ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 91อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 12 / 110อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัลเลขสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

               อรรถกถาสัลเลขสูตร               
               [๑๐๐] สัลเลขสูตรมีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ พระสูตรนี้ ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาจุนทะ เป็นนามของพระเถระรูปนั้น.
               บทว่า สายณฺหสมยํ (ในสายัณหสมัย) คือในเพลาเย็น.
               ที่หลบหลีก คือแอบหลบออกจากสัตว์และสังขารทั้งหลายเหล่านั้นๆ ชื่อว่าที่ซ่อนเร้น ในคำว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต (ออกจากที่ซ่อนเร้น) นี้.
               มีคำอธิบายไว้ว่า ได้แก่ความโดดเดี่ยว คือความสงัด.
               ผู้ที่ออกจากที่นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ออกจากที่เร้น. แต่ท่านจุนทเถระนี้ เพราะออกจากผลสมาบัติที่สูงสุด กว่าการหลีกเร้น (ธรรมดา) เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวว่า ออกจากที่เร้นแล้ว.
               บทว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา (ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว) ความว่า ครั้นไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ ด้วยเศียรเกล้าประกอบกับการยกมือครบทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้นประณมแล้ว หรือครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระดำรัสอย่างนี้ว่า จงเป็นสุขๆ เถิด จุนทะ.

               ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้า               
               ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีผู้ถวายบังคม จะทรงชูพระศอซึ่งคล้ายกับกลองทองขึ้นแล้ว ทรงเปล่งพระสุระเสียงดุจเสียงพระพรหมที่เสนาะโสต เป็นที่จับใจ คล้ายกับโสรจสรง ด้วยน้ำอมฤต ตรัสระบุชื่อของผู้นั้นๆ ว่า จงเป็นสุขๆ เถิด ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ในเรื่องนั้นมีพระสูตรที่ยกมาเป็นข้ออ้างอิงได้ ดังต่อไปนี้
               (คือสักกปัญหสูตร) ว่า เมื่อปัญจสิขเทพบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยเทพอำมาตย์ เทพบริวาร ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า.
               พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนปัญจสิขเทพบุตร ขอให้ท้าวสักกะจอมทวยเทพพร้อมด้วยเทพอำมาตย์ พร้อมด้วยเทพบริวาร จงทรงพระเกษมสำราญ เพราะว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อสูร นาค คนธรรพ์และสัตว์เหล่าอื่นที่มีกายหยาบ ปรารถนาความสุขกัน.
               เพราะฉะนั้น ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะทรงถวายพระพรเทพเจ้าประเภทนั้น ผู้มีศักดามาก ผู้ควรบูชาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น.
               บทว่า ยา อิมา ความว่า ท่านพระจุนทะได้กล่าวถึงทิฏฐิที่ต้องพูดถึง ในบัดนี้ เหมือนทำให้อยู่เฉพาะหน้า.
               บทว่า อเนกวิหิตา (มีมากอย่าง) ได้แก่ มีนานาประการ.
               บทว่า ทิฏฺฐิโย (ทิฏฐิทั้งหลาย) ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ.
               บทว่า โลเก อุปฺปชฺชนฺติ (เกิดขึ้นในโลก) ความว่า ปรากฏอยู่ในหมู่สัตวโลก.
               บทว่า อตฺตวาทปฏิสํยุตฺตา (ประกอบด้วยอัตตวาทะ) ความว่า มิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ที่ประกอบด้วยอัตตวาทะ (ปรารภตน) เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา มี ๒๐ อย่าง.๑-
____________________________
๑- ปาฐะเป็น พาวีสติ แต่ฉบับพม่าเป็น ตา วีสติ จึงแปลตามฉบับพม่า เพราะตรงตามความจริง.

               บทว่า โลกวาทปฏิสํยุตฺตา (ประกอบด้วยโลกวาทะ พูดปรารภโลก) ความว่า เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า อัตตาและโลกเที่ยง.

               มิจฉาทิฏฐิ ๘               
               มิจฉาทิฏฐิปรารภอัตตาและโลกนั้นมี ๘ ประการ ที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า
               ๑. อัตตาและโลกเที่ยง
               ๒. อัตตาและโลกไม่เที่ยง
               ๓. อัตตาและโลกเที่ยงก็มี ไม่เที่ยงก็มี
               ๔. อัตตาและโลกเที่ยงก็ไม่ใช่ ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่
               ๕. อัตตาและโลกมีที่สุด
               ๖. อัตตาและโลกไม่มีที่สุด
               ๗. อัตตาและโลกมีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี๒-
               ๘. อัตตาและโลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่
____________________________
๒- ฉบับของไทยขาดหายไป ๑ ข้อ แต่ฉบับพม่ามีครบ จึงได้เติมตามนั้น.

               ในคำมีอาทิว่า อาทิเมว (เบื้องต้นนี้เท่านั้น) มีอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า
               (พระจุนทเถระทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า) ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุมนสิการธรรมเบื้องต้นอย่างเดียว คือถึงจะยังไม่บรรลุโสดาปัตติมรรค มนสิการเฉพาะมนสิการเบื้องต้นเท่านั้นที่เจือด้วยวิปัสสนา จะมีการละและการสลัดทิ้ง ทิฏฐิเหล่านี้อย่างนี้ คือทิฏฐิเหล่านี้ ด้วยอุบายเพียงเท่านี้เท่านั้นได้อย่างไร?
               ก็พระเถระถึงแม้ตัวท่านจะไม่มีมานะยิ่ง (สำคัญว่า ตัวได้บรรลุมรรคผล) แต่ก็พึงทราบว่า เป็นเสมือนผู้มีมานะยิ่ง ถามปัญหานี้เพื่อละมานะยิ่ง สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้มีมานะยิ่ง.
               ส่วนอาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า อันเตวาสิกทั้งหลายของพระเถระที่มีความเข้าใจอย่างนี้ว่า การละทิฏฐิทั้งหลายได้เด็ดขาด มีได้ด้วยมนสิการธรรมเบื้องต้นเท่านั้นก็มี ที่มีความเข้าใจว่ามีได้เพราะมีสมาบัติเป็นวิหารธรรม คือมีธรรมะเครื่องขัดเกลา เป็นวิหารธรรมก็มี ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประโยชน์แก่อันเตวาสิกเหล่านั้น.

               หน้าที่ของทิฏฐิ               
               [๑๐๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอุบาย สำหรับละทิฏฐิเหล่านั้นแก่ท่าน จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ยา อิมา (ทิฏฐิ) เหล่านี้ใดไว้.
               ในคำเหล่านั้นมีความพิสดารว่า คำมีอาทิว่า ยตฺถ เจตา ทิฏฺฐิโย อุปฺปชฺชนฺติ (ทิฏฐิเหล่านั้นเกิดขึ้นในที่ใด) ดังนี้ พระองค์ตรัสหมายเอาเบญจขันธ์.
               อธิบายว่า ทิฏฐิเหล่านั้นเกิดขึ้นในเบญจขันธ์เหล่านั้น ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะยึดมั่นรูป เกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า เราคืออัตตาและโลก ละโลกนี้ไปแล้วจักยังมี (เพราะว่า) อัตตานั้น โลกนั้น เป็นของเที่ยง ยั่งยืน ติดต่อกันไป มีความไม่แปรไปเป็นธรรมดา.
               แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นเอกพจน์ว่า ยตฺถ จ (แปลว่า ในอารมณ์ใด) ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์. มีอธิบายไว้ว่า ทิฏฐิทั้งหลายเกิดขึ้นในอารมณ์ใด.
               อนึ่ง ในคำว่า ยตฺถ จ เป็นต้นนี้ ควรทราบถึงทิฏฐิเหล่านี้ ทำ (หน้าที่) ต่างๆ กัน อย่างนี้คือ เกิดขึ้น ๑ นอนเนื่องอยู่ ๑ ฟุ้งขึ้น ๑
               อธิบายว่า ทิฏฐิเหล่านี้มีการทำ (หน้าที่) ต่างกันดังนี้ คือทิฏฐิทั้งหลายโดยชาติ (ของมัน) ที่ยังไม่เกิดขึ้น.
               เมื่อเกิดขึ้น พระองค์ตรัสเรียกว่า กำลังเกิดขึ้น, ที่เสพจนคุ้นบ่อยๆ มีกำลัง ขจัดยังไม่ได้ พระองค์ตรัสเรียกว่า นอนเนื่องอยู่. ส่วนที่ประจวบ (ล่วงออกมาทาง) กายทวารและวจีทวาร พระองค์ตรัสเรียกว่า ฟุ้งขึ้น.
               ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ตํ เนตํ มม (สิ่งนี้นั้นไม่ใช่ของเรา) ควรทราบอรรถาธิบายของบทอย่างนี้ก่อนว่า อารมณ์ที่แยกประเภทเป็นเบญจขันธ์นี้นั้นไม่ใช่ของๆ เรา ถึงเราก็ไม่ใช่สิ่งนั้น แม้สิ่งนั้นก็ไม่ใช่อัตตาของเรา ภิกษุเห็นเบญจขันธ์นั้นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ (มีการละการสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นได้).
               แต่เพราะในการยึดถือ ๓ อย่างนี้ เมื่อยึดถือการยึดถือด้วยอํานาจตัณหาว่า นั่นของเรา ก็ชื่อว่ายึดถือตัณหาเป็นเครื่องเนิ่นช้า แยกประเภทออกเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ประการ.
               เมื่อยึดถือการยึดถือด้วยอํานาจมานะว่า เราเป็นนั่น ชื่อว่ายึดถือมานะเป็นเครื่องเนิ่นช้า แยกประเภทออกเป็นมานะ ๙ ประการ
               และเมื่อยึดถือการยึดถือด้วยอํานาจทิฏฐิว่า นั่นอัตตาของเรา ชื่อว่ายึดถือทิฏฐิเป็นเครื่องเนิ่นช้า แยกประเภทออกเป็นทิฏฐิ ๖๒ ประการ.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ก็ชื่อว่าทรงปฏิเสธตัณหาเครื่องเนิ่นช้า แยกประเภทตามที่กล่าวแล้ว. เมื่อตรัสว่า เราไม่ใช่นั่น ก็ชื่อว่าทรงปฏิเสธมานะเป็นเครื่องเนิ่นช้า และเมื่อตรัสว่า นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ก็ชื่อว่าทรงปฏิเสธทิฏฐิเป็นเครื่องเนิ่นช้า.
               อนึ่ง ในเรื่องตัณหามานะทิฏฐิทั้ง ๓ อย่างนี้ ตัณหาและมานะ พึงทราบว่า ตั้งอยู่ในหมวดเดียวกันกับทิฏฐินั่นเอง.
               บทว่า เอวเมตํ (เห็นสิ่งนั้นอย่างนี้) คือ เห็นเบญจขันธ์นั่นโดยอาการมีอาทิว่า นั่นไม่ใช่ของเราอย่างนี้.
               บทว่า ยถาภูตํ (ตามความเป็นจริง) คือ ตามสภาวะ.
               มีคำอธิบายไว้ว่า ตามที่มีอยู่. อธิบายว่า ความจริง ขันธปัญจก (หมวด ๕ ของขันธ์) มีอยู่โดยอาการอย่างนั้นนั่นเอง แต่ขันธปัญจกที่ยึดถือโดยนัยมีอาทิว่า ของเรา ย่อมไม่มีโดยอาการอย่างนั้นนั่นเอง.
               บทว่า สมฺมปฺปญฺญาย (เห็นด้วยปัญญาอันชอบ) ความว่า เห็นด้วยดีด้วยวิปัสนาปัญญา อันมีโสดาปัตติมรรคปัญญา เป็นปริโยสาน.๑-
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น ฉบับพม่าเป็น โสตาปตฺติมคฺคปญฺญาปริโยสานาย จึงได้แปลตามนั้น.

               บทว่า เอวเมตาสํ (ละทิฏฐิเหล่านี้อย่างนี้) ได้แก่ (ละ) ทิฏฐิเหล่านี้ ด้วยอุบายนี้. คำว่า การละการสลัดทิ้งทั้งคู่นี้ เป็นชื่อของการละกิเลสได้โดยเด็ดขาดทีเดียว.
               [๑๐๒] พระผู้มีพระภาคเจ้า อันพระมหาจุนทเถระถามปัญหาด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้มีมานะยิ่งว่า การละทิฏฐิทั้งหลายมีได้ด้วยการมนสิการธรรมเบื้องต้นเท่านั้น หรือมีไม่ได้?
               ครั้นทรงแสดงการละทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรคแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงจำแนกฌานของผู้มีมานะยิ่งด้วยพระองค์เอง จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ก็เหตุที่ตั้งแล.
               ผู้มีมานะยิ่งเกิดขึ้นด้วยสำคัญว่า ได้บรรลุแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ได้บรรลุ ชื่อว่าผู้มีมานะยิ่ง ในคำว่า อธิมานิกานํ นั้น.
               ก็แต่ว่า อธิมานะ (มานะยิ่ง) นี้ เมื่อจะเกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นแก่พาลปุถุชนผู้รำลึกถึงโลกานุวัตรเนืองๆ๒- เลย และจะไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกทั้งหลาย.
____________________________
๒- ฉบับพม่าเป็น โลกานุวฏฏานุสารีนํ ผู้คล้อยตามและระลึกถึงเรื่องโลกบ่อยๆ.

               อธิบายว่า อธิมานะว่าเราเป็นพระสกทาคามี จะไม่เกิดแก่พระโสดาบัน. อธิมานะว่า เราเป็นพระอนาคามี จะไม่เกิดแก่พระสกทาคามี. อธิมานะว่า เราเป็นพระอรหันต์จะไม่เกิดแก่พระอนาคามี. แต่จะเกิดเฉพาะการกบุคคลเท่านั้น ผู้ข่มกิเลสไว้ได้ด้วยอำนาจสมถะหรือด้วยอำนาจวิปัสสนาผู้ปรารภวิปัสสนาแล้วขะมักเขม้นเป็นนิจ.
               อันที่จริงการกบุคคลนั้น เมื่อไม่เห็นการฟุ้งขึ้นแห่งกิเลสที่ข่มไว้ได้ด้วยสมถะ หรือที่ข่มไว้ได้ด้วยวิปัสสนา อธิมานะว่า เราเป็นพระโสดาบันบ้าง เราเป็นพระสกทาคามีบ้าง เราเป็นพระอนาคามีบ้าง เราเป็นพระอรหันต์บ้าง จะเกิดขึ้นเหมือนกับพระเถระทั้งหลายที่ท่านธรรมทินนเถระผู้อาศัยอยู่ที่ตลังครติสสบรรพต ได้ตักเตือนแล้ว.

               เรื่องพระธรรมทินนเถระตักเตือนศิษย์               
               ได้ทราบว่า ภิกษุหลายรูปได้ตั้งตนอยู่ในโอวาทของพระเถระผู้อุปสมบทแล้วไม่นานเลย ก็พากันบรรลุคุณวิเศษ. ภิกษุสงฆ์ชาวติสสมหาวิหารได้ทราบพฤติกรรมนั้นแล้ว ลงความเห็นว่าพระเถระประกอบในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ท่านทั้งหลายจงนำเอาพระเถระมา แล้วได้ส่งภิกษุหลายรูปไป.
               ภิกษุเหล่านั้นไปถึงแล้ว ได้เรียนว่า ท่านธรรมทินนะครับ ภิกษุสงฆ์เรียกหาท่าน. ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาตนหรือคนอื่น. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านสัตบุรุษ เราทั้งหลายแสวงหาตน.
               พระเถระนั้นได้ให้กรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตกันหมดทุกรูป. ภิกษุสงฆ์จึงได้ส่งภิกษุจำพวกอื่นไปอีก. ภิกษุที่สงฆ์ส่งไปอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็ได้บรรลุอรหัตเหมือนกันทั้งหมดแล้วอยู่ (กับพระเถระนั้น). ต่อจากนั้นมา พระสงฆ์เห็นว่า พระที่ไปๆ แล้วไม่กลับมา จึงได้ส่งภิกษุหลวงตาอีกรูปหนึ่งไป.
               หลวงตานั้นครั้นไปถึงแล้ว ได้พูดว่า ข้าแต่ท่านธรรมทินนะ ภิกษุสงฆ์สำนักติสมหาวิหารส่งพระมาที่สำนักท่านถึง ๓ ครั้ง แต่ท่านเองไม่ทำความเคารพอาณัติสงฆ์ ไม่มา (ไปตามคำสั่ง).
               พระเถระตอบว่า นี่อะไรกัน? แล้วให้หลวงตานั้นรับเอาบาตรและจีวรโดยไม่ต้องเข้าบรรณศาลา แล้วออกไปในทันทีทันใดนั่นแหละ. ท่านได้แวะไปยังหังกนวิหาร๑- ในระหว่างทาง
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น ตงฺขณวิหารํ ที่อยู่ชั่วคราว.

               และในหังกนวิหารนั้น มีมหาเถระรูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ ล่วงแล้ว ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์ด้วยมานะยิ่ง. พระเถระเข้าไปหาท่านไหว้ กระทำปฏิสันถาร แล้วได้เรียนถามถึงคุณธรรมที่ได้บรรลุ. พระเถระกล่าวว่า เออ ท่านธรรมทินนะ กิจที่บรรพชิตพึงทำ ผมได้ทำเสร็จนานแล้ว บัดนี้ ผมก็พรรษา ๖๐ ล่วงแล้ว.
               ท่านธรรมทินนะเรียนถามว่า ใต้เท้าครับ ใต้เท้ายังใช้ฤทธิ์อยู่บ้างหรือไม่?
               ท่านตอบว่า ใช้อยู่ ท่านธรรมทินนะ.
               ท่านธรรมทินนะเรียนว่า ดีแล้วครับ ใต้เท้า ขอนิมนต์ใต้เท้าเนรมิตช้างกำลังเดินมาประจันหน้าใต้เท้า (ให้ดู) เถิด.
               พระเถระรับคำนิมนต์แล้วได้เนรมิตช้างเชือกใหญ่เผือกผ่อง เป็นที่สถิตแห่งคชลักษณ์ ๗ ประการ ตกมันกล้า แกว่งหาง สอดงวงเข้าปาก รี่มาประจันหน้าคล้ายกับจะเอางาทั้ง ๒ แทง ท่านเห็นช้างเชือกนั้นที่ตนเนรมิตขึ้นเอง กลัวเริ่มจะวิ่งหนี ในเวลานั้นเอง ท่านก็รู้ตัวว่า เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จึงนั่งกระโหย่งลงแทบบาทมูลของท่านธรรมทินนะ แล้วกล่าวว่า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่ผมเถิด ท่านขอรับ.
               ท่านธรรมทินนะได้พูดเอาใจพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้เศร้าโศก อย่าได้เสียใจ มานะยิ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะการกบุคคลทั้งหลายเท่านั้น แล้วได้ให้กรรมฐาน (แก่พระเถระ).
               พระเถระดำรงอยู่ในโอวาทของท่านแล้วได้บรรลุพระอรหัต.
               ถึงพระเถระ (อีกรูปหนึ่ง) ก็เช่นกันอยู่ที่จิตตลดาบรรพต.
               ท่านธรรมทินนะเข้าไปหาท่าน แล้วถามอย่างนั้นเหมือนกัน.๒- ทั้งท่านก็ได้พยากรณ์อย่างนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๒- ฉบับพม่าเป็น ตเถว จึงได้แปลเช่นนั้น

               ถัดจากนั้น ท่านธรรมทินนะก็ได้กล่าวกะท่านว่า ท่านได้ใช้ฤทธิ์บ้างหรือไม่? พระเถระตอบรับคำ. ท่านธรรมทินนะเรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญดีแล้วขอรับ ขอให้ท่านเนรมิตสระโบกขรณีขึ้น ๑ สระเถิด. พระเถระได้เนรมิต (ตามที่ขอร้อง) ท่านธรรมทินนะเรียนว่า ท่านขอรับ ขอให้ท่านเนรมิตกอบัวขึ้นในสระนี้ด้วยเถิด. พระเถระก็เนรมิตกอบัวขึ้น (ตามที่ขอร้อง). ท่านธรรมทินนะขอร้องว่า ขอให้ท่านเนรมิตร่างหญิงคนหนึ่งยืนร้องร่ายรำด้วยเสียงไพเราะอยู่บนกอบัวนั้นเถิด. พระเถระก็เนรมิตหญิงนั้น (ตามที่ขอร้อง). ท่านธรรมทินนะจึงเรียนว่า ขอให้ท่านเพ่งพินิจหญิงนั้นบ่อยๆ แล้วตัวท่านเองก็เข้าปราสาทไป. เมื่อพระเถระเพ่งหญิงที่เนรมิตขึ้นนั้น กิเลสที่ข่มไว้เป็นเวลา ๖๐ ปีก็หวั่นไหว.
               ในครั้งนั้น ท่านรู้ตัวจึงขอเรียนกรรมฐานในสำนักของท่านธรรมทินนเถระ และได้บรรลุพระอรหัตเหมือนกับพระเถระรูปก่อน.
               ส่วนท่านธรรมทินนะก็ได้ไปยังติสสมหาวิหารตามลำดับ และในเวลานั้น พระเถระทั้งหลายกวาดลานพระเจดีย์แล้วนั่งกรรมฐาน ยังปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น.
               นัยว่า การทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรของท่านเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีพระเถระแม้แต่รูปเดียว บรรดาพระเถระเหล่านั้นจะบอกจะถามท่านธรรมทินนะว่า ท่านจงวางบาตรและจีวรไว้ตรงนี้. แต่ก็รู้กันว่า นั่นคงจะเป็นท่านธรรมทินนะ จึงได้พากันถามปัญหาท่าน. ท่านตอบโต้ตัดปัญหาที่ถามๆ มา เหมือนกับใช้ดาบที่คมตัดมัดก้านดอกโกมุทให้ขาดสะบั้นฉันนั้น แล้วเอานิ้วเท้ากดมหาปฐพี และพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาปฐพีนี้แม้จะไม่มีจิตใจ ยังรู้คุณค่าของธรรมทินนะ แต่ท่านทั้งหลายไม่รู้จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
                         ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจ ยังรู้คุณค่าน้อยใหญ่
                         ส่วนท่านทั้งหลายมีจิตใจ แต่ไม่รู้คุณค่าน้อยใหญ่.
               และในทันใดนั่นเอง ท่านก็ได้เหาะขึ้นไปบนอากาศ ไปยังตลังคติสสบรรพตนั่นเอง.

               สัลเลขธรรมคือฌาน - วิปัสสนา               
               [๑๐๒] อธิมานะย่อมเกิดขึ้นแก่การกบุคคลเท่านั้น ดังที่กล่าวมานี้แล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกฌานด้วยสามารถแห่งภิกษุทั้งหลายผู้เช่นนั้น จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า "ฐานํ โข ปน."
               บทว่า ฐานํ โข ปน นั้นมีอรรถาธิบายว่า เหตุนี้มีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี คือภิกษุลางรูปในศาสนานี้ สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าปฐมฌานอันเป็นสาธารณะแก่ปริพาชกนอกศาสนาทั้งหลายอยู่.
               แต่คำใดว่า ข้อว่า ตสฺส เอวมสฺส สลฺเลเขน วิหรามิ (เธอพึงมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า เราอยู่ด้วยสัลเลขธรรม ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส) ความว่า วิธีปฏิบัติใดย่อมขัดเกลากิเลสได้ เราอยู่ด้วยวิธีปฏิบัตินั้น คำนั้นไม่ถูก เพราะว่า ฌานของภิกษุผู้มีมานะยิ่ง ไม่เป็นสัลเลขธรรมหรือสัลเลขปฏิทา.๑-
____________________________
๑- ฉ. น หิ อธิมานิกสฺส ภิกฺขุโน ฌานํ สลฺเลโข วา สลฺเลขปฏิปทา วา โหติ แปลตามนี้.

               เพราะเหตุไร?
               เพราะไม่เป็นเบื้องบาทของวิปัสสนา.
               อธิบายว่า เธอเข้าฌาน ครั้นออกจากฌานแล้ว ก็ไม่พิจารณาสังขารทั้งหลาย. ส่วนฌานก็ทำเพียงแต่ให้จิตของเธอเป็นเอกัคคตาเท่านั้น เธอก็เป็นผู้อยู่สบายในปัจจุบัน.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสว่า
               ดูก่อนจุนทะ ฌานธรรมเหล่านั้น เราตถาคตไม่เรียกว่าเป็นสัลเลขธรรมในวินัยของพระอริยเจ้าเลย แต่ฌานธรรมเหล่านั้น เราตถาคตเรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรม (ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) ในวินัยของพระอริยเจ้า.
               คำว่า เอเต (เหล่านั้น) ในพระพุทธพจน์นั้น พึงทราบว่าเป็นพหุพจน์ด้วยอำนาจแห่งฌาน. มีคำอธิบายว่า เอเต โยค ปฐมชฺฌานธมฺมา (แปลว่า ธรรมคือปฐมฌานเหล่านั้น).
               อีกอย่างหนึ่ง (เป็นพหุพจน์) ด้วยอำนาจแห่งสมาบัติ. อธิบายว่า ปฐมฌานแม้ฌานเดียว แต่เป็นไปโดยการเข้าบ่อยๆ ก็ถึงความเป็นของมากได้.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นพหุพจน์ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์.
               อธิบายว่า ปฐมฌานแม้ฌานเดียวก็ถึงความเป็นของมากได้โดยการเป็นไปในอารมณ์ทั้งหลายมีปฐวีกสิณเป็นต้น.
               ในทุติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน ก็นัยนี้.
               แต่ในอรูปฌานทั้งหลาย (คำว่าเหล่านั้น) พึงทราบว่าเป็นพหุพจน์ ด้วยอำนาจแห่งเหตุทั้ง ๒ ในฌานก่อน (จตุตถฌาน) นั่นเอง เพราะไม่มีความต่างกันแห่งอารมณ์.
               ก็เพราะเหตุที่ทั้งองค์ทั้งอารมณ์ของอรูปฌานเหล่านั้น สงบ.
               อธิบายว่า ทั้งดับสนิททั้งละเอียด เพราะฉะนั้น ทั้งองค์ทั้งอารมณ์เหล่านั้น พึงทราบว่า พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ฌานธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันสงบ เป็นธรรมเครื่องอยู่ (สันตวิหารธรรม). นี้เป็นการขยายความทั่วไปของอรูปฌานทั้ง ๔ เหล่านั้นก่อน.
               ส่วนการขยายความพิเศษควรกล่าว (อธิบาย) ตามทำนองบทเป็นต้นว่า เพราะล่วงเลยรูปสัญญาไปโดยประการทั้งปวง. การขยายความนั้นได้กล่าว (อธิบาย) ไว้ทุกอย่างในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วแล.
               [๑๐๓] เพราะเหตุที่วิหารธรรมคือฌานของภิกษุผู้มีอธิมานะ ไม่เป็นสัลเลขวิหารธรรม เพราะไม่เป็นบาทของวิปัสสนา ด้วยว่า เธอเข้าฌาน ครั้นออกจากฌานแล้ว หาได้พิจารณาสังขารทั้งหลายไม่ แต่ทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรมของเธอเป็น (เพียง) ทำให้จิตเป็นเอกัคคตาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้น จึงทรงจำแนกรูปฌานและอรูปฌานไว้ และต่อไปนี้ เมื่อจะทรงแสดงเรื่องนั้น และสัลเลขธรรมนั้นด้วยอาการ ๔๔ อย่าง จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า อิธ โข ปน โว ดังนี้.

               บาทของวิปัสสนา               
               [๑๐๔] ก็เหตุไฉน ธรรมทั้งหลายมีอวิหิงสาเป็นต้นเท่านั้น นอกจากสมาบัติทั้ง ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเป็นสัลเลขธรรม?
               เพราะธรรมทั้งหลายมีอวิหิงสาเป็นต้น เป็นบาทของวิปัสสนาที่เป็นโลกุตระได้.
               อันที่จริง สมาบัติทั้ง ๘ ของคนภายนอก (พุทธศาสนา) ทั้งหลายเป็นบาทของวัฏฏะเท่านั้น. แต่ในศาสนา (พุทธ) แม้สรณคมน์ ก็พึงทราบว่าเป็นบาทของโลกุตตรธรรมได้ตามพระสูตรนี้โดยเฉพาะ จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมทั้งหลายมีอวิหิงสาเป็นต้นเล่า (ที่จะเป็นไปไม่ได้).
               อนึ่ง ทานที่บุคคลถวายแก่ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะในศาสนา (พุทธ) มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่คนนอกศาสนาที่ได้สมาบัติ ๘ แม้มีอภิญญา ๕ ก็ตาม. เพราะว่าในทักขิณาวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อความนี้ จึงได้ตรัสไว้ว่า ทักขิณามีผลคูณด้วยแสนโกฏิ ทายกพึงหวังได้ เพราะให้ทานแก่บุคคลนอกศาสนาผู้ปราศจากความยินดีในกามทั้งหลาย. แต่ทักขิณามีผลนับไม่ถ้วน คำนวณไม่ถูก ทายกพึงหวังได้ เพราะให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. จะกล่าวถึงทำไมสำหรับพระโสดาบัน.
               ความจริง ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ในทักขิณาวิภังคสูตรนั้น พระองค์ทรงประสงค์เอาตั้งแต่การถึงสรณะเป็นต้นไป.
               นี้เป็นการประกอบความตามพระบาลีในพระสูตรนี้ก่อน.
               ส่วนในการพรรณนาความตามลำดับบท พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิธ นี้เป็นคำแสดงเรื่องมีการไม่เบียดเบียนเป็นต้น.
               คำว่า โข ปน เป็นเพียงนิบาต.
               คำว่า โว เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               ก็ในคำว่า อิธ เป็นต้นนี้ มีเนื้อความโดยย่อดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนจุนทะ เธอทั้งหลายควรทำการขัดเกลากิเลส (สัลเลขะ) ในเรื่องการเบียดเบียนเป็นต้นนี้นั้น ที่เราตถาคตกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า คนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสโดยสังเขปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงขยายความให้พิสดาร จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า คนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน แต่เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันในเพราะเรื่องนี้ เธอทั้งหลายควรบำเพ็ญสัลเลขธรรมดังที่ว่ามานี้.
               ในจำนวนคำเหล่านั้น คำว่า ปเร (คนเหล่าอื่น) ได้แก่ ผู้ใด ใครก็ตามที่ประกอบสัลเลขธรรมนี้เนืองๆ.
               ข้อว่า วิหึสกา ภวิสฺสนฺติ (จักเป็นผู้เบียดเบียนกัน) ความว่า จักเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยเครื่องเบียดเบียนทั้งหลาย เช่นด้วยฝ่ามือหรือด้วยก้อนดินเป็นต้น.
               ข้อว่า มยเมตฺถ อวิหึสกา ภวิสฺสาม (เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันในเพราะเรื่องนี้) ความว่า ส่วนเราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันในเพราะเรื่องที่เป็นเหตุให้คนอื่นเขาเบียดเบียนกันอย่างนี้เท่านั้น คือเราทั้งหลายจักอยู่กันโดยไม่ให้เกิดความเบียดเบียนกันขึ้น.
               บทว่า อิติ สลฺเลโข กรณีโย (เพราะเหตุอย่างนี้ การขัดเกลากิเลสเป็นสิ่งที่ควรทำ) ความว่า เธอทั้งหลายควรทำสัลเลขธรรมอย่างนี้. และการไม่เบียดเบียนกันนั่นเอง พึงทราบว่าเป็นสัลเลขธรรมในที่นี้ เพราะว่าการไม่เบียดเบียนกันจะขัดเกลาคือตัดการเบียดเบียนกันได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า สัลเลขะ.
               ในทุกข้อก็มีนัยนี้.
               แต่มีความแปลกกันอย่างนี้ (คือ) ทิฏฐิในคำว่า ปเร มิจฺฉาทิฏฺฐี (คนอื่นจักเป็นผู้มีความเห็นผิด) นี้พึงทราบว่า พระองค์ตรัสทิฏฐิไว้โดยทรงรวมมิจฉาทิฏฐิข้อสุดท้ายของกรรมบถ (อกุศลกรรมบถ ๑๐) กับมิจฉาทิฏฐิข้อต้นของมิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) เข้าด้วยกัน.
               อนึ่ง สัมมาทิฏฐิในฐานะที่ตรัสไว้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีความเห็นถูกในเพราะเรื่องนี้ กับกรรมบถ ในคำว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตในเพราะเรื่องนี้ เป็นต้นนี้จักมีชัดแจ้งในสัมมาทิฏฐิสูตรโดยพิสดาร.
               ส่วนมิจฉาทิฏฐิในมิจฉัตตะเป็นต้นจักแจ้งชัดในเทฺวธาวิตักกสูตร (ข้างหน้า).

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัลเลขสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 91อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 12 / 110อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1237&Z=1517
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=4960
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=4960
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :