ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 841อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 851อ่านอรรถกถา 2 / 862อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา เสขิยกัณฑ์
สุรุสุรุวรรคที่ ๖

               วรรคที่ ๖               
               บทว่า สุรุสุรุการกํ ได้แก่ ฉันทำเสียงดังอย่างนี้ คือซูดๆ.
               บทว่า ทโว คือ คำตลกคะนอง.
               อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงเปล่งคำพูดตลกคะนองนั้น ปรารภพระรัตนตรัยโดยปริยายไรๆ โดยนัยเป็นต้นว่า พระพุทธหิน พระพุทธปลอม, พระธรรมอะไร? พระธรรมโค พระธรรมแพะ พระสงฆ์อะไร? หมู่เนื้อ หมู่ปศุสัตว์ เป็น.
               บทว่า หตฺถนิลฺเลหกํ คือ ฉันเลียมือๆ.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้กำลังฉันจะเลียแม้เพียงนิ้วมือ ก็ไม่ควร. แต่ภิกษุจะเอานิ้วมือทั้งหลายหยิบยาคูแข้นน้ำอ้อยงบ และข้าวปายาสเป็นต้น แล้วสอดนิ้วมือเข้าในปากฉัน ควรอยู่. แม้ในการฉันขอดบาตรเลียริมฝีปากเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ภิกษุไม่ควรเอานิ้วมือ แม้นิ้วเดียวขอดบาตร. แม้ริมฝีปากข้างหนึ่ง ก็ไม่ควรเอาลิ้นเลีย. แต่จะเอาเฉพาะเนื้อริมฝีปากทั้ง ๒ ข้างคาบแล้วขยับ ให้เข้าไปภายในปากควรอยู่.
               บทว่า โกกนุเท คือ ในปราสาทมีชื่ออย่างนี้. ดอกบัว เรียกกันว่าโกกนุท. ก็ปราสาทนั้นอันนายช่างทำให้มีสัณฐานคล้ายดอกบัว. ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อให้ปราสาทนั้นว่า โกกนุท นั่นเทียว.
               คำว่า ไม่รับโอน้ำด้วยมือ ที่เปื้อนอามิส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามด้วยอำนาจแห่งความน่าเกลียด. เพราะฉะนั้น สังข์ก็ดี ขันน้ำก็ดี ภาชนะก็ดี เป็นของสงฆ์ก็ตาม เป็นของบุคคลก็ตาม เป็นของคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นของส่วนตัวก็ตาม ไม่ควรเอามือเปื้อนอามิสจับทั้งนั้น. เมื่อจับ เป็นทุกกฏ. แต่ถ้าว่า บางส่วนของมือ ไม่ได้เปื้อนอามิส, จะจับโดยส่วนนั้น ควรอยู่.
               บทว่า อุทฺธริตฺวา วา ได้แก่ ซาวเมล็ดข้าวสุกขึ้นจากน้ำแล้วกองไว้ในที่แห่งหนึ่ง จึงเทน้ำทิ้ง.
               บทว่า ภินฺทิตฺวา วา ได้แก่ ขยี้เมล็ดข้าวสุกให้มีคติเหมือนน้ำแล้วเททิ้งไป.
               บทว่า ปฏิคฺคเห วา ได้แก่ เอากระโถนรับไว้ ทิ้งเมล็ดข้าวสุกนั้นลงกระโถน.
               บทว่า นีหริตฺวา ได้แก่ นำออกไปเทในภายนอก ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เททิ้งอย่างนี้.
               บทว่า เสตจฺฉตฺตํ แปลว่า ร่มขาวที่หุ้มด้วยผ้า.
               บทว่า กิลญฺชจฺฉตฺตํ แปลว่า ร่มสานด้วยตอกไม้ไผ่.
               บทว่า ปณฺณจฺฉตฺตํ แปลว่า ร่มที่ทำด้วยใบไม้อย่างหนึ่งมีใบตาลเป็นต้น.
               ก็คำว่า มณฺฑลพทฺธํ สลากพทฺธํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงโครงร่มทั้ง ๓ ชนิด. ก็ร่มทั้ง ๓ ชนิดนั้น เป็นร่มที่เย็บเป็นวงกลมและผูกติดกับซี่. ถึงแม้ร่มใบไม้ใบเดียวอันเขาทำด้วยคันซึ่งเกิดที่ต้นตาลเป็นต้น ก็ชื่อว่าร่มเหมือนกัน. บรรดาร่มเหล่านี้ ร่มชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในมือของบุคคลนั้น เหตุนั้นบุคคลนั้น ชื่อว่ามีร่มในมือ. บุคคลนั้นกั้นร่มอยู่ก็ดี แบกไว้บนบ่าก็ดี วางไว้บนตักก็ดี ยังไม่ปล่อยมือตราบใด จะแสดงธรรมแก่เขาไม่ควรตราบนั้น เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้แสดง โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล. แต่ถ้าว่า ผู้อื่นกางร่มให้เขาหรือร่มนั้นตั้งอยู่บนที่รองร่ม พอแต่ร่มพ้นจากมือ ก็ไม่ชื่อว่าผู้มีร่มในมือ, จะแสดงธรรมแก่บุคคลนั้น ควรอยู่.
               ก็การกำหนดธรรมในสิกขาบทนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปทโสธรรมสิกขาบทนั่นแล.
               ไม้พลองยาว ๔ ศอกของมัชฌิมบุรุษ ชื่อว่าไม้พลองในคำว่า ทณฺฑปาณิสฺส นี้. ก็บัณฑิตพึงทราบความที่บุคคลนั้นมีไม้พลองในมือ โดยนัยดังได้กล่าวแล้วในบุคคลผู้มีร่มในมือนั่นแล. แม้ในบุคคลผู้มีศัสตราในมือก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะว่า แม้บุคคลผู้ยืนผูกสอดดาบ ยังไม่ถึงการนับว่าเป็นผู้มีศัสตราในมือ.
               ในคำว่า อาวุธปาณิสฺส นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า ที่ชื่อว่าอาวุธ ได้แก่ปืน เกาทัณฑ์ ดังนี้ แม้โดยแท้. ถึงอย่างนั้น ธนูแม้ทุกชนิด พร้อมด้วยลูกศรชนิดแปลกๆ ผู้ศึกษาก็พึงทราบว่า อาวุธ เพราะฉะนั้น ภิกษุจะแสดงธรรมแก่บุคคลผู้ไม่เจ็บไข้ ซึ่งยืนหรือนั่งถือธนูกับลูกศรก็ดี ถือแต่ลูกศรล้วนก็ดี ถือแต่ธนูมีสายก็ดี ถือแต่ธนูไม่มีสายก็ดี ย่อมไม่สมควร. แต่ถ้าธนูสวมคล้องไว้แม้ที่คอของเขา, ภิกษุจะแสดงธรรมแก่เขา ตลอดเวลาที่เขายังไม่เอามือจับ (ธนู) ควรทีเดียวแล.

               วรรคที่ ๖ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เสขิยกัณฑ์ สุรุสุรุวรรคที่ ๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 841อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 851อ่านอรรถกถา 2 / 862อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=15882&Z=16093
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10526
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10526
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :