ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1009อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1016อ่านอรรถกถา 8 / 1024อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
คาถาสังคณิกะ ท่านพระอุบาลีเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาเป็นต้น

               ปฐมคาถาสังคณิกวัณณนา               
               บาทคาถาว่า เอกํสํ จีวรํ กตฺวา มีความว่า ท่านกระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง. อธิบายว่า ห่มอุตราสงค์เรียบร้อย.
               บาทคาถาว่า ปคฺคณฺหิตฺวานอญฺชลึ มีความว่า ยกอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยประชุมแห่งนิ้วทั้ง ๑๐.
               บาทคาถาว่า อาสึสมานรูโปว ความว่า ดูเหมือนจะมุ่งหวัง.
               บาทคาถาว่า กิสฺส ตฺวํ อธิมาคโต มีความว่า ท่านปรารถนาประโยชน์อะไร มาในที่นี้ เพราะเหตุไร?
               ใครกล่าวอย่างนี้? พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ตรัสอย่างนั้นกะใคร? กะท่านพระอุบาลี. ท่านพระอุบาลี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามคาถานี้ว่า (สิกขาบทที่ทรงบัญญัติ) ในวินัยทั้ง ๒ (ย่อมมาสู่อุทเทสในวันอุโบสถทั้งหลาย สิกขาบทเหล่านั้น มีเท่าไร? ทรงบัญญัติในนครเท่าไร?) ด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า ปัญญาของท่านดีเป็นต้น ทรงตอบคำถามนั้นของท่าน. มีนัยเหมือนกันทุกปัญหา.
               พระอุบาลีเถระทูลถามปัญหาทั้งปวงเหล่านี้ ในพุทธกาล ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบเอง. ส่วนในสังคีติกาล พระมหากัสสปเถระถาม พระอุบาลีเถระตอบ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บาทคาถาว่า ภทฺทโก เต อุมฺมงฺโค มีความว่า ปัญญาของท่านดี. จริงอยู่ ปัญญาเรียกว่า อุมมังคะ เพราะผุดขึ้นจากมืด คืออวิชชาตั้งอยู่.
               ศัพท์ว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถคือเหตุ. ความว่า ท่านถามเราเพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น เราจักตอบแก่ท่าน.
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถ คือยอมรับ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำ ด้วยคำว่า เอาเถิด. นี้จึงตรัสว่า เราจักตอบ.
               เฉพาะ ๓ สิกขาบทนี้ คือ ติดไฟผิง มือเปื้อนอามิส น้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวสุก ทรงบัญญัติในภัคคชนบท.
               สองบทว่า ยนฺตฺวํ อปุจฺฉิมฺหา มีความว่า ข้าพเจ้าได้ทูลถามปัญหาใดกะพระองค์.
               บทว่า อกิตฺตยิ คือ พระองค์ได้ตรัสแล้ว.
               บทว่า โน คือ แก่ข้าพเจ้า.
               สองบทว่า ตนฺตํ พฺยากตํ มีความว่า คำใดๆ อันข้าพเจ้าได้ทูลถามแล้ว คำนั้นๆ อันพระองค์ได้ทรงแก้แล้ว.
               บทว่าอนญฺญถา ความว่า มิได้ทรงแก้บ่ายเบี่ยงโดยประการอื่น.

               [วิบัติ ๔]               
               ชื่อว่า สีลวิบัติ ย่อมไม่มีในปัญหาในคำว่า เย ทุฏฺฐุลฺลา สา สีลวิปตฺติ นี้ แม้โดยแท้ ถึงกระนั้น คำว่า เย ทุฏฺฐุลฺลา สา สีลวิปตฺติ นี้ ท่านกล่าวแล้ว ด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะแก้ทุฏฐุลลาบัติ.
               จริงอยู่ ในวิบัติ ๔ ทุฏฐุลลาบัติ สงเคราะห์ด้วยวิบัติ ๑ อทุฏฐุลลาบัติ สงเคราะห์ด้วยวิบัติ ๓. เพราะเหตุนั้น ท่านกล่าวว่า เย ทุฏฺฐุลฺลา สา สีลวิปตฺติ แล้ว จึงกล่าวว่า ปาราชิก สังฆาทิเสส เรียกว่า สีลวิบัติ เพื่อแสดงสีลวิบัตินั้นเอง โดยพิสดาร.
               บัดนี้ ท่านกล่าวคำว่า ถุลฺลจฺจยํ เป็นอาทิ เพื่อแสดงอทุฏฐุลลาบัติด้วยอำนาจวิบัติ ๓.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า โย จายํ อกฺโกสติ หสฺสาธิปฺปาโย นี้ ท่านกล่าวเพื่อชี้วัตถุแห่งทุพภาสิต.
               บทว่า อพฺภาจิกฺขติ มีความว่า เมื่อกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวตู่.
               หลายบทว่า อยํ สา อาชีววิปตฺติสมฺมตา มีความว่า ชื่อว่าอาชีววิบัติ ที่ประมวลด้วย ๖ สิกขาบทนี้ สมมติว่าวิบัติที่ ๔ ฉะนี้แล.
               คำถามว่า อทุฏฺฐุลฺลํ นี้ เป็นอันเฉลยแล้ว ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

               [ประมวลสิกขาบท]               
               บัดนี้ ท่านกล่าวคำว่า เอกาทส เป็นอาทิ เพื่อเฉลยปัญหาที่ว่า เย จ ยาวตติยกา. ก็เพราะปัญหาที่ว่า เย จ ยาวตติยกา นี้ ท่านเฉลยแล้วด้วยอำนาจจำนวน อย่างนี้ว่า ยาวตติยกสิกขาบท ๑๑, เพราะฉะนั้น ท่านจึงถามอันตราปัญหาเหล่าอื่น มีคำว่า เฉทนกสิกขาบทมีเท่าใด? เป็นอาทิ ด้วยอำนาจสืบต่อแห่งจำนวนนั่นเอง.
               ท่านกล่าวว่า ฉ เฉทนกานิ เป็นอาทิ ก็เพื่อเฉลยอันตราปัญหาเหล่านั้น. ในคำเฉลยนั้น คำว่า เภทนกสิกขาบท ๑ อุททาลนกสิกขาบท ๑ สิกขาบท ๑๖ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า รู้อยู่ นี้แล ตรัสภายหลัง.
               บทที่เหลือ ได้จำแนกไว้ในมหาวัคค์หมดแล้ว.
               ก็ในคำที่ตรัสภายหลังนั้น สองบทว่า เอกํ เภทนกํ ได้แก่ สูจิฆรสิกขาบท.
               สองบทว่า เอกํ อุทฺทาลนกํ ได้แก่ ตูโลนัทธมัญจปิฐสิกขาบท.
               บทว่า โสรส ได้แก่ โสฬส (คือ ๑๖).
               สองบทว่า ชานนฺติปญฺญตฺตา ได้แก่ สิกขาบทที่ตรัสอย่างนี้ว่า รู้อยู่ ทรงบัญญัติแล้ว.
               สิกขาบทเหล่านั้น พึงทราบอย่างนี้ คือ :-
               ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน รู้อยู่สำเร็จการนอนเบียดภิกษุผู้เข้าไปก่อน รู้อยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์ รดเองก็ตาม ใช้ให้รดก็ตาม ซึ่งหญ้าหรือดิน รู้อยู่ ฉันบิณฑบาต อันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย รู้อยู่ มุ่งหมายจะยกโทษ พอเธอฉันแล้วเป็นปาจิตตีย์ รู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์ รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินเสร็จแล้วโดยธรรม รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบ รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน ๒๐ ให้อุปสมบท รู้อยู่ ชักชวนแล้ว เดินทางสายเดียวกันกับพวกเกวียนพวกต่างที่เป็นโจร รู้อยู่ กินร่วมก็ดี ... กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำธรรมอันสมควร รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้นาสนะแล้ว อย่างนั้น รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล ภิกษุณี รู้อยู่ ไม่โจทด้วยตนเอง ซึ่งภิกษุณีผู้ล่วงธรรมถึงปาราชิก รู้อยู่ ว่าสตรีเป็นนางโจร อันชนทั้งหลายรู้ว่าต้องโทษประหาร ไม่บอก รู้อยู่ ไม่บอกก่อน เข้าไปสู่อารามที่มีภิกษุ.

               [จำแนกสิกขาบท]               
               บัดนี้ ท่านจะเฉลยปัญหาแรกนี้ว่า สาธารณํ อสาธารณํ จึงกล่าวคำว่า วีสํ เทฺว สตานิ เป็นอาทิ.
               บรรดาสิกขาบทที่ทั่วไปและไม่ทั่วไปเหล่านั้น วินิจฉัยในสิกขาบททั้งหลายที่ไม่ทั่วไปด้วยเหล่าภิกษุณี พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า ฉ สงฺฆาทิเสสา ได้แก่ สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท ๑ กายสังสัคคสิกขาบท ๑ ทุฏฐุลลวาจสิกขาบท ๑ อัตตกามปาริจริยสิกขาบท ๑ กุฏิการสิกขาบท ๑ วิหารสิกขาบท ๑.
               สองบทว่า เทฺวอนิยเตหิอฏฺฐิเม ได้แก่ สิกขาบทเหล่านี้รวมเป็น ๘ กับอนิยต ๒ สิกขาบท.
               สองบทว่า นิสฺสคฺคิยา ทฺวาทส ได้แก่ สิกขาบท ๑๒ เหล่านี้ คือ จีวรโธวนะ ๑ จีวรปฏิคคหะ ๑ โกเสยยะ ๑ สุทธกาฬกะ ๑ เทวภาคะ ๑ ฉัพพัสสะ ๑ นิสีทนสันถัต ๑ โลมสิกขาบท ๒ ปฐมปัตตะ ๑ วัสสิกสาฏิกะ ๑ อารัญญกะ คือ สาสังกะ ๑.
               สองบทว่า ทฺวาวีสติ ขุทฺทกา ได้แก่ สิกขา ๒๒ ที่ประกาศแล้วในขุททกกัณฑ์ เหล่านี้ คือ ภิกขุนีวัคค์ทั้งสิ้น ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนติริตตสิกขาบท อภิหัฏฐุปวารณาสิกขาบท ปณีตโภชนสิกขาบท อเจลกสิกขาบท โอนวีสติวัสสสิกขาบท ทุฏฐุลลัจฉาทนสิกขาบท มาตุคามสังวิธานสิกขาบท อนิกขันตราชกสิกขาบท ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ เข้าบ้านในวิกาล นิสีทนสิกขาบท วัสสิกสาฏิกสิกขาบท.
               วินิจฉัยแม้ในสิกขาบทที่ไม่ทั่วไป ด้วยภิกษุทั้งหลาย พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า สงฺฆมฺหา ทส นิสฺสเร ได้แก่ สิกขาบทที่ตรัสไว้ในวิภังค์อย่างนี้ว่า ๑๐ สิกขาบท อันสงฆ์พึงขับออกจากหมู่. แต่ ๑๐ สิกขาบทมาในมาติกาอย่างนี้ว่า สังฆาทิเสสที่ต้องเสีย.
               สองบทว่า นิสฺสคฺคิยานิ ทฺวาทส ได้แก่ นิสสัคคีย์ที่ทรงจำแนกไว้ในภิกขุนีวิภังค์เท่านั้น.
               แม้ขุททกสิกขาบท ก็ได้แก่ ขุททกสิกขาบทที่ทรงจำแนกในภิกขุนีวิภังค์นั้นเอง.
               ปาฏิเทสนียะ ๘ ก็เหมือนกัน. สิกขา ๑๓๐ ของพวกภิกษุณี ไม่ทั่วไปด้วยภิกษุทั้งหลายอย่างนี้.
               ในตอนที่แก้สิกขาบทที่ทั่วไปนี้ คำที่เหลือ ตื้นทั้งนั้น.

               [กองอาบัติที่ระงับไม่ได้]               
               บัดนี้ พระอุบาลีเถระ เมื่อจะแก้ปัญหานี้ว่า ก็กองอาบัติเป็นต้น อันท่านจำแนก ย่อมระงับด้วยสมถะเหล่าใด? ดังนี้ จึงกล่าวว่า บุคคลผู้พ่ายแพ้ ๘ พวกแล เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น ท่านแสดงข้อที่บุคคลผู้พ่าย ๘ พวกนั้นเป็นผู้มีภัยเฉพาะหน้า ด้วยบทว่า ทุราสทา นี้.
               จริงอยู่ ผู้พ่ายเหล่านั้น เป็นราวกะงูเห่าเป็นต้น ยากที่จะเข้าใกล้ คือยากที่จะเข้าเคียง ยากที่จะเข้าหา อันบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อตัดรากเหง้า.
               บทว่า ตาลวตฺถุสมูปมา มีความว่า เปรียบสมด้วยการถอนต้นตาลหมดทั้งต้น กระทำให้เป็นสักว่าวัตถุแห่งตาล. ต้นตาลที่บุคคลกระทำให้เป็นสักว่าวัตถุ เป็นต้นไม้ที่กลับคืนเป็นปกติอีกไม่ได้ฉันใด บุคคลผู้พ่าย ๘ พวกนั้น ย่อมเป็นผู้กลับคืนอย่างเดิมอีกไม่ได้ฉันนั้น.
               พระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงอุปมาที่ทั่วไปอย่างนี้แล้ว จะแสดงอุปมาซึ่งกล่าวเฉพาะสำหรับผู้หนึ่งๆ อีก จึงกล่าวว่า เปรียบเหมือนใบไม้เหลือง เป็นอาทิ.
               บาทคาถาว่า อวิรูฬฺหิ ภวนฺติ เต มีความว่า ใบไม้เหลืองเป็นอาทิเหล่านั่น เป็นของมีอันไม่งอกงาม โดยความเป็นของเขียวสดอีกเป็นต้น เป็นธรรมดาฉันใด, แม้บุคคลผู้พ่ายทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่งอกงามโดยความเป็นผู้มีศีลตามปกติอีกเป็นธรรมดา.
               ในคำว่า ก็กองอาบัติเป็นต้น อันท่านจำแนก ย่อมระงับด้วยสมถะเหล่าใดนี้ คำอย่างนี้ว่า กองอาบัติเป็นต้น อันท่านจำแนก คือปาราชิก ๘ เหล่านี้ก่อน ย่อมไม่ระงับด้วยสมถะเหล่าใดๆ เป็นอันแสดงแล้ว ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

               [กองอาบัติที่ระงับได้]               
               ส่วนคำว่า เตวีสํ สงฺฆาทิเสสา เป็นอาทิ ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงอาบัติเครื่องจำแนกเป็นต้นที่ระงับได้.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ตีหิ สมเถหิ นี้ เป็นคำกล่าวครอบสมถะทั้งหมด.
               จริงอยู่ สังฆาทิเสส ย่อมระงับด้วยสมถะ ๒ เท่านั้น, หาระงับด้วยติณวัตถารกสมถะไม่, ที่เหลือย่อมระงับด้วยสมถะทั้ง ๓.
               คำว่า เทฺว อุโปสถา เทฺว ปวารณา นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจภิกษุและภิกษุณี. จริงอยู่ คำนั่นท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแสดงสักว่าส่วนอันท่านจำแนกเท่านั้น หาได้กล่าวด้วยอำนาจการระงับด้วยสมถะทั้งหลายไม่.
               จริงอยู่ ส่วนอันท่านจำแนก อธิบายว่า ส่วนที่ควรแจกออก ๔ แม้เหล่านี้ คือ ภิกขุอุโบสถ ภิกขุณีอุโบสถ ภิกขุปวารณา ภิกขุณีปวารณา.
               สองบทว่า จตฺตาริ กมฺมานิ ได้แก่ อุโบสถกรรม มีที่เป็นวรรคโดยอธรรมเป็นอาทิ.
               หลายบทว่า ปญฺเจว อุทฺเทสา จตุโร ภวนฺติอนญฺญถา มีความว่า อุทเทสของภิกษุมี ๕ ของภิกษุณีมี ๔ โดยประการอื่น ไม่มี.
               พึงทราบส่วนจำแนกแม้อื่นอีกเหล่านี้ คือ กองอาบัติมี ๗ อธิกรณ์ มี ๔, ก็ส่วนจำแนกเหล่านี้ ย่อมระงับด้วยสมถะทั้งหลาย, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า สตฺตหิ สมเถหิ เป็นอาทิ.
               อีกประการหนึ่ง อาบัติเหล่าใด อาศัยส่วนจำแนกแม้เหล่านี้แล คืออุโบสถ ๒ ปวารณา ๒ กรรม ๔ อุทเทส ๕ อุทเทส ๔ มี, อุทเทสโดยประการอื่น ไม่มี, เกิดขี้นโดยนัยเป็นต้นว่า นสฺสนฺเต เต วินสฺสนฺเต เต, อาบัติเหล่านั้น ย่อมระงับด้วยสมถะทั้งหลาย มีประการดังกล่าวแล้วนั่นแล, เพราะเหตุนั้น ส่วนจำแนกเหล่านั้น อันบัณฑิตพึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงความระงับอาบัติทั้งหลายที่มีส่วนจำแนกนั้นเป็นมูลบ้าง.
               สองบทว่า กิจฺจํ เอเกน มีความว่า กิจจาธิกรณ์ ย่อมระงับด้วยสมถะเดียว.

               [วิเคราะห์ปาราชิก]               
               พระอุบาลี ครั้นแก้ปัญหาทั้งปวงตามลำดับแห่งคำถามอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จะแสดงเพียงคำอธิบายเฉพาะอย่าง แห่งกองอาบัติที่ประมวลไว้ในคำว่า อาปตฺติกฺขนฺธา จ ภวนฺติ สตฺต จึงกล่าวคำว่า ปาราชิกํ เป็นอาทิ.
               บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาที่ ๑ ว่า ปาราชิกํ เป็นต้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               บรรดาบุคคลปาราชิก อาบัติปาราชิก และสิกขาบทปาราชิก ชื่ออาบัติปาราชิกนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว, บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำให้ห่างจากสัทธรรม. เมื่อบุคคลนั้นไม่ถูกขับออก (จากหมู่) ก็ไม่มีสังวาส ต่างโดยอุโบสถและปวารณาเป็นต้นอีก. ด้วยเหตุนั้น ปาราชิกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น คือ เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปาราชิก.
               ก็ในบทว่า ปาราชิกํ นี้ มีความสังเขปดังนี้ :-
               บุคคลย่อมเป็นผู้พ่ายด้วยอาบัติปาราชิกนั้น เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น ท่านจึงกล่าวว่า ปาราชิก.

               [วิเคราะห์สังฆาทิเสส]               
               คำว่า สงฺโฆว เทติ ปริวาสํ เป็นอาทิ ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงแต่เนื้อความเท่านั้น ไม่เอื้อเฟื้อพยัญชนะ แม้ในคาถาที่ ๒.
               ก็ในบทว่า สงฺฆาทิเสโส เป็นอาทินี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
               การออกจากอาบัตินั้นใด ของภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้แล้วใคร่จะออก สงฆ์อันภิกษุนั้นพึงปรารถนา ในกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัตินั้น เพื่อประโยชน์แก่การให้ปริวาส และในกรรมที่เหลือจากกรรมเบื้องต้น คือในท่ามกลาง เพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์ หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์กับมูลายปฏิกัสสนะ และในที่สุดเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน. ก็ในกรรมทั้งหลายมีปริวาสกรรมเป็นต้นนี้ กรรมแม้อย่างหนึ่ง เว้นสงฆ์เสีย อันใครๆ ไม่อาจทำได้ ฉะนี้แล.
               สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่งกองอาบัตินั้น เหตุนั้น กองอาบัตินั้น ชื่อว่าสังฆาทิเสส.

               [วิเคราะห์อนิยต]               
               เนื้อความแห่งคาถาที่ ๓ พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า อนิยโต น นิยโต มีความว่า เพราะไม่แน่ กองอาบัตินี้ จึงได้ชื่อว่าอนิยต.
               คำที่ว่า ไม่แน่ นี้มีอะไรเป็นเหตุ? เพราะสิกขาบทนี้ ปรับอาบัติไม่จำกัดส่วนอันเดียว. อธิบายว่า สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนอันเดียวไม่ได้.
               สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนเดียวไม่ได้อย่างไร? อย่างนี้
               บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง อันพระวินัยธรพึงปรับ.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในอนิยตสิกขาบทนั้นว่า ภิกษุนั้น อันพระวินัยธรพึงปรับด้วยธรรม ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง. เพราะเหตุนั้น กองอาบัตินั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนิยต คือ กล่าวว่า ไม่แน่.
               เหมือนอย่างว่า บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง ท่านกล่าวในกองอาบัตินั้น กองอาบัติ ชื่อว่าอนิยต ฉันใด. บรรดาฐาน ๒ ฐานะอันใดอันหนึ่ง ท่านกล่าวในกองอาบัติใด กองอาบัติแม้นั้น ก็ชื่อว่าอนิยตเหมือนกันฉันนั้น.

               [วิเคราะห์ถุลลัจจัย]               
               เนื้อความแห่งคาถาที่ ๔ พึงทราบดังนี้ :-
               บาทคาถาว่า อจฺจโย เตน สโม นตฺถิ มีความว่า บรรดาโทษที่เป็นเทสนาคามี โทษที่ล่ำ เสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ความละเมิดนั้น ท่านจึงเรียกอย่างนั้น. อธิบายว่า ความละเมิดนั้น ท่านเรียกว่าถุลลัจจัยเพราะเป็นโทษล่ำ.

               [วิเคราะห์นิสสัคคีย์]               
               เนื้อความแห่งคาถาที่ ๕ พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า นิสฺสชฺชิตฺวา ยํ เทเสติ เตเนตํ มีความว่า ความละเมิดนั้น ท่านเรียกนิสสัคคิยะ เพราะต้องสละแล้วจึงแสดง.

               [วิเคราะห์ปาจิตตีย์]               
               เนื้อความคาถาที่ ๖ พึงทราบดังนี้ :-
               บาทคาถาว่า ปาเตติ กุสลํ ธมฺมํ มีความว่า ความละเมิดนั้นยังกุศลจิตกล่าวคือกุศลธรรม ของบุคคลผู้แกล้งต้องให้ตกไป เพราะเหตุนั้น ความละเมิดนั้น ชื่อว่ายังจิตให้ตกไป เพราะฉะนั้น ความละเมิดนั้น ชื่อว่าปาจิตติยะ.
               ก็ปาจิตติยะใด ย่อมยังจิตให้ตกไป, ปาจิตติยะนั้น ย่อมผิดต่ออริยมรรค และย่อมเป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต. เพราะเหตุนั้น คำว่า ผิดต่ออริยมรรค และคำว่า เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต ท่านจึงกล่าวแล้ว.

               [วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ]               
               ในปาฏิเทสนียคาถาทั้งหลาย คำว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่มีญาติ เป็นอาทิ ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงความกระทำความเป็นธรรมที่น่าติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ. ก็อาบัตินั้น ท่านเรียกว่าปาฏิเทสนียะ เพราะจะต้องแสดงคืน.

               [วิเคราะห์ทุกกฏ]               
               เนื้อความแห่งทุกกฏคาถา พึงทราบดังนี้ :-
               คำว่า ผิด แย้ง พลาด นี้ทั้งหมด เป็นคำยักเรียก ทุกกฏที่กล่าวไว้ในคำนี้ว่า ยญฺจ ทุกฺกฏํ.
               จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ. ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค.
               ส่วนคำว่า ยํ มนุสฺโส กเร นี้ แสดงข้อควรเปรียบในทุกกฏนี้.
               เนื้อความแห่งคำนั้นว่า มนุษย์ในโลก ทำบาปใด ในที่แจ้งหรือในที่ลับ, บัณฑิตทั้งหลายประกาศบาปนั้นว่า ทุกกฏ ฉันใด, ทุกกฏแม้นี้ ก็ฉันนั้น ชื่อว่าบาป เพราะเป็นกรรมลามก อันพระพุทธเจ้าทรงเกลียด เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ทุกกฏ.

               [วิเคราะห์ทุพภาสิต]               
               เนื้อความแห่งทุพภาสิตคาถา พึงทราบดังนี้ :-
               บาทคาถาว่า ทุพฺภาสิตํทุราภฏฺฐํ มีความว่า บทใดอันภิกษุกล่าว คือพูด เจรจาชั่ว เหตุนั้น บทนั้น ชื่อว่าอันภิกษุกล่าวชั่ว. อธิบายว่า บทใดอันภิกษุกล่าวชั่ว บทนั้น เป็นทุพภาสิต.
               มีคำที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งน้อยหนึ่ง ; ความว่า อนึ่ง บทใด เศร้าหมอง บทนั้น เป็นบทเศร้าหมอง เพราะเหตุใด ; อนึ่ง วิญญูชนทั้งหลาย ย่อมติ เพราะเหตุใด ; อธิบายว่า ท่านผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ติบทนั้น เพราะเหตุใด.
               บาทคาถาว่า เตเนตํ อิติ วุจฺจติ มีความว่า เพราะความเป็นบทเศร้าหมอง และแม้เพราะความติแห่งวิญญูชนนั้น บทนั้น ท่านย่อมกล่าวอย่างนั้น คือ บทนั้น ท่านกล่าวว่า ทุพฺภาสิตํ.

               [วิเคราะห์เสขิยะ]               
               เนื้อความแห่งเสขิยคาถา พึงทราบดังนี้ :-
               พระอุบาลีเถระแสดงความที่พระเสขะมี โดยนัยมีคำว่า อาทิ เจตํ จรณญฺจ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ในบทว่า เสขิยํ นี้ จึงมีเนื้อความสังเขปดังนี้ว่า นี้เป็นข้อควรศึกษาของพระเสขะ.
               คำว่า ปาราชิกนฺติ ยํ วุตฺตํ เป็นอาทินี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวเพื่อแสดงเนื้อความ ที่มิได้สงเคราะห์ด้วยปัญหาที่ว่า ครุกลหุกญฺจาปิ เป็นต้น แต่สงเคราะห์ด้วยคำอ้อนวอนนี้ว่า หนฺท วากฺยํ สุโณม เต (เอาเถิด เราจะฟังคำของท่าน).

               [อุปมาแห่งอาบัติอนาบัติ]               
               แม้ในบทว่า ฉนฺนมติวสฺสติ เป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺนมติวสฺสติ มีความว่า เรือนที่มิได้มุงด้วยเครื่องมุงมีหญ้าเป็นต้น ย่อมเปียกก่อน. แต่เรือนกล่าวคืออาบัตินี้ อันภิกษุปิดไว้แล้ว ย่อมเปียก.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อปิดอาบัติแรกไว้ ย่อมต้องอาบัติอื่นใหม่.
               สองบทว่า วิวฏํ นาติวสฺสติ มีความว่า เรือนที่ไม่เปิด คือมุงดีแล้ว ย่อมไม่เปียกฝนก่อน. แต่เรือนกล่าวคืออนาบัตินี้ อันภิกษุเปิดแล้ว ย่อมไม่เปียก.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อเปิดเผยอาบัติแรก แสดงอาบัติที่เป็นเทสนาคามินีเสีย ออกจากอาบัติที่เป็นวุฏฐานคามินีเสีย ย่อมประดิษฐานในส่วนหมดจด. เมื่อสำรวมต่อไป ย่อมไม่ต้องอาบัติอื่น.
               บาทคาถาว่า ตสฺมา ฉนฺนํ วิวเรถ มีความว่า เพราะเหตุนั้น เมื่อแสดงอาบัติที่เป็นเทสนาคามินี และออกจากอาบัติที่เป็นวุฏฐานคามินี ชื่อว่าเปิดเผยอาบัติที่ปิดไว้.
               บาทคาถาว่า เอวนฺตํ นาติวสฺสติ มีความว่า ก็เรือนกล่าวคืออาบัตินั่น อันภิกษุเปิดเผยแล้วอย่างนั้น ย่อมไม่เปียก.
               บาทคาถาว่า คติ มิคานํ ปวนํ มีความว่า ป่าใหญ่ คือป่าที่หนาแน่นด้วยต้นไม้เป็นต้น เป็นคติ คือเป็นที่พึ่งของมฤคทั้งหลายผู้อันพาล มฤคมีเสือโคร่งเป็นอาทิให้ล้มในกลางแจ้ง. มฤคเหล่านั้น ถึงป่านั้นแล้ว ย่อมโล่งใจ. โดยนัยนี้แล อากาศเป็นทางไปของเหล่าปักษี, ความเสื่อมเป็นคติของธรรมทั้งหลาย คือว่า ความพินาศเป็นทางของสังขตธรรมแม้ทั้งปวง เพราะอรรถว่าต้องถึงเข้าเป็นแน่.
               จริงอยู่ สังขตธรรมเหล่านั้น จะไม่ถึงความพินาศ สามารถทนอยู่หามิได้. ส่วนนิพพานดำรงอยู่แม้นาน เป็นคติของพระอรหันต์. อธิบายว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นทางไปด้านเดียวของพระอรหันตขีณาสพ.

               ปฐมคาถาสังคณิกวัณณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร คาถาสังคณิกะ ท่านพระอุบาลีเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1009อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1016อ่านอรรถกถา 8 / 1024อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=8789&Z=8904
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=10852
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=10852
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :