ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 101อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 105อ่านอรรถกถา 2 / 109อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘

               โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘               
               พรรณนารูปิยสิกขาบท               
               รูปิยสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในรูปิยสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปฏิวึโส แปลว่า ส่วน.
               ในบทว่า ชาตรูปรชตํ นี้ คำว่า ชาตรูป เป็นชื่อแห่งทองคำ.
               ก็เพราะทองคำนั้นเป็นเช่นกับพระฉวีวรรณแห่งพระตถาคต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า ท่านเรียกพระฉวีวรรณของพระศาสดา.
               เนื้อความแห่งบทภาชนะนั้นว่า โลหะพิเศษมีสีเหมือนพระฉวีวรรณของของพระศาสดา นี้ชื่อว่า ชาตรูป (ทองคำธรรมชาติ). ส่วนเงินท่านเรียกว่า รูปิยะ ในคำทั้งหลายว่า สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทองเป็นต้น.
               แต่ในสิกขาบทนี้ ท่านประสงค์เอากหาปณะเป็นต้นอย่างใดอย่างอย่างหนึ่งที่ให้ถึงการซื้อขายได้. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า รชตํ นั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า กหาปณะ โลหมาสก ดังนี้ เป็นต้น.

               [อธิบายวัตถุแห่งนิสสัคคีย์และทุกกฏ]               
               บรรดาบทว่า กหาปณะ เป็นต้นนั้น กหาปณะที่เขาทำด้วยทองคำก็ดี ทำด้วยเงินก็ดี กหาปณะธรรมดาก็ดี ชื่อว่า กหาปณะ.
               มาสกที่ทำด้วยแร่ทองแดงเป็นต้น ชื่อว่า โลหมาสก.
               มาสกที่ทำด้วยไม้แก่นก็ดี ด้วยข้อไม้ไผ่ก็ดี โดยที่สุดแม้มาสกที่เขาทำด้วยใบตาลสลักเป็นรูป ก็ชื่อว่า มาสกไม้.
               มาสกที่เขาทำด้วยครั่งก็ดี ด้วยยางก็ดี ดุนให้เกิดรูปขึ้น ชื่อว่ามาสกยาง.
               ก็ด้วยบทว่า เย โวหารํ คจฺฉนฺติ นี้ ท่านสงเคราะห์เอามาสกทั้งหมดที่ใช้เป็นมาตราซื้อขายในชนบท ในเวลาซื้อขายกัน โดยที่สุดทำด้วยกระดูกบ้าง ทำด้วยหนังบ้าง ทำด้วยเมล็ดผลไม้บ้าง ดุนให้เป็นรูปบ้าง มิได้ดุนให้เป็นรูปบ้าง.
               วัตถุทั้ง ๔ อย่าง คือ เงิน ทอง ทั้งหมดนี้อย่างนี้ (และ) มาสกทอง มาสกเงิน มีประเภทดังกล่าวแล้วแม้ทั้งหมด จัดเป็นวัตถุแห่งนิสสัคคีย์,
               วัตถุนี้ คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม ธัญชาติ ๗ ชนิด ทาสหญิง ทาสชาย นาไร่ สวนดอกไม้ สวนผลไม้เป็นต้น จัดเป็นวัตถุแห่งทุกกฏ.
               วัตถุนี้ คือ ด้าย ผาลไถ ผืนผ้า ฝ้ายอปรัณชาติมีอเนกประการ และเภสัชมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบเป็นต้น จัดเป็นกัปปิยวัตถุ.
               บรรดานิสสัคคิยวัตถุและทุกกฏวัตถุนั้น ภิกษุจะรับนิสสัคคิยวัตถุ เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะบุคคลและเจดีย์เป็นต้น ย่อมไม่ควร, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง. เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ เป็นทุกกฏอย่างเดียว แก่ภิกษุผู้รับทุกกฏวัตถุ เพื่อประโยชน์ทุกอย่าง, ไม่เป็นอาบัติในกัปปิยวัตถุ.
               เป็นปาจิตตีย์ด้วยอำนาจที่มาในรัตนสิกขาบทข้างหน้าแก่ภิกษุผู้รับวัตถุมีเงินเป็นต้นแม้ทั้งหมด ด้วยหน้าที่แห่งภัณฑาคาริก เพื่อต้องการจะเก็บไว้.

               [ว่าด้วยการรับ การใช้ให้รับ และวิธีปฏิบัติในรูปิยะ]               
               บทว่า อุคฺคณฺเหยฺย แปลว่า พึงถือเอา. ก็เพราะเมื่อภิกษุรับเอาจึงต้องอาบัติ ฉะนั้น ในบทภาชนะแห่งบทว่า อุคฺคณฺเหยฺย นั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุรับเอง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
               แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยอย่างนี้.
               ในการรับเองและใช้ให้รับนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เป็นอาบัติตัวเดียวแก่ภิกษุผู้รับเอง หรือใช้ให้รับวัตถุสิ่งเดียว ในบรรดาภัณฑะ คือ ทอง เงิน ทั้งกหาปณะและมาสก. ถ้าแม้นว่า ภิกษุรับเองหรือใช้ให้รับตั้งพันอย่างรวมกัน, เป็นอาบัติมากตามจำนวนวัตถุ.
               แต่ในมหาปัจจรีและกุรุนที กล่าวรวมกันว่า เป็นอาบัติ โดยนับรูปในถุงที่ผูกไว้หย่อนๆ หรือในภาชนะที่บรรจุไว้หลวมๆ. ส่วนในถุงที่ผูกไว้แน่น หรือในภาชนะที่บรรจุแน่น เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น.
               ส่วนในการยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อเขากล่าวว่า นี้เป็นของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าแม้นภิกษุยินดีด้วยจิต เป็นผู้ใคร่เพื่อจะรับเอาด้วยกายหรือวาจา, แต่ปฏิเสธว่า นี้ไม่ควร ไม่เป็นอาบัติ. แม้ไม่ห้ามด้วยกายและวาจา เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ ไม่ยินดีด้วยคิดว่า นี้ไม่ควรแก่เรา ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน.
               จริงอยู่ บรรดาไตรทวารอันภิกษุห้ามแล้วด้วยทวารใดทวารหนึ่ง ย่อมเป็นอันห้ามแล้วแท้. แต่ถ้าไม่ห้ามด้วยกายและวาจา รับอยู่ด้วยจิต ย่อมต้องอาบัติ ในกายทวารและวจีทวาร มีการไม่กระทำเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่กระทำการห้ามที่ตนพึงกระทำด้วยกายและวาจา. แต่ชื่อว่า อาบัติ ทางมโนทวาร ไม่มี.
               บุคคลคนเดียววางเงินทองตั้งร้อยตั้งพันไว้ใกล้เท้า ด้วยกล่าวว่า นี้ จงเป็นของท่าน. ภิกษุห้ามว่า นี้ไม่ควร. อุบาสกพูดว่า กระผมสละถวายท่านแล้ว ก็ไป. มีคนอื่นมาที่นั้น ถามว่า นี้อะไร ขอรับ! ภิกษุพึงบอกคำที่อุบาสกนั้นและตนพูดกัน. ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเก็บให้ ขอรับ! ท่านจงแสดงที่เก็บ. ภิกษุพึงขึ้นไปยังปราสาทถึงชั้น ๗ แล้วพึงบอกว่า นี้ที่เก็บ. แต่อย่าพึงบอกว่า จงเก็บไว้ในที่นี้. อกัปปิยวัตถุ (มีทองและเงินเป็นต้น) ย่อมเป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตั้งอยู่ด้วยคำบอกมีประมาณเท่านี้, พึงปิดประตูแล้วอยู่รักษา.
               ถ้าว่า อุบาสกถือเอาบาตรและจีวรซึ่งเป็นของจะขายบางอย่างมา, เมื่อเขากล่าวว่า ท่านจักรับสิ่งนี้ไหม ขอรับ! พึงกล่าวว่า อุบาสก พวกเรามีความต้องการสิ่งนี้ และวัตถุชื่อเห็นปานนี้ ก็มีอยู่ แต่ไม่มีกัปปิยการก. ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเป็นกัปปิยการก ขอท่านโปรดเปิดประตูให้เถิด. พึงเปิดประตูแล้ว กล่าวว่า ตั้งอยู่ในโอกาสโน้น. และอย่าพึงกล่าวว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้. แม้อย่างนี้ อกัปปิยวัตถุก็เป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะตั้งอยู่เหมือนกัน. ถ้าเขาถือเอากหาปณะนั้นแล้ว ถวายกัปปิยภัณฑะแก่เธอ, ควรอยู่. ถ้าเขาถือเอาเกินไป พึงบอกเขาว่า พวกเราจักไม่เอาภัณฑะของท่าน จงเก็บเสีย.
               ในคำว่า สงฺฆมชฺเฌ นิสฺสชฺชิตพฺพํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่าพึงสละแก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคล ก็เพราะธรรมดาว่ารูปิยะเป็นอกัปปิยะ (เป็นของไม่สมควร).
               อนึ่ง เพราะรูปิยะนั้น เป็นเพียงแต่ภิกษุรับไว้เท่านั้น เธอไม่ได้จ่ายหากัปปิยภัณฑ์อะไรด้วยรูปิยะนั้น ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงการใช้สอยโดยอุบาย จึงตรัสว่า พึงสละในท่ามกลางแห่งสงฆ์.
               ข้อว่า กปฺปิยํ อาจิกฺขิตพฺพํ สปฺปิ วา มีความว่า พึงบอกอย่างนี้ว่า อุบาสก เนยใส หรือน้ำมัน ย่อมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย.

               [ปัจจัยที่ได้จากรูปิยะที่ภิกษุรับ ไม่ควรแก่เธอผู้รับ]               
               ข้อว่า รูปิยปฏิคฺคาหกํ ฐเปตฺวา สพฺเพเหว ปริภุญฺชิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุทั้งหมดพึงแจกกันบริโภค. ภิกษุผู้รับรูปิยะไม่พึงรับส่วนแบ่ง. แม้ได้ส่วนที่ถึงแก่พวกภิกษุอื่นหรืออารามิกชนแล้ว จะบริโภคก็ไม่ควร. โดยที่สุด เนยใสหรือน้ำมันนั้น อันดิรัจฉานมีลิงเป็นต้น ลักเอาไปจากส่วนแบ่งนั้น วางไว้ในป่า หรือที่หล่นจากมือของสัตว์เหล่านั้น ยังเป็นของอันดิรัจฉานหวงแหนก็ดี เป็นของบังสุกุลก็ดี ไม่สมควรทั้งนั้น. แม้จะอบเสนาสนะ ด้วยน้ำอ้อยที่นำมาจากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควร. จะตามประทีปด้วยเนยใส หรือน้ำมันแล้วนอนก็ดี กระทำกสิณบริกรรมก็ดี สอนหนังสือก็ดี ด้วยแสงสว่างแห่งประทีป ไม่ควร.
               อนึ่ง จะทาแผลที่ร่างกายด้วยน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น จากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน.
               คนทั้งหลายเอาวัตถุนั้น จ่ายหาเตียงและตั่งเป็นต้นก็ดี สร้างอุโบสถาคารก็ดี สร้างโรงฉันก็ดี จะบริโภคใช้สอย ก็ไม่ควร. แม้ร่มเงา (แห่งโรงฉันเป็นต้น) อันแผ่ไปอยู่ตามเขตของเรือน ก็ไม่ควร. ร่มเงาที่เลยเขตไป ควรอยู่ เพราะเป็นของจรมา. จะเดินไปตามทางก็ดี สะพานก็ดี เรือก็ดี แพก็ดี ที่เขาจำหน่ายวัตถุนั้นสร้างไว้ไม่ควร. จะดื่มหรือใช้สอยน้ำที่เอ่อขึ้นเต็มปริ่มสระโบกขรณี ซึ่งเขาให้ขุดด้วยวัตถุนั้นก็ไม่ควร.
               แต่ว่า เมื่อน้ำภายใน (สระ) ไม่มี น้ำที่ไหลมาใหม่หรือน้ำฝนไหลเข้าไป สมควรอยู่. แม้น้ำที่มาใหม่ซึ่งซื้อมาพร้อมกับสระโบกขรณีที่ซื้อมา (ด้วยวัตถุนั้น) ก็ไม่ควร.
               สงฆ์ตั้งวัตถุนั้นเป็นของฝาก (เก็บดอกผล) บริโภคปัจจัย, แม้ปัจจัยเหล่านั้น ก็ไม่ควรแก่เธอ. แม้อารามซึ่งเป็นที่อันสงฆ์รับไว้ (ด้วยวัตถุนั้น) ก็ไม่ควรเพื่อบริโภคใช้สอย. ถ้าพื้นดินก็ดี พืชก็ดี เป็นอกัปปิยะ, จะใช้สอยพื้นดิน จะบริโภคผลไม้ไม่ควรทั้งนั้น. ถ้าภิกษุซื้อพื้นดินอย่างเดียว เพาะปลูกพืชอื่น, จะบริโภคผล ควรอยู่. ถ้าพืช ภิกษุซื้อมาปลูกลงในพื้นดินอันเป็นกัปปิยะ จะบริโภคผล ไม่ควร. จะนั่งหรือนอนบนพื้นดิน ควรอยู่.
               ข้อว่า สเจ โส ฉฑฺเฑติ มีความว่า เขาโยนทิ้งไป ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง. ถ้าแม้นเขาไม่ทิ้ง หรือถือเอาไปเสียเอง, ไม่พึงห้ามเขา.
               ข้อว่า โน เจ ฉฑฺเฑติ มีความว่า ถ้าเขาไม่ถือเอาไปและไม่ทิ้งให้ หลีกไปตามความปรารถนา ด้วยใส่ใจว่า ประโยชน์อะไรของเรา ด้วยการขวนขวายนี้. ลำดับนั้น สงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้มีลักษณะตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ.

               [ว่าด้วยองค์แห่งภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ]               
               ในคำว่า โย น ฉนฺทาคตึ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุผู้กระทำวัตถุนั้นเพื่อตน หรือยกตนขึ้นอ้าง ด้วยอำนาจแห่งความโลภ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะชอบกัน. เมื่อรุกรานผู้อื่นด้วยอำนาจแห่งโทสะว่า ภิกษุนี้ไม่รู้แม่บทเลย ไม่รู้วินัย ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะโทสะ. เมื่อถึงความเป็นผู้พลั้งเผลอและหลงลืมสติด้วยอำนาจโมหะ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะหลง. เมื่อไม่อาจจะทิ้งเพราะกลัวภิกษุผู้รับรูปิยะ ชื่อว่าย่อมถึงความลำเอียงเพราะกลัว.
               ภิกษุผู้ไม่กระทำอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมไม่ถึงความลำเอียงเพราะชอบกัน ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว.
               สองบทว่า อนิมิตฺตํ กตฺวา ได้แก่ ไม่กระทำให้มีที่หมาย.
               อธิบายว่า ภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะนั้น หลับตาแล้ว ไม่เหลียวดูดุจคูถคือไม่กำหนดหมายที่ตก พึงทิ้งให้ตกไปในแม่น้ำ ในเหว หรือในพุ่มไม้. ในรูปิยะแม้อันภิกษุพึงรังเกียจอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสบอกการบริโภคใช้สอยแก่ภิกษุทั้งหลายโดยปริยาย.
               ก็การบริโภคปัจจัยที่เกิดขึ้นจากรูปิยะนั้น ย่อมไม่สมควรแก่ภิกษุผู้รับรูปิยะ โดยปริยายไรๆ เลย. ก็การบริโภคปัจจัยที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ควรแก่ภิกษุผู้รับรูปิยะนั่น ฉันใด, ปัจจัยที่เกิดขึ้น เพราะการอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีจริงก็ดี เพราะกุลทูสกกรรมก็ดี เพราะการหลอกลวงเป็นต้นก็ดี ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุนั้นและแก่ภิกษุอื่น ฉันนั้น. ถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมโดยสม่ำเสมอ ยังไม่ได้พิจารณา จะบริโภค ก็ไม่ควร.

               [อธิบายการบริโภคปัจจัยมี ๔ อย่าง]               
               จริงอยู่ การบริโภคมี ๔ อย่าง คือ ไถยบริโภค (บริโภคอย่างขโมย) ๑ อิณบริโภค (บริโภคอย่างเป็นหนี้) ๑ ทายัชชบริโภค (บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก) ๑ สามีบริโภค (บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ) ๑.
               บรรดาการบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีลซึ่งนั่งบริโภคอยู่ แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่า ไถยบริโภค. การบริโภคไม่พิจารณาของภิกษุผู้มีศีล ชื่อว่า อิณบริโภค. เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีศีลพึงพิจารณาจีวรทุกขณะที่บริโภคใช้สอย. บิณฑบาตพึงพิจารณาทุกๆ คำกลืน. เมื่อไม่อาจอย่างนั้น พึงพิจารณาในกาลก่อนฉัน หลังฉัน ยามต้น ยามกลางและยามสุดท้าย. หากเมื่อเธอไม่ทันพิจารณาอรุณขึ้น, ย่อมตั้งอยู่ในฐานะบริโภคหนี้. แม้เสนาสนะ ก็พึงพิจารณาทุกๆ ขณะที่ใช้สอย. ความมีสติเป็นปัจจัยทั้งในขณะรับทั้งในขณะบริโภคเภสัช ย่อมควร. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ทำสติในการรับ ไม่ทำในการบริโภคอย่างเดียว. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ทำสติในการรับ ทำแต่ในเวลาบริโภค.
               ก็สุทธิมี ๔ อย่าง คือ เทสนาสุทธิ (หมดจดด้วยการแสดง) ๑ สังวรสุทธิ (หมดจดด้วยสังวร) ๑ ปริยิฏฐิสุทธิ#- (หมดจดด้วยการแสวงหา) ๑ ปัจจเวกขณสุทธิ (หมดจดด้วยการพิจารณา) ๑.
               บรรดาสุทธิ ๔ อย่างนั้น ปาฏิโมกขสังวรศีล ชื่อว่าเทสนาสุทธิ. ก็ปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น ท่านเรียกว่า เทสนาสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยการแสดง.
               อินทรียสังวรศีล ชื่อว่า สังวรสุทธิ. ก็อินทรียสังวรศีลนั้น ท่านเรียกว่า สังวรสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยสังวร คือ การตั้งจิตอธิษฐานว่า เราจักไม่ทำอย่างนี้อีกเท่านั้น.
               อาชีวปริสุทธิศีล ชื่อว่า ปริยิฏฐิสุทธิ.#- ก็อาชีวปาริสุทธิศีลนั้น ท่านเรียกว่า ปริยิฏฐิสุทธิ#- เพราะเป็นความบริสุทธิ์ด้วยการแสวงหาของภิกษุผู้ละอเนสนาแล้วยังปัจจัยทั้งหลายให้เกิดขึ้นโดยธรรม โดยสม่ำเสมอ.
               ปัจจัยบริโภคสันนิสสิตศีล ชื่อว่า ปัจจเวกขณสุทธิ.
               จริงอยู่ ปัจจัยบริโภคสันนิสสิตศีลนั้น ท่านเรียกว่า ปัจจเวกขณสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพจีวร ดังนี้. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ทำสติในการรับ ทำแต่ในการบริโภค.
____________________________
#- ในที่อื่นๆ เป็น ปริเยฏฐิสุทธิ.

               การบริโภคปัจจัยของพระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่า ทายัชชบริโภค.
               จริงอยู่ พระเสขะ ๗ จำพวกนั้น เป็นพระโอรสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเป็นทายาทแห่งปัจจัยอันเป็นของพระพุทธบิดา บริโภคอยู่ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น.
               ถามว่า ก็พระเสขะเหล่านั้น บริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือบริโภคปัจจัยของพวกคฤหัสถ์?
               ตอบว่า ปัจจัยเหล่านั้น แม้อันพวกคฤหัสถ์ถวาย ก็จริง. แต่ชื่อว่าเป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระเสขะเหล่านั้นบริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็ธรรมทายาทสูตร เป็นเครื่องสาธกในการบริโภคปัจจัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้.
               การบริโภค ของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า สามีบริโภค.
               จริงอยู่ พระขีณาสพทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเจ้าของบริโภคเพราะล่วงความเป็นทาสแห่งตัณหาได้แล้ว.
               บรรดาการบริโภคทั้ง ๔ นี้ สามีบริโภคและทายัชชบริโภค ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทุกจำพวก. อิณบริโภค ไม่สมควรเลย. ในไถยบริโภค ไม่มีคำจะพูดถึงเลย.

               [อธิบายว่าการบริโภคอีก ๔ อย่าง]               
               การบริโภคแม้อื่นอีก ๔ คือ ลัชชีบริโภค อลัชชีบริโภค ธัมมิยบริโภค อธัมมิบริโภค. บรรดาการบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของอลัชชีภิกษุร่วมกับลัชชีภิกษุ สมควร. ไม่พึงปรับอาบัติเธอ. การบริโภคของลัชชีภิกษุร่วมกับอลัชชีภิกษุ ย่อมควรตลอดเวลาที่เธอยังไม่รู้ เพราะว่าธรรมดาภิกษุผู้เป็นอลัชชีมาแต่แรกไม่มี. เพราะฉะนั้น พึงว่า กล่าวเธอในเวลาทราบว่าเธอเป็นอลัชชีว่า ท่านทำการละเมิดในกายทวารและวจีทวาร, การทำนั้น ไม่สมควรเลย, ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้. ถ้าเธอไม่เอื้อเฟื้อยังคงกระทำอยู่อีก ถ้ายังขืนทำการบริโภคร่วมกับอลัชชีนั้น แม้เธอก็จะกลายเป็นอลัชชีไปด้วย.
               ฝ่ายภิกษุใดกระทำการบริโภคร่วมกับอลัชชี ผู้ซึ่งเป็นภาระของตน, แม้ภิกษุนั้น อันภิกษุอื่นเห็นพึงห้าม, ถ้าเธอไม่ยอมงดเว้น ภิกษุแม้รูปนี้ก็เป็นอลัชชีเหมือนกัน.
               อลัชชีภิกษุแม้รูปเดียว ย่อมทำให้ภิกษุเป็นอลัชชีได้แม้ตั้งร้อยรูปอย่างนี้. ชื่อว่าอาบัติในการบริโภคร่วมกันระหว่างอลัชชีกับอลัชชี ย่อมไม่มี. การบริโภคร่วมระหว่างลัชชีกับลัชชี เป็นเช่นเดียวกับขัตติยกุมารสองพระองค์เสวยร่วมกันในสุวรรณภาชน์. การบริโภคเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งปัจจัยนั่นแล.
               ในการบริโภคเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าแม้บุคคลก็เป็นอลัชชี แม้บิณฑบาตก็ไม่เป็นธรรม, น่ารังเกียจทั้ง ๒ ฝ่าย. บุคคลเป็นอลัชชี แต่บิณฑบาตเป็นธรรม, ภิกษุทั้งหลายรังเกียจบุคคลแล้ว ไม่พึงรับบิณฑบาต. แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า คนทุศีลได้อุเทศภัตเป็นต้นจากสงฆ์แล้ว ถวายแก่สงฆ์นั่นแล, อุเทศภัตเป็นต้นนี้ ย่อมควร เพราะเป็นไปตามที่เขาถวายนั่นเอง.
               บุคคลเป็นลัชชี บิณฑบาตไม่เป็นธรรม, บิณฑบาตน่ารังเกียจ ไม่ควรรับเอา. บุคคลเป็นลัชชี แม้บิณฑบาตก็เป็นธรรม ย่อมสมควร.

               [อธิบายการยกย่องและการบริโภคอีกอย่างละ ๒]               
               ยังมีการยกย่อง ๒ อย่าง และการบริโภค ๒ อย่างอีก คือ การยกย่องลัชชี ๑ การยกย่องอลัชชี ๑ ธรรมบริโภค ๑ อามิสบริโภค ๑. ในการยกย่องและการบริโภคนั้น การยกย่องลัชชีแก่อลัชชี สมควร. เธอไม่ควรถูกปรับอาบัติ.
               ก็ถ้าว่า ลัชชียกย่องอลัชชี ย่อมเชื้อเชิญด้วยอนุโมทนา เชื้อเชิญด้วยธรรมกถา อุปถัมภ์ในสกุลทั้งหลาย, แม้อลัชชีนอกนี้ ก็กล่าวสรรเสริญเธอในบริษัทว่า อาจารย์ของพวกเราย่อมเป็นผู้เช่นนี้และเช่นนี้, ภิกษุนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมทำพระศาสนาให้เสื่อมลง คือให้อันตรธานไป.
               ก็บรรดาธรรมบริโภคและอามิสบริโภคในบุคคลใด อามิสบริโภค สมควร, ในบุคคลนั้น แม้ธรรมบริโภค ก็สมควร. ท่านกล่าวไว้ (ในอรรถกถาทั้งหลาย) ว่า ก็คัมภีร์ใดตั้งอยู่ในสุดท้าย จักฉิบหายไปโดยกาลล่วงไปแห่งบุคคลนั้น, จะเรียนเอาคัมภีร์นั้นเพื่ออนุเคราะห์ธรรม ควรอยู่.
               ในการอนุเคราะห์ธรรมนั้น มีเรื่องต่อไปนี้ :-

               [เรื่องเรียนคัณฐะจากคนเลวเพื่ออนุเคราะห์ธรรม]               
               ได้ยินว่า ในยุคมหาภัย ได้มีภิกษุผู้ชำนาญมหานิเทศเพียงรูปเดียวเท่านั้น. ครั้งนั้น พระอุปัชฌายะของพระติสสเถระผู้ทรงนิกาย ๔ ชื่อว่ามหาติปิฏกเถระ กล่าวกะพระมหารักขิตเถระว่า อาวุโสมหารักขิต! เธอจงเรียนเอามหานิเทศในสำนักแห่งภิกษุนั่นเถิด. เธอเรียนว่า ได้ทราบว่า ท่านรูปนี้เลวทราม ขอรับ! กระผมจักไม่เรียนเอา.
               อุปัชฌาย์. เรียนไว้เถิดคุณ! ฉันจักนั่งใกล้ๆ เธอ.
               พระเถระ. ดีละ ขอรับ! เมื่อท่านนั่งอยู่ด้วย กระผมจักเรียนเอา แล้วเริ่มเรียนติดต่อกันทั้งกลางคืนกลางวัน วันสุดท้ายเห็นสตรีภายใต้เตียงแล้ว เรียนว่า ท่านขอรับ! กระผมได้สดับมาก่อนแล้วทีเดียว ถ้าว่ากระผมพึงรู้อย่างนี้ จะไม่พึงเรียนธรรมในสำนักคนเช่นนี้เลย. ก็พระมหาเถระเป็นอันมากได้เรียนเอาในสำนักของพระเถระนั้นแล้ว ได้ประดิษฐานมหานิเทศไว้สืบมา.
               อันทองและเงินแม้ทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ถึงการสงเคราะห์ว่ารูปิยะทั้งนั้น ในคำว่า รูปิเย รูปิยสญฺญี นี้.
               สองบทว่า รูปิเย เวมติโก มีความว่า เกิดมีความสงสัย โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นทองคำหรือทองเหลือง๑- หนอ
               สองบทว่า รูปิเย อรูปิยสญฺญี มีความว่า มีความสำคัญในทองคำเป็นต้นว่า เป็นทองเหลืองเป็นต้น.
____________________________
๑- วิมติ ขรปตฺตนฺติ ขรสงฺขาตํ สุวณฺณปฏิรูปกํ วตฺถุ แปลว่า ที่ชื่อว่า
๑- ขรปัตตะ ได้แก่ วัตถุที่นับว่าแข็ง เทียมทองคำ. - ผู้ชำระ.

               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใคร่ในบุญทั้งหลาย มีนางสนมของพระราชาเป็นต้น ถวายเงินและทองใส่ไว้ในภัต ของควรเคี้ยว ของหอมและกำยานเป็นต้น, ถวายแผ่นผ้าเล็กๆ รวมกับกหาปณะที่ขอดไว้ที่ชายผ้าเป็นต้นนั่นแหละ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาตผ้า. ภิกษุทั้งหลายรับเอาด้วยสำคัญว่าภัตตาหารเป็นต้น หรือสำคัญว่าผ้า. ภิกษุนี้ พึงทราบว่า ผู้มีความสำคัญในรูปิยะว่ามิใช่รูปิยะ รับเอารูปิยะด้วยอาการอย่างนี้.
               แต่ภิกษุผู้รับ พึงกำหนดให้ดีว่า วัตถุนี้เราได้ในเรือนหลังนี้ เพราะว่า ผู้ที่ถวายของด้วยไม่มีสติ ได้สติแล้วจะกลับมา (ทวงถาม). ลำดับนั้น ภิกษุพึงบอกเขาว่า ท่านจงตรวจดูห่อผ้าของท่าน ดังนี้.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               บรรดาสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ บางคราวเป็นกิริยา เพราะต้องด้วยการรับ บางคราวเป็นอกิริยา เพราะไม่ทำการห้าม.
               จริงอยู่ รูปิยสิกขาบท อัญญวาทกสิกขาบทและอุปัสสุติสิกขาบท ทั้ง ๓ มีกำหนดอย่างเดียวกัน เป็นโนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               รูปิยสิกขาบทที่ ๘ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 101อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 105อ่านอรรถกถา 2 / 109อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=2567&Z=2684
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4709
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4709
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :