ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปทานสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ชิณฺณปุริสวณฺณนา               
               พึงทราบในภาณวารที่สอง.
               บทว่า โคปานสิวงฺกํ คือ มีซี่โครงคดดุจกลอน.
               บทว่า ภคฺคํ ความว่า มีหลังงอในที่ทั้ง ๓ คือที่ลำคอ สะเอวและเข่าทั้ง ๒.
               บทว่า ทณฺฑปรายนํ คือ ไปด้วยไม้เท้า มีไม้เท้าเป็นที่พึ่ง.
               บทว่า อาตุรํ คือ กระสับกระส่ายเพราะชรา.
               บทว่า คตโยพฺพนํ คือ ล่วงวัยหนุ่ม ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย.
               บทว่า ทิสฺวา ความว่า พระกุมารแวดล้อมด้วยหมู่พลประมาณกึ่งโยชน์ได้จัดอารักขาเป็นอย่างดี เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั้น อันพรหมชั้นสุทธาวาสและพรหมผู้เป็นขีณาสพแสดงปรากฏข้างหน้ารถด้วยอานุภาพของพระองค์ ในโอกาสที่รถอยู่ข้างหน้า หมู่พลอยู่ข้างหลัง.
               นัยว่า มหาพรหมชั้นสุทธาวาสดำริว่า พระมหาบุรุษทรงติดในกามคุณทั้ง ๕ ดุจช้างติดหล่ม เราจักยังสติให้เกิดแก่พระมหาบุรุษนั้นดังนี้ จึงได้แสดงบุรุษนั้น.
               อนึ่ง ทั้งพระโพธิสัตว์และสารถีก็ทอดพระเนตรเห็นและเห็นบุรุษที่ท้าวมหาพรหมแสดงไว้แล้วอย่างนี้นั้น.
               จริงอยู่ แม้พรหมทั้งหลายได้แสดงบุรุษนั้นก็เพื่อความไม่ประมาทของพระโพธิสัตว์ และเพื่อการสนทนาของสารถี.
               พระกุมารตรัสถามว่า ก็คนนี้เป็นอะไร.
               สารถีทูลว่า คนนี้เป็นคนแก่ พระเจ้าข้า.
               ท่านกล่าวไว้อย่างไร.
               พระกุมารตรัสถามว่า นี้แน่เราไม่เคยเห็นบุรุษเห็นปานนี้มาก่อนเลย.
               บทว่า เตนหิ ความว่า ถ้าเช่นนั้น แม้เราก็จะพึงมีผมเห็นปานนี้ มีกายเห็นปานนี้.
               หลายบทว่า ถ้าเช่นนั้น สหายสารถี วันนี้พอแล้วสำหรับภาคพื้นสวน ความว่า พระกุมารตรัสว่า วันนี้ เราพอแล้วสำหรับภาคพื้นสวนที่เราเห็น เรากลับกันเถิดดังนี้ ทรงสลดพระทัยตรัสอนุรูปแก่ความสังเวช.
               บทว่า อนฺเตปุรํ คโต ความว่า พระกุมารทรงสละสตรีประทับนั่งพระองค์เดียวในห้องสิริ.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม ความว่า เมื่อมีชาติ ชราย่อมปรากฏ จงตำหนิเกลียดชังชาติ ชาติชื่อว่าเป็นสิ่งน่าเกลียด เพราะเหตุนั้น พระกุมารประทับนั่งขุดรากของชาติ ดุจถูกศรลูกแรกแทงพระทัยฉะนั้น.
               บทว่า สารถึ อามนฺตาเปตฺวา ความว่า นัยว่า พระราชาตั้งแต่พวกพราหมณ์นักพยากรณ์กราบทูล ทรงเงี่ยพระโสตสดับอยู่ตลอดเวลา. พระราชาทรงสดับว่า พระกุมารนั้นเสด็จประพาสพระอุทยาน เสด็จกลับในระหว่างทาง จึงรับสั่งให้เรียกสารถีมา.
               ในบทว่า มาเหวโข เป็นต้น ความว่า พระราชาทรงดำริอย่างนี้ว่า กุมารโอรสของเราจงครองราชสมบัติ จงอย่าบวช ถ้อยคำของพวกพราหมณ์จงอย่าเป็นจริงดังนี้.

               พฺยาธิปุริสวณฺณนา               
               บทว่า อทฺทสา โข ความว่า กุมารได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษที่ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมแสดงโดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล.
               บทว่า อาพาธิกํ ความว่า มีความเจ็บป่วยด้วยอาพาธต่างกันอันทำลายอิริยาบถ.
               บทว่า ทุกฺขิตํ คือ ถึงทุกข์ด้วยทุกข์ คือโรค.
               บทว่า พาฬฺหคิลานํ คือ ไข้หนัก. บทว่า ปลิปนฺนํ คือ จม.
               แม้ในบทนี้ว่า ชราจักปรากฏ พยาธิจักปรากฏ ความว่า เมื่อมีชาติ ชราพยาธิทั้งสองนี้ย่อมปรากฏ ชาติน่ารังเกียจไม่มีชาติจะปลอดโปร่ง เพราะเหตุนั้น พระกุมารประทับนั่งขุดรากของชาติ ดุจถูกศรลูกที่สองแทง.

               กาลกตปุริสวณฺณนา               
               บทว่า วิลาตํ คือ วอ.
               บทว่า เปตํ คือ ละไปจากโลกนี้. บทว่า กาลกตํ คือ ตาย.
               อธิบายว่า อันคนเรากระทำสิ่งทั้งปวงตลอดกาลที่เป็นอยู่ ครั้นเสร็จแล้วก็ตาย. พรหมทั้งหลายแสดงแม้เรื่องนี้แก่พระกุมารโดยนัยก่อนนั่นแล.
               แม้ในบทว่า ยตฺร หิ นาม นี้ก็มีอธิบายว่า เมื่อมีชาติ ชราพยาธิมรณะทั้ง ๓ นี้ ย่อมปรากฏ ชาติเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เมื่อไม่มีชาติก็ปลอดโปร่ง เพราะเหตุนั้น พระกุมารประทับนั่งขุดรากของชาติดุจถูกศรลูกที่ ๓ แทง.

               ปพฺพชิตวณฺณนา               
               บทว่า ภณฺฑุํ คือ โล้น.
               พรหมทั้งหลายแสดงแม้เรื่องนี้แก่พระกุมารโดยนัยก่อนนั้นแล.
               ในบทว่า สาธุ ธมฺมจริยา เป็นต้น ความว่า สารถีทูลพระกุมารว่า ข้าแต่เทวะ ความเป็นผู้ประพฤติธรรมนี้ เป็นความดี ดังนี้
               พึงทราบการประกอบบทหนึ่งๆ อย่างนี้ว่า ปพฺพชิโต ดังนี้.
               อนึ่ง บททั้งหมดนี้เป็นไวพจน์ของกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้นเอง.
               ก็ในที่สุดบทว่า อวิหึสา เป็นส่วนเบื้องต้นของกรุณา.
               บทว่า อนุกมฺปา เป็นส่วนเบื้องต้นของเมตตา.
               บทว่า เตนหิ เป็นนิบาตในความว่าเร่งเร้า.
               เพราะพระกุมารทอดพระเนตรเห็นบรรพชิตแล้วมีพระทัยน้อมไปในบรรพชา.
               ลำดับนั้น พระกุมารมีพระประสงค์จะตรัสกับสารถีนั้น เมื่อจะทรงส่งสารถีกลับ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เตนหิ ดังนี้.

               โพธิสตฺตปพฺพชฺชาวณฺณนา               
               บทว่า อถโข ภิกฺขเว ความว่า พระกุมารทรงสดับคำเป็นต้นว่า การประพฤติธรรมเป็นความดีของบรรพชิต และคำอื่นอีกมากอันเป็นธรรมกถาประกอบด้วยโทษของผู้อยู่ครองเรือน อันคับแคบด้วยบุตรและภรรยาที่หมู่มหาชนรักษาอยู่และประกอบด้วยอานิสงส์แห่งวิเวกของบรรพชิตผู้อยู่ในป่าตามสบาย มีใจเป็นเช่นมฤค แล้วมีพระประสงค์จะบรรพชา
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล วิปัสสีกุมารจึงได้เรียกสารถีมา.
               ชื่อว่าการเห็นเทวทูตทั้ง ๒ เหล่านี้แล้วบวชเป็นวงศ์ เป็นแบบแผน เป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์.
               อนึ่ง พระโพธิสัตว์แม้เหล่าอื่นก็ย่อมเห็นสิ้นกาลนาน เหมือนพระวิปัสสีกุมารพระองค์นี้ทรงเห็นแล้วตลอดกาลนาน. แต่พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ วันเดียวเท่านั้น ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ทรงบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมา จากนั้น เสด็จถึงกรุงราชคฤห์
               ณ ที่นั้น พระราชาพิมพิสารทูลถามว่า ท่านบัณฑิต ท่านบวชเพื่ออะไร
               ตรัสว่า
                         มหาบพิตร อาตมาเห็นคนแก่ คนเจ็บได้รับทุกข์ และ
                         คนตายถึงอายุขัย กับได้เห็นบรรพชิตนุ่งห่มผ้ากาสายะ
                         เพราะฉะนั้น จึงบวช ถวายพระพร.

               มหาชนกายอนุปพฺพชฺชาวณฺณนา               
               บทว่า สุตฺวาน เตสํ ความว่า มหาชน ๘๔,๐๐๐ คนนั้นได้สดับแล้วได้มีดำริดังนี้.
               บทว่า โอรโก คือ พร่อง ลามก.
               บทว่า อนุปพฺพชึสุ คือ บวชตาม.
               ก็เพราะเหตุใด ในที่นี้ ท่านจึงไม่กล่าวเหมือนที่ท่านกล่าวไว้ข้างต้นว่า พระกุมารเสด็จออกจากราชธานีพันธุมดี โดยท่านขัณฑะและท่านติสสะออกบวชตาม.
               เพราะออกไปแล้ว จึงได้สดับ.
               ได้ยินว่า มหาชนแม้ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นบุรุษอุปฐากของพระวิปัสสีกุมาร. มหาชนเหล่านั้นมาอุปฐากแต่เช้าตรู่ ครั้นไม่เห็นพระกุมาร จึงพากันกินอาหารเช้า ครั้นกินอาหารเช้าเสร็จแล้วจึงมา ถามว่า พระกุมารไปไหน
               ครั้นสดับว่า พระกุมารเสด็จไปพระอุทยานจึงพากันออกไปด้วยคิดว่า พวกเราจักเฝ้าพระกุมารในพระอุทยานนั้น
               ครั้นเห็นสารถีกลับ ได้สดับคำของสารถีนั้นว่า พระกุมารทรงบรรพชาแล้วจึงเปลื้องอาภรณ์ทุกอย่างไว้ในที่ที่ได้สดับแล้วนั่นเอง ให้คนนำผ้ากาสายะสีเหลืองจากตลาดมา แล้วปลงผมและหนวดบวชแล้ว. ด้วยเหตุดังนี้ ในที่นี้จึงไม่กล่าวว่า ออกจากราชธานีพันธุมดี เพราะออกจากนครแล้วจึงได้สดับนอกนคร.
               บทว่า จาริกํ จรติ ความว่า พระวิปัสสีโพธิสัตว์สร้างมณฑปใหญ่ในที่ที่ไปแล้ว ตระเตรียมทานมารับนิมนต์ในวันรุ่งขึ้นรับภิกษาที่มหาชนขอร้องไว้ เที่ยวจาริกไปตลอด ๔ เดือน.
               บทว่า อากิณฺโณ คือ ถูกแวดล้อมด้วยคณะนี้.
               ก็ความวิตกนี้เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์เมื่อไร.
               ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เพราะวันพรุ่งนี้จักเป็นวันเพ็ญเดือน ๖.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า พวกนี้ เมื่อก่อนแวดล้อมเราผู้เป็นคฤหัสถ์เที่ยวไปอย่างใด แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่อีก ประโยชน์อะไรด้วยคณะนี้ ทรงรังเกียจด้วยการปะปนอยู่กับคณะ ทรงดำริว่า เราจะไปวันนี้แหละ แล้วทรงดำริต่อไปว่า วันนี้ยังไม่ถึงเวลา หากเราจักไปเดี๋ยวนี้ พวกนี้ทั้งหมดก็จะรู้ เราจักไปวันพรุ่งนี้.
               อนึ่ง ในวันนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านเช่นกับหมู่บ้านอุรุเวลาได้นิมนต์พระโพธิสัตว์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น.
               ชาวบ้านเหล่านั้นตระเตรียมข้าวปายาสสำหรับบรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปและสำหรับพระมหาบุรุษ. ขณะนั้น พระมหาบุรุษได้ฉันอาหารกับบรรพชิตเหล่านั้นในบ้านนั้น ในวันรุ่งขึ้นแล้วได้ไปที่อยู่. ณ ที่นั้น พวกบรรพชิตได้ปรนนิบัติพระมหาบุรุษเสร็จแล้วเข้าไปที่พักกลางคืนและกลางวันของตนๆ.
               แม้พระโพธิสัตว์ก็เสด็จเข้าไปประทับนั่ง ณ บรรณศาลา ทรงรำพึงว่า
                                   เมื่อถึงเวลาเที่ยง นกทั้งหลายมารวมกัน
                         ป่าใหญ่จะมีเสียงอึกกะทึก ภัยนั้นจะส่องถึงเรา

               ในคราวมีภัยแก่ผู้ยินดีในความสงัด ในคราวมีความวุ่นวายแก่สัตว์ทั้งปวงเห็นปานนี้ พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่านี้ถึงเวลาแล้ว จึงเสด็จออกปิดประตูบรรณศาลา บ่ายพระพักตร์สู่โพธิมัณฑะ. แม้ในกาลอื่น พระโพธิสัตว์เที่ยวไปในที่นั้น ทรงเห็นโพธิมัณฑ์ แต่พระทัยพระโพธิสัตว์นั้นไม่เคยน้อมไปเพื่อประทับนั่งเลย. แต่วันนั้น พระญาณของพระโพธิสัตว์ถึงความแก่กล้า เพราะฉะนั้น เกิดจิตเพื่อทอดพระเนตรโพธิมัณฑะที่ตกแต่งแล้วเสด็จขึ้นไป.
               พระโพธิสัตว์นั้นเสด็จเข้าไปโดยส่วนทิศใต้ทรงกระทำประทักษิณปูบัลลังก์กว้าง ๑๔ ศอกในส่วนทิศตะวันออก ทรงอธิษฐานความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ ประทับนั่งทรงตั้งปฏิญญาว่า เราจะไม่ลุกจากที่นี้ตลอดเวลาที่เรายังมิได้เป็นพุทธะ.
               ท่านกล่าวบทนี้ว่า พระโพธิสัตว์พระองค์เดียวหลีกออกจากคณะอยู่ หมายถึงการหลีกออกจากพระโพธิสัตว์พระองค์นี้.
               บทว่า อญฺเญเนว ตานิ ความว่า นัยว่า บรรพชิตเหล่านั้นมาอุปฐากพระโพธิสัตว์ ตอนเย็นแล้วนั่งล้อมบรรณศาลากล่าวว่า เกินเวลาไปมากแล้ว พวกท่านจงเข้าไปสังเกตการณ์ ครั้นเปิดบรรณศาลา แม้เมื่อไม่เห็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็มิได้ติดตามให้รู้ว่า พระโพธิสัตว์เสด็จไปไหน.
               พวกบรรพชิตคิดว่า พระมหาบุรุษทรงเบื่อในการอยู่ร่วมคณะ เห็นจะมีพระประสงค์จะประทับอยู่พระองค์เดียว พวกเราจักเห็นพระโพธิสัตว์ตอนได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนั่นแหละ แล้วพากันมุ่งหน้าไปภายในชมพูทวีป หลีกออกจาริกไป.

               อภินิเวสวณฺณนา               
               บทว่า วาสูปคตสฺส ความว่า เข้าไปอยู่ราตรีหนึ่ง ณ โพธิมัณฑะ.
               บทว่า รโหคตสฺส คือ ไปในที่ลับ.
               บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส คือ เร้นอยู่ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า กิจฺฉํ คือ ยาก.
               ก็ทั้งสองบทนี้ คือ จวติ จ อุปปชฺชสิ จ ท่านกล่าวหมายถึงจุติและปฏิสนธิต่อๆ ไป.
               ในบทว่า ชรามรณสฺส นี้ความว่า เพราะพระโพธิสัตว์ เมื่อทรงผนวชทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตายนั่นแลจึงทรงผนวช ฉะนั้น ชราและมรณะนั่นแลย่อมปรากฏแก่พระโพธิสัตว์นั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า ชรามรณสฺส ดังนี้.
               ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ความปริวิตกนี้ได้มีแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ผู้กระทำชราและมรณะ ให้เป็นข้อมูลตั้งมั่นเฉพาะแล้วดุจหยั่งลงจากภวัคคพรหม.
               บทว่า โยนิโสมนสิการา ความว่า กระทำไว้ในใจโดยอุบาย คือทำทางไว้ในใจ. อธิบายว่า จริงอยู่ เมื่อกระทำไว้ในใจซึ่งลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น โดยลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ชื่อว่าผู้กระทำไว้ในใจโดยอุบายแยบคาย.
               อนึ่ง โยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งของบรรดาอภิสมัยเหล่านั้น เพราะความเป็นไปด้วยสามารถแห่งปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับว่า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชาติเป็นต้นย่อมมี เมื่ออะไรไม่มี ชาติเป็นต้นย่อมไม่มีดังนี้ เพราะฉะนั้น การตรัสรู้ด้วยปัญญาได้มีแก่พระโพธิสัตว์นั้น เพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคายจากนี้ คือด้วยการกระทำไว้ในใจโดยอุบายนี้ ดังนั้น เมื่อสิ่งใดมี ชรามรณะย่อมมี การรวมกันเข้ากับเหตุ คือชราและมรณะนั้นได้มีด้วยพระปัญญาของพระโพธิสัตว์. ก็ชราและมรณะนั้นมีเพราะอะไร. เพราะชาติ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อชาติมี ชรามรณะจึงมี การรวมกันเข้ากับปัญญากำหนดเหตุแห่งชราและมรณะได้มีแก่พระโพธิสัตว์ นี้เป็นอธิบายในข้อนี้. พึงทราบบททั้งหมดโดยทำนองนี้.
               ก็ในบทว่า เมื่อนามรูปมี วิญญาณจึงมี นี้ ความว่า ควรจะกล่าวว่า เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี และเมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี แม้ทั้งสองนั้นเชื่อถือไม่ได้. เพราะอะไร. เพราะอวิชชากับสังขารเป็นอดีตภพ. วิปัสสนานี้ไม่ต่อกับอวิชชาและสังขารเหล่านั้น.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษทรงตั้งมั่นอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งปัจจุบัน. อันผู้ไม่เห็นอวิชชาและสังขาร ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้มิใช่หรือ. จริง ไม่อาจเป็นได้. แต่ธรรมเหล่านั้นอันพระมหาบุรุษนี้เห็นแล้วด้วยสามารถแห่งภพ อุปาทานและตัณหา. ก็ในที่นี้ควรกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทโดยพิสดาร. ปฏิจจสมุปบาทนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า ปจฺจุทาวตฺตติ คือ กลับเวียนมา.
               ก็ในบทนี้ วิญญาณกลับเวียนมาเป็นไฉน.
               วิญญาณนั้นได้แก่ ปฏิสนธิวิญญาณบ้าง วิปัสสนาวิญญาณบ้าง ในวิญญาณทั้งสองนั้น ปฏิสนธิวิญญาณกลับเวียนมาแต่ปัจจัย วิปัสสนาวิญญาณกลับเวียนมาแต่อารมณ์. แม้ทั้งสองก็ไม่พ้นนามรูป อื่นจากนามรูปย่อมไปไม่ได้.
               ในบททั้งหลายมีอาทิว่า เอตฺตาวตา ชาเยถ วา ความว่า ท่านแสดงบททั้ง ๕ พร้อมด้วยจุติและปฏิสนธิอื่นๆ อย่างที่ว่า เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป และเมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ แม้เมื่อทั้งสองก็เป็นปัจจัยของกันและกัน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สัตว์โลกพึงเกิดบ้าง พึงแก่บ้าง พึงตายบ้าง พึงจุติบ้าง พึงอุบัติบ้าง ก็นอกจากนี้อย่างอื่นยังมีอีกหรือ สัตว์พึงเกิดบ้าง ฯลฯ พึงอุบัติบ้าง นี้เท่านั้นมิใช่หรือสัตว์ย่อมเกิด ฯลฯ และย่อมอุบัติ เมื่อจะขยายความที่ท่านกล่าวคำนั้นอีกว่า เอตฺตาวตา จึงกล่าวว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีรูปนาม ต่อจากนั้น เพื่อจะแสดงชาติชราและมรณะแม้ต่อไปอันมีนามรูปเป็นรากเหง้า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ด้วยสามารถปัจจยาการโดยอนุโลม จึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ.
               ในบททั้งหลายเหล่านั้น บทว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ ความว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลมีประเภทเป็นต้นว่า ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมมีได้. พระมหาบุรุษได้เห็นความเกิดแห่งวัฏฏทุกข์ทั้งมวลด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สมุทโย สมุทโยติ โข ความว่า เกิดขึ้น เกิดขึ้นดังนี้แล.
               บทว่า อนนุสฺสุเตสุ ความว่า ไม่ได้สดับมาแล้ว คือไม่เคยฟังมาแล้ว.
               ในบททั้งหลายว่า จักษุเกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น ความว่า ก็ปัญญาเห็นความเกิดนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นจักษุ ด้วยอรรถว่าเห็น เป็นญาณด้วยอรรถว่าทำให้รู้ เป็นปัญญาด้วยอรรถว่ารู้ทั่ว เป็นวิชชาด้วยอรรถว่ารู้แจ้งแทงตลอดเกิดขึ้นแล้ว เป็นอาโลกะ ด้วยอรรถว่าเป็นแสงสว่างดังนี้.
               เหมือนอย่างท่านกล่าวแล้วว่า จักษุเกิดขึ้นแล้วโดยอรรถว่าเห็น ญาณเกิดขึ้นแล้วโดยอรรถว่ารู้แล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้วโดยอรรถว่ารู้ทั่ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วโดยอรรถว่าแทงตลอด อาโลกะเกิดขึ้นแล้วโดยอรรถว่าแสงสว่าง จักษุเป็นเหตุ อรรถว่าเห็นเป็นผล ญาณเป็นเหตุ อรรถว่ารู้แล้วเป็นผล ปัญญาเป็นเหตุ อรรถว่ารู้ชัดเป็นผล วิชชาเป็นเหตุ อรรถว่าแทงตลอดเป็นผล อาโลกะเป็นเหตุ อรรถว่าแสงสว่างเป็นผลดังนี้.
               ท่านกล่าวด้วยบทเพียงเท่านี้หรือ.
               ท่านกล่าวเพียงให้กำหนดรู้ปัจจัยว่า เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมีดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึง ตรุณวิปัสสนาอันเป็นแนวทางปฏิบัติ.
               บทว่า อธิคโต โข มยายํ ความว่า มรรคนี้อันเราบรรลุแล้ว.
               บทว่า มคฺโค คือ วิปัสสนามรรค.
               บทว่า โพธาย ความว่า เพื่อรู้อริยสัจ ๔ หรือเพื่อรู้นิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อโพธิ เพราะรู้. นี้เป็นชื่อของอริยมรรค. เป็นอันท่านกล่าวว่าเพื่อประโยชน์แก่อริยมรรคนั้นบ้าง. เพราะอริยมรรคมีวิปัสสนามรรคเป็นมูล.
               บัดนี้ เมื่อจะขยายความมรรคนั้น จึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า ยทิทํ นามรูปนิโรธา ดังนี้. อนึ่ง ในบทนี้ ท่านกล่าวถึงนิพพานเท่านั้นด้วยบทปฐมาวิภัตติ์ว่า วิญฺญาณนิโรโธ เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ พระมหาบุรุษได้ทรงเห็นการดับคือความไม่เกิดขึ้นแห่งวัฏฏทุกข์ทั้งมวล.
               บทว่า นิโรโธ นิโรโธติ โข ความว่า ไม่เกิด ไม่เกิดแล.
               บทว่า จกฺขุํ เป็นต้นมีความอันท่านกล่าวไว้แล้วนั่นแล แต่ในที่นี้ ด้วยบททั้งหมดนี้ ท่านกล่าวเพียงให้รู้ถึงความดับเท่านั้นว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึงวิปัสสนาแก่กล้าอันจะให้ถึงความพ้นไป.
               บทว่า อปเรน สมเยน ความว่า พระโพธิสัตว์ทรงรู้ปัจจัยและความดับแห่งปัจจัยอย่างนี้ในสมัยอื่นจากนั้น.
               บทว่า อุปาทานกฺขนฺเธสุ คือ ในขันธ์อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน.
               บทว่า อุทยพฺพยานุปสฺสี ความว่า พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อมที่เห็นแล้วครั้งแรกนั่นแหละ.
               บทว่า วิหาสิ ความว่า พระโพธิสัตว์ทรงเจริญวิปัสสนาอันเป็นเหตุให้ถึงความพ้นสุดยอดอยู่.
               ท่านกล่าวข้อนี้ไว้เพราะเหตุไร. เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทรงบำเพ็ญบารมีในปัจฉิมภพ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในวันพระโอรสประสูติ ทรงผนวช ทรงประกอบความเพียรเสด็จขึ้นโพธิบัลลังก์ ทรงกำจัดมารและเสนามารในยามต้น ทรงระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในภพก่อน ในยามที่สองทรงชำระทิพพจักขุ ในยามที่สามทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌานกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงเพ่งพินิจในขันธ์ ๕ ทรงเห็นลักษณะ ๕๐ ถ้วนด้วยสามารถความเกิดและความเสื่อมทรงเจริญวิปัสสนา จนกระทั่งถึงโคตรภูญาณแล้วทรงแทงตลอดพุทธคุณทั้งสิ้นด้วยอริยมรรค.
               อนึ่ง พระมหาบุรุษแม้พระองค์นี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีแล้ว พระองค์ทรงกระทำตามลำดับทั้งหมด ดังที่กล่าวแล้วในปัจฉิมยาม ทรงออกจากจตุตถฌาน กำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงเพ่งพินิจในขันธ์ ๕ ทรงปรารภการเห็นแจ้งความเกิดและความเสื่อมมีประการดังที่กล่าวแล้ว. ท่านกล่าวถึงความเห็นแจ้งอันจะให้ถึงความพ้นนี้ เพื่อแสดงถึงความเห็นแจ้งความเกิดและความเสื่อมนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิติรูปํ ความว่า รูปนี้ รูปมีประมาณเท่านี้ รูปเบื้องบนจากนี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงการกำหนดรูปอันไม่มีส่วนเหลือ ด้วยสามารถแห่งลักษณะรสปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐาน กระทำสภาวะแห่งการสลายไป และประเภทแห่งการอาศัยเกิดเป็นอาทิ. ท่านกล่าวความเห็นเหตุเกิดแห่งรูปที่กำหนดไว้อย่างนี้ ด้วยบทนี้ว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิติ ความว่า อย่างนี้เป็นเหตุเกิด.
               พึงทราบความพิสดารของบท สมุทโย นั้นอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิด เพราะตัณหาเกิด รูปจึงเกิด เพราะกรรมเกิด รูปจึงเกิด เพราะอาหารเกิด รูปจึงเกิด เพราะเหตุนั้น แม้เห็นลักษณะแห่งการเกิดอยู่ก็ย่อมเห็นเหตุเกิดของรูปขันธ์. แม้ในความดับก็พึงทราบความพิสดารอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ รูปจึงดับ ฯลฯ แม้เห็นลักษณะแห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่ก็ย่อมเห็นความดับแห่งรูปขันธ์.
               แม้ในบททั้งหลายว่า อิติ เวทนา เป็นต้น ก็มีความว่า เวทนานี้ เวทนามีประมาณเท่านี้ เวทนาเบื้องบนจากนี้ย่อมไม่มี สัญญานี้ สังขารเหล่านี้ วิญญาณนี้ วิญญาณมีประมาณเท่านี้ วิญญาณเบื้องบนจากนี้ย่อมไม่มีดังนี้ ท่านกล่าวกำหนดเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณไม่เหลือด้วยสามารถแห่งลักษณะรสปัจจุปัฎฐานและปทัฎฐาน กระทำสภาพแห่งความเสวยอารมณ์ ความรู้สึก การปรุงและความเข้าใจ และประเภทแห่งสุขเป็นต้น รูปสัญญาเป็นต้น ผัสสะเป็นต้น จักขุวิญญาณเป็นต้น ให้เป็นอาทิ. ก็แต่ว่าท่านกล่าวถึงความเห็นเหตุเกิดแห่งเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณทั้งหลายที่กำหนดไว้อย่างนี้ ด้วยบทว่า อิติ เวทนาย สมุทโย เป็นต้น.
               บทว่า อิติ แม้ในบทนั้นก็มีความว่า อย่างนี้เป็นเหตุเกิดดังนี้.
               ความพิสดารแม้ของบทเหล่านั้นว่า เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในรูปนั้นแล.
               แต่มีความแปลกออกไปดังนี้.
               ในขันธ์ ๓ ไม่ควรกล่าวว่า เพราะอาหารเกิด ควรกล่าวว่า เพราะผัสสะเกิด. ในวิญญาณขันธ์ ควรกล่าวว่า เพราะนามรูปเกิด. แม้บทว่า ความดับ พึงประกอบด้วยสามารถแห่งบทเหล่านั้นนั่นแล. นี้เป็นสังเขปในบทนี้.
               ข้อวินิจฉัยความเกิดและความเสื่อมอย่างพิสดารบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นทรงพิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ความว่า เมื่อพระวิปัสสีโพธิสัตว์นั้นพิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อมด้วยสามารถลักษณะ ๕๐ ถ้วน ในอุปาทานขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้นเหล่านี้อยู่ เมื่อวิปัสสนาญาณเจริญแล้วตามลำดับ จิตไม่ยึดมั่นเพราะไม่เกิด ย่อมพ้นจากกิเลสทั้งหลาย กล่าวคืออาสวะดับสนิทด้วยอนฺปาทนิโรธ. จิตนั้นชื่อว่าย่อมพ้นในขณะมรรค ชื่อว่าพ้นแล้วในขณะผล หรือว่าพ้นแล้วและจะพ้นในขณะมรรค เป็นอันพ้นแล้วในขณะผลนั่นเอง. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล พระมหาบุรุษทรงพ้นแล้วจากเครื่องผูกมัดทั้งปวง มีพระสันดานเบิกบานดุจประทุมต้องแสงอาทิตย์ฉะนั้น มีพระดำริบริบูรณ์ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ ทรงกระทำมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ และพระพุทธคุณทั้งมวลให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์.
               ทรงกระทำไว้ในพระทัยอย่างนี้ว่า
                                   เราแล่นไปสิ้นสงสารหลายชาติ แสวงหาช่างทำเรือนไม่พบ
                         การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนช่างทำเรือน เราพบท่านแล้ว ท่าน
                         จะไม่ทำเรือนอีก เราหักซี่โครงของท่านหมดแล้ว เรารื้อเรือนยอด
                         เสียแล้ว จิตของเราไม่ได้ปรุงแต่งแล้ว เราได้บรรลุความสิ้นตัณหา
                         แล้ว.๑-
                                   ไม่มีคติเพื่อประกาศแก่ผู้ที่พ้นโดยชอบ ผู้ข้ามโอฆะอันผูก
                         มัดด้วยกาม ผู้บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหว เหมือนอันใครๆ ไม่รู้คติ
                         ของผู้ทำลายท่อนเหล็กอันรุ่งเรืองด้วยพระเวท เป็นผู้สงบโดยลำดับ
                         ฉะนั้น.๒-

               ทรงรุ่งเรืองดุจพระอาทิตย์ในสารทกาลและดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่มที่ ๒๕/ข้อ ๒๑
๒- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๗๘

               จบภาณวารกถาที่ ๒               

               ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนา               
               พึงทราบในภาณวารที่ ๓.
               บทว่า ยนฺนูนาหํ ธมฺมํ เทเสยฺยํ ความว่า ไฉนหนอ เราจะพึงแสดงธรรม.
               ก็วิตกนี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อไร. เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ ๘ ของผู้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสีนั้นเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ตลอดสัปดาห์ ประทับยืนเพ่งดูโพธิบัลลังก์ตลอดสัปดาห์ เสด็จจงกรม ณ เรือนแก้วตลอดสัปดาห์ ประทับนั่งเฟ้นพระธรรม ณ เรือนแก้วตลอดสัปดาห์ ประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธตลอดสัปดาห์ ประทับนั่ง ณ โคนมุจลินท์ตลอดสัปดาห์ ประทับนั่ง ณ ราชายตนะตลอดสัปดาห์ เสด็จลุกจากราชายตนะนั้น พอพระองค์เสด็จมาในสัปดาห์ที่ ๘ ประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ความวิตกนี้และความวิตกนอกเหนือจากนี้ที่พระพุทธเจ้าประพฤติและประพฤติมาอย่างสม่ำเสมอเกิดขึ้นแล้วแก่พระพุทธเจ้าทั้งปวง.
               ในบททั้งหลายเหล่านั้น บทว่า อธิคโต คือ แทงตลอดแล้ว.
               บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรม คืออริยสัจ ๔.
               บทว่า คมฺภีโร นี้ เป็นชื่อของการปฏิเสธความเป็นของตื้น.
               บทว่า ทุทฺทโส ความว่า เป็นธรรมที่เห็นได้ยาก คือเป็นธรรมอันบุคคลเห็นโดยยาก คือไม่สามารถเห็นง่าย เพราะเป็นธรรมลึกซึ้ง. เพราะเป็นธรรมที่เห็นได้ยาก จึงเป็นธรรมที่รู้ตามยากอันบุคคลพึงตรัสรู้โดยยาก คือไม่สามารถตรัสรู้ได้โดยง่าย.
               บทว่า สนฺโต คือ ดับสนิทแล้ว. บทว่า ปณีโต คือ ไม่เร่าร้อน. ทั้งสองบทนี้ท่านกล่าวหมายถึง โลกุตตระนั่นเอง.
               บทว่า อตกฺกาวจโร ความว่า ไม่ควรคาดคะเน คือไม่ควรหยั่งลงด้วยการตรึก ควรคาดคะเนด้วยญาณเท่านั้น.
               บทว่า นิปุโณ คือ ละเอียด. บทว่า ปณฺฑิตเวทนีโย ความว่า อันบัณฑิตผู้ปฏิบัติปฏิปทาชอบพึงรู้ได้.
               บทว่า อาลยรามา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมติดในกามคุณ ๕ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้น ท่านกล่าวว่าอาลยา. สัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่กับความพัวพันวิปริตของตัณหา ๑๐๘ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอาลยา. สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีด้วยอาลัยเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอาลยรามา คือมีอาลัยเป็นที่ยินดี. สัตว์ทั้งหลายยินดีแล้วในอาลัย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอาลยรตา คือยินดีแล้วในอาลัย. สัตว์ทั้งหลายเบิกบานแล้วด้วยดีในอาลัยทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาลยสมฺมุทิตา คือเบิกบานแล้วในอาลัย.
               สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีด้วยอาลัยในกามและอาลัยในตัณหาแม้เหล่านี้ เป็นผู้เบิกบานกระสันในสังสารวัฏอยู่ เหมือนพระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยาน อันสมบูรณ์ด้วยรุกขชาติที่เต็มไปด้วยดอกและผลเป็นต้น ซึ่งตกแต่งไว้เป็นอย่างดี ทรงรื่นรมย์เบิกบานชื่นชมเพลิดเพลินด้วยสมบัตินั้นๆ ไม่ทรงเบื่อหน่าย ไม่ทรงพระประสงค์จะเสด็จกลับ แม้เย็นแล้วฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความอาลัยแม้ ๒ อย่าง ดุจภาคพื้นอุทยานแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสว่า อาลยรามา คือมีอาลัยเป็นที่ยินดีดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต. พึงทราบความอย่างนี้ว่า
               บทว่า ยํ อิทํ หมายถึง ฐานะของบทนั้น.
               บทว่า โย อยํ หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท. ปัจจัยของบททั้งสองนี้ว่า อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปาโท ชื่ออิทัปปัจจยา คือสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้. ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตา และปฏิจฺจสมุปฺปาโท เพราะความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ และปัจจัยอันเป็นที่อาศัยกันเกิดขึ้น. บทนี้เป็นชื่อของ อวิชฺชา เป็นต้น อันเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้น.
               บททั้งหมดว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น เป็นนิพพานอย่างเดียว. เพราะความดิ้นรนของสังขารทั้งปวงอาศัยนิพพานนั้นย่อมสงบย่อมระงับ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สพฺพสงฺขารสมโถ คือ เป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวงดังนี้.
               อนึ่ง เพราะกิเลสทั้งปวงเป็นอันสลัดทิ้งไปได้ ตัณหาทั้งปวงสิ้นไป กิเลสราคะทั้งปวงคลายไป ทุกข์ทั้งปวงดับไป เพราะอาศัยนิพพานนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค คือ เป็นที่สลัดกิเลสทั้งปวง ตณฺหกฺขโย เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา วิราโค คลายความกำหนัด นิโรโธ ดับทุกข์ ดังนี้. ก็ตัณหานั้นย่อมนำไป คือร้อยรัดภพด้วยภพหรือกรรมกับด้วยผลกรรม เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตัณหากระทำการร้อยรัด. ชื่อนิพพานเพราะออกจากเครื่องร้อยรัดนั้น.
               บทว่า โส มมสฺส กิลมโถ ความว่า การแสดงธรรมแก่ผู้ไม่รู้พึงเป็นความลำบากของเรา. เป็นอันท่านกล่าวว่า พึงเป็นความลำบากทางกาย และพึงเป็นการเบียดเบียนทางกาย. ก็แต่ว่าทั้งสองนี้มิได้มีในดวงจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า อปิสฺสุ เป็นนิบาตในอรรถว่า พอกพูน. นิบาตนั้นแสดงว่า มิใช่ได้มีความวิตกนี้อย่างเดียว แม้คาถาเหล่านี้ก็แจ่มแจ้งแล้ว. ในบททั้งหลายว่า วิปสฺสึ เป็นอาทิความว่า พระวิปัสสีพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า อนจฺฉริยา คือ อัศจรรย์น้อย.
               บทว่า ปฏิภํสุ ความว่า ธรรมเป็นโคจรทั้งหลายได้เกิดแก่ญาณกล่าวคือปฏิภาณ ถึงซึ่งความเป็นธรรมพึงปริวิตก.
               บทว่า กิจฺเฉน ความว่า โดยยาก คือมิใช่เพื่อปฏิบัติยาก. เพราะแม้มรรค ๔ ก็ย่อมเป็นข้อปฏิบัติง่ายของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. บทนี้ ท่านกล่าวหมายถึงการปฏิบัติเพื่อได้คุณวิเศษมาของท่านที่ยังมีราคะ มีโทสะ และมีโมหะ ในเวลาบำเพ็ญบารมีนั้นเอง ให้สิ่งเป็นต้นอย่างนี้ คือตัดศีรษะที่ประดับตกแต่งแล้ว เอาเลือดออกจากคอ ควักดวงตาทั้งสองข้างที่หยอดยาไว้อย่างดี สละบุตรผู้จะดำรงวงศ์ตระกูล สละภรรยาผู้มีความประพฤติเป็นที่พอใจแก่ผู้ขอทั้งหลายที่พากันมา และถึงอย่างอื่นมีการตัดและทำลายในอัตภาพ เช่นกับขันติวาทีดาบสเป็นต้น.
                อักษรในบทว่า หลํ นี้เป็นเพียงนิบาต แปลว่า ควร.
               บทว่า ปกาสิตุํ คือเพื่อแสดง คือเมื่อคนบรรลุธรรมได้ยากอย่างนี้ ก็ไม่ควรแสดง คือควรแสดงกับคนฉลาด ท่านอธิบายว่า ประโยชน์อะไรด้วยการแสดง.
               บทว่า ราคโทสปเรเตหิ คือ ถูกราคะโทสะครอบงำ หรือราคะโทสะติดตามไป.
               บทว่า ปฏิโสตคามึ ความว่า สัจจธรรม ๔ อันถึงแล้วอย่างนี้ว่า เป็นธรรมทวนกระแสแห่งความเที่ยงเป็นต้น คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตนและไม่งาม.
               บทว่า ราครตฺตา ความว่า ถูกกามราคะ ภวราคะและทิฐิราคะย้อมไว้.
               บทว่า น ทกฺขนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายจักไม่เห็นตามความเป็นจริงนี้ว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนไม่งามดังนี้ ใครเล่าจักอาจเพื่อให้ผู้ที่ไม่เห็นเหล่านั้น ถือเอาอย่างนี้ได้.
               บทว่า ตโมกฺขนฺ เธน อาวุฏา ความว่า ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อไว้.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺกตาย ความว่า เพราะไม่ประสงค์จะทรงแสดง โดยความเป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย. ก็เพราะเหตุไร พระทัยของพระองค์จึงน้อมไปอย่างนี้เล่า พระองค์ทรงกระทำความปรารถนาไว้ว่า เรานั่นพ้นแล้วจักปลดเปลื้องสัตว์ เราข้ามได้แล้วจักให้สัตว์ข้ามบ้าง
                                   จะได้ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้รู้แจ้งธรรมในโลกนี้แล้ว
                         จะไม่ให้ผู้อื่นรู้บ้าง เราบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว จักยังสัตว์
                         พร้อมด้วยเทวดาให้ข้ามพ้นไป

               ดังนี้ มิใช่หรือ แล้วทรงบำเพ็ญบารมีจนได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.
               ข้อนั้นเป็นความจริง แต่จิตของพระองค์ทรงน้อมไปอย่างนั้นด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณา.
               จริงอยู่ เมื่อพระองค์บรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายยังยึดกิเลสอยู่ และความที่พระธรรมเป็นธรรมลึกซึ้ง ความที่สัตว์ทั้งหลายยังยึดถือกิเลสอยู่ และความที่พระธรรมเป็นธรรมลึกซึ้ง ปรากฏโดยอาการทั้งปวง.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อพระองค์ทรงดำริว่า สัตว์เหล่านี้แลเต็มไปด้วยกิเลสเศร้าหมองยิ่งหนัก ถูกราคะย้อม ถูกโทสะครอบงำ ลุ่มหลงไปด้วยโมหะ ดุจน้ำเต้าเต็มไปด้วยน้ำส้ม ดุจถาดเต็มไปด้วยเปรียง ดุจผืนผ้าขี้ริ้วชุ่มไปด้วยมันเหลวและน้ำมัน ดุจมือเปื้อนไปด้วยยาหยอดตา เขาเหล่านั้นจักรู้แจ้งแทงตลอดไปได้อย่างไร ดังนี้
               จิตจึงน้อมไปอย่างนั้น ด้วยอานุภาพแห่งการยึดถือกิเลสและการพิจารณา.
               อนึ่ง พระธรรมนี้ลึกซึ้งดุจลำน้ำหนุนแผ่นดินไว้ เห็นได้ยากดุจเมล็ดผักกาดที่ถูกภูเขากำบังไว้ ตั้งอยู่ และรู้ตามได้ยากดุจการแยกปลายด้วยปลายของขนสัตว์ที่ผ่าออก ๑๐๐ ส่วน.
               จริงอยู่ เราพยายามเพื่อรู้แจ้งแทงตลอด ธรรมนี้ไม่มีทานที่ไม่ได้ให้ ไม่มีศีลที่ไม่ได้รักษา ไม่มีบารมีที่ไม่ได้บำเพ็ญมิใช่หรือ แม้เมื่อเรากำจัดมารและเสนามารดุจไร้ความอุตสาหะ แผ่นดินก็ไม่หวั่นไหว แม้เมื่อเราระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในชาติก่อนในปฐมยามได้ก็ไม่หวั่นไหว แม้เมื่อเราชำระทิพพจักษุในมัชฌิมยามก็ไม่หวั่นไหว แต่เมื่อเรารู้แจ้งแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม แผ่นดินหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว ด้วยประการดังนี้
               แม้ชนเช่นเรายังรู้แจ้งแทงตลอดธรรมนี้ด้วยญาณอันกล้าได้โดยยากถึงเพียงนี้แล้ว มหาชนชาวโลกจักรู้แจ้งแทงตลอดธรรมนั้นได้อย่างไร เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า จิตของพระองค์น้อมไปแล้วอย่างนั้น แม้ด้วยอานุภาพแห่งความที่พระธรรมเป็นธรรมลึกซึ้งและด้วยการพิจารณาดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระพรหมทูลวิงวอน จิตของพระองค์ก็น้อมไปอย่างนี้ เพราะมีพระประสงค์จะแสดง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า เมื่อจิตของเราน้อมไปเพราะความที่เราเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย มหาพรหมวิงวอนเราเพื่อขอให้แสดงธรรม ก็สัตว์เหล่านี้เป็นผู้เคารพพรหม เมื่อรู้ว่ามีข่าวว่า พระศาสดาไม่มีพระประสงค์จะแสดงธรรมแก่พวกเรา ทีนั้น มหาพรหมทูลวิงวอนพระองค์ให้แสดงแล้ว ผู้เจริญทั้งหลาย พระธรรมสงบหนอ ประณีตหนอดังนี้ จักตั้งใจฟัง ดังนี้.
               พึงทราบว่า อาศัยเหตุนี้ จิตของพระองค์จึงน้อมไป เพื่อความที่พระองค์เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม.
               ในบทว่า อญฺญตรสฺส นี้ ท่านกล่าวว่า อญฺญตโร ก็จริง ถึงดังนั้นพึงทราบว่า นั่นคือมหาพรหมผู้ใหญ่ในจักรวาฬนี้.
               บทว่า นสฺสติ วต โภ โลโก ความว่า นัยว่า มหาพรหมนั้นเปล่งเสียงนี้ โดยที่หมู่พรหมในหมื่นโลกธาตุสดับแล้ว ทั้งหมดประชุมกัน.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ ในโลกชื่อใด.
               บทว่า ปุรโต ปาตุรโหสิ ความว่า มหาพรหมได้ปรากฏพร้อมกับพรหมหนึ่งหมื่นเหล่านั้น.
               บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา ความว่า ธุลี คือราคะโทสะและโมหะเบาบาง คือนิดหน่อย ในดวงตาอันสำเร็จด้วยปัญญา สภาพอย่างนี้ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นยังมีอยู่ เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายชื่อว่า อปฺปรชกฺขชาติกา คือ มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบาง.
               บทว่า อสฺสวนตา คือ เพราะมิได้ฟัง.
               บทว่า ภวิสฺสนฺติ ความว่า ท่านแสดงว่า สัตว์ทั้งหลายผู้สร้างสมบุญไว้แล้วถึงความแก่กล้าในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ด้วยสามารถบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หวังพระธรรมเทศนาอย่างเดียวเหมือนประทุมชาติหวังแสงอาทิตย์ เป็นผู้ควรหยั่งลงสู่อริยภูมิ ในเมื่อจบคาถา ๔ บท ไม่ใช่คนเดียว ไม่ใช่สองคน มีหลายแสนจักเป็นผู้รู้ธรรม ดังนี้.
               บทว่า อชฺเฌสนํ คือ วิงวอนอย่างนี้ ๓ ครั้ง.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ความว่า ด้วยปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย และด้วยอาสยานุสยญาณ.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุ เป็นชื่อแห่งญาณทั้งสองนี้.
               บทว่า สมนฺตจกฺขุ เป็นชื่อแห่งพระสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า ธมฺมจกฺขุ เป็นชื่อแห่งมรรคญาณ ๓.
               ในบทว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้น ความว่า สัตว์ที่มีธุลีมีราคะเป็นต้น ในปัญญาจักษุน้อยโดยนัยที่กล่าวนั้นแล. ชื่อว่า อปฺปรชกฺขา คือมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย. สัตว์ที่มีธุลีมีราคะเป็นต้นนั้นในปัญญาจักษุมาก ชื่อว่า มหารชกฺขา คือมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก. สัตว์ที่มีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นแก่กล้า ชื่อว่า ติกฺขินฺทฺริยา คือมีอินทรีย์แก่กล้า. สัตว์ที่มีอินทรีย์เหล่านั้นอ่อน ชื่อว่า มุทุนฺทฺริยา คือมีอินทรีย์อ่อน. สัตว์ที่มีอาการมีศรัทธาเป็นต้น เหล่านั้นดี ชื่อ สฺวาการา คือมีอาการดี. สัตว์ที่กำหนดเหตุที่กล่าวสามารถให้รู้ได้ง่าย ชื่อว่า สุวิญฺญาปยา คือให้รู้แจ้งได้ง่าย. สัตว์ที่เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยชื่อว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวิโน คือมักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย.
               ก็ในเรื่องที่มีบาลีดังนี้
               บุคคลที่มีศรัทธา มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บุคคลผู้ปรารภความเพียร มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บุคคลผู้เกียจคร้านมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บุคคลผู้มีสติตั้งมั่นมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บุคคลผู้มีสติลุ่มหลง มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บุคคลผู้มีปัญญามีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บุคคลผู้มีปัญญาทรามมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก เช่นเดียวกันบุคคลผู้มีศรัทธามีอินทรีย์แก่กล้า ฯลฯ บุคคลผู้มีปัญญามักเห็นโลกอื่นและโทษด้วยความเป็นภัย บุคคลผู้มีปัญญาทรามมักไม่เห็นโลกอื่นและโทษโดยความเป็นภัย.
               บทว่า โลโก ได้แก่ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก สมบัติภวโลก วิบัติภวโลก สมบัติและวิบัติภวโลก วิบัติสัมปัติภวโลก
               โลกหนึ่ง คือ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ได้ด้วยอาหาร. โลก ๒ คือ นามและรูป.
               โลก ๓ คือ เวทนา ๓. โลก ๔ คือ อาหาร ๔. โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕.
               โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖. โลก ๗ คือ ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗.
               โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘. โลก ๙ คือ ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ ๙.
               โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐. โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒. โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘.
               บทว่า วชฺชํ ได้แก่ กิเลสทุกชนิดเป็นโทษ ทุจริตทุกชนิดเป็นโทษ อภิสังขารทุกชนิดเป็นโทษ กรรม คือการไปสู่ภพทุกชนิดเป็นโทษด้วยประการฉะนี้ ทั้งในโลกนี้ ทั้งโทษนี้ เป็นอันปรากฏความหมายรู้โดยความเป็นภัยอย่างแรงกล้าเหมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงรู้ทรงเห็น ทรงรู้ยิ่ง ทรงแทงตลอดอินทรีย์ ๕ เหล่านี้ ด้วยอาการ ๕๐ เหล่านี้ ่นี้เป็นพระปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งของอินทรีย์ทั้งหลายของพระตถาคต.
               บทว่า อุปฺปลินิยํ คือ ในกอบัว. แม้ในบทนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนฺโตนิมุคฺคโปสีนิ คือ ดอกบัวแม้เหล่าอื่นใดจมอยู่ในน้ำอันน้ำเลี้ยงไว้.
               บทว่า อุทกํ อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺฐนฺติ คือบัวบางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ.
               ในบทนั้น อธิบายว่า บัวบางเหล่าที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำคอยรอสัมผัสแสงอาทิตย์แล้วบานในวันนี้. บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำจักบานในวันพรุ่งนี้. บางเหล่ายังจมอยู่ภายในน้ำอันน้ำเลี้ยงไว้จักบานในวันที่ ๓. แต่ว่ายังมีดอกบัวเป็นต้นที่มีโรคแม้เหล่าอื่นไม่ขึ้นพ้นจากน้ำแล้ว ดอกบัวเหล่าใดจักไม่บาน จักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้น ท่านไม่ควรนำขึ้นสู่บาลีได้แสดงไว้ชัดแล้ว.
               บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล.
               ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่ออุคฆฏิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่าวิปจิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแบบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าเนยย. บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่าปทปรมะ.๑-
               ในบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ เช่นกับดอกบัว เป็นต้น ได้ทรงเห็นแล้วว่า บุคคลจำพวกอุคฆฏิตัญญู ดุจดอกบัวจะบานในวันนี้ บุคคลจำพวกวิปจิตัญญู ดุจดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้ บุคคลจำพวกเนยยะ ดุจดอกบัวจักบานในวันที่ ๓ บุคคลจำพวกปทปรมะ ดุจดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงตรวจดูได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่า สัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อยมีประมาณเท่านี้ สัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมากมีประมาณเท่านี้ แม้ในสัตว์เหล่านั้นจำพวกที่เป็นอุคฆฏิตัญญู มีประมาณเท่านี้ ดังนี้.
               ในสัตว์ ๔ จำพวกนั้น การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคล ๓ จำพวกในอัตภาพนี้แล. พวกปทปรมะจะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคต.
____________________________
๑- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๑๐๘

               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาอันนำมาซึ่งประโยชน์แก่บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้แล้ว ยังความเป็นผู้มีพระประสงค์จะทรงแสดงให้เกิดขึ้น ได้ทรงจัดสัตว์แม้ทั้งปวงในภพ ๓ ใหม่ ให้เป็นสองส่วนด้วยสามารถแห่งภัพสัตว์และอภัพสัตว์
               สัตว์ที่ท่านกล่าวหมายถึงนั้น คือ
               สัตว์เหล่าใดประกอบด้วยกัมมาวรณะ วิปากาวรณะ กิเลสาวรณะ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความพยายาม มีปัญญาทราม เป็นผู้ไม่ควรก้าวลงสู่ความชอบในธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลอย่างแน่นอน สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้นั้นเป็นอภัพสัตว์
               ภัพสัตว์เป็นไฉน สัตว์เหล่าใดไม่ประกอบด้วย กัมมาวรณะ ฯลฯ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้นั้นเป็นภัพสัตว์ ดังนี้.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๘๒-๒๘๓

               ในบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอภัพบุคคลแม้ทั้งหมด ทรงกำหนดภัพบุคคลอย่างเดียวด้วยพระญาณ ได้ทรงจัดให้เป็น ๖ ส่วน คือสัตว์จำพวกราคจริตประมาณเท่านี้ สัตว์จำพวกโทสจริต โมหจริต วิตักกจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต มีประมาณเท่านี้.
               ครั้นทรงจัดอย่างนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า เราจักแสดงธรรม ดังนี้
               พรหม ครั้นทราบดังนั้นแล้ว เกิดโสมนัส ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาหลายคาถา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อถโข โส ภิกฺขเว มหาพฺรหฺมา เป็นต้น ทรงหมายถึงข้อนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌภาสิ ตัดบทเป็น อธิ อภาสิ. อธิบายว่า ได้กราบทูลปรารภยิ่งขึ้นไป.
               บทว่า เสเล ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฎฺฐิโต คือ เหมือนคนยืนอยู่บนภูเขาหินล้วน.
               จริงอยู่ เมื่อคนยืนอยู่บนยอดภูเขานั้นก็ไม่มีกิจเป็นต้นว่ายกและยืดคอ แม้เพื่อจะดู.
               บทว่า ตถูปมํ ความว่า เปรียบด้วยสิ่งนั้น คือเปรียบด้วยภูเขาหินล้วน.
               ก็ความสังเขปในเรื่องนี้มีดังนี้.
               บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาหินล้วนพึงเห็นหมู่ชนโดยรอบฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้มีปัญญาดี มีจักษุโดยรอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณก็ฉันนั้น เสด็จขึ้นสู่ปราสาทสำเร็จด้วยธรรมสำเร็จด้วยปัญญา เป็นผู้ปราศจากความโศกด้วยพระองค์เอง ทรงพิจารณา ทรงใคร่ครวญ ทรงตรวจตราหมู่ชนผู้เกลือกกลั้วไปด้วยความโศก ถูกชาติชราครอบงำแล้ว.
               ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ เหมือนอย่างว่า มนุษย์ทั้งหลายกระทำที่ดินผืนใหญ่โดยรอบเชิงภูเขา แล้วปลูกกะท่อมในแนวพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ณ ที่ดินผืนนั้น จุดไฟในเวลากลางคืน อนึ่ง ที่ดินนั้นพึงมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔.
               ขณะนั้น เมื่อบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขานั้น มองดูพื้นที่ที่ดินไม่ปรากฏ แนวพื้นที่เพาะปลูกไม่ปรากฏ กระท่อมไม่ปรากฏ พวกมนุษย์ที่นอนในกระท่อมนั้นไม่ปรากฏ แต่ปรากฏเพียงเปลวไฟในกระท่อมทั้งหลาย เท่านั้น ฉันใด
               เมื่อพระตถาคตเสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาททรงตรวจดูหมู่สัตว์ สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ทำความดี แม้นั่ง ณ ข้างพระชานุเบื้องขวา ในในที่อยู่แห่งเดียวกัน ก็ฉันนั้น ก็ไม่มาถึงคลองแห่งพุทธจักษุ ย่อมเป็นเหมือนลูกศรที่ซัดไปในเวลากลางคืน แต่สัตว์ทั้งหลายที่ทำความดี เป็นเวไนยบุคคล แม้ยืนอยู่ไกลพระตถาคตนั้น ย่อมมาสู่คลองได้. สัตว์เหล่านั้นย่อมเป็นดุจไฟและดุจภูเขาหิมพานต์.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         สัตบุรุษทั้งหลายย่อมปรากฏ ณ ที่ไกล เหมือนภูเขาหิมพานต์
               อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ ณ ที่นี้ เหมือนลูกศรที่เขาซัดไปใน
               เวลากลางคืน ฉะนั้น.
๓-
____________________________
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑

               บทว่า อุฎฺเฐหิ ความว่า พรหมกราบทูลวิงวอนถึงการเสด็จจาริก เพื่อโปรดแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พึงทราบในบทว่า วีร เป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าวีระ เพราะพระองค์มีความเพียร ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงความ เพราะพระองค์ทรงชนะเทวบุตตมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร ชื่อว่าเป็นผู้นำพวก เพราะพระองค์ทรงข้ามชาติกันดารเป็นต้นได้ คือ เพราะพระองค์สามารถแนะนำแล้วนำพวกไปได้ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะไม่มีหนี้ คือกามฉันทะ ดังนี้.
               บทว่า อปารุตา คือ เปิดเผย. บทว่า ประตูอมตะ ได้แก่ อริยมรรค. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า เพราะเราได้เปิดประตูนิพพาน กล่าวคืออมตะ ตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า ปมุญฺจนฺตุ สทฺธํ ความว่า ผู้มีโสตทั้งปวง จงปล่อย คือสละศรัทธาของตนเถิด. ในสองบทหลังมีเนื้อความว่า ด้วยว่า เราเป็นผู้มีความรู้สึกลำบากด้วยกายและวาจา จึงมิได้กล่าวธรรมอันประณีต คือสูงสุดนี้ ซึ่งตนทำให้คล่องแคล่ว คือเป็นไปด้วยดีแล้ว ก็บัดนี้ ชนทั้งปวงจงน้อมนำภาชนะคือศรัทธาเข้าไปเถิด เราจักยังความดำริของชนเหล่านั้นให้บริบูรณ์ ดังนี้.

               พุทฺธกิจฺจวณฺณนา               
               บทว่า โพธิรุกฺขมูเล ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้หายพระองค์ที่ต้นอชปาลนิโครธไม่ไกลโพธิพฤกษ์. บทว่า เขเม มิคทาเย ความว่า อิสิปตนมฤคทายวัน โดยสมัยนั้นเป็นสวน ชื่อว่าเขมะ ก็สวนนั้นท่านให้ชื่อว่ามฤคทายวัน เพราะเป็นที่ที่ท่านให้เพื่ออยู่โดยปลอดภัยแก่เนื้อทั้งหลาย. ท่านกล่าวว่า เขเม มิคทาเย หมายถึงสวนนั้น.
               แม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี เสด็จไปเพื่อทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก ได้เสด็จไปทางอากาศแล้ว เสด็จลง ณ ที่นั้นเหมือนกัน. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของอุปกาชีวก ทรงทราบว่า อุปกะเดินมาทางนี้ เห็นเราจักสนทนากับเราแล้วไป แต่แล้วอุปกะเบื่อหน่ายจักมาหาเราอีก แล้วจักทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ดังนี้ ได้เสด็จด้วยพระบาทเปล่าสิ้นทาง ๑๘ โยชน์.
               บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกคนเฝ้ามฤคทายวัน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรดูคนเฝ้าสวนมฤคทายวันหลายครั้งแล้ว ตรัสเรียกให้เข้าไปหา ตรัสสั่งให้ไปบอกขัณฑราชบุตรและติสสบุตรปุโรหิตว่า ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จมาแล้ว.
               บทว่า อนุปุพฺพีกถํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกถาตามลำดับอย่างนี้ คือทานกถา ศีลในลำดับทาน สวรรค์ในลำดับศีล มรรคในลำดับสวรรค์.
               กถาปฏิสังยุตด้วยคุณของทานมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทานกถํ ความว่า ชื่อว่า ทานนี้เป็นเหตุของความสุขทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะทั้งหลาย เป็นความต้านทานเป็นที่อาศัย เป็นคติ เป็นเครื่องค้ำจุนของผู้ที่ถึงความสงบวิเศษ ที่พึ่ง ที่ตั้งอารมณ์ ความต้านทาน ที่อาศัยคติการค้ำจุน เช่นกับทานย่อมไม่มีในโลกนี้ และในโลกหน้า.
               จริงอยู่ ทานนี้ชื่อว่าเช่นกับสีหาศน์ สำเร็จด้วยแก้วเพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่ง ชื่อว่าเช่นกับแผ่นดินใหญ่ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง ชื่อว่าเช่นกับเชือกรัด เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ชื่อว่าเช่นกับเรือ เพราะอรรถว่าข้ามไปจากทุกข์ ชื่อว่าเช่นกับความกล้าในสงคราม เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปลอบใจ ชื่อว่าเช่นกับนครที่ปรับปรุงดีแล้ว เพราะอรรถว่าป้องกันภัย ชื่อว่าเช่นกับประทุม เพราะอรรถว่าไม่ติดด้วยมลทิน คือความตระหนี่เป็นต้น ชื่อว่าเช่นกับไฟ เพราะอรรถว่าเผากิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าเช่นกันอสรพิษ เพราะอรรถว่าเข้าไปใกล้ได้ยาก ชื่อว่าเช่นกับสีหะ เพราะอรรถว่าไม่สะดุ้ง ชื่อว่าเช่นกับช้าง เพราะอรรถว่ามีกำลัง ชื่อว่าเช่นกับวัวผู้เผือก เพราะอรรถว่าเห็นเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าเช่นกับพญาม้าวลาหก เพราะอรรถว่าให้ถึงพากพื้นแห่งความปลอดภัย
               จริงอยู่ ทานย่อมให้สักกสมบัติในโลก ย่อมให้มารสมบัติ พรหมสมบัติ จักรพรรดิสมบัติ สาวกปารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ.
               ก็เพราะเมื่อให้ทานจึงสามารถสมาทานศีลได้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสสีลกถาในลำดับทานนั้น.
               บทว่า สีลกถํ ความว่า กถาปฏิสังยุตด้วยคุณของศีล มีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าศีลนี้ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ เป็นเครื่องป้องกัน เป็นที่อาศัย เป็นคติ เป็นเครื่องค้ำจุน
               จริงอยู่ ที่พึ่ง ที่ตั้ง อารมณ์ เครื่องป้องกัน ที่อาศัย คติ เครื่องค้ำจุน เช่นกับศีล ย่อมไม่มี แก่สมบัติในโลก นี้และโลกหน้า เครื่องประดับเช่นกับศีล ย่อมไม่มี ดอกไม้เช่นกับดอกไม้คือศีล ย่อมไม่มี กลิ่นเช่นกับกลิ่นศีล ย่อมไม่มี.
               จริงอยู่ โลกพร้อมด้วยเทวโลก แลดูการประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล การตกแต่งด้วยดอกไม้คือศีล การลูบไล้ด้วยกลิ่นคือศีล ย่อมไม่ถึงความอิ่ม.
               เพื่อจะแสดงว่า คนได้สวรรค์ เพราะอาศัยศีลนี้ พระองค์จึงตรัสสัคคกถาในลำดับศีล.
               บทว่า สคฺคกถํ ความว่า กถาปฏิสังยุตด้วยสวรรค์ มีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าสวรรค์นี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ กีฬาอันเป็นทิพย์สมบัติ ย่อมได้ในสวรรค์นี้เป็นนิจ เหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาย่อมได้ทิพยสุขและทิพยสมบัติตลอดเก้าล้านปี เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมได้ทิพยสุขและทิพยสมบัติตลอดสามโกฏิปีและหกล้านปี.
               จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสถึงสมบัติสวรรค์ยังไม่พอปาก. ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพึงกล่าวสัคคกถาโดยปริยายไม่น้อยแล ดังนี้เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงล่อด้วยตรัสถึงสวรรค์อย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงว่า แม้สวรรค์นี้ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความกำหนัดด้วยความพอใจในสวรรค์นี้ เหมือนประดับช้างแล้วตัดงวงช้างนั้น จึงตรัสถึงโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า กามทั้งหลายมีความชื่นชมน้อย มีทุกข์มาก มีความคับใจมาก โทษในกามนี้ยอดยิ่งนัก๑- ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาทีนโว คือ โทษ.
               บทว่า โอกาโร คือ ความเลวทราม ความลามก.
               บทว่า สํกิเลโส ความว่า ความเศร้าหมองในสงสารของสัตว์ทั้งหลาย มีขึ้นด้วยกามทั้งหลายนั้น. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจักเศร้าหมอง ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคุกคามด้วยโทษของกามอย่างนี้แล้ว ทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ. อธิบายว่า ทรงประกาศคุณของบรรพชา.
               บทที่เหลือมีดังกล่าวแล้วในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร และมีใจความง่าย.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๑๑

               บทว่า อลตฺถุํ คือ ได้แล้วอย่างไร. ได้แล้วโดยความเป็นเอหิภิกขุ.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูการสั่งสมบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ ทรงเห็นการถวายจีวรเป็นต้น ในชาติไม่น้อยของหมู่ชนเหล่านั้นจึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงมาเถิด ดังนี้. หมู่ชนเหล่านั้นมีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสายะ มีภิกขุบริขาร ๘ สวมในร่างกาย นั่งถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจพระเถระมีพรรษา ๒๐.
               ในบทว่า สนฺทสฺเสสิ เป็นต้น ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า.
               เมื่อทรงแสดงถึงประโยชน์ในโลกนี้ ทรงแสดงว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังนี้ ทรงแสดงขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท เมื่อทรงแสดงความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ทรงแสดงถึงลักษณะ ๕ เมื่อทรงแสดงความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์เป็นต้น ก็อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงลักษณะ ๕๐ ด้วยสามารถความเกิดขึ้นและความเสื่อม. เมื่อทรงแสดงถึงประโยชน์ในโลกหน้า ทรงแสดงถึงนรกกำเนิดเดียรัจฉาน เปรตวิสัย อสุรกาย ทรงแสดงอันเป็นวิบากแห่งกุศล ๓ อย่าง สมบัติแห่งเทวโลก ๖ ชั้น พรหมโลก ๙ ชั้น.
               บทว่า สมาทเปสิ ความว่า ให้ถือกัลยาณธรรมมีปาริสุทธิศีล ๔ ธุดงค์ กถาวัตถุ ๑๐ เป็นต้น.
               บทว่า สมุตฺเตเชสิ คือ ให้อาจหาญด้วยดี ให้อุตสาหะยิ่งๆ ขึ้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้หวาดสะดุ้งให้หวาดกลัวประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าตรัสทำดุจบรรลุแล้ว. ก็เมื่อพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคทรงทำให้สัตว์หวาดสะดุ้งหวาดกลัวแล้วตรัสถึงประโยชน์โลกนี้อันมีประเภท เช่น กัมมกรณ์ ๓๒ และมหาภัย ๒๕ ย่อมทำให้เกิดความหวาดสะดุ้ง ดุจถูกมัดแขนไพล่หลังจนแน่นแล้วโบย ๑๐๐ ครั้งที่ทาง ๔ แพร่ง นำออกไปทางประตูทิศใต้ ดุจวางศีรษะที่ระฆังสำหรับประหาร ดุจเสียบบนหลาวและดุจถูกช้างซับมันเหยียบ. และเมื่อทรงกล่าวถึงประโยชน์ในโลกหน้าย่อมเป็นดุจเกิดในนรกเป็นต้นและดุจเสวยสมบัติในเทวโลก.
               บทว่า สมฺปหํเสติ คือ ให้รื่นเริงด้วยคุณที่ตนได้แล้ว. อธิบายว่า ทรงกล่าวทำให้มีอานิสงส์มาก.
               บทว่า สงฺขารานํ อาทีนวํ ความว่า ตรัสถึงโทษของกามทั้งหลายเพื่อบรรลุปฐมมรรคขั้นตํ่า. แต่ในบทนี้ เพื่อบรรลุมรรคเบื้องสูง พระองค์จึงทรงประกาศโทษของสังขารทั้งหลาย และความที่สังขารทั้งหลายลามก และความลำบากอันมีสังขารเป็นปัจจัยโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ปลอดโปร่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อันนี้เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย เพียงพอเพื่อคลายกำหนัด เพียงพอเพื่อความหลุดพ้น๑- ดังนี้.
               ทรงประกาศอานิสงส์ในนิพพานโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่านิพพานนี้มีอยู่ในเนกขัมมะเหมือนกัน เป็นสิ่งประณีต เป็นเครื่องป้องกัน เป็นที่อาศัย ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๒๒ อง. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๓

               มหาชนกายปพฺพชฺชาวณฺณนา               
               บทว่า มหาชนกาโย ความว่า หมู่มหาชนผู้เป็นอุปฐากของกุมารทั้งสองนั้นนั่นแล.
               บทว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระธรรมเป็นที่พึ่ง ดังนี้ ความว่า หมู่ชนเหล่านั้นได้กล่าววาจาสองหน [คือกล่าวถึงพระพุทธเจ้าหนหนึ่งพระธรรมหนหนึ่ง] เป็นสรณะ เพราะยังไม่ครบพระสงฆ์.
               บทว่า อลตฺถุํ คือ ได้แล้วโดยความเป็นเอหิภิกขุ โดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนก่อน. แม้ในคราวที่บวชแล้วในลำดับจากนี้ก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า ปริวิตกฺโก อุทปาทิ ความว่า ความปริวิตกเกิดขึ้นเมื่อไร. เกิดขึ้นเมื่อล่วง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จากการตรัสรู้.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการสงเคราะห์พระชนกอยู่แล้ว. แม้พระราชาก็ทรงดำริว่า โอรสคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โอรสคนที่สองของเราออกบวชเป็นอัครสาวก บุตรปุโรหิตเป็นสาวกรูปที่สอง. อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เหลือเหล่านี้ แม้ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ก็ได้แวดล้อมโอรสของเราเที่ยวไป ภิกษุเหล่านี้ เมื่อก่อนเป็นภาระของเราแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นภาระของเราอยู่นั่นเอง เราจักบำรุงภิกษุเหล่านั้นด้วยปัจจัย ๔ เราจักไม่ให้โอกาสแก่ผู้อื่นดังนี้.
               พระราชารับสั่งให้สร้างกำแพงทำด้วยไม้ตะเคียนทั้งสองข้างตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงพระทวารเมืองราชคฤห์ คลุมด้วยเสื่อลำแพนมุงด้วยผ้า และปกปิดในเบื้องบน ทรงให้ทำเพดานมีพวงดอกไม้หลายชนิดประมาณเท่าลำตาล ห้อยย้อยลงมาวิจิตรด้วยดวงทอง ข้างล่างพื้นลาดด้วยเครื่องลาดอันสวยงาม รับสั่งให้จัดดอกไม้ในลำดับกลิ่น และกลิ่นในลำดับดอกจนเต็มหม้อน้ำ ในสวนดอกไม้ ในข้างทั้งสองภายในเพื่อให้อยู่ในทางเดียวกันทั้งสิ้น แล้วรับสั่งให้กราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุเสด็จไปเมืองราชคฤห์ ภายในม่านนั่นเองเสวยพระอาหารเสร็จแล้วเสด็จกลับพระวิหาร. ใครๆ อื่น ย่อมไม่ได้แม้แต่เห็น ก็การถวายภิกษาก็ดี การทำการบูชาก็ดี การฟังธรรมก็ดีจะมีแต่ไหนเล่า.
               ชาวเมืองคิดกันว่า วันนี้ เมื่อพระศาสดาทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว พวกเราไม่ได้แม้เพื่อเห็นตลอด ๗ ปี ๗ เดือน จะกล่าวไปไยถึงการถวายภิกษา การทำการบูชา หรือการฟังธรรม พระราชาทรงรักใคร่หวงแหนว่า พระพุทธเจ้าของเราผู้เดียว พระธรรมของเราผู้เดียว พระสงฆ์ของเราผู้เดียวแล้ว ทรงบำรุงเพียงองค์เดียว ก็พระศาสดา เมื่อทรงอุบัติ ได้อุบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก. จริงอยู่ นรกของพระราชาไม่พึงร้อน ของคนเหล่าอื่นเช่นกับกอบัวขาบ เพราะฉะนั้น พวกเราจะกราบทูลพระราชา หากพระราชาไม่ทรงให้พระศาสดาแก่พวกเรา ก็ดีละ หากไม่ทรงให้พวกเราแม้ต้องรบกับพระราชา ก็จะพาสงฆ์ไปแล้วทำบุญมีทาน เป็นต้น แต่ชาวเมืองผู้บริสุทธิ์คงไม่อาจทำอย่างนั้น พวกเราจะยึดถือบุรุษผู้เจริญคนหนึ่งดังนี้.
               ชาวเมืองเหล่านั้น เขาไปหาเสนาบดีบอกความนั้นแก่เสนาบดีแล้ว กล่าวว่า นาย ฝ่ายของพวกเรายังมีอยู่หรือ หรือจะมีแด่พระราชา. เสนาบดีนั้นกล่าวว่า เราเป็นฝ่ายของพวกท่าน ก็แต่ว่า วันแรกควรให้เราก่อน ภายหลังจึงถึงวาระของพวกท่าน. พวกชาวเมืองเหล่านั้นรับคำ.
               เสนาบดีนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ชาวเมืองเขาพากันโกรธพระองค์ พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามว่า โกรธเรื่องอะไรเล่าพ่อ. กราบทูลว่า นัยว่า พระองค์เท่านั้นทรงบำรุงพระศาสดา พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย หากว่า ชาวเมืองได้ในบัดนี้บ้าง พวกเขาก็จะไม่โกรธ เมื่อไม่ได้พวกเขาประสงค์จะรบกับพระองค์ พระเจ้าข้า. ตรัสว่า นี่แน่เจ้า เราจะรบ เราจะไม่ให้หมู่สงฆ์. ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ชาวเมืองเป็นทาสของพระองค์ พวกข้าพระองค์จะรบกับพระองค์. ตรัสว่า พวกเจ้าจักจับใครรบ. เจ้าเป็นเสนาบดีมิใช่หรือ. กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์เว้นชาวเมืองเสียแล้วไม่สามารถจะรบได้ พระเจ้าข้า.
               แต่นั้น พระราชาทรงทราบว่า ชาวเมืองมีกำลังมากแม้เสนาบดี ก็เป็นฝ่ายพวกชาวเมืองเสียแล้ว แล้วตรัสว่า พวกชาวเมืองจงให้หมู่ภิกษุแก่เราตลอด ๗ ปี ๗ เดือนต่อไป พวกชาวเมืองไม่ยอมรับ พระราชาทรงลดมา ๖ ปี ๕ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี. แม้ให้ลดอย่างนี้ชาวเมืองก็ไม่ยอมรับ. พระราชาทรงขอ ๗ วันอื่น.
               พวกชาวเมืองคิดกันว่า บัดนี้ พวกเราไม่ควรทำความรุนแรงกับพระราชา จึงอนุญาต.
               พระราชาทรงตระเตรียมทานมุขที่พระองค์ตระเตรียมไว้แล้วถึง ๗ ปี ๗ เดือน เหลือเพียง ๗ วันเท่านั้น ตลอด ๖ วัน ทรงให้ทานแก่คนบางพวกผู้ยังไม่เห็นเท่านั้น ในวันที่ ๗ ตรัสเรียกชาวเมืองมาตรัสว่า พวกท่านจักสามารถให้ทานเห็นปานนี้ได้หรือ. แม้พวกชาวเมืองก็พากันกราบทูลว่า ทานนั้นอาศัยพวกข้าพระองค์นั่นแหละจึงเกิดขึ้นแด่พระองค์แล้วมิใช่หรือ กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์จักสามารถพระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงเช็คพระอัสสุชลด้วยหลังพระหัตถ์ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดแล้วว่า ข้าพระองค์จักไม่ทำภิกษุหกล้านแปดแสนรูปให้เป็นภาระของผู้อื่น จักบำรุงด้วยปัจจัย ๔ จนตลอดชีวิต บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตแก่ชาวเมืองแล้ว เพราะชาวเมืองพากันโกรธว่า พวกเราไม่ได้เพื่อถวายทาน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ พวกพระคุณเจ้าทั้งหลายจงกระทำอนุเคราะห์แก่ชาวเมืองเหล่านั้นเกิด.
               ครั้นถึงวันที่สอง เสนาบดีตระเตรียมมหาทาน แล้วกล่าวว่า วันนี้ พวกท่านจงรักษาโดยที่คนอื่นบางคนจะไม่ถวายแม้ภิกษาอย่างเดียวได้ ได้ตั้งบุรุษไว้โดยรอบ.
               ในวันนั้น ภรรยาเศรษฐีร้องไห้พูดกะลูกสาวว่า ลูกเอ๋ย หากบิดาของลูกยังมีชีวิตอยู่ วันนี้ แม่คงจะยังพระทศพลให้เสวยก่อน. ลูกสาวพูดกะแม่ว่า แม่จ๋าอย่าคิดไปเลย ลูกจักกระทำโดยที่หมู่ภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจักเสวยภิกษาของพวกเราก่อน. แต่นั้น ในถาดทองคำมีค่าประมาณหนึ่งแสน เต็มไปด้วยข้าวปายาสไม่มีน้ำ นางได้ปรุงเนยใส่น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดเป็นต้น เอาถาดใบอื่นครอบถาดทองคำล้อมถาดนั้นด้วยสายพวงดอกมะลิกระทำคล้ายเชือกร้อยดอกไม้ ในเวลาพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่บ้าน นางยกขึ้นเอง แวดล้อมด้วยหมู่พี่เลี้ยงออกจากเรือน.
               ในระหว่างทาง พวกคนใช้ของเสนาบดีกล่าวว่า ดูก่อนแม่นาง เจ้าอย่ามาทางนี้. ธรรมดาหญิงผู้มีบุญมาก ย่อมมีคำพูดน่าพอใจ. เมื่อคนใช้ของเสนาบดีเหล่านั้นพูดบ่อยๆ ก็ไม่อาจห้ามถ้อยคำของนางได้. นางกล่าวว่า อาจ๋า ลุงจ๋า น้าจ๋า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงไม่ให้ฉันไปเล่า. คนรับใช้เหล่านั้นกล่าวว่า เสนาบดีตั้งเราไว้ว่า พวกท่านจงอย่าให้ใครๆ อื่นถวายของเคี้ยวของบริโภคได้. นางกล่าวว่า ก็พวกท่านเห็นของเคี้ยวของบริโภคในมือของฉันหรือ. คนใช้ตอบว่า พวกเราเห็นพวงดอกไม้. นางถามว่า เสนาบดีของพวกท่านไม่ให้เพื่อทำแม้การบูชาด้วยพวงดอกไม้ดอกหรือ. คนใช้ตอบว่า ให้ซิแม่นาง.
               นางกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหลีกไปเถิด แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงให้รับพวงดอกไม้นี้เถิด พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูคนใช้ของเสนาบดีคนหนึ่งให้รับพวงดอกไม้. นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า เมื่อข้าพเจ้ามีอันต้องเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ขอจงอย่ามีชีวิตหวาดสะดุ้งเลย ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ และขอให้ชื่อว่าสุมนา ในที่ที่เกิด ดุจพวงดอกมะลิเถิด แล้วพระศาสดาตรัสว่า ขอนางจงมีความสุขเถิด แล้วนางถวายบังคมกระทำประทักษิณหลีกไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเรือนเสนาบดีประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาปูไว้ เสนาบดีถือข้าวยาคูเข้าไปถวาย. พระศาสดาทรงปิดบาตร. เสนาบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หมู่ภิกษุนั่งแล้ว พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า พวกเรามีบิณฑบาตอย่างหนึ่งซึ่งได้ในระหว่าง. เสนาบดีนำพวงดอกไม้ออก ได้เห็นบิณฑบาตแล้ว จุฬุปฐากกล่าวว่า มาตุคามกล่าวกะข้าพเจ้าว่า นาย ดอกไม้ได้หลอกลวงเสียแล้ว. ข้าวปายาสเพียงพอแก่ภิกษุทั้งหมด ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น. แม้เสนาบดีก็ได้ถวายไทยธรรมของตน.
               พระศาสดาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ตรัสมงคล เสด็จกลับ.
               เสนาบดีถามว่า หญิงถวายบิณฑบาตนั้นชื่ออะไร. เป็นลูกสาวเศรษฐีจ๊ะนาย. เสนาบดีคิดว่า หญิงนั้นมีปัญญา เมื่อหญิงเห็นปานนี้อยู่ในเรือน ชื่อว่าสมบัติ คือสวรรค์ของบุรุษจะหาได้ไม่ยาก จึงนำหญิงนั้นมาตั้งไว้ในตำแหน่งพี่ใหญ่.
               วันรุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันถวายทาน ได้ปรารภเพื่อถวายโดยสลับกันไปอย่างนี้ว่า แม้พระราชาก็จะทรงถวายในวันรุ่งขึ้น. พระราชาทรงตั้งจารบุรุษไว้แล้ว ทรงถวายให้ยิ่งกว่าทานที่ชาวเมืองถวาย. แม้ชาวเมืองก็กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน ถวายยิ่งกว่าทานที่พระราชาทรงถวาย.
               หญิงฟ้อนทั้งหลายในเมืองราชคฤห์ กล่าวกะสามเณรหนุ่มว่า พ่อสามเณรทั้งหลาย นิมนต์รับทานที่ไม่ได้กระทำด้วยมือที่เช็ดที่ผ้าเช็ดตัวของคฤหบดีทั้งหลาย แล้วชำระล้างน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้นของเด็กอ่อน กระทำให้เป็นทานสะอาดประณีต.
               วันรุ่งขึ้น แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็กล่าวกะสามเณรหนุ่มทั้งหลายว่า พ่อสามเณรทั้งหลาย นิมนต์รับทานที่ไม่ทำด้วยข้าวสารน้ำนมน้ำส้มและเนยใสที่คร่ามาในเมืองในบ้านและนิคมเป็นต้น ไม่ได้ทำด้วยการทำลายแข้งศีรษะและหลังของผู้อื่นแล้วนำมาถวาย กระทำด้วยเนยใสและน้ำนมอย่างแท้เป็นต้นทีเดียว.
               ครั้นเมื่อล่วงไป ๗ ปี ๗ เดือนและ ๗ วัน อย่างนี้แล้ว ทีนั้น ความวิตกนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ล่วงไป ๗ ปี ๗ ่เดือน ๗ วัน จากวันตรัสรู้ ความวิตกได้เกิดขึ้นแล้วดังนี้.
               บทว่า อญฺญตโร มหาพฺรหฺมา ความว่า พรหมทูลวิงวอนให้ทรงแสดงธรรม.
               บทว่า จตุราสีติ อาวาสสหสฺสานิ คือ วิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง. วิหารเหล่านั้นทั้งหมดเป็นวิหารใหญ่ รับภิกษุได้ถึงหนึ่งล้านสองแสนรูป ได้เป็นเช่นกับมหาวิหารอภัยคีรี เจดียบรรพตและจิตตลบรรพต.
               บทว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ความว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง.
               บทว่า ตีติกฺขา เป็นไวพจน์ของขันตินั้นแหละ.
               อธิบายว่า อธิวาสนขันติ กล่าวคือ ความอดกลั้นเป็นตบะอย่างสูงสุด.
               บทว่า นิพฺพานํ ปรมํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่งโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ความว่า ผู้ใดเข้าไปทำร้ายรบกวน และเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต. ก็บาทที่ ๔ เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นเอง.
               บทว่า น สมโณ โหติ เป็นไวพจน์ของบทนี้ว่า น หิ ปพฺพชิโต.
               บทว่า ปรํ วิเหฐยนฺโต เป็นไวพจน์ของบทนี้ว่า ปรูปฆาตี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปรูปฆาตี คือ ทำลายศีล. เพราะศีล ท่านกล่าวว่า ปรํ โดยอรรถว่าสูงสุด
               อธิบายว่า ก็ผู้ใดเป็นสมณะเบียดเบียนสัตว์อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเข้าไปทำร้ายผู้อื่น คือทำศีลของตนให้พินาศ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่น เพราะไม่มีอธิวาสนขันติ ฆ่าสัตว์อื่นโดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต. เพราะเหตุไร. เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าบรรพชิต ดังนี้ นี้คือลักษณะของบรรพชิต.
               แม้ผู้ใด ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่า แต่เบียดเบียนด้วยอาชญาเป็นต้น ผู้นั้นยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ. เพราะเหตุไร. เพราะไม่สงบจากการเบียดเบียน. ดังที่ท่านกล่าวว่า ผู้ที่เรียกว่าสมณะ เพราะบาปสงบ ดังนี้ นี้คือลักษณะของสมณะ.
               พึงทราบในคาถาที่สอง.
               บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลทุกชนิด.
               บทว่า อกรณํ คือ ไม่ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า กุสลสฺส ได้แก่ กุศลอันมีในภูมิ ๔.
               บทว่า อุปสมฺปทา คือ ได้เฉพาะ.
               บทว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือ ยังจิตของตนให้สว่าง. ก็บทนั้นย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์ ด้วยประการดังนี้ บรรพชิตควรละบาปทั้งปวงด้วยศีลสังวร ยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย ยังจิตให้ผ่องแผ้วด้วยอรหัตผล นี้เป็นคำสอน คือเป็นโอวาท คือเป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               พึงทราบในคาถาที่สาม บทว่า อนูปวาโท คือ ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา.
               บทว่า อนูปฆาโต คือ ไม่ทำร้ายด้วยกาย.
               บทว่า ปาฏิโมกฺเข แยกศัพท์เป็น ป อติ โมกฺขํ แปลว่า การพ้นทั่วยิ่ง คือศีลสูงสุด ย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติ และย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ หรือย่อมรักษาสุคติ ย่อมให้พ้นทุคติ เพราะฉะนั้น ศีลนั้นท่านเรียกว่า ปาฏิโมกฺขํ ผู้สำรวมในปาฏิโมกข์นั้น.
               บทว่า มตฺตญฺญุตา คือ รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค.
               บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ความว่า เว้นการเบียดเสียดที่นอนและที่นั่ง. ในบทนั้นพึงทราบว่า เป็นอันท่านแสดงถึงความสันโดษในปัจจัย ๔ ด้วยปัจจัย ๒ เท่านั้น.
               บทว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ความว่า การไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่เข้าไปทำร้ายผู้อื่น การสำรวมในปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับและการบริโภค การเสพเสนาสนะอันสงัด เพราะความเป็นผู้ชำนาญในสมบัติ ๘ นี้เป็นคำสอน เป็นโอวาท เป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ก็พึงทราบคาถาเหล่านี้เป็นคาถาแสดงหัวข้อธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง.

               เทวตาโรจนวณฺณนา               
               ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ เพื่อทรงประกาศถึงความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุที่พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุนี้แล้วดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศการวิงวอนของเทวดาที่ท่านกล่าวไว้ว่า บัดนี้ แม้เทวดาทั้งหลายก็ได้กราบทูลความนี้แด่พระตถาคตดังนี้ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า เอกมิทาหํ ดังนี้ โดยกล่าวพิสดารตามความเป็นไปของเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสีนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สุภวเน ในป่าชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า สาลราชมูเล ได้แก่ ควงไม้ใหญ่เป็นไม้เจ้าป่า.
               คำว่า คลายความพอใจในกาม ความว่า คลายด้วยสามารถถอนรากออกด้วยอนาคามิมรรค ก็พวกเทวดาผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐอยู่แล้วในพระศาสนาได้พากันกราบทูล แม้แก่พระพุทธเจ้าที่เหลือเหมือนกราบทูลแด่พระวิปัสสี. แต่บาลีมาด้วยสามารถแห่งพระวิปัสสี และแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย.
               ในเทวดาเหล่านั้น เทวดาชื่อว่าอวิหา เพราะไม่ละ คือไม่เสื่อมจากสมบัติของตน. เทวดาชื่ออตัปปา เพราะไม่เผาสัตว์ไรๆ. ชื่อสุทัสสา เพราะดูงามสวยน่าเลื่อมใส. ชื่อสุทัสสี เพราะน่าดูของผู้พบเห็น. ชื่ออกนิฏฐา เพราะเป็นใหญ่ด้วยคุณทั้งปวงและด้วยสมบัติในภพ ไม่มีความน้อยในภพนี้.
               ควรประชุมภาณวารทั้งหลายไว้ในที่นี้.
               ก็ในสูตรนี้ท่านกล่าว ๓ ภาณวารด้วยสามารถเรื่องราวของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ท่านกล่าวด้วยสามารถเรื่องราวแม้ของพระสิขีเป็นต้น ก็เหมือนของพระวิปัสสี. แต่บาลีย่อไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายตรัส ๒๑ ภาณวารด้วยสามารถพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ด้วยประการฉะนี้ เทวดาชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ก็กล่าวเหมือนอย่างนั้น. แม้ทั้งหมดก็เป็น ๒,๖๐๐ ภาณวาร.
               พระสูตรอื่นในพุทธวจนะอันเป็นไตรปิฏก ไม่มีจำนวน ๒,๖๐๐ ภาณวาร.
               พึงทราบว่า พระสูตรนี้ ชื่อว่าสุตตันตราชสูตร. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงกำหนดแม้อนุสนธิทั้งสองต่อจากนี้ จึงตรัสว่า อิติโข ภิกฺขเว ดังนี้เป็นอาทิ.
               บททั้งหมดนั้นมีใจความง่ายอยู่แล้ว.

               จบอรรถกถามหาปทานสูตร               
               ในทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินีด้วยประการฉะนี้.               
               จบสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1&Z=1454
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :