ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๕.

               มารยาจนกถาวณฺณนา               
               ชื่อว่า มารในคำว่า มาโร ปาปิมา นี้ ชื่อว่ามาร เพราะประกอบสัตว์ไว้ในความพินาสทำให้ตาย.
               บทว่า ปาปิมา เป็นไวพจน์ของคำว่า มารนั้นนั่นเอง.
               จริงอยู่ มารนั้น ท่านเรียกว่ามาร เพราะประกอบด้วยบาปธรรม. แม้คำว่า กัณหะ อันตกะ นมุจิ ปมัตตพันธุ ก็เป็นชื่อของมารนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ภาสิตา โข ปเนสา ความว่า ก็มารนี้ ติดตามมาที่โพธิมัณฑสถาน ในสัปดาห์ที่ ๘ นับแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุประโยชน์ของพระองค์ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาโดยลำดับแล้ว ทรงแทงตลอดพระสัมพุทธญาณแล้ว พระองค์จะทรงตรวจดูโลกไปทำไม จึงทูลวิงวอนว่า บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดปรินิพพานเสีย เหมือนในวันนี้ พระเจ้าข้า. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปฏิเสธแก่มารนั้นว่า เราจะไม่ปรินิพพานก่อนดังนี้เป็นต้น. มารหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า ภาสิตา โข ปเนสา ภนฺเต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิยตฺตา ได้แก่ ฉลาดโดยมรรค. ภิกษุทั้งหลายถูกแนะนำอย่างนั้นเหมือนกัน แกล้วกล้าก็อย่างนั้น.
               บทว่า พหุสฺสุตา ชื่อว่าพหูสูต เพราะมีสุตะมาก โดยพระไตรปิฏก. ชื่อว่าธรรมธร เพราะทรงธรรมนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า เป็นพหูสูตโดยปริยัติ ๑ เป็นพหุสูตโดยปฏิเสธ ๑. ชื่อว่าธรรมธร เพราะทรงธรรม คือปริยัติและปฏิเวธนั่นแล.
               บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ได้แก่ ปฏิบัติวิปัสสนาธรรมอันสมควรแก่อริยธรรม. บทว่า สามีจิปฏิปนฺนา ได้แก่ ปฏิบัติปฏิปทาอันเหมาะ. บทว่า อนุธมฺมจาริโน แปลว่า มีปกติประพฤติธรรมอันสมควร. บทว่า สกํ อาจริยกํ ได้แก่ วาทะอาจารย์ของตน. คำทั้งหมดมีว่า อาจิกฺขนฺติ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               บทว่า สห ธมฺเมน ได้แก่ ถ้อยคำอันมีเหตุมีการณ์. บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ความว่า จักแสดงธรรม จนถึงธรรมอันนำสัตว์ออกจากทุกข์. บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ สาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้น อันสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓. บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ สำเร็จด้วยอำนาจฌานเป็นต้น. บทว่า ผีตํ ได้แก่ ถึงความเจริญโดยถึงพร้อมด้วยอภิญญา เหมือนดอกไม้ที่บานเต็มที่แล้วเป็นต้น. บทว่า วิตฺถาริกํ ความว่า ได้แก่ แผ่ไปโดยประดิษฐานอยู่ในทิสาภาคนั้นๆ. บทว่า พาหุชญฺญํ ได้แก่ ชนเป็นอันมากรู้แจ้งแทงตลอดโดยตรัสรู้ของมหาชน.
               บทว่า ปถุภูตํ ได้แก่ ถึงความแน่นหนาโดยอาการทั้งปวง. แน่นหนาอย่างไร. แน่นหนาจนกว่าเทพยดาและมนุษย์ประกาศด้วยดีแล้ว. อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์ผู้เป็นวิญญูชนมีอยู่ประมาณเพียงไร เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดนั้นประกาศดีแล้ว.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก ได้แก่ ปราศจากความอาลัย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ตั้งแต่สัปดาห์ที่ ๘ ท่านเทียวไปเทียวมา ร่ำร้องว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเสียบัดนี้เถิด พระเจ้าข้า. บัดนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านจงเลิกอุตสาหะ อย่าพยายามให้เราปรินิพพานเลย.

               อายุสงฺขารโอสฺสชฺชนวณฺณนา               
               บทว่า สโต สมฺปชาโน อายุสงฺขารํ โอสฺสชฺชิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำสติตั้งมั่นด้วยดี กำหนดด้วยพระญาณ ปลงสละอายุสังขาร ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปลงอายุสังขาร เหมือนเอามือทิ้งก้อนดิน ทรงเกิดจิตคิดว่า จักทรงเข้าสมาบัติไม่ขาดระยะเพียง ๓ เดือนเท่านั้น ต่อแต่นั้นจักไม่เข้า. ท่านหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า โอสฺสชฺชิ ปาฐะว่า อุสฺสชฺชิ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า มหาภูมิจาโร ได้แก่ มหาปฐพีหวั่นไหว. ได้ยินว่า ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว.
               บทว่า ภึสนโก ได้แก่ เกิดความน่ากลัว.
               บทว่า เทวทุนฺทภิโยว ผลึสุ ได้แก่ เหล่ากลองทิพย์ก็บันลือลั่น เมฆฝนก็กระหึ่ม ครึมครางดั่งฤดูแล้ง สายฟ้ามิใช่ฤดูกาลก็แลบแปลบปลาบ. ท่านอธิบายว่า ฝนตกชั่วขณะ.
               ในคำว่า อุทานํ อุทาเนสิ ถามว่า ทรงอุทานเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะได้ยินว่า ชื่อว่าใครๆ จะพึงพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกมารติดตามไปข้างหลังๆ อ้อนวอนรบกวนว่า โปรดปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้าๆ ทรงปลงอายุสังขารเพราะกลัว จึงทรงเปล่งพระอุทานที่เปล่งด้วยกำลังปีติ เพื่อแสดงความข้อนี้ว่า ชื่อว่าคำอุทานย่อมไม่มีแก่ผู้กลัวว่า ขอมารอย่ามีโอกาสเลย.
               ในอุทานนั้น ชื่อว่า ตุละ เพราะชั่งกำหนดโดยภาวะที่ประจักษ์ของสัตว์มีสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้นทั้งหมด.
               กรรมที่ชั่งได้นั้นเป็นอย่างไร. ได้แก่ กรรมฝ่ายกามาวจร. ชื่อว่า อตุละ เพราะชั่งไม่ได้. หรือ โลกิยกรรมอย่างอื่นที่เทียม ที่เหมือนกับกามาวจรกรรมนั้นไม่มี. กรรมที่ชั่งไม่ได้นั้นเป็นอย่างไร. ได้แก่ กรรมฝ่ายมหัคตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง กามาวจรกรรม รูปาวจรกรรมจัดเป็นตุละ. อรูปาวจรกรรมจัดเป็นอตุละ.
               อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่มีวิบากน้อย ชื่อว่าตุละ. ที่มีวิบากมาก ชื่อว่าอตุละ.
               บทว่า สมฺภวํ ได้แก่ กรรมที่กระทำเป็นก้อน. อธิบายว่า กระทำเป็นกองอันเป็นเหตุเกิด.
               บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ กรรมที่แต่งภพใหม่. บทว่า อวสฺสชฺชิ ได้แก่ ปลง. บทว่า มุนี ได้แก่ พระมุนี คือพระพุทธเจ้า.
               บทว่า อชฺฌตฺตรโต คือ ยินดีภายในแน่นอน.
               บทว่า สมาหิโต คือ ตั้งมั่นแล้วด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า อภินฺทิ กวจมิว ได้แก่ ทำลายกิเลส ดุจเกาะ.
               บทว่า อตฺตสมฺภวํ ได้แก่ กิเลสที่เกิดแล้วในตน.
               ท่านอธิบายไว้ว่า พระมุนีทรงปลดปล่อยโลกิยกรรม กล่าวคือตุลกรรมและอตุลกรรม ที่ได้ชื่อว่าสัมภวะ เพราะอรรถว่ามีวิบาก ว่าภวสังขาร เพราะอรรถว่าปรุงแต่งภพและทรงยินดีภายใน ตั้งมั่นแล้ว ทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนนักรบใหญ่ในสนามรบทำลายเกาะฉะนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ตุลํ ได้แก่ ชั่ง คือพิจารณา. บทว่า อตุลญฺจ สมฺภวํ ได้แก่ พระนิพพานและภพ. บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ กรรมที่ไปสู่ภพ. บทว่า อวสฺสชฺชิ มุนี ความว่า พระมุนี คือพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาโดยนัยเป็นอาทิว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง ความดับปัญจขันธ์ คือนิพพานเป็นของเที่ยง๑- แล้วทรงเห็นโทษในภพ และอานิสงส์ในนิพพานแล้ว ทรงปลดปล่อยด้วยอริยมรรค อันกระทำความสิ้นกรรมที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า กรรมเครื่องปรุงแต่งภพ อันเป็นมูลแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้น เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมดังนี้.๒- พระองค์ทรงยินดีในภายใน ตั่งมั่นแล้ว ทรงทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนเกราะได้อย่างไร. ความจริง พระมุนีนั้นทรงยินดีในภายในด้วยอำนาจวิปัสสนา ทรงตั้งมั่นด้วยอำนาจสมถะ รวมความว่า พระองค์ทรงทำลายข่าย คือกิเลสทั้งหมดที่ตั้งรึงรัดอัตภาพดุจเกราะ ที่ได้ชื่อว่าอัตตสัมภวะ เพราะเกิดในตน ด้วยกำลังสมถะและวิปัสสนา ตั้งแต่เบื้องต้น และละกรรมด้วยการละกิเลสอย่างนี้ว่า กรรมที่ทำโดยไม่มีกิเลส ชื่อว่ายังเหลืออยู่ เพราะไม่มีปฏิสนธิ. พึงทราบว่า ชื่อว่าความกลัวของผู้ละกิเลสได้แล้วไม่มี เพราะฉะนั้น พระมุนีไม่ทรงกลัวแล้ว จึงทรงปลงอายุสังขาร เพราะเหตุนั้น จึงทรงเปล่งอุทาน เพื่อให้รู้ว่าไม่ทรงกลัว.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๓๕
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๘๘ องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓๒

               มหาภูมิจาลวณฺณนา               
               บทว่า ยํ มหาวาตา ความว่า โดยสมัยใด หรือในสมัยใด ลมใหญ่ย่อมพัด.
               บทว่า มหาวาตา วายนฺตา ได้แก่ ธรรมดาว่า ลมอุกเขปกะเมื่อเกิดขึ้น ก็พัดตัดลมที่อุ้มน้ำหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ขาดสะบั้น แต่นั้น น้ำก็ตกลงในอากาศ เมื่อน้ำตกลงแผ่นดินก็ตกลง. ลมก็หอบรับน้ำไว้อีกด้วยกำลังของตน เหมือนน้ำภายในธมกรก. แต่น้ำนั้นก็พุ่งขึ้น เมื่อน้ำพุ่งขึ้นแผ่นดินก็พุ่งขึ้น น้ำไหวแล้วก็ทำให้แผ่นดินไหวอย่างนี้. การไหวของน้ำและแผ่นดินย่อมมีมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ด้วยประการฉะนี้. แต่ความพุ่งลงและพุ่งขึ้นย่อมไม่ปรากฏ เพราะเป็นของหนา.
               บทว่า มหิทฺธิโก มหานุภาโว ความว่า สมณะหรือพราหมณ์ ชื่อว่าผู้มีฤทธิ์มาก เพราะมีความสำเร็จมาก ชื่อว่าผู้มีอานุภาพมาก เพราะสิ่งที่จะได้รับมาก.
               บทว่า ปริตฺตา แปลว่า มีกำลังน้อย. บทว่า อปฺปมาณา ได้แก่ ผู้มีกำลัง.
               บทว่า โส อิมํ ปฐวึ กปฺเปติ ความว่า ท่านทำฤทธิ์ให้เกิดแล้วเกิดความสังเวช เหมือนพระมหาโมคคัลลานะ หรือเมื่อทรงทดลอง ย่อมทำให้แผ่นดินไหว เหมือนสังฆรักขิตสามเณรหลานพระมหานาคเถระ.
               ได้ยินว่า สามเณรนั้นขณะโกนผมเท่านั้นก็บรรลุพระอรหัต คิดว่า มีภิกษุไรๆ ไหมหนอ ที่เคยบรรลุพระอรหัตในวันที่บวชนั่นเอง แล้วทำเวชยันตปราสาทให้ไหว. แต่นั้นก็รู้ว่าไม่มีใคร จึงคิดว่า เราจะทำให้ไหวยืนอยู่บนยอดเวชยันตปราสาท แล้วใช้เท้ากระทืบก็ไม่อาจทำให้ไหวด้วยกำลังแห่งอภิญญา.
               ครั้งนั้น เหล่านางรำของท้าวสักกะ ก็กล่าวกะสามเณรนั้นว่า ลูกสังฆรักขิต เธอประสงค์จะทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วยศีรษะที่มีกลิ่นเหม็นเท่านั้นพ่อเอ๋ย ปราสาทมีโอกาสตั้งอยู่ดีแล้ว ท่านอาจทำให้ไหวอย่างไรได้. สามเณรรำลึกว่า เทวดาเหล่านี้เย้ยหยันกับเรา แต่เรายังไม่ได้อาจารย์ พระมหานาคเถระผู้อยู่ประจำสมุทร อาจารย์ของเราอยู่ไหนหนอ รู้ว่าอาจารย์สร้างที่เร้นในน้ำไว้ในมหาสมุทรนั่งพักผ่อนกลางวัน จึงไปในที่นั้นไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่.
               แต่นั้น พระเถระพูดกะสามเณรนั้นว่า พ่อ สังฆรักขิต เจ้ายังไม่ได้ศึกษาจะเข้าไปต่อยุทธ์หรือ แล้วถามว่า พ่อเจ้าไม่สามารถทำให้เวชยันตปราสาทให้ไหวหรือ.
               ตอบว่า ผมยังไม่ได้อาจารย์นี้ขอรับ.
               ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะสามเณรนั้นว่า พ่อเอ๋ย เมื่อคนเช่นเจ้าให้ไหวไม่ได้ คนอื่น คือใครเล่าจักให้ไหวได้ เจ้าเคยเห็นก้อนโคมัยลอยอยู่เหนือหลังน้ำไหมละพ่อ แล้วกล่าวต่อไปว่า พ่อเอ๋ย คนทั้งหลายเขาทำขนมเบื้อง เขาไม่ตัดที่ปลายดอก เจ้าจงรู้ด้วยอุปมานี้.
               สามเณรกล่าวว่า ปราสาทนั้นจักหมุนด้วยอาการเพียงเท่านี้ขอรับ แล้วอธิษฐานว่า ขอน้ำจงมีตลอดโอกาสที่ปราสาทตั้งอยู่ บ่ายหน้าไปยังเวชยันตปราสาท. เหล่าเทพธิดาเห็นสามเณรแล้วพูดกันว่า สามเณรอับอายไปครั้งหนึ่งแล้ว ยังมาแล้วมาอีก. ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า พวกเจ้าอย่าพูดกับบุตรของเราเลย บัดนี้ เธอได้อาจารย์แล้ว ชั่วขณะ เธอจักทำปราสาทให้ไหวได้. สามเณรใช้นิ้วเท้าเกี่ยวยอดปราสาท. ปราสาทก็โอเอนไปทั้ง ๔ ทิศ. เหล่าเทวดาร้องลั่นว่า พ่อเอย โปรดให้ปราสาทคงตั้งอยู่เถิดๆ. สามเณรวางปราสาทไว้ที่เดิมแล้ว ยืนบนยอดปราสาทเปล่งอุทานว่า
                     เราบวชวันนี้ก็บรรลุอาสวักขัยวันนี้ เราทำปราสาทให้ไหววันนี้
                 โอพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณมโหฬาร.
                     เราบวชวันนี้ก็บรรลุอาสวักขัยวันนี้ เราทำปราสาทให้ไหววันนี้
                 โอพระธรรมมีพระคุณมโหฬาร.
                    เราบวชวันนี้ก็บรรลุอาสวักขัยวันนี้ เราทำปราสาทให้ไหววันนี้
                 โอพระสงฆ์มีพระคุณมโหฬาร.
               คำที่จะพึงกล่าวในเรื่องแผ่นดินไหว ๖ ประการนอกจากนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในมหาปทานสูตร.
               ในเหตุเกิดแผ่นดินไหว ๘ ประการนี้ ดังกล่าวมานี้ ครั้งที่ ๑ ไหวด้วยธาตุกำเริบ ครั้งที่ ๒ ไหวด้วยอานุภาพของผู้มีฤทธิ์ ครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ ไหวด้วยเดชแห่งบุญ ครั้งที่ ๕ ไหวด้วยอำนาจแห่งญาณ ครั้งที่ ๖ ไหวด้วยอำนาจสาธุการ ครั้งที่ ๗ ไหวด้วยอำนาจความเป็นผู้มีกรุณา ครั้งที่ ๘ ไหวด้วยการร้องไห้.
               ครั้งเมื่อพระมหาสัตว์ลงสู่พระครรภ์พระมารดาและออกจากพระครรภ์นั้น แผ่นดินไหวด้วยอำนาจแห่งบุญของพระองค์. ครั้งตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ แผ่นดินไหวด้วยอำนาจพระญาณ ครั้งประกาศพระธรรมจักร แผ่นดินก็ผงาดขึ้นให้สาธุการไหว ครั้งปลงอายุสังขาร แผ่นดินผงาดขึ้นด้วยความกรุณา ทนความเคลื่อนไหวแห่งจิตไม่ได้ก็ไหว. ครั้งปรินิพพาน แผ่นดินก็ถูกกระหน่ำด้วยกำลังการร้องไห้ก็ไหว. ก็ความนี้พึงทราบด้วยอำนาจเทวดาประจำแผ่นดิน. แต่ข้อนี้ไม่มีแก่ปฐวีธาตุที่เป็นมหาภูตรูป เพราะไม่มีเจตนาแล
               บทว่า อิเม ในคำว่า อิเม โข อานนฺท อฎฺฐ เหตู นี้เป็นการชี้ข้อที่ทรงแสดงมาแล้ว. ก็แลด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ท่านพระอานนท์กำหนดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปลงอายุสังขารวันนี้แน่แท้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงทราบว่าพระอานนท์กำหนดได้ ก็ไม่ประทานโอกาส ทรงประมวลเหตุทั้ง ๘ แม้อย่างอื่นเข้าไว้ด้วย จึงตรัสว่า อฎฺฐ โข อิมา ดังนี้เป็นต้น.

               อฏฺฐปริสวณฺณนา               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกสตํ ขตฺติยปริสํ ได้แก่ บริษัท เช่นสมาคมพระเจ้าพิมพิสาร สมาคมพระญาติ และสมาคมเจ้าลิจฉวีเป็นอาทิ.
               คำนี้ใช้ได้แม้ในจักรวาลอื่นๆ.
               บทว่า สลฺลปิตปุพฺพํ ได้แก่ เคยกระทำการสนทนาปราศรัย.
               บทว่า สากจฺฉา ได้แก่ เคยเข้าร่วมแม้แต่การสนทนาธรรม.
               บทว่า ยาทิสโก เตสํ วณฺโณ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นผิวขาวบ้าง ผิวดำบ้าง ผิวสองสีบ้าง พระศาสดามีพระฉวีเหลืองดังทองคำ. ก็คำนี้ ท่านกล่าวอาศัยทรวดทรง. ก็แม้ทรวดทรงของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรากฏเพียงอย่างเดียวเท่านั้น. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่เหมือนชนชาติมิลักขะ ทั้งไม่ทรงสวมมณีกุณฑลประทับนั่งโดยเพศของพระพุทธเจ้าเท่านั้น. ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเห็นว่าพระพุทธองค์มีทรวดทรงเสมอกับตน.
               บทว่า ยาทิสโก เตสํ สโร ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีเสียงขาดบ้าง มีเสียงดังไม้ค้อนบ้าง มีเสียงเหมือนกาบ้าง พระศาสดามีพระสุระเสียงดังพรหมเท่านั้น. แต่คำนี้ ท่านกล่าวหมายถึงภาษาอื่น.
               ความจริง แม้หากว่า ในบริษัทนั้น พระศาสดาประทับนั่งตรัสบนราชอาสน์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็จะเข้าใจว่า วันนี้ พระราชาตรัสด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ. แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเสด็จหลีกไป สมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นพระราชาเสด็จกลับมาอีกก็จะเกิดการพิจารณาทบทวนว่า ผู้นี้เป็นใครกันหนอ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ โข อยํ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้พิจารณาทบทวนอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่า ผู้นี้เป็นใครกันหนอตรัสด้วยภาษามคธ ภาษาสีหล ด้วยอาการละมุนละไม ในที่นี้เดี๋ยวนี้ ก็หายวับไป เป็นเทวดาหรือมนุษย์.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เหล่าชนผู้ไม่รู้อย่างนี้ เพื่อประโยชน์อะไร.
               ตอบว่า เพื่อต้องการจะอบรม.
               จริงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ธรรมที่แม้เขาฟังแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยในอนาคตทีเดียว เพราะเหตุนั้น ทรงมุ่งถึงอนาคตจึงทรงแสดง.
               พึงทราบเหตุเกิดแห่งบริษัททั้งหลายมีพราหมณ์บริษัทหลายร้อยเป็นต้น โดยอำนาจโสณทัณฑสมาคมและกูฏทันตสมาคมเป็นต้น และด้วยอำนาจจักรวาลอื่น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำบริษัท ๘ นี้มาเพื่ออะไร?
               เพื่อแสดงความเป็นผู้ไม่กลัว.
               ได้ยินว่า พระองค์นำบริษัทเหล่านี้มาตรัสอย่างนี้ว่า อานนท์ ความกลัวหรือความกล้า ไม่มีแก่ตถาคตผู้เข้าไปหาบริษัท ๘ เหล่านี้แล้วแสดงธรรม แต่ใครเล่าควรจะให้เกิดความเข้าใจอย่างนี้ว่า ตถาคตเห็นมารแต่ละตนแล้วพึงกลัว อานนท์ ตถาคตไม่กลัว ไม่หวาด มีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร ดังนี้.

               อฏฺฐอภิภายตนวณฺณนา               
               บทว่า อภิภายตนานิ แปลว่า เหตุครอบงำ.
               ครอบงำอะไร?
               ครอบงำธรรมที่เป็นข้าศึกบ้าง อารมณ์บ้าง.
               ความจริง เหตุเหล่านั้นย่อมครอบงำธรรมที่เป็นข้าศึก เพราะภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ครอบอารมณ์ เพราะเป็นบุคคลที่ยิ่งด้วยญาณ.
               ก็ในคำว่า อชฺฌตฺตํ รูปสญฺญี ดังนี้เป็นต้น บุคคลชื่อว่ามีสัญญาในรูปภายในด้วยอำนาจบริกรรมในรูปภายใน.
               จริงอยู่ บุคคลเมื่อกระทำบริกรรมนีลกสิณในรูปภายใน ย่อมกระทำที่ผม ที่ดีหรือที่ดวงตา. เมื่อกระทำบริกรรมในปีตกสิณ ย่อมกระทำที่มันข้น ที่ผิว ที่หลังมือ หลังเท้า หรือที่สีเหลืองของดวงตา. เมื่อกระทำบริกรรมในโลหิตกสิณ กระทำที่เนื้อ เลือด ลิ้น หรือที่สีแดงของดวงตา. เมื่อกระทำบริกรรมในโอทาตกสิณ ย่อมกระทำที่กระดูก ฟัน เล็บ หรือที่สีขาวของดวงตา แต่บริกรรมนั้น เขียวดี เหลืองดี แดงดี ขาวดี ก็หาไม่ ยังไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น.
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า บริกรรมนั้นของบุคคลใด เกิดขึ้นภายใน แต่นิมิตเกิดในภายนอก. บุคคลนั้นมีความสำคัญว่ารูปในภายในด้วยอำนาจบริกรรมในภายในและอัปปนาในภายนอกอย่างนี้ เรียกว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ผู้เดียวเห็นรูปภายนอก.
               บทว่า ปริตฺตานิ ได้แก่ ไม่เติบโต.
               บทว่า สุวณฺณทุพฺพณฺณานิ แปลว่า มีวรรณะดีหรือวรรณะทราม.
               อภิภายตนะนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจปริตตารมณ์.
               บทว่า ตานิ อภิภุยฺย ความว่า คนมีท้องไส้ดีได้ข้าวเพียงทัพพีเดียวจึงมาคิดว่า จะพอกินหรือกระทำเป็นคำเดียว ฉันใด บุคคลผู้ยิ่งด้วยญาณมีญาณกล้า คิดว่าจะพึงเข้าสมาบัติในอารมณ์เล็กน้อยเท่านี้จะพอหรือ. นี้ไม่หนักสำหรับเรา แล้วครอบงำรูปเหล่านั้นเข้าสมาบัติ.
               อธิบายว่า ย่อมให้ถึงอัปปนาในอภิภายตนะนั้น พร้อมกับทำนิมิตให้เกิดขึ้นทีเดียว.
               ก็ด้วยบทว่า ชานามิ ปสฺสามิ นี้ ท่านกล่าวถึงความคำนึงแห่งบุคคลนั้น. ก็แล เมื่อออกจากสมาบัติ ความคำนึงนั้นก็ไม่มีภายในสมาบัติ. บทว่า เอวํสญฺญี โหติ ความว่า มีสัญญาอย่างนี้ ด้วยสัญญาในความคำนึงบ้าง ด้วยสัญญาในฌานบ้าง. จริงอยู่ สัญญาเป็นเครื่องครอบงำย่อมมีแก่บุคคลนั้น แม้ภายในสมาบัติ. ส่วนสัญญาในความคำนึง ย่อมมีเมื่อออกจากสมาบัติเท่านั้น.
               บทว่า อปฺปมาณานิ ความว่า มีประมาณที่เจริญแล้ว คือใหญ่.
               ส่วนในบทว่า อภิภุยฺย นี้ เปรียบเหมือนบุรุษกินจุได้ข้าวพูนชาม ก็ยังคิดว่า ของอย่างอื่นจงยกไว้ ข้าวนี้จักพอแก่เราหรือไม่ ไม่เห็นข้าวนั้นว่ามากฉันใด บุคคลผู้ยิ่งด้วยญาณ มีญาณแก่กล้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน คิดว่า จะเข้าฌานในอารมณ์นี้ได้หรือ อารมณ์นี้ไม่มีประมาณก็หาไม่ จึงครอบงำอารมณ์เหล่านั้น เข้าฌานด้วยคิดว่า ในการกระทำเอกัคคตาจิตไม่หนักแก่เราเลย. อธิบายว่า ให้ถึงอัปปนาในอารมณ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาทนั่นแล.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ รูปสญฺญี ความว่า เว้นจากบริกรรมสัญญาในรูปภายใน เพราะยังไม่ได้ หรือเพราะไม่ต้องการ. บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า ทั้งบริกรรมทั้งนิมิตของผู้ใดเกิดขึ้นในภายนอกอย่างเดียว ผู้นั้นมีความสำคัญว่าอรูปในภายใน ด้วยอำนาจบริกรรมและอัปปนา ในภายนอกอย่างนี้เรียกว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ผู้เดียวเห็นรูปในภายนอก.
               ข้อที่เหลือในคำนั้นมีนัยกล่าวแล้ว ในอภิภายตนะที่ ๔ ทั้งนั้น.
               ก็ในอภิภายตนะ ๔ เหล่านี้ ปริตตอภิภายตนะมาด้วยอำนาจวิตกจวิต อัปปมาณอภิภานะมาด้วยอำนาจโมหจริต สุวรรณอภิภานะมาด้วยอำนาจโทสจริต ทุพพรรณอภิภานะมาด้วยอำนาจราคจริต.
               จริงอยู่ อภิภายตนะเหล่านี้เป็นสัปปายะของผู้มีจริตเหล่านี้. แม้ความที่อภิภานะเป็นสัปปายะนั้น กล่าวไว้พิสดารแล้วในจริตนิเทส ในวิสุทธิมรรค.
               พึงทราบวินัยในอภิภายตนะที่ ๕ เป็นต้นดังต่อไปนี้
               บทว่า นีลานิ ท่านกล่าวไว้โดยรวมทั้งหมด. บทว่า นีลวณฺณานิ ท่านกล่าวโดยวรรณะ. บทว่า นีลนิทสฺสนานิ ท่านกล่าวโดยตัวอย่าง ท่านอธิบายว่า วรรณะที่ไม่เจือกัน ที่ไม่ปรากฏช่องว่าง ปรากฏว่ามีสีเขียวเป็นอันเดียวกัน.
               ส่วนคำว่า นีลนิภาสานิ นี้ ท่านกล่าวไว้โดยอำนาจโอภาส. อธิบายว่า มีแสงสีเขียว คือประกอบด้วยรัศมีเขียว. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงความที่วรรณะเหล่านั้นบริสุทธิ์. จริงอยู่ ท่านกล่าวว่าอภิภายตนะ ๔ เหล่านี้ไว้โดยวรรณบริสุทธิ์เท่านั้น.
               บทว่า อุมฺมารปุปฺผํ ความว่า จริงอยู่ ดอกไม้นี้สนิทอ่อนนุ่ม แม้ที่เห็นๆ กันอยู่ ก็สีเขียวทั้งนั้น ส่วนดอกกัณณิกาเขาเป็นต้นที่เห็นๆ กันอยู่ ก็ขาว เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเอาดอกผักตบนี้เท่านั้น ดอกกัณณิกาเขา ท่านหาถือเอาไม่.
               บทว่า พาราณเสยฺยกํ แปลว่า ที่เกิดในกรุงพาราณสี
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสีนั้น ทั้งฝ้ายก็อ่อน ทั้งคนกรอด้าย ทั้งช่างทอก็ฉลาด. แม้นํ้าก็สะอาดสนิท เพราะฉะนั้น ผ้านั้นจึงเกลี้ยงทั้งสองข้าง คือในข้างทั้งสอง ก็เกลี้ยงปรากฏว่าอ่อนสนิท.
               แม้ในคำว่า ปิตานิ เป็นต้น ก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้แล. เมื่อจะกำหนดนีลกสิณ ย่อมกำหนดนิมิตในสีเขียว. ก็การกระทำกสิณก็ดี การบริกรรมก็ดี อัปปนาวิธีก็ดี ในที่นี้มีอาทิว่า ปุปฺผสฺมึ วา วตฺถสฺมึ วา วณฺณธาตุยา วา ทั้งหมดมีนัยที่กล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในวิสุทธิวรรค.
               อภิภายตนะ ๘ เหล่านี้ ท่านนำมาก็เพื่อแสดงความเป็นผู้ไม่กลัว.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอภิภายตนะแม้เหล่านี้ แล้วจึงตรัสอย่างนี้ว่า อานนท์ ความกลัว หรือความกล้าไม่มีแก่ตถาคตผู้กำลังเข้าสมาบัติแม้เหล่านี้ และกำลังออก ใครเล่าควรจะเกิดความเข้าใจอย่างนี้ว่า ตถาคตเห็นมารผู้เดียวพึงกลัว อานนท์ ตถาคตไม่กลัว ไม่ขลาด มีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร.

               อฏฺฐวิโมกฺขวณฺณนา               
               กถาว่าด้วยเรื่องวิโมกข์ มีความง่ายทั้งนั้น.
               วิโมกข์ ๘ เหล่านี้ ท่านนำมาเพื่อความเป็นผู้ไม่กลัวเหมือนกัน.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสวิโมกข์แม้เหล่านี้แล้ว จึงตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ความกลัวหรือความกล้าไม่มีแก่ตถาคตผู้กำลังเข้าสมาบัติแม้เหล่านี้ และกำลังออก ฯลฯ ปลงอายุสังขาร. แม้บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ประทานโอกาสแก่พระอานนท์เถระเลย ทรงเริ่มเทศนาแม้อย่างอื่นอีก โดยนัยมีว่า เอกมิทาหํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ได้แก่ เป็นผู้ตรัสรู้ครั้งแรกทีเดียว คือในสัปดาห์ที่ ๘.
               บทว่า โอสฺสฎฺโฐ แปลว่า ปล่อยสละ.
               ได้ยินว่า ครั้นกล่าวอย่างนี้ จึงกล่าวว่า เพราะเหตุนั้น หมื่นโลกธาตุจึงไหว.

               อานนฺทยาจนกถาวณฺณนา               
               คำว่า อลํ นี้ เป็นคำปฏิเสธ. บทว่า โพธึ ได้แก่แทงตลอดด้วยมรรคญาณ ๔.
               ด้วยบทว่า สทฺทหสิ ตฺวํ ท่านกล่าวว่า เธอเชื่อว่า ตถาคตกล่าวอย่างนี้ไหม.
               ด้วยบทว่า ตสฺมาติหานนฺท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เพราะเหตุที่เธอเชื่อคำนี้ ฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นการทำไม่ดีของเธอเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าเริ่มคำว่า เอกมิทาหํ เป็นต้น เพื่อจะยกโทษของพระเถระแต่ผู้เดียวโดยประการต่างๆ เพื่อจะบรรเทาความโศกอย่างนี้ว่า เรามิได้เรียกเธอมาในที่นี้อย่างเดียวเท่านั้นดอก. แม้ในเวลาอื่นๆ เราก็เรียกมาทำนิมิตอย่างหยาบ เธอก็มิได้ล่วงรู้นิมิตแม้นั้น อันนี้ก็เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว.
               บทว่า ปิเยหิ มนาเปหิ ความเป็นต่างๆ โดยชาติ ความละเว้นเพราะมรณะ ความเป็นอย่างอื่นเพราะภพ (พลัดพราก) จากมารดา บิดา พี่ชาย พี่หญิงเป็นต้น.
               คำว่า ตํ ในคำว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา แปลว่า เพราะฉะนั้น. อธิบายว่า เพราะจะต้องพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักที่พอใจทั้งสิ้นแล ฉะนั้น ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๑๐ ก็ดี บรรลุสัมโพธิญาณก็ดี ประกาศธรรมจักรก็ดี แสดงยมกปาฏิหาริย์ก็ดี ลงจากเทวโลกก็ดี สรีระนั้นใดที่เกิดแล้วเป็นแล้ว ถูกปรุงแต่งแล้วมีความสลายไปเป็นธรรมดา ขอสรีระแม้แห่งพระตถาคตนั้นอย่าสลายไปเลยหนอ. นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ทั้งผู้ร้องไห้ทั้งผู้ครํ่าครวญก็สามารถจะได้ฐานะอันนั้น.
               บทว่า ปุน ปจฺจาคมิสฺสติ ความว่า สิ่งที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว สิ่งนั้นก็จักกลับปรากฏอีกไม่ได้ดอก.
               บทว่า ยถยิทํ พฺรหฺมจริยํ แปลว่า คือ สาสนพรหมจรรย์ที่สงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓.
               บทว่า อทฺธนียํ แปลว่า ทนอยู่นาน.
               บทว่า จิรฎฺฐิติกํ ได้แก่ ตั้งอยู่นานด้วยอำนาจเป็นนาน.
               บทว่า จตฺตาโร สติปฎฺฐานา เป็นอาทิ ทั้งหมด ท่านกล่าวโดยเป็นโลกิยะและโลกุตตระ.
               ส่วนการวินิจฉัยในโพธิปักขิยธรรมเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส ในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวง.
               คำที่เหลือในที่นี้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบกถาพรรณนาตติยภาณวาร               

               นาคาปโลกิตวณฺณนา               
               บทว่า นาคาวโลกิตํ ความว่า เหมือนอย่างว่า กระดูกของมหาชนเอาปลายจดปลายตั้งอยู่ เหมือนอัฏฐิของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เกี่ยวกัน เหมือนขอช้างฉันใด อัฏฐิของพระพุทธเจ้าหาเหมือนฉันนั้นไม่. ด้วยว่า อัฏฐิของพระพุทธเจ้าติดเป็นอันเดียวกัน เหมือนแท่งทองคำ เพราะฉะนั้น ในเวลาเหลียวหลัง จึงไม่สามารถเอี้ยวพระศอได้.
               ก็พระยาช้างประสงค์จะเหลียวดูข้างหลังต้องเอี้ยวไปทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ต้องทรงเอี้ยวพระวรกายไปฉันนั้น.
               แต่พอพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่ประตูพระนคร ก็ทรงเกิดความคิดว่าจะทอดทัศนากรุงเวสาลี แผ่นมหาปฐพีนี้เหมือนจะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาหลายแสนโกฏิกัป มิได้ทรงกระทำ คือเอี้ยวพระศอแลดู จึงเปรียบเหมือนล้อดิน กระทำพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บ่ายพระพักตร์มุ่งไปทางกรุงเวสาลี.
               ท่านหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า นาคาวโลกิตํ นี้.
               ถามว่า การทอดทัศนากรุงเวสาลี มิใช่เป็นปัจฉิมทัศนะอย่างเดียว การทอดทัศนาแม้ในกรุงสาวัตถี กรุงราชคฤห์ เมืองนาลันทา บ้านปาฏลิคาม โกฏิคามและนาทิกคาม เวลาเสด็จออกจากที่นั้นๆ ทั้งหมดนั้น ก็เป็นปัจฉิมทัศนะทั้งนั้นมิใช่หรือ เหตุไรในที่นั้นๆ จึงไม่เป็นการทอดทัศนาเป็นนาคาวโลก (คือเป็นปัจฉิมทัศนะ).
               ตอบว่า เพราะไม่เป็นอัศจรรย์.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมาเหลียวดูในที่นั้น ข้อนั้นไม่น่าอัศจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ชื่อว่าทรงเอี้ยวพระวรกายแลดู.
               อนึ่ง เหล่าเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลีใกล้พินาศ จักพินาศไปใน ๓ ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจึงสร้างเจดีย์ชื่อว่านาคาปโลกิตเจดีย์ ใกล้ประตูพระนคร จักบูชาเจดีย์นั้นด้วยสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ข้อนั้นก็จะมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น จึงเอี้ยวพระวรกายแลดูเพื่ออนุเคราะห์เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น.
               บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตกโร ได้แก่ กระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์.
               บทว่า จกฺขุมา ได้แก่ ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต ได้แก่ ปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพาน.

               มหาปเทสวณฺณนา               
               บทว่า มหาปเทเส ได้แก่ในโอกาสใหญ่ หรือในข้ออ้างใหญ่. อธิบายว่า เหตุใหญ่ที่ท่านกล่าวอ้างผู้ใหญ่ เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า อนภินนฺทิตพฺพํ คือ อันผู้ร่าเริงยินดีให้สาธุการควรฟังก่อนหามิได้. จริงอยู่ เมื่อกระทำอยู่อย่างนี้ แม้ภายหลังถูกต่อว่า ว่าข้อนี้ไม่เหมาะสม ก็โต้ตอบได้ว่า เมื่อก่อนข้อนี้เป็นธรรมเดี๋ยวนี้ไม่เป็นธรรมหรือ ชื่อว่าไม่สละลัทธิ.
               บทว่า น ปฏิกฺโกสิตพฺพํ ความว่า ไม่พึงกล่าวก่อนอย่างนี้ว่า คนพาลผู้นี้พูดอะไร. ก็เมื่อถูกต่อว่า จักไม่พูดแม้แต่คำที่ควรจะพูด. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนภินนฺทิตฺวา อปฏิกฺโกสิตฺวา.
               บทว่า ปทพฺยญฺชนานิ ได้แก่ พยัญชนะ กล่าวคือบท.
               บทว่า สาธุกํ อุคฺคเหตฺวา ได้แก่ ถือเอาด้วยดีว่า ท่านกล่าวบาลีไว้ในที่นี้ กล่าวความไว้ในที่นี้ กล่าวเบื้องต้นและเบื้องปลายไว้ในที่นี้.
               บทว่า สุตฺเต โอตาเรตพฺพานิ ได้แก่ พึงสอบสวนในพระสูตร.
               บทว่า วินเย สนฺทสฺเสตพฺพานิ ได้แก่ เทียบเคียงในพระวินัย.
               ก็ในที่นี้ ที่ชื่อว่าสูตร ได้แก่วินัย.
               เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ว่า ห้ามไว้ในที่ไหน ห้ามไว้ในเมืองสาวัตถี ห้ามไว้ในสุตวิภังค์๑- (สุต ในที่นี้หมายถึงวินัย). ที่ชื่อวินัย ได้แก่ขันธกะ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า โกสมฺพิยํ วินยาติสาเร ในเรื่องละเมิดพระวินัย (วินัย ในที่นี้หมายถึงขันธกะ) ในเมืองโกสัมพี. เมื่อเป็นเช่นนี้ ชื่อว่าไม่ยึดถือวินัยปิฏก. ชื่อว่ายึดถือพระวินัยอย่างนี้ คือ อุภโตวิภังค์ชื่อว่าสูตร ขันธกปริวารชื่อว่าวินัย. อีกนัยหนึ่ง ยึดถือปิฎกทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ สุตตันปิฏกชื่อว่าพระสูตร วินัยปิฏกชื่อว่าวินัย. อีกอย่างหนึ่ง ก่อนอื่น ไม่ยึดถือปิฏกทั้ง ๓ แม้อย่างนี้ สุตตันตปิฏก อภิธัมมปิฏก ชื่อว่าสูตร วินัยปิฏก ชื่อว่าวินัย. ธรรมดาพุทธพจน์ไรๆ ที่ชื่อว่าไม่ใช่สูตร ก็มีอยู่ คือ ชาดก ปฏิสัมภิทา นิทเทส สุตตนิบาต ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา อปทาน.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๕๒

               ก็พระสุทินนเถระคัดค้านคำนี้ทั้งหมดว่า พระพุทธวจนะ ชื่อว่าไม่ใช่สูตรมีอยู่หรือดังนี้ แล้วกล่าวว่า ปิฏก ๓ ชื่อว่าสูตร ส่วนวินัยชื่อว่าเหตุ. แต่นั้น เมื่อจะแสดงเหตุนั้น จึงนำสูตรนี้มาอ้างว่า
               ดูก่อนโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่านั้นอันใดว่า
               ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อมีราคะ ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากราคะ
                         เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากทุกข์
                         เป็นไปเพื่อมีอุปาทาน ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากอุปาทาน
                         เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย
                         เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
                         เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
                         เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
                         เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากความสะสม.
               เธอพึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา.
               ดูก่อนโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่านั้นอันใดว่า
               ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อปราศจากราคะ ไม่เป็นไปเพื่อราคะ
                         เป็นไปเพื่อปราศจากความประกอบทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์
                         เป็นไปเพื่อปราศจากอุปาทาน ไม่เป็นไปเพื่อมีอุปาทาน
                         เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก
                         เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
                         เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
                         เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่
                         เป็นไปเพื่อปราศจากความสะสม ไม่เป็นไปเพื่อความสะสม
               เธอพึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา.๒-
____________________________
๒- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๕๒๓; องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๔๓

               เพราะฉะนั้น พึงสอบสวนในพระไตรปิฏก พุทธวจนะ ที่ชื่อว่าสูตร พึงเทียบเคียงในเหตุ คือวินัยมีราคะเป็นต้น ที่ชื่อว่าวินัย ความในข้อนี้มีดังกล่าวมาฉะนี้.
               บทว่า น เจว สุตฺเต โอตรนฺติ ความว่า บทพยัญชนะเหล่านั้นไม่มา ในที่ไหนๆ ตามลำดับสูตร ยกแต่สะเก็ดมาจากคุฬหเวสสันตระ คุฬหอุมมัคคะ คุฬหวินัย เวทัลละและปิฏก ปรากฏอยู่. จริงอยู่ บทพยัญชนะที่มาอย่างนี้ แต่ไม่ปรากฏในการกำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น ก็พึงทิ้งเสีย. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น เธอพึงทิ้งข้อนั้นเสีย. พึงทราบความในที่ทุกแห่งด้วยอุบายนี้.
               คำว่า อิทํ ภิกฺขเว จตุตฺถํ มหาปเทสํ ธาเรยฺยาถ ความว่า เธอพึงทรงจำโอกาสเป็นที่ประดิษฐานแห่งธรรมข้อที่ ๔ นี้ไว้.
               ก็ในที่นี้ พึงทราบปกิณณกะดังนี้ว่า ในพระสูตรมีมหาประเทศ ๔ ในขันธกะมีมหาประเทศ ๔ ปัญหาพยากรณ์ ๔ สุตตะ ๑ สุตตานุโลม ๑ อาจาริยวาท ๑ อัตตโนมติ ๑ สังคีติ ๓.
               ในปกิณณกะเหล่านั้น เมื่อถึงการวินิจฉัยธรรมว่า นี้ธรรม นี้วินัย มหาประเทศ ๔ เหล่านี้ถือเอาเป็นประมาณ ข้อใดสมในมหาประเทศ ๔ เหล่านี้ ข้อนั้นควรถือเอา ข้อนอกนี้แม้ของผู้ถือผิด ก็ไม่ควรถือเอา.
               เมื่อถึงการวินิจฉัยข้อที่ควรและไม่ควรว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร มหาประเทศ ๔ ที่ตรัสไว้ในขันธกะโดยนัยว่าภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากว่าสิ่งนั้นเข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกันกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย๓- ดังนี้เป็นต้น ถือเอาเป็นประมาณ.
               กถาวินิจฉัยมหาประเทศเหล่านั้นกล่าวไว้ ในอรรถกถาพระวินัยชื่อว่าสมันตปาสาทิกา โดยนัยที่กล่าวไว้ในที่นั้น พึงทำสันนิษฐานอย่างนี้ว่า สิ่งใดที่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นควร นอกนั้นไม่ควร.
____________________________
๓- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๙๒

               เอกังสพยากรณียปัญหา ๑ วิภัชชพยากรณียปัญหา ๑ ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ๑ ฐปนียปัญหา ๑ เหล่านี้ชื่อว่า ปัญหาพยากรณ์ ๔.
               ในปัญหาพยากรณ์ ๔ นั้น ถูกถามว่า จักษุไม่เที่ยงหรือ. พึงพยากรณ์ก่อนโดยส่วนเดียวว่าไม่เที่ยงขอรับ. ในโสตะเป็นต้นก็มีนัยนี้. นี้ชื่อว่าเอกังสกรณียปัญหา.
               ถูกถามว่า จักษุหรือชื่อว่าไม่เที่ยง. พึงแจกแล้วพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไม่ใช่จักษุเท่านั้น แม้แต่โสตะก็ไม่เที่ยง แม้ฆานะก็ไม่เที่ยง. นี้ชื่อว่าวิภัชชพยากรณียปัญหา.
               ถูกถามว่า จักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้นเป็นต้น. จึงย้อนถามว่า ท่านถามด้วยอรรถว่าอะไร เมื่อเขาตอบว่า ถามด้วยอรรถว่าเห็น จึงพยากรณ์ว่าไม่ใช่. เมื่อเขาตอบว่า ถามด้วยอรรถว่าไม่เที่ยง จึงพยากรณ์ว่าใช่. นี้ชื่อว่าปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา.
               แต่ถูกถามว่า นั้นก็ชีวะ นั้นก็สรีระ เป็นต้น พึงหยุดเสียด้วยกล่าวว่า ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พยากรณ์. ปัญหานี้ไม่พึงพยากรณ์. นี้ชื่อว่าปฐนียปัญหา.
               ดังนั้น เมื่อปัญหามาถึงโดยอาการนั้น ปัญหาพยากรณ์ ๔ เหล่านี้ ถือเอาเป็นประมาณได้. พึงพยากรณ์ปัญหานั้นด้วยอำนาจปัญหาพยากรณ์ ๔ นี้.
               ก็ปิฏก ๓ ที่ยกขึ้นสู่สังคีติ ๓ ชื่อว่าสุตตะ ในปกิณณกะมีสุตตะเป็นต้น. ข้อที่เข้ากันได้กับกัปปิยะ ชื่อว่าสุตตานุโลม. อรรถกถา ชื่อว่าอาจริยวาท. ปฏิภาณของตน ตามความคาดหมายตามความรู้ ชื่อว่าอัตตโนมัติ.
               ในปกิณณกะเหล่านั้น สุตตะ ใครๆ คัดค้านไม่ได้ เมื่อคัดค้านสุตตะนั้น ก็เท่ากับคัดค้านพระพุทธเจ้าด้วย. ส่วนข้อที่เข้ากันได้กับกัปปิยะ ควรถือเอาเฉพาะข้อที่สมกับสุตตะเท่านั้น นอกนั้นไม่ควรถือเอา. แม้อาจริยวาทเล่า ก็ควรถือเอาแต่ที่สมกับสุตตะเท่านั้น นอกนั้นไม่ควรถือเอา. ส่วนอัตตโนมัติเพลากว่าเขาทั้งหมด. แม้อัตตโนมัตินั้นก็ควรถือเอาแต่ที่สมกับสุตตะเท่านั้น นอกนั้นไม่ควรถือเอา.
               ก็สังคีติมี ๓ เหล่านี้คือ ปัญจสติกสังคีติ (สังคายนาครั้งที่ ๑) สัตตสติกสังคีติ (ครั้งที่ ๒) สหัสสิกสังคีติ (ครั้งที่ ๓). แม้สุตตะเฉพาะที่มาในสังคีติ ๓ นั้น ควรถือเอาเป็นประมาณ. นอกนั้นเป็นที่ท่านตำหนิ ไม่ควรถือเอา.
               จริงอยู่ บทพยัญชนะแม้ที่ลงกันได้ในสุตตะนั้น พึงทราบว่าลงกันไม่ได้ในพระสูตรและเทียบกันไม่ได้ในพระวินัย.

               กมฺมารปุตฺตจุนฺทวตฺถุวณฺณนา               
               บทว่า กมฺมารปุตฺตสฺส ได้แก่ บุตรของนายช่างทอง.
               เล่ากันมาว่า บุตรของนายช่างทองนั้นเป็นกุฏุมพีใหญ่ผู้มั่งคั่ง เป็นโสดาบัน เพราะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้งแรกเท่านั้น ก็สร้างวัดในสวนมะม่วงของตนมอบถวาย. ท่านหมายเอาสวนมะม่วงนั้น จึงกล่าวว่า อมฺพวเน.
               บทว่า สูกรมทฺทวํ ได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ไม่หนุ่มนัก ไม่แก่นัก. นัยว่า ปวัตตมังสะนั้นนุ่มสนิท. อธิบายว่า ให้จัดปวัตตมังสะนั้น ทำให้สุกอย่างดี.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ก็คำว่า สูกรมัททวะ นี้เป็นชื่อของข้าวสุกอ่อน ที่จัดปรุงด้วยปัญจโครส (ขีร นมสด ทธิ นมส้ม ฆตํ เนยใส ตกฺกํ เปรียง และโนนีตํ เนยแข็ง) และถั่ว เหมือนของสุก ชื่อว่าควปานะ ขนมผสมน้ำนมโค.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า วิธีปรุงรส ชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็สูกรมัททวะนั้นมาในรสายนศาสตร์.
               สูกรมัททวะนั้น นายจุนทะตบแต่งตามรสายนวิธี ด้วยประสงค์ว่าการปรินิพพานจะยังไม่พึงมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่เหล่าเทวดาในมหาทวีปทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร ใส่โอชะลงในสูกรมัททวะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันลือสีหนาทนี้ว่า นาหนฺตํ เพื่ออะไร.
               เพื่อทรงเปลื้องคำว่าร้ายของคนอื่น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับคำของพวกที่ต้องการจะกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานสูกรมัททวะที่พระองค์เสวยเหลือ ทั้งแก่ภิกษุ ทั้งแก่ผู้คนทั้งหลาย โปรดให้ฝังเสียในหลุม ทำให้เสียหายดังนี้ จึงทรงบันลือสีหนาท เพื่อเปลื้องคำว่าร้ายของชนเหล่าอื่น ด้วยพระประสงค์ว่า จักไม่มีโอกาสกล่าวร้ายได้.
               บทว่า ภุตฺตสฺส สูกรมทฺทเวน ความว่า ความอาพาธอย่างแรงกล้าเกิดขึ้นแก่พระองค์ผู้เสวย แต่ไม่ใช่เกิดเพราะสูกรมัททวะที่เสวยเป็นปัจจัย.
               ก็ผิว่า พระองค์ไม่เสวยก็จักเกิดอาพาธได้ และเป็นอาพาธอันแรงกล้าเสียด้วย. แต่เพราะเสวยโภชนะอันสนิท พระองค์จึงมีทุกขเวทนาเบาบาง. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินไปได้.
               บทว่า วิเรจมาโน ได้แก่ พระองค์ทรงออกพระโลหิตอยู่เนืองๆ.
               ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า อโวจ ก็เพื่อประโยชน์แก่ปรินิพพานในสถานที่ที่พระองค์มีพระพุทธประสงค์.
               พึงทราบความว่า ก็พระธรรมสังคาหกเถระตั้งคาถาเหล่านี้ไว้.

               ปานียาหรณวณฺณนา               
               ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าตักเตือน.
               บทว่า อจฺโฉทกา แปลว่า มีน้ำใส.
               บทว่า สาโตทกา แปลว่า มีน้ำอร่อย.
               บทว่า สีโตทกา แปลว่า น้ำเย็นสนิท.
               บทว่า เสโตทกา แปลว่า ปราศจากเปือกตม.
               บทว่า สุปติฎฺฐา แปลว่า มีท่าดี.

               กุสินาราคมนวณฺณนา               
               บทว่า ปุกฺกุโส เป็นชื่อของบุตรเจ้ามัลละนั้น.
               บทว่า มลฺลปุตฺโต แปลว่า บุตรของเจ้ามัลละ.
               ได้ยินว่า พวกเจ้ามัลละผลัดเปลี่ยนกันครองราชสมบัติ. ตราบใดวาระของเจ้ามัลละเหล่าใดยังไม่มาถึง ตราบนั้นเจ้ามัลละเหล่านั้นก็กระทำการค้าขายไป. เจ้าปุกกุสะแม้นี้ก็ทำการค้าขายอยู่นั่นแล จัดเกวียน ๕๐๐ เล่ม เมื่อลมพัดมาข้างหน้าก็ไปข้างหน้า เมื่อลมพัดมาข้างหลังก็ส่งหมู่เกวียนไปข้างหน้า ตนเองไปข้างหลัง.
               ในคราวนั้น ลมพัดไปข้างหลัง เพราะฉะนั้น เขาจึงส่งหมู่เกวียนไปข้างหน้า นั่งบนยานบรรทุกรัตนะทั้งหมดออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไปหมายจะไปเมืองปาวา. ด้วยเหตุนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เดินทางไกลจากเมืองกุสินาราสู่เมืองปาวา.
               บทว่า อาฬาโร เป็นชื่อของดาบสนั้น.
               ได้ยินว่า ดาบสนั้นมีร่างสูงและเหลือง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงมีชื่อว่าอาฬาระ.
               คำว่า กาลาโม ได้แก่ โคตร.
               คำว่า ยตฺร หิ นาม เท่ากับ โยหิ นาม.
               บทว่า เนว ทกฺขติ แปลว่า ไม่เห็น.
               แต่ท่านกล่าวคำนี้ไว้เป็นอนาคตกาล เพราะประกอบกับ ยตฺร ศัพท์.
               จริงอยู่ คำเห็นปานนี้ เป็นลักษณะศัพท์ในฐานะเช่นนี้.
               บทว่า นิจฺฉรนฺตีสุ แปลว่า ร่ำร้อง.
               บทว่า อสนิยา ผลนฺติยา ได้แก่ ร้องไห้โฮใหญ่ เหมือนฟ้าผ่าแยกออก ๙ สาย.
               ความจริง ฟ้าผ่ามี ๙ สาย คือ อสัญญา วิจักกา สเตรา คัคครา กปิสีสา มัจฉวิโลลิกา กุกกุฎกา ทัณฑมณิกา และสุกขาสนิ.
               บรรดาฟ้าผ่า ๙ นั้น ฟ้าผ่าที่ชื่อว่าอสัญญา กระทำโดยไม่หมายรู้. ที่ชื่อว่าวิจักกา กระทำล้ออันเดียว. ที่ชื่อว่าสเตรา ตกไปเช่นกับใบเรือ. ที่ชื่อว่าคัคครา ออกเสียงดุจไม้ค้อนตกไป. ที่ชื่อว่ากปิสีสา เป็นเหมือนลิงยักคิ้ว. ที่ชื่อว่ามัจฉวิโลลิกา เป็นเหมือนปลาน้ำตาไหล. ที่ชื่อกุกกุฏกา ตกเหมือนไก่. ที่ชื่อว่าทัณฑมณิกา ตกเช่นกับหางไถ. ที่ชื่อว่าสุกขาสนิ เพิกสถานที่ที่ตกขึ้น (ผ่าขึ้น).
               บทว่า เทเว วสฺสนฺเต ได้แก่ คำรามกระหึมแห้งๆ เมื่อฝนตกเป็นระยะๆ.
               บทว่า อาตุมายํ ความว่า ได้อาศัยเมืองอาตุมาอยู่. บทว่า ภูสาคาเร ได้แก่ โรงลานข้าว. บทว่า เอตฺถ โส ได้แก่ หมู่มหาชนที่ชุมนุมกัน เพราะเหตุนี้.
               บทว่า กฺว อโหสิ เป็น กุหึ อโหสิ. บทว่า โส ตํ ภนฺเต เป็น โส ตฺวํ ภนฺเต.
               บทว่า สิงฺคิวณฺณํ ได้แก่ มีเหมือนทองสิงคี. บทว่า ยุคมฎฺฐํ แปลว่า เกลี้ยงทั้งคู่. อธิบายว่า คู่ผ้าเนื้อละเอียด.
               บทว่า ธารณียํ ได้แก่ พึงทรงไว้. อธิบายว่า พึงห่มเป็นระยะๆ. เจ้าปุกกุสะนั้นใช้เฉพาะในวันมหรสพเห็นปานนั้นเท่านั้น ในเวลาอื่นก็ทิ้งไป. ท่านหมายเอาคู่ผ้ามงคลสูงสุด จึงกล่าวไว้อย่างนี้.
               บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ได้แก่ อาศัยความเอ็นดูในเรา. บทว่า อจฺฉาเทหิ นี้เป็นคำละเมียดละไม. อธิบายว่า จงให้แก่เราหนึ่งผืน อานนท์หนึ่งผืน.
               ถามว่า ก็พระเถระรับผ้านั้นหรือ.
               ตอบว่า รับสิ. เพราะเหตุไร เพราะมีกิจถึงที่สุดแล้ว.
               ความจริง ท่านพระอานนท์นั้น ห้ามลาภเห็นปานนั้น ปฏิบัติหน้าที่อุปัฏฐากก็จริงอยู่ แต่หน้าที่อุปัฏฐากของท่านนั้นถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับ. ก็หรือว่า ชนเหล่าใดพึงพูดอย่างนี้ว่า พระอานนท์ที่จะไม่ยินดี ท่านอุปัฏฐากมาถึง ๒๕ ปี ไม่เคยได้อะไรจากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย. เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้รับเพื่อตัดโอกาสของชนเหล่านั้น. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบว่า อานนท์แม้รับก็จักไม่ใช้ด้วยตนเอง คงจักบูชาเราเท่านั้น แต่บุตรของเจ้ามัลละ เมื่อบูชาอานนท์ ก็จักเท่ากับบูชาพระสงฆ์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ กองบุญใหญ่ก็จักมีแก่บุตรเจ้ามัลละนั้น เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ถวายพระเถระผืนหนึ่ง. ฝ่ายพระเถระจึงได้รับ เพราะเหตุนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย ได้แก่ กถากล่าวอนุโมทนาวัตถุทาน.
               บทว่า ภควโต กายํ อุปนามิตํ ได้แก่ คล้องไว้โดยทำนองนุ่งห่ม. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่งจากคู่ผ้านั้น. บทว่า หตจฺจิกํ วิย ความว่า ถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ย่อมโชติช่วงข้างในๆ เท่านั้น แต่แสงแห่งถ่านเพลิงนั้นไม่มีข้างนอกฉันใด คู่ผ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรากฏว่าขาดแสงภายนอก.
               ถามว่า ในคำว่า อิเมสุ โข อานนฺท ทฺวีสุ กาเลสุ เหตุไร กายของพระตถาคตจึงบริสุทธิ์อย่างยิ่งอย่างนี้ในกาลทั้ง ๒ นี้.
               ตอบว่า เพราะความวิเศษแห่งอาหารอย่างหนึ่ง เพราะโสมนัสมีกำลังอย่างหนึ่ง. ในกาลทั้ง ๒ นี้ เหล่าเทวดาในสากลจักรวาฬ ใส่โอชะลงในอาหาร. ก็โภชนะนั้นตกถึงท้องก็ก่อปสันนรูป. อินทรีย์ที่มีใจเป็นที่ ๖ ก็รุ่งเรืองยิ่งนัก เพราะมีรูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานสดใส.
               ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ทรงระลึกว่า กองกิเลสที่เราสั่งสมมาหลายแสนโกฏิกัป วันนี้ เราละได้แล้วหนอ จึงเกิดโสมนัสมีกำลังขึ้น จิตก็ใส. เมื่อจิตใส โลหิตก็ใส. เมื่อโลหิตใส อินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖ ก็รุ่งเรืองอย่างยิ่ง.
               ในวันปรินิพพาน ทรงรำลึกว่า วันนี้เดี๋ยวนี้ เราจะเข้าไปสู่นครอมตมหาปรินิพพาน ที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์เข้าไปแล้ว ดังนี้ จึงเกิดโสมนัสมีกำลังขึ้น จิตก็ใส เมื่อจิตใส โลหิตก็ใส เมื่อโลหิตใส อินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖ ก็รุ่งเรืองอย่างยิ่ง.
               พึงทราบว่า พระวรกายของพระตถาคตบริสุทธิ์อย่างยิ่ง มีในกาลทั้ง ๒ นี้ ด้วยอาหารและโสมนัสมีกำลังด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุปวตฺตเน ได้แก่ ในสาลวันตรงโค้งด้านทิศตะวันออก.
               บทว่า อนฺตเร ยมกสาลานํ แปลว่า ระหว่างต้นสาละคู่.
               คาถาว่า สิงฺคิวณฺณํ เป็นต้น ท่านวางไว้ครั้งสังคายนา.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาว่า นฺหาตฺวา จ ปิวิตฺวา จ เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าลงสรงสนาน เต่าปลาภายในแม่น้ำ และแนวป่าริมฝั่งทั้ง ๒ ข้างทั้งหมด ก็มีสีเป็นทองทั้งนั้น.
               บทว่า อมฺพวนํ ได้แก่ สวนมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำนั้นนั่นแล.
               บทว่า อายสฺมนฺตํ จุนฺทกํ ความว่า ได้ยินว่า ในขณะนั้น พระอานนท์เถระบิดผ้าสรงน้ำเหลือไว้. พระจุนทะเถระก็อยู่ในที่ใกล้. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระจุนทะมาแล้ว.
               แม้คาถานี้ว่า คนฺตวาน พุทฺโธ นทิกํ กกุฏํ ท่านวางไว้ในคราวสังคีตินั่นเอง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวตฺตา ภควา อิธ ธมฺเม ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมในศาสนานี้. อธิบายว่า ทรงประกาศธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               บทว่า ปมุเข นิสีทิ ได้แก่ นั่งตรงพระพักตร์พระศาสดา. ก็ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระเถระมาถึงแล้ว. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ผู้มาถึงแล้วอย่างนี้.
               บทว่า เต อลาภา ได้แก่ ลาภกล่าว คืออานิสงส์ทานเป็นลาภของคนอื่น ไม่ใช่ลาภของเธอ. บทว่า ทุลฺลทฺธํ ได้แก่ การได้อัตตภาพเป็นมนุษย์แม้ด้วยบุญวิเศษ ก็จัดว่าหาได้ยาก.
               บทว่า ยสฺสเต เท่ากับ ยสฺส ตว ท่านใด. นอกจากข้าวสารหรือสิ่งเศร้าหมองอย่างยิ่ง ใครจะรู้ได้ พระตถาคตเสวยบิณฑบาตครั้งหลังแม้เช่นไร แล้วเสด็จปรินิพพาน ทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จักเป็นอันเธอให้แน่แท้.
               บทว่า ลาภา ได้แก่ เป็นลาภ คืออานิสงส์ในการให้ทานที่มีในปัจจุบันหรือเป็นไปในสัมปรายภพ. บทว่า สุลทฺธํ ได้แก่ การได้อัตตภาพเป็นมนุษย์ เป็นอันเธอได้มาดีแล้ว.
               บทว่า สมสมผลา แปลว่า มีผลเท่าๆ กันโดยอาการทั้งปวง.
               ถามว่า พระตถาคตสรรเสริญบิณฑบาตใด ที่นางสุชาดาถวายแล้วตรัสรู้ บิณฑบาตนั้นพระองค์เสวยในเวลาที่ยังมีราคะโทสะและโมหะ แต่บิณฑบาตนี้ที่นายจุนทะถวายแล้ว พระองค์เสวยในเวลาที่ปราศจากราคะโทสะโมหะ มิใช่หรือ แต่ไฉน บิณฑบาตทั้งสองนี้จึงมีผลเท่าๆ กัน.
               แก้ว่า เพราะเสมอกันโดยการปรินิพพาน เสมอกันโดยการเข้าสมาบัติ และเสมอกันโดยการระลึกถึง. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และเสวยบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยการปรินิพพาน.
               ก็ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ พระองค์ทรงเข้าสมาบัตินับได้สองล้านสี่แสนโกฏิ แม้ในวันเสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงเข้าสมาบัติเหล่านั้นทั้งหมด. รวมความว่า มีผลเสมอกันโดยเสมอกันด้วยสมาบัติ.
               ในกาลต่อมา นางสุชาดาได้ทราบว่า เล่ากันมาว่า ผู้ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่รุกขเทวดา เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้นฉันบิณฑบาตนั้นแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ดำรงอยู่ได้ด้วยบิณฑบาตนั้น ๗ สัปดาห์. เมื่อนางได้ฟังดังนั้น ก็ระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง.
               ครั้นต่อมา นายจุนทะได้สดับว่า ได้ยินว่า บิณฑบาตครั้งสุดท้ายที่เราถวาย เราได้ยอดธรรมแล้ว ได้ยินว่า พระศาสดาเสวยบิณฑบาตของเราเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หวนระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดโสมนัสอย่างแรง พึงทราบว่า มีผลเสมอกันแม้โดยการเสมอกันแห่งการระลึกถึงอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ยสสํวตฺตนิกํ ได้แก่ เป็นไปเพื่อบริวาร.
               บทว่า อธิปเตยฺยสํวตฺตนิกํ ได้แก่ เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่.
               บทว่า สญฺญมโต ได้แก่ ผู้มีความสำรวมด้วยความสำรวมในศีล. อธิบายว่า ตั้งอยู่ในสังวร. บทว่า เวรํ น จียติ ได้แก่ ไม่ก่อเวรห้า.
               บทว่า กุสโล จ ชหาติ ปาปกํ ความว่า ก็บุคคลผู้ฉลาด ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ย่อมละบาปอกุศลอันลามก โดยไม่เหลือด้วยอริยมรรค.
               บทว่า ราคโทสโมหกฺขยา นิพฺพุโต ความว่า ผู้ฉลาดนั้นละอกุศลอันลามกนี้ แล้วนิพพานด้วยกิเลสนิพพาน เพราะสิ้นกิเลสมีราคะเป็นต้น. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงพิจารณาเห็นทักษิณาของนายจุนทะและทักขิไณยสมบัติของพระองค์ จึงทรงเปล่งพระอุทาน ด้วยประการดังนี้.

               จบกถาพรรณนาจตุตถภาณวาร               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1888&Z=3915
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2965
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2965
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :