ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 810อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 820อ่านอรรถกถา 2 / 830อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา เสขิยกัณฑ์
ขัมภกตวรรคที่ ๓

               วรรคที่ ๓               
               การยกมือวางบนสะเอวทำความค้ำ ชื่อว่า ทำความค้ำ.
               บทว่า โอคุณฺฐิโต แปลว่า คลุมศีรษะ.
               กิริยาที่ภิกษุยกส้นเท้าทั้ง ๒ จดพื้นดินด้วยเพียงปลายเท้าทั้ง ๒ หรือเขย่งปลายเท้าทั้ง ๒ จดพื้นดินด้วยเพียงส้นเท้าทั้ง ๒ เดินไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เดินเขย่งเท้าในคำว่า อุกฺกุฏิกาย นี้ ก็ตติยาวิภัตติ ในคำว่า อุกฺกุฏิกาย นี้ มีลักษณะดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               แม้การรัดเข่าด้วยสายโยก ก็ชื่อว่าการรัดเข่าด้วยผ้าเหมือนกัน ในคำว่า ทุสฺปลฺลตฺถิกา นี้.
               บทว่า อากีรนฺเตปิ คือ แม้เมื่อเขากำลังถวายบิณฑบาต.
               บทว่า สกฺกจฺจํ คือ ตั้งสติไว้.
               บทว่า ปตฺตสญฺญี คือกระทำความสำคัญในบาตร. บิณฑบาตซึ่งมีกับข้าวประมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสวย ชื่อว่าบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน.
               และในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า แม้แกงที่ปรุงด้วยถั่วพูเป็นต้น ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าในคำว่า มุคฺคสูโป มาสสูโป นี้. กับข้าวมีรสชวนให้ยินดี๑- แกงผักดอง รสปลาและรสเนื้อเป็นต้นที่เหลือ เว้นกับข้าว ๒ อย่างเสีย พึงทราบว่ารสรส (กับข้าวต่างอย่าง) ในคำว่า รสรเส นี้. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้รับกับข้าวต่างอย่างนั้นแม้มาก.
               บทว่า สมติตฺติกํ แปลว่า เต็มเสมอ คือเพียบเสมอ.
               ในคำว่า ถูปีกตํ ปิณฺฑปาตํ ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้ ความว่า บิณฑบาตที่ภิกษุทำให้ล้นรอยขอบภายในปากบาตรขึ้นมา ชื่อว่าทำให้พูนล้นบาตร คือเพิ่มเติม แต่งเสริมให้เต็มแปล้ในบาตร. ภิกษุไม่รับบิณฑบาตที่ทำอย่างนั้น พึงรับพอประมาณเสมอรอยภายในขอบปากบาตร.
               ในคำว่า ถูปีกตํ นั้น พระอภัยเถระกล่าวว่า ที่ชื่อว่าทำให้ล้นบาตร ได้แก่ทำ (ให้ล้นบาตร) ด้วยโภชนะทั้ง ๕. แต่พระจูฬนาคเถระผู้ทรงไตรปิฏกกล่าวสูตรนี้ว่า ยาคูก็ดี ภัตก็ดี ขาทนียะก็ดี ก้อนแป้งก็ดี ไม้ชำระฟันก็ดี ด้ายชายผ้าก็ดี ชื่อว่าบิณฑบาต แล้วกล่าวว่า แม้ด้ายชายผ้าทำให้พูนเป็นยอดดุจสถูป ก็ไม่ควร.
               พวกภิกษุฟังคำของพระเถระเหล่านั้นแล้ว ไปยงโรหณชนบทเรียน ถามพระจูฬสุมนเถระว่า ท่านขอรับ! บิณฑบาตล้นบาตร กำหนดด้วยอะไร? และได้เรียนบอกให้ทราบวาทะของพระเถระเหล่านั้น.
               พระเถระได้ฟังแล้วกล่าวว่า จบละ! พระจูฬนาค ได้พลาดจากศาสนา, โอ! พระจูฬนาคนั้น ได้ให้ช่องทางแก่ภิกษุเป็นอันมาก, เราสอนวินัยให้แก่พระจูฬนาคนี้ถึง ๗ ครั้ง ก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้สักครั้ง, พระจูฬนาคนี้ได้มาจากไหน จึงกล่าวอย่างนี้.
               พวกภิกษุขอร้องพระเถระว่า โปรดบอกในบัดนี้เถิด ขอรับ! (บิณฑบาตล้นบาตร) กำหนดด้วยอะไร? พระเถระกล่าวว่า กำหนดด้วยยาวกาลิก ผู้มีอายุ! เพราะฉะนั้น ยาคูก็ดี ภัตก็ดี ผลาผลก็ดี ที่เป็นอามิสอย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุพึงรับเสมอ (ขอบบาตร) เท่านั้น. ก็แลยาคูและภัต หรือผลาผลนั้น พึงรับเสมอ (ขอบบาตร) ด้วยบาตรที่ควรอธิษฐาน, แต่ด้วยบาตรนอกนี้รับให้ล้นขึ้นมาแม้เป็นเหมือนยอดสถูปก็ควร.
               ส่วนยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก รับให้ล้นเหมือนยอดสถูปแม้ด้วยบาตรควรอธิษฐานก็ได้. ภิกษุรับภัตตาหารด้วยบาตร ๒ ใบ บรรจุให้เต็มใบหนึ่งแล้วส่งไปยังวิหาร ควรอยู่. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ของกินมีขนม ลำอ้อย ผลไม้น้อยใหญ่เป็นต้นที่เขาบรรจุลงในบาตรพร่องอยู่แต่ข้างล่าง ไม่ชื่อว่าทำให้ล้นบาตร.
               พวกชาวบ้านถวายบิณฑบาต วางกระทงขนมไว้ (ข้างบน) จัดว่ารับล้นบาตรเหมือนกัน. แต่พวงดอกไม้และพวงผลกระวานผลเผ็ดร้อน (พริก) เป็นต้น ที่เขาถวายวางไว้ (ข้างบน) ไม่จัดว่ารับล้นบาตร. ภิกษุรับเต็มแล้ววางถาด หรือใบไม้ข้างบนข้าวสวย ไม่ชื่อว่ารับล้นบาตร.
               แม้ในกุรุนทีก็กล่าวไว้ว่า พวกทายกใส่ข้าวสวยลงบนถาดหรือบนใบไม้แล้ว วางถวายถาดหรือใบไม้แล้ว วางถวายถาดหรือใบไม้นั้นบนที่สุดบาตร (บนฝาบาตร), ภาชนะแยกกันควรอยู่.
               ภิกษุอาพาธไม่มีมาในอนาปัตติวารในสิกขาบทนี้. เพราะฉะนั้น โภชนะที่ทำให้เป็นยอดดุจสถูป (ที่รับล้นบาตร) ไม่ควรแม้แก่ภิกษุอาพาธ. จะรับประเคนพร่ำเพรื่อในภาชนะทั่วไป ก็ไม่ควร. แต่โภชนะที่รับประเคนไว้แล้ว จะรับประเคนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงฉัน ควรอยู่ฉะนี้แล.
____________________________
๑- สารัตถทีปนี ๓/๓๘๖ แก้ว่า โอโลณีติ เอกาพฺยญฺชนวิกติ โย โกจิ สุทฺโธ กญฺชิกตกฺ กาทิรโสติ เกจิ. แปลว่า กับข้าวชนิดหนึ่งชื่อว่าโอโลณี. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ได้แก่ รสน้ำข้าวและเปรียงเป็นต้นล้วนๆ ชนิดใดชนิดหนึ่ง. วิมติ : แก้เหมือนกันว่า โอโลณีติ เอกาพฺยญฺชนวิกติ. กญฺชิกตกุกาทิรโสติ เกจิ.
   อตฺถโยชนา ๒/๑๒๔ แก้ว่า อวลิยติ สาทิยตีติ โอโลณํ ลิ สาทเน ณปฺปจฺจโย. แปลว่า กับข้าวที่ชื่อว่า โอโลณะ ด้วยอรรถว่า น่าอร่อย น่ายินดี ลิธาตุ ลงในอรรถว่า น่ายินดีลง ปัจจัย. -ผู้ชำระ.

               วรรคที่ ๓ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เสขิยกัณฑ์ ขัมภกตวรรคที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 810อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 820อ่านอรรถกถา 2 / 830อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=15453&Z=15585
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10458
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10458
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :