ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๗.

               โกมารภจฺจชีวกกถาวณฺณนา               
               บทว่า อถ โข ราชา ความว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงสดับคำของอำมาตย์เหล่านั้นแล้ว มีพระราชดำริว่า เราไม่ต้องการฟังคำพูดของผู้ใดๆ ผู้นั้นๆ ย่อมพูดพล่ามไปหมด ส่วนคำพูดของผู้ใดที่เราต้องการฟัง เขาผู้นั้นกลับนิ่งอยู่ เหมือนครุฑถูกฤทธิ์นาคเข้าไปแล้วยืนนิ่ง เสียหายแล้วสิเรา.
               ครั้นแล้วทรงพระดำริว่า หมอชีวกเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สงบระงับ แม้ตัวเองก็สงบระงับ ฉะนั้น จึงนั่งนิ่ง เหมือนภิกษุที่สมบูรณ์ด้วยวัตร. หมอชีวกนี้ เมื่อเราไม่พูดก็จักไม่พูด ก็เมื่อจะจับช้าง ควรจะจับเท้าช้างนั่นแหละ จึงทรงปรึกษากับหมอชีวกนั้นด้วยพระองค์เอง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข ราชา ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า กึ ตุณฺหี ความว่า นิ่งเพราะเหตุไร พระราชาตรัสถามว่า เมื่ออำมาตย์เหล่านี้กล่าวคุณแห่งสมณะผู้เป็นกุลุปกะของตนๆ อยู่ ปากไม่พอกล่าว สมณะที่เป็นกุลุปกะของท่านเหมือนอย่างของอำมาตย์เหล่านี้ ไม่มีหรือ ท่านเป็นคนจนหรือ พระบิดาของเราประทานความเป็นใหญ่แก่ท่านแล้วมิใช่หรือ หรือว่าท่านไม่มีศรัทธา.
               ลำดับนั้น หมอชีวกจึงคิดในใจว่า พระราชาพระองค์นี้ให้เรากล่าวคุณแห่งสมณะผู้เป็นกุลุปกะ บัดนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะนิ่ง เหมือนอย่างว่า อำมาตย์เหล่านี้ถวายบังคับพระราชาแล้วนั่งลงกล่าวคุณของสมณะผู้กุลุปกะของตนๆ ฉันใด เราจะกล่าวคุณของพระศาสดาของเราเหมือนอย่างอำมาตย์เหล่านี้ หาควรไม่ ดำริพลางลุกขึ้นจากอาสนะหันหน้าไปทางที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคับด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประคองอัญชลีซึ่งรุ่งเรืองไปด้วยทศนัขสโมธานเหนือพระเศียร แล้วทูลว่า
               ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์อย่าทรงเข้าพระทัยว่า ชีวกนี้จะพาไปพบสมณะพอดีพอร้าย เพราะพระศาสดาของข้าพระองค์นี้ ในการถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ในการประสูติจากครรภ์พระมารดา ในการเสด็จออกผนวช ในการตรัสรู้ และในการประกาศธรรมจักร หวั่นไหวไปทั่วหมื่นโลกธาตุ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ก็อย่างนี้ คราวเสด็จลงจากเทวโลกก็อย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจักกล่าวคุณแห่งพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงตั้งพระทัยให้แน่วแน่สดับเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
               ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า ตํ โข ปน เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งอิตถัมภูตาขยาน คือให้ แปลว่า ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
               บทว่า กลฺยาโณ ความว่า ประกอบด้วยความงาม คือคุณธรรม. มีอธิบายว่า ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า กิตฺติสทฺโท ความว่า ชื่อเสียงหรือเสียงสดุดีพระเกียรติที่กึกก้อง.
               บทว่า อพฺภุคฺคโต ความว่า ลือกระฉ่อนไปทั่วโลกรวมทั้งเทวโลกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นผู้แจกพระธรรม ดังนี้.
               ในบทพระพุทธคุณนั้น มีการเชื่อมบทดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ แม้เพราะเหตุนี้ จึงเป็นผู้แจกพระธรรม. อธิบายว่า เพราะเหตุนี้ด้วย นี้ด้วย.
               บทเหล่านี้ทั้งหมดในพระบาลีนั้น ได้อธิบายอย่างพิสดารในพุทธานุสสตินิทเทศ ในวิสุทธิมรรค เริ่มต้นตั้งแต่อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พึงทราบว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุเหล่านี้ก่อน คือ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย ๑ เพราะหักกำจักรแห่งสังสารวัฏ ๑ เพราะควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ๑ เพราะไม่มีความลับในการทำบาป ๑.
               ความพิสดารแห่งบทพุทธคุณเหล่านั้น พึงถือเอาจากวิสุทธิมรรคนั้น.
               ก็หมอชีวกพรรณนาพุทธคุณทีละบทจบความลง ทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระศาสดาของข้าพระองค์เป็นพระอรหันต์อย่างนี้ เป็นสัมมาสัมพุทธะอย่างนี้ ฯลฯ เป็นผู้แจกธรรมรัตน์อย่างนี้ แล้วทูลสรุปว่า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพโปรดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ถึงอย่างไร เมื่อพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ พระทัยก็พึงผ่องใส.
               ก็ในพระบาลีตอนนี้ เมื่อหมอชีวกทูลว่า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพโปรดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ดังนี้ เท่ากับทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เมื่อข้าพระองค์ถูกพระราชาเช่นพระองค์ตั้งร้อยตั้งพันตั้งแสนตรัสถาม ย่อมมีเรี่ยวแรงและพลังที่จะกล่าวคุณกถาของพระศาสดาให้จับใจของคนทั้งหมดได้ พระองค์ก็ทรงคุ้นเคย โปรดเข้าไปเฝ้าทูลถามปัญหาเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
               เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เรื่อยๆ นั้น ทั่วพระวรกายมีปีติ ๕ ประการถูกต้องตลอดเวลา พระองค์มีพระประสงค์จะเสด็จไปในขณะนั้นทีเดียว มีพระดำริว่า เมื่อเราจะไปเฝ้าพระทศพลในเวลานี้ ไม่มีใครอื่นที่จักสามารถจัดยานพาหนะได้เร็ว นอกจากหมอชีวก จึงรับสั่งว่า ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้เตรียมหัตถียานไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตนหิ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่าส่งไป. อธิบายว่า ไปเถิด ชีวกผู้สหาย.
               บทว่า หตฺถิยานานิ ความว่า บรรดายานพาหนะมีม้าและรถเป็นต้นที่มีอยู่มากมาย ยานพาหนะคือช้างเป็นสูงสุด ควรจะนำไปสำนักของพระศาสดาผู้สูงสุด ด้วยยานพาหนะที่สูงสุดเหมือนกัน. พระราชามีพระดำริดังนี้แล้ว และมีพระดำริต่อไปอีกว่า ยานพาหนะคือม้าและรถมีเสียงดัง เสียงของยานพาหนะเหล่านั้นได้ยินไปไกลทีเดียว ส่วนยานพาหนะคือช้าง แม้คนที่เดินตามรอยเท้าก็ไม่ได้ยินเสียง ควรจะไปสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เงียบสงบด้วยยานพาหนะที่เงียบสงบเหมือนกัน ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า หตฺถิยานานิ เป็นต้น.
               บทว่า ปญฺจมตฺตานิ หตฺถินิยาสตานิ ความว่า ช้างพังประมาณ ๕๐๐.
               บทว่า กปฺปาเปตฺวา ความว่า ให้เตรียมเกยช้าง.
               บทว่า อาโรหณียํ ความว่า ควรแก่การขึ้น. อธิบายว่า ปกปิด.
               ถามว่า หมอชีวกนี้ได้กระทำสิ่งที่พระราชาตรัสหรือมิได้ตรัส?
               ตอบว่า ได้กระทำสิ่งที่พระราชามิได้ตรัส.
               เพราะเหตุไร? เพราะเป็นบัณฑิต.
               ได้ยินว่า หมอชีวกนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชามีรับสั่งว่า เราจะไปในเวลานี้. ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมีศัตรูมาก หากจะมีอันตรายบางอย่างในระหว่างทาง แม้เราก็จักถูกคนทั้งหลายตำหนิว่า หมอชีวกคิดว่าพระราชาเชื่อคำเรา จึงพาพระราชาออกไปในเวลาไม่ควร แม้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักถูกตำหนิว่า พระสมณโคดมมุ่งแต่จะเทศน์ ไม่กำหนดกาลควรไม่ควรแล้วแสดงธรรม ดังนี้บ้าง เพราะฉะนั้น เราจักกระทำอย่างที่ครหาจะไม่เกิดขึ้นแก่เรา และจะไม่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระราชาก็จะได้รับอารักขาอย่างดี.
               ต่อแต่นั้น หมอชีวกคิดว่า เพราะอาศัยหญิงทั้งหลาย ภัยย่อมไม่มีแก่ชายทั้งหลาย พระราชามีหญิงแวดล้อมเสด็จไปสะดวกดี จึงให้เตรียมช้างพัง ๕๐๐ เชือกให้หญิง ๕๐๐ คนปลอมเป็นชาย สั่งว่าพวกเธอจงถือดาบและหอกซัดแวดล้อมพระราชา แล้วหมอยังคิดอีกว่า พระราชาองค์นี้ไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคผลในอัตตภาพนี้ และธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเห็นอุปนิสัยก่อนจึงแสดงธรรม เอาละเราจักให้มหาชนประชุมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พระศาสดาจักทรงแสดงธรรมตามอุปนิสัยของใครๆ สักคน พระธรรมเทศนานั้นจักเป็นอุปการะแก่มหาชน.
               หมอชีวกนั้นส่งข่าวสาสน์ให้ตีกลองป่าวประกาศในที่นั้นๆ ว่า วันนี้พระราชาจะเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้คนทุกคนถวายอารักขาพระราชาตามสมควรแก่สมบัติของตนๆ.
               ลำดับนั้น มหาชนคิดว่า ได้ยินว่า พระราชาจะเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเช่นไรหนอ พวกเราจะมัวเล่นนักษัตรกันทำไม ไปในที่นั้นเถิด. ทุกคนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ยืนรอการเสด็จมาของพระราชาอยู่ตามทาง. แม้หมอชีวก็ทูลเชิญเสด็จพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เตรียมยานพาหนะช้างเสร็จแล้ว ขอพระองค์จงรู้เวลาที่ควรเสด็จในบัดนี้เถิด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสทานิ กาลํ มญฺญสิ เป็นคำทูลเตือน.
               อธิบายว่า เรื่องใดที่พระองค์ทรงสั่งไว้ เรื่องนั้นข้าพระองค์ทำเสร็จแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงรู้เวลาที่จะเสด็จหรือไม่เสด็จเถิด ขอพระองค์จงทรงกระทำตามชอบพระทัยของพระองค์เถิด.
               บทว่า ปจฺเจกา อิตฺถิโย ตัดบทเป็น ปฏิเอกา อิตฺถิโย อธิบายว่า ช้างพังแต่ละเชือก มีหญิงคนหนึ่งประจำ.
               บทว่า อุกฺกาสุ ธาริยมานาสุ ความว่า มีคนถือคบเพลิง.
               บทว่า มหจฺจราชานุภาเวน ความว่า ด้วยอานุภาพของพระราชาที่ใหญ่หลวง. บาลีว่า มหจฺจา ก็มี ความว่า ใหญ่หลวง นี้เป็นลิงคปริยาย.
               ราชฤทธิ์ เรียกว่า ราชานุภาพ. ก็อะไรเป็นราชฤทธิ์? สิริคือความเป็นใหญ่แห่งรัฐใหญ่ ๒ รัฐ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ โยชน์เป็นราชฤทธิ์.
               จริงอยู่ ในวันก่อนโน้น มิได้มีการเตรียมจัดไว้ก่อน ด้วยหมายว่า พระราชาจักเสด็จไปเฝ้าพระตถาคต หมอชีวกจัดในขณะนั้นเอง เอาหญิง ๕๐๐ คนปลอมเป็นชาย สวมผ้าโพก คล้องพระขรรค์ที่บ่า ถือหอกซัดมีด้ามเป็นแก้วมณีออกไป ซึ่งพระสังคีติกาจารย์หมายถึง กล่าวว่า ปจฺเจกา อิตฺถิโย อาโรเปตฺวา ดังนี้.
               หญิงฟ้อนรำล้อมนางกษัตริย์อีกจำนวนหนึ่งประมาณหมื่นหกพันคนแวดล้อมพระราชา. ท้ายขบวนหญิงฟ้อนรำเหล่านั้น มีคนค่อม คนเตี้ยและคนแคระเป็นต้น. ท้ายขบวนคนเหล่านั้น มีคนใกล้ชิดผู้ดูแลภายในพระนคร. ท้ายขบวนคนใกล้ชิดเหล่านั้น มีมหาอำมาตย์ประมาณหกหมื่นคนแต่งตัวเต็มยศงดงาม. ท้ายขบวนมหาอำมาตย์เหล่านั้น มีลูกเจ้าประเทศราชประมาณเก้าหมื่นคน ประดับด้วยเครื่องประดับหลายอย่าง ราวกะเพทยาธรหนุ่มถืออาวุธชนิดต่างๆ. ท้ายขบวนลูกเจ้าประเทศราช มีพราหมณ์ประมาณหมื่นคนนุ่งผ้ามีค่าตั้งร้อย ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งค่า ๕๐๐ อาบน้ำลูบไล้อย่างดี งามด้วยเครื่องประดับต่างๆ มีดอกไม้ทองเป็นต้น เดินยกมือขวาเปล่งเสียงไชโย. ท้ายขบวนพราหมณ์เหล่านั้น มีดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕. ท้ายขบวนดนตรีเหล่านั้น มีนายขมังธนูล้อมเป็นวง. ท้ายพวกขมังธนู มีช้างมีตะพองชิดกัน. ท้ายช้าง มีม้าเรียงรายคอต่อคอชิดกัน. ท้ายม้า มีรถชิดกันและกัน. ท้ายรถ มีทหารแขนต่อแขนกระทบกัน. ท้ายทหารเหล่านั้น มีเสนา ๑๘ เหล่า รุ่งเรืองด้วยเครื่องประดับที่สมควรแก่ตนๆ.
               หมอชีวกจัดคนถวายพระราชา ชนิดลูกศรที่คนยืนอยู่ท้ายสุดขบวน ยิงไปก็ไม่ถึงพระราชา ตนเองยังตามเสด็จไม่ห่างไกลพระราชา ด้วยหมายใจว่า หากจะมีอันตรายอะไรๆ เราจักถวายชีวิตเพื่อพระราชาก่อนคนอื่นทั้งหมด. อนึ่ง คบเพลิงก็กำหนดไม่ได้ว่าร้อยเท่านี้หรือพันเท่านี้.
               คำว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปสวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจ ด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ นั้น พระสังคีติกาจารย์กล่าวหมายเอาราชฤทธิ์เห็นปานนี้แล.
               ในคำว่า อหุเทว ภยํ นี้ ภัยมี ๔ อย่าง คือ ภัยเพราะจิตสะดุ้ง ๑ ภัยเพราะญาณ ๑ ภัยเพราะอารมณ์ ๑ ภัยเพราะโอตตัปปะ ๑.
               ในภัย ๔ อย่างนั้น ภัยที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า อาศัยชาติ มีความกลัว ความพรั่นพรึง๑- ดังนี้ ชื่อว่าภัยเพราะจิตสะดุ้ง.
               ภัยที่มาแล้วอย่างนี้ว่า เขาแม้เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว ย่อมถึงความกลัว ความสลด ความสะดุ้งโดยมาก๒- ดังนี้ ชื่อว่าภัยเพราะญาณ.
               ภัยที่กล่าวแล้วในคำนี้ว่า มาถึงภัยที่น่ากลัวนั่นนั้นแน่๓- ดังนี้ ชื่อว่าภัยเพราะอารมณ์.
               ภัยนี้ในคำนี้ว่า คนดีทั้งหลายย่อมสรรเสริญความกลัวต่อบาป ไม่สรรเสริญความกล้าในบาปนั้นเลย เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาป เพราะกลัว๔- ดังนี้ ชื่อว่าภัยเพราะโอตตัปปะ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๘   ๒- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๖
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๕   ๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๐๐

               ในภัย ๔ อย่างนั้น ในที่นี้หมายเอาภัยเพราะจิตสะดุ้ง. อธิบายว่า ได้มีจิตสะดุ้งแล้ว.
               บทว่า ฉมฺภิตตฺตํ ความว่า ความพรั่นพรึง. อธิบายว่า สั่นไปทั่วร่าง.
               บทว่า โลมหํโส ได้แก่ ขนชูชัน. อธิบายว่า ขนลุกซู่. ก็ขนชูชันนี้นั้นย่อมมีด้วยปีติในเวลาเกิดอิ่มใจในขณะฟังธรรมเป็นต้นก็มี ด้วยความกลัวในเพราะเห็นการฆ่าฟันกันและเห็นผีเป็นต้นก็มี. ในที่นี้พึงทราบว่า ขนชูชันเพราะกลัว.
               ถามว่า ก็พระราชานี้ทรงกลัว เพราะเหตุไร?
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เพราะความมืด.
               ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์มีประตูใหญ่ ๓๒ ประตู ประตูเล็ก ๖๔ ประตู. สวนอัมพวันของหมอชีวก อยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับภูเขาคิชฌกูฏต่อกัน. พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันตก เสด็จเข้าไปในเงาของภูเขา. ที่ตรงนั้น พระจันทร์ถูกยอดภูเขาบังไว้ ความมืดจึงมีขึ้นเพราะเงาของภูเขาและเงาของต้นไม้. แม้ข้อที่กล่าวก็มิใช่เหตุอันสมควร ด้วยว่าในเวลานั้น คบเพลิงตั้งแสนดวงก็กำหนดไม่ได้. ก็พระเจ้าอชาตศัตรูนี้อาศัยความเงียบสงัด จึงเกิดความกลัวเพราะระแวงหมอชีวก.
               ได้ยินว่า หมอชีวกได้ทูลพระองค์ที่ปราสาทชั้นบนทีเดียวว่า ข้าแต่พระมหาราช พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์ความเงียบสงัด ควรเข้าเฝ้าด้วยความเงียบสงัดนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงทรงห้ามเสียงดนตรี. ดนตรีทั้งหลายพอพระราชาให้หยุดเท่านั้น. ขบวนตามเสด็จจึงไม่เปล่งเสียงดัง มากันด้วยสัญญานิ้วมือ. แม้ในสวนอัมพวัน ก็ไม่ได้ยินแม้เสียงกระแอมของใครๆ. ธรรมดาพระราชาทั้งหลายย่อมยินดีในเสียงยิ่งนัก.
               พระเจ้าอชาตศัตรูอาศัยความเงียบสงัดนั้น เกิดหลากพระทัย ชักระแวงแม้ในหมอชีวกว่า หมอชีวกนี้กล่าวว่า ที่สวนอัมพวันของข้าพระองค์มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ก็ในที่นี้เราไม่ได้ยินแม้แต่เสียงกระแอม คำหมอชีวกเห็นจะไม่จริง หมอชีวกนี้ลวงนำเราออกจากเมือง ซุ่มพลกายไว้ข้างหน้า ต้องการจับเราแล้วขึ้นครองราชสมบัติเสียเอง ก็หมอชีวกนี้ทรงกำลัง ๕ ช้างสาร และเดินไม่ห่างเรา คนของเราที่ถืออาวุธอยู่ใกล้ก็ไม่มีสักคน น่าอัศจรรย์ เราเสียหายแล้วหนอ.
               ก็และครั้นทรงกลัวอย่างนี้แล้วก็ไม่อาจดำรงตนอย่างคนไม่กลัวได้ จึงตรัสบอกความที่พระองค์กลัวแก่หมอชีวกนั้น. เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู ฯลฯ ไม่มีเสียงพึมพำ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺม ความว่า นี้เป็นคำเรียกคนรุ่นเดียวกัน. อธิบายว่า เพื่อนยาก นี่ไม่หลอกเราหรือ.
               บทว่า น ปลมฺเภสิ ความว่า ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่มีว่ามี ดังนี้ ไม่ลวงเราหรือ.
               บทว่า นิคฺโฆโส ความว่า ถ้อยคำสนทนากึกก้อง.
               บทว่า มา ภายิ มหาราช ความว่า หมอชีวกคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ไม่รู้จักเรา ถ้าเราไม่ปลอบพระองค์ให้เบาพระทัยว่า ชีวกคนนี้ไม่ฆ่าผู้อื่นดังนี้ ก็ฉิบหาย จึงทูลปลอบให้มั่นพระทัยว่า อย่าทรงกลัวเลย พระเจ้าข้า แล้วจึงทูลว่า น ตํ เทว ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อภิกฺกม ความว่า โปรดเสด็จเข้าไปเถิด. อธิบายว่า จงเข้าไป. ก็เมื่อกล่าวครั้งเดียวจะไม่มั่น ฉะนั้น หมอชีวกจึงรีบกล่าว ๒-๓ ครั้ง.
               บทว่า เอเต มณฺฑลมาเล ปทีปา ฌายนฺติ ความว่า หมอชีวกทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดากำลังของโจรจะไม่จุดประทีปตั้งไว้ แต่นั่นประทีปที่โรงกลมยังสว่างอยู่ ขอพระองค์จงเสด็จไปตามสัญญาแห่งประทีปนั้นเถิด พระเจ้าข้า.

               สามญฺญผลปุจฺฉาวณฺณนา               
               บทว่า นาคสฺส ภูมิ ความว่า ในที่ใดคนขึ้นช้างอาจไปได้ ที่นี้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ช้างไปได้.
               บทว่า นาคา ปจฺโจโรหิตฺวา ความว่า ลงจากช้างที่ซุ้มประตูภายนอกที่ประทับ.
               ก็เดชแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแผ่ไปสู่พระสรีระของพระราชา ตลอดเวลาที่ประทับ ณ พื้นที่ประทับ. ในทันใดนั้น พระเสโทไหลออกจากทั่วพระสรีระของพระราชา ผ้าทรงได้เป็นเหมือนบีบน้ำไหล. ความกลัวอย่างมากได้เกิดขึ้นเพราะทรงระลึกถึงความผิดของพระองค์ ท้าวเธอไม่อาจเสด็จไปสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าตรงๆ ทรงเกาะมือหมอชีวก ราวกะว่าเสด็จชมสวน พลางตรัสชมที่ประทับว่า ชีวกผู้สหาย นี้เธอให้ทำได้ดี นี้เธอสร้างได้ดี เสด็จเข้าประตูโรงกลมโดยลำดับ. อธิบายว่า ถึงพร้อมแล้ว.
               ด้วยคำว่า กถํ ปน สมฺม ดังนี้ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามเพราะอะไร? อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ไม่ทรงทราบมาก่อน.
               ได้ยินว่า ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ พระราชานี้เคยเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับพระบิดา แต่ภายหลัง เพราะคบมิตรชั่ว จึงทำปิตุฆาต ส่งนายขมังธนู ให้ปล่อยช้างธนบาล มีความผิดมาก ไม่กล้าเข้าไปเผชิญพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ว่าไม่ทรงทราบจึงตรัสถามนั้น ไม่ใช่เหตุอันสมควร.
               ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระวรลักษณ์เต็มที่ ประดับด้วยอนุพยัญชนะ เปล่งพระฉัพรรณรังสีสว่างไสวทั่วสวน แวดล้อมไปด้วยหมู่ภิกษุ ดุจจันทร์เพ็ญแวดล้อมด้วยหมู่ดาว ประทับนั่งท่ามกลางโรงกลม ใครจะไม่รู้จักพระองค์. แต่พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามนี้ก็ด้วยท่วงทีแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์. ข้อที่รู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ถามดูนี้เป็นปรกติธรรมดาของราชสกุลทั้งหลาย.
               ฝ่ายหมอชีวกฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า พระราชาพระองค์นี้เป็นดุจประทับยืนอยู่บนแผ่นดิน ถามว่าแผ่นดินอยู่ไหน ดูท้องฟ้า แล้วถามว่าพระจันทร์พระอาทิตย์อยู่ไหน ยืนอยู่ที่เชิงเขาสิเนรุ ถามว่าเขาสิเนรุอยู่ไหน ประทับยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระทศพลทีเดียว ตรัสถามว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ไหน เอาละ เราจักแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้าแด่พระองค์ จึงน้อมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วทูลคำว่า เอโส มหาราช ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปุรกฺขโต ความว่า ประทับนั่งข้างหน้าของภิกษุสงฆ์ที่นั่งแวดล้อมพระองค์.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า เข้าไปเฝ้ายังที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่.
               บทว่า เอกมนฺตํ อฎฺฐาสิ ความว่า พระราชาพระองค์เดียวเท่านั้นถวายบังคับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับยืนในประเทศแห่งหนึ่งซึ่งสมควรที่พระองค์จะประทับยืนได้ ไม่เบียดพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือภิกษุสงฆ์.
               บทว่า ตุณฺหีภูตํ ตุณฺหีภูตํ ความว่า จะเหลียวแลไปที่ใดๆ ก็เงียบหมดในที่นั้นๆ.
               จริงอยู่ ในที่นั้นไม่มีภิกษุแม้สักรูปหนึ่งที่แสดงความคะนองมือคะนองเท้า หรือเสียงกระแอม. ภิกษุแม้รูปหนึ่งก็มิได้แลดูพระราชาหรือบริษัทของพระราชาที่อยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ล้วนมีนางฟ้อนรำเป็นบริวาร ประดับด้วยอลังการครบครัน. ภิกษุทุกรูปนั่งดูพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น. พระราชาทรงเลื่อมใสในความสงบของภิกษุเหล่านั้น ทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ผู้มีอินทรีย์สงบ เหมือนห้วงน้ำใส เพราะปราศจากเปือกตม บ่อยๆ ทรงเปล่งอุทาน.
               ในบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อิมินา นี้ แสดงว่า ด้วยความสงบนี้ที่ภิกษุสงฆ์สงบทางกาย ทางวาจาและทางใจ ด้วยความสงบคือศีล. พระราชาตรัสอย่างนี้ในที่นั้น มิได้ทรงหมายถึงความข้อนี้ว่า โอหนอ! ขอให้ลูกของเราบวชแล้วพึงสงบเหมือนภิกษุเหล่านี้. แต่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์แล้วทรงเลื่อมใส จึงทรงระลึกถึงพระโอรส. ก็การได้สิ่งที่ได้ด้วยยากหรือเห็นสิ่งอัศจรรย์แล้วระลึกถึงคนรักมีญาติและมิตรเป็นต้น เป็นปรกติของโลกทีเดียว. พระราชานี้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์ แล้วทรงระลึกถึงพระโอรสจึงตรัสอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระองค์มีความแหนงพระทัยในพระโอรส เมื่อทรงปรารถนาให้พระโอรสมีความสงบจึงตรัสอย่างนี้.
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงปริวิตกอย่างนี้ว่า ลูกของเราจักถามว่า พระบิดาของเรายังหนุ่ม พระเจ้าปู่ของเราไปไหน เมื่อสดับว่า พระเจ้าปู่นั้น พระบิดาของพระองค์ฆ่าเสียแล้วดังนี้ จักหมายมั่นว่า เราจักฆ่าพระบิดาแล้วครองราชสมบัติ. พระองค์มีความแหนงพระทัยในพระโอรส เมื่อทรงปรารถนาให้พระโอรสมีความสงบ จึงตรัสอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็พระราชาตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระโอรสก็จักฆ่าพระองค์อยู่นั่นเอง.
               ก็ในวงศ์นั้นมีการฆ่าบิดาถึง ๕ ชั่วรัชกาล คือ
               พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร.
               พระเจ้าอุทัยฆ่าพระเจ้าอชาตศัตรู.
               พระโอรสของพระเจ้าอุทัย พระนามว่ามหามุณฑิกะ ฆ่าพระเจ้าอุทัย.
               พระโอรสของพระเจ้ามหามุณฑิกะ พระนามว่าอนุรุทธะ ฆ่าพระเจ้ามหามุณฑิกะ.
               พระโอรสของพระเจ้าอนุรุทธะ พระนามว่านาคทาสะ ฆ่าพระเจ้าอนุรุทธะ.
               ชาวเมืองโกรธว่า พวกนี้เป็นพระราชาล้างวงศ์ตระกูล ไม่มีประโยชน์ จึงฆ่าพระเจ้านาคทาสะเสีย.
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า อาคมา โข ตฺวํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า เมื่อพระราชามิได้มีพระดำรัสเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า พระราชานี้เสด็จมา ประทับนิ่งไม่มีเสียง ทรงพระดำริอย่างไรหนอ ครั้นทรงทราบความคิดของพระราชาแล้ว ทรงพระดำริว่าพระราชานี้ไม่อาจเจรจากับเรา ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์แล้วทรงระลึกถึงพระโอรส ก็เมื่อเราไม่เอ่ยขึ้นก่อน พระราชานี้จักไม่อาจตรัสอะไรๆ เลย เราจะเจรจากับพระองค์. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสในลำดับแห่งพระราชดำรัสว่า อาคมา โข ตฺวํ มหาราช ยถาเปมํ เป็นต้น.
               เนื้อความของพระพุทธดำรัสนั้นว่า มหาบพิตร น้ำที่ตกในที่สูงย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด ขอพระองค์จงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์แล้วปฏิบัติตามความรักฉันนั้นเถิด.
               ครั้งนั้น พระราชามีพระราชดำริว่า โอ! พระพุทธคุณน่าอัศจรรย์ ชื่อว่าคนที่ทำผิดต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนอย่างเราไม่มี ด้วยว่า เราฆ่าอัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเชื่อคำของพระเทวทัตส่งนายขมังธนู ปล่อยช้างนาฬาคิรี เพราะอาศัยเรา พระเทวทัตจึงกลิ้งศิลา เรามีความผิดใหญ่หลวงถึงอย่างนี้ พระทศพลยังตรัสเรียกจนพระโอษฐ์จะไม่พอ โอ! พระผู้มีพระภาคเจ้าประดิษฐานอยู่ด้วยดีในลักษณะของผู้คงที่ด้วยอาการ ๕ อย่าง เราจักไม่ละทิ้งพระศาสดาเห็นปานนี้แล้วแสวงหาภายนอก ทรงพระโสมนัส.
               เมื่อจะทรงสนทนากะพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ปิโย เม ภนฺเต เป็นต้น.
               บทว่า ภิกฺขุสงฺฆสฺส อญฺชลึ ปณาเมตฺวา ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นมีพระราชดำริว่า เราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปไหว้ภิกษุสงฆ์ข้างโน้นข้างนี้ ย่อมจะต้องหันหลังให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะไม่เป็นการกระทำความเคารพพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะคนที่ถวายบังคมพระราชาแล้วถวายบังคมอุปราช ย่อมเป็นอันไม่กระทำความเคารพพระราชา ฉะนั้น พระองค์จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วน้อมอัญชลีแด่ภิกษุสงฆ์ตรงที่ประทับยืนนั่นเอง แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง.
               บทว่า กญฺจิเทว เทสํ เลสมฺตํ ได้แก่ โอกาสบางโอกาส.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงหนุนให้พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดอุตสาหะในการถามปัญหา จึงตรัสว่า เชิญถามเถิด มหาบพิตร เมื่อทรงพระประสงค์.
               พระพุทธดำรัสนั้นมีความว่า เชิญถามเถิด เมื่อทรงพระประสงค์ เราตถาคตไม่มีความหนักใจในการวิสัชนาปัญหา.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาอย่างสัพพัญญูปวารณาซึ่งไม่ทั่วไปแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวกและมหาสาวกทั้งหลายว่า เชิญถามเถิด พระองค์ทรงประสงค์ข้อใดๆ เราตถาคตจักวิสัชนาถวายข้อนั้นๆ ทุกข้อแด่พระองค์.
               จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวกและมหาสาวกเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า ยทากงฺขสิ ถ้าทรงพระประสงค์ ย่อมกล่าวว่า ฟังแล้วจักรู้ได้. แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสว่า ถามเถิด อาวุโส เมื่อต้องการ หรือว่า เชิญถามเถิด มหาบพิตร เมื่อทรงพระประสงค์.
               หรือว่า ดูก่อนวาสวะ ท่านต้องการถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งในใจ จงถามกะเรา เราจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่ท่าน.๑-
               หรือว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน ถามปัญหาตามที่ต้องการเถิด.๒-
               หรือว่า ความสงสัยทุกๆ ข้อ ของพราหมณ์พาวรีก็ดี ของพวกท่านทั้งปวงก็ดี อะไรๆ ในใจที่พวกท่านปรารถนา จงถามเถิด เราเปิดโอกาสแล้ว.๓-
               หรือว่า ดูก่อนสภิยะ ท่านต้องการถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งในใจ จงถามกะเรา เราจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่ท่าน.๔-
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๕๔   ๒- ม. อุปริ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๒๐
๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๔   ๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๖๕

               พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปวารณาอย่างสัพพัญญูปวารณาแก่ยักษ์ จอมคน เทวดา สมณะพราหมณ์และปริพาชกทั้งหลายนั้นๆ ก็ข้อนี้ไม่อัศจรรย์ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุพุทธภูมิแล้วจึงปวารณาอย่างนั้น.
               แม้เมื่อดำรงอยู่ในญาณระดับภูมิพระโพธิสัตว์ ถูกฤาษีทั้งหลายขอร้องให้แก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ท้าวสักกะเป็นต้นอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนโกณฑัญญะ ขอท่านจงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายที่พวกฤาษีดีๆ วอนขอ.
               ดูก่อนโกณฑัญญะ นี้เป็นมนุษยธรรม การที่มาหาความเจริญนี้เป็นหน้าที่ที่ต้องรับเอา.๕-
               ในเวลาเป็นสรภังคดาบส อย่างนี้ว่า เราเปิดโอกาสแล้ว ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งที่ใจปรารถนาเถิด เราจักพยากรณ์ปัญหานั้นๆ ของพวกท่าน เพราะเราเองรู้ทั้งโลกนี้และโลกอื่น.๕-
____________________________
๕- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๔๕๕-๒๔๕๖

               และในสัมภวชาดก มีพราหมณ์ผู้สะอาดเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป ๓ ครั้ง ไม่พบผู้ที่จะแก้ปัญหาได้ ครั้นพระโพธิสัตว์ให้โอกาสแล้ว เวลานั้นพระโพธิสัตว์เกิดมาได้ ๗ ปี เล่นฝุ่นอยู่ในถนน นั่งคู้บัลลังก์กลางถนนนั่นเอง ปวารณาอย่างสัพพัญญูปวารณาว่า
               เชิญเถิด เราจักบอกแก่ท่านอย่างคนฉลาดบอก และพระราชาย่อมทรงทราบข้อนั้นว่า จักทำได้หรือไม่.๖-
____________________________
๖- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๓๖๘

               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาสัพพัญญูปวารณาอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพอพระทัย เมื่อจะทูลถามปัญหา ได้กราบทูลว่า ยถา นุ โข อิมานิ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น ศิลปะนั่นแหละ ชื่อสิปปายตนะ.
               บทว่า ปุถุสิปฺปายตนานิ แปลว่า ศิลปศาสตร์เป็นอันมาก.
               บทว่า เสยฺยถีทํ ความว่า ก็ศิลปศาสตร์เหล่านั้นอะไรบ้าง?
               ด้วยบทว่า หตฺถาโรหา เป็นต้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงแสดงเหล่าชนที่อาศัยศิลปะนั้นๆ เลี้ยงชีพ. ด้วยว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ดังนี้ว่า ผลแห่งศิลปะที่ประจักษ์เพราะอาศัยศิลปะนั้นๆ ย่อมปรากฏแก่ผู้ที่เข้าไปอาศัยศิลปะเลี้ยงชีพเหล่านี้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจที่จะประกาศสามัญญผลที่ประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนฉันนั้นได้หรือไม่หนอ ดังนี้. เพราะฉะนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงเริ่มศิลปศาสตร์ทั้งหลายมาแสดงคนที่เข้าไปอาศัยศิลปะเลี้ยงชีพ.
               ในบทเหล่านี้ ด้วยบทว่า หตฺถาโรหา ย่อมแสดงถึงอาจารย์ฝึกช้าง หมอรักษาช้างและคนผูกช้างเป็นต้นทั้งหมด.
               บทว่า อสฺสาโรหา ได้แก่ ครูฝึกม้า หมอรักษาม้าและคนผูกม้าเป็นต้นทั้งหมด.
               บทว่า รถิกา ได้แก่ ครูฝึกพลรถ ทหารรถและคนรักษารถเป็นต้นทั้งหมด.
               บทว่า ธนุคฺคหา ได้แก่ ครูฝึกพลธนูและคนแม่นธนู.
               บทว่า เจลกา ได้แก่ ผู้เชิญธงชัยไปข้างหน้าในสนามรบ.
               บทว่า จลกา ได้แก่ ผู้จัดกระบวนทัพอย่างนี้ว่า พระราชาอยู่ตรงนี้ มหาอำมาตย์ชื่อโน้นอยู่ตรงนี้.
               บทว่า ปิณฺฑทายิกา ได้แก่ ทหารใหญ่ที่กล้าตายเก่งกาจ.
               ได้ยินว่า ทหารพวกนั้นเข้ากองทัพข้าศึก ตัดศีรษะข้าศึกเหมือนก้อนข้าวแล้วนำไป. อธิบายว่า กระโดดพรวดออกไป. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ปิณฺฑทายิกา นี้เป็นชื่อของผู้ที่ถือถาดอาหารเข้าไปให้แก่ทหาร ท่ามกลางสงคราม.
               บทว่า อุคฺคา จ ราชปุตฺตา ได้แก่ พวกราชบุตรที่เข้าสงคราม มีชื่อว่าอุคคะ- อุคคตะ.
               บทว่า ปกฺขนฺทิโน ได้แก่ ทหารเหล่าใดกล่าวว่า พวกเราจะนำศีรษะหรืออาวุธของใครๆ มา ครั้นได้รับคำสั่งว่าของคนโน้น ก็แล่นเข้าสู่สงคราม นำสิ่งที่สั่งนั้นนั่นแหละมาได้ ทหารเหล่านี้ชื่อว่า ปกฺขนฺทิโน ด้วยอรรถว่า แล่นไป (หน่วยจู่โจม).
               บทว่า มหานาคา ได้แก่ เป็นผู้กล้ามากเหมือนพระยานาค.
               คำว่า มหานาคา นี้เป็นชื่อของหมู่ทหารที่แม้เมื่อช้างเป็นต้นวิ่งมาตรงหน้า ก็ไม่ถอยกลับ.
               บทว่า สูรา ได้แก่ กล้าที่สุด ซึ่งคลุมด้วยตาข่ายก็ตาม สวมเกราะหนังก็ตาม ก็สามารถข้ามทะเลได้.
               บทว่า จมฺมโยธิโน ได้แก่ พวกที่สวมเสื้อหนัง หรือถือโล่หนัง. สำหรับต้านลูกธนูรบ.
               บทว่า ทาสิกปุตฺตา ได้แก่ พวกลูกทาสในเรือนซึ่งรักนายเป็นกำลัง.
               บทว่า อาฬาริกา ได้แก่ พวกทำขนม.
               บทว่า กปฺปิกา ได้แก่ พวกช่างกัลบก.
               บทว่า นฺหาปิกา ได้แก่ พนักงานเครื่องสรง.
               บทว่า สูทา ได้แก่ พวกทำอาหาร.
               พวกช่างดอกไม้เป็นต้น แจ่มแจ้งอยู่แล้ว.
               บทว่า คณกา ได้แก่ พวกพูดไม่มีช่องให้ถาม.
               บทว่า มุทฺธิกา ได้แก่ พวกอาศัยวิชานับหัวแม่มือเลี้ยงชีพ.
               บทว่า ยานิ วาปนญฺญานิปิ ได้แก่ พวกช่างเหล็ก ช่างฉลุงาและช่างเขียนลวดลายเป็นต้น.
               บทว่า เอวํ คตานิ ได้แก่ เป็นไปอย่างนี้.
               บทว่า เต ทิฎฺเฐว ธมฺเม ความว่า พวกพลช้างเป็นต้นเหล่านั้นแสดงศิลปศาสตร์มากอย่างเหล่านั้น ได้สมบัติมากจากราชสกุล เข้าไปอาศัยผลแห่งศิลปะที่เห็นประจักษ์นั่นแหละเลี้ยงชีพอยู่ได้.
               บทว่า สุเขนฺติ แปลว่า ทำให้เป็นสุข.
               บทว่า ปิเณนฺติ ได้แก่ ทำให้เอิบอิ่มมีเรี่ยวแรงและกำลัง.
               บทว่า อุทฺธคฺคิกา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ที่ชื่อว่า อุทฺธคฺคิกา เพราะอรรถว่า มีผลเลิศเหนือผลที่เกิดสูงขึ้นไป.
               ชื่อว่า โสวคฺคิกา เพราะอรรถว่า ควรซึ่งอารมณ์ดีเลิศ
               ที่ชื่อว่า สุขวิปากา เพราะอรรถว่า มีสุขเป็นวิบาก.
               ที่ชื่อว่า สคฺคสํวตฺตนิกา เพราะอรรถว่า ยังธรรม ๑๐ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อายุ วรรณะ สุข ยศ และความยิ่งใหญ่อย่างดีเลิศให้เป็นไปคือให้เกิด. อธิบายว่า ตั้งทักษิณาทานเห็นปานนั้นไว้.
               ในบทว่า สามญฺญผลํ นี้ โดยปรมัตถ์ สามัญญะหมายถึงมรรค สามัญญผลหมายถึงอริยผล. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๗-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญะเป็นไฉน มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่เป็นอริยะนี้แหละเป็นสามัญญะ
               มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่เป็นอริยะ คืออะไรบ้าง? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สามัญญะ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญผลเป็นไฉน? โสดาปัตติผล ฯลฯ อรหัตตผล
               นี้แหละเป็นสามัญญผล
____________________________
๗- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๐๐

               พระราชาองค์นี้มิได้ถึงสามัญญผลนั้น ก็พระองค์ตรัสถามทรงหมายถึงสามัญญผลที่เปรียบด้วยทาสและชาวนาซึ่งมีมาได้อย่างสูง.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงวิสัชนาปัญหาทันที ทรงพระดำริว่า อำมาตย์ของพระราชาเหล่านี้ที่เป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์มากหลายมาในที่นี้ พวกอำมาตย์เหล่านั้น เมื่อเรากล่าวแสดงฝ่ายดำและฝ่ายขาว จักติเตียนว่า พระราชาของพวกเราเสด็จมาในที่นี้ด้วยอุตสาหะใหญ่ ตั้งแต่พระองค์เสด็จมาแล้ว พระสมณโคดมตรัสความโกลาหลของสมณะให้เป็นเรื่องสมณะทะเลาะกันเสีย จักไม่ฟังธรรมโดยเคารพ. แต่เมื่อพระราชาตรัส พวกอำมาตย์จักไม่อาจติเตียน จักอนุวัตรตามพระราชาเท่านั้น. ธรรมดาชาวโลกย่อมอนุวัตรตามผู้เป็นใหญ่ ตกลงเราจะทำให้เป็นภาระของพระราชาแต่ผู้เดียว
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำให้เป็นภาระของพระราชา จึงตรัสว่า อภิชานาสิ โน ตฺวํ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิชานาสิ โน ตฺวํ เท่ากับ อภิชานาสิ นุ ตฺวํ และ โน ศัพท์นี้พึงประกอบด้วยบท ปุจฺฉิตา ข้างหน้า.
               อธิบายว่า มหาบพิตร ปัญหานี้พระองค์เคยถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นบ้างหรือหนอ. พระองค์ยังจำได้ถึงภาวะที่ถามปัญหานั้น พระองค์มิได้ทรงลืมสมณพราหมณ์เหล่านั้นหรือ.
               บทว่า สเจ เต อครุ ความว่า ถ้าสมณพราหมณ์นั้นๆ พยากรณ์อย่างไร การที่พระองค์ตรัสอย่างนั้นในที่นี้จะไม่เป็นการหนักพระทัยแก่พระองค์. อธิบายว่า ถ้าจะไม่มีความไม่ผาสุกอะไรๆ ขอให้พระองค์ตรัสเถิด.
               บทว่า น โข เม ภนฺเต นี้ พระราชาตรัสหมายถึงอะไร?
               หมายถึงว่า ก็การกล่าวในสำนักของบัณฑิตเทียมทั้งหลาย ย่อมเป็นความลำบาก. บัณฑิตเทียมเหล่านั้นย่อมให้โทษทุกๆ บททุกๆ อักษรทีเดียว. ส่วนท่านที่เป็นบัณฑิตแท้ ฟังถ้อยคำแล้ว ย่อมสรรเสริญคำที่กล่าวดี ในถ้อยคำที่กล่าวไม่ดี ผิดบาลีผิดบทผิดอรรถและผิดพยัญชนะตรงแห่งใดๆ บัณฑิตแท้ย่อมช่วยทำให้ถูกตรงแห่งนั้นๆ.
               ก็ขึ้นชื่อว่าบัณฑิตแท้อย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทูลว่า ณ ที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือท่านผู้เปรียบด้วยพระผู้พระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจ พระเจ้าข้า.

               ปูรณกสฺสปวาทวณฺณนา               
               ในบทว่า เอกมิทาหํ นี้ ตัดบทเป็น เอกํ อิธ อหํ แปลว่า สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉัน.
               บทว่า สมฺโมทนียํ ได้แก่ สาราณียํ วีติสาเรตฺวา ความว่า ยังถ้อยคำที่ให้เกิดความบันเทิง ควรให้ระลึกถึงกันจบลงแล้ว.
               ในคำว่า กโรโต โข มหาราช การยโต เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า กโรโต ได้แก่ กระทำด้วยมือของตน.
               บทว่า การยโต ได้แก่ บังคับให้ทำ.
               บทว่า ฉินฺทโต ได้แก่ ตัดมือเป็นต้นของคนอื่น.
               บทว่า ปจโต ได้แก่ ใช้อาชญาเบียดเบียนบ้าง คุกคามบ้าง.
               บทว่า โสจยโต ความว่า ทำเขาให้เศร้าโศกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เขาเศร้าโศกบ้าง ด้วยการลักสิ่งของของผู้อื่นเป็นต้น.
               บทว่า กิลมยโต ความว่า ให้เขาลำบากเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เขาลำบากบ้าง ด้วยการตัดอาหารและใส่เรือนจำเป็นต้น.
               บทว่า ผนฺทโต ผนฺทาปยโต ความว่า ในเวลาที่ผูกมัดผู้อื่นซึ่งดิ้นรนอยู่ แม้ตนเองก็ดิ้นรน ทำผู้อื่นให้ดิ้นรน.
               บทว่า ปาณมติปาตาปยโต ความว่า ฆ่าเองบ้าง ให้ผู้อื่นฆ่าบ้างซึ่งสัตว์มีชีวิต.
               ในทุกบท พึงทราบเนื้อความด้วยสามารถแห่งการกระทำเองและการให้ผู้อื่นกระทำนั่นแหละด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สนฺธึ ได้แก่ ที่ต่อเรือน.
               บทว่า นิลฺโลปํ ได้แก่ ปล้นยกใหญ่.
               บทว่า เอกาคาริกํ ได้แก่ ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวเท่านั้น.
               บทว่า ปริปนฺเถ ได้แก่ ยืนดักอยู่ที่ทางเพื่อชิงทรัพย์ของคนที่ผ่านไปมา.
               ด้วยคำว่า กโรโต น กริยาติ ปาปํ แสดงว่า แม้เมื่อทำด้วยเข้าใจว่า เราทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง บาปไม่เป็นอันทำ บาปไม่มี. แต่สัตว์ทั้งหลายเข้าใจกันเองอย่างนี้ว่า เราทำ.
               บทว่า ขุรปริยนฺเตน ความว่า ใช้จักรที่มีกงคมเหมือนมีดโกน หรือมีวงกลมคม เช่นคมมีดโกน.
               บทว่า เอกมํสขลํ ได้แก่กองเนื้อกองเดียว.
               บทว่า ปุญฺชํ เป็นไวพจน์ของบทว่า ขลํ นั่นเอง.
               บทว่า ตโตนิทานํ ความว่า มีการทำให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกันเป็นเหตุ.
               บทว่า ทกฺขิณํ ความว่า พวกมนุษย์ในฝั่งขวาเป็นคนหยาบช้าทารุณ ท่านกล่าวว่า หนนฺโต เป็นต้น หมายถึงมนุษย์เหล่านั้น.
               พวกมนุษย์ในฝั่งซ้ายเป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของตน ท่านกล่าวคำว่า ททนฺโต เป็นต้น หมายถึงมนุษย์เหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยชนฺโต ได้แก่ ทำการบูชาใหญ่.
               บทว่า ทเมน ได้แก่ ด้วยการฝึกอินทรีย์หรือด้วยอุโบสถกรรม.
               บทว่า สญฺญเมน ได้แก่ การสำรวมศีล.
               บทว่า สจฺจวาเจน ได้แก่ ด้วยการพูดคำจริง.
               บทว่า อาคโม ความว่า มา คือเป็นไป.
               ครูปูรณกัสสปปฏิเสธการทำบาปและบุญนั่นเอง แม้โดยประการทั้งปวง.
               ที่ชื่อว่า เมื่อถูกถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ ได้แก่ คนที่เมื่อถูกถามว่า มะม่วงเป็นเช่นไร หรือลำต้นใบดอกผลของมะม่วงเป็นเช่นไรดังนี้แล้ว. ตอบว่า ขนุนสำมะลอเป็นอย่างนี้ ลำต้นใบดอกผลของขนุนสำมะลอเป็นอย่างนี้.
               บทว่า วิชิเต ได้แก่ ในประเทศที่อยู่ในอำนาจปกครอง.
               บทว่า อปสาเทตพฺพํ ความว่า พึงเบียดเบียน.
               บทว่า อนภินนฺทิตฺวา ได้แก่ ไม่ทำการสรรเสริญอย่างนี้ว่า ดีละๆ.
               บทว่า อปฺปฏิกฺโกสิตฺวา ได้แก่ ไม่ห้ามอย่างนี้ว่า แน่ะคนโง่ ท่านพูดไม่ดี.
               บทว่า อนุคฺคณฺหนฺโต ได้แก่ ไม่ถือเอาเป็นสาระ.
               บทว่า อนิกฺกุชฺเชนฺโต ได้แก่ ไม่เก็บไว้ในใจว่า นี้เป็นนิสสรณะ นี้เป็นปรมัตถ์ เพราะถือเป็นสาระได้ทีเดียว. แต่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงศึกษาพยัญชนะแล้วทรงทิ้งเสีย.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :