ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 157อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 2 / 165อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘

               นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘               
               พรรณนาอัจเจกจีวรสิกขาบท               
               อัจเจกจีวรสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในอัจเจกจีวรสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทสาหานาคตํ มีความว่า วันทั้งหลาย ๑๐ ชื่อว่า ทสาหะ. (วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา) ยังไม่มาโดยวัน ๑๐ นั้น ชื่อว่า ทสาหานาคตะ.
               อธิบายว่า ยังไม่มาถึง ๑๐ วัน. ในวันปุรณมีที่ยังไม่มาถึงอีก ๑๐ วันนั้น. ทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ ด้วยอำนาจแห่งอัจจันตสังโยค. เพราะเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า ทสาหานาคตํ นั้น จึงตรัสว่า ทสาหานาคตาย.
               ก็คำว่า ปวารณาย นี้ เป็นคำประกอบตามหลัง เพื่อความไม่ฉงน เพื่อจะแสดงปวารณาที่ตรัสไว้ว่า ทสาหานาคตา โดยสรูป.

               [อธิบายการเกิดแห่งอัจเจกจีวร]               
               บทว่า กตฺติกเตมาสิกปุณฺณมํ แปลว่า วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกาต้น. แม้ในบทว่า กตฺติกเตมาสิกปุณฺณมํ นี้ก็เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ โดยนัยก่อนเหมือนกัน เพราะประกอบตามหลังบทต้น.
               มีคำอธิบายว่า วันมหาปวารณาแรก ตรัสเรียกว่า ทสาหานาคตา ตั้งแต่กาลใดไป, ถ้าแม้นว่า อัจเจกจีวรพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุแน่นอนตลอดวันเหล่านั้นทีเดียว (ใน ๑๐ วันนั้นวันใดวันหนึ่ง). ภิกษุรู้ว่า นี้เป็นอัจเจกจีวร (จีวรรีบด่วน) พึงรับไว้ได้แม้ทั้งหมด.
               ด้วยคำว่า ทสาหานาคตํ กตฺติกเตมาสิกปุณฺณมํ นั้น เป็นอันพระองค์ทรงแสดงกาลเป็นที่เก็บจีวรซึ่งเกิดขึ้นจำเดิมแต่วันที่ ๕ ค่ำแห่งชุณหปักษ์ของเดือนปวารณา. ก็กาลเป็นที่เก็บจีวรนั่นสำเร็จด้วยคำว่า พึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง นี้ก็จริงแล แต่ทรงแสดงเรื่องเหมือนไม่เคยมี ด้วยอำนาจแห่งเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วทรงตั้งสิกขาบทไว้.
               จีวรรีบด่วนตรัสเรียกว่า อัจเจกจีวร. ก็เพื่อแสดงจีวรนั้นเป็นผ้ารีบด่วน จึงตรัสคำว่า บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพก็ดี เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สทฺธา นี้ ทรงแสดงเหตุเพียงสัทธาธรรมดาเท่านั้น.
               ด้วยบทว่า ปสาโท นี้ ทรงแสดงสัทธาอย่างแรงกล้า มีความผ่องใสดี.
               จีวรที่ทายกมีความประสงค์จะถวายด้วยเหตุเหล่านี้จึงส่งทูตมา หรือมาบอกเองอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา ได้ชื่อว่า อัจเจกจีวร ในคำว่า เอตํ อจฺเจกจีวรํ นาม นี้แล. แต่ถึงจีวรที่ภิกษุปัจจุทธรณ์ (ถอน) แม้ซึ่งจีวรที่มิใช่อัจเจกจีวร อันเกิดขึ้นตั้งแต่วัน ๖ ค่ำแล้ว เก็บไว้ ก็ได้บริหารนี้เหมือนกัน.
               หลายบทว่า สญฺญาณํ กตฺวา นิกฺขิปิตพฺพํ ได้แก่ พึงทำเครื่องหมายบางอย่างแล้ว เก็บไว้. คำว่า พึงทำเครื่องหมายแล้วเก็บไว้ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทำไม? เพราะว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายแจกอัจเจกจีวรนั้นก่อนวันปวารณา, ภิกษุที่ได้ผ้าอัจเจกจีวรนั้นไป ต้องไม่เป็นผู้ขาดพรรษา. แต่ถ้าเป็นผู้ขาดพรรษา จีวรจะกลายเป็นของสงฆ์ไปเสีย เพราะฉะนั้น จักต้องกำหนดแจกให้ดี (เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ไว้).
               คำอย่างนี้ว่า อจฺเจกจีวเร อจฺเจกจีวรสญฺญี เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเฉพาะจีวรที่แจกกันไปแล้ว. แต่ถ้ายังไม่ได้แจกกัน หรือเป็นจีวรที่เก็บไว้ในเรือนคลังของสงฆ์, แม้ในเพราะล่วงสมัยไป ก็ไม่เป็นอาบัติ. อติเรกจีวรได้บริหาร ๑๐ วัน ด้วยประการฉะนี้ ไตรจีวรไม่มีบริหารเลยแม้วันเดียว.
               ผู้ศึกษาพึงทราบว่า จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ทำ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๕ เดือน, เมื่อเพิ่มฤดูฝน (เพิ่มอธิกมาส) ได้บริหาร ๖ เดือน, เมื่อได้กรานกฐินได้บริหารอีก ๔ เดือน, ได้บริหารอีกหนึ่งเดือน ด้วยอำนาจการอธิษฐานให้เป็นจีวรเดิม เมื่อมีความหวังจะได้ (ผ้า) ในวันสุดท้ายแห่งฤดูหนาว รวมเป็นได้บริหาร ๑๑ เดือนอย่างนี้. อัจเจกจีวร เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๑ เดือนกับ ๑๑ วัน, เมื่อได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๕ เดือนกับ ๑๑ วัน, ต่อจากนั้นไป ไม่ได้บริหาร แม้วันเดียว.
               บทว่า อนจฺเจกจีวเร ได้แก่ ในจีวรอื่นที่คล้ายกับอัจเจกจีวร.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เป็นอกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               อัจเจกจีวรสิกขาบท จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 157อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 2 / 165อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=4159&Z=4291
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5787
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5787
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :