ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

หน้าต่างที่ ๓ / ๖.

               พิจารณาดูกายโดยอิริยาบถ               
               [๑๓๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกการพิจารณาดูกายโดยอัสสาสะและปัสสาสะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยอิริยาบถ จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า ปุน จ ปรํ.
               จะวินิจฉัยในบทเหล่านั้นต่อไป :-

               ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา               
               ถึงสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา.
               แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูปลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.
               ความจริง การรู้นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า ใครเดิน? การเดินของใคร? เดินเพราะเหตุอะไร? ถึงในการยืนก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์ตัวไหนหรือคนคนไหนเดิน.
               บทว่า การเดินของใคร ความว่า ไม่มีการเดินของสัตว์ตัวไหน
               บทว่า เดินเพราะเหตุอะไร ความว่า เดินไป โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต.

               วาโยธาตุเกิดจากจิต               
               เพราะฉะนั้น ภิกษุนี้จะรู้ชัด (อิริยาบถ) อย่างนี้ว่า จิต (ความคิด) เกิดขึ้นว่า เราจักเดิน จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหววาโยเกิด. การเคลื่อนไหวกายทั้งหมดไปข้างหน้า โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุอันเกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการเดิน.
               แม้ในการยืนเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แม้ในบรรดาการยืนเป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยต่อไป
               จิต (ความคิด) เกิดขึ้นว่า เราจะยืน จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหววาโยเกิด.
               ภาวะที่กายทั้งหมดตั้งแต่ที่สุด (คือศีรษะถึงปลายเท้า) ยืดขึ้น โดยกายแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่า การยืน.
               จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนั่ง จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหว วาโยเกิด การย่อกายตอนล่างลง การยืดกายตอนบนขึ้น โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการนั่ง.
               จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนอน จิตจะให้วาโยนั้นเกิด จะให้การเคลื่อน ไหววาโยเกิด. การเหยียดร่างกายทั้งหมดออกไปตามทางขวาง โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการนอน อาการของเขาผู้รู้เห็นอยู่อย่างนี้ เรียกว่า สัตว์เดิน สัตว์ยืน.
               ถามว่า มีสัตว์อะไรเดินหรือยืนหรือ?
               ตอบว่า ไม่มี.
               แต่เหมือนคำที่เรียกว่า เกวียนไป เกวียนหยุด. ก็ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าเกวียนจะไปหรือจะหยุด. แต่เมื่อสารถีผู้ฉลาด เทียมโค ๔ ตัวขับไป จะมีก็แต่เพียงการเรียกขานกันว่า เกวียนไป เกวียนหยุด ฉันใด. กายเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่าไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิตเหมือนโค จิตเหมือนสารถี เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน วาโยธาตุที่จะให้เกิดวิญญัติ ก็จะเกิดขึ้น การเดินเป็นต้นจะเป็นไปโดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต จะมีแต่เพียงการเรียกขานกันว่าสัตว์เดิน สัตว์ยืน ฉันไป ฉันยืน ฉันนั้นเหมือนกัน.
                         เรือวิ่งไปได้ เพราะกำลังของลม ลูกศรวิ่งไปได้
                         เพราะกำลังของสาย ฉันใด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น
                         เดินไปได้ เพราะลม (ภายใน) พัดผัน. แม้กาย
                         ยนต์นี้ ที่ (นายช่างคือตัณหาประกอบไว้) เดิน
                         ยืน นั่งได้ด้วยอำนาจของสายชักคือจิต เหมือน
                         หุ่นยนต์ เคลื่อนไหวได้ ด้วยอำนาจของสายชัก.
                         ในเรื่องนี้ จะมีสัตว์อะไร นอกจากเหตุปัจจัยที่
                         ยืนหรือเดินไป ด้วยอานุภาพของตน.
               เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นกำหนดอยู่ซึ่งอิริยาบถเดินเป็นต้นที่เป็นไปโดยเหตุและปัจจัยเท่านั้นอย่างนี้ พึงทราบเถิดว่า บุคคลนั้นเมื่อเดินก็รู้ชัดว่า เราเดิน (เมื่อยืน นั่งหรือนอน) ก็รู้ชัดว่า เรายืน นั่งหรือนอน.
               คำว่า ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถา นํ ปชานาติ (ก็หรือว่า เธอย่อมรู้ชัดกายนั้นตามที่ตนดำรงอยู่แล้ว) นี้เป็นคำที่ประมวลอิริยาบถทุกอย่างไว้.
               มีคำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ว่า
               กายของเธอสถิตอยู่แล้วโดยอาการใดๆ เธอก็รู้ชัดกายนั้น โดยอาการนั้นๆ คือ รู้ชัดกายที่สถิตอยู่โดยอาการที่เดินว่ากำลังเดิน รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการที่ยืน นั่งหรือนอน ว่า (กำลัง) นอนเป็นต้น.
               บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า หรือเธอพิจารณาเห็นกายในกาย โดยการพิจารณาอิริยาบถ ๔ ของตนอย่างนี้อยู่.
               บทว่า พหิทฺธา วา ความว่า หรือโดยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของผู้อื่น.
               บทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายโดยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตน (หรือ) ของผู้อื่นตามกาลเวลา.
               ส่วนในบทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา เป็นต้น ผู้ศึกษาควรนำเอาความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์ด้วยอาการ ๕ อย่างมาโดยนัยมีอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปขันธ์จึงเกิด.
               ความจริง คำว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา นี้ ในอิริยาปถบรรพนี้ พระองค์ตรัสหมายเอาคำนั้น.
               คำว่า อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส เป็นต้น ก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

               อริยสัจในอิริยาบถ               
               แต่ในอิริยาปถบรรพนี้ สติที่กำหนดอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นทุกขสัจ ตัณหาเก่าที่เป็นสมุฏฐานของสติ เป็นสมุทัยสัจ การไม่เป็นไปแห่งสติ กับตัณหาทั้ง ๒ อย่างนั้น เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกข์ ที่ละสมุทัย ที่มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ.
               พระโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (นิพพาน). ถ้อยคำดังที่พรรณนามานี้เป็นช่องทางการนำออก (จากทุกข์) จนถึงพระอรหัตของภิกษุผู้กำหนดอิริยาบถ ๔ รูปหนึ่งดังนี้แล.
               จบอิริยาปถบรรพ               

               พิจารณาดูกายโดยสัมปชัญญะ ๔               
               [๑๓๕] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกการพิจารณาเห็นกายในกายโดยอิริยาบถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยสัมปชัญญะ ๔ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ไว้.
               ก่อนอื่น บรรดาคำเหล่านั้นในคำว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต นี้ การเดินไป พระองค์ตรัสเรียกว่าอภิกกันตะ การเดินกลับตรัสเรียกว่าปฏิกกันตะ. แม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นได้ในอิริยาบถทั้ง ๔.
               (จะว่า) ในการเดินก่อน เมื่อโยกกายไปข้างหน้า ก็ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อเอนกลับก็ชื่อว่าถอยกลับ. แม้ในการยืน ผู้ยืนนั้นแหละ เมื่อโยกกายไปข้างหน้า ก็ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อเอนตัวมาข้างหลัง ก็ชื่อว่าถอยกลับ. ในการนั่ง ผู้นั่งนั่นเอง เมื่อโน้มตัวด้านหน้าไป เฉพาะหน้าอาสนะ ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อโยกร่างกายด้านหลังไปทางหลัง ชื่อว่าถอยกลับ.
               แม้ในการนอนก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺปชานการี โหติ ความว่า เป็นผู้ประกอบกิจทุกอย่างด้วยสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เป็นปกติ หรือเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวนั่นแหละเป็นปกติ เพราะว่า เธอทำความรู้สึกตัวอยู่ทีเดียวในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ไม่ว่าในอิริยาบถไหนๆ ก็ไม่เว้นสัมปชัญญะ.

               สัมปชัญญะ ๔               
               สัมปชัญญะ ในคำว่า สมฺปชานการี นั้นมี ๔ อย่างคือ สาตถกสัมปชัญญะ ๑ สัปปายสัมชัญญะ ๑ โคจรสัมปชัญญะ ๑ อสัมโมหสัมปชัญญะ ๑.

               ๑. สาตถกสัมปชัญญะ               
               บรรดาสัมปชัญญะทั้ง ๔ อย่างนั้น การไม่ไปตามอำนาจความคิดที่เกิดขึ้นทีเดียว ในเมื่อคิดจะก้าวไป กำหนดผลได้ผลเสีย (ก่อน) ว่าการไปที่นี้จะมีประโยชน์แก่เรา หรือไม่มี แล้วถือเอาแต่ประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ.
               ก็บรรดาอัตถะและอนัตถะ (ผลได้ผลเสีย) ทั้ง ๒ อย่างนั้น ความเจริญทางธรรมด้วยได้เห็นพระเจดีย์ ได้เห็นต้นโพธิ์ ได้เห็นพระสงฆ์ ได้เห็นพระเถระและได้เห็นอสุภารมณ์เป็นต้น ชื่อว่าอัตถะ. เพราะว่า แม้ได้เห็นพระเจดีย์แล้วยังปีติให้เกิดมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ขึ้นได้ (และ) เพราะได้เห็นพระสงฆ์ก็ให้เกิดปีติมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ขึ้นได้แล้ว เมื่อพิจารณาอารมณ์นั่นแหละโดยความสิ้นไปและความเสื่อมไป ก็จะบรรลุพระอรหัต.
               ได้เห็นพระเถระทั้งหลายแล้ว ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ได้เห็นอสุภารมณ์แล้ว ยังปฐมฌานให้เกิดในอสุภารมณ์นั้นขึ้นได้ เมื่อพิจารณาอสุภารมณ์นั่นแหละไปโดยความสิ้นไปและความเสื่อมไป ก็จะบรรลุพระอรหัต.
               เพราะฉะนั้น การเห็นสิ่งเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีประโยชน์. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความเจริญด้านอามิสเอง ก็ชื่อว่าเป็นประโยชน์ (ผล) ได้เหมือนกัน เพราะอาศัยประโยชน์นั้นแล้ว ได้ปฏิบัติ (ธรรม) เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์.

               ๒. สัปปายสัมปชัญญะ               
               ส่วนการกำหนดสัปปายะและอสัปปายะ (ความสบายหรือไม่สบาย) ในการเดินนั้นแล้วกำหนดเอาสัปปายะ ชื่อว่า สัปปายสัมปชัญญะ.
               ได้แก่อะไร?
               ได้แก่ การเห็นพระเจดีย์ ชื่อว่ามีประโยชน์ก่อน ก็ถ้าบริษัทประชุมกันระยะ ๑๐ หรือ ๑๒ โยชน์ เพื่อบูชามหาเจดีย์เป็นการใหญ่ ผู้หญิงบ้าง ผู้ชายบ้าง แต่งตัวด้วยเครื่องประดับตามควรแก่สมบัติของตน (ตามฐานานุรูป) เดินเที่ยวกันไปเหมือนกับภาพจิตรกรรม (รูปเขียน) ไซร้ เธอก็จะเกิดความอยากได้ (โลภ) ในอิฏฐารมณ์นั้น จะเกิดความขัดเคืองในเพราะอนิฏฐารมณ์ และจะเกิดความหลงใหลขึ้นในเพราะการมองไม่เหมาะสม. จะต้องอาบัติกายสังสัคคะ (จับต้องกายหญิง) หรือจะมีอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์. สถานที่ดังที่พรรณนามานี้นั้น ชื่อว่าเป็นอสัปปายะ. แม้การเห็นพระสงฆ์ที่เป็นสัปปายะ ชื่อว่ามีประโยชน์ในเพราะไม่มีอันตราย มีประการดังที่กล่าวมาแล้ว.
               แต่ถ้าเมื่อมนุษย์พากันสร้างปะรำใหญ่ไว้ภายในหมู่บ้านแล้วฟังธรรมเทศนากันตลอดทั้งคืน การชุมนุมของประชาชนและอันตรายก็จะมีโดยประการดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. สถานที่ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้นเป็นอสัปปายะ (แต่) เป็นสัปปายะได้ เพราะไม่มีอันตราย.
               แม้ในการเห็นพระเถระทั้งหลายผู้มีบริษัทบริวารมาก ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ถึงการเห็นอสุภารมณ์ ก็ชื่อว่ามีประโยชน์.
               และมีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นการแสดงเนื้อความนั้น (ตัวอย่าง) :-

               เรื่องภิกษุหนุ่ม               
               เล่ากันมาว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพาสามเณรไปหาไม้ชำระฟัน. สามเณรแวะออกนอกทางเดินล่วงหน้าไป เห็นอสุภารมณ์ แล้วยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น ทำปฐมฌานนั่นแหละให้เป็นเบื้องบาทพิจารณาสังขาร ทำผลทั้ง ๓ ให้แจ้งชัดแล้ว ได้ยืนกำหนดกรรมฐาน เพื่อผลประโยชน์แก่มรรคเบื้องสูง (อรหัตตมรรค). ภิกษุหนุ่มเมื่อไม่เห็นสามเณรนั้น จึงร้องเรียกว่าสามเณร.
               สามเณรนั้นคิดว่า ตั้งแต่บวชแล้ว เราไม่เคยให้พระเรียกถึง ๒ ครั้งเลย เราจักให้คุณวิเศษเบื้องสูงเกิดขึ้นในวันอื่นเถอะ ดังนี้แล้วจึงให้คำตอบว่า อะไรครับท่าน? และสามเณรนั้นที่ภิกษุหนุ่มบอกว่า มาเถิดสามเณร เพียงคำเดียวเท่านั้นก็มาแล้วได้พูดว่า ท่านครับ ขอได้โปรดเดินไปตามทางนี้ก่อน แล้วยืนหันหน้ามองไปทางทิศตะวันออกสักครู่หนึ่ง ณ โอกาสที่ผมยืน. เธอได้ทำตามนั้นแล้ว ได้บรรลุคุณวิเศษที่สามเณรนั้นได้แล้วบรรลุแล้ว.
               อสุภารมณ์เดียวได้เกิดประโยชน์แก่คน ๒ คน ดังที่พรรณนามานี้.
               ก็อสุภารมณ์นี้ แม้จะมีประโยชน์ดังที่พรรณนามานี้ (แต่) อสุภารมณ์คือหญิง ก็เป็นอสัปปายะของชาย และอสุภารมณ์คือชาย ก็เป็นอสัปปายะของหญิง. อสุภารมณ์ที่เป็นสภาคกันเท่านั้น จึงจะเป็นสัปปายะ เพราะฉะนั้น การกำหนดสัปปายะอย่างนั้น ชื่อว่าสัปปายะสัมปชัญญะ.

               ๓. โคจรสัมปชัญญะ               
               แต่การเรียนเอาโคจระ กล่าวคือกรรมฐานซึ่งเป็นที่ชอบใจของตนในจำนวนกรรมฐาน ๓๘ ประการ แล้วรับเอากรรมฐานนั้น เดินไปในที่โคจรเพื่อภิกขาจาร ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ สำหรับผู้มีสัปปายะที่มีประโยชน์ที่กำหนดแล้วอย่างนี้.
               เพื่อความแจ่มชัดแห่งโคจรสัมปชัญญะนั้น ผู้ศึกษาควรทราบสัมปชัญญะ ๔ หมวดดังต่อไปนี้ คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้นำไปไม่นำกลับ บางรูปไม่นำไป ไม่นำกลับ บางรูปทั้งนำไปทั้งนำกลับ.

               ภิกษุนำไป ไม่นำกลับ               
               บรรดาภิกษุทั้ง ๔ รูปนั้น ภิกษุรูปใดชำระจิตให้ผ่องใสจากนิวรณธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดทั้งวัน ตลอดปฐมยามแห่งราตรีก็เช่นนั้น ในมัชฌิมยามจำวัด แม้ในปัจฉิมยามก็ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่ง การจงกรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงจะทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ ลานโพธิ์พฤกษ์ จะรดน้ำต้นโพธิ์ จะตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ สมาทาน ปฏิบัติวัตรในคัมภีร์ขันธกะ๑- ทุกอย่างมีอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเป็นต้น
____________________________
๑- ปาฐะเป็น ขนฺธกวตฺตาทีนิ แต่ฉบับพม่าเป็น ขนฺธกวตฺตานิ จึงแปลตามฉบับพม่า.

               เธอทำธุระเกี่ยวกับร่างกายแล้ว เข้าไปยังที่นั่งที่นอน และนั่งขัดสมาธิ ๒-๓ ท่าพอให้อบอุ่นแล้วปฏิบัติกรรมฐาน ลุกขึ้นในเวลาภิกขาจาร ถือเอาบาตรและจีวรออกไปจากเสนาสนะ มนสิการกรรมฐานอยู่ด้วยหัวข้อกรรมฐานนั่นเอง เดินไปสู่ลานเจดีย์แล้ว ถ้ามีกรรมฐานมีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ไซร้ ก็อย่าทิ้งกรรมฐานนั้นเสีย เข้าไปยังลานพระเจดีย์. ถ้ามีกรรมฐานอย่างอื่นไซร้ ควรพักกรรมฐานนั้นไว้ เหมือนกับเอามือจับสิ่งของวางไว้ที่เชิงบันได แล้วกำหนดเอาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ขึ้น ไปยังลานพระเจดีย์ (ถ้า) เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ ควรทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วไหว้ทั้ง ๔ ด้าน (ถ้า) เป็นเจดีย์องค์เล็ก ควรทำปทักษิณาอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วไหว้ทั้ง ๘ ด้าน. ครั้นไหว้พระเจดีย์เสร็จ ไปถึงลานโพธิ์แล้ว ควรวันทาต้นโพธิ์แสดงความยำเกรง เหมือนอยู่ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า. เธอไหว้พระเจดีย์และต้นโพธิ์อย่างนี้แล้ว ไปยังที่ที่ตนพักกรรมฐานไว้ รับเอากรรมฐานที่พักไว้ (เก็บไว้ชั่วคราว) เหมือนกับเอามือจับเอาสิ่งของที่ตนเก็บไว้ฉะนั้น แล้วห่มจีวรในที่ใกล้บ้าน โดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั้นเอง เข้าบ้านไปเพื่อบิณฑบาต.
               ครั้นคนทั้งหลายเห็นท่านแล้ว บอกกันว่า พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พากันต้อนรับท่าน รับเอาบาตรแล้วให้นั่งบนศาลาโรงฉันหรือบนเรือน ถวายข้าวยาคู ล้างเท้าทาด้วยน้ำมันให้จนกว่าจะเสร็จภัตตกิจ พากันนั่งข้างหน้า บ้างก็ถามปัญหา บ้างก็ต้องการจะฟังธรรม. แต่ถ้าเขาจะให้กล่าว (ธรรมกถา) พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมกถา ควรแสดงทีเดียว เพื่อสงเคราะห์ประชาชน. เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมกถา จะเหนือไปจากกรรมฐานไม่มี เพราะฉะนั้น ครั้นท่านแสดงธรรมโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั่นเอง ฉันอาหารโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั่นเอง ทำอนุโมทนาแล้ว เมื่อเขาให้กลับ ก็ให้ตามคนเขาไปแล้ว กลับ ณ ที่นั้นนั่นเอง แล้วจึงเดินทางต่อไป. ครั้นสามเณรและภิกษุหนุ่มผู้ออกไปก่อน ฉันเสร็จแล้ว เห็นท่านจึงพากันไปต้อนรับ รับบาตรและจีวรของท่าน.
               ได้ทราบว่าภิกษุรุ่นเก่าดูหน้าเห็นว่า ไม่ใช่อุปัชฌาจารย์ของตนแล้ว ทำ (อาคันตุกะ) วัตรอยู่ แต่ทำตามกำหนดที่มาเผชิญเข้าเท่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นจะถามท่านว่า คนเหล่านั้นเป็นอะไรกับท่าน๒- เกี่ยวข้องกันทางโยมผู้หญิงหรือทางฝ่ายโยมผู้ชาย?
               ท่านจะตอบว่า พวกคุณเห็นอะไรจึงถาม?
               สามเณรและภิกษุหนุ่มเหล่านั้นเรียนว่า คนเหล่านี้มีความรักความนับถือมาก๓- ในเพราะใต้เท้า.
____________________________
๒- ฉบับพม่ามี ตุมฺหากํ แปลตามฉบับพม่า
๓- ในระหว่างนี้ ฉบับพม่ามีศัพท์ว่า เปมํ จึงแปลตามฉบับพม่า.

               คุณครับ สิ่งใดที่แม้แต่โยมผู้หญิง โยมผู้ชาย (ของผม) ก็ทำได้ยาก คนเหล่านั้นทำสิ่งนั้นให้ผม แม้บาตรและจีวรของผม ก็เป็นของคนเหล่านั้นเหมือนกัน (ถวาย) ด้วยอานุภาพของคนเหล่านั้น เมื่อมีภัย ผมก็ไม่รู้จักภัยเลย เมื่อมีความหิว ผมก็ไม่รู้จักหิว ขึ้นชื่อว่าเหล่าชนผู้มีอุปการะแก่ผมเช่นนี้จะไม่มี เธอพูดถึงคุณของคนเหล่านั้นอยู่อย่างนี้ เดินไป. ภิกษุนี้ท่านเรียกว่า ชื่อว่านำไป ไม่นำกลับ.

               ภิกษุไม่นำไป แต่นำกลับ               
               แต่ว่า จะป่วยกล่าวไปไย เมื่อภิกษุใดทำวัตรปฏิบัติมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เดชที่เกิดแต่กรรมจะสำแดงออก จะปล่อยวางอนุปาทินนกสังขาร ยึดอุปาทินนกสังขาร เหงื่อจะไหลออกจากร่างกาย จะไม่ขึ้นสู่วิถีทางของกรรมฐาน. จะป่วยกล่าวไปไย ถึงภิกษุนั้นจะถือเอาบาตรและจีวร จะรีบไปไหว้พระเจดีย์ เข้าบ้านเพื่อข้าวยาคูและภิกษา ในเวลาที่โคทั้งหลายออกไป (หากิน) นั่นเอง ได้ข้าวยาคูแล้ว ไปยังอาสนศาลา (หอฉัน) แล้วดื่ม.
               ภายหลังด้วยเหตุเพียงการดื่มข้าวยาคู ๒-๓ อึกของท่านเท่านั้น เดช (ความร้อน) ที่เกิดแต่กรรมจะปล่อยวางอุปาทินนกสังขาร ยึดอนุปาทินนกสังขาร. เธอจะดับความกระวนกระวายที่เกิดแต่เตโชธาตุ เหมือนอาบน้ำร้อยหม้อ ฉันข้าวยาคูโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ ล้างบาตรและบ้วนปากแล้ว มนสิการกรรมฐานในระหว่างภัต เที่ยวไปบิณฑบาตในที่ที่เหลือ ฉันอาหารโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ ตั้งแต่นั้นไปจะรับเอากรรมฐานที่ปรากฏขึ้นติดต่อกันไป แล้วเดินไป. ภิกษุนี้เรียกว่าไม่นำไป แต่นำกลับ.
               ก็ขึ้นชื่อว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ดื่มข้าวยาคู ปรารภวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนา เช่นนี้นับจำนวนไม่ถ้วน. ในเกาะสีหลนั่นเอง บนอาสนศาลา อาสนะสำหรับนั่งดื่มข้าวยาคูก็ไม่มีภิกษุที่ดื่มข้าวยาคูแล้วบรรลุอรหัต ก็ไม่มี.

               ภิกษุไม่นำไป ไม่นำกลับ               
               แต่ภิกษุใดเป็นผู้อยู่อย่างประมาทเป็นปกติ ทอดทิ้งธุระ ทำลายวัตรทุกอย่าง มีจิตผูกพันอยู่กับเจโตขีลธรรม ๕ ประการ ไม่ทำสัญญาไว้บ้างว่า ขึ้นชื่อว่ากรรมฐานมีอยู่ เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตเที่ยวคลุกคลีด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ที่ไม่เหมาะสม และฉันแล้ว (มีบาตร) เปล่าออกไป ภิกษุนี้เรียกว่าไม่นำไป และไม่นำกลับ.

               ภิกษุทั้งนำไปนำกลับ               
               ส่วนภิกษุนี้ใดที่ท่านกล่าวว่า นำไปด้วย นำกลับด้วย ภิกษุนั้นพึงทราบได้ด้วยคตปัจจาคติวัตรของผู้เดินกลับไปกลับมา. เพราะว่า กุลบุตรทั้งหลายผู้มุ่งประโยชน์ บวชในศาสนาแล้ว เมื่อจะอยู่โดยลำพัง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง อยู่โดยทำกติกาวัตรกันไว้ว่า ท่านครับ ท่านทั้งหลายไม่ใช่บวชหลบหนี้ ไม่ใช่บวชหลบภัย ไม่ใช่บวชเลี้ยงชีพ แต่ประสงค์จะพ้นจากทุกข์ จึงได้บวชในพระศาสนานี้ เพราะฉะนั้น ในขณะเดินนั่นแหละ ท่านทั้งหลายจงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลาเดิน ในขณะยืน ก็ข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลายืน ในขณะนั่ง ก็จงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลานั่ง ในขณะนอนนั่นแหละ ก็จงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลานอน.
               ภิกษุเหล่านั้น ครั้นทำกติกาวัตรกันไว้อย่างนี้แล้ว เมื่อไปภิกขาจารก็เดินไปมนสิการกรรมฐานไปตามสัญญานั้น ถ้าหากกิเลสเกิดขึ้นแก่ใครในขณะเดิน ในระหว่างครึ่งอุสุภะ หนึ่งอุสุภะ ครึ่งคาวุตหรือหนึ่งคาวุต มีก้อนหินอยู่ ภิกษุนั้นจะข่มกิเลสนั้นในที่นั้นเอง เมื่อไม่อาจ (ข่มได้) อย่างนั้น ก็จะหยุดยืน.
               ถัดนั้นภิกษุ (รูปอื่น) แม้ตามหลังเธอมาก็จะหยุดยืนตาม เธอจะเตือนตนเองว่า ภิกษุนี้รู้วิตกที่เกิดแก่เจ้าแล้ว ข้อนี้ไม่สมควรแก่เจ้า แล้วเจริญวิปัสสนาก้าวลงสู่อริยภูมิ ณ ที่นั้นนั่นเอง ในคำว่า เมื่อไม่อาจอย่างนั้น เธอก็จะนั่ง.
               ถัดนั้น แม้ภิกษุผู้มาข้างหลัง เธอก็จะนั่งตาม ก็มีนัยนั้นเหมือนกัน.
               ถึงไม่สามารถก้าวลงสู่อริยภูมิได้ ก็จะข่มกิเลสนั้นไว้ เดินมนสิการกรรมฐานไปทีเดียว ไม่ยกเท้าขึ้นทั้งที่มีจิตพรากจากกรรมฐาน ถ้ายก (โดยที่มีจิตพรากจากกรรมฐาน) ก็จะกลับไปยังที่เดิมนั้นเอง เหมือนมหาปุสสเทวเถระ ชาวอาลินทกะ.

               เรื่องพระมหาปุสสเทวเถระ               
               เล่ากันมาว่า ท่านได้บำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร๑- (วัตรของผู้เดินกลับไปกลับมา) อยู่ที่เดียวเป็นเวลา ๑๙ พรรษา.
____________________________
๑- ปาฐะว่า คตปจฺจาคตวตฺตํ ฉบับพม่าเป็น คตปจฺจาคติกวตฺตํ แปลตามฉบับพม่า.

               ได้ยินว่า แม้คนทั้งหลายกำลังไถ กำลังหว่าน กำลังนวด ทำงานกันอยู่ เห็นพระเถระเดินอย่างนั้น จึงสนทนากันว่า พระเถระรูปนี้เดินกลับไปกลับมา คงจะหลงทางหรือไม่ก็คงลืมอะไรกระมัง? ท่านไม่คำนึงถึงคำพูดนั้น ทำสมณธรรมด้วยทั้งจิตที่ประกอบด้วยกรรมฐานนั่นแหละ ได้บรรลุอรหัตภายใน ๒๐ พรรษา. ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตนั่นเอง เทวดาที่สิงอยู่ที่ปลายทางจงกรมของท่าน ได้ยืนชูนิ้วแทนประทีป๒- ถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมเทพและสหัมบดีพรหม ก็ได้พากันมายังที่ทำนุบำรุง (ท่าน).
____________________________
๒- ปาฐะว่า กตฺวา พม่าเป็น อุชฺชาเลตฺวา แปลตามฉบับพม่า.

               และท่านวนวาสีติสสมหาเถระเห็นแสงสว่างนั้นแล้วในวันที่ ๒ จึงได้ถามท่านมหาปุสสเถระ ชาวอาลินทกะว่า เวลากลางคืนที่สำนักของท่าน ได้มีแสงสว่าง แสงสว่างนั้นเป็นแสงสว่างอะไร? พระเถระเมื่อจะทำการกลบเกลื่อน จึงได้พูดคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมดาแสงสว่าง ก็คงเป็นแสงสว่างของประทีปบ้าง เป็นแสงสว่างของแก้วมณีบ้าง. ต่อมาท่านกำชับท่านวนวาสีติสสเถระไว้ว่า ท่านจงปกปิดไว้ รู้ว่าท่านรับคำแล้ว จึงบอก.
               และเหมือนกับท่านมหานาคเถระ ชาวกาลวัลลิมณฑป.

               เรื่องพระมหานาคเถระ               
               ได้ทราบว่า แม้พระเถระรูปนั้น เมื่อบำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร ได้อธิษฐานจงกรมอย่างเดียวสิ้นเวลา ๗ ปี ว่าเราจักบูชาความเพียรอันยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นปฐมก่อน ได้บำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตรอีก ๑๖ ปี จึงได้บรรลุพระอรหัต ท่านมีจิตประกอบด้วยพระกรรมฐานนั่นเอง ยกเท้าขึ้น ถอยกลับในขณะยก (เท้า) ขึ้นโดยจิตปราศจาก (กรรมฐาน) เดินไปใกล้บ้าน ยืนห่มผ้า ณ ที่ที่ชวนให้คนสงสัยว่า แม่วัวหรือพระกันแน่? ใช้น้ำจากที่ระหว่างต้นไทรล้างบาตรแล้วก็อมน้ำไว้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะท่านคิดว่า ขอเราอย่าได้ทอดทิ้งกรรมฐาน แม้ด้วยเหตุที่พูดกะคนที่มาถวายภิกษาหรือมนสิการว่า ขอจงมีอายุยืนเถิด. แต่ (ถ้า) ถูกถามถึงวันว่า วันนี้เป็นวันอะไรครับ หรือถามจำนวนภิกษุถามปัญหา ก็จะกลืนน้ำแล้วจึงบอก ถึงหากไม่มีผู้ถามถึงวันเป็นต้น เวลาออกไปก็จะบ้วนน้ำออก (จากปาก) ที่ประตูบ้านแล้วจึงไป เหมือนภิกษุ ๕๐ รูปที่จำพรรษาที่กลัมพติตถวิหาร.

               เรื่องพระ ๕๐ รูป               
               ได้ทราบว่า ในวันอาสาฬหปุณณมี (กลางเดือน ๘) ท่านเหล่านั้นได้ทำกติกาวัตรกันไว้ว่า ถ้าพวกเรายังไม่บรรลุอรหัตแล้ว จะไม่พูดคุยกัน. และเมื่อจะเข้าบ้านบิณฑบาต (แต่ละรูป) ก็อมน้ำแล้วจึงเข้าไป เมื่อถูกถามถึงวันเป็นต้น ก็ปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               คนทั้งหลายเห็นรอยบ้วนน้ำ ณ ที่นั้นแล้ว ก็รู้ว่า วันนี้พระมารูปเดียว วันนี้มา ๒ รูป จึงคิดกันอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พูดเฉพาะกับพวกเราหรืออย่างไร? หรือแม้แต่พวกกันเองก็ไม่พูด? ถ้าหากท่านไม่พูดกัน ท่านจักวิวาทกันเป็นแน่ มาเถิด เราทั้งหลายจักให้ท่านขอขมากัน ทุกคนจึงพากันไปวัด ไม่ได้เห็นพระภิกษุในที่แห่งเดียวกันถึง ๒ รูป ในจำนวนพระ ๕๐ รูป.
               ต่อมาบรรดาคนทั้งหลายเหล่านั้น ผู้มีตาดีก็จะพูดว่า พ่อคุณเอ๋ย คนทะเลาะกันจะไม่มีโอกาสเช่นนี้ ลานเจดีย์ ลานโพธิ์ก็กวาดเรียบร้อย ไม้กวาดก็เก็บไว้ดี น้ำฉันน้ำใช้ก็จัดไว้เรียบร้อย. ต่อจากนั้น เขาเหล่านั้นก็พากันกลับ. ในภายในพรรษานั้นเอง พระภิกษุแม้เหล่านั้นก็บรรลุอรหัต ในวันมหาปวารณา จึงปวารณากันด้วยวิสุทธิปวารณา.
               ภิกษุมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานนั้นเอง ยกเท้าขึ้น (เดินไป) ถึงใกล้บ้านแล้วอมน้ำไว้ พิจารณาดูทางหลายสาย ที่ไม่มีผู้คนทะเลาะกัน ไม่มีนักเลงสุราและนักเลงการพนันเป็นต้น หรือไม่มีช้างดุ ม้าดุเป็นต้นแล้วเดินไปทางนั้น เหมือนท่านมหานาคเถระ ชาวกาลวัลลิมณฑป และเหมือนกับภิกษุผู้จำพรรษาในกลัมพติตถวิหารดังที่พรรณนามานี้.
               เธอเมื่อจะไปบิณฑบาตในบ้านนั้น ก็จะไม่เดินเร็ว เหมือนคนรีบร้อน เพราะว่าไม่มีธุดงค์อะไร ที่มีชื่อว่าเป็นธุดงค์สำหรับผู้เดินบิณฑบาตเร็ว. แต่ว่าเดินไม่โคลงกายเหมือนเกวียนบรรทุกน้ำเต็ม (ไป) ถึงพื้นที่ราบเรียบ. และเข้าไปตามลำดับเรือน (ยืน) คอยเวลาพอสมควร เพื่อสังเกตดูว่าเขาประสงค์จะถวาย (ตักบาตร) หรือไม่ประสงค์จะถวาย รับภิกษาแล้ว (อยู่) ในบ้านหรือนอกบ้าน หรือมายังวิหารนั่นเอง นั่งในโอกาสที่สมควรตามสบายแล้ว มนสิการกรรมฐานกำหนดปฏิกูลสัญญาในอาหาร พิจารณาโดยเปรียบเทียบกับน้ำมันหยอดเพลา ผ้าพันแผลและเนื้อบุตร นำอาหารที่ประกอบด้วยองค์ ๘ มา ไม่ใช่ฉันเพื่อจะเล่น ไม่ใช่ฉันเพื่อจะตกแต่ง ไม่ใช่ฉันเพื่อจะประดับประดา และฉันแล้ว จัดเรื่องเกี่ยวกับน้ำ (ดื่ม, ล้าง) เสร็จแล้ว ระงับความลำบากที่เกิดจากอาหาร (เมาข้าวสุก) สักครู่หนึ่งแล้ว จึงมนสิการกรรมฐานนั่นแหละ ในเวลาหลังฉันเหมือนกับเวลาเวลาก่อนฉัน และในเวลาปัจฉิมยามเหมือนกับเวลาปฐมยาม. ภิกษุรูปนี้ เรียกได้ว่าทั้งนำไปและนำกลับ.
               ก็เธอเมื่อบำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร กล่าวคือการนำไปและนำกลับนี้ ถ้าหากมีอุปนิสัยสมบูรณ์ไซร้ ก็จะบรรลุอรหัตในปฐมวัยนั่นเอง ถ้าหากไม่บรรลุในปฐมวัย ต่อไปก็จะบรรลุในมัชฌิมวัย ถ้าหากในมัชฌิมวัยไม่บรรลุไซร้ ต่อไปก็จะบรรลุในปัจฉิมวัย ถ้าหากในปัจฉิมวัยไม่บรรลุ ต่อไปก็จะบรรลุในมรณสมัย ถ้าหากในมรณสมัยไม่บรรลุไซร้ ต่อไปก็จะเป็นเทพบุตรแล้วบรรลุ ถ้าหากเป็นเทพบุตร แล้วก็ยังไม่บรรลุไซร้ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ จะเกิดขึ้นแล้ว ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ ถ้าไม่ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณไซร้ ต่อไปจะเป็นผู้รู้โดยเร็ว (ขิปปาภิญญาบุคคล) ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนพระพาหิยทารุจีริยเถระ จะมีปัญญามากเหมือนพระสารีบุตรเถระ จะมีฤทธิ์มากเหมือนพระโมคคัลลานเถระ จะเป็นผู้บอกธุดงค์เหมือนพระมหากัสสปเถระ จะเป็นผู้มีทิพยจักษุเหมือนพระอนุรุทธเถระ จะเป็นพระวินัยธรเหมือนพระอุบาลีเถระ จะเป็นพระธรรมกถึกเหมือนพระปุณณมันตานีบุตรเถระ จะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นประจำเหมือนพระเรวตเถระ จะเป็นพหูสูตเหมือนพระอานนทเถระ หรือจะเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนพระราหุลเถระพุทธบุตร ดังนี้.
               ภิกษุผู้นำไปและนำกลับใน ๔ วาระนี้ จะมีโคจรสัมปชัญญะ ถึงยอด (วิปัสนา) ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้.

               ๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ               
               ส่วนการไม่หลงลืมในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ
               อสัมโมหสัมปชัญญะนั้น พึงทราบอย่างนี้.
               ภิกษุในพระศาสนานี้ เมื่อก้าวไปข้างหน้าหรือถอยกลับ จะไม่ลืมเหมือนอันธปุถุชน (หลง) ไปว่า อัตตาก้าวไปข้างหน้า อัตตาให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า หรือว่าเราก้าวไปข้างหน้า เราให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เมื่อเกิดความคิด (จิต) ขึ้นว่าเราจะไม่หลงลืมก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อให้เกิดวิญญัติขึ้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง. โครงกระดูกที่สมมติว่ากายนี้จะก้าวไปข้างหน้าตามอำนาจของการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาจิตด้วยประการอย่างนี้
               เมื่อโครงกระดูกนั้นนั่นแหละก้าวไปข้างหน้า ในการยกเท้าแต่ละข้างขึ้น ธาตุ ๒ ชนิด คือปฐวีธาตุและอาโปธาตุจะหย่อนจะอ่อนลง. ธาตุอีก ๒ อย่างนอกจากนี้ (เตโชธาตุ) จะมี่กำลังมากยิ่งขึ้น. ในการย่างเท้าไปและการสืบเท้าไป เตโชธาตุ วาโยธาตุ (ที่เป็นไปแล้ว) ในการเหวี่ยง (เท้า) ออกไปจะหย่อนจะอ่อนลง. ธาตุอีก ๒ อย่างนอกจากนี้ (ปฐวี, อาโป) จะมีกำลังมากยิ่งขึ้น.
               ในการเหยียบและการยัน รูปธรรมและอรูปธรรมที่ใช้ในการยก (เท้า) ขึ้นนั้นก็เป็นเช่นนั้น ไม่ถึงการย่างเท้าไปที่ที่ใช้ในการย่างเท้าไปก็ทำนองเดียวกัน ไม่ถึงการสืบเท้าไปที่ใช้ในการสืบเท้าไปก็ไม่ถึงการเหวี่ยง (เท้า) ออกไป ที่ใช้ในการเหวี่ยง (เท้า) ออกไปก็ไม่ถึงการเหยียบ ที่ใช้ในการเหยียบก็ไม่ถึงการยัน. ข้อทุกข้อ (และ) ที่ต่อทุกแห่งเป็นไปตามระบบในที่นั้นๆ นั่นแหละ จะลั่นเปาะแปะๆ เหมือนเมล็ดงาที่โยนลงในกะทะที่ร้อน.
               ในเรื่องนั้นจะมีใครคนหนึ่งก้าวไป หรือจะมีการก้าวไปของใครคนหนึ่งเล่า.
               ความจริง (ว่า) โดยปรมัตถ์แล้ว คือ การเดินของธาตุเท่านั้น การยืน การนั่ง การนอน ก็ของธาตุ (ไม่ใช่ของใคร).
                         เพราะว่าในส่วนนั้นๆ จิตดวงอื่นเกิด ดวงอื่นดับ
                         พร้อมกับรูป (เป็นคนละดวง ไม่ใช่ดวงเดียวกัน)
                         เหมือนกระแสน้ำที่ไหลติดต่อไป เป็นระลอกฉะนั้น
                         ดังนี้แล.
               ความไม่หลงในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นดังที่พรรณนามานี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ ดังนี้แล. เป็นอันจบอรรถาธิบายว่า เป็นผู้ทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้าและการถอยกลับ.
               ก็การมองไปข้างหน้า ชื่อว่าอาโลกิตะ (การแลตรง) ในคำว่า อาโลกิเต วิโลกิเต นี้ การมองไปตามอนุทิศ (ทิศเฉียง) ชื่อว่าวิโลกิตะ (การแลซ้ายแลขวา). มีอิริยาบถแม้อย่างอื่นอีก ชื่อว่าการก้มลง, การเงยขึ้นและการหันไปมา โดยการมองข้างล่าง มองข้างบน มองข้างๆ อิริยาบถเหล่านี้ ไม่ทรงถือเอาในที่นี้. แต่โดยความเหมาะสม ทรงถือเอา ๒ อย่างนี้เท่านั้น หรือโดยความสำคัญ (มุข) นี้ ทรงถือเอาแม้ทั้งหมดนั้นนั่นแหละ ดังนี้.
               บรรดาสัมปชัญญะเหล่านั้น การคำนึงถึงประโยชน์โดยไม่มองดูด้วยอำนาจจิตเท่านั้น ในเมื่อเกิดความคิดขึ้นว่า เราจะมองดู ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ. สาตถกสัมปชัญญะนั้น ควรทราบโดยยกเอาท่านพระนันทะผู้มีกายเป็นพยาน (มาเป็นตัวอย่าง).
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากพระนันทะจำต้องมองดูทิศตะวันออกไซร้ พระนันทะก็จะประมวลเอาทุกสิ่งทุกอย่างโดยจิตแล้วจึงมองดูทิศตะวันออก ด้วยคิดว่า เมื่อเรามองดูทิศตะวันออกอย่างนี้แล้ว อภิชฌาโทมนัสคืออกุศลกรรมที่ลามก จักไม่ท่วมทับเรา. ด้วยประการดังนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะเป็นผู้มีความรู้ตัวในสาตถกสัมปชัญญะนั้น.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากพระนันทะจะต้องมองดูทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำและทิศเฉียงทั้งหลายไซร้ พระนันทะก็จะประมวลเอาทุกสิ่งทุกอย่างโดยจิต แล้วจึงจะมองดูทิศเฉียงทั้งหลาย ด้วยคิดว่า เมื่อเรามองทิศเฉียงทั้งหลายอยู่อย่างนี้ ฯลฯ จะเป็นผู้มีความรู้ตัวในสาตถกสัมปชัญญะนั้น.
               ก็อีกอย่างหนึ่ง แม้ในสัมปชัญญบรรพนี้ ควรจะทราบสาตถกสัมปชัญญะและสัปปายสัมปชัญญะโดยการเห็นพระเจดีย์ที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นต้นเถิด.
               ส่วนการไม่ละกรรมฐานนั้นแหละ ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญกรรมฐานมีขันธ์ธาตุและอายตนะเป็นอารมณ์ ควรทำการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจกรรมฐานของตนเท่านั้น หรือว่า ผู้เจริญกรรมฐานมีกสิณเป็นต้น (เป็นอารมณ์) ควรทำการแลตรงและการแลซ้ายแลขวา ด้วยอาการมีกรรมฐานเป็นสำคัญเหมือนกัน.
               ธรรมดาอัตตาในภายในชื่อว่าเป็นผู้แลตรงและแลซ้ายแลขวา ไม่มี แต่เมื่อเกิดความคิดขึ้นว่า เราจักแลตรง วาโยธาตุที่เกิดแต่จิต เมื่อจะให้วิญญัติเกิด ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง.
               ด้วยประการดังนี้ เปลือกตา (หนังตา) ข้างล่างก็จะร่นลงเบื้องล่าง เปลือกตา (หนังตา) ข้างบนก็จะเลิกขึ้นข้างบน โดยอำนาจการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิต. ไม่มีใครที่ชื่อว่าเปิด (เปลือกตา) ด้วยเครื่องยนต์กลไก.
               ต่อจากนั้นไป จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นให้สำเร็จทัสสนกิจ (การเห็น) ก็ความรู้ตัว ดังที่พรรณนามานี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ ในอธิการแห่งสัมปชัญญะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องสัมปชัญญะนี้ พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ แม้ด้วยอำนาจเป็นมูลปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นต้น) เป็นอาคันตุกะ (เป็นแขก) และเป็นตาวกาลิก (เป็นไปชั่วคราว).
               ก่อนอื่นควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจมูลปริญญา (ดังต่อไปนี้) :-
                         ภวังค์ (จิตอยู่ในภวังค์) ๑ อาวัชชนะ (การระลึกถึง
                         อารมณ์) ๑ ทัสสนะ (การเห็นอารมณ์) ๑ สัมปฏิจฉนะ
                         (การรับเอาอารมณ์) ๑ สันตีรณะ (การพิจารณาอารมณ์) ๑
                         โวฏฐัพพะ (การตัดสินอารมณ์) ๑ ที่ ๗ คือ ชวนะ ๑.

               หน้าที่ของจิตแต่ละขณะ               
               บรรดาจิตทั้ง ๗ นั้น ภวังค์ให้กิจคือเป็นเหตุแห่งอุปปัตติภพสำเร็จเป็นไป. กิริยามโนธาตุ ครั้นยังภวังค์นั้นให้หมุนกลับ แล้วจะให้อาวัชชนกิจสำเร็จอยู่ เพราะอาวัชชนกิจนั้นดับไป จักขุวิญญาณจะให้ทัสสนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะทัสสนกิจนั้นดับไป วิปากมโนธาตุจะให้สัมปฏิจฉนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะสัมปฏิจฉนกิจนั้นดับไป มโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบาก จะให้สันตีรณกิจสำเร็จเป็นไป เพราะสันตีรณกิจนั้นดับไป มโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยาจะให้โวฏฐัพพนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะโวฏฐัพพนกิจนั้นดับไป ชวนะจะแล่นไป ๗ ครั้ง.
               บรรดาชวนะทั้ง ๗ นั้น ถึงในชวนะแรก การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจความกำหนัด ความขัดเคืองและความหลงว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย จะไม่มี. ในชวนะที่ ๒ ก็ดี ฯลฯ ในชวนะที่ ๗ ก็ดี (ก็จะไม่มี). แต่เมื่อวิถีจิตเหล่านี้แตกดับเป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจจิตดวงแรกจนถึงจิตดวงสุดท้าย เหมือนทหารในสนามรบ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจความกำหนัดเป็นต้นว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย ก็จะมี.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยอำนาจเป็นมูลปริญญา ในอิริยาบถบรรพนี้ ดังที่พรรณนามานี้ก่อน.
               ก็เมื่อรูปปรากฏในจักษุทวารแล้ว ต่อจากภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) ไป เมื่อวิถีจิตมีอาวัชนะเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วดับไปด้วยอำนาจทำกิจของตนให้สำเร็จ ในที่สุด ชวนะก็จะเกิดขึ้น ชวนะนั้นจะเป็นเหมือนชายที่เป็นแขกของวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นที่เกิดขึ้นก่อน (มาเยี่ยมถึง) ประตูคือตา (จักขุทวาร) ที่เท่ากับเป็นเรือน แม้เมื่อวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลงในจักขุทวาร ที่เท่ากับเป็นเรือนของอาวัชชนะเป็นต้น ชวนะนั้นจะกำหนัด จะขัดเคือง จะลุ่มหลง ก็ไม่ถูก เหมือนกับชายที่เป็นแขก เข้าไปขออะไรบางอย่างที่เรือนคนอื่น เมื่อเจ้าของบ้านนั่งนิ่ง จะทำการบังคับ ก็ไม่ถูกฉะนั้น
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยเป็นเสมือนแขก ดังที่พรรณนามานี้.
               อนึ่ง จิตมีโวฏฐัพพนะเป็นที่สุด ที่เกิดขึ้นในจักขุทวารเหล่านี้จะแตกดับไปในที่นั้นๆ นั่นแหละพร้อมกับสัมปยุตตธรรม จะไม่ประจวบกันเลย เพราะฉะนั้น จิตนอกนี้จึงเป็นไปชั่วคราวเท่านั้น.
               ในข้อนั้น ผู้ศึกษาควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยความเป็นไปชั่วคราวอย่างนี้ว่า ในเรือนหลังเดียวกัน เมื่อคนตายกันหมดแล้ว คนคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งธรรมดาก็จะตายไปอีกในไม่ช้าเหมือนกัน ชื่อว่าจะยังมีความร่าเริงในการฟ้อนและการร้องรำเป็นต้น ไม่ถูก ฉันใด เมื่ออาวัชชนจิตเป็นต้นที่สัมปยุตแล้วในทวารเดียวกัน แตกดับไปในที่นั้นๆ นั่นเอง. แม้ชวนจิตที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งก็จะมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา ภายในไม่ช้าเหมือนกัน ชื่อว่าจะยังมีความร่าเริงอยู่ด้วยอำนาจความกำหนัด ความขัดเคือง และความลุ่มหลง ไม่ถูกแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เออก็ อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะนี้ โดยการพิจารณาขันธ์ อายตนะ ธาตุและปัจจัย (ดังต่อไปนี้) :-
               อธิบายว่า ในคำว่าขันธ์เป็นต้นนี้ ทั้งจักษุทั้งรูป ชื่อว่ารูปขันธ์. การเห็น ชื่อว่าวิญญาณขันธ์. การเสวยอารมณ์ที่สัมปยุตด้วยวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าเวทนาขันธ์. ความจำได้หมายรู้ ชื่อว่าสัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้น ชื่อว่าสังขารขันธ์.
               ในเพราะขันธ์เหล่านี้มาประจวบกันเข้าการแลตรง และการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ. เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏอยู่ด้วยอำนาจเบญจขันธ์นั้น (แล้วจะมี) ใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวาเล่า.
               อีกประการหนึ่ง จักษุชื่อว่าจักขวายตนะ รูปชื่อว่ารูปายตนะ การเห็นชื่อว่ามนายตนะ สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่าธรรมายตนะ ในเพราะอายตนะ ๔ เหล่านั้นมาประจวบกันอย่างนี้นั่นแหละ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ. เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจอายตนะ ๔ อยู่นั้นแล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวาเล่า.
               อีกประการหนึ่ง จักษุชื่อว่าจักขุธาตุ รูปชื่อว่ารูปธาตุ การเห็นชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ เวทนาเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยจักษุวิญญาณธาตุนั้นชื่อว่าธรรมธาตุ ในเพราะธาตุ ๔ เหล่านี้มาประจวบกันอย่างนี้ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจธาตุ ๔ อยู่นั้น แล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวา.
               อีกประการหนึ่ง จักษุเป็นนิสสยปัจจัย รูปเป็นอารัมมณปัจจัย อาวัชชนะเป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย อาโลกะ (แสงสว่าง) เป็นอุปนิสสยปัจจัย เวทนาเป็นต้นเป็นสหชาตปัจจัย.
               ในเพราะปัจจัยเหล่านั้นประจวบกันอย่างนั้น การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจปัจจัยอยู่นั้น แล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวาเล่า.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ แม้โดยการพิจารณาขันธ์ อายตนะ ธาตุและปัจจัย ในการแลตรงและแลซ้ายแลขวานี้ ดังที่พรรณนามานี้แล.
               บทว่า สมฺมิญฺชิเต ปสาริเต ได้แก่ ในการคู้เข้าและเหยียดข้อพับ (ศอก, เข่า) ออกไป.
               บรรดาสัมปชัญญะทั้ง ๔ นั้น การไม่ทำการคู้เข้าและการเหยียดออกไปด้วยอำนาจจิต (ความคิด) อย่างเดียว แต่พิเคราะห์ดูผลได้ผลเสีย เพราะมีการคู้เข้าและเหยียดมือหรือเท้าออกไปเป็นปัจจัยแล้ว เลือกเอาแต่ประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะในการคู้เข้าและเหยียดออกไปนั้น
               พึงทราบการพิเคราะห์ถึงผลเสียอย่างนี้ว่า เมื่อเธอคู้มือหรือเท้าเข้ามาวางไว้นานๆ หรือเหยียดมือหรือเท้าออกไปวางไว้นานๆ เวทนาจะเกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง. จิตก็จะไม่ได้อารมณ์เลิศอันเดียว (ไม่เป็นสมาธิ) กรรมฐานก็จะล้มเหลว เธอจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ. แต่เมื่อคู้เข้าพอเหมาะ เหยียดออกไปพอดี เวทนาจะไม่เกิดขึ้น (เลย) จิตจะเป็นเอกัคตา กรรมฐานก็จะถึงความเจริญ เธอจะได้บรรลุคุณวิเศษ.
               ส่วนการที่เมื่อปัจจัยแม้มีอยู่ พระโยคาวจรยังพิเคราะห์สถานที่ๆ เป็นสัปปายะและไม่เป็นสัปปายะ แล้วเลือกเอาสถานที่ๆ เป็นสัปปายะ ชื่อว่าสัปปายสัมปชัญญะ.
               ในสัปปายสัมปชัญญะ มีนัยดังต่อไปนี้ :-
               ทราบมาว่า ภิกษุหนุ่มๆ พากันสวดมนต์ที่ลานพระเจดีย์ใหญ่ เบื้องหลังของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุณีสาวๆ กำลังฟังธรรมกัน. ในจำนวนภิกษุเหล่านั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเหยียดมือออกไปถูกกายภิกษุณี แล้วได้กลายเป็นคฤหัสถ์ไปเพราะเหตุนั้นนั่นเอง. ภิกษุอีกรูปหนึ่งเมื่อเหยียดเท้าออกไป ได้เหยียดไปที่ไฟ ไฟไหม้เท้าถึงกระดูก. อีกรูปหนึ่ง เหยียดไปที่จอมปลวก ท่านถูกงูพิษกัด. อีกรูปหนึ่งเหยียดไปที่ด้ามกลด งูเห่าปี่แก้วกัดท่าน. เพราะฉะนั้น (เมื่อจะเหยียดเท้า) ก็อย่าเหยียดไปในที่ที่ไม่เป็นสัปปายะเช่นนี้ ควรเหยียดไปในที่ที่เป็นสัปปายะ.
               นี้เป็นสัปปายสัมปชัญญะ ในอิริยาปถบรรพนี้.
               ส่วนโคจรสัมปชัญญะ ควรแสดงด้วยเรื่องพระมหาเถระ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สติปัฏฐานสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 110อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 12 / 153อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1754&Z=2150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=6135
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=6135
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :