ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 965อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 979อ่านอรรถกถา 8 / 988อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
เอกุตตริกะ หมวด ๕

               [พรรณนาหมวด ๕]               
               วินิจฉัยในหมวด ๕ พึงทราบดังนี้ :-
               ข้อว่า ปญฺจ ปุคฺคลา นิยตา นี้ บ่งถึงบุคคลผู้ทำอนันตริยกรรมนั่นเอง.
               ขึ้นชื่อว่าอาบัติ มีการตัดเป็นวินัยกรรม ๕ พึงทราบในเพราะเตียงตั่งและผ้าปูนั่ง ผ้าปิดฝี ผ้าอาบน้ำฝนและสุคตจีวร ซึ่งเกินประมาณ.
               บทว่า ปญฺจหากาเรหิ มีความว่า ภิกษุย่อมต้องอาบัติ ด้วยอาการ ๕ เหล่านี้ คือ ความเป็นผู้ไม่ละอาย ความไม่รู้ ความเป็นผู้สงสัยแล้วขืนทำ ความเป็นผู้มีความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความเป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร.
               ข้อว่า ปญฺจาปตฺติโย มุสาวาทปจฺจยา ได้แก่ ปาราชิก ถุลลัจจัย ทุกกฏ สังฆาทิเสส และปาจิตตีย์.
               บทว่า อนามนฺตจาโร ได้แก่ ความไม่มีแห่งการต้องบอกลาจึงเทียวไปนี้ว่า ภิกษุไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในสกุลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี.
               บทว่า อนธิฏฺฐานํ มีความว่า การฉันต้องคำนึงถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะฉันเป็นหมู่ ชื่อว่าความคำนึง. การที่ไม่ต้องทำอย่างนั้น ชื่อว่าความไม่ต้องคำนึง.
               ความหมายอันใด ในโภชนะทีหลัง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว, การที่ไม่ต้องทำความหมายอันนั้น ชื่อว่าความไม่ต้องหมาย.
               จริงอยู่ ๕ วัตถุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามแล้วด้วยธุดงค์ของภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั่นเอง.
               บทว่า อุสฺสงฺกิตปริสงฺกิโต มีความว่า เป็นผู้อันภิกษุทั้งหลายผู้ได้เห็นได้ฟัง ระแวงแล้วและรังเกียจแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแม้เป็นพระขีณาสพ ผู้มีอันไม่กำเริบเป็นธรรมดา ก็เป็นผู้ถูกระแวงถูกรังเกียจ. เพราะเหตุนั้น อโคจรทั้งหลาย อันภิกษุพึงเว้น. จริงอยู่ ภิกษุผู้ปรากฏเสมอในอโคจรเหล่านั้น ย่อมไม่พ้นจากความเสื่อมยศ หรือจากความติเตียน.

               [ว่าด้วยผ้าบังสุกุลเป็นอาทิ]               
               บทว่า โสสานิกํ ได้แก่ ผ้าที่ตกที่ป่าช้า.
               บทว่า อาปณิกํ ได้แก่ ผ้าที่ตกที่ประตูตลาด.
               บทว่า ถูปจีวรํ ได้แก่ ผ้าที่เขาห่มจอมปลวกทำพลีกรรม.
               บทว่า อภิเสกิกํ ได้แก่ จีวรที่เขาทิ้งที่สถานที่อาบน้ำ หรือที่สถานที่อภิเษกของพระราชา.
               บทว่า คตปฏิยาคตํ ได้แก่ ผ้าที่เขานำไปสู่ป่าช้าแล้วนำกลับมาอีก.
               มหาโจร ๕ จำพวก ได้กล่าวแล้วในอุตริมนุสธัมมสิกขาบท.๑-
               ข้อว่า ปญฺจาปตฺติโย กายโต สมุฏฺฐหนฺติ มีความว่า ภิกษุต้องอาบัติ ๕ ด้วยสมุฏฐานแห่งอาบัติที่ ๑ ได้แก่ อาบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอันตรเปยยาลอย่างนี้ว่า ภิกษุมีความสำคัญว่าควรทำกุฏีด้วยการขอเขาเอง.
               ข้อว่า ปญฺจาปตฺติโย กายโต จ วาจโต จ มีความว่า ภิกษุย่อมต้องอาบัติ ๕ ด้วยสมุฏฐานแห่งอาบัติที่ ๓ คือ ย่อมต้องอาบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอันตรเปยยาลนั้นแลอย่างนี้ว่า ภิกษุมีความสำคัญว่าควร ชักชวนกันทำกุฎี ดังนี้.
               บทว่า เทสนาคามินิโย มีความว่า เว้นปาราชิกและสังฆาทิเสสเสีย ได้แก่อาบัติที่เหลือ.
               สองบทว่า ปญฺจ กมฺมานิ ได้แก่ กรรม ๕ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรมและปฏิสารณีกรรมรวม ๔ และอุกเขปนียกรรมทั้ง ๓ อย่าง ๑.
               สองบทว่า ยาวตติยเก ปญฺจ ได้แก่ อาบัติ ๓ คือ ปาราชิก ถุลลัจจัย ทุกกฏของภิกษุณีผู้ประพฤติตามภิกษุผู้อันสงฆ์ยกวัตร ผู้ไม่ยอมสละ เพราะสมนุภาสน์ เพียงครั้งที่ ๓ สังฆาทิเสส เพราะสมนุภาสน์ในเภทกานุวัตตกสิกขาบทเป็นต้น. ปาจิตตีย์ เพราะไม่ยอมสละทิฏฐิลามก.
               บทว่า อทินฺนํ ได้แก่ ของที่ผู้อื่นไม่ประเคน.
               บทว่า อวิทิตํ ได้แก่ ชื่อว่าไม่ทราบ เพราะไม่มีเจตนาว่า เรารับประเคน.
               บทว่า อกปฺปิยํ ได้แก่ ของที่ไม่ได้ทำให้ควร ด้วยสมณกัปปะ ๕. ก็หรือว่าเนื้อที่ไม่ควร โภชนะที่ไม่ควร แม้อื่น ก็ชื่อว่าของไม่ควร.
               บทว่า อกตาติริตฺตํ ได้แก่ ของภิกษุห้ามโภชนะแล้ว ไม่ได้ทำให้เป็นเดน.
               บทว่า สมชฺชทานํ ได้แก่ การให้มหรสพคือฟ้อนเป็นต้น.
               บทว่า อุสภทานํ ได้แก่ การปล่อยโคผู้ในภายในแห่งฝูงโค.
               บทว่า จิตตกมฺมทานํ มีความว่า การที่ให้สร้างอาวาสแล้วทำจิตรกรรมในอาวาสนั้น สมควร. แต่คำว่า จิตฺตกมฺมทานํ นี้ท่านกล่าวหมายเอาการให้จิตรกรรมที่เป็นลายรูปภาพ.
               จริงอยู่ ทาน ๕ อย่างนี้ โลกสมมติกันว่าเป็นบุญก็จริง แต่ที่แท้ หาเป็นบุญไม่ คือเป็นอกุศลนั่นเอง.
               ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะพูด เรียกว่าปฏิภาณ ในคำว่า อุปฺปนฺนํ ปฏิภาณํ นี้. ความว่า ธรรม ๕ อย่างนี้อันบุคคลบรรเทาได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบรรเทาได้ไม่ง่าย. แต่บุคคลอาจบรรเทาได้ด้วยเหตุที่เป็นอุบาย คือด้วยการพิจารณาและพร่ำสอนเป็นต้น ที่เหมาะกัน.
____________________________
๑- มหาวิภังค์ ๑/๑๖๙.


               [อานิสงส์แห่งการกวาด]               
               ใน ๒ บทว่า สกจิตฺตํ ปสีทติ นี้ มีเรื่องเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า พระปุสสเทวเถระ ผู้อยู่ที่กาฬันทกาฬวิหาร กวาดลานเจดีย์ ทำอุตรางสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แลดูลานเจดีย์ซึ่งเกลี่ยทรายไว้เรียบร้อย ราวกะลาดด้วยดอกย่างทราย ให้เกิดปีติและปราโมทย์มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ได้ยืนอยู่แล้ว. ในขณะนั้น มารได้จำแลงเป็นลิงดำเกิดแล้วที่เชิงเขา เรี่ยรายโคมัยไว้เกลื่อนที่ลานเจดีย์ ไปแล้ว. พระเถระไม่ได้อาจเพื่อบรรลุพระอรหัต, กวาดแล้ว ได้ไปเสีย. แม้ในวันที่ ๒ มาร ได้จำแลงเป็นโคแก่ กระทำประการแปลกเช่นนั้นนั่นแล. ในวันที่ ๓ ได้นิรมิตอัตภาพเป็นมนุษย์ มีเท้าเก เดินเอาเท้าคุ้ยรอบไป.
               พระเถระคิดว่า บุรุษแปลกเช่นนี้ ไม่มีในโคจรคามประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ นี่คงเป็นมารแน่ละ จึงกล่าวว่า เจ้าเป็นมารหรือ?. มารตอบว่า ถูกละผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นมาร บัดนี้ไม่ได้อาจเพื่อจะลวงท่านละ. พระเถระถามว่า ท่านเคยเห็นพระตถาคตหรือ?. มารตอบว่า แน่ละเคยเห็น พระเถระกล่าวว่า ธรรมดามารย่อมเป็นผู้มีอานุภาพใหญ่ เชิญท่านนิรมิตอัตภาพให้คล้ายอัตภาพของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าก่อน. มารกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถนิรมิตรูปเช่นนั้น ผู้เจริญ แต่เอาเถอะ ข้าพเจ้าจักนิมิตรูปเทียมที่จะพึงเห็นคล้ายรูปนั้น ดังนี้แล้วได้จำแลงเพศของตนตั้งอยู่ด้วยอัตภาพคล้ายพระรูปของพระพุทธเจ้า. พระเถระแลดูมารแล้วคิดว่า มารนี้ มีราคะ โทสะ โมหะ ยังงามถึงเพียงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงงามอย่างไรหนอ? เพราะว่า พระองค์ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยประการทั้งปวง ดังนี้แล้ว ได้ปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้ว. มารกล่าวว่า ผู้เจริญ ข้าพเจ้าถูกท่านลวงแล้ว. ฝ่ายพระเถระกล่าวว่า มารแก่ จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะลวงคนเช่นท่าน.
               ภิกษุหนุ่มชื่อทัตตะ แม้ในโลกันตรวิหาร กวาดลานเจดีย์แล้วแลดู ได้โอทาตกสิณ, ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้ว, ภายหลังเจริญวิปัสสนา กระทำให้แจ้งซึ่งผล ๓.
               ใน ๒ บทว่า ปรจิตฺตํ ปสีทติ นี้ มีเรื่องเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์.
               ภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ กวาดลานเจดีย์ใกล้ท่าชัมพุโกละแล้ว ได้เอามือถือตะกร้าเทหยากเยื่อเที่ยวยืนอยู่. ในขณะนั้น พระเถระชื่อติสสทัตตะลงจากเรือ แลดูลานเจดีย์ ทราบว่า เป็นสถานที่เธอผู้มีจิตอบรมแล้วกวาดไว้ จึงถามปัญหาตั้งพันนัย. ฝ่ายพระติสสะแก้ได้ทั้งหมด.
               พระเถระในวิหารแม้บางตำบล กวาดลานเจดีย์แล้ว ทำวัตรเสร็จ. พระเถระ ๔ รูปผู้ไหว้เจดีย์มาจากโยนกประเทศ เห็นลานเจดีย์แล้ว ไม่เข้าข้างใน ยืนอยู่ที่ประตูนั่นเอง. พระเถระรูปหนึ่งตามระลึกได้ ๘ กัป รูปหนึ่งตามระลึกได้ ๑๖ กัป รูปหนึ่งตามระลึกได้ ๒๐ กัป รูปหนึ่งตามระลึกได้ ๓๐ กัป.
               ในคำว่า เทวตา อตฺตมนา โหนฺติ นี้ มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่ง ในวิหารตำบล ๑ กวาดลานเจดีย์และลานโพธิ์แล้ว ไปอาบน้ำ. เทพดาทั้งหลายมีจิตเลื่อมใสว่า ตั้งแต่กาลที่สร้างวิหารนี้มา ไม่มีภิกษุที่เคยบำเพ็ญวัตรกวาดอย่างนี้ จึงพากันมา ได้ยืนถือดอกไม้อยู่ในมือ. พระเถระมาแล้วกล่าวว่า พวกท่านเป็นชาวบ้านไหน? เทพดาจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าอยู่ที่นี่เอง เลื่อมใสในวัตรของท่านว่า ตั้งแต่กาลที่สร้างวิหารนี้มา ไม่มีภิกษุที่เคยบำเพ็ญวัตรกวาดอย่างนี้ จึงยืนถือดอกไม้อยู่ในมือ.
               ในบทว่า ปสาทิกสํวตฺตนิยํ นี้ มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า ถ้อยคำนี้ปรารภบุตรอมาตย์คนหนึ่งและพระอภัยเถระ เกิดขึ้นว่า บุตรอมาตย์จะเป็นผู้น่าเลื่อมใส หรือว่าพระอภัยเถระจะเป็นผู้น่าเลื่อมใสหนอ? ญาติทั้งหลายพูดกันว่า เราทั้งหลายจักแลดูชนทั้ง ๒ นั้นในที่เดียวกัน จึงแต่งตัวบุตรอมาตย์แล้วได้พากันไปด้วยความคิดว่า จักให้ไหว้พระมหาเจดีย์. ฝ่ายมารดาของพระเถระ ให้ทำจีวรมีราคาบาทหนึ่ง๑- ส่งไปให้บุตรด้วยสั่งว่า บุตรของเราจงให้ปลงผมแล้วห่มจีวรนี้ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมจงไหว้พระมหาเจดีย์. บุตรอมาตย์มีญาติห้อมล้อมขึ้นสู่ลานเจดีย์ ทางประตูด้านปราจีน. พระอภัยเถระมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ขึ้นสู่ลานเจดีย์ทางประตูด้านทักษิณ มาพบกับบุตรอมาตย์นั้นที่ลานเจดีย์ จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านเทหยากเยื่อในที่ซึ่งพระมหัลลกเถระได้กวาดไว้จะจับคู่แข่งกับเราหรือ? ได้ยินว่า ในอัตภาพที่ล่วงไปแล้วพระอภัยเถระเป็นพระมหัลลกเถระ ได้กวาดลานเจดีย์ที่กาชรคาม. บุตรอมาตย์เป็นมหาอุบาสก ถือหยากเยื่อไปเทในที่ซึ่งท่านกวาดไว้.
               หลายบทว่า สตฺถุ สาสนํ กตํ โหติ มีความว่า ชื่อว่า วัตรคือการกวาดนี้ อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญ.
               เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ทำวัตรคือการกวาดนั้น จึงเป็นอันได้ทำตามคำสอนของพระศาสดา. เรื่องต่อไปนี้ เป็นอุทาหรณ์ในข้อนั้น.
               ได้ยินว่า พระสารีบุตรไปสู่หิมวันตประเทศ ไม่กวาดก่อนนั่งเข้านิโรธที่เงื้อมตำบลหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกถึง ก็ทรงทราบความที่พระเถระไม่กวาดก่อนนั่ง จึงเสด็จมาทางอากาศทรงแสดงรอยพระบาทไว้ในที่ซึ่งมิได้กวาดข้างหน้าพระเถระแล้วเสด็จกลับ. พระเถระออกจากสมาบัติแล้ว เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประจงตั้งไว้ซึ่งความละอายและและความเกรงกลัวอย่างแรงกล้า คุกเข่าลงคิดว่า พระศาสดาได้ทรงทราบความที่เราไม่กวาดก่อนนั่งแล้วหนอ บัดนี้เราจักขอให้พระองค์ทรงทำการทักท้วงในท่ามกลางสงฆ์ ไปสู่สำนักของพระทศพล ถวายบังคมแล้วนั่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอไปไหน? สารีบุตร แล้วตรัสว่า บัดนี้ การที่ไม่กวาดก่อนนั่ง ไม่สมควรแก่เธอ ผู้ตั้งอยู่ในตำแหน่งเป็นรองถัดเราไป.
               จำเดิมแต่นั้นมา พระเถระเมื่อยืน แม้ในสถานที่ปลดลูกดุม ได้เอาเท้าเขี่ยหยากเยื่อแล้วจึงยืน.
____________________________
๑- บาลีบางฉบับเป็น ปาสทิกํ แปลว่า น่าเลื่อมใสก็มี.

               [ว่าด้วยองค์ของพระวินัยธร]               
               หลายบทว่า อตฺตโน ภาสปริยนฺตํ น อุคฺคณฺหาติ มีความว่า ไม่กำหนดที่สุดแห่งถ้อยคำของตน อย่างนี้ว่า ในคดีนี้ ได้สูตรเท่านี้ ได้วินิจฉัยเท่านี้ เราจักกล่าวสูตรและวินิจฉัยเท่านี้.
               แต่เมื่อไม่กำหนดอย่างนี้ว่า นี้เป็นคำต้น นี้เป็นคำหลังของโจทก์ นี้เป็นคำต้น นี้เป็นคำหลังของจำเลย ในคำของโจทก์และจำเลยนี้ คำที่ควรเชื่อถือเท่านี้ คำที่ไม่ควรเชื่อถือเท่านี้ ชื่อว่า ไม่กำหนดที่สุดแห่งถ้อยคำของผู้อื่น.
               สองบทว่า อาปตฺตึ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักความทำต่างกันแห่งอาบัติ ๗ กองว่า ปาราชิกหรือสังฆาทิเสส เป็นต้น.
               บทว่า มูลํ มีความว่า มูลของอาบัติมี ๒ คือ กายและวาจา ไม่รู้จักมูล ๒ นั้น.
               บทว่า สมุทยํ มีความว่า สมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ ชื่อว่าเหตุเกิดของอาบัติ ไม่รู้จักเหตุของอาบัติ ๖ นั้น. มีคำอธิบายว่า ไม่รู้จักวัตถุของอาบัติมีปาราชิกเป็นต้นบ้าง.
               บทว่า นิโรธํ มีความว่า ไม่รู้จักเหตุดับของอาบัติอย่างนี้ว่า อาบัตินี้ย่อมดับคือย่อมระงับด้วยการแสดง อาบัตินี้ด้วยการอยู่กรรม.
               อนึ่ง เมื่อไม่รู้จักสมถะ ๗ ชื่อว่าไม่รู้จักข้อปฏิบัติเป็นทางให้ถึงความดับแห่งอาบัติ.
               วินิจฉัยในหมวด ๕ แห่งอธิกรณ์ พึงทราบดังนี้ :-
               ความว่า ไม่รู้วิภาคนี้ คือ อธิกรณ์ ๔ ชื่อว่าอธิกรณ์. มูล ๓๓ ชื่อว่ามูลแห่งอธิกรณ์. วิวาทาธิกรณ์มีมูล ๑๒. อนุวาทาธิกรณ์มีมูล ๑๔. อาปัตตาธิกรณ์มีมูล ๖. กิจจาธิกรณ์มีมูล ๑. มูลเหล่านั้นจักมีแจ้งข้างหน้า.
               สมุฏฐานแห่งอธิกรณ์ ชื่อว่าเหตุเกิดแห่งอธิกรณ์. วิวาทาธิกรณ์อาศัยเภทกรวัตถุ ๑๘ เกิดขึ้น อนุวาทาธิกรณ์อาศัยวิบัติ ๔ เกิดขึ้น อาปัตตาธิกรณ์อาศัยกองอาบัติ ๗ เกิดขึ้น กิจจาธิกรณ์อาศัยสังฆกิจ ๔ อย่างเกิดขึ้น.
               สองบทว่า อธิกรณนิโรธํ น ชานาติ มีความว่า ไม่อาจเพื่อจะหยั่งถึงเค้าเงื่อนจากเค้าเงื่อน ให้วินิจฉัยถึงความระงับโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสนา.
               อนึ่ง เมื่อไม่รู้จักสมถะ ๗ อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๒ อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๔ อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๓ อธิกรณ์นี้ระงับด้วยสมถะ ๑ ชื่อว่าไม่รู้จักข้อปฏิบัติเป็นทางให้ถึงความดับแห่งอธิกรณ์.
               สองบทว่า วตฺถุํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักวัตถุแห่งอาบัติ ๗ กองอย่างนี้ว่า นี้เป็นวัตถุแห่งปาราชิก นี้เป็นวัตถุแห่งสังฆาทิเสส.
               บทว่า นิทานํ ได้แก่ ไม่รู้ว่า สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติแล้วในนครนี้ บรรดานครทั้งหลาย ๗ สิกขาบทนี้ ทรงบัญญัติในนครนี้.
               สองบทว่า ปญฺญตฺตึ น ชานาติ ได้แก่ ผู้ไม่รู้จักบัญญัติแรกในสิกขาบทนั้นๆ.
               บทว่า อนุปญฺญตฺตึ ได้แก่ ไม่รู้จักบัญญัติเพิ่มเติม.
               บทว่า อนุสนฺธิวจนปถํ ได้แก่ ไม่รู้จักเพื่อจะกล่าวด้วยอำนาจความสืบเนื่องกันแห่งถ้อยคำ และความสืบเนื่องกันแห่งวินิจฉัย.
               สองบทว่า ญตฺตึ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักญัตติทุกๆ อย่าง.
               หลายบทว่า ญตฺติยา กรณํ น ชานาติ มีความว่า ไม่รู้จักกิจที่จะพึงทำด้วยญัตติ. ชื่อว่าญัตติกรรม ย่อมใช้ใน ๙ สถาน มีโอสารณาเป็นต้น. ไม่รู้ว่า เป็นผู้เข้ากรรมแล้วด้วยญัตติ ในญัตติทุติยกรรมและญัตติจตุตถกรรม.
               หลายบทว่า น ปุพฺพกุสโล โหติ น อปรกุสโล มีความว่า ไม่รู้จักคำที่จะพึงสวดก่อน และคำที่จะพึงสวดทีหลังบ้าง, ไม่รู้ว่า ธรรมดาญัตติต้องตั้งก่อน ไม่ควรตั้งทีหลัง บ้าง.
               สองบทว่า อกาลญฺญู จ โหติ มีความว่า ไม่รู้จักเวลา คือไม่ได้รับเผดียง ไม่ได้รับเชิญ ก็สวด คือไม่รู้จักทั้งกาลญัตติ ทั้งเขตญัตติ ทั้งโอกาสแห่งญัตติ.

               [ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ป่า]               
               สองบทว่า มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา ได้แก่ ไม่รู้จักอานิสงส์ในธุดงค์ เพราะเป็นคนงมงายด้วยไม่รู้ทั่วทุกๆ อย่าง.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ ได้แก่ ปรารถนาปัจจัยลาภ ด้วยการอยู่ป่านั้น.
               บทว่า ปวิเวกํ ได้แก่ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก.
               บทว่า อิทมฏฺฐิตํ มีวิเคราะห์ว่า ประโยชน์แห่งการอยู่ป่านั้น ย่อมมีด้วยปฏิบัติงามนี้ เพราะเหตุนั้น การอยู่ป่านั้น ชื่อว่า อิทมฏฺฐิ (มีประโยชน์ด้วยการปฏิบัติงามนี้). ความเป็นแห่งการอยู่ป่ามีประโยชน์ด้วยการปฏิบัติงามนี้ ชื่อว่า อิทมฏฺฐิตา, อาศัยการอยู่ป่ามีประโยชน์ด้วยการปฏิบัติงามนี้นั่นแล. อธิบายว่า ไม่อิงโลกามิสน้อยหนึ่งอื่น.

               [ว่าด้วยองค์ของภิกษุผู้ต้องถือนิสัย]               
               สองบทว่า อุโปสถํ น ชานาติ ได้แก่ ไม่รู้จักอุโบสถ ๙ อย่าง.
               บทว่า อุโปสถกมฺมํ ได้แก่ ไม่รู้จักอุโบสถกรรม ๔ อย่าง ต่างโดยชนิดมีเป็นวรรคโดยอธรรมเป็นต้น.
               บทว่า ปาฏิโมกฺขํ ได้แก่ ไม่รู้จักมาติกา ๒ อย่าง.
               บทว่า ปาฏิโมกฺขุทฺเทสํ ได้แก่ ไม่รู้จักปาฏิโมกขุทเทส ๙ อย่างแม้ทั้งหมด.
               บทว่า ปวารณํ ได้แก่ ไม่รู้จักปวารณา ๙ อย่าง. ปวารณากรรมคล้ายกับอุโบสถกรรมนั่นแล.

               [วินิจฉัยในอปาสาทิกปัญจกะ]               
               วินิจฉัยในอปาสาทิกปัญจกะ พึงทราบดังนี้ :-
               อกุศลกรรมมีกายทุจริตเป็นต้น เรียกว่ากรรมไม่น่าเลื่อมใส.
               กุศลกรรมมีกายสุจริตเป็นต้น เรียกว่ากรรมน่าเลื่อมใส.
               บทว่า อติเวลํ มีความว่า คลุกคลีอยู่ในสกุลทั้งหลายเกินเวลา คือสิ้นกาลมากกว่า อยู่ในวิหารน้อย. การที่กิเลสทั้งหลายหยั่งลงในภายใน ชื่อว่าช่อง.
               บทว่า สงฺกิลิฏฺฐํ ได้แก่ อาบัติต่างโดยชนิดในเพราะทุฏฐุลลวาจาและอาบัติในเพราะกายสังสัคคะเป็นอาทิ.
               วินิจฉัยในวิสุทธิปัญจกะ พึงทราบดังนี้ :-
               ปวารณาทั้ง ๙ อย่าง พึงทราบโดยปวารณาศัพท์.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.

               พรรณนาหมวด ๕ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 965อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 979อ่านอรรถกถา 8 / 988อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=8062&Z=8286
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=10434
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=10434
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :