ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๕.

               [อธิบายคัมภีรภาพ ๔ อย่าง]               
               บรรดาคัมภีรภาพทั้ง ๔ นั้น พระบาลี ชื่อว่าธรรม. เนื้อความแห่งพระบาลีนั้นนั่นแล ชื่อว่าอรรถ. การแสดงพระบาลีนั้นที่กำหนดไว้ด้วยใจนั้นชื่อว่าเทศนา. การหยั่งรู้พระบาลีและอรรถแห่งพระบาลีตามเป็นจริง ชื่อว่าปฏิเวธ.
               ก็เพราะในปิฎกทั้ง ๓ นี้ ธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธเหล่านี้ อันบุคคลผู้มีปัญญาทรามทั้งหลายหยั่งลงได้ยากและมีที่ตั้งอาศัยที่พวกเขาไม่พึงได้ ดุจมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้นหยั่งลงได้ยากฉะนั้น, เพราะฉะนั้น จึงจัดว่าเป็นคุณลึกซึ้ง. ก็แลบัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพทั้ง ๔ ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ แต่ละปิฎก ด้วยประการฉะนี้.

               [อธิบายคัมภีรภาพอีกนัยหนึ่ง]               
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุ ชื่อว่าธรรม, สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้พระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความรู้ในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา. ผลแห่งเหตุ ชื่อว่าอรรถ สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความรู้ในผลแห่งเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา.๑- บัญญัติ อธิบายว่า การสนทนาธรรมตามธรรม ชื่อว่าเทศนา. การตรัสรู้ชื่อว่าปฏิเวธ.
               ก็ปฏิเวธนั้นเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ คือความรู้รวมลงในธรรมตามสมควรแก่อรรถ ในอรรถตามสมควรแก่ธรรม ในบัญญัติตามสมควรแก่ทางแห่งบัญญัติ โดยวิสัยและโดยความไม่งมงาย.๒-
               บัดนี้ ควรทราบคัมภีรภาพทั้ง ๔ ประการในปิฎกทั้ง ๓ นี้แต่ละปิฎก เพราะเหตุที่ธรรมชาติหรืออรรถชาติใดๆ ก็ดี อรรถที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงให้ทราบ ย่อมเป็นอรรถมีหน้าเฉพาะต่อญาณของนักศึกษาทั้งหลายด้วยประการใดๆ เทศนาอันส่องอรรถนั้นให้กระจ่างด้วยประการนั้นๆ นี้ใดก็ดี ปฏิเวธคือความหยั่งรู้ไม่วิปริตในธรรม อรรถและเทศนานี้ใดก็ดี ในปิฎกเหล่านี้ ธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธทั้งหมดนี้ อันบุคคลผู้มีปัญญาทรามทั้งหลาย มิใช่ผู้มีกุศลสมภารได้ก่อสร้างไว้ พึงหยั่งถึงได้ยากและมีที่พึ่งอาศัยไม่ได้ ดุจมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้นหยั่งถึงได้ยากฉะนั้น.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๗๙
๒- สารตฺถทีปนี. ๑/๑๒๒. อธิบายว่า ในความ
๒- ตรัสรู้ เป็นโลกิยะ และโลกุตระนั้น ความหยั่งรู้เป็นโลกิยะ มีธรรมมีอวิชชา
๒- เป็นต้นเป็นอารมณ์ มีสังขารมีอรรถเป็นต้นเป็นอารมณ์ มีการให้เข้าใจธรรม
๒- และอรรถทั้งสองนั้นเป็นอารมณ์ ชื่อว่าความรู้รวมลงในธรรมเป็นต้น ตาม
๒- สมควรแก่อรรถเป็นต้นโดยวิสัย. ส่วนความตรัสรู้เป็นโลกุตระนั้นมีนิพพาน
๒- เป็นอารมณ์ สัมปยุตด้วยมรรคมีการกำจัดความงมงายในธรรม อรรถและ
๒- บัญญัติตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าความรู้รวมลงในธรรมเป็นต้นตามสมควรแก่
๒- อรรถเป็นต้น โดยความไม่งมงาย.

               ก็พระคาถานี้ว่า
                                   บัณฑิตพึงแสดงความต่างแห่งเทศนา
                         ศาสนา กถา และสิกขา ปหานะ คัมภีรภาพ
                         ในปิฎกเหล่านั้นตามสมควร ดังนี้.
               เป็นอันข้าพเจ้าขยายความแล้ว ด้วยคำเพียงเท่านี้.
               ส่วนในพระคาถานี้ว่า
                                   ภิกษุย่อมถึงความต่างแห่งปริยัติก็ดี
                         สมบัติและวิบัติก็ดี อันใด ในปิฎกใดมีวินัย
                         ปิฎกเป็นต้น โดยประการใด บัณฑิตพึง
                         ประกาศความต่างแห่งปริยัติเป็นต้น แม้นั้น
                         ทั้งหมด โดยประการนั้น ดังนี้.
               บัณฑิตพึงเห็นความต่างแห่งปริยัติ ๓ อย่าง ใน ๓ ปิฎกดังนี้ :-

               [ปริยัติ ๓ อย่าง]               
               จริงอยู่ ปริยัติ ๓ คือ อลคัททูปมาปริยัติ ๑ นิสสรณัตถปริยัติ ๑ ภัณฑาคาริยปริยัติ ๑.#-
____________________________
#- วินยฏฺฐกถา หน้า ๒๔ เป็น ภัณฑาคาริกปริยัติ.

               ในปริยัติ ๓ อย่างนั้น ปริยัติใด อันบุคคลเรียนไม่ดี คือเรียนเพราะเหตุมีการโต้แย้งเป็นต้น, ปริยัตินี้ ชื่อว่าปริยัติเปรียบด้วยงูพิษ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เที่ยวเสาะแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือหรือที่แขน หรือที่อวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย ซึ่งมีการกัดนั้นเป็นเหตุ
               ข้อนั้นเพราะอะไรเป็นเหตุ
               ภิกษุทั้งหลาย เพราะงูพิษเขาจับไม่ดี แม้ฉันใด
               ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ พวกเขาครั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่พิจารณาอรรถแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรต่อการเพ่งพินิจแก่พวกเขา ผู้ไม่พิจารณาอรรถด้วยปัญญา พวกเขาเรียนธรรมมีการโต้แย้งเป็นอานิสงส์ และมีหลักการบ่นเพ้อว่าอย่างนี้เป็นอานิสงส์ และย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมที่พวกกุลบุตรต้องประสงค์เล่าเรียน ธรรมเหล่านั้นที่เขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่โมฆบุรุษเหล่านั้น
               ข้อนั้นเพราะอะไรเป็นเหตุ?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเพราะธรรมทั้งหลายอันโมฆบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดี.๑-
               อนึ่ง ปริยัติอันบุคคลเรียนดีแล้ว คือจำนงอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นนั่นแล เรียนแล้ว ไม่เรียนเพราะเหตุมีความโต้แย้งเป็นต้น, ปริยัตินี้ ชื่อว่าปริยัติมีประโยชน์ที่จะออกจากวัฏฏะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสไว้ว่า
               ธรรมเหล่านั้นอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนานแก่กุลบุตรเหล่านั้น
               ข้อนั้นเพราะอะไรเป็นเหตุ?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเพราะธรรมทั้งหลายอันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนดีแล้ว ดังนี้.๑-
               ส่วนพระขีณาสพผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว มีกิเลสอันละแล้ว มีมรรคอันอบรมแล้ว มีธรรมอันไม่กำเริบแทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันกระทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใด เพื่อต้องการแก่อันดำรงซึ่งประเพณี เพื่อต้องการแก่อันตามรักษาซึ่งวงศ์, ปริยัตินี้ ชื่อว่าปริยัติของท่านผู้ประดุจขุนคลัง.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๘-๒๗๙/หน้า ๒๖๘-๒๖๙

               [ภิกษุผู้ปฏิบัติดีใน ๓ ปิฎกได้ผลดีต่างกัน]               
               อนึ่ง ภิกษุผู้ปฏิบัติดีในพระวินัย อาศัยสีลสมบัติ ย่อมได้บรรลุวิชชา ๓ ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทวิชชา ๓ เหล่านั้นนั่นแลไว้ในพระวินัยนั้น. ผู้ปฏิบัติดีในพระสูตร อาศัยสมาธิสมบัติ ย่อมได้บรรลุอภิญญา ๖ ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทอภิญญา ๖ เหล่านั้นไว้ในพระสูตรนั้น. ผู้ปฏิบัติดีในพระอภิธรรมอาศัยปัญญาสมบัติ ย่อมได้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ก็เพราะตรัสจำแนกประเภทปฏิสัมภิทา ๔ นั้นไว้ในพระอภิธรรมนั้นนั่นเอง. ผู้ปฏิบัติดีในปิฎกเหล่านี้ย่อมบรรลุสมบัติต่างกัน คือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา ๔ นี้ตามลำดับด้วยประการฉะนี้.

               [ผู้ปฏิบัติไม่ดีใน ๓ ปิฎกได้ผลเสียต่างกัน]               
               ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในพระวินัย ย่อมมีความสำคัญว่าหาโทษมิได้ ในผัสสะทั้งหลายมีสัมผัสซึ่งรูปเป็นอุปาทินกะเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามแล้ว โดยความเป็นอาการเสมอกับด้วยสัมผัสซึ่งวัตถุมีเครื่องลาดและผ้าห่มเป็นต้น ซึ่งมีสัมผัสเป็นสุข ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว.
               แม้ข้อนี้ต้องด้วยคำที่พระอริฏฐะกล่าวว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงซึ่งธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการที่ว่าเป็นธรรมอันทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถเพื่อกระทำอันตรายแก่บุคคลผู้เสพได้๑- ดังนี้.
               ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ทุศีล เพราะความปฏิบัติไม่ดีนั้น.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในพระสูตร ไม่รู้อยู่ซึ่งอธิบายในพระบาลีมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ดังนี้ ย่อมถือเอาผิดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสว่า บุคคลมีธรรมอันตนถือผิดแล้ว ย่อมกล่าวตู่เราทั้งหลายด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมได้ประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย๒- ดังนี้.
               ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิผิด เพราะการถือนั้น.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในพระอภิธรรม แล่นเกินไปซึ่งการวิจารณ์ธรรม ย่อมคิดแม้ซึ่งเรื่องที่ไม่ควรคิด ย่อมถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต เพราะคิดซึ่งเรื่องที่ไม่ควรคิดนั้น.
               ข้อนี้ต้องด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า๓-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคิดอยู่ซึ่งเรื่องที่ไม่คิดเหล่าใด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า แห่งความลำบากใจ เรื่องที่ไม่ควรคิดเหล่านี้ ๔ ประการอันบุคคลไม่ควรคิด ดังนี้.
               ภิกษุผู้ปฏิบัติไม่ดีในปิฎก ๓ เหล่านี้ ย่อมถึงความวิบัติต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล ความเป็นผู้มีทิฏฐิผิดและความฟุ้งซ่านแห่งจิตนี้ตามลำดับ ด้วยประการฉะนี้.
               ถึงพระคาถาแม้นี้ว่า
                                   ภิกษุย่อมถึงซึ่งความต่างแห่งปริยัติก็ดี
                         สมบัติและวิบัติก็ดี อันใด ในปิฎกใดมีวินัยปิฎก
                         เป็นต้น โดยประการใด บัณฑิตพึงประกาศความ
                         ต่างแห่งปริยัติเป็นต้น แม้นั้นทั้งหมดโดยประการ
                         นั้น ดังนี้.
               เป็นอันข้าพเจ้าขยายความแล้วด้วยคำเพียงเท่านี้.
               บัณฑิตครั้นทราบปิฎกโดยประการต่างๆ อย่างนั้นแล้ว ก็ควรทราบพระพุทธพจน์นั้นว่า มี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปิฎกเหล่านั้น.
____________________________
๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๒/ข้อ ๖๖๓/หน้า ๔๓๔
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๗/หน้า ๒๖๖
๓- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๗๗/หน้า ๑๐๔

               [พระพุทธพจน์มี ๕ นิกาย]               
               พระพุทธพจน์มี ๕ ด้วยอำนาจแห่งนิกาย อย่างไร?
               จริงอยู่ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดนั่นแล ย่อมมี ๕ ประเภท คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย (และ) ขุททกนิกาย.

               [ทีฆนิกาย ๓๔ สูตร]               
               บรรดานิกายทั้ง ๕ นั้น ทีฆนิกายเป็นไฉน?
               พระสูตร ๓๔ สูตรมีพรหมชาลสูตรเป็นต้น สงเคราะห์ (รวบรวม) เป็น ๓ วรรค ชื่อทีฆนิกาย.
                                   นิกายใดมีพระสูตร ๓๔ สูตรถ้วน
                         สงเคราะห์เป็น ๓ วรรค, นิกายแรกนี้
                         อนุโลมตามเนื้อความ ชื่อว่าทีฆนิกาย.
               ก็เพราะเหตุไร นิกายนี้ ท่านจึงเรียกว่า ทีฆนิกาย?
               เพราะเป็นที่ประชุม และเป็นที่รวมแห่งพระสูตรทั้งหลายที่มีขนาดยาว.
               จริงอยู่ ที่ประชุมและที่รวมท่านเรียกว่า นิกาย ก็ในข้อที่นิกายศัพท์ เป็นศัพท์บอกความประชุมและความรวมนี้ มีอุทาหรณ์ที่ควรสาธกทั้งทางศาสนาทั้งทางโลก มีอาทิอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นแม้ซึ่งหมู่อันหนึ่งอื่น ซึ่งงดงาม เหมือนหมู่สัตว์ดิรัจฉานนี้ คือหมู่ปลวก หมู่สัตว์เล็กๆ นะภิกษุทั้งหลาย
               บัณฑิตพึงทราบพจนารถ (ความหมายของคำ) ในความที่นิกายทั้ง ๔ แม้ที่เหลือ ชื่อว่านิกาย ด้วยประการฉะนี้.

               [มัชฌิมนิกายมี ๑๕๒ สูตร]               
               มัชฌิมนิกายเป็นไฉน? พระสูตร ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น สงเคราะห์เป็น ๑๕ วรรค ซึ่งมีขนาดปานกลาง ชื่อมัชฌิมนิกาย.
                                   นิกายที่มีพระสูตร ๑๕๒ สูตร
                         จัดเป็น ๑๕ วรรค ชื่อว่ามัชฌิมนิกาย.

               [สังยุตตนิกายมี ๗,๗๖๒ สูตร]               
               สังยุตตนิกายเป็นไฉน? พระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น ตั้งอยู่ด้วยอำนาจแห่งสังยุตมีเทวตาสังยุตเป็นต้น ชื่อสังยุตตนิกาย.
                                   นิกายที่มีพระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร
                         ซึ่งรวบรวมหมวดสังยุต นี้ชื่อว่าสังยุตตนิกาย.

               [อังคุตตรนิกายมี ๙,๕๕๗ สูตร]               
               อังคุตตรนิกายเป็นไฉน? พระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น ที่ตั้งอยู่ด้วยอำนาจแห่งองค์หนึ่งๆ และเกินหนึ่ง ชื่ออังคุตตรนิกาย.
                                   ในอังคุตตรนิกาย นับจำนวน
                         พระสูตร ได้ดังนี้ คือ ๙,๕๕๗ สูตร.

               [ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภท]               
               ขุททกนิกายเป็นไฉน? เว้น ๔ นิกายเสีย พระพุทธพจน์ที่เหลือคือพระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระบาลี ๑๕ ประเภทที่แสดงไว้แล้วในตอนต้น มีขุททกปาฐะเป็นอาทิ ชื่อขุททกนิกาย ด้วยประการฉะนี้.
                                   เว้นนิกายแม้ทั้ง ๔ มีทีฆนิกายเป็นต้น
                         นั่นเสีย พระพุทธพจน์อื่นจากนั้น บัณฑิตเรียก
                         ว่า ขุททกนิกาย ฉะนี้แล.
               พระพุทธพจน์มี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งนิกาย ดังพรรณนามาฉะนี้.

               [พระพุทธพจน์มี ๙ อย่าง]               
               พระพุทธพจน์มี ๙ อย่าง ด้วยสามารถแห่งองค์อย่างไร?
               จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้ทั้งหมดทีเดียว มี ๙ ประเภท คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ.

               [อธิบายพระพุทธพจน์มีองค์ ๙ ทีละองค์]               
               บรรดาพระพุทธพจน์ที่มีองค์ ๙ นั้น อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร และพระสูตรมีมงคลสูตร รตนสูตร นาลกสูตรและตุวฏกสูตรเป็นต้น ในสุตตนิบาต และพระตถาคตพจน์ (พระดำรัสของพระตถาคต) ที่มีชื่อว่าสูตรแม้อื่น พึงทราบว่า พระสูตร.
               พระสูตรที่มีคาถาแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า เคยยะ.
               สคาถกวรรค (วรรคที่มีคาถา) แม้ทั้งสิ้น ในสังยุตตนิกาย พึงทราบว่า เคยยะ โดยพิเศษ.
               พระอภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น พระสูตรที่ไม่มีคาถาปน และพระพุทธพจน์แม้อื่นที่ไม่ได้สงเคราะห์เข้าด้วยองค์ ๘ พึงทราบว่า เวยยากรณะ.
               ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต พึงทราบว่า คาถา.
               พระสูตร ๘๒ สูตร ที่ปฏิสังยุตด้วยคาถาซึ่งสำเร็จด้วยโสมนัสสญาณ พึงทราบว่า อุทาน.
               พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว๑- พึงทราบว่า อิติวุตตกะ.
               ชาดก ๕๕๐ มีอปัณณกชาดกเป็นต้น พึงทราบว่า ชาตกะ.
               พระสูตร ที่ปฏิสังยุตด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมแม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ย่อมมีในพระอานนท์๒- พึงทราบว่า อัพภูตธัมมะ.
               พระสูตรที่มนุษย์เป็นต้นมาแล้วได้ความรู้และความยินดีแม้ทั้งหมด มีจูฬเวทัลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตรเป็นต้น พึงทราบว่า เวทัลละ.
               พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ ด้วยอำนาจแห่งองค์ ดังพรรณนามาฉะนี้.
____________________________
๑- ขุ. อิติวุตฺตก. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๗๙/หน้า ๒๒๙
๒- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๓๖

               [พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์]               
               พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ อย่างด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์อย่างไร?
               จริงอยู่ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดเทียว มี ๘๔,๐๐๐ ประเภทด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์ ที่พระอานนทเถระแสดงไว้แล้วอย่างนี้ว่า
                                   ข้าพเจ้าเรียนเอาพระธรรม จากพุทธ-
                         สำนัก ๘๒,๐๐๐ จากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐
                         พระธรรมที่เป็นไปในหทัยของข้าพเจ้า จึงมี
                         จำนวน ๘๔,๐๐๐ ดังนี้.

               [วิธีคำนวณนับพระธรรมขันธ์เฉพาะขันธ์หนึ่งๆ]               
               บรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียวจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์. ในพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยอำนาจแห่งอนุสนธิ. ในคาถาประพันธ์ทั้งหลาย คำถามปัญหา (ข้อหนึ่ง) จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์, คำวิสัชนา (ข้อหนึ่ง) จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์.
               ในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละติกะทุกะ และการจำแนกวารจิตแต่ละวารจิต จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์.
               ในพระวินัยมีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ บรรดาวัตถุและมาติกาเป็นต้นเหล่านั้น ส่วนหนึ่งๆ พึงทราบว่า เป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ.
               พระพุทธพจน์ (ทั้งหมด) มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               [ปฐมสังคายนาจัดพระพุทธพจน์ไว้เป็นหมวดๆ]               
               พระพุทธพจน์นั่น โดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ โดยความไม่ต่างกัน มีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรส, โดยความต่างกัน มีประเภท ๒ อย่างเป็นต้น ด้วยอำนาจธรรมและวินัยเป็นอาทิ อันพระมหาเถระผู้เป็นคณะที่ชำนาญมีพระมหากัสสปเป็นประมุข เมื่อจะสังคายนาจึงกำหนดประเภทนี้ก่อนแล้วร้อยกรองไว้ว่า นี้พระธรรม, นี้พระวินัย, นี้ปฐมพุทธพจน์, นี้มัชฌิมพุทธพจน์, นี้ปัจฉิมพุทธพจน์, นี้พระวินัยปิฎก, นี้พระสุตตันตปิฎก, นี้ พระอภิธรรมปิฎก, นี้ทีฆนิกาย, นี้มัชฌิมนิกาย, นี้สังยุตตนิกาย, นี้อังคุตตรนิกาย, นี้ขุททกนิกาย, นี้องค์ ๙ มีสุตตะเป็นต้น, นี้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.
               ก็ท่านร้อยกรองประเภทตามที่กล่าวไว้แล้วนี้เท่านั้นอย่างเดียวหามิได้ ยังได้กำหนดประเภทที่ควรรวบรวมไว้แม้อื่นๆ ซึ่งมีหลายชนิด มีอุทานสังคหะ วัคคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิบาตสังคหะ เช่นเอกนิบาต และทุกนิบาตเป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสกสังคหะเป็นอาทิ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ได้ร้อยกรองอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ ด้วยประการฉะนี้.

               [พระพุทธศาสนาอาจตั้งอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี]               
               ก็ในเวลาจบการร้อยกรองพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีนี้เหมือนเกิดความปราโมทย์ให้สาธุการอยู่ว่า พระมหากัสสปเถระทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ให้สามารถเป็นไปได้ตลอดกาลประมาณ ๕,๐๐๐ พระวรรษา ดังนี้ ก็หวั่นไหวเอนเอียง สะเทือนสะท้านเป็นอเนกประการ จนถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด และอัศจรรย์ทั้งหลายเป็นอันมากก็ได้ปรากฏมีแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               สังคีติใดในโลก
                                   ท่านเรียกว่า ปัญจสตาสังคีติ เพราะ
                         พระธรรมสังคาหกเถระ ๕๐๐ รูปทำ, และ
                         เรียกว่า เถริกาสังคีติ เพราะพระเถระ
                         ทั้งหลายนั่นแลทำแล้ว
               สังคีตินี้ ชื่อปฐมมหาสังคีติ ด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อปฐมมหาสังคีตินี้เป็นไปอยู่ ท่านพระมหากัสสป เมื่อจะถามถึงพระวินัย (กะท่านพระอุบาลีเถระ) จึงถามถึงนิทานที่ท่านกล่าวไว้ในคำนี้ว่า ถามถึงวัตถุบ้าง ถามถึงนิทานบ้าง ถามถึงบุคคลบ้าง ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นที่สุดแห่งคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส อุบาลี ปฐมปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว ณ ที่ไหน? เป็นต้น คำนิทานนั้นท่านพระอุบาลีเถระประสงค์จะให้พิสดารตั้งแต่ต้น แล้วกล่าวถึงบุคคลเป็นต้นที่บัญญัติวินัยปิฎก และเหตุที่บัญญัตินั่นทั้งหมด จึงกล่าวไว้แล้ว.

               [อธิบายความเริ่มต้นแห่งนิทานวินัย]               
               คำนิทาน (คำเริ่มต้น) ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควาเวรญฺชายํ วิหรติ๑- เป็นอาทิ บัณฑิตควรกล่าวไว้ทั้งหมด, เพราะคำเริ่มต้นนี้ ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้อย่างนี้. ก็แลคำเริ่มต้นนั้น บัณฑิตควรทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้แล้วในคราวกระทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก.
               ก็ใจความแห่งบทนี้ว่า ก็คำนี้ใครกล่าวและกล่าวในกาลไหนเป็นต้น เป็นอันข้าพเจ้าประกาศแล้วด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑

               บัดนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยในบทว่า กล่าวไว้เพราะเหตุไร นี้ต่อไป :-
               เพราะท่านพระอุบาลีนี้ถูกพระมหากัสสปเถระถามถึงนิทานแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวนิทานนั้นให้พิสดารแล้วตั้งแต่ต้น ด้วยประการฉะนี้. คำเริ่มต้นนี้ บัณฑิตควรทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระ แม้เมื่อกล่าวในคราวทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรกก็ได้กล่าวแล้วเพราะเหตุนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ใจความแห่งบทมาติกาเหล่านี้ว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา ดังนี้ เป็นอันข้าพเจ้าประกาศแล้ว ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้.
               บัดนี้ เพื่อจะประกาศเนื้อความแห่งบทมาติกาเหล่านี้ว่า ธาริตํ เยน จาภฏํ ยตฺถปติฏฺฐิตญฺเจตเมตํ วตฺวา วิธึ บัณฑิตจึงกล่าวคำนี้ไว้.

               [พระมหาเถระมีพระอุบาลีเป็นต้นนำพระวินัยปิฎกสืบต่อมา]               
               ถามว่า ก็พระวินัยปิฎกนี้นั้น ซึ่งมีนิทานประดับด้วยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควาเวรญฺชายํ วิหรติ ดังนี้ ใครทรงไว้? ใครนำสืบมา? (และ) ตั้งมั่นอยู่แล้วในบุคคลไหน?
               ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไป :-
               พระวินัยปิฎกนี้ ท่านพระอุบาลีเถระทรงจำไว้ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเบื้องต้นก่อน. เมื่อพระตถาคตเจ้ายังไม่ปรินิพพานนั่นแล ภิกษุหลายพันรูปต่างโดยได้อภิญญา ๖ เป็นต้นทรงจำไว้ต่อจากท่านพระอุบาลีเถระนั้น เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายมีพระมหากัสสปเป็นประมุข ก็ทรงจำกันต่อมา.
               บทมาติกาว่า เกนาภฏํ นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในชมพูทวีปก่อน พระวินัยนั่นนำสืบต่อมาโดยลำดับแห่งอาจารย์ตั้งต้นแต่พระอุบาลีเถระ จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓.
               ในชมพูทวีปนั้นมีลำดับอาจารย์ดังต่อไปนี้ :-
                         พระเถระ ๕ องค์เหล่านี้ คือ พระอุบาลี ๑
               พระทาสกะ ๑ พระโสณกะ ๑ พระสิคควะ ๑
               พระโมคคลีบุตรติสสะ ๑ ผู้มีชัยชนะพิเศษได้
               นำพระวินัยมาโดยลำดับไม่ให้ขาดสาย ในสิริ
               ชมพูทวีป (ในทวีปชื่อชมพูอันเป็นสิริ) จนถึง
               สังคายนาครั้งที่ ๓.

               [พระอุบาลีเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากพุทธสำนัก]               
               ความพิสดารว่า ท่านพระอุบาลีเรียนเอาวงศ์ ระเบียบประเพณีพระวินัย ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วให้ตั้งอยู่ในหทัยของภิกษุเป็นอันมาก. จริงอยู่ บรรดาบุคคลผู้เรียนเอาวินัยวงศ์ในสำนักของท่านนั้นแล้วถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในพระวินัย ผู้ที่เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี กำหนดนับไม่ถ้วน ที่เป็นพระขีณาสพได้มีจำนวน ๑,๐๐๐ รูป.

               [พระทาสกเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากสำนักพระอุบาลีเถระ]               
               ฝ่ายพระทาสกเถระได้เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุบาลีเถระนั้นนั่นเอง ท่านได้เรียนเอา (พระวินัย) ต่อจากพระอุบาลีเถระ แล้วก็บอกสอนพระวินัย (แก่ภิกษุเป็นอันมาก) เหมือนอย่างนั้น. ปุถุชนเป็นต้นผู้เรียนเอา (พระวินัย) ในสำนักของพระเถระแม้นั้น แล้วถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในพระวินัยกำหนดนับไม่ถ้วน ที่เป็นพระขีณาสพได้มีจำนวนถึง ๑,๐๐๐ รูป.

               [พระโสณกเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากสำนักพระทาสกเถระ]               
               ส่วนพระโสณกเถระได้เป็นสัทธิวิหาริกของพระทาสกเถระ. แม้ท่านก็เรียนเอา (พระวินัย) ต่อจากพระทาสกเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของตน แล้วก็บอกสอนพระวินัย (แก่ภิกษุเป็นอันมาก) เหมือนอย่างนั้น. ปุถุชนเป็นต้นผู้เรียนเอา (พระวินัย) ในสำนักของท่านแม้นั้น แล้วถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในพระวินัย กำหนดนับไม่ถ้วน ที่เป็นพระขีณาสพได้มีจำนวนถึง ๑,๐๐๐ รูปเช่นกัน.

               [พระสิคควเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากสำนักพระโสณกเถระ]               
               ฝ่ายพระสิคควเถระเป็นสัทธิวิหาริกของพระโสณกเถระ เรียนเอาพระวินัยในสำนักของพระเถระ แล้วได้เป็นผู้รับธุระของพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์.
               อนึ่ง ปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีก็ดี พระขีณาสพก็ดี ผู้เรียนเอา (พระวินัย) ในสำนักของท่านนั้น แล้วถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในพระวินัย ก็กำหนดไม่ได้ว่า เท่านี้ร้อย หรือว่า เท่านี้พัน.
               ได้ยินว่า เวลานั้น ในชมพูทวีปได้มีการประชุมภิกษุมากมาย. อานุภาพของพระโมคคลีบุตรติสสเถระ จักมีปรากฏชัดในตติยสังคายนา (ข้างหน้า). พระวินัยปิฎกนี้ พึงทราบว่า ชั้นแรกในชมพูทวีป นำสืบกันมาโดยลำดับแห่งอาจารย์นี้ จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้.

               ปฐมสงฺคีติกถา นิฏฺฐิตา ฯ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :