ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปทานสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               โพธิสตฺตธมฺมตาวณฺณนา               
               บทว่า วิปัสสี ในบทเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี เป็นชื่อของพระโพธิสัตว์องค์นั้น. อนึ่ง ท่านได้ชื่อนั้น เพราะเป็นผู้ฉลาดในการเห็นเนื้อความหลายๆ อย่าง.
               บทว่า โพธิสตฺโต คือ สัตว์ผู้ฉลาด สัตว์ผู้ตรัสรู้. อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ผู้ฝักใฝ่ คือมีใจจดจ่ออยู่ในมรรค ๔ กล่าวคือโพธิ ชื่อว่าโพธิสัตว์.
               ในบทว่า สโต สมฺปชาโน นี้ บทว่า สโต คือ สตินั้นเอง.
               บทว่า สมฺปชาโน คือญาณ. อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทรงกระทำสติให้มั่น กำหนดด้วยญาณเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา.
               บทว่า โอกฺกมิ ท่านแสดงความที่พระโพธิสัตว์เสด็จลง ด้วยบทนี้ในบาลีไม่ได้แสดงถึงลำดับแห่งการก้าวลง ก็เพราะลำดับแห่งการก้าวนั้น ท่านยกขึ้นสู่อรรถกถา ฉะนั้นพึงทราบอย่างนี้.
               จริงอยู่ พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ทรงบรรลุที่สุดแห่งญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา พุทธจริยา ทรงดำรงอยู่ในอัตภาพที่ ๓
               เช่น พระเวสสันดรทรงให้มหาทาน ๗ ครั้ง ทรงยังแผ่นดินให้หวั่นไหว ๗ ครั้ง ทรงกระทำกาละแล้วทรงอุบัติในภพดุสิต ในวาระแห่งจิตที่ ๒.
               แม้พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสีก็ทรงกระทำกาละเหมือนอย่างนั้น ทรงอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงประดิษฐานอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นตลอด ๕๗ โกฏิปี ยิ่งด้วย ๖ ล้านปี.
               ก็ในกาลอื่น พระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงอุบัติในเทวโลกที่สัตว์มีอายุยืน ย่อมไม่ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุนั้น.
               เพราะเหตุไร. เพราะทำบารมีให้เต็มได้ยากในที่นั้น.
               พระโพธิสัตว์เหล่านั้นกระทำอธิมุตตกาลกิริยา จึงบังเกิดในถิ่นของมนุษย์นั้นแล. ก็บารมีทั้งหลายของพระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้น สามารถจะยังพระสัพพัญญุตญาณให้เกิดโดยอัตภาพเดียวในบัดนี้ได้ฉันใด ในครั้งนั้น พระวิปัสสีโพธิสัตว์ได้ดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น ตราบเท่าอายุเพราะบารมีเต็มแล้วด้วยประการทั้งปวงฉันนั้น. ก็พวกเทวดาจักจุติโดย ๗ วัน ด้วยการคำนวณของพวกมนุษย์ ดังนั้น บุพนิมิต ๕ ย่อมเกิดขึ้น คือ ดอกไม้เหี่ยว ผ้าเศร้าหมอง เหงื่อไหลจากรักแร้ทั้งสอง ผิวพรรณหมอง เทวดาไม่ตั้งอยู่ในเทวอาสน์.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มาลา ได้แก่ ดอกไม้ที่ประดับในวันถือปฏิสนธิ.
               นัยว่า ดอกไม้เหล่านั้นไม่เหี่ยวมาตลอด ๕๗ โกฏิปี ยิ่งด้วย ๖ ล้านปี แต่ในตอนนั้นเหี่ยว. แม้ในผ้าทั้งหลายก็มีนัยนี้แหละ. ก็ตลอดกาลประมาณเท่านี้ พวกเทวดาไม่รู้สึกหนาว ไม่รู้สึกร้อน. ในกาลนั้น เหงื่อไหลจากสรีระเป็นหยดๆ ตลอดกาลประมาณเท่านี้ ในสรีระของเทวดาเหล่านั้นย่อมไม่ปรากฏวรรณต่างกันด้วยสามารถฟันหักและผมหงอก เป็นต้น. เทพธิดาปรากฏเหมือนมีอายุ ๑๖ เทพบุตรปรากฎเหมือนมีอายุ ๒๐. แต่ในเวลาตาย อัตภาพของเทพบุตรเหล่านั้นทรุดโทรม.
               อนึ่ง ตลอดกาลประมาณเท่านี้ เทพบุตรเหล่านั้นไม่มีความกระสันในเทวโลก. แต่ในเวลาจะตาย หายใจไม่ออก กระสับกระส่าย ไม่ยินดีในอาสนะของตน.
               ก็บุพนิมิต ๕ เหล่านี้ ย่อมปรากฏแก่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่เท่านั้น ไม่ปรากฏแก่เทวดาทั้งปวง เหมือนนิมิตมีอุกกาบาตแผ่นดินไหวและจันทคราสเป็นต้น ย่อมปรากฏแก่พระราชาและอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้นผู้มีบุญมากเท่านั้น ไม่ปรากฏแก่คนทั้งปวงฉะนั้น. เหมือนอย่างมีนักโหราศาสตร์ย่อมรู้บุพนิมิตในมนุษย์ทั้งหลาย คนทั้งปวงไม่รู้ฉันใด ทวยเทพทั้งปวงย่อมไม่รู้ แม้นิมิตเหล่านั้น แต่บัณฑิตเท่านั้นรู้ได้ฉันนั้น. เทพบุตรเหล่าใดเกิดในเทวโลกนั้นด้วยกุศลกรรมน้อย เมื่อเทพบุตรเหล่านั้นเกิด เขากลัวว่า บัดนี้ ใครจะรู้พวกเราเกิดที่ไหน เทพบุตรที่มีบุญมากย่อมไม่กลัวว่า พวกเราอาศัยทานที่เราให้ ศีลที่เรารักษา ภาวนาที่เราเจริญ จักเสวยสมบัติในเทวโลกเบื้องบน.
               แม้พระโพธิสัตว์พระนามว่าวิปัสสี ทรงเห็นบุพนิมิตเหล่านั้นแล้ว ไม่ทรงกลัวว่า บัดนี้ เราจักเป็นพระพุทธเจ้าในอัตภาพถัดไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อนิมิตเหล่านั้นปรากฏแก่พระองค์ ทวยเทพในหมื่นจักรวาฬพากันมาประชุม ทูลวิงวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ มิได้ทรงปรารถนาสักกสมบัติ มารสมบัติ พรหมสมบัติ สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ แต่พระองค์ทรงปรารถนาความเป็นพุทธะ ทรงบำเพ็ญเพื่อถอนสัตว์ออกจากโลก บัดนี้ กาลนั้นมาถึงพระองค์แล้ว เป็นสมัยเพื่อความเป็นพุทธะแล้ว.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์มิได้ทรงรับปฏิญญาของเทวดาเหล่านั้น ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ ด้วยสามารถทรงกำหนด กาล ทวีป ประเทศ ตระกูล และอายุของพระมารดา.
               ในมหาวิโลกนะ ๕ นั้น พระมหาสัตว์ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า ถึงเวลาหรือยัง.
               กาลเมื่ออายุของสัตว์เจริญมากกว่าแสนปี ก็ยังไม่ใช่กาล.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะในกาลนั้น ชาติชราและมรณะจะไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย. ชื่อว่าพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจะทำให้พ้นจากพระไตรลักษณ์ ก็จะไม่มี. เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสอะไร แล้วไม่สำคัญเพื่อจะฟัง เพื่อจะเชื่อ. แต่นั้นก็จะไม่มีการตรัสรู้ เมื่อไม่มีการตรัสรู้. คำสอนก็จะไม่นำสัตว์ให้ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กาล.
               แม้กาลเมื่อสัตว์มีอายุถอยลงไปกว่า ๑๐๐ ปี ก็ไม่ใช่กาล.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนา. โอวาทที่ให้แก่สัตว์ที่มีกิเลสหนา ย่อมไม่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นโอวาท เหมือนไม้เท้าขีดลงไปในน้ำย่อมหายไปทันที เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กาล.
               กาลเมื่ออายุสัตว์ตั้งแต่แสนปี ลงมาถึง ๑๐๐ ปี ชื่อว่ากาล. ก็ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี. ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงเห็นว่าถึงกาลที่ควรจะเกิดแล้ว. จากนั้น พระมหาสัตว์ทรงตรวจดูทวีปทรงเห็นทวีป ๔ พร้อมด้วยบริวาร ทรงเห็นว่าใน ๓ ทวีป พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่บังเกิด บังเกิดในชมพูทวีปแห่งเดียว. ชมพูทวีปเป็นทวีปใหญ่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทรงตรวจดูประเทศต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในประเทศไหนหนอ ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ.
               ท่านกล่าวถึงมัชฌิมประเทศไว้ในวินัย โดยนัยเป็นต้นว่า ด้านทิศตะวันออกมีนิคมชื่อกชังคละ ประเทศนั้นโดยส่วนยาวประมาณ ๓๐๐ โยชน์ โดยส่วนกว้างประมาณ ๑๕๐ โยชน์ โดยรอบประมาณ ๙๐๐ โยชน์.
               จริงอยู่ ในประเทศนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย พระอัครสาวก พระมหาสาวก ๘๐ พระเจ้าจักรพรรดิและกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เศรษฐี ผู้มีศักดิ์ใหญ่เหล่าอื่นย่อมเกิด. อนึ่ง ในประเทศนี้มีนครชื่อพันธุมดี พระมหาสัตว์ทรงตัดสินพระทัยว่า เราควรไปเกิดในนครนั้น. จากนั้น ทรงตรวจดูตระกูล ทรงเห็นตระกูลแล้วว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในตระกูลที่ชาวโลกยกย่อง ก็บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์อันชาวโลกยกย่องแล้ว เราจักเกิดในตระกูลนั้น พระราชาพระนามว่าพันธุมจักเป็นพระบิดาของเรา ดังนี้ จากนั้น ทรงตรวจดูมารดา ทรงเห็นแล้วว่า ธรรมดาพระพุทธมารดาไม่เป็นหญิงเหลาะแหละ ไม่เป็นนักเลงสุรา บำเพ็ญบารมีมาแล้วถึงแสนกัป ตั้งแต่เกิดมาศีล ๕ ไม่ขาด ก็หญิงเช่นพระนางพันธุมดีเทวีนี้จักเป็นมารดาของเรา ดังนี้. ทรงรำพึงว่า พระนางพันธุมดีเทวีจะมีพระชนมายุเท่าไร ทรงเห็นแล้วจักมีพระชนมายุ ๗ วัน ต่อจาก ๑๐ เดือน.
               พระโพธิสัตว์ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ นี้ตรัสว่า ดูกรผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เป็นกาลอันสมควรของเราเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อจะทรงทำการสงเคราะห์แก่ทวยเทพ ประทานปฏิญญาว่า พวกท่านจงพากันกลับไปเถิด ทรงส่งเทวดาเหล่านั้นแล้ว แวดล้อมด้วยเทวดาชั้นดุสิตเสด็จเข้าไปยังสวนนันทวันในดุสิตเทวโลก. แม้ในเทวโลกทั้งหมดก็มีสวนนันทวันเหมือนกัน.
               เหล่าเทวดาพากันทูลเตือนว่า ขอพระองค์จงจุติจากเทวโลกนี้ไปสู่มนุษยสุคติเถิด แล้วทูลให้ระลึกถึงโอกาสที่ทรงบำเพ็ญกุศลกรรมมาในกาลก่อน.
               พระโพธิสัตว์นั้นแวดล้อมไปด้วยเหล่าเทวดาผู้ให้ระลึกถึงกุศลอย่างนี้ เสด็จไปอยู่ในสวนนันทวันนั้นทรงจุติแล้ว. ก็ครั้นจุติอย่างนี้แล้วย่อมรู้ว่าเราจุติ ไม่รู้จุติจิต แม้ถือปฏิสนธิแล้วจึงรู้ แต่ไม่รู้ปฏิสนธิจิตอีกนั้นแหละ แต่รู้อย่างนี้ว่าเราถือปฏิสนธิในที่นี้นั่นเอง. แต่พระเถระบางพวกกล่าวว่า ควรได้การนึกคิดโดยปริยาย พระโพธิสัตว์จักรู้วารจิตที่สองที่สาม.
               แต่พระมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกกล่าวว่า ปฏิสนธิของพระมหาสัตว์ไม่เหมือนปฏิสนธิของสัตว์อื่น ด้วยว่าสติสัมปชัญญะของพระมหาสัตว์เหล่านั้นถึงที่สุดแล้ว แต่เพราะไม่สามารถกระทำจิตดวงนั้นด้วยจิตดวงนั้นได้ ฉะนั้น จึงไม่รู้จุติจิต แต่ในขณะจุตินั่นเองย่อมรู้ว่าเราจุติไม่รู้ปฏิสนธิจิต รู้เพียงว่าเราได้ถือปฏิสนธิ ณ ที่โน้นดังนี้.
               ในกาลนั้นหมื่นโลกธาตุย่อมหวั่นไหว. พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ เสด็จลงสู่ครรภ์มารดาทรงถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต เช่นกับกุศลจิตอันเป็นอสังขาริกะ สหรคตด้วยโสมนัสสัมปยุตด้วยญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตาในปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง.
               อนึ่ง พระมหาสิวเถระยังกล่าวว่า จิตสหรคตด้วยอุเบกขา.
               พระโพธิสัตว์แม้พระองค์นั้นก็ได้ถือปฏิสนธิด้วยฤกษ์อุตตราสาฬหะในวันเพ็ญเดือน ๘ เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้นจำเติมแต่วันที่ ๗ แห่งอาสาฬหะบูรณมี พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงเล่นนักขัตตกีฬา ทรงประดับด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไม่มีการดื่มสุรา เสด็จลุกแต่เช้าในวันที่ ๗ ทรงสรงสนานด้วยน้ำหอม ทรงตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกชนิด เสวยพระกระยาหารเลิศ ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ เสด็จเข้าสู่ห้องสิริบรรทมเหนือพระสิริไสยาศน์ ทรงเข้าสู่นิทราได้ทอดพระเนตรเห็นพระสุบินนี้.
               ในพระสุบินนั้นว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ยกพระพุทธมารดาพร้อมด้วยพระแท่นที่บรรทม นำไปยังสระอโนดาด ให้สรงสนาน ให้ทรงนุ่งห่มด้วยผ้าทิพย์ ให้ทรงลูบไล้ด้วยของหอมทิพย์ ประดับดอกไม้ทิพย์ ไม่ไกลจากนั้นมีภูเขาเงิน ภายในภูเขาเงินนั้นมีวิมานทอง ให้พระพุทธมารดาหันพระเศียรไปทางทิศปาจีน บรรทม ณ วิมานทองนั้น.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นช้างเผือกผ่อง ไม่ไกลจากนั้นมีภูเขาทองลูกหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จไปที่ภูเขาทองนั้นแล้ว เสด็จลงจากภูเขาทอง เสด็จขึ้นภูเขาเงิน แล้วเสด็จเข้าไปยังวิมานทอง กระทำประทักษิณพระมารดาแล้ว ได้เป็นคล้ายแหวกพระปรัศเบื้องขวาเสด็จเข้าไปสู่พระครรภ์. ทันทีนั้น พระเทวีทรงตื่น กราบทูลพระสุบินนั้นแด่พระราชา.
               ครั้นสว่างแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกหัวหน้าพราหมณ์ประมาณ ๖๔ คน ให้ลาดอาสนะอันมีค่ามากบนพื้นฉาบด้วยของเขียว กระทำมงคลสักการะด้วยข้าวตอกเป็นต้น เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายนั่ง ณ ที่นั้นแล้ว ทรงนำถาดทองถาดเงินอันเต็มไปด้วยข้าวปายาสอย่างดี ปรุงด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ครอบด้วยถาดทองถาดเงินอีกทีถวาย. ทรงให้พราหมณ์เหล่านั้นอิ่มเอิบด้วยวัตถุอย่างอื่นมีผ้าใหม่แม่โคแดงและทานเป็นต้น.
               พระราชาตรัสบอกพระสุบินนั่นแก่พราหมณ์เหล่านั้นผู้เอิบอิ่มด้วยสิ่งปรารถนาทั้งปวง แล้วรับสั่งถามว่า พระสุบินนั้นจักเป็นอย่างไร.
               พวกพราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระเทวีทรงพระครรภ์แล้ว พระเจ้าข้า อนึ่ง พระครรภ์นั้นเป็นบุรุษไม่ใช่สตรี พระองค์จักมีพระโอรส พระโอรสนั้น หากครองเรือนจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบด้วยธรรม เป็นธรรมราชา หากออกบวช จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เปิดโลก.
               พึงทราบลำดับการพรรณนาเนื้อความในบทนี้ว่า พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดาดังนี้ก่อน.
               บทว่า อยเมตฺถ ธมฺมตา ความว่า ข้อนี้เป็นธรรมดาในการเสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดานี้. ท่านอธิบายว่า นี้เป็นความเป็นจริง นี้เป็นความแน่นอน ดังนี้.
               ชื่อว่านิยามนี้มี ๕ อย่าง คือ กรรมนิยาม อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตตนิยาม ธรรมนิยาม. ในนิยามทั้ง ๕ นั้น การให้ผลแห่งกุศลที่น่าปรารถนา การให้ผลแห่งอกุศลที่ไม่น่าปรารถนา นี้ชื่อกรรมนิยาม.
               เพื่อแสดงกรรมนิยามนั้นควรกล่าวถึงเรื่องในคาถาว่า น อนฺตลิกฺเข ดังนี้เป็นต้น.
               มีเรื่องเล่าว่า หญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามีประสงค์จะผูกคอตาย จึงสอดคอเข้าไปในบ่วงเชือก. บุรุษคนหนึ่งลับมีดอยู่เห็นหญิงนั้นประสงค์จะตัดเชือก จึงวิ่งไปปลอบหญิงนั้นว่า น้องอย่ากลัว น้องอย่ากลัว. เชือกกลายเป็นอสรพิษรัดคอหญิงอยู่. บุรุษนั้นกลัวรีบหนีไป. หญิงนั้นตาย ณ ที่นั้นเอง. ควรแสดงถึงเรื่องทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ในที่นี้.
               ในชนบทนั้นๆ ในกาลนั้นๆ การเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้น โดยตัดครั้งเดียวเท่านั้น ลมพัด ลมไม่พัด แดดกล้า แดดอ่อน ฝนตก ฝนไม่ตก ดอกบัวกลางวันแย้ม กลางคืนหุบ อย่างนี้เป็นต้น เป็นอุตุนิยาม.
               ผลข้าวสาลีย่อมเป็นผลจากพืชข้าวสาลีอย่างเดียว รสหวานย่อมเป็นผลจากน้ำหวาน รสขมย่อมเป็นผลจากพืชขม. นี้เป็นพีชนิยาม.
               ธรรม คือจิตและเจตสิกดวงก่อนๆ เป็นปัจจัย โดยอุปนิสัยปัจจัยแห่งธรรม คือจิตและเจตสิกดวงหลังๆ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นแห่งสัมปฏิจฉันนะเป็นต้นในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น. นี้เป็นจิตตนิยาม.
               ความเป็นไปแห่งความหวั่นไหวในหมื่นโลกธาตุ ในการเสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย นี้ชื่อธรรมนิยาม.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์ธรรมนิยาม. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กุจฺฉึ โอกฺกมติ นี้ มีความว่า พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์. ก็เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นเสด็จลงแล้ว ย่อมเป็นอย่างนี้ หาใช่กำลังเสด็จลงไม่.
               บทว่า อปฺปมาโณ ความว่า มีประมาณเจริญ คือไพบูลย์. บทว่า อุฬาโร เป็นไวพจน์ของบทนั้น.
               ท่านกล่าวว่า มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ในบทเป็นต้นว่า ชนทั้งหลายย่อมเคี้ยวกินของควรเคี้ยวอันมีรสอร่อยอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่าประเสริฐอย่างยิ่ง. ในบทมีอาทิว่า ได้ยินมาว่า เหล่ากอแห่งวัจฉะผู้เจริญย่อมสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยความสรรเสริญอันยิ่ง. แต่ในบทนี้ ท่านประสงค์เอาความไพบูลย์.
               ในบทว่า เทวานํ เทวานุภาวํ นี้ มีความว่า อานุภาพของเทวดา ก็คือ ผ้านุ่งมีรัศมีสร้านไป ๑๒ โยชน์ ร่างกายก็เช่นนั้น เครื่องประดับก็เช่นนั้น วิมานก็เช่นนั้น พระโพธิสัตว์ล่วงเลยเทวานุภาพนั้น ดังนี้.
               บทว่า โลกนฺตริกา ความว่า ช่องว่างอันหนึ่งๆ ในระหว่างจักรวาฬทั้ง ๓ ย่อมมีในที่สุดโลก ดุจช่องว่างในท่ามกลางล้อเกวียน ๓ ล้อ หรือแผ่น ๓ แผ่นที่วางทับกันฉะนั้น. ก็โลกันตรนรกนั้นโดยส่วนกว้างถึง ๘,๐๐๐ โยชน์.
               บทว่า อฆา คือ เปิดเป็นนิจ. บทว่า อสํวุตา ความว่า แม้ข้างล่างก็ไม่มีตั้งไว้.
               บทว่า อนฺธการา คือ มืดมิด. บทว่า อนฺธการติมิสา ความว่า ประกอบด้วยหมอกอันทำความมืดพ้นจากจักขุวิญญาณ. นัยว่า จักขุวิญญาณย่อมไม่เกิด ณ ที่นั้น.
               บทว่า เอวํมหิทฺธิกา ความว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมปรากฏใน ๓ ทวีป โดยส่องแสงครั้งเดียวเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์มีฤทธิ์มาก. พระจันทร์และพระอาทิตย์กำจัดความมืดตลอดหนึ่งล้านแปดแสนโยชน์ในทิศหนึ่งๆ แล้วส่องแสงสว่าง อย่างนี้ชื่อว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์มีอานุภาพมาก.
               บทว่า อาภาย นานุโภนฺติ ความว่า แสงสว่างของตนไม่พอ. นัยว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้นแล่นไปท่ามกลางจักรวาฬบรรพต. ก็โลกันตรนรกเลยจักรวาฬบรรพตไป เพราะฉะนั้น พระจันทร์และพระอาทิตย์ เหล่านั้นจึงมีแสงสว่างไม่พอในที่นั้น.
               บทว่า เยปิ ตตฺถ สตฺตา ความว่า แม้สัตว์เหล่าใดเกิดแล้วในโลกันตรมหานรกนั้น.
               ถามว่า ก็สัตว์เหล่านั้นกระทำกรรมอะไรไว้ จึงเกิดในโลกันตรมหานรกนั้น.
               ตอบว่า ทำกรรมหนัก คือหยาบช้า.
               สัตว์เหล่านั้นกระทำความผิดต่อมารดาบิดาและสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม และกรรมร้ายกาจมีฆ่าสัตว์เป็นต้นทุกวันๆ ย่อมเกิดในโลกันตรนรกนั้น ดุจอภยโจรและนาคโจรเป็นต้นในตามพปัณณิทวีป ร่างกายของสัตว์เหล่านั้นสูง ๓ คาวุต มีเล็บยาวเหมือนเล็บค้างคาว สัตว์เหล่านั้นเกาะอยู่บนจักรวาลบรรพด้วยเล็บ เหมือนค้างคาวเกาะอยู่บนต้นไม้ฉะนั้น
               เมื่อใดสัตว์เหล่านั้นคลานไปถูกฝ่ามือของกันและกันเข้า เมื่อนั้นก็สำคัญว่า เราพบอาหารแล้วจึงวิ่งหมุนไปรอบๆ แล้วก็ตกไปบนน้ำหนุนโลก เมื่อลมปะทะก็ขาดตกลงไปในน้ำเหมือนผลมะทราง พอตกลงไปแล้วก็ละลาย เหมือนก้อนแป้งตกลงไปในน้ำที่เค็มจัด.
               บทว่า อญฺเญปิ กิร โภ สนฺติ สตฺตา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเห็นกันในวันนั้นว่า โอ้โฮ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็เกิดในที่นี้ เพื่อเสวยทุกข์เหมือนอย่างพวกเราเสวยทุกข์ยิ่งใหญ่ฉะนั้น.
               ก็แสงสว่างนี้ไม่ตั้งอยู่นาน ตั้งอยู่เพียงดื่มข้าวยาคูครั้งเดียว เปล่งออกไปเหมือนแสงสายฟ้าเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายพูดว่านี้อะไรก็หายไป.
               บทว่า สํกมฺปติ คือ หวั่นไหวไปโดยรอบ. สองบทต่อไปเป็นไวพจน์ของบทก่อนนั้นแล.
               บทว่า ปุน อปฺปมาโณ จ เป็นต้น ท่านกล่าวความสรุปต่อไป.
               บทว่า จตฺตาโร ในบทนี้ว่า เทวบุตร ๔ องค์ เข้าไปรักษาทิศทั้ง ๔ ท่านกล่าวหมายถึงท้าวมหาราช ๔ องค์. ก็ในหมื่นจักรวาฬแบ่งเป็นอย่างละ ๔ ก็เป็นสี่หมื่นจักรวาฬ. ในสี่หมื่นจักรวาฬนั้นในจักรวาฬนี้ ท้าวมหาราชถือพระขรรค์เข้าไปคอยอารักขาพระโพธิสัตว์เข้าไปสู่ห้องสิริ ยังหมู่ยักษ์เป็นต้นว่าพวกปีศาจเล่นฝุ่นที่กีดขวาง ตั้งแต่ประตูห้องให้หลีกออกไปแล้ว ถือการอารักขาตลอดจักรวาฬ.
               ก็การรักษานี้เพื่อประโยชน์อะไร แม้หากว่า จำเดิมแต่กาลแห่งกลละในขณะปฏิสนธิ พวกมารแสนโกฏิ ยกเขาสิเนรุแม้แสนโกฏิ พึงมาเพื่อทำอันตรายพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์ อันตรายทั้งหมดพึงหายไปมิใช่หรือ.
               แม้เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้วในทำพระโลหิตให้ห้อว่า
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะพึงปลงพระชนม์ตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไปตามที่อยู่เถิด ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทั้งหลายไม่ควรที่จะอารักขา.
               เพราะฉะนั้น อันตรายถึงชีวิตของพระตถาคตเหล่านั้นย่อมไม่มีด้วยความเพียรของผู้อื่นอย่างนี้แหละ. พวกเทพบุตรได้ถืออารักขาเพื่อป้องกันภัยก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี อันพึงเกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ เพราะเห็นรูปหรือฟังเสียงของอมนุษย์ที่มีรูปพิการ น่าเกลียดน่ากลัวเป็นมฤคปักษี.
               อีกประการหนึ่ง พวกเทพบุตรเกิดความเคารพด้วยเดชแห่งบุญของพระโพธิสัตว์ แม้ได้ประกาศความเคารพของตนๆ ก็ได้กระทำอย่างนี้.
               ก็ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เหล่านี้ เข้าไปยืนภายในห้องแสดงตนหรือไม่แสดงตนแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์. ไม่แสดงในเวลาทรงอาบน้ำ ทรงตกแต่งพระวรกาย ทรงบริโภคพระกระยาหารเป็นต้นและเวลาถ่าย แต่จะแสดงในเวลาพระมารดาเสด็จเข้าห้องสิริแล้วบรรทมบนพระที่สิริไสยาศน์.
               ณ ที่นั่น ชื่อว่าการเห็นอมนุษย์ย่อมเป็นภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ ก็จริง แต่ถึงดังนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์เห็นอมนุษย์เหล่านั้นด้วยบุญญานุภาพของตน และของพระโอรสจึงไม่ทรงกลัว. พระทัยของพระมารดานั้นย่อมเกิดในอมนุษย์เหล่านั้น เหมือนผู้ดูแลภายในพระนครตามปกติ.
               บทว่า ปกติยา สีลวตี ความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยสภาวะนั่นเอง.
               ได้ยินว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พวกมนุษย์นั่งกระหย่งไหว้รับศีลในสำนักของพวกดาบสและปริพาชก. แม้พระมารดาของพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายก็ทรงรับศีลในสำนักของฤษีกาลเทวิล. แต่เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จสู่พระครรภ์ ใครๆ อื่นไม่สามารถจะนั่ง ณ บาทมูลได้. แม้นั่งรับศีลบนอาสนะเสมอกันก็เป็นอาการดูหมิ่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงรับศีลด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า ปุริเสสุ ความว่า จิตประสงค์ในบุรุษ ในมนุษย์ไรๆ เริ่มด้วยพระบิดาของพระโพธิสัตว์เป็นต้น ย่อมไม่เกิดแก่พระมารดาพระโพธิสัตว์. คนมีศิลปะแม้ฉลาด ก็ไม่สามารถจะวาดรูปพระมารดาพระโพธิสัตว์ลงในใบลานเป็นต้นได้. อันใครๆ ไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า เพราะเห็นรูปนั้น ราคะย่อมไม่เกิดแก่บุรุษ. ก็หากว่า บุรุษมีจิตกำหนัดประสงค์จะเข้าไปหาพระมารดาพระโพธิสัตว์นั้น เท้าไม่พาไปย่อมผูกติดดุจโซ่ทิพย์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า พระมารดาอันใครๆ ล่วงเกินไม่ได้
               บทว่า ปญฺจนฺนํ กามคุณานํ ความว่า ในบทก่อน ท่านกล่าวถึงการห้ามวัตถุด้วยสามารถความประสงค์ในบุรุษ ด้วยบทนี้ว่า กามคุณูปสญฺหิตํ ในบทนี้ ท่านแสดงถึงการได้อารมณ์.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระราชาทั้งหลายโดยรอบสดับว่า พระโอรสเห็นปานนี้ทรงอุบัติในพระครรภ์ของพระเทวี ทรงส่งบรรณาการอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในทวารห้า ด้วยสามารถอาภรณ์มีค่ามากและดนตรีเป็นต้น. ชื่อว่าการกำหนดปริมาณแห่งลาภและสักการะไม่มีแก่พระโพธิสัตว์ และแก่มารดาของพระโพธิสัตว์ เพราะสั่งสมกรรมที่ทำไว้.
               บทว่า อกิลนฺตกายา ความว่า พระมารดาพระโพธิสัตว์นั้นมิได้มีความลำบากไรๆ อย่างที่หญิงทั้งหลายอื่นลำบากด้วยหนักครรภ์ มือและเท้าย่อมถึงการบวมเป็นต้น.
               บทว่า ติโรกุจฺฉิคตํ คือ เสด็จอยู่ภายในพระครรภ์.
               บทว่า ปฺสสติ ความว่า พระมารดาพระโพธิสัตว์ ครั้นล่วงกาลมีกลละเป็นต้น ทรงเห็นพระโพธิสัตว์เข้าถึงความเป็นผู้มีอวัยวะน้อยใหญ่ และพระอินทรีย์สมบูรณ์เกิดแล้ว.
               ถามว่า ทรงเห็นเพื่ออะไร.
               ตอบว่า เพื่ออยู่อย่างสบาย.
               เหมือนอย่างว่า มารดานั่งหรือนอนกับบุตร ยกมือหรือเท้าของบุตรนั้นห้อยลงคิดว่า เราจักให้บุตรแข็งแรง มองดูบุตรเพื่ออยู่อย่างสบายฉันใด แม้พระมารดาของพระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้น คิดว่า ทุกข์ใดเกิดแก่ครรภ์ในขณะที่มารดายืนเดินเคลื่อนไปมาและนั่งเป็นต้น และในการกลืนอาหารร้อนเย็นเค็มขมเผ็ดเป็นต้นของมารดา ทุกข์นั้นจะมีแก่บุตรของเราหรือไม่หนอดังนี้ แล้วมองดูพระโพธิสัตว์เพื่ออยู่อย่างสบาย ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิ.
               เหมือนอย่างว่า สัตว์เหล่าอื่นอยู่ภายในท้องบีบพุงแขวนกะเพาะทำแผ่นท้องไว้ข้างหลัง อาศัยกระดูกสันหลังวางคางก้มไว้บนกำมือทั้งสอง นั่งเจ่าเหมืองลิงที่โพรงไม้เมื่อฝนตกฉันใด
               พระโพธิสัตว์มิได้เป็นอย่างนั้น.
               พระโพธิสัตว์กระทำกระดูกสันหลังไว้ข้างหลังนั่งขัดสมาธิ ก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกดุจพระธรรมกถึกนั่งธรรมาศน์. ก็กรรมที่พระองค์ทรงกระทำมาในกาลก่อน จึงทำให้วัตถุของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์. เมื่อวัตถุบริสุทธิ์ พระลักษณะ คือพระฉวีละเอียดย่อมบังเกิดขึ้น. พระตโจในพระอุทรไม่สามารถจะปกปิดพระฉวีนั้นได้. เมื่อพระมารดาทรงแลดูย่อมปรากฏเหมือนตั้งอยู่ภายนอก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้งด้วยอุปมา จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้. ก็พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ภายในพระครรภ์ย่อมไม่ทรงเห็นพระมารดา เพราะจักขุวิญญาณย่อมไม่เกิดขึ้นภายในท้อง.
               บทว่า กาลํ กโรติ ความว่า มิใช่โดยสิ้นอายุเพราะการคลอดเป็นปัจจัย ด้วยว่าที่ที่พระโพธิสัตว์ประทับอยู่เป็นเช่นกับเจดีย์และกุฏี ไม่ควรที่ผู้อื่นจะร่วมใช้สอย. อนึ่ง ใครๆ ไม่สามารถจะนำพระมารดาพระโพธิสัตว์ไปดำรงในฐานะเป็นอัครมเหสีผู้อื่นได้ ดังนั้น พระชนมายุของพระมารดาพระโพธิสัตว์จึงมีประมาณเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระนางจึงเสด็จทิวงคตในกาลนั้น.
               ถามว่า ก็พระมารดาพระโพธิสัตว์เสด็จทิวงคตในวัยไหน.
               ตอบว่า ในมัชฌิมวัย. เพราะว่า ในอัตตภาพของสัตว์ทั้งหลายในปฐมวัย ฉันทราคะย่อมมีกำลัง เพราะเหตุนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ในตอนนั้น จึงไม่สามารถจะรักษาครรภ์ไว้ได้ ครรภ์ย่อมเจ็บมาก. แต่ครั้นเลยส่วนสองของมัชฌิมวัย ในส่วนที่สาม วัตถุย่อมเป็นของบริสุทธิ์. ทารกที่เกิดในวัตถุบริสุทธิ์ย่อมไม่มีโรค. เพราะฉะนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์เสวยสมบัติในปฐมวัย ประสูติในส่วนที่สามของมัชฌิมวัยแล้ว เสด็จทิวงคต ดังนั้น ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้.
               วาศัพท์ในบทนี้ว่า นว วา ทส วา พึงทราบด้วยสามารถเป็นเครื่องกำหนด พึงทราบการสงเคราะห์แม้คำเป็นต้นอย่างนี้ว่า ๗ เดือน ๘ เดือน ๑๑ เดือน หรือ ๑๒ เดือน. ในบทเหล่านั้น ทารกเกิดใน ๘ เดือน ยังมีชีวิตอยู่แต่ทนหนาวและร้อนไม่ได้ เกิดใน ๗ เดือนย่อมไม่มีชีวิต ที่เหลือยังมีชีวิตอยู่ได้.
               บทว่า เทวา ปฐมํ ปฏิคฺคณฺหนฺติ ความว่า พรหมชั้นสุทธาวาสผู้เป็นพระขีณาสพย่อมรับ.
               ถามว่า อย่างไร.
               ตอบว่า อาจารย์บางพวกกล่าวว่า รับเครื่องแต่งตัวในตอนประสูติ. แต่ข้อนั้นถูกคัดค้านแล้ว จึงกล่าวข้อนี้ว่า ในกาลนั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงนุ่งผ้าประด้วยทองคำ เช่นกับตาปลามีสองชั้นคลุมตลอดพระบาทได้ประทับยืน ขณะนั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ได้ประสูติพระโอรสคลอดเช่นกับน้ำไหลออกจากธมกรก ลำดับนั้น เหล่าเทวดามีเพศเป็นพรหมตามปกติเข้าไปรับด้วยข่ายทองคำก่อน ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้เอาเครื่องลาดทำด้วยหนังเสือเหลืองรับจากหัตถ์ของพรหมเหล่านั้น จากนั้น พวกมนุษย์จึงรับด้วยผ้ารองสองชั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายรับก่อน พวกมนุษย์รับภายหลัง ดังนี้.
               บทว่า จตฺตาโร นํ เทวปุตฺตา ความว่า มหาราช ๔ องค์.
               บทว่า ปฏิคฺคเหตฺวา ความว่า รับด้วยเครื่องลาดทำด้วยหนังเสือเหลือง.
               บทว่า มเหสกฺโข ความว่า มีเดชมาก มียศมาก ถึงพร้อมด้วยลักษณะ.
               บทว่า วิสุทฺโธว นิกฺขมติ ความว่า ไม่เสด็จออกเหมือนสัตว์เหล่าอื่น มักติดอยู่ที่ช่องคลอดข่มแล้วข่มอีกจึงคลอด. อธิบายว่า เสด็จออกไม่ติดขัด.
               บทว่า อุทฺเทน แปลว่า ด้วยน้ำ.
               บทว่า เกนจิ อสุจินา ความว่า พระโพธิสัตว์มิเป็นเหมือนสัตว์เหล่าอื่น ถูกลมเบ่งซัดมีเท้าขึ้น มีหัวลงที่ช่องคลอด เหมือนตกลงไปสู่เหวนรกชั่ว ๑๐๐ บุรุษ เหมือนช้างถูกฉุดออกจากช่องดาลเสวยทุกข์ใหญ่ เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิต่างๆ แล้วคลอด ฉะนั้น.
               จริงอยู่ ลมเบ่งไม่สามารถทำพระโพธิสัตว์ให้มีเท้าขึ้น มีหัวลงได้ พระโพธิสัตว์นั้นเหมือนพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ และเหมือนบุรุษลงจากบันได ทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสองและพระบาททั้งสองประทับยืน ไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิอย่างใดอย่างหนึ่ง อันมีอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาเสด็จออก.
               บทว่า อุทกธารา คือ สายน้ำ. ในสายน้ำนั้น น้ำเย็นไหลจากหม้อทอง น้ำร้อนไหลจากหม้อเงิน. อนึ่ง ท่านกล่าวบทนี้เพื่อแสดงน้ำดื่มและน้ำบริโภค และสายน้ำเป็นที่เล่นไม่ทั่วไปด้วยน้ำเหล่าอื่นของสายน้ำเหล่านั้น อันไม่เปรอะเปื้อนด้วยอสุจิอย่างใดอย่างหนึ่งบนพื้นดิน. ไม่มีการกำหนดน้ำที่นำมาด้วยหม้อทองและเงินอื่นและน้ำที่ไหลไปสู่สระโบกขรณีมีหังสวฏกะ เป็นต้น.
               บทว่า สมฺปติชาโต คือ ประสูติได้ครู่หนึ่ง. แต่ในบาลี ท่านแสดงดูเหมือนพอเสด็จออกจากพระครรภ์ของพระมารดา แต่ก็ไม่ควรเห็นเป็นอย่างนั้น. เพราะพรหมทั้งหลายรับพระโพธิสัตว์นั้นพอเสด็จออกด้วยข่ายทองคำก่อน. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ รับด้วยเครื่องลาดทำด้วยหนังเสือเหลืองจากหัตถ์ของพรหมเหล่านั้น มนุษย์ทั้งหลายรับด้วยผ้ารองสองชั้นจากหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔.
               พระโพธิสัตว์พ้นจากมือมนุษย์ทั้งหลายแล้วประดิษฐานบนแผ่นดิน.
               บทว่า เสตมฺหิ ฉตฺเต อนุธาริยมาเน ความว่า เมื่อเทวดากั้นเศวตฉัตรทิพย์ตามเสด็จอยู่. ในบทนี้ แม้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ มีพระขรรค์ เป็นต้นอันเป็นบริวารของฉัตรนั้นก็ปรากฏขึ้นทันที. แต่ในบาลี ท่านกล่าวถึงฉัตรดุจพระราชาในขณะเสด็จพระราชดำเนิน. ในเบญจราชกุกกุฏภัณฑ์นั้น ฉัตรเท่านั้นปรากฏ คนถือฉัตรไม่ปรากฏ. เช่นเดียวกัน พระขรรค์ พัดใบตาล แซ่หางนกยูง พัดวาลวิชนี และกรอบพระพักตร์ย่อมปรากฏ คนถือไม่ปรากฏ.
               นัยว่า เทวดาทั้งหลายไม่ปรากฏรูปถือสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด.
               แม้ข้อนี้ ท่านก็กล่าวไว้ว่า
                         พวกเทวดากั้นฉัตรมีก้านไม่น้อย มีมณฑลพันหนึ่ง
                         บนอากาศ ไม้เท้าทองคำ พัดจามรโบกสะบัดไปมา
                         แต่ไม่เห็นคนถือพัดจามรและฉัตร
๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๘๘

               บทว่า สพฺพา จ ทิสา นี้ ท่านกล่าวดุจพระโพธิสัตว์ประทับยืนหลังจากเสด็จย่างพระบาท ๗ ก้าวแล้ว ทรงเหลียวมองดูทิศทั้งหมด ไม่ควรเห็นอย่างนั้นเลย.
               ความจริง พระโพธิสัตว์ทรงพ้นจากมือของพวกมนุษย์แล้วประดิษฐานบนแผ่นดิน ทรงแลดูทิศตะวันออก. หลายพันจักรวาฬได้เป็นเนินเดียวกัน.
               ณ ที่นั้น พวกเทวดาและมนุษย์ต่างบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น พากันกล่าวว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ในโลกนี้แม้คนเช่นพระองค์ก็ไม่มี จะหาคนยิ่งกว่าพระองค์ได้แต่ไหน.
               พระโพธิสัตว์ทรงเหลียวแลดูทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องล่างเบื้องบน ไม่ทรงเห็นแม้คนเช่นพระองค์ทรงดำริว่า นี้ทิศเหนือ แล้วทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางเหนือได้เสด็จโดยอย่างพระบาท ๗ ก้าว.
               พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้.
               บทว่า อาสภึ คือ สูงสุด. บทว่า อคฺโค คือ เป็นที่หนึ่งของชนทั้งหมดด้วยคุณธรรมทั้งหลาย. อีก ๒ บทเป็นไวพจน์ของบทนี้.
               พระโพธิสัตว์ทรงพยากรณ์พระอรหัตอันพระองค์พึงบรรลุในอัตตภาพนี้ด้วยบททั้งสองว่า นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา บัดนี้ ภพใหม่ของเราไม่มีอีกแล้ว ดังนี้.
               ก็ในบทนี้ พึงทราบว่า การประดิษฐานบนแผ่นดินด้วยพระบาทเสมอกันเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ การบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศเหนือเป็นบุพนิมิตแห่งการเสด็จไปครอบงำปราบปรามมหาชน การเสด็จย่างพระบาท ๗ ก้าวเป็นบุพนิมิตแห่งการได้รตนะคือโพชฌงค์ ๗ การกั้นเศวตฉัตรทิพย์เป็นบุพนิมิตแห่งการได้ฉัตรประเสริฐคือวิมุติ การได้ราชกุกกุฏภัณฑ์ ๕ เป็นบุพนิมิตแห่งการพ้นด้วยวิมุติ ๕ การเหลียวแลดูทิศเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อนาวรณญาณ การเปล่งอาสภิวาจาเป็นบุพนิมิตแห่งการเป็นไปแห่งธรรมจักรที่ยังไม่ได้เป็นไป การเปล่งสีหนาทว่า นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เป็นบุพนิมิตแห่งการปรินิพพานโดยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดังนี้. วาระเหล่านี้มาแล้วในบาลี. แต่หลายวาระยังไม่มา ควรนำมาแสดง.
               จริงอยู่ ในวันพระมหาบุรุษประสูติ หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว เทวดาในหมื่นโลกธาตุ พากันมาประชุมในจักรวาฬเดียวกัน. เทวดารับก่อน พวกมนุษย์รับภายหลัง. พิณที่ขึงสาย กลองที่ขึงหนัง ไม่มีใครประโคมก็ประโคมขึ้นเอง. ป้อมและที่กักขังเป็นต้นของพวกมนุษย์พังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย. โรคทั้งปวงสงบหมดไปเหมือนสนิมทองแดงที่ล้างด้วยของเปรี้ยว. คนตาบอดโดยกำเนิด เห็นรูป. คนหนวกโดยกำเนิด ได้ยินเสียง. คนพิการได้มีกำลังสมบูรณ์. สติของคนแม้เลวโดยชาติ คนบ้าน้ำลาย ก็ตั้งมั่นได้. เรือที่แล่นไปต่างประเทศถึงท่าสะดวก. รตนะที่ตั้งอยู่บนอากาศและตั้งอยู่บนพื้น ได้ส่องแสงด้วยความยิ่งใหญ่ของตนเอง. พวกมีเวรก็ได้เมตตาจิตต่อกัน. ไฟในอเวจีดับ. แสงสว่างในโลกันตรนรกก็เกิดขึ้น. น้ำในแม่น้ำไม่ไหล. ในมหาสมุทรได้มีน้ำหวาน. ลมไม่พัด. นกที่บินไปบนอากาศที่อยู่บนภูเขาและต้นไม้ได้ตกลงไปบนพื้นดิน. พระจันทร์สว่างยิ่งนัก. พระอาทิตย์ไม่ร้อนไม่เย็นปราศจากมลทินได้สมบูรณ์ตามฤดู. พวกเทวดาประดิษฐานอยู่ ณ ประตูวิมานของตนๆ เล่นกีฬาอย่างสนุกสนาน ด้วยการปรบมือ ผิวปาก โบกผ้า เป็นต้น. แม้ฝนจากทิศทั้ง ๔ ก็ได้ตกลงมา. ความหิว ความกระหาย มิได้บีบคั้นมหาชน. ประตูและหน้าต่างทั้งหลายเปิดเอง. ไม้ดอกไม้ผล ก็ออกดอกออกผล หมื่นโลกธาตุได้มีธงดอกไม้เป็นอันเดียวกัน.
               แม้ในข้อนี้ พึงทราบดังนี้
               หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว เป็นบุพนิมิตของการได้สัพพัญญุตญาณของพระมหาบุรุษนั้น. การประชุมในจักรวาฬเดียวกันของเทวดาทั้งหลาย เป็นบุพนิมิตแห่งการประชุมโดยทำนองเดียวนี้แล ในกาลยังธรรมจักรให้เป็นไป แล้วรับพระธรรม. การรับของพวกเทวดาครั้งแรกเป็นบุพนิมิตแห่งการได้รูปาวจรฌาน ๔. การรับของพวกมนุษย์ภายหลังเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อรูปฌาน ๔. พิณที่ขึงสายดีดเองเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อนุปุพพวิหารธรรม. กลองที่ขึงหนังดังเองเป็นบุพนิมิตแห่งการได้ยินธรรมเภรีอันใหญ่หลวง. ป้อมและที่กักขังเป็นต้นพังเป็นบุพนิมิต แห่งการตัดขาดอัสมิมานะ. มหาชนหายจากโรคเป็นบุพนิมิต แห่งการได้อริยสัจ ๔. คนตาบอดโดยกำเนิดเห็นรูปเป็นบุพนิมิตแห่งการได้ทิพจักษุ. คนหูหนวกได้ยินเสียงเป็นบุพนิมิตแห่งการได้ทิพโสต. คนพิการมีกำลังเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔. คนใบ้แต่กำเนิดพูดได้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้สติปัฏฐาน ๔. เรือแล่นไปต่างประเทศถึงท่าโดยสะดวกเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุปฏิสัมภิทา ๔. ความที่รตนะส่องแสงด้วยความยิ่งใหญ่ของตนเอง เป็นบุพนิมิตแห่งแสงธรรมที่พระโพธิสัตว์จักประกาศแก่โลก.
               ผู้มีเวรกันได้เมตตจิตต่อกันเป็นบุพนิมิตของการได้พรหมวิหาร ๔. ไฟในอเวจีดับ เป็นบุพนิมิตของการดับไฟ ๑๑ ดวง. โลกันตรนรกสว่างเป็นบุพนิมิตแห่งการกำจัดความมืดคืออวิชชา แล้วเห็นความสว่างแห่งญาณ. น้ำในแม่น้ำไม่ไหลเป็นบุพนิมิตแห่งการได้เวสารัชชธรรม ๔. มหาสมุทรมีรสหวานเป็นบุพนิมิตแห่งความมีรสเป็นอันหนึ่งด้วยรส คือนิพพาน. การที่ลมไม่พัดเป็นบุพนิมิตแห่งการทำลายทิฐิ ๖๒. นกทั้งหลายไปบนดินเป็นบุพนิมิตแห่งมหาชนผู้ฟังโอวาทแล้วถึงสรณะด้วยชีวิต. การที่พระจันทร์สว่างไสวยิ่ง เป็นบุพนิมิตแห่งความงามของคนเป็นอันมาก. การที่พระอาทิตย์เว้นความร้อนและความเย็น เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดสุขทางกายและทางใจ เพราะฤดูสบาย. การที่พวกเทวดาประดิษฐานอยู่ ณ ประตูวิมานรื่นเริงด้วยการปรบมือเป็นต้น. เป็นบุพนิมิตแห่งการถึงความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงเปล่งอุทาน. การที่ฝนตกทั้ง ๔ ทิศเป็นบุพนิมิตแห่งการตกของฝน คือพระธรรมอันใหญ่หลวง. การไม่มีความหิวบีบคั้น เป็นบุพนิมิตแห่งการได้น้ำอมฤต คือกายคตาสติ. การไม่มีความกระหายบีบคั้นเป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นผู้ถึงความสุขด้วยวิมุตติสุข. การที่ประตูและหน้าต่างเปิดเองเป็นบุพนิมิตแห่งการเปิดประตูคือมรรคมีองค์ ๘. การที่ต้นไม้ออกดอกและผลเป็นบุพนิมิตของดอกไม้คือวิมุติบาน และความเป็นผู้เต็มด้วยภาระคือสามัญญผล. การที่หมื่นโลกธาตุมีธงดอกไม้เป็นอันเดียวเป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นผู้มีธงดอกไม้คืออริยะ.
               นี้ชื่อสัมพหุลวาระ.
               ในเรื่องนี้ ชนทั้งหลายถามปัญหาว่า ตอนที่พระมหาบุรุษประทับยืนบนแผ่นดินแล้ว ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เสด็จไปได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา เสด็จไปบนแผ่นดินหรือ หรือว่าเสด็จไปทางอากาศ ทรงปรากฏพระองค์เสด็จไปหรือไม่ปรากฏ เสด็จเปลือยพระองค์ไปหรือตกแต่งพระองค์ เสด็จไปเป็นหนุ่มหรือเป็นคนแก่ แม้ภายหลังก็ได้เป็นเช่นนั้นหรือ หรือว่าเป็นทารกอ่อนอีก.
               ก็ปัญหานี้ตั้งขึ้นภายใต้โลหปราสาท พระจูฬาภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกได้แก้ไว้แล้ว.
               มีเรื่องเล่ามาว่า ในเรื่องนี้ พระเถระกล่าวถึงข้อนั้นไว้มาก ด้วยสามารถการกล่าวถึงโชคดีโชคร้าย กรรมเก่าและการไม่ถือตัวเพราะความเป็นใหญ่แล้ว ในที่สุด ได้พยากรณ์อย่างนี้ว่า พระมหาบุรุษเสด็จไปบนแผ่นดิน แต่ได้ปรากฏแก่มหาชนเหมือนเสด็จไปทางอากาศ พระองค์เสด็จไปแต่เหมือนไม่ปรากฏแก่มหาชน เสด็จเปลือยพระองค์ไปแต่ปรากฏแก่มหาชนเหมือนตกแต่งพระองค์ เสด็จไปเป็นคนหนุ่มแต่ปรากฏแก่มหาชนเหมือนมีพระชนม์ ๑๖ พระพรรษา แต่ภายหลังได้เป็นทารกอ่อนตามเดิม ไม่เป็นหนุ่มอยู่อย่างนั้นดังนี้. อนึ่ง บริษัทของพระเถระนั้นได้พากันชอบใจว่า พระเถระแก้ปัญหาดีเหมือนพระพุทธเจ้า.
               โลกันตริกวาระมีนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วแล.
               ก็แลธรรมดานี้ ท่านกล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้น. พึงทราบว่า ธรรมดาทั้งหมดย่อมมีแด่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์.

               ทวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า อทฺทสาโข ความว่า พระราชาพันธุมได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารที่นางสนมให้บรรทมบนเครื่องรองสองชั้นนำมาเฝ้า.
               บทว่า มหาปุริสสฺส ความว่า แห่งบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ด้วยสามารถ ชาติ โคตร ตระกูล ประเทศเป็นต้น.
               บทว่า เทฺว คติโย คือ ความสำเร็จสองอย่าง.
               ก็ศัพท์ว่า คติ นี้ย่อมเป็นไปในคติ อันสัตว์ทั้งหลายพึงไปโดยประเภทมีนรกเป็นต้น ในบาลีนี้ว่า ดูกรสารีบุตร คติ ๕ เหล่านี้แล๑- ดังนี้.
               ย่อมเป็นไปในอัธยาศัย ในบาลีนี้ว่า เราไม่รู้อคติหรืออัธยาศัยของภิกษุทั้งหลายผู้ศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้ได้เลย.๒-
               ย่อมเป็นไปในที่พึงอาศัย ในบาลีนี้ว่า พระนิพพานเป็นที่พึงอาศัยของพระอรหัตต์.๓-
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นไปในความสำเร็จ ในบาลีนี้ว่า ดูก่อนพรหม เราย่อมรู้ความสำเร็จจุติและอุปัติของท่าน ท่านเป็นท้าวพกพรหมผู้มีฤทธิมากอย่างนี้.๔-
               พึงทราบคติศัพท์นั้นแม้ในบทนี้ว่า ย่อมเป็นไปในความสำเร็จ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗๐
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๖๐
๓- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๔๔
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๕๔

               บทว่า อนญฺญา ความว่า ชื่อว่าความสำเร็จในคติอื่น ย่อมไม่มี.
               บทว่า ธมฺมิโก ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยกุศลธรรม ๑๐ เว้นการถึงอคติ.
               บทว่า ธมฺมราชา นี้เป็นไวพจน์ของบทก่อนนั้นแล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นพระธรรมราชา เพราะได้ราชสมบัติโดยธรรม.
               บทว่า จาตุรนฺโต ความว่า ความเป็นผู้มีอิสระในผืนแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขตด้วยสามารถสมุทร ๔ มีสมุทรด้านทิศตะวันออกเป็นต้น.
               บทว่า วิชิตาวี คือ มีชัยชนะสงคราม. อธิบายว่า ชนบทถึงความเป็นชนบทที่ยั่งยืนมั่นคง เพราะฉะนั้น พระกุมารจึงถึงความเป็นผู้มีพระราชอาณาจักรมั่นคง.
               จริงอยู่ เมื่อพระราชาดุร้ายเบียดเบียนโลกด้วยเสียภาษีและลงอาชญาเป็นต้น พวกมนุษย์พากันละทิ้งมัชฌิมชนบทไปอาศัยอยู่ตามภูเขาและฝั่งสมุทรเป็นต้น เลี้ยงชีพอยู่ที่ชายแดน พวกมนุษย์ถูกโจรใจร้ายเบียดเบียนด้วยการปล้นประชาชน จึงพากันละชายแดน ไปหาเลี้ยงชีพ ณ ท่ามกลางชนบทของมนุษย์ผู้อ่อนโยน. ชนบทในการปกครองเห็นปานนี้ย่อมไม่ถึงความมั่นคง.
               ก็เมื่อพระกุมารนี้เสวยราชสมบัติ ชนบทของพระองค์จักมั่นคง เหมือนวางแผ่นหินไว้หลังแผ่นดินแล้วล้อมด้วยแผ่นเหล็ก
               พราหมณ์ผู้ทำนายทั้งหลาย เมื่อชี้แจงดังนี้ จึงกล่าวว่า พระกุมารจึงถึงความเป็นผู้มีพระราชอาณาจักรมั่นคงดังนี้.
               รตนะในบทว่า ประกอบด้วยรตนะ ๗ นี้ โดยอรรถ คือยังความยินดีให้เกิด.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   รตนะทำความชื่นชม มีค่ามากหาเปรียบมิได้
                         หาดูได้ยาก เป็นของใช้ของสัตว์ผู้วิเศษ เพราะฉะนั้น
                         จึงเรียกว่ารตนะ

               อนึ่ง จำเดิมแต่กาลที่จักรรตนะเกิด ไม่มีเทวสถานอื่น ชนทั้งปวงย่อมทำการบูชาจักรรตนะนั้นนั่นแล ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น และกระทำการกราบไหว้เป็นต้น เพราะฉะนั้น รตนะจึงเป็นไปโดยอรรถว่าน่าชื่นชม.
               การตีราคาว่าชื่อว่าทรัพย์มีประมาณเท่านี้ ย่อมเป็นค่าของจักรรตนะนั้นแลดังนี้ไม่มี เพราะฉะนั้น รตนะจึงเป็นไปแม้โดยอรรถว่ามีค่ามาก.
               อนึ่ง จักรแก้วไม่เหมือนรตนะอย่างอื่นที่มีอยู่ในโลก เพราะฉะนั้น รตนะจึงเป็นไปแม้โดยอรรถว่าหาเปรียบมิได้.
               ก็เพราะพระเจ้าจักรพรรดิอุบัติในกัปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุบัติ. ก็แต่ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุบัติในบางครั้งบางคราว ฉะนั้น รตนะจึงเป็นไปแม้โดยอรรถว่าหาดูได้ยาก.
               รตนะนั้นย่อมเกิดแก่สัตว์ผู้วิเศษ ยิ่งด้วยชาติรูปตระกูลและความเป็นใหญ่เป็นต้น ไม่เกิดแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น รตนะจึงเป็นไปแม้โดยอรรถ คือเป็นของใช้ของสัตว์ผู้วิเศษ.
               อนึ่ง แม้รตนะที่เหลือก็เหมือนจักรแก้วนั่นแล พระมหาบุรุษทรงประกอบด้วยรตนะ ๗ เหล่านี้ โดยความเป็นของสมทบและโดยความเป็นอุปกรณ์แห่งโภคะทั้งปวง เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษจึงชื่อว่าทรงสมบูรณ์ด้วยรตนะ ๗.
               บัดนี้ เพื่อแสดงรตนะเหล่านั้นโดยสรุปจึงตรัสว่า ตสฺสิมานิ เป็นต้น.
               ในรตนะเหล่านั้นนี้เป็นอธิบายโดยย่อ ในบทว่า จักรแก้วเป็นต้น จักรแก้วย่อมปรากฏสามารถยึดสิริสมบัติของทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีป ๒,๐๐๐ เป็นบริวารได้. ช้างแก้วเหาะไปบนเวหาสามารถดิ่งลงสู่แผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด ก่อนอาหารทีเดียว. ม้าแก้วก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน. เมื่อความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ แก้วมณีสามารถกำจัดความมืดประมาณโยชน์หนึ่งแล้วเห็นแสงสว่างได้. นางแก้วผู้มีความประพฤติเป็นที่พอใจเว้นโทษ ๖ อย่าง. คหบดีแก้วสามารถเห็นขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในแผ่นดินประมาณโยชน์หนึ่งได้. ปริณายกแก้วกล่าวคือบุตรผู้เจริญที่สุด สามารถเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแล้วครองราชสมบัติได้ทั้งหมด ย่อมปรากฏ.
               บทว่า ปโรสหสฺสํ คือ พันกว่า. บทว่า สุรา คือ กล้าหาญ.
               บทว่า วีรงฺครูปา คือ มีรูปทรงสมเป็นวีรบุรุษ. บทนี้เป็นชื่อของความเพียร. ชื่อวีรงฺครูปา เพราะมีรูปทรงสมเป็นวีรบุรุษ. มีรูปทรงสมเป็นวีรบุรุษ คือมีความเพียรเป็นที่เกิด มีความเพียรเป็นสภาวะ สำเร็จด้วยความเพียร เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน. ท่านอธิบายว่า แม้รบตลอดวันก็ไม่เหนื่อย.
               บทว่า สาครปริยนฺตํ ความว่า มีมหาสมุทรเป็นที่สุดกระทำภูเขาจักรวาฬให้เป็นเขตแดนตั้งอยู่.
               บทว่า อทณฺเฑน ความว่า ผู้ใดปรับผู้ไม่ได้ทำความผิด ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง ผู้นั้นชื่อว่าใช้อำนาจด้วยอาชญาคือทรัพย์. ผู้ใดออกคำสั่งให้ประหารและทิ่มแทง ผู้นั้นชื่อว่า ใช้อำนาจด้วยอาชญาคือศัสตรา. แต่พระราชาพระองค์นี้ทรงละอาชญาแม้ทั้งสองนั้น ทรงปกครองไม่ต้องใช้อาชญา.
               บทว่า อสตฺเถน ความว่า ผู้ใดใช้ศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น เบียดเบียนผู้อื่น ผู้นั้นชื่อว่าใช้อำนาจด้วยศัสตรา. แต่ก็พระราชาพระองค์นี้ไม่ทรงทำโลหิตของใครๆ เพียงแมลงวันตัวเล็กดื่มได้ให้เกิดขึ้นด้วยศัสตรา ทรงได้รับการต้อนรับจากพระราชาผู้เป็นศัตรูอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมาโดยธรรมเถิดดังนี้.
               อธิบายว่า ทรงยึดแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ทรงปกครอง ทรงปราบปราม จนได้เป็นเจ้าของครอบครอง.
               ครั้นบอกถึงความสำเร็จอย่างที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว เพื่อจะบอกความสำเร็จอย่างที่สอง จึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า สเจ โข ปน ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พระกุมารนี้มีหลังคา คือกิเลสเปิดแล้ว เพราะมีเครื่องปกปิดกีดขวาง กล่าวคือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กิเลสตัณหาเปิดแล้ว คือกำจัดได้แล้ว.
               ปาฐะว่า วิวฎฺฎจฺฉโท ดังนี้บ้าง. อธิบายอย่างนี้เหมือนกัน.
               ครั้นบอกความสำเร็จอย่างที่สองอย่างนี้แล้ว เพื่อแสดงลักษณะอันเป็นนิมิตแห่งคติเหล่านั้น จึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า อยญฺหิ เทว กุมาโร ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สุปติฎฺฐิตปาโท ความว่า พระกุมารไม่เป็นเหมือนคนอื่น เมื่อคนอื่นวางเท้าลงบนแผ่นดิน ปลายฝ่าเท้า ส้นเท้า หรือข้างเท้าย่อมจดก่อน ก็แต่ว่ายังปรากฏช่องในตอนกลาง แม้เมื่อยกขึ้นส่วนหนึ่งในปลายฝ่าเท้าเป็นต้นนั่นแหละก็ยกขึ้นก่อน.
               ฝ่าพระบาททั้งสิ้นของพระกุมารนั้น ย่อมจดพื้นโดยทรงเหยียบพระบาทครั้งหนึ่ง ดุจพื้นรองเท้าทองคำฉะนั้น ทรงยกพระบาทขึ้นจากพื้นก็โดยทำนองเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พระกุมารนี้จึงเป็นผู้มีพระบาทเรียบเสมอกัน.
               บทว่า จกฺกานิ ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า ณ พื้นพระบาททั้ง ๒ มีจักร ๒ เกิดขึ้น จักรเหล่านั้นมีซี่มีกงและดุม.
               ก็พึงทราบความวิเศษนี้ด้วยบทนี้ว่า บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง.
               ได้ยินว่า ดุมของจักรเหล่านั้นปรากฎ ณ ท่ามกลางพื้นพระบาท. ลวดลายวงกลมกำหนดด้วยดุมย่อมปรากฏ วงกลมล้อมหน้าดุมปรากฏ ท่อน้ำปรากฏ ซี่ปรากฏ ลวดลายวงกลมในซี่ทั้งหลายปรากฏ กงปรากฏ กงแก้วมณีปรากฏ.
               นี้มาในบาลีก่อนแล้ว. แต่สัมพหุลวาระยังไม่มา.
               สัมพหุลวาระนั้น พึงทราบอย่างนี้.
               รูปหอก รูปแว่นส่องพระฉาย รูปดอกพุดซ้อน รูปสายสร้อย รูปสังวาล รูปถาดทอง รูปมัจฉาคู่ รูปตั่ง รูปขอ รูปปราสาท รูปเสาระเนียด รูปเศวตฉัตร รูปพระขรรค์ รูปพัดใบตาล รูปหางนกยูง รูปพัดวาลวิชนี รูปมงกุฎ รูปแก้วมณี รูปบาตร รูปพวงดอกมะลิ รูปดอกบัวขาบ รูปดอกบัวแดง รูปดอกบัวขาว รูปดอกปทุม รูปดอกบุณฑริก รูปหม้อเต็มด้วยน้ำ รูปถาดเต็มด้วยน้ำ รูปมหาสมุทร รูปเขาจักรวาฬ รูปป่าหิมพานต์ รูปเขาสิเนรุ รูปพระจันทร์พระอาทิตย์ รูปดาวนักษัตร รูปทวีปใหญ่ทั้ง ๔ รูปทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทั้งหมด โดยที่สุดหมายถึงบริวารของพระเจ้าจักรพรรดิด้วย เป็นบริวารของจักรลักษณะนั่นเอง.
               บทว่า อายตปณฺหิ ความว่า มีส้นพระบาทยาว คือมีส้นพระบาทบริบูรณ์. อธิบายว่า ส้นพระบาทของพระมหาบุรุษไม่เป็นเหมือนปลายเท้าของคนอื่นที่ยาว ลำแข้งตั้งอยู่สุดส้นเท้าเป็นเหมือนตัดส้นเท้าตั้งอยู่ฉะนั้น. แต่ของพระมหาบุรุษ พระบาทมี ๔ ส่วน ปลายพระบาทมี ๒ ส่วน ลำพระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓ ส้นพระบาทในส่วนที่ ๔ เป็นเช่นกับลูกคลีหนัง ทำด้วยผ้ากัมพลสีแดง ดุจม้วนด้วยปลายเข็มแล้วตั้งไว้.
               บทว่า ทีฆงฺคุลิ ความว่า นิ้วพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษไม่เป็นเหมือนนิ้วของคนอื่นที่บางนิ้วยาว บางนิ้วสั้น. แต่ของพระมหาบุรุษนิ้วพระหัตถ์และพระบาทยาวเหมือนของวานร ข้างโคนใหญ่แล้วเรียวไปโดยลำดับถึงปลายนิ้ว เช่นเดียวกับแท่งหรดาลที่ขยำด้วยน้ำมันยางแล้วปั้นไว้. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีนิ้วพระหัตถ์ยาว ดังนี้.
               บทว่า มุทุตลุนหตฺถปาโท ความว่า มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนดุจปุยฝ้ายที่ยีได้ ๑๐๐ ครั้ง เอารวมตั้งไว้ในเนยใส. แม้ในเวลาพระชนม์เจริญ พระหัตถ์และพระบาทก็จักอ่อนนุ่มเหมือนเมื่อพอประสูติ. พระหัตถ์และพระบาทของพระโพธิสัตว์นั้นอ่อนนุ่ม เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์จึงมีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม.
               บทว่า ชาลหตฺถปาโท ความว่า ระหว่างพระองคุลี หนังไม่ติดกัน. เพราะผู้มีมือติดกันเป็นพืดเช่นนี้ ถูกกำจัดโดยบุรุษโทษ แม้บวชก็ไม่ได้.
               ก็พระมหาบุรุษมีนิ้วพระหัตถ์ ๔ นิ้ว พระบาท ๕ ชิดสนิทเป็นอันเดียวกัน. ก็เพราะพระองคุลีทั้งหลายชิดสนิทเป็นอันเดียวกัน พระองคุลีทั้งหลายจึงติดกันและกัน มีลักษณะเป็นข้าวเหนียวตั้งอยู่. พระหัตถ์และพระบาทของพระโพธิสัตว์นั้นเป็นเช่นกับหน้าต่างตาข่ายอันช่างผู้ฉลาดดีประกอบแล้ว. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย.
               เพราะข้อพระบาทตั้งอยู่เบื้องบน พระบาทของพระโพธิสัตว์นั้นจึงเหมือนสังข์คว่ำ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์จึงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ.
               จริงอยู่ ข้อเท้าของคนอื่นอยู่ที่หลังเท้า เพราะฉะนั้น เท้าของคนเหล่านั้นจึงติดกัน เหมือนติดด้วยสลัก กลับกลอกไม่ได้ตามสะดวก เมื่อเดินไปฝ่าเท้าไม่ปรากฏ.
               แต่ข้อพระบาทของพระมหาบุรุษขึ้นไปตั้งอยู่เบื้องบน. เพราะฉะนั้น พระวรกายท่อนบนของพระมหาบุรุษ ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปจึงมิได้หวั่นไหวเลย ดุจพระสุวรรณปฏิมาประดิษฐานอยู่ในเรือ. พระวรกายท่อนเบื้องล่างย่อมไหว พระบาทกลอกกลับได้สะดวก. เมื่อชนทั้งหลายยืนอยู่ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แม้ในข้างทั้งสองก็เห็นฝ่าพระบาทย่อมปรากฏ. แต่ไม่ปรากฏเหมือนยืนอยู่ข้างหลังช้าง.
               บทว่า เอณิชงฺโฆ คือ มีพระชงฆ์เรียวดุจเนื้อทราย. อธิบายว่า มีพระชงฆ์บริบูรณ์ด้วยหุ้มพระมังสะเต็ม ไม่ใช่เนื้อตะโพกติดโดยความเป็นอันเดียว ประกอบด้วยพระชงฆ์เช่นกับท้องข้าวสาลีท้องข้าวเหนียว อันมังสะที่ตั้งอยู่เสมอกันโดยรอบล้อมอยู่แล้ว กลมกล่อมดีแล้ว.
               บทว่า อโนนมนฺโต คือ ไม่น้อมลง. ท่านแสดงความที่พระมหาบุรุษนั้นไม่ค่อมไม่แคระด้วยบทนี้. ก็คนที่เหลือเป็นคนค่อมหรือเป็นคนแคระ. คนค่อมกายส่วนบนไม่บริบูรณ์ คนแคระกายส่วนล่างไม่บริบูรณ์. คนเหล่านั้นเพราะกายไม่บริบูรณ์ เมื่อก้มลงจึงไม่สามารถลูบคลำเข่าได้. แต่พระมหาบุรุษ เพราะพระวรกายทั้งส่วนบนส่วนล่างบริบูรณ์ จึงสามารถลูบคลำได้
               บทว่า โกโสหิตวตฺถคุยฺโห ความว่า พระมหาบุรุษมีพระคุยหะซ่อนอยู่ในฝัก ดุจฝักบัวทอง ดุจคุยหะแห่งโคและช้างเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระมหาบุรุษจึงมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก.
               บทว่า วตฺถคุยฺหํ ท่านกล่าวองคชาตควรปกปิดด้วยผ้า.
               บทว่า สุวณฺณวณฺโณ ความว่า พระมหาบุรุษเช่นกับรูปทองแท่งที่คลุกเคล้าด้วยสีแดงชาดแล้วขัดด้วยเขี้ยวเสือ แล้วระบายด้วยดินสอแดงตั้งไว้. ด้วยบทนี้เพื่อแสดงความที่พระวรกายของพระมหาบุรุษนั้นแน่นสนิทละเอียดแล้ว จึงแสดงพระฉวีวรรณ ท่านจึงกล่าวว่า พระมหาบุรุษมีพระฉวีคล้ายกับทองคำ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่งบทนี้เป็นไวพจน์ของบทก่อน.
               บทว่า รโชชลฺลํ คือ ธุลีหรือมลทิน.
               บทว่า น อุปลิมฺปติ ความว่า ไม่ติด คือกลิ้งเหมือนหยาดน้ำกลิ้งจากใบบัว.
               ก็พระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงกระทำการชำระพระหัตถ์เป็นต้น เพื่อกำหนดฤดูและเพื่อผลบุญของพวกทายก. อนึ่ง ทรงกระทำแม้โดยหลักปฏิบัตินั้นเอง. ข้อนี้ท่านกล่าวไว้ว่า ก็ภิกษุผู้จะเข้าไปสู่เสนาสนะ ควรชำระเท้าแล้วจึงเข้าไป.
               บทว่า อุทฺธคฺคโลโม ความว่า พระมหาบุรุษมีพระโลมชาติมีปลายช้อยขึ้นเบื้องบน ตอนปลายเวียนเป็นทักษิณาวัฏ ตั้งอยู่มองดูพระพักตร์งาม เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษมีพระโลมชาติมีปลายช้อยขึ้นเบื้องบน.
               บทว่า พฺรหฺมุชุคตฺโต ความว่า พระมหาบุรุษมีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม คือจักมีพระวรกายสูงตรงขึ้นไปทีเดียว. ความจริงโดยมากสัตว์ทั้งหลายย่อมน้อมไปในที่ทั้งสาม คือที่คอที่สะเอวที่เข่าทั้งสอง. สัตว์เหล่านั้นเมื่อน้อมไปที่สะเอวย่อมไปข้างหลัง. ในที่ทั้งสองพวกนั้นย่อมน้อมไปข้างหน้า. ก็สัตว์บางพวกมีร่างกายสูงมีข้างคด บางพวกแหงนหน้าเที่ยวไปเหมือนจะนับดวงดาว. บางพวกมีเนื้อและเลือดน้อยเป็นเช่นคนเป็นโรคเสียดท้อง. บางพวกง้อมไปข้างหน้าเดินตัวสั่น.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ก็พระมหาบุรุษนี้ทรงดำเนินพระวรกายตรงทีเดียว มีประมาณเท่าส่วนสูง จักเป็นดุจเสาทองที่ยกขึ้นในเทพนคร. อนึ่ง พึงทราบว่า ข้อนี้ท่านกล่าวหมายถึง ข้อที่มหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษซึ่งพอประสูติยังไม่บริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง จะเจริญในโอกาสต่อไป.
               บทว่า สตฺตุสฺสโท ความว่า พระมหาบุรุษมีพระมังสะฟูบริบูรณ์ด้วยดีในที่ ๗ สถาน คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จะงอยพระอังสาทั้งสองและพระศอ เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษจึงชื่อว่ามีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน. แต่ของคนเหล่าอื่นที่หลังมือและหลังเท้าเป็นต้นปรากฏเส้นเลือด เป็นตาข่ายที่จะงอยบ่าและคอปรากฏปลายกระดูก. มนุษย์เหล่านั้นย่อมปรากฏเหมือนเปรต. พระมหาบุรุษไม่ปรากฏเหมือนอย่างนั้น. ก็พระมหาบุรุษมีพระศอเช่นกับกลองทองคำที่เขากลึง ด้วยหลังพระหัตถ์เป็นต้น มีเส้นเลือดเป็นตาข่ายซ่อนไว้เพราะมีพระมังสาฟูบริบูรณ์ในที่ ๗ สถาน ย่อมปรากฏเหมือนรูปศิลาและรูปปั้น.
               บทว่า สีหปุพฺพฑฺฒกาโย ความว่า พระมหาบุรุษมีกึ่งกายท่อนบน เหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของราชสีห์ เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษจึงชื่อว่ามีส่วนพระวรกายเบื้องหน้าเหมือนกึ่งกายเบื้องหน้าแห่งราชสีห์ เพราะว่า กายเบื้องหน้าของราชสีห์บริบูรณ์ กายเบื้องหลังไม่บริบูรณ์. ก็พระวรกายทั้งหมดของพระมหาบุรุษบริบูรณ์ดุจกายเบื้องหน้าของราชสีห์. แม้พระวรกายของมหาบุรุษก็เหมือนกายของราชสีห์ ย่อมไม่ตั้งอยู่สูงๆ ต่ำๆ ด้วยสามารถแห่งความฟูและแฟบเป็นต้น แต่ยาวในที่ควรยาวย่อมเป็นอย่างนั้น ในที่ควรสั้น ควรล่ำ ควรเรียว ควรกว้าง ควรกลมเป็นต้น.
               ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษทรงปลื้มพระทัยนักแล เมื่อผลกรรมปรากฏ ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดยาว อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่ยาว ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดสั้น อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่สั้น ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดล่ำ อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่ล่ำ ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดเรียว อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่เรียว ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดกว้าง อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่กว้าง ทรงงดงามเพราะอวัยวะส่วนใดกลม อวัยวะส่วนนั้นย่อมตั้งอยู่กลมดังนี้.
               อัตภาพของพระมหาบุรุษสะสมไว้ด้วยทานจิต บุญจิต ตระเตรียมไว้ด้วยบารมี ๑๐ ด้วยประการฉะนี้. ศิลปินทั้งปวงหรือผู้มีฤทธิ์ทั้งปวงในโลก ไม่สามารถสร้างรูปเปรียบได้.
               บทว่า ปิตนฺตรํโส ความว่า ในระหว่างส่วนทั้งสอง ท่านกล่าวว่า อนฺตรํโส. พระมหาบุรุษมีพระอังสาเต็มคือบริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น พระมหาบุรุษจึงมีระหว่างพระอังสาเต็ม. อันที่จริงฐานะนั้นของคนพวกอื่นบุ๋ม หลังและท้องทั้งสองปรากฏเฉพาะตัว. แต่ของพระมหาบุรุษพื้นพระมังสาตั้งแต่บั้นพระองค์จนถึงพระศอขึ้นไปปิดพระปฤษฏางศ์ ตั้งอยู่เหมือนแผ่นกระดานทองที่ยกขึ้นตั้งไว้.
               บทว่า นิโครฺธปริมณฺฑโล คือ พระมหาบุรุษมีปริมณฑลดุจต้นนิโครธ.
               อธิบายว่า พระมหาบุรุษแม้โดยพระวรกาย แม้โดยพยามประมาณเท่ากัน ดุจต้นนิโครธมีลำต้นและกิ่งเสมอกัน เพราะจะเป็น ๕๐ ศอกก็ตาม ๑๐๐ ศอกก็ตาม ย่อมมีประมาณเท่ากันทั้งส่วนยาวทั้งส่วนกว้าง. กายหรือวาของคนอื่นยาวไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า ยาวตกฺวสฺส กาโย เป็นอาทิ. ยาวตกฺวสฺส ตัดบทเป็น ยาวตโก อสฺส ความว่า พระวรกายของพระมหาบุรุษเท่ากับวาของพระมหาบุรุษ วาของพระมหาบุรุษเท่ากับกายของพระมหาบุรุษ.
               บทว่า สมวฏฺฎกฺขนฺโธ คือพระมหาบุรุษมีลำพระศอเท่ากัน. คนบางคนมีลำคอยาว คด หนา เหมือนนกกระเรียน เหมือนนกยาง เหมือนหมู เวลาพูด เอ็นเป็นตาข่ายย่อมปรากฏเสียงออกมาแหบฉันใด ของพระมหาบุรุษไม่เหมือนอย่างนั้น. ก็ลำพระศอของพระมหาบุรุษเป็นเช่นกับกลองทองที่เขากลึงดีแล้ว. ในเวลาตรัส เอ็นเป็นตาข่ายไม่ปรากฏ พระสุรเสียงดังก้องดุจเสียงเมฆกระหึ่ม.
               ในบทว่า รสคฺคสคฺคี นี้มีวิเคราะห์ว่า เส้นประสาทนำไปซึ่งรส ชื่อว่ารสัคคสา.
               บทนี้เป็นชื่อของเส้นประสาทนำรสอาหารไป. เส้นประสาทนำรสอาหารของพระมหาบุรุษนั้นเลิศ เพราะเหตุนั้น พระมหาบุรุษจึงเป็นผู้มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันเลิศ.
               ได้ยินว่า พระมหาบุรุษมีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารประมาณ ๗,๐๐๐ เส้น มีปลายขึ้นเบื้องบนแล้วรวมเข้าที่ลำพระศอนั่นเอง. พระกระยาหารแม้เพียงเมล็ดงาตั้งอยู่ ณ ปลายพระชิวหาย่อมแผ่ไปทั่วพระวรกายทุกส่วน. ด้วยเหตุนั้นแล เมื่อพระมหาบุรุษทรงเริ่มตั้งความเพียรอันยิ่งใหญ่ ได้ยังพระวรกายให้เป็นไปอยู่ได้ ด้วยข้าวสารเมล็ดเดียวเป็นต้นบ้าง ด้วยเพียงผักดองฟายมือหนึ่งบ้าง. แต่ของคนอื่นเพราะไม่มีอย่างนั้น รสโอชาจึงไม่แผ่ไปทั่วกาย เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงมีโรคมาก.
               บทว่า สีหหนุ มีวิเคราะห์ว่า พระหนุของพระมหาบุรุษดุจคางของราชสีห์ เพราะเหตุนั้น พระมหาบุรุษจึงมีพระหนุดุจคางราชสีห์.
               ในบทนั้น อธิบายว่า ราชสีห์มีคางท่อนล่างบริบูรณ์ท่อนบนไม่บริบูรณ์. แต่พระมหาบุรุษบริบูรณ์แม้ทั้งสองดุจคางเบื้องล่างของราชสีห์ เป็นเช่นกับพระจันทร์ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ. ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้พยากรณ์ทั้งหลายมองดูปลายพระหนุสังเกตว่า ที่พระหนุเหล่านี้ พระทนต์ ๔๐ องค์ คือข้างล่าง ๒๐ ข้างบน ๒๐ จักตั้งอยู่เสมอกันไม่ห่าง จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระกุมารนี้มีพระทนต์ ๔๐ องค์ พระเจ้าข้า ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้.
               คนเหล่าอื่นแม้มีฟันครบบริบูรณ์ก็มี ๓๒ ซี่. แต่พระกุมารนี้จักมี ๔๐ องค์ อนึ่ง ของคนเหล่าอื่น ฟันบางซี่สูง บางซี่ต่ำ บางซี่ไม่เสมอกัน. แต่ของพระกุมารนี้จักเสมอกันดุจเครื่องหุ้มสังข์ที่ช่างเหล็กตัดฉะนั้น. ฟันของพวกคนอื่นห่างเหมือนฟันจระเข้ เมื่อเคี้ยวปลาและเนื้อย่อมเต็มระหว่างฟันหมด. แต่พระทนต์ของพระกุมารนี้จักไม่ห่างดุจแถวแก้ววิเชียรที่เขาตั้งไว้บนแผ่นกระดานทอง จักเป็นดุจตอนที่เขาแสดงด้วยดินสอสี. อนึ่ง ฟันของคนพวกอื่น เป็นฟันเสียขึ้น เพราะเหตุนั้น เขี้ยวบางซี่ดำบ้าง ไม่มีสีบ้าง. แต่พระกุมารนี้มีพระทาฒะขาวสะอาด จักเป็นพระทาฒะประกอบด้วยรัศมีรุ่งเรืองยิ่งกว่าแม้ดาวประกายพฤกษ์.
               บทว่า ปหุตชิวฺโห คือ พระกุมารมีพระชิวหาใหญ่. อธิบายว่า ลิ้นของคนเหล่าอื่น หนาบ้าง เล็กบ้าง สั้นบ้าง กระด้างบ้าง ไม่เสมอบ้าง. แต่พระชิวหาของพระมหาบุรุษ อ่อน ยาว ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยสี. พระกุมารนั้นเพื่อปลดเปลื้องความสงสัยของผู้ที่มาเพื่อแสวงหาลักษณะนั้น เพราะพระชิวหาอ่อนจึงทรงแลบพระชิวหานั้น ดุจของแข็งที่สะอาดแล้วลูบช่องพระนาสิกทั้งสองได้ เพราะพระชิวหายาวจึงทรงลูบช่องพระกรรณทั้งสองได้ เพราะพระชิวหาใหญ่จึงทรงปิดพระนลาฏแม้ทั้งสิ้นถึงสุดปลายพระเกษา ทรงประกาศความที่พระชิวหานั้นอ่อน ยาว และใหญ่อย่างนี้ จึงทรงปลดเปลื้องความสงสัยของพราหมณ์ผู้พยากรณ์เหล่านั้นได้. บทว่า ปหุตชิโวฺห ท่านกล่าวหมายถึงพระชิวหาที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้.
               บทว่า พฺรหฺมสฺสโร ความว่า แม้คนพวกอื่นย่อมมีเสียงขาดบ้าง แตกบ้าง เสียงเหมือนกาบ้าง. แต่พระกุมารนี้จักทรงประกอบด้วยเสียงเช่นกับเสียงของท้าวมหาพรหม. ด้วยว่า ท้าวมหาพรหมมีเสียงแจ่มใส เพราะไม่กลั้วด้วยน้ำดีและเสมหะ. กรรมแม้อันพระมหาบุรุษทรงกระทำแล้วย่อมชำระวัตถุของเสียงนั้น. เพราะวัตถุบริสุทธิ์ เสียงปรากฏขึ้นตั้งแต่พระนาภีเป็นเสียงบริสุทธิ์ ประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมปรากฏชัด. พระกุมารตรัสดุจเสียงนกการเวก เพราะเหตุนั้น พระกุมารจึงตรัสมีสำเนียงดุจเสียงนกการเวก. อธิบายว่า พระกุมารมีพระสุรเสียงก้องไพเราะดุจเสียงนกการเวกอันน่าชื่นชม.
               บทว่า อภินีลเนตฺโต ความว่า พระกุมารมีพระเนตรไม่ดำทั้งหมด. พระเนตรของพระกุมารนั้นประกอบด้วยสีเขียวบริสุทธิ์ยิ่งนัก เช่นกับดอกสามหาวในที่ที่ควรเขียว. ในที่ที่ควรเหลืองก็มีสีเหลือง เช่นกับดอกกรรณิกา. ในที่ที่ควรแดงก็มีสีแดงเช่นกับดอกชบา. ในที่ที่ควรขาวก็มีสีเช่นกับดาวประกายพฤกษ์ ในที่ควรดำก็มีสีดำเช่นกับลูกประคำดีควาย พระเนตรย่อมปรากฏเช่นกับสีหบัญชรแก้วอันเผยออกแล้วในวิมานทอง.
               บทว่า ปขุมํ ในบทว่า โคปขุโม นี้ ท่านประสงค์ดวงพระเนตรทั้งหมด. ดวงตานั้นของลูกโคดำเป็นธาตุหนา ของลูกโคแดงผ่องใส. อธิบายว่า พระกุมารมีดวงพระเนตรเช่นกับโคแดงอ่อนซึ่งเกิดได้ครู่เดียว.
               จริงอยู่ ดวงตาของคนอื่นไม่บริบูรณ์ ประกอบด้วยตาถลนออกมาบ้าง ลึกลงไปบ้าง เช่นกับตาสัตว์มีช้างและหนู เป็นต้น. แต่พระเนตรของพระมหาบุรุษสะสมไว้ด้วยความอ่อนสนิทดำละเอียดดุจแก้วมณีกลมที่เขาล้างแล้วขัดตั้งไว้.
               บทว่า อุณฺณา คือ พระอุณณาโลม.
               บทว่า ภมุกนฺตเร ความว่า พระอุณณาโลมเกิดในที่สุดพระนาสิกท่ามกลางพระขนงทั้งสอง และก็ขึ้นไปเกิดในท่ามกลางพระนลาฏ.
               บทว่า โอทาตา ความว่า บริสุทธิ์ คือมีสีเสมอด้วยดาวประกายพฤกษ์.
               บทว่า มุทุ ความว่า พระอุณณาโลมเช่นกับไยฝ้ายที่ชี๑- ได้ ๑๐๐ ครั้ง ซึ่งเขาใส่ลงไปในเนยใสตั้งไว้.
               บทว่า ตูลสนฺนิภา คือ เสมอด้วยนุ่นไม้งิ้วและนุ่นเคลือ. นี้เป็นข้อเปรียบเพราะความขาวของนุ่น. ก็เมื่อจับปลายเส้นพระโลมาแล้วดึงออกจะได้ประมาณครึ่งพระพาหา ครั้นปล่อยเส้นพระโลมาก็จะม้วนเป็นทักษิณาวัฏมีปลายในเบื้องบนตั้งอยู่ พระอุณณาโลมนั้นย่อมรุ่งเรืองไปด้วยสิริ เป็นที่จับใจยิ่งนักดุจฟองน้ำเงินตั้งอยู่ ณ ท่ามกลางแผ่นกระดานทอง ดุจสายน้ำนมไหลออกจากหม้อทองและดุจดาวประกายพฤกษ์บนท้องฟ้าย้อมด้วยแสงอรุณ.
____________________________
๑- ชี หมายถึงทำสิ่งของที่เป็นปุย เช่น สำลีให้กระจายออก

               บทว่า อุณฺหีสสีโส นี้ท่านกล่าวอาศัยอำนาจประโยชน์ ๒ อย่าง คือ ความที่พระนลาฏบริบูรณ์และความที่พระเศียรบริบูรณ์. อธิบายว่า เพราะว่าพื้นพระมังสะของพระมหาบุรุษนูนขึ้นตั้งแต่หมวกพระกรรณเบื้องขวาปกพระนลาฏทั้งสิ้นเต็มบริบูรณ์ไปจดหมวกพระกรรณเบื้องซ้าย. งดงามเหมือนแผ่นอุณหิสเครื่องประดับของพระราชา.
               ได้ยินว่า ชนทั้งหลายเห็นลักษณะนี้ของพระมหาบุรุษได้กระทำทำแผ่นพระอุณหิสสำหรับพระราชาทั้งหลาย. นี้เป็นใจความข้อหนึ่งก่อน.
               ก็ชนเหล่าอื่นมีศีรษะไม่บริบูรณ์. บางคนมีศีรษะเหมือนลิง บางคนมีศีรษะเหมือนผลไม้ บางคนมีศีรษะเหมือนช้าง บางคนมีศีรษะเหมือนหม้อ บางคนมีศีรษะเหมือนเงื้อมภูเขา.
               แต่พระมหาบุรุษมีพระเศียรเช่นกับฟองน้ำบริบูรณ์ดีดุจม้วนด้วยปลายเข็มตั้งไว้.
               ในสองนัยนั้น ในนัยแรก พระกุมารมีพระเศียรดุจพระเศียรประดับด้วยกรอบพระพักตร์ เพราะเหตุนั้น พระกุมารจึงชื่อว่ามีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์.
               ในนัยที่สอง พระกุมารมีพระเศียรเป็นปริมณฑลในที่ทั้งปวงดุจอุณหีส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ามีพระเศียรเป็นปริมณฑลดุจอุณหีส.

               วิปสฺสีสมญฺญาวณฺณนา               
               บทว่า สพฺพกาเมหิ นี้ ท่านกล่าวเหมือนว่า พระราชาพันธุมะให้พวกพราหมณ์ดูลักษณะแล้วเลี้ยงดูในภายหลัง แต่ไม่ควรเห็นอย่างนั้น.
               พึงทราบว่า พระราชาพันธุมะโปรดเลี้ยงดูพวกพราหมณ์พยากรณ์ จนอิ่มหนำก่อนแล้วจึงให้ตรวจลักษณะภายหลัง. ความพิสดารของเรื่องนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในการก้าวลงสู่พระครรภ์.
               บทว่า ปาเยนฺติ คือ ให้ดื่มน้ำนม.
               ได้ยินว่า พระราชาพันธุมะโปรดให้นางนม ๖๐ นาง ปรุงน้ำนมมีรสหวานปราศจากโทษบำรุงพระโพธิสัตว์. แม้นางนมที่เหลือล้วนเป็นผู้ฉลาดในการงานนั้นๆ ก็แผนกละหกสิบเหมือนกัน. โปรดให้ชาย ๖๐ คนทำหน้าที่รับใช้นางนมเหล่านั้น. โปรดให้ตั้งอมาตย์ ๖๐ คนคอยดูการกระทำและไม่กระทำของชายนั้นๆ. ด้วยประการฉะนี้ ได้มีแก่อุปฐาก ๓๖๐ คน คือของหญิง ๒๔๐ คน ของชาย ๑๒๐ คน.
               บทว่า เสตจฺฉตฺตํ คือ ทิพยเศวตฉัตร. ก็ทิพยเศวตฉัตรเป็นของที่ตระกูลให้ตั้งอยู่ในห้องสิรินั้นแล.
               พึงทราบความว่า อย่าครอบงำเลย ในบทเป็นต้นว่า มา นํ สีตํ วา ดังนี้.
               บทว่า สฺวาสฺสุสุทํ ตัดบทเป็น โส อสฺสุ สฺทํ.
               บทว่า องฺเกเนว องฺกํ ความว่า พระกุมารนั้นอันบุคคลผลัดเปลี่ยนกันอุ้มผลัดเปลี่ยนกันแบก.
               บทว่า ปริหริยติ ความว่า นำไป คืออุ้มไป.
               บทว่า มญฺชุสฺสโร คือ พระกุมารมีพระสุรเสียงไม่กระด้าง.
               บทว่า วคฺคุสฺสโร คือ พระกุมารมีพระสุรเสียงเต็มไปด้วยความฉลาด.
               บทว่า มธุรสฺสโร คือ พระกุมารมีพระสุรเสียงน่าพอใจ.
               บทว่า เปมนียสฺสโร คือ พระกุมารมีพระสุรเสียงทำให้เกิดความรัก. ข้อนี้เป็นอธิบายในบทนั้น เพราะนกการเวกมีเสียงเพราะ
               ได้ยินมาว่า เมื่อนกการเวกจิกมะม่วงสุกมีรสอร่อยด้วยจะงอยปาก แล้วดื่มรสที่ไหลออกมาแล้วกระพือปีกร้อง บรรดาสัตว์ ๔ เท้า เริ่มเยื้องย่างเหมือนเมา. บรรดาสัตว์ ๔ เท้า แม้กำลังหาอาหารก็ทิ้งหญ้าที่เข้าไปในปากฟังเสียงนั้น. บรรดาเนื้อร้ายที่กำลังติดตามพวกเนื้อน้อยๆ ก็ไม่วางเท้าที่ยกขึ้นยืนนิ่งอยู่. และบรรดาเนื้อที่ถูกติดตามก็ละความกลัวตายยืนนิ่ง. แม้บรรดานกกำลังบินไปบนอากาศก็เหยียดปีกหยุดฟังเสียง. แม้บรรดาปลาในน้ำกระดิกแผ่นหูหยุดฟังเสียงนั้น. นกการเวกมีเสียงเพราะถึงอย่างนี้.
               แม้พระนางอสันธิมิตตาพระเทวีของพระเจ้าธรรมาโศกราช ก็ยังตรัสถามพระสงฆ์ว่า พระคุณเจ้า เสียงของใครๆ เช่นกับเสียงของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่หรือหนอ.
               พระสงฆ์ถวายพระพรว่า ถวายพระพร มีเสียงของนกการเวก.
               พระคุณเจ้า นกเหล่านั้นอยู่ที่ไหนเจ้าคะ.
               ถวายพระพรว่า อยู่ในป่าหิมพานต์.
               พระเทวีทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ หม่อมฉันประสงค์จะเห็นนกการเวก เพคะ. พระราชาทรงอธิษฐานว่า นกการเวกจงมาเกาะในกรงนี้แล้วปล่อยกรงทองไป. กรงทองได้ไปตั้งอยู่ข้างหน้านกการเวกตัวหนึ่ง. นกการเวกนั้นคิดว่า กรงทองมาตามพระดำรัสสั่งของพระราชา ไม่อาจขัดขืนได้แล้วจับเฉยอยู่ ณ ที่นั้น. กรงทองได้มาตั้งอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระราชา อำมาตย์ทั้งหลายไม่สามารถให้นกการเวกทำเสียงได้.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพระนายทั้งหลาย นกการเวกเหล่านี้ทำเสียงอย่างไร. พวกอมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ นกการเวกเหล่านี้เห็นพวกญาติจึงจะทำเสียง.
               ลำดับนั้น พระราชารับสั่งให้เอากระจกล้อมนกการเวกนั้น. นกการเวกนั้น ครั้นเห็นเงาของตนสำคัญว่า ญาติของเรามาแล้ว จึงกระพือปีกร้องดุจเป่าแก้วมณีวงศ์ด้วยเสียงอันอ่อน. พวกมนุษย์ในสกลนครเยื้องกรายดุจคนเมา พระนางอสันธิมิตตาดำริว่า เสียงของสัตว์เดียรัจฉานนี้ยังเพราะถึงอย่างนี้ พระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงบรรลุสิริ คือพระสัพพัญญุตญาณจะเป็นเช่นไรหนอ ยังพระปีติให้เกิดไม่ทรงละพระปีตินั้น ทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยบริวาร ๗๐๐
               พึงทราบว่า เสียงนกการเวกยังเพราะถึงอย่างนี้. แต่พระสุรเสียงของพระวิปัสสีราชกุมารได้ไพเราะกว่านั้นร้อยส่วนพันส่วน.
               บทว่า กมฺมวิปากชํ คือ ไม่สำเร็จด้วยภาวนา. ก็มังสจักขุได้เป็นเช่นกับจักษุของเทวดาทั้งหลายด้วยอำนาจผลของกรรม โดยที่แม้เมล็ดงาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมายไว้แล้ว ใส่ลงไปในหม้องาก็สามารถยกขึ้นให้ได้ฉะนี้.
               ในบทว่า วิปสฺสี นี้ เป็นอรรถของคำพูด.
               ชื่อว่าวิปัสสี เพราะเห็นชัดเจนโดยเว้นจากการหลับตา ความจำและความมืดและเห็นด้วยตาที่ลืม. ในวาระที่สอง. ชื่อวิปัสสี เพราะเลือกดู. อธิบายว่า สอดส่องดู.
               บทว่า อตฺเถปนายติ ความว่า รู้เห็นแนะนำหรือพิจารณาอรรถคดี.
               ได้ยินว่า วันหนึ่ง เมื่อพระราชาประทับนั่งบนศาลสำหรับวินิจฉัย ทรงสอดส่องพิจารณาคดี แม่นมนำพระมหาบุรุษซึ่งประดับตกแต่งพระองค์แล้วมาวางไว้บนพระหัตถ์ เมื่อพระราชานั้นทรงรับพระกุมารวางบนพระเพลาแล้วทรงกอดจูบ
               พวกผู้พิจารณาได้ตัดสินคนที่เป็นเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ พระโพธิสัตว์ทรงเปล่งพระสุรเสียงแสดงความไม่พอพระทัย.
               พระราชาตรัสว่า พวกเจ้าพิจารณาคดีนี้อย่างไร. พวกอำมาตย์มองดูไม่เห็นคนอื่นเพราะตนวินิจฉัยคดีผิด คิดว่า เราจักตัดสินอย่างนี้. พวกผู้พิพากษาตัดสินผู้เป็นเจ้าของโดยแท้ให้เป็นเจ้าของใหม่แล้ว พิจารณาดูว่า พระกุมารทรงทราบหรือไม่หนอ จึงทรงกระทำอย่างนี้ ได้ตัดสินผู้เป็นเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของอีก.
               พระโพธิสัตว์ทรงเปล่งพระสุรเสียงอย่างนั้นอีก. ทีนั้น พระราชาทรงดำริว่า พระกุมารผู้เป็นมหาบุรุษย่อมรู้ ตั้งแต่นั้นมา มิได้ทรงประมาทเลย.
               ท่านกล่าวว่า พระกุมารทรงสอดส่องพิจารณาคดี หมายถึงข้อนี้.
               ในบทว่า วสฺสิกํ เป็นต้น ความว่า สถานที่เพื่ออยู่อย่างมีความสุขในฤดูฝน ชื่อว่าวสฺสิก. ปราสาทสำหรับประทับในฤดูฝนนอกนี้มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ข้อนี้ในบทนี้มีอรรถเป็นคำพูด. การอยู่ในฤดูฝน ชื่อวัสสะ. ผู้สมควรซึ่งฤดูฝนนั้น ชื่อวัสสิกะ. แม้ในบทนอกนี้ก็มีนัยนี้แล.
               ในปราสาท ๓ หลังนั้น ปราสาทที่ประทับในฤดูฝน ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก. แม้ประตูและหน้าต่างของปราสาทนั้น ก็ไม่มากนัก ไม่น้อยนัก. อนึ่ง เครื่องปูพื้น เครื่องลาดของเคี้ยวและของบริโภคในปราสาทนี้ ควรรวมกัน.
               ในปราสาทสำหรับประทับในฤดูหนาว แม้เสา แม้ฝาก็ตํ่า. แม้ประตูและหน้าต่างน้อยก็มีช่องสะดวก เพื่อเข้าไปหาความอบอุ่น ควรนำฝาและหิ้งออก ก็ในปราสาทหลังนี้ เครื่องปูพื้น เครื่องลาดพื้น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ควรเป็นผ้ากัมพลเป็นต้น ช่วยให้เกิดความอบอุ่น. ของเคี้ยวและของบริโภคอร่อยและเจือเผ็ด.
               ในปราสาทสำหรับประทับในฤดูร้อน แม้เสาแม้ฝาก็สูง. ก็ในปราสาทหลังนี้ประตูและหน้าต่างมีตาข่ายมากมาย. เครื่องลาดพื้นเป็นต้นควรสำเร็จด้วยผ้าสองชั้น. ของเคี้ยวและของบริโภคควรเป็นของเย็นมีรสอร่อย.
               อนึ่ง ในปราสาทหลังนี้ ชนทั้งหลายตั้งตุ่มใหม่ไว้ในที่ใกล้หน้าต่าง ใส่นํ้าจนเต็มแล้วปลูกบัวเขียวเป็นต้น. สายนํ้าไหลเหมือนฝนตกโดยท้องที่ที่ชนทั้งหลายทำท่อนํ้าไว้.
               บทว่า นิปฺปุริเสหิ คือ ไม่มีผู้ชาย.
               อธิบายว่า ก็ที่ปราสาทนี้มิใช่ดนตรีอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่มีผู้ชาย. แม้สถานที่ทั้งหมดก็ไม่มีผู้ชายเหมือนกัน. แม้คนเฝ้าประตูก็เป็นผู้หญิง. แม้คนทำบริการมีอาบนํ้าเป็นต้น ก็เป็นผู้หญิงทั้งนั้น.
               ได้ยินว่า พระราชาทรงดำริว่า ความรังเกียจบุรุษ เพราะเห็นบุรุษย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้เสวยอิสริยสมบัติและสุขสมบัติเห็นปานนั้น ความรังเกียจบุรุษนั้นอย่าได้มีแก่บุตรของเราเลยดังนี้ จึงทรงตั้งสตรีเท่านั้นในกิจการทั้งหมด.

               จบอรรถกถาภาณวารที่หนึ่ง               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1&Z=1454
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :