ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 799อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 800อ่านอรรถกถา 2 / 810อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา เสขิยกัณฑ์
ปริมัณฑลวรรคที่ ๑

               เสขิยกัณฑวรรณนา               
                         สิกขาบทเหล่าใด ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                         ผู้คงที่มีสิกขาที่ทรงศึกษามา ตรัสเรียกว่า
                         เสขิยะ บัดนี้จะมีลำดับการพรรณนาเสขิยะ
                         แม้เหล่านั้นดังต่อไปนี้.


               วินิจฉัยในเสขิยะเหล่านั้น พึงทราบดังต่อไปนี้ :-

               วรรคที่ ๑               
               บทว่า ปริมณฺฑลํ แปลว่า เป็นมณฑลโดยรอบ.
               สองบทว่า นาภิมณฺฑลํ ชานุมณฺฑลํ มีความว่า ภิกษุนุ่งปิดเหนือมณฑลสะดือ ใต้มณฑลเข่า ให้ผ้านุ่งห้อยลงภายใต้มณฑลเข่าตั้งแต่กระดูกแข้งไปประมาณ ๘ นิ้ว. ท่านปรับเอาเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้นุ่งให้ห้อยล้ำลงมากกว่านั้น. ในมหาปัจจรีท่านกล่าวว่า สำหรับภิกษุผู้นั่งจะปกปิดภายใต้มณฑลเข่าประมาณ ๔ องคุลี. แต่ผ้านุ่งของภิกษุผู้นุ่งอย่างนี้ได้ประมาณ จึงควร.
               ผ้านุ่งนั้นมีประมาณดังต่อไปนี้ :-
               ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้าง ๒ ศอกคืบ. แต่เพราะไม่ได้ผ้านุ่งมีประมาณเช่นนั้น แม้ผ้านุ่งขนาดกว้าง ๒ ศอก ก็ควร เพื่อจะปิดมณฑลเข่าได้, แต่อาจเพื่อจะปิดมณฑลสะดือได้แม้ด้วยจีวรแล. บรรดาจีวรชั้นเดียว และ ๒ ชั้นนั้น จีวรชั้นเดียวแม้ที่ภิกษุนุ่งแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ได้, แต่จีวร ๒ ชั้น จึงจะตั้งอยู่ได้.
               ในคำว่า โอลมฺพนฺโต นิวาเสติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               จะเป็นทุกกฏ แก่ภิกษุผู้นุ่งเลื้อยข้างหลังอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ แต่ยังเป็นทุกกฏเหมือนกัน แม้แก่ภิกษุผู้นุ่งทำนองการนุ่งที่มีโทษแม้อย่างอื่น ที่ตรัสไว้ในขันธกะโดยนัยเป็นต้นว่า๑- ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์นุ่งผ้ามีชายดุจงวงช้าง นุ่งผ้าดุจหางปลา นุ่งผ้าไว้ ๔ มุมแฉก นุ่งผ้าดุจขั้วตาล นุ่งผ้ามีกลีบตั้งร้อย ดังนี้, โทษการนุ่งทั้งหมดนั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้นุ่งเป็นปริมณฑล โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               นี้ความสังเขปในสิกขาบทนี้. ส่วนความพิสดารจักมีแจ้งในขันธกะนั้นนั่นแล.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๖๙/หน้า ๖๖

               บทว่า อสญฺจิจฺจ มีความว่า ภิกษุผู้ไม่แกล้งนุ่งอย่างนี้ว่า เราจักนุ่งให้เลื้อยข้างหน้าหรือข้างหลัง ที่แท้ตั้งใจว่า จักนุ่งให้เป็นปริมณฑลนั่นแหละ แต่นุ่งผิดไปไม่ได้ปริมณฑล ไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า อสติยา ได้แก่ แม้ภิกษุผู้ส่งใจไปทางอื่น นุ่งอยู่อย่างนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ.
               ในคำว่า อชานนฺตสฺส นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุผู้ไม่รู้ธรรมเนียมการนุ่งก็ไม่พ้นอาบัติ. อันที่จริงภิกษุพึงเรียนเอาธรรมเนียมการนุ่งให้ดี. การไม่เรียนเอาธรรมเนียมการนุ่งนั้นนั่นเอง จัดเป็นความไม่เอื้อเฟื้อนั้น ควรแก่ภิกษุผู้แกล้งไม่เรียนเท่านั้น. เพราะฉะนั้น ภิกษุใดแม้เรียนเอาธรรมเนียมแล้ว ยังไม่รู้จักว่า ผ้านุ่งเลื้อยขึ้นหรือเลื้อยลง, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น. แต่ในกุรุนที ท่านกล่าวว่า ภิกษุผู้ไม่รู้เพื่อจะนุ่งให้เป็นปริมณฑล ก็ไม่เป็นอาบัติ ส่วนภิกษุผู้แข้งลีบก็ดี มีปั้นเนื้อปลี แข็งใหญ่ก็ดี จะนุ่งให้เลื้อยลงจากมณฑลเข่าเกินกว่า ๘ องคุลี เพื่อต้องการให้เหมาะสม ก็ควร.
               บทว่า คิลานสฺส มีความว่า ภิกษุมีแผลเป็นที่แข้งหรือที่เท้าจะนุ่งให้เลื้อยขึ้น หรือให้เลื้อยลง ควรอยู่.
               บทว่า อาปทาสุ มีความว่า เนื้อร้ายก็ดี พวกโจรก็ดี ไล่ติดตามมา, ในอันตรายเห็นปานนี้ ไม่เป็นอาบัติ.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต ทุกขเวทนา ดังนี้แล.
               พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะมีเวทนา ๓ ฝ่ายพระอุปติสสเถระกล่าวว่า เป็นโลกวัชชะ อกุศลจิต ทุกขเวทนา เพราะท่านอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อกล่าวไว้.
               สองบทว่า ปริมณฺฑลํ ปารุปิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุไม่ห่มอย่างคฤหัสถ์มีประการมากอย่างนี้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มอย่างคฤหัสถ์เป็นต้น พึงทำมุมทั้ง ๒ ของจีวรให้เสมอกัน ห่มให้เป็นปริมณฑลถูกธรรมเนียมการห่มโดยนัยดังกล่าวแล้ว ในสิกขาบทนี้นั่นแล.
               ก็สิกขาบททั้ง ๒ นี้ตรัสไว้โดยไม่แปลกกัน. เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงนุ่งและพึงห่มให้เป็นปริมณฑลนั่นแหละ ทั้งในวัดทั้งในละแวกบ้าน ฉะนี้แล. สมุฏฐานเป็นต้นพร้อมทั้งเถรวาท บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังได้กล่าวแล้ว ในสิกขาบทก่อนนั่นแล.
               สองบทว่า กายํ วิวริตฺวา คือ เปิดเข่าบ้าง อกบ้าง.
               บทว่า สุปฏิจฺฉนฺเนน มีความว่า ไม่ใช่ว่าห่มคลุมศีรษะ, ตามความจริง ภิกษุพึงห่มกลัดลูกดุมแล้ว เอาชายอนุวาตทั้ง ๒ ข้างปิดคอจัดมุมทั้ง ๒ (แห่งจีวร) ให้เสมอกัน ม้วนเข้ามาปิดจนถึงข้อมือแล้วจึงไปในละแวกบ้าน.
               วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๓ พึงทราบว่า :-
               ภิกษุพึงนั่งเปิดศีรษะตั้งแต่หลุมคอ เปิดมือทั้ง ๒ ตั้งแต่ข้อมือ เปิดเท้าทั้ง ๒ ตั้งแต่เนื้อปลีแข้ง (ในละแวกบ้าน).
               บทว่า วาสูปคตสฺส มีความว่า ภิกษุผู้เข้าไปเพื่อต้องการอยู่พักถึงจะนั่งเปิดกายในกลางวัน หรือกลางคืน ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า สุสํวุโต ได้แก่ ไม่คะนองมือ หรือเท้า, ความว่า เป็นผู้เรียบร้อย (ฝึกหัดมาดี).
               บทว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ คือ เป็นผู้มีจักขุทอดลงเบื้องต่ำ.
               สองบทว่า ยุคมตฺตํ เปกฺขนฺเตน มีความว่า ม้าอาชาไนยตัวฝึกหัดแล้ว อันเขาเทียมไว้ที่แอก ย่อมมองดูชั่วแอก คือแลดูภาคพื้นไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก, ภิกษุแม้นี้ ก็พึงเดินแลดูชั่วระยะประมาณเท่านี้.
               ข้อว่า โย อนาทริยํ ปฏิจฺจ ตหํ ตหํ โอโลเกนฺโต มีความว่า ภิกษุใดเดินแลดูทิศาภาค ปราสาท เรือนยอด ถนนนั้นๆ ไปพลาง, ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ. แต่เพียงจะหยุดยืนในที่แห่งหนึ่ง ตรวจดูว่า ไม่มีอันตรายจากช้าง ม้าเป็นต้น ควรอยู่. แม้ภิกษุผู้จะนั่ง ก็ควรนั่งมีจักษุทอดลงเหมือนกัน.
               บทว่า อุกฺขิตฺตกาย คือ มีการเวิกขึ้น. คำนี้เป็นตติยาวิภัตติ ลงในลักษณะแห่งอิตถัมภูต.
               อธิบายว่า เป็นผู้มีจีวรเวิกขึ้นข้างเดียว หรือทั้ง ๒ ข้าง. อันภิกษุอย่าพึงเดินไปอย่างนั้น ตั้งแต่ภายในเสาเขื่อน (ภายในธรณีประตู). ในเวลานั่งแล้ว แม้เมื่อจะนำธมกรกออก อย่าเวิกจีวรขึ้นก่อนแล้วจึงนำออก ฉะนี้แล.

               วรรคที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เสขิยกัณฑ์ ปริมัณฑลวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 799อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 800อ่านอรรถกถา 2 / 810อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=15168&Z=15317
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10376
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10376
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :