ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 6 / 1อ่านอรรถกถา 6 / 584อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 585อ่านอรรถกถา 6 / 589อ่านอรรถกถา 6 / 682
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ สมถขันธกะ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เป็นต้น

               สมถักขันธกวรรณนา               
               สัมมุขาวินัย               
               วินิจฉัยในสมถักขันธกะ พึงทราบดังนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางบทมาติกา ๖ มีคำว่า อธมฺมวาที ปุคฺคโล เป็นต้น ตรัสความพิสดารโดยนัยมีคำว่า อธมฺมวาที ปุคฺคโล ธมฺมวาทึ ปุคฺคลํ สญฺญาเปติ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า สญฺญาเปติ ได้แก่ กล่าวถ้อยคำที่สมกับเหตุ ขู่ให้ยินยอม.
               บทว่า นิชฺฌาเปติ คือ ธรรมวาทีบุคคลนั้นจะจ้องดู คือเล็งแลเนื้อความนั้น ด้วยประการใด, ย่อมทำด้วยประการนั้น.
               สองบทว่า เปกฺเขติ อนุเปกฺเขติ คือ ธรรมวาทีบุคคลนั้นจะเพ่งเล็งและเพ่งเล็งบ่อยๆ ซึ่งเนื้อความนั้น ด้วยประการใด, ย่อมทำด้วยประการนั้น.
               สองบทว่า ทสฺเสติ อนุทสฺเสติ เป็นคำบรรยายแห่งสองบทว่า เปกฺเขติ อนุเปกฺเขติ นั้นแล.
               สองบทว่า อธมฺเมน วูปสมติ มีความว่า เพราะเหตุที่อธรรมวาทีบุคคลนั้น ยังธรรมวาทีบุคคลนั้นให้หลงแล้ว แสดงอธรรมนั่นเอง โดยนัยมีอาทิว่า นี้เป็นธรรม, อธิกรณ์จึงชื่อว่าระงับโดยอธรรม.
               สองบทว่า ธมฺเมน วูปสมติ มีความว่า เพราะเหตุที่ธรรมวาทีบุคคล ไม่ยังอธรรมวาทีบุคคลให้หลงแสดงธรรมนั่นเอง โดยนัยมีคำว่า นี้เป็นธรรม เป็นต้น. อธิกรณ์จึงชื่อว่าระงับโดยธรรม.

               สติวินัย               
               ในคำว่า ปญฺจิมานิ ภิกฺขเว ธมฺมิกานิ สติวินยสฺส ทานานิ นี้ การให้มี ๕ อย่างนี้ คือให้แก่ภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ๑ ให้แก่ภิกษุถูกโจท ๑ ให้แก่ภิกษุผู้ขอ ๑ สงฆ์ให้เอง ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันตามธรรมให้ ๑
               ในคำว่า ปญฺจิมานิ ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ มีอธิบายดังนี้ว่า อันการให้สติวินัย ๕ นี้ ภิกษุย่อมได้ด้วยอำนาจองค์หนึ่งๆ หามิได้, เพราะฉะนั้น คำนั้นจึงเป็นสักว่าเทศนาเท่านั้น. แต่การให้สติวินัย ประกอบด้วยองค์ ๕ จึงชอบธรรม.
               ก็แล บรรดาบทเหล่านั้น พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า อนุวทนฺติ ได้แก่ โจท.
               บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
               อนึ่ง สติวินัยนี้ พึงให้แก่พระขีณาสพเท่านั้น, ไม่พึงให้แก่ภิกษุอื่น โดยที่สุดแม้เป็นพระอนาคามี.
               ก็สติวินัยนั้นแล พึงให้แก่พระขีณาสพซึ่งถูกภิกษุอื่นโจทเท่านั้น ไม่พึงให้แก่พระขีณาสพผู้ไม่ถูกโจท.
               ก็แล ครั้นเมื่อสติวินัยนั้นอันสงฆ์ให้แล้ว ถ้อยคำของโจทย่อมไม่ขึ้น. แม้บุคคลผู้ขืนโจท ย่อมถึงความเป็นผู้อันภิกษุทั้งหลายพึงรุกรานว่า ภิกษุนี้ เป็นพระขีณาสพ ได้สติวินัยแล้ว, ใครจักเชื่อถือถ้อยคำของท่าน.

               อมูฬหวินัย               
               บทว่า ภาสิตปริกนฺตํ ได้แก่ กล่าวด้วยวาจา พยายามด้วยกายนั่นเทียว.
               อธิบายว่า ฝ่าฝืนกระทำ.
               ในคำว่า สรตายสฺมา เอวรูปึ อาปตฺตึ อาปชฺชิตา นี้ มีเนื้อความดังนี้ว่า ผู้มีอายุ จงระลึกถึงอาบัติเห็นปานนี้, ผู้มีอายุ ต้องซึ่งอาบัติเห็นปานนี้. ปาฐะว่า อาปชฺชิตฺวา ก็มี. ความแห่งปาฐะนั้นว่า ผู้มีอายุต้องก่อนแล้ว ภายหลังจงระลึกถึงอาบัตินั้น.

               เยภุยยสิกา               
               ในคำว่า เยภุยฺยสิกายวูปสเมตุํ นี้ ธรรมวาทีบุคคลแห่งกิริยาใด เป็นผู้มากกว่า กิริยานั้นชื่อ เยภุยยสิกา.
               วินิจฉัยในการจับสลากที่ไม่เป็นธรรม พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า โอรมตฺตกํ คือ อธิกรณ์เป็นเรื่องเล็ก คือ มีประมาณน้อย เป็นแต่เพียงความบาดหมางเท่านั้น.
               บทว่า น จ คติคตํ คือ อธิกรณ์ไม่ลุกลามไปถึง ๒-๓ อาวาสหรือไม่ได้วินิจฉัยถึง ๒-๓ ครั้งในอาวาสนั้นๆ เท่านั้น.
               บทว่า น จ สริตสาริตํ คือ อธิกรณ์นั้น ไม่เป็นเรื่องที่ภิกษุเหล่านั้นระลึกได้เอง หรือภิกษุเหล่าอื่นเตือนให้ระลึกได้ถึง ๒-๓ ครั้ง.
               บทว่า ชานาติ คือ เมื่อจับสลากรู้ว่า อธรรมวาทีบุคคลมากกว่า.
               บทว่า อปฺเปว นาม คือ อัธยาศัยของภิกษุนั้นย่อมเป็นดังนี้ว่า เมื่อสลากอันเราให้ภิกษุทั้งหลายจับอยู่ด้วยอุบายนี้ ชื่อแม้ไฉนอธรรมวาที บุคคลจะพึงเป็นผู้มากกว่า. แม้ในอีก ๒ บท ก็มีนัยเหมือนกัน.
               สองบทว่า อธมฺเมน คณฺหนฺติ คือ พวกอธรรมวาทีจับสลากรูปละ ๒ สลาก ด้วยคิดว่า พวกเราจักเป็นผู้มากกว่า ด้วยการจับสลากอย่างนี้.
               สองบทว่า วคฺคา คณฺหนฺติ คือ พวกอธรรมวาทีสำคัญอยู่ว่า ธรรมวาที ๒ รูปจับธรรมวาทีสลากอัน ๑ ด้วยการจับสลากอย่างนี้ พวกธรรมวาทีจักเป็นผู้ไม่มากกว่า.
               สองบทว่า น จยถาทิฏฺฐิยา คณฺหนฺติ คือ จับสลากฝ่ายอธรรมวาที ด้วยคิดว่า เราเป็นพวกธรรมวาที จักเป็นฝ่ายมีกำลัง. ในการจับสลากที่เป็นธรรม พึงทราบเนื้อความเช่นนี้แล แต่กลับความเสีย. ครั้นให้จับสลากแล้วอย่างนั้น ถ้าธรรมวาทีเป็นฝ่ายมากกว่า พวกเธอกล่าวอย่างใด พึงระงับอธิกรณ์นั้นอย่างนั้น ; อธิกรณ์เป็นอันระงับด้วยเยภุยยสิกา ด้วยประการฉะนี้ นี้เป็นเนื้อความสังเขปในสมถักขันธกะนี้ ส่วนเนื้อความพิสดาร จักมาข้างหน้าบ้าง.

               ตัสสปาปิยสิกากรรม               
               ผู้ไม่สะอาดนั้น คือ ผู้ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันไม่สะอาด.
               ผู้อลัชชีนั้น คือ ผู้ประกอบด้วยลักษณะแห่งบุคคลผู้อลัชชี มีแกล้งต้องเป็นต้น.
               ผู้เป็นไปกับอนุวาทะนั้น คือ ผู้เป็นไปกับด้วยการโจท.
               เหตุ ๓ อย่างด้วยอำนาจองค์ ๓ เหล่านี้ และความกระทำ ๒ นี้ คือการที่สงฆ์ทำ ๑ การที่สงฆ์พร้อมเพรียงทำโดยธรรม ๑ รวมเป็นความกระทำแห่งตัสสปาปิยสิกากรรม ๕ ด้วยประการฉะนี้.
               คำที่เหลือในตัสสปาปิยสิกากรรมนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในตัชชนียกรรมเป็นต้นนั่นแล.
               ส่วนเนื้อความเฉพาะคำในบทว่า ตสฺส ปาปิยสิกากมฺมํ นี้ พึงทราบดังนี้.
               จริงอยู่ กรรมนี้ท่านเรียก ตัสสปาปิยสิกากรรม เพราะความเป็นกรรมที่สงฆ์พึงทำแก่บุคคลผู้เลวทราม โดยความเป็นคนบาปหนา.

               ติณวัตถารกะ               
               สองบทว่า กกฺขฬตาย วาฬตาย มีความว่า อธิกรณ์นั้นพึงเป็นไปเพื่อความหยาบช้า และเพื่อความร้ายกาจ.
               บทว่า เภทาย มีความว่า เพื่อความแตกแห่งสงฆ์.
               ข้อว่า สพฺเพเหว เอกชฺฌํ มีความว่า ไม่พึงนำฉันทะของใครๆ มา แม้ภิกษุผู้อาพาธก็พึงนำมาประชุมโดยความเป็นหมู่เดียวกัน ในที่ประชุมนั้นนั่นเทียว.
               ในคำว่า ติณวตฺถารเกน วูปสเมยฺย นี้ กรรมนี้ท่านเรียกว่า ติณวัตถารกะ ก็เพราะเป็นกรรมคล้ายกลบไว้ด้วยหญ้า.
               เหมือนอย่างว่า คูถหรือมูตรอันบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ย่อมเบียดเบียนโดยความเป็นของมีกลิ่นเหม็น, แต่เมื่อคูถหรือมูตรนั้น อันบุคคลกลบแล้วด้วยหญ้าปิดมิดชิดดีแล้ว กลิ่นนั้น ย่อมเบียดเบียนไม่ได้ฉันใด ; อธิกรณ์ใด ถึงความเป็นมูลใหญ่มูลน้อย (แห่งอธิกรณ์) อันสงฆ์ระงับอยู่ จะเป็นไปเพื่อความหยาบช้า เพื่อความร้ายกาจ เพื่อความแตกกัน, อธิกรณ์นั้น ระงับด้วยกรรมนี้แล้วย่อมเป็นอันระงับด้วยดี เหมือนคูถที่ปิดไว้ด้วยเครื่องกลบคือหญ้า ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล เพราะเหตุนั้น กรรมนี้ ท่านจึงเรียกว่า ติณวัตถารกะ เพราะเป็นกรรมคล้ายกลบไว้ด้วยหญ้า.
               อาบัติที่เป็นโทษล่ำนั้น ได้แก่ ปาราชิกและสังฆาทิเสส.
               บทว่า คิหิปฏิสํยุตฺตํ คือ เว้นอาบัติที่ต้อง เพราะด่าว่าคฤหัสถ์ด้วยคำเลว และรับแล้วไม่ทำตามรับที่เป็นธรรม.
               ข้อว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว เต ภิกฺขู ตาหิ อาปตฺตีหิ วุฏฺฐิตา โหนฺติ มีความว่า เมื่อติณวัตถารกกรรมวาจาอันภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย ทำแล้วอย่างนั้นในขณะจบกรรมวาจา ภิกษุมีประมาณเท่าใด ซึ่งประชุมในที่นั้น โดยที่สุดภิกษุผู้หลับก็ดี ผู้เข้าสมาบัติก็ดี ผู้ส่งใจไปในที่อื่นก็ดี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ต้องแล้วซึ่งอาบัติทั้งหลายที่เหลือเหล่าใด นอกจากอาบัติที่เป็นโทษล่ำ และอาบัติที่เนื่องเฉพาะด้วยคฤหัสถ์ จำเดิมแต่มณฑลแห่งอุปสมบท ย่อมเป็นผู้ออกแล้วจากอาบัติเหล่านั้นทั้งปวง.
               บทว่า ทิฏฺฐาวิกมฺมํ มีความว่า ฝ่ายภิกษุเหล่าใดทำความเห็นแย้งกันและกันว่า ข้อนั้นไม่ชอบใจข้าพเจ้า หรือว่าภิกษุเหล่าใด แม้ต้องอาบัติกับภิกษุเหล่านั้น แต่ไม่มาในที่ประชุมนั้น หรือว่าภิกษุเหล่าใดมาแล้ว มอบฉันทะแล้วนั่งในที่ทั้งหลายมีบริเวณเป็นต้น, ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ไม่ออกจากอาบัติเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เว้นผู้ทำความเห็นแย้ง เว้นผู้มิได้อยู่ที่นั้น.

               อธิกรณ์ ๔               
               สองบทว่า ภิกฺขุนีนํ อนูปขชฺช ได้แก่ แทรกแซงภายในหมู่นางภิกษุณี.
               เนื้อความเฉพาะคำแห่งอธิกรณ์ทั้งหลายมีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้น ได้กล่าวแล้วในอรรถกถาแห่งทุฏฐโทสสิกขาบท.๑-
               สองบทว่า วิปจฺจตาย โวหาโร ได้แก่ โวหารเพื่อทุกข์แก่จิต.
               ความว่า คำหยาบ.
               หลายบทว่า โย ตตฺถ อนุวาโท คือการโจทใด ในเมื่อภิกษุเหล่านั้นโจทอยู่.
               บทว่า อนุวทนา นี้ เป็นคำแสดงอาการ.
               ความว่า กิริยาที่โจท.
               สองบทว่า อนุลฺลปนา อนุภณนา สักว่าเป็นไวพจน์ของกิริยาที่โจทเท่านั้น.
               บทว่า อนุสมฺปวงฺกตา มีความว่า ความเป็นผู้คล้อยตามคือความเป็นผู้พลอยประสม ในการโจทนั้นนั่นแล ด้วยกายจิตและวาจาบ่อยๆ.
               บทว่า อพฺภุสฺสหนตา ได้แก่ กิริยาที่โจทกระทำความอุตสาหะว่า เหตุไร เราจึงจักไม่โจทอย่างนั้นเล่า?
               บทว่า อนุพลปฺปทานํ คือแสดงเหตุแห่งคำต้น เพิ่มกำลังด้วยคำหลัง.
               ในสองบทว่า กิจฺจยตา กรณียตา นี้ มีวิเคราะห์ว่า กรรมที่จะพึงกระทำนั่นเอง ชื่อว่า กิจฺจยํ ความมีแห่งกรรมที่จะพึงกระทำชื่อว่า กิจฺจยตา, ความมีแห่งกิจที่จะต้องกระทำ ชื่อว่า กรณียตา. คำทั้ง ๒ นั้นเป็นชื่อแห่งสังฆกรรมนั่นเอง
               ส่วนคำว่า อปโลกนกมฺมํ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงประเภทแห่งสังฆกรรมนั้นนั่นแล.
               บรรดาสังฆกรรมเท่านั้น กรรมที่ต้องยังสงฆ์ผู้ตั้งอยู่ในสีมาให้หมดจด นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา สวดประกาศ ๓ ครั้งทำตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ชื่อว่า อปโลกนกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยญัตติอย่างเดียว ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่า ญัตติกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยอนุสาวนา มีญัตติเป็นที่ ๒ อย่างนี้ คือญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑ ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่า ญัตติทุติยกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยอนุสาวนา ๓ มีญัตติเป็นที่ ๔ อย่างนี้คือญัตติ ๑ อนุสาวนา ๓ ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่า ญัตติจตุตถกรรม.
               บรรดากรรมเหล่านั้น อปโลกนกรรม พึงทำเพียงอปโลกน์. ไม่ต้องทำด้วยอำนาจญัตติกรรมเป็นต้น. แม้ญัตติกรรม พึงทำตั้งญัตติอย่างเดียว, ไม่ต้องทำด้วยอำนาจอปโลกนกรรมเป็นต้น. ส่วนญัตติทุติยกรรมที่ต้องอปโลกน์ทำก็มี ไม่ต้องอปโลกน์ก็มี. ใน ๒ อย่างนั้น กรรมหนัก ๖ อย่างนี้ คือสมมติสีมา ถอนสีมา ให้ผ้ากฐิน รื้อกฐิน แสดงที่สร้างกุฏี แสดงที่สร้างวัดที่อยู่ ไม่ควรอปโลกน์ทำ ; พึงสวดญัตติทุติยกรรมวาจาทำเท่านั้น. กรรมเบาเห็นปานนี้ คือสมมติ ๑๓ ที่เหลือและสมมติในการถือเสนาสนะและให้มรดกจีวรเป็นต้น แม้อปโลกน์ทำก็ควร. แต่ไม่พึงทำด้วยอำนาจญัตติกรรมและญัตติจตุตถกรรมเลย. ญัตติจตุตถกรรม ต้องสวดญัตติและกรรมวาจา ๓ ทำเท่านั้น ไม่พึงทำด้วยอำนาจอปโลกนกรรมเป็นต้นฉะนี้แล. ความสังเขปในสมถักขันธกะนี้เท่านี้.
               ส่วนวินิจฉัยแห่งกรรมเหล่านั้น ได้มาแล้วโดยพิสดาร ในกรรมวรรคท้ายคัมภีร์ปริวาร โดยนัยมีคำว่า อิมานิ จตฺตาริ กมฺมานิ กตีหากาเรหิ วิปชฺชนฺติ เป็นต้น. ก็ในนัยนั้น บทใดยังไม่ชัดเจน ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทนั้น ในกรรมวรรคนั่นแล.
               จริงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การพรรณนาในอัฏฐานะจักไม่มี. อนึ่ง วินิจฉัยจักเป็นของที่รู้ชัดได้ง่าย เพราะค่าที่กรรมนั้นๆ ได้ทราบกันมาแล้ว ตั้งแต่ต้น.
____________________________
๑- สมนุต. ทุติยา. ๑๐๑.

               อธิกรณวิภาค               
               คำว่า อะไรเป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์? ดังนี้ เป็นต้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่งบาลีนั่นแล.
               ในคำว่า วิวาทาธิกรณํ สิยา กุสลํ เป็นต้น พึงทราบเนื้อความโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมวิวาทกันด้วยจิตตุปบาทใด, จิตตุปบาทนั้น ชื่อวิวาทและชื่ออธิกรณ์ เพราะความเป็นเหตุที่จะต้องระงับด้วยสมถะทั้งหลาย พึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจแห่งคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าหมายเอาตรัสไว้ในบาลีนี้ว่า อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นอัพยากฤตก็มี อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นกุศลไม่มี.
               จริงอยู่ กุศลจิตเป็นองค์ในอาปัตตาธิกรณ์ มีขุดแผ่นดินเป็นต้นอันใด เมื่อกุศลจิตนั่น ซึ่งเป็นองค์แห่งอาปัตตาธิกรณ์นั่น ที่ถือเอาโดยความเป็นอาบัติมีอยู่ ใครๆ ไม่อาจกล่าวได้ว่า อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นกุศลไม่มี.
               เพราะเหตุนั้น คำว่า อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นกุศลไม่มี นี้ชื่อว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาจิตที่พอเป็นองค์ หามิได้. แต่ว่า พระองค์ตรัสหมายเอาความมีแห่งวิกัปป์ดังนี้ :-
               อาปัตตาธิกรณ์ใด เป็นโลกวัชชะก่อน อาปัตตาธิกรณ์นั้นเป็นอกุศลโดยส่วนเดียวเท่านั้น, ความกำหนดว่า กุศลพึงมี ดังนี้ย่อมไม่มีในโลกวัชชะนั้น.
               ส่วนอาปัตตาธิกรณ์ใด เป็นปัณณัตติวัชชะ, อาปัตตาธิกรณ์นั้นย่อมเป็นอกุศลเฉพาะแก่ภิกษุผู้แกล้งก้าวล่วงอยู่ว่า เราจะก้าวล่วงอาบัตินี้, แต่อาปัตตาธิกรณ์นั้น ย่อมเป็นอัพยากฤต โดยความต้องด้วยอำนาจแห่งสหไสยเป็นต้น ของภิกษุผู้ไม่แกล้งไม่รู้อะไรเลย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความมีแห่งวิกัปป์นี้ ด้วยอำนาจแห่งความแกล้งและไม่แกล้ง ในปัณณัตติวัชชะนั้น จึงตรัสคำว่าอาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอกุศลก็มี, ที่เป็นอัพยากฤตก็มี, อาปัตตาธิกรณ์เป็นกุศลไม่มี.
               ก็ถ้าว่า ใครๆ พึงกล่าวว่า ภิกษุมีจิตเป็นกุศล ย่อมต้องอาปัตตาธิกรณ์ใด, อาปัตตาธิกรณ์นี้ ท่านกล่าวว่า อาปัตตาธิกรณ์เป็นกุศล. กุศลจิตจะพึงเข้ากันได้แม้แก่เอฬกโลมสมุฏฐาน และปทโสธรรมเทศนา สมุฏฐานเป็นต้น ซึ่งเป็นอจิตตกะ. แต่กุศลจิตแม้มีอยู่ในกิริยาที่ต้องนั้น ก็ไม่จัดเป็นองค์แห่งอาบัติ.
               ส่วนกายวาจาที่เคลื่อนไหวเป็นไป ด้วยอำนาจกายวิญญัติและวจีวิญญัติ อันใดอันหนึ่งนั้นแล ย่อมเป็นองค์แห่งอาบัติ. ก็แต่ว่าองค์นั้น จัดเป็นอัพยากฤต เพราะความที่องค์นั้นเป็นส่วนอันนับเนื่องในรูปขันธ์
               ก็แล ในคำว่า ยํ ชานนฺโต เป็นต้น มีเนื้อความดังนี้ :-
               จิตใดย่อมเป็นองค์แห่งอาบัติ. รู้อยู่ซึ่งวัตถุด้วยจิตนั้น และรู้อยู่ รู้พร้อมอยู่ กับด้วยอาการคือก้าวล่วงว่า เรากำลังก้าวล่วงวัตถุนี้ และแกล้งคือจงใจ ด้วยอำนาจวีติกเจตนา เหยียบย่ำอยู่ด้วยอำนาจความพยายามฝ่าฝืน คือส่งจิตอันปราศจากความรังเกียจไป ย่อมก้าวล่วงไป คือย่อมต้องอาปัตตาธิกรณ์ใด. วีติกกมะใดของภิกษุนั้นผู้ก้าวล่วงด้วยประการอย่างนั้น, วีติกกมะนี้ ท่านกล่าวว่าอาปัตตาธิกรณ์ เป็นอกุศล.
               เนื้อความแม้ในอัพยากตวาระ พึงทราบดังนี้ :-
               จิตใดย่อมเป็นองค์แห่งอาบัติ, ไม่รู้อยู่โดยความไม่มีแห่งจิตนั้นทั้งไม่รู้อยู่ ไม่รู้พร้อมอยู่ กับด้วยอาการคือก้าวล่วง ไม่จงใจ โดยความไม่มีวีติกกมเจตนา ซึ่งเป็นองค์แห่งอาบัติ ไม่ฝ่าฝืน คือไม่ได้ส่งจิตอันปราศจากความรังเกียจไป โดยความไม่มีความแกล้งเหยียบย่ำย่อมก้าวล่วงคือย่อมต้องอาปัตตาธิกรณ์ใด วีติกกมะใดของภิกษุนั้น ผู้ก้าวล่วงอยู่ด้วยประการอย่างนั้น วีติกกมะนี้ ท่านกล่าวว่า อาปัตตาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต.
               ในคำว่า อยํ วิวาโท โน อธิกรณํ เป็นต้น พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า วิวาทนี้ ไม่จัดเป็นอธิกรณ์ เพราะไม่มีความเป็นกิจที่จะต้องระงับด้วยสมถะทั้งหลาย.
               ในคำว่า ยาวติกา ภิกฺขู กมฺมปฺปตฺตา นี้ พึงทราบว่า ในกรรมที่จะกระทำด้วยสงฆ์จตุวรรค ภิกษุ ๔ รูป เป็นผู้พอทำกรรมให้เสร็จ, ในกรรมที่จะพึงกระทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรค ภิกษุ ๕ รูปเป็นผู้พอทำกรรมให้เสร็จ, ในกรรมที่จะพึงทำด้วยสงฆ์ทสวรรค ภิกษุ ๑๐ รูปเป็นผู้พอทำกรรมให้เสร็จ, ในกรรมที่จะพึงทำด้วยสงฆ์วีสติวรรคภิกษุ ๒๐ รูปเป็นผู้พอทำกรรมให้เสร็จ.
               บทว่า สุปริคฺคหิตํ มีความว่า อธิกรณ์นั้น อันภิกษุทั้งหลายผู้เจ้าถิ่นพึงกระทำให้เป็นการอันตนป้องกันรอบคอบดีแล้วจึงรับ.
               ก็แล ครั้นรับแล้ว พึงกล่าวว่า วันนี้ พวกเราจะซักจีวร, วันนี้ พวกเราจะระบมบาตร, วันนี้ มีกังวลอยู่อย่างหนึ่ง ดังนี้แล้ว ปล่อยให้ล่วงไป ๒-๓ วัน เพื่อประโยชน์แก่การข่มมานะ.

               อุพพาหิกา               
               ข้อว่า อนนฺตานิ เจว ภสฺสานิ ชายนฺติ มีความว่า ถ้อยคำทั้งหลายไม่มีปริมาณเกิดขึ้นข้างนี้และข้างนี้. ปาฐะว่า ภาสานิ ก็มี เนื้อความเหมือนกันนี้.
               สองบทว่า อุพฺพาหิกาย สมฺมนฺนิตพฺโพ มีความว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ รูป อันสงฆ์พึงอุปโลกน์สมมติ หรือสมมติด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ซึ่งกล่าวแล้วข้างหน้า. ก็อันภิกษุทั้งหลายผู้ได้รับสมมติแล้วอย่างนั้น พึงนั่งต่างหากแล้ววินิจฉัยอธิกรณ์นั้น หรือพึงประกาศแก่บริษัทนั้นนั่นแลว่า ภิกษุเหล่าอื่นอย่าพึงกล่าวคำไรๆ แล้ว วินิจฉัยอธิกรณ์นั้นก็ได้.
               บทว่า ตตฺรสฺส มีความว่า ภิกษุเป็นธรรมกถึก พึงมีในบริษัทนั้น.
               สองบทว่า เนว สุตฺตํ อาคตํ คือ จำมาติกาไม่ได้.
               สองบทว่า โน สุตฺตวิภงฺโค คือ วินัยไม่แม่นยำ.
               ข้อว่า พฺยญฺชนฉายาย อตฺถํ ปฏิพาหติ มีความว่า พระธรรมกถึกนั้นถือเอาเพียงพยัญชนะเท่านั้น ค้านใจความ คือเห็นพวกภิกษุผู้อันภิกษุผู้วินัยธรทั้งหลายปรับอยู่ด้วยอาบัติ เพราะรับทองเงินและนาสวนเป็นต้น จึงกล่าวว่า ทำไมท่านทั้งหลายจึงปรับภิกษุเหล่านี้ด้วยอาบัติเล่า? กิริยาสักว่างดเว้นเท่านั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในสูตรอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมเป็นผู้งดเว้นจากการรับทองและเงิน ดังนี้ มิใช่หรือ? อาบัติในสูตรนี้ ไม่มี. พระธรรมกถึกรูปหนึ่ง เมื่อพระวินัยธรบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้นุ่งผ้าเลื้อยรุ่มร่าม เพราะพระสูตรที่มาแล้ว จึงกล่าวว่า ทำไมท่านทั้งหลายจึงยกอาบัติแก่ภิกษุเหล่านี้เล่า? ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแต่เพียงการทำความศึกษาอย่างนี้ว่า พึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งให้เรียบร้อย ดังนี้ เท่านั้นมิใช่หรือ? อาบัติในสูตรนี้ไม่มี.

               เยภุยยสิกา               
               วินิจฉัยในคำว่า ยถา พหุตรา ภิกฺขู นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุผู้เป็นธรรมวาทีเกินแม้เพียงรูปเดียว ก็จัดเป็นฝ่ายมากกว่าได้. ก็จะต้องกล่าวอะไรถึง ๒-๓ รูปเล่า.
               บทว่า สญฺญตฺติยา มีความว่า เราอนุญาตการจับสลาก ๓ วิธี เพื่อต้องการให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม.
               วินิจฉัยในคำว่า คูฬฺหกํ เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               ในบริษัทที่หนาแน่นด้วยพวกอลัชชี พึงทำการจับสลากอย่างปกปิด. ในบริษัทที่หนาแน่นด้วยพวกลัชชี พึงทำการจับสลากอย่างเปิดเผย. ในบริษัทที่หนาแน่นด้วยภิกษุพาล พึงทำการจับสลากอย่างกระซิบบอกที่หู.
               สองบทว่า วณฺณาวณฺณาโย กตฺวา มีความว่า สลากของฝ่ายธรรมวาที และฝ่ายอธรรมวาที ต้องบอกสำคัญคือเครื่องหมาย แล้วทำให้มีส่วนต่างกันและกันเสีย. ภายหลังพึงเอาสลากเหล่านั้นทั้งหมดใส่ในขนดจีวรแล้วให้จับตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ข้อว่า ทุคฺคโหติ ปจฺจุกฺกฑฺฒิตพฺพํ มีความว่า พึงบอกว่า สลากจับไม่ดี แล้วให้จับใหม่ เพียงครั้งที่ ๓.
               ข้อว่า สุคโหติ สาเวตพฺพํ มีความว่า ครั้นเมื่อภิกษุผู้เป็นธรรมวาทีเกินกว่า แม้รูปเดียว พึงประกาศว่า สลากจับดีแล้ว ก็ภิกษุพวกธรรมวาทีเหล่านั้น ย่อมกล่าวอย่างใด, อธิกรณ์นั้น พึงให้ระงับอย่างนั้นฉะนี้แล.
               หากว่า ภิกษุพวกอธรรมวาทีคงเป็นฝ่ายมากกว่าแม้ถึงครั้งที่ ๓ พึงกล่าวว่า วันนี้เวลาไม่เหมาะ พรุ่งนี้ เราทั้งหลายรู้จักกัน แล้วเลิกเสียแล้ว เสาะหาฝ่ายธรรมวาที เพื่อประโยชน์แก่การทำลายฝ่ายอลัชชีเสีย ทำการจับสลากในวันรุ่งขึ้น นี้เป็นการจับสลากอย่างปกปิด.
               ก็แล พึงทราบวินัยในการจับสลากอย่างกระซิบบอกที่หู.
               ในคำว่า คหิเต วตฺตพฺโพ มีความว่า ถ้าพระสังฆเถระจะจับสลากอธรรมวาทีไซร้, พึงเรียนให้ท่านทราบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นผู้แก่เจริญวัยแล้ว การจับสลากนั่น ไม่ควรแก่ท่าน, อันนี้เป็นอธรรมวาทีสลาก, พึงแสดงสลากนอกนี้แก่ท่าน, ถ้าท่านจะจับธรรมวาทีสลากนั้น, พึงให้. ถ้าว่า ท่านยังไม่ทราบ. ลำดับนั้น พึงเรียน ท่านว่าอย่าบอกแก่ใครๆ คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า เปิดเผย นั้นคือ เปิดเผยเนื้อความนั่นเอง.

               ตัสสปาปิยสิกา               
               วินิจฉัยในคำว่า ปาราชิกสามนฺตํ วา นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ในเพราะเมถุนธรรม อาบัติทุกกฎ ชื่อว่า เฉียดปาราชิก. ในเพราะอทินนาทานเป็นต้นที่เหลือ อาบัติถุลลัจจัย ชื่อว่า เฉียดปาราชิก.
               บทว่า นิเวเฐนฺตํ มีความว่า ผู้อำพรางอยู่ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ ดังนี้.
               บทว่า อติเวเฐติ มีความว่า เธอยิ่งคาดคั้นด้วยคำว่า อิงฺฆายสฺมา เป็นอาทิ.
               ข้อว่า สรามิ โข อหํ อาวุโส มีความว่า ภิกษุนั้นปฏิญญาอย่างนั้น เพื่อต้องการปกปิดอาบัติปาราชิก. เมื่อถูกเธอคาดคั้นยิ่งขึ้นอีก จึงให้ปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าระลึกได้แล แล้วกล่าวคำว่า คำนั้นข้าพเจ้าพูดเล่น ดังนี้ เป็นต้น เพราะกลัวว่า ภิกษุเหล่านี้จักยังเราให้ฉิบหายในบัดนี้ สงฆ์พึงลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุนั้น.
               หากว่า เธอยังเป็นผู้มีศีล, เธอยังวัตรให้เต็มแล้ว จักได้ความระงับ. หากว่า เธอจักเป็นผู้ไม่มีศีล, เธอจักเป็นผู้อันสงฆ์ให้ฉิบหายอย่างนั้นเทียว.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               สมถักขันธกวรรณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๑ สมถขันธกะ เรื่องพระฉัพพัคคีย์เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 6 / 1อ่านอรรถกถา 6 / 584อรรถกถา เล่มที่ 6 ข้อ 585อ่านอรรถกถา 6 / 589อ่านอรรถกถา 6 / 682
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=6&A=7831&Z=7936
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=6602
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=6602
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :