ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 100อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 12 / 131อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               แก้วิรัติ ๓               
               วิรัตินั้นแยกประเภทออกเป็น ๓ อย่าง คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑. ในจำนวนวิรัติทั้ง ๓ นั้น วิรัติที่เกิดขึ้นแก่ผู้ไม่ได้สมาทานสิกขาบททั้งหลาย (มาก่อน) แต่ได้พิจารณาถึงชาติ วัยและการคงแก่เรียนเป็นต้นของตนแล้ว เห็นว่า ไม่เหมาะแก่เรา การทำอย่างนี้ แล้วไม่ล่วงเกินสิ่งที่เผชิญเข้า พึงทราบว่าเป็นสัมปัตตวิรัติ. เหมือนวิรัติของจักกนอุบาสกในสีหลทวีป.

               นิทานประกอบสัมปัตตวิรัติ               
               ได้ทราบว่า ในเวลาเขายังหนุ่มอยู่นั้นแหละ มารดาของเขาเกิดโรคและหมอบอกว่า ควรจะได้เนื้อกระต่ายสดๆ (มาประกอบยา). ลำดับนั้น พี่ชายของจักกนะสั่งว่า ไปเถอะเจ้าจงไปนา แล้วส่งจักกนะไป. เขาก็ได้ไปที่นานั้น. และเวลานั้นมีกระต่ายตัวหนึ่งมาเล็มหญ้าอ่อนอยู่. มันเห็นเขาแล้วรีบวิ่งหนีไป แต่ไปข้องเถาวัลย์ จึงส่งเสียงร้อง แกร่ก แกร่ก (กริ กริ) ขึ้น. จักกนะตามเสียงนั้นไป จับกระต่ายไว้ได้ ตั้งใจว่าจะเอามาทำยาให้แม่ แต่ก็ฉุดคิดขึ้นมาว่าไม่เป็นการสมควรสำหรับเขาที่จะทำลายชีวิตสัตว์อื่นแลกชีวิตแม่ของเรา. จึงพูดว่า ไปเถิดเจ้าไปกินหญ้ากินน้ำร่วมกับกระต่ายทั้งหลายในป่าเถิดแล้วปล่อยมันไป และเมื่อกลับถึงบ้าน เขาถูกพี่ชายถามว่า เป็นอย่างไรน้อง ได้กระต่ายไหม? จึงได้บอกความเป็นไปนั้นให้ทราบ. บัดนั้น พี่ชายก็ได้บริภาษเขา. เขาเข้าไปหาแม่แล้ว ได้ยืนตั้งสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมาจำความได้ไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย. ทันใดนั้น แม่ของเขาได้หายจากโรค.
               แต่วิรัติที่เกิดขึ้นแก่ผู้สมาทานสิกขาบทมาแล้ว ถึงจะสละชีพของตน ในเวลาสมาทานสิกขาบทและเวลาถัดจากนั้นไป ก็ไม่ล่วงเกินวัตถุ พึงทราบว่าเป็นสมาทานวิรัติ เหมือนวิรัติของอุบาสกชาวเขาอุตรวัฑฒมานะ.

               นิทานประกอบสมาทานวิรัติ               
               ได้ทราบว่า อุบาสกนั้นรับสิกขาบทในสำนักของท่านปิงคลพุทธรักขิตเถระชาวอัมพริยวิหารแล้วไปไถนา. ต่อมา โคของเขาหายไป. เขาเมื่อตามหามัน ได้ขึ้นภูเขาอุตรวัฑฒมานะ.
               งูใหญ่ได้รัดเขาอยู่บนภูเขานั้น. เขาคิดว่า จะเอามีดที่คมนี้ตัดหัวมัน แต่ก็ยังคิดอีกว่า การที่สมาทานสิกขาบทในสำนักของครูผู้น่านับถือแล้ว ทำลายเสียไม่สมควรเลย. ครั้นคิดอย่างนี้ถึง ๓ ครั้งแล้วก็ตัดสินใจว่า เราจะสละชีวิต ไม่ยอมสละสิกขาบท (ศีล) แล้ว ได้ขว้างมีดโต้เล่มที่แบกมาอยู่บนบ่าเข้าป่าไป. ทันใดนั้น งูใหญ่ก็ได้คลายตัวออกแล้วเลื้อยไป.

               แก้สมุจเฉทวิรัติและกุศลกรรมบถ               
               ส่วนวิรัติที่สัมปยุตด้วยอริยมรรคพึงทราบว่า เป็นสมุจเฉทวิรัติ ซึ่งจำเดิมแต่เกิดแล้ว พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่เคยแม้แต่จะเกิดความคิดว่า เราจักฆ่าสัตว์มีชีวิต ดังนี้. แต่วิรัตินี้นั้น ท่านเรียกว่ากุศล เพราะเป็นไปแล้วด้วยความฉลาด.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่ากุศล เพราะตัดซึ่งความทุศีล ที่ได้โวหารว่า กุศะ เพราะเป็นที่หมักหมมความชั่วร้ายบ้างแต่ไม่ได้ เรียกว่ากุศล เพราะไม่เหมาะสมกับปัญหานี้ว่า กุศลเป็นอย่างไร? (ปาฐะว่า กุจฺฉิตสฺส สลนโต วา กุสลนฺติ.. ฉบับพม่าเป็น กุจฺฉิตสยนโต วา กุสนฺติ.. จึงได้แปลตามฉบับพม่า เพราะเห็นว่าได้ความดีกว่า).

               วินิจฉัยโดยอาการ ๕ อย่าง               
               อนึ่ง กุศลกรรมบถแม้เหล่านี้ ก็ควรทราบวินิจฉัยโดยอาการ ๕ อย่าง
               คือ โดยธรรม (ธมฺมโต) ๑ โดยโกฏฐาส (โกฏฺฐาสโต) ๑ โดยอารมณ์ (อารมฺโต) ๑ โดยเวทนา (เวทนาโต) ๑ โดยเค้ามูล (มูลโต) ๑ เหมือนกับอกุศลกรรมบถทั้งหลาย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมโต ความว่า ในจำนวนกุศลกรรมบถแม้เหล่านี้ กรรมบถ ๗ ประการตามลำดับเป็นตัวเจตนา ก็ถูกแต่วิรัติทั้ง ๓ ตอนสุดท้าย (มโนกรรม ๓) เป็นธรรมสัมปยุตด้วยเจตนา.
               บทว่า โกฏฺฐาสโต ความว่า กุศลธรรม ๗ ประการตามลำดับเป็นกรรมบถอย่างเดียวไม่เป็นรากเหง้า (กุศล). (แต่) กุศลธรรม ๓ ประการตอนท้ายเป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งรากเหง้า (กุศล).
               อธิบายว่า อนภิชฌาถึงกรรมบถแล้ว จึงชื่อว่าเป็นอโลภะกุศลมูล. แต่อัพยาบาท ชื่อว่าเป็นอโทสะกุศลมูล. ส่วนสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่าเป็นอโมหะกุศลมูล.
               บทว่า อารมฺมณโต ความว่า อารมณ์ทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้นนั่นแหละเป็นอารมณ์ของเวรมณี (เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น) เหล่านั้น เพราะว่า เวรมณีจะมีได้ก็โดยได้เผชิญกับวัตถุที่จะต้องก้าวล่วงเท่านั้น อุปมาเสมือนหนึ่งว่า อริยมรรค (ต้อง) มีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงจะละกิเลสได้ฉันใด กรรมบถเหล่านี้ก็พึงทราบว่า เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน (ต้อง) มีชีวิตินทรีย์เป็นต้นเป็นอารมณ์ จึงจะละทุศีลมีปาณาติบาตเป็นต้นได้.
               บทว่า เวทนาโต ความว่า กุศลกรรมบถทั้งหมดเป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นอุเบกขาเวทนาบ้าง เพราะว่าถึงกุศลแล้ว จะไม่มีทุกขเวทนา (กรรมบถฝ่ายกุศลไม่มีให้ผลเป็นทุกข์).
               บทว่า มูลโต ความว่า กรรมบถ ๗ จะมีมูล ๓ ตามอำนาจของอโลภะ อโทสะและอโมหะ สำหรับผู้งดเว้นด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ แต่มีมูล ๒ สำหรับผู้งดเว้นด้วยจิตที่ปราศจากญาณ. อนภิชฌามีมูล ๒ สำหรับผู้งดเว้นด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ มีมูลเดียวสำหรับผู้งดเว้นด้วยจิตที่ปราศจากญาณ แต่อโลภะ ตัวมันเองจะเป็นรากเหง้าของตนไม่ได้. แม้ในอัพยาบาทก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               สัมมาทิฏฐิมีมูล ๒ เหมือนกันตามอำนาจของอโลภะและอโทสะ ดังนี้.
               กุศลธรรมชื่อว่า อโลภะ ในคำว่า อโลโภ กุสลมูลํ เป็นต้น เพราะไม่โลภ.
               คำว่า อโลโภ นี้ เป็นชื่อของธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับโลภะ. ถึงในอโทสะและอโมหะ ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               ในจำนวนกุศลมูลทั้ง ๓ อย่างนั้น อโลภะชื่อว่าเป็นกุศลมูล เพราะตัวเองก็เป็นกุศล และชื่อว่าเป็นมูลของกุศลธรรมทั้งหลาย มีการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ด้วย เพราะอรรถว่าเป็นสภาพแห่งสัมปยุตธรรมของกุศลลางเหล่า และเพราะอรรถว่าเป็นอุปนิสสยปัจจัยของกุศลธรรมบางเหล่า. ในความที่อโทสะและอโมหะเป็นกุศลมูล ก็นัยเดียวกันนี้แหละ.

               อริยสัจในกรรมบถ               
               บัดนี้ ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะย้ำเนื้อความนั้นทั้งหมด ที่ท่านได้แสดงไว้แล้วทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร จึงได้กล่าวอัปปนาวาระไว้มีอาทิว่า ยโต โข อาวุโส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ อกุสลํ ปชานาติ ความว่า รู้ชัดอกุศลด้วยสามารถแห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ ตามที่ได้แสดงไว้แล้วอย่างนี้. ถึงในบทมีอาทิว่า เอวํ อกุสลมูลํ ก็นัยเดียวกันนี้แหละ.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คือด้วยนัยอย่างเดียวกัน เป็นอันท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงกรรมฐานเป็นเหตุนำสัตว์ออกไป (จากภพ) จนถึงพระอรหัต สำหรับผู้บำเพ็ญกรรมฐาน มีจตุราริยสัจเป็นอารมณ์.
               กล่าวไว้อย่างไร?
               กล่าวไว้ว่า ความจริง อกุศลกรรมบถ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ เว้นอภิชฌา (ท่านกล่าวว่า) เป็นทุกขสัจในกรรมบถวาระนี้.
               ส่วนธรรมทั้ง ๒ อย่างเหล่านี้ คือ อภิชฌา ๑ โลภะที่เป็นอกุศลมูล ๑ (ท่านกล่าวว่า) เป็นสมุทัยสัจโดยตรง. แต่กรรมบถทั้งหมด (ท่านกล่าวว่า) เป็นทุกขสัจโดยอ้อม. กุศลมูลและอกุศลมูลทั้งหมด (ท่านกล่าวว่า) เป็นสมุทัยสัจ. ความไม่เป็นไปแห่งกุศลมูลและอกุศลมูลทั้ง ๒ (ท่านกล่าวว่า) เป็นนิโรธสัจ. เมื่อกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อละสมุทัย เมื่อรู้แจ้งนิโรธ อริยมรรค (ท่านกล่าวว่า) เป็นมรรคสัจ. สัจจะทั้ง ๒ ท่านได้กล่าวไว้แล้วโดยสรุปดังที่พรรณนามานี้.
               ส่วนสัจจะ ๒ อย่าง (นิโรธ มรรค) พึงทราบด้วยสามารถแห่งการไม่หมุนกลับ.
               บทว่า โส สพฺพโส ราคานุสยํ ปหาย (เธอละราคานุสัยได้โดยประการทั้งปวง) ความว่า เธอรู้ชัดอกุศลเป็นต้นอยู่อย่างนี้ จะละราคานุสัยได้โดยอาการทุกอย่าง.
               บทว่า ปฏิฆานุสยํ ปฏิวิโนเทตฺวา (บรรเทาปฏิฆานุสัย) มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า นำปฏิฆานุสัยออกได้โดยประการทั้งปวงทีเดียว ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระเถระได้กล่าวถึงอนาคามิมรรค.
               บทว่า อสฺมีติ ทิฏฺฐิมานานุสยํ สมูหนิตฺวา (ถอนทิฏฐิมานานุสัยว่า เรามี ออกไป) ความว่า เพิกถอนทิฏฐิมานานุสัยที่เป็นไปโดยอาการถือรวมกันนี้ว่า เรามี โดยกระทำธรรมะบางประการในขันธ์ ๕ ไม่ให้ตกต่ำ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐิมานานุสยํ ท่านอธิบายไว้ว่า ได้แก่มานานุสัยที่เช่นกับทิฏฐิ. เพราะว่ามานานุสัยนี้เป็นเช่นเดียวกับทิฏฐิ เพราะมีลักษณะเป็นไปแล้วว่า เรามี เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้อย่างนี้.
               อนึ่ง ผู้ประสงค์จะเข้าใจอัสมิมานะนี้โดยพิสดาร ควรตรวจดูเขมกสูตร ในขันธวรรคเทอญ.
               บทว่า อวิชฺชํ ปหาย ความว่า ละอวิชชาที่เป็นรากเหง้าของวัฏฏะ.
               บทว่า วิชฺชํ อุปฺปาเทตฺวา ความว่า ให้วิชชาคืออรหัตตมรรคซึ่งห้ำหั่นอวิชชานั้นเกิดขึ้น. ด้วยคำเพียงเท่านี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงอรหัตตมรรค.
               ข้อว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ทุกฺขสฺสนฺตกโร โหติ (เป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันนี้ทีเดียว) ความว่า เป็นผู้กระทำการตัดขาดวัฏฏทุกข์ในอัตภาพนี้ทีเดียว.
               ท่านพระสารีบุตรยังเทศนาให้จบลงด้วยคำว่า เอตฺตาวตาปิ โข อาวุโส อธิบายว่า แม้ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดด้วยมนสิการดังที่กล่าวแล้วในการแสดงกรรมบถนี้. คำที่ยังเหลือมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
               ท่านพระสารีบุตรเถระได้จบเทศนาลงด้วยอนาคามิมรรค และอรหัตตมรรคดังที่ได้พรรณนามานี้แล.
               จบกถาว่าด้วยกรรมบถ               

               พระภิกษุชื่นชมภาษิตของพระสารีบุตร               
               [๑๑๒] ในคำว่า สาธาวุโส โข ฯลฯ อาคโต อิมํ สทฺธมฺมํ มีคำอธิบายไว้ว่า ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังเทศนาว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ ของท่านพระสารีบุตร โดยมุขคือกุศลและอกุศลอย่างนี้แล้ว จึงพากันชมเชยภาษิตของท่านพระสารีบุตร ด้วยถ้อยคำนี้ว่า ดีแล้วครับใต้เท้า และอนุโมทนาด้วยจิตที่เป็นสมุฏฐานของถ้อยคำนี้นั้นเอง รับเอาด้วยวาจา เอิบอิ่มด้วยใจทีเดียว.
               บัดนี้ เพราะเหตุที่พระเถระเป็นผู้สามารถที่จะแสดงธรรมเทศนาว่า ด้วยจตุราริสัจได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรสามารถจะบอกจะแสดงอริยสัจ ๔ ได้โดยพิสดาร. หรือเพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรต้องการจะแสดงธรรมให้สูงยิ่งขึ้นไปอยู่แล้ว จึงได้กล่าวว่า เอตฺตาวตาปิ โข อาวุโส (เพียงเท่านี้เท่านั้นแลคุณ) เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายนั้นผู้ประสงค์จะฟังสัจจเทศนาโดยนัยแม้อย่างอื่น จึงได้ถามปัญหาสูงขึ้นไปกะท่านพระสารีบุตร. ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ถามปัญหาอื่นที่สูงขึ้นไป โดยนัยนี้ว่า ใต้เท้าขอรับ ยังมีอยู่อีกหรือ บรรยายแม้อย่างอื่นคือเหตุแม้อย่างอื่นที่เหนือกว่าปัญหาที่ใต้เท้าได้ถามเองตอบเองมาแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง มีคำอธิบายไว้ว่า ภิกษุเหล่านั้นได้พากันถามปัญหาในส่วนที่เหนือปัญหาก่อนขึ้นไป. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ภิกษุทั้งหลายได้ถามปัญหาข้อแรกให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง.
               ถัดนั้น พระเถระเมื่อจะพยากรณ์ปัญหาให้ภิกษุเหล่านั้นฟัง จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า สิยา อาวุโส (ยังมีอยู่คุณ) ดังนี้.

               กถาพรรณนาอาหารวาระ               
               ภูต-สัมภเวสี               
               [๑๑๓] ในจำนวนบทเหล่านั้น คำขยายต่อไปนี้จะเป็นคำขยายความเฉพาะบทที่ยาก.
               คำว่า อาหาร ได้แก่ ปัจจัย. เพราะปัจจัยนำผลมาให้ตน ฉะนั้น ปัจจัยจึงเรียกว่าอาหาร.
               เหล่าสัตว์ที่ถือกำเนิดเกิดแล้ว ชื่อว่าภูต ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ภูตานํ วา สตฺตานํ.
               เหล่าสัตว์ที่เสาะหา คือแสวงหาการสมภพคือการเกิด ได้แก่การบังเกิดขึ้น ชื่อว่าสัมภเวสี.
               บรรดากำเนิดทั้ง ๔ ชนิดเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในฟองและที่เกิดในหยดน้ำ ตราบใดที่ยังไม่ทำลายกระเปาะฟองและรังมดลูก (ออกมา) ตราบนั้นก็ยังชื่อว่าสัมภเวสี ต่อเมื่อทำลายกระเปาะฟองและรังมดลูก ออกมาภายนอกแล้ว จึงชื่อว่าภูต.
               ส่วนสัตว์ที่เกิดแต่เถ้าไคลและผุดเกิด ในขณะแห่งจิตดวงแรก ชื่อว่าสัมภเวสี. ตั้งแต่ขณะแห่งจิตดวงที่ ๒ ไป ชื่อว่าภูต.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายจะเกิดโดยอิริยาบถใดก็ตาม ตราบใดยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นจากอิริยาบถนั้น ตราบนั้นชื่อว่าสัมภเวสี ต่อจากอิริยาบถนั้นไปจึงชื่อว่าภูต.
               อีกอย่างหนึ่ง เหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว คือเกิดขึ้นแล้ว (สำเร็จแล้ว) ชื่อว่าภูต. พระขีณาสพเหล่าใดผู้เป็นพระอริยเจ้าแล้วนั่นแหละ นับว่าจักไม่เกิดอีก. คำว่า ภูต นี้เป็นชื่อของพระขีณาสพเหล่านั้น.
               สัตว์เหล่าใดกำลังแสวงหาการเกิด สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าสัมภเวสี. คำว่า สัมภเวสี นี้เป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนผู้กำลังแสวงหาการเกิดต่อไป เพราะยังละสังโยชน์ในภพไม่ได้.
               เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วย ๒ บทนี้ แม้ในที่ทุกแห่ง (เนื้อความ) จึงคลุมถึงสัตว์ทุกชนิด. และ วา ศัพท์ในคำว่า ภูตานํ วา สตฺตานํ นี้เป็นสัมปิณฑนัตถะ (มีเนื้อความรวม ไม่ใช่เป็นวิกัปปัตถะ). เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบ (ว่าเท่ากับ) เนื้อความนี้ว่า ภูตานํ จ สมฺภเวสีนญฺจ (ทั้งภูตทั้งสัมภเวสี).
               บทว่า ฐิติยา ได้แก่ เพื่อดำรงอยู่.
               บทว่า อนุคฺคหาย ได้แก่ เพื่ออนุเคราะห์ คือเพื่ออุปการะ.
               ทั้ง ๒ บท คือ ภูตานํ วา สมฺภเวสีนํ นั้นมีความแตกต่างกัน เพียงคำพูดเท่านั้น แต่ความหมายของทั้ง ๒ บทนั้นเป็นอย่างเดียวกันทีเดียว.
               บทว่า ฐิติยา (เพื่อดำรงอยู่) คือ เพื่อไม่ให้ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วแก่สัตว์นั้นๆ ขาดตอนไป โดยไม่สามารถติดต่อกันได้.
               บทว่า อนุคฺคหาย เพื่ออนุเคราะห์ ได้แก่เพื่อให้ธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น.
               และทั้ง ๒ บทนี้ ควรใช้ในข้อความทั้งคู่อย่างนี้ว่า เพื่อการดำรงอยู่และเพื่ออนุเคราะห์ภูตทั้งหลายด้วย เพื่อการดำรงอยู่และเพื่ออนุเคราะห์สัมภเวสีทั้งหลายด้วย.

               กวฬิงการาหาร               
               อาหารที่จะต้องทำให้เป็นคำๆ ไปแล้วกลืนกิน ชื่อว่ากวฬิงการาหาร. คำว่า กวฬิงการาหาร นี้เป็นชื่อของโอชะที่มีข้าวสุกและขนมสด (กุมมาส) เป็นต้น เป็นที่ตั้ง.
               สองบทว่า โอฬาริโก วา สุขุโม วา ความว่า (อาหาร) ชื่อว่าโอฬาร เพราะเป็นสิ่งที่หยาบโดยวัตถุ. ชื่อว่าสุขุม เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดโดยวัตถุ.
               แต่โดยสภาวะ กวฬิงการาหาร ชื่อว่าเป็นของละเอียดทีเดียว เพราะเป็นของนับเนื่องในสุขุมรูป. ถึงแม้ว่าการที่อาหารนั้นจะเป็นของหยาบและเป็นของละเอียดโดยวัตถุ ก็ต้องรู้ได้เพราะอุปาทายรูป.
               ความจริง อาหารของนกยูงที่ชื่อว่าเป็นของละเอียด เพราะเปรียบเทียบกับอาหารจระเข้. ได้ทราบว่า พวกจระเข้ฮุบก้อนหินเข้าไป และก้อนหินเหล่านั้นพอตกถึงท้องของจระเข้เท่านั้นก็ย่อมหมด (ละลายไป). พวกนกยูงจิกกินสัตว์มีชีวิต เช่นงูและแมงป่องเป็นต้น. แต่อาหารของพวกหมาใน ชื่อว่าเป็นของละเอียด เพราะเปรียบเทียบกับอาหารของนกยูง.
               ได้ทราบว่า หมาในเหล่านั้นแทะเขาและกระดูก (สัตว์) ที่ทิ้งไว้ตั้ง ๓ ปีได้ ก็เขาและกระดูกสัตว์เหล่านั้นพอแต่เปียกน้ำลายของมันเท่านั้น ก็ยุ่ยเหมือนกันกับเหง้ามัน.
               อาหารของพวกช้าง ชื่อว่าเป็นของละเอียด เพราะเปรียบเทียบอาหารของหมาใน พวกมันกินกิ่งไม้นานาชนิด. อาหารของสัตว์ทั้งหลายเช่นโคลาน ระมาดและมฤคเป็นต้น ชื่อว่าเป็นของละเอียดกว่าอาหารช้าง.
               ได้ทราบว่า พวกมันพากันกินใบไม้นานาชนิดเป็นต้นที่ไม่แข็ง (ไม่มีแก่น).
               อาหารของพวกโค ชื่อว่าเป็นอาหารละเอียดกว่าอาหารของโคลานเป็นต้นเหล่านั้น. พวกมันกินหญ้าสดและหญ้าแห้งกัน. อาหารของกระต่ายเป็นอาหารละเอียดกว่าอาหารโคเหล่านั้น. อาหารของพวกนกละเอียดกว่าอาหารของพวกกระต่าย. อาหารของชาวชายแดนละเอียดกว่าอาหารของพวกนก. อาหารของนายอำเภอ (เจ้าเมือง) ละเอียดกว่าอาหารของชาวชายแดน. อาหารของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาละเอียดกว่าอาหารของนายอำเภอ (เจ้าเมือง). พระกระยาหารของพระเจ้าจักรพรรดิละเอียดกว่าอาหารของคนแม้เหล่านั้น. อาหารของเหล่าภุมมเทวดาละเอียดกว่าพระกระยาหารของพระเจ้าจักรพรรดิ. อาหารของเหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาละเอียดกว่าอาหารของเหล่าภุมมเทวดา. อาหาร (ของเหล่าเทวดาชั้นต่างๆ) ก็ควรขยายให้พิสดารอย่างนี้ไปจนถึงเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี. อาหารของเทวดาชั้นเหล่านั้นตกลงว่าเป็นอาหารละเอียดทั้งนั้น.
               อนึ่ง ในวัตถุหยาบนี้ โอชาก็น้อย มีพลังต่ำ. ในวัตถุละเอียด โอชามีพลังสูง.
               จริงอย่างนั้น ผู้ดื่มข้าวยาคูตั้งเต็มบาตร ครู่เดียวเท่านั้นก็หิว อยากจะเคี้ยวกินของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั่นเอง.๑-
____________________________
๑- เปยยาลเล็กวางไว้หลัง โหติ เข้าใจว่า ผิดที่ ควรจะอยู่หลัง ขาทิตุกาโม จึงแปลเช่นนั้น.

               ส่วนผู้ดื่มเนยใส แม้เพียงฟายมือเดียว ก็ไม่อยากกิน (ไม่หิว) ตลอดทั้งวัน.
               ในจำนวนวัตถุและโอชา ๒ อย่างนั้น วัตถุบรรเทาความกระวนกระวาย (หิว) ได้ แต่ไม่อาจจะรักษา (ชีวิต) ไว้ได้. (ส่วน) โอชารักษาชีวิตไว้ได้ แต่ไม่อาจบรรเทาความกระวนกระวาย (หิว) ได้. แต่ทั้ง ๒ อย่างนั้นรวมกันเข้าแล้ว บรรเทาความกระวนกระวาย (หิว) ได้ด้วยรักษา (ชีวิต) ได้ด้วย ดังนี้แล.

               ผัสสาหาร-มโนสัญเจตนาหาร-วิญญาณาหาร               
               บทว่า ผสฺโส ทุติโย ความว่า ผัสสะทั้ง ๖ อย่างมีจักขุสัมผัสเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นอาหารอย่างที่ ๒ ในจำนวนอาหาร ๔ อย่างนั้น.
               ก็นัยนี้เป็นนัยแห่งเทศนาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุชื่อนี้จึงไม่ควรแสวงหาคำนี้ว่า อาหารที่ ๒ และที่ ๓ ในอาหารวาระนี้.
               เจตนานั้นเอง ท่านเรียกว่า มโนสัญเจตนา.
               จิตดวงใดดวงหนึ่ง ชื่อว่า วิญญาณ.
               ในเรื่องนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามีคำถามว่า สัตว์ดำรง (ชีพ) อยู่ได้เพราะปัจจัย ดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉน เมื่อปัจจัยของสัตว์ทั้งหลายแม้อย่างอื่นมีอยู่ พระองค์จึงตรัสอาหารไว้ ๔ อย่างเหล่านี้เท่านั้น.๑-
____________________________
๑- เปยยาลเล็กในปาฐะวางไว้หลัง วจฺจเต เข้าใจว่าคงวางผิด จึงได้แปลตามที่เข้าใจ.

               ข้าพเจ้าจะกล่าวตอบว่า พระองค์ตรัสไว้ เพราะเป็นปัจจัยพิเศษแห่งสันตติที่เป็นภายใน.
               อธิบายว่า กวฬิงการาหารเป็นปัจจัยพิเศษของรูปกายของสัตว์ทั้งหลายผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา ผัสสาหารเป็นปัจจัยพิเศษของเวทนาในหมวดนาม มโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัยพิเศษของวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยพิเศษของนามรูป.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้อาศัยอาหารจึงดำรง (ชีพ) อยู่ได้ ไม่มีอาหาร ดำรง (ชีพ) อยู่ไม่ได้ ฉันใด. เหมือนอย่างเวทนาเกิดมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย นามรูปเกิดมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย.
               ถามว่า ก็ในอาหารวาระนี้ อาหารอะไร นำอะไรมาให้?
               ตอบว่า กวฬิงการาหารนำรูปมีโอชะเป็นที่ ๘ มาให้ (อวินิพโภครูป ๘) ผัสสาหารนำเวทนา ๓ มาให้ มโนสัญเจตนาหารนำภพทั้ง ๓ มาให้ วิญญาณาหารนำนามรูปในปฏิสนธิมาให้.
               นำมาให้อย่างไร?
               (นำมาให้อย่างนี้) คือก่อนอื่น กวฬิงการาหารเพียงแต่วางไว้ในปากเท่านั้น ก็ก่อตั้งรูปทั้ง ๘ ขึ้น (สร้างรูปทั้ง ๘ ขึ้น). ส่วนคำข้าวแต่ละคำที่ฟันเคี้ยวให้ละเอียดกลืนลงไป จะก่อตั้งรูปขึ้นคำละ ๘ รูปทั้งนั้น. กวฬิงการาหารนำรูปมีโอชะเป็นที่ ๘ มาให้อย่างนี้. ส่วนผัสสาหาร คือผัสสะที่จะให้เกิดสุขเวทนา เมื่อเกิดขึ้นจะนำสุขเวทนามาให้. ผัสสะที่จะให้เกิดทุกขเวทนาก็เช่นนั้น คือจะนำทุกข์มาให้ ที่จะให้เกิดอทุกขมสุขเวทนาก็จะนำอทุกขมสุขมาให้. ผัสสาหารจะนำเวทนาทั้ง ๓ มาให้โดยประการทั้งปวง ดังที่พรรณนามานี้.
               มโนสัญเจตนาหาร คือกรรมที่จะให้เข้าถึงกามภพ จะนำกามภพมาให้. ที่จะให้เข้าถึงรูปภพและอรูปภพ ก็จะนำรูปภพและอรูปภพมาให้. มโนสัญเจตนาหารจะนำภพทั้ง ๓ มาให้อย่างนี้ แม้โดยประการทั้งปวง.
               แต่วิญญาณาหาร ท่านกล่าวว่าจะนำขันธ์ทั้ง ๓ ที่สัมปยุตด้วยวิญญาณนั้น และรูป ๓๐ อย่างที่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสันตติ ๓ มาให้โดยนัยแห่งปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้นในปฏิสนธิขณะ. วิญญาณาหารนำนามรูปในปฏิสนธิขณะมาให้อย่างนี้ ดังนี้.
               อนึ่ง ในอาหารวาระนี้ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาที่ยังมีอาสวะอยู่นั้นแหละ ท่านกล่าวไว้ว่า มโนสัญเจตนาหารจะนำภพทั้ง ๓ มาให้. ปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง ท่านกล่าวไว้ว่า วิญญาณจะนำนามรูปในปฏิสนธิขณะมาให้. แต่อาหาร ๓ อย่างเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นอาหารโดยไม่แปลกกัน เพราะนำมาซึ่งธรรมที่สัมปยุตกับด้วยวิญญาณนั้น และธรรมที่เป็นสมุฏฐานแห่งวิญญาณนั้น.
               ในจำนวนอาหาร ๔ อย่างนั้น กวฬิงการาหาร เมื่อค้ำชู (ชีวิต) ไว้ย่อมให้สำเร็จกิจคือการนำ (รูป) มา. ผัสสะ เมื่อถูกต้องอยู่นั้นแหละ (ย่อมให้สำเร็จกิจคือการนำเวทนามา). มโนสัญเจตนา เมื่อประมวลมาอยู่นั่นแหละ (ย่อมให้สำเร็จกิจคือการนำภพมา). วิญญาณ เมื่อรู้อยู่นั้นแหละ (ย่อมให้สำเร็จกิจคือการนำนามรูปในปฏิสนธิขณะมา).
               อย่างไร?
               (อย่างนี้คือ) ความจริง กวฬิงการาหาร เมื่อค้ำชู (ชีวิต) อยู่นั้นเอง จะมีการดำรงสัตว์ทั้งหลายไว้ โดยการดำรงกายไว้ เพราะว่า ร่างกายนี้ถึงกรรมจะแต่งให้เกิด กวฬิงการาหารก็ค้ำชูไว้ จึงดำรงอยู่ได้จนถึงกำหนดอายุ ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง เหมือนทารกที่มารดาให้เกิดแล้ว แม่นมให้ดื่มนมเป็นต้นเลี้ยงดูอยู่ จึงดำรงอยู่ได้นานแล. เหมือนเรือนที่ใช้ไม้ค้ำค้ำไว้.
               สมจริงตามพระพุทธพจน์ว่า
               ขอถวายพระพรมหาบพิตร เมื่อเรือนจะล้ม คนทั้งหลายจะเอาไม้อื่นมาค้ำไว้ เรือนนั้นที่ถูกไม้อื่นค้ำไว้ ทรงตัวอยู่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรือนนั้นจะไม่ล้มฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ร่างกายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันนั่นแล ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร อาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้.
               กวฬิงการาหาร เมื่อค้ำจุนร่างกายอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าให้สำเร็จหน้าที่ของอาหาร (การนำรูปมา) และแม้เมื่อให้สำเร็จอาหารกิจอยู่อย่างนี้ กวฬิงการาหารก็ชื่อว่าเป็นปัจจัยของรูปสันตติ ๒ อย่างคือ เป็นปัจจัยของรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานด้วย รูปที่ตัณหาและทิฏฐิถือเอาแล้วด้วย.๑- กวฬิงการาหารเป็นสิ่งที่ตามรักษากัมมชรูป (รูปเกิดแต่กรรม) และเป็นผู้ให้กำเนิดแก่รูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานดำรงอยู่ได้.
____________________________
๑- เปยยาลเล็กวางไว้หลัง โหติ เข้าใจว่าเป็นหลัง ซึ่งใช้ควบพากย์ จึงแปลตามที่เข้าใจ.

               ส่วนผัสสะ เมื่อถูกต้องอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความสุขเป็นต้นอยู่นั้นแหละ ชื่อว่ามีอยู่เพื่อการดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการหมุนเวียนไปแห่งสุขเวทนาเป็นต้น.
               มโนสัญเจตนา เมื่อประมวลไว้ด้วยสามารถแห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมอยู่นั้นแหละ ชื่อว่ามีอยู่เพื่อการดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย โดยการยังรากเหง้าของภพให้สำเร็จ.
               วิญญาณ เมื่อรู้อยู่นั้นแหละ ชื่อว่ามีอยู่เพื่อการดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย โดยการเป็นไปแห่งนามรูป.

               ภัยในอาหาร ๔               
               ในอาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ ที่ให้สำเร็จอาหารกิจอยู่ ด้วยสามารถแห่งการอุปถัมภ์เป็นต้น ควรเห็นภัย ๔ ประการอย่างนี้ คือ ในกวฬิงการาหาร ได้แก่ ภัยคือความใคร่ (อยาก). ในผัสสาหาร ได้แก่ ภัยคือการข้องแวะ (ติด) นั้นเอง. ในมโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ ภัยคือการประมวลมา (สั่งสม) นั้นแหละ. ในวิญญาณาหาร ได้แก่ ภัยคือการตกลงจำเพาะ (การถือกำเนิด) ทีเดียว.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายสร้างภัย คือความใคร่ในกวฬิงการาหาร มุ่งหน้าต่อความหนาวเป็นต้น ทำงานมีการนับด้วยหัวแม่มือเป็นต้นเพื่อต้องการอาหาร ย่อมเข้าถึงทุกข์มิใช่น้อย. และคนบางจำพวกถึงจะบวชในพระศาสนานี้ ก็แสวงหาอาหารโดยการแสวงหาที่ไม่สมควรมีเวชชกรรมเป็นต้น จะเป็นผู้ถูกครหาในปัจจุบันนี้. ถึงในสัมปรายภพก็จะเป็นสมณเปรตโดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในลักษณะสังยุตมีอาทิว่า แม้สังฆาฏิของเธอถูกไฟไหม้ลุกโชนแล้ว และความใคร่ในกวฬิงการาหารนั้นเอง
               พึงทราบว่าเป็นภัย เพราะเหตุนี้ก่อน.
               ชนทั้งหลายผู้มีอัสสาทะในผัสสะ แม้เมื่อเผชิญผัสสะ ก็จะเบียดเบียนสิ่งของทั้งหลายมีเมียเป็นต้นของคนอื่นที่เขารักษาคุ้มครองไว้. เจ้าของสิ่งของจะจับเขาพร้อมด้วยสิ่งของ ฟันให้แหลกเป็นท่อนๆ โยนทิ้งที่กองขยะ หรือมอบตัวแก่พระราชา. ต่อจากนั้น พระราชาก็จะตรัสสั่งให้พวกเขาทำงานชนิดต่างๆ (ลงโทษ). และเพราะกายแตกทำลายไป พวกเขาเป็นหวังได้รับภัย คือทุคติ. กรรมที่มีอัสสาทะในผัสสะเป็นรากฐาน เป็นเหตุให้ประสบภัยทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพทีเดียว ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนี้ การข้องแวะในผัสสาหารนั้นเอง พึงทราบว่าเป็นภัย.
               แต่ภัยในภพทั้ง ๓ ที่มีกุศลและอกุศลกรรมนั้นเป็นมูลฐานจะมาทั้งหมดเลย เพราะการประมวลมาซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมนั้นเอง. เพราะเหตุนี้ การประมวลมาในมโนสัญเจตนาหารนั้นเอง พึงทราบว่าเป็นภัย.
               ส่วนปฏิสนธิวิญญาณ ก็จะรับเอาปฏิสนธินามรูปนั้นแหละ เกิดขึ้นในที่เป็นที่ถือกำเนิด และเมื่อปฏิสนธิวิญญาณนั้นเกิดขึ้นแล้ว ภัยทุกอย่างก็เป็นอันเกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะมีปฏิสนธินั้นเป็นมูลราก เพราะเหตุดังที่พรรณนามาแล้วนี้แล การถือกำเนิด (ตกลงเฉพาะ) พึงทราบว่าเป็นภัยในวิญญาณาหารดังนี้แล.
               แต่ในจำพวกอาหารทั้ง ๔ อย่างเหล่านี้ที่เป็นภัยอย่างนี้ เพื่อจะให้ครอบงำความใคร่ในกวฬิงการาหาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงการเปรียบเทียบด้วยเนื้อบุตร โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผัวเมียทั้ง ๒ แม้ฉันใด.
               เพื่อให้ครอบงำความใคร่ในผัสสาหาร จึงทรงแสดงการเปรียบเทียบด้วยแม่โคที่ถูกถลกหนัง โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่โคที่เขาถลกหนังแล้ว ... แม้ฉันใด.
               เพื่อให้ครอบงำความใคร่ในมโนสัญเจตนาหาร จึงทรงแสดงการเปรียบเทียบด้วยหลุมถ่านเพลิง โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หลุมถ่านเพลิง ... แม้ฉันใด.
               เพื่อให้ครอบงำความใคร่ในวิญญาณาหาร จึงทรงแสดงการเปรียบเทียบด้วยการแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... ซึ่งโจรผู้ประพฤติชั่วช้าแม้ฉันใด.
               นี้เป็นการประกอบเนื้อความโดยสังเขป โดยอธิบายความให้แจ่มชัดในอาหารวาระนั้น.

               เปรียบเทียบสามีภรรยากินเนื้อบุตร               
               ได้ทราบว่า สองผัวเมียพากันอุ้มบุตรเดินทางกันดาร ๑๐๐ โยชน์โดยเสบียงเล็กน้อย. เมื่อเขาเดินไปได้ ๕๐ โยชน์ เสบียงหมดลง.
               เขาทั้ง ๒ กระสับกระส่ายเพราะความหิวกระหายพากันนั่งใต้ร่มเงาโปร่ง (ของต้นไม้) ถัดนั้น ฝ่ายชายได้พูดกับภรรยาว่า น้องนางเอ๋ย ระยะ ๕๐ โยชน์รอบๆ นี้ ไม่มีบ้านหรือนิคมเลย เพราะฉะนั้น บัดนี้ พี่ไม่สามารถจะทำงานตั้งมากมายที่ผู้ชายจะพึงทำได้ มีการทำนาและเลี้ยงโคเป็นต้นได้ มาเถิดน้อง จงฆ่าพี่แล้วกินเนื้อเสียครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเอาเป็นเสบียงเดินข้ามทางกันดารไปกับลูกเถิด.
               ฝ่ายนางได้พูดกับสามีว่า พี่ขา บัดนี้ น้องไม่สามารถจะทำงานที่หญิงจะต้องทำ มีการปั่นด้ายเป็นต้นตั้งมากมายได้ มาเถิดพี่ จงฆ่าน้อง แล้วกินเนื้อเสียครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเอาเป็นเสบียงเดินทางข้ามทางกันดารไปกับลูกเถิด.
               ฝ่ายชายจึงพูดกับภรรยาอีกว่า น้องเอ๋ย เพราะแม่บ้านตาย ความตายจะปรากฏแก่เราทั้ง ๒ พ่อลูก เพราะเด็กน้อยเว้นมารดาแล้ว จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเราทั้ง ๒ ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะได้ลูกอีก อย่ากระนั้นเลย บัดนี้เราจะฆ่าลูกเอาเนื้อกิน ข้ามทางกันดาร.
               ลำดับนั้น แม่ได้พูดกับลูกว่า ลูกเอ๋ย จงไปหาพ่อเถอะ. ลูกก็ได้ไป (หาพ่อ). ถัดนั้น พ่อของลูกพูดว่า พี่ได้เสวยทุกข์มาไม่น้อย เพราะการทำนาเลี้ยงโคด้วยหวังว่าจะเลี้ยงลูก พี่จึงไม่อาจจะฆ่าลูกได้ เธอนั้นแหละจงฆ่าลูกของเธอ ดังนี้แล้วได้บอกลูกว่า ลูกเอ๋ยจงไปหาแม่เถิด. ลูกก็ได้ไป (หาแม่) ถึงแม่ของลูกนั้นก็ได้พูดว่า ฉันเมื่ออยากได้ลูก ได้เสวยทุกข์ทรมานมิใช่น้อย ด้วยการประพฤติตนเยี่ยงโค ประพฤติตนเยี่ยงลูกสุนัข และอ้อนวอนขอต่อเทวดาเป็นต้นก่อน ไม่ต้องพูดถึงการประคับประคองท้อง ฉันจึงไม่อาจจะฆ่าลูกได้ แล้วได้บอกลูกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหาพ่อเถิด. ลูกนั้นเมื่อเดินไปมาในระหว่างพ่อแม่ทั้ง ๒ อยู่อย่างนี้ก็ได้ตายลง.
               สองผัวเมียนั้นเห็นลูกเข้าพากันคร่ำครวญ เอาเนื้อ (ลูก) มากินแล้วหลีกไป ตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วแต่ต้น. เขาทั้ง ๒ นั้นไม่ได้เอาเนื้อบุตรกินเป็นอาหารเพื่อเล่นเลย ไม่ใช่เพื่อเมามาย ไม่ใช่เพื่อประดับประดา ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพื่อต้องการข้ามให้พ้นทางกันดารอย่างเดียวเท่านั้นเอง เพราะเป็นของปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการ.
               หากจะถามว่า ปฏิกูลด้วยเหตุ ๙ ประการอะไรบ้าง?
               แก้ว่า คือเพราะเป็นเนื้อที่เกิดจากตน ๑ เพราะเป็นเนื้อของญาติ ๑ เพราะเป็นเนื้อของลูก ๑ เพราะเป็นเนื้อของลูกรัก ๑ เพราะเป็นเนื้อของเด็กอ่อน ๑ เพราะเป็นเนื้อดิบ ๑ เพราะเป็นเนื้อที่ไม่ใช้กิน ๑ เพราะไม่ได้ใส่เกลือ ๑ เพราะไม่ได้ย่าง ๑
               เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นกวฬิงการาหารเป็นเสมือนเนื้อลูกอย่างนี้ เธอจะครอบงำ (คลาย) ความใคร่ในกวฬิงการาหารนั้นได้.
               นี้เป็นการประกอบความในข้ออุปมาด้วยเนื้อบุตรก่อน.

               เปรียบเทียบแม่โคที่ถูกถลกหนัง               
               ส่วนในข้อเปรียบเทียบด้วยแม่โคที่เขาถลกหนัง พึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
               แม่โคนั้นเขาถลกหนังแต่คอจนถึงเล็บออกไปแล้วปล่อยทิ้งไว้ มันจะถูกสัตว์มีชีวิตกัดกินอยู่ในที่ที่มันอาศัยอยู่ จะมีแต่เรื่องทุกข์เท่านั้นฉันใด. ถึงผัสสะก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยวัตถุหรืออารมณ์ใดๆ สถิตอยู่ จะมีแต่เรื่องทุกข์ที่ได้เสวยแล้วเท่านั้น อันเกิดจากวัตถุและอารมณ์นั้นๆ.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นผัสสาหารเป็นเสมือนกับแม่โคที่เขาถลกหนังอยู่อย่างนี้ ภิกษุนั้นจะครอบงำความใคร่ในผัสสาหารนั้นได้. นี้เป็นการประกอบความในข้อเปรียบเทียบด้วยแม่โคที่เขาถลกหนัง.

               เปรียบเทียบหลุมถ่านเพลิง               
               แต่ในข้อเปรียบเทียบด้วยหลุมถ่านเพลิง พึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
               ภพทั้ง ๓ เหมือนกับหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่าร้อนระอุมาก มโนสัญเจตนาเหมือนกับชายสองคนต่างพากันจับแขน กระชากลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เพราะอรรถว่าฉุดกระชากเข้าไปในภพทั้งหลาย.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นมโนสัญเจตนาหารว่าเป็นเช่นกับหลุมถ่านเพลิงอยู่อย่างนี้ ภิกษุนั้นจะครอบงำความใคร่ในมโนสัญเจตนาหารได้. นี้เป็นการประกอบความในข้อเปรียบเทียบด้วยหลุมถ่านเพลิง.

               เปรียบเทียบด้วยการแทงด้วยหอกร้อยเล่ม               
               ส่วนในข้อเปรียบเทียบ การถูกแทงด้วยหอก ๓ ร้อยเล่ม พึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้.
               ในเวลาเช้า ชายคนหนึ่งเดือดร้อนเพราะหอก ๑๐๐ เล่มจำนวนใด หอกจำนวนนั้นแทงร่างของเขาให้เป็นบาดแผลถึง ๑๐๐ แห่ง ทะลุไปไม่หยุดอยู่ในระหว่างแล้ว ในกาลต่อมา ก็หล่นออกไป. หอก ๒๐๐ เล่มอีกต่างหากก็อย่างนั้น เมื่อเช่นนั้น ทั่วร่างจึงพรุนไปหมด เพราะหอกหลายด้ามที่พุ่งไปไม่หล่นในโอกาสที่หอก ๑๐๐ ด้าม (รุ่นก่อน) นั้นหล่นไปแล้ว. ทุกข์ของชายคนนั้นที่เกิดขึ้น เพราะปากบาดแผล แม้บาดแผลเดียวก็หาประมาณไม่ได้อยู่แล้ว. จะป่วยกล่าวไปไยถึงทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะปากบาดแผล ๓๐๐ แผล.
               บรรดาเหตุการณ์เหล่านั้น ปฏิสนธิเหมือนกับเวลาที่หอกตกถูก. การเกิดแห่งขันธ์เหมือนกับการเกิดในเพราะปากบาดแผล การเกิดขึ้นแห่งทุกข์นานาชนิดที่มีวัฏฏะเป็นมูลมีได้ในเพราะขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว เหมือนการเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาในเพราะปากบาดแผลทั้งหลาย.
               อีกนัยหนึ่ง ปฏิสนธิวิญญาณเหมือนชายผู้ประพฤติชั่วช้า. นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เหมือนปากบาดแผลที่เกิดขึ้นแก่ชายคนนั้น เพราะถูกหอกทั้งหลายแทงแล้ว. พึงเห็นการเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีประการต่างๆ สำหรับวิญญาณ เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย ด้วยสามารถของกรรมกรณ์ ๓๒ ประการและโรค ๙๘ ชนิดเป็นต้น เหมือนการเกิดขึ้นแห่งทุกข์หนักแก่ชายคนนั้น เพราะมีปากบาดแผลเป็นปัจจัย.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นวิญญาณาหารว่า เป็นเช่นกับด้วยถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่มอย่างนี้ ภิกษุนั้นจะครอบงำความใคร่ในวิญญาณาหารได้. นี้เป็นการประกอบความในการเปรียบเทียบด้วยการถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม
               เธอเมื่อครอบงำความใคร่ในอาหารเหล่านี้อย่างนี้ว่า ชื่อว่าย่อมกำหนดรู้อาหารทั้ง ๔ อย่าง. เมื่อกำหนดรู้อาหารเหล่านั้นแล้ว วัตถุที่กำหนดรู้แม้ทั้งหมด ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้วเหมือนกัน.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายกำหนดรู้กวฬิงการาหารแล้ว ราคะที่อาศัยเบญจกามคุณ ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้ว. เมื่อกำหนดรู้ราคะที่อาศัยเบญจกามคุณแล้ว จะไม่มีสังโยชน์นั้น (กามราคสังโยชน์) ซึ่งเป็นเหตุให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว มาสู่โลกนี้อีก.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารแล้ว เวทนาทั้ง ๓ ก็เป็นอันเธอทั้งหลายกำหนดรู้แล้ว. เมื่อกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ แล้ว เราตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกจะไม่มีกิจอะไรที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารแล้ว ตัณหา ๓ ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้ว. เมื่อกำหนดรู้ตัณหา ๓ แล้ว เราตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกจะไม่มีกิจอะไรที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำหนดรู้วิญญาณาหารแล้ว นามรูปก็เป็นอันกำหนดรู้แล้ว เมื่อกำหนดรู้นามรูปแล้ว เราตถาคตก็กล่าวว่า อริยสาวกจะไม่มีกิจอะไรที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป.

               ตัณหาเกิด อาหารจึงเกิด               
               บทว่า ตณฺหาสมุทยา อาหารสมุทโย มีเนื้อความว่า เพราะตัณหาเก่าก่อนเกิดขึ้น สมุทัย (เหตุเกิด) คือการเกิดขึ้นแห่งอาหารทั้งหลายที่มีมาแต่ปฏิสนธิ ย่อมมีขึ้น.
               มีอย่างไร?
               (มีอย่างนี้คือ) เพราะในขณะแห่งปฏิสนธิ จะมีโอชะที่เกิดขึ้นแล้ว ในภายในรูป ๓๐ ถ้วน ที่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสันตติ ๓ นี้ คือกวฬิงการาหารที่เป็นอุปาทินนกะ (มีใจครอง) เกิดขึ้นแล้ว เพราะตัณหาเป็นปัจจัย. ส่วนผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหารที่เป็นอุปาทินนกะเหล่านี้ คือผัสสะและเจตนาที่สัมปยุตด้วยปฏิสนธิจิต และวิญญาณคือตัวจิตเอง เกิดขึ้นแล้ว เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย ดังนี้แล.
               พึงทราบการเกิดขึ้นแห่งอาหารทั้งหลายที่มีมาแต่ปฏิสนธิ เพราะตัณหาเก่าก่อนเกิดขึ้น ดังที่พรรณนามานี้ก่อน.
               แต่เพราะเหตุที่ในอาหารวาระนี้ ท่านพระสารีบุตรกล่าวถึงอาหารคละกันไปทั้งอาหารที่เป็นอุปาทินนกะ (มีใจครอง) และที่เป็นอนุปาทินนกะ (ที่ไม่มีใจครอง) ฉะนั้น จึงควรทราบการเกิดขึ้นแห่งอาหาร เพราะตัณหาเกิดอย่างนี้ สำหรับอาหารทั้งหลายที่เป็นอนุปาทินนกะ (ดังต่อไปนี้) :-
               อันที่จริง โอชะมีอยู่ในรูปทั้งหลายที่ตั้งขึ้น แต่จิตที่สหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวงนี้ คือกวฬิงการาหารที่เป็นอนุปาทินนกะ ที่เกิดขึ้นแล้วเพราะตัณหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นปัจจัย. ส่วนผัสสะ ๑ เจตนาที่สัมปยุตด้วยจิตที่สหคตด้วยโลภะ ๑ วิญญาณคือตัวจิตเอง ๑ รวมทั้ง (๓ อย่าง) เหล่านี้ ได้แก่ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหารที่เป็นอนุปาทินนกะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย ดังนี้แล.

               ตัณหาดับ อาหารจึงดับ               
               สองบทว่า ตณฺหานิโรธา อาหารนิโรโธ ความว่า ความดับแห่งอาหารย่อมปรากฏ เพราะความดับแห่งตัณหาที่เป็นปัจจัยของอาหารทั้งหลายทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและที่เป็นอนุปาทินนกะนี้.
               คำที่เหลือ (จากที่อธิบายนี้) มีนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้นแหละ.
               ในอาหารวาระนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงสัจจะทั้ง ๔ ไว้โดยสรุปแล้ว. และในทุกวาระนอกเหนือจากนี้ ท่านก็ได้กล่าวไว้เหมือนในอาหารวาระนี้ เพราะเหตุนั้นแล ผู้ศึกษาที่ไม่หลงลืมควรยกสัจจะทั้งหลายขึ้นในทุกวาระ. และการประมวลเทศนาในทุกวาระว่า เอตฺตาวตาปิ โข อาวุโส นี้ ควรประกอบด้วยสามารถแห่งธรรมที่แสดงแล้วในวาระนั้นๆ. นี้เป็นการประกอบเนื้อความนั้น ในวาระนี้ก่อน.
               บทว่า เอตฺตาวตาปิ นี้ ความว่า ด้วยเทศนาเรื่องอาหารนี้.
               มีอธิบายว่า แม้ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดด้วยมนสิการที่กล่าวมาแล้ว.
               แม้ในทุกบทก็ทำนอง (นัย) นี้.
               จบกถาพรรณนาอาหารวาระ               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 100อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 12 / 131อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1518&Z=1753
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=5349
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=5349
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :