ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 168อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 172อ่านอรรถกถา 3 / 175อ่านอรรถกถา 3 / 504
อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์
ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗

               อรรถกถาลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗               
               วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๗ พึงทราบดังนี้ :-
               ข้อว่า ภุญฺชิสฺสามีติ ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ทุกกฏนี้ ชื่อว่า ปโยคทุกกฏ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นทุกกฏ เพราะการรับประเคนอย่างเดียวเท่านั้น.
               ยังเป็นทุกกฏทุกๆ ประโยคอีก ในการรับประเคนแล้วนำมาจากที่อื่นก็ดี ในการตากให้แห้งก็ดี ในการเตรียมเตา เพื่อต้องการคั่วกินในวันมีฝนตกพรำก็ดี ในการจัดแจงกระเบื้องก็ดี ในการตระเตรียมทัพพีก็ดี ในการนำฟืนมาก่อไฟก็ดี ในการใส่ข้าวเปลือกลงบนกระเบื้องก็ดี ในการคั่วด้วยทัพพีก็ดี ในการเตรียมครกและสากเป็นต้นเพื่อจะตำก็ดี ในกิจมีการตำฝัดและซาวเป็นต้นก็ดี จนถึงเปิบเข้าปากแล้วบดเคี้ยวด้วยฟันเพื่อจะกลืนกิน. ในเวลากลืนกิน เป็นปาจิตตีย์มากตัวตามจำนวนคำกลืนและในสิกขาบทนี้ การขอและการฉัน จัดเป็นประมาณ.
               เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุณีขอเองใช้ภิกษุณีอื่นให้ทำการคั่วการตำและการหุงต้มแล้วฉันก็เป็นอาบัติ ถึงใช้ภิกษุณีอื่นให้ขอแล้วกระทำการคั่วฉันเองเป็นต้นก็อาบัติแล.
               แต่ในมหาปัจจรีท่านกล่าวว่า ภิกษุณีขอข้าวเปลือกสดธรรมดานี้แม้กะมารดามาฉัน ก็เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน ข้าวเปลือกสดที่ได้มาโดยมิได้ออกปากขอ เมื่อทำการคั่วเป็นต้นเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ทำแล้วฉัน เป็นทุกกฏ. ข้าวเปลือกสดที่ภิกษุณีอื่นได้มาด้วยการออกปากขอ แม้เมื่อทำการคั่วเป็นต้นเองหรือใช้ให้ภิกษุณีนั้นทำ หรือใช้ให้ภิกษุณีอื่นทำแล้วฉัน ก็เป็นทุกกฏเหมือนกัน ท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่า ข้าวเปลือกสดที่ภิกษุณีอื่นได้มาด้วยการออกปากขอ ถ้าภิกษุณีทำการคั่วเองเป็นต้นซึ่งข้าวเปลือกสดนั้นแล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน. แต่เมื่อให้ผู้อื่นทำการคั่วเป็นต้นแล้วฉัน เป็นทุกกฏ.
               คำในมหาปัจจรีนั้น ผิดทั้งข้างต้นทั้งข้างปลาย ที่จริงไม่มีความแปลกกันในการทำเอง หรือในการใช้ให้ทำ ซึ่งกิจมีการคั่วเป็นต้นนั้น.
               แต่ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวไว้โดยไม่แปลกกันว่า เป็นทุกกฏแก่ภิกษุณีผู้ฉันข้าวเปลือกสดที่ภิกษุณีอื่นออกปากขอมา.
               บทว่า อาพาธปจฺจยา ความว่า ไม่เป็นอาบัติ เพราะออกปากขอข้าวเปลือก เพื่อต้องการทำการนึ่งตัวเป็นต้น (การเข้ากระโจม).
               ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็การรับเอาข้าวเปลือกที่ได้มาด้วยการไม่ได้ออกปากขอ เพื่อประโยชน์แก่นวกรรม ควรอยู่.
               สองบทว่า อปรณฺณํ วิญฺญาเปติ มีความว่า เว้นธัญญชาติ ๗ ชนิดเสีย ภิกษุณีขออปรัณชาติมีถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นก็ดี พืชผลมีน้ำเต้าและฟักเขียวเป็นต้นก็ดี วัตถุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ในที่แห่งญาติและคนปวารณา ไม่เป็นอาบัติ. แต่จะขอข้าวเปลือกสดแม้ในที่แห่งญาติและคนปวารณาไม่ควร.
               บทที่เหลือ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               อรรถกถาลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ ปาจิตติยกัณฑ์ ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 168อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 172อ่านอรรถกถา 3 / 175อ่านอรรถกถา 3 / 504
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=3&A=2510&Z=2547
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11303
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11303
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :