ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 680อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 685อ่านอรรถกถา 2 / 689อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๒

               สหธรรมิกวรรค วิเลขนสิกขาบทที่ ๒               
               สหธรรมิกสิกขาบทที่ ๑               
               ในสิกขาบทที่ ๒ วินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถว่าด้วยอานิสงส์มีการเรียนวินัยเป็นมูล]               
               สองบทว่า วินยกถํ กเถติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยกัปปิยะและอกัปปิยะ อาบัติและอนาบัติ สังวร อสังวรและปหานะ ที่ชื่อว่า วินัยกถา.
               คำว่า วินยสฺส วณฺณํ ภาสติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการวางมาติกาด้วยอำนาจแห่งอาบัติ ๕ กองบ้าง ๗ กองบ้าง แล้วทรงพรรณนาโดยบทภาชนะ ที่ชื่อว่า สรรเสริญพระวินัย.
               คำว่า ปริยตฺติยา วณฺณํ ภาสติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญ คือพรรณนาคุณ ได้แก่อานิสงส์มีการเรียนพระวินัยเป็นมูลแห่งพวกภิกษุผู้เล่าเรียนพระวินัย.
               อธิบายว่า แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอานิสงส์ ๕ อานิสงส์ ๖ อานิสงส์ ๗ อานิสงส์ ๘ อานิสงส์ ๙ อานิสงส์ ๑๐ อานิสงส์ ๑๑ ซึ่งมีการเรียนพระวินัยเป็นมูลทั้งหมดที่พระวินัยธรจะได้.
               ถามว่า พระวินัยธรย่อมได้อานิสงส์ ๕ เหล่าไหน?
               แก้ว่า ย่อมได้อานิสงส์ ๕ มีการคุ้มครองสีลขันธ์เป็นต้นของตน.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในวินัยธรบุคคล (บุคคลผู้ทรงวินัย) มี ๕ เหล่านี้ คือสีลขันธ์ของตนเป็นอันคุ้มครองรักษาดีแล้ว ๑ เป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้มักระแวงสงสัย ๑ เป็นผู้แกล้วกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ ๑ ข่มเหล่าชนผู้เป็นข้าศึกได้ราบคาบดีโดยสหธรรม ๑ เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑.
____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๑๖๘/หน้า ๔๕๓

               [อธิบายอานิสงส์ ๕ ว่าด้วยการต้องอาบัติ ๖ อย่าง]               
               สีลขันธ์ของตนเป็นอันวินัยธรบุคคลนั้นคุ้มครองรักษาดีแล้ว อย่างไร?
               คือภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อต้องอาบัติ ย่อมต้องด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ ด้วยความไม่ละอาย ๑ ด้วยความไม่รู้ ๑ ด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ ๑ ด้วยความสำคัญในของไม่ควรว่าควร ๑ ด้วยความสำคัญในของควรว่าไม่ควร ๑ ด้วยความหลงลืมสติ ๑.
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยความไม่ละอายอย่างไร?
               คือ ภิกษุรู้อยู่ทีเดียวว่า เป็นอกัปปิยะ ฝ่าฝืน ทำการล่วงละเมิด.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า๑-
                         ภิกษุแกล้งต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และ
                         ถึงความลำเอียงด้วยอคติ, ภิกษุเช่นนี้
                         เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล.
____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๗๐/หน้า ๓๙๓

               ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยความไม่รู้อย่างไร?
               คือ เพราะว่าบุคคลผู้ไม่มีความรู้เป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่ควรทำให้ผิดพลาด, ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าต้องด้วยความไม่รู้.
               ภิกษุต้องอาบัติด้วยสงสัยแล้วขืนทำอย่างไร?
               คือ เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นเพราะอาศัยของที่ควรและไม่ควร ฝ่าฝืนล่วงละเมิดทีเดียวด้วยสำคัญว่า ถามพระวินัยธรแล้ว ถ้าเป็นกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าเป็นอกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ, แต่อันนี้ สมควรอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าต้องด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ.
               ภิกษุต้องด้วยความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควรอย่างไร?
               คือ ภิกษุฉันเนื้อหมี ด้วยสำคัญว่า เนื้อสุกร, ฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสำคัญว่า เนื้อมฤค, ฉันโภชนะที่เป็นอกัปปิยะ ด้วยสำคัญว่า โภชนะเป็นกัปปิยะ, ฉันในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล, ดื่มปานะที่เป็นอกัปปิยะ ด้วยสำคัญว่า ปานะเป็นกัปปิยะ ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าต้องด้วยความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร.
               ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยความเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควรอย่างไร? คือ ภิกษุฉันเนื้อสุกร ด้วยสำคัญว่า เนื้อหมี, ฉันเนื้อมฤคด้วยสำคัญว่า เนื้อเสือเหลือง, ฉันโภชนะที่เป็นกัปปิยะด้วยสำคัญว่า โภชนะที่เป็นอกัปปิยะ, ฉันในกาล ด้วยสำคัญว่าเป็นวิกาล, ดื่มปานะที่เป็นกัปปิยะ ด้วยสำคัญว่า ปานะเป็นอกัปปิยะ, ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าต้องด้วยความเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร.
               ภิกษุต้องด้วยความหลงลืมสติอย่างไร?
               คือ ภิกษุเมื่อต้องอาบัติเพราะการนอนร่วม การอยู่ปราศจากไตรจีวรและเภสัชกับจีวรล่วงกาลเวลาเป็นปัจจัยแล ชื่อว่าต้องด้วยความหลงลืมสติ.
               ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้.

               [ผู้ทรงวินัยไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่าง]               
               แต่พระวินัยธรไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้. ไม่ต้องด้วยความเป็นผู้ไม่ละอายอย่างไร? คือเพราะแม้เมื่อเธอรักษาการตำหนิค่อนขอดของผู้อื่นนี้ว่า เชิญท่านดูเถิด ผู้เจริญ! ภิกษุนี้รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรอยู่แท้ๆ ยังทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังนี้ได้ ก็ชื่อว่าไม่ต้อง, ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าไม่ต้องด้วยความเป็นผู้ไม่ละอาย. แสดงอาบัติเป็นเทศนาคามินีแม้ที่เผลอต้องเข้า ออกแล้วจากอาบัติที่เป็นวุฏฐานคามีนี ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์.
               จำเดิมแต่นั้นย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นลัชชีบุคคลนี้ทีเดียวว่า๑-
                         ภิกษุไม่แกล้งต้องอาบัติ ไม่ปิดบังอาบัติ
                         และไม่ถึงความลำเอียงด้วยอคติ,
                         ภิกษุเช่นนี้ เราเรียกว่า ลัชชีบุคคล.
____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๗๑/หน้า ๓๙๓

               ภิกษุไม่ต้องด้วยความไม่รู้อย่างไร?
               คือ เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งอันควรและไม่ควร ฉะนั้น เธอย่อมทำแต่สิ่งที่ควร ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควร, ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าไม่ต้องเพราะความไม่รู้.
               ไม่ต้องด้วยความเป็นผู้สงสัยแล้วขืนทำอย่างไร?
               คือ เพราะเธอเมื่อเกิดความรังเกียจสงสัย เพราะอาศัยสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตรวจดูวัตถุ ตรวจดูมาติกา บทภาชนะ อันตราบัติ อนาบัติ แล้วถ้าเป็นกัปปิยะจึงทำ, ถ้าเป็นอกัปปิยะไม่ทำ, ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าไม่ต้องด้วยความเป็นผู้สงสัยแล้วขืนทำ.
               ไม่ต้องด้วยความเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควรเป็นต้น อย่างไร?
               คือ เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งที่ควรและไม่ควร; ฉะนั้น จึงไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร และเธอมีสติตั้งมั่นด้วยดี, อธิษฐานผ้าจีวรที่ควรอธิษฐาน, วิกัปจีวรที่ควรวิกัป. วินัยธรบุคคล ชื่อว่าไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างนี้ ด้วยประการอย่างนี้.
               เธอเมื่อไม่ต้อง (อาบัติ) ย่อมเป็นผู้มีศีลไม่ขาด มีศีลบริสุทธิ์. ด้วยอาการอย่างนี้ สีลขันธ์ของตน ย่อมเป็นอันเธอคุ้มครองรักษาดีแล้ว.
               ถามว่า วินัยธรบุคคล ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำอย่างไร?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายในรัฐนอกและในชนบทนอก เกิดมีความรังเกียจสงสัยขึ้น ทราบว่า ได้ยินว่า พระวินัยธรอยู่ที่วิหารโน้น แล้วมาสู่สำนักของเธอ แม้จากที่ไกลถามถึงข้อรังเกียจสงสัย. เธอสอบสวนดูวัตถุแห่งกรรมที่ภิกษุพวกนั้นทำแล้ว กำหนดชนิดมีอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติและลหุกาบัติเป็นต้น จึงให้แสดงอาบัติที่เป็นเทศนาคามินี ให้ออกจากอาบัติเป็นวุฏฐานคามินี ให้ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์. ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำ.
               ข้อว่า เป็นผู้แกล้วกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ มีความว่า
               จริงอยู่ ผู้มิใช่วินัยธรพูดในท่ามกลางสงฆ์ ความกลัว คือความประหม่าย่อมครอบงำ, ความกลัวนั้นจะไม่มีแก่วินัยธรบุคคล. เพราะเหตุไร? เพราะรู้ว่า เมื่อพูดอย่างนี้มีโทษ พูดอย่างนี้ไม่มีโทษ แล้วจึงพูด.
               ในคำว่า ปจฺจตฺถิเก สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคณฺหาติ นี้ชื่อว่า ชนผู้เป็นข้าศึกมี ๒ จำพวก คือผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเองจำพวก ๑ ผู้เป็นข้าศึกแก่พระศาสนาจำพวก ๑.
               บรรดาชนผู้เป็นข้าศึก ๒ จำพวกนั้น พวกภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะ กับเจ้าลิจฉวีชื่อวัฑฒะ โจทด้วยอันติมวัตถุอันไม่มีมูล, ชนพวกนี้ ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง ก็หรือชนผู้ทุศีลแม้เหล่าอื่นซึ่งเป็นผู้มีธรรมอันลามก ทั้งหมด ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง.
               ส่วนอริฏฐภิกษุ กัณฑกสามเณร ภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีผู้มีความเห็นวิปริต และพวกภิกษุฝ่ายมหายานนิกายมหาสังฆิกะเป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มีลัทธิปรูปหาร อัญญาณ กังขา และปรวิตรณา๑- ทำการยกย่อง กล่าวอ้างคำสอนมิใช่พุทธศาสนาว่า พุทธศาสนา ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ศาสนา.
               วินัยธรบุคคลจะข่มขี่ชนผู้เป็นข้าศึกเหล่านั้นแม้ทั้งหมดให้ราบคาบ โดยประการที่พวกเขาไม่สามารถประดิษฐานอสัทธรรมขึ้นได้ โดยสหธรรม คือโดยคำเป็นเหตุร่วมกัน.
____________________________
๑- พระอรหันต์ยังมีอสุจิ พระอรหันต์ยังมีความไม่รู้ พระอรหันต์ยังมีความสงสัย พระอรหันต์หายสงสัยเพราะผู้อื่น ดูอธิบายในสารัตถทีปนี ๓/๓๖๖. -ผู้ชำระ.

               [อธิบายพระสัทธรรม ๓ อย่าง]               
               ก็ในคำว่า สทฺธมฺมฏฺฐิติยา ปฏิปนฺโน โหติ นี้ สัทธรรมมี ๓ ด้วยสามารถแห่งปริยัติ ปฏิบัติและอธิคม.
               บรรดาสัทธรรมทั้ง ๓ นั้น พุทธพจน์คือปิฎก ๓ ชื่อว่าปริยัติสัทธรรม. ธรรมนี้ คือธุดงคคุณ ๑๓ ขันธกวัตร ๑๔ มหาวัตร ๘๒ ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม. มรรค ๔ ผล ๔ นี้ชื่อว่าอธิคมสัทธรรม.
               บรรดาสัทธรรมมีปริยัติธรรมเป็นต้นนั้น พระเถระทั้งหลายบางพวกกล่าวว่า ปริยัติเป็นมูลรากของศาสนา โดยพระสูตรนี้ว่า
               ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย, ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดังนี้.
               พระเถระบางพวกกล่าวว่า ปฏิบัติเป็นมูลของศาสนา โดยสูตรนี้ว่า
               ดูก่อนสุภัททะ! ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้แลพึงอยู่โดยชอบ, โลกไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ๕ รูปผู้ปฏิบัติโดยชอบยังมีอยู่เพียงใด, ศาสนาจัดว่ายังตั้งอยู่เพียงนั้น ดังนี้.
               ส่วนพระเถระอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เมื่อปริยัติอันตรธานแล้ว แม้บุคคลผู้ปฏิบัติดี ก็ไม่มีการบรรลุธรรม แล้วกล่าวว่า ถ้าแม้นภิกษุ ๕ รูปจะเป็นผู้รักษาปาราชิกไว้ได้, ภิกษุเหล่านั้นให้กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธาบรรพชาแล้วให้อุปสมบทแม้ในมัธยมประเทศ, ให้ครบคณะทสวรรค แล้วจักทำการอุปสมบทแม้ในมัธยมประเทศ, ให้ภิกษุสงฆ์ครบวีสติวรรคแล้ว จักทำอัพภานกรรมแม้เพื่อตน ยังศาสนาให้ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยอุบายอย่างนี้.
               พระวินัยธรนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรมทั้ง ๓ ด้วยประการอย่างนี้แล. บัณฑิตพึงทราบว่า พระวินัยธรนี้ย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างเหล่านี้ก่อน ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า พระวินัธธรย่อมได้อานิสงส์ ๖ เหล่าไหน?
               แก้ว่า อุโบสถ ปวารณา สังฆกรรม บรรพชา อุปสมบท เป็นหน้าที่ของพระวินัยธรนั้น เธอย่อมให้นิสัย ให้สามเณรอุปัฏฐาก.
               จริงอยู่ อุโบสถ ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีอุโบสถ ปัณณรสีอุโบสถ สามัคคีอุโบสถ สังฆอุโบสถ คณอุโบสถ ปุคคลอุโบสถ สุตตุทเทสอุโบสถ ปาริสุทธิอุโบสถ อธิษฐานอุโบสถ ทั้งหมดนั้น เนื่องด้วยพระวินัยธร.
               และถึงแม้ปวารณา ๙ เหล่านี้คือ จาตุทสีปวารณา ปัณณรสีปวารณา สามัคคีปวารณา สังฆปวารณา คณปวารณา ปุคคลปวาณา เตวาจิกาปวาณา เทววาจิกาปวาณา สมานวัสสิกาปวารณา ก็เนื่องด้วยพระวินัยธร เธอเป็นใหญ่แห่งปวารณา ๙ นั้น เพราะเป็นหน้าที่ของเธอ ด้วยประการฉะนี้.
               ถึงสังฆกรรมทั้ง ๔ นี้คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุกรรมก็ดี ทั้งบรรพชาและอุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งหลาย อันเธอเป็นอุปัชฌาย์ทำนี้ก็ดี ก็เรื่องด้วยพระวินัยธรทั้งนั้น. ผู้อื่นถึงทรงปิฎก ๒ ก็ไม่ได้เพื่อทำกรรมนี้เลย. เธอเท่านั้นให้นิสัย ให้สามเณรอุปัฏฐาก. ผู้อื่นย่อมไม่ได้เพื่อให้นิสัย ไม่ได้เพื่อให้สามเณรอุปัฏฐากเลย. แต่เมื่อหวังเฉพาะการอุปัฏฐากของสามเณร ย่อมได้เพื่อจะให้ถืออุปัชฌาย์ในสำนักของพระวินัยธรก่อนแล้ว จึงยินดีข้อวัตรปฏิบัติ.
               ก็บรรดาสังฆกรรมมีอุโบสถกรรมเป็นต้นนี้ การให้นิสัยและการให้สามเณรอุปัฏฐากเป็นองค์เดียวกัน. อานิสงส์ ๕ อย่างก่อนรวมกับอานิสงส์ข้อหนึ่งในอานิสงส์ ๖ เหล่านี้ จึงเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้. รวมกับอานิสงส์ ๒ ข้อจึงเป็น ๗, รวมกับอานิสงส์ ๓ ข้อจึงเป็น ๘, รวมกับอานิสงส์ ๔ ข้อจึงเป็น ๙ รวมกับอานิสงส์ ๕ ข้อจึงเป็น ๑๐, รวมกับอานิสงส์แม้ทั้งหมดนั่นจึงเป็น ๑๑, ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บุคคลผู้ทรงวินัย บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมได้อานิสงส์ ๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ และ ๑๑ อย่างนี้.

               [จุดประสงค์ในการสรรเสริญวินัยปริยัติ]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงอานิสงส์เหล่านี้ อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ทรงพรรณนาคุณแห่งการเรียนพระวินัย.
               สองบทว่า อาทิสฺส อาทิสฺส ได้แก่ ทรงกำหนดบ่อยๆ คือทรงทำให้เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก.
               หลายบทว่า อายสฺมโต อุปาลิสฺส วณฺณํ ภาสติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยวินัยปริยัติ ตรัสชมเชยสรรเสริญคุณแห่งพระอุบาลีเถระ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า ทรงสรรเสริญเพราะเหตุว่า ทำไฉนหนอ ภิกษุทั้งหลายแม้ได้ฟังการสรรเสริญของเราแล้ว จะพึงสำคัญวินัยว่า ตนควรเรียนควรศึกษาในสำนักแห่งอุบาลี ศาสนานี้จักเป็นของตั้งอยู่ได้นาน จักเป็นไปตลอด ๕,๐๐๐ ปีด้วยประการอย่างนี้.
               ในคำว่า เตธ พหู ภิกฺขู นี้ มีเนื้อความอย่างนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากเหล่านั้นเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ได้สดับการสรรเสริญของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้แล้ว เกิดมีอุตสาหะ เพราะได้บรรลุอานิสงส์ตามที่พระองค์ทรงประกาศไว้ด้วยเข้าใจว่า ได้ยินว่า ภิกษุผู้ทรงวินัยย่อมได้อานิสงส์เหล่านี้ ภิกษุทั้งหลายผู้ทรงสุตตันตะและผู้ทรงอภิธรรมหาได้ไม่ จึงพากันเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี.
               บทว่า อิธ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า อุทฺทิสฺสมาเน ได้แก่ เมื่ออาจารย์สวดแก่อันเตวาสิก.
               ก็เพราะว่าปาฏิโมกข์นั้น เมื่ออาจารย์สวดตามความพอใจของตนก็ดี อันเตวาสิกขอร้องอาจารย์นั้นให้สวดก็ดี เมื่อภิกษุผู้ทรงจำปาฏิโมกข์นั้นได้ กำลังทำการสาธยายก็ดี ชื่อว่ามีใครยกปาฏิโมกข์ขึ้นสวดอยู่ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะว่า อุทฺทิสนฺเต วา อุทฺทิสาเปนฺเต วา สชฺฌายํ กโรนฺเต วา ดังนี้.
               บทว่า ขุทฺทานุขุทฺทเกหิ คือ ด้วยสิกขาบทเล็กๆ และน้อยๆ.
               คำว่า ยาวเทว เป็นคำกำหนดเขตแดนเป็นไปแห่งสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านั้น. มีคำอธิบายว่า ก็ภิกษุเหล่าใดสวดก็ดี ให้สวดก็ดี สาธยายก็ดี ซึ่งสิกขาบทเล็กน้อยนั่น สิกขาบทเล็กน้อยนั่นย่อมเป็นไปจนถึงเกิดความเดือดร้อน คือความลำบาก ที่เรียกว่าความรังเกียจสงสัยและความยุ่งใจที่เรียกว่าวิจิกิจฉา แก่ภิกษุเหล่านั้นทีเดียวว่า ควรหรือไม่ควรหนอ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ยาวเทว เป็นคำกำหนดด้วยความยวดยิ่ง. คำว่า ยาวเทว นั้น เชื่อมความเข้ากับบทว่า สํวตฺตนฺติ นี้. มีคำอธิบายว่า ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยากเหลือเกิน.
               ข้อว่า อุปสมฺปนฺนสฺส วินยํ วิวณฺเณติ มีความว่า ภิกษุผู้ใคร่จะให้เกิดความเคลือบแคลงในวินัยนั้น แก่อุปสัมบันนั้น จึงก่น คือตำหนิติเตียนพระวินัยในสำนักแห่งอุปสัมบัน.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต เป็นทุกขเวทนา ดังนี้แล.

               วิเลขนสิกขาบทที่ ๒ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 680อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 685อ่านอรรถกถา 2 / 689อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=13408&Z=13469
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9863
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9863
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :