ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 279อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 281อ่านอรรถกถา 1 / 300อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท
อนาปัตติวาร ... วินีตวัตถุ

               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงประเภทแห่งอาบัติ ด้วยอำนาจความพิสดารอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงอนาบัติ จึงตรัสคำว่า อนาปตฺติ อธิมาเนน เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิมาเนน มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อวด ด้วยสำคัญว่าตนได้บรรลุ.
               บทว่า อนุลฺลปนาธิปฺปายสฺส มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มิได้ตั้งอยู่ในอิจฉาจาร ด้วยความเป็นผู้หลอกลวง ไม่ประสงค์จะอวด พยากรณ์พระอรหัตผลในสำนักของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย. ภิกษุบ้าเป็นต้นมีนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้นนั่นแล. อนึ่ง พวกภิกษุผู้จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ผู้เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติแก่เธอเหล่านั้น ฉะนี้แล.
               ปทภาชนียวรรณนา จบ.               

               (จตุตถปาราชิกสิกขาบทมีสมุฏฐาน ๓)               
               ในสมุฏฐานเป็นต้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือเกิดแต่กายกับจิตของภิกษุผู้อวดอยู่ ด้วยหัวแม่มือ ๑ เกิดแต่วาจากับจิตของภิกษุผู้อวดด้วยการเปล่งวาจา ๑ เกิดแต่กายวาจากับจิตของภิกษุผู้ทำอยู่ทั้ง ๒ อย่าง ๑ เป็นกิริยา เป็นสัญญาวิโมกข์ เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นอกุศลจิต มีเวทนา ๓.
               จริงอยู่ ภิกษุย่อมกล่าวอวดทั้งที่มีโสมนัสรื่นเริงใจก็มี กลัวอวดก็มี มีตนเป็นกลางอวดก็มี.

               [เรื่องสำคัญว่าได้บรรลุ]               
               เรื่องสำคัญว่าได้บรรลุ ในวินีตวัตถุทั้งหลายมีนัยดังกล่าวแล้ว ในอนุบัญญัตินั่นแล.
               ในเรื่องที่ ๒ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า ปณิธาย ได้แก่ ทำความปรารถนาไว้.
               ข้อว่า เอวํ มํ ชโน สมฺภาเวสฺสติ มีความว่า (ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอยู่ในป่าด้วยตั้งใจว่า) ชนจักยกย่องเราผู้อยู่ในป่าในความเป็นพระอรหันต์หรือในภูมิแห่งพระเสขะ ด้วยวิธีอย่างนี้, แต่กาลนั้นไป เราจักเป็นผู้อันชาวโลกสักการะ เคารพนับถือ บูชา.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า เมื่อเธอเดินไปด้วยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักอยู่ในป่า เป็นทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า. ในกิจทั้งปวงมีการสร้างกุฎี เดินจงกรม นั่งและนุ่งห่มเป็นต้นในป่า เป็นทุกกฏทุกๆ ประโยคเหมือนอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุไม่ควรอยู่ในป่า ด้วยความตั้งใจอย่างนั้น.
               จริงอยู่ เมื่ออยู่ด้วยความตั้งใจอย่างนั้น จะได้รับความยกย่องหรือไม่ก็ตาม ย่อมต้องทุกกฏ. ส่วนภิกษุใดสมาทานธุดงค์แล้ว คิดว่า เราจักรักษาธุดงค์ หรือว่า เมื่อเราพักอยู่ในแดนบ้าน จิตย่อมฟุ้งซ่าน, ป่าเป็นที่สบาย ดังนี้จึงเป็นผู้มีความประสงค์จะอยู่ป่าอันหาโทษมิได้ด้วยทำความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบรรลุบรรดาวิเวกทั้ง ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งในป่าแน่แท้ ดังนี้ก็ดี ว่า เราเข้าไปสู่ป่ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จักไม่ออกมา ดังนี้ก็ดี ว่า ชื่อว่าการอยู่ป่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญและเมื่อเราพักอยู่ในป่า เพื่อนพรหมจารีมากหลายจักละทิ้งแดนบ้านแล้วอยู่ป่าเป็นวัตร ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่า.
               ในเรื่องที่ ๓ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เป็นทุกกฏทุกๆ ประโยค ตั้งต้นแต่กิจคือการนุ่งห่ม ด้วยตั้งใจว่า เราจักวางอิริยาบถมีการก้าวไปเป็นต้น เที่ยวบิณฑบาต จนกระทั่งถึงการขบฉันเป็นที่สุด, เธอจะได้รับความยกย่องหรือไม่ก็ตาม เป็นทุกกฏทั้งนั้น แต่ภิกษุผู้เข้าไปบิณฑบาต ด้วยอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส มีการก้าวไปและถอยกลับเป็นต้น เพื่อบำเพ็ญขันธกวัตรและเสขิยวัตรให้บริบูรณ์ หรือเพื่อถึงความเป็นทิฏฐานุคติ แก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเป็นผู้อันวิญญูชนทั้งหลายไม่พึงติเตียนแล.
               ในเรื่องที่ ๔ และที่ ๕ เพราะภิกษุมิได้กล่าวว่าเรา โดยนัยดังกล่าวไว้แล้วในคำนี้ว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน จึงไม่เป็นปาราชิก. จริงอยู่ เมื่อภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมเป็นที่น้อมเข้ามาในตนเท่านั้น ท่านจึงปรับเป็นปาราชิก. คำเป็นต้นว่า (ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง) เดินจงกรมด้วยตั้งใจว่า... ดังนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั้นแล.
               ในเรื่องละสังโยชน์ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุกล่าวว่า สังโยชน์ทั้งหลาย เราละได้แล้วก็ดี ว่า สังโยชน์ทั้ง ๑๐ เราละได้แล้วก็ดี ว่า สังโยชน์ข้อหนึ่ง เราละได้แล้วก็ดี การละกิเลสนั่นแหละเป็นอันเธอบอกแล้ว; เพราะเหตุนั้น จึงเป็นปาราชิก.
               ในเรื่องธรรมในที่ลับ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า รโห อุลฺลปติ๑- ความว่า ภิกษุอยู่ในที่ลับ พูดว่า เราเป็นพระอรหันต์ ดังนี้, แต่ไม่ได้ทำ การคิดด้วยใจเลย; เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ ท่านจึงปรับเป็นทุกกฏ เรื่องวิหารและเรื่องบำรุง มีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
____________________________
๑- บาลี. มหา. วิ. ๑/หน้า ๒๐๔ เป็น รโหคโต ... อุลฺลปติ.

               ในเรื่องทำได้ไม่ยาก มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ลัทธิของภิกษุนั้นมีดังนี้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายแลผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า (พึงพูดอย่างนั้น). เพราะเหตุนั้น เธอจึงกล่าวว่า เฉพาะท่านที่เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น พึงพูดอย่างนั้น. ก็แลความประสงค์ของเธอ มีดังนี้ว่า การที่ภิกษุผู้มีศีล เจริญวิปัสสนาพยากรณ์พระอรหัตผลทำให้ไม่ยากเลย, เธอสามารถบรรลุพระอรหัตได้, เพราะเหตุนั้น ภิกษุรูปนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด.
               ในเรื่องความเพียร มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อาราธนีโย ความว่า สามารถเพื่อยังธรรมให้สัมฤทธิผลได้ คือยังตนให้บรรลุได้. ความว่า เพื่อให้เกิดได้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ
               ในเรื่องความตาย มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุนั้นอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์นี้ว่า ท่านผู้มีความเดือดร้อนใจเกิดขึ้น ต้องกลัวแน่, แต่ศีลของเราบริสุทธิ์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนใจเลย. เรานั้นจักต้องกลัวต่อความตายทำไม ดังนี้ จึงตอบว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ผมย่อมไม่กลัวต่อความตาย. เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีอาบัติแก่ภิกษุนั้น.
               แม้ในเรื่องความเดือดร้อนใจ ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ๓ เรื่องถัดจากเรื่องความเดือดร้อนใจนั้นไปเป็นเหมือนเรื่องความเพียรนั่นเอง.
               บรรดาเรื่องเวทนาทั้งหลาย พึงทราบวินิจฉัยในเรื่องทีแรกก่อน :-
               ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในอธิวาสนขันติ ด้วยกำลังแห่งความพิจารณา จึงตอบว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อันคนพอดีพอร้าย ไม่สามารถจะอดกลั้นได้. เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีอาบัติแก่เธอ. ส่วนในเรื่องที่ ๒ เป็นถุลลัจจัย เพราะภิกษุนั้นไม่ได้ทำการอวดอุตริมนุสธรรมเป็นที่น้อมเข้ามาในตน กล่าวโดยอ้อมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อันปุถุชนไม่สามารถ (จะอดกลั้นได้).
               ในเรื่องพราหมณ์ทั้งหลาย มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พราหมณ์คนนั้นได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลาย จงมาเถิดเจ้าข้า ดังนี้ อย่างเดียวก็หามิได้, (โดยที่แท้) คำพูดทั้งหมดที่เปล่งออกจากปากของพราหมณ์นั้น ประกอบด้วยวาทะว่าอรหันต์ทั้งนั้น ดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงปูลาดอาสนะ จงถวายน้ำล้างเท้าแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย, ขอพระอรหันต์ทั้งหลายจงล้างเท้าเถิด. ก็คำพูดนั้นของพราหมณ์นั้น เป็นการกล่าวด้วยความเลื่อมใส คือเป็นคำกล่าวของพราหมณ์ ผู้ถูกกำลังศรัทธาของตนให้ขะมักเขม้นแล้ว เพราะความเป็นผู้มีศรัทธาจิต. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะการกล่าวด้วยความเลื่อมใส. อันภิกษุผู้ถูกเขากล่าวอย่างนั้น ไม่ควรเป็นผู้ร่าเริงยินดีเลยบริโภคปัจจัยทั้งหลาย ควรทำความเพียร ด้วยคิดอย่างนี้ว่า ก็เราจักบำเพ็ญข้อปฏิบัติ อันจะยังตนให้ถึงพระอรหัต ดังนี้แล. เรื่องพยากรณ์อรหัตผลเป็นเหมือนเรื่องละสังโยชน์นั่นแล.
               ในเรื่องครองเรือน มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุนั้นได้กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ คนอย่างฉันไม่ควรแล ดังนี้ เพราะเธอไม่มีความต้องการ ไม่มี ความเยื่อใยในความเป็นคฤหัสถ์, หาได้กล่าวด้วยความประสงค์จะอวดไม่; เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแก่เธอ.
               ในเรื่องห้ามกาม มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุนั้นเป็นผู้หมดความเยื่อใยในวัตถุกามและกิเลสกาม เพราะเล็งเห็นโทษ ที่เป็นโลกีย์นั่นเอง; เพราะฉะนั้น เธอจึงกล่าวว่า ดูก่อนคุณ กามทั้งหลาย ฉันห้ามได้แล้ว ดังนี้; เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแก่เธอ.
               ก็คำว่า อาวฏา ในคำว่า อาวฏา เม นี้ มีใจความว่า ฉันป้องกันได้แล้ว คือห้ามเสียแล้ว ปฏิเสธแล้ว.
               ในเรื่องความอภิรมย์ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดูก่อนคุณ ฉันยังยินดียิ่ง ด้วยความยินดีอย่างเยี่ยม ดังนี้ เพราะเธอเป็นผู้ไม่กระสัน และเพราะยังมีความยินดี ในอุเทศและปุจฉาเป็นต้น ในศาสนา หาได้กล่าวด้วยความประสงค์จะอวดไม่; เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแก่เธอ.

               [เรื่องตั้งกติกาหลีกไป]               
               ในเรื่องหลีกไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า ภิกษุใดจักหลีกไปจากอาวาสนี้ก่อน มีอธิบายว่า เมื่อสงฆ์กำหนดอาวาส มณฑลสีมาหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง แล้วตั้งกติกาไว้ ภิกษุใดหลีกไปจากสถานที่นั้นก่อน ด้วยคิดว่า ภิกษุทั้งหลายจงเข้าใจเราว่าเป็นพระอรหันต์, ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก. ส่วนภิกษุใดเดินเลยสถานที่นั้นไป ด้วยกิจธุระของอาจารย์และอุปัชฌายะก็ดี ด้วยกรณียะเช่นนั้นอย่างอื่น เพื่อภิกขาจารหรือเพื่อประโยชน์แก่อุเทศและปริปุจฉาก็ดี, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น.
               ถ้าแม้นเมื่อภิกษุนั้นเดินไปด้วยกิจอย่างนั้น ภายหลังอิจฉาจารเกิดขึ้นว่า บัดนี้ เราจักไม่ไปในสถานที่นั้น. เพราะว่า ชนทั้งหลายจักยกย่องเราว่า เป็นพระอรหันต์ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน.
               ฝ่ายภิกษุใดลุถึงสถานที่นั้นด้วยกรณียะบางอย่างแล้ว เป็นผู้ส่งใจไปในที่อื่น ด้วยอำนาจการใฝ่ใจในการสาธยายเป็นต้น หรือถูกโจรเป็นต้นไล่ติดตาม หรือเห็นเมฆตั้งเค้าขึ้นแล้ว มีประสงค์จะเข้าไปหลบฝน จึงล่วงเลยสถานที่นั้นไป ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น.
               แม้ภิกษุผู้ไปด้วยยานหรือด้วยฤทธิ์ก็ไม่ต้องปาราชิก, แต่ย่อมต้องอาบัติด้วยการเดินไปด้วยเท้านั้น.
               ภิกษุผู้เดินไปถึงสถานที่แม้นั้น ไม่ก่อนไม่หลัง พร้อมด้วยพวกภิกษุผู้ร่วมกันตั้งข้อกติกาไว้ไม่ต้องอาบัติ. เพราะว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดินไปอย่างนั้น ยังรักษากันและกันได้แม้ทั้งหมด.
               แม้ถ้าภิกษุทั้งหลายกำหนดสถานที่บางแห่งบรรดามณฑปและโคนต้นไม้เป็นต้น แล้วตั้งข้อกติกาไว้โดยนัยเป็นต้นว่า พวกเราจักรู้ภิกษุผู้นั่งหรือเดินจงกรมอยู่ในที่นี้ว่า เป็นพระอรหันต์ หรือเอาดอกไม้วางไว้โดยนัยเป็นต้นว่า พวกเราจักทราบภิกษุผู้ถือเอาดอกไม้เหล่านี้แล้วทำการบูชาว่า เป็นพระอรหันต์. แม้ในข้อกติกวัตรนั้น เมื่อภิกษุทำอยู่เหมือนอย่างนั้นด้วยอำนาจอิจฉาจาร เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               แม้ถ้าอุบาสกสร้างวิหารไว้ในระหว่างทางก็ดี ตั้งปัจจัยมีจีวรเป็นต้นไว้ก็ดี ด้วยกล่าวว่า ขอภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายจงพักอยู่ในวิหารหลังนี้ และจงถือเอาปัจจัยมีจีวรเป็นต้น. แม้ในข้อกติกวัตรที่อุบาสกตั้งไว้นั้น เมื่อภิกษุพักอยู่หรือถือเอาปัจจัยมีจีวรเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยอำนาจอิจฉาจารเป็นปาราชิกเหมือนกัน. แต่ว่านั่นเป็นกติกวัตรที่ไม่ชอบธรรม; เพราะเหตุนั้นจึงไม่ควรทำ.
               อีกอย่างหนึ่ง วัตรอื่นเห็นปานนี้มีอาทิอย่างนี้ว่า ในภายในไตรมาสนี้ ภิกษุทั้งหมดจงเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร หรือว่าทรงไว้ซึ่งธุดงค์ที่เหลือ มีองค์แห่งภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเป็นต้น, หรือว่า จงเป็นผู้สิ้นอาสวะหมดทุกรูปด้วยกัน, ดังนี้ (ชื่อว่าวัตรที่ไม่ชอบธรรม).
               แท้จริง ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในชนบทต่างๆ ย่อมประชุมกัน. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางพวกทุพพลภาพมีกำลังน้อย ย่อมไม่สามารถจะตามรักษาข้อวัตรเห็นปานนั้นได้. เพราะเหตุนั้น ข้อวัตรแม้เห็นปานนั้นจึงไม่ควรทำ.
               และข้อวัตรมีอาทิอย่างนี้ว่า ตลอดไตรมาสนี้ ภิกษุหมดทุกรูปด้วยกันไม่พึงแสดงธรรม ไม่พึงเรียนธรรม ไม่พึงให้บรรพชา, แต่ควรเรียนเอามูควัตร ควรให้ลาภสงฆ์แม้แก่ภิกษุผู้อยู่ภายนอกสีมาด้วย ดังนี้ ก็ไม่ควรทำเหมือนกัน.

               [เรื่องพระมหาโมคคัลลานะเห็นอัฏฐิสังขลิกเปรต]               
               พระลักขณเถระที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ในลักขณสังยุตว่า อายสฺมา จ ลกฺขโณ.๑- เป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีอยู่ภายในแห่งภิกษุชฎิลพ้นองค์ อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุดแห่งอาทิตตปริยายสูตร เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง. ก็เพราะท่านองค์นี้ประกอบด้วยอัตภาพเสมือนพรหม สมบูรณ์ด้วยลักษณะเต็มเปี่ยมด้วยอาการทุกอย่าง ฉะนั้น ท่านจึงถึงความนับว่า ลักขณะ ส่วนพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นพระอัครสาวกที่ ๒ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๗ แต่วันที่ท่านบวชแล้ว.
____________________________
๑- สํ. นิทาน. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖๓๖

               สองบทว่า สิตํ ปาตฺวากาสิ ความว่า พระมหาโมคคัลลานเถระได้ทำการยิ้มน้อยๆ ให้ปรากฏ. มีคำอธิบายว่า ประกาศคือแสดง.
               ถามว่า ก็พระเถระเห็นอะไร จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ?
               แก้ว่า พระเถระเห็นสัตว์ผู้เกิดอยู่ในเปตโลกตนหนึ่ง มีแต่ร่างกระดูกซึ่งมาแล้วในบาลีข้างหน้า, ก็แลการเห็นสัตว์ตนนั้น เห็นได้ด้วยทิพยจักษุ ไม่ใช่เห็นด้วยจักษุประสาท. จริงอยู่ อัตภาพเหล่านั้นหาได้มาสู่คลองแห่งจักษุประสาทไม่.
               ถามว่า ก็พระเถระเห็นอัตภาพมีรูปอย่างนั้นแล้ว เพราะเหตุไรจึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ ในเมื่อควรทำความกรุณาเล่า?.
               แก้ว่า เพราะท่านอนุสรณ์ถึงสมบัติของตน และพระญาณของพระพุทธเจ้าด้วย. แท้จริง พระเถระเห็นเปรตตนนั้นแล้ว ได้อนุสรณ์ถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเห็นปานนี้อันบุคคลผู้ชื่อว่ายังไม่เห็นสัจจะพึงได้, เราพ้นแล้วจากอัตภาพเช่นนั้น, เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ และได้ระลึกถึงสมบัติแห่งพระพุทธญาณอย่างนี้ว่า ญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมวิบากเป็นอจินไตย อันบุคคลไม่พึงคิด๒- น่าอัศจรรย์, พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงแสดงทำให้ประจักษ์หนอ ธรรมธาตุอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแทงตลอดดีแล้วดังนี้ จึงได้ทำการแย้มพรายให้ปรากฏ.
               ก็ธรรมดาว่า พระขีณาสพทั้งหลายไม่ทำการแย้มพรายให้ปรากฏ เพราะไม่มีเหตุ; เพราะฉะนั้น พระลักขณเถระจึงถามพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นว่า ดูก่อนอาวุโส โมคคัลลานะ อะไรหนอเป็นเหตุ? อะไรหนอเป็นปัจจัยแห่งการทำแย้มพรายให้ปรากฏ? แต่พระเถระกล่าวตอบว่า อาวุโสลักขณะ ยังไม่เป็นกาลสมควรแลเป็นต้น โดยเหตุที่ท่านมีความประสงค์จะให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพยานเสียก่อน จึงพยากรณ์ เพราะเหตุว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ยังมิได้เห็นความอุบัติขึ้นนี้ด้วยตนเองแล้ว จะบังคับให้เชื่อได้โดยยาก. ภายหลังแต่นั้น พระมหาโมคคัลลานเถระถูกพระลักขณเถระถามในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้พยากรณ์โดยนัยมีอาทิว่า อิธาหํ อาวุโส.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐิกสงฺขลิกํ ได้แก่ ผู้มีแต่ร่างกระดูกซึ่งมีสีขาว ไม่มีเนื้อและโลหิต.
               แร้งยักษ์ เหยี่ยวยักษ์และนกตะกรุมยักษ์ แม้เหล่านี้ พึงทราบว่า แร้งบ้าง เหยี่ยวบ้าง นกตะกรุมบ้าง. ก็รูปนั้นไม่มาแม้สู่คลอง (แห่งจักษุ) ของฝูงแร้งเป็นต้นตามปกติ.
               สองบทว่า อนุปติตฺวา อนุปติตฺวา ได้แก่ พากันติดตามไปแล้วๆ.
               บทว่า วตุเทนฺติ ได้แก่ จิกแล้วบินไป. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า วิตุทนฺติ ก็มี. อธิบายว่า ย่อมสับจิก ด้วยจะงอยปากซี่โลหะที่คมกริบเปรียบด้วยคมดาบ. ศัพท์ว่า สุทํ ในคำว่า สา สุทํ อฏฺฏสฺสรํ นี้ เป็นนิบาต. อธิบายว่า อัฏฐิกสังขลิกเปรตตนนั้นย่อมทำเสียงร้องครวญคราง คือเสียงโอดครวญ.
               ได้ยินว่า อัตภาพเช่นนั้น แม้มีประมาณตั้งโยชน์หนึ่งย่อมเกิดขึ้น และมีประสาทที่พองขึ้น เป็นเช่นกับหัวฝีที่งอมแล้ว เพื่อความเสวยผลแห่งอกุศล เพราะฉะนั้น อัฏฐิกสังขลิกเปรตตนนั้นเดือดร้อนเพราะเวทนาที่มีกำลัง จึงได้ทำเสียงเช่นนั้นแล.
               ก็แล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงย้ำธรรมสังเวชซึ่งเกิดขึ้น เพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ไปในวัฏฏะ ย่อมไม่พ้นจากอัตภาพเห็นปานนี้ไปได้ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ดูก่อนอาวุโส เรานั้นได้มีความคิดเช่นนี้ว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ดังนี้.
               สองบทว่า ภิกฺขู อุชฺฌายนฺติ ความว่า ความอุบัติขึ้นแห่งเปรตนั้น ไม่เห็นประจักษ์แก่ภิกษุเหล่าใด, ภิกษุเหล่านั้นพากันโพนทะนา. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศอานุภาพของพระเถระ จึงตรัสพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุอยู่หนอ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น สาวกทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ เพราะอรรถว่า สาวกเหล่านั้นมีจักษุเป็นแล้ว เกิดแล้ว อุบัติแล้ว. ความว่า เป็นผู้มีจักษุเป็นแล้วคือมีจักษุเกิดแล้ว ยังจักษุให้เกิดขึ้นแล้วอยู่. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน. คำว่า ยตฺร ซึ่งมีอยู่ในคำว่า ยตฺร หิ นาม นี้ เป็นคำระบุถึงเหตุ.
               ในคำว่า จกฺขุภูตา เป็นต้นนั้น มีการประกอบเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               เพราะเหตุว่า แม้สาวกจักรู้หรือจักเห็นหรือจักทำอัตภาพเห็นปานนี้ ให้เป็นพยานได้; ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุอยู่หนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีญาณอยู่หนอ ดังนี้.
               ข้อว่า ปุพฺเพว เม โส ภิกฺขเว สตฺโต ทิฏฺโฐ มีความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ตรัสว่า เราได้แทงตลอดสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิมัณฑ์ ทำหมู่สัตว์และภพ คติ ฐิติและนิวาส หาประมาณมิได้ ในจักรวาลทั้งหลายหาประมาณมิได้ ให้ประจักษ์อยู่ ได้เห็นสัตว์นั้นแล้วในกาลก่อนแล.
               บทว่า โคฆาตโก ความว่า เป็นสัตว์ผู้ฆ่าโคทั้งหลายแล้ว ปล้อนเนื้อออกจากกระดูกขายเลี้ยงชีวิต.
               หลายบทว่า ตสฺเสว กมฺมสฺส วิปากาวเสเสน ความว่า แห่งอปราปรเวทนีกรรมอันเจตนาต่างๆ ประมวลมาแล้วนั้นนั่นแล. จริงอยู่ บรรดาเจตนาเหล่านั้น ปฏิสนธิในนรกอันเจตนาใดให้เกิดขึ้น แล้วเมื่อวิบากแห่งเจตนาดวงนั้น สิ้นไปแล้ว, ปฏิสนธิในเปรตเป็นต้น ย่อมบังเกิดอีก; เพราะทำกรรมที่เหลือ หรือกรรมนิมิตให้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ปฏิสนธินั้น ท่านจึงเรียกว่า วิบากที่เหลือแห่งกรรมนั้นนั่นเอง เพราะมีส่วนเสมอด้วยกรรม หรือเพราะมีส่วนเสมอด้วยอารมณ์. ก็สัตว์นี้เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ด้วยวิบากยังเหลืออยู่แห่งกรรมนั้นนั่นเอง.
               ได้ยินว่า ในเวลาเคลื่อนจากนรก สัตว์นั้นได้มีนิมิตคือกองกระดูกแห่งโคทั้งหลาย อันถูกทำไม่ให้มีเนื้อ, สัตว์นั้น เมื่อจะทำกรรมนั้น แม้ที่ปกปิดให้เป็นดุจปรากฏแก่วิญญูชนทั้งหลาย จึงเกิดเป็นอัฏฐิสังขลิกเปรต.
____________________________
๒- องฺ จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๗๗

               [เรื่องมังสเปสีเปรต]               
               ในเรื่องมังสเปสีเปรต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               มังสเปสีเปรตนั้นเป็นคนฆ่าโค ทำชิ้นเนื้อตากให้แห้งแล้ว เลี้ยงชีวิตด้วยการขายเนื้อแห้งหลายปี. ด้วยเหตุนั้น เวลาเคลื่อนจากนรก เขาจึงได้มีนิมิตคือชิ้นเนื้อนั่นเอง เขาจึงเกิดเป็นมังสเปสีเปรต.

               [เรื่องมังสปิณฑเปรต]               
               ในเรื่องมังสปิณฑเปรต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               มังสปิณฑเปรตนั้นเป็นนายพรานนกจับนกได้แล้ว เวลาขาย ได้ทำการถอนขนปีกและหนังออกหมด ให้เป็นเพียงก้อนเนื้อแล้ว ขายเลี้ยงชีวิต. ด้วยเหตุนั้น เวลาเคลื่อนจากนรก เขาจึงได้มีนิมิตคือก้อนเนื้อเท่านั้น. เขาจึงเกิดเป็นมังสปิณฑเปรต.

               [เรื่องนิจฉวีเปรต]               
               ในเรื่องนิจฉวีเปรต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               นิจฉวีเปรตนั้นเป็นคนฆ่าแพะ ฆ่าแพะแล้วถลกหนัง เลี้ยงชีวิต จึงได้มีนิมิตคือร่างแพะปราศจากหนัง ตามนัยก่อนนั่นแล เขาจึงได้เกิดเป็นนิจฉวีเปรต.

               [เรื่องอสิโลมเปรต]               
               ในเรื่องอสิโลมเปรต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               อสิโลมเปรตนั้นเป็นคนฆ่าสุกร ใช้ดาบฆ่าสุกรทั้งหลายอันตนปรนปรือด้วยเหยื่อสิ้นกาลนาน แล้วเลี้ยงชีวิตมาตลอดราตรีนาน. เขาจึงได้มีนิมิตคือภาวะของคนที่เงื้อดาบขึ้น ฉะนั้น เขาจึงเกิดเป็นอสิโลมเปรต.

               [เรื่องสัตติโลมเปรต]               
               ในเรื่องสัตติโลมเปรต พึงทราบวินิจฉัยต่อไป :-
               สัตติโลมเปรตนั้นเป็นคนล่าเนื้อ พาเอาเนื้อตัวหนึ่งและถือหอกเล่มหนึ่ง ไปป่าแล้ว ใช้หอกแทงเนื้อที่พากันมาสู่ที่ใกล้เนื้อนั้นให้ตาย. เขาจึงได้มีนิมิตคือภาวะที่ใช้หอกแทง. ฉะนั้น เขาจึงเกิดเป็นสัตติโลมเปรต.

               [เรื่องอุสุโลมเปรต]               
               ในเรื่องอุสุโลมเปรต พึงทราบวินิจฉัยต่อไป :-
               บทว่า การณิโก ความว่า เป็นบุรุษผู้เบียดเบียนพวกคนผู้ผิดต่อพระราชา ด้วยเหตุทั้งหลายเป็นอันมาก ลงท้ายใช้ลูกศรยิงให้ตาย. ได้ยินว่า เขาทราบก่อนว่า คนถูกยิงส่วนโน้นจึงจะตาย ดังนี้แล้วจึงยิง. เขานั่นเองเลี้ยงชีวิตแล้วบังเกิดในนรก ในเวลาเกิดในเปรตวิสัยนี้ ได้มีนิมิตคือภาวะที่ใช้ศรยิง ด้วยวิบากที่ยังเหลือจากนรกนั้น. ฉะนั้น เขาจึงเกิดเป็นอุสุโลมเปรต.

               [เรื่องสูจิโลมเปรต]               
               ในเรื่องสูจิโลมเปรต พึงทราบวินิจฉัยต่อไป :-
               บทว่า สารถิ คือเป็นคนฝึกม้า. ในอรรถกถากุรุนที ท่านกล่าวว่า เป็นคนฝึกโค ดังนี้บ้าง. เขาได้มีนิมิตคือภาวะที่แทงด้วยเข็มปฏัก. เขาจึงเกิดเป็นสูจิโลมเปรต.

               [เรื่องสูจิโลมเปรตที่ ๒]               
               ในเรื่องสูจิโลมเปรตเรื่องที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยต่อไป :-
               บทว่า สูจีโก คือ เป็นคนทำการส่อเสียด. ได้ยินว่า เขาทำลายมนุษย์ทั้งหลายและพวกเดียวกัน และยุยงในราชตระกูลว่า คนนี้มีความผิดชื่อนี้ คนนี้ทำผิดชื่อนี้ดังนี้, ครั้นยุยงแล้ว ทำให้ถึงความพินาศวอดวาย. ฉะนั้น เขาจึงเกิดเป็นสูจิโลมเปรต เพราะทำนิมิตคือกรรม เพื่อการเสวยทุกข์จากการทำลายด้วยเข็มทั้งหลาย เหมือนอย่างที่เขาทิ่มแทงทำลายพวกมนุษย์ ฉะนั้น.

               [เรื่องอัณฑภารเปรต]               
               ในเรื่องเปรตแบกลูกอัณฑะ พึงทราบต่อไป :-
               บทว่า คามกูโฏ คือ เป็นอำมาตย์ผู้ตัดสินความ. สัตว์นั้นได้มีอัณฑะเท่าหม้อ คือ มีขนาดเท่าหม้อใหญ่ เพราะมีส่วนเสมอด้วยกรรม. ด้วยว่า สัตว์นั้น เพราะเหตุที่รับสินบนในสถานที่ลับปกปิด เมื่อจะทำโทษให้ปรากฏ ด้วยการตัดสินความโกง ได้กระทำพวกเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ; เพราะฉะนั้น อวัยวะลับของสัตว์นั้นจึงบังเกิดปรากฏ. เพราะเหตุที่สัตว์นั้น เมื่อเริ่มตั้งอาญา ได้ยกของหนักอันไม่ควรจะทนได้ให้แก่ชนเหล่าอื่น; เพราะฉะนั้น อวัยวะลับของสัตว์นั้นจึงบังเกิดเป็นของหนักอันไม่ควรจะทน. เพราะเหตุที่สัตว์นั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งใด ควรจะเป็นผู้สม่ำเสมอ, แต่ดำรงอยู่ในตำแหน่งนั้นแล้ว หาได้เป็นผู้สม่ำเสมอไม่; ฉะนั้น สัตว์นั้นจึงได้มีการนั่งไม่สม่ำเสมอบนอวัยวะลับ.

               [เรื่องปรทาริกเปรต]               
               ในเรื่องเปรตผิดเมียท่าน พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               สัตว์นั้น เมื่อสัมผัสผัสสะที่มีเจ้าของที่เขาคุ้มครองรักษาแล้วของคนอื่น ยังจิตให้รื่นรมย์ด้วยความสุขในกามอันเป็นความสุขในอุจจาระ จึงบังเกิดในเปรตวิสัยนั้น เพื่อจะสัมผัสผัสสะเป็นคูถ เสวยทุกข์ เพราะมีส่วนเสมอด้วยกรรม.
               ในเรื่องพราหมณ์ชั่ว๑- พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               เพราะชื่อว่า มาตุคาม ไม่เป็นอิสระในผัสสะของตน, แต่หญิงนั้นขโมยผัสสะของสามีนั้น ยังความอภิรมย์ให้เกิดแก่คนเหล่าอื่น : ฉะนั้น จึงได้บังเกิดเป็นหญิงเปรตปราศจากผิว เพื่อกำจัดสัมผัสเป็นสุขนั้นเสียแล้ว เสวยสัมผัสเป็นทุกข์ เพราะมีส่วนเสมอด้วยกรรม.
____________________________
๑- ในเรื่องนี้ไม่มีอธิบาย อาจจะตกไปก็เป็นได้, เลยไปอธิบายเรื่องหญิงเปรตถัดไป.

               [เรื่องมังคุลีหญิงเปรต]               
               ในเรื่องมังคุลีหญิงเปรต พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า มงฺคุฬี ได้แก่ มีรูปผิดไป คือมองดูน่าชัง น่าเกลียด.
               ได้ยินว่า หญิงนั้นทำหน้าที่เป็นแม่มด คือหน้าที่เป็นทาสีของยักษ์ กล่าวว่า เมื่อทำพลีกรรมอย่างนี้ ด้วยสิ่งนี้และสิ่งนี้ ความเจริญของพวกท่าน ชื่อนี้จักมี ดังนี้ แล้วถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้น ของมหาชนด้วยการล่อลวงยังมหาชนให้ยึดถือมิจฉาทิฏฐิอันเป็นทิฏฐิชั่ว. เพราะฉะนั้น หล่อนจึงเกิดเป็นนางเปรตมีกลิ่นเหม็น เพราะขโมยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เป็นนางเปรตมองดูน่าชัง ผิดรูป น่าเกลียด เหตุให้มหาชนยึดถือความเห็นชั่ว เพราะมีส่วนเสมอด้วยกรรมนั้น.

               [เรื่องโอกิลินีหญิงเปรต]               
               เรื่องโอกิลินีหญิงเปรต พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ข้อว่า อุปกฺกํ โอกิลินึ โอกีรณึ มีความว่า ได้ยินว่า นางเปรตนั้นนอนอยู่บนเชิงตะกอนถ่านเพลิง ดิ้นพลิกไปมาถูกไฟไหม้; เพราะฉะนั้น นางจึงเป็นผู้ถูกไฟครอกมีสรีระสุกด้วยไฟกรด มีน้ำเหงื่อหยด มีสรีระเปียก คือหยาดน้ำเหงื่อทั้งหลาย ย่อมหลั่งออกจากสรีระของนางเปรตนั้น และมีถ่านเพลิงเกลื่อนกล่น คือเกลื่อนกล่นด้วยถ่านเพลิง. ด้วยว่าถ่านเพลิงทั้งหลาย มีสีดังดอกทองกวาว ย่อมตกแม้จากเบื้องล่างของนางเปรตนั้น ถ่านเพลิงทั้งหลาย ย่อมตกแม้ในข้างทั้ง ๒ แม้จากอากาศในเบื้องบนของนางเปรตนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ถูกไฟครอก น้ำเหงื่อหยด มีถ่านเพลิงเกลื่อนกล่น. นางนั้นเป็นคนขี้หึง เอากระทะถ่านเพลิงราดหญิงร่วมผัว. ได้ยินว่า นางระบำคนหนึ่งของพระราชาพระองค์นั้น วางกระทะถ่านเพลิงไว้ในที่ใกล้ เช็ดน้ำจากตัวและอบด้วยฝ่ามือ. พระราชาทรงสนทนากับนางระบำนั้น และทรงแสดงอาการโปรดปรานมากไป. พระอัครมเหสีทรงทนดูเหตุการณ์นั้นไม่ไหว ทรงหึง เมื่อพระราชาเสด็จออกไปไม่ทันนาน ก็ทรงหยิบกระทะถ่านเพลิงนั้น ราดถ่านเพลิงลงเบื้องบนนางระบำนั้น. พระนางทำกรรมนั้นแล้ว บังเกิดในเปตโลก เพื่อเสวยวิบากเช่นนั้นนั่นแล.

               [เรื่องโจรฆาตเปรต]               
               ในเรื่องโจรฆาตเปรต พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               เพชฌฆาตโจรนั้นตัดศีรษะพวกโจรมาช้านาน ตามคำสั่งของพระราชา เมื่อบังเกิดในเปตโลก จึงได้บังเกิดเป็นตัวกพันธ์ไม่มีศีรษะ.

               [เรื่องพระภิกษุเปรตเป็นต้น]               
               ในเรื่องภิกษุ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า ปาปภิกฺขุ คือ เป็นภิกษุลามก.
               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นบริโภคปัจจัย ๔ ที่เขาถวายด้วยศรัทธาของชาวโลก เป็นผู้ไม่สำรวมทางกายทวารและวจีทวาร มีอาชีพอันทำลายแล้ว เที่ยวเล่นสนุกสนานตามชอบใจ. ภายหลังถูกไฟไหม้อยู่ในนรกตลอดพุทธันดรหนึ่ง เมื่อเกิดในเปตโลก ก็บังเกิดด้วยอัตภาพเช่นกับภิกษุนั่นแหละ.
               แม้ในเรื่องภิกษุณี เรื่องสิกขมานา เรื่องสามเณร เรื่องสามเณรีเปรต ก็วินิจฉัยนี้เหมือนกัน.

               [เรื่องแม่น้ำตโปทา]               
               ในเรื่องแม่น้ำตโปทา พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อจฺโฉทโก แปลว่า มีน้ำใส
               บทว่า สีโตทโก แปลว่า มีน้ำเย็น.
               บทว่า สาโตทโก แปลว่า มีน้ำรสอร่อย.
               บทว่า เสโตทโก แปลว่า มีน้ำบริสุทธิ์ คือ ไม่มีสาหร่ายแหนและเปือกตม.
               บทว่า สุติฏฺโฐ คือ เข้าถึงแล้วด้วยท่าทั้งหลายที่ดี.
               บทว่า รมณีโย แปลว่า น่าให้เกิดความยินดี.
               บทว่า จกฺกมตฺตานิ แปลว่า มีประมาณเท่าล้อรถ.
               ข้อว่า กุฏฺฐิตา สนฺทติ ความว่า เป็นแม่น้ำร้อนจัด เดือดพล่านไหลไปอยู่.
               บทว่า ยตายํ ภิกฺขเว ตัดบทเป็น ยโต อยํ ภิกฺขเว แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำตโปทานี้ ไหลมาแต่ที่ใด...?
               บทว่า โส ทโห แปลว่า ห้วงน้ำนั้น.
               ถามว่า ก็แม่น้ำตโปทานี้ ไหลมาแต่ที่ไหน?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ภายใต้ภูเขาเวภารบรรพต มีภพนาคประมาณ ๕๐๐ โยชน์ของพวกนาคผู้อยู่บนภาคพื้นเช่นกับเทวโลก ประกอบด้วยฟื้นอันสำเร็จด้วยแก้วมณี และด้วยอาราม และอุทยาน. ห้วงน้ำนั้นอยู่ในที่เล่นของพวกนาคในภพนาคนั้น. แม้น้ำตโปทานี้ไหลมาแต่ห้วงน้ำนั้น.
               ข้อว่า ทฺวินฺนํ มหานิรยานํ อนุตริกาย อาคจฺฉติ ความว่า ได้ยินว่า มหาเปตโลกผ่านเมืองราชคฤห์มา, แม่น้ำตโปทานี้มาจากระหว่างมหาโลหกุมภีนรก ๒ ขุมในมหาเปตโลกนั้น; ฉะนั้น จึงเดือดพล่านไหลไปอยู่.

               [เรื่องการรบ]               
               ในเรื่องการรบ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า นนฺทิ จรติ ได้แก่ ตีกลองพิชัยเภรีเที่ยวประกาศไป.
               ข้อว่า ราชา อาวุโส ลิจฺฉวีหิ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระนั่งในที่พักกลางวันและที่พักกลางคืนของตน เห็นพวกเจ้าลิจฉวีผู้มีฝีมือชำนาญยิงได้แม่นยำ เมื่อคำนึงว่า ก็พระราชาทรงก่อสงครามกับพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้เห็นพระราชาทรงปราชัย หนีไปอยู่ ด้วยทิพยจักษุ. ลำดับนั้น พระเถระจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระราชาผู้เป็นอุปัฏฐากของพวกท่าน ทรงปราชัยพวกเจ้าลิจฉวีแล้ว.
               คำว่า สจฺจํ ภิกฺขเว โมคฺคลฺลาโน อาห ความว่า โมคคัลลานะ เมื่อคำนึงในเวลาพระราชาทรงปราชัย กล่าวสิ่งที่ตนเห็น ชื่อว่ากล่าวจริง.

               [เรื่องช้างลงน้ำ]               
               ในเรื่องช้างลงน้ำ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า สปฺปินิกาย คือ แม่น้ำที่มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า อเนญฺชํ สมาธึ ได้แก่ จตุตถฌานสมาธิ อันเป็นอเนญชะ คือไม่หวั่นไหว เว้นจากความดิ้นรนทางกายและวาจา.
               บทว่า นาคานํ แปลว่า แห่งช้างทั้งหลาย.
               ข้อว่า โอคาหํ อุตฺตรนฺตานํ ความว่า ลงน้ำแล้ว ขึ้นอีก.
               ได้ยินว่า ช้างเหล่านั้นลงน้ำลึกแล้ว อาบและดื่มในน้ำนั้น เอางวงดูดน้ำแล้วพ่นใส่กันและกันจึงขึ้นไป. มีคำอธิบายว่า แห่งช้างเหล่านั้นตัวลงน้ำแล้วขึ้นอยู่อย่างนี้.
               ข้อว่า โกญฺจํ กโรนฺตานํ ความว่า ยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสอดงวงเข้าในปากแล้ว ทำเสียงดังนกกระเรียน.
               คำว่า สทฺทํ อสฺโสสํ ความว่า เราได้ยินเสียงโกญจนาทนั้น.
               ข้อว่า อตฺเถโส ภิกฺขเว สมาธิ โส จ โข อปริสุทฺโธ ความว่า สมาธินั่นของโมคคัลลานะ มีอยู่, แต่สมาธินั้นแล เป็นของไม่บริสุทธิ์. ได้ยินว่า พระเถระในวันที่ ๗ แต่เวลาบวช ได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้น ยังไม่มีวสี (ความชำนาญ) อันประพฤติแล้ว ด้วยอาการ ๕ อย่างในสมาบัติ ๘ ยังมิได้ยังธรรมอันเป็นข้าศึกต่อสมาธิให้บริสุทธิ์ด้วยดี นั่งเข้าจตุตถฌานแน่วแน่ กระทำให้มีเพียงแต่สัญญาแห่งการนึก การเข้า การตั้งใจ การออกและการพิจารณาเท่านั้น ออกจากองค์ฌานแล้ว ได้ยินเสียงแห่งช้างทั้งหลาย ได้มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราได้ยินเสียงภายในสมาบัติ ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธินั่นมีอยู่, แต่สมาธินั้นแลไม่บริสุทธิ์.

               [เรื่องพระโสภิตะ]               
               ในเรื่องพระโสภิตะ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ข้อว่า อหํ อาวุโสปญฺจกปฺปสตานิ อนุสฺสรามิ ความว่า พระเถระกล่าวว่า เราระลึกชาติได้ ด้วยอาวัชชนจิตเดียว. ก็เมื่อถือเอาความอีกอย่างหนึ่ง การระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตนั้นๆ ด้วยอาวัชชนจิตต่างๆ กันโดยลำดับ ของพระสาวกทั้งหลาย ไม่น่าอัศจรรย์; เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ยกโทษ. แต่เพราะพระโสภิตะนั้นกล่าวว่า เราระลึกชาติได้ด้วยอาวัชชนจิตเดียว ดังนี้; เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงยกโทษ.
               ข้อว่า อตฺเถสา ภิกฺขเว โสภิตสฺส สา จ โข เอกาเยว ชาติ ความว่า ชาติที่โสภิตะกล่าวว่า เราระลึกชาติได้ ดังนี้ของโสภิตะ มีอยู่, ก็แล ชาตินั้นมีเพียงชาติเดียวเท่านั้น. อธิบายว่า โสภิตะมิได้ระลึกโดยผิดลำดับไม่ติดต่อกัน.
               ถามว่า พระโสภิตะนี้ระลึกชาติได้อย่างไร?
               แก้ว่า ได้ยินว่า พระโสภิตะนี้บวชในลัทธิเดียรถีย์ ยังสัญญีสมาบัติให้บังเกิดแล้ว เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้ว บังเกิดในอสัญญีภพกว่า ๕๐๐ กัป. ท่านอยู่ในอสัญญีภพนั้นตราบเท่าชนมายุในที่สุด อุบัติในมนุษยโลก แล้วบวชในพระศาสนาได้ทำวิชา ๓ ให้แจ้ง ท่านเมื่อระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน เห็นปฏิสนธิในอัตภาพนี้ ต่อจากนั้นได้เห็นเฉพาะจุติในอัตภาพที่ ๓.
               ลำดับนั้น ท่านไม่อาจระลึกถึงอัตภาพอันไม่มีจิตในระหว่างจุติและปฏิสนธิทั้ง ๒ ได้ จึงได้กำหนดโดยนัยว่า เราบังเกิดในอสัญญีภพแน่นอน. พระโสภิตเถระนั้นกำหนดได้อยู่อย่างนี้ได้กระทำสิ่งที่ทำได้ยาก เหมือนกับแยงปลายแห่งขนทรายที่ผ่าเป็น ๗ ส่วนเข้ากับปลาย เหมือนกับการแสดงรอยเท้าในอากาศ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในเพราะเรื่องนี้นั่นแหละว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรา ผู้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อน โสภิตะนี้เป็นเลิศ๑- ดังนี้.
____________________________
๑- องฺ เอก. ๒๐/ข้อ ๑๔๙

.. อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท อนาปัตติวาร ... วินีตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 279อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 281อ่านอรรถกถา 1 / 300อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=10838&Z=11364
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=12893
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=12893
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :