ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 342อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 375อ่านอรรถกถา 1 / 397อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา เตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒

               กายสังสัคคสิกขาบทวรรณนา               
               กายสังสัคคสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นอาทิ ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในกายสังสัคคสิกขาบทนั้นมีการพรรณนาบทที่ยังไม่ชัดเจน ดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระอุทายี]               
               สองบทว่า อรญฺเญ วิหรติ ความว่า ไม่ใช่อยู่ในป่าแผนกหนึ่งต่างหาก คืออยู่ที่สุดแดนข้างหนึ่งแห่งพระวิหารเชตวันนั่นเอง.
               สองบทว่า มชฺเฌ คพฺโภ ความว่า ก็ที่ตรงกลางวิหารของท่านพระอุทายีนั้น มีห้อง.
               บทว่า สมนฺตาปริยาคาโร ความว่า ก็โดยรอบห้องนั้น มีระเบียงโรงกลมเป็นเครื่องล้อม.
               ได้ยินว่า ห้องนั้น ท่านพระอุทายีสร้างให้เป็นห้อง ๔ เหลี่ยมจตุรัสที่ตรงกลาง โดยมีโรงกลมเป็นระเบียงล้อมในภายนอก อย่างที่คนทั้งหลายอาจเพื่อจะเดินเวียนรอบภายในได้ทีเดียว.
               บทว่า สุปฺปญฺญตฺตํ แปลว่า จัดตั้งไว้เรียบร้อย.
               อธิบายว่า เตียงตั่งนั้นจัดวางไว้โดยประการใดๆ และในโอกาสใดๆ จึงจะก่อให้เกิดความเลื่อมใส ให้ชาวโลกยินดี, ท่านได้จัดตั้งไว้โดยประการนั้นๆ ในโอกาสนั้นๆ. แท้จริง ท่านพระอุทายีนั้นจะกระทำกิจแม้สักอย่างหนึ่ง โดยยกข้อวัตรขึ้นเป็นประธานก็หามิได้.
               ข้อว่า เอกจฺเจ วาตปาเน ความว่า เปิดหน้าต่างทั้งหลายที่เมื่อปิดแล้วมีความมืด ปิดหน้าต่างทั้งหลายที่เมื่อเปิดแล้วมีแสงสว่าง.
               ข้อว่า เอวํ วุตฺเต สา พฺราหฺมณี ตํ พฺราหฺมณํ เอตทโวจ ความว่า เมื่อพราหมณ์นั้นกล่าวสรรเสริญอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นเข้าใจว่า พราหมณ์นี้เลื่อมใสแล้ว ชะรอยอยากจะบวช เมื่อจะเปิดเผยอาการที่น่าบัดสีนั้นของตน แม้ควรปกปิดไว้ มีความมุ่งหมายจะตัดรอนศรัทธาของพราหมณ์นั้นอย่างเดียว จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า กุโต ตสฺส อุฬารตฺตตา๑- นี้.
               ในบทว่า อุฬารตฺตตา นั้นมีวิเคราะห์ว่า ตน (อัธยาศัย) ของผู้นั้นโอฬาร (ดี) เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่ามีตนอันโอฬาร. ภาวะแห่งบุคคลผู้มีตนอันโอฬารนั้น ชื่อว่า อุฬารตฺตตา.
____________________________
๑- บาลีเป็น อุฬารตา.

               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กุลิตฺถีหิ เป็นต้นต่อไป :-
               หญิงแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย ชื่อว่า กุลสตรี. พวกลูกสาวของตระกูลผู้ไปกับบุรุษอื่นได้ ชื่อว่า กุลธิดา. พวกหญิงวัยรุ่นมีใจยังไม่หนักแน่น เรียกชื่อว่า กุลกุมารี. หญิงสาวที่เขานำมาจากตระกูลอื่น เพื่อเด็กหนุ่มในตระกูล เรียกชื่อว่า กุลสุณหา.

               [อธิบายสิกขาบทวิภังค์ว่าด้วยถูกราคะครอบงำ]               
               บทว่า โอติณฺโณ นั้นได้แก่ ผู้อันราคะซึ่งเกิดในภายในครอบงำแล้ว ประหนึ่งสัตว์ทั้งหลายที่ถูกยักษ์เป็นต้นข่มขี่เอาไว้ฉะนั้น. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่พิจารณากำหนัดอยู่ในฐานะที่น่ากำหนัด ชื่อว่าหยั่งลงสู่ความกำหนัดเอง ดังสัตว์ที่ไม่พิจารณาตกหลุมเป็นต้นฉะนั้น. ก็คำว่า โอติณฺโณ นี้เป็นชื่อของภิกษุผู้สะพรั่งด้วยราคะเท่านั้น แม้โดยประการทั้งสอง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า โอติณฺโณ นั้นอย่างนี้ว่า ผู้กำหนัดนัก ผู้มีความเพ่งเล็ง ผู้มีจิตปฏิพัทธ์ ชื่อว่า ผู้ถูกราคะครอบงำ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สารตฺโต ได้แก่ ผู้กำหนัดจัดด้วยกายสังสัคคราคะ.
               บทว่า อเปกฺขวา ได้แก่ ผู้มีความเพ่งเล็ง ด้วยความมุ่งหมายในกายสังสัคคะ.
               บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตผูกพันในวัตถุนั้น ด้วยกายสังสัคคราคะนั่นแหละ.
               บทว่า วิปริณเตน มีความว่า จิตที่ละปกติ กล่าวคือภวังคสันตติที่บริสุทธิ์เสีย เป็นไปโดยประการอื่น จัดว่าแปรปรวนไปผิดรูปหรือเปลี่ยนแปลงไปผิดรูป.
               อธิบายว่า จิตเปลี่ยนแปลงอย่างใด ชื่อว่าผิดรูป, มีจิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น. ก็เพราะเหตุที่จิตนั้นไม่ล่วงเลยความประกอบพร้อมด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นไปได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า วิปริณตํ นั้น โดยนัยเป็นต้นว่า วิปริณตนฺติ รตฺตมฺปิ จิตฺตํ แล้วจะทรงแสดงอรรถที่ประสงค์ในสิกขาบทนี้ในที่สุด จึงตรัสว่า ก็แต่ว่า จิตที่กำหนัดแล้ว ชื่อว่าจิตแปรปรวน ซึ่งประสงค์ในอรรถนี้.
               บทว่า ตทหุชาตา ได้แก่ เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น คือ สักว่าเกิดยังมีสีเป็นชิ้นเนื้อสด. จริงอยู่ ในเพราะเคล้าคลึงกายกับเด็กหญิง แม้เห็นปานนี้ก็ย่อมเป็นสังฆาทิเสส, ในเพราะก้าวล่วงด้วยเมถุน ย่อมเป็นปาราชิก และในเพราะยินดีด้วยรโหนิสัชชะ ย่อมเป็นปาจิตตีย์.
               บทว่า ปเคว ได้แก่ ก่อนทีเดียว.
               สองบทว่า กายสํสคฺคํ สมาปชฺเชยฺย มีความว่า พึงถึงความประชิดกายมีจับมือเป็นต้น คือความเป็นผู้เคล้าคลึงด้วยกาย. ก็กายสังสัคคะของภิกษุผู้เข้าถึงความเคล้าคลึงด้วยกายนั่นแหละ โดยใจความย่อมเป็นอัชฌาจาร คือความประพฤติล่วงแดนแห่งสำรวมด้วยอำนาจราคะ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความโดยย่อแห่งสองบทนั้น จึงตรัสบทภาชนะว่า เราเรียกอัชฌาจาร.
               บทว่า หตฺถคฺคาหํ วา เป็นต้นเป็นบทจำแนกของสองบทนั้น ท่านแสดงโดยพิสดารในสิกขาบทนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า หตฺโถ นาม กุปฺปรํ อุปาทาย เพื่อแสดงวิภาคแห่งอวัยวะมีมือเป็นต้น ในบทภาชนะนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า กุปฺปรํ อุปาทาย มีความว่า หมายถึงที่ต่อใหญ่ที่สอง (ตั้งแต่ข้อศอกลงไป). แต่ในที่อื่นตั้งแต่ต้นแขนถึงปลายเล็บ จัดเป็นมือ. ในที่นี้ ประสงค์ตั้งแต่ข้อศอกพร้อมทั้งปลายเล็บ.
               บทว่า สุทฺธเกสานํ วา ได้แก่ ผมที่ไม่เจือด้วยด้ายเป็นต้น คือผมล้วนๆ นั่นเอง. คำว่า ช้อง นี้เป็นชื่อของมัดผมที่ถักด้วยผม ๓ เกลียว.
               บทว่า สุตฺตมิสฺสา ได้แก่ ช้องที่เขาเอาด้าย ๕ สี แซมในผม.
               บทว่า มาลามิสฺสา ได้แก่ ช้องที่เขาแซมด้วยดอกมะลิเป็นต้นหรือถักด้วยผม ๓ เกลียว. อีกอย่างหนึ่ง กำผมที่แซมด้วยดอกไม้อย่างเดียว แม้ไม่ได้ถัก ก็พึงทราบว่า ช้อง ในที่นี้.
               บทว่า หิรญฺญมิสฺสา ได้แก่ ช้องที่แซมด้วยระเบียบกหาปณะ.
               บทว่า สุวณฺณมิสฺสา ได้แก่ ช้องที่ประดับด้วยสายสร้อยทองคำหรือด้วยสังวาลเป็นต้น.
               บทว่า มุตฺตามิสฺสา ได้แก่ ช้องที่ประดับด้วยแก้วมุกดา.
               บทว่า มณิมิสฺสา ได้แก่ ช้องที่ประดับด้วยแก้วมณีร้อยด้าย.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุจับช้องชนิดใดชนิดหนึ่งในช้องเหล่านี้เป็นสังฆาทิเสสทั้งนั้น. ความพ้นไม่มีแก่ภิกษุผู้แก้ตัวว่า ข้าพเจ้าได้จับช้องที่เจือ.
               ส่วนผม เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยเวณิศัพท์ ในบทว่า เวณิคฺคาหํ นี้. เพราะเหตุนั้น แม้ภิกษุใดจับผมเส้นเดียว แม้ภิกษุนั้นก็เป็นอาบัติเหมือนกัน.
               ร่างกายที่เหลือ เว้นมือและช้องผมมีประการทุกอย่าง ซึ่งมีลักษณะดังที่กล่าวแล้ว ในคำว่า หตฺถญฺจ เวณิญฺจ ฐเปตฺวา นี้ พึงทราบว่า อวัยวะ. บรรดาอวัยวะมีมือเป็นต้นที่กำหนดแล้วอย่างนี้ การจับมือชื่อว่าหัตถัคคาหะ. การจับช้องผมชื่อว่าเวณิคคาหะ. การลูบคลำสรีระที่เหลือ ชื่อว่าการลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม. อรรถนี้ว่า ภิกษุใดพึงถึงการจับมือก็ตาม การจับช้องผมก็ตาม การลูบคลำอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นกองอาบัติสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้น ดังนี้ เป็นใจความแห่งสิกขาบท.

               [อรรถกถาธิบายบทภาชนีย์ว่าด้วยการจับมือเป็นต้น]               
               อนึ่ง การจับมือก็ดี การจับช้องผมก็ดี การลูบคลำอวัยวะที่เหลือก็ดี ทั้งหมดโดยความต่างกันมี ๑๒ อย่าง เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงความต่างกันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า หัตถัคคาหะ เป็นต้นนั้นโดยนัยมีอาทิว่า อามสนา ปรามสนา ดังนี้.
               บรรดาบทว่า อามสนา เป็นต้นนั้น ๒ บทที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า อามสนา นาม อามฏฺฐมตฺตา และว่า ฉุปนนฺนาม ผุฏฺฐมตฺตา นี้มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               การถูกต้อง คือการเสียดสีในโอกาสที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ถึงกับเลยโอกาสที่ถูกต้องไป ชื่อว่า อามสนา. จริงอยู่ การเสียดสีนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อามัฏฐมัตตา. กิริยาสักว่าถูกต้องไม่เสียดสี ชื่อว่า ฉุปนัง. ถึงแม้ในบทเดียวกันนั่นเองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในนิเทศแห่ง อุมฺมสนา และ อุลฺลงฺฆนา ว่า อุทฺธํ อุจฺจารณา ดังนี้ ก็มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               บทที่ ๑ ตรัสด้วยสามารถแห่งกายของตนถูกต้องข้างบนกายของหญิง.
               บทที่ ๒ ตรัสด้วยสามารถแห่งการยกกายของหญิงขึ้น.
               บทที่เหลือปรากฏชัดแล้วแล.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงประเภทแห่งอาบัติโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งบทเหล่านี้ ของภิกษุผู้ถูกราคะครอบงำแล้วมีจิตแปรปรวน ถึงความเคล้าคลึงกาย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า หญิง ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นหญิง ๑ มีความกำหนัด ๑ เคล้าคลึงกายด้วยกายกับหญิงนั้น ๑ ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น ดังนี้ :-
               คำว่า ภิกฺขุ จ นํ อิตฺถิยา กาเยน กายํ ความว่า ภิกษุนั้นมีความกำหนัด ๑ มีความสำคัญว่าเป็นหญิง ๑ (เคล้าคลึงกายของหญิง) ด้วยกายของตน. บทว่า นํ เป็นเพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า (เคล้าคลึง) กายนั่น คือกายต่างด้วยมือเป็นต้นของหญิงนั้น.
               คำว่า อามสติ ปรามสติ ความว่า ก็ภิกษุประพฤติล่วงละเมิดโดยอาการแม้อย่างหนึ่ง บรรดาการจับต้องเป็นต้นเหล่านี้นั่นแล ต้องสังฆาทิเสส. ในการจับต้องเป็นต้นนั้น เมื่อภิกษุจับต้องคราวเดียวเป็นอาบัติตัวเดียว, เมื่อจับต้องบ่อยๆ เป็นสังฆาทิเสสทุกๆ ประโยค. แม้เมื่อลูบคลำ หากว่า ไม่ปล่อยให้พ้นจากกายเลย ส่าย ย้าย ไส มือก็ดี กายก็ดี ของตนไปข้างโน้นข้างนี้, เมื่อลูบคลำอยู่ แม้ตลอดทั้งวัน ก็เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น. ถ้าปล่อยให้พ้นจากกายแล้วๆ เล่าๆ ลูบคลำเป็นอาบัติทุกๆ ประโยค. เมื่อลูบลง ถ้าไม่ให้พ้นจากกายเลย ลูบตั้งแต่กระหม่อมของหญิงลงไปจนถึงหลังเท้า ก็เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว. ก็ถ้าว่า ถึงที่นั้นๆ บรรดาที่มีท้องเป็นต้น ปล่อย (มือ) แล้วลูบลงไป, เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในการลูบขึ้น ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุลูบขึ้นตั้งแต่เท้าไปจนถึงศีรษะ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในการทับลง ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุจับมาตุคามที่ผมแล้วกดลง กระทำอัชฌาจารตามปรารถนามีการจูบเป็นต้นแล้วปล่อยเป็นอาบัติตัวเดียว. เมื่อภิกษุกดหญิงที่เงยขึ้นแล้ว ให้ก้มลงบ่อยๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในการอุ้ม ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุจับมาตุคามที่ผมก็ดี ที่มือทั้งสองก็ดี ให้ลุกขึ้น มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในการฉุด ดังนี้ :-
               ภิกษุฉุดมาตุคามให้หันหน้ามาหาตน ยังไม่ปล่อย (มือ) เพียงใด เป็นอาบัติตัวเดียวเพียงนั้นแล. เมื่อปล่อยวาง (มือ) แล้วกลับฉุดมาแม้อีก เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค.
               พึงทราบวินิจฉัยในการผลัก ดังนี้ :-
               ก็เมื่อภิกษุจับที่หลังมาตุคามลับหลังแล้วผลักไป มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในการกด ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุจับที่มือ หรือที่แขนมาตุคามให้แน่นแล้ว เดินไปแม้สิ้นระยะโยชน์หนึ่ง เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว. เมื่อปล่อยจับๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค, พระมหาสุมเถระกล่าวว่า เมื่อไม่ปล่อยถูกต้อง หรือสวมกอดก็ดี บ่อยๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค. ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า การจับเดิมนั่นแหละเป็นประมาณ เพราะเหตุนั้น ภิกษุยังไม่ปล่อย (มือ) ตราบใด เป็นอาบัติเพียงตัวเดียวตราบนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในการบีบ ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุบีบด้วยผ้าก็ดี เครื่องประดับก็ดี ไม่ถูกต้องตัวเป็นถุลลัจจัย. เมื่อถูกต้องตัว เป็นสังฆาทิเสส. เป็นอาบัติตัวเดียวโดยประโยคเดียว, เป็นอาบัติต่างๆ ด้วยประโยคต่างๆ กัน. ในการจับและถูกต้อง แม้เมื่อไม่กระทำวิการอะไรๆ อื่น ย่อมต้องอาบัติแม้ด้วยอาการเพียงจับ เพียงถูกต้อง.
               บรรดาอาการ มีการจับต้องเป็นต้นนี้ อย่างกล่าวมานี้ เมื่อภิกษุมีความสำคัญในหญิงว่าเป็นผู้หญิง ประพฤติล่วงละเมิดด้วยอาการแม้อย่างหนึ่ง เป็นสังฆาทิเสส. เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้มีความสงสัย. แม้ภิกษุสำคัญในหญิงว่าเป็นบัณเฑาะก์ เป็นบุรุษและเป็นดิรัจฉาน ก็เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน.
               เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญในบัณเฑาะก์ว่าเป็นบัณเฑาะก์ เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้มีความสงสัย. สำหรับภิกษุผู้สำคัญ (ในบัณเฑาะก์) ว่าเป็นบุรุษ เป็นดิรัจฉานและเป็นหญิงเป็นทุกกฏเหมือนกัน.
               ภิกษุมีความสำคัญในบุรุษว่า เป็นบุรุษก็ดี มีความสงสัยก็ดี มีความสำคัญว่า เป็นหญิง เป็นบัณเฑาะก์ เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ดี เป็นทุกกฎทั้งนั้น.
               แม้ในสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นทุกกฎโดยอาการทุกอย่างเหมือนกันแล.
               บัณฑิตพึงกำหนดอาบัติเหล่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเอกมูลกนัยแล้ว ทราบอาบัติทวีคูณ แม้ในทวิมูลกนัยที่ตรัสโดยอุบายนี้ และโดยอำนาจแห่งคำว่า เทฺว อิตฺถิโย ทฺวินฺนํ อิตฺถีนํ เป็นต้น.
               เหมือนอย่างว่า ในหญิง ๒ คน พึงทราบสังฆาทิเสส ๒ ตัว ฉันใด ในหญิงมากคน พึงทราบสังฆาทิเสสมากตัว ฉันนั้น. จริงอยู่ ภิกษุใดเอาแขนทั้งสองรวบจับหญิงมีจำนวนมากคนที่ยืนรวมกันอยู่ ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสสมากตัว ด้วยการนับจำนวนหญิงที่ตนถูกต้อง. ต้องถุลลัจจัย ด้วยการนับหญิงที่อยู่ตรงกลาง. จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นจับต้องด้วยของเนื่องด้วยกาย.
               อนึ่ง ภิกษุใดจับนิ้วมือ หรือผมของหญิงจำนวนมากรวมกัน, ภิกษุนั้น พระวินัยธรอย่านับนิ้วมือหรือเส้นผมปรับ พึงนับหญิงปรับด้วยสังฆาทิเสส และเธอย่อมต้องถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงทั้งหลายผู้มีนิ้วมือและผมอยู่ตรงกลาง.
               จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันภิกษุนั้นจับต้องแล้ว ด้วยของที่เนื่องด้วยกาย แต่เมื่อภิกษุรวบจับหญิงเป็นอันมาก ด้วยของที่เนื่องด้วยกายมีเชือกและผ้าเป็นต้น ย่อมต้องอาบัติถุลลัจจัย ด้วยการนับหญิงทั้งหมดผู้อยู่ภายในวงล้อมนั้นแล. ในมหาปัจจรี ท่านปรับทุกกฏในพวกหญิงที่ไม่ได้ถูกต้องด้วย. บรรดานัยก่อนและนัยที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีนั้น เพราะขึ้นชื่อว่า การจับต้องของเนื่องด้วยกายกับของเนื่องด้วยกาย ไม่มีในบาลี ; เพราะฉะนั้นแล นัยก่อนที่ท่านรวบรวมของเนื่องด้วยกายทั้งหมดเข้าด้วยกัน กล่าวไว้ในมหาอรรถกถาและกุรุนที ปรากฏว่าถูกต้องกว่าในอธิการนี้.
               ก็ภิกษุใดมีความกำหนัดจัดเท่ากัน ในหญิงทั้งหลายผู้ยืนเอามือจับมือกันอยู่ตามลำดับ จับหญิงคนหนึ่งที่มือ, ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติสังฆาทิเสสตัวเดียวด้วยสามารถแห่งหญิงคนที่ตนจับ ต้องอาบัติถุลลัจจัยหลายตัวตามจำนวนแห่งหญิงนอกนี้ โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ถ้าว่าภิกษุนั้นจับหญิงนั้นที่ผ้าหรือที่ดอกไม้อันเป็นของเนื่องด้วยกาย ย่อมต้องอาบัติถุลลัจจัยมากตัวตามจำนวนแห่งหญิงทั้งหมด. เหมือนอย่างว่า ภิกษุรวบจับหญิงทั้งหลายด้วยเชือกและผ้าเป็นต้น ย่อมเป็นอันจับต้องหล่อนแม้ทั้งหมด ด้วยของเนื่องด้วยกาย ฉันใดแล, แม้ในอธิการนี้ หญิงทั้งหมดก็เป็นอันภิกษุจับต้องแล้ว ด้วยของเนื่องด้วยกาย ฉันนั้นเหมือนกันฉะนี้แล.
               ก็ถ้าว่า หญิงเหล่านั้นยืนจับกันและกันที่ชายผ้า และภิกษุนี้จับหญิงคนแรกในบรรดาหญิงเหล่านั้นที่มือ, เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสด้วยอำนาจแห่งหญิงคนที่ตนจับ, ต้องทุกกฏหลายตัวตามจำนวนแห่งหญิงนอกนี้ โดยนัยก่อนนั่นแล. ด้วยว่า ของที่เนื่องด้วยกายกับของที่เนื่องด้วยกายของหญิงเหล่านั้นทั้งหมด เป็นอันภิกษุนั้นจับต้องแล้ว โดยนัยก่อนเหมือนกัน.
               ก็ถ้าแม้นว่า ภิกษุนั้นจับหญิงนั้นเฉพาะของที่เนื่องด้วยกายเท่านั้น ต้องทุกกฎหลายตัวตามจำนวนแห่งหญิงนอกนี้ โดยนัยถัดมานั่นเอง.
               ก็ภิกษุใดเบียดผู้หญิงที่นุ่งผ้าหนา ถูกผ้าด้วยกายสังสัคคราคะ ภิกษุนั้นต้องถุลลัจจัย เบียดผู้หญิงที่นุ่งผ้าบางถูกผ้า. ถ้าว่าในที่ซึ่งถูกกันนั้น ขนของผู้หญิงที่ลอดออกจากรูผ้าถูกภิกษุ หรือขนของภิกษุแยงเข้าไปถูกหญิง หรือขนทั้งสองฝ่ายถูกกันเท่านั้น เป็นสังฆาทิเสส. เพราะว่า แม้ถูกรูปที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง (ของหญิง) ด้วยกรรมชรูปที่มีวิญญาณ (ของตน) ก็ดี ถูกรูปที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง (ของหญิง) ด้วยผมเป็นต้นแม้ไม่มีวิญญาณครองก็ดี ย่อมต้องสังฆาทิเสสเหมือนกัน.
               ในการที่ขนต่อขนถูกกันนั้น ในกุรุนทีกล่าวว่า พึงนับขนปรับสังฆาทิเสส. แต่ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ไม่ควรนับขนปรับอาบัติ ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสสตัวเดียวเท่านั้น. ส่วนภิกษุไม่ปูลาดนอนบนเตียงของสงฆ์ จึงควรนับขนปรับอาบัติ. คำของพระอรรถกถานั่นแหละชอบ เพราะว่า อาบัตินี้ปรับด้วยอำนาจแห่งหญิง ไม่ใช่ปรับด้วยอำนาจแห่งส่วน ฉะนี้แล.

               [ความต่างกันแห่งมติของพระเถระ ๒ รูป]               
               ในอธิการนี้ท่านตั้งคำถามว่า ก็ภิกษุใดคิดว่า จักจับของเนื่องด้วยกาย แล้วจับกายก็ดี คิดว่า จักจับกาย แล้วจับของเนื่องด้วยกายก็ดี ภิกษุนั้นจะต้องอาบัติอะไร?
               พระสุมเถระตอบก่อนว่า ต้องอาบัติตามวัตถุเท่านั้น.
               ได้ยินว่า ลัทธิของท่านมีดังนี้ :-
                  วัตถุ ๑ สัญญา ๑ ราคะ ๑ ความรับรู้ผัสสะ ๑ เพราะฉะนั้น
                  ควรปรับครุกาบัติ ที่กล่าวแล้วในนิเทศตามที่ทรงอธิบายไว้.

               ในคาถานี้ วัตถุ นั้นได้แก่ ผู้หญิง. สัญญา นั้นได้แก่ ความสำคัญว่าเป็นผู้หญิง. ราคะ นั้นได้แก่ ความกำหนัดในการเคล้าคลึงด้วยกาย. ความรับรู้ผัสสะ นั้นได้แก่ ความรู้สึกผัสสะในการเคล้าคลึงด้วยกาย. เพราะฉะนั้น ภิกษุใดมีความสำคัญว่าเป็นผู้หญิง ด้วยความกำหนัดในอันเคล้าคลึงด้วยกาย คิดว่า จักจับของเนื่องด้วยกาย แม้พลาดไปถูกกาย, ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสส เป็นโทษหนักแท้, ฝ่ายภิกษุนอกนี้ ต้องถุลลัจจัยฉะนี้แล.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า
                   เมื่อความสำคัญผิดไป และการจับก็พลาดไป อาบัติหนัก
                   ในนิเทศตามที่ทรงอธิบายไว้ย่อมไม่ปรากฏในการจับนั้น.

               ลัทธิของท่านเล่ามีดังนี้ :-
               จริงอยู่ ท่านปรับสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญในผู้หญิงว่าเป็นผู้หญิง, แต่ความสำคัญว่าเป็นผู้หญิง อันภิกษุนี้ให้คลาดเสีย, ความสำคัญในของเนื่องด้วยกายว่าเป็นของเนื่องด้วยกาย อันเธอให้เกิดขึ้นแล้ว, ก็เมื่อเธอจับของเนื่องด้วยกายนั้น ท่านปรับถุลลัจจัย.
               อนึ่ง การจับเล่า อันภิกษุนี้ก็ให้คลาดเสีย, เธอไม่ได้จับของเนื่องด้วยกายนั้น แต่ได้จับผู้หญิง เพราะฉะนั้น สังฆาทิเสส ชื่อว่ายังไม่ปรากฏ ในเพราะการจับนี้ เพราะไม่มีความสำคัญว่าเป็นผู้หญิง, ถุลลัจจัย ชื่อว่าไม่ปรากฏ เพราะของเนื่องด้วยกาย เธอก็ไม่ได้จับ, แต่ปรับเป็นทุกกฏ เพราะเธอถูกด้วยกายสังสัคคราคะ.
               จริงอยู่ เมื่อถูกวัตถุเช่นนี้ด้วยกายสังสัคคราคะ คำว่า ไม่เป็นอาบัติ ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงเป็นทุกกฎแท้.
               ก็แล พระมหาสุมเถระ ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว จึงกล่าวจตุกกะนี้ว่า ภิกษุคิดว่า จักจับรูปที่มีความกำหนัด แล้วจับรูปที่มีความกำหนัด เป็นสังฆาทิเสส. คิดว่า จักจับรูปที่ปราศจากความกำหนัด แล้วจับรูปที่ปราศจากความกำหนัด เป็นทุกกฏ. คิดว่า จักจับรูปที่มีความกำหนัด ไพล่ไปจับรูปที่ปราศจากความกำหนัด เป็นทุกกฏ. คิดว่า จักจับรูปที่ปราศจากความกำหนัด ไพล่ไปจับรูปที่มีความกำหนัด เป็นทุกกฏเหมือนกัน.
               พระมหาปทุมเถระกล่าวแล้วอย่างนี้ แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้นในวาทะของพระเถระทั้งสองนี้ ก็วาทะของพระมหาสุมเถระเท่านั้น ย่อมสมด้วยพระบาลีนี้ว่า ผู้หญิง ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นผู้หญิง ๑ มีความกำหนัด ๑ ถูก คลำ จับ ต้อง ซึ่งของเนื่องด้วยกายของผู้หญิงด้วยกาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย และด้วยวินิจฉัยในอรรถกถามีอาทิว่า ก็ภิกษุใดเอาแขนทั้งสองรวบจับหญิงหลายคนที่ยืนรวมกันอยู่, ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสสเท่ากับจำนวนหญิงที่ตนถูกต้อง ดังนี้.
               ก็ถ้าว่า การจับ ชื่อว่าคลาดไปด้วยความคลาดแห่งสัญญาเป็นต้น จะพึงมีไซร้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสความแปลกแห่งบาลี โดยนัยเป็นต้นว่า กายปฏิพทฺธญฺจ โหติ กายสญฺญี จ ดังนี้บ้าง เหมือนตรัสไว้ในบาลีเป็นต้นว่า ปณฺฑโก จ โหติ อิตฺถีสญฺญี ดังนี้. ก็เพราะความแปลกกันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสไว้แล้ว ฉะนั้น ความเป็นตามวัตถุว่า เมื่อมีความสำคัญในผู้หญิงว่าเป็นผู้หญิง เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้ถูกต้องผู้หญิง เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้ถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ดังนี้เท่านั้น ย่อมถูก.
               จริงอยู่ แม้ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า เมื่อหญิงดำห่มผ้าสีเขียวนอน ภิกษุคิดว่า จักเบียดกาย แล้วเบียดกาย เป็นสังฆาทิเสส, คิดว่าจักเบียดกาย แล้วเบียดผ้าสีเขียว เป็นถุลลัจจัย, คิดว่า จักเบียดผ้าเขียวแล้วเบียดผ้าเขียว เป็นถุลลัจจัย.
               ก็วัตถุมิสสกนัยนี้ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีคำว่า อิตฺถี จ ปณฺฑโก จ เป็นต้น, ในมิสสกวัตถุแม้นั้น อาบัติทั้งหลายที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจความสำคัญ และความสำคัญผิดในวัตถุ อันผู้ไม่งมงายในพระบาลี พึงทราบ.
               ส่วนในวาระว่าด้วยของเนื่องด้วยกายกับกาย เมื่อภิกษุมีความสำคัญในผู้หญิงว่าเป็นผู้หญิง และจับของเนื่องด้วยกาย เป็นถุลลัจจัย, ในบัณเฑาะก์ที่เหลือ เป็นทุกกฎทุกๆ บท. แม้ในวาระว่าด้วยกายกับของเนื่องด้วยกาย ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ในวาระว่าด้วยของเนื่องด้วยกายกับของที่เนื่องด้วยกาย และในวาระทั้งหลาย มีวาระว่าด้วยกายกับของที่ซัดไปเป็นต้น คงเป็นทุกกฏแก่ภิกษุนั้น เหมือนกันทุกๆ บท.
               แต่วาระเป็นอาทิว่า "อิตฺถี จ โหติ อิตฺถีสญฺญี สารตฺโต จ อิตฺถี จ นํ ภิกฺขุสฺส กาเยน กายํ" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งความกำหนัดจัดของมาตุคามในภิกษุ.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า อิตฺถี จ นํ ภิกฺขุสฺส กาเยน กายํ มีความว่า หญิงผู้มีความกำหนัดจัดในภิกษุ จึงไปยังโอกาสที่เธอนั่งหรือนอน แล้วจับถูกกายของภิกษุนั้นด้วยกายของตน.
               ข้อว่า เสวนาธิปฺปาโย กาเยน วายมติ ผสฺสํ ปฏิวิชานาติ มีความว่า ภิกษุซึ่งหญิงนั้นจับต้องแล้ว หรือถูกต้องอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้มีความประสงค์ในอันเสพ ถ้าขยับหรือไหวกาย แม้น้อยหนึ่ง เพื่อรับรู้ผัสสะ, เธอต้องสังฆาทิเสส.
               ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๒ ตัว ในบทว่า หญิง ๒ คนนี้. ในหญิงและบัณเฑาะก์เป็นทุกกฏกับสังฆาทิเสส. ด้วยอุบายนี้ คำว่า ผู้หญิงถูกนิสสัคคียวัตถุ, ภิกษุมีความประสงค์ในอันเสพพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ ต้องทุกกฏ ดังนี้ ยังมีอยู่เพียงใด, ชนิดของอาบัติ พึงทราบตามนัยก่อนนั่นแหละ เพียงนั้น.
               ก็แลในคำนี้ ข้อว่า กาเยน วายมติ น จ ผสฺสํ ปฏิวิชานาติ มีความว่า ภิกษุเห็นผู้หญิงขว้างดอกไม้หรือผลไม้ที่ตนขว้างไป ด้วยดอกไม้หรือผลไม้สำหรับขว้างของหล่อน จึงทำกายวิการ คือกระดิกนิ้ว หรือยักคิ้ว หรือหลิ่วตา หรือทำวิการเห็นปานนั้นอย่างอื่น ภิกษุนี้เรียกว่า พยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ. แม้ภิกษุนี้ชื่อว่า ต้องทุกกฏ เพราะมีความพยายามด้วยกาย. ผู้หญิง ๒ คน ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว, บัณเฑาะก์กับผู้หญิง ต้องทุกกฏ ๒ ตัวเหมือนกัน.

               [อธิบายอาบัติและอนาบัติโดยลักษณะ]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงชนิดแห่งอาบัติโดยพิสดาร ด้วยอำนาจแห่งวัตถุอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงอาบัติและอนาบัติโดยย่อด้วยอำนาจลักษณะ จึงตรัสคำว่า เสวนาธิปฺปาโย เป็นอาทิ.
               บรรดานัยเหล่านั้น นัยแรกเป็นสังฆาทิเสสด้วยครบองค์ ๓ คือ ภิกษุเป็นผู้อันหญิงถูกต้องมีอยู่ ๑ มีความประสงค์ในอันเสพ พยายามด้วยกาย ๑ รับรู้ผัสสะ ๑.
               นัยที่สองเป็นทุกกฏ ด้วยครบองค์ ๒ คือเพราะพยายามเหมือนในการถูกนิสสัคคีวัตถุด้วยนิสสัคคีวัตถุ ๑ เพราะไม่รับรู้ผัสสะเหมือนในการไม่ถูกต้อง ๑.
               นัยที่ ๓ ไม่เป็นอาบัติแก่เธอผู้ไม่พยายามด้วยกาย.
               จริงอยู่ ภิกษุใดมีความประสงค์จะเสพ แต่มีการนิ่ง รับรู้คือยินดีเสวยผัสสะอย่างเดียว, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น เพราะไม่มีอาบัติในอาการสักว่า จิตตุปบาท.
               ส่วนนัยที่ ๔ แม้ความรับรู้ผัสสะก็ไม่มี เหมือนในการถูกนิสสัคคียวัตถุ ด้วยนิสสัคคียวัตถุ, มีแต่สักว่าจิตตุปบาทอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงไม่เป็นอาบัติ. ไม่เป็นอาบัติในเพราะอาการทั้งปวง ของภิกษุผู้ประสงค์จะให้พ้น.
               ก็แล ในฐานะนี้ พึงทราบอธิบายว่า ภิกษุใดถูกผู้หญิงจับ จะให้หญิงนั้นพ้นจากสรีระของตน จึงผลักหรือตี, ภิกษุนี้ ชื่อว่าพยายามด้วยกาย รับรู้ผัสสะ. ภิกษุใดเห็นผู้หญิงกำลังมาใคร่จะพ้นจากหญิงนั้น จึงตวาดให้หนีไป, ภิกษุนี้ ชื่อว่าพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ. ภิกษุใดเห็นทีฆชาติเช่นนั้นเลื้อยขึ้นบนกาย แต่ไม่สลัดด้วยคิดว่า มันจงค่อยๆ ไป, มันถูกเราสลัดเข้า จะพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ, หรือรู้ว่าหญิงทีเดียวถูกตัว แต่นิ่งเฉย ทำเป็นไม่รู้เสียด้วยคิดว่า หญิงนี้รู้ว่า ภิกษุนี้ไม่มีความต้องการเรา แล้วจักหลีกไปเองแหละ หรือภิกษุหนุ่มถูกผู้หญิงมีกำลังกอดไว้แน่น แม้อยากหนี แต่ต้องนิ่งเฉย เพราะถูกยึดไว้มั่น, ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ได้พยายามด้วยกาย แต่รับรู้ผัสสะ. ส่วนภิกษุใดเห็นผู้หญิงมา แล้วเป็นผู้นิ่งเฉยเสียด้วยคิดว่า หล่อนจงมาก่อน, เราจักตีหรือผลักหล่อนแล้วหลีกไปเสียจากนั้น ภิกษุนี้ พึงทราบว่า มีความประสงค์จะพ้นไปไม่พยายามด้วยกาย ทั้งไม่รับรู้ผัสสะ.
               บทว่า อสญฺจิจฺจ มีความว่า ไม่จงใจว่า เราจักถูกผู้หญิงคนนี้ด้วยอุบายนี้.
               จริงอยู่ เพราะไม่จงใจอย่างนั้น เมื่อภิกษุแม้ถูกต้องตัวมาตุคามเข้าในคราวที่รับบาตรเป็นต้น ย่อมไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า อสติยา มีความว่า ภิกษุเป็นผู้ส่งใจไปในที่อื่น คือไม่มีความนึกว่า เราจักถูกต้องมาตุคาม เพราะไม่มีสติอย่างนี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ถูกต้องในเวลาเหยียดมือและเท้าเป็นต้น.
               บทว่า อชานนฺตสฺส มีความว่า ภิกษุเห็นเด็กหญิงมีเพศคล้ายเด็กชาย ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง ถูกต้องด้วยกรณียกิจบางอย่างเท่านั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้ว่า เป็นผู้หญิง และถูกต้องด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า อสาทิยนฺตสฺส มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีการเคล้าคลึงด้วยกาย เหมือนไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุที่ถูกผู้หญิงจับแขนกันและกันห้อมล้อมพาเอาไปฉะนั้น ภิกษุบ้าเป็นต้นมีนัยดังกล่าวแล้วแล. และพระอุทายีเถระเป็นอาทิกัมมิกะในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ท่านผู้เป็นอาทิกัมมิกะนั้น ฉะนี้แล.
               บทภาชนียวรรณนาจบ               

               บรรดาสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท ย่อมเกิดขึ้นทางกายกับจิต เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต มีเวทนา ๒ โดยเป็นสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนาทั้งสองแล.

               วินีตวัตถุในสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัย ในวินีตวัตถุทั้งหลายต่อไปนี้ :-
               สองบทว่า มาตุยา มาตุปฺเปเมน ความว่า ย่อมจับต้องกายของมารดาด้วยความรักฉันมารดา. ในเรื่องลูกสาวและพี่น้องสาวก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าปรับอาบัติทุกกฏเหมือนกันทั้งนั้นแก่ภิกษุผู้จับต้อง ด้วยความรักอาศัยเรือนว่า ผู้นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นธิดาของเรา นี้เป็นพี่น้องสาวของเรา เพราะขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแม้ทั้งหมด จะเป็นมารดาก็ตาม เป็นธิดาก็ตาม เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ทั้งนั้น.
               ก็เมื่อภิกษุระลึกถึงพระอาญานี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าแม้นว่า เห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย. แต่ภิกษุผู้ฉลาดพึงนำเรือ หรือแผ่นกระดาน หรือท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไปให้ เมื่อเรือเป็นต้นนั้นไม่มี แม้ผ้ากาสาวะนำไปวางไว้ข้างหน้า แต่ไม่ควรกล่าวว่า จงจับที่นี้. เมื่อท่านจับแล้ว พึงสาวมาด้วยทำในใจว่า เราสาวบริขารมา. ก็ถ้ามารดากลัว พึงไปข้างหน้าๆ แล้วปลอบโยนว่า อย่ากลัว. ถ้ามารดาถูกน้ำพัดไปรีบขึ้นคอหรือจับที่มือของภิกษุผู้เป็นบุตร ภิกษุอย่าพึงสลัดว่า หลีกหนีไปหญิงแก่ พึงส่งไปให้ถึงบก. เมื่อมารดาติดหล่มก็ดี ตกลงไปในบ่อก็ดี มีนัยเหมือนกันนี้. อธิบายว่า ภิกษุพึงฉุดขึ้น แต่อย่าพึงจับต้องเลย.

               [อธิบายวัตถุที่เป็นอนามาส]               
               ก็มิใช่แต่ร่างกายของมาตุคามอย่างเดียวเท่านั้นเป็นอนามาส แม้ผ้านุ่งและผ้าห่มก็ดี สิ่งของเครื่องประดับก็ดี จนชั้นเสวียนหญ้าก็ตาม แหวนใบตาลก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น. ก็แลผ้านุ่งและผ้าห่มนั้นตั้งไว้เพื่อต้องการใช้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น. ก็ถ้าหากว่า มาตุคามวางผ้านุ่งหรือผ้าห่มไว้ในที่ใกล้เท้า เพื่อต้องการให้เปลี่ยนเป็นจีวร ผ้านั้นสมควร. ก็บรรดาเครื่องประดับ ภัณฑะที่เป็นกัปปิยะ มีเครื่องประดับศีรษะเป็นต้น อันมาตุคามถวายว่า ท่านเจ้าคะ ขอพระคุณท่านโปรดรับสิ่งนี้เถิด ภิกษุควรรับไว้ เพื่อเป็นเครื่องใช้ มีฝักมีดโกนและเข็มเป็นต้น. ส่วนภัณฑะที่ทำด้วยทอง เงินและแก้วมุกดาเป็นต้น เป็นอนามาสแท้ ถึงแม้เขาถวาย ก็ไม่ควรรับ.
               อนึ่ง มิใช่แต่เครื่องประดับที่สวมร่างกายของหญิงเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นอนามาส. ถึงรูปไม้ก็ดี รูปงาก็ดี รูปเหล็กก็ดี รูปดีบุกก็ดี รูปเขียนก็ดี รูปที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่างก็ดี ที่เขากระทำสัณฐานแห่งหญิง ชั้นที่สุดแม้รูปที่ปั้นด้วยแป้ง ก็เป็นอนามาสทั้งนั้น. แต่ได้ของที่เขาถวายว่า สิ่งนี้จงเป็นของท่าน เว้นของที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ทำลายรูปที่เหลือ น้อมเอาสิ่งที่ควรเป็นเครื่องอุปกรณ์เข้าในเครื่องอุปกรณ์และสิ่งที่ควรใช้สอย เข้าในของสำหรับใช้สอยเพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย ควรอยู่.
               อนึ่ง แม้ธัญชาติ ๗ ชนิดก็เป็นอนามาสเช่นเดียวกับรูปสตรีฉะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเดินไปกลางทุ่งนา อย่าเดินจับต้องเมล็ดธัญชาติแม้ที่เกิดอยู่ในทุ่งนานั้นไปพลาง. ถ้ามีธัญชาติที่เขาตากไว้ที่ประตูเรือน หรือที่หนทาง และด้านข้างมีทางเดิน อย่าเดินเหยียบย่ำไป. เมื่อทางเดินไม่มี พึงอธิษฐานให้เป็นทางแล้วเดินไปเถิด.
               คนทั้งหลายปูลาดอาสนะถวายบนกองธัญชาติในละแวกบ้าน จะนั่งก็ควร. ชนบางพวกเทธัญชาติกองไว้ในโรงฉัน ถ้าอาจจะให้นำออกได้ ก็พึงให้นำออก ถ้าไม่อาจ อย่าเหยียบย่ำธัญชาติ พึงตั้งตั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว นั่งเถิด. ถ้าไม่มีโอกาส พวกชาวบ้านปูลาดอาสนะถวายตรงท่ามกลางธัญชาตินั่นเอง พึงนั่งเถิด. แม้ในธัญชาติที่อยู่บนเรือ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. แม้อปรัณชาติมีถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นก็ดี ผลไม้มีตาลและขนุนเป็นต้นก็ดี ที่เกิดในที่นั้น ภิกษุไม่ควรจับเล่น. แม้ในอปรัณชาติและผลไม้ที่ชาวบ้านรวมกองไว้ ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน. แต่การที่ภิกษุจะถือเอาผลไม้ที่หล่นจากต้นในป่า ด้วยตั้งใจว่า จักให้แก่พวกอนุปสัมบัน ควรอยู่.

               [ว่าด้วยรัตนะ ๑๐ ประการ]               
               บรรดารัตนะ ๑๐ ประการเหล่านี้ คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม มุกดาตามธรรมชาติ ยังไม่ได้เจียระไนและเจาะ ภิกษุจะจับต้องได้อยู่. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า รัตนะที่เหลือ เป็นอนามาส.
               แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า มุกดาที่เจียระไนแล้วก็ดี ที่ยังไม่เจียระไนก็ดี เป็นอนามาส และภิกษุรับเพื่อประโยชน์เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ย่อมไม่ควร แต่จะรับเพื่อเป็นยาแก่คนเป็นโรคเรื้อน ควรอยู่. มณีชนิดสีเขียวและเหลืองเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยที่สุดจนกระทั่งแก้วผลึกธรรมชาติที่เขาขัดเจียระไนและกลึงแล้ว เป็นอนามาส. แต่มณีตามธรรมชาติพ้นจากบ่อเกิด ท่านกล่าวว่า ภิกษุจะรับเอาไว้เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของมีบาตรเป็นต้น ก็ควร. แม้มณีนั้น ท่านห้ามไว้ในมหาปัจจรี. กระจกแก้วที่เขาหุงทำไว้อย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่า ควร. แม้ในไพฑูรย์ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับแก้วมณี. สังข์จะเป็นสังข์สำหรับเป่า (แตรสังข์) ก็ดี ที่เขาขัดและเจียระไนแล้วก็ดี ประดับด้วยรัตนะ (ขลิบด้วยรัตนะ) ก็ดี เป็นอนามาส. สังข์สำหรับตักน้ำดื่มที่ขัดแล้วก็ดี ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นของควรจับต้องได้แท้. อนึ่ง รัตนะที่เหลือ ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาเป็นต้นก็ดี เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ดี ควรอยู่.
               ศิลาที่ขัดและเจียระไนแล้ว ประดับด้วยรัตนะมีสีเหมือนถั่วเขียวเท่านั้น เป็นอนามาส. ศิลาที่เหลือ ภิกษุจะถือเอามาเพื่อใช้เป็นหินลับมีดเป็นต้นก็ได้. ในคำนี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า รตนสํยุตฺตา ได้แก่ ศิลาที่หลอมผสมปนกับทองคำ.
               แก้วประพาฬที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส. ประพาฬที่เหลือเป็นอามาส (ควรจับต้องได้) และภิกษุจะรับไว้ เพื่อใช้จ่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ประพาฬที่ขัดแล้วก็ตาม มิได้ขัดก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น และจะรับไว้ไม่สมควร.
               เงินและทอง แม้เขาทำเป็นรูปพรรณทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนามาสและเป็นของไม่ควรรับไว้ จำเดิมแต่ยังเป็นแร่.
               ได้ยินว่า อุดรราชโอรสให้สร้างพระเจดีย์ทองส่งไปถวายพระมหาปทุมเถระ. พระเถระห้ามว่าไม่ควร. ดอกปทุมทองและดาวทองเป็นต้นมีอยู่ที่เรือนพระเจดีย์, แม้สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอนามาส แต่พวกภิกษุผู้เฝ้าเรือนพระเจดีย์ตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นจะลูบคลำดูก็ควร.
               แต่คำนั้น ท่านห้ามไว้ในกุรุนที. ท่านอนุญาตเพียงเท่านี้ว่า จะชำระหยากเยื่อที่พระเจดีย์ทองควรอยู่. ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งปวงว่า แม้โลหะที่กะไหล่ทอง๑- ก็มีคติดุจทองคำเหมือนกัน จัดเป็นอนามาส. ส่วนเครื่องใช้สอยในเสนาสนะ เป็นกัปปิยะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เครื่องบริขารประจำเสนาสนะ แม้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองและเงิน เป็นอามาส (ควรจับต้องได้). พวกชาวบ้านสร้างมณฑปแก้ว เป็นสถานที่แสดงพระธรรมวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย มีเสาแก้วผลึก ประดับประดาด้วยพวงแก้ว. การที่ภิกษุทั้งหลายจะเก็บรักษาเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดในรัตนมณฑปนั้น ควรอยู่.
____________________________
๑- วิมติวิโนทนีฏีกา. อารกูฏโลหนฺติ สุวณฺณวณฺโณ กิตฺติมโลหวิเสโส.
๑- ติวิธญฺหิ กิตฺติมโลหํ กํสโลหํ วฏฏโลหํ. หารกูฏโลหนฺติ ตตฺถ ติปุตมฺเพ
๑- มิสฺเสตฺวา กตํ หารกูฏโลหํ นาม. แปลว่า โลหะเทียม พิเศษมีสีเหมือน
๑- ทองคำ ชื่อว่า อารกูฏโลหะ. ก็ โลหะทำเทียมมี ๓ อย่าง คือ กังสโลหะ
๑- วัฏฏโลหะ หารกูฏโลหะ. บรรดาโลหะเหล่านั้น โลหะที่เขาทำผสมดีบุก
๑- และทองแดง ชื่อว่า กังสโลหะ. ที่เขาทำผสมตะกั่วและทองแดง ชื่อว่า
๑- วัฏฏโลหะ ที่เขาทำผสมปรอทและทองแดง ชื่อว่า หารกูฏโลหะ.
๑- แม้ในสารัตถทีปนี ๓/๓๕ ก็ขยายความโดยทำนองนี้ - ผู้ชำระ. น่าจะเป็น
๑- สัมฤทธิ์.

               ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส ที่ยังไม่ได้ขัดและเจียระไนนอกนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นอามาส ภิกษุจะรับไว้ เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดแล้วก็ดี ที่ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นอนามาสโดยประการทุกอย่าง และภิกษุจะรับไว้ ไม่ควร.
               เครื่องอาวุธทุกชนิดเป็นอนามาส แม้เขาถวายเพื่อประโยชน์จำหน่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ไม่ควรรับไว้, ชื่อว่าการค้าขายศัสตรา ย่อมไม่สมควร. แม้คันธนูล้วนๆ ก็ดี สายธนูก็ดี ประตักก็ดี ขอช้างก็ดี โดยที่สุดแม้มีดและขวานเป็นต้น ที่เขาทำโดยสังเขปเป็นอาวุธก็เป็นอนามาส. ถ้ามีใครๆ เอาหอก หรือโตมรมาวางไว้ในวิหาร เมื่อจะชำระวิหาร พึงส่งข่าวไปบอกแก่พวกเจ้าของว่า จงนำไปเสีย. ถ้าพวกเขาไม่นำไป อย่าให้ของนั้นขยับเขยื้อน พึงชำระวิหารเถิด. ภิกษุพบเห็นดาบก็ดี หอกก็ดี โตมรก็ดี ตกอยู่ในสนามรบ พึงเอาหินหรือของอะไรๆ ต่อยดาบเสียแล้ว ถือเอาไปเพื่อใช้ทำเป็นมีดควรอยู่. ภิกษุจะแยกแม้ของนอกนี้ออกแล้ว ถือเอาของบางอย่างเพื่อใช้เป็นมีด บางอย่างเพื่อใช้เป็นไม้เท้าเป็นต้น ควรอยู่. ส่วนว่าเครื่องอาวุธที่เขาถวายว่า ขอท่านจงรับอาวุธนี้ไว้ ภิกษุจะรับแม้ทั้งหมดด้วยตั้งใจว่า เราจักทำให้เสียหายแล้ว กระทำให้เป็นกัปปิยภัณฑ์ดังนี้ควรอยู่.
               เครื่องจับสัตว์มีแหทอดปลาและข่ายดักนกเป็นต้นก็ดี เครื่องป้องกันลูกศรมีโล่และตาข่ายเป็นต้นก็ดี เป็นอนามาสทุกอย่าง. ก็บรรดาเครื่องดักสัตว์และเครื่องป้องกันลูกศรที่ได้มาเพื่อเป็นเครื่องใช้สอย ทีแรก ตาข่ายภิกษุจะถือเอาด้วยตั้งใจว่า เราจะผูกขึงไว้หรือพันเป็นฉัตรไว้เบื้องบนแห่งอาสนะหรือพระเจดีย์ ควรอยู่. เครื่องป้องกันลูกศรแม้ทั้งหมด ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งของ ก็สมควร. เพราะว่า เครื่องป้องกันลูกศรนั้น เป็นเครื่องกันการเบียดเบียนจากคนอื่น ไม่ใช่เป็นเครื่องทำการเบียดเบียน ฉะนี้แล, จะรับโล่ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำเป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน ดังนี้ก็ควร.
               เครื่องดนตรีมีพิณและกลองเป็นต้นที่ขึงด้วยหนัง เป็นอนามาส.
               แต่ในกุรุนที ท่านกล่าวว่า ตัวกลอง (หนังชะเนาะขึ้นกลอง) ก็ดี ตัวพิณ (สายขึงพิณ) ก็ดี รางเปล่าก็ดี๒- หนังเขาปิดไว้ที่ขอบปากก็ดี คันพิณก็ดี เป็นอนามาสแม้ทั้งสิ้น. จะขึงเองหรือให้คนอื่นเขาขึงก็ดี จะประโคมเองหรือให้คนอื่นเขาประโคมก็ดี ไม่ได้ทั้งนั้น. แม้เห็นเครื่องดนตรีที่พวกมนุษย์กระทำการบูชา แล้วทิ้งไว้ที่ลานพระเจดีย์ อย่าทำให้เคลื่อนที่เลย พึงกวาดไปในระหว่างๆ.
               แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า ในเวลาเทหยากเยื่อ พึงนำไปโดยกำหนดว่าเป็นหยากเยื่อแล้ววางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ควรอยู่. แม้จะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ก็ควร. แต่ที่ได้มาเพื่อต้องการจะใช้สอย จะถือเอาเพื่อต้องการทำให้เป็นบริขารนั้นๆ โดยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักทำรางพิณและหุ่นกลองให้เป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน หนังจักทำให้เป็นฝักมีด แล้วกระทำตามที่ตั้งใจอย่างนั้นๆ ควรอยู่.
____________________________
๒- สารัตถทีปนี ๓/๓๖. แก้ว่า เภรีสงฺฆาโฏติ สงฺฆาฏิตจมฺมเภรี.
๒- วีณาสงฺฆาโฏติ สงฺฆาฏิตจมฺมวีณา. จมฺมวินทฺธานํ เภรีวีณานเมตํ
๒- อธิวจนํ ตุจฺฉโปกฺขรนฺติ อวินทฺธจมฺมํ เภรีโปกฺขรํ วีณาโปกฺขรญฺจ.
๒- แปลว่า กลองที่ขึ้นหนังแล้ว ชื่อว่า เภรีสังฆาฏะ. พิณที่ขึงสายแล้ว
๒- ชื่อว่า วีณา สังฆาฏะ. คำทั้งสองนี้ เป็นชื่อแห่งกลองที่ขึ้นหนังและ
๒- พิณที่ขึงสายแล้ว. ในที่บางแห่งว่า หนังชะเนาะขึ้นกลอง ชื่อว่า
๒- เภรีสังฆาฏะ สายขึงพิณ ชื่อว่า วีณาสังฆาฏะ ก็มี ดังในวิมติวิโนทนีฏีกา
๒- อ้างถึงอรรถกถากุรุนที แก้ไว้ว่า เภรีอาทีนํ วินทฺโธปกรณสมุโห
๒- เภรีวีณาสงฺฆาโฏติ เวทิตพฺพํ. พึงทราบว่า ประชุมเครื่องอุปกรณ์
๒- ขึ้นกลองเป็นต้น ชื่อว่า เภรีวีณาสังฆาฏะ. รางกลองและรางพิณที่
๒- ยังไม่ได้ขึ้นหนังและขึงสาย ชื่อว่า ตฺวฉโปกขระ. ผู้ชำระ.

               เรื่องภรรยาเก่า มีอรรถชัดเจนทีเดียว.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องนางยักษิณี ดังนี้ :-
               แม้ถ้าว่า ภิกษุถึงความเคล้าคลึงกายกับนางเทพีของท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ก็ต้องถุลลัจจัยอย่างเดียว.
               เรื่องบัณเฑาะก์ และเรื่องหญิงหลับ ปรากฏแล้วแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องหญิงตาย ดังนี้ :-
               เป็นถุลลัจจัยในเวลาพอจะเป็นปาราชิก นอกจากนั้น เป็นทุกกฏ.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องดิรัจฉาน ดังนี้ :-
               (เคล้าคลึงกาย) กับนางนาคมาณวิกาก็ดี กับนางสุบรรณมาณวิกาก็ดี กับนางกินรีก็ดี กับแม่โคก็ดี เป็นทุกกฏทั้งนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องตุ๊กตาไม้ ดังนี้ :-
               มิใช่กับไม้อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่สุดแม้ในรูปหญิงที่เขาเขียนจิตรกรรมไว้ ก็เป็นทุกกฏเหมือนกัน. เรื่องบีบบังคับภิกษุ มีอรรถกระจ่างทั้งนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องสะพาน ดังนี้ :-
               สะพานที่คนเดินได้จำเพาะคนเดียวก็ตาม สะพานที่เป็นทางเกวียนข้ามก็ตามที เพียงแต่ภิกษุกระทำประโยคด้วยตั้งใจว่า เราจักเขย่าสะพาน ดังนี้ จะเขย่าก็ตาม ไม่เขย่าก็ตาม เป็นทุกกฏ.
               เรื่องหนทาง ปรากฏชัดแล้วแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องต้นไม้ ดังนี้ :-
               ต้นไม้เป็นไม้ใหญ่ขนาดเท่าต้นหว้าใหญ่ก็ตาม เป็นต้นไม้เล็กก็ตาม ภิกษุอาจเพื่อเขย่าก็ตาม ไม่อาจเพื่อจะเขย่าก็ตาม เป็นทุกกฏ เพราะเหตุเพียงแต่มีความพยายาม.
               แม้ในเรื่องเรือก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องเชือก ดังนี้ :-
               ภิกษุอาจเพื่อจะดึงเชือกให้เคลื่อนจากฐานได้ เป็นถุลลัจจัยในเพราะเชือกนั้น. เชือกชนิดใดเป็นเชือกเส้นใหญ่ ย่อมไม่เคลื่อนไหวจากฐาน แม้เพียงเล็กน้อยเป็นทุกกฏ ในเพราะเชือกนั้น.
               แม้ในขอนไม้ก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ แม้ต้นไม้ใหญ่ที่ล้มลงบนพื้นดิน ก็ทรงถือเอาแล้วด้วยทัณฑศัพท์เหมือนกันในเรื่องขอนไม้นี้.
               เรื่องบาตรปรากฏชัดแล้วแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องไหว้ ดังนี้ :-
               หญิงผู้ประสงค์จะนวดเท้าทั้งสองไหว้ ภิกษุพึงห้าม พึงปกปิดเท้าไว้ หรือพึงนิ่งเฉยเสีย. ด้วยว่า ภิกษุผู้นิ่งเฉย แม้จะยินดี ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               เรื่องสุดท้าย ปรากฏชัดแล้วแล.

               กายสังสัคควรรณนา ในอรรถกถาพระวินัย               
               ชื่อสมันตปาสาทิกา จบด้วยประการฉะนี้.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 342อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 375อ่านอรรถกถา 1 / 397อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=13152&Z=13713
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=415
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=415
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :