ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 51อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 73อ่านอรรถกถา 11 / 94อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สัมปสาทนียสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อาเทสนวิธาเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า อาเทสนวิธาสุ คือ ในส่วนแห่งการแสดงธรรมดักใจคน.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงวิธีการแสดงธรรมดักใจคนเหล่านั้น จึงกราบทูลคำว่า จตสฺโส อิมา ดังนี้เป็นต้น. ด้วยคำว่า นิมิตฺเตน อาทิสติ นี้ พระสารีบุตรย่อมแสดงว่า ชื่อว่าการแสดงธรรมดักใจคนนี้จักมีได้ ด้วยอาคตนิมิตบ้าง ด้วยคตินิมิตบ้าง ด้วยฐิตินิมิตบ้าง.
               ในข้อนั้นมีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               พระราชาองค์หนึ่งทรงถือเอาแก้วมุกดามา ๓ ดวง แล้วตรัสถามปุโรหิตว่า อาจารย์ อะไรอยู่ในมือของเรานี้. ปุโรหิตนั้นจึงมองดูไปข้างโน้นและข้างนี้. ก็โดยสมัยนั้น ตุ๊กแกตัวหนึ่งวิ่งแล่นออกไปด้วยหมายใจว่า เราจักจับแมลงวันกินดังนี้. ในเวลาที่จะจับ แมลงวันบินหนีไปเสีย. ปุโรหิตนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช แก้วมุกดา พระเจ้าข้า ดังนี้ เพราะเหตุที่แมลงวันบินหนีพ้นไปได้. พระราชาจึงตรัสถามอีกว่า แก้วมุกดาจงยกไว้ก่อน (แต่) แก้วมุกดามีกี่ดวง. ปุโรหิตนั้นจึงมองดูนิมิตนั้นอีก. ลำดับนั้น ไก่เปล่งเสียงขันขึ้น ๓ ครั้งในที่ไม่ไกล. พราหมณ์จึงกราบทูลว่า ๓ ดวง พระเจ้าข้า ดังนี้.
               คนบางคนย่อมพูดด้วยนิมิตที่มาปรากฏอย่างนี้. พึงเข้าใจการกล่าวแม้ด้วยคตินิมิตและฐิตินิมิต โดยอุบายนั้น.
               บทว่า อมนุสฺสานํ คือ หมู่ยักษ์และปีศาจเป็นต้น.
               บทว่า เทวตานํ คือ เหล่าเทวดาผู้ดำรงอยู่ในชั้นจาตุมหาราชเป็นต้น.
               บทว่า สทฺทํ สุตฺวา ความว่า ฟังเสียงของเหล่าเทวดาและอมนุษย์ ผู้ซึ่งรู้จิตของผู้อื่นแล้วกล่าว.
               บทว่า วิตกฺกวิปฺผารสทฺทํ ได้แก่ เสียงของหมู่ชนผู้หลับและประมาทแล้วเป็นต้น ผู้เพ้ออยู่ ซึ่งบังเกิดขึ้นมาด้วยการแผ่ซ่านไปแห่งวิตก.
               บทว่า สุตฺวา คือ ได้ยินเสียงนั้น.
               เสียงนั้นเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นผู้ตรึกเรื่องใด เขาย่อมดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่งการตรึกนั้น.
               บทว่า มโนสงฺขารา ปณิหิตา คือ จิตตสังขารตั้งมั่นด้วยดีแล้ว.
               บทว่า วิตกฺเกสฺสติ คือ เขาย่อมรู้ว่า ผู้นี้จักตรึก คือจักให้ (จิตตสังขาร) เป็นไป.
               อนึ่ง เขาเมื่อรู้ ย่อมรู้ด้วยการมาของนิมิต ย่อมรู้ด้วยนิมิตอันเป็นส่วนเบื้องต้น ตรวจดูจิตในภายในสมาบัติย่อมรู้ได้.
               บุคคลย่อมรู้ว่า ในเวลาบริกรรมกสิณนั้นเอง บุคคลนี้เริ่มภาวนากสิณด้วยอาการใดจักยังปฐมฌาน ฯลฯ หรือจตุตถฌาน หรือสมาบัติ ๘ ให้เกิดได้ บุคคลนี้ชื่อว่าย่อมรู้ด้วยการมาปรากฏของนิมิต.
               บุคคลบางคนย่อมรู้เมื่อเริ่มบำเพ็ญสมถะวิปัสสนา คือรู้ว่า บุคคลนี้เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาโดยอาการใด จักยังโสดาปัตติมรรคให้เกิด ฯลฯ หรือยังอรหัตตมรรคให้เกิด ผู้นี้ชื่อว่าย่อมรู้ได้ด้วยนิมิตอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               บุคคลบางคนย่อมรู้ว่า มโนสังขารของบุคคลนี้ตั้งมั่นด้วยดี โดยอาการใด เขาจักตรึกถึงวิตกชื่อนี้ เป็นลำดับแห่งจิตชื่อนี้ เมื่อบุคคลนั้นออกจากวิตกนี้ สมาธิอันเป็นฝ่ายเสื่อม หรือเป็นฝ่ายตั้งอยู่ หรือเป็นฝ่ายแห่งความวิเศษขึ้น หรือเป็นฝ่ายทำลายกิเลสจักมีได้ หรือจักยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ผู้นี้ชื่อว่าตรวจดูจิตในภายในสมาบัติแล้วจึงรู้ได้.
               ในบรรดาชนเหล่านั้น ปุถุชนผู้ได้เจโตปริยญาณ ย่อมรู้จิตของปุถุชนเท่านั้น หารู้จิตของพระอริยทั้งหลายได้ไม่. แม้ในพระอริยะทั้งหลาย พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องต่ำ ย่อมไม่รู้จิตของพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องสูงได้. ส่วนพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องสูง ย่อมรู้จิตของพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคเบื้องต่ำได้.
               ก็ในบรรดาท่านเหล่านั้น พระโสดาบันย่อมเข้าโสดาปัตติผลสมาบัติ พระสกทาคามีย่อมเข้าสกทาคามีผลสมาบัติ พระอนาคามีย่อมเข้าอนาคามีผลสมาบัติ พระอรหันต์ย่อมเข้าอรหัตตผลสมาบัติ.
               พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผลเบื้องสูงย่อมไม่เข้าสมาบัติอันตั้งอยู่ในเบื้องต่ำ. ความจริง สมาบัติเบื้องต่ำของท่านเหล่านั้นก็มีความเป็นไปในสมาบัตินั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ตเถว ตํ โหติ ความว่า เรื่องนี้ย่อมเป็นอย่างนั้นแลโดยส่วนเดียว. ความจริง ขึ้นชื่อว่าความเป็นโดยประการอื่นที่รู้ด้วยอำนาจเจโตปริยญาณย่อมไม่มี.
               คำที่เหลือพึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.

               ทสฺสนสมาปตฺติเทสนาวณฺณนา               
               คำเป็นต้นว่า อาตปฺปมนฺวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้พิสดารแล้วในพรหมชาลสูตร. ส่วนความสังเขปในที่นี้ ดังต่อไปนี้.
               ความเพียรชื่อว่าอาตัปปะ. ความเพียรนั้นเองชื่อว่าปธาน เพราะเป็นของอันบุคคลพึงตั้งไว้. ชื่อว่าอนฺโยค เพราะเป็นของอันบุคคลพึงประกอบไว้.
               บทว่า อปฺปมาทํ คือ การไม่อยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า สมฺมา มนสิการํ คือ การทำมนสิการโดยอุบาย ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจการพิจารณาในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า เจโตสมาธึ ได้แก่ สมาธิในปฐมฌาน.
               หลายบทว่า อยํ ปฐมา ทสฺสนสมาปตฺติ ความว่า ปฐมฌานสมาบัติที่พระโยคาวจรพิจารณาอาการ ๓๒ โดยเป็นของปฏิกูล แล้วให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจการเห็นว่า เป็นของปฏิกูลนี้ ชื่อว่าทัสสนสมาบัติที่ ๑ แต่ถ้าพระโยคาวจรทำฌานนั่นให้เป็นบาทแล้วเป็นพระโสดาบัน นี้ก็จัดเป็นทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑ โดยตรงนั่นเอง.
               บทว่า อติกฺกมฺม จ คือ ก้าวล่วง.
               บทว่า ฉวิมํสโลหิตํ คือ ผิวหนัง เนื้อและโลหิต.
               บทว่า อฏฺฐึ ปจฺจเวกฺขติ คือ ย่อมพิจารณาว่า กระดูก กระดูก ดังนี้.
               บทว่า อฏฺฐิ อฏฺฐิ ความว่า ฌานสมาบัติซึ่งมีทิพพจักขุเป็นบาทมีกระดูกเป็นอารมณ์ที่พระโยคาวจรพิจารณาแล้วให้เกิดขึ้น ชื่อว่าทัสสนสมาบัติที่ ๒. แต่ถ้าพระโยคาวจรกระทำฌานนั้นให้เป็นบาทแล้ว ย่อมให้สกทาคามิมรรคบังเกิดขึ้นได้. ข้อนี้ก็จัดว่าเป็นทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒ โดยทางตรง. ส่วนพระสุมนเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลวิหารกล่าวว่า ย่อมควรตั้งแต่มรรคที่ ๓.
               วิญญาณนั้นเองชื่อ วิญญาณโสตะ.
               บทว่า อุภยโต อพฺโพจฺฉินฺนํ ความว่า กระแสวิญญาณนั้นท่านตัดขาดได้แล้วด้วยส่วนแม้ทั้งสอง.
               บทว่า อิธ โลเก ปติฏฺฐิตญฺจ คือ อันตั้งอยู่แล้วในโลกนี้ด้วยอำนาจฉันทราคะ.
               แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง กระแสวิญญาณเมื่อเข้าถึงกรรมโดยกรรม ชื่อว่าตั้งอยู่เฉพาะแล้วในโลกนี้. กระแสวิญญาณเมื่อคร่ามาได้ซึ่งกรรมภพ ชื่อว่าตั้งอยู่เฉพาะในปรโลก.
               ถามว่า ด้วยบทนี้ท่านกล่าวอะไรไว้.
               ตอบว่า ท่านกล่าวเจโตปริยญาณของเสขปุถุชนทั้งหลายไว้. ความจริง เจโตปริยญาณของเสขปุถุชนทั้งหลาย ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๓.
               บทว่า อิธ โลเก อปฺปติฏฺฐิตญฺจ คือ ดำรงอยู่ไม่ได้ในโลกนี้ เพราะมีความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจออกแล้ว. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้. อีกอย่างหนึ่ง กระแสวิญญาณไม่เข้าถึงกรรมโดยกรรม ชื่อว่าดำรงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้. เมื่อคร่ากรรมภพมาไม่ได้ ชื่อว่าดำรงอยู่ในปรโลกไม่ได้.
               ถามว่า ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวอะไรไว้.
               ตอบว่า ท่านกล่าวเจโตปริยญาณของพระขีณาสพไว้. ความจริง เจโตปริยญาณของพระขีณาสพ ชื่อว่าในทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้วิปัสสนาที่พระโยคาวจรปรารภอาการ ๓๒ ก็จัดเป็นทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. วิปัสสนาที่พระโยคาวจรปรารภกัมมัฏฐานซึ่งมีกระดูกเป็นอารมณ์ จัดเป็นทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. บททั้งสองนี้ว่า เจโตปริยญาณของเสขปุถุชน เจโตปริยญาณของพระขีณาสพดังนี้ไม่หวั่นไหวเลย.
               อีกนัยหนึ่ง ปฐมฌาน ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. ทุติยฌาน ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. ตติยฌาน ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๓. จตุตถฌาน ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔.
               อนึ่ง ปฐมมรรค ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๑. มรรคที่ ๒ ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๒. มรรคที่ ๓ ชื่อว่า ทัสสนสมาบัติข้อที่ ๓. มรรคที่ ๔ ชื่อว่าทัสสนสมาบัติข้อที่ ๔.
               คำที่เหลือในบทนี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.

               ปุคฺคลปณฺณตฺติเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า ปุคฺคลปณฺณตฺตีสุ คือ ในโลกบัญญัติที่บุคคลพึงบัญญัติอย่างนี้ว่า สัตตะ ปุคคละ นระ โปสะ ดังนี้ ตามโวหารทางโลก. ความจริง กถาทั้งสองคือ สมมติกถา ปรมัตถกถา ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านให้พิสดารแล้วในโปฏฐปาทสูตร.
               ในบรรดากถาทั้งสองนั้นกถานี้ว่า ในบุคคลบัญญัติทั้งหลาย ดังนี้ ชื่อสมมติกถา. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงบัญญัติบุคคลเหล่าใด ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมในบุคคลบัญญัติทั้งหลาย บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงบุคคลเหล่านั้น จึงทูลคำเป็นต้นว่า สตฺตีเม ภนฺเต ปุคฺคลา อุภโตภาควิมุตฺโต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนสอง คือผู้หลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ หลุดพ้นจากนามกายด้วยมรรค. บุคคลนั้นออกจากบรรดาอรูปสมาบัติทั้ง ๔ อย่างหนึ่งๆ แล้ว พิจารณาสังขารแล้วย่อมเป็นบุคคล ๕ จำพวกด้วยอำนาจแห่งบุคคล คือพระอริยบุคคล ๔ ผู้บรรลุพระอรหัตต์ และพระอนาคามีผู้ออกจากนิโรธแล้วบรรลุพระอรหัตต์.
               ก็พระบาลีในที่นี้ว่า ก็บุคคลผู้หลุดพ้นโดยส่วนสองเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่ และอาสวะทั้งหลายของท่านก็สิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ท่านเรียกว่าผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนสอง. พระบาลีนี้มาแล้วด้วยอำนาจแห่งท่านผู้ได้วิโมกข์ ๘ อย่างนี้.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺโต แปลว่า หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญา. บุคคลผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญานั้นมี ๕ จำพวก ด้วยอำนาจแห่งบุคคลเหล่านี้คือสุกขวิปัสสกบุคคล ๑ และบุคคลผู้ออกจากฌานทั้ง ๔ แล้วบรรลุพระอรหัตต์ ๔ พวก ๑. ก็พระบาลีในที่นี้ มาแล้วด้วยอำนาจธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิโมกข์ ๘ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลไม่ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่เลย และเพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะของเขาจึงเป็นอันสิ้นรอบแล้ว บุคคลนี้เรียกว่าผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา.๑-
____________________________
๑- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๑

               บุคคลย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งกายที่ถูกต้องอยู่ ฉะนั้นจึงชื่อว่า กายสักขิ. บุคคลนั้นย่อมถูกต้องฌานก่อน จึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธคือนิพพานในภายหลัง. กายสักขินั้นพึงทราบว่ามี ๖ จำพวก เริ่มต้นแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล จนถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ทั้ง ๘ ด้วยกายอยู่ และเพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะบางเหล่าของเขาเป็นอันสิ้นรอบไป. บุคคลนี้เรียกว่า กายสักขิ.๒-
____________________________
๒- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๒

               บุคคลบรรลุถึงที่สุดของทิฏฐิ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้บรรลุทิฏฐิ.
               ในข้อนั้นมีลักษณะโดยสังเขปดังต่อไปนี้.
               อันบุคคลนั้นได้รู้ ได้เห็น ได้ทราบ ได้ทำให้แจ้ง ได้ถูกต้องด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ความดับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข ดังนี้ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าผู้บรรลุทิฏฐิ. ก็บุคคลผู้บรรลุทิฏฐิแม้นี้ก็มี ๖ จำพวกโดยพิสดาร เหมือนกายสักขิบุคคล.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นธรรมอันเธอเห็นแล้วด้วยปัญญา ประพฤติแล้วด้วยปัญญา. บุคคลนี้เรียกว่า ผู้บรรลุทิฏฐิ๓- ดังนี้.
____________________________
๓- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๓

               บทว่า สทฺธาวิมุตฺโต คือ บุคคลผู้พ้นแล้วด้วยศรัทธา. แม้บุคคลผู้พ้นด้วยศรัทธานั้นมี ๖ จำพวกโดยนัยก่อนนั้นแล. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ ฯลฯ นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว เป็นอันเธอเห็นแจ้งแล้วด้วยปัญญา และประพฤติแล้วด้วยปัญญา. บุคคลนี้เรียกว่า ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยศรัทธา. หาใช่ว่าย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง เหมือนการรู้ชัดของบุคคลผู้บรรลุทิฏฐิไม่.
               ก็ในบุคคลสองประเภทนี้ การสิ้นกิเลสของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธาเหมือนกับเชื่อ ปลงใจเชื่อและน้อมใจเชื่อ ในขณะแห่งมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น. ญาณอันเป็นเครื่องตัดกิเลสของบุคคลผู้บรรลุทิฏฐิ เป็นญาณไม่เฉื่อยชา เป็นญาณที่คมกริบและแกล้วกล้า ย่อมนำไปในขณะแห่งมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะฉะนั้น จึงเหมือนเมื่อบุคคลเอาดาบที่ไม่คมตัดต้นกล้วยที่ที่บุคคลตัดก็ไม่เกลี้ยง ทั้งดาบก็ไม่ผ่านไปได้โดยเร็ว บุคคลย่อมได้ยินเสียง บุคคลต้องทำความพยายามด้วยกำลังมากกว่าฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธาเห็นปานนั้น ก็พึงทราบฉันนั้น.
               อนึ่ง เหมือนเมื่อบุคคลเอาดาบที่ลับดีแล้วตัดต้นกล้วยที่ที่เขาตัดก็เกลี้ยง ทั้งดาบก็ผ่านไปได้เร็ว บุคคลก็ไม่ได้ยินเสียง กิจคือความพยายามด้วยกำลังมากก็ไม่มี ฉันใด มรรคภาวนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของบุคคลผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาเห็นปานนั้น ก็พึงทราบฉันนั้น.
               บุคคลย่อมตามระลึกถึงธรรม ฉะนั้นจึงชื่อว่าธัมมานุสารี. ปัญญาชื่อว่าธรรม. อธิบายว่า บุคคลย่อมเจริญมรรคอันมีปัญญาเป็นเบื้องต้น. แม้ในสัทธานุสารีบุคคลก็นัยนี้เหมือนกัน. บุคคลทั้งสองแม้เหล่านั้น คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั่นเอง.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
               ปัญญินทรีย์ของบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งโสดาปัตติผล เป็นปัญญาที่มีประมาณอันยิ่ง บุคคลผู้ขวนขวายเพื่อได้มาซึ่งปัญญา ย่อมเจริญอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นเบื้องต้น บุคคลนี้ เรียกว่าธัมมานุสารีบุคคล.
               อนึ่ง สัทธินทรีย์ของบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลย่อมมีประมาณมากยิ่งนัก บุคคลผู้ขวนขวายเพื่อได้มาซึ่งศรัทธา ย่อมเจริญอริยมรรคอันมีศรัทธาเป็นเบื้องต้น บุคคลนี้ เรียกว่าสัทธานุสารีบุคคล.
____________________________
๔- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๔๖

               ความสังเขปในเรื่องนี้เพียงเท่านี้.
               ส่วนกถาว่าด้วยอุภโตภาควิมุตตะเป็นต้นนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์พิเศษชื่อวิสุทธิมรรคโดยพิสดาร. ฉะนั้น พึงทราบวิตถารกถาโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นแล.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.

               ปธานเทสนาวณฺณนา               
               โพชฌงค์ ๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปธาน ด้วยอำนาจการเริ่มตั้งความเพียรในบทนี้ว่า ปธาเนสุ ดังนี้. กถาโดยพิสดารของโพชฌงค์ ๗ เหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐาน.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.

               ปฏิปทาเทสนาวณฺณนา               
               ในคำว่า ทุกฺขาปฏิปทา เป็นต้น มีนัยโดยพิสดารดังต่อไปนี้.๑-
               ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ ได้ช้า เป็นอย่างไร คือ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ธรรมวิจัย สัมมาทิฏฐิอันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยยากลำบาก ทั้งรู้ฐานะนั้นช้า นี้เรียกว่า ปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า.
               ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เป็นอย่างไร คือ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิอันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยยากลำบาก แต่รู้ฐานะนั้นได้โดยฉับพลัน นี้เรียกว่าปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติลำบาก แต่รู้ฐานะนั้นได้โดยฉับพลัน นี้เรียกว่าปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว.
               ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า เป็นอย่างไร คือ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิอันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นโดยไม่ยากไม่ลำบาก รู้ฐานะนั้นได้อย่างช้า นี้เรียกว่าปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า.
               ในบาลีประเทศนั้น ปัญญาอันปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว เป็นอย่างไร คือ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ สัมมาทิฏฐิอันใด ของบุคคลผู้ให้สมาธิเกิดขึ้นโดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ทั้งรู้ชัดฐานะนั้นอย่างเร็วพลัน นี้เรียกว่าปัญญาอันเป็นข้อปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว.๑-
____________________________
๑- อภิ.วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๓๐

               ความสังเขปในที่นี้เท่านี้.
               ส่วนความพิสดารท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้พึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.

               ภสฺสสมาจาราทิเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า น เจว มุสาวาทูปสญฺหิตํ ความว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ดำรงอยู่ในภัสสสมาจาร (มารยาทเกี่ยวกับการพูด) บ้าง ไม่เข้าไปตัดกถามรรคกล่าวบ้าง ย่อมไม่กล่าววาจาอันประกอบด้วยมุสาวาทเลย เว้นโวหารอันไม่ประเสริฐ ๘ อย่างเสีย กล่าววาจาอันประกอบด้วยโวหารอันประเสริฐ ๘ อย่างเท่านั้น.
               บทว่า น จ เวภูติยํ ความว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้แม้ดำรงอยู่ในภัสสสมาจาร ย่อมไม่กล่าววาจาอันทำความแตกร้าวกัน.
               คำว่า เปสุณิยํ นั้นเป็นไวพจน์ของคำว่า เวภูติยํ นั้น. ความจริง วาจาอันทำความแตกร้าวกันท่านเรียกว่า เปสุณิยํ เพราะทำความเป็นที่รักกันให้สูญหาย. พระมหาสิวเถระกล่าวว่า คำว่า เปสุณิยํ นั้นเป็นชื่อของวาจานั้น.
               บทว่า น จ สารมฺภชํ ความว่า วาจาใดเกิดเพราะการแข่งดี ภิกษุย่อมไม่กล่าววาจานั้น เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทุศีล หรือว่า ท่านทุศีล อาจารย์ของท่านก็ทุศีล หรือเมื่อเขากล่าวว่า ท่านต้องอาบัติ ย่อมไม่กล่าววาจาที่เป็นไปด้วยการกล่าวซัดไปภายนอก หรือวาจาที่ยิ่งกว่าการกระทำ โดยนัยเป็นต้นว่า เราไปเที่ยวบิณฑบาตจนถึงเมืองปาฏลีบุตรดังนี้.
               บทว่า ชยาเปกฺโข คือ เป็นผู้มุ่งต่อชัยชนะ. อธิบายว่า ภิกษุผู้เพ่งถึงชัยชนะคือหวังชัยชนะเป็นเบื้องหน้า ย่อมไม่กล่าวเหมือนหัตถกศากยบุตร กล่าววาจาจริงและเหลาะแหละอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ธรรมดาพวกเดียรถีย์ บุคคลพึงชนะด้วยธรรมบ้าง ด้วยอธรรมบ้าง ดังนี้.
               ปัญญา ท่านเรียกว่ามันตา ในคำว่า มนฺตา มนฺตา จ วาจํ ภาสติ นี้. กล่าววาจาด้วยปัญญาชื่อว่ามันตา.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มนฺตา คือ ใคร่ครวญแล้ว. มีคำอธิบายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้ดำรงอยู่ในภัสสสมาจาร เมื่อกล่าวตลอดทั้งวันก็ใคร่ครวญด้วยปัญญา กล่าวเฉพาะถ้อยคำอันสมควรเท่านั้น.
               บทว่า นิธานวตึค คือ ควรเพื่อจะฝังไว้ แม้ในใจ.
               บทว่า กาเลน คือ ตามกาลอันควรแล้วและถึงแล้ว.
               ความจริง วาจาอันบุคคลกล่าวแล้วอย่างนี้ย่อมเป็นวาจาที่ไม่เท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบ ไม่โอ้อวด ไม่เพ้อเจ้อ. ก็วาจาเห็นปานนี้นี้เรียกว่า วาจาอิงอาศัยสัจจะ ๔ บ้าง วาจาอิงอาศัยไตรสิกขาบ้าง วาจาอิงอาศัยกถาวัตถุ ๑๐ บ้าง วาจาอิงอาศัยธุดงคคุณ ๑๓ บ้าง วาจาอิงอาศัยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการบ้าง วาจาอิงอาศัยมรรคบ้าง. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต ภสฺสสมาจาเร ดังนี้.
               คำนั้นพึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
               หลายบทว่า สจฺโจ จสฺส สทฺโธ จ ความว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ผู้ตั้งอยู่ในสีลาจาร พึงเป็นผู้จริง กล่าววาจาจริง พึงเป็นผู้มีศรัทธาและถึงพร้อมด้วยศรัทธา.
               ถามว่า สัจจะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลังแล้วมิใช่หรือ เพราะเหตุไร ในที่นี้พระองค์จึงตรัสไว้อีกเล่า.
               ตอบว่า วาจาสัจ พระองค์ตรัสไว้แล้วในหนหลัง. ในที่นี้ พระองค์ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่า ก็ภิกษุดำรงอยู่ในสีลาจารแล้วย่อมไม่กล่าวมุสาวาท โดยที่สุดแม้ด้วยการกล่าวให้หัวเราะกัน.
               บัดนี้ พระเถระเพื่อจะแสดงว่า ภิกษุนั้นย่อมสำเร็จการเป็นอยู่โดยธรรมสม่ำเสมอ ดังนี้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า น จ กุหโก ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า กุหโก เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายพิสดารแล้วในพรหมชาลสูตร. หลายบทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร โภชเน มตฺตญฺญู ความว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารดีแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ ทั้งเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ.
               บทว่า สมการี คือ ผู้มีปกติประพฤติสม่ำเสมอ. อธิบายว่า ภิกษุในพระศาสนานี้เว้นเหตุมีการคดทางกายเป็นต้น ประพฤติสม่ำเสมอทางกายวาจาและใจ.
               บทว่า ชาคริยานุโยคมนุยุตฺโต ความว่า ภิกษุย่อมขวนขวายประกอบความเป็นผู้ตื่นอยู่ โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- ภิกษุพึงแบ่งกลางวันและกลางคืนออกเป็น ๖ ส่วน แล้วพึงประกอบความเพียรในกลางวันด้วยการจงกรมและนั่ง.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๙

               บทว่า อตนฺทิโต คือ ได้แก่ไม่เกียจคร้าน คือเว้นจากการเกียจคร้านทางกาย.
               บทว่า อารทฺธวีริโย ความว่า เป็นผู้เริ่มความเพียรแม้ด้วยความเพียรทางกาย บรรเทาความเกี่ยวข้องด้วยหมู่เสียแล้วอยู่แต่ผู้เดียว ด้วยอำนาจอารัพวัตถุ ๘ ในอิริยาบถทั้ง ๔. เป็นผู้เริ่มความเพียรแม้ด้วยความเพียรทางใจ บรรเทาความเกี่ยวข้องด้วยกิเลสเสีย อยู่แต่ผู้เดียวด้วยอำนาจสมาบัติ ๘.
               อีกอย่างหนึ่ง ห้ามการเกิดขึ้นแห่งกิเลสเสียแล้วโดยประการใดประการหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นผู้เริ่มความเพียรด้วยความเพียรทางใจเหมือนกัน.
               บทว่า ฌายี คือ เป็นผู้เพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน.
               บทว่า สติมา คือ ประกอบด้วยสติอันสามารถระลึกถึงกิจที่ทำไว้นานแล้วได้เป็นต้น.
               บทว่า กลฺยาณปฏิภาโณ คือสมบูรณ์ด้วยการพูดดี และสมบูรณ์ด้วยปฏิภาณ. ก็บุคคลนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยปฏิภาณ มิใช่เป็นผู้ขาดปฏิภาณ.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในสีลสมาจาร หาได้ขาดปฏิภาณไม่.
               อนึ่ง ภิกษุผู้ประกอบด้วยปฏิภาณ ย่อมเป็นเหมือนพระวังคีสเถระฉะนั้น.
               บทว่า คติมา คือ ประกอบด้วยปัญญาอันสามารถในการดำเนินไป.
               บทว่า ธิติมา คือ ประกอบด้วยปัญญาอันสามารถในการทรงจำไว้.
               ก็คำว่า มติ ในคำว่า มติมา นี้เป็นชื่อของปัญญาแท้ ฉะนั้น. อธิบายว่าผู้มีปัญญา. ปัญญานั้นเอง ท่านกล่าวไว้ด้วยบทแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ในบาลีประเทศนั้น ความเพียรเป็นเครื่องทำสมณธรรม ท่านกล่าวไว้ในหนหลัง. ในที่นี้ ท่านกล่าวความเพียรเป็นเครื่องเล่าเรียนพระพุทธพจน์.
               อนึ่ง วิปัสสนาปัญญา ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง. ในที่นี้ท่านกล่าวถึงปัญญาเป็นเครื่องเล่าเรียนพระพุทธพจน์.
               หลายบทว่า น จ กาเมสุ คิทฺโธ คือ เป็นผู้ไม่ติดในวัตถุกามและกิเลสกาม. หลายบทว่า สโต จ นิปโก จเร ความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยสติและด้วยญาณในฐานทั้ง ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นเที่ยวไป. ปัญญา ชื่อเนปักกะ ภิกษุท่านกล่าวว่ามีปัญญา ดังนี้ เพราะประกอบด้วยปัญญานั้น.
               คำที่เหลือในที่นี้พึงประกอบเข้าด้วยนัยก่อนนั้นแล.

               อนุสาสนวิธาเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า ปจฺจตฺตํ โยนิโสมนสิการา คือ ด้วยการทำไว้ในใจโดยอุบายของพระองค์.
               บทว่า ยถานุสิฏฺฐํ ตถาปฏิปชฺชมาโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติตามที่เราได้ให้อนุศาสน์พร่ำสอนไว้. คำเป็นต้นว่า ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา มีเนื้อความดังกล่าวแล้ว.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
               บทว่า ปรปุคฺคลวิมุตฺติญาเณ คือ ในญาณเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสด้วยมรรคนั้นๆ ของบุคคลอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น.
               คำที่เหลือในที่นี้ พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
               บทว่า อมุตฺราสึ เอวํนาโม ความว่า บุคคลหนึ่งเมื่อระลึกบุพเพนิวาส ย่อมกำหนดชื่อและโคตรไปได้. บุคคลหนึ่งระลึกได้แต่ขันธ์ล้วนๆ เท่านั้น. คนหนึ่งสามารถระลึกได้ คนหนึ่งไม่สามารถ. ในที่นั้น มิได้ถือเอาด้วยอำนาจแห่งผู้สามารถได้ถือเอาด้วยอำนาจแห่งผู้ไม่สามารถ ก็ผู้ไม่สามารถจะทำอะไรได้. บุคคลนั้นระลึกเฉพาะแต่ขันธ์ล้วนๆ ไป ดำรงอยู่ในที่สุดหลายแสนชาติ หยั่งญาณลงกำหนดนามและโคตร. พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงนามและโคตรนั้นจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอวํนาโม ดังนี้.
               บทว่า โส เอวมาห คือ บุคคลผู้ถือทิฏฐินั้นได้กล่าวอย่างนี้. ในบาลีประเทศนั้น เมื่อบุคคลนั้นกล่าวว่าเที่ยง แล้วกล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นย่อมท่องเที่ยวไป ดังนี้ คำพูดย่อมมีเบื้องต้นและเบื้องปลายขัดแย้งกันก็จริง. แต่บุคคลนั้นกำหนดคำนั้นไม่ได้เพราะเป็นผู้ยึดถือทิฏฐิ. ความจริง ฐานะหรือการกำหนดของผู้ยึดถือทิฏฐิย่อมไม่มี. คำนั้นท่านให้พิสดารแล้วในพรหมชาลสูตรว่า บุคคลนั้นถือเอาสิ่งนี้แล้วก็ปล่อยสิ่งนี้ ครั้นปล่อยสิ่งนี้แล้วก็ยึดถือเอาสิ่งนี้ ดังนี้.
               ด้วยคำว่า อยํ ตติโย สสฺสตวาโท นี้ พระเถระกล่าวบุคคลผู้เป็นสัสสตวาทะไว้ ๓ ประเภทด้วยอำนาจแห่งฌานลาภีบุคคลเท่านั้น. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคล ๔ ประเภทไว้ในพรหมชาลสูตร เพราะรวมเอาแม้บุคคลที่เป็นตักกีวาทะเข้าไว้ด้วย.
               ก็คำกล่าวพิสดารของบุคคลผู้มีวาทะ ๓ ประเภทนั้น พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในพรหมชาลสูตร.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้พึงให้พิสดารโดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อน.
               บทว่า คณนาย วา คือ ด้วยการนับเป็นหมวด.
               บทว่า สงฺขาเนน คือ ด้วยการนับด้วยใจโดยไม่ให้ขาดสายโดยสองวิธีนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเฉพาะการนับเป็นหมวด มีคำอธิบายที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ใครไม่สามารถที่จะทำเป็นหมวดด้วยอำนาจร้อย พัน แสน โกฏิแห่งปีทั้งหลาย แล้วนับว่า ร้อยปีเท่านั้นดังนี้ หรือว่า ฯลฯ โกฏิปีเท่านี้.
               พระเถระย่อมแสดงว่า เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ เพราะพระองค์ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ เพราะพระอนาวรญาณของพระองค์ดำเนินไปแก่กล้า พระองค์จึงทรงมีความฉลาดในเทศนาญาณเป็นเบื้องหน้า ทำให้มีที่สุดด้วยการนับปี แม้ด้วยการนับกัปก็กำหนดแสดงว่ามีประมาณเท่านี้ได้.
               เนื้อความในบาลี มีนัยกล่าวแล้วในบาลีนี้. คำที่เหลือแม้ในที่นี้ก็พึงประกอบเข้าโดยนัยก่อนนั้นแล.
               ด้วยหลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต สตฺตานํ จุตูปปาตญาเณ พระเถระย่อมแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ญาณเทสนาด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนี้ใดมีอยู่ ญาณเทสนานั้นจัดเป็นยอดเยี่ยมของพระองค์ แม้พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายก็ทรงแสดงอย่างนี้เหมือนกัน. แม้พระพุทธเจ้าในอนาคตก็จักทรงแสดงอย่างนี้เหมือนกัน. พระองค์ทรงเทียบเคียงด้วยพระญาณของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและในอนาคตเหล่านั้นแล้วทรงแสดง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแม้นี้ ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้.
               ก็เนื้อความของพระบาลีในที่นี้ ท่านก็ให้พิสดารแล้วเหมือนกัน.
               สองบทว่า สาสวา สอุปธิกา คือ ฤทธิ์ที่มีโทษ คือมีข้อติเตียน.
               หลายบทว่า โน อริยาติ วุจฺจติ ความว่า ฤทธิ์เช่นนั้นไม่เรียกว่าฤทธิ์อันเป็นอริยะ. สองบทว่า อนาสวา อนุปธิกา คือไม่มีโทษ ได้แก่ ไม่มีข้อน่าติเตียน. สองบทว่า อริยาติ วุจฺจติ คือ ฤทธิ์เช่นนี้ เรียกว่าฤทธิ์อันเป็นอริยะ.
               หลายบทว่า อปฺปฏิกูลสญฺญี ตตฺถ วิหรติ ความว่า๑- ภิกษุย่อมมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่อย่างไร. คือ เธอย่อมแผ่เมตตาไปในสัตว์ที่ปฏิกูล คือรวมความสำคัญว่าเป็นธาตุลงในสังขาร. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลนั้นอย่างไร คือ เธอย่อมแผ่เมตตาไปในวัตถุอันไม่น่าปรารถนา หรือรวมลงโดยเป็นธาตุดังนี้.
               หลายบทว่า ปฏิกูลสญฺญี ตตฺถ วิหรติ ความว่า๑- ภิกษุย่อมแผ่อสุภสัญญาไปในสัตว์ซึ่งไม่ปฏิกูล คือรวมอนิจจสัญญาลงในสังขาร. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าปฏิกูลอยู่อย่างไร คือ เธอย่อมแผ่ไปด้วยอสุภสัญญาในวัตถุที่น่าปรารถนาหรือรวมลง โดยเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๙๐

               พึงทราบเนื้อความแม้ในบทที่เหลืออย่างนี้.
               หลายบทว่า อุเปกฺขโก ตตฺถ วิหรติ ความว่า ภิกษุไม่กำหนัดในอารมณ์ที่น่าปรารถนา และไม่ชังในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ทั้งไม่ให้โมหะเกิดขึ้น เหมือนชนเหล่าอื่นให้โมหะเกิดขึ้น ด้วยการเพ่งอารมณ์อันไม่มีส่วนเสมอ เป็นผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้ง ๖ ด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ อยู่.
               หลายบทว่า เอตทานุตฺตริยํ ภนฺเต อิทฺธิวิธาสุ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้จัดว่าเป็นเทศนา อันยอดเยี่ยมอย่างนี้ในฝ่ายฤทธิ์ทั้งสอง.
               บทว่า ตํ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ยิ่งซึ่งเทศนานั้นทั้งสิ้นไม่เหลือเลย. สองบทว่า ตํ ภควโต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ยิ่งซึ่งเทศนานั้นโดยไม่เหลือ.
               หลายบทว่า อุตฺตริ อภิญฺเญยฺยํ นตฺถิ ความว่า ธรรมที่จะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ย่อมไม่มี คือคำนี้ว่า ธรรมหรือบุคคลอื่นจากนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบ ดังนี้ ย่อมไม่มีเลย.
               หลายบทว่า ยทภิชานํ อญฺโญ สมโณ วา ความว่า สิ่งใดที่พระองค์ไม่รู้ สมณะหรือพราหมณ์อื่นจะรู้สิ่งนั้น เป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่า คือมีปัญญามากกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               คำว่า ยทิทํ ในคำว่า ยทิทํ อิทฺธิวิธาสุ เป็นเพียงนิบาต. บุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าในฝ่ายอิทธิวิธี ย่อมไม่มีเลย. ความจริงแม้พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายก็ทรงแสดงฤทธิ์ ๒ อย่างเหล่านี้. แม้พระพุทธเจ้าในอนาคตก็จักแสดงฤทธิ์ทั้ง ๒ เหล่านี้. แม้พระองค์ทรงเทียบเคียงด้วยญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงแสดงฤทธิ์เหล่านี้แหละ.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นทรงยอดเยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธีดังพรรณนามาฉะนี้ ดังนี้ จึงแสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระธรรมเสนาบดีนั่งในที่พักกลางวันแล้ว พิจารณาธรรมอื่นต่อไป ๑๖ อย่างเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นเป็นอันท่านแสดงแล้ว.

               อญฺญถาสตฺถุคุณทสฺสนวณฺณนา               
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยอาการแม้อื่นอีก จึงทูลคำเป็นต้นว่า ยนฺตํ ภนฺเต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า สทฺเธน กุลปุตฺเตน ความว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งมีในอดีตอนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่ากุลบุตรผู้มีศรัทธา. เพราะฉะนั้น จึงมีคำอธิบายว่า สิ่งใดที่พระสัพพัญญูโพธิสัตว์พึงบรรลุ.
               ถามว่า ก็อะไรที่พระสัพพัญญูโพธิสัตว์พึงบรรลุ.
               ตอบว่า โลกุตตรธรรม ๙ อันพระสัพพัญญูโพธิสัตว์นั้นพึงบรรลุ.
               คำทั้งหมดเป็นต้นว่า วิริยํ ถาโม ในบทว่า อารทฺธวิริเยน เป็นต้นนี้เป็นไวพจน์ของความเพียร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธวิริเยน คือ ผู้ประคองความเพียร.
               บทว่า ถามวตา คือ สมบูรณ์ด้วยกำลัง คือมีความเพียรแข็งแรง.
               บทว่า ปุริสถาเมน อธิบายว่า สิ่งใดที่พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ผู้มีเรี่ยวแรงนั้น พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ. ในสองบทที่ถัดไป ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปุริสโธเรยฺเหน คือ มหาบุรุษผู้สามารถเพื่อจะนำธุระที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีธุระหาผู้เสมอไม่ได้ พึงนำไป.
               ด้วยสองบทว่า อนุปฺปตฺตํ ตํ ภควตา พระเถระย่อมแสดงว่าสิ่งนั้นทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตทั้งในอนาคตพึงบรรลุ สิ่งนั้นทั้งหมดพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตามบรรลุได้แล้ว แม้คุณอย่างหนึ่งจะพร่องไปก็หามีไม่ ดังนี้.
               สองบทว่า กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยคํ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตามประกอบกามสุขในฝ่ายวัตถุกาม. พระเถระย่อมแสดงว่า สมณพราหมณ์เหล่าอื่นมีเกณิยชฎิลเป็นต้นคิดกันว่า ใครจะรู้ปรโลก การที่นางปริพาชิกานี้เอาแขนที่มีขนอ่อนนุ่มมาสัมผัสเป็นความสุข ดังนี้ จึงปรนเปรอด้วยพวกนางปริพาชิกาซึ่งผูกมวยผมเป็น ๓ หย่อม พวกเขาพากันเสวยอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่สมบูรณ์อย่างยิ่ง ตามประกอบความสุขในกาม ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าหาทรงประกอบเช่นนั้นไม่.
               บทว่า หีนํ คือ เลวทราม. บทว่า คมฺมํ คือ เป็นธรรมของชาวบ้าน.
               บทว่า โปถุชฺชนิกํ คือ อันปุถุชนควรเสพ.
               บทว่า อนริยํ คือ จะไม่มีโทษก็หามิได้ หรืออันพระอริยะทั้งหลายไม่ควรเสพ.
               บทว่า อนตฺถสญฺหิตํ คือ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
               บทว่า อตฺตกิลมถานุโยคํ คือ การตามประกอบความเพียรอันทำตนให้เดือดร้อนและเร่าร้อน.
               บทว่า ทุกฺขํ คือ ประกอบด้วยทุกข์ หรือทนได้ยาก.
               สมณพราหมณ์บางเหล่าคิดกันว่า พวกเราจักงดเว้นซึ่งความประกอบความสุขทางกาม ดังนี้ จึงพากันแล่นไปสู่ความลำบากทางกาย ต่อแต่นั้น ก็คิดว่าเราจักพ้นจากความลำบากนั้นดังนี้ จึงพากันแล่นไปสู่ความสุขทางกาย ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าหาเป็นเช่นนั้นไม่. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเว้นที่สุด ๒ อย่างเหล่านั้นแล้ว ทรงปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบที่พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่พระตถาคตรู้ยิ่งแล้ว กระทำให้แจ้งด้วยจักษุมีอยู่ ดังนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า น จ อตฺตกิลมถานุโยคํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อภิเจตสิกานํ คือ เกิดขึ้นในอภิจิต. อธิบายว่า ล่วงกามาวจรจิตแล้วดำรงอยู่. บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารานํ คือ อันให้อยู่อย่างสบายในอัตภาพนี้นั้นเอง.
               ความจริง ทุติยฌานผลสมาบัติพร้อมด้วยปิติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโปฏฐปาทสูตร. ฌานซึ่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนาพร้อมด้วยมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปาสาทิกสูตร. ผลสมาบัติอันนับเนื่องในจตุตถฌาน ท่านกล่าวไว้ในทสุตตรสูตร. ในสัมปสาทนียสูตรนี้ได้กล่าวฌานอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.
               บทว่า นิกามลาภี คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้ฌานตามความปรารถนา.
               บทว่า อกิจฺฉลาภี คือ ทรงได้โดยไม่ยากลำบาก. บทว่า อกสิรลาภี คือ ทรงได้อย่างไพบูลย์.

               อนุโยคทานปฺปการวณฺณนา               
               บทว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา คือ ในหมื่นโลกธาตุ.
               ความจริง เขตแดนมี ๓ อย่าง คือ ชาติเขต อาณาเขต วิสัยเขต.
               ในบรรดาเขตทั้ง ๓ นั้น หมื่นโลกธาตุ ชื่อชาติเขต. ก็ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ในเวลาเสด็จออกจากพระครรภ์ ในเวลาตรัสรู้ ในเวลาประกาศพระธรรมจักร ในเวลาปลงพระชนมายุสังขารและในคราวปรินิพพาน โลกธาตุนั้นย่อมหวั่นไหว.
               ส่วนแสนโกฏิจักรวาลชื่อว่า อาณาเขต. แท้จริง อาณาของอาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร และรัตนปริตรเป็นต้น ย่อมเป็นไปในแสนโกฏิจักรวาล.
               ส่วนวิสัยเขต ไม่มีปริมาณเลย.
               ความจริง ชื่อว่าสิ่งอันมิใช่วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะพระบาลีว่า ญาณมีเท่าใด สิ่งที่พระองค์พึงรู้ก็มีเพียงนั้น สิ่งที่พระองค์พึงรู้มีเท่าใด ญาณก็มีเพียงนั้น สิ่งที่พระองค์พึงรู้มีญาณเป็นที่สุด ญาณก็มีสิ่งที่พระองค์พึงรู้เป็นที่สุด ดังนี้.
               พระสูตรว่า ก็ในเขตทั้ง ๓ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงอุบัติขึ้นในจักรวาลอื่น เว้นจักรวาลนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มี แต่พระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้นดังนี้ มีอยู่.
               ปิฎกมี ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก.
               การสังคายนามี ๓ ครั้ง คือ การสังคายนาที่พระมหากัสสปะกระทำ ๑ สังคายนาที่พระยสเถระกระทำ ๑ สังคายนาที่พระโมคคัลลีบุตรเถระกระทำ ๑.
               ในพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคายนาทั้ง ๓ ครั้งเหล่านี้ ก็ไม่มีพระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติในจักรวาลอื่นนอกจักรวาลนี้ แต่พระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ดังนี้ มีอยู่.
               บทว่า อปุพฺพํ อจริมํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลัง. มีคำอธิบายว่า ย่อมทรงอุบัติขึ้นในกาลก่อนหรือในภายหลัง.
               ระยะเวลานับตั้งแต่พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ณ โพธิบัลลังก์นั้นด้วยตั้งใจว่า เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณแล้วจักไม่ลุกขึ้น จนกระทั่งถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา ไม่ควรเข้าใจว่าเป็นเวลาก่อน เพราะได้ทำการกำหนดเขตไว้แล้ว ด้วยการหวั่นไหวแห่งหมื่นจักรวาล ในขณะที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ แม้การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น เป็นอันห้ามแล้ว.
               อนึ่ง ระยะเวลานับแต่ปรินิพพานจนกระทั่งพระธาตุทั้งหลายแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังดำรงอยู่ ก็ไม่พึงเข้าใจว่าเป็นเวลาภายหลัง. เพราะเมื่อพระธาตุทั้งหลายยังดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ทีเดียว. เพราะฉะนั้น การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นในระหว่างนี้ จึงเป็นอันห้ามแล้ว. แต่เมื่อการปรินิพพานของพระธาตุเกิดขึ้น การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นเป็นอันไม่ห้ามแล้ว.

               ติปิฏกอนฺตรธานกถา               
               จริงอยู่ อันตรธานมี ๓ อย่าง คือ ปริยัตติอันตรธาน ๑ ปฏิเวธอันตรธาน ๑ ปฏิปัตติอันตรธาน ๑.
               ในอันตรธานเหล่านั้น พระไตรปิฎกชื่อว่าปริยัติ. การแทงตลอดสัจจะชื่อว่าปฏิเวธ. ข้อปฏิบัติชื่อว่าปฏิบัติ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ปฏิเวธและปฏิบัติ ย่อมมีบ้าง ย่อมไม่มีบ้าง.
               ก็ในกาลหนึ่ง หมู่ภิกษุผู้ทรงปฏิเวธมีมาก. ภิกษุนั้นพึงถูกชี้นิ้วแสดงว่า ภิกษุรูปนี้เป็นปุถุชน. ในทวีปเดียวเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าภิกษุผู้เป็นปุถุชน คราวเดียวกันหามีไม่. เหล่าภิกษุแม้ผู้บำเพ็ญข้อปฏิบัติในกาลบางครั้งมีมาก ในกาลบางครั้งมีน้อย. ปฏิเวธและการปฏิบัติย่อมมีบ้าง ย่อมไม่มีบ้างด้วยประการฉะนี้.
               แต่ว่า ปริยัติย่อมเป็นประมาณของการดำรงอยู่ได้ของพระศาสนา. เพราะบัณฑิตทั้งหลายได้ฟังพระไตรปิฎกแล้วย่อมบำเพ็ญได้ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธทั้งสอง.
               พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายให้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๗ บังเกิดขึ้นในสำนักของอาฬาดาบสแล้ว ตรัสถามบริกรรมของเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อาฬารดาบสทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ทราบ ดังนี้. ต่อแต่นั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงเสด็จไปสู่สำนักของอุทกดาบส แล้วทรงเทียบเคียงคุณวิเศษที่พระองค์บรรลุแล้ว ตรัสถามการบริกรรมของเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อุทกดาบสนั้นก็ทูลแจ้งให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ก็ทรงให้ฌานนั้นเกิดขึ้นในลำดับแห่งถ้อยคำของอุทกดาบสนั้นฉันใด
               ภิกษุผู้มีปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ฟังปริยัติธรรมแล้วก็ย่อมบำเพ็ญทั้งปฏิบัติและปฏิเวธทั้งสองได้.
               เพราะฉะนั้น เมื่อพระปริยัติดำรงอยู่ได้ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ได้.
               แต่ในกาลใด ปริยัตินั้นอันตรธานไป ในกาลนั้น อภิธรรมปิฎกย่อมเสื่อมไปก่อน. ในอภิธรรมนั้น พระปัฏฐานย่อมอันตรธานไปก่อนกว่าอย่างอื่นทั้งหมด. ธรรมสังคหะย่อมเสื่อมในภายหลังตามลำดับ. เมื่ออภิธรรมปิฎกนั้นเสื่อมไป แม้เมื่อปิฎกทั้งสองนอกนี้ ยังดำรงอยู่ ศาสนาก็ย่อมเป็นอันตั้งอยู่ได้แท้.
               ในปิฎกเหล่านั้นเมื่อพระสุตตันตปิฎกอันตรธาน อังคุตตรนิกายย่อมเสื่อมไปก่อน ตั้งแต่หมวดที่ ๑๑ จนถึงหมวด ๑. ในลำดับนั้น สังยุตตนิกายก็เสื่อมไป เริ่มแต่จักกเปยยาลจนถึงโอฆตรณสูตร. ในลำดับนั้น มัชฌิมนิกายก็อันตรธานเริ่มตั้งแต่อินทรียภาวนาจนถึงมูลปริยายสูตร. ในลำดับนั้น ทีฆนิกายก็อันตรธานเริ่มแต่ทสุตตรสูตรจนถึงพรหมชาลสูตร.
               คำถามของคาถาหนึ่งก็ดี สองคาถาก็ดี ย่อมอยู่ไปนาน ย่อมไม่สามารถดำรงศาสนาไว้ได้ เช่น สภิยปุจฉาและอาฬวกปุจฉา. ได้ยินว่า ระหว่างกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้า หนึ่งไม่สามารถจะดำรงศาสนาไว้ได้.
               ก็เมื่อปิฎกทั้งสองถึงจะอันตรธานไป เมื่อวินัยปิฎกดำรงอยู่ ศาสนาก็ดำรงอยู่ได้. เมื่อบริวารขันธกะอันตรธานไป เมื่ออุภโตวิภังค์ยังดำรงอยู่ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ได้แท้. เมื่ออุภโตวิภังค์อันตรธานไป แม้เมื่อมาติกายังดำรงอยู่ ศาสนาก็เป็นอันตั้งอยู่ได้แท้.
               เมื่อมาติกาอันตรธานไป เมื่อปาฏิโมกข์ บรรพชาและอุปสมบท ยังดำรงอยู่ศาสนาก็ย่อมดำรงอยู่ได้. เพศยังเป็นไปอยู่ได้นาน.
               แต่วงศ์ของสมณะผู้นุ่งผ้าขาว ไม่สามารถจะดำรงศาสนาไว้ได้ ตั้งแต่กาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ. ศาสนาดำรงอยู่ได้ตลอดพันปีด้วยภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา. ดำรงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้ทรงอภิญญา ๖. ดำรงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้ทรงวิชชา ๓. ดำรงอยู่ได้พันปีด้วยภิกษุผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ. ดำรงอยู่ได้พันปีด้วยเหล่าภิกษุผู้ทรงปาฏิโมกข์.
               ก็ศาสนาย่อมมีอันทรุดลงตั้งแต่การแทงตลอดสัจจะของภิกษุรูปหลังๆ และแต่การทำลายศีลของภิกษุรูปหลังๆ. จำเดิมแต่นั้นไป การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ท่านมิได้ห้ามไว้.

               สาสนอนฺตรหิตวณฺณนา               
               ขึ้นชื่อว่าปรินิพพานมี ๓ อย่าง คือ กิเลสปรินิพพาน ๑ ขันธปรินิพพาน ๑ ธาตุปรินิพพาน ๑. ในปรินิพพานทั้ง ๓ อย่างนั้น การดับรอบแห่งกิเลสได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์ การดับรอบแห่งขันธ์ได้มีที่เมืองกุสินารา การดับแห่งธาตุจักมีในอนาคต.
               ได้ยินว่า ในเวลาที่ศาสนาทรุดลง พระธาตุทั้งหลายก็จักไปรวมกันอยู่ในมหาเจดีย์ ในเกาะตามพปัณณีทวีปนี้ ต่อจากมหาเจดีย์ก็จักไปรวมกันอยู่ที่ราชายตนเจดีย์ในนาคทวีป ต่อแต่นั้น ก็จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์. พระธาตุทั้งหลายจากภพแห่งนาคก็ดี จากพรหมโลกก็ดี จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์ทีเดียว. พระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ก็จักไม่อันตรธานไปเลย. พระธาตุทั้งหมดก็จะรวมกันเป็นกองอยู่ในมหาโพธิบัลลังก์ รวมกันอยู่แน่นเหมือนกองทองคำฉะนั้น เปล่งฉัพพัณณรังสีออกมา. พระธาตุเหล่านั้นจักแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ.
               ต่อแต่นั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลก็ประชุมพร้อมกันแล้ว กล่าวกันว่า พระศาสดาย่อมปรินิพพานไปในวันนี้ ศาสนาก็ย่อมทรุดโทรมไปในวันนี้ นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้ายของเราทั้งหลายในบัดนี้ ดังนี้แล้ว จักพากันกระทำความกรุณาอันยิ่งใหญ่กว่าวันที่พระทศพลปรินิพพาน. เว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพเสีย พวกที่เหลือก็จักไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน. เตโชธาตุในบรรดาธาตุทั้งหลาย ก็จักลุกพุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เมื่อมีพระธาตุแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่ ก็จักลุกเป็นเปลวเดียวกัน เมื่อธาตุทั้งหลายถึงความหมดแล้ว เตโชธาตุก็จักดับหายไป. เมื่อพระธาตุทั้งหลายได้แสดงอานุภาพอันใหญ่หลวงอย่างนี้แล้วหายไป ศาสนาก็เป็นอันชื่อว่าอันตรธานไป. ศาสนายังไม่อันตรธานอย่างนี้ตราบใด ศาสนาจัดว่ายังไม่สุดท้ายตราบนั้น.
               ข้อที่พระศาสดาพึงเกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลังอย่างนี้ ย่อมเป็นฐานะที่จะมีไม่ได้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น ไม่ก่อนไม่หลัง ดังนี้.
               ตอบว่า เพราะความเป็นสิ่งที่ไม่น่าอัศจรรย์.
               ความจริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นมนุษย์ผู้อัศจรรย์. เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเมื่อจะอุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเป็นมนุษย์อัศจรรย์ บุคคลเป็นเอกอย่างไร คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.๑-
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๑

               ก็ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงเสด็จอุบัติขึ้นคราวเดียวกัน ๒ พระองค์บ้าง ๔ พระองค์บ้าง ๘ พระองค์บ้าง ๑๖ พระองค์บ้างไซร้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็พึงเป็นผู้ที่ไม่น่าอัศจรรย์. แม้พระเจดีย์สองแห่งในวัดเดียวกัน ลาภสักการะก็ไม่มาก ทั้งภิกษุทั้งหลายก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะข้อที่มีอยู่มากฉันใด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็พึงเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงเสด็จอุบัติขึ้นอย่างนี้.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ก็เพราะความที่เทศนาไม่แตกต่างกัน. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงแสดงธรรมแตกต่างกันมีสติปัฏฐานเป็นต้นอันใด พระธรรมนั้นนั่นแหละพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นซึ่งทรงอุบัติขึ้นแล้วก็พึงแสดง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็จะเป็นผู้ไม่น่าอัศจรรย์. แต่เมื่อพระพุทธเจ้าองค์เดียวแสดงธรรม แม้พระเทศนาก็เป็นของที่น่าอัศจรรย์.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน เพราะไม่มีการวิวาทกัน. ความจริง เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นอันมากเสด็จอุบัติขึ้น ภิกษุทั้งหลายพึงวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายน่าเลื่อมใส พระพุทธเจ้าของพวกเรามีพระสุรเสียงไพเราะ มีลาภและมีบุญ ดังนี้ เหมือนอันเตวาสิกของอาจารย์มากองค์. เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงอุบัติขึ้นอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุข้อนี้ พระนาคเสนเถระถูกพระยามิลินท์ตรัสถาม ก็ได้ทูลตอบไว้อย่างพิสดาร. ความจริง ในมิลินทปัญหานั้น พระยามิลินท์ตรัสไว้ว่า ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาษิตไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส คือข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พึงอุบัติขึ้นไม่ก่อนไม่หลังในโลกธาตุนี้นั้น เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ดังนี้.๒-
____________________________
๒- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๖๒

               ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ พระตถาคตทั้งหมดเมื่อจะทรงแสดงธรรม ย่อมทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และเมื่อจะตรัสก็ย่อมตรัสอริยสัจจธรรม ๔ และเมื่อจะทรงให้ศึกษา ย่อมทรงให้ศึกษาในไตรสิกขา เมื่อจะทรงพร่ำสอน ก็ทรงพร่ำสอนข้อปฏิบัติ คือความไม่ประมาท.
               ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ ถ้าพระตถาคตทั้งหมดมีอุทเทศอย่างเดียวกัน มีกถาอย่างเดียวกัน มีสิกขาบทอย่างเดียวกัน มีอนุสนธิอย่างเดียวกัน เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์จึงไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน โลกนี้เกิดมีแสงสว่างด้วยการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าองค์เดียวก่อน ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่สองพึงมีขึ้น โลกนี้พึงมีแสงสว่างขึ้นมามีประมาณยิ่งด้วยพระรัศมีของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ และพระตถาคตทั้งสองพระองค์ เมื่อจะทรงโอวาทก็พึงโอวาทอย่างสบาย เมื่อจะทรงพร่ำสอนก็พึงพร่ำสอนอย่างสบาย ขอท่านจงแสดงเหตุในข้อนั้นให้โยมหายสงสัยเถิด.
               พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ ธารไว้ได้ซึ่งพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ธารไว้ได้ซึ่งพระคุณของพระตถาคตองค์เดียวเหมือนกัน ถ้าองค์ที่สองพึงเสด็จอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ก็พึงธารไว้ไม่ได้ พึงหวั่นไหว สั่นคลอน น้อมไปโอนไปเอียงไป เรี่ยรายกระจัดกระจาย พินาศไป ไม่พึงเข้าถึงการตั้งอยู่ได้. มหาบพิตร เปรียบเสมือนเรือที่รับบุรุษไว้ได้คนเดียว เมื่อบุรุษคนหนึ่งขึ้นไป เรือพึงตั้งอยู่ได้พอดี ถ้าบุรุษคนที่สองซึ่งเป็นเช่นเดียวกันโดยอายุ โดยสี โดยวัย โดยประมาณ โดยอ้วนและผอมโดยอวัยวะน้อยใหญ่เท่ากัน และบุรุษนั้นพึงขึ้นสู่เรือลำนั้น. มหาบพิตร เรือนั้นจะพึงธารบุรุษทั้งสองนั้นไว้ได้หรือหนอ.
               พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ท่านผู้เจริญ เรือนั้นพึงธารไว้ไม่ได้ พึงหวั่นไหว สั่นคลอน น้อมไปโอนไปเอียงไป เรี่ยรายกระจัดกระจายไป พินาศไป ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้เลย เรือนั้นพึงจมลงไปในน้ำแท้ ดังนี้.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้นเหมือนกัน หมื่นโลกธาตุนี้ธารพระพุทธเจ้าไว้ได้พระองค์เดียว ทั้งทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่สองพึงอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้ก็ธารไว้ไม่ได้ ฯลฯ ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้.
               มหาบพิตร อีกนัยหนึ่ง เปรียบเสมือนบุรุษผู้มีความสุขพึงบริโภคโภชนะตามความต้องการ คือเมื่อหิวก็บริโภคเต็มแค่คอ (เต็มอิ่ม) บุรุษนั้นก็เอิบอิ่มแน่นท้อง อึดอัด ง่วงเหงาเกิดตัวแข็งทื่อ ก้มไม่ลงจากการบริโภคนั้น ในวันรุ่งขึ้นก็บริโภคโภชนะเพียงเท่านั้น. มหาบพิตร บุรุษนั้นจัดว่าเป็นผู้มีความสุขได้หรือไม่ ดังนี้.
               พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ท่านผู้เจริญ บุรุษนั้นบริโภคคราวเดียวไม่พึงตายได้ ดังนี้.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล หมื่นโลกธาตุนี้ธารพระพุทธเจ้าไว้ได้พระองค์เดียว ฯลฯ ไม่พึงเข้าถึงความตั้งอยู่ได้เลย ดังนี้.
               พระยามิลินท์ตรัสว่า พระนาคเสนผู้เจริญ แผ่นดินย่อมไหวด้วยธรรมที่หนักยิ่ง อย่างไรหนอ.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ในโลกนี้เกวียน ๒ เล่มบรรจุด้วยรัตนะจนเต็ม จนเสมอปาก คนทั้งหลายก็พากันขนเอารัตนะของเกวียนเล่มหนึ่งมาเกลี่ยไว้ ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง. มหาบพิตร เกวียนเล่มนั้นจะพึงธารรัตนะของเกวียนทั้งสองเล่มนั้นไว้ได้หรือไม่ ดังนี้.
               พระยามิลินท์ ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ เกวียนนั้นย่อมธารไว้ไม่ได้แน่ ดุมของเกวียนนั้นพึงไหวบ้าง กำของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง เพลาของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง ดังนี้.
               พระนาคเสนทูลถามว่า เกวียนย่อมหักไปด้วยการขนรัตนะที่มากเกินไป ใช่หรือไม่.
               พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า ใช่แล้ว ท่านผู้เจริญ ดังนี้.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้นเหมือนกันแล แผ่นดินย่อมหวั่นไหวด้วยธรรมะที่หนักยิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร เหตุนี้เป็นอันรวมลงในการแสดงพระกำลังของพระพุทธเจ้า ขอพระองค์โปรดสดับเหตุอันสมควรอย่างอื่นในการแสดงกำลังของพระพุทธเจ้านั้น เพราะเหตุอันใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จึงไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์พึงเสด็จอุบัติขึ้นในขณะเดียวกันไซร้ การทะเลาะวิวาทแม้ของบริษัทพึงบังเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายก็จะเป็นสองฝักสองฝ่ายโดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้.
               มหาบพิตร เปรียบเสมือนบริษัทของอำมาตย์ผู้มีกำลังสองคนพึงเกิดการวิวาทกัน คนเหล่านั้นก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวว่า อำมาตย์ของพวกท่าน อำมาตย์ของพวกเรา ดังนี้ฉันใด มหาบพิตร ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าหากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พึงเสด็จอุบัติขึ้นในขณะเดียวกันไซร้ ความวิวาทของบริษัทพึงบังเกิดขึ้นได้ และมนุษย์ทั้งหลายก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา ดังนี้ ขอพระองค์โปรดได้สดับเหตุข้อที่ ๑ นี้ ด้วยเหตุอันใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จึงไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน ขอพระองค์โปรดสดับเหตุอันยิ่งแม้อย่างอื่น ด้วยเหตุอันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ไม่ทรงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน.
               มหาบพิตร ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พึงอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศ ก็ย่อมเป็นคำผิด. คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุด. คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด. คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้วิเศษที่สุด. คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สูงสุด. คำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ. คำว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอ. คำว่า พระพุทธเจ้าหาผู้เสมอเหมือนมิได้. คำว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอเหมือน. คำว่า พระพุทธเจ้าหาบุคคลเปรียบมิได้. คำว่า พระพุทธเจ้าไม่มีบุคคลเปรียบดังนี้ พึงเป็นคำผิด.
               มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดทรงยอมรับเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์ ไม่ทรงอุบัติในขณะเดียวกัน โดยผล (ที่นำมาถวายวิสัชนาแล้ว).
               อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร ข้อที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวย่อมทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นสภาพตามปกติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะคุณของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายมีเหตุใหญ่.
               มหาบพิตร คุณอันประเสริฐอย่างใหญ่หลวงอื่นนั้นก็มีข้อเดียวเท่านั้น มหาบพิตร แผ่นดินใหญ่นั้นมีผืนเดียวเท่านั้น สาครใหญ่มีสายเดียวเท่านั้น ภูเขาสิเนรุยอดแห่งภูเขาใหญ่ประเสริฐที่สุดก็มีลูกเดียวเท่านั้น อากาศใหญ่มีแห่งเดียวเท่านั้น ท้าวสักกะผู้ใหญ่มีองค์เดียวเท่านั้น พระพรหมผู้ใหญ่มีองค์เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ใหญ่ก็มีพระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในที่ใด ในที่นั้นก็ไม่มีโอกาสแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายองค์อื่น ฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ย่อมอุบัติขึ้นในโลก ดังนี้.
               พระยามิลินท์ได้ตรัสว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระคุณเจ้าได้กล่าวแก้ปัญหาแจ่มแจ้งดีแล้ว ด้วยอุปมาอุปไมยทั้งหลาย.
               สองบทว่า ธมฺมสฺส จ อนุธมฺมํ ความว่า ปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นอันเป็นธรรมสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ อย่าง.
               บทว่า สหธมฺมิโก คือ การโต้ตอบซึ่งมีเหตุ.

               อจฺฉริยอพฺภูตวณฺณนา               
               บทว่า อายสฺมา อุทายิ ความว่า พระเถระชื่ออุทายีมี ๓ องค์ คือ พระโลฬุทายีกาฬุทายี ๑ มหาอุทายี ๑. ในที่นี้ประสงค์เอามหาอุทายี.
               ได้ยินว่า เมื่อท่านพระมหาอุทายีนั้นฟังพระสูตรนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ปีติมีวรรณะ ๕ เกิดขึ้นในภายใน ย่อมแผ่ไปตั้งแต่หลังเท้าขึ้นไปสู่กระหม่อม ตั้งแต่กระหม่อมแผ่ลงมายังหลังเท้า แต่ข้างทั้งสองมารวมลงในท่ามกลาง ตั้งแต่ท่ามกลางก็แผ่ไปโดยข้างทั้งสอง.
               พระมหาอุทายีนั้นอันปีติถูกต้องทั่วสรีระ เมื่อจะกล่าวคุณของพระทสพลด้วยโสมนัสอันมีกำลัง จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ความเป็นผู้หมดตัณหา ชื่อว่าความเป็นผู้มักน้อย. ความพอใจด้วยอาการ ๓ อย่างในปัจจัย ๔ ชื่อว่าความเป็นผู้สันโดษ. ความขัดเกลากิเลสทุกอย่าง ชื่อความเป็นผู้ขัดเกลา.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ โย หิ นาม.
               บทว่า น อตฺตานํ ปาตุกริสฺสติ ความว่า ไม่ทรงกระทำคุณของพระองค์ ให้ปรากฏ.
               บทว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายเมื่อจะกล่าวว่า ใครเป็นผู้เช่นเดียวกันกับเรามีไหม ดังนี้ ก็ยกธงแผ่นผ้าขึ้นเที่ยวไปยังเมืองนาฬันทา.
               ด้วยหลายบทว่า ปสฺสโข ตฺวํ อุทายิ ตถาคตสฺส อปฺปิจฺฉตา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับคำของพระเถระว่า ดูก่อนอุทายี เธอจงดูตถาคตมีความมักน้อยเช่นใด.
               หากมีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงไม่ทรงกระทำพระองค์ให้ปรากฏ ทั้งไม่ตรัสคุณของพระองค์.
               พึงตอบว่า ไม่ตรัสก็หาไม่ พระองค์ไม่ตรัสคำที่ควรตรัสด้วยคุณมีความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเป็นต้นเพราะเหตุแห่งลาภมีจีวรเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูก่อนอุทายี เธอจงดูความปรารถนาน้อยของตถาคต.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยสัตว์ผู้ที่จะตรัสรู้จึงตรัสไว้ด้วยอำนาจเวไนยสัตว์.
               เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า๑-
               อาจารย์ของเราไม่มี บุคคลผู้เช่นกับเราก็ไม่มี บุคคลผู้เปรียบด้วยเราย่อมไม่มี ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๑

               คาถาก็ดี พระสูตรก็ดี เป็นอันมากที่เป็นเครื่องแสดงพระคุณของพระตถาคตก็ควรให้พิสดาร อย่างนี้.
               บทว่า อภิกฺขณํ ภาเสยฺยาสิ คือ เธอพึงกล่าวบ่อยๆ.
               อธิบายว่า อย่าได้กล่าวในเวลาเที่ยงเป็นต้น เพราะคิดว่า เราได้กล่าวในเวลาเช้าแล้ว หรืออย่าได้กล่าวในวันมะรืนนี้เป็นต้น เพราะคิดว่า เราได้กล่าวในวันนี้แล้ว.
               บทว่า ปเวเทสิ คือ กล่าวแล้ว.
               สองบทว่า อิมสฺส เวยฺยากรณสฺส ความว่า พระสูตรนี้ท่านกล่าวว่า ไวยากรณ์ เพราะไม่มีคาถา.
               คำว่า อธิวจนํ คือ ชื่อ. ก็คำนี้ พระสังคีติกาจารย์ตั้งบทไว้ตั้งแต่ คำว่า อิติ หิทํ.
               คำที่เหลือในทุกๆ บท มีเนื้อความชัดเจนแล้วแท้ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาความของสัมปสาทนียสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อว่าสุมังคลวิลาสินี ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาสัมปสาทนียสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 51อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 73อ่านอรรถกถา 11 / 94อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=2130&Z=2536
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=1460
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=1460
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :