ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๕.

               [พวกเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา]               
               เดียรถีย์ทั้งหลาย เสื่อมลาภและสักการะแล้ว ชั้นที่สุดไม่ได้ แม้สักว่าของกินและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อปรารถนาลาภและสักการะ จึงปลอมบวชในพระพุทธศาสนา แล้วแสดงทิฏฐิ (ลัทธิ) ของตนๆ ว่า นี้ธรรม นี้วินัย. พวกเดียรถีย์เหล่านั้น แม้เมื่อไม่ได้บวชก็ปลงผมเสียเอง แล้วนุ่งผ้ากาสายะ เที่ยวไปในวิหารทั้งหลาย เข้าไป (ร่วม) อุโบสถบ้าง ปวารณาบ้าง สังฆกรรมบ้าง คณะกรรมบ้าง.
               ภิกษุทั้งหลายไม่ยอมทำอุโบสถ ร่วมกับพวกภิกษุเดียรถีย์เหล่านั้น.
               คราวนั้น ท่านพระโมคคลีบุตรติสสเถระดำริว่า บัดนี้ อธิกรณ์เกิดขึ้นแล้ว ไม่นานเลย อธิกรณ์นั้นจักหยาบช้าขึ้น ก็เราอยู่ในท่ามกลางแห่งภิกษุเดียรถีย์เหล่านั้น จะไม่อาจระงับอธิกรณ์นั้นได้ ดังนี้ จึงมอบการคณะถวายท่านพระมหินทเถระ ประสงค์จะพักอยู่โดยผาสุกวิหารด้วยตนเอง แล้วได้ไปยังอโธคังคบรรพต.

               [พวกเดียรถีย์แสดงลัทธินอกพุทธศาสนา]               
               พวกเดียรถีย์แม้เหล่านั้นแล ถึงถูกภิกษุสงฆ์ปรามปราบโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสนา ก็ไม่ยอมตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติอันคล้อยตามพระธรรมวินัย ทั้งได้ให้เสนียดจัญไร มลทินและเสี้ยนหนาม ตั้งขึ้นแก่พระศาสนา มิใช่อย่างเดียว บางพวกบำเรอไฟ บางพวกย่างตนให้ร้อนอยู่ในเครื่องอบตน ๕ อย่าง บางพวกประพฤติหมุนไปตามพระอาทิตย์ บางพวกก็ยืนยันพูดว่า พวกเราจักทำลายพระธรรมวินัยของพวกท่าน ดังนี้.
               คราวนั้น ภิกษุสงฆ์ไม่ได้ทำอุโบสถหรือปวารณาร่วมกับเดียรถีย์เหล่านั้นเลย. ในวัดอโศการาม อุโบสถขาดไปถึง ๗ ปี. พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นแม้แด่พระราชาแล้ว.

               [พระเจ้าอโศกทรงใช้อำมาตย์ให้ระงับอธิกรณ์]               
               พระราชาทรงบังคับอำมาตย์นายหนึ่งไปว่า เธอไปยังพระวิหาร ระงับอธิกรณ์แล้ว นิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้ทำอุโบสถเถิด ดังนี้. อำมาตย์ไม่อาจจะทูลย้อนถามพระราชาได้ จึงเข้าไปหาอำมาตย์พวกอื่นแล้วกล่าวว่า พระราชาทรงส่งข้าพเจ้าไปว่า เธอจงไปยังพระวิหาร ระงับอธิกรณ์แล้ว ทำอุโบสถเถิด ดังนี้ อธิกรณ์จะระงับได้อย่างไรหนอ?
               อำมาตย์เหล่านั้นพูดว่า พวกข้าพเจ้ากำหนดหมายได้ด้วยอุบายอย่างนี้ว่า พวกราชบุรุษ เมื่อจะปราบปัจจันตชนบทให้ราบคาบ ก็ต้องฆ่าพวกโจร ชื่อฉันใด ภิกษุเหล่าใดไม่ทำอุโบสถ พระราชาจักมีพระราชประสงค์ให้ฆ่าภิกษุเหล่านั้นเสีย ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น อำมาตย์นายนั้นไปยังพระวิหาร นัดให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้วเรียนชี้แจงว่า พระราชาทรงสั่งข้าพเจ้ามาว่า เธอจงนิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้ทำอุโบสถเถิด ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ ขอพวกท่านจงทำอุโบสถกรรมเถิด.
               พวกภิกษุพูดว่า อาตมภาพทั้งหลายจะไม่ทำอุโบสถร่วมกับเหล่าเดียรถีย์. อำมาตย์เริ่มเอาดาบตัดศีรษะ (ของเหล่าภิกษุ) ให้ตกไป ตั้งต้นแต่อาสนะของพระเถระลงไป. ท่านพระติสสเถระได้เห็นอำมาตย์นั้นผู้ปฏิบัติผิดอย่างนั้นแล.

               [ประวัติของพระติสสเถระจะออกบวช]               
               ชื่อว่า พระติสสเถระไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ คือพระภาดาร่วมพระราชมารดาเดียวกันกับพระราชา มีนามว่าติสสกุมาร.
               ได้ยินว่า พระราชาทรงอภิเษกแล้ว ได้ทรงตั้งติสสกุมารนั้นไว้ในตำแหน่งอุปราช. วันหนึ่ง ติสสกุมารนั้นเสด็จไปเที่ยวป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่มฤคฝูงใหญ่ซึ่งเล่นอยู่ด้วยการเล่นตามความคิด (คือตามความใคร่ของตน). ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ติสสกุมารนั้นได้ทรงมีพระรำพึงดังนี้ว่า มฤคเหล่านี้มีหญ้าเป็นอาหาร ยังเล่นกันได้อย่างนี้ก่อน. ส่วนพระสมณะเหล่านี้ฉันโภชนะอันประณีต ในราชตระกูลแล้ว จำวัดอยู่บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม จักเล่นการเล่นที่น่าชอบใจไม่ได้เทียวหรือ. ติสสกุมารนั้นเสด็จกลับมาจากป่านั้นแล้ว ได้กราบทูลความรำพึงของตนนี้แด่พระราชา.
               พระราชาทรงพระดำริว่า พระกุมารระแวงสงสัยในที่มิใช่ฐานะ (มิใช่เหตุ), เอาเถอะเราจักให้เขายินยอมด้วยอุบายอย่างนี้ ในวันหนึ่งทรงทำเป็นเหมือนกริ้วด้วยเหตุการณ์บางอย่าง แล้วทรงขู่ด้วยมรณภัยว่า เธอจงมารับเอาราชสมบัติตลอด ๗ วัน, หลังจากนั้นเราจักฆ่าเธอเสีย ดังนี้ แล้วให้รับรู้คำสั่งนั้น.
               ได้ยินว่า พระกุมารนั้นทรงดำริว่า ในวันที่ ๗ พระราชาจักให้ฆ่าเราเสีย ดังนี้ ไม่สรงสนาน ไม่เสวย ทั้งบรรทมก็ไม่หลับ ตามสมควรแก่พระหฤทัย ได้มีพระสรีระเศร้าหมองเป็นอย่างมาก.
               แต่นั้น พระราชาตรัสถามติสสกุมารนั้นว่า เธอเป็นผู้มีรูปร่างอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร พระกุมารทูลว่า ขอเดชะ เพราะกลัวความตาย.
               พระราชาทรงรับสั่งว่า เฮ้ย อันตัวเธอเองเล็งเห็นความตายที่ข้าพเจ้าคาดโทษไว้แล้ว หมดสงสัยสิ้นคิด ยังจะไม่เล่นหรือ! พวกภิกษุเล็งเห็นความตายเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและหายใจออกอยู่ จักเล่นได้อย่างไร?
               จำเดิมแต่นั้นมา พระกุมารก็ทรงเลื่อมใสในพระศาสนา. ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระกุมารนั้นเสด็จออกไปล่าเนื้อ เที่ยวสัญจรไปในป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโยนกมหาธรรมรักขิตเถระ ผู้นั่งให้พญาช้างตัวใดตัวหนึ่งจับกิ่งสาละพัดอยู่. พระกุมารครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วก็เกิดความปราโมทย์ดำริว่า เมื่อไรหนอแล แม้เราจะพึงบวชเหมือนพระมหาเถระนี้, วันนั้นจะถึงมีหรือหนอแล.
               พระเถระรู้อัธยาศัยของพระกุมารนั้นแล้ว เมื่อพระกุมารนั้นเห็นอยู่นั่นแล ได้เหาะขึ้นไปในอากาศ แล้วได้ยืนอยู่บนพื้นน้ำที่สระโบกขรณี ในวัดอโศการาม ห้อยจีวรและผ้าอุตราสงค์ไว้ที่อากาศ แล้วเริ่มสรงน้ำ. พระกุมารทอดพระเนตรเห็นอานุภาพของพระเถระนั้นแล้วก็ทรงเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ดำริว่า เราจักบวชให้ได้ในวันนี้ทีเดียว แล้วเสด็จกลับ ได้ทูลลาพระราชาว่า ขอเดชะ หม่อมฉันจักบวช.
               พระราชาทรงยับยั้ง (ทรงขอร้อง) เป็นอเนกประการ เมื่อไม่ทรงสามารถเพื่อจะให้พระกุมารนั้นกลับ (พระทัย) ได้ จึงทรงรับสั่งให้ตกแต่งมรรคาที่จะไปสู่วัดอโศการาม ให้พระกุมารแต่งองค์เป็นเพศมหรสพ ให้แวดล้อมด้วยหมู่เสนาซึ่งประดับประดาแล้ว ทรงนำไปยังพระวิหาร.
               ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังว่า ข่าวว่า พระยุพราชจักผนวช ก็พากันตระเตรียมบาตรและจีวรไว้. พระกุมารเสด็จไปยังเรือนเป็นที่บำเพ็ญเพียร แล้วได้ทรงผนวช พร้อมกับบุรุษแสนหนึ่ง ในสำนักของพระมหาธรรมรักขิตเถระนั่นเอง. ก็กุลบุตรทั้งหลายผู้ผนวชตามพระกุมาร จะกำหนดนับไม่ได้. พระกุมารทรงผนวชในเวลาที่พระราชาทรงอภิเษกครองราชย์ได้ ๔ ปี.
               ครั้งนั้น ยังมีพระกุมารองค์อื่น มีพระนามว่าอัคคิพรหม ผู้เป็นพระสวามีของพระนางสังฆมิตตา ซึ่งเป็นพระภาคิไนยของพระราชา. พระนางสังฆมิตตาประสูติพระโอรส ของอัคคิพรหมองค์นั้นเพียงองค์เดียวเท่านั้น.
               อัคคิพรหมแม้องค์นั้นได้สดับข่าวว่า พระยุพราชทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา แล้วทูลขอพระบรมราชานุญาตว่า ขอเดชะ แม้หม่อมฉันก็จักบวช ดังนี้. และอัคคิพรหมองค์นั้นได้รับพระบรมราชานุญาตว่า จงบวชเถิด พ่อ ก็ได้บวชในวันนั้นนั่นเอง. พระเถระผู้อันขัตติยชนซึ่งมีสมบัติอย่างโอฬารบวชตามอย่างนี้. บัณฑิตพึงทราบว่า พระติสสเถระผู้เป็นพระกนิษฐภาดาของพระราชา.

               [พระติสสเถระนั่งกันไม่ให้อำมาตย์ตัดศีรษะพระ]               
               ท่านติสสเถระนั้น ครั้นเห็นอำมาตย์นายนั้นผู้ปฏิบัติผิดอย่างนั้นแล้ว จึงดำริว่า พระราชาคงจะไม่ทรงส่งมาเพื่อให้ฆ่าพระเถระทั้งหลาย เรื่องนี้จักเป็นเรื่องที่อำมาตย์คนนี้เข้าใจผิดแน่นอนทีเดียว ดังนี้ จึงได้ไปนั่งบนอาสนะใกล้อำมาตย์นั้นเสียเอง.
               อำมาตย์นายนั้นจำพระเถระนั้นได้ ก็ไม่อาจฟันศัสตราลงได้ จึงได้กลับไปกราบทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตัดศีรษะของพวกภิกษุชื่อมีประมาณเท่านี้ ผู้ไม่ปรารถนาทำอุโบสถให้ตกไป ขณะนั้น ก็มาถึงลำดับแห่งท่านติสสเถระผู้เป็นเจ้าเข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะทำอย่างไร?
               พระราชาพอได้ทรงสดับเท่านั้น ก็ตรัสว่า เฮ้ย ก็ข้าได้ส่งเธอให้ไปฆ่าภิกษุทั้งหลายหรือ? ทันใดนั่นเอง ก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นในพระวรกาย จึงเสด็จไปยังพระวิหาร ตรัสถามพวกภิกษุผู้เป็นพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อำมาตย์คนนี้โยมไม่ได้สั่งเลย ได้ทำกรรมอย่างนี้แล้ว บาปนี้จะพึงมีแก่ใครหนอแล?

               [พวกภิกษุถวายความเห็นแด่พระราชาเป็น ๒ นัย]               
               พระเถระบางพวกถวายพระพรว่า อำมาตย์นายนี้ได้ทำตามพระดำรัสสั่งของมหาบพิตรแล้ว, บาปนั่นจึงมีแก่มหาบพิตรด้วย. พระเถระบางพวกถวายพระพรว่า บาปนั่น ย่อมมีแด่มหาบพิตรและอำมาตย์แม้ทั้ง ๒ ด้วย.
               พระเถระบางพวกถวายพระพรอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพร ก็มหาบพิตรทรงมีความคิด หรือว่า อำมาตย์นายนี้จงไปฆ่าภิกษุทั้งหลาย.
               พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ไม่มี, โยมมีความประสงค์เป็นกุศล จึงได้ส่งเขาไปด้วยสั่งว่า ขอภิกษุสงฆ์จงสามัคคีกันทำอุโบสถเถิด.
               พระเถระทั้งหลายถวายพระพรว่า ถ้าว่า มหาบพิตรมีพระราชประสงค์เป็นกุศลไซร้, บาปก็ไม่มีแด่มหาบพิตร, บาปนั่นย่อมมีแก่อำมาตย์เท่านั้น.
               พระราชาทรงเกิดมีความสงสัยเป็นสองจิตสองใจจึงรับสั่งถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ จะมีภิกษุบางรูปบ้างไหม? ผู้สามารถเพื่อจะตัดข้อสงสัยนี้ของโยม แล้วยกย่องพระศาสนา.
               ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า มี มหาบพิตร ภิกษุนั้นชื่อพระโมคคลีบุตรติสเถระ, ท่านสามารถที่จะตัดข้อสงสัยนี้ของมหาบพิตร แล้วยกย่องพระศาสนาได้.
               ในวันนั้นเอง พระราชาได้ทรงจัดส่งพระธรรมกถึก ๓ รูป แต่ละรูปมีภิกษุพันหนึ่งเป็นบริวาร, และอำมาตย์ ๔ นาย แต่ละนายมีบุรุษพันหนึ่งเป็นบริวาร ด้วยทรงรับสั่งว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับเอาพระเถระมาเถิด.

               [พระโมคคลีบุตรติสสเถระไม่มาเพราะอาราธนาไม่ถูกเรื่อง]               
               พระธรรมกถึกและอำมาตย์เหล่านั้นไปแล้วได้เรียน (พระเถระ) ว่า พระราชารับสั่งให้หาท่าน ดังนี้. พระเถระไม่ยอมมา. แม้ครั้งที่ ๒ พระราชาก็ได้ทรงจัดส่งพระธรรมกถึก ๘ รูป และอำมาตย์ ๘ นาย ซึ่งมีบริวารคนละพันๆ ไป ด้วยรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงกราบเรียน (พระเถระนั้น) ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระราชารับสั่งให้หา แล้วให้นิมนต์พระเถระมา. พระธรรมกถึกและอำมาตย์เหล่านั้นได้กราบเรียน (พระเถระ) เหมือนอย่างที่ทรงรับสั่งนั้นแล. ถึงแม้ครั้งที่ ๒ พระเถระก็มิได้มา.
               พระราชาตรัสถามพระเถระทั้งหลายว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมได้ส่งทูตไปถึง ๒ ครั้งแล้ว เพราะเหตุไร พระเถระจึงมิได้มา?
               พระเถระทั้งหลายถวายพระพรว่า มหาบพิตร ที่ท่านไม่มานั้น เพราะทูตเหล่านั้นกราบเรียนท่านว่า พระราชาสั่งให้หา, แต่เมื่อทูตเหล่านั้นกราบเรียนท่านอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระศาสนาเสื่อมโทรม, ขอพระคุณเจ้าได้โปรดเป็นสหายพวกข้าพเจ้า เพื่อเชิดชูพระศาสนาเถิด ดังนี้, พระเถระจะพึงมา.
               คราวนั้น พระราชาทรงรับสั่งเหมือนอย่างนั้นแล้ว จึงทรงจัดส่งพระธรรมกถึก ๑๖ รูป และอำมาตย์ ๑๖ นาย ซึ่งมีบริวารคนละพันๆ ไป ได้ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายอีกว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระเถระเป็นคนแก่ หรือยังหนุ่มแน่น?
               ภิกษุ. แก่ มหาบพิตร!
               ราชา. พระเถระนั้นจักขึ้นคานหามหรือวอ เจ้าข้า!
               ภิกษุ. ท่านจักไม่ขึ้น (ทั้ง ๒ อย่าง) มหาบพิตร!
               ราชา. พระเถระพักอยู่ ณ ที่ไหน? เจ้าข้า.
               ภิกษุ. ที่แม่น้ำคงคาตอนเหนือ มหาบพิตร.
               พระราชาทรงรับสั่งว่า ดูก่อนพนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงผูกเรือขนาน แล้วอาราธนาให้พระเถระนั่งบนเรือขนานนั้นนั่นแล จัดการอารักขาที่ฝั่งทั้ง ๒ ด้าน นำพระเถระมาเถิด.
               พวกภิกษุและเหล่าอำมาตย์ไปถึงสำนักของพระเถระแล้ว ได้เรียนให้ทราบตามพระราชสาสน์.
               พระเถระได้สดับ (พระราชสาสน์นั้น) แล้วคิดว่า เพราะเหตุที่เราบวชมาก็ด้วยตั้งใจว่า จักเชิดชูพระศาสนา ตั้งแต่ต้นฉะนั้น กาลนี้นั้นก็มาถึงแก่เราแล้ว จึงได้ถือเอาท่อนหนังลุกขึ้น

               [พระเจ้าอโศกมหาราชทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกล้วน]               
               ครั้งนั้น พระราชาทรงใฝ่พระราชหฤทัยอยู่แล้วว่า พรุ่งนี้ พระเถระจักมาถึงพระนครปาตลีบุตร ดังนี้ ก็ทรงเห็นพระสุบินในส่วนราตรี ได้มีพระสุบินเห็นปานนี้ คือพญาช้างเผือกปลอดมาลูบคลำพระราชา จำเดิมแต่พระเศียร แล้วได้จับพระราชาที่พระหัตถ์ข้างขวา.
               ในวันรุ่งขึ้น พระราชาได้ตรัสถามพวกโหรผู้ทำนายสุบินว่า เราฝันเห็นสุบิน เห็นปานนี้จักมีอะไรแก่เรา? โหรทำนายสุบินคนหนึ่งทูลถวายความเห็นว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า พระสมณะผู้ประเสริฐจักจับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่พระหัตถ์ข้างขวา.
               คราวนั้น พระราชาก็ได้ทรงทราบข่าวว่า พระเถระมาแล้ว ในขณะนั้นนั่นเอง จึงเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วเสด็จลงลุยแม่น้ำท่องขึ้นไปจนถึงพระเถระ ในน้ำมีประมาณเพียงชานุ แล้วได้ถวายพระหัตถ์แก่พระเถระผู้กำลังลงจากเรือ. พระเถระได้จับพระราชาที่พระหัตถ์ข้างขวาแล้ว.

               [ราชบุรุษถือดาบจะตัดศีรษะพระโมคคลีบุตรติสสเถระ]               
               พวกราชบุรุษถือดาบเห็นกิริยานั้นแล้ว ก็ชักดาบออกจากฝัก ด้วยคิดว่า พวกเราจักตัดศีรษะของพระเถระให้ตกไป ดังนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะได้ยินว่า ในราชตระกูลมีจารีตนี้ว่า ผู้ใดจับพระราชาที่พระหัตถ์ ราชบุรุษพึงเอาดาบตัดศีรษะของผู้นั้นให้ตกไป. พระราชาทอดพระเนตรเห็นเงา (ดาบ) เท่านั้น ก็ทรงรับสั่งว่า แม้ครั้งก่อน เราไม่ประสบความสบายใจ เพราะเหตุที่ผิดในภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าทำผิดในพระเถระเลย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงได้จับพระราชาที่พระหัตถ์?
               แก้ว่า เพราะเหตุที่พระเถระนั้นอันพระราชาให้อาราธนามา เพื่อต้องการจะตรัสถามปัญหา ฉะนั้น พระเถระใฝ่ใจอยู่ว่า พระราชาพระองค์นี้เป็นอันเตวาสิกของเรา จึงได้จับ.

               [พระเจ้าอโศกทรงสงสัยท่านพระโมคคลีบุตรติสสเถระ]               
               พระราชาทรงนำพระเถระไปสู่ราชอุทยานของพระองค์ แล้วทรงรับสั่งให้ตั้งการอารักขาล้อมไว้ แต่ภายนอกถึง ๓ ชั้น ส่วนพระองค์เองก็ทรงล้างเท้าพระเถระแล้วทาน้ำมันให้ ประทับนั่งอยู่ในสำนักของพระเถระ แล้วทรงพระดำริว่า พระเถระจะเป็นผู้สามารถไหมหนอ เพื่อตัดความสงสัยของเรา ระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น แล้วยกย่องพระศาสนา ดังนี้ เพื่อต้องการจะทรงทดลองดูจึงเรียนถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมมีความประสงค์ที่จะเห็นปาฏิหาริย์สักอย่างหนึ่ง.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ประสงค์ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ชนิดไหน?
               พระราชา. อยากจะเห็นแผ่นดินไหว เจ้าข้า!
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ประสงค์จะทอดพระเนตรเห็นแผ่นดินไหวทั้งหมด หรือจะทอดพระเนตรเห็นแผ่นดินไหวบางส่วน?
               พระราชา. ก็บรรดา ๒ อย่างนี้ อย่างไหนทำยาก เจ้าข้า.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร เมื่อถาดสำริดเต็มด้วยน้ำ จะทำให้น้ำนั้นไหวทั้งหมด หรือให้ไหวเพียงกึ่งหนึ่ง เป็นของทำได้ยาก.
               พระราชา. ให้ไหวเพียงกึ่งหนึ่ง เจ้าข้า.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร ด้วยประการดังถวายพระพรมาแล้วนั่นแล การให้แผ่นดินไหวบางส่วนทำได้ยาก.
               พระราชา. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น โยมจักดูแผ่นดินไหวบางส่วน (เท่านั้น).
               พระเถระ. ขอถวายพระพร ถ้าเช่นนั้นในระยะแต่ละโยชน์โดยรอบ รถจงจอดทับแดนด้วยล้อข้างหนึ่งด้านทิศบูรพา ม้าจงยืนเหยียบแดนด้วยเท้าทั้งสองด้านทิศทักษิณ บุรุษจงยืนเหยียบแดนด้วยเท้าข้างหนึ่งด้านทิศปัจฉิม ถาดน้ำถาดหนึ่งจงวางทาบส่วนกึ่งกลางด้านทิศอุดร.
               พระราชารับสั่งให้กระทำอย่างนั้นแล้ว.

               [พระโมคคลีบุตรติสสเถระอธิษฐานให้แผ่นดินไหว]               
               พระเถระเข้าจตุตถฌานซึ่งมีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วได้อธิษฐานให้แผ่นดินไหว มีประมาณโยชน์หนึ่ง ด้วยความรำพึงว่า ขอให้พระราชาจงทอดพระเนตรเห็น ดังนี้. ทางทิศบูรพาล้อรถที่หยุดอยู่ภายในเขตแดนนั่นเองไหวแล้ว นอกนี้ไม่ไหว. ทางทิศทักษิณและทิศปัจฉิม เท้าของม้าและบุรุษที่เหยียบอยู่ภายในเขตแดนเท่านั้นไหวแล้ว และตัว (ของม้าและบุรุษ) ก็ไหวเพียงกึ่งหนึ่งๆ ด้วยประการอย่างนี้. ทางทิศอุดร น้ำที่ขังอยู่ภายในเขตแม้แห่งถาดน้ำ ไหวกึ่งส่วนเท่านั้น ที่เหลือไม่มีไหวเลยแล.

               [พระเจ้าอโศกตรัสถามข้อสงสัยในเรื่องบาป]               
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว ก็ตกลงพระทัยว่า บัดนี้ พระเถระจักสามารถเพื่อจะยกย่องพระศาสนาได้ จึงตรัสถามความสงสัยของพระองค์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมได้ส่งอำมาตย์นายหนึ่งไปด้วยสั่งว่า เธอไปยังพระวิหารระงับอธิกรณ์แล้วนิมนต์ให้ภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถเถิด ดังนี้ เขาไปยังพระวิหารแล้ว ได้ปลงภิกษุเสียจากชีวิตจำนวนเท่านี้รูป บาปนั่นจะมีแก่ใคร?
               พระเถระทูลถามว่า ขอถวายพระพร ก็พระองค์มีความคิดหรือว่า อำมาตย์นี้จงไปยังพระวิหารแล้ว ฆ่าภิกษุทั้งหลายเสีย.
               พระราชา. ไม่มี เจ้าข้า.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ไม่มีความคิดเห็นปานนี้ไซร้ บาปไม่มีแด่พระองค์เลย.

               [พระโมคคลีบุตรติสสเถระอ้างพระพุทธพจน์เล่าอดีตนิทาน]               
               ลำดับนั้น พระเถระ (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ๑- ดังนี้. เพื่อแสดงเนื้อความนั้นนั่นแล พระเถระจึงนำติดติรชาดกมา๒- (เป็นอุทาหรณ์) ดังต่อไปนี้.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะ เรียนถามพระดาบสว่า
                                   ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นกเป็นอันมาก
                         เข้าใจว่า ญาติของพวกเราจับอยู่แล้ว จึงพา
                         กันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้าย่อมถูกต้อง
                         กรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาป
                         นั้น ใจของข้าพเจ้า ย่อมสงสัยว่า (บาปนั้น
                         จะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ?)
               พระดาบสตอบว่า ก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านั้นมา เพราะเสียง และเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้ว หรือจงถูกฆ่า.
               นกกระทาเรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ.
               ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่า ถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่.
                                   ถ้าใจของท่าน ไม่ประทุษร้าย (ใน
                         การทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพราน
                         อาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็
                         ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อย
                         ผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์).
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๓๔/หน้า ๔๖๓
๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๗๖-๕๗๗/หน้า ๑๔๐-๑๔๑

               [พระเจ้าอโศกทรงชำระเสี้ยนหนามแห่งพระพุทธศาสนา]               
               พระเถระ ครั้น (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยอย่างนั้นแล้ว พักอยู่ในพระราชอุทยานในพระนครนั้นนั่นแล ตลอด ๗ วัน แล้วให้พระราชาทรงเรียนเอาลัทธิสมัย (แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า). ในวันที่ ๗ พระราชาทรงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมพร้อมกันที่วัดอโศการาม ให้ขึงม่านผ้ากั้นไว้ แล้วประทับนั่งอยู่ภายในม่านผ้า ทรงรับสั่งให้จัดพวกภิกษุ ผู้มีลัทธิเดียวกันให้รวมกันอยู่เป็นพวกๆ แล้วรับสั่งให้นิมนต์หมู่ภิกษุมาทีละหมู่แล้ว ตรัสถามว่า
               กึวาที สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปกติตรัสว่าอย่างไร?
               ลำดับนั้น พวกภิกษุสัสสตวาทีทูลว่า สัสสตวาที มีปกติตรัสว่า เที่ยง.
               พวกภิกษุเอกัจจสัสสติกาทูลว่า เอกัจจสัสสติกวาที มีปกติตรัสว่า บางอย่างเที่ยง.
               พวกภิกษุอันตานันติกาทูลว่า อันตานันติกวาที มีปกติตรัสว่า โลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด.
               พวกภิกษุอมราวิกเขปิกาทูลว่า อมราวิกเขปิกวาที มีปกติตรัส ถ้อยคำซัดส่ายไม่ตายตัว.
               พวกภิกษุอธิจจสมุปปันนิกาทูลว่า อธิจจสมุปปันนิกวาที มีปกติตรัสว่า ตนและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ไม่มีเหตุ.
               พวกภิกษุสัญญิวาทะทูลว่า สัญญิวาที มีปกติตรัสว่า ตนมีสัญญา.
               พวกภิกษุอสัญญีวาทะทูลว่า อสัญญิวาที มีปกติตรัสว่า ตนไม่มีสัญญา.
               พวกภิกษุเนวสัญญินาสัญญิวาทะทูลว่า เนวสัญญินาสัญญิวาที มีปกติตรัสว่า ตนมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.
               พวกภิกษุอุจเฉทวาทะทูลว่า อุจเฉทวาที มีปกติตรัสว่า ขาดสูญ.
               พวกภิกษุทิฏฐธัมมนิพพานวาทะทูลว่า ทิฏฐธัมมนิพพานวาที มีปกติตรัสว่า พระนิพพานมีอยู่ในปัจจุบัน (ภพปัจจุบัน).๑-
____________________________
๑- พวกภิกษุที่แสดงทิฏฐิความเห็นทั้ง ๑๐ อย่างนี้ พึงดูพิสดารในพรหมชาลสูตร
๑- ทีฆนิกาย สีลขันธกถา เล่ม ๙ ตั้งแต่หน้า ๑๘ ถึงหน้า ๖๘ เมื่อจำแนกออก
๑- โดยละเอียดก็ได้แก่ทิฏฐิ ๖๒ นั่นเอง.

               [พระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้สึกพวกที่มิใช่ภิกษุหกหมื่นรูป]               
               พระราชาทรงทราบว่า เหล่านี้ไม่ใช่ภิกษุ, เหล่านี้เป็นอัญเดียรถีย์ ก็เพราะพระองค์ได้ทรงเรียนเอาลัทธิมาก่อนนั่นเอง จึงพระราชทานผ้าขาวแก่เธอเหล่านั้น แล้วให้สึกเสีย. เดียรถีย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดมีจำนวนถึงหกหมื่นคน.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงรับสั่งให้อาราธนาภิกษุเหล่าอื่นมา แล้วตรัสถามว่า
               กึวาที ภนฺเต สมฺมาสมฺพุทฺโธ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปกติตรัสว่าอย่างไร?
               ภิกษุทั้งหลายทูลว่า วิภชฺชวาที มีปกติตรัสจำแนก มหาบพิตร!
               เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนั้นแล้ว พระราชาจึงตรัสถามพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวิภัชชวาที (มีปกติตรัสจำแนกหรือ?)
               พระเถระทูลว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร!
               ลำดับนั้น พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว, ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด ดังนี้ พระราชทานอารักขาไว้แล้ว เสด็จเข้าไปยังพระนคร. สงฆ์พร้อมเพรียงได้ประชุมกันทำอุโบสถแล้ว. ในสันนิบาตนั้นมีภิกษุจำนวนถึงหกสิบแสนรูป.

               [พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเลือกภิกษุพันรูปทำตติยสังคายนา]               
               พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เมื่อจะย่ำยีคำกล่าวติเตียนของชนเหล่าอื่น จึงได้แสดง๑- กถาวัตถุปกรณ์ในสมาคมนั้น. ลำดับนั้น พระเถระได้คัดเลือกบรรดาภิกษุซึ่งนับได้มีจำนวนหกสิบแสนรูป เอาเฉพาะภิกษุหนึ่งพันรูปผู้ทรงปริยัติ คือพระไตรปิฎก แตกฉานในปฏิสัมภิทา ชำนาญในไตรวิชชาเป็นต้น.
               เมื่อจะสังคายนาธรรมและวินัย ได้ชำระมลทินในพระศาสนาทั้งหมด จึงได้ทำตติยสังคีติเหมือนอย่างพระมหากัสสปเถระและพระยสเถระ สังคายนาธรรมและวินัยฉะนั้น. ในที่สุดแห่งสังคีติ ปฐพีก็ได้หวั่นไหว เป็นอเนกประการ.
               สังคีติซึ่งทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จลงนี้
                                   ที่ท่านเรียกในโลกว่า สหัสสิกสังคีติ
                         เพราะภิกษุพันรูปกระทำ และเรียกว่า
                         ตติยสังคีติ เพราะเทียบกับสังคีติ ๒ คราว
                         ที่มีมาก่อนด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- สารัตถทีปนี ๑/๒๒๘ เป็น อภาสิ.
               ตติยสังคีติ จบ               

               เรื่องนำพระวินัยปิฎกสืบต่อกันมา               
               ก็เพื่อจะวิสัชนาปัญหานี้ว่า พระวินัยปิฎก ผู้ใดนำสืบมา ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวคำใดไว้ว่า พระวินัยปิฎกนี้นำสืบกันมาตามลำดับอาจารย์ ตั้งต้นแต่ท่านพระอุบาลีเถระ ในครั้งชมพูทวีปก่อนจนถึงตติยสังคีติ, ในครั้งชมพูทวีปนั้น มีการนำสืบกันมาตามลำดับอาจารย์ ดังนี้ :-
                                   พระเถระ ๕ รูปเหล่านี้คือ พระอุบาลี ๑
                         พระทาสกะ ๑ พระโสณกะ ๑ พระสิคควะ ๑
                         พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ๑ ผู้มีชัยชนะพิเศษ
                         ได้นำพระวินัยมา ในทวีปชื่อชมพูอันมีสิริ
                         ไม่ให้ขาดสาย โดยสืบลำดับแห่งอาจารย์
                         จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓.
               เนื้อความแห่งคำนั้นเป็นอันข้าพเจ้าประกาศแล้ว ด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้.

               [รายนามพระเถระผู้นำพระวินัยปิฎกสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้]               
               อนึ่ง ต่อจากตติยสังคายนา พระเถระทั้งหลายมีพระมหินท์เป็นต้น ได้นำพระวินัยปิฎกมาสู่เกาะนี้ (คือเกาะลังกา), พระเถระทั้งหลายมีพระอริฏฐเถระเป็นต้น เรียนเอาจากพระมหินท์แล้ว ได้นำสืบกันมาชั่วระยะหนึ่ง, ตั้งแต่เวลาที่พระอริฏฐเถระเป็นต้นนั้นนำมา บัณฑิตพึงทราบว่า พระวินัยปิฎกนี้ได้นำกันสืบมาตามลำดับอาจารย์ ซึ่งจัดว่าเป็นลำดับอันเตวาสิกของท่านพระอริฏฐเถระเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง จนถึงทุกวันนี้.                สมดังที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
               ในกาลนั้น พระเถระผู้ประเสริฐมีปัญญามากเหล่านี้ คือพระมหินทะ ๑ พระอิฏฏิยะ ๑ พระอุตติยะ ๑ พระสัมพละ ๑ พระเถระผู้เป็นบัณฑิตชื่อภัททะ ๑ มาในเกาะสิงหลนี้ จากชมพูทวีป, พวกท่านได้สอนพระวินัยปิฎกในเกาะตัมพปัณณิ สอนนิกายทั้ง ๕ และปกรณ์ทั้ง ๗. ภายหลังแต่นั้นมา พระอริฏฐะผู้มีปัญญา ๑ พระติสสทัตตะผู้ฉลาด ๑ พระกาฬสุมนะผู้องอาจ ๑ พระเถระผู้มีชื่อว่าทีฆะ ๑ พระทีฆสุมนะผู้เป็นบัณฑิต ๑, ต่อมาอีกพระกาฬสุมนะ ๑ พระนาคเถระ ๑ พระพุทธรักขิต ๑ พระติสสเถระผู้มีปัญญา ๑ พระเทวเถระผู้ฉลาด ๑, ต่อมาอีก พระสุมนะผู้มีปัญญา และเชี่ยวชาญในพระวินัย ๑ พระจูฬนาคะผู้พหูสูตดุจช้างซับมันที่ปราบยาก ๑ พระเถระชื่อธรรมปาลิตะอันสาธุชนบูชาแล้วในโรหณชนบท ๑ ศิษย์ของพระธรรมปาลิตะนั้น ชื่อเขมะ มีปัญญามาก ทรงจำพระไตรปิฎก รุ่งเรืองอยู่ในเกาะด้วยปัญญา ดุจพระจันทร์เป็นราชาแห่งหมู่ดาวฉะนั้น ๑ พระอุปติสสะผู้มีปัญญา ๑ พระปุสสเทวะผู้เป็นมหากวี ๑, ต่อมาอีกพระสุมนะผู้มีปัญญา ๑ พระเถระชื่อปุปผะ (คือพระมหาปทุมเถระ)๑- ผู้พหูสูต ๑ พระมหาสีวะผู้เป็นมหากวี ฉลาดในพระปิฎกทั้งปวง ๑, ต่อมาอีก พระอุบาลีผู้มีปัญญาเชี่ยวชาญในพระวินัย ๑ พระมหานาคผู้มีปัญญามาก ฉลาดในวงศ์พระสัทธรรม ๑, ต่อมา มีพระอภัยผู้มีปัญญา ฉลาดในปิฎกทั้งปวง ๑ พระติสสเถระผู้มีปัญญา เชี่ยวชาญในพระวินัย ๑ ศิษย์ของพระติสสเถระนั้น ชื่อปุปผะ (คือพระสุมนเถระ)๒- มีปัญญามากเป็นพหูสูต ตามรักษาพระศาสนาอยู่ในชมพูทวีป ๑ พระจูฬาภยะผู้มีปัญญา และเชี่ยวชาญในพระวินัย ๑ พระติสสเถระผู้มีปัญญาฉลาดในวงศ์พระสัทธรรม ๑ พระจูฬเทวะผู้มีปัญญา และเชี่ยวชาญในพระวินัย ๑ พระสีวเถระผู้มีปัญญาฉลาดในพระวินัยทั้งมวล ๑, พระเถระผู้ประเสริฐมีปัญญามากเหล่านี้รู้พระวินัย ฉลาดในมรรคา (คือฉลาดในทางสวรรค์และทางพระนิพพาน) ได้ประกาศพระวินัยปิฎกได้ ในเกาะตัมพปัณณิแล้ว.๓-
____________________________
๑- สารัตถทีปนี ๑/๒๒๙ ปุปฺผนาโมติ มหาปทุมตฺเถโร.
๒- ปุปฺผนาโมติ สุมนตฺเถโร.
๓- วิ. ปริวาร. เล่ม ๘/ข้อ ๓/หน้า ๓-๕

               [เรื่องส่งพระเถระไปประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ]               
               ในการนำพระศาสนาสืบมาตามลำดับอาจารย์นั้น มีอนุบุพพีกถาดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ครั้นทำตติยสังคีตินี้แล้วได้ดำริอย่างนี้ว่า ในอนาคต พระศาสนาจะพึงตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในประเทศไหนหนอแล? ลำดับนั้น เมื่อท่านใคร่ครวญอยู่ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสนาจักตั้งมั่นอยู่ด้วยดี ในปัจจันติมชนบททั้งหลาย. ท่านจึงมอบศาสนกิจนั้นให้เป็นภาระของภิกษุเหล่านั้น แล้วส่งภิกษุเหล่านั้นๆ ไปในรัฐนั้นๆ
               คือ ส่งพระมัชฌันติกเถระไปยังรัฐกัสมีรคันธาระด้วยสั่งว่า ท่านไปยังรัฐนั่นแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในรัฐนั่น. ท่านได้สั่งพระมหาเทวเถระอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วส่งไปยังมหิสกมณฑล ส่งพระรักขิตเถระไปยังวนวาสีชนบท ส่งพระโยนกธรรมรักขิตเถระไปยังอปรันตกชนบท ส่งพระมหาธรรมรักขิตเถระไปยังมหารัฐชนบท ส่งพระมหารักขิตเถระไปยังโลกเป็นที่อยู่ของชนชาวโยนก ส่งพระมัชฌิมเถระไปยังชนบทอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งหิมวันตประเทศ ส่งพระโสณกเถระ ๑ พระอุตตรเถระ ๑ ไปยังสุวรรณภูมิชนบท ส่งพระมหินทเถระผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน กับพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ ไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีป ด้วยสั่งว่า พวกท่านไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว จงประดิษฐานพระศาสนาในเกาะนั่น.
               พระเถระแม้ทั้งหมด เมื่อจะไปยังทิสาภาคนั้นๆ ก็เข้าใจอยู่ว่า ในปัจจันติมชนบททั้งหลายต้องมีคณะปัญจวรรค จึงสมควรทำอุปสมบทกรรมได้ ดังนี้ จึงไปกันพวกละ ๕ รวมกับตน.

               [พระมัชฌันติกเถระไปประกาศพระศาสนาที่กัสมีรคันธารรัฐ]               
               ก็โดยสมัยนั้นแล ในแคว้นกัสมีรคันธาระ ในฤดูข้าวกล้าสุก มีพญานาคชื่ออารวาฬ ได้บันดาลฝน ชื่อว่าฝนลูกเห็บให้ตกลงมา ทำข้าวกล้าให้ลอยไปยังมหาสมุทร. พระมัชฌันติกเถระเหาะขึ้นไปสู่เวหาสจากนครปาตลีบุตร แล้วไปลงเบื้องบนสระอารวาฬที่ป่าหิมพานต์ จงกรมอยู่บ้าง ยืนอยู่บ้าง นั่งอยู่บ้าง สำเร็จการนอนอยู่บ้างบนหลังสระอารวาฬ. นางนาคมาณวิกาทั้งหลายเห็นพระเถระนั้นแล้ว จึงบอกแก่พญานาคอารวาฬว่า ข้าแต่มหาราช มีสมณะโล้นรูปหนึ่ง ทรงแผ่นผ้าที่ตัดขาดด้วยศัสตรา นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ประทุษร้ายน้ำของพวกเรา.

               [พญานาคอารวาฬแผลงฤทธิ์ไล่พระเถระ]               
               พญานาคฟังคำนั้นแล้วก็ถูกความโกรธครอบงำ ได้ออกไปพบพระเถระในทันใดนั้นเอง เมื่ออดกลั้นความลบหลู่ไม่ได้ จึงได้นิรมิตรูปที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอันมาก บนอากาศกลางหาว. (คือบันดาลให้) พายุที่กล้าแข็งพัดฟุ้งไปในที่นั้นๆ. รุกขชาติทั้งหลายก็หักโค่นลง. เหล่ายอดบรรพตก็พังทลาย, เมฆทั้งหลายก็คำรามลั่น, สายฟ้าทั้งหลายก็แลบแปลบๆ. อสนีบาตก็ผ่าลงมา, อุทกวารีก็ไหลนอง เหมือนท้องฟ้าแตกฉะนั้น. เหล่าลูกนาคซึ่งมีรูปอันน่าสะพรึงกลัว ก็ประชุมกัน. ฝ่ายพญานาคเองก็บังหวนควัน ลุกโพลง ปล่อยฝนเครื่องประหารคุกคามพระเถระด้วยคำหยาบคายเป็นต้นว่า สมณะโล้นผู้นี้ ทรงผ้าที่ตัดขาด (ด้วยศัสตรา) คือใคร? ได้บังคับหมู่พลนาคไปว่า พวกท่านจงมาจับฆ่า, ขับไสสมณะรูปนี้ออกไป.

               [พระเถระทรมานพวกนาคให้คลายพยศแล้ว]               
               พระเถระป้องกันกำลังพลนาคที่น่าสะพรึงกลัวทั้งหมด ด้วยกำลังฤทธิ์ของตน พูดกะพญานาคว่า
                                   ดูก่อนพญานาค ถ้าโลกแม้ทั้งเทวโลก
                         จะพึงมายังเราให้ครั่นคร้ามได้ไซร้, ก็ไม่พึงมีผู้
                         สามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เรา
                         ได้, ดูก่อนพญานาค แม้หากท่านจะยกแผ่นดิน
                         ขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งสมุทร ทั้งบรรพต แล้วพึง
                         เหวี่ยงไปเบื้องบนของเราได้ไซร้, ท่านก็ไม่พึง
                         สามารถเพื่อจะบันดาลภัยที่น่ากลัวให้เกิดแก่เรา
                         ได้เลย, ดูก่อนพญาอุรคาธิบดี ท่านเท่านั้นจะ
                         พึงมีความแค้นใจอย่างแน่แท้.
               ครั้นเมื่อพระเถระกล่าวอย่างนั้นแล้ว พญานาคถูกพระเถระกำจัดอานุภาพแล้ว เป็นผู้มีความพยายามไร้ผล มีความทุกข์เศร้าใจซบเซาอยู่. พระเถระชี้แจงให้พญานาคนั้นเข้าใจ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันสมควรแก่ขณะนั้นแล้ว ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และเบญจศีล พร้อมด้วยนาคจำนวนแปดหมื่นสี่พัน.
               ยักษ์ คนธรรพ์และกุมภัณฑ์ แม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ที่อยู่ป่าหิมพานต์ได้ฟังธรรมกถาของพระเถระแล้ว ก็ได้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล.
               แม้ปัญจกยักษ์ พร้อมด้วยนางหาริดียักษิณีและบุตร ๕๐๐ ก็ได้ตั้งอยู่ในปฐมมรรค.

               [พระเถระให้โอวาทพวกยักษ์และรากษสเป็นต้น]               
               ลำดับนั้น ท่านพระมัชฌันติกเถระเรียกพวกนาคและรากษสแม้ทั้งหมดมาแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
                                   จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกท่าน
                         อย่าให้ความโกรธเกิดขึ้นเหมือนในกาลก่อน
                         เลย และอย่าทำลายข้าวกล้า (ให้เสียหาย)
                         เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายใคร่ต่อความสุข จงแผ่
                         เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอมวลมนุษย์
                         จงอยู่เป็นสุขเถิด.
               นาคและยักษ์เป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมดรับโอวาทของพระเถระว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอนแล้ว. ก็ในวันนั้นแล เป็นสมัยทำการบูชาพญานาค. เวลานั้น พญานาคสั่งให้นำรัตนบัลลังก์ของตน มาแต่งตั้งถวายพระเถระ. พระเถระก็นั่งบนบัลลังก์. ฝ่ายพญานาคได้ยืนพัดพระเถระอยู่ในที่ใกล้. ในขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่ในแคว้นกัสมีรคันธาระมาเห็นพระเถระแล้ว ก็พูดกันว่า พระเถระมีฤทธิ์มากแม้กว่าพญานาคของพวกเรา แล้วได้นั่งลงไหว้พระเถระนั่นแล. พระเถระก็แสดงอาสิวิโสปมสูตร๑- แก่มนุษย์เหล่านั้น.
               ในเวลาจบพระสูตร สัตว์ประมาณแปดหมื่นได้บรรลุธรรมาภิสมัย. แสนตระกูลออกบวชแล้ว, ก็แลจำเดิมแต่กาลนั้นมา แคว้นกัสมีรคันธาระก็รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ อบอวลไปด้วยลมพวกฤษีจนตราบเท่าทุกวันนี้.
                                   ในกาลนั้น พระมัชฌันติกะ ผู้ฤษี
                         ไปยังแคว้นกัสมีรคันธาระแล้ว ให้พญานาค
                         ผู้ดุร้าย เลื่อมใสแล้ว ได้ปลดเปลื้องสัตว์
                         เป็นอันมาก ให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.
____________________________
๑- น่าจะเป็นอลคัททูปมสูตร ม. ม. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๔

               [พระมหาเทวเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหิสสกมณฑล]               
               ฝ่ายพระมหาเทวเถระไปยังมหิสสกมณฑลแล้ว ก็แสดงเทวทูตสูตร๑- ในเวลาจบพระสูตร สัตว์ประมาณสี่หมื่นได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว. สัตว์ประมาณสี่หมื่นนั่นแล ออกบวชแล้ว.
                                   พระมหาเทวเถระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไป
                         ยังมหิสสกรัฐแล้ว โอวาทตักเตือน ด้วย
                         เทวทูตทั้งหลาย ได้ปลดเปลื้องสัตว์เป็น
                         อันมาก ให้พ้นจากเครื่องผูกแล้วแล.
____________________________
๑- ม. อุป. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๐๔

               [พระรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่แคว้นวนวาสี]               
               ส่วนพระรักขิตเถระไปยังแคว้นวนวาสีชนบทแล้ว ยืนอยู่บนอากาศ ให้ชนชาววนวาสีชนบทเลื่อมใส ด้วยอนมตัคคปริยายกถา.๑- ก็ในเวลาจบกถาของพระเถระนั้น สัตว์ประมาณหกหมื่นได้บรรลุธรรมแล้ว. ประชาชนประมาณสามหมื่นเจ็ดพันบวชแล้ว. วิหาร ๕๐๐ หลังก็ประดิษฐานขึ้นแล้ว. พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในแคว้นวนวาสีชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
                                   พระรักขิตเถระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปยัง
                         วนวาสีชนบทแล้ว ได้ยืนอยู่บนอากาศ
                         กลางหาว แล้วแสดงอนมตัคคิยกถา (แก่
                         มหาชน) ในวนวาสีชนบทนั้นแล.
____________________________
๑- สํ. นิทาน. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๒๑-๔๖๑

[พระโยนกธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่อปรันตกชนบท]
               ฝ่ายพระโยนกธรรมรักขิตเถระไปยังอปรันตกชนบทแล้ว ให้ชนชาวอปรันตกชนบทเลื่อมใส ด้วยอัคคิขันธูปมสุตตันตกถา๑- แล้วก็ให้สัตว์ประมาณสามหมื่นเจ็ดพันดื่มอมตธรรม. บุรุษออกบรรพชา แต่ขัตติยตระกูลหนึ่งพันคน และสตรีออกบรรพชาหกพันถ้วน. พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในอปรันตกชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
                                   พระโยนกธรรมรักขิตเถระ ย่างเข้า
                         สู่อปรันตกชนบทแล้ว ก็ให้ชนเป็นอันมาก
                         ในอปรันตกชนบทนั่นเลื่อมใสแล้ว ด้วย
                         อัคคิขันธูปมสูตรแล.
____________________________
๑- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๙

               [พระมหาธรรมรักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่มหารัฐ]               
               ส่วนพระมหาธรรมรักขิตเถระไปยังมหารัฐชนบทแล้ว ให้ชนชาวมหารัฐชนบทเลื่อมใส ด้วยมหานารทกัสสปชาดกกถา๑- แล้ว ก็ให้สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พันตั้งอยู่ในมรรคและผล. ประชาชนจำนวนหนึ่งหมื่นสามพันคนบวชแล้ว. พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในมหารัฐชนบทนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
                                   พระมหาธรรมรักขิตเถระ ผู้ฤษีนั้น
                         ไปยังมหารัฐชนบทแล้ว ก็แสดงชาดก๑-
                         ให้มหาชนเลื่อมใสแล้วแล.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๘๓๔-๘๙๒

               [พระมหารักขิตเถระไปประกาศพระศาสนาที่รัฐโยนก]               
               ฝ่ายพระมหารักขิตเถระไปยังรัฐโยนกแล้ว ให้ชนชาวโลกโยนกเลื่อมใส ด้วยกาฬการามสุตตันตกถาแล้ว ได้ให้เครื่องอลังการคือมรรคและผลแก่สัตว์ประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพัน ก็ประชาชนประมาณหนึ่งหมื่นบวชแล้วในสำนักของพระเถระนั้น. แม้พระเถระนั้นก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในรัฐโยนกนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
                                   ในกาลนั้น พระมหารักขิตเถระผู้ฤษีนั้น
                         ไปยังรัฐโยนกแล้ว ก็ให้ชนชาวโยนกเหล่านั้น
                         เลื่อมใส ด้วยกาฬการามสูตรแล.

               [พระมัชฌิมเถระไปประกาศพระศาสนาที่หิมวันตประเทศ]               
               ส่วนพระมัชฌิมเถระกับพระกัสสปโคตตรเถระ ๑ พระอฬกเทวเถระ ๑ พระทุนทุภิสสรเถระ ๑ พระสหัสสเทวเถระ ๑ ไปยังชนบทเป็นส่วนหิมวันตประเทศแล้ว ให้ชาวประเทศนั้นเลื่อมใส ด้วยธัมมจักกัปปวัตตนสุตตันตกถา๑- แล้ว ให้สัตว์ประมาณแปดสิบโกฏิได้รัตนะคือมรรคและผลแล้ว.
               ก็พระเถระแม้ทั้ง ๕ รูปนั้นได้ยังรัฐทั้ง ๕ ให้เลื่อมใสแล้ว. ประชาชนที่บวชในสำนักของพระเถระแต่ระรูป มีประมาณแสนหนึ่ง. พระเถระทั้ง ๕ รูปเหล่านั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในหิมวันตประเทศนั้นแล้วด้วยประการฉะนี้.
                                   พระมัชฌิมเถระไปยังหิมวันตประเทศ
                         แล้วประกาศอยู่ ซึ่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑-
                         ให้ยักษ์และเสนายักษ์เลื่อมใสแล้วแล.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๓-๑๖

               [พระโสณกะกับพระอุตตระไปประกาศพระศาสนาที่สุวรรณภูมิ]               
               ฝ่ายพระโสณกเถระกับพระอุตตรเถระได้ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ. ก็โดยสมัยนั้นที่แคว้นสุวรรณภูมินั้น มีนางรากษส๑- ตนหนึ่งขึ้นมาจากสมุทร เคี้ยวกินพวกทารกที่เกิดในราชตระกูล. ในวันนั้นเอง มีเด็กคนหนึ่ง เกิดในราชตระกูล. มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระเถระแล้ว สำคัญอยู่ว่า ผู้นี้จักเป็นสหายของพวกรากษส จึงพากันถือเอาอาวุธไปประสงค์จะประหารพระเถระ.
               พระเถระพูดว่า พวกท่านถืออาวุธมาทำไมกัน?
               มนุษย์เหล่านั้นพูดว่า พวกรากษสย่อมเคี้ยวกินพวกเด็กที่เกิดแล้วๆ ในราชตระกูล, พวกท่านเป็นสหายของรากษสเหล่านั้น.
               พระเถระพูดว่า พวกข้าพเจ้าหาได้เป็นสหายของรากษสไม่, พวกข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นสมณะ งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จากความประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมา เป็นผู้ฉันหนเดียว มีศีล ประพฤติพรหมจรรย์มีกัลยาณธรรม.
____________________________
๑- รากษส ยักษ์, ผีเสื้อน้ำ, ปีศาล, เวตาลหรือค้างคาว เป็นชื่อของพวก
๑- อสูรอย่างเลว มีนิสัยดุร้าย ชอบเที่ยวตามป่าทำลายพิธีและกินคน สูบโลหิต
๑- ของสัตว์เป็นอาหาร, สถานที่อยู่ของพวกนี้อยู่ในทะเลหรือสระใหญ่.

               [พระเถระทรมานพวกรากษสให้หนีไปแล้วป้องกันเกาะไว้]               
               ก็ในขณะนั้นเอง นางรากษสตนหนึ่งพร้อมด้วยบริวาร ขึ้นมาจากสมุทรด้วยคิดว่า เด็กเกิดในราชตระกูล, พวกเราจักเคี้ยวกินเด็กนั้น. พวกมนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้ว ก็กลัวร้องเสียงดังว่า นางรากษสนี้กำลังมา เจ้าข้า!
               พระเถระนิรมิตอัตภาพมากหลายกว่าพวกรากษสเป็นสองเท่า ปิดล้อมข้างทั้งสองด้วยอัตภาพเหล่านั้น กั้นนางรากษสนั้น พร้อมทั้งบริวารไว้ตรงกลาง. นางรากษสตนนั้นพร้อมทั้งบริษัท ได้คิดดังนี้ว่า สถานที่นี้จักเป็นของอันรากษสเหล่านี้ได้แล้วแน่นอน, ส่วนพวกเราก็จักเป็นภักษาของรากษสเหล่านี้. พวกราษสทั้งหมดได้รีบหนีไปแล้ว.
               ฝ่ายพระเถระขับไล่รากษสเหล่านั้นให้หนีไปแล้ว จนมองไม่เห็น จึงได้ตั้งอารักขาไว้โดยรอบเกาะ.๑-
               อนึ่ง ท่านให้หมู่มหาชน ซึ่งประชุมพร้อมกันอยู่ในสมัยนั้นเลื่อมใส ด้วยพรหมชาลสุตตันตกถา๒- ทั้งให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีลแล้ว. ก็ในสันนิบาตนี้ ประชาชนประมาณหกหมื่นได้บรรลุธรรมแล้ว. พวกเด็กในตระกูลประมาณสามพันห้าร้อย บวชแล้ว. กุลธิดาประมาณหนึ่งพันห้าร้อยนาง ก็บวชแล้ว.
               พระเถระนั้นได้ประดิษฐานพระศาสนาให้ดำรงมั่นอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมินั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               จำเดิมแต่นั้นมา ชนชาวสุวรรณภูมิก็ได้ตั้งชื่อพวกเด็กที่เกิดในราชตระกูลว่า โสณุตตระ (โสณุดร) สืบมา.
                                   พระโสณะและพระอุตตระ ผู้มีฤทธิ์มาก
                         ไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ แล้วขับไล่ปีศาจทั้งหลาย
                         ให้หนีไป ได้แสดงพรหมชาลสูตร๒- แล้วแล.
____________________________
๑- นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า ประเทศไทยของเรานี้อยู่
๑- ในแหลมทอง คือ แคว้น สุวรรณภูมิ ได้รับพระพุทธศาสนาในคราวที่พระ
๑- โสณกเถระและพระอุตตรเถระถูกส่งให้มาประกาศพระศาสนาในภาคนี้ แต่ถ้า
๑- จะสันนิษฐานอีกแง่หนึ่งแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะใจความในเรื่องนี้บ่งชัด
๑- อยู่แล้วว่า สถานที่ท่านทั้งสองไปประกาศนั้นเป็นเกาะไม่ใช่เป็นแผ่นดิน
๑- เชื่อมติดต่อกัน และท่านก็ได้ทำการป้องกันเกาะไว้โดยรอบ มิให้พวกผีเสื้อ
๑- น้ำมารบกวนประชาชนได้, อนึ่ง ถ้าแหลมทองนี้รวมทั้งประเทศพม่า ญวน
๑- ลาว เขมร และไทย อย่างที่พวกนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์เข้าใจแล้ว
๑- ก็ยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ท่านจะป้องกันได้อย่างไร? ขอได้
๑- โปรดพิจารณาดูเถิด.
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :