพื่อความเป็น
               อย่างนี้ ไม่มี.
               ในคำว่า สามิสํ วา สุขํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               โสมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) ๖ อย่างเจือด้วยอามิส คือเบญจกามคุณ ชื่อว่าสามิสสุขเวทนา.
               โสมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ ๖ อย่าง ชื่อว่านิรามิสสุขเวทนา.
               โทมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) ๖ อย่าง ชื่อว่าสามิสทุกขเวทนา
               โทมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ ๖ อย่าง ชื่อว่านิรามิสทุกขเวทนา.
               อุเบกขาเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) ๖ อย่าง ชื่อว่าสามิสอทุกขสุขเวทนา.
               อุเบกขาเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ ๖ อย่าง ชื่อว่านิรามิสอทุกขสุขเวทนา การจำแนกเวทนาเหล่านั้น มาชัดแล้วในพระบาลี ในอุปริปัณณาสก์.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายของตน หรือในเวทนาทั้งหลายของผู้อื่น คือในเวทนาทั้งหลายของตนตามกาล หรือในเวทนาทั้งหลายของผู้อื่นตามกาลอยู่.
               ก็ในบทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา นี้ พึงทราบความว่า พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเวทนาทั้งหลาย ด้วยอาการ ๕ มีอาทิคือ เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด ชื่อว่ามีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลายอยู่ คือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายตามกาล หรือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลายตามกาลอยู่.
               คำนอกเหนือจากนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในกายานุปัสสนานั่นเอง.

               อริยสัจในเวทนา               
               ก็สติเป็นเครื่องกำหนดเวทนาในเวทนานุปัสสนา นี้เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบทางแห่งธรรมเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดเวทนา เพราะอธิบายประกอบความดังว่ามานี้แล.
               คำที่เหลือเป็นเช่น (คำที่กล่าวมาแล้ว) นั้นแล.
               จบเวทนานุปัสสนา               

               แก้จิตตานุปัสสนา               
               [๑๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสติปัฏฐานคือเวทนานุปัสสนาโดยอาการ ๙ อย่างๆ นี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสจิตตานุปัสสนาโดยอาการ ๑๖ อย่าง จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สราคํ ได้แก่จิตที่สหรคตด้วยโลภะ ๘ อย่าง.
               บทว่า วีตราคํ ได้แก่กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต. ก็จิตที่ปราศจากราคะนี้ในจิตตานุปัสสนานี้ ไม่ได้หมายถึงโลกุตตรจิตแม้ในบทหนึ่ง เพราะการพิจารณาไม่ใช่เป็นการประชุมธรรม. (ส่วน) อกุศลจิต ๔ ดวงที่เหลือไม่จัดเข้าในบทแรก ทั้งไม่จัดเข้าในบทหลัง.
               บทว่า สโทสํ ได้แก่ จิตที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวง.
               บทว่า วีตโทสํ ได้แก่ กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต.
               อกุศลจิต ๑๐ ดวงที่เหลือไม่จัดเข้าในบทแรก ทั้งไม่จัดเข้าในบทหลัง.
               บทว่า สโมหํ ได้แก่ อกุศลจิต ๒ ดวง คืออกุศลจิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ๑ ดวง อกุศลจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ ๑ ดวง.
               ก็เพราะโมหะย่อมเกิดขึ้นในอกุศลจิตทุกดวง ฉะนั้น อกุศลจิตทั้งหมดแม้นั้นจึงเหมาะ (ที่จะจัดเข้า) ในจิตตานุปัสสนานี้โดยแท้ทีเดียว. จริงอยู่ ในจิตที่เป็นคู่กันนี้แหละ ท่านจัดอกุศลจิต ๑๒ ดวง เข้าไว้แล้วแล.
               บทว่า วีตโมหํ ได้แก่ กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต.
               บทว่า สงฺขิตฺตํ ได้แก่ จิตที่ตกไปตามถีนมิทธะ, ก็จิตที่ตกไปตามถีนมิทธะนั้น ชื่อว่าจิตหดหู่.
               บทว่า วิกฺขิตฺตํ ได้แก่ จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ, ก็จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะนั้น ชื่อว่าจิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า มหคฺคตํ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต.
               บทว่า อมหคฺคตํ ได้แก่ กามาวจรจิต.
               บทว่า สอุตฺตรํ ได้แก่ กามาวจรจิต.
               บทว่า อนุตฺตรํ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต.
               อนึ่ง ในบททั้ง ๒ ว่า สอุตฺตรํ อนุตฺตรํ นั้น สอุตตรจิตได้แก่รูปาวจรจิต. อนุตตรจิตได้แก่อรูปาวจรจิตนั่นเอง.
               บทว่า สมาหิตํ ได้แก่ จิตที่มีอัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิ.
               บทว่า อสมาหิตํ ได้แก่ จิตที่ไม่มีสมาธิทั้ง ๒.
               บทว่า วิมุตฺตํ ได้แก่ จิตที่หลุดพ้นแล้วด้วยตทังควิมุติและวิกขัมภนวิมุติ.
               บทว่า อวิมุตฺตํ ได้แก่ จิตที่ไม่มีวิมุติทั้ง ๒.
               ส่วน สมุจเฉทวิมุติ ปฏิปัสสัทธิวิมุติและนิสสรณวิมุติ ไม่มีโอกาส (ไม่ได้พูดถึง) ในจิตตานุปัสสนานี้เลย.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจร เมื่อกำหนดจิตที่เป็นไปอยู่ทุกขณะ ด้วยการกำหนดจิตมีสราคจิตเป็นต้นอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีปกติตามเห็นจิตในจิตของตน หรือในจิตของผู้อื่นอยู่ (บ้าง) ชื่อว่ามีปกติตามเห็นจิตในจิตของตนตามกาล หรือในจิตของบุคคลอื่นตามกาลอยู่ (บ้าง).
               ส่วนในบทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี (มีปกติตามเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป) นี้ควรขยายความเกิดและความดับของวิญญาณออกเป็นอย่างละ ๕ อาการอย่างนี้ คือเพราะอวิชชาเกิดวิญญาณจึงเกิดเป็นต้น.
               คำนอกจากนี้มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               อริยสัจในจิตตานุปัสสนา               
               ก็สติเป็นเครื่องกำหนดจิตในจิตตานุปัสสนานี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบมุขแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดจิต ตามที่ได้อธิบายมาอย่างนี้แล.
               คำที่เหลือ (มีความหมาย) เช่น (กับที่กล่าวมา) นั้นแล.
               จบจิตตานุปัสสนา               

               แก้ธรรมานุปัสสนา               
               [๑๔๑] ครั้นตรัสจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยอาการ ๑๖ อย่าง ดังพรรณนามานี้ บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงธรรมานุปัสสนาโดยอาการ ๕ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรูปล้วนๆ ด้วยกายานุปัสสนา ตรัสการกำหนดนามล้วนๆ ด้วยเวทนานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนา. บัดนี้ เพื่อจะต้องการกำหนดรวมกันทั้งรูปและนาม จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะการกำหนดรูปขันธ์ด้วยกายานุปัสสนา ตรัสเฉพาะการกำหนดเวทนาขันธ์ด้วยเวทนานุปัสสนา ตรัสเฉพาะการกำหนดวิญญาณขันธ์ด้วยจิตตานุปัสสนา. บัดนี้ เพื่อจะตรัสการกำหนดสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์บ้าง จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

               นีวรณบรรพ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ ได้แก่ มีอยู่โดยการเกิดขึ้นเนืองๆ.
               บทว่า อสนฺตํ ได้แก่ ไม่มีอยู่โดยการไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีอยู่เพราะละได้แล้ว.
               บทว่า ยถา จ ความว่า กามฉันทะย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุใด.
               บทว่า ตญฺจ ปชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้เหตุนั้นด้วย.
               พึงทราบอธิบายในทุกๆ บทโดยนัยนี้.
               ในบทว่า ยถา จ เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยว่า :-

               อธิบายสุภนิมิต               
               กามฉันทะย่อมเกิดขึ้น เพราะการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต. ที่ชื่อว่าสุภนิมิต ได้แก่สุภนิมิตที่งามบ้าง สุภนิมิตที่มีอารมณ์งามบ้าง. ที่ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ได้แก่การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกทาง คือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงบ้าง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุขบ้าง ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตาบ้าง ในสิ่งที่ไม่งามว่างามบ้าง เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายนั้น ให้เป็นไปในสุภนิมิตนั้นมากครั้งเข้า กามฉันทะย่อมเกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ สุภนิมิต การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำมากครั้งเข้าในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง ให้กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง.

               อธิบายอสุภนิมิต               
               ส่วนในอสุภนิมิต การละย่อมมีได้ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่ชื่อว่าอสุภนิมิต ได้แก่อสุภนิมิตที่ไม่งามบ้าง อสุภนิมิตที่มีอารมณ์ไม่งามบ้าง. ที่ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย การทำไว้ในใจโดยถูกทาง คือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยงบ้าง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์บ้าง ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตาบ้าง ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งามบ้าง เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายนั้น ให้เป็นไปในอสุภนิมิตนั้นมากครั้งเข้า ก็ย่อมละกามฉันทะได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ อสุภนิมิต การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำมากครั้งในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นไม่ได้บ้าง ให้ละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

               ละกามฉันทะด้วยธรรม ๖ ประการ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันทะ คือ
                         การเรียนอสุภนิมิต ๑
                         การบำเพ็ญอสุภภาวนา ๑
                         ความเป็นผู้คุ้มครองทวารไว้ได้ในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
                         ความเป็นผู้รู้จักประมาณโภชนะ ๑
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑
                         สนทนาเรื่องที่เป็นสัปปายะ ๑.
               ก็เมื่อพระโยคาวจรแม้เรียนอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ (ในระหว่างนี้) กามฉันทะอันเธอย่อมละได้ เมื่อเธอเจริญอสุภนิมิตอยู่ก็ดี ปิดกั้นทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะโดยที่มีช่องจะฉันได้อีก ๔-๕ คำ (แต่เธอก็อดเสีย) แล้วดื่มน้ำแทน เป็นประจำก็ดี กามฉันทะอันเธอย่อมละได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
                         (เหลืออีก) ๔-๕ คำจะอิ่ม พระโยคาวจรอย่าฉัน
                         ควรดื่มน้ำแทน (เพราะว่า) เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอ
                         ที่จะอยู่อย่างสำราญ สำหรับภิกษุผู้มีตนอันส่งไปแล้ว.
               แม้เมื่อพระโยคาวจรคบหากัลยาณมิตร ผู้ยินดีในอสุภภาวนา เช่น พระติสสเถระผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน กามฉันทะอันเธอย่อมละได้ เธอย่อมละกามฉันทะได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงที่เป็นสัปปายะอันอาศัยอสุภะ ๑๐ ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันทะ.
               ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.

               อธิบายปฏิฆนิมิต               
               อนึ่ง เพราะการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในปฏิฆนิมิต พยาบาทย่อมเกิดขึ้นได้. ในปฏิฆะนิมิตนั้น ได้แก่ปฏิฆนิมิตที่เป็นปฏิฆะบ้าง ปฏิฆนิมิตที่มีปฏิฆะเป็นอารมณ์บ้าง. การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย มีลักษณะอย่างเดียวกันในทุกแห่งแล. เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายนั้นให้เป็นไปในนิมิตนั้นมากครั้งเข้า พยาบาทย่อมเกิดขึ้นได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ ปฏิฆนิมิต การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และกระทำมากครั้งในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นได้บ้าง ให้พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง. ก็การละพยาบาทนั้น ย่อมมีได้ด้วยการทำเมตตาเจโตวิมุติไว้ในใจโดยแยบคาย.
               ในเมตตาเจโตวิมุตินั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมตตาย่อมควรทั้งอัปปนาสมาธิ ทั้งอุปจารสมาธิ เมื่อตรัสว่า เจโตวิมุติย่อมควรเฉพาะอัปปนาอย่างเดียว การทำ (เมตตาเจโตวิมุติ) ไว้ในใจโดยแยบคาย มีลักษณะดังกล่าวมาแล้วแล เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายนั้น ให้เป็นไปในเมตตาเจโตวิมุตินั้นมากครั้งเข้า เธอก็ย่อมละพยาบาทได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุติ การทำไว้ในใจโดยแยบคายและการทำให้มากในเมตตาเจโตวิมุตินั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ไม่ให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง ให้ละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

               ละพยาบาทด้วยธรรม ๖ ประการ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือ
                         การเรียนเมตตานิมิต ๑
                         การบำเพ็ญเมตตาภาวนา ๑
                         การพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ๑
                         ความเป็นผู้มากด้วยการพิจารณา ๑
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑
                         การสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะ ๑.
               อธิบายว่า เมื่อพระโยคาวจรแม้เรียนเมตตาอยู่ ด้วยอำนาจการแผ่ไปโดยเจาะจงทิศและไม่เจาะจงทิศอย่างใดอย่างหนึ่ง พยาบาทอันเธอย่อมละได้.
               แม้เมื่อพระโยคาวจรเจริญเมตตาโดยแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจง พยาบาทอันเธอย่อมละได้.
               เมื่อพระโยคาวจรพิจารณาเห็นว่าตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า
               เจ้าโกรธเขาแล้ว จักทำอะไรได้
               เจ้าจักสามารถทำคุณธรรมมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศได้หรือ
               เจ้ามาตามกรรมของตนแล้ว ก็จักไปตามกรรมของตนนั่นเอง มิใช่หรือ?
               ชื่อว่าการโกรธคนอื่นเป็นเหมือนกับการที่บุคคลประสงค์จะคว้าเอาเถ้าที่ปราศจากเปลว หลาวเหล็กที่ร้อนและคูถเป็นต้น ขว้างปาบุคคลอื่น
               ถึงเขาโกรธเจ้าแล้วก็จักทำอะไรให้ได้ เขาจักสามารถให้คุณธรรมมีศีลเป็นต้นของเจ้าพินาศได้หรือ? เขามาตามกรรมของตนก็จักไปตามกรรมของตนเหมือนกัน
               ความโกรธนั้นก็จักตกรดหัวเขานั่นแหละ เหมือนของที่ส่งไป ไม่มีใครรับ (ก็จะกลับมาหาผู้ส่ง) และเหมือนกำฝุ่นที่ซัดไปทวนลม (ก็จะปลิวกลับมาถูกผู้ขว้าง) ฉะนั้นบ้าง
               พิจารณาเห็นว่าทั้งตนทั้งคนอื่นมีกรรมเป็นของตน และดำรงอยู่ในการพิจารณาบ้าง คบหากัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนา เช่นพระอัสสคุตตเถระบ้าง, พยาบาทอันเธอย่อมละได้.
               เธอย่อมละพยาบาทได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงสิ่งที่เป็นสัปปายะเกี่ยวเนื่องด้วยเมตตา ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.
               ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ต่อไปด้วยอนาคามิมรรค.

               อธิบายอรติเป็นต้น               
               เพราะทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในธรรมทั้งหลายคือสติเป็นต้น ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้นได้.
               ที่ชื่อว่า อรติ ได้แก่ ความเป็นผู้ระอา.
               ที่ชื่อว่า ตนฺติ ได้แก่ ความเป็นผู้อืดอาดทางกาย.
               ที่ชื่อว่า วิชมฺภิกา ได้แก่ การเอี้ยวบิดกาย.
               ที่ชื่อว่า เมาอาหาร ได้แก่ ความเซื่องซึมที่เกิดจากอาหาร และความกระวนกระวายที่เกิดจากอาหาร.
               ที่ชื่อว่า ความหดหู่แห่งจิต ได้แก่ การที่จิตหงอยเหงา.
               ก็เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้เป็นไปในธรรมทั้งหลายมีอรติเป็นต้นนี้มากครั้งเข้า ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้นได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความเอือมระอา ความอืดอาด ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหารและความที่จิตหดหู่ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากในธรรมทั้งหลายมีความเอือมระอาเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้บ้าง ให้ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง.

               อธิบายอารัพภธาตุเป็นต้น               
               ก็การละถีนมิทธะนั้น ย่อมมีได้โดยโยนิโสมนสิการในเพราะธาตุทั้งหลายมีอารัพภธาตุเป็นต้น.
               ที่ชื่อว่า อารัพภธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่เริ่มครั้งแรก.
               ที่ชื่อว่า นิกกมธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่มีพลังมากกว่าความเพียรที่เริ่มครั้งแรกนั้น เพราะออกไปแล้วจากความเกียจคร้าน.
               ที่ชื่อว่า ปรักกมธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่มีพลังมากกว่านิกกมธาตุแม้นั้น เพราะก้าวไปสู่ฐานะยิ่งๆ ขึ้นไป.
               เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้เป็นไปในความเพียร ๓ ประเภทนี้มากครั้งเข้า เธอย่อมละถีนมิทธะได้.
               ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ (และ) ปรักกมธาตุ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในอารัพภธาตุเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ไม่ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง ให้ละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

               ละถีนมิทธะด้วยธรรม ๖ ประการ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
                         การเอานิมิตในการบริโภคมากเกินไป ๑
                         การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ๑
                         มนสิการถึงอาโลกสัญญา ๑
                         การอยู่ในที่กลางแจ้ง ๑
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑
                         การสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะ ๑.
               ก็เมื่อพระโยคาวจรฉัน (มากเกินไป) อย่างอาหารหัตถกพราหมณ์ ภุตตอมิตกพราหมณ์ ตัตรวฏกพราหมณ์ อลังสาฏกพราหมณ์ และกากมาสกพราหมณ์ แล้วนั่งบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ในที่พักกลางคืนและในที่พักกลางวัน ถีนมิทธะย่อมมาครอบงำได้ เหมือนช้างใหญ่มาเหยียบฉะนั้น.
               แต่สำหรับภิกษุผู้งดโอกาสที่จะฉันได้อีก ๔-๕ คำเสีย แล้วดื่มน้ำแทนอยู่เป็นประจำ ถีนมิทธะนั้นย่อมไม่มี เมื่อพระโยคาวจร แม้ถือเอานิมิตในการฉันมากเกินไปอย่างว่ามานี้แล เธอย่อมละถีนมิทธะได้.
               ในอิริยาบถใด พระโยคาวจรตกอยู่ใต้อำนาจถีนมิทธะ เมื่อเธอเปลี่ยนเป็นอิริยาบถอื่นจากอิริยาบถนั้นก็ดี มนสิการถึงแสงจันทร์ แสงประทีป และแสงคบเพลิงในตอนกลางคืน (และ) แสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวันก็ดี อยู่ในที่กลางแจ้งก็ดี คบหากัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะได้แล้ว เช่นกับพระมหากัสสปเถระก็ดี ถีนมิทธะอันเธอย่อมละได้.
               เธอย่อมละถีนมิทธะได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับธุดงค์ ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ. ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.

               อธิบายอุทธัจจกุกกุจจะ               
               เมื่อใจไม่สงบ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้นได้ โดยการไม่ได้กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย (ไม่มีโยนิโสมนสิการ). อาการที่จิตไม่สงบ ชื่อว่าอวูปสมะ. โดยอรรถ คำว่า อวูปสมะนั้น คืออุทธัจจกุกกุจจะนั่นเอง. เมื่อพระโยคาวจรยังอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปในอวูปสมะนั้นมากครั้งเข้า อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากครั้งเข้าในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อความไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               ก็การละอุทธัจจกุกกุจจะนั้น มีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในเพราะจิตสงบ กล่าวคือสมาธิ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจ การมนสิการโดยแยบคาย และการกระทำมากครั้งในความสงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อไม่ให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

               ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยธรรม ๖ ประการ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๖ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ
                         ความเป็นพหูสูต ๑
                         ความเป็นผู้สอบถาม ๑
                         ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย ๑
                         การคบหาคนเจริญแล้ว ๑
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑
                         การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ ๑.
               อธิบายว่า เธอแม้เรียนนิกาย ๑ บ้าง ๒ นิกายบ้าง ๓ นิกายบ้าง ๔ นิกายบ้าง ๕ นิกายบ้าง ทั้งโดยพระบาลีทั้งโดยอรรถกถา ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. เธอผู้มากไปด้วยการสอบถามซึ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะก็ดี ผู้รู้ความเป็นปกติในวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้เป็นไปในอำนาจวินัยที่ตนช่ำชองแล้วก็ดี เข้าไปหาท่านผู้เจริญ คือพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี คบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรผู้ทรงวินัย เช่นพระอุบาลีเถระก็ดี ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้.
               ในอิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนและการนั่งเป็นต้น เธอย่อมละได้ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม ๖ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ. เธอย่อมรู้ว่า๑-
               บรรดาอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ อุทธัจจะจะไม่มีเกิดขึ้นต่อไป เพราะอรหัตตมรรค. กุกกุจจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อิเมหิ ปน ฉหิ ธมฺเมหิ ปหีนสฺส อุทฺธจฺจสฺส อรหตฺตมคฺเคน ฯลฯ ปชานาติ. ฉบับพม่าเป็น อิเมหิ ปน ฉหิ ธมฺเมหิ ปหีเน อฺทฺธจฺจกุกฺกุจฺเจ อุทฺธจฺจ ฯลฯ ปชานาติ แปลตามฉบับพม่า

               อธิบายวิจิกิจฉา               
               วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้นได้ โดยไม่มนสิการในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา.
               ที่ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา ก็ได้แก่วิจิกิจฉานั่นเอง เพราะเป็นเหตุแห่งความสงสัย. เมื่อเรายังอโยนิโสมนสิการในวิจิกิจฉานั้นให้เป็นไปมากครั้งเข้า วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากในธรรมนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               ก็การละวิจิกิจฉาแม้นั้นย่อมมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมที่ควรซ่องเสพและไม่ควรซ่องเสพ ธรรมที่เลวและประณีต ธรรมที่มีส่วนคล้ายกับธรรมดำและธรรมขาว การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อไม่ให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.๑-
____________________________
๑- ปาฐะว่า อยมาหาโร อนุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย อุปฺปาทาย อุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลายาติ. ฉบับพม่าเป็น อยมาหาโร อนุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย อนุปฺปาทาย อุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย วา ปหานายาติ. แปลตามฉบับพม่า.

               ละวิจิกิจฉาด้วยธรรม ๖ อย่าง               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๖ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ
                         ความเป็นพหูสูต ๑
                         ความเป็นผู้สอบถาม ๑
                         ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย ๑
                         ความเป็นผู้มากด้วยอธิโมกข์ ๑
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑
                         การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ ๑.
               อธิบายว่า เธอแม้เรียนนิกาย ๑ บ้าง ฯลฯ ๕ นิกายบ้าง ทั้งโดยพระบาลี ทั้งโดยอรรถกถา ย่อมละวิจิกิจฉาได้แม้ด้วยพาหุสัจจะ. ผู้มากด้วยการสอบถามโดยการปรารภพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีความชำนาญช่ำชองในพระวินัยก็ดี ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยก็ดี ผู้คบหากัลยาณมิตร ผู้เป็นสัทธาวิมุติเช่นพระวักกลิเถระก็ดี ย่อมละวิจิกิจฉาได้ด้วยพาหุสัจจะ.
               ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น เธอย่อมละวิจิกิจฉาได้ แม้ด้วยถ้อยคำที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับคุณของพระรัตนตรัย. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา ก็พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า วิจิกิจฉาที่ละได้ด้วยธรรม ๖ อย่างเหล่านี้จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตน หรือในธรรมทั้งหลายของผู้อื่น คือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล (ที่เหมาะสม) หรือของผู้อื่นตามกาล (ที่เหมาะสม) ด้วยการกำหนดเห็นนิวรณ์ ๕ อย่างนี้อยู่.
               แต่ในนิวรณบรรพนี้ พระโยคาวจรควรนำความเกิดขึ้นและความเสื่อมออกไปด้วยอโยนิโสมนสิการ หรือโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตเป็นต้น โดยนัยที่ตรัสไว้แล้วในนิวรณ์ ๕. ข้อความต่อจากนี้ไปมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               อริยสัจในนิวรณ์               
               ก็สติเป็นเครื่องกำหนดนิวรณ์ ในนิวรณบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงประกอบความดังที่พรรณนามานี้ แล้วทราบมุขแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ของภิกษุผู้กำหนดนิวรณ์เป็นอารมณ์
               ข้อความที่เหลือก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันแล.
               จบนิวรณบรรพ               

               ขันธบรรพ               
               [๑๔๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยนิวรณ์ ๕ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยเบญจขันธ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ความว่า กองแห่งอุปาทาน ชื่อว่าอุปาทานขันธ์. อธิบายว่า กลุ่มแห่งธรรมคือกองแห่งธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ชื่อว่าธัมมราสี ความสังเขปในเบญจขันธ์นี้มีเท่านี้.
               ส่วนความพิสดารเรื่องขันธ์กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อิติ รูปํ ความว่า รู้รูปโดยสภาวะว่า นี้รูป รูปเท่านี้ รูปอื่นจากนี้ไม่มี.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ความสังเขปในคำนี้มีเท่านี้. ส่วนโดยพิสดาร รูปเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้วในเรื่องขันธ์ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแหละ.
               บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า ความเกิดแห่งรูป โดยอาการ ๕ โดยมีอวิชชาเป็นที่เกิดเป็นต้นอย่างนี้ .
               บทว่า อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม ความว่า ความดับแห่งรูป โดยอาการ ๕ โดยมีความดับแห่งอวิชชาเป็นต้นอย่างนี้.
               แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               นี้เป็นความสังเขปในข้อนี้ ส่วนความพิสดารกล่าวไว้แล้วในเรื่องอุทยัพพยญาณ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าของตนหรือของคนอื่น ไม่ว่าตามกาลของตนหรือคนอื่นด้วยการกำหนดเบญจขันธ์เป็นอารมณ์อย่างนี้อยู่.
               ก็ในคำนี้สมุทยธรรมและวยธรรม พึงยกขึ้นพิจารณาลักษณะ ๕๐ ที่ท่านกล่าวไว้ในขันธ์ทั้งหลายมีอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิด. ต่อจากนี้ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               อริยสัจในเบญจขันธ์               
               ก็สติเป็นเครื่องกำหนดขันธ์เป็นอารมณ์ในขันธบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว พึงประกอบความดังกล่าวมานี้ แล้วพึงทราบมุขคือข้อปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดถือขันธ์เป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               จบขันธบรรพ               

               อายตนบรรพ               
               [๑๔๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยเบญจขันธ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยอายตนะ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ได้แก่อายตนะภายใน ๖ เหล่านี้คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (และ) อายตนะภายนอก ๖ เหล่านี้คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์.
               บทว่า จกฺขุํ จ ปชานาติ ได้แก่ รู้จักขุปสาทโดยลักษณะแห่งกิจตามความเป็นจริง.
               บทว่า รูเป จ ปชานาติ ความว่า รู้ชัดรูปที่มีสมุฏฐาน ๔ อย่างภายนอกด้วย โดยลักษณะแห่งกิจตามความเป็นจริง.
               ข้อว่า ยญฺจ ตทุภยํ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ สญฺโญชนํ ความว่า ก็เพราะอาศัยอายตนะทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งตาด้วย ทั้งรูปด้วยสังโยชน์ ๑๐ อย่าง คือ กามราคสังโยชน์, ปฏิฆะ, มานะ, ทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, ภวราคะ, อิสสา, มัจฉริยะและอวิชชา สังโยชน์อันใดย่อมเกิดขึ้น เธอรู้ชัดสังโยชน์นั้น โดยลักษณะตามความเป็นจริงด้วย.

               การเกิดของสังโยชน์               
               ถามว่า ก็สังโยชน์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
               แก้ว่า จะกล่าวในจักษุทวารก่อน เมื่อเธอชอบใจเพลิดเพลินยินดี อิฏฐารมณ์ที่มาสู่คลอง (จักษุ) ด้วยอำนาจแห่งความพอใจในอิฏฐารมณ์ กามราคสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อโกรธในเพราะอนิฏฐารมณ์ ปฏิฆสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อสำคัญว่า นอกจากเราแล้วไม่มีใครอื่นจะสามารถสำแดงอารมณ์๑- นี้ให้แจ่มแจ้งได้ มานสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อยึดถือว่ารูปารมณ์นี้๒- เที่ยง ยั่งยืน ทิฏฐิสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อสงสัยว่า รูปารมณ์นี้๒- เป็นสัตว์หรือหนอ หรือเป็นของสัตว์ วิจิกิจฉาสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อปรารถนาภพว่า ภพ (การเกิด) นี้มิใช่๓- จะหาได้ง่าย ในสัมปัตติภพเลย ภวราคสังโยชน์๔- จะเกิดขึ้น,
____________________________
๑- ปาฐะว่า เอกํ ฉบับพม่าเป็น เอตํ แปลตามฉบับพม่า.
๒- ปาฐะว่า เอวํ ฉบับพม่าเป็น เอตํ แปลตามฉบับพม่า
๓- ปาฐะว่า สมฺปตฺติภเว อตฺตโน พม่าเป็น สมฺปตฺติภเว อตฺตโน แปลตามฉบับพม่า
๔- ปาฐะว่า ภวสํโยชนํ ฉบับพม่าเป็น ภวราคสํโยชนํ แปลตามฉบับพม่า.

               เมื่อยึดมั่นศีลและพรตว่า เราสมาทานศีลและพรตแบบนี้แล้วอาจจะได้ (บรรลุคุณวิเศษ) ต่อไป สีลัพพตปรามาสสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อริษยาว่า ไฉนหนอ คนอื่นๆ จึงจะไม่ได้รูปารมณ์นี้ อิสสาสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อตระหนี่รูปารมณ์อันตนได้แล้วต่อผู้อื่น มัจฉริยสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อไม่รู้ โดยไม่รู้ธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับธรรมเหล่านั้นทั้งหมดนั้นแหละ อวิชชาสังโยชน์จะเกิดขึ้นได้.
               บทว่า ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส ความว่า สังโยชน์ทั้ง ๑๐ อย่างนั้นที่ยังไม่ได้เกิด จะเกิดขึ้นด้วยเหตุ คือด้วยการไม่ฟุ้งขึ้นอันใด เธอรู้ชัดเหตุนั้นด้วย.
               บทว่า ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส ความว่า ส่วนการละสังโยชน์แม้ทั้ง ๑๐ อย่างนั้นที่เกิดขึ้นแล้วโดยความหมายว่า ยังละไม่ได้ก็ดี โดยการฟุ้งขึ้นก็ดี ด้วยเหตุใด เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุนั้นด้วย.
               บทว่า ยถา จ ปหีนสฺส ความว่า สังโยชน์ ๑๐ อย่างนั้นแม้ที่ละได้แล้วโดยตทังคปหานและวิกขัมภนปหาน จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะเหตุใด เธอก็รู้เหตุนั้นด้วย.
               อธิบายว่า ก็สังโยชน์นั้นจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป คือสังโยชน์ ๕ อย่างต่างด้วยทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อิสสาและมัจฉริยะจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะโสดาปัตติมรรคก่อน.
               สังโยชน์ทั้งคู่ คือกามราคะและปฏิฆะอย่างหยาบจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะสกทาคามิมรรค. สังโยชน์ทั้งคู่คือ กามราคะและปฏิฆะที่ไปด้วยกันอย่างละเอียด จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะอนาคามิมรรค, สังโยชน์ ๓ อย่าง คือมานะ ภวราคะและอวิชชาจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะอรหัตตมรรค ด้วยเหตุใด เธอก็รู้เหตุนั้นด้วย.
               แม้ในบทว่า ในเสียงเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้พึงทราบกถาว่าด้วยอายตนะ โดยพิสดารตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในอายตนนิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเทอญ.
               พระโยคาวจรพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตนด้วยการกำหนดอายตนะภายใน หรือในธรรมทั้งหลายของผู้อื่นด้วยการกำหนดอายตนะภายนอก คือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล (เหมาะสม) หรือของผู้อื่นตามกาล (เหมาะสม) อยู่ด้วยประการอย่างนี้.
               ก็ในอายตนบรรพนี้ สมุทยธรรมและวยธรรม ควรนำออกไปโดยนัยแห่งรูปายตนะที่ตรัสไว้แล้วในรูปขันธ์แห่งอายตนะในบรรดาอรูปายตนะทั้งหลาย ที่ตรัสไว้ในวิญญาณขันธ์แห่งธรรมายตนะ ที่ตรัสไว้ในขันธ์ที่เหลือว่า เพราะอวิชชาเกิด จักษุจึงเกิด. ไม่ควรหมายถึงโลกุตตรธรรม.
               คำต่อแต่นี้ไป มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.

               อริยสัจในอายตนะ               
               ก็สติเป็นเครื่องกำหนดอายตนะ ในอายตนบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว พึงประกอบความดังกล่าวมานี้ แล้วทราบมุขคือข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุนำออก (จากทุกข์) แห่งภิกษุผู้กำหนดถืออายตนะเป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกันแล.
               จบอายตนบรรพ               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :