ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 94อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 11 / 172อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
ลักขณสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               เอณิชงฺฆลกฺขณวณฺณนา               
               ในบทว่า สิปฺปํ วา เป็นต้น ความว่า ศิลปะแม้สองอย่างนี้ คือศิลปะอย่างต่ำและศิลปะอย่างสูง ชื่อว่าศิลปะ. ศิลปะอย่างต่ำ ได้แก่ศิลปะทำท่อ ศิลปะทำหม้อ ศิลปะช่างทอ ศิลปะช่างตัดผม ศิลปะอย่างสูง ได้แก่ลวดลาย การคำนวณอย่างสูง.
               บทว่า วิชฺชา ความว่า วิชามีหลายอย่างมีวิชาหมองูเป็นต้น.
               บทว่า จรณะ ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ปาฏิโมกข์สังวรศีล.
               บทว่า กรรม ได้แก่ ปัญญาความรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน.
               บทว่า กิลิเสยฺยุํ แปลว่า พึงลำบาก.
               อธิบายว่า พระมหาบุรุษคิดว่า ขึ้นชื่อว่าอันเตวาสิกวัตรเป็นทุกข์ อันเตวาสิกวัตรนั้นอย่าได้มีแก่พวกเขานานนัก.
               บทว่า อันคู่ควรแก่พระราชา ความว่า ราชพาหนะมีช้างและม้าเป็นต้นอันสมควรแก่พระราชา ราชพาหนะเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวว่า ราชงฺคานิ เพราะเป็นองค์แห่งเสนาของพระราชา. เพราะบทว่า เครื่องราชูปโภค คือราชภัณฑะอันเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคและรัตนะ ๗ อย่างเหล่านั้นนั่นแลของพระราชา. บทว่า อันสมควรแก่พระราชา นี้ถือเอาเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นทั้งหมด. บทว่า อันสมควรแก่สมณะ ได้แก่ไตรจีวรเป็นต้นอันสมควรแก่พวกสมณะ. บทว่า อันเป็นองค์ของสมณะ ได้แก่บริษัท ๔ อันเป็นส่วนพวกสมณะ. บทว่า เครื่องอุปโภคของสมณะ ได้แก่บริขารอันเป็นเครื่องอุปโภคของสมณะ. บทว่า อันสมควรแก่สมณะ เป็นชื่อของบริขารเหล่านั้น.
               ก็การบอกศิลปะเป็นต้นโดยความเคารพตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้ ไม่บอกศิลปะโดยความเคารพอย่างนี้ ยังพวกอันเตวาสิกให้ลำบากด้วยการนั่งหลังงอและเหยียดแข้งเป็นต้น ย่อมเป็นเหมือนเนื้อแข้งของผู้นั้นถูกขีดให้ตกไป. แต่โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงบอกด้วยความเคารพด้วยเหตุนี้ ดังนั้น พระลักษณะคือมีพระชงฆ์ดุจแข้งทรายเรียวขึ้นไปโดยลำดับย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีลาภอันสมควร ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ยตุปฆาตาย คือ ศิลปะอันใดย่อมไม่เป็นเพื่อเข้าไปเบียดเบียนใครๆ. บทว่า กิลิสฺสติ แปลว่า จักลำบาก. บทว่า สุขุมตฺตโจตฺถฏา แปลว่า หุ้มด้วยหนังอันละเอียด.
               ถามว่า ก็ลักษณะอื่นย่อมเกิดขึ้นด้วยกรรมอื่นหรือ.
               ตอบว่า ไม่เกิด. ก็ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นอนุพยัญชนะ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในข้อนี้.

               สุขุมจฺฉวิลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า สมณํ วา ความว่า ชื่อว่าสมณะ เพราะอรรถว่ามีบาปสงบแล้ว. บทว่า พฺราหฺมณํ วา ความว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะอรรถว่ามีบาปอันลอยแล้ว.
               ในบทว่า เป็นผู้มีปัญญามากเป็นต้น ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยมหาปัญญา เป็นต้น.
               ความต่างกันของมหาปัญญาเป็นต้น มีดังต่อไปนี้.
               ในบททั้งหลายนั้น มหาปัญญา เป็นไฉน๑-
               มหาปัญญา คือ บุคคลย่อมกำหนดสีลขันธ์อันมีคุณมาก กำหนดสมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันมีคุณมากเพราะกำหนดฐานะและอฐานะ วิหารสมาบัติ อริยสัจจ์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท พละ โพชฌงค์ อริยมรรค สามัญญผล อภิญญา นิพพาน อันมีคุณมาก.
               ปุถุปัญญา เป็นไฉน
               ปุถุปัญญา คือ ญาณย่อมเป็นไปในขันธ์ต่างๆ มาก ย่อมเป็นไปในญาณธาตุต่างๆ มาก ในอายตนะต่างๆ มาก ในปฏิจจสมุปบาทมาก ในการได้รับสุญญตะต่างๆ มาก ในอรรถต่างๆ มาก ในธรรมทั้งหลาย ในนิรุติทั้งหลาย ในปฏิภาณทั้งหลาย ในสีลขันธ์ต่างๆ มาก ในสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ มาก ในฐานะและอฐานะต่างๆ มาก ในวิหารสมาบัติต่างๆ มาก ในอริยสัจจ์ต่างๆ มาก ในสติปัฏฐานต่างๆ มาก ในสัมมัปปธานทั้งหลาย ในอิทธิบาททั้งหลาย ในอินทรีย์ทั้งหลาย ในพละทั้งหลาย ในโพชฌงค์ทั้งหลาย ในอริยมรรคต่างๆ มาก ในสามัญญผลทั้งหลาย ในอภิญญาทั้งหลาย ในพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์ ล่วงธรรมอันสาธารณ์แก่ปุถุชน.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๖๕

               หาสปัญญา เป็นไฉน๒-
               หาสปัญญา คือ บุคคลบางพวกในโลกนี้เป็นผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบันเทิง ย่อมบำเพ็ญศีลบริบูรณ์ บำเพ็ญอินทรียสังวรบริบูรณ์ บำเพ็ญโภชเนมัตตัญญู ชาคริยานุโยค สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ให้บริบูรณ์. บุคคลเป็นผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบันเทิง ย่อมแทงตลอดฐานะและอฐานะ บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง ย่อมบำเพ็ญวิหารสมาบัติให้บริบูรณ์ บุคคลมากด้วยความรื่นเริง ย่อมแทงตลอดอริยสัจจ์. บุคคลย่อมเจริญสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง ย่อมทำให้แจ้งซึ่งสามัญญผล ย่อมแทงตลอดอภิญญาทั้งหลาย บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบันเทิง ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๗๔

               ชวนปัญญา เป็นไฉน
               ชวนปัญญา คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน มีในภายใน มีในภายนอก หยาบ ละเอียด เลวหรือประณีต รูปใดอยู่ไกลหรือใกล้ รูปนั้นทั้งหมดย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน... วิญญาณทั้งหมดนั้นย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา. จักษุ... ชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา
               รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป. ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าน่ากลัว. ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าหาสาระมิได้ เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปเร็ว ในพระนิพพานอันดับเสียซึ่งรูปโดยไม่เหลือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ... ชรา มรณะที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป... ทำให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปเร็ว ในพระนิพพานอันดับเสียซึ่งชราและมรณะโดยไม่เหลือ.
               รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีสิ้น มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีคลายกำหนัดเป็นธรรมดา มีการดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปเร็ว ในพระนิพพานอันดับรูปโดยไม่เหลือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ... ชราและมรณะอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีสิ้น มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีคลายกำหนัดเป็นธรรมดา มีการดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปในพระนิพพานอันดับชราและมรณะโดยไม่เหลือ.
               ติกขปัญญา เป็นไฉน
               ติกขปัญญา คือบุคคลย่อมตัดกิเลสได้เร็ว ย่อมไม่อาศัยกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาศัยคือละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ถึงความไม่มีซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว วิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ธรรมอันลามกเป็นอกุศล ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ราคะ, โทสะ, โมหะ, โกธะ, อุปนาหะ ผูกโกรธไว้, มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, ปลาสะ ตีเสมอท่าน, อิสสา ริษยา, มัจฉริยะ ตระหนี่, มายา เจ้าเล่ห์, สาเถยยะ โอ้อวด, ถัมภะ หัวดื้อ, สารัมภะ แข่งดี, มานะ ถือตัว, อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, มทะ มัวเมา, ปมาทะ เลินเล่อ, กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขาร การปรุงแต่งทั้งปวง กรรมอันทำให้ไปสู่ภพทั้งปวง อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ เป็นอันได้บรรลุแล้วทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา.
               นิพเพธิกปัญญา เป็นไฉน
               นิพเพธิกปัญญา คือ บุคคลบางพวกในโลกนี้มากไปด้วยความหวาดสะดุ้ง มากไปด้วยความหวาดกลัว มากไปด้วยความกระสัน มากไปด้วยความไม่พอใจ มากไปด้วยความไม่ยินดี ย่อมไม่ยินดีจนออกหน้าในสังขารทั้งปวง บางพวกเบื่อหน่ายคือทำลายกองโลภอันตนไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยทำลาย บางพวกเบื่อหน่ายคือทำลายกองโทสะ กองโมหะ ความโกรธ การผูกโกรธ... กรรมอันจะนำไปสู่ภพทั้งปวงอันตนไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยทำลาย.๓-
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๗๗

               บทว่า เข้าไปหาบรรพชิต คือ เข้าไปใกล้บรรพชิตผู้เป็นบัณฑิต.
               บทว่า เป็นผู้มุ่งประโยชน์ในภายใน ความว่า บุคคลบางคนมีปกติแสวงโทษ กระทำโทษไว้ภายใน เพราะความที่ตนมีจิตขุ่นเคืองแล้วตรึกตรองฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้ทรงตรึกตรองเหมือนอย่างนั้น ทรงกระทำประโยชน์ไว้ภายในแล้วทรงตรึกตรอง คือใคร่ครวญด้วยคำอันประกอบด้วยประโยชน์.
               บทว่า ปฏิลาภคเตน คือ ไปเพื่อหวังลาภ. บทว่า อุปฺปาฏนิมิตฺตโกวิทา คือ เป็นผู้ฉลาดในลางและนิมิต. บทว่า อเวจฺจ ทกฺขติ รู้แล้วจักเห็น.
               บทว่า อตฺถานุสิฏฺฐีสุ ปริคฺคเหสุ จ ความว่า ในการกำหนดในการสั่งสอนที่เป็นประโยชน์ คือญาณทั้งหลายอันกำหนดถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์.

               สุวณฺณวณฺณลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ความว่า ไม่ใช่เพราะความที่ตนละความโกรธได้ด้วยอนาคามิมรรค เพราะความที่ตนไม่อยู่ในอำนาจของความโกรธอย่างนี้ว่า แม้หากว่า ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราก็จะบรรเทาความโกรธนั้นเร็วพลันทีเดียว. บทว่า ไม่ขัดใจ คือ ไม่ติดเหมือนหนามงอๆ แทงจุดสำคัญของร่างกายในที่นั้นๆ.
               ในบทว่า ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย เป็นต้น ความว่า ความโกรธเกิดขึ้นก่อน ความพยาบาทมีกำลังกว่าความโกรธนั้น ความจองล้างจองผลาญมีกำลังกว่า ความพยาบาทนั้น พระตถาคตไม่ทรงทำด้วยคำทั้งหมดนั้น จึงไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ.
               บทว่า ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ คือไม่ทำให้ปรากฏด้วยกายวิการหรือวจีวิการ ความเป็นผู้ไม่โกรธตลอดกาลนานและให้เครื่องลาดเนื้อละเอียดเป็นต้น ชื่อว่ากรรมในที่นี้.
               จริงอยู่ ผิวพรรณของคนมักโกรธเป็นผิวพรรณเศร้าหมอง หน้าตาดูน่าเกลียด ชื่อว่าเครื่องตกแต่งเช่นผ้าสำหรับปกปิดก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ชนใดมักโกรธท่าเดียวและไม่ให้ผ้าสำหรับปกปิด ชนนั้นจงรู้ความที่เขาเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีทรวดทรงน่าเกลียด. แต่หน้าของคนไม่โกรธ ย่อมแจ่มใส ผิวพรรณย่อมผ่องใส.
               จริงอยู่ สัตว์เป็นผู้น่าเลื่อมใสด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ด้วยให้อามิส ด้วยให้ผ้า ด้วยเครื่องกวาดหรือด้วยความเป็นผู้ไม่โกรธ. เหตุแม้ ๔ อย่างนี้ ก็เป็นอันพระตถาคตได้ทรงกระทำแล้ว ตลอดกาลนานทีเดียว ด้วยเหตุนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่เหตุเหล่านี้ พระตถาคตทรงกระทำแล้ว ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะมีสีเหมือนทองย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะนี้แล ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้ได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดเป็นต้น ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า อภิวิสชฺชิ แปลว่า ตกแล้ว. ความว่า ฝนตกทั่วแผ่นดิน ฝนท่านกล่าวว่า สุระ เหมือนฝนตกทั่วแผ่นดินใหญ่.
               บทว่า สุรวรตโรริว อินฺโท คือ ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าสุระทั้งหลาย.
               บทว่า ไม่ปรารถนา เป็นนักบวช คือ ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่นักบวช. บทว่า มหตึ มหึ คือ แผ่นดินใหญ่. บทว่า อจฺฉาทนวตฺถโมกฺขปาปุรณานํ คือ ผ้านุ่งและผ้าห่มอันสูงสุด. บทว่า ปนาโส แปลว่า ความพินาศ.

               กโสหิตวตฺถคุยฺหลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า นำมารดากับบุตรให้พบกัน ความว่า พระราชาผู้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ สามารถทำกรรมนี้ได้ เพราะฉะนั้น แม้พระโพธิสัตว์ เมื่อครองราชสมบัติก็ทรงตั้งมนุษย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงทำการงานที่ประตูพระนคร ๔ แห่งมีทางสี่แพร่งเป็นต้นภายในพระนคร ในทิศทั้ง ๔ นอกพระนคร พวกมนุษย์เหล่านั้นเห็นมารดาบ่นเพ้อหาบุตรว่า บุตรของเราอยู่ไหน เราไม่เห็นบุตรดังนี้ แล้วพูดว่า มานี้เถิดแม่ ท่านจะเห็นบุตร ได้พามารดานั้นไปอาบน้ำให้บริโภคแล้วแสวงหาบุตรแสดงแก่มารดานั้น.
               ในบททั้งปวงมีนัยนี้
               การทำให้ญาติทั้งหลายมีความพร้อมเพรียงกันตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. ก็ญาติทั้งหลายเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกันแล้ว ย่อมปกปิดโทษของกันและกัน.
               จริงอยู่ ชนเหล่านั้น ในเวลาทะเลาะกันย่อมทะเลาะกันก็จริง แต่เมื่อเกิดโทษขึ้นแก่คนหนึ่งก็ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ เมื่อมีคนพูดว่านี้เป็นโทษของคนคนหนึ่ง ทั้งหมดจะลุกขึ้นพูดว่า ใครเห็น ใครได้ยิน ในบรรดาญาติของเราไม่มีผู้ทำเห็นปานนี้.
               ก็พระตถาคตเมื่อทรงทำการสงเคราะห์ญาตินั้นเป็นอันทรงทำกรรมคือการปกปิดโทษนี้ตลอดกาลนาน. ลำดับนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่กรรมเห็นปานนี้ อันพระตถาคตนั้นทรงกระทำ ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะคือมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝักย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีโอรสมาก ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า วตถจฺฉาทิยํ ได้แก่ ปกปิดด้วยผ้า คือซ่อนไว้ในผ้า. บทว่า อมิตฺตตาปนา แปลว่า เผาผลาญพวกอมิตร. บทว่า คิหิสฺส ปีติชนนา คือ ยังปีติให้เกิด เพื่อเป็นคฤหัสถ์.

               ปริมณฺฑลอโนนมชณฺณุปริมสนลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน ความว่า ย่อมรู้จักบุคคลที่เสมอกัน ด้วยเหตุนั้นๆ อย่างนี้ว่า ผู้นี้เสมอด้วยตารุกขนิครนถ์ ผู้นี้เสมอด้วยโปกขรสาติ. บทว่า ย่อมรู้จักบุรุษ คือ รู้จักบุรุษว่า บุรุษนี้เป็นผู้ประเสริฐที่สุด. บทว่า รู้จักบุรุษพิเศษ คือ ไม่ทำถั่วเขียวเสมอด้วยถั่วราชมาศ ย่อมรู้ความวิเศษของผู้ประเสริฐโดยคุณ. บทว่า บุคคลนี้ควรสักการะนี้ ความว่า บุรุษนี้ควรท่านสักการะชื่อนี้ เขาได้เป็นการกบุคคล เพราะรู้จักบุรุษพิเศษว่า บุรุษนี้ได้เป็นผู้ทำให้เป็นบุรุษพิเศษมาก่อน เขาได้ให้ทานแก่ผู้ควร.
               จริงอยู่ ผู้ใดให้กหาปณะกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ควรกหาปณะหนึ่ง ผู้นั้นย่อมทำให้กหาปณะกึ่งหนึ่งของผู้อื่นฉิบหายไป ผู้ใดให้สองกหาปณะ ผู้นั้นย่อมทำให้หนึ่งกหาปณะของตนฉิบหายไป เพราะฉะนั้น ไม่ทำแม้ทั้งสองอย่างนี้ ชื่อว่าเขาได้ให้ทานแก่ผู้ควร.
               ในบทว่า ทรัพย์คือศรัทธา เป็นต้น พึงทราบความที่ศรัทธาเป็นต้นเป็นทรัพย์ด้วยอรรถคือให้ได้สมบัติ กรรมคือการสงเคราะห์ผู้เสมอกัน อันบุคคลรู้จักบุรุษพิเศษ กระทำแล้วตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้กรรมนั้นของพระโพธิสัตว์ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะสองอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะสองอย่างนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ธนสมบัติ ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ตุลิย แปลว่า พิจารณาแล้ว. บทว่า ปวิจิย แปลว่า ค้นคว้าแล้ว. บทว่า มฺหาชนสงฺคาหกํ คือสงเคราะห์มหาชน. บทว่า สเมกฺขมาโน คือ เพ่งเสมอ.
               บทว่า มนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญายิ่ง ความว่า มนุษย์ผู้ทำนายลักษณะมีปัญญายิ่ง คือมีปัญญาละเอียด. บทว่า พหุวิวิธคิหีนํ อรหานิ แปลว่า สมควรแก่พวกคฤหัสถ์หลายๆ อย่าง. บทว่า ปฏิลภติ ทหโร สุสู กุมาโร ความว่า พวกนักพยากรณ์ทำนายว่า พระโพธิสัตว์หนุ่มนี้จักได้เป็นพระกุมาร. บทว่า มหิปฺปติสฺส คือ พระราชา.

               สีหปุพฺพทฺธกายาทิติลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า โยคกฺเขมกาโม คือใคร่ความเกษมจากโยคะ. บทว่า ด้วยปัญญา คือด้วยปัญญาแห่งกรรมอันตนทำแล้ว.
               ความเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่มหาชน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความเป็นผู้หวังความเจริญอย่างเดียว เพราะความเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่มหาชน ด้วยเหตุนี้ของพระโพธิสัตว์นั้น ดังนั้นพระลักษณะ ๓ ประการอันบริบูรณ์ครบถ้วน อันไม่เสื่อมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้น นั้นชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะ ๓ ประการนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความไม่เสื่อมจากทรัพย์เป็นต้น และจากศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ด้วยศรัทธา ความว่า ด้วยความเชื่อเพราะความสำเร็จ ด้วยความเชื่อเพราะความเลื่อมใส. บทว่า ด้วยศีล คือ ด้วยศีล ๕ ด้วยศีล ๑๐. บทว่า ด้วยสุตะ คือ ด้วยการฟังพระปริยัติ. บทว่า ด้วยพุฑฺฒิ คือ ด้วยความเจริญแห่งธรรมเหล่านั้น. อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทรงดำริอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายพึงเจริญด้วยธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร. บทว่า ด้วยธรรม คือด้วยโลกิยธรรม. บทว่า ด้วยคุณอันให้ประโยชน์สำเร็จมาก คือด้วยคุณอันสูงสุดมาก แม้อื่นๆ. บทว่า อหานธมฺมตํ คือธรรมอันไม่เสื่อม.

               รสคฺคสคฺคิตาลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ำเสมอทั่วพระวรกาย ความว่า วัตถุแม้ประมาณเท่าเมล็ดงาตั้งอยู่ที่ปลายลิ้นย่อมแผ่ไปในที่ทั้งหมดฉันใด เส้นประสาทย่อมทำรสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ำเสมอฉันนั้น.
               ความคือการกระทำให้ไม่มีโรค ชื่อว่ากรรมในที่นี้ โลหิตของผู้ถูกประหารด้วยฝ่ามือเป็นต้น ย่อมขังอยู่ในที่นั้นๆ เป็นปมโน กลัดหนองในภายในและแตกในภายในด้วยอาการอย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้มีโรคมาก. แต่พระตถาคตทรงกระทำกรรมอันทำให้ไม่มีโรคนี้ตลอดกาลนาน. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้กรรมนั้นของพระตถาคตนั้น ด้วยเหตุนี้ดังนั้น ลักษณะคือมีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันเลิศอันทำให้ไม่มีโรค ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ด้วยให้ตายเองและบังคับให้ฆ่า คือด้วยบังคับอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผู้นี้ตายจงฆ่าผู้นี้ดังนี้. บทว่า ด้วยจองจำ คือด้วยให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ. บทว่า โอชสา แปลว่า มีรสอร่อย.

               อภินีลเนตฺตโคปขุมลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า ไม่ถลึงตาดู คือไม่เพ่งด้วยอำนาจความโกรธเหมือนปูนำตาออก. บทว่า ไม่ค้อนตาดู คือไม่ชายตามอง. บทว่า ไม่ชำเลืองตาดู ความว่า ผู้ที่โกรธหลับตา ไม่ดู ในขณะที่คนอื่นเขาดู กลับโกรธมองดูผู้ที่เดินไปอีก พระตถาคตมิได้เป็นอย่างนั้น. บาลีว่า วิเธยฺยเปกฺขิตา ดังนี้บ้าง นี้ก็มีความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า เป็นผู้ตรงมีใจตรงเป็นปกติ ความว่า เป็นผู้มีใจตรง เป็นผู้เพ่งตรง คือได้เป็นผู้เพ่งอย่างเปิดเผย คือไพบูลย์กว้างขวางเช่นเดียวกับใจตรง. บทว่า ดูน่ารัก คือพึงดูด้วยใจรัก.
               กรรมคือการดูด้วยจักษุเป็นที่รักของมหาชนตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้ ผู้โกรธเมื่อแลดูย่อมเป็นเหมือนตาบอดข้างเดียว เหมือนตากาย่อมจะเป็นคนตาเหล่และตาขุ่นมัวทีเดียว. แต่ผู้มีจิตผ่องใสเมื่อแลดู ประสาทมีสี ๕ ของตาทั้งสองนั้นปรากฏ ก็พระตถาคตย่อมทรงแลดูอย่างนั้น.
               อนึ่ง โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงดูรู้ความที่พระตถาคตนั้นทรงแลดูด้วยจักษุเป็นที่รักตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการอันกระทำความสมบูรณ์แก่พระเนตรย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะทั้งสองประการนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้ดูด้วยความรัก ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า อภิโยคิโน คือประกอบในลักษณะศาสตร์.

               อุณฺหีสสีสลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า พระตถาคตเป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ความว่า ได้เป็นหัวหน้าคือเป็นผู้ใหญ่ได้ในหมู่ของชนเป็นอันมาก ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของพระตถาคตนั้น.
               ความเป็นหัวหน้า ชื่อว่ากรรมในที่นี้ ผู้ใดเป็นหัวหน้ากระทำกุศลธรรมมีทานเป็นต้น ผู้นั้นเป็นผู้ไม่เก้อเขินเงยศีรษะ เป็นผู้มีศีรษะบริบูรณ์ด้วยปีติและปราโมทย์เที่ยวไป ก็พระมหาบุรุษได้เป็นอย่างนั้น ทีนั้นโลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้กรรมคือการเป็นหัวหน้านี้ของพระมหาบุรุษนั้น ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะคือมีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้อนุวัตรตามมหาชน ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า หมู่ชนที่ช่วยเหลือ คือ พวกที่ทำการช่วยเหลือเป็นอันมากจักมีแก่พระองค์. บทว่า ครั้งนั้น พวกพราหมณ์ย่อมพยากรณ์ ความว่า พวกพราหมณ์พยากรณ์อย่างนั้น ในคราวที่พระองค์ทรงพระเยาว์. บทว่า ปฏิหารกํ แปลว่า ความเป็นผู้ช่วยเหลือ. บทว่า วิสวี แปลว่า มีความชำนาญสั่งสมแล้ว.

               เอเกกโลมตาทิลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า ประพฤติตาม คือ ประพฤติตามอัธยาศัย. การกล่าวความจริงตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้ โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระองค์ตรัสถ้อยคำไม่เป็นที่สอง คือถ้อยคำบริสุทธิ์ตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระโลมาขุมละเส้นๆ เสมอกันไปทุกขุมขนและพระลักษณะคือพระอุณณาโลมย่อมเกิด ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้อนุวัตรตามโดยความอนุวัตรตามอัธยาศัยแก่มหาชน ชื่อว่าอานิสงส์.

               จตฺตาฬีสอวิรฬทนฺตลกฺขณวณฺณนา               
               การกล่าววาจาไม่ส่อเสียดตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. บทว่า อเภชฺชปริโส แปลว่า ไม่นำบริษัทให้แตกกัน. นัยว่า ผู้กล่าววาจาส่อเสียดทำลายความสามัคคี ฟันย่อมไม่สมบูรณ์และย่อมเป็นผู้มีฟันห่าง. อนึ่ง โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตมีพระวาจาไม่ส่อเสียดตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะทั้งสองนี้ย่อมเกิด ชื่อว่าคล้ายกรรม. ลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความที่บริษัทไม่แตกกัน ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า จตุโร ทส แปลว่า ๔๐.

               ปหูตชิวฺหาพฺรหฺมสฺสรลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า อาเทยฺยวาโจ แปลว่า มีคำควรเชื่อถือได้.
               ความเป็นผู้ไม่กล่าวคำหยาบตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้.
               ผู้ใดเป็นผู้มีวาจาหยาบ ชนจงรู้ความที่เขาเหล่านั้นกลับลิ้น กล่าววาจาหยาบ ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ผู้นั้นจะมีลิ้นกระด้าง มีลิ้นอำพราง มีสองลิ้น หรือติดอ่าง.
               อนึ่ง ผู้ใดกลับลิ้นไปไม่พูดวาจาหยาบ ผู้นั้นจะเป็นผู้ไม่มีลิ้นกระด้าง ไม่มีลิ้นอำพราง ไม่สองลิ้น ลิ้นของเขาอ่อน มีสีเหมือนผ้ากัมพลสีแดง เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตมิได้กลับลิ้นไปมา แล้วตรัสวาจาหยาบด้วยเหตุนี้ ดังนั้น พระลักษณะคือมีพระชิวหาใหญ่ย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่ง เสียงของผู้กล่าววาจาหยาบย่อมแตก ชนจงรู้ความที่เขาทำเสียงแตกแล้วกล่าววาจาหยาบ ดังนั้น เขาย่อมเป็นผู้มีเสียงขาดหรือมีเสียงแตก หรือมีเสียงเหมือนกา.
               อนึ่ง ผู้ใดไม่กล่าววาจาหยาบอันทำให้เสียงแตก เสียงของผู้นั้นย่อมเป็นเสียงไพเราะและเป็นเสียงน่ารัก. เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตไม่ตรัสวาจาหยาบ อันทำให้เสียงแตก ตลอดกาลนานด้วยเหตุนี้. ดังนั้น พระลักษณะคือมีเสียงดุจเสียงพรหมย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. พระลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีวาจาควรเชื่อถือ ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ทำความเจ็บใจ คือ ทำความเจ็บใจเพราะประกอบด้วยการด่า. บทว่า พหุชนปฺปมทฺทนํ แปลว่า ย่ำยีชนเป็นอันมาก. พึงประกอบ . อักษร ในบทนี้ว่า อพาฬฺหํ คิรํ โส น ภณิ ผรุสํ ด้วยภณิศัพท์ข้างหน้า. บทว่า หนัก คือ ถ้อยคำหนักมีกำลัง คือหยาบยิ่งนัก. ในบทนี้มีอธิบายว่า เขามิได้พูดคำหนัก. บทว่า สุสหิตํ แปลว่า ประกอบความรักด้วยดี.
               บทว่า สขิลํ แปลว่า อ่อน. บทว่า วาจา คือคำพูดทั้งหลาย. บทว่า สะดวกหู ความว่า ความสุขทางหู ปาฐะว่า กณฺณสุขํ ก็มี. อธิบายว่า ความสุขย่อมมีแก่หูอย่างใด ย่อมกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า เวทยิถ แปลว่า เสวยแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมสฺส แปลว่า เป็นผู้มีเสียงดุจเสียงพรหม.

               สีหหนุลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า ไม่มีใครกำจัดได้ ความว่า เป็นผู้อันใครๆ ไม่สามารถกำจัด คือให้เคลื่อนจากคุณธรรมหรือฐานะได้. การไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ชื่อว่ากรรมในที่นี้. ผู้ใดกล่าวคำเช่นนั้น ชนจงรู้ความที่เขาเหล่านั้นคางสั่น แล้วพูดคำเพ้อเจ้อด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีคางเข้าไปแล้วในภายใน หรือมีคางคด หรือมีคางเหมือนเงื้อมเขา แต่พระตถาคตย่อมไม่ตรัสอย่างนั้น. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตนั้นไม่สั่นคางแล้วๆ เล่าๆ แล้วตรัสคำเพ้อเจ้อด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระหนุดุจคางสีหะ ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. พระลักษณะนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้อันใครกำจัดไม่ได้ ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า มีคลองพระวาจาไม่เหลวไหล คือ มีคลองพระวาจาของสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้ก่อน ดุจของสัตว์ผู้มีวาจาไม่เหลวไหล.
               บทว่า ทฺวีทุคฺคมวรตรหนุตฺตมลตฺถ ความว่า ชื่อว่า ทฺวิทุคฺคม เพราะไป ๔ เท้า. อธิบายว่า ได้ความที่สีหะประเสริฐกว่าสัตว์ ๔ เท้า.
               คำว่า มนุชาธิปติ ได้แก่ เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์. คำว่า ตถตฺโต คือ สภาพที่เป็นจริง.

               สมทนฺตสุสุกฺกทาฐตาลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า สุจิปริจาโร ได้แก่ มีบริวารสะอาด. ความเป็นผู้มีอาชีพชอบ ชื่อว่ากรรมในที่นี้. ผู้ใดสำเร็จชีวิตด้วยอาชีพเศร้าหมอง ไม่สม่ำเสมอ แม้ฟันของผู้นั้นก็ไม่เสมอ แม้เขี้ยวก็สกปรก. ก็โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงสำเร็จชีวิตด้วยอาชีพบริสุทธิ์สม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระทนต์เรียบเสมอกัน และพระลักษณะคือมีพระทาฐะขาวงามย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. พระลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารสะอาด ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า ไม่กดขี่เบียดเบียนชาวชนบท ความว่า การกดขี่หรือเบียดเบียนด้วยคนอื่นของชนชาวชนบทอันกำหนดด้วยจักรวาล ย่อมไม่มี. บทว่า นิทิวปุรวรสโม ความว่า เสมอด้วยท้าวสักกะผู้มีเมืองสวรรค์อันประเสริฐ.
               บทว่า ลปนชํ คือ ฟันอันเกิดในปาก. บทว่า ทิชสมสุกฺกสุจิโสภนทนฺโต ความว่า ชื่อว่า ทิชสมสุกฺกสุจิโสภนทนฺโต เพราะมีฟันขาวสะอาดงาม. ชื่อทิช เพราะเกิดสองหน. บทว่า น จ ชนปทตุทนํ ความว่า ชนบทอันกำหนดด้วยจักรวาฬ ไม่มีรบกวนเบียดเบียนความเจ็บป่วย.
               บทว่า ย่อมประพฤติแม้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และความสุขแก่ชนหมู่มาก ความว่า ชนเป็นอันมากเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน ย่อมประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขแก่กันและกันในชนบทนั้น.
               บทว่า วิปาโป ได้แก่ ปราศจากบาป. บทว่า ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบาก ความว่า ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบากทางกาย.
               บทว่า ผู้กำจัดกิเลสเป็นมลทิน เป็นตอ เป็นโทษ ความว่า กำจัดกิเลสทั้งปวงอันเป็นมลทินมีราคะเป็นต้น อันเป็นตอมีราคะเป็นต้น และอันเป็นโทษคือโทสะ.
               บทที่เหลือในบททั้งหมดมีอรรถง่ายนั่นแล.

               จบอรรถกถาลักขณสูตร ที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 94อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 11 / 172อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=3182&Z=3922
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=2689
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=2689
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :