ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 1 / 203อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์


               [อธิบายมาติกาในบทภาชนีย์]               
               ท่านพระอุบาลีเถระ ครั้นจำแนกสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุเทศไว้แล้วตามลำดับบทอย่างนี้ บัดนี้ เมื่อจะตั้งมาติกาแสดงมนุสสวิคคหปาราชิกโดยพิสดารไว้ โดยนัยมีอาทิว่า สามํ อธิฏฺฐาย ดังนี้อีก เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายถือเอานัยโดยอาการทุกอย่าง และเพื่อป้องกันโอกาสของปาปบุคคลทั้งหลายในอนาคต เพราะเหตุว่า มนุสสวิคปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในบทภาชนีย์ในหนหลัง โดยสังเขปเท่านั้น ไม่ได้ทรงยกอาบัติขึ้น ปรับแล้ววางแบบแผนไว้โดยพิสดาร และภิกษุทั้งหลายไม่สามารถจะถือเอานัยไว้โดยอาการทั้งปวง ในเนื้อความที่ทรงแสดงไว้โดยสังเขป ทั้งแม้ปาปบุคคลทั้งหลายในอนาคต ก็มีโอกาส จึงกล่าวคำว่า สามนฺติ สยํ หนติ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น มีถ้อยคำสำหรับวินิจฉัยพร้อมด้วยการพรรณนาบทที่ยังไม่ง่าย ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กาเยน ความว่า ด้วยมือ เท้า กำมือ หรือเข่า หรือด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ อย่างใดอย่างหนึ่ง
               บทว่า นิสฺสคฺคิเยน ความว่า ด้วยเครื่องประหารมีลูกศรและหอกเป็นต้น ที่พ้นจากกายหรือจากของที่เนื่องด้วยกาย ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ ประโยคทั้ง ๒ คือ สาหัตถิกประโยคและนิสสัคคิยประโยคเป็นอันท่านกล่าวแล้ว. ในประโยคทั้ง ๒ นั้น แต่ละประโยคมี ๒ อย่าง โดยจำแนกเป็นประโยคเจาะจงและไม่เจาะจง.
               บรรดาประโยคเจาะจงและไม่เจาะจงนั้น พึงทราบวินิจฉัยในประโยคเจาะจง ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุประหารเจาะจงผู้ใด ด้วยการตายของผู้นั้นนั่นแล ภิกษุนั้นย่อมถูกกรรมผูกพัน. ในประโยคที่ไม่เจาะจงอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจงตาย ดังนี้ ด้วยการตายของผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะการประหารเป็นปัจจัย ภิกษุย่อมถูกกรรมผูกพัน. ทั้ง ๒ ประโยคผู้ถูกประหารจะตายในขณะพอถูกประหารหรือจะตายในภายหลังด้วยโรคนั้นก็ตามที ภิกษุย่อมถูกกรรมผูกพันในขณะที่ผู้ตายถูกประหารนั่นเอง. แต่เมื่อภิกษุให้ประหารด้วยความประสงค์เพื่อการตาย เมื่อผู้ถูกประหารไม่ตายด้วยการประหารนั้น จึงให้การประหารด้วยจิตดวงอื่นต่อไป ถ้าผู้ถูกประหารตายด้วยการประหารครั้งแรก แม้ในภายหลัง ภิกษุถูกกรรมผูกพันในเวลาประหารครั้งแรกเท่านั้น ถ้าตายด้วยการประหารครั้งที่ ๒ ไม่มีปาณาติบาต. แม้เมื่อผู้ถูกประหารตายด้วยการประหารทั้ง ๒ ครั้ง ภิกษุก็ถูกกรรมผูกพันแท้ ด้วยการประหารครั้งแรกนั่นเอง, เมื่อไม่ตายด้วยการประหารทั้ง ๒ คราวก็ไม่มีปาณาติบาตเหมือนกัน. ในการที่คนแม้มากให้การประหารแก่บุคคลผู้เดียว ก็นัยนี้ ถึงในการที่คนมากคนให้การประหารแม้นั้น ผู้ถูกประหารตายด้วยการประหารของผู้ใด กรรมพันธ์ ย่อมมีแก่ผู้นั้นเท่านั้น ฉะนี้แล.

               [ภิกษุฆ่าพ่อแม่เป็นต้นเป็นอนันตริยกรรมและปาราชิก]               
                อนึ่ง ในอธิการแห่งตติยปาราชิกนี้ เพื่อความฉลาดในกรรมและอาบัติ พึงทราบแม้หมวด ๔ ว่าด้วยเรื่องแพะ.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปใดสำรวจดูแพะซึ่งนอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ด้วยคิดในใจว่า เราจักมาฆ่าในเวลากลางคืน. และมารดาหรือบิดาของภิกษุนั้นหรือพระอรหันต์ห่มผ้ากาสาวะสีเหลือง แล้วนอนอยู่ในโอกาสที่แพะนอน. เธอมาเวลากลางคืน ทำในใจว่าเราจะฆ่าแพะให้ตายดังนี้ จึงฆ่ามารดาบิดาหรือพระอรหันต์ตาย. เพราะมีเจตนาอยู่ว่า เราจะฆ่าวัตถุนี้ให้ตาย เธอจึงเป็นผู้ฆ่าด้วย ถูกต้องอนันตริยกรรมด้วย ต้องปาราชิกด้วย.
               มีคนอาคันตุกะอื่นบางคนนอนอยู่. เธอทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่าคนอาคันตุกะนั้นตาย จัดเป็นฆาตกรด้วย ต้องปาราชิกด้วย แต่ไม่ถูกต้องอนันตริยกรรม.
               มียักษ์หรือเปรตนอนอยู่. เธอนั้นทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่ายักษ์หรือเปรตนั้นตาย, เป็นเฉพาะฆาตกร ไม่ถูกต้องอนันตริยกรรมและไม่ต้องปาราชิก แต่เป็นถุลลัจจัย. ไม่มีใครๆ อื่นนอนอยู่ มีแต่แพะเท่านั้น. เธอฆ่าแพะตัวนั้นตาย เป็นฆาตกรด้วย ต้องปาจิตตีย์ด้วย. ภิกษุใดทำในใจว่า เราจะฆ่ามารดาบิดาและพระอรหันต์ คนใดคนหนึ่งให้ตาย ดังนี้แล้ว ก็ฆ่าบรรดาท่านเหล่านั้นนั่นแหละ คนใดคนหนึ่งให้ตาย ภิกษุนั้นเป็นฆาตกรด้วย ถูกต้องอนันตริยกรรมด้วย ต้องปาราชิกด้วย. เธอทำในใจว่า เราจักฆ่ามารดาบิดาและพระอรหันต์เหล่านั้นนั่นแหละ คนใดคนหนึ่งให้ตาย แล้วก็ฆ่าอาคันตุกะคนอื่นตาย หรือฆ่ายักษ์เปรตหรือแพะตาย. ผู้ศึกษาพึงทราบ (อาบัติคือปาราชิก ถุลลัจจัยและปาจิตตีย์) โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล. แต่ในวิสัยแห่งการฆ่าสัตว์มีอาคันตุกะเป็นต้นนี้ เจตนาย่อมเป็นของทารุณแล.

               [ภิกษุฆ่าพ่อแม่เป็นต้นในกองฟางไม่ต้องปาราชิก]               
               ในวิสัยแห่งตติยปาราชิกนี้ ผู้ศึกษาควรทราบเรื่องทั้งหลายแม้เหล่าอื่นมีกองฟางเป็นต้น.
               จริงอยู่ ภิกษุใดทำในใจว่า เราจักเช็ดดาบหรือที่เปื้อนเลือด แล้วสอดเข้าไปในกองฟาง ฆ่ามารดาก็ดี บิดาก็ดี พระอรหันต์ก็ดี คนอาคันตุกะก็ดี ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งนอนอยู่ในกองฟางนั้นตาย ภิกษุนั้น ด้วยอำนาจแห่งโวหาร เรียกว่าฆาตกรได้ แต่เพราะไม่มีวธกเจตนา เธอจึงไม่ถูกต้องกรรม ทั้งไม่ต้องอาบัติ. ส่วนภิกษุใด เมื่อกำลังสอด (ดาบหรือหอกนั้น) เข้าไปด้วยอาการอย่างนั้น กำหนดได้ว่าสัมผัสกับร่างกาย ก็สอดเข้าไปฆ่าให้ตายด้วยคิดว่า ชะรอยจะมีสัตว์อยู่ภายในจงตายเสียเถอะ. กรรมพันธ์ (ข้อผูกพันทางกรรม) และอาบัติของเธอนั้น พึงทราบโดยสมควรแก่เรื่องเหล่านั้น. เมื่อภิกษุสอด (ดาบหรือหอกนั้น) เข้าไปเพื่อเก็บไว้ในกองฟางนั้นก็ดี โยนเข้าไปที่พุ่มไม้ในป่าเป็นต้นก็ดี ก็นัยนี้.

               [ภิกษุฆ่าพ่อในสนามรบเป็นทั้งปาราชิกและปิตุฆาต]               
               ภิกษุใดคิดว่า เราจะฆ่าโจรให้ตาย แล้วก็ฆ่าบิดาซึ่งกำลังเดินไปด้วยเพศเหมือนโจรตาย ภิกษุนั้นย่อมถูกต้องอนันตริยกรรมด้วย เป็นปาราชิกด้วย.
               ส่วนภิกษุใดเห็นนักรบคนอื่นและบิดาซึ่งกำลังทำงาน (การรบ) อยู่ในเสนาฝ่ายข้าศึก จึงยิงลูกศรไปเฉพาะตัวนักรบ ด้วยคิดในใจว่า ลูกศรแทงนักรบคนนั้นแล้วจักแทงบิดาของเรา. ภิกษุรูปนั้นย่อมชื่อว่าเป็นปิติฆาตก์ (ผู้ฆ่าบิดา) ในเมื่อลูกศรพุ่งไปตามความประสงค์. เธอคิดอยู่ในใจว่า เมื่อนักรบถูกลูกศรแทงแล้ว บิดาของเราก็จักหนีไป ดังนี้แล้วจึงยิงลูกศรไป ลูกศรไม่พุ่งไปตามความประสงค์ กลับทำให้บิดาตาย เธอรูปนั้น ท่านเรียก ปิตุฆาตก์ (ผู้ฆ่าบิดา) ด้วยอำนาจแห่งโวหาร แต่ไม่เป็นอนันตริยกรรม ด้วยประการฉะนี้แล.
               บทว่า อธิฏฺฐหิตฺวา ได้แก่ ยืนอยู่ในที่ใกล้. บทว่า อาณาเปติ ได้แก่ ภิกษุผู้สั่ง สั่งเจาะตัวหรือไม่เจาะตัว. บรรดาการสั่งเจาะตัวไม่เจาะตัวนั้น ครั้นหมู่เสนาฝ่ายข้าศึก ปรากฏขึ้นเฉพาะแล้ว เมื่อภิกษุผู้สั่งสั่งไม่เจาะตัวเลยว่า เธอจงแทงอย่างนี้ จงประหารอย่างนี้ จงฆ่าอย่างนี้ เป็นปาณาติบาตแก่เธอทั้ง ๒ รูป มีประมาณเท่าจำนวนข้าศึกที่ภิกษุผู้รับสั่งฆ่า. บรรดาภิกษุผู้สั่งและผู้รับสั่งนั้น ถ้าภิกษุผู้สั่งมีมารดาและบิดาอยู่ด้วย, เธอผู้สั่งย่อมต้องอนันตริยกรรมด้วย, ถ้ามีพระอรหันต์อยู่ด้วย เธอแม้ทั้ง ๒ รูปย่อมต้องอนันตริยกรรมด้วย.
               ถ้าภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นมีมารดาและบิดาอยู่ (ในสนามรบ) ภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้นแล ย่อมต้องอนันตริยกรรม. แต่เมื่อภิกษุผู้สั่งสั่งเจาะตัวว่า เธอจงแทง จงประหารจงฆ่านักรบคนนั้น ผู้สูง ต่ำ มีเสื้อสีแดง มีเสื้อสีเขียวซึ่งนั่งอยู่บนคอช้าง (หรือ) นั่งอยู่ตรงกลาง (หลังช้าง), ถ้าภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่านักรบคนนั้นนั่นเอง, เป็นปาณาติบาตแม้ด้วยกันทั้ง ๒ รูป, และในเรื่องแห่งอนันตริยกรรม ย่อมต้องอนันตริยกรรมด้วยกันทั้ง ๒ รูป. ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าคนอื่นตาย ปาณาติบาตย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สั่ง.
               อาณัตติกประโยคย่อมเป็นอันท่านกล่าวไว้แล้ว ด้วยคำว่า อธิฏฺฐหิตฺวา อาณาเปติ เป็นต้นนั่น.

               [ฐานะ ๕ และ ๖ พร้อมทั้งอรรถาธิบาย]               
               ในอาณัตติกประโยคนั้น :-
                                   ผู้พิจารณาที่ฉลาด พึงสอบสวน
                         ฐานะ ๕ ประการ คือ วัตถุ กาล โอกาส
                         อาวุธ และอิริยาบถ แล้วพึงทรงไว้ซึ่ง
                         อรรถคดี.
               อีกนัยหนึ่ง :-
                                   เหตุทำให้การสั่งแน่นอน (สำเร็จได้)
                         มี ๖ อย่างนี้ คือ วัตถุ กาล โอกาส อาวุธ
                         อิริยาบถ และกิริยาพิเศษ.
               บรรดาฐานะมีวัตถุเป็นต้นนั้น ฐานะว่า วัตถุ ได้แก่ สัตว์ที่จะพึงถูกฆ่าให้ตาย.
               ฐานะว่า กาล ได้แก่ กาลมีกาลเช้าและเย็นเป็นต้น และกาลมีวัยเป็นหนุ่มสาวมีเรี่ยวแรงและมีความเพียรเป็นต้น.
               ฐานะว่า โอกาส ได้แก่ สถานที่มีอาทิอย่างนี้ คือ บ้าน ป่า ประตูเรือน ท่ามกลางเรือน ถนน รถ หรือทาง ๓ แพร่ง.
               ฐานะว่า อาวุธ ได้แก่ อาวุธมีอาทิอย่างนี้ คือ ดาบ ลูกศร หรือหอก.
               ฐานะว่า อิริยาบถ ได้แก่ อิริยาบถมีอาทิอย่างนี้ คือ การเดินหรือนั่ง ของผู้ที่จะพึงถูกฆ่าให้ตาย.
               ฐานะว่า กิริยาพิเศษ ได้แก่ กิริยาที่ทำมีอาทิอย่างนี้ คือ แทง ตัด ทำลาย ถลกหนังศีรษะทำให้เกลี้ยงเหมือนสังข์*

               [อธิบายวัตถุที่จะพึงถูกฆ่า]               
               ก็ถ้าหากว่า ภิกษุผู้รับสั่งทำให้วัตถุพลาดไป ไพล่ไปฆ่าคนอื่นจากบุคคลที่ผู้สั่ง สั่งให้ฆ่า, หรือถูกสั่งว่า ท่านจงประหารข้างหน้าฆ่าให้ตาย ไพล่ไปประหารข้างหลัง หรือข้างๆ หรือที่อวัยวะแห่งใดแห่งหนึ่งให้ตายไป, ข้อผูกพันทางกรรมย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สั่ง ข้อผูกพันทางกรรมย่อมมีแก่ภิกษุผู้รับสั่งเท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้รับสั่งไม่ทำวัตถุให้พลาดไป ฆ่าผู้นั้นตายตามที่สั่งไว้. ข้อผูกพันทางกรรมย่อมมีแก่เธอทั้ง ๒ รูป คือแก่ผู้สั่งในขณะที่สั่ง ผู้รับสั่งในขณะที่ประหาร.
               ก็ในเรื่องวัตถุนี้ ความแปลกกันแห่งกรรมและความแปลกกันแห่งอาบัติ ย่อมมี เพราะความแปลกกันแห่งวัตถุ.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมาย ในวัตถุอย่างนี้ก่อน.

               [อธิบายกาลที่สั่งให้ทำการฆ่า]               
               ส่วนในกาล มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดได้รับคำสั่งว่า ท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้า ไม่กำหนดว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้, ภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่าเขาตายเวลาเช้า ในกาลใดกาลหนึ่ง ความผิดที่หมายย่อมไม่มี. ส่วนภิกษุรูปใดได้รับสั่งว่า ท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้าวันนี้, ภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่าเขาตายในเวลาเที่ยงวัน หรือเวลาเย็น หรือเวลาเช้าพรุ่งนี้, ย่อมผิดที่หมาย. สำหรับภิกษุผู้สั่งไม่มีความผูกพันทางกรรม. แม้ในเมื่อภิกษุพยายามจะฆ่าให้ตายในเวลาเช้า แต่กลายเป็นเที่ยงวันไป ก็มีนัยเหมือนกัน.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมาย ในประเภทแห่งกาลทั้งปวงโดยนัยนี้.

               [อธิบายโอกาสที่สั่งให้ทำการฆ่า]               
               แม้ในโอกาส มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดถูกสั่งว่า ท่านจงฆ่าบุคคลนั่น ผู้ยืนอยู่ในบ้านให้ตาย, แต่ภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่าบุคคลนั้นตายในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมไม่ผิดที่หมาย. ส่วนภิกษุรูปใดถูกสั่งกำหนดไว้ว่า จงฆ่าให้ตายในบ้านเท่านั้น แต่ภิกษุผู้รับสั่งนั้นฆ่าเขาตายในป่า.
               อนึ่ง เธอถูกสั่งว่า จงฆ่าให้ตายในป่า แต่เธอฆ่าเขาตายในบ้าน, ถูกสั่งว่า จงฆ่าให้ตายที่ประตูภายในบ้าน ฆ่าเขาตายตรงท่ามกลางเรือน, ย่อมผิดที่หมาย.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมายในความต่างกันแห่งโอกาสทั้งปวง โดยนัยนี้.

               [อธิบายอาวุธที่เป็นเครื่องมือใช้ให้ฆ่า]               
               แม้ในอาวุธ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดถูกสั่งว่า ท่านจงเอาอาวุธฆ่าให้ตาย ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ดาบหรือลูกศร, ภิกษุผู้รับสั่งนั้นเอาอาวุธชนิดใดชนิดหนึ่งฆ่าให้ตาย ย่อมไม่ผิดที่หมาย. ส่วนภิกษุรูปใดถูกสั่งว่าจงใช้ดาบฆ่า แต่ภิกษุผู้รับสั่งนั้นใช้ลูกศรฆ่า, หรือถูกสั่งว่าจงใช้ดาบเล่มนี้ฆ่า ผู้รับสั่งใช้ดาบเล่มอื่นฆ่า หรือถูกสั่งว่า จงเอาคมดาบเล่มเดียวนี้เท่านั้นฆ่า แต่ภิกษุผู้รับสั่งใช้คมดาบนอกนี้หรือใช้ฝ่ามือ หรือใช้จะงอยปาก หรือใช้ด้ามกระบี่ฆ่า, ย่อมผิดที่หมาย.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมายในความแตกต่างกันแห่งอาวุธทั้งปวง โดยนัยนี้.

               [อธิบายอิริยาบถที่สั่งให้ทำการฆ่า]               
               ส่วนในอิริยาบถ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดถูกสั่งว่า ท่านจงฆ่าบุคคลผู้นั่นซึ่งกำลังเดินให้ตาย, แต่แม้ถ้าภิกษุผู้รับสั่งนั้น ฆ่าบุคคลผู้กำลังเดินไปตาย ย่อมไม่ผิดที่หมาย. เมื่อภิกษุผู้สั่งสั่งว่า ท่านจงฆ่าบุคคลผู้กำลังเดินอยู่เท่านั้นให้ตาย แต่ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าบุคคลผู้นั่งอยู่ตาย หรือภิกษุผู้สั่งสั่งว่า ท่านจงฆ่าบุคคลผู้นั่งอยู่เท่านั้นให้ตาย แต่ภิกษุผู้รับสั่งฆ่าบุคคลผู้กำลังเดินไปตาย ย่อมผิดที่หมาย.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมาย ในความต่างแห่งอิริยาบถทั้งปวง โดยนัยนี้.

               [อธิบายกิริยาพิเศษที่สั่งให้ทำการฆ่า]               
               แม้ในกิริยาพิเศษ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดถูกสั่งว่า ท่านจงแทงให้ตาย ภิกษุผู้รับสั่งนั้นแทงให้ตาย ย่อมไม่ผิดที่หมาย. ส่วนภิกษุรูปใดถูกสั่งว่า จงแทงให้ตาย, แต่ภิกษุผู้รับสั่งนั้นตัด (ฟัน) ให้ตายเทียว ย่อมผิดที่หมาย.
               บัณฑิตพึงทราบความถูกที่หมายและผิดที่หมาย ในความต่างกันแห่งกิริยาพิเศษทั้งปวง โดยนัยนี้.
               ส่วนภิกษุรูปใดสั่งไม่กำหนดด้วยอำนาจเพศว่า ท่านจงฆ่าคนผู้ที่สูง ต่ำ ดำ ขาว ผอม อ้วน ให้ตาย, และภิกษุผู้รับสั่งฆ่าคนใดคนหนึ่งเช่นนั้นตาย ย่อมไม่ผิดที่หมาย เป็นปาราชิกด้วยกันทั้ง ๒ รูป.
               แต่ถ้าภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งหมายเอาตนเอง, และภิกษุผู้รับสั่งฆ่าภิกษุผู้สั่งนั่นเองตาย ด้วยคิดว่า ท่านผู้สั่งนี้แหละ เป็นเช่นนี้, สำหรับภิกษุผู้สั่ง เป็นทุกกฏ, ภิกษุผู้ฆ่าเป็นปาราชิก. ภิกษุผู้สั่งสั่งหมายเอาตนเอง ภิกษุผู้รับสั่งนอกนี้ฆ่าคนอื่นเช่นนั้นตาย; ภิกษุผู้สั่งย่อมพ้น (จากอาบัติ) เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้ฆ่าเท่านั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะไม่ได้กำหนดโอกาสไว้.
               แต่ถ้าภิกษุผู้สั่ง แม้เมื่อสั่งหมายเอาตนเองก็กำหนดโอกาสไว้ว่า ท่านจงฆ่าบุคคลชื่อเห็นปานนี้ ซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะพระเถระ หรือบนอาสนะพระมัชฌิมะ ในที่พักกลางคืน หรือที่พักกลางวัน ชื่อโน้นให้ตาย แต่ในโอกาสนั้นมีภิกษุรูปอื่นนั่งแทนอยู่ ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าภิกษุผู้ที่มานั่งอยู่นั้นตาย, ภิกษุผู้ฆ่าย่อมไม่พ้น (จากอาบัติ) แน่, ภิกษุผู้สั่งก็ไม่พ้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะได้กำหนดโอกาสไว้.
               แต่ถ้าภิกษุผู้รับสั่งฆ่าเขาตาย เว้นจากโอกาสที่กำหนดไว้ ภิกษุผู้สั่งย่อมพ้น (จากอาบัติ).
               นัยดังอธิบายมานี้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้เป็นหลักฐานดี ในมหาอรรถกถา เพราะฉะนั้น ความไม่เอื้อเฟื้อในนัยบัณฑิตจึงไม่ควรทำ ฉะนี้แล.
               อาณัตติกปโยคกถา ด้วยอำนาจมาติกาว่าอธิฏฐาย จบ               

               [กถาว่าด้วยการสั่งทูต]               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยใน ๔ วาระมีว่า ภิกฺขุ ภิกฺขํ อาณาเปติ เป็นต้นที่พระอุบาลีเถระกล่าวไว้ เพื่อแสดงไขบทมาติกาว่า ทูเตน นี้.
               ข้อว่า โส ตํมญฺญมาโน ความว่า ภิกษุรูปใดอันภิกษุผู้สั่งบอกว่า บุคคลชื่อนี้, ภิกษุผู้รับสั่งรูปนั้น เข้าใจว่าบุคคลนั้นแน่ จึงปลงบุคคลนั้นนั่นเองเสียจากชีวิต เป็นปาราชิกด้วยกันทั้ง ๒ รูป.
               ข้อว่า ตํมญฺญมาโนอญฺญํ ความว่า ภิกษุผู้รับสั่งเข้าใจบุคคลที่ภิกษุผู้สั่งสั่งให้ปลงเสียจากชีวิต แต่ไพล่ไปปลงบุคคลอื่นเช่นนั้นจากชีวิตเสีย, ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมไม่เป็นอาบัติ.
               ข้อว่า อญฺญํมญฺญมาโน ตํ ความว่า ภิกษุรูปใดอันภิกษุผู้สั่งสั่งไว้แล้ว, เธอเห็นบุคคลผู้เป็นสหายที่มีกำลังของภิกษุผู้สั่งนั้นซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ จึงคิดว่า บุคคลผู้นี้ย่อมขู่ด้วยกำลังของภิกษุผู้สั่งนี้, เราจะปลงบุคคลนี้จากชีวิตเสียก่อน เมื่อจะประหาร เข้าใจว่าเป็นบุคคลที่สั่งให้ฆ่านอกนี้แน่นอน ซึ่งเปลี่ยนกันมายืนอยู่ในที่นั้นแทนว่า เป็นสหาย จึงได้ปลงเสียจากชีวิต; เป็นปาราชิกด้วยกันทั้ง ๒ รูป
               ข้อว่า อญฺญํมญฺญมาโนอญฺญํ ความว่า ภิกษุผู้รับสั่งคิดโดยนัยก่อนนั่นแหละว่า เราจะปลงบุคคลผู้เป็นสหายคนนี้ของภิกษุผู้สั่งนั้นจากชีวิตเสียก่อน แล้วก็ปลงบุคคลผู้เป็นสหายนั่นแลจากชีวิต เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้รับสั่งนั้นเท่านั้น

               [อาณัตติกาประโยคเรื่องสั่งทูตต่อ]               
               ในคำเป็นต้นว่า อิตฺถนฺนามสฺส ปาวท ในนิเทสวารแห่งบทว่า ด้วยการนำคำสั่งสืบๆ กันมาแห่งทูต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พึงเห็นว่า อาจารย์รูปหนึ่ง อันเตวาสิก ๓ รูปมีชื่อว่า พุทธรักขิต ธรรมรักขิตและสังฆรักขิต.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า ภิกฺขุ ภิกฺขํ อาณาเปติ ความว่า อาจารย์มีความประสงค์จะให้ฆ่าบุคคลบางคน จึงบอกเนื้อความนั้น แล้วสั่งพระพุทธรักขิต.
               สองบทว่า อิตฺถนฺนามสฺส ปาวท ความว่า (อาจารย์สั่งว่า) ดูก่อนพุทธรักขิต คุณจงไปบอกเนื้อความนั่นแก่พระธรรมรักขิต.
               ข้อว่า อิตฺถนฺนาโม อิตฺถนฺนามสฺส ปาวทตุ ความว่า แม้พระธรรมรักขิตก็บอกแก่พระสังฆรักขิต (ต่อไป).
               ข้อว่า อิตฺถนฺนาโม อิตฺถนฺนามํ ชีวิตา โวโรเปตุ ความว่า พระธรรมรักขิตถูกท่านสั่งไว้อย่างนั้นแล้ว ก็สั่งท่านพระสังฆรักขิต (ต่อไป) ว่า จงปลงบุคคลชื่อนี้เสียจากชีวิต, เพราะว่าบรรดาเราทั้ง ๒ ตัวท่านเป็นคนผู้มีชาติกล้าหาญสามารถในกรรมนี้.
               ข้อว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า เป็นอาบัติทุกกฏแก่อาจารย์ผู้สั่งอยู่อย่างนั้นก่อน.
               ข้อว่า โส อิตรสฺส อาโรเจติ ความว่า พระพุทธรักขิตบอกพระธรรมรักขิต พระธรรมรักขิตบอกพระสังฆรักขิตว่า อาจารย์ของพวกเราสั่งอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า คุณจงปลงบุคคลชื่อนี้เสียจากชีวิต, ได้ยินว่า บรรดาเราทั้ง ๒ ตัวท่านเป็นบุรุษผู้กล้าหาญ เป็นทุกกฏแม้แก่เธอเหล่านั้น ด้วยการบอกต่อกันไปอย่างนั้นเป็นปัจจัย.
               สองบทว่า วธโก ปฏฺคฺคณหาติ ความว่า พระสังฆรักขิตรับว่า ดีละ ผมจักปลง.
               ข้อว่า มูลฏฺฐสฺส อาปตฺติ ถุลฺลจฺจยสฺส มีความว่า ครั้นเมื่อคำสั่งนั้น พอพระสังฆรักขิตรับแล้ว เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์, แต่มหาชนอันอาจารย์นั้นชักนำในความชั่วแล้วแล.
               สองบทว่า โส ตํ ความว่า ถ้าภิกษุนั้น คือพระสังฆรักขิตปลงบุคคลนั้นเสียจากชีวิตไซร้ เป็นปาราชิกทั้งหมดคือทั้ง ๔ คน และไม่ใช่เพียง ๔ คนอย่างเดียว เมื่อทำไม่ให้ลักลั่น สั่งตามลำดับโดยอุบายนี้ สมณะตั้งร้อย หรือสมณะตั้งพันก็ตาม เป็นปาราชิกด้วยกันทั้งหมด.
               ในนิเทศแห่งบทวิสักกิยทูต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า โสอญฺญํ อาณาเปติ ความว่า ภิกษุนั้นคือพระพุทธรักขิตที่อาจารย์สั่งไว้ไม่พบพระธรรมรักขิต หรือเป็นผู้ไม่อยากบอก จึงเข้าไปหาพระสังฆรักขิตทีเดียว แล้วทำให้ลักลั่น สั่งว่า อาจารย์ของเราสั่งไว้อย่างนี้ว่า ได้ยินว่า คุณจงปลงบุคคลชื่อนี้เสียจากชีวิต. จริงอยู่ ภิกษุนี้ ท่านเรียกว่า วิสักกิยทูต เพราะทำให้ลักลั่นนั่นเอง.
               ข้อว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส คือ เป็นทุกกฏแก่พระพุทธรักขิต เพราะสั่งก่อน.
               ข้อว่า ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นั้น พึงทราบว่า เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมทีเดียว ในเมื่อพระสังฆรักขิตรับ. เมื่อเป็นอย่างนั้น อาบัติในเพราะรับ ไม่พึงมี, แต่แม้ในการรับชักสื่อ และพอใจในการตาย ก็ยังเป็นอาบัติ, อย่างไร จะไม่พึงเป็นอาบัติ เพราะรับฆ่าเล่า? เพราะเหตุนั้น ทุกกฏมีแก่ภิกษุผู้รับนั่นเอง ด้วยเหตุนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสคำว่า มูลฏฺฐสฺส ในนัยนี้. และแม้ในนัยก่อน ก็พึงทราบทุกกฏนี้แก่ภิกษุผู้รับเหมือนกัน. แต่เพราะไม่มีโอกาส จึงไม่ตรัสทุกกฏนี้ไว้. เพราะฉะนั้น ภิกษุใดๆ รับ เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้นๆ เพราะมีการรับนั้นเป็นปัจจัยแท้, นี้เป็นความชอบใจของเราทั้งหลายในเรื่องนี้แล. เหมือนอย่างว่า ในมนุสสวิคคหะนี้ฉันใด แม้ในอทินนาทาน ก็ฉันนั้นแล.
               ก็ถ้าพระสังฆรักขิตนั้นปลงบุคคลนั้นจากชีวิตได้ไซร้ เป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป คือพระพุทธรักขิตผู้สั่งและพระสังฆรักขิตผู้ฆ่า, ไม่เป็นอาบัติปาราชิกแก่พระอาจารย์เป็นต้นเดิม เพราะการสั่งลักลั่น, ไม่เป็นอาบัติโดยประการทั้งปวงแก่พระธรรมรักขิต เพราะไม่รู้. ส่วนพระพุทธรักขิตทำความสวัสดีแก่ภิกษุทั้ง ๒ รูป แล้วพินาศด้วยตนเองฉะนี้แล.
               ในนิเทศแห่งคตปัจจาคตทูต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า โส คนฺตฺวา ปุน ปจฺจาคจฺฉติ ความว่า ภิกษุผู้รับสั่งนั้นไปสู่ที่ใกล้แห่งบุคคลซึ่งตนจะพึงปลงเสียจากชีวิตนั้น เมื่อไม่อาจปลงบุคคลนั้นจากชีวิต เพราะเขามีการอารักขาจัดไว้ดีแล้วจึงกลับมา.
               ข้อว่า ยทา สกฺโกสิ ตทา ตํ มีความว่า ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งใหม่ว่า ต้องฆ่าในวันนี้ทีเดียวหรือ จึงเป็นอันฆ่า? ไปเถิด ท่านอาจเมื่อใด จงปลงเขาเสียจากชีวิต เมื่อนั้น.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า เพราะสั่งอีกอย่างนั้น ย่อมเป็นทุกกฏเหมือนกัน. ก็ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้จะพึงถูกปลงจากชีวิตแน่นอนไซร้ เจตนาที่ยังอรรถให้สำเร็จ ย่อมเป็นเช่นกับผลที่เกิดในลำดับแห่งมรรค เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สั่งนี้จึงเป็นปาราชิกในขณะสั่งทีเดียว.
               ถ้าแม้ภิกษุผู้ฆ่าจะฆ่าบุคคลนั้นได้โดยล่วงไป ๖๐ ปีไซร้, และภิกษุผู้สั่งจะทำกาลกิริยาหรือสึกเสียในระหว่างนั้น จักเป็นผู้ไม่ใช่สมณะทำกาลกิริยาหรือสึกแท้.
               ถ้าผู้สั่งหมายเอามารดาบิดาหรือพระอรหันต์ สั่งอย่างนั้นในเวลาเป็นคฤหัสถ์แล้วจึงบวช, คนผู้รับสั่งฆ่าบุคคลนั้นได้ ในเมื่อผู้สั่งนั้นบวชแล้ว, ผู้สั่งย่อมเป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์แต่ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ทีเดียว เพราะเหตุนั้น บรรพชา อุปสมบทของเขา ย่อมไม่ขึ้นเลย.
               ถ้าแม้บุคคลที่จะพึงถูกฆ่า ในขณะสั่งยังเป็นปุถุชนอยู่ แต่เป็นพระอรหันต์ในเวลาที่ถูกผู้รับสั่งฆ่า, อีกอย่างหนึ่ง บุคคลที่จะพึงถูกฆ่านั้นได้การประหารจากผู้รับสั่งแล้วอาศัยศรัทธามีทุกข์เป็นมูล เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต แล้วทำกาลกิริยาไป เพราะอาพาธนั้นนั่นเอง, ผู้สั่งย่อมเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ในขณะสั่งนั่นเอง ส่วนผู้ฆ่าย่อมเป็นปาราชิกในขณะทำความพยายามในที่ทั้งปวงทีเดียวแล.
               ก็ในบรรดาวาระทั้ง ๓ ที่พระอุบาลีเถระกล่าวไว้ เพื่อแสดงความถูกที่หมายและผิดที่หมาย ในบทมาติกาที่ตรัสด้วยอำนาจทูตทั้งหมดนี้นั้น บัดนี้พึงทราบวินิจฉัยในปฐมวารก่อน. ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมพูดคำนั้นเบาๆ หรือเพราะภิกษุผู้รับสั่งนั้นเป็นคนหูหนวก จึงประกาศให้ได้ยินคำสั่งนี้ว่า เธอจงอย่าฆ่า, ไม่ได้; เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ต้นเดิมจึงไม่พ้น. ในทุติยวาร พ้นได้ เพราะท่านประกาศให้ได้ยิน. ส่วนในตติยวาร แม้ทั้ง ๒ รูปก็พ้นได้ เพราะภิกษุที่เป็นต้นเดิมนั้นประกาศให้ (ภิกษุผู้รับสั่ง) ได้ยิน และเพราะภิกษุผู้รับ่สั่งนอกนี้ก็รับคำว่า ดีละ แล้วงดเว้นเสีย ฉะนี้แล.

               ทูตกถา จบ               

               เรื่องที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ลับ               
               ในอรโห รโหสัญญินิเทศเป็นต้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อรโห ได้แก่ ต่อหน้า. บทว่า รโห ได้แก่ ลับหลัง.
               บรรดาชน ๒ คน (คือผู้มีความสำคัญต่อหน้าว่าลับหลัง และผู้มีความสำคัญลับหลังว่าต่อหน้านั้น) ภิกษุใด เมื่อภิกษุผู้มีเวรกันมาพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งอยู่ข้างหน้านั่นเอง ในเวลาอุปัฏฐาก ไม่ทราบข้อที่เธอมา เพราะโทษคือความมืด พอใจความตายของภิกษุผู้มีเวรกันนั้น จึงพูดจาถ้อยคำเช่นนี้ขึ้นว่า เจ้าพระคุณ ขอให้ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ถูกฆ่า, ทำไมพวกโจร จึงไม่ฆ่ามันเสีย, งูจึงไม่กัดมันเสีย, ใครๆ จึงไม่เอาศัสตราหรือยาพิษมาวางมันเสีย. ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้มีความสำคัญต่อหน้าว่าลับหลังพูดจา.
               อธิบายว่า ผู้มีความสำคัญในที่ต่อหน้านั้นว่าลับหลัง.
               ฝ่ายภิกษุใดเห็นภิกษุผู้มีเวรกันนั้นนั่งอยู่ข้างหน้า เป็นผู้มีความสำคัญว่า เธอยังนั่งอยู่ที่นี้เอง พูดจาขึ้นตามนัยก่อนนั่นแล ในเมื่อเธอแม้ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลายผู้ทำอุปัฏฐากแล้ว กลับไป, ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้มีความสำคัญลับหลังว่าต่อหน้าพูดจา.
               บุคคลผู้มีความสำคัญในต่อหน้าว่าต่อหน้า และบุคคลผู้มีความสำคัญในลับหลังว่าลับหลัง ผู้ศึกษาพึงทราบโดยอุบายนี้แล. และพึงทราบว่า เป็นทุกกฏทุกๆ คำพูดแก่ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้ง ๔ รูป.

               [อธิบายการพรรณนาความตายด้วยกาย]               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งมาติกา ๕ มีพรรณนาด้วยกายเป็นต้นที่ท่านพระอุบาลีกล่าวไว้ เพื่อแสดงวิภาคแห่งการพรรณนาความตาย.
               ข้อว่า กาเยน วิการํ ทสฺเสติ* มีความว่า เขาจะรู้ได้ว่า เนื้อความนี้อันบุคคลนี้กล่าวว่า ผู้ใดใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย หรือเคี้ยวกินยาพิษตาย หรือเอาเชือกผูกคอตาย หรือกระโดดบ่อเป็นต้นตาย, ได้ยินว่า ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ จะได้ยศ หรือจะไปสวรรค์ ดังนี้ด้วยประการใด, ภิกษุแสดงด้วยประการนั้นด้วยอวัยวะทั้งหลายมีหัวแม่มือเป็นต้น.
               ข้อว่า วาจาย ภณติ ความว่า ภิกษุลั่นวาจา กล่าวเนื้อความนั้นนั่นแล.
               วาระที่ ๓ เป็นอันกล่าวแล้ว ด้วยอำนาจแห่งวาระทั้ง ๒. ทุกๆ วาระปรับเป็นทุกกฏทุกๆ ประโยคแห่งการพรรณนา, เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้พรรณนา ในเพราะทุกข์เกิดขึ้นแก่เขา, เมื่อบุคคลที่ตนเจาะจงทำการพรรณนาตายไป เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้พรรณนาในขณะที่พรรณนาทีเดียว. ผู้นั้นย่อมไม่รู้ข้อความนั้น, ผู้อื่นรู้แล้วคิดว่า เราได้อุบายเป็นเหตุเกิดความสุขแล้วหนอ ดังนี้ ตายไปเพราะการพรรณนานั้น ไม่เป็นอาบัติ. เมื่อภิกษุเจาะจงทำการพรรณนาแก่คน ๒ คน รู้คนเดียวแล้วตายไป เป็นปาราชิก, ทั้ง ๒ คนตายเป็นปาราชิกด้วย เป็นกองอกุศลด้วย. ในบุคคลมากหลาย ก็นัยนี้,
               ภิกษุเที่ยวพรรณนาความตายไม่เจาะจง บุคคลใดๆ รู้การพรรณนานั้น แล้วตายไป, บุคคลนั้นๆ ทั้งหมดเป็นอันภิกษุรูปนั้น ฆ่าแล้ว.

               [อธิบายพรรณนาความตายด้วยทูตและหนังสือ]               
               ในการพรรณนาด้วยทูต มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เป็นทุกกฏเมื่อภิกษุเพียงแต่บอกข่าวว่า ท่านจงไปสู่เรือนหรือบ้านชื่อโน้น แล้วพรรณนาคุณความตายแก่บุคคลมีชื่ออย่างนี้นั่นแล. ทูตอันตนส่งไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด เพราะทุกข์เกิดแก่บุคคลนั้น เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้เป็นต้นเดิม, เพราะเขาตายเป็นปาราชิก.
               ทูตคิดว่า บัดนี้เรารู้ทางสวรรค์นี้แล้ว ไม่บอกแก่บุคคลนั้น บอกแก่ญาติหรือสายโลหิตของตน, เมื่อเขาตาย เป็นผิดสังเกต, ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมรอดตัวไป. ทูตคิดอย่างนั้นแล ทำกิจที่กล่าวไว้ในการพรรณนาเสียเองตายไป, ผิดที่หมายเหมือนกัน.
               แต่เมื่อภิกษุบอกข่าวไม่เจาะจง เป็นปาณาติบาตประมาณเท่าจำนวนมนุษย์ที่ตายไป ด้วยการพรรณนาของทูต. ถ้ามารดาและบิดาตายไป เป็นอนันตริยกรรมด้วย.
               ในเลขาสังวรรณนา มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า เลขํ ฉินฺทติ มีความว่า ภิกษุเขียนหนังสือลง (จารึกอักษรลง) ที่ใบไม้หรือที่ใบลานว่า ผู้ใดใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย หรือกระโดดเหวตาย หรือตายด้วยอุบายอย่างอื่นมีการกระโดดเข้าไฟและกระโดดน้ำเป็นต้น, ผู้นั้นจะได้สิ่งนี้ หรือว่า ฯลฯ เป็นความชอบของผู้นั้น. แม้ในการเขียนหนังสือที่ไม่เจาะจงนี้ บัณฑิตก็พึงทราบว่า เป็นทุกกฏ ถุลลัจจัยและปาราชิก โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               แม้เมื่อภิกษุเขียนหนังสือเจาะจง ตนเขียนเจาะจงบุคคลใด เพราะผู้นั้นนั่นแลตาย เป็นปาราชิก. เมื่อเขียนหนังสือเจาะจงบุคคลหลายคนเป็นปาณาติบาต มีประมาณเท่าจำนวนคนที่ตายไป, เพราะมารดาและบิดาตาย เป็นอนันตริยกรรม. แม้ในหนังสือที่เขียนไม่เจาะจง ก็นัยนี้แล.
               ภิกษุ เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นว่า คนสัตว์เป็นอันมากจะตาย จึงเผาใบลานนั้นเสีย หรือทำโดยประการที่อักษรทั้งหลายจะไม่ปรากฏ ย่อมพ้นได้. ถ้าใบลานนั้นเป็นของคนอื่น, ภิกษุจะเขียนหนังสือเจาะจงก็ตาม หรือเขียนไว้ไม่เจาะจงก็ตาม หรือเขียนไว้ไม่เจาะจงก็ตาม วางไว้ในที่ๆ ตนถือเอามา ย่อมพ้น. ถ้าใบลานนั้นย่อมเป็นของที่เขาซื้อมาด้วยมูลค่า, เธอให้ใบลานแก่เจ้าของใบลานแล้ว ให้มูลค่าแก่เหล่าชนผู้ที่ตนรับเอามูลค่าจากมือแล้ว ย่อมพ้นได้.
               ถ้าภิกษุมากรูปด้วยกันเป็นผู้มีอัธยาศัยร่วมกันว่า พวกเราจักเขียนพรรณนาคุณความตาย ดังนี้, รูปหนึ่งขึ้นต้นตาลแล้ว ตัดใบตาล, รูปหนึ่งนำมา, รูปหนึ่งทำให้เป็นใบลาน, อีกรูปหนึ่งเขียน. อีกรูปหนึ่ง ถ้าเป็นการเขียนด้วยเหล็กจาร ก็เอาเขม่าทา; ครั้นทาเขม่าแล้ว จัดใบลานนั้นเข้าเป็นผูก, เธอทั้งหมดเทียวเอาไปวางไว้ที่สภา หรือที่ร้านตลาด หรือในสถานที่ๆ ประชาชนเป็นอันมากผู้แตกตื่นเพื่อดูหนังสือประชุมกัน. ประชาชนอ่านหนังสือนั้นแล้ว ถ้าตายไปคนเดียวไซร้ เป็นปาราชิกแก่ภิกษุทั้งหมด. ถ้าตายไปมากคนไซร้ ก็มีนัยเช่นเดียวกันกับที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้น ถ้าภิกษุเหล่านั้นเอาใบลานนั้นเก็บไว้ในหีบ, และมีผู้อื่นพบเห็นใบลานนั้นแล้ว นำออกมาแสดงแก่ชนเป็นอันมากอีก, เธอทั้งหมดนั้นจะไม่รอดตัวเลย. หีบจงยกไว้ ถ้าแม้นพวกเธอเหวี่ยงใบลานนั้นลงไป หรือล้างในแม่น้ำหรือทะเลเสีย หั่นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ หรือใส่ไฟเผาเสีย ก็ยังไม่รอดตัวตราบเท่าที่ตัวหนังสือยังปรากฏอยู่ในใบลาน แม้ที่ยังเชื่อมต่อกันได้ซึ่งล้างไม่ดี หรือเผาไม่ดี. แต่เมื่อกระทำโดยประการที่อักษรทั้งหลายจะไม่ปรากฏเลย จึงรอดตัวไปได้แล.

               [อธิบายขุดหลุมพรางให้คนตกตาย]               
               บัดนี้จะวินิจฉัยในนิเทศแห่งมาติกามีหลุมพรางเป็นต้นที่ท่านพระอุบาลีกล่าวไว้ เพื่อแสดงวิภาคแห่งถาวรประโยค.
               ข้อว่า มนุสฺสํ อุทฺทิสฺส โอปาตํ ขนติ ความว่า ภิกษุขุดหลุมเจาะจงคนบางคนด้วยตั้งใจว่า ผู้มีชื่อนี้จะตกไปตาย ในที่ๆ ผู้นั้นเที่ยวไปแต่ลำพัง. ก่อนอื่น ถ้าแม้ขุดชาตปฐพี เป็นทุกกฏทุกๆ ประโยคแก่ภิกษุผู้ขุด เพราะเป็นประโยคแห่งปาณาติบาต, เป็นถุลลัจจัย เพราะก่อให้เกิดทุกข์แก่คนที่ตนเจาะจงขุดไว้, เป็นปาราชิก เพราะเขาตาย. เมื่อผู้อื่นแม้ตกไปตาย ไม่เป็นอาบัติ.
               ถ้าขุดไว้ไม่เจาะจงด้วยคิดว่า ผู้ใดใครผู้หนึ่งจักตาย เป็นปาณาติบาตเท่าจำนวนสัตว์ที่ตกไปตาย เป็นอนันตริยกรรมในเพราะวัตถุแห่งอนันตริยกรรม เป็นถุลลัจจัยและปาจิตตีย์ ในเพราะวัตถุแห่งถุลลัจจัยและปาจิตตีย์.
               ถามว่า เจตนาในการขุดหลุมนั้นมีมาก เป็นปาราชิกด้วยเจตนาไหน?
               แก้ว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถาก่อนว่า เมื่อภิกษุขุดหลุมทั้งโดยส่วนลึกทั้งโดยส่วนยาวและกว้างได้ประมาณ (ขนาด) แล้วถากเซาะกองไว้ ใช้ปุ้งกี๋สำหรับใส่ฝุ่นโกยขึ้น เจตนาที่ยังอรรถให้สำเร็จซึ่งเป็นเหตุให้ตั้งขึ้น เป็นเช่นเดียวกันกับผลในลำดับแห่งมรรค. ถ้าแม้นว่าโดยล่วงไปถึงร้อยปีจะมีสัตว์ตกลงตายแน่นอน เป็นปาราชิกด้วยเจตนาซึ่งเป็นเหตุให้ตั้งขึ้นนั่นเอง.
               ส่วนในมหาปัจจรีและในสังเขปอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุใช้จอบประหาร (ฟัน) แม้ครั้งเดียว ด้วยคิดว่า บุคคลจักตกที่หลุมนี้ตาย ดังนี้ ถ้ามีใครๆ พลาดตกลงไปที่หลุมนั้นตาย เป็นปาราชิกเหมือนกัน. ส่วนพวกพระเถระผู้ชำนาญในพระสูตรยังยึดเอาเจตนาซึ่งเป็นเหตุให้ตั้งขึ้น (เป็นหลัก).
               ภิกษุรูปหนึ่งขุดหลุมพรางแล้วสั่งภิกษุรูปอื่นว่า จงนำคนชื่อโน้นมาแล้ว ผลักให้ตกตายในหลุมพรางนี้. ภิกษุอื่นนั้นยังผู้นั้นให้ตกตาย เป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป, ยังผู้อื่นให้ตกตาย ตัวเองตกไปตาย คนอื่นตกไปตายตามธรรมดาของตน, ในทุกกรณีมีการผิดที่หมาย ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมรอดตัวไป.
               แม้ในหลุมพรางที่ภิกษุขุดไว้ด้วยคิดว่า ภิกษุชื่อโน้นจักนำคนชื่อโน้นมาให้ (ตก) ตายในหลุมพรางนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ภิกษุขุดไว้ด้วยคิดว่า คนทั้งหลายผู้อยากจะตายจักตายในหลุมพรางนี้, เป็นปาราชิก เพราะคนคนเดียวตาย, เป็นกองอกุศล เพราะคนมากคนตาย, เป็นอนันตริยกรรม เพราะมารดาและบิดาตาย, เป็นถุลลัจจัยและปาจิตตีย์ ในเพราะวัตถุแห่งถุลลัจจัยและปาจิตตีย์.
               ภิกษุขุดไว้ด้วยคิดว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีความประสงค์จะฆ่าเขาให้ตาย จักผลักชนเหล่านั้นให้ตกตายในหลุมพรางนี้ ดังนี้. พวกเขาผลักให้ตกตายในหลุมพรางนั้น, เมื่อตายคนเดียว เป็นปาราชิก, เมื่อมากคนตาย เป็นกองอกุศล, เป็นอนันตริยกรรมเป็นต้น ในเพราะวัตถุแห่งอนันตริยกรรมเป็นต้น. และแม้พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ถึงความสงเคราะห์เข้าในนัยหลังนี้ด้วย.
               แต่นัยแรก กิริยาที่พระอรหันต์เหล่านั้นจะตกไปเพราะความเป็นผู้ใคร่จะตาย ย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านจึงไม่สงเคราะห์เข้าด้วย. แม้ในนัยทั้งสอง เมื่อบุคคลตกไปตายตามธรรมดาของตน ย่อมมีการผิดที่หมาย.
               ภิกษุคิดว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งจักผลักคนผู้มีเวรของตนให้ตกตายในหลุมพรางนี้ แล้วขุดไว้, และเหล่าชนผู้มีเวรกันก็ผลักคนมีเวรให้ตกตายในหลุมพรางนั้น, เมื่อถูกฆ่าตายคนเดียว เป็นปาราชิก, เมื่อถูกฆ่าตายมากคนเป็นกองอกุศล เมื่อมารดาหรือบิดา หรือพระอรหันต์ ถูกเหล่าชนผู้มีเวรนำมาฆ่าให้ตายในหลุมพรางนั้น เป็นอนันริยกรรม, เมื่อมารดาเป็นต้นเหล่านั้นตายตามธรรมดาของตน ย่อมผิดสังเกต.
               ส่วนภิกษุรูปใดขุดไว้มิได้เจาะจง แม้โดยประการทั้งปวงเลยว่าชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้อยากจะตายก็ดี ไม่อยากจะตายก็ดี ผู้ประสงค์จะฆ่าเขาก็ดี ไม่ประสงค์จะฆ่าก็ดี จักตกไปตาย หรือถูกผลักให้ตกไปตายในหลุมพรางนี้, ภิกษุนั้นย่อมถูกต้องกรรม และย่อมต้องอาบัติตามสมควร เพราะความตายของบุคคลผู้ที่ตายไปนั้นๆ.
               ถ้าสตรีมีครรภ์ตกไปตายทั้งกรม* เป็นปาณาติบาต ๒ กระทง. เฉพาะสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์เท่านั้นพินาศไป เป็นปาณาติบาตกระทงเดียว. สัตว์เกิดในครรภ์ไม่พินาศ แต่มารดาตาย เป็นปาณาติบาตกระทงเดียวเหมือนกัน. คนถูกพวกโจรไล่ติดตาม ตกไปตาย, เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้ขุดหลุมพรางเช่นกัน. พวกโจรตกลงไปตายในหลุมพรางนั้น เป็นปาราชิกเหมือนกัน. พวกโจรนำผู้ตกไปในหลุมพรางนั้นออกไปภายนอก แล้วฆ่าให้ตาย, เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะเขาถูกพวกโจรจับได้ ก็เพราะประโยคที่ตกไปในหลุมพราง.
               ผู้ที่ตกหลุมพรางออกมาจากหลุมพรางได้แล้วตายไป ด้วยความเจ็บไข้นั้นนั่นแล เป็นปาราชิกเหมือนกัน. ครั้นล่วงเลยมาหลายปีแล้ว จึงตายเพราะความเจ็บไข้นั้นนั่นเอง ซึ่งกำเริบขึ้นอีก เป็นปาราชิกเหมือนกัน. โรคชนิดอื่นเกิดแทรกขึ้นแก่บุคคลผู้ป่วยไข้ ด้วยโรคที่เกิดขึ้น เพราะมีการตกไปในหลุมพรางนั้นเป็นปัจจัยนั่นแล, แต่โรคที่เกิดขึ้นเพราะหลุมพราง เป็นของมีกำลังกว่า, แม้เมื่อผู้นั้นตายเพราะโรคที่เกิดขึ้นนั้น ภิกษุขุดหลุมพราง ย่อมไม่พ้น.
               ถ้าโรคที่เกิดขึ้นภายหลังเป็นของมีกำลังไซร้, เมื่อผู้นั้นตายเพราะโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง เธอรอดตัว. เมื่อผู้นั้นตายด้วยโรคทั้ง ๒ ชนิด ไม่พ้น. มนุษย์ผู้ผุดเกิดในหลุมพราง ครั้นเกิดแล้ว ไม่สามารถจะขึ้นได้ ก็ตายไป, เป็นปาราชิกเหมือนกัน.

               [มติพระเถระสองรูปในการขุดหลุมพราง]               
               พระอุปติสสเถระกล่าวว่า เมื่อยักษ์เป็นต้น ตกไปตายในหลุมพรางที่ภิกษุขุดไว้เจาะจงมนุษย์ ไม่เป็นอาบัติ. ในมนุษย์เป็นต้นแม้ตายอยู่ในหลุมพรางที่ภิกษุขุดไว้เจาะจงยักษ์เป็นต้น ก็นัยนั่นแล. แต่เป็นทุกกฏทีเดียวแก่ภิกษุผู้ขุดเจาะจงยักษ์เป็นต้น เพราะการขุดบ้าง เพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ยักษ์เป็นต้นเหล่านั้นบ้าง, เพราะ (ยักษ์เป็นต้น) ตายเป็นถุลลัจจัยหรือปาจิตตีย์ตามอำนาจแห่งวัตถุทีเดียว. สัตว์ตกลงในหลุมพรางที่ภิกษุขุดไว้มิได้เจาะจงโดยรูปยักษ์ หรือรูปเปรตตายไป โดยรูปสัตว์ดิรัจฉาน, ก็รูปที่ตกไป ย่อมเป็นประมาณ เพราะฉะนั้น จึงเป็นถุลลัจจัย.
               พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า รูปที่ตายเป็นประมาณ เพราะฉะนั้น จึงเป็นปาจิตตีย์. แม้ในสัตว์ตกไปด้วยรูปสัตว์ดิรัจฉาน แล้วตายด้วยรูปยักษ์และรูปเปรต ก็นัยนั่นเหมือนกัน.
               ภิกษุผู้ขุดหลุมพรางขายหรือให้เปล่าซึ่งหลุมพรางแก่ภิกษุอื่น, ภิกษุนั้นแลยังต้องอาบัติ และมีข้อผูกพันทางกรรม เพราะมีผู้ตกตายเป็นปัจจัย. ผู้ที่ได้หลุมพรางไป ไม่มีโทษแล.
               ภิกษุผู้ได้ไปแล้วคิดว่า หลุมอย่างนี้ สัตว์ผู้ตกไปยังอาจขึ้นได้ จักไม่พินาศ จักทรงตัวขึ้นได้ง่าย จึงทำหลุมพรางนั้นให้ลึกลงไป หรือให้ตื้นขึ้น ให้ยาวออกไป หรือให้สั้นเข้า ให้กว้างออกไป หรือให้แคบเข้า ต้องอาบัติ และมีข้อผูกพันทางกรรมด้วยกันแม้ทั้ง ๒ รูป.
               เมื่อเกิดวิปฏิสารขึ้นว่า คนสัตว์จะตายกันมาก จึงกลบหลุมพรางให้เต็มด้วยดิน. ถ้าสัตว์ไรๆ ยังตกไปในดินตายได้, แม้กลบให้เต็มแล้ว ก็ไม่พ้น. เมื่อฝนตกมีโคลน, แม้เมื่อสัตว์ไรๆ ติดตายในโคลนนั้น, ต้นไม้ล้มก็ดี ลมพัดก็ดี น้ำฝนตกก็ดี พัดพาคนไปหรือพวกขุดแผ่นดินเพื่อเหง้ามัน ขุดเป็นหลุมบ่อไว้ในที่นั้น, ถ้าสัตว์ไรๆ ติดหรือตกไปตายในหลุมนั้น ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมยังไม่พ้น.
               แต่ในโอกาสนั้น ภิกษุให้ทำบึงหรือสระบัวใหญ่ให้ประดิษฐานเจดีย์ ปลูกต้นโพธิหรือให้สร้างวัด หรือให้ทำทางเกวียนแล้วจึงพ้นได้.
               แม้ในกาลใด ต้นไม้เป็นต้นในหลุมพรางอันถูกกลบเต็มทำให้แน่นแล้วรากต่อรากเกี่ยวพันกัน, เกิดชาตปฐพี แม้ในกาลนั้นก็พ้นได้. ถ้าแม้นแม่น้ำหลากมาลบล้างหลุมพรางเสีย, แม้อย่างนั้นจึงพ้นได้แล.
               กถาว่าด้วยหลุมพรางเท่านี้ก่อน.

               [ว่าด้วยการดักบ่วงของภิกษุ]               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยแม้ในบ่วงเป็นต้น อันอนุโลมแก่หลุมพรางนั่นดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุรูปใดดักบ่วงไวัก่อนด้วยคิดว่า สัตว์ทั้งหลายจักติดในบ่วงนี้ตาย เมื่อบ่วงพอพ้นไปจากมือ พึงทราบว่าเป็นปาราชิก อนันตริยกรรม ถุลลัจจัยและปาจิตตีย์แก่ภิกษุรูปนั้นแน่นอน ด้วยอำนาจสัตว์ที่ติด (บ่วง).
               ในบ่วงที่ภิกษุทำเจาะจงไว้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บ่วงที่ภิกษุดักเจาะจงสัตว์ตัวใดไว้ เพราะสัตว์เหล่าอื่นจากสัตว์ตัวนั้นมาติด ไม่เป็นอาบัติ. แม้เมื่อภิกษุจำหน่ายบ่วงไปด้วยมูลค่าหรือให้เปล่าก็ตาม ข้อผูกพันทางกรรมย่อมมีแก่ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมเช่นกัน. ถ้าภิกษุผู้ได้บ่วงไป ดักบ่วงเคลื่อนที่ได้ไว้ หรือเห็นพวกสัตว์เดินไปข้างๆ จึงทำรั้วกั้นไว้ ต้อนสัตว์ให้เข้าไปตรงหน้า หรือจัดคันบ่วงไว้ให้แข็งแรง หรือผูกเชือกบ่วงไว้ให้มั่นขึ้น หรือตอกหลักไว้ให้มั่นคง เธอทั้ง ๒ รูปไม่พ้น.
               ถ้าเมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้น เธอจึงรูดบ่วงให้หลุดออกแล้ว ไปเสีย. คนเหล่าอื่นพบเห็นบ่วงที่รูดออกแล้วนั้น เอาไว้อีก, สัตว์ทั้งหลายที่ติด (บ่วง) แล้วๆ ตายไป ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมไม่พ้นไปได้.
               แต่ถ้าคันบ่วงอันเธอผู้เป็นต้นเดิมนั้นไม่ได้ทำไว้เอง, แต่วางไว้ในที่ๆ ตนรับมา ย่อมพ้น. เธอตัดไม้คันบ่วงซึ่งเกิดอยู่ในสถานที่นั้นเสีย ย่อมพ้น. แต่แม้เมื่อเธอเก็บรักษาไม้คันบ่วงที่ตนทำเองไว้ ย่อมไม่พ้น.
               จริงอยู่ ถ้าภิกษุรูปอื่นถือเอาไม้คันบ่วงนั้นไปดักบ่วงไว้อีกไซร้, เมื่อสัตว์ทั้งหลายตายไป เพราะมีการดักบ่วงนั้นเป็นปัจจัย ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมย่อมไม่พ้น. ถ้าเธอเผาคันบ่วงนั้น ทำให้เป็นดุ้นไฟแล้วทิ้งเสีย, แม้เมื่อสัตว์ทั้งหลายได้การประหารด้วยดุ้นไฟนั้นตายไปย่อมไม่พ้น. แต่เผาหรือทำให้เสียหายไปโดยประการทั้งปวง ย่อมพ้น.
               เธอวางแม้เชือกบ่วงที่คนเหล่าอื่นฟั่นเสร็จแล้วในที่ๆ ตนรับมา ย่อมพ้น. เธอได้เชือกมาแล้ว คลี่เกลียวที่เขาฟั่นไว้ออกเสียเอง (หรือ) ทำเชือกที่ตนได้ปอมาแล้วฟั่นไว้ ให้เป็นชิ้นน้อยและชิ้นใหญ่ ย่อมพ้น. แต่แม้เมื่อเธอเก็บรักษาเชือกที่ตนเองนำปอมาจากป่าฟั่นไว้ย่อมไม่พ้น, แต่เผาหรือทำให้เสียหายไปโดยประการทั้งปวง ย่อมพ้น.

               [ว่าด้วยการใช้ฟ้าถล่มดักสัตว์ของภิกษุ]               
               ภิกษุเมื่อจัดแจงฟ้าถล่ม วางเตียงฟ้าถล่มไว้บนเท้าทั้ง ๔ ยกหินขึ้น เป็นทุกกฏทุกๆ ประโยค. เมื่อทำการตระเตรียมทุกอย่างแล้ว พอฟ้าถล่มพ้นไปจากมือ พึงทราบว่าเป็นปาราชิกเป็นต้น ตามสมควรแก่ประโยคที่ทำ เจาะจงและไม่เจาะจง ด้วยอำนาจแห่งพวกสัตว์ที่จะพึงถูกทับแน่นอน. แม้เมื่อภิกษุจำหน่ายฟ้าถล่มด้วยมูลค่าหรือให้เปล่าก็ตาม ข้อผูกพันทางกรรมย่อมมีแก่ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมทีเดียว.
               ถ้าภิกษุผู้ได้ฟ้าถล่มไป ยกฟ้าถล่มที่ตกขึ้นไว้ หรือยกหินแก้ก้อนอื่นขึ้นทำให้มีน้ำหนักกว่า หรือเห็นพวกสัตว์เดินไปข้างๆ ทำรั้วกั้นไว้ต้อนสัตว์ให้เข้าไปที่ฟ้าถล่ม; เธอทั้ง ๒ รูปย่อมไม่พ้น. ถ้าเมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้น เธอจึงทำฟ้าถล่มให้ตกแล้ว ไปเสีย, ภิกษุรูปอื่นพบเห็นฟ้าถล่มที่ตกแล้วนั้น ก็ตั้งดักไว้อีก, ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมไม่พ้น. ภิกษุวางก้อนหินไว้ในที่ๆ ตนรับมา และวางขาฟ้าถล่มไว้ในที่ๆ ตนรับมา หรือเผา โดยนัยดังกล่าวไว้แล้วในคันบ่วงย่อมพ้น.
               แม้เมื่อภิกษุปักหลาว พอทำการตระเตรียมทุกอย่างเสร็จแล้ว พ้นจากมือ พึงทราบว่า เป็นปาราชิกเป็นต้น โดยสมควรแก่ประโยคที่ทำเจาะจง ด้วยอำนาจแห่งพวกสัตว์ที่จะตกไปตามบนคมหลาวแน่นอน.
               แม้เมื่อภิกษุจำหน่ายหลาวด้วยมูลค่าหรือให้เปล่าก็ตาม ข้อผูกพันทางกรรมย่อมมีแก่ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมเช่นกัน. ถ้าภิกษุผู้ได้หลาวไปแต่งหลาวให้คมกริบด้วยคิดว่า สัตว์ทั้งหลายจักตายด้วยการประหารครั้งเดียวเท่านั้น หรือแต่งหลาวให้ทื่อเข้าด้วยคิดว่า สัตว์ทั้งหลายจักตายเป็นทุกข์ หรือกำหนดว่าหลาวสูงไป ปักให้ต่ำลง หรือกำหนดว่า หลาวต่ำไป ปักให้สูงขึ้นอีก หรือดัดที่คดให้ตรง หรือดัดที่ตรงเกินไปให้โค้งนิดหน่อย เธอทั้ง ๒ รูปไม่พ้น.
               ก็ถ้าเธอเห็นว่า ไว้ในที่ไม่เหมาะ แล้วเอาไปปักไว้ในที่อื่น ถ้าหลาวนั้นย่อมเป็นของที่เธอแสวงหามาทำไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อต้องการฆ่าให้ตาย ภิกษุผู้เป็นต้นเดิม ไม่พ้น.
               แต่เมื่อมิได้แสวงหาได้ของที่เขาทำไว้แล้วนั่นแล ยกขึ้นไว้, ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมย่อมพ้น. เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้น เธอวางหลาวไว้ในที่ๆ ตนรับมาหรือเผาเสีย โดยนัยดังกล่าวไว้แล้วในคันบ่วง ย่อมพ้น.

               [ลอบวางศัสตราไว้ในวัตถุสำหรับพิง]               
               ในคำว่า อปสฺเสเน สตฺถํ วา นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ชื่อว่า ที่พิง ได้แก่ เตียงหรือตั่ง หรือกระดานสำหรับพิงที่ใช้เป็นนิจ หรือเสาสำหรับพิงของภิกษุผู้นั่งพักอยู่ในที่พักกลางวัน หรือต้นไม้ซึ่งเกิดอยู่ในที่นั้น หรือต้นไม้สำหรับยึดเหนี่ยว ของภิกษุผู้ยืนพิงอยู่ในที่จงกรมหรือกระดานสำหรับยึดเหนี่ยววัตถุมีเตียงเป็นต้นนั้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่าที่พิง เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งการพิง (เป็นที่ตั้งแห่งการมองไม่เห็น).
               ภิกษุทำเหมือนอย่างคนแทงหรือฟันบุคคลที่ไม่เห็น วางบรรดาศัสตราชนิดหนึ่งมีมีด ขวาน หอก เหล็กแหลมและหนามเป็นต้นไว้ในที่สำหรับพิงนั้น เป็นทุกกฏ. เมื่อผู้หมดความสงสัยนั่งหรือนอน หรือพิงอยู่ในสถานที่ใช้ประจำ เป็นถุลลัจจัย เพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นซึ่งมีความถูกต้องศัสตราเป็นปัจจัย, เป็นปาราชิกในเพราะเขาตาย.
               ถ้าภิกษุผู้มีเวรของเธอนั้นแม้รูปอื่นเที่ยวจาริกไปในวิหาร พบเห็นศัสตรานั้นแล้ว ยินดีอยู่ว่า ชะรอยศัสตรานี้เป็นของที่เธอรูปนี้วางไว้ เพื่อเป็นเครื่องสังหาร, ดีละ จงตายให้สนิทเถิด เดินไปเป็นทุกกฏ. แต่ถ้าภิกษุผู้มีเวรแม้รูปนั้นคิดว่า เมื่อเธอทำศัสตรานั้นไว้อย่างนั้นแล้ว จักเป็นอันเธอทำไว้ดีแล้ว จึงทำกรรมบางอย่างด้วยการทำศัสตราให้คมกริบเป็นต้น, เป็นปาราชิกแม้แก่เธอผู้มีเวรรูปนั้น,
               แต่ถ้าภิกษุผู้มีเวรเห็นว่า เธอรูปนั้นวางศัสตราไว้ในที่ไม่เหมาะ จึงยกขึ้นมาวางไว้ในที่อื่น, เมื่อเธอทำแล้ววางไว้ เพื่อประโยชน์นั้นๆ เอง ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมย่อมไม่พ้น. ภิกษุได้ศัสตราแล้ววางไว้ตามปกติเดิม ย่อมพ้น. ภิกษุนำศัสตรานั้นออกไปเสีย แล้วจึงเอาศัสตราอย่างอื่นที่คมกว่ามาวางไว้แทน ภิกษุเป็นต้นเดิมย่อมไม่พ้นเหมือนกัน.

               [ลอบวางยาพิษแทรกไว้ในเภสัช]               
               แม้ในการทายาพิษไว้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เป็นทุกกฏ เพราะเขายินดีความตาย จนกระทั่งถึงนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ถ้าภิกษุแม้รูปนั้นกำหนดไว้ว่า ก้อนยาพิษเล็กไป จึงทำให้เขื่องขึ้น หรือกำหนดได้ว่า ก้อนยาพิษเขื่องไป หรือเขื่องเกินไปจึงทำให้เล็กลง หรือบางไปจึงทำให้หนา หรือหนาไปจึงทำให้บางลง แล้วลนให้ร้อนด้วยไฟ ทำให้แล่นไปข้างล่างหรือข้างบน; เป็นปาราชิกแม้แก่ภิกษุรูปนั้น.
               เธอเห็นว่า ก้อนยาพิษนี้วางไว้ในที่ไม่เหมาะ จึงถากไสให้บางทุกส่วนทีเดียว แล้วเช็ดถู (ให้เกลี้ยง) เอาวางไว้ในที่อื่น. เมื่อภิกษุปรุงเภสัชด้วยตนเอง แล้วแทรกยาพิษเข้าด้วย ภิกษุผู้เป็นต้นเดิมย่อมไม่พ้น เมื่อตนเองไม่ได้ทำ ย่อมพ้น.
               แต่ถ้าภิกษุรูปนั้นเห็นว่า ยาพิษนี้มีน้อยเกินไป จึงนำเอายาพิษแม้อื่นมาเติมใส่ไว้, เป็นปาราชิกแก่ภิกษุเจ้าของยาพิษซึ่งเป็นเหตุให้เขาตาย. ถ้าเขาตายไปเพราะยาพิษซึ่งเป็นของภิกษุแม้ทั้ง ๒ รูป ก็เป็นปาราชิกแก่เธอแม้ทั้ง ๒ รูป.
               ภิกษุเห็นว่า ยาพิษนี้หมดฤทธิ์กล้าแล้ว จึงนำยาพิษนั้นออกเสีย แล้ววางยาพิษของตนเองไว้แทน เป็นปาราชิกแก่ภิกษุนั้นเท่านั้น, ภิกษุผู้เป็นต้นเดิม รอดตัวไป.

               [ลอบวางอาวุธไว้ใต้เตียงหรือตั่ง]               
               สองบทว่า ทิพฺพลํ วา กโรติ ความว่า ภิกษุตัดเตียงและตั่งภายใต้แม่แคร่ หรือตัดหวายและเชือกที่เขาร้อยไว้ ทำให้เหลือไว้นิดหน่อยเท่านั้น จึงสอดอาวุธไว้ภายใต้, เธอตัดส่วนอื่นแม้แห่งวัตถุ มีกระดานสำหรับพิงเป็นต้น ซึ่งมีต้นไม้และกระดานสำหรับยึดเหนี่ยวในที่จงกรมเป็นที่สุดออก แล้วเอาอาวุธสอดไว้ภายใต้ ด้วยหวังว่า คนจักตกตายที่อาวุธนี้. ภิกษุนำเตียงตั่งหรือกระดานสำหรับพิงมาวางไว้ใกล้บ่อเป็นต้นโดยประการที่คนพอนั่งหรือพิงที่เตียงเป็นต้นนั้นก็จะตกลงไป, หรือทำสะพานสำหรับเดินไปมาบนบ่อเป็นต้นให้ชำรุดไว้, เมื่อภิกษุทำอยู่อย่างนั้น เป็นทุกกฏ เพราะทำ, เป็นถุลลัจจัย เพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่คนนอกนี้, เป็นปาราชิก ในเพราะเขาตาย.
               ภิกษุนำเอาภิกษุด้วยกันไปแล้วพักไว้บนริมปากบ่อเป็นต้น ด้วยคิดว่า เธอเห็นแล้วสะทกสะท้าน เพราะกลัว จักตกตาย ดังนี้ เป็นทุกกฏ. เธอตกไปอย่างนั้นจริงๆ เป็นถุลลัจจัย เพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น, เป็นปาราชิก ในเพราะเขาตาย.
               ตนเองผลักภิกษุรูปนั้นให้ตกไป, ใช้ผู้อื่นให้ผลักตกไป, ผู้อื่นมิได้สั่งเลย ผลักให้ตกไปตามธรรมดาของตน, อมนุษย์ผลักให้ตกลงไป, ตกไปเพราะถูกลมพัด, ตกไปตามธรรมดาของตน; เป็นปาราชิก ในเพราะผู้นั้นตายทุกกรณี.
               เพราะเหตุไร? เพราะผู้ตายอยู่ใกล้ริมปากบ่อเป็นต้น ด้วยประโยคของภิกษุผู้เป็นต้นเดิมนั้น.

               [ว่าด้วยการลอบวางดาบไว้]               
               การวาง (ดาบเป็นต้น) ไว้ในที่ใกล้ ชื่อว่า การลอบวาง.
               ในการลอบวางนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุใดพรรณนาคุณแห่งความตาย โดยนัยเป็นต้นว่า ผู้ใดตายด้วยดาบนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ก็ดี, พูดว่า ผู้ต้องการตายจงตายด้วยดาบนี้ก็ดี, พูดว่า ผู้ต้องการตายจงให้เขาฆ่าด้วยดาบนี้ก็ดี แล้วลอบวางดาบไว้, เป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปนั้น ในการลอบวางไว้. บุคคลผู้อยากจะตาย จะใช้ดาบนั้นประหารตนเองก็ตาม ผู้มีความประสงค์จะใช้ให้คนอื่นฆ่า จงเอาดาบนั้นประหารคนอื่นก็ตาม, แม้ด้วยการประหารทั้ง ๒ วิธีเป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้ลอบวาง เพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น, เป็นปาราชิก ในเพราะเขาตาย.
               เมื่อภิกษุวางไว้ไม่เจาะจงเป็นกองอกุศล ในเพราะคนสัตว์เป็นอันมากตาย, เป็นปาราชิกเป็นต้น ในเพราะวัตถุแห่งปาราชิกเป็นต้น.
               ภิกษุนั้น เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นจึงเก็บดาบไว้ในที่ๆ ตนรับมา ย่อมพ้น.
               ดาบเป็นของที่เธอรับซื้อมา เธอคืนดาบให้แก่เจ้าของดาบให้มูลค่าแก่เหล่าชนผู้ที่ตนรับเอามูลค่ามาจากมือของเขาแล้ว ย่อมพ้น.
               ถ้าภิกษุเอาแท่งโลหะ ผาลไถหรือจอบไปให้ช่างทำเป็นดาบไซร้, ถือเอาภัณฑะใดมาให้ทำดาบ ครั้นทำกลับให้เป็นภัณฑะนั้นอย่างเดิม แล้วจึงจะพ้น. ถ้าภิกษุยังดาบที่เอาจอบมาให้ช่างทำ ให้เสียหายไป แล้วทำให้เป็นผาลไซร้ แม้เมื่อสัตว์มากหลายได้การประหารด้วยผาลตายไป ภิกษุนั้นย่อมไม่พ้นจากปาณาติบาต.
               แต่ถ้าเธอให้หลอมโลหะขึ้นมาแล้วให้ช่างทำเป็นดาบ เพื่อการลอบวางนั่นเอง, เมื่อดาบที่เธอเอาปลายเหล็กครูดถูแล้วทำให้แหลกละเอียดกระจัดกระจายไป เธอจึงจะพ้น.
               แม้ถ้าเป็นดาบที่ภิกษุมากรูปร่วมอัธยาศัยกันทำไว้ เป็นเหมือนใบลานที่เขียนพรรณนา (คุณความตาย) ไว้ฉะนั้น, วินิจฉัยถึงข้อถูกพันทางกรรมพึงทราบโดยนัยดังที่กล่าวแล้วในใบลานนั่นแล.
               ในหอกและฉมวกก็นัยนี้. ในหลาวและไม้ค้อนมีวินิจฉัยเช่นกับที่กล่าวแล้วในไม้คันบ่วง. ในหินก็อย่างนั้น. ในศัสตราก็มีวินิจฉัยเหมือนดาบนั่นเอง.

               [ว่าด้วยลอบวางยาพิษไว้เป็นต้น]               
               บทว่า วิสํ วา ความว่า เมื่อภิกษุลอบวางยาพิษไว้ พึงทราบว่าเป็นปาราชิกเป็นต้น ในวัตถุแห่งปาราชิกเป็นต้น โดยควรแก่การเจาะจงและไม่เจาะจง ด้วยอำนาจแห่งวัตถุ. ในยาพิษที่ภิกษุซื้อมาเก็บไว้ เธอทำให้เป็นปกติเดิมโดยนัยก่อนแล้ว จึงจะพ้น. เมื่อภิกษุผสมยาพิษเข้ากับเภสัชเสียเอง เธอทำไม่ให้เป็นยาพิษแล้วจึงจะพ้นได้.
               ในเชือกมีวินิจฉัยเช่นกับด้วยเชือกบ่วงนั่นแหละ.
               ในเภสัช วินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุใด เมื่อภิกษุผู้มีเวรเกิดเป็นไข้เชื่อมหรือโรคมีส่วนเป็นพิษขึ้น มีความประสงค์จะให้ตายเรียกว่า วัตถุมีเนยใสเป็นต้นเป็นที่สบาย ดังนี้ จึงถวายเภสัชแม้อันเป็นที่ไม่สบาย หรือเหง้าบัวรากไม้และผลไม้ชนิดอื่นบางอย่าง, พึงทราบว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุนั้น ในเพราะถวายเภสัชอย่างนั้น, เป็นถุลลัจจัยและปาราชิก ในเพราะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นและในเพราะเขาตาย, เป็นอนันตริยกรรม ในวัตถุแห่งอนันตริยกรรม.

               [การนำรูปและเสียงเป็นต้นเข้าไป]               
               ในการนำรูปเข้าไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อุปสํหรติ ความว่า ภิกษุพักคนอื่นผู้มีรูปไม่น่าพอใจไว้ในที่ใกล้ๆ บุคคลนั้นหรือเธอแปลงเพศเป็นยักษ์และเปรตเป็นต้นด้วยตนเองแล้วยืนอยู่ พอเมื่อนำรูปเข้าไป เป็นทุกกฏแก่ภิกษุนั้น, เป็นถุลลัจจัย ในการก่อภัยให้เกิดขึ้นแก่คนอื่น เพราะเห็นรูปนั้น, เป็นปาราชิก ในเพราะเขาตาย.
               แต่ถ้ารูปนั้นเอง ย่อมเป็นที่ชอบใจของคนบางคนไซร้, และเขาย่อมซูบผอมตาย เพราะไม่ได้ (รูปนั้น), ย่อมผิดสังเกต.
               แม้ในรูปซึ่งเป็นที่ชอบใจ ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ก็บรรดารูปซึ่งเป็นที่ชอบใจเหล่านั้นว่าโดยพิเศษ รูปบุรุษย่อมเป็นที่ชอบใจของเหล่าสตรี และรูปสตรีย่อมเป็นที่ชอบใจของเหล่าบุรุษ. ภิกษุตกแต่งรูปนั้นแล้วก็นำเข้าไป คือทำเพียงให้เขาเห็นเท่านั้น, แต่ไม่ยอมให้แม้เพื่อจะดูนานๆ. คนนอกนี้ย่อมซูบผอมตายเพราะไม่ได้ (รูปนั้น) ภิกษุเป็นปาราชิก, ถ้าเขาตกใจตาย ย่อมผิดสังเกต.
               แต่ถ้าภิกษุไม่พิจารณาเลยว่า เขาจักตกใจตายหรือจักซูบผอมตาย เพราะไม่ได้ นำเข้าไปด้วยคิดอย่างเดียวว่า เขาเห็นแล้วจักตาย ดังนี้, เมื่อเขาตกใจตาย หรือซูบผอมตาย เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               แม้กิจทั้งหลายมีการนำเสียงเข้าไปเป็นต้น ก็พึงทราบโดยอุบายนี้ นั่นแล.
               จริงอยู่ ในเสียงเป็นต้นนี้ (มีความแปลกกัน) อย่างเดียว คือ (อารมณ์ภายนอก) มีเสียงของอมนุษย์เป็นต้น พึงทราบว่า เป็นเหตุให้เกิดความสะดุ้ง เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ, เสียงสตรีและเสียงของนักฟ้อนที่ไพเราะเป็นต้น พึงทราบว่า ทำความชื่นจิตให้ เป็นเสียงที่ชอบใจ, กลิ่นแห่งรากไม้เป็นต้นของต้นไม้ที่มีพิษในป่าหิมพานต์และกลิ่นแห่งซากศพ พึงทราบว่า เป็นกลิ่นที่ไม่ชอบใจ, กลิ่นอันเกิดแต่รากไม้มีกฤษณาและกำยานเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นกลิ่นที่ชอบใจ. รสอันเกิดแต่รากไม้ที่ปฏิกูลเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นรสที่ไม่ชอบใจ, รสอันเกิดแต่รากไม้ที่ไม่ปฏิกูลเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นรสที่ชอบใจ, ความสัมผัสยาพิษและสัมผัสหมามุ้ยใหญ่เป็นต้น พึงทราบว่า เป็นโผฏฐัพพะที่ไม่ชอบใจ, ความสัมผัสผ้าที่ทอในเมืองจีน ขนปีกหงส์และนุ่นสำลีเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นโผฏฐัพพะที่ชอบใจ.

               [การนำธรรมารมณ์เข้าไป]               
               ในการนำธรรมเข้าไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เทศนาธรรม พึงทราบว่าธรรม. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมารมณ์แล อันต่างกันด้วยความวิบัติในนรก และสมบัติในสวรรค์ ด้วยอำนาจแห่งเทศนา (ก็พึงทราบว่า ธรรม).
               บทว่า เนรยิกสฺส ได้แก่ กล่าวกถาพรรณนาเรื่องนรกมีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง และเครื่องกรรมกรณ์เป็นต้นแก่สัตว์ผู้เสียสังวร ทำบาปไว้ซึ่งควรเกิดในนรก. ถ้าเขาฟังนิรยกถานั้นตกใจตาย เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้กล่าว. แต่ถ้าแม้เขาฟังแล้ว ตายไปตามธรรมดาของตน ไม่เป็นอาบัติ.
               ภิกษุแสดงนิรยกถาด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังนิรยกถานี้แล้ว จักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้ จักงด จักเว้น. บุคคลนอกนี้ฟังนิรยกถานั้นตกใจตาย ไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า สคฺคกถํ ได้แก่ กล่าวกถาพรรณนาสมบัติแห่งของมีวิญญาณมีเทพนาฏกาเป็นต้น และแห่งของไม่มีวิญญาณมีสวนนันทวันเป็นต้น. บุคคลนอกนี้ได้ฟังสัคคกถานั้นน้อมใจไปในสวรรค์ต้องการได้สมบัตินั้นเร็วๆ ยังทุกข์ให้เกิดขึ้น ด้วยใช้ศัสตราประหาร กินยาพิษ อดอาหาร และกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น, เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้กล่าว, เขาตายไป เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้กล่าว. แต่ถ้าแม้เขาฟังแล้ว ตั้งอยู่ตลอดอายุแล้วจึงตายตามธรรมดาของตน ไม่เป็นอาบัติ.
               ภิกษุกล่าวด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังสัคคกถานี้แล้วจักทำบุญ. บุคคลนอกนี้ฟังสัคคกถานั้นแล้ว กลั้นใจทำกาลกิริยา ไม่เป็นอาบัติ (แก่ผู้กล่าว).
               ในการบอก มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า ปุฏฺโฐ ภณติ มีความว่า ภิกษุถูกเขาถามอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ บุคคลตายอย่างไร จึงจะได้ทรัพย์หรือจะเกิดขึ้นในสวรรค์? ดังนี้ จึงบอก.
               ในการพร่ำสอน มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อปฏฺโฐ ได้แก่ ไม่ถูกเขาถามอย่างนั้น บอกเสียเองนั่นแล.
               สังเกตกรรมและนิมิตกรรม พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้ว ในอทินนาทานกถา.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา มาติกาวิภังค์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 1 / 203อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=7673&Z=7851
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=11370
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=11370
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :