ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 100อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 12 / 131อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               กถาพรรณนาสัจจวาระ               
               [๑๑๔] บัดนี้ ภิกษุเหล่านั้น ครั้นพากันชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระเถระนั้น โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในตอนก่อนว่า สาธาวุโส แล้วได้ถามปัญหาสูงขึ้นไปอีก และพระเถระก็ได้แก้ปัญหา โดยทำนองแม้อย่างอื่น แก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ในทุกวาระแม้นอกจากวาระนี้ ก็มีนัยนี้.
               [๑๑๕] เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจักขยายความของบรรยายที่พระเถระได้กล่าวแก้ไว้แล้ว ไม่พาดพิงถึงคำแบบนี้. แต่ด้วยการแสดงโดยย่อซึ่งวาระนี้ พระเถระได้แสดงทุกขสัจว่า ทุกข์ ในคำว่า ทุกฺขญฺจ ปชานาติ. ส่วนในการแสดงโดยพิสดาร คำที่จะต้องกล่าวทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วในสัจจนิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล.
               จบกถาพรรณนาสัจจวาระ               

               กถาพรรณนาชรามรณวาระ               
               [๑๑๗] ต่อจากนี้ไป เป็นเทศนาว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท.
               ในจำนวนวาระเหล่านั้น ก่อนอื่นพึงทราบวินิจฉัยในชรามรณวาระว่า
               บทว่า เตสํ เตสํ นี้ เป็นการแสดงทั่วไปถึงสัตว์จำนวนมากมายไว้โดยสังเขป. เพราะว่า เมื่อพูดอยู่ตลอดทั้งวันอย่างนี้ว่า ความแก่ของพระเทวทัตอันใด ความแก่ของท่านโสมทัตอันใด ... ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายจะไม่ถึงการครอบคลุมไว้ (จะไม่ครอบคลุมไปถึงสัตว์ทั้งหมด).
               แต่ด้วยบททั้ง ๒ นี้ (เตสํ เตสํ) สัตว์ตัวไหนจะไม่ถูกครอบคลุมเป็นไม่มี (คลุมไปหมดทุกตัวสัตว์). เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า บทนี้เป็นการแสดงทั่วไปถึงสัตว์จำนวนมากไว้โดยสังเขป.
               บททั้ง ๒ ว่า ตมฺหิ ตมฺหิ นี้ เป็นการแสดงทั่วไปถึงหมู่สัตว์จำนวนมากมายด้วยสามารถแห่งการเกิดในคติ.
               บทว่า สตฺตนิกาเย เป็นการแสดงสรุปถึงสัตว์ที่ได้แสดงไว้แล้วโดยสาธารณนิเทศ.
               ก็บทว่า ชรา ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ชรา ชีรณตา เป็นการแสดงถึงสภาวธรรม.
               บทว่า ชีรณตา เป็นการแสดงถึงอาการ.
               บททั้งหลายมี ขณฺฑิจฺจํ เป็นต้น เป็นการแสดงถึงหน้าที่ (ของชรา) ในเพราะผ่านกาลเวลาไป.
               สองบทหลังเป็นการแสดงถึง (หน้าที่) ตามปกติ. เพราะว่าชรานี้ ท่านพระสารีบุตรแสดงไว้โดยสภาวะด้วยบทว่า ชรา เพราะฉะนั้น บทนี้จึงเป็นบทแสดงถึงสภาวะของชรานั้น.
               ด้วยบทว่า ชีรณตา นี้ พระเถระได้แสดงไว้โดยอาการ. เพราะฉะนั้น บทนี้จึงเป็นบทแสดงถึงอาการของชรานั้น.
               ด้วยบทว่า ขณฺฑิจฺจํ นี้ พระเถระได้แสดงโดยกิจคือการกระทำภาวะแห่งฟันและเล็บที่หักเป็นชิ้นๆ ในเพราะล่วงกาลเวลาไป.
               ด้วยบทว่า ปาลิจฺจํ นี้ พระเถระได้แสดงโดยกิจคือการทำภาวะที่ผมและขนหงอก. ด้วยบทว่า วลิตตจตา นี้ พระเถระได้แสดงแม้โดยกิจ คือการกระทำให้เนื้อเหี่ยวหนังย่น. ด้วยเหตุนั้น ศัพท์ทั้ง ๓ มี ขณฺฑิจฺจํ เป็นต้นเหล่านี้ จึงเป็นศัพท์แสดงถึงกิจของชรานั้น ในเพราะล่วงกาลเวลาไป ด้วยศัพท์ทั้ง ๓ เหล่านั้น พระเถระได้แสดงถึงชราที่ปรากฏคือเป็นสิ่งที่ปรากฏ ด้วยสามารถเห็นความพิการเหล่านี้ได้.
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่า ทางเดินของน้ำปรากฏ (ให้เห็นได้) เพราะพัดหญ้าและต้นไม้เป็นต้นให้ล้มราบ หรือทางเดินของไฟปรากฏ (ให้เห็นได้) เพราะหญ้าและต้นไม้เป็นต้นไหม้. และทางเดิน (ของน้ำเป็นต้น) นั้น ก็ไม่ใช่น้ำเป็นต้นเหล่านั้นเลย (เป็นคนละอย่าง) ฉันใด. ทางเดินของชรา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นธรรมชาติปรากฏ (ให้เห็น) ในอวัยวะทั้งหลายมีฟันเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งความพิการทั้งหลายมีความหักเป็นต้น คนแม้ลืมตาดูแล้ว ก็จับต้องได้. และทางเดินของชรานั้น ด้วยความสามารถแห่งความพิการทั้งหลาย มีความหักเป็นต้น ก็ไม่ใช่ชรา. เพราะชราจะเป็นธรรมชาติรู้ได้ด้วยจักษุหามิได้เลย. (ต้องรู้ได้ด้วยปัญญา).
               แต่ด้วยบทเหล่านี้ว่า อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก พระเถระได้แสดงชราตามปกติ เพราะความสิ้นไปแห่งอายุเป็นสิ่งที่รู้ได้จากความหง่อมของอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ในเพราะการก้าวล่วงกาลเวลาเท่านั้น เหตุที่ท่านเป็นผู้ฉลาดยิ่ง.
               เพราะฉะนั้น ๒ อาการหลังนี้พึงทราบว่า เป็นการแสดง (อาการ) ตามปกติของชรานั้น.
               บรรดาอายุและอินทรีย์ทั้ง ๒ อย่างนั้น เพราะเหตุที่อายุของผู้ถึงความแก่ ย่อมเสื่อมไป (มากขึ้น) ฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวชราไว้โดยใกล้ต่อผล (ใกล้ต่อความตาย) ว่า ได้แก่ความเสื่อมแห่งอายุ อายุมาก.
               แต่เพราะเหตุที่เวลายังหนุ่ม อินทรีย์ทั้งหลายมีตาเป็นต้นยังสดใสสามารถรับเอาอารมณ์ (มีรูปเป็นต้น) ของตน แม้ที่ละเอียดได้ โดยง่ายดาย เมื่อเข้าถึงชราแล้วจะหง่อม ขุ่นมัว ไม่สดใส อารมณ์ของตนถึงจะหยาบก็ไม่สามารถจะรับได้ ฉะนั้น ชรา พระเถระจึงกล่าวไว้โดยความใกล้ต่อผลว่า ความหง่อมของอินทรีย์ทั้งหลายบ้าง.

               ชรา ๒ อย่าง               
               อนึ่ง ชรานี้นั้น คือชราทั้งหมดที่แสดงมาแล้วอย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือ ปากฏชรา (ความแก่ที่ปรากฏ) ๑. ปฏิจฉันนชรา (ความแก่ที่ปกปิด) ๑.
               ในจำนวนชราทั้ง ๒ อย่างนั้น ความแก่ในรูปธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ปากฏชรา เพราะแสดงความวิการมีความหักเป็นต้น ในอวัยวะทั้งหลายมีฟันเป็นต้นให้เห็น ส่วนในอรูปธรรมชื่อว่า ปฏิจฉันนชรา เพราะไม่แสดงความวิการเช่นนั้นให้เห็น.
               มีชรา ๒ อย่างอีก อย่างนี้คือ อวีจิชรา (แก่ไม่มีร่องรอยให้เห็น) ๑ สวีจิชรา (แก่มีร่องรอยให้เห็น) ๑.
               ในจำนวนชรา ๒ อย่างนั้น ชราของแก้วมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่า อวีจิชรา อธิบายว่า ชื่อว่าชราไม่มีระหว่างขั้น (ไม่มีขั้นตอนให้เห็น) เพราะความแตกต่างของสีเป็นต้นในระหว่างๆ รู้ได้ยาก เหมือนความแตกต่างแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ ของสัตว์มีปราณ ในวัยมันททสกะ (วัย ๑๐ ปีที่เยาว์) เป็นต้น และเหมือนความแตกต่างแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ ของสิ่งที่ไม่มีลมปราณในดอกไม้ผลไม้และใบไม้เป็นต้น. แต่ชราในสิ่งอื่นนอกจากนั้น ตามที่กล่าวมาแล้ว ชื่อว่า สวีจิชรา เพราะความแตกต่างแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ เป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ง่าย.
               ต่อแต่นี้ไป บทว่า เตสํ เตสํ เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               ก็บทว่า จุติ ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า จุติ จวนตา เป็นต้น พระเถระกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งสัตว์ผู้เคลื่อนไป.
               คำว่า จุติ นี้ เป็นคำทั่วไปสำหรับขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕.
               คำว่า จวนตา เป็นคำแสดงถึงลักษณะ (ของขันธ์) โดยการเคลื่อนจากภาวะ.
               คำว่า เภโท เป็นคำแสดงถึงการแตกดับและการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายที่จุติ.
               คำว่า อนฺตรธานํ เป็นคำแสดงถึงภาวะของการเคลื่อนที่จากฐาน โดยปริยายใดปริยายหนึ่ง แห่งจุติขันธ์ทั้งหลายที่แตกไป เหมือนกระออมที่แตกแล้วฉะนั้น. ความตายกล่าวคือมฤตยู ชื่อว่ามัจจุมรณะ.
               ด้วยศัพท์ว่า มจฺจุมรณํ นั้น พระเถระปฏิเสธสมุจเฉทมรณะเป็นต้น. (การตายโดยการตัดขาดซึ่งชาติเป็นต้น). มัจจุราชผู้ทำซึ่งที่สุด (จุดจบ) ชื่อว่ากาละ. การทำกาละนั้น ชื่อว่า กาลกิริยา (การถึงแก่กรรม) ด้วยคำว่า กาลกิริยา นี้ พระเถระแสดงถึงความตายตามสมมติของชาวโลก.
               ต่อไปนี้ เพื่อจะแสดงถึงความตายโดยปรมัตถ์ พระเถระจึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ขนฺธานํ เภโท ไว้.
               อันที่จริง โดยปรมัตถ์ ขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นแตกดับ ไม่ใช่สัตว์อะไรๆ เลยตาย เมื่อขันธ์ทั้งหลายกำลังแตกดับอยู่ สัตว์ก็ชื่อว่ากำลังตาย เมื่อแตกดับแล้ว ก็มีโวหารว่า ตายแล้ว.
               ในชรามรณวาระนี้ การแตกดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย มีได้โดยจตุโวการภพ (นามขันธ์ ๔) การทอดทิ้งซากศพมีได้โดยเอกโวการภพ (รูปขันธ์ ๑) หรือการแตกดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย พึงทราบโดยจตุโวการภพ (ส่วน) การทอดทิ้งซากศพ พึงทราบด้วยสามารถแห่งภพทั้ง ๒ ที่เหลือ (เอกโวการภพและปัญจโวการภพ).
               เพราะเหตุไร?
               เพราะซากศพกล่าวคือรูปกายเกิดขึ้นเฉพาะใน ๒ ภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ขันธ์ทั้งหลายในเทวโลกและพรหมโลกมีชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้นแตกดับไปอย่างเดียว ไม่ทิ้งอะไรไว้ฉะนั้น การแตกดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย พึงทราบด้วยสามารถแห่งขันธ์ทั้งหลายในเทวโลกและพรหมโลกมีชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้นเหล่านั้น. (ส่วน) การทอดทิ้งซากศพไว้มีอยู่ในสัตว์ทั้งหลายมีมนุษย์เป็นต้น. ความตายโดยเหตุที่ทอดทิ้งซากศพไว้ พระเถระกล่าวว่า การทอดทิ้งซากศพ.
               พึงทราบอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า ทั้งชราทั้งมรณะนี้พึงทราบดังที่พรรณนามานี้.
               ข้อว่า อิทํ วุจฺจตาวุโส ความว่า ชราและมรณะทั้ง ๒ อย่างนี้ พระเถระกล่าวรวมกันว่า ชรามรณะ.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ ฉะนี้แล.
               จบกถาพรรณนาชรามรณวาระ               
               ------------------------------------               

               กถาพรรณนาชาติวาระ               
               [๑๑๘] พึงทราบวินิจฉัยในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ชาติ สญฺชาติ ในชาติวาระ (ดังต่อไปนี้) :-
               ชื่อว่า ชาติ เพราะอรรถว่า (เริ่ม) เกิด. ชาตินั้นประกอบแล้วด้วยสามารถแห่งอายตนะยังไม่บริบูรณ์.
               ชื่อว่า สญฺชาติ เพราะอรรถว่าเกิดครบแล้ว. สัญชาตินั้นประกอบแล้วด้วยสามารถแห่งอายตนะบริบูรณ์แล้ว.
               ชื่อว่า โอกฺกนฺติ เพราะอรรถว่าก้าวลง (สู่ครรภ์). โอกกันตินั้นประกอบด้วยอัณฑชกำเนิด (เกิดในฟอง) และชลาพุชกำเนิด (เกิดเป็นตัว). อธิบายว่า สัตว์เหล่านั้นก้าวลง คือถือปฏิสนธิ เหมือนก้าวย่างเข้าไปสู่กะเปาะไข่และรังมดลูก.
               ชื่อว่า อภินิพฺพตฺติ เพราะอรรถว่าผุดเกิด. อภินิพพัตตินั้นประกอบด้วยสังเสทชกำเนิด (เกิดในเถ้าไคล) และโอปปาติกกำเนิด (ผุดเกิด).
               อธิบายว่า สัตว์เหล่านั้นเกิดปรากฏขึ้นทีเดียว.
               นี้เป็นเทศนาตามโวหารก่อน.
               ต่อไปนี้จึงเป็นเทศนาโดยปรมัตถ์. อธิบายว่า โดยปรมัตถ์ ขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นแหละปรากฏขึ้น ไม่ใช่สัตว์ปรากฏ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขนฺธานํ พึงทราบว่า หมายเอาขันธ์ ๑ ในเอกโวการภพ ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพ และขันธ์ ๕ บ้างในปัญจโวการภพ.
               การอุบัติ ชื่อว่า ปาตุภาโว. พึงทราบการสงเคราะห์ด้วยอายตนะที่กำลังเกิดขึ้นในภพนั้นๆ เข้าในคำว่า อายตนานํ นี้.
               การปรากฏขึ้นในสันตตินั่นเอง ชื่อว่า ปฏิลาโภ อธิบายว่า อายตนะเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่นั่นแหละ ย่อมชื่อว่าเป็นอันสัตว์ทั้งหลายกลับได้แล้ว.
               ด้วยบทนี้ว่า อยํ วุจฺจตาวุโส ชาติ พระเถระกล่าวย้ำชาติที่ได้แสดงมาแล้ว ทั้งโดยโวหาร ทั้งโดยปรมัตถ์ ดังนี้แล.
               ก็ผู้ศึกษาพึงทราบกรรมภพที่เป็นปัจจัยแห่งชาติ ในคำว่า ภวสมุทยา นี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               จบกถาพรรณนาชาติวาระ               

               กถาพรรณนาภววาระ               
               [๑๑๙] พึงทราบวินิจฉัยในภววาระดังต่อไปนี้ :-
               กรรมภพและอุปปัตติภพ ชื่อว่า กามภพ.
               บรรดาภพทั้ง ๒ อย่างนั้น กรรมที่เป็นเหตุให้เข้าถึงกามภพนั่นเอง ชื่อว่า กรรมภพ.
               อธิบายว่า กรรมนั้นเองท่านกล่าวว่า ภพ โดยการกล่าวถึงผล เหมือนคำทั้งหลายมีอาทิว่า การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข การสะสมบาปเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ดังนี้ เพราะกรรมภพนั้นเป็นเหตุแห่งอุปปัตติภพ.
               ขันธปัญจกที่ตัณหาและทิฏฐิยึดครองแล้วเกิดขึ้นแล้วด้วยกรรมนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ. เพราะว่าขันธปัญจกนั้น ท่านกล่าวว่า ภพ เพราะตั้งวิเคราะห์ว่าเป็นที่เกิด (แห่งปฏิสนธิจิต).
               เมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ กรรมภพนี้ ๑ อุปปัตติภพ ๑ ท่านกล่าวว่า เป็นกามภพแม้โดยประการทั้งปวง.
               ในรูปภพและอรูปภพก็ทำนองนี้.
               แต่อุปาทานในคำนี้ว่า อุปาทานสมุทยา นี้ เป็นปัจจัยของกรรมภพที่เป็นกุศล โดยอุปนิสสยปัจจัยนั้นเอง. อุปาทานเป็นปัจจัยของกรรมภพที่เป็นอกุศล โดยอุปนิสสยปัจจัยบ้าง โดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นบ้าง แต่เป็นปัจจัยของอุปปัตติภพของกรรมภพทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งหมดโดยอุปนิสสยปัจจัยบ้าง.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละดังนี้.
               จบกถาพรรณนาภววาระ               

               กถาพรรณนาอุปาทานวาระ               
               [๑๒๐] พึงทราบวินิจฉัยในคำทั้งหลายมีอาทิว่า กามุปาทานํ ในอุปาทานวาระ.
               กิเลสชาต ชื่อว่ากามุปาทาน เพราะวิเคราะห์ว่าเป็นเหตุยึดมั่นวัตถุกาม หรือเพราะยึดวัตถุกามนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง กามนั้นด้วยเป็นอุปาทานด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากามุปาทาน.
               การยึดมั่นท่านเรียกว่า อุปาทาน. เพราะว่า อุปศัพท์ในคำว่า อุปาทานํ นี้ มีเนื้อความว่ามั่น เหมือนอุปศัพท์ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า อุปายาสและอุปกัฏฐะ.
               คำว่า กามุปาทาน นี้เป็นชื่อของราคะที่เป็นไปในกามคุณ. นี้เป็นข้อความสังเขปในกามุปาทานนี้.
               แต่โดยพิสดาร กามุปาทานนี้ พึงทราบโดยนัยที่ได้ตรัสไว้แล้วว่า บรรดาอุปาทานเหล่านั้น กามุปาทานเป็นไฉน? ได้แก่ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย.
               ทิฏฐุปาทานก็อย่างนั้น คือทิฏฐินั้นด้วย เป็นอุปทานด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าทิฏฐุปาทาน.
               อีกอย่างหนึ่ง กิเลสชาต ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะยึดมั่นทิฏฐิ. หรือชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะวิเคราะห์ว่าเป็นเหตุให้ยึดมั่นทิฏฐิ.
               อธิบายว่า กิเลสชาตใดย่อมยึดมั่นทิฏฐิเดิม ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ทั้งอัตตา (อาตมัน) ทั้งโลก เป็นของเที่ยง เพราะฉะนั้น กิเลสชาตินั้น จึงชื่อว่าอย่างนั้น (ทิฏฐุปาทาน).
               อย่างที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ทั้งอัตตา (อาตมัน) ทั้งโลก เป็นของเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้น เป็นสัตยะ (ของจริง) สิ่งอื่นเป็นโมฆะ (ไร้ประโยชน์).
               คำว่า ทิฏฐุปาทาน นี้เป็นชื่อของทิฏฐิทั้งหมดเว้นไว้แต่สีลัพพัตตุปาทานและอัตตวาทุปาทาน. นี้เป็นข้อความสังเขปในทิฏฐุปาทานนี้. แต่โดยพิสดารทิฏฐุปาทานนี้ พึงทราบโดยนัยที่ได้ตรัสไว้แล้วนั่นแหละว่า บรรดาอุปาทานเหล่านั้น ทิฏฐุปาทานเป็นอย่างไร? (ทิฏฐุปาทานคือ) ทานที่บุคคลให้แล้ว ไม่มีผล.
               บรรดาอุปาทานเหล่านั้น ชื่อว่าสีลัพพัตตุปาทาน เพราะเป็นเหตุยึดมั่นศีลและพรตบ้าง เพราะศีลและพรตนั้นยึดมั่นเองบ้าง เพราะศีลและพรตนั้นด้วยเป็นอุปทานด้วยบ้าง.
               อธิบายว่า การยึดมั่นด้วยตนเองนั่นแหละโดยความเชื่อมั่นว่า ศีลและพรตทั้งหลายมีศีลของโคและวัตรของโคเป็นต้น เป็นของบริสุทธิ์ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอย่างนั้น (สีลัพพัตตุปาทาน). นี้เป็นข้อความสังเขปในสีลัพพัตตุปาทานนี้.
               แต่โดยพิสดารสีลัพพัตตุปาทานนี้ พึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้แล้วว่า
               บรรดาอุปาทานเหล่านั้น สีลัพพัตตุปาทานเป็นไฉน? คือ ความบริสุทธิ์ด้วยศีลของสมณพราหมณ์ทั้งหลายภายนอกศาสนานี้.
               ชื่อว่าวาทะ เพราะเป็นเหตุกล่าวในบัดนี้. ชื่อว่าอุปาทาน เพราะเป็นเหตุยึดมั่น.
               ถามว่า กล่าวหรือยึดมั่นอะไร?
               แก้ว่า กล่าวหรือยึดมั่นอัตตา (อาตมัน).
               การยึดมั่นวาทะของตน ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน เพราะเป็นเหตุยึดมั่น เพียงแต่วาทะของตนเท่านั้นว่าเป็นอัตตา (อาตมัน). คำว่า อัตตวาทุปาทาน นี้เป็นชื่อของสักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐. นี้เป็นข้อความสังเขปในอัตตวาทุปาทานนี้.
               ส่วนโดยพิสดารอัตตวาทุปาทานนี้ พึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้แล้วว่า
               บรรดาอุปาทานเหล่านั้น อัตตวาทุปาทานเป็นไฉน? อัตตวาทุปาทาน คือ ปุถุชนในพระศาสนานี้ ไม่ได้สดับแล้ว ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายดังนี้.
               ตัณหาในคำว่า ตณฺหาสมุทยา นี้เป็นปัจจัยของกามุปาทานโดยอุปนิสสยปัจจัย หรือโดยอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย นัตถิปัจจัยและอาเสวนปัจจัย แต่เป็นปัจจัยของอุปาทานที่เหลือ คือแม้โดยเป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้นบ้าง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแหละ ดังนี้.
               จบ กถาพรรณนาอุปาทานวาระ               
               -----------------------------------               

               กถาพรรณนาตัณหาวาระ               
               ตัณหา ๑๐๘               
               [๑๒๑] พึงทราบวินิจฉัยในตัณหาวาระ (ต่อไป) :-
               ตัณหาที่เป็นไปแล้วโดยชวนวิถี มีชื่อตามอารมณ์ที่คล้ายกับบิดา (ผู้ให้เกิด) ว่า รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา เหมือนกับ (คน) มีชื่อตามบิดาในคำทั้งหลาย มีอาทิว่า เศรษฐีบุตร พราหมณบุตร เป็นต้น.
               ก็ในตัณหาวาระนี้ ตัณหามี ๓ ประการอย่างนี้ คือตัณหาที่มีรูปเป็นอารมณ์คือตัณหาในรูป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ารูปตัณหา รูปตัณหานั้นเมื่อยินดี เป็นไปโดยความเป็นกามราคะ ชื่อว่ากามตัณหา.
               เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปเที่ยง คือยั่งยืนได้แก่ติดต่อกันไป โดยความเป็นราคะที่เกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่าภวตัณหา.
               เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ คือหายไป ได้แก่ละโลกนี้ไปแล้ว จักไม่มี โดยความเป็นราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าวิภวตัณหา.
               และสัททตัณหาเป็นต้น ก็เหมือนกับรูปตัณหา ฉะนั้น จึงรวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๘ ประการ. ตัณหาวิปริตเหล่านั้น แจกออกเป็น ๑๘ ในอายตนะทั้งหลายมีรูปภายในเป็นต้น (และ) แจกออกเป็น ๑๘ ในอายตนะทั้งหลายมีรูปภายนอกเป็นต้น จึงรวมเป็น ๓๖ ประการ. แจกเป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ ด้วยประการอย่างนี้ จึงเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ประการ.
               อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาวิปริต ๑๘ ประการอาศัยรูปที่เป็นไปภายในเป็นต้น มีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะอาศัยรูปเป็นภายใน มีตัณหาว่าเรามีเพราะรูปนี้ (และ) ว่าเมื่อเรามี เราก็เป็นที่ปรารถนา ฉะนั้น จึงรวมเป็นตัณหา ๓๖ แบ่งเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ โดยประการอย่างนี้ รวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ดังที่พรรณนามานี้แล.
               เมื่อทำการสงเคราะห์เข้ากันอีก ตัณหาก็มี ๖ หมวดเท่านั้นในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น ด้วยอรรถที่ท่านแสดงไว้อย่างนี้ว่า ตัณหามี ๓ อย่างเท่านั้นมีกามตัณหาเป็นต้น นักปราชญ์พึงทราบตัณหาโดยการสงเคราะห์ข้อความที่พิสดารเข้าด้วยกันอีก จากข้อความพิสดารที่แสดงไว้แล้ว ดังนี้.
               ก็เวทนาที่เป็นวิบากพระเถระประสงค์เอาแล้วว่า เวทนา ในคำว่า เวทนาสมุทยา นี้.
               ถ้าจะมีคำถามว่า เวทนานั้นเป็นปัจจัยแห่งตัณหาในทวาร ๖ อย่างไร?
               ตอบว่า เป็นปัจจัย เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่น่ายินดี.
               อธิบายว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายยึดมั่นเวทนาว่าเป็นของเราอยู่. ด้วยความชอบใจสุขเวทนา เขาจะเป็นผู้ยังความทะยานอยากเวทนาให้เกิดขึ้นแล้ว ยินดีแล้วด้วยความกำหนัดยินดีเวทนา ปรารถนารูปที่ได้เห็นแล้วนั่นแหละ และครั้นได้รูปนั้นแล้ว ก็ชอบใจทั้งทำสักการะแก่ช่างเขียนเป็นต้นผู้ให้อารมณ์.
               ในโสตทวารเป็นต้นก็เหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายย่อมปรารถนาเสียงเป็นต้นซึ่งเป็นที่น่าปรารถนาทีเดียว และครั้นได้แล้วก็ชอบใจเสียงเป็นต้นเหล่านั้น ทั้งทำการสักการะนักดีดพิณ ช่างปรุงน้ำหอม ช่างทอและผู้แสดงศิลปนานาชนิดเป็นต้น.
               เหมือนอะไร?
               เหมือนแม่ผู้รักลูก ทำสักการะแม่นมคือให้เขาดื่มและบริโภคเนยใส และนมที่อร่อยเป็นต้น เพราะความเสน่หาในลูก.
               ถ้อยคำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               จบกถาพรรณนาตัณหาวาระ               

               กถาพรรณนาเวทนาวาระ               
               [๑๒๒] พึงทราบวินิจฉัยในเวทนาวาระ (ต่อไป) :-
               หมวดเวทนาชื่อว่า เวทนากายะ.
               คำว่า จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา ฯลฯ มโนสมฺผสฺสชา เวทนา นี้เป็นชื่อของเวทนาทั้งที่เป็นกุศลทั้งที่เป็นอกุศล และอัพยากฤตที่เป็นไปแล้วในจักษุทวารเป็นต้น ตามวัตถุ (ที่ตั้ง) ที่คล้ายแม่ เหมือนกับชื่อ (ของลูก) ตามแม่ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า สารีบุตร (ลูกนางสารี) มันตานีบุตร (ลูกนางมันตานี) เพราะมาแล้วในคัมภีร์วิภังค์อย่างนี้ว่า
               เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นอัพยากฤตก็มี ในคำมีอาทิว่า จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา นี้มีอรรถพจน์ว่า เวทนาที่เกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นเหตุ ชื่อว่าจักขุสัมผัสสชาเวทนา.
               ในทุกทวารมีโสตะเป็นต้น ก็ทำนองนี้.
               นี้เป็นกถาที่ว่าด้วยการสงเคราะห์เข้ากันทุกอย่าง ในเวทนาวาระนี้ก่อน.
               แต่ว่า เวทนาพึงทราบโดยเวทนาที่สัมปยุตด้วยธรรมเหล่านี้ คือในจักขุทวารโดยวิบาก มีจักขุวิญญาณ ๒ ดวง มโนธาตุ ๒ ดวง มโนวิญญาณธาตุ ๓ ดวง.
               ในโสตทวารเป็นต้นก็ทำนองนี้.
               ส่วนมโนทวารพึงเข้าใจว่า เป็นเวทนาสัมปยุตด้วยมโนวิญญาณธาตุ.
               ก็ในคำว่า ผสฺสสมุทยา นี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า
               ในทวารทั้ง ๕ เวทนาอาศัยวัตถุทั้ง ๕ มีการเกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสที่เกิดขึ้นร่วมกันเป็นต้นเกิดขึ้น. จักขุสัมผัสเป็นต้นจึงเป็นปัจจัยของเวทนาที่เหลือทั้งหลายโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเป็นต้น เวทนาในตทาลัมพณขณะในมโนทวาร และเวทนาในปฏิสนธิขณะ ภวังคขณะและจุติขณะที่เป็นไปในทวารทั้ง ๖ มีการเกิดขึ้น เพราะการเกิดขึ้นแห่งมโนสัมผัสที่เกิดขึ้นร่วมกัน.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               จบกถาพรรณนาเวทนาวาระ               

               กถาพรรณนาผัสสวาระ               
               [๑๒๓] พึงทราบวินิจฉัยในผัสสวาระ (ต่อไป) :-
               สัมผัสในเพราะจักษุชื่อว่า จักขุสัมผัส. ในทุกทวารก็ทำนองนี้.
               และด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ฯลฯ กายสมฺผสฺโส เป็นอันพระเถระได้กล่าวถึงสัมผัสทั้ง ๑๐ มีวัตถุ ๕ ทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก.
               ด้วยคำว่า มโนสมฺผสฺโส นี้ เป็นอันพระเถระได้กล่าวถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยโลกิยวิบากที่เหลือ ๒๒ อย่าง.
               บทว่า สฬายตนสมุทยา ความว่า เพราะอายตนะ ๖ อย่างมีจักษุเป็นต้นเกิดขึ้น ผัสสะแม้ทั้ง ๖ อย่างนี้ก็มีการเกิดขึ้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               จบกถาพรรณนาผัสสวาระ               

               กถาพรรณนาสฬายตนวาระ               
               [๑๒๔] พึงทราบวินิจฉัยในสฬายตนวาระ (ต่อไป) ว่า
               อายตนะทั้งหมดที่ควรจะกล่าวในคำทั้งหลายมีอาทิว่า จกฺขายตนํ มีนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในขันธกนิเทศและอายตนนิเทศในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นเอง.
               แต่ว่า ในคำว่า นามรูปสมุทยา นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบการเกิดขึ้นแห่งสฬายตนะ เพราะนามรูปเกิด โดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในนิเทศแห่งปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ด้วยสามารถแห่งอายตนะที่มีรูป (อย่างเดียว) และนาม (อย่างเดียว) และทั้งนามทั้งรูปเป็นปัจจัย.
               คำที่เหลือมีประการดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.
               จบกถาพรรณนาสฬายตนวาระ               

               กถาพรรณนานามรูปวาระ               
               [๑๒๕] พึงทราบวินิจฉัยในนามรูปวาระ (ต่อไป) :-
               นามมีการน้อมไปเป็นลักษณะ. รูปมีการสลายไปเป็นลักษณะ. แต่ว่าในวาระแห่งวิตถารนัยของนามรูปนั้น พึงทราบว่า เวทนาได้แก่เวทนาขันธ์. สัญญาได้แก่สัญญาขันธ์. เจตนา ผัสสะ มนสิการ ได้แก่สังขารขันธ์. ถึงจะมีธรรมะแม้อย่างอื่นที่สงเคราะห์เข้าด้วยสังขารขันธ์ ก็จริงอยู่ แต่ธรรม ๓ อย่างนี้มีอยู่ในจิตที่มีพลังต่ำทุกดวง เพราะฉะนั้น ในนามรูปวาระนี้ พระเถระก็ได้แสดงสังขารขันธ์ไว้ด้วยอำนาจแห่งธรรม ๓ อย่างเหล่านี้นั่นเอง.
               คำว่า จตฺตาริ ในคำว่า จตฺตาริ มหาภูตานิ นี้เป็นการกำหนดการนับ (เป็นจำนวนนับ).
               คำว่า มหาภูตานิ นี้ เป็นชื่อของดิน น้ำ ไฟ ลม แต่เหตุที่เรียกสิ่งทั้ง ๔ นั้นว่ามหาภูตและนัยแห่งการวินิจฉัยอย่างอื่นในนามรูปนี้ทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วในนิเทศแห่งรูปขันธ์ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ส่วนคำว่า จตุนฺนํ ในคำว่า จตุนฺนญฺจ มหาภูตานํ อุปาทาย เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ มีอธิบายว่า อาศัยซึ่งมหาภูตทั้ง ๔.
               บทว่า อุปาทาย ความว่า เข้าไปยึดไว้ คือจับไว้. อาจารย์บางพวกว่า นิสฺสาย (อาศัย) ก็มี.
               ก็ศัพท์ว่า วตฺตมานํ นี้เป็นปาฐะเหลือ (เกิน).
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วตฺตมานํ นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถว่า ชุมนุม เพราะเหตุนั้น พึงทราบอรรถาธิบายนี้ว่า รูปที่อาศัยการชุมนุมมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นไปอยู่.
               เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้ในที่ทุกแห่ง มหาภูตรูป ๔ มีปฐวีเป็นต้นและรูป ๒๓ อย่างที่อาศัยมหาภูต ๔ อย่างเป็นไป ที่ตรัสไว้ในพระบาลีนั่นเองในคัมภีร์อภิธรรม โดยแยกประเภทเป็นจักขายตนะเป็นต้น แม้ทั้งหมดพึงทราบว่า ชื่อว่ารูป.
               ก็ในคำว่า วิญฺญาณสมุทยา นี้ วิญญาณใดเป็นปัจจัยของนาม (อย่างเดียว) ด้วยของรูป (อย่างเดียว) ด้วย ทั้งของนามของรูปด้วย เพราะฉะนั้น ด้วยสามารถแห่งนาม แห่งรูป และทั้งนามทั้งรูปที่มีวิญญาณเป็นปัจจัยนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบการเกิดขึ้นแห่งนามรูปเพราะวิญญาณเกิดขึ้น ตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในนิเทศแห่งปฏิจจสมุปบาท ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเทอญ.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละดังนี้แล.
               จบกถาพรรณนานามรูปวาระ               

               กถาพรรณนาวิญญาณวาระ               
               [๑๒๖] พึงทราบวินิจฉัยในวิญญาณวาระ (ต่อไป) :-
               วิญญาณในเพราะจักษุ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง วิญญาณที่เกิดขึ้นแล้วจากจักษุ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าจักษุวิญญาณ.
               โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ก็อย่างนี้เหมือนกัน. แต่วิญญาณนี้ ได้แก่มโนนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามโนวิญญาณ.
               คำว่า มโนวิญญาณ นี้ เป็นชื่อของวิบากจิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ เว้นทวิปัญจวิญญาณ.
               แต่ในคำว่า สงฺขารสมุทยา นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบการเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ เพราะสังขารเกิด ตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นเอง โดยวิญญาณที่มีสังขารเป็นปัจจัย.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ดังนี้แล.
               จบกถาพรรณนาวิญญาณวาระ               

               กถาพรรณนาสังขารวาระ               
               [๑๒๗] พึงทราบวินิจฉัยในสังขารวาระ (ต่อไป) :-
               สังขารมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ. แต่ว่า ในวาระแห่งวิตถารนัยของสังขารนั้น สังขารที่เป็นไปแล้วทางกาย ชื่อว่ากายสังขาร.
               คำว่า กายสังขาร นี้เป็นชื่อของสัญเจตนา ๒๐ ดวง คือ ๘ ดวงจากกามาวจรกุศล และ ๑๒ ดวงจาก (กามาวจร) อกุศลที่เป็นไปแล้วโดยการไหวในกายทวาร.
               คำว่า วจีสังขาร นี้เป็นชื่อของวจีสัญเจตนา ๒๐ ดวงเหมือนกันที่เป็นไปแล้วโดยการเปล่งถ้อยคำในวจีทวาร.
               สังขารที่เป็นไปแล้วทางจิต ชื่อว่าจิตตสังขาร.
               คำว่า จิตตสังขาร นี้เป็นชื่อของมโนสัญเจตนา ๑๙ ดวง โดยโลกิยกุศลและโลกิยอกุศลที่เป็นไปแล้ว (เกิดขึ้น) แก่ผู้นั่งคิดอยู่ในที่ลับโดยไม่ได้ทำการไหวกายและวาจา.
               ก็ในคำว่า อวิชฺชาสมุทยา นี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า อวิชชาของสังขารที่เป็นกุศลโดยอุปนิสสยปัจจัยบ้าง ของสังขารที่เป็นอกุศลโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นบ้าง.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ดังนี้แล.
               จบกถาพรรณนาสังขารวาระ               

               กถาพรรณนาอวิชชาวาระ               
               [๑๒๘] พึงทราบวินิจฉัยในอวิชชาวาระ (ต่อไป) :-
               ความไม่รู้ในทุกขสัจ ชื่อว่าความไม่รู้ในทุกข์. คำว่า ทุกฺเข อญฺญาณํ นี้ เป็นชื่อของโมหะ. ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า สมุทเย อญฺญาณํ ก็มีนัยนี้.
               ในจำนวนสัจจะทั้ง ๔ นั้น การไม่รู้ในทุกข์ พึงทราบได้โดยเหตุ ๔ ประการ คือ โดยการหยั่งลงภายใน ๑ โดยฐาน (ที่ตั้ง) ๑ โดยอารมณ์ ๑ โดยการปกปิดไว้ ๑.
               จริงอย่างนั้น การไม่รู้ทุกข์นั้น ชื่อว่าหยั่งลงภายในทุกข์ เพราะนับเนื่องในทุกขสัจ. ทุกขสัจชื่อว่าเป็นฐาน (ที่ตั้ง) เพราะเป็นนิสสยปัจจัยของการไม่รู้ทุกข์นั้น. ชื่อว่าเป็นอารมณ์ เพราะความเป็นอารัมณปัจจัย (ของการไม่รู้ทุกข์นั้น) และทุกขสัจ ย่อมปกปิดการไม่รู้ทุกข์นั้นไว้.
               ในอธิการแห่งอวิชชาวาระ ความไม่รู้ในสมุทัยพึงรู้ได้โดยเหตุ ๓ ประการ คือ โดยฐาน ๑ โดยอารมณ์ ๑ โดยการปิดบังไว้ ๑ เพราะสมุทัยนั้นห้ามกันการแทงตลอดลักษณะตามความจริง และเพราะไม่มอบให้ซึ่งความเป็นไปแห่งญาณ.
               ความไม่รู้ในนิโรธและปฏิปทา พึงทราบได้โดยเหตุเดียวเท่านั้น คือโดยการปิดบังไว้. ก็ความไม่รู้ที่ปิดบังไว้. ก็ความไม่รู้ที่ปิดบังนิโรธและปฏิปทาไว้นั่นเอง พึงทราบได้เพราะห้ามไว้ซึ่งการแทงตลอดลักษณะตามความจริงแห่งนิโรธสัจและปฏิปทาเหล่านั้น และเพราะการไม่มอบให้ซึ่งความไม่เป็นไปแห่งญาณในสัจจะทั้ง ๒ นั้น. แต่ความไม่รู้สัจจะทั้ง ๒ นั้นไม่เป็นการหยั่งลงสู่ภายในในสัจจะทั้ง ๒ นั้น เพราะไม่นับเนื่องในสัจจะทั้ง ๒ นั้น สัจจะทั้ง ๒ นั้นก็ไม่เป็นที่ตั้งของความไม่รู้สัจจะทั้ง ๒ นั้น เพราะไม่เป็นธรรมเกิดร่วมกัน (และ) ไม่เป็นอารมณ์ เพราะไม่ปรารภสัจจะทั้ง ๒ เป็นไป.
               อธิบายว่า สัจจะ ๒ ข้อหลังเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง แต่ในเรื่องนี้ ความไม่รู้ไม่ใช่มืดบอด จึงเป็นไป. ส่วนสัจจะ ๒ ข้อต้นลึกซึ้ง เพราะลักษณะของสภาวะเห็นได้ยาก โดยความหมายว่า เป็นข้าศึกกันจึงเป็นไปด้วยการถึงวิปลาสในสัจจะทั้ง ๒ นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า ทุกฺเข พระเถระได้แสดงอวิชชาไว้ โดยการสงเคราะห์เข้าด้วยกันทั้งโดยฐาน (ที่ตั้ง) โดยอารมณ์และโดยกิจ.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า ทุกฺขสมุทเย ท่านแสดงไว้โดยฐาน (ที่ตั้ง) โดยอารมณ์และโดยกิจ.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า ทุกฺขนิโรเธ ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ท่านแสดงไว้โดยกิจ. แต่โดยไม่แตกต่างกันแล้ว อวิชชาพึงทราบว่า ท่านแสดงไว้โดยสภาวะด้วยคำว่า อญฺญาณํ นี้
               ก็กามาสวะ ภวาสวะ ในคำว่า อาสวสมุทยา นี้ เป็นปัจจัยแห่งอวิชชาด้วยสามารถแห่งสหชาตปัจจัยเป็นต้น. อวิชชาสวะพึงทราบว่า ก็อวิชชาที่เกิดขึ้นก่อนโดยอุปนิสสยปัจจัยนั่นเอง ชื่อว่าอวิชชาสวะ ในคำว่า อาสวสมุทยา นี้. อวิชชาสวะนั้นจะเป็นอุปนิสสยปัจจัยของอวิชชาที่เกิดขึ้นในกาลต่อมา.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละดังนี้แล.
               จบกถาพรรณนาอวิชชาวาระ               

               กถาพรรณนาอาสววาระ               
               [๑๓๐] พึงทราบวินิจฉัยในอาสววาระ (ต่อไป) :-
               อวิชชาในคำว่า อวิชฺชาสมุทยา นี้ เป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นของกามาสวะและภวาสวะ และเป็นปัจจัยแห่งอวิชชาสวะโดยอุปนิสสยปัจจัยนั่นแหละ แต่ในคำว่า อวิชฺชาสมุทยา นี้ อวิชชาที่เกิดขึ้นในกาลต่อๆ มา พึงทราบว่าเป็นอวิชชาสวะ.
               อวิชชานั่นเองที่เกิดขึ้นในกาลก่อน จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยของอวิชชาสวะที่เกิดขึ้นในกาลต่อมา.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ ดังนี้แล.
               วาระนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วโดยการแสดงปัจจัยของอวิชชานี้ที่เป็นประธานในบทปฏิจสมุปบาททั้งหลาย. ด้วยวาระที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เป็นอันสำเร็จความที่สงสารมีที่สุดเบื้องต้น (เงื่อนต้น) อันใครตามไปไม่รู้แล้ว.
               ถามว่า ไม่รู้อย่างไร?
               แก้ว่า (ไม่รู้อย่างนี้คือ) เพราะว่า การเกิดขึ้นแห่งอวิชชามีเพราะการเกิดขึ้นแห่งอาสวะ การเกิดขึ้นแห่งอาสวะก็มี แม้เพราะการเกิดขึ้นแห่งอวิชชา อาสวะเป็นปัจจัยของอวิชชา ถึงอวิชชาก็เป็นปัจจัยของอาสวะ เพราะอธิบายดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ที่สุดเบื้องต้น (เงื่อนต้น)๑-
               จึงไม่ปรากฏ ภาวะที่สงสารมีเงื่อนต้นที่ใครตามไปไม่รู้แล้ว เป็นอันสำเร็จแล้ว เพราะเงื่อนต้นของอวิชชานั้นไม่ปรากฏ.
____________________________
๑- ปาฐะ ปุพฺพา โกฏิ แยกกัน แต่ฉบับพม่าติดกันเป็น ปุพฺพโกฏิ จึงแปลตามที่ไม่แยก. ถ้าแยกก็ต้องแปลว่า เบื้องต้น เบื้องปลาย...

               วาระเหล่านี้ทั้งหมดคือ กัมมปถวาระ ๑ อาหารวาระ ๑ ทุกขวาระ ๑ ชรามรณวาระ ๑ ชาติวาระ ๑ ภววาระ ๑ อุปาทานวาระ ๑ ตัณหาวาระ ๑ เวทนาวาระ ๑ ผัสสวาระ ๑ สฬายตนวาระ ๑ นามรูปวาระ ๑ วิญญาณวาระ ๑ สังขารวาระ ๑ อวิชชาวาระ ๑ อาสววาระ ๑ รวม ๑๖ วาระ พระเถระได้กล่าวไว้แล้วในพระสูตรนี้ดังที่พรรณนามานี้.
               เพราะในจำนวนวาระทั้ง ๑๖ วาระนั้น แต่ละวาระท่านวางไว้ ๒ อย่างโดยอย่างย่อและอย่างพิสดารจึงเป็น ๓๒ สถาน. ด้วยเหตุดังนี้ ในพระสูตรนี้จึงเป็นอันพระเถระได้กล่าวสัจจะไว้ ๔ อย่างใน ๓๒ สถานเหล่านี้.
               พระเถระได้กล่าวอรหัตไว้ในที่ ๑๖ สถานที่กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในบรรดาอย่างย่อและอย่างพิสดารนั้นนั่นเอง. แต่ตามมติของพระเถระท่านได้กล่าวถึงสัจจะทั้ง ๔ และมรรคทั้ง ๔ ไว้ใน ๓๒ สถานเท่านั้น เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้แล ในพระพุทธพจน์ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมไว้ในนิกายใหญ่ทั้ง ๕ นิกายหมดทั้งสิ้น จึงไม่มีสูตรที่ประกาศสัจจะ ๔ อย่างไว้ถึง ๓๒ ครั้ง และประกาศอรหัตไว้ถึง ๓๒ ครั้ง นอกจากสัมมาทิฏฐิสูตรนี้แล.
               คำว่า อิทมโวจายสฺมา สาริปุตฺโต มีเนื้อความว่า ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวสัมมาทิฏฐิสูตรนี้ แพรวพราวไปด้วยเหตุ ๖๔ อย่าง คือ ด้วยการบรรยายอริยสัจ ๔ ไว้ ๓๒ อย่าง และบรรยายพระอรหัตไว้ ๓๒ อย่าง.
               ภิกษุเหล่านั้นพอใจ ได้พากันชมเชยภาษิตของท่านพระสารีบุตรดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสัมมาทิฏฐิสูตร               
               จบพระสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 100อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 12 / 131อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1518&Z=1753
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=5349
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=5349
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :