ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 402อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 406อ่านอรรถกถา 2 / 424อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑

               ภิกขุนีวรรคที่ ๓ โอวาทสิกขาบทที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๑ แห่งภิกขุนีวรรค๑- ดังต่อไปนี้ :-
____________________________
๑- บาลี เป็นโอวาทวรรค

               [แก้อรรถ เรื่องภิกษุไม่ได้รับสมมติสั่งสอนนางภิกษุณี]               
               ในคำว่า ลาภิโน โหนฺติ นี้ พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้ :-
               นางภิกษุณีทั้งหลายย่อมไม่ถวายเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ถวายแก่พระเถระเหล่านั้น. แต่พวกกุลธิดาผู้ออกบวชจากตระกูลใหญ่ ย่อมเจาะจงพระอสีติมหาสาวกว่า พระเถระโน้นและโน้นย่อมกล่าวสอน แล้วกล่าวสรรเสริญคุณที่มีอยู่ เช่นศีล สุตะ อาจาระ ชาติ และโคตรเป็นต้น ของพระอสีติมหาสาวกเหล่านั้น ตามกระแสแห่งถ้อยคำของเหล่าญาติชนผู้มาสู่สำนักของตน ถามอยู่ว่า ข้าแต่แม่เจ้า! พวกท่านได้รับโอวาท อุเทศ ปริปุจฉา จากที่ไหน? ดังนี้.
               จริงอยู่ คุณที่มีอยู่เห็นปานนี้ ควรเพื่อจะกล่าว. เพราะเหตุนั้น พวกมนุษย์ผู้มีจิตเลื่อมใส จึงได้นำเอาลาภและสักการะเป็นอันมาก เช่นจีวรเป็นต้นไปถวายแก่พระเถระทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกะทั้งหลายจึงกล่าวว่า ลาภิโน โหนฺติ จีวร ฯปฯ ปริกฺขารํ ดังนี้.
               สองบทว่า ภิกฺขุนิโย อุปสงฺกมิตฺวา มีความว่า ได้ยินว่า บรรดานางภิกษุณีเหล่านั้น แม้ภิกษุณีรูปหนึ่งก็ไม่มาในสำนักของภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น, แต่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้มีใจอันตัณหาในลาภฉุดลากไปเนืองๆ ได้ไปสู่สำนักแห่งนางภิกษุณีเหล่านั้น. พระธรรมสังคาหกะทั้งหลายหมายถึงการไปสู่สำนักภิกษุณีแห่งภิกษุฉัพพัคคีย์นั้น จึงได้กล่าวคำว่า ภิกฺขุนิโย อุปสงฺมิตฺวา ดังนี้. แม้ภิกษุณีเหล่านั้นได้กระทำตามถ้อยคำแห่งพวกภิกษุฉัพพัคคีย์นั้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีจิตคลอนแคลน. ด้วยเหตุนั้น พระธรรมสังคากะทั้งหลายจึงกล่าวคำว่า อถโข ตา ภิกฺขุนิโย ฯเปฯ นิสีทึสุ ดังนี้.
               บทว่า ติรจฺฉานกลํ ได้แก่ ถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์มีมากอย่างมีราชกถาเป็นต้นอันเป็นการขัดขวางแม้ในการไปสู่ทางสวรรค์.
               บทว่า อิทฺโธ แปลว่า สำเร็จแล้ว.
               อธิบายว่า มีประโยชน์ลึกซึ้ง มีรสมาก ประกอบด้วยลักษณปฏิเวธ.
               ในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เพราะภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น เมื่อถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้ จะพึงผูกอาฆาตในพระตถาคตเจ้าแล้ว เป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเป็นผู้ยังไม่เห็นสัจจะ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงหลีกเลี่ยงความเป็นผู้เข้าถึงอบายนั้นแห่งภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น ทรงประสงค์จะกันภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้นไว้ภายนอกจากการกล่าวสอนภิกษุณี โดยอุบายอย่างอื่นนั่นเอง จึงทรงอนุญาตภิกขุโนวาทสมมตินี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต (ภิกขุโนวาทสมมติ) เพราะมีพระประสงค์จะกันภิกษุเหล่านั้นไว้ภายนอกในสิกขาบทนี้อย่างนี้ เมื่อจะทรงทำต่อไปข้างหน้า จึงตรัสคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อฏฺฐหงฺเคหิ สมนฺนาคตํ เป็นต้น.
               จริงอยู่ องค์ ๘ เหล่านี้ ยังไม่เคยมีแก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แม้แต่ความฝันแล.

               [อธิบายองค์ ๘ ของภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุณี]               
               บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ในบทว่า สีลวา นั้นว่า ศีลของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้มีศีล. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงศีลที่มีอยู่ และประการที่ศีลนั้นมีแก่ภิกษุนั้นอย่างไรจึงชื่อว่ามีอยู่ จึงได้ตรัสคำว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต เป็นต้น.
               ในคำนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สังวร คือ ปาฏิโมกข์ ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร. ภิกษุผู้สำรวม คือประกอบด้วยปาฏิโมกขสังวรนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร.
               บทว่า วิหรติ แปลว่า เป็นไป.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในวิภังค์ว่า
               บทว่า ปาฏิโมกข์ ได้แก่ ศีลอันเป็นที่อาศัย เป็นเบื้องต้น เป็นจรณะ เป็นเครื่องสำรวม เป็นเครื่องระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า สังวร ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและวาจา.
               บทว่า เป็นผู้สำรวมแล้ว มีอธิบายว่า เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวร.
               บทว่า อยู่ มีอธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า อยู่.๑-
               บทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน มีความว่า ละอโคจรมีหญิงแพศยาเป็นต้น ด้วยอาจาระที่ป้องกันมิจฉาชีพ มีการไม่ให้ไม้ไผ่เป็นต้น แล้วถึงพร้อมด้วยโคจร มีสกุลที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร.
               คำว่า อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี ได้แก่ ผู้มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณเล็กน้อย. มีคำอธิบายว่า มีปรกติเห็นโทษเหล่านั้นโดยความเป็นภัย.
               คำว่า สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ มีความว่า บรรดาสิกขาบทที่จัดเป็น ๓ อย่าง โดยความเป็นอธิศีลสิกขาเป็นต้น สมาทานถือเอาโดยชอบ ได้แก่ รับเอาโดยดี ศึกษาไม่ละทิ้งสิกขาบทนั้นๆ.
               นี้ความสังเขปในคำว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน นี้.
               ส่วนผู้ต้องการความพิสดารพึงถือเอาในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี ในอรรถกถาแห่งวิภังคปกรณ์ ชื่อสัมโมหวิโนทนี หรือว่าจากวิสุทธิมัคคปกรณ์.
               สุตะของภิกษุนั้นมาก เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าพหุสสุตะ. ภิกษุใดทรงจำสุตะไว้ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าสุตธระ. อธิบายว่า คำที่ภิกษุนั้นได้ฟังชื่อว่าพหุสสุตะ, สุตะนั้นไม่ใช่แต่สักว่าฟังอย่างเดียว, โดยที่แท้ ย่อมทรงสุตะนั้นด้วย. สุตะสั่งสมในภิกษุนั้น ดุจรัตนะที่เก็บไว้ในหีบ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่ามีการสั่งสมสุตะ. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความไม่เสื่อมสูญไปแม้โดยกาลนาน แห่งสุตะที่ภิกษุนั้นทรงไว้ ดุจรัตนะที่เก็บรักษาไว้ในหีบ ฉะนั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสุตะนั้นโดยสรูป จึงตรัสคำว่า เย เต ธมฺมา เป็นต้น. คำนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วในเวรัญชกัณฑ์นั่นแล แต่นี้เป็นคำตรัสย้ำในสิกขาบทนี้. ธรรมเห็นปานนั้นเป็นอันภิกษุนั้นสดับแล้วมาก เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าพหุสสุตะ, ธรรมเหล่านั้นอันภิกษุนั้นทรงจำไว้ได้ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าสุตธระ, ธรรมเหล่านั้นอันภิกษุนั้นสั่งสมไว้ด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยทิฏฐิ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่าสุตสันนิจยะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า วจสา ปริจิตา ได้แก่ อันภิกษุนั้นกระทำให้คล่องปาก.
               บทว่า มนสานุเปกฺขิตา มีความว่า อันภิกษุเพ่งด้วยใจแล้ว ย่อมเป็นดุจสว่างไสวด้วยแสงประทีปพันดวงแก่เธอผู้ใคร่ครวญ.
               สองบทว่า ทิฏฺฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา มีความว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นอันภิกษุนั้นแทงตลอดแล้วด้วยดี คือกระทำให้ประจักษ์ชัดแล้วด้วยปัญญาโดยอรรถและโดยการณ์.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๗๙/หน้า ๓๓๑

               [ว่าด้วยภิกษุพหูสูต ๓ จำพวก]               
               ก็ภิกษุผู้ชื่อว่าพหุสสุตะ นี้มี ๓ จำพวก คือ นิสัยมุจจนกะ ผู้พอพ้นนิสัย ๑ ปริสูปัฏฐาปกะ ผู้ให้บริษัทอุปัฏฐาก ๑ ภิกขุโนวาทกะ ผู้สั่งสอนภิกษุณี ๑. บรรดาพหุสสุตะทั้ง ๓ นั้น ภิกษุผู้นิสัยมุจจนกะมีพรรษา ๕ โดยอุปสมบท พึงท่องมาติกา ๒#- ให้ช่ำชอง คล่องปาก โดยกำหนดอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด, พึงเรียนภาณวาร ๔ จากสุตตันตปิฎก เพื่อประโยชน์แก่ธรรมสวนะในวันปักษ์ทั้งหลาย, พึงเรียนกถามรรคอันหนึ่ง เช่นกับอันธกวินทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร อัมพัฏฐสูตร เพื่อประโยชน์แก่การกล่าวธรรมเบ็ดเตล็ดแก่เหล่าชนผู้มาหา, พึงเรียนคาถาอนุโมทนา ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์อนุโมทนาในสังฆภัตงานมงคลและอวมงคล, พึงเรียนวินิจฉัยกรรมและมิใช่กรรม เพื่ออุโบสถและปวารณาเป็นต้น, พึงเรียนกรรมฐานอย่างหนึ่งมีพระอรหัตเป็นที่สุด ด้วยสามารถแห่งสมาธิก็ดี ด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาก็ดี เพื่อกระทำสมณธรรม, พึงเรียน (พุทธพจน์มีพระสูตร ๔ ภาณวารเป็นต้น) เพียงเท่านี้.
               แท้จริง ด้วยการเรียนเพียงเท่านี้ ภิกษุนี้ย่อมชื่อว่าเป็นพหุสสุตะ เป็นผู้ปรากฏในทิศ ๔ ย่อมได้เพื่ออยู่โดยความเป็นอิสระของตนในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง.
               ภิกษุผู้ปริสูปัฏฐาปกะ มีพรรษา ๑๐ โดยอุปสมบท พึงกระทำวิภังค์ทั้ง ๒ ให้ช่ำชอง คล่องปาก เพื่อแนะนำบริษัทในอภิวินัย โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด. เมื่อไม่อาจ พึงกระทำ (วิภังค์ทั้ง ๒ คัมภีร์) ให้ควรแก่การผลัดเปลี่ยนกันกับภิกษุ ๓ รูป. พึงเรียนกรรมและมิใช่กรรม และขันธกวัตร. แต่เพื่อจะแนะนำบริษัทในอภิธรรม ถ้าเป็นผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย พึงเรียนมูลปัณณาสก์. ผู้กล่าวทีฆนิกาย พึงเรียนแม้มหาวรรค. ผู้กล่าวสังยุตนิกาย พึงเรียน ๓ วรรคข้างต้น หรือมหาวรรค. ผู้กล่าวอังคุตตรนิกาย พึงเรียนครึ่งนิกายข้างต้น หรือข้างปลาย. ผู้ไม่สามารถ แม้จะเรียนข้างต้นตั้งแต่ติกนิบาตไปก็ได้ แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ผู้จะเรียนเอานิบาตเดียวแม้จะเรียนเอาจตุกกนิบาตหรือปัญจกนิบาต ก็ได้. ผู้กล่าวชาดก พึงเรียนเอาชาดกพร้อมทั้งอรรถกถา. จะเรียนต่ำกว่าชาดกพร้อมทั้งอรรถกถา ไม่ควร. ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า จะเรียนเอาแม้ธรรมบท พร้อมทั้งวัตถุนิทาน ก็ควร.
               ถามว่า จะเลือกเรียนเอาจากนิกายนั้นๆ มีทีฆนิกายเป็นต้น แม้เพียงมูลปัณณาสก์ ควรหรือไม่ควร.
               ตอบว่า ท่านปฏิเสธไว้ในอรรถกถากุรุนทีว่า ไม่ควร. ในอรรถกถานอกนี้ ไม่มีการวิจารณ์ไว้เลย. ในอภิธรรมท่านไม่ได้กล่าวว่า ควรเรียนเอาอะไร. ก็ภิกษุใดช่ำชองวินัยปิฎกและอภิธรรมปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา, แต่ไม่มีคัณฐะมีประการดังที่กล่าวในสุตตันปิฎก, ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะให้บริษัทอุปัฏฐาก. แต่ภิกษุใดเรียนคัณฐะมีประมาณดังกล่าวแล้ว จากสุตตันตปิฎกบ้าง จากวินัยปิฎกบ้าง, ภิกษุนี้เป็นปริสูปัฏฐาปกะ เป็นพหุสสุตะ เป็นทิศาปาโมกข์ ไปได้ตามความปรารถนา ย่อมได้เพื่อจะให้บริษัทอุปัฏฐาก.
               ส่วนภิกษุผู้สั่งสอนภิกษุณี พึงเรียนปิฎก ๓ พร้อมทั้งอรรถกถา. เมื่อไม่อาจ พึงทำอรรถกถาแห่งนิกายหนึ่ง บรรดา ๔ นิกายให้ชำนาญ. เพราะว่า ด้วยนิกายเดียว ก็จักสามารถเพื่อกล่าวแก้ปัญหาแม้ในนิกายที่เหลือได้. บรรดาปกรณ์ ๗ พึงทำอรรถกถาแห่ง ๔ ปกรณ์ให้ชำนาญ. เพราะว่า ด้วยนัยที่ได้ในอรรถกถาแห่ง ๔ ปกรณ์นั้น ก็จักสามารถเพื่อกล่าวแก้ปัญหาในปกรณ์ที่เหลือได้. ส่วนวินัยปิฎกมีอรรถต่างๆ กัน มีเหตุต่างๆ กัน เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้สั่งสอนนางภิกษุณีพึงกระทำวินัยปิฎกนั้นพร้อมทั้งอรรถกถาให้ชำนาญทีเดียว. ก็ด้วยการเรียนสุตะมีประมาณเท่านี้ ภิกษุผู้สั่งสอนภิกษุณี ชื่อว่าเป็นผู้มีสุตะมา
____________________________
#- สารัตถทีปนี ๓/๒๙๒ แก้ว่า มาติกา ๒ ได้แก่ภิกขุมาติกาและภิกขุนีมาติกา. -ผู้ชำระ.

               [ปาฏิโมกข์ทั้งสองของเธอมาดีแล้วโดยพิสดาร]               
               ส่วนคำว่า อุภยานิ โข ปนสฺส เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ต่างหาก ก็เพราะเมื่อพาหุสัจจะ แม้มีองค์ ๙ อย่างอื่นมีอยู่ครบทั้งหมด จะเว้นวินัยปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาเสีย ย่อมไม่ควรทีเดียว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิตฺถาเรน ได้แก่ พร้อมด้วยอุภโตวิภังค์.
               บทว่า สฺวาคตานิ คือ มาแล้วด้วยดี. ก็ปาฏิโมกข์ทั้ง ๒ มาแล้วโดยประการใด จึงจัดว่ามาแล้วด้วยดี เพื่อแสดงประการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า สุวิภตฺตานิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวิภตฺตานิ ได้แก่ จำแนกได้ดี คือเว้นจากโทษ คือบทที่ตกหล่นภายหลังและสับสนกัน.
               บทว่า สุปฺปวตฺตินี ได้แก่ ช่ำชอง คล่องปาก.
               สองบทว่า สุวินิจฺฉิตา สุตฺตโส ได้แก่ มีวินิจฉัยดีแล้ว ด้วยอำนาจแห่งสูตรที่จะพึงนำมาจากขันธกะและบริวาร.
               บทว่า อนุพฺยญฺชนโส ได้แก่ วินิจฉัยได้เรียบร้อย โดยความบริบูรณ์แห่งอักขรบท และโดยอำนาจแห่งสูตร คือไม่ขาดตก ไม่มีอักษรที่ผิดพลาด. อรรถกถา ท่านแสดงไว้ด้วยบทว่า โดยอนุพยัญชนะนี้ จริงอยู่ วินิจฉัยนี้ ย่อมมีมาจากอรรถกถา.
               บทว่า กลฺยาณวาโจ มีความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวาจาของชาวเมือง ซึ่งมีบทและพยัญชนะกลมกล่อม ตามคำที่สมควรแก่การจัดเป็นสถิลและธนิตเป็นต้น คือประกอบด้วยวาจาให้รู้แจ้งซึ่งอรรถอันสละสลวย ไม่มีโทษ.
               บทว่า กลฺยาณวากฺกรโณ แปลว่า มีเสียงอ่อนหวาน.
               จริงอยู่ มาตุคามย่อมเป็นผู้ยินดีในความสมบูรณ์แห่งเสียง เพราะเหตุนั้น หล่อนจึงดูแคลนคำพูดที่เว้นจากความสมบูรณ์แห่งเสียง แม้ที่มีบทและพยัญชนะกลมกล่อม.
               คำว่า เยภุยฺเยน ภิกฺขุนีนํ ปิโย โหติ มนาโป มีความว่า ชื่อว่าภิกษุผู้เป็นที่รักแห่งภิกษุณีทั้งหมด หาได้ยาก. แต่ต้องเป็นที่รักเป็นที่จำเริญใจของพวกภิกษุณีผู้เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลและอาจาระ.
               คำว่า ปฏิพโล โหติ ภิกฺขุนิโยโอวทิตุํ มีความว่า เมื่อแสดงสูตรและเหตุ ชื่อว่าเป็นผู้สามารถ เพื่อจะขู่ด้วยภัยในวัฏฏะ แล้วกล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลาย คือ เมื่อแสดงธรรมแก่ภิกษุณีเหล่านั้น.
               บทว่า กาสายวตฺถวสนาย แปลว่า ผู้นุ่งผ้าย้อมฝาด.
               บทว่า ครุธมฺมํ มีความว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ไม่เคยต้องกายสังสัคคะกับภิกษุณี หรือว่าไม่เคยต้องเมถุนธรรมในนางสิกขมานาและสามเณรี.
               จริงอยู่ มาตุคามระลึกถึงกรรมที่ภิกษุกระทำไว้ในก่อน ย่อมไม่ทำความเคารพในธรรมเทศนา ของภิกษุแม้ผู้ตั้งอยู่ในสังวร. อีกอย่างหนึ่ง หล่อนจะยังความคิดให้เกิดขึ้นในอสัทธรรมนั่นเอง.
               บทว่า วีสติวสฺโส วา มีความว่า ผู้มีพรรษา ๒๐ โดยอุปสมบท หรือว่ามีพรรษาเกินกว่า ๒๐ แต่อุปสมบทนั้น. ภิกษุนั้น แม้จะคลุกคลีอยู่กับวัตถุที่เป็นข้าศึกกัน มีรูปเห็นปานนั้นบ่อยๆ ก็จะไม่พลันถึงความเสียศีลเหมือนภิกษุหนุ่ม. ภิกษุนั้นพิจารณาดูวัยของตนแล้ว ย่อมเป็นผู้มีกำลังพอที่จะขจัดฉันทราคะ ในฐานะอันไม่สมควรเสีย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วีสติวสฺโส วา โหติ อติเรกวีสติวสฺโส วา.
               ก็บรรดาองค์ ๘ เหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบว่า คำว่า เป็นผู้มีศีลเป็นต้นเป็นองค์ที่ , คำว่า เป็นพหูสูตเป็นต้น เป็นองค์ที่ , คำว่า ก็ (ปาฏิโมกข์) ทั้ง ๒ แลของเธอเป็นต้น เป็นองค์ที่ , คำว่าเป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีเสียง่อ่อนหวาน เป็นองค์ที่ , คำว่า เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพวกนางภิกษุณีโดยมาก เป็นองค์ที่ , คำว่า เป็นผู้สามารถสั่งสอนพวกนางภิกษุณี เป็นองค์ที่ , คำว่า ก็ข้อนั้นหามิได้แลเป็นต้น เป็นองค์ที่ , คำว่า มีพรรษา ๒๐ เป็นต้น เป็นองค์ที่ .
               บทว่า ญตฺติจตุตฺเถน ได้แก่ (ด้วยญัตติจตุตถกรรม) มีนัยดังกล่าวแล้วในเรื่องก่อนๆ นั่นแหละ.

               [ว่าด้วยครุธรรม ๘ ของนางภิกษุณี]               
               บทว่า ครุธมฺเมหิ คือด้วยธรรมอันหนัก.
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ครุธรรม เพราะเป็นธรรมอันภิกษุณีทั้งหลายพึงกระทำความเคารพรับรอง.
               ในคำว่า เอกโต อุปสมฺปนฺนา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุใดย่อมกล่าวสอนด้วยครุธรรมแก่ภิกษุณีผู้อุปสมบท ในสำนักแห่งภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายเดียว เป็นทุกกฏแก่ภิกษุนั้น. แต่เป็นอาบัติตามวัตถุทีเดียว (แก่ภิกษุผู้สั่งสอนนางภิกษุณี) ผู้อุปสมบทในสำนักของพวกภิกษุ.
               สองบทว่า ปริเวณํ สมฺมชฺชิตฺวา มีความว่า ถ้าบริเวณไม่เตียนหรือแม้เตียนแล้วในเวลาเช้า กลับรกเพราะหญ้าและใบไม้เป็นต้น และเกิดมีทรายกระจุยกระจาย เพราะถูกเท้าเหยียบย่ำ, ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงกวาด.
               จริงอยู่ ภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้นเห็นบริเวณนั้นไม่เตียน พึงเป็นเหมือนผู้ไม่อยากฟัง ด้วยสำคัญว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ชักนำแม้พวกภิกษุหนุ่ม ผู้เป็นนิสิตก์ของตน ในวัตรปฏิบัติ, ดีแต่แสดงธรรมอย่างเดียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปริเวณํ สมฺมชฺชิตฺวา.
               ก็ภิกษุณีทั้งหลายเดินมาจากภายในบ้าน ย่อมกระหายน้ำและเหน็ดเหนื่อย. ภิกษุณีเหล่านั้นจึงหวังเฉพาะอยู่ซึ่งน้ำดื่ม และการกระทำให้มือเท้าและหน้าเย็น. และเมื่อน้ำนั้นไม่มี ภิกษุณีเหล่านั้นเกิดความไม่เคารพโดยนัยก่อนนั่นแล แล้วเป็นผู้ไม่ประสงค์จะฟังธรรม ก็ได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปานียํ ปริโภชนียํ อุปฏฺฐเปตฺวา.
               บทว่า อาสนํ มีความว่า ก็ภิกษุผู้ได้รับสมมตินั้น พึงจัดตั้งที่นั่งมีชนิดตั่งเล็ก ตั้งแผ่นกระดาน เสื่ออ่อนและเสื่อลำแพนเป็นต้น โดยที่สุดแม้กิ่งไม้พอจะหักได้ ด้วยคิดอย่างนี้ว่า นี้ จักเป็นที่นั่งของภิกษุณีเหล่านั้น แล้วพึงปรารถนาบุรุษผู้รู้เดียงสาเป็นเพื่อน เพื่อเปลื้องอาบัติในเพราะการแสดงธรรม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทุติยํ คเหตฺวา ดังนี้.
               บทว่า นิสีทิตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงนั่งในที่สุดแดนวิหาร โดยที่แท้ พึงนั่งในสถานชุมนุมแห่งคนทั่วไป ใกล้ประตูแห่งโรงอุโบสถหรือโรงฉันในท่ามกลางวิหาร.
               บทว่า สมคฺคตฺถ มีความว่า ท่านทั้งหลายมาพร้อมเพรียงกันหมดแล้วหรือ?
               บทว่า วตฺตนฺติ แปลว่า (ครุธรรม ๘) ยังจำกันได้อยู่หรือ?
               อธิบายว่า ชำนาญ คล่องปากหรือ?
               บทว่า นิยฺยาเทตพฺโพ แปลว่า พึงมอบให้.
               บทว่า โอสาเรตพฺพา ได้แก่ พึงบอกบาลี.
               คำว่า วสฺสสตูปสมฺปนฺนาย เป็นต้น เป็นคำแสดงบาลีที่ภิกษุผู้ได้รับสมมติจะพึงบอก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามีจิกมฺมํ ได้แก่ วัตรอันสมควรมีการหลีกทางให้ พัดวี และถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่มเป็นต้น. ก็บรรดาวัตรมีการอภิวาทเป็นต้นนี้ ชื่อว่าการกราบไหว้ภิกษุ อันภิกษุณีพึงกระทำแท้ ภายในบ้านก็ดี นอกบ้านก็ดี ภายในวิหารก็ดี ภายนอกวิหารก็ดี ในละแวกบ้านก็ดี ในตรอกก็ดี โดยที่สุดแม้เมื่อการขับไล่ เพราะเหตุพระราชาเสด็จมาเป็นไปอยู่ก็ดี เมื่อฝนกำลังตกก็ดี ในพื้นดินมีโคลนตมเป็นต้นก็ดี มีร่มและบาตรอยู่ในมือก็ดี๑- ถูกช้างและม้าเป็นต้นไล่ติดตามก็ดี. ภิกษุณีเห็นพวกภิกษุเข้าสู่ที่ภิกขาจาร เดินเป็นแถวเนื่องกันเป็นแถวเดียว จะไหว้ในที่แห่งเดียว ด้วยกล่าวว่า ดิฉันไหว้พระคุณเจ้า! ดังนี้ ก็ควร. ถ้าภิกษุทั้งหลายเดินเว้นระยะในระหว่าง ห่างกัน ๑๒ ศอก พึงแยกไหว้, จะไหว้ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งอยู่ในที่ประชุมใหญ่ ในที่แห่งเดียวเท่านั้นก็ได้.
               แม้ในอัญชลีกรรมก็นัยนี้.
               ก็ภิกษุณีนั่งแล้วในที่ใดที่หนึ่งพึงกระทำการลุกรับ พึงกระทำกรรมนั้นๆ ในที่และเวลาอันสมควรแก่สามีจิกรรมนั้นๆ.
               บทว่า สกฺกตฺวา คือ กระทำโดยประการที่ธรรมซึ่งตนทำแล้ว จะเป็นอันทำแล้วด้วยดี.
               บทว่า ครุกตฺวา คือ ให้เกิดความเคารพในกรรมนั้น.
               บทว่า มาเนตฺวา คือ กระทำความรักด้วยใจ (จริง).
               บทว่า ปูเชตฺวา คือ บูชาด้วยการทำกิจ ๓ อย่างเหล่านี้แหละ.
               บทว่า นาติกฺกมนีโย คือ อันภิกษุณีไม่พึงล่วงละเมิด.
____________________________
๑- โยชนาปาฐะ ๒/๔๑ เป็น ฉตฺตปตฺตหตฺถายปิ... ผู้ชำระ.

               [ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสไม่มีภิกษุ]               
               ในคำว่า อภิกฺขุเก อาวาเส นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ถ้าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทไม่ได้อยู่ในโอกาสภายในระยะกึ่งโยชน์จากสำนักแห่งภิกษุณี, อาวาสนี้ ชื่อว่าอาวาสไม่มีภิกษุ. ภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสไม่มีภิกษุนี้.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อาวาสที่ภิกษุณืทั้งหลาย ไม่อาจจะไปเพื่อโอวาท หรือเพื่ออยู่ร่วมกัน ชื่อว่าไม่มีภิกษุ และไม่อาจเพื่อจะไปที่อื่นจากสำนักภิกษุณีนั้นในภายหลังภัต ฟังธรรมแล้วกลับมา. ถ้าหมู่ญาติหรือพวกอุปัฏฐาก กล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายผู้ไม่ประสงค์จะอยู่จำพรรษาในอาวาสนั้นอย่างนี้ว่า ขอจงอยู่เถิด แม่เจ้า! พวกผมจักนำภิกษุทั้งหลายมา ดังนี้ ควรอยู่.
               แต่ถ้า ภิกษุทั้งหลายมีความประสงค์จะอยู่จำพรรษาในประเทศ มีประมาณดังเรากล่าวแล้ว มาพักค้างแม้ที่ปะรำกิ่งไม้คืนหนึ่ง ถูกพวกชาวบ้านนิมนต์ไว้ จึงไม่ประสงค์จะไป๑-, แม้ด้วยความปรารถนาที่ภิกษุจะมาอยู่ จำพรรษาเพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่าอาวาสมีภิกษุ. พวกภิกษุณีจะเข้าจำพรรษาในอาวาสนี้ ก็ควร. และเมื่อเข้าพรรษา พึงขอร้องภิกษุทั้งหลายในวัน ๑๓ ค่ำแห่งปักษ์นั่นแลว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! พวกดิฉันจักอยู่ด้วยโอวาทของท่านทั้งหลาย.
               สถานที่อยู่ของภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่กึ่งโยชน์ โดยทางตรงจากสำนักภิกษุณีใดมีอันตรายแห่งชีวิต และอันตรายแห่งพรหมจรรย์ แก่พวกภิกษุณีผู้ไปโดยทางนั้น, เมื่อไปโดยทางอื่น มีระยะเกินกว่ากึ่งโยชน์, อาวาสนี้ ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งอาวาสไม่มีภิกษุเหมือนกัน. แต่ถ้าว่ามีสำนักภิกษุณีอื่น อยู่ในที่ปลอดภัยไกลจากสำนักภิกษุณีนั้น ประมาณคาวุตหนึ่ง, ภิกษุณีเหล่านั้นพึงขอร้องภิกษุณีพวกนั้น แล้วกลับไปขอร้องภิกษุทั้งหลายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย! มีอันตรายในทางตรงแก่พวกดิฉัน, เมื่อไปทางอื่นมีระยะเกินกว่ากึ่งโยชน์, แต่ในระหว่างทาง มีสำนักภิกษุณีอื่นไกลจากสำนักของพวกดิฉันประมาณคาวุตหนึ่ง, พวกดิฉันจักอยู่ด้วยโอวาทที่มาแล้ว ในสำนักภิกษุณีนั้นจากสำนักพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นพึงรับรอง. ตั้งแต่นั้นไป ภิกษุณีเหล่านั้นพึงมาสู่สำนักภิกษุณีนั้นกระทำอุโบสถ, หรือว่าเยี่ยมภิกษุณีเหล่านั้นแล้ว กลับไปยังสำนักของตนนั่นแหละ กระทำอุโบสถก็ได้.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายใคร่จะอยู่จำพรรษา มายังวิหารในวัน ๑๔ ค่ำและพวกภิกษุณีถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจักอยู่จำพรรษาในที่นี้หรือ? แล้วกล่าวว่า เออ ภิกษุณีเหล่านั้นกราบเรียนต่อไปว่า พระผู้เป็นเจ้า! ถ้าอย่างนั้น แม้พวกดิฉันก็จักอยู่อาศัยโอวาทของท่านทั้งหลาย ดังนี้, ในวันรุ่งขึ้น ไม่เห็นความสมบูรณ์แห่งอาหารในบ้าน คิดว่า เราไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ จึงหลีกไป, ถ้าว่า ภิกษุณีเหล่านั้นไปสู่วิหารในวันอุโบสถ ไม่เห็นภิกษุเหล่านั้น, ถามว่า ในอาวาสเช่นนี้ จะพึงทำอย่างไร? แก้ว่า ภิกษุทั้งหลายอยู่ในอาวาสใด พึงไปเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลัง ณ อาวาสนั้น, หรือว่า ทำความผูกใจว่า ภิกษุทั้งหลายจักมาเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลัง แล้วพึงอยู่ด้วยโอวาทในสำนักของพวกภิกษุผู้มาแล้ว.
               ก็ถ้าว่า แม้ในวันเข้าปัจฉิมพรรษาก็ไม่มีภิกษุบางรูปมา, และในระหว่างทาง มีราชภัย โจรภัย หรือทุพภิกขภัย, เป็นอาบัติแก่ภิกษุณีผู้อยู่ในอาวาสไม่มีภิกษุ, แม้ผู้ขาดพรรษาไป ก็เป็นอาบัติ, พึงรักษาอาบัติ มีการขาดพรรษาเป็นเหตุนั้นไว้.
               จริงอยู่ ในอันตรายทั้งหลาย ท่านปรับเป็นอนาบัติแก่ภิกษุณีผู้อยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ.
               ถ้าภิกษุทั้งหลายมาเข้าพรรษาแล้ว หลีกไปเสียอีก ด้วยเหตุบางอย่างก็ตาม, พวกภิกษุณีพึงอยู่ต่อไป. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุณีผู้มีพวกภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หลีกไปก็ดี สึกเสียก็ดี กระทำกาละเสียก็ดี ไปเข้าฝักฝ่ายอื่นก็ดี มีอันตรายก็ดี ผู้เป็นบ้าก็ดี ผู้เป็นต้นบัญญัติก็ดี, แต่เมื่อจะปวารณาพึงไปปวารณาในอาวาสที่มีพวกภิกษุ.
               บทว่า อนฺวฑฺฒมาสํ แปลว่า ทุกๆ กึ่งเดือน.
               สามบทว่า เทฺว ธมฺมา ปจฺจาสึสิตพฺพา คือ พึงปรารถนาธรรม ๒ อย่าง.
               บทว่า อุโปสถปุจฺฉกํ แปลว่า ถามถึงอุโบสถ. ในการถามถึงอุโบสถนั้น ในอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พึงไปถามอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักษ์ ในอุโบสถ ๑๔ ค่ำ พึงไปถามอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำแห่งปักษ์. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า พึงไปถามในดิถีที่ ๑๓ ค่ำแห่งปักษ์นั่นแลว่า อุโบสถนี้ ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ. ในวันอุโบสถ พึงเข้าไปเพื่อประโยชน์แก่โอวาท. ก็ตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ ไป พึงไปเพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงประทานโอกาสแก่กรรมอื่น ทรงบัญญัติการไปติดต่อกันในสำนักของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นแก่พวกภิกษุณีด้วยประการอย่างนี้.
               เพราะเหตุไร? เพราะมาตุคามมีปัญญาน้อย.
               จริงอยู่ มาตุคามมีปัญญาน้อย การฟังธรรมเป็นนิตย์มีอุปการะมากแก่เธอ (แก่มาตุคามนั้น). และเมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุณีทั้งหลายจักไม่กระทำมานะว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ธรรมที่พวกเรารู้อยู่เท่านั้น แล้วจักเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุสงฆ์ กระทำการบรรพชาให้มีประโยชน์. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงทำ (การบัญญัติ) อย่างนั้น. ฝ่ายภิกษุณีทั้งหลายสำคัญว่า เราทั้งหลายจักปฏิบัติตามที่ทรงพร่ำสอน จึงเข้าไปยังวิหารไม่ขาดทั้งหมดทีเดียว.
____________________________
๑- แปลตามฎีกาและโยชนา ๒/๔๑

               [ว่าด้วยภิกษุณีสงฆ์เข้าไปหาภิกษุสงฆ์เพื่อรับโอวาท]               
               สมจริงดังคำที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุณีสงฆ์ทั้งหมดย่อมไปรับโอวาท. พวกมนุษย์ย่อมโพนทะนา ติเตียนยกโทษว่า ภิกษุณีเหล่านี้เป็นเมียของภิกษุพวกนี้, เหล่านี้เป็นชู้สาวของภิกษุเหล่านี้, บัดนี้ ภิกษุเหล่านี้จักอภิรมย์กับภิกษุณีเหล่านี้ ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีสงฆ์ ไม่พึงไปรับโอวาททั้งหมด, ถ้าไปรับ (ทั้งหมด) ต้องทุกกฏ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณี ๔-๕ รูปไปรับโอวาท ดังนี้. ถึงอย่างนั้น พวกชาวบ้านก็โพนทะนาอีกเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอีกว่า ภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตให้ภิกษุณี ๒-๓ รูปไปรับโอวาทดังนี้.
               เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุณีสงฆ์พึงขอร้องภิกษุณี ๒-๓ รูปแล้วส่งไปว่า ไปเถิดแม่เจ้า! จงขอการเข้าไปรับโอวาทกะภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ขอการเข้าไปเพื่อรับโอวาทกะภิกษุสงฆ์ ดังนี้. ภิกษุณีเหล่านั้นพึงไปยังอาราม แต่นั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ผู้รับโอวาทไหว้แล้ว, ภิกษุณีรูปหนึ่งพึงกราบเรียนภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมไหว้เท้าแห่งภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า นัยว่า ภิกษุณีสงฆ์จงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท ดังนี้.
               ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้แสดงปาฏิโมกข์ แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมไหว้เท้าของภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ท่านขอรับ! นัยว่า ภิกษุณีสงฆ์ จงได้ซึ่งการเข้ามาเพื่อรับโอวาทดังนี้. ภิกษุผู้แสดงปาฏิโมกข์พึงกล่าวว่า มีภิกษุบางรูปที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีหรือ? ถ้ามีภิกษุบางรูปที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุผู้แสดงปาฏิโมกข์พึงกล่าวว่า ภิกษุชื่อโน้น สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุณีสงฆ์จงเข้าไปหาภิกษุนั้น ดังนี้.
               ถ้าไม่มีภิกษุบางรูปที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุผู้แสดงปาฏิโมกข์พึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุรูปไหน จะสามารถสั่งสอนพวกภิกษุณี? ถ้ามีภิกษุบางรูปอาจจะสั่งสอนพวกภิกษุณีและภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ พึงสมมติภิกษุนั้นแล้วกล่าวว่า ภิกษุชื่อโน้น สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุณีสงฆ์จงเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด.
               แต่ใครๆ ก็ไม่สามารถจะสั่งสอนพวกภิกษุณี, ภิกษุผู้แสดงปาฏิโมกข์พึงกล่าวว่า ไม่มีภิกษุบางรูปที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุณีสงฆ์จงให้ถึงพร้อมด้วยกรรมอันน่าเลื่อมใสเถิด.
               จริงอยู่ ด้วยคำเพียงเท่านี้ ศาสนาสงเคราะห์ด้วยไตรสิกขาทั้งสิ้น เป็นอันเธอบอกแล้ว. ภิกษุนั้นรับว่า ดีละ แล้วพึงบอกแก่ภิกษุณีทั้งหลายในวันแรมค่ำ ๑.
               แม้ภิกษุณีสงฆ์พึงส่งภิกษุณีเหล่านั้นไปว่า ไปเถิดแม่เจ้า! จงถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาทหรือ? ภิกษุณีเหล่านั้นรับว่า ดีละ พระแม่เจ้า! แล้วไปยังอาราม เข้าไปหาภิกษุนั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาทหรือ? ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า ไม่มีภิกษุบางรูปที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี, ภิกษุณีสงฆ์จงให้ถึงพร้อมด้วยกรรมอันน่าเลื่อมใสเถิด. ภิกษุณีเหล่านั้นพึงรับว่า ดีละ พระผู้เป็นเจ้า!
               ก็ท่านกล่าวคำพหูพจน์ว่า ตาหิ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้มาพร้อมกัน. ก็บรรดาภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งพึงกล่าวและพึงรับ. ภิกษุณีนอกนี้ พึงเป็นเพื่อนของภิกษุณีนั้น. ก็ถ้าว่าภิกษุณีสงฆ์ก็ดี ภิกษุสงฆ์ก็ดี ไม่ครบ (องค์เป็นสงฆ์). หรือทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นเพียงคณะหรือบุคคลเท่านั้นก็ดี ภิกษุณีรูปเดียวถูกส่งไปจากสำนักภิกษุณีมากแห่ง เพื่อประโยชน์แก่โอวาทก็ดี.
               ในคำว่า ภิกฺขุนีสงฺโฆ วา น ปูรติ เป็นต้นนั้น มีพจนานุกรมดังต่อไปนี้ :-

               [ลำดับคำขอทั้งสองฝ่ายที่ครบสงฆ์และไม่ครบสงฆ์]               
               ๑. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมไหว้เท้าของภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ได้ยินว่า พวกภิกษุณีจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๒. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันไหว้เท้าภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ได้ยินว่า ดิฉันจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๓. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ ไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ได้ยินว่าภิกษุณีสงฆ์จงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๔. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลายไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ได้ยินว่า ภิกษุณีทั้งหลายจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๕. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันย่อมไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายและขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๖. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าและขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ได้ยินว่า ภิกษุณีสงฆ์จงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๗. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้า และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลายจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๘. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้า และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ๙. ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ไหว้ ภิกษุณีทั้งหลายไหว้ และภิกษุณีไหว้เท้าของภิกษุสงฆ์ ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ของพระผู้เป็นเจ้า และขอๆๆ การเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! นัยว่า ภิกษุสงฆ์จงได้...นัยว่า ภิกษุณีทั้งหลายจงได้...และนัยว่า ภิกษุณีจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.๑-
               ภิกษุนั้นพึงกล่าวในเวลาทำอุโบสถอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ภิกษุณีทั้งหลายย่อมไหว้เท้าภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่ผู้เจริญ! ได้ยินว่า ภิกษุณีทั้งหลายจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ภิกษุณีไหว้เท้าภิกษุสงฆ์ และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่พระผู้เจริญ! ได้ยินว่า ภิกษุณีจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ภิกษุณีสงฆ์ ฯลฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ภิกษุณีไหว้เท้าของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย และขอการเข้ามาเพื่อรับโอวาท, ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ได้ยินว่า ภิกษุณีจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.
               ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ภิกษุณีสงฆ์ไหว้ ภิกษุณีทั้งหลายไหว้ และภิกษุณีไหว้เท้าของภิกษุสงฆ์ ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย และขอๆๆ การเข้ามาเพื่อรับโอวาท, นัยว่า ภิกษุณีสงฆ์จงได้...นัยว่า ภิกษุณีทั้งหลายจงได้... และนัยว่า ภิกษุณีจงได้การเข้ามาเพื่อรับโอวาท.๒-
               ฝ่ายภิกษุผู้สวดปาฏิโมกข์ ถ้ามีภิกษุผู้ที่สงฆ์สมมติ พึงกล่าวโดยนัยก่อนนั่นแหละว่า ภิกษุณีสงฆ์ จงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น, ภิกษุณีทั้งหลายจงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น, ภิกษุณีจงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น, ดังนี้. ถ้าภิกษุผู้ได้รับสมมติไม่มี, พึงกล่าวว่า ภิกษุณีสงฆ์จงให้ถึงพร้อมด้วยกรรมที่น่าเลื่อมใสเถิด ภิกษุณีทั้งหลายจงให้ถึงพร้อม... ภิกษุณีจงให้ถึงพร้อมด้วยกรรมที่น่าเลื่อมใสเถิด. ภิกษุผู้รับโอวาทพึงนำกลับไปบอกเหมือนอย่างนั้น ในวันปาฏิบท.
               ก็ภิกษุอื่น เว้นภิกษุผู้เป็นพาล ผู้อาพาธและผู้เตรียมจะไปเสีย ถ้าแม้นเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร จะไม่รับโอวาทไม่ได้. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายที่เหลือรับโอวาท เว้นภิกษุผู้เป็นพาล ผู้อาพาธ ผู้เตรียมจะไปเสีย.๓-
               บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้มีความประสงค์จะไปในวันอุโบสถที่ ๑๔-๑๕ ค่ำ หรือในวันปาฏิบท ชื่อว่า ผู้เตรียมจะไป. ถึงจะไปในวันแห่งปักษ์ที่ ๒ จะไม่รับก็ไม่ได้ คือ ต้องอาบัติที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่รับ (ให้) โอวาทไม่ได้, ภิกษุใดไม่รับ ภิกษุนั้นต้องทุกกฏ๔- ดังนี้นั่นแล.
               ภิกษุรับโอวาทแล้ว ไม่บอกในโรงอุโบสถ หรือไม่นำกลับไปบอกแก่ภิกษุณีทั้งหลายในวันปาฏิบท ย่อมไม่ควร. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุจะไม่บอกโอวาทไม่ได้, ภิกษุใดไม่บอก ภิกษุนั้นต้องทุกกฏ.๔-
               แม้คำอื่นก็ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่ พึงนำโอวาทไปบอกไม่ได้, ภิกษุใดไม่นำไปบอก ภิกษุนั้นต้องทุกกฏ๔- ดังนี้.
               บรรดาภิกษุผู้นำโอวาทไปบอกเหล่านั้น ภิกษุผู้ถืออรัญญิกธุดงค์ พึงทำการนัดหมายเพื่อนำไปบอก. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร รับโอวาทและทำการนัดหมายว่า เราจักนำไปบอก๔- ในที่นี้ ดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าหากได้ภิกษาในบ้านเป็นที่อยู่ของภิกษุณีทั้งหลาย, พึงเที่ยวไปในบ้านนั้นนั่นแหละ พบพวกภิกษุณีบอกแล้วจึงไป. ถ้าที่บ้านนั้น ภิกษาเป็นของหาไม่ได้ง่ายสำหรับเธอ, พึงเที่ยวไปในบ้านใกล้เคียง แล้วมาบ้านของพวกภิกษุณีทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. ถ้าหากจะต้องไปไกล พึงทำการนัดหมายว่า เราจักเข้าไปยังสภา มณฑป หรือว่า โคนไม้ ชื่อโน้น ใกล้ประตูบ้านของพวกท่าน, พวกท่านพึงมาที่สภาเป็นต้นนั้น. พวกภิกษุณีพึงไปที่สภาเป็นต้นนั้น จะไม่ไปไม่ได้.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีจะไม่ไปสู่ที่นัดหมายไม่ได้, ภิกษุณีใดไม่ไป ภิกษุณีนั้น ต้องทุกกฏ๔- ดังนี้.
____________________________
๑- ข้อนี้ท่านละเป็นเปยยาลไว้ ทางที่ถูกต้องแยกแปลเหมือนข้างต้น. -ผู้ชำระ
๒- ข้อนี้เวลาแปลจริงต้องแยกแปล เป็นข้อๆ เหมือนข้างต้น - ผู้ชำระ
๓- วิ. จุลฺ เล่ม ๗/ข้อ ๕๔๖/หน้า ๓๔๒
๔- วิ. จุลฺ เล่ม ๗/ข้อ ๕๔๕/หน้า ๓๔๑-๓๔๓

               [ข้อว่าพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดย ๓ สถาน]               
               ในคำว่า อุภโตสงฺเฆ ตีหิ ฐาเนหิ ปวาเรตพฺพํ นี้ มีวินิจฉัยว่า ภิกษุณีทั้งหลาย ปวารณาด้วยตนเองในวัน ๑๔ ค่ำ แล้วพึงปวารณาในภิกษุสงฆ์ในวันอุโบสถ. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ (ภิกษุณีทั้งหลาย) ปวารณาในวันนี้แล้ว พึงปวารณากะภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นอีก๑- ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ เล่ม ๗/ข้อ ๕๕๒/หน้า ๓๔๓

               ก็บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำนี้ โดยนัยดังที่ตรัสไว้ในภิกขุนีขันธกะนั่นแล. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุณีสงฆ์ทั้งปวง ขณะปวารณาได้ทำการโกลาหล. ภิกษุณีทั้งหลายบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุณีรูปหนึ่งผู้ฉลาด สามารถ ให้ปวารณากะภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีสงฆ์. ภิกษุทั้งหลาย! ก็แลภิกษุณีสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ :-
               คือ ภิกษุณีสงฆ์พึงขอร้องภิกษุณีรูปหนึ่งก่อน. ครั้นขอร้องแล้ว ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถ พึงเผดียงสงฆ์ว่า
               ข้าแต่แม่เจ้า! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงสมมติภิกษุณีชื่อนี้ให้ปวารณาภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีสงฆ์, นี้เป็นคำญัตติ. ข้าแต่แม่เจ้า! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า, สงฆ์สมมติภิกษุณีชื่อนี้ ให้ปวารณาภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีสงฆ์, การสมมติภิกษุณีชื่อนี้ ให้ปวารณาภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีสงฆ์ ย่อมควรแก่แม่เจ้ารูปใด, แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่งอยู่, ย่อมไม่ควรแก่แม่เจ้ารูปใด แม่เจ้ารูปนั้นพึงพูดขึ้น. ภิกษุณีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้ปวารณาภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีสงฆ์ ย่อมควรแก่สงฆ์; เพราะเหตุนั้น สงฆ์จงนิ่งอยู่, ข้าพเจ้าจะทรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นิ่งอยู่แห่งสงฆ์อย่างนี้.
____________________________
๒- วิ. จุลฺ เล่ม ๗/ข้อ ๕๘๘/หน้า ๓๖๒

               ภิกษุณีที่สงฆ์สมมตินั้น พาภิกษุณีสงฆ์เข้าไปหาภิกษุสงฆ์แล้ว ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคองอัญชลี พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ย่อมปวารณากะภิกษุสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ขอภิกษุสงฆ์จงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวภิกษุณีสงฆ์, ภิกษุณีสงฆ์เห็นอยู่จักกระทำคืน, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! แม้ครั้งที่ ๒... ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุณีสงฆ์ ฯลฯ จักทำคืน ดังนี้.
               ถ้าภิกษุณีสงฆ์ ไม่ครบ (องค์เป็นสงฆ์), นางภิกษุณีที่สงฆ์สมมติ พึงกล่าว ๓ ครั้งอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลายปวารณาภิกษุสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ฟังก็ตาม ด้วยรังเกียจก็ตาม, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ขอภิกษุสงฆ์จงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวพวกภิกษุณี, ภิกษุณีทั้งหลายเห็นอยู่ จักทำคืน และว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันปวารณาภิกษุสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ฟังก็ตาม ด้วยรังเกียจก็ตาม, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ขอภิกษุสงฆ์จงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวดิฉัน. ดิฉันเห็นอยู่จักทำคืน ดังนี้.
               ถ้าภิกษุสงฆ์ไม่ครบ (องค์เป็นสงฆ์) พึงกล่าว ๓ ครั้งอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ปวารณากะพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ฟังก็ตาม ด้วยรังเกียจก็ตาม, ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวภิกษุณีสงฆ์, ภิกษุณีสงฆ์เห็นอยู่ จักทำคืน, และว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีสงฆ์ปวารณากะพระผู้เป็นเจ้า ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ฟังก็ตาม ด้วยรังเกียจก็ตาม, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวภิกษุณีสงฆ์, ภิกษุณีสงฆ์เห็นอยู่ จักทำคืน ดังนี้.
               เมื่อไม่ครบสงฆ์แม้ทั้ง ๒ ฝ่าย พึงกล่าว ๓ ครั้ง อย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย! ภิกษุณีทั้งหลายปวารณากะพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี, พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวภิกษุณีทั้งหลายๆ เห็นอยู่ จักกระทำคืน,
               และว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุณีทั้งหลายปวารณากะพระผู้เป็นเจ้า ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยุได้ฟังก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวภิกษุณีทั้งหลายๆ เห็นอยู่ จักกระทำคืน ดังนี้,
               ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย! ดิฉันปวารณากะพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี, ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวดิฉันๆ เห็นอยู่ จักกระทำคืน
               และว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ดิฉันปวารณากะพระผู้เป็นเจ้า ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอาศัยความอนุเคราะห์ว่ากล่าวดิฉันๆ เห็นอยู่ จักกระทำคืน ดังนี้.
               การประพฤติมานัต และการแสวงหาการอุปสมบท จักมีแจ้งในที่ตามควรแก่ฐานะนั่นแล.
               ข้อว่า น ภิกฺขุนิยา เกนจิ ปริยาเยน มีความว่า ภิกษุณีอย่าพึงด่า อย่าพึงบริภาษภิกษุด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ หรือด้วยคำเปรียบเปรยอะไรอย่างอื่น และไม่พึงขู่ภิกษุด้วยภัย.
               บทว่า โอวโฏ ได้แก่ ปิด คือ กั้น ห้าม. ถ้อยคำนั่นแหละ ชื่อว่าพจนบถ.
               บทว่า อโนโฏ ได้แก่ ไม่ปิด คือไม่กั้น ไม่ห้าม.
               เพราะเหตุนั้น ภิกษุณีตั้งอยู่ในฐานแห่งความเป็นผู้ใหญ่ คือในฐานแห่งผู้เป็นหัวหน้า อย่าพึงว่ากล่าว อย่าพึงสั่งสอนภิกษุโดยปริยายใดๆ ว่า ท่านจงเดินหน้าอย่างนี้, จงถอยกลับอย่างนี้, จงนุ่งอย่างนี้, จงห่มอย่างนี้. แต่เห็นโทษแล้ว จะแสดงโทษที่มีอยู่โดยนัยเป็นต้นว่า พระมหาเถระทั้งหลายในปางก่อน ย่อมไม่เดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่นุ่ง ไม่ห่มอย่างนี้, ย่อมไม่ทรงแม้ผ้ากาสาวะเช่นนี้ ไม่หยอดนัยน์ตาอย่างนี้ ดังนี้ ควรอยู่.
               ส่วนภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว สั่งสอนภิกษุณี ตามสะดวกว่า แม่สมณีแก่นี้ ย่อมนุ่งอย่างนี้ ย่อมห่มอย่างนี้, อย่านุ่งอย่างนี้ อย่าห่มอย่างนี้, อย่ากระทำกรรมเกี่ยวด้วยเมล็ดงา และเกี่ยวด้วยใบไม้เป็นต้น ควรอยู่.
               สองบทว่า สมคฺคมฺหยฺยาติ ภณนฺตํ ได้แก่ กะภิกษุณีสงฆ์ ผู้กล่าวอยู่ว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกัน พระผู้เป็นเจ้า!
               คำว่า อญฺญํ ธมฺมํ ภณติ ได้แก่ (สั่งสอน) สูตร หรืออภิธรรมอย่างอื่น, ก็พวกภิกษุณีย่อมหวังเฉพาะโอวาทด้วยคำว่า สมคฺคมฺหยฺย. เพราะเหตุนั้น จึงเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้กล่าวธรรมอื่นเว้นโอวาทเสีย.
               สองบทว่า โอวาทํ อนิยฺยาเทตฺวา ได้แก่ ไม่กล่าวว่า ดูก่อนน้องหญิง! นี้โอวาท, กรรม คือภิกขุโนวาทกสมมติ (การสมมติภิกษุผู้สั่งสอนภิกษุณี) ผู้ศึกษาพึงทราบว่า กรรม ในคำว่า อธมฺมกมฺเม เป็นต้น. บรรดากรรม มีกรรมไม่เป็นธรรมเป็นต้นนั้น ในกรรมไม่เป็นธรรม เป็นปาจิตตีย์ ๑๘ ตัว ด้วยอำนาจแห่งหมวด ๙ ๒ หมวด. ในกรรมเป็นธรรม ไม่เป็นอาบัติ ในบทสุดท้ายแห่งหมวด ๙ หมวดที่ ๒. ในบทที่เหลือเป็นทุกกฏ ๑๗ ตัว.
               สองบทว่า อุทฺเทสํ เทนฺโต ได้แก่ ผู้แสดงบาลีแห่งครุธรรม ๘.
               สองบทว่า ปริปุจฺฉํ เทนฺโต มีความว่า ผู้กล่าวอรรถกถาแห่งบาลีครุธรรมที่คล่องแคล่วนั้นนั่นแล.
               หลายบทว่า โอสาเรหิ อยฺยาติ วุจฺจมาโน โอสาเรติ มีความว่า ภิกษุผู้อันภิกษุณีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ย่อมสวดบาลีครุธรรม ๘ ภิกษุผู้ให้อุเทศ ผู้ให้ปริปุจฉาอย่างนี้ และภิกษุผู้อันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์สวดเถิด สวดครุธรรม ๘, ไม่เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้น ไม่เป็นอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้กล่าวธรรมอื่น.
               หลายบทว่า ปญฺหํ ปุจฺฉติปญฺหํ ปุฏฺโฐ กเถติ มีความว่า ภิกษุณีย่อมถามปัญหาอิงครุธรรม หรืออิงธรรมมีขันธ์เป็นต้น. ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ปัญหานั้น.
               สองบทว่า อญฺญสฺสตฺถาย ภณนฺตํ มีความว่า ภิกษุณีทั้งหลายเข้าไปหาภิกษุผู้กำลังแสดงธรรมในบริษัท ๔ แล้วฟังอยู่. แม้ในการกล่าวเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นนั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุ.
               สองบทว่า สิกฺขมานาย สามเณริยา คือ ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุผู้แสดงแก่สิกขมานาและสามเณรีเหล่านั้น.
               บทที่เหลือ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปทโสธรรมสิกขาบท เกิดขึ้นทางวาจา ๑ ทางวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               โอวาทสิกขาบทที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 402อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 406อ่านอรรถกถา 2 / 424อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=9268&Z=9507
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7400
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7400
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :