ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 272อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 7 / 283อ่านอรรถกถา 7 / 664
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ
ภิกษุผู้ควรได้รับสมมติเป็นผู้ให้ถือเสนาสนะเป็นต้น

               [ว่าด้วยภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ]               
               สองบทว่า ภิกฺขู คเณตฺวา ได้แก่ รู้จำนวนภิกษุทั้งหลายในวิหารว่า มีภิกษุเท่านี้.
               ที่ตั้งเตียง เรียกว่า ที่นอน.
               บทว่า เสยฺยคฺเคน ได้แก่ จำนวนที่นอน. ความว่า ในวันเข้าพรรษา เราอนุญาตให้ภิกษุรูปหนึ่ง ประกาศเวลาแล้วให้ถือเอาที่วางเตียงอันหนึ่ง.
               สองบทว่า เสยฺยคฺเคน คาเหนฺตา ได้แก่ เมื่อให้ถือเอาตามจำนวนที่นอน.
               สองบทว่า เสยฺยา อุสฺสาทิยึสุ คือเมื่อให้ถือเอาอย่างนั้น ที่ตั้งเตียงได้เหลือมาก.
               แม้ในจำนวนวิหารเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกัน. วิหารนั้นประสงค์ห้องมีอุปจาร.
               บทว่า อนุภาคํ มีความว่า เราอนุญาตเพื่อให้ส่วนแม้อื่นอีก.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุมีน้อยนัก สมควรให้รูปละ ๒-๓ บริเวณ.
               ข้อว่า น อกามา ทาตพฺโพ มีความว่า ส่วนเพิ่มนั้น ผู้แจกไม่พึงให้ เพราะไม่ปรารถนาจะให้.
               ในวันเข้าพรรษา ครั้นเมื่อส่วนเพิ่มอันภิกษุทั้งหลายถือเอาแล้วส่วนเพิ่มนั้น ไม่ควรให้ภิกษุผู้มาภายหลัง เพราะคน (คือผู้ถือเอาแล้ว) ไม่พอใจ. แต่ส่วนเพิ่มอันภิกษุใดไม่ถือแล้ว ภิกษุนั้นย่อมให้ส่วนเพิ่มนั้น หรือส่วนแรก ด้วยความพอใจของตน เช่นนี้ควรอยู่.
               สองบทว่า นิสฺสีเมฐิตสฺส ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ภายนอกอุปจารสีมา. แต่ว่า แม้ภิกษุผู้ตั้งอยู่ไกล แต่เป็นภายในอุปจารสีมา ย่อมได้แท้.
               สองบทว่า เสนาสนํ คเหตฺวา ได้แก่ ถือในวันเข้าพรรษา.
               สองบทว่า สพฺพกาลํ ปฏิพาหนฺติ ได้แก่ หวงแม้ในฤดูกาลโดยล่วง ๔ เดือนไป.

               [เสนาสนคาหวินิจฉัย]               
               บรรดาการถือเสนาสนะ ๓ อย่าง การถือ ๒ อย่างนี้ เป็นการถือยั่งยืน คือ ถือในวันเข้าพรรษาแรก ๑ ถือในวันเข้าพรรษาหลัง ๑.
               การถือเสนาสนะที่เป็นอันตรามุตกะ คือพ้นจากนั้น มีวินิจฉัย ดังนี้ :-
               ในวิหารหนึ่ง มีเสนาสนะซึ่งมีลาภมาก. เจ้าของเสนาสนะบำรุงภิกษุผู้จำพรรษา ด้วยปัจจัยทั้งปวงโดยเอื้อเฟื้อ ถวานสมณบริขารมากในเวลาปวารณาแล้วจะไป.
               พระมหาเถระทั้งหลายมาแต่ไกล ในเข้าพรรษาถือเสนาสนะนั้นอยู่สำราญ ครั้นจำพรรษาแล้วรับลาภหลีกไปเสีย.
               พวกภิกษุผู้เจ้าวัดไม่เหลียวแลเสนาสนะนั้น แม้ชำรุดทรุดโทรมอยู่ ด้วยคิดว่า พวกเราไม่ได้ลาภที่เกิดในเสนาสนะนั้น, พระมหาเถระผู้อาคันตุกะแลได้เป็นนิตย์, พวกท่านนั่นแล จักมาบำรุงเสนาสนะนั้น.
               เพื่อให้บำรุงเสนาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พึงให้ถือเสนาสนะเป็นอันตรามุตกะ เพื่ออยู่จำพรรษาต่อไป ในวันมหาปวารณาซึ่งจะถึงข้างหน้า. เมื่อภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ จะให้ถืออันตรามุตกเสนาสนะนั้น พึงบอกพระสังฆเถระว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ถือเสนาสนะเป็นอันตรามุตกะเถิด. ถ้าท่านรับ พึงให้, ถ้าไม่รับ, พึงให้แก่ภิกษุผู้จะรับ ตั้งแต่พระอนุเถระเป็นต้นไป โดยที่สุดแม้สามเณร ด้วยอุบายนี้แล. ฝ่ายผู้รับนั้น พึงบำรุงเสนาสนะนั้น ๘ เดือน บรรดาหลังคาฝาและพื้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งชำรุดหรือพังไป, ควรซ่อมแซมทั้งหมด. แม้จะให้กลางวันสิ้นไปด้วยอุทเทสและปริปุจฉาเป็นต้น กลางคืนจึงอยู่ในเสนาสนะนั้นก็ได้. กลางคืนจะอยู่ในบริเวณ กลางวันให้สิ้นไปด้วยอยู่ในเสนาสนะนั้นก็ได้ แม้จะอยู่ในเสนาสนะนั้นเอง ทั้งกลางคืนกลางวันก็ได้ ไม่ควรหวงห้ามภิกษุผู้แก่กว่าซึ่งมาในฤดูกาล. แต่เมื่อถึงวันเข้าพรรษาแล้ว พระสังฆเถระกล่าวว่า เธอจงให้เสนาสนะนี้แก่ฉัน ; เช่นนี้ไม่ได้.
               ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ ไม่พึงให้ ต้องชี้แจงว่า ท่านผู้เจริญ เสนาสนะนี้ภิกษุรูปหนึ่ง ถือเอาเป็นอันตรามุตตะ ได้บำรุงมา ๘ เดือนแล้ว. เสนาสนะนั้นต้องให้ภิกษุผู้บำรุงมา ๘ เดือนนั่นแลจับจองได้.
               ส่วนในเสนาสนะใด พวกเจ้าของถวายปัจจัยปีละ ๒ ครั้ง, เสนาสนะนั้น ไม่ควรให้ถือเป็นอันตรามุตกะ ทุกคราวที่ล่วง ๖ เดือน. หรือว่าในเสนาสนะใด พวกเจ้าของถวายปัจจัยปีละ ๓ ครั้ง เสนาสนะนั้น ไม่ควรให้ถือเป็นอันตรามุตกะ ทุกคราวที่ล่วง ๔ เดือน หรือให้เสนาสนะใด พวกเจ้าของถวายปัจจัยปีละ ๔ ครั้ง, เสนาสนะนั้น ไม่ควรให้ถือเป็นอันตรามุตกะทุกคราวที่ล่วง ๓ เดือน. เพราะว่า เสนาสนะนั้นจักได้บำรุงด้วยปัจจัยแท้.
               ส่วนในเสนาสนะใด พวกเจ้าของถวายปัจจัยมากมายเพียงปีละครั้ง, เสนาสนะนั้นควรให้ถือเป็นอันตรามุตกะได้.
               กถาว่าด้วยการถือเสนาสนะซึ่งมาในบาลี โดยวันเข้าพรรษาภายในฤดูฝน เท่านี้ก่อน.

               [การถือเสนาสนะในฤดูกาล]               
               ก็ขึ้นชื่อว่า การถือเสนาสนะนี้ ย่อมมี ๒ อย่าง คือ ถือในฤดูกาล ๑ ถือในวัลสาวาสกาล ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น พึงทราบวินิจฉัยในฤดูกาลก่อน ภิกษุอาคันตะกะบางพวกมาในเวลาเช้า, บางพวกมาในเวลาบ่าย, บางพวกมาในปฐมยาม, บางพวกมาในมัชฌิมยาม, บางพวกมาในปัจฉิมยามก็มี ; พวกใดมาในเวลาใด, ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ พึงให้ภิกษุทั้งหลายลุกขึ้นแล้วให้เสนาสนะแก่พวกนั้น ในเวลานั้นเทียว, ขึ้นชื่อว่า สมัยที่มิใช่กาลย่อมไม่มี.
               ฝ่ายภิกษุผู้แต่งตั้งเสนาสนะต้องเป็นผู้ฉลาด พึงเว้นที่ตั้งเตียงไว้ ๑ หรือ ๒ ที่. ถ้าพระมหาเถระ รูป ๑ หรือ ๒ รูป มาในเวลาวิกาล.๑- พึงบอกท่านว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุแม้ทั้งหมด เมื่อผมให้ลุกขึ้นตั้งแต่ต้น จักต้องพากันขนของออก, ขอท่านจงอยู่ในที่อยู่ของผมนี่แล. แต่เมื่อพระมหาเถระมากันมาก พึงให้ภิกษุทั้งหลายลุกออกแล้วให้ลำดับ.
               ถ้าพอกันองค์ละบริเวณ, พึงให้องค์ละบริเวณ ; แม้สถานทั้งปวงเป็นต้นว่า โรงไฟ โรงยาว และโรงกลมในบริเวณนั้น ย่อมถึงแก่ท่านด้วย. เมื่อแจกอย่างนั้นไม่พอกัน ควรให้ตามจำนวนปราสาท.๒- เมื่อปราสาทไม่พอ ควรให้ตามจำนวนห้องน้อย. เมื่อจำนวนห้องน้อยไม่พอกัน ควรให้ตามจำนวนที่นอน. เมื่อที่ตั้งเตียงไม่พอกัน ควรให้เฉพาะที่ตั้งตั่งตัวหนึ่ง แต่ไม่ควรให้ถือเอาที่เพียงโอกาสพอภิกษุยืนได้ เพราะที่เท่านั้น ไม่จัดเป็นเสนาสนะ. แต่เมื่อที่ตั้งตั่งให้พอ พึงให้ที่ตั้งเตียงหรือที่ตั้งตั่งอันหนึ่ง แก่ภิกษุ ๓ รูป ด้วยกล่าวว่า ท่านจงผลัดเปลี่ยนกันพักเถิด ท่านผู้เจริญ.
               ในฤดูหนาว ใครๆ ไม่อาจเลยที่จะอยู่กลางแจ้งตลอดทั้งคืน, พระมหาเถระควรพักผ่อนตลอดปฐมยาม แล้วออกไปบอกพระเถระที่ ๒ ว่า ผู้มีอายุ คุณจงเข้าไปในที่นี้ ถ้าพระมหาเถระเป็นคนขี้เซาไม่รู้เวลา, พระเถระที่ ๒ พึงกระแอมเคาะประตูบอกว่าได้เวลาแล้วขอรับ ความหนาวกวนนัก ดังนี้. ท่านควรออกไปให้โอกาส. จะไม่ให้ไม่ได้.
               ฝ่ายพระเถระที่ ๒ พักตลอดมัชฌิมยามแล้ว ก็ควรให้แก่ภิกษุนอกนี้ตามนัยหนหลังเหมือนกัน. พระเถระที่ ๒ เป็นคนขี้เซา ก็ควรปลุกตามนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน. ที่ตั้งเตียงอันหนึ่งพึงให้แก่ภิกษุ ๓ รูปตลอดคืนหนึ่งอย่างนี้.
               แต่ภิกษุบางพวกในชมพูทวีปเห็นว่า เสนาสนะหรือที่ตั้งเตียง และตั่งเฉพาะบางแห่ง ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบางคน ไม่เป็นที่สบายสำหรับบางคน ภิกษุทั้งหลายจะเป็นอาคันตุกะหรือหากไม่ใช่ก็ตาม ย่อมให้ถือเสนาสนะทุกวัน นี้ชื่อว่า การถือเสนาสนะในฤดูกาล.
____________________________
๑- วิกาลในที่นี้ น่าจะได้แก่กลางคืน.
๒- ที่อยู่ที่ทำชั้นๆ ปราสาทในที่นี้น่าจะหมายว่าชั้นหนึ่งๆ.

               [การถือเสนาสนะในคราวจำพรรษา]               
               ส่วนในคราวจำพรรษา ย่อมมีอาคันตุกวัตร มีอาวาสิกวัตร. ในอาคันตุกะแล้วเจ้าถิ่นนั้น ภิกษุอาคันตุกะก่อนใคร่จะละถิ่นของตนไปอยู่ที่อื่น ไม่ควรไปในที่อื่นนั้นในวันเข้าพรรษา. เพราะว่าที่อยู่ในที่นั้นจะต้องเป็นที่คับแคบกัน, หรือภิกษาจารจะไม่ทั่วถึง. ด้วยเหตุนั้น เธอจะอยู่ไม่ผาสุก, เพราะฉะนั้น พึงกะว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปราวเดือนหนึ่งจักเข้าพรรษา แล้วเข้าไปสู่วิหารนั้น.
               เมื่ออยู่ในวิหารนั้น ราวเดือนหนึ่ง ถ้ามีความต้องการเรียนบาลีจักกำหนดไว้ว่า การเรียนบาลีพร้อมมูล ถ้ามุ่งต่อกัมมัฏฐานจักกำหนดได้ว่า กัมมัฏฐานเป็นที่สบาย ถ้ามีความต้องการปัจจัยจักกำหนดปัจจัยลาภได้ จะอยู่เป็นสุขภายในพรรษา.
               ก็แล เมื่อจะจากถิ่นของตนไปในที่นั้น ไม่ควรกระทบกระทั่งโคจรคาม, คืออย่าว่ากล่าวชาวบ้านในที่นั้นว่า สลากภัตเป็นต้นก็ดี ยาคูและของควรเคี้ยวก็ดี ผ้าจำนำพรรษาก็ดี ที่อาศัยพวกท่านย่อมไม่มี นี่บริขารของเจดีย์ นี่บริขารของอุโรงโบสถ นี่ดาลและกุญแจ ท่านจงรับที่อยู่ของท่าน. ที่ถูก ควรจัดแจงเสนาสนะเก็บภัณฑะไม้และภัณฑะดิน บำเพ็ญคมิยวัตรให้เต็มแล้วจึงไป.
               แม้เมื่อจะไปอย่างนั้น พึงให้ภิกษุหนุ่มหิ้วห่อบาตรและจีวรเป็นต้น ให้ช่วยถือกระบอกน้ำมันและไม้เท้าเป็นต้น กางร่มอย่าเชิดตนไปทางประตูบ้านเลย, ควรไปตามข้างดงที่กำบัง, เมื่อทางเข้าดงไม่มี ก็อย่าบุกพุ่มไม้เป็นต้นไปเลย.
               อนึ่ง พึงบำเพ็ญคมิยวัตรตัดวิตก มีจิตผุดผ่องไปด้วยธรรมเนียมแห่งการไปเท่านั้น.
               แต่ถ้าทางมีทางประตูบ้าน, และพวกชาวบ้านเห็นตนกับบริวารไปอยู่ จะวิ่งเข้ามาหาด้วยคิดว่า นั่นดูเหมือนพระเถระของพวกเราแล้วจะปราศรัยว่า ท่านจะขนบริขารทั้งหมดไปไหน ขอรับ?
               ถ้าในพวกเธอรูป ๑ กล่าวอย่างนี้ว่า นี่เป็นเวลาจวนเข้าพรรษาแล้ว, ภิกษุทั้งหลายย่อมไปในที่ซึ่งตนจะได้ภิกษาจารเป็นนิตย์ และสิ่งของสำหรับปกปิดภายในพรรษา.
               ถ้าชาวบ้านเหล่านั้น ได้ฟังคำตอบของเธอแล้วกล่าวว่า ถึงในบ้านนี้ ชนย่อมบริโภค ย่อมนุ่ง (เหมือนกัน) ขอรับ ท่านอย่าไปในที่อื่นเลย ดังนี้ แล้วเรียกมิตร และอมาตย์ทั้งหลายมาแล้วทุกคนหารือพร้อมกัน ตั้งนิตยภัตและภัตต่างๆ มีสลากภัตเป็นต้นทั้งผ้าจำนำพรรษาด้วย ไว้สำหรับสำนัก แล้วช่วยกันอ้อนวอนว่า นิมนต์จำพรรษาในสำนักนี้แลขอรับ. ภิกษุสมควรยินดีทั้งหมด, สิ่งทั้งปวงมีนิตยภัตเป็นต้นแม้นั้น เป็นของควรและหาโทษมิได้.
               ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า เมื่อเขาปราศรัยว่า ท่านจะไปไหน? พึงตอบว่า ที่โน้น ถูกเขาซักว่า เหตุไร จึงไปที่นั้น? พึงบอกเหตุ และคำทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่าหาโทษมิได้ เพราะเธอเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์แท้. นี้ชื่ออาคันตุกวัตร.
               ส่วนอาวาสิกวัตร พึงทราบดังนี้ :-
               อันภิกษุทั้งหลายผู้เจ้าอาวาส พึงจัดแจงที่อยู่ก่อนทีเดียว พึงทำการปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดหักพังและการตกแต่ง. พึงจัดแจงสถานทั้งปวงเหล่านี้ คือ ที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน เวจกุฏี และที่ถ่ายปัสสาวะ เรือนบำเพ็ญเพียรและทางแห่งที่อยู่.
               พึงทำกิจทั้งปวงแม้นี้ คือ ฉาบปูนขาวที่พระเจดีย์ ทาน้ำมันชุกชีเล็กและปัดเช็ดเตียงตั่ง ด้วยตั้งใจว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ประสงค์จะจำพรรษา มาแล้ว เมื่อทำกิจมีอุทเทสปริปุจฉาและประกอบความเพียรในกัมมัฏฐานเป็นต้น จักอยู่เป็นสุข.
               ภิกษุผู้เจ้าอาวาสทำบริกรรมเสร็จแล้ว พึงถามถึงผ้าจำนำพรรษาจำเดิมแต่วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘.
               พึงถามในที่ไหน?
               พึงถามในที่ซึ่งตนได้อยู่ตามปกติ แต่ไม่ควรจะถามชนทั้งหลายที่ไม่เคยให้
               เหตุไรจึงต้องถาม?
               ก็บางคราวชนทั้งหลายก็ถวาย, บางคราวพวกเขาถูกทุพภิกขภัยเป็นต้น เบียดเบียน ย่อมไม่ถวาย ; ในชนเหล่านั้น พวกใดจักไม่ถวาย, เมื่อไม่ถามพวกนั้นแล้ว ให้เขาจองผ้าจำนำพรรษาไป อันตรายแก่ลาภจะมีแก่เหล่าภิกษุซึ่งเขาจองไว้ : เพราะเหตุนั้น ควรถามก่อนแล้วจึงให้เขาจองเอาไป. เมื่อจะถาม พึงกล่าวว่า เวลาจองผ้าจำนำพรรษาของพวกท่าน ใกล้เข้ามาแล้ว.
               ถ้าเขากล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ตลอดปีนี้ พวกผมถูกฉาตกภัยเป็นต้นเบียดเบียน ไม่สามารถจะถวายได้ หรือว่า พวกผมจักถวายน้อยกว่าที่เคยถวาย หรือว่า บัดนี้ฝ่ายได้ดี, ผมจักถวายให้มากกว่าที่เคยถวาย ดังนี้ ; ภิกษุพึงกำหนดคำนั้นไว้แล้ว ให้ภิกษุทั้งหลายรับผ้าจำพรรษาในเสนาสนะของชนเหล่านั้น ตามนัยซึ่งเหมาะแก่คำนั้น.
               ถ้าเขากล่าวว่า ผ้าจำนำพรรษาของพวกผมถึงแก่พระผู้เป็นเจ้าองค์ใด, พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นจงตั้งน้ำฉันไว้ จงดูแลหนทางของที่อยู่ จงปัดกวาดลานเจดีย์และลานโพธิ์ จงรดน้ำที่ต้นโพธิ์ตลอดไตรมาส, ผ้าจำนำพรรษาของเขา ถึงแก่ภิกษุใด, พึงบอกแก่ภิกษุนั้น.
               ส่วนบ้านใด ห่างออกไปอยู่ในระยะ ๑ โยชน์หรือ ๒ โยชน์ ถ้าสกุลทั้งหลายในบ้านนั้น มอบกัลปนาอันเป็นต้นทุนไว้เฉพาะถวายผ้าจำนำพรรษา ในที่อยู่. แม้ไม่ถามสกุลเหล่านั้น ก็ควรให้ภิกษุผู้ทำวัตรอยู่ในเสนาสนะของสกุลเหล่านั้น รับผ้าจำนำพรรษา.
               แต่ถ้าภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุล อยู่ในเสนาสนะของสกุลเหล่านั้น, และเขาเห็นเธอมาแล้ว กล่าวว่า ผมถวายผ้าจำนำพรรษาแก่ท่าน. ภิกษุนั้นพึงบอกแก่สงฆ์.
               ถ้าสกุลเหล่านั้น ไม่ปรารถนาจะถวายสงฆ์ กล่าวว่า พวกผมถวายเฉพาะแก่พวกท่าน. ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลนั้น พึงสั่งภิกษุผู้เป็นสภาคกันว่า ท่านจงทำวัตรแล้วรับเอาไป, แต่ผ้าจำนำพรรษานั้น ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุล. พึงถามชนทั้งหลาย ผู้ถวายด้วยศรัทธาไทย ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนในจีวรที่เกิดขึ้นในสำนักนั้น ควรถามกัปปิยการก.
               ถามอย่างไร?
               ควรถามว่า ผู้มีอายุ ภัณฑะสำหรับปกปิด (คือผ้า) ของสงฆ์จักมีหรือ?
               ถ้าเขากล่าวว่า จักมีขอรับ ผมจักถวายผ้ารูปละ ๙ ศอก ท่านทั้งหลายจงให้จองผ้าจำนำพรรษาเถิด ดังนี้ : พึงให้ภิกษุถือเสนาสนะได้. แม้ถ้าเขากล่าวว่า ผ้าไม่มี แต่วัตถุมี, ท่านจงให้จองเถิด, แม้เมื่อมีวัตถุ ก็ควรให้ถือเสนาสนะได้แท้, เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุบริโภคสิ่งที่เป็นกัปปิยะทั้งปวง จากวัตถุที่ทายกมอบไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า ท่านจงใช้สอยของที่ควรเถิด.
               ส่วนวัตถุใดทายกเจาะจงถวายภิกษุในสำนักนี้ เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาต หรือเพื่อประโยชน์แก่คิลานปัจจัย, วัตถุนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายจะโอนเข้าในจีวร พึงอปโลกน์ เพื่อความเห็นชอบของสงฆ์แล้วจึงค่อยโอน.
               วัตถุที่เขาเจาะจงถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ ย่อมเป็นครุภัณฑ์. ส่วนวัตถุที่เขาถวายไว้เฉพาะค่าจีวร หรือเป็นค่าปัจจัย ๔ เมื่อจะโอนเข้าในจีวร ไม่มีกิจที่จะต้องทำด้วยอปโลกนกรรม.
               ก็แลเมื่อจะทำอปโลกนกรรม ควรทำให้เนื่องด้วยบุคคลเท่านั้น ไม่ควรทำให้เนื่องด้วยสงฆ์ ไม่ควรทำอปโลกนกรรม แม้ด้วยเนื่องกับทองและเงิน หรือด้วยเนื่องกับข้าวเปลือก. ควรทำแต่เนื่องด้วยอำนาจกัปปิยภัณฑ์และด้วยอำนาจจีวรและข้าวสารเป็นต้นเท่านั้น.
               ก็แลอปโลกนกรรมนั้น พึงทำอย่างนี้ว่า บัดนี้ ภิกษาหาง่าย บิณฑบาตได้ง่าย, ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยจีวร, ภิกษุทั้งหลายพอใจจะโอนส่วนข้าวสารเท่านี้ทำจีวร ; คิลานปัจจัยหาได้ง่าย. อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้อาพาธก็ไม่มี, ภิกษุทั้งหลายพอใจจะโอนส่วนข้าวสารเท่านี้ทำเป็นจีวร. ครั้นกำหนดจีวรปัจจัยอย่างนี้แล้ว พึงสมมติภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ ในเมื่อกาลเป็นที่ให้ถือเสนาสนะ ได้ประกาศแล้ว สงฆ์ประชุมกันแล้ว.
               พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ก็แลเมื่อจะสมมติ ไม่ควรสมมติรูปเดียว พึงสมมติ ๒ รูป. ด้วยว่า เมื่อสมมติอย่างนั้น ภิกษุอ่อนจักให้ภิกษุแก่ถือเสนาสนะ และภิกษุแก่จักให้ภิกษุอ่อนถือ ฉะนี้แล. ส่วนในสำนักใหญ่ เช่นกับมหาวิหาร ควรสมมติไว้ ๓-๔ รูป.
               แต่ในกุรุนทีแก้ว่า จะสมมติไว้ ๘ รูปบ้าง ๑๖ รูปบ้าง ก็ควร. การสมมติภิกษุเหล่านั้น จะทำด้วยกรรมวาจาก็ได้ ด้วยอปโลกนกรรมก็ได้ ควรทั้งนั้น ; ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วเหล่านั้น พึงกำหนดเสนาสนะ.
               ก็เรือนเจดีย์ เรือนโพธิ์ เรือนพระปฏิมา ร้านไม้กวาด ร้านเก็บไม้ เวจกุฎี โรงอิฐ โรงช่างไม้ ซุ้มประตู โรงน้ำ ศาลาคร่อมทาง ศาลาริมสระเหล่านี้ ไม่ใช่เสนาสนะ.
               กุฏีที่อยู่ เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ มณฑป โคนไม้ กอไผ่ เหล่านี้ จัดเป็นเสนาสนะ. เพราะฉะนั้น ควรให้ถือเสนาสนะเหล่านั้น. และเมื่อจะให้ถือ พึงให้ถือตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบาลีนี้ว่า เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะนับภิกษุก่อน ครั้นนับภิกษุแล้ว ให้นับที่นอน.
               ถ้าจีวรปัจจัยมี ๒ ชนิด คือ เป็นของสงฆ์ ๑ เป็นของทายกถวายด้วยศรัทธา ๑. ใน ๒ ชนิดนั้น ภิกษุทั้งหลายปรารถนาจะถือชนิดใดก่อน พึงให้ถือเอาชนิดนั้น แล้วพึงให้ถือเอาชนิดนอกนี้ตั้งต้นแต่ลำดับแห่งชนิดแม้นั้นไป.
               พระมหาสุมเถระกล่าวว่า ถ้าเมื่อภิกษุผู้เสนาสนคาหาปะจะให้ภิกษุถือเสนาสนะด้วยจำนวนบริเวณ#- เพราะมีภิกษุน้อย บริเวณอันหนึ่ง มีลาภมาก, ภิกษุผู้อยู่ ได้ไตรจีวร ๑๐ หรือ ๑๒ สำหรับ ; พึงแบ่งจีวรนั้น เฉลี่ยในอาวาสอื่นๆ ที่ไม่มีลาภ ให้ภิกษุทั้งหลายแม้เหล่าอื่นถือเอาก็ได้.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ไม่ควรทำอย่างนั้น อันชนทั้งหลายถวายปัจจัยก็เพื่อประโยชน์แก่การบำรุงอาวาสของตน ; เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่าอื่นพึงเข้าไปในบริเวณที่มีลาภมากขึ้น. แต่ถ้าพระมหาเถระในบริเวณที่มีลาภมากนั้น คัดค้านว่า ผู้มีอายุ ท่านจงอย่าให้ภิกษุทั้งหลาย ถือเอาอย่างนั้น, จงทำตามคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุศาสน์ไว้ ;
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะให้ภิกษุทั้งหลายถือเสนาสนะด้วยจำนวนบริเวณ,#- ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ ไม่ควรงดเพราะคำคัดค้านของพระมหาเถระนั้น พึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุมีมาก ปัจจัยมีน้อย ควรจะทำความสงเคราะห์ ยังท่านให้ยินยอมแล้ว พึงให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาทีเดียว.
               ก็แล ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้ว เมื่อจะให้ถือเอา พึงไปหาพระมหาเถระ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เสนาสนะถึงแก่ท่าน, ท่านจงถือเอาปัจจัยเถิด. ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ ปัจจัยของสกุลโน้น และเสนาสนะโน้น ถึงแก่เราหรือ? พึงกล่าวว่า ถึงขอรับ ท่านจงถือเอาเสนาสนะนั้น. ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ เราถือเอาละ. อย่างนี้ เสนาสนะเป็นอันท่านถือเอาแล้ว.
               พระมหาสุมเถระกล่าวว่า แต่ถ้า เมื่อภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เสนาสนะอันท่านถือเอาแล้วหรือ? พระมหาเถระกล่าวว่า เราถือเอาแล้ว หรือเมื่อภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจักถือเอาหรือ? พระมหาเถระตอบว่า เราจักถือเอา ดังนี้ เสนาสนะไม่เป็นอันถือ.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระแก้ว่า ถ้อยคำเป็นอดีตและอนาคต หรือถ้อยคำเป็นปัจจุบันก็ตามที. อันที่จริง ถ้วยคำเพียงทำให้ได้สติ เพียงเป็นเครื่องทำอาลัยเท่านั้น เป็นประมาณในการถือเสนาสนะนี้ ; เพราะเหตุนั้น เสนาสนะเป็นอันพระมหาเถระถือเอาแล้วแท้.
               ฝ่ายภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลใด ถือเสนาสนะแล้วสละปัจจัยเสีย. แม้ปัจจัยที่ภิกษุนั้นสละแล้วนี้ ไม่พึงโอนไปในอาวาสอื่น ; พึงคงไว้ในอาวาสนั้นแล. จะให้ภิกษุอื่นซึ่งอยู่ที่โรงเพลิง หรือที่ศาลายาว หรือที่โคนไม้ในบริเวณนั้นแลถือเอา ก็ควร.
               ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลรับว่า จะอยู่ แล้วจักบำรุงเสนาสนะ. ภิกษุนอกนี้รับว่า จักถือเอาปัจจัย แล้วจักบำรุงเสนาสนะ. เสนาสนะจักเป็นอันได้รับบำรุงเป็นอันดียิ่ง ด้วยเหตุ ๒ ประการ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
#- จุล. ทุติย. ๑๒๗.

               แต่ในมหาปัจจรีแก้ว่า เมื่อภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุล รับเสนาสนะเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะพึงกล่าวว่า ในเสนาสนะนี้มีปัจจัยนะขอรับ ปัจจัยนั้นสมควรทำอย่างไร? ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลนั้นพึงกล่าวว่า ภายหลังท่านจงให้ภิกษุอื่นถือเอาเถิด.
               แต่ถ้าเธออยู่แต่ไม่พูดว่าอะไรเลย, และทายกทั้งหลายถวายผ้าวางไว้แทบเท้าของเธอผู้จำพรรษาแล้วในเสนาสนะนั้น, ผ้านั้นควรแก่เธอ.
               ส่วนทายกเหล่าใด ไม่มีเสนาสนะ, ถวายแต่ปัจจัยอย่างเดียว สมควรให้ภิกษุผู้จำพรรษาในเสนาสนะที่ไม่มีผ้าจำนำพรรษารับปัจจัยของทายกเหล่านั้น.
               ชนทั้งหลายสร้างสถูปแล้ว ให้ภิกษุรับผ้าจำพรรษา. ธรรมดาสถูปไม่ใช่เสนาสนะ, พึงโอนให้ภิกษุผู้จำพรรษาที่ต้นไม้หรือมณฑปซึ่งใกล้สถูปนั้น รับไป.
               ภิกษุนั้นพึงปรนนิบัติเจดีย์. แม้ในต้นโพธิ์ เรือนโพธิ์ เรือนปฏิมา ร้านไม้กวาด ร้านเก็บไม้ เวจกุฏี ซุ้มประตู กุฏีน้ำ โรงน้ำ และโรงไม้สีไฟ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ส่วนหอฉัน เป็นเสนาสนะแท้, เพราะเหตุนั้น สมควรกำหนดให้ภิกษุรูปเดียว หรือหลายรูปถือหอฉันนั้น. คำทั้งปวงนี้ ท่านกล่าวพิสดารในมหาปัจรี.
               อันภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ พึงให้ภิกษุทั้งหลายถือเสนาสนะ ตั้งแต่อรุณแห่งวันปาฏิบท๑- ไปจนถึงเพียงที่อรุณใหม่ยังไม่แตก.
               จริงอยู่ ความกำหนดกาลนี้ เป็นเขตแห่งการถือเสนาสนะ.
               หากว่า เมื่อให้ภิกษุทั้งหลายถือเสนาสนะแต่เช้า ภิกษุอื่นผู้มีใจลังเลมาขอเสนาสนะ. ภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะพึงบอกว่า ท่านผู้เจริญ เสนาสนะถือกันเสร็จแล้ว สงฆ์เข้าพรรษาแล้ว สำนักเป็นที่น่ารื่นรมย์ บรรดาที่ต่างๆ มีโคนไม้เป็นต้น ท่านปรารถนาจะอยู่ในที่ใด จงอยู่ในที่นั้นเถิด.
               ภิกษุทั้งหลายผู้เข้าพรรษา พึงบอกภิกษุทั้งหลาย ผู้ตั้งวัตรประจำภายในพรรษาแล้วจำพรรษาว่า ท่านทั้งหลายจงผูกไม้กวาดไว้. ถ้าด้ามและซี่เป็นของหาได้ง่าย ; ควรผูกไม้กวาดไว้รูปละ ๕-๖ อัน หรือผูกไม้กวาดด้ามไว้ รูปละ ๒-๓ อัน. ถ้าเป็นของหายาก พึงผูกไม้กวาดด้ามไว้รูปละอัน สามเณรทั้งหลาย พึงตอกคบเพลิงไว้ ๕-๖ อัน. พึงทำการประพรมด้วยน้ำฝาดในสถานที่อยู่.
               ก็แล เมื่อจะตั้งวัตร ไม่พึงตั้งวัตรที่ไม่เป็นธรรมเห็นปานนี้ว่า อย่าเรียนเอง อย่าให้ผู้อื่นเรียน อย่าทำการสาธยาย อย่าให้บรรพชา อย่าให้อุปสมบท อย่าให้นิสัย อย่าทำธัมมัสสวนะ เพราะว่า พวกเราทั้งหมดนี้ ยังเป็นผู้มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า จักเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าทำสมณธรรมเท่านั้น หรือว่า ภิกษุทุกรูปจงสมาทานธุดงค์ ๑๓ อย่าสำเร็จการนอน จงให้คืนและวันล่วงไปด้วยการยืนและจงกรม จงถือมูควัตร๒- แม้ต้องไปด้วยสัตตาหกรณียะ อย่าได้ภัณฑะที่สงฆ์ควรแจก.
____________________________
๑- วันแรม ๑ ค่ำแห่งเดือนนั้นๆ นับเป็นวันต้นเดือนของชาวมคธ เพราะนับวันเพ็ญเป็นวันสิ้นเดือน.
๒- ถือการนิ่งไม่พูดกัน คล้ายคนใบ้.

               แต่พึงกระทำอย่างนี้ คือ พึงทำวัตรเห็นปานนี้ว่า ธรรมดาปริยัติธรรมย่อมยังสัทธรรมแม้ ๓ อย่างให้ตั้งมั่น เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงเรียนบาลี จงให้เรียนบาลีโดยเคารพ จงสาธยายโดยเคารพ อย่าเบียดเสียดภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเรือนบำเพ็ญเพียร จงนั่งภายในสำนัก เรียนบาลี ให้เรียนบาลี ทำการสาธยาย จงทำการฟังธรรมให้สำเร็จ เมื่อให้บรรพชา ต้องชำระให้เรียบร้อยแล้วจึงให้บรรพชา เมื่ออุปสมบท ต้องชำระให้เรียบร้อยแล้วจึงให้อุปสมบท เมื่อให้นิสัย ต้องชำระให้เรียบร้อยแล้วจึงให้นิสัย ด้วยว่า กุลบุตรแม้ผู้เดียวได้บรรพชาและอุปสมบทแล้ว จักดำรงพระศาสนาทั้งมวลไว้ได้ จงสมาทานธุดงค์เท่าที่สามารถจะสมาทานได้ด้วยเรี่ยวแรงของตน, ขึ้นชื่อว่าตลอดภายในพรรษานี้ ต้องเป็นผู้ไม่ประมาท ต้องปรารภความเพียร ตลอดทั้งวัน และในปฐมยามมัชฌิมยามและปัจฉิมยามแห่งราตรี, ถึงพระมหาเถระทั้งหลายแต่เก่าก่อนก็ได้ตัดกังวลทุกอย่างเสีย บำเพ็ญวัตรคือกัมมัฏฐานภาวนาที่จะพึงประพฤติผู้เดียวในภายในพรรษา. สมควรรู้ประมาณในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว กระทำกถาวัตถุ ๑๐ ประการ อสุภะ ๑๐ ประการ อนุสติ ๑๐ ประการ และกถาปรารภอารมณ์ ๓๘. สมควรทำวัตรแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ, สมควรอปโลกน์ให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ.
               อีกประการหนึ่ง พึงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่ากล่าวถ้อยคำแย้งกับคำส่อเสียดและคำหยาบ, ต้องนึกถึงศีลทุกๆ วัน อย่าให้อารักขกัมมัฏฐาน ๔ เสื่อมคลาย จงเป็นผู้มากด้วยมนสิการอยู่.
               พึงบอกธรรมเนียมเคี้ยวไม้สีฟัน พึงบอกวัตรคือมรรยาท.
               เมื่อกำลังไหว้พระเจดีย์หรือต้นโพธิ์ก็ดี เมื่อกำลังบูชาด้วยของหอมและมาลัยก็ดี เมื่อกำลังเอาบาตรเข้าถลกก็ดี ไม่ควรบอก.
               พึงบอกธรรมเนียมเที่ยวบิณฑบาต อย่ากล่าวถ้อยคำพาดพิงถึงปัจจัย หรือถ้อยคำไม่ถูกส่วนกัน กับชนทั้งหลายภายในบ้าน.
               พึงบอกนิยานิกกถาแม้มากเห็นปานนี้บ้างว่า ต้องเป็นผู้ระวังอินทรีย์ ต้องบำเพ็ญขันธวัตรและเสขิยวัตร ฉะนี้แล.
               อนึ่ง ในวันเข้าพรรษาหลัง และเมื่อประกาศเวลาสงฆ์ประชุมกันแล้ว ใครๆ นำผ้ายาว ๑๒ ศอกมาถวายเป็นผ้าจำนำพรรษา ถ้าว่าภิกษุอาคันตุกะเป็นสังฆเถระ พึงถวายแก่ท่าน.
               ถ้าเป็นนวกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงเรียนพระสังเถระว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านต้องการ ท่านจงสละส่วนที่ ๑ เสีย ถือเอาผ้านี้ ; ไม่พึงให้แก่ท่านผู้ไม่ยอมสละ.
               ก็ถ้าว่า ท่านยอมสละส่วนที่ให้ถือเอาก่อนแล้วถือเอาไซร้ พึงสับเปลี่ยนกัน จำเดิมแต่พระเถระที่ ๒ ไปโดยอุบายนี้แล แล้วให้แก่อาคันตุกะในที่ซึ่งถึงเข้า.
               หากว่า ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาก่อนได้ๆ ผ้า ๒ ผืนหรือ ๓ ผืนหรือ ๔ ผืนหรือ ๕ ผืน. พึงให้เธอยอมสละผ้าที่ได้ไปแล้วๆ โดยอุบายนั้น แล้วจึงให้ภิกษุอาคันตุกะ จนกว่าจะเท่ากัน.
               ก็แล เมื่อภิกษุอาคันตุกะนั้น ได้ส่วนเท่ากันแล้ว ส่วนย่อมที่ยังเหลือ พึงแถมให้ในเถรอาสน์.
               สมควรจะทำกติกากันไว้ว่า เมื่อลาภเกิดขึ้นแล้ว จะเต็มใจเแจกกันตามลำดับที่มีอยู่.
               ถ้าเป็นสมัยที่มีภิกษาฝืดเคือง ภิกษุทั้งหลายผู้เข้าพรรษาในวัสสูปนายิกาทั้ง ๒ ลำบากด้วยภิกษา จึงพูดกันว่า ผู้มีอายุ ก็พวกเราอยู่ในที่นี้ ย่อมลำบากดวยกันทั้งหมด, ดีละ เราแบ่งกันเป็น ๒ ส่วน. ที่แห่งญาติและคนปวารณา ของภิกษุเหล่าใดมีอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจงอยู่ในที่แห่งญาติและคน ปวารณานั้นแล้ว จงมาปวารณาถือเอาผ้าจำนำพรรษาที่ถึงแก่ตน.
               ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดอยู่ในที่แห่งญาติและคนปวารณานั้น แล้วมาเพื่อปวารณา, พึงทำอปโลกนกรรมให้ผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้น แม้ยินดีอยู่ก็หาได้เป็นเจ้าของแห่งผ้าจำนำ แล้วมาเพื่อปวารณา, พึงทำอปโลกนกรรมให้ผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้น แม้ยินดีอยู่ก็หาได้เป็นเจ้าของแห่งผ้าจำนำพรรษาไม่ ฝ่ายพวกภิกษุผู้เจ้าถิ่นแม้บ่นอยู่ว่า จะไม่ให้ ย่อมไม่ได้เหมือนกัน.
               แต่ในกุรุนทีแก้ว่า ภิกษุทั้งหลายจะพึงทำกติกาวัตรกันว่า หากว่า ยาคูและภัตรในที่นี้ จะไม่เพียงพอแก่พวกเราทั่วกันไซร้, ท่านทั้งหลายจงอยู่ในที่แห่งภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วจงมา, จักได้ผ้าจำพรรษาที่ถึงแก่พวกท่าน. ถ้าภิกษุรูปหนึ่ง ค้านกติกาวัตรนั้นไซร้, เป็นอันคัดค้านชอบ. ถ้าไม่ค้าน กติกาเป็นอันทำชอบ ; ภายหลังต้องอปโลกน์ให้แก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้อยู่ในที่แห่งญาติและคนปวารณาแล้วมาแล้ว,ในเวลาอปโลกน์ไม่ยอมให้ค้าน.
               ท่านกล่าวอีกว่า ก็ถ้าว่า เมื่อผ้าจำนำพรรษาไม่ถึงแก่ภิกษุบางพวกในบรรดาภิกษุผู้จำพรรษา, ภิกษุทั้งหลายพึงทำกติกากันว่า สงฆ์ยินดีจะให้ผ้าจำนำพรรษาของภิกษุผู้ขาดพรรษา และผ้าจำนำพรรษาซึ่งเกิดขึ้นในบัดนี้ แก่ภิกษุเหล่านี้. เมื่อได้ตั้งกติกาไว้อย่างนี้แล้ว ผ้าจำนำพรรษาย่อมเป็นเหมือนได้ให้พวกเธอถือเอาแล้วเหมือนกัน ; ทั้งต้องให้ผ้าที่เกิดขึ้นแล้วๆ แก่พวกเธอด้วย.
               ภิกษุผู้จัดตั้งน้ำฉันปัดกวาดทางไปวิหาร ลานเจดีย์ และลานโพธิ์เป็นต้น รดน้ำที่ต้นโพธิ์ตลอดไตรมาแล้วหลีกไปเสียก็ได้ ลาสิกขาเสียก็ดี คงได้ผ้าจำนำพรรษาเหมือนกัน. เพราะผ้าจำพรรษานั้นอันภิกษุนั้น ได้แล้วดุจทำให้เป็นค่าจ้าง.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ส่วนผ้าจำนำพรรษาที่เป็นของสงฆ์ซึ่งทำอปโลกนกรรมแล้วแจกกัน แม้ภิกษุลาสิกขาภายในพรรษา ย่อมได้เหมือนกัน แต่ไม่ยอมให้ถือเอาด้วยอำนาจปัจจัย.
               หากว่า ภิกษุผู้จำพรรษาเสร็จแล้วเตรียมจะไปสู่ทิศ ได้ถือเอากัปปิยภัณฑ์แต่บางสิ่งจากมือของภิกษุผู้อยู่ในอาวาสแล้วสั่งว่า ผ้าจำนำพรรษาของเรามีในสกุลโน้น ท่านจงถือเอาผ้าจำนำพรรษานั้นที่ถึงแล้ว ดังนี้แล้ว ลาสิกขาบทเสียในที่ซึ่งตนไปแล้ว. ผ้าจำนำพรรษาย่อมเป็นของสงฆ์ แต่ถ้าภิกษุนั้นให้พาพวกชาวบ้านรับรองต่อหน้าแล้วจึงไป ภิกษุผู้อยู่อาวาสย่อมได้.
               เมื่อทายกสั่งไว้ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ถวายผ้าจำนำพรรษานี้ แก่ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ในเสนาสนะของพวกข้าพเจ้า, เสนาสนะนั้น อันเสนาสนะคาหาปกะให้ภิกษุใดถือเอา, ย่อมเป็นของภิกษุนั้นแล.
               ก็ถ้าว่า บุตรและธิดาเป็นต้นของเจ้าของเสนาสนะนำผ้าเป็นอันมากมากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้ในเสนาสนะของพวกข้าพเจ้า ดังนี้ เพื่อต้องการจะให้เป็นที่พอใจของเจ้าของเสนาสนะ สำหรับภิกษุผู้จำพรรษาในเสนาสนะนั้น พึงให้ผืนเดียวเท่านั้น, ผ้าที่เหลือเป็นของสงฆ์, พึงให้ภิกษุทั้งหลายถือตามลำดับผ้าจำนำพรรษา. เมื่อลำดับไม่มี พึงให้ถือเอาตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา.
               แม้ในผ้าจำพรรษา ที่ทายกนำผ้าจำนวนมากมาด้วยจิตเลื่อมใสซึ่งอาศัยภิกษุผู้จำพรรษาในเสนาสนะนั่นแลเกิดขึ้นแล้ว ถวายว่า ข้าพเจ้าถวายแก่เสนาสนะ ดังนี้ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ก็ถ้าว่า ทายกวางไว้แทบเท้าแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายแก่ภิกษุนั่น ; ผ้าทั้งหมดย่อมเป็นของภิกษุนั้นเท่านั้น.
               ในเรือนของทายกคนหนึ่ง มีผ้าจำนำพรรษา ๒ ผืน ส่วนที่ ๑ เป็นของที่ให้สามเณรถือเอาแล้ว ส่วนที่ ๒ ต้องให้ในเถรอาสน์.
               ทายกนั้นส่งผ้าสาฎก ๑๐ สอกผืนหนึ่ง ๘ ศอกผืนหนึ่ง มาว่า ท่านจงถวายผ้าจำนำพรรษาที่ถึงแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย. พึงเลือกให้ส่วนดีแก่สามเณร แล้วให้ส่วนรองในเถรอาสน์.
               แต่ถ้า เขานำไปเรือนทั้ง ๒ รูป ให้ฉันแล้ว วางไว้แทบเท้าเองทีเดียว ; ผืนใดเขาถวายแล้วแก่รูปใด ผืนนั้นแลย่อมเป็นของรูปนั้น ต่อแต่นี้ไป เป็นนัยที่มาแล้วในมหาปจจรี.
               ผ้าจำนำพรรษาในเรือนแห่งทายกคนหนึ่ง ถึงแก่สามเณรหนุ่ม. ถ้าเขาถามว่า ผ้าจำนำพรรษาของข้าพเจ้าถึงแก่ใคร? อย่าบอกว่า ถึงแก่สามเณร พึงบอกว่า ท่านจักทราบในเวลาถวายแล้ว ในวันถวายพึงส่งพระมหาเถระรูปหนึ่งไปนำเอามา.๓-
               หากว่า ผ้าจำนำพรรษาถึงแก่ผู้ใด ผู้นั้นลาสิกขาเสียหรือมรณภาพเสียไซร้, และชาวบ้านเขาถามว่า ผ้าจำนำพรรษาของพวกข้าพเจ้าถึงแก่ใคร, พึงบอกแก่เขาตามเป็นจริง.
               ถ้าว่า เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายแก่ท่าน ; ผ้านั้นย่อมถึงแก่ภิกษุนั้น.
               ถ้าเขาถวายแก่สงฆ์หรือแก่คณะ. ย่อมถึงแก่สงฆ์หรือแก่คณะ.
               หากว่า ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษา เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลล้วนทั้งนั้น ; ผ้าจำนำพรรษาที่เขานำมาถวายแล้ว พึงทำให้เป็นเสนาสนบริขารเก็บไว้, หรือพึงทำให้เป็นหมอนเป็นต้นเสีย ฉะนี้แล. นี้เป็นวัตรสำหรับผู้เจ้าถิ่น.
____________________________
๓- ทำอย่างนี้ไม่เป็น อุชุปฏิปนฺโน กระมัง?

               เสนาสนคาหวินิจฉัย จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ ภิกษุผู้ควรได้รับสมมติเป็นผู้ให้ถือเสนาสนะเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 272อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 277อ่านอรรถกถา 7 / 283อ่านอรรถกถา 7 / 664
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=2414&Z=2463
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7430
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7430
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :