ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๕.

               ทุสฺสีลอาทีนววณฺณนา               
               บทว่า ปาฏลิคาเม อาวสถาคารํ ได้แก่ เรือนพักสำหรับคนจรมา.
               เขาว่า ในปาฏลิคาม สหายของพระราชาสองพระองค์มากันเป็นนิจ พาครอบครัวออกจากบ้านมาพักกันเดือนหนึ่งบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง. มนุษย์เหล่านั้นถูกรบกวนเสมอ คิดกันว่า ในเวลาที่คนเหล่านั้นมากันก็มีที่อยู่ ดังนี้แล้วจึงสร้างศาลาใหญ่ กลางพระนคร สร้างที่เก็บสิ่งของไว้ส่วนหนึ่ง สร้างที่อยู่อาศัยไว้ส่วนหนึ่งของศาลานั้น. ผู้คนเหล่านั้นได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ก็มองเห็นประโยชน์อย่างนี้ว่า แม้พวกเราก็พึงไปนำพระผู้มีพระภาคเจ้ามา พระองค์เสด็จมาถึงสถานที่อยู่ของพวกเราด้วยพระองค์เองแล้ว วันนี้ พวกเราจักอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ตรัสมงคลในที่พัก เพราะฉะนั้นจึงกล่าวกันอย่างนี้.
               บทว่า เยนาวสถาคารํ ความว่า ได้ยินว่า ผู้คนเหล่านั้นไม่รู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระอัธยาศัยชอบป่า ยินดีป่า จะทรงประสงค์หรือไม่ประสงค์ประทับอยู่ในบ้าน จึงไม่จัดแจงเรือนพัก พากันมาคิดกันว่า บัดนี้พวกเรารู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักพากันไปจัดแจงเสียก่อนดังนั้น จึงพากันไปยังเรือนพัก.
               บทว่า สพฺพสนฺถริตํ แปลว่า ปูลาดไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง.
               บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล. บทว่า สีลวิปนฺโน ได้แก่ มีศีลวิบัติ มีสังวรสลาย.
               บทว่า ปมาทาธิกรณํ ได้แก่เพราะความประมาทเป็นเหตุ. ก็พระสูตรนี้ใช้สำหรับคฤหัสถ์ แม้บรรพชิตก็ใช้ได้.
               จริงอยู่ คฤหัสถ์เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นศึกษาศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรมวณิชกรรม พลั้งเผลอไปด้วยการทำปาณาติบาตเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะทำศิลปะนั้นๆ ให้สำเร็จตามกาล เมื่อเป็นเช่นนั้น รากฐานของเขาก็พินาศ. แต่ในเวลาคับแค้น กระทำปาณาติบาตและอทินนาทาน ย่อมเสื่อมโภคะอย่างใหญ่เพราะอำนาจโทษ.
               ฝ่ายบรรพชิตทุศีล ย่อมถึงความเสื่อมจากศีล จากพุทธวจนะ จากฌาน และจากอริยทรัพย์ ๗ เพราะความประมาทเป็นเหตุ. สำหรับคฤหัสถ์นั้น เกียรติศัพท์อันชั่ว ย่อมอื้อฉาวไปในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่าคนโน้นเกิดในตระกูลโน้นทุศีล มีบาปธรรม สละทั้งโลกนี้โลกหน้า ไม่ถวายทานแม้เพียงสลากภัต. หรือสำหรับบรรพชิต เกียรติศัพท์อันชั่วก็ฟุ้งไปอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อโน้นไม่สามารถรักษาศีลได้ ไม่สามารถจะเรียนพระพุทธพจน์ได้เลี้ยงชีพด้วยอเนสนกรรม มีเวชชกรรมเป็นต้น ประกอบด้วยอคารวะ ๖.
               บทว่า อวิสารโท ความว่า คฤหัสถ์มีความกลัวว่า ก่อนอื่น คนบางพวกจักรู้เรื่องกรรมของเรา ดังนั้นก็จักข่มเรา หรือแสดงตัวต่อราชสกุล ในที่ประชุมคนจำนวนมากแน่แท้จึงเข้าไปหา ประหม่า คอตก หน้าคว่ำ นั่งเอาหัวแม่มือไถพื้น ถึงเป็นคนกล้า ก็ไม่อาจพูดจาได้. ฝ่ายบรรพชิตมีความกลัวว่า ภิกษุเป็นอันมากประชุมกัน บางรูปจักรู้กรรมของเราแน่ ดังนั้นจักงดอุโบสถบ้าง ปวารณาบ้างแก่เรา จักคร่าเราให้เคลื่อนจากเพศสมณะจึงเข้าไปหา ถึงเป็นคนกล้าก็ไม่อาจพูดจาได้.
               ส่วนภิกษุบางรูป แม้ทุศีลก็เที่ยวไปประดุจผู้ไม่ทุศีล แม้ภิกษุนั้นก็ย่อมเป็นผู้เก้อเขินโดยอัธยาศัยทีเดียว.
               บทว่า สมฺมุโฬฺห กาลํ กโรติ ความว่า ก็เมื่อภิกษุผู้ทุศีลนั้น นอนบนเตียงเป็นที่ตาย สถานที่ที่ยึดถือประพฤติในกรรมคือทุศีล ย่อมมาปรากฏ. ภิกษุทุศีลนั้นลืมตาก็เห็นโลกนี้ หลับตาก็เห็นปรโลก อบาย ๔ ก็ปรากฏแก่ภิกษุทุศีลนั้น. ภิกษุทุศีลนั้นก็เป็นประหนึ่งถูกหอก ๑๐๐ เล่มแทงที่ศีรษะ เธอจะร้องว่า ห้ามที ห้ามที มรณะไป.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สมฺมุโฬห กาลํ กโรติ หลงตาย ดังนี้.
               บทที่ ๕ ก็ง่ายเหมือนกัน. เรื่องอานิสงส์ ก็พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า พหฺเทว รตฺตึ ธมฺมิยา กถาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้อิ่มเอิบแล้ว ให้เห็นแจ้งแล้ว ให้สมาทานแล้ว ให้อาจหาญแล้ว ให้เข้าถึงความสิ้นและความเสื่อมแล้ว ตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงส่งไปด้วยธรรมกถาที่พ้นจากบาลีอย่างอื่น และด้วยกถาอนุโมทนาการถวายเรือนพัก ประหนึ่งทรงพาข้ามอากาศคงคา ประหนึ่งทรงคั้นผึ้งรวงใหญ่ขนาดโยชน์หนึ่ง แล้วให้มหาชนดื่มน้ำผึ้งฉะนั้น.
               บทว่า อภิกฺกนฺตา ได้แก่ ล่วงไปแล้ว สิ้นไปแล้ว.
               บทว่า สุญฺญาคารํ ความว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนว่างที่แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่มี.
               แต่ในที่นั้นนั่นแหละ เหล่าชาวบ้านปาฏลิคามล้อมไว้ด้วยกำแพง คือม่านไว้ข้างหนึ่ง แล้วจัดเตียงไว้ ด้วยประสงค์ว่า พระศาสดาจักทรงพักผ่อนในที่นี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยาบนเตียงนั้นด้วยมีพระพุทธประสงค์ว่า เรือนพักนี้ ตถาคตใช้สอยแล้วด้วยอิริยาบถแม้ทั้ง ๔ กุศลนั้น จักมีผลมากแก่ชาวปาฏลิคามเหล่านั้น ดังนี้.
               ท่านหมายเอาเรือนพักนั้น จึงกล่าวว่า สุญฺญาคารํ ปาวิสิ เสด็จเข้าไปสู่เรือนว่างดังนี้.

               ปาฏลิปุตฺตนครมาปนวณฺณนา               
               บทว่า สุนีธวสฺสการา ได้แก่ พราหมณ์ ๒ คน คือ สุนีธะคนหนึ่ง วัสสการะคนหนึ่ง.
               บทว่า มหามตฺตา ได้แก่ มหามัตตะ คือมหาอำมาตย์ของพระเจ้ากรุงมคธ
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามหาอำมาตย์แคว้นมคธ ก็เพราะมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ประกอบด้วยมาตร คืออิสริยยศยิ่งใหญ่.
               บทว่า ปาฏลิคาเม นครํ ได้แก่ สร้างปาฏลิคามทำให้เป็นนคร.
               บทว่า วชฺชีนํ ปฏิพาหาย ได้แก่ เพื่อตัดทางขยายตัวของราชวงศ์แคว้นวัชชี.
               บทว่า สหสฺเสว ได้แก่ แต่ละพวกนับเป็นพันๆ.
               บทว่า วตฺถูนิ ได้แก่ ที่ปลูกเรือน.
               บทว่า จิตฺตานิ นมนฺติ นิเวสนาหิ มาเปตุํ ความว่า จิตของมหาอำมาตย์ผู้ทำนายวิชาดูพื้นที่น้อมไปเพื่อสร้างคฤหาสน์สำหรับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา.
               เล่ากันว่า มหาอำมาตย์เหล่านั้นใช้อานุภาพแห่งศิลปะของตน มองเห็นภายใต้แผ่นดินประมาณ ๖๐ ศอกว่าที่นี้นาคยึดไว้ ที่นี้ยักษ์สิง ที่นี้ภูตสิง มีหินหรือตอ. เวลานั้น อำมาตย์เหล่านั้นร่ายศิลปะสร้างขึ้นได้เหมือนปรึกษากับเทวดาทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง เทวดาสิงอยู่ในร่างของอำมาตย์เหล่านั้น น้อมจิตไปเพื่อสร้างคฤหาสน์ในที่นั้นๆ พอเขาตอกหลักลงใน ๔ มุม เทวดาเหล่านั้นจึงเข้าสิงพื้นที่. เทวดาผู้มีศรัทธาทำอย่างนั้นแก่ตระกูลผู้มีศรัทธา เทวดาผู้ไม่มีศรัทธาก็ทำอย่างนั้นแก่ตระกูลผู้ไม่มีศรัทธา.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะผู้มีศรัทธามีความคิดอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายในโลกนี้ ครั้นสร้างบ้านเรือนแล้ว ชั้นแรกนิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้นั่ง ให้กล่าวแต่มงคล เมื่อเป็นเช่นนี้. พวกเราก็จักได้เห็นผู้มีศีล ฟังธรรมกถา การแก้ปัญหาและอนุโมทนา ผู้คนให้ทานแล้วจักให้ส่วนบุญแก่เรา.
               บทว่า ตาวตึเสหิ ความว่า เสียงขจรไปว่า พวกมนุษย์ในตระกูลโน้น อาศัยมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตผู้หนึ่งในตระกูลหนึ่ง ย่อมเป็นบัณฑิต หรือภิกษุในวิหารโน้น อาศัยภิกษุผู้เป็นพหูสูตรูปหนึ่งในวิหารหนึ่ง ย่อมเป็นพหูสูตรูปหนึ่งในวิหารหนึ่ง ย่อมเป็นพหุสูตฉันใด.
               เสียงขจรไปว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์อาศัยท้าวสักกเทวราช และวิษณุกรรมเทพบุตรย่อมเป็นบัณฑิตฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตาวตึเสหิ. อธิบายว่า ย่อมสร้างเหมือนปรึกษากับเทวดาชั้นดาวดึงส์.
               บทว่า ยาวตา อริยํ อายตนํ ความว่า ชื่อว่าที่เป็นที่ประชุมของมนุษย์ เผ่าอริยกะมีประมาณเท่าใด. บทว่า ยาวตา วณิปฺปโถ ความว่า ชื่อว่าสถานที่เป็นที่ซื้อขายโดยกองสิ่งของที่พวกพ่อค้านำมา หรือสถานที่เป็นที่อยู่ของพวกพ่อค้าทั้งหลายมีประมาณเท่าใด.
               บทว่า อิทํ อคฺคนครํ ความว่า อัครนครนี้จักเป็นเมืองเจริญ เป็นเมืองใหญ่ สำหรับพวกอริยกะและพวกพ่อค้านั้นๆ.
               บทว่า ปุฏเภทนํ ได้แก่ ที่แก้ห่อสินค้า. ท่านอธิบายว่า เป็นที่ปล่อยสินค้าของเจ้าของสินค้าต่างๆ. อธิบายว่า ก็ชนทั้งหลายแม้ไม่ได้สิ่งของในสกลชมพูทวีป ก็จักได้ในที่นี้นี่แหละ แม้ผู้ไม่ไปค้าขายในที่อื่น ก็จักไปในที่นี้ เพราะฉะนั้น พวกเขาจักแก้ห่อสินค้าในที่นี้เท่านั้น. ท่านแสดงว่า จริงอยู่ ทุกๆ วัน มูลค่าจักเกิดขึ้นห้าแสน อย่างนี้คือที่ประตูพระนครทั้งสี่ด้านสี่แสน ที่ท่ามกลางพระนครหนึ่งแสน.
               วา ศัพท์ในบทว่า อคฺคิโต วา มีอรรถเท่ากับ ความว่า จักพินาศด้วยไฟ ด้วยน้ำ หรือด้วยการแตกกันเป็น ๒ ฝ่าย อธิบายว่า ส่วนหนึ่งพินาศด้วยไฟ ไม่สามารถจะดับได้ ส่วนหนึ่งแม่น้ำคงคาพัดไป ส่วนหนึ่งจักพินาศไป โดยความแตกแห่งกันและกันของพวกมนุษย์ผู้แตกกันด้วยอำนาจปิสุณวาจา ที่กล่าวว่า คนนี้ไม่พูดกะคนโน้น คนโน้นไม่พูดกะคนนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสดังนี้แล้ว เวลาใกล้รุ่งเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา ทรงชำระพระพักตร์แล้ว ประทับนั่งรอเวลาภิกขาจารอยู่. ฝ่ายมหาอำมาตย์มคธ ชื่อสุนีธะและวัสสการะคิดว่า พระราชาของพวกเราเป็นอุปัฏฐากของพระสมณโคดม พระองค์จักตรัสถามพวกเราว่า ได้ยินว่า พระศาสดาได้เสด็จไปปาฏลิคาม พวกท่านได้เข้าเฝ้าพระองค์หรือเปล่า เมื่อกราบทูลว่าข้าพระองค์เข้าเฝ้า จึงตรัสถามอีกว่า พวกท่านได้นิมนต์หรือเปล่า เมื่อกราบทูลว่าไม่ได้นิมนต์ จักยกโทษนิคคหะพวกเรา อนึ่งเล่า พวกเราก็จะสร้างพระนครในที่ที่ยังไม่ได้สร้าง ก็ในที่ที่พระสมณโคดมเสด็จไปแล้วๆ พวกสัตว์กาลกิณีจักถอยกลับไป จึงคิดว่า พวกเราจักให้พระองค์ตรัสสิ่งที่เป็นมงคลแก่พระนครดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลอาราธนา
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข สุนีธวสฺสการา เป็นต้น.
               บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ แปลว่า ในเวลาเช้า.
               บทว่า นิวาเสตฺวา แปลว่า ทรงอันตรวาสกคาดประคตตามธรรมเนียมเข้าบ้าน.
               บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย แปลว่า ทรงถือบาตรและจีวรแนบพระองค์.
               บทว่า สีลวนฺเตตฺถ ตัดเป็น สีลวนฺเต เอตฺถ.
               บทว่า สญฺญเต ได้แก่ ผู้สำรวมด้วยกายวาจาใจ.
               บทว่า ตาสํ ทกฺขิณมาทิเส ความว่า พึงอุทิศปัจจัยสี่ที่ถวายสงฆ์คือพึงให้ส่วนบุญแก่เทวดาประจำเรือนเหล่านั้น.
               บทว่า ปูชิตา ปูชยนฺติ ความว่า เทวดาย่อมอารักขาด้วยดี ด้วยสั่งว่าผู้คนเหล่านี้ แม้ไม่ใช่ญาติของเรา ก็ยังให้ส่วนบุญแก่พวกเราถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พวกท่านจงจัดการอารักขาด้วยดี.
               บทว่า มานิตา มานยนฺติ ความว่า เทวดาทั้งหลายที่เหล่าผู้คนนับถือด้วยการทำพลีกรรมตามกาลสมควร จึงนับถือ คือกำจัดอันตรายที่เกิดขึ้น ด้วยเห็นว่าผู้คนเหล่านี้ แม้ไม่ใช่ญาติของพวกเราก็ยังทำพลีกรรมแก่พวกเราในช่วงสี่เดือนหกเดือน.
               บทว่า ตโต นํ ได้แก่ แต่นั้น เทวดาก็ย่อมอนุเคราะห์คนผู้บัณฑิตนั้น.
               บทว่า โอรสํ ได้แก่ วางไว้ที่อกให้เจริญเติบโต. อธิบายว่า ย่อมอนุเคราะห์เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก พยายามกำจัดอันตรายที่เกิดขึ้นฉะนั้น.
               บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสติ แปลว่า เห็นสิ่งที่ดี.
               บทว่า อุลุมฺปํ ได้แก่ พาหนะที่เขาตอกลิ่มสร้างไว้เพื่อไปฝั่งโน้น (แพ).
               บทว่า กุลฺลํ ได้แก่ พาหนะที่เขาใช้เถาวัลย์เป็นต้นมัดไว้ (ทุ่น).
               คำว่า อณฺณวํ ในคาถาว่า เย ตรนฺติ อณฺณวํ นี้ เป็นชื่อแห่งสถานที่น้ำลึกและกว้างโดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดประมาณโยชน์หนึ่ง.
               ในบทว่า สรํ นี้ ท่านประสงค์เอาแม่น้ำ.
               มีคำอธิบายว่า ผู้ที่ข้ามสระ คือตัณหาที่ทั้งลึกทั้งกว้าง สร้างสะพานกล่าวคืออริยมรรค ละเปือกตม คือที่ลุ่มเต็มด้วยน้ำแตะต้องไม่ได้ ข้ามไป. ส่วนคนผู้นี้แม้ต้องการจะข้ามแม่น้ำแม้นิดหน่อยนี้ ก็ต้องผูกแพ. ส่วนผู้มีปัญญา คือพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าไม่ต้องใช้แพก็ข้ามได้.

               อริยสจฺจกถาวณฺณนา               
               บทว่า โกฏิคาโม ได้แก่ บ้านที่สร้างไว้ท้ายปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทะ.
               บทว่า อริยสจฺจานํ ได้แก่ สัจจะที่กระทำให้เป็นพระอริยะ.
               บทว่า อนนุโพธา ได้แก่ เพราะไม่ตรัสรู้ คือไม่รู้.
               บทว่า อปฏิเวธา แปลว่า เพราะไม่แทงตลอด.
               บทว่า สนฺธาวิตํ ได้แก่ แล่นไปโดยไปจากภพสู่ภพ.
               บทว่า สํสริตํ ได้แก่ท่องเที่ยวไปโดยไปๆ มาๆ ร่ำไป.
               บทว่า มมํ เจวตุมฺหากญฺจ แปลว่า อันเราและพวกท่าน.
               อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า บทว่า สนฺธาวิตํ สํสริตํ แปลว่า ความแล่นไป ท่องเที่ยวไป ได้มีแล้วทั้งแก่เราและพวกท่าน.
               บทว่า สํสริตพฺพํ แปลว่า ท่องเที่ยวไป.
               บทว่า ภวเนตฺติ สมูหตา ได้แก่ เชือก คือตัณหาอันสามารถนำสัตว์จากภพไปสู่ภพอันเราและพวกท่านกำจัดแล้ว ตัดแล้ว ทำให้ไม่เป็นไปแล้วด้วยดี.

               นาทิกาคามคมนวณฺณนา               
               บทว่า นาทิกา ได้แก่ บ้านสองตำบลของบุตรของอาและลุงทั้งสอง อาศัยสระเดียวกัน. บทว่า นาทิเก ได้แก่ หมู่บ้านญาติตำบลหนึ่ง. บทว่า คิญฺชกาวสเถ ได้แก่ ที่พักก่อด้วยอิฐ.
               บทว่า โอรมฺภาคิยานํ ได้แก่ ส่วนเบื้องต่ำ. อธิบายว่า ทำให้ถือปฏิสนธิในกามภพเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง โอรัมภาคยสังโยชน์ ที่พึงละด้วยมรรคทั้งสามที่ได้ชื่อว่า โอรํ. ในสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์สองนี้ คือ กามฉันทะ พยาบาทที่ข่มไม่ได้ด้วยสมาบัติ หรือตัดไม่ได้ด้วยมรรค ไม่ให้ไปสู่รูปภพและอรูปภพเบื้องสูง. สังโยชน์สามมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น นำสัตว์แม้ที่บังเกิดในภพนั้น ให้มาบังเกิดในภพนี้อีก เพราะฉะนั้น สังโยชน์หมดทั้งสามจึงชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์.
               บทว่า อนาวตฺติธมฺมา ได้แก่ มีการไม่กลับมาโดยปฏิสนธิเป็นสภาวะ.
               ในคำว่า ราคโทสโมหานํ ตนุตฺตา นี้ พึงทราบความที่ราคะโทสะโมหะเบาบางลงโดยอาการทั้งสองอย่าง คือด้วยการเกิดขึ้นในบางครั้งบางคราวและมีปริยุฏฐานกิเลสน้อย. กิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่เกิดขึ้นเนืองๆ แก่พระสกทาคามี เหมือนปุถุชน แต่เกิดในบางครั้งบางคราว แต่เมื่อเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นมากๆ เหมือนปุถุชน เกิดขึ้นบางๆ เหมือนภาชนะใส่ปลา.
               แต่พระมหาสิวเถระผู้รจนาคัมภีร์ทีฆนิกายกล่าวว่า เพราะพระสกทาคามียังมีบุตรธิดา และยังมีคนสนิท ฉะนั้นจึงยังมีกิเลสหนา แต่คำนี้ ท่านกล่าวถึงกิเลสในภพเบาบาง.
               คำนั้น ในอรรถกถาท่านคัดค้านไว้ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันเว้นภพเจ็ดเสีย กิเลสที่เบาบางในภพที่แปดไม่มี สำหรับเพราะสกทาคามี เว้นภพสองเสีย ไม่มีกิเลสเบาบางในภพทั้งห้า สำหรับพระอนาคามีเว้นรูปภพอรูปภพ ไม่มีกิเลสเบาบางในกามภพ พระขีณาสพไม่มีกิเลสเบาบางในภพไหนๆ เลย.
               คำว่า อิมํ โลกํ นี้ ท่านหมายเอากามาวจรโลก.
               ก็ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ก็ถ้าพระอริยบุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผลในมนุษย์โลก แล้วบังเกิดในเทวโลกย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ข้อนี้ดีอย่างนี้ แต่เมื่อสามารถกลับมาสู่มนุษย์โลกแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ฝ่ายพระอริยบุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผลในเทวโลก ถ้ามาเกิดในมนุษย์โลกย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตได้ ข้อนี้ดีอย่างนี้ แต่เมื่อสามารถไปสู่เทวโลก ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตเป็นแน่.
               ความตกไปโดยไม่เหลือ ชื่อว่าวินิบาต ในคำว่า อวินิปาตธมฺโม นี้ อธิบายว่า ความตกไปโดยไม่เหลือของพระโสดาบันนั้นเป็นธรรมหามิได้ เหตุนั้น พระโสดาบันนั้น ชื่อว่ามีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา คือมีอันไม่ตกไปโดยไม่เหลือในอบายสี่เป็นสภาวะ.
               บทว่า นิยโต ได้แก่ แน่นอน โดยกำหนดแห่งธรรม. บทว่า สมฺโพธิปรายโน ความว่า สัมโพธิ กล่าวคือมรรคสามในเบื้องบน เป็นที่ไป เป็นที่ดำเนิน เป็นที่พึงอาศัยของบุคคลนั้น คืออันบุคคลนั้นพึงบรรลุแน่แท้เป็นเบื้องหน้า เหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่ามีสัมโพธิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ด้วยบทว่า วิเหสาเวสา ทรงแสดงว่า ดูก่อนอานนท์ นั่นเป็นความลำบากกายของตถาคต ผู้ตรวจดูญาณคติ ญาณอุปบัติ ญาปอภิสัมปรายะ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ. แต่ความลำบากจิตไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

               ธมฺมาทาสธมฺมปริยายวณฺณนา               
               บทว่า ธมฺมาทาสํ ได้แก่ แว่น คือธรรม. บทว่า เยน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยแว่นธรรมอื่นใด. บทว่า ขีณาปายทุคฺคติวินิปาโต นี้ ท่านกล่าวโดยไวพจน์ของนรกเป็นต้นเท่านั้น.
               จริงอยู่ นรกเป็นต้น ชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากอยะ คือความเจริญ ชื่อว่าทุคติ เพราะเป็นที่ดำเนินไป เป็นที่พึ่งอาศัยแห่งทุกข์. ชื่อว่าวินิบาต เพราะเป็นที่ตกไปโดยไม่เหลือของเหล่าชนผู้ทำชั่ว.
               บทว่า อเวจฺจปฺปสาเทน ได้แก่ ด้วยความเสื่อมใสอันไม่หวั่นไม่ไหว เพราะรู้ถึงพระพุทธคุณตามเป็นจริงนั่นแล. แม้ในสองบทข้างต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนความพิสดารของคำว่า อิติปิ โส ภควา เป็นต้น กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อริยกนฺเตหิ ได้แก่ เป็นที่ใคร่ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของพระอริยะทั้งหลาย. ศีลห้า ชื่อว่าเป็นที่ใคร่ของพระอริยะทั้งหลาย เพราะท่านไม่ละแม้ในภพอื่น. ท่านหมายถึงศีลห้านั้นจึงกล่าวคำนี้ไว้. แต่ในที่นี้ ได้แก่สังวรทั้งหมด.
               คำว่า โสตาปนฺโนหมสฺสิ นี้ เป็นหัวข้อเทศนาเท่านั้น. แต่แม้พระสกทาคามีเป็นต้น ย่อมพยากรณ์โดยนัยมีอาทิว่า สกทาคามีหมสฺมิ เราเป็นสกทาคามีดังนี้แล. การพยากรณ์แห่งพระอริยสาวกทั้งปวงในฐานะที่ควรโดยไม่ผิดสิกขาบท (วินัย) เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วแล.

               เวสาลีคมนวณณฺนา               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เวสาลิยํ วิหรติ นี้ ดังต่อไปนี้.
               พึงทราบความที่เมืองเวสาลีเป็นนครสมบูรณ์. โดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธกวินัยว่า เตน โข ปน สมเยน เวสาลี อิทฺธาเจว โหติ ผีตา จ ดังนี้.
               บทว่า อมฺพปาลิวเน ได้แก่ ในป่ามะม่วงอันเป็นสวนของนางอัมพปาลีคณิกา.
               บทว่า สโต ภิกฺขเว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มสติปัฏฐานเทศนาในที่นี้ โดยพิเศษเพื่อให้สติปรากฏในการทรงทอดทัศนาอัมพปาลีวัน.
               ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า สโต เพราะระลึกได้ ชื่อว่า สมฺปชาโน เพราะรู้ตัว. อธิบายว่า พึงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอยู่. ข้าพเจ้าจักกล่าวคำที่ควรกล่าวในคำเป็นต้นว่า กาเย กายานุปสฺสี ไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร.
               คำว่า นีลา เป็นต้นนี้ กล่าวรวมสีทั้งหมด. ส่วนคำว่า นีลวณฺณา เป็นต้น เป็นการแสดงจำแนกสีนั้นนั่นแหละ. ก็ในคำนั้น ท่านกล่าวคำนี้ไว้ เพราะสีเหล่านั้น มิใช่สีเขียวปกติ หากผสมด้วยสีเขียว. บทว่า นีลวตฺถา ความว่า ผ้าธรรมดาผ้าเปลือกไม้และผ้าไหมเป็นต้น ชื่อว่าเขียวสำหรับผ้าเหล่านั้น. บทว่า นีลาลงฺการา ได้แก่ ประดับด้วยมณีเขียว ดอกไม้เขียว. แม้รถของเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ก็ขจิตด้วยมณีเขียว ขลิบด้วยผ้าเขียว มีธงเขียว ประกอบด้วยทหารสวมเกราะเขียว อาภรณ์เขียวเทียมด้วยม้าเขียว แม้ด้ามแส้ก็เขียวเหมือนกันแล.
               เนื้อความในทุกบทก็พึงทราบโดยนัยนี้.
               บทว่า ปฏิวฏฺเฏสิ แปลว่า ตี. คำว่า เช ในคำว่า กึ เช อมฺพปลี เป็นคำร้องเรียก. ท่านอธิบายว่า แม่อัมพปาลี เหตุไรจ๊ะ? ปาฐะว่า กิญฺจิ ก็มี. ในคำนี้ ความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สาหารํ ได้แก่ พร้อมด้วยชนบท.
               บทว่า องฺคุลึ โผเฏสุํ ได้แก่ สั่นนิ้วมือ.
               บทว่า อมฺพกาย ได้แก่ มายาหญิง. คำว่า เยสํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ. ท่านอธิบายว่า อันภิกษุเหล่าใดไม่เห็นแล้ว. บทว่า โอโลเกถ ได้แก่ จงดูเสีย. บทว่า อวโลเกถ ได้แก่ จงดูบ่อยๆ.
               บทว่า อุปสํหรถ ได้แก่ น้อมเข้ามา. อธิบายว่า พวกเธอจงน้อมนำมาเปรียบเทียบบริษัทของเจ้าลิจฉวีนี้ เช่นกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ด้วยจิตของพวกเธอ จงดูเทียบกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า แม้เจ้าลิจฉวีเหล่านี้ก็เหมือนเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่สะสวยน่าเลื่อมใส มีวรรณะต่างๆ กัน มีวรรณะเขียวเป็นต้น ฉะนั้น.
               ถามว่า ก็เหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงห้ามอายตนะภายในมีจักษุเป็นต้นยึดถือนิมิตในอายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้น ด้วยสูตรหลายร้อยสูตร ในสูตรนี้กลับทรงประกอบภิกษุไว้ในการยึดถือนิมิตด้วยอุตสาหะอย่างใหญ่.
               ตอบว่า เพราะทรงมุ่งประโยชน์เกื้อกูล.
               ดังได้ยินมา ภิกษุบางพวกในเมืองเวสาลีนั้น ย่อหย่อนความเพียร. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงใช้สมบัติของเทวดาชั้นดาวดึงส์ปลอบประโลม จึงตรัสเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดอุตสาหะในสมณธรรมว่า เมื่อภิกษุกระทำสมณธรรมด้วยความไม่ประมาท ก็ได้อิสริยสมบัติเห็นปานนี้ง่าย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งอนิจจลักษณะก็ได้. ความจริงอีกไม่นานเลย เจ้าลิจฉวีเหล่านี้แม้ทั้งหมด ก็จักถึงความพินาศ ด้วยอำนาจของพระเจ้าอชาตศัตรู. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อความแจ่มแจ้งแห่งอนิจจลักษณะด้วยพระพุทธประสงค์ว่า เหล่าภิกษุที่ยืนดูสิริราชสมบัติของเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น จักเจริญอนิจจลักษณะว่า ความพินาศแห่งสิริสมบัติเห็นปานนั้นจักปรากฏ แล้วจักบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ในบทว่า อธิวาเสตุ ถามว่า เหตุไร พวกเจ้าลิจฉวี ทั้งที่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ารับนิมนต์นางอัมพปาลีไว้แล้ว จึงนิมนต์เล่า.
               แก้ว่า เพราะไม่ทรงเชื่อ และเพราะเป็นธรรมเนียม. ก็พวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นคิดว่า หญิงนักเลงนั้นไม่นิมนต์ พูดว่านิมนต์. ก็เชื่อว่าการไปนิมนต์ในเวลาไปฟังธรรมเป็นธรรมเนียมของมนุษย์นั่นเอง.

               เวฬุวคามวสฺสูปคมนวณฺณนา               
               บทว่า เวฬุวคามโก ได้แก่ บ้านปาฏลิคามใกล้กรุงเวสาลี.
               มิตรก็คือมิตร ในคำว่า ยถามิตฺตํ เป็นต้น. บทว่า สมฺภตฺตา มิตรที่เพียงพบเห็นกันในที่นั้นๆ ชื่อว่า มิตรที่เคยเห็นกันมิใช่มิตรมั่นคง. บทว่า สนฺทิฎฺฐา ได้แก่ มิตรที่คบกันมาด้วยดีเป็นมิตรมั่นคง. อธิบายว่า พวกเธอจงเข้าไปจำพรรษาในที่ๆ พวกภิกษุเห็นปานนั้นมีอยู่.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
               เพราะมีพระพุทธประสงค์ให้ภิกษุเหล่านั้นอยู่เป็นผาสุก. ความจริง เสนาสนะในเวฬุวคาม ไม่เพียงพอแก่ภิกษุเหล่านั้นทั้งภิกษามีน้อย ส่วนรอบกรุงเวสาลีเสนาสนะก็มีมาก ทั้งภิกษาก็หาได้ง่าย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงไม่ตรัสตอบว่า พวกท่านคงไปสบาย.
               เพื่อทรงอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้น.
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงพระดำริว่า เราอยู่ได้เพียง ๑๐ เดือนก็จักปรินิพพาน. ถ้าภิกษุเหล่านี้จักไปไกล ก็ไม่อาจเห็นเราในเวลาปรินิพพาน เมื่อเป็นดังนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็จะเกิดความร้อนใจว่า พระศาสดาเมื่อปรินิพพานก็ไม่ประทานแม้เพียงสติแก่เรา ถ้าพวกเรารู้เสียก็จะไม่พึงอยู่ไกลอย่างนี้ ไม่ตรัสตอบว่า ก็ภิกษุทั้งหลายอยู่รอบเมืองเวสาลี ก็จักมาฟังธรรมได้เดือนละ ๘ ครั้ง จักได้รับโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ขโร แปลว่า หยาบ. บทว่า อาพาโธ ได้แก่ โรคที่เป็นข้าศึกกัน. บทว่า พาฬฺหา แปลว่า รุนแรง. บทว่า มรณนฺติกา ได้แก่ สามารถให้ถึงปางตาย คือใกล้ต่อความตาย.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน อธิวาเสสิ ความว่า ได้แก่ตั้งสติให้มั่นกำหนดด้วยญาณอดกลั้น. บทว่า อวิหญฺญมาโน ได้แก่ ไม่กระทำอาการกระสับกระส่ายโดยคล้อยตามเวทนาไม่ถูกเวทนาเบียดเบียน ไม่ทรงทุกข์ร้อนเลย อดกลั้นได้.
               บทว่า อนามนฺเตตฺวา ได้แก่ ไม่ทรงให้อุปัฏฐากรู้. บทว่า อนปโลเกตฺวา แปลว่า ไม่ทรงบอกลาภิกษุสงฆ์. ท่านอธิบายว่า ไม่ประทานโอวาทานุสาสนี. บทว่า วิริเยน ได้แก่ ด้วยความเพียรเบื้องต้น และด้วยความเพียรที่สัมปยุตด้วยผลสมาบัติ. บทว่า ปฏิปฺปฌาเมตฺวา แปลว่า ขับไล่. แม้ชีวิตก็ชื่อว่าชีวิตสังขารในคำว่า ชีวิตสังขารนี้. ชีวิตอันธรรมใดปรุงแต่งถึงขาดก็สืบต่อตั้งอยู่ แม้ธรรมที่เป็นผลสมาบัตินั้นก็ชื่อว่าชีวิตสังขาร. ธรรมคือผลสมาบัตินั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บทว่า อธิฎฺฐาย ได้แก่อธิฏฐานให้เป็นไปแล้ว.
               ความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้ว่า เราพึงเข้าผลสมาบัติที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงเข้าผลสมาบัติในกาลก่อนแต่นี้หรือ.
               ตอบว่า เข้าซี แต่ว่า ผลสมาบัตินั้นเป็นขณิกสมาบัติ. จริงอยู่ ขณิกสมาบัติย่อมข่มเวทนาเฉพาะในภายในสมาบัติได้ทีเดียว. พอออกจากสมาบัติ เวทนาย่อมครอบงำร่างกายอีกเหมือนสาหร่ายที่ขาดเพราะไม้หรือกระเบื้องตกลงไป กลับคลุมน้ำตามเดิม.
               อนึ่ง สมาบัติของผู้กระทำหมวด ๗ แห่งรูปและหมวด ๗ แห่งอรูปให้หมดพุ่มหมดรกแล้วเข้าด้วยอำนาจแห่งมหาวิปัสสนา ชื่อว่าย่อมข่มได้ด้วยดี. เปรียบเหมือนสาหร่ายที่บุรุษลงน้ำแล้วเอามือและเท้าแหวกให้ดี ต่อเวลานานจึงจะคลุมน้ำฉันใด ผู้ที่ออกจากผลสมาบัตินั้น ต่อเวลานาน เวทนาจึงจะเกิดขึ้นฉันนั้น.
               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเป็นเสมือนทรงตั้งวิปัสสนาใหม่เอี่ยม ณ พระมหาโพธิบัลลังก์ในวันนั้น ทรงจ่อมลงด้วยอาการ ๑๔ กระทำหมวด ๗ แห่งรูป หมวด ๗ แห่งอรูป ไม่ให้เป็นพุ่ม ไม่ให้รก แล้วทรงไม่เสวยเวทนา ด้วยมหาวิปัสสนา เข้าสมาบัติด้วยทรงประสงค์ว่า ขอเวทนาอย่าเกิดตลอด ๑๐ เดือน. เวทนาที่ทรงข่มด้วยสมาบัติ จึงไม่เกิดตลอดเวลา ๑๐ เดือนเลย. เวทนาที่ทรงข่มด้วยสมาบัติ จึงไม่เกิดตลอดเวลา.
               บทว่า คิลานา วุฎฺฐิโต ได้แก่ ประชวรแล้วหายอีก. บทว่า มธุรก ชาโตวิย ได้แก่ เหมือนบุรุษนอนหงายบนหลาว ที่เกิดภาวะเกร็งหนักและแข็ง. บทว่า น ปกฺขายนฺติ ได้แก่ ไม่แจ้ง คือไม่ปรากฏโดยวาจาต่างๆ. ด้วยบทว่า ธมฺมาปิ นํ นปฺปฏิภนฺติ ท่านแสดงว่า แม้ธรรมคือสติปัฏฐานไม่ปรากฏแก่เรา. แต่ธรรมคือพระบาลี พระเถระคล่องแคล่วดีแล้ว. บทว่า อุทาหรติ ได้แก่ ไม่ประทานปัจฉิมโอวาท. ท่านพระอานนท์หมายเอาปัจฉิมโอวาทนั้น.
               บทว่า อนนฺตรํ อพาหิรํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เราไม่กระทำ ๒ อย่าง โดยธรรมหรือบุคคล แล้วจักแสดงธรรมเท่านี้แก่บุคคลอื่นก็หาไม่ ชื่อว่าทรงกระทำธรรมให้เป็นภายใน. ทรงพระดำริว่าเราจักแสดงธรรมเท่านี้แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทรงกระทำธรรมภายนอก. อนึ่ง ทรงพระดำริว่าเราจักแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทรงกระทำบุคคลภายใน. เมื่อทรงพระดำริว่าเราจักไม่แสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทรงกระทำบุคคลภายนอก. อธิบายว่า ไม่ทรงทำอย่างนั้นแสดง.
               ด้วยบทว่า อาจริยมุฎฺฐิ ทรงแสดงว่า ชื่อว่ากำมือของอาจารย์ ย่อมมีแก่ศาสดาภายนอกพระพุทธศาสนา. เหล่าศาสดาภายนอกไม่กล่าวแก่ใครๆ ในเวลาเป็นหนุ่ม นอนบนเตียงสำหรับตายในเวลาปัจฉิมวัย ก็กล่าวแก่อันเตวาสิก (ศิษย์) ที่รักที่พอใจ โดยวิธีใด กิจกรรมอะไรที่เราบริหารตั้งไว้ทำเป็นกำมือว่า เราจักกล่าวข้อนี้ในเวลาแก่เฒ่า ในเวลาปัจฉิมวัย ย่อมไม่มีแก่ตถาคต โดยวิธีนั้น.
               บทว่า อหํ ภิกฺขุสงฺฆํ ความว่า เราเท่านั้นจักบริหารภิกษุสงฆ์. บทว่า มมุทฺเทสิโก ความว่า เราเป็นที่พำนักของภิกษุสงฆ์นั้น เพราะอรรถว่า ภิกษุสงฆ์พึงอ้างเรา เหตุนั้น ภิกษุสงฆ์นั้น ชื่อว่ามีเราเป็นที่พำนัก. อธิบายว่า ภิกษุสงฆ์จงยกเราเท่านั้น จำนงเฉพาะเรา เมื่อเราล่วงลับไปหรือไม่มีเหล่าภิกษุแล้ว หรือมีอันเป็นไป ก็หรือว่าภิกษุสงฆ์ไรๆ จะมีความคิดอย่างที่กล่าวมานี้.
               บทว่า น เอวํโหติ ความว่า ข้อนั้นไม่เป็นอย่างนั้น เพราะความริษยาและความตระหนี่ เรากำจัดเสียแล้ว ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง. บทว่า สกึ ตัดเป็น โส กึ. บทว่า อสีติโก แปลว่ามีอายุ ๘๐ พรรษา. คำนี้ตรัสเมื่อทรงแสดงภาวะที่ถึงปัจฉิมวัยโดยลำดับ. บทว่า เวฬุมิสฺสเกน ได้แก่ ดามด้วยไม้ไผ่สำหรับซ่อมมีผูกเท้าแขนผูกล้อเป็นต้น. บทว่า มญฺเญ ได้แก่ ยังอัตตภาพให้เป็นไปเหมือนเกวียนเก่าไปได้ด้วยไม้ไผ่ดาม. ท่านแสดงว่า พระตถาคตสำเร็จอิริยาบถ ๔ ด้วยเครื่องผูก คือพระอรหัตตผล. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความข้อนั้น จึงตรัสว่า ยสฺมึ อานนฺท สมเย เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ได้แก่ กลาปะ มีรูปนิมิตเป็นต้น. บทว่า เอกจฺจานํ เวทนานํ ได้แก่ เวทนาที่เป็นโลกิยะ. ด้วยบทว่า ตสฺมาติหานนฺท ทรงแสดงว่า เพราะเหตุที่ความผาสุก ย่อมมีด้วยผลสมาบัติวิหาร ฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงอยู่อย่างนี้ เพื่อประโยชน์แก่ความผาสุกเถิด.
               บทว่า อตฺตทีปา ความว่า พวกเธอจงทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยเหมือนเกาะท่ามกลางมหาสมุทรอยู่เถิด. บทว่า อตฺตสรณา ได้แก่ จงเป็นผู้มีตนเป็นคติเท่านั้น อย่ามีอย่างอื่นเป็นคติเลย. แม้ในบทว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตมตคฺเค แปลว่า มีธรรมนั้นเป็นเลิศ อักษรตรงกลาง ท่านกล่าวด้วยบทสนธิ. ท่านกล่าวอธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ เหล่าภิกษุของเรานั้น ตัดการประกอบด้วยความสูงสุดทั้งหมดอย่างนี้ว่า พวกภิกษุเหล่านี้ก็สูงสุด เหล่านี้ก็สูงสุด แล้วจักมีอยู่ในธรรมอันเลิศอย่างยิ่ง คือในภาวะสูงสุด ได้แก่จักมีธรรมอันสูงสุดอย่างยิ่งสำหรับภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ใคร่ศึกษา คือภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ จักมีในธรรมอันเลิศ. ทรงสรุปเทศนาด้วยยอด คือพระอรหัตแล.                

               อคฺคสาวกนิพฺพานวณฺณนา               
               บทว่า เวสาลึ ปิณฺฑาย ปาวิสิ เสด็จเข้าเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต.
               ถามว่า เสด็จเข้าไปเมื่อไหร่.
               ตอบว่า ในเวลาเสด็จออกจากอุกกเวลคามไปยังเมืองเวสาลี.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำพรรษาแล้ว ออกจากเวฬุวคาม แล้วเสด็จกลับโดยทางที่เสด็จมาแล้ว ด้วยพุทธประสงค์ว่า จะเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เสด็จเข้าสู่พระเชตวัน.
               พระธรรมเสนาบดีทำวัตรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเข้าสู่ที่พักกลางวัน. เมื่อเหล่าอันเตวาสิกทำวัตรในพระเชตวันนั้นกลับไปแล้ว ท่านก็ปัดกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้า นั่งขัดสมาธิเข้าผลสมาบัติ.
               ครั้นท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานก่อนหรือพระอัครสาวกหนอ ก็รู้ว่าอัครสาวกก่อน. จึงสำรวจดูอายุสังขารของตน ก็รู้ว่าอายุสังขารของตนจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงดำริว่า จักปรินิพพานที่ไหนหนอ. คิดอยู่ร่ำไปว่า ท่านราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะในสระฉัททันต์ เราเล่าจะปรินิพพาน ณ ที่ไหน.
               ก็เกิดสติปรารภมารดาขึ้นว่า มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มารดานั้นมีอุปนิสัยหรือไม่หนอ ระลึกได้แล้วก็เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค พิจารณาว่ามารดาจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ก็รู้ว่าจักบรรลุด้วยเทศนาของเรา ไม่ใช่ของผู้อื่น ก็ถ้าหากว่า เราพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเสียไซร้ คนทั้งหลายก็จักว่ากล่าวเราเอาได้ว่า พระสารีบุตรเป็นที่พึ่งได้แม้แก่ชนอื่นๆ.
               จริงอย่างนั้น ในวันเทศนาสมจิตตสูตร๑- ของท่าน เทวดาแสนโกฏิ์ก็บรรลุพระอรหัต เทวดาที่บรรลุมรรค ๓ นับไม่ถ้วน และในที่อื่นปรากฏว่ามีการบรรลุกันมากมาย อนึ่งเล่า เพราะทำจิตให้เลื่อมใสในพระเถระ ตระกูลถึง ๘๐,๐๐๐ ตระกูล บังเกิดในสวรรค์ บัดนี้ พระเถระไม่อาจเพื่อกำจัดแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาได้.
               เพราะฉะนั้น จึงตกลงใจว่า เราจักเปลื้องมารดาออกจากมิจฉาทิฏฐิ แล้วจักปรินิพพานในห้องน้อยที่เกิด ดำริต่อไปว่า เราจักทูลลาพระผู้มีพระภาคไปในวันนี้นี่แหละ จึงเรียกพระจุนทะเถระมาว่า มาไปกันเถิดท่านจุนทะ ท่านจงบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของเราว่า อาวุโส ท่านจงถือบาตรและจีวร พระธรรมเสนาบดีประสงค์จะไปนาลกคาม. พระเถระได้ทำอย่างนั้น. ภิกษุเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรมายังสำนักพระเถระ.
____________________________
๑- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๗๗-๒๘๖

               พระเถระก็เก็บเสนาสนะ ปัดกวาดที่พักกลางวัน ยืนอยู่ที่ประตูมองดูที่พักกลางวัน ดำริว่า บัดนี้ นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการกลับมา ผู้อันภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อมแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว กราบทูลเป็นคำร้อยกรองกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
                         ฉินฺโนทานิ ภวิสฺสามิ    โลกนาถ มหามุนิ
                         คมนาคมนํ นตฺถิ    ปจฺฉิมา วนฺทนา อยํ
                         ชีวิตํ อปฺปกํ มยฺหํ    อิโต สตฺตาหมจฺจเย
                         นิกฺขิเปยฺยามหํ เทหํ    ภารโวโรปนํ ยถา
                         ปรินิพฺพานกาโล เม    อนุชานาตุ สุคโต
                         ข้าแต่พระมหามุนีโลกนาถเจ้า บัดนี้ ข้าพระองค์ตัดสิ้น
               แล้ว ไม่มีการไปการมา นี้เป็นการถวายบังคมลาครั้งสุดท้าย
               ชีวิตของข้าพระองค์น้อย ต่อไปนี้ล่วงไป ๗ วัน ข้าพระองค์จะ
               ทอดทิ้งเรือนร่าง เหมือนวางภาระลง
                         ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอนุญาต ขอพระสุคตโปรด
               อนุญาตแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด นี้เป็นเวลาปรินิพพาน ข้าพระ
               องค์ปลงอายุสังขารแล้ว พระเจ้าข้า.

               ก็เพราะเหตุที่พวกมิจฉาทิฏฐิชอบยกโทษว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงปรินิพพานเถิด ก็จะกลายเป็นว่าพรรณนาคุณของความตายไป เมื่อตรัสว่า อย่าปรินิพพานเลย ก็จะกลายเป็นกล่าวคุณของวัฏฏสงสารไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ตรัสแม้คำทั้งสอง. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะท่านว่า สารีบุตร เธอจักปรินิพพานที่ไหน.
               เมื่อท่านกราบทูลว่า ห้องน้อย ในนาลกคาม แคว้นมคธมีอยู่ ข้าพระองค์จักปรินิพพานในห้องนั้น พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า สารีบุตร บัดนี้ เธอสำคัญกาลอันควรเถิด เวลานี้ การเห็นภิกษุเช่นนั้นสำหรับพี่น้องของเธอจักหาได้ยาก เพราะฉะนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่พี่น้องเหล่านั้นเถิด.
               พระเถระรู้ว่า พระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะให้เราแสดงฤทธิ์ต่างๆ เสียก่อนแสดงธรรม จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วโลดสูง ๗ ชั่วต้นตาล กลับลงมาถวายบังคมแล้วยืนอยู่ท่ามกลางอากาศชั่ว ๗ ต้นตาล แสดงฤทธิ์ต่างๆ อย่าง แล้วแสดงธรรม. ชาวนครทั้งสิ้นประชุมกัน.
               พระเถระลงมาแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ถึงเวลาไปของข้าพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ ทรงพระดำริว่าจักให้สารีบุตรแสดงฤทธิ์แล้ว จึงลุกจากธรรมาสน์ เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังพระคันธกุฎี แล้วประทับยืนบนบัลลังก์แก้วมณี.
               พระเถระกระทำประทักษิณ (เวียน ๓) ๓ ครั้ง แล้วถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง
               กราบทูลว่า เหนือขึ้นไปแต่กัปนี้ได้ ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป ข้าพระองค์หมอบอยู่แทบบาทมูลของพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาจะพบพระองค์ ความปรารถนานั้นของข้าพระองค์สำเร็จแล้ว ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว นั่นเป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการเห็นพระองค์อีก
               แล้วประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธาน แล้วกลับบ่ายหน้าไปจนพ้นทัศนวิสัย ตั้งแต่บัดนี้ไป ขึ้นชื่อว่าการไปการมาในฐานะไรๆ โดยอำนาจจุติปฏิสนธิไม่มีดังนี้ แล้วจึงถวายบังคมลาไป.
               แผ่นมหาปฐพีก็ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะเหล่าภิกษุผู้ยืนล้อมอยู่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตามไปส่งพี่ชายของพวกเธอเถิด. ภิกษุทั้งหลายพากันไปจนถึงซุ้มประตู.
               พระเถระกล่าวว่า หยุดเถิดผู้มีอายุ พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไป ตนเองก็ไปพร้อมกับบริษัท.
               พวกผู้คนก็พากันติดตามร่ำไรรำพันว่า แต่ก่อนพระผู้เป็นเจ้าจาริกไปก็กลับมา แต่ครั้งนี้ไปลับไม่กลับมา. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พวกท่านอย่าประมาท สังขารทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วให้ผู้คนเหล่านั้นกลับไป. ครั้งนั้น พระสารีบุตรอนุเคราะห์ผู้คนตลอด ๗ วัน ในระหว่างหนทาง ถึงนาลกคามในเวลาเย็น แล้วหยุดพักอยู่ที่โคนต้นไทร ใกล้ประตูบ้าน.
               ครั้งนั้น หลานชายของพระเถระ ชื่อว่าอุปเรวตะ ไปนอกบ้านพบพระเถระเข้าไปหาแล้วไหว้ยืนอยู่. พระเถระพูดกะหลานชายว่า ย่าของเจ้าอยู่ในเรือนหรือ. หลานชายก็ตอบว่า ขอรับกระผม. พระเถระบอกว่า เจ้าจงไปบอกว่าเรามาที่นี้แล้ว และเมื่อเขาถามว่าเพราะเหตุไร จงบอกว่า ได้ยินว่า ท่านจะพักอยู่ในบ้านนี้วันเดียว จงจัดห้องน้อยที่เราเกิด และจัดที่อยู่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป.
               หลานไปบอกว่า ย่าจ๋า ลุงฉันมาแล้ว. ย่าถามว่า เดี๋ยวนี้ อยู่ที่ไหนล่ะ. ตอบว่า อยู่ใกล้ประตูบ้าน. ก็ถามว่า มาองค์เดียว หรือว่ามีภิกษุอื่นมาด้วย. หลานก็ตอบว่า มีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาด้วย. เมื่อถามว่า มาทำไม. หลานก็บอกเรื่องนั้น.
               นางพราหมณีคิดว่า ทำไมหนอจึงต้องสั่งให้จัดสถานที่อยู่สำหรับภิกษุถึงเพียงนั้น เขาบวชเมื่อหนุ่มอยากเป็นคฤหัสถ์เมื่อแก่ จึงให้จัดห้องที่เกิด ให้ทำที่อยู่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป ตามประทีปไว้ต้อนรับพระเถระ.
               พระเถระกับภิกษุทั้งหลายขึ้นไปยังปราสาทเข้าไปสู่ห้องที่เกิดแล้วนั่ง ครั้นแล้วก็ส่งภิกษุทั้งหลายไปด้วยกล่าวว่า จงไปที่อยู่ของพวกท่านกันเถิด. พอภิกษุทั้งหลายไปแล้ว อาพาธกล้าก็เกิดขึ้นแก่พระเถระ. โรคลงโลหิตเกิดเวทนาใกล้ตาย. ภาชนะหนึ่งรอง ภาชนะหนึ่งชักออก.
               นางพราหมณีคิดว่า ความไปแห่งบุตรของเรา ไม่เป็นที่ชอบใจ ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูว่าพระธรรมเสนาบดีอยู่ที่ไหน ก็รู้ว่านอนบนเตียงที่ปรินิพพานในห้องน้อยที่เกิดในนาลกคาม เราจักไปดูเป็นปัจฉิมทัสสนะ แล้วพากันมาไหว้ยืนอยู่แล้ว. พระเถระถามว่า ท่านเป็นใคร. ตอบว่า พวกเราเป็นท้าวมหาราชเจ้าข้า. ถามว่า มาทำไม. ตอบว่า มาเป็นคิลานุปัฏฐาก. พระเถระส่งไปด้วยกล่าวว่า ช่างเถิด คิลานุปัฏฐากมีอยู่ ไปเสียเถิดท่าน. ครั้นท้าวมหาราชไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพก็มาโดยนัยนั้นเหมือนกัน. เมื่อท้าวสักกะเสด็จไปแล้ว ท้าวสุยามะเป็นต้น และท้าวมหาพรหมก็พากันมา. พระเถระส่งเทพและพรหมเหล่านั้นไปอย่างนั้นเหมือนกัน.
               นางพราหมณีเห็นพวกเทวดามาและไป คิดว่าพวกเหล่านั้นเป็นใครหนอ จึงมาไหว้แล้วไหว้อีกซึ่งบุตรของเราแล้วก็ไป จึงไปยังประตูห้องของพระเถระ ถามว่า เป็นอย่างไร พ่อจุนทะ. พระเถระบอกเรื่องนั้นแล้วกล่าวว่า มหาอุบาสิกามาแล้ว ขอรับ.
               พระเถระถามว่า ทำไมจึงมาผิดเวลา. นางพราหมณีตอบว่า มาเยี่ยมเจ้าซิลูก แล้วถามว่า พวกใครมาก่อนพ่อ.
               พระเถระตอบว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ อุบาสิกา.
               นางพราหมณีถามว่า พ่อ เจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ.
               ตอบว่า อุบาสิกา ท้าวมหาราชเหล่านั้นก็เหมือนคนวัด ทรงถือพระขรรค์อารักขา ตั้งแต่พระศาสดาของเราทรงถือปฏิสนธิ.
               ถามว่า ครั้นท้าวมหาราชเหล่านั้นกลับไปแล้ว ใครมาอีกล่ะลูก.
               ตอบว่า ท้าวสักกะจอมเทพ.
               ถามว่า เจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวเทวราชหรือลูก.
               ตอบว่า อุบาสิกา ท้าวสักกะนั้นก็เหมือนสามเณรถือของ เมื่อพระศาสดาของเราลงจากดาวดึงส์ ก็ทรงถือบาตรและจีวรลงมา.
               ถามว่า ครั้นท้าวสักกะนั้นเสด็จกลับแล้ว ใครสว่างจ้ามาล่ะลูก.
               ตอบว่า อุบาสิกา ผู้นั้นชื่อท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวาส เป็นทั้งผู้มีบุญคุณ ทั้งครูของแม่ จ้ะ.
               ถามว่า เจ้ายังเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ.
               ตอบว่า จ้ะ อุบาสิกา. ได้ยินว่า ในวันที่พระศาสดาของเราประสูติ ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ชื่อนี้ ใช้ข่ายทองมารับพระมหาบุรุษ.
               ครั้งนั้น เมื่อนางพราหมณีคิดว่า บุตรของเรายังมีอานุภาพถึงเพียงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าศาสดาของบุตรเรา จะมีอานุภาพสักเพียงไหน. ปีติ ๕ อย่างเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วเรือนร่างอย่างฉับพลัน.
               พระเถระคิดว่า มารดาของเราเกิดปิติโสมนัส บัดนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะแสดงธรรม จึงกล่าวว่า จะคิดไปทำไม มหาอุบาสิกา. นางพราหมณีกล่าวว่า บุตรของเรามีคุณถึงเพียงนี้ พระศาสดาของบุตรเราจักมีคุณสักเพียงไหน ดังนั้น แม่จึงคิดอย่างนี้นะลูก. พระเถระกล่าวว่า ท่านมหาอุบาสิกา สมัยพระศาสดาของเราประสูติ ออกมหาภิเนษกรมณ์ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักร หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าผู้เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะไม่มี แล้วกล่าวพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยพระพุทธคุณอย่างพิสดารว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นต้น.
               เวลาจบพระธรรมเทศนาของบุตรที่รัก นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวกะบุตรว่า พ่ออุปติสสะ เหตุไร เจ้าจึงได้กระทำอย่างนี้ล่ะลูก เจ้าไม่ให้อมตธรรมชื่อนี้แก่แม่ ตลอดเวลาถึงเพียงนี้.
               พระเถระคิดว่า บัดนี้ ค่าน้ำนมข้าวป้อนที่นางสารีพราหมณีมารดาของเราให้ไว้ ก็ได้รับชดใช้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงส่งนางพราหมณีไปด้วยกล่าวว่า ไปเถิด มหาอุบาสิกา.
               แล้วถามว่า จวนสว่างหรือยัง. ตอบว่า จวนสว่างแล้วขอรับ. สั่งว่า ถ้าอย่างนั้นจงประชุมพระภิกษุสงฆ์เถิด. ตอบว่า พระสงฆ์ประชุมกันแล้วขอรับ. สั่งว่า ยกเราขึ้นนั่งทีซิ. พระจุนทะก็ยกขึ้นให้นั่ง.
               พระเถระเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุ พวกท่านอยู่กับเรามาถึง ๔๔ ปี ไม่ชอบใจกรรมทางกาย หรือกรรมทางวาจาของเราอันใด ผู้มีอายุจงงดโทษนั้นเสียเถิด. ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านขอรับ พวกเราเที่ยวไปไม่ละท่านเหมือนเงา ชื่อว่ากรรมที่ไม่ชอบใจถึงเพียงนี้ย่อมไม่มีแก่พวกเรา แต่ขอท่านโปรดงดโทษแก่พวกเราเสียด้วย.
               ครั้นแสงอรุณปรากฏ พระเถระยังมหาปฐพีให้เลื่อนลั่น แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. เทพดาและมนุษย์เป็นอันมากพากันกระทำสักการะในสถานที่ปรินิพพาน.
               ท่านพระจุนทะถือบาตรและจีวรและผ้าห่อพระธาตุไปยังพระเชตวัน พาพระอานนท์เถระเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุกล่าวคุณของพระเถระด้วยคาถา ๕๐๐ คาถา โปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์ ได้ประทานสัญญาแก่พระอานนท์เถระเพื่อเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์. พระเถระก็บอกภิกษุทั้งหลาย.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์. ในเวลาเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์นั้น. พระมหาโมคคัลลานเถระก็ปรินิพพาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะแม้นั้น โปรดให้สร้างเจดีย์แล้วออกจากกรุงราชคฤห์ บ่ายพระพักตร์ไปทางแม่น้ำคงคา เสด็จถึงบ้านอุกกเวลคามโดยลำดับ.
               ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในอุกกเวลคามนั้น ทรงมีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ประทับนั่ง ณ ที่นั้นทรงแสดงพระสูตร๒- ที่เกี่ยวด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ออกจากอุกเวลคามเสด็จถึงกรุงเวสาลี. เมื่อเสด็จเข้าไปอย่างนั้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาเช้าทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี.
               กถาแสดงตามลำดับในเรื่องนี้มีดังกล่าวมาฉะนี้.
____________________________
๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๗๓๓-๗๔๔

               ในบทว่า นิสีทนํ นี้ ท่านประสงค์เอาแผ่นหนัง. บทว่า อุเทนเจติยํ ท่านกล่าวถึงวัดที่สร้างตรงที่เจดีย์ของอุเทนยักษ์. แม้ในโคตมกเจดีย์เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ภาวิตา แปลว่า เจริญแล้ว. บทว่า พหุลีกตา แปลว่า ทำบ่อยๆ. บทว่า ยานีกตา แปลว่า กระทำเหมือนยานที่เทียมแล้ว. บทว่า วตฺถุกตา แปลว่า ทำเหมือนพื้นที่ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. บทว่า อนุฎฺฐิตา แปลว่า ตั้งไว้แล้ว. บทว่า ปริจิตา แปลว่า ก่อไว้โดยรอบ คือทำให้เจริญด้วยดี. บทว่า สุสมารทฺธา แปลว่า ริเริ่มด้วยดี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสโดยไม่จำกัดดังกล่าวมาฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงไม่จำกัดอีกจึงตรัสว่า ตถาคตสฺส โข เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องนี้ต่อไปนี้.
               บทว่า กปฺปํ ได้แก่อายุกัป. พระตถาคต เมื่อกระทำอายุประมาณของเหล่ามนุษย์ในกาลนั้นๆ ให้บริบูรณ์พึงดำรงอยู่. บทว่า กปฺปาวเสสํ วา ได้แก่ เกินกว่าร้อยปี ที่ตรัสไว้ว่า อปฺปํ วา ภิยฺโย น้อยกว่าร้อยปีหรือเกินกว่านั้น.๓-
               ส่วนพระมหาสิวเถระกล่าวว่า ชื่อว่าการบันลือในฐานะที่ไม่สมควรของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี. จริงอยู่ พระองค์ทรงข่มเวทนาปางตายที่เกิดขึ้นในเวฬุวคามถึงสิบเดือนได้ฉันใด ก็ทรงเข้าสมาบัตินั้นบ่อยๆ ทรงข่มเวทนาได้ถึงสิบเดือนก็พึงทรงดำรงอยู่ได้ ตลอดภัททกัปนี้ได้ฉันนั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงดำรงอยู่.
               ตอบว่า เพราะขึ้นชื่อว่าสรีระที่มีใจครอง ถูกวิโรธิปัจจัยมีฟันหักเป็นต้นครอบงำอยู่. ความจริง พระพุทธะทั้งหลายยังไม่ถึงภาวะแห่งวิโรธิปัจจัย มีฟันหักเป็นต้น ย่อมปรินิพพานเสียในเวลาที่ทรงเป็นที่รักที่ชอบใจของมหาชนทีเดียว. อนึ่ง เมื่อพระมหาสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็พึงดำรงอยู่เหมือนตอแต่ละอันๆ แต่พระองค์เสด็จไปกับภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นบริวาร ก็พึงถูกเขาดูหมิ่นว่า โอ้โฮ บริษัทของพระพุทธะทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงดำรงอยู่. แม้เมื่อถูกกล่าวอย่างนี้ พระองค์ก็จะทรงชอบพระทัย.
               คำว่า อายุกปฺโป นี้ ท่านนิยามไว้ในอรรถกถาแล้ว.
____________________________
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๔ องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๗๑

               ในคำว่า ยถา ตํ มาเรน ปริยุฎฺฐิตจิตฺโต นี้ คำว่า ตํ เป็นเพียงนิบาต.
               อธิบายว่า ปุถุชนคนไรแม้อื่น ถูกมารยึดจิต ครอบงำจิต ไม่พึงอาจจะรู้แจ้งแทงตลอดได้ฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจรู้แจ้งแทงตลอดฉันนั้นเหมือนกัน.
               ความจริง มารย่อมยึดจิตของผู้ที่ยังละวิปัลลาส ๔ ไม่ได้ทุกๆ ประการ. พระเถระก็ยังละวิปัลลาส ๔ ไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น มารจึงยึดครองจิตท่านไว้.
               ถามว่า ก็มารนั้นเมื่อยึดจิต กระทำอย่างไร.
               ตอบว่า มารแสดงอารมณ์คือรูป หรือให้ได้ยินอารมณ์คือเสียงที่น่ากลัว แต่นั้น เหล่าสัตว์เห็นรูปหรือได้ยินเสียงนั้นแล้ว ก็ละสติแล้ว อ้าปาก. มารก็สอดมือเข้าทางปากของสัตว์เหล่านั้นแล้วบีบหทัย. แต่นั้น เหล่าสัตว์ก็จะสลบสนิท.
               แต่สำหรับพระเถระ ไฉน มารจักสามารถสอดมือเข้าทางปากพระเถระได้ ได้แต่แสดงอารมณ์ที่น่ากลัว. พระเถระเห็นมารนั้น ก็ไม่รู้แจ้งโอภาสคือนิมิต.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบตรัสเรียกถึง ๓ ครั้ง เพื่อประโยชน์อะไร.
               ตอบว่า เพื่อทรงบรรเทาความโศกด้วยการยกโทษไว้เบื้องหน้าว่า เมื่อเราถูกเธออ้อนวอนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดดำรงอยู่เถิดพระเจ้าข้า. เธอทำไม่ดีอย่างนั้น เธอทำผิดอย่างนี้.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1888&Z=3915
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2965
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2965
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :