ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 126อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 176อ่านอรรถกถา 1 / 180อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท


               ตติยปาราชิกวรรณนา               
                         ตติยปาราชิกใด ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้หมดจดทาง
               ไตรทวารทรงประกาศแล้ว, บัดนี้ ถึงลำดับสังวรรณนา
               แห่งตติยปาราชิกนั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น คำใดที่จะพึง
               รู้ได้ง่าย และคำใดที่ข้าพเจ้าได้ประกาศไว้แล้วในก่อน
               สังวรรณนานี้แม้แห่งตติยปาราชิกนั้น จะเว้นคำนั้นๆ
               เสียฉะนี้แล.

               พระบาลีอุกเขปพจน์ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เวสาลิยํ วิหรติ มหาวเน กูฏาคารสาลายํ เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ :-

               [อธิบายเรื่องเมืองไพศาลี]               
               บทว่า เวสาลิยํ มีความว่า ใกล้นครที่มีชื่ออย่างนั้น คือมีโวหารเป็นไป ด้วยอำนาจแห่งอิตถีลิงค์.
               จริงอยู่ นครนั้น เรียกว่าเวสาลี เพราะเป็นเมืองที่กว้างขวาง ด้วยขยายเครื่องล้อม คือกำแพงถึง ๓ ครั้ง.
               ความสังเขปในตติยปาราชิกนี้มีเท่านี้.
               ส่วนความพิสดารแห่งบทว่า
               เวสาลีนั้นอันผู้ปรารถนาอนุบุพพิกถาพึงถือเอาจากวรรณนาแห่งรัตนสูตร ในอรรถกถาแห่งขุททกปาฐะชื่อปรมัตถโชติกาเถิด. ก็แลนครแม้นี้ พึงทราบว่า เป็นเมืองถึงความไพบูลย์โดยอาการทั้งปวง ในเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้วเท่านั้น.
               ท่านพระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงโคจรคามอย่างนั้นแล้ว จึงกล่าวที่เสด็จประทับไว้ว่า มหาวเน กูฏาคารสาลายํ (ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน).
               บรรดาป่ามหาวันและกูฏาคารศาลานั้น ป่าใหญ่มีโอกาสเป็นที่กำหนดเกิดเอง ไม่ได้ปลูก ชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไม่มีโอกาสเป็นที่กำหนด ตั้งจดมหาสมุทร. ป่ามหาวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือเป็นป่าใหญ่ มีโอกาสเป็นที่กำหนด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนกูฏคารศาลาอันถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง ซึ่งสร้างให้มีหลังคาคล้ายทรวดทรงแห่งหงส์ ทำเรือนยอดไว้ข้างใน ณ อารามที่สร้างไว้อาศัยป่ามหาวัน พึงทราบว่า เป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุภกรรมฐานแก่พวกภิกษุ]               
               หลายบทว่า อเนกปริยาเยน อสุภกถํ กเถฺติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายในกาย ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความเล็งเห็นอาการอันไม่งาม ด้วยเหตุมากมาย.
               ทรงแสดงอย่างไร?
               ทรงแสดงว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน ฯลฯ มูตร.
               มีคำอธิบายอย่างไร? มีคำอธิบายอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บางคน เมื่อค้นหาดูแม้ด้วยความเอาใจใส่ทุกอย่างในกเลวระมีประมาณวาหนึ่ง จะไม่เห็นสิ่งอะไรๆ จะเป็นแก้วมุกดาหรือแก้วมณี แก้วไพฑูรย์หรือกฤษณา แก่นจันทน์หรือกำยาน การบูรหรือบรรดาเครื่องหอมมีจุณสำหรับอบเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ซึ่งเป็นของสะอาด แม้มาตรว่าน้อย. โดยที่แท้จะเห็นแต่ของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมและขนเป็นต้นเท่านั้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง น่าเกลียด มีการเห็นไม่เป็นมิ่งขวัญ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรทำความพอใจหรือความรักใคร่ในกายนี้ อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าผมเหล่าใดซึ่งเกิดบนศีรษะอันเป็นอวัยวะสูงสุด แม้ผมเหล่านั้นก็เป็นของไม่งามเหมือนกัน ทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็นของปฏิกูล.
               ก็แล ข้อที่ผมเหล่านั้นเป็นของไม่งาม ไม่สะอาดและเป็นของปฏิกูลนั้น พึงทราบโดยเหตุ ๕ อย่าง คือโดยสีบ้าง โดยสัณฐานบ้าง โดยกลิ่นบ้าง โดยที่อยู่บ้าง โดยโอกาสบ้าง. ข้อที่ส่วนทั้งหลายมีขนเป็นต้นเป็นของไม่งาม ไม่สะอาด และเป็นของปฏิกูลก็พึงทราบด้วยอาการอย่างนี้แล.
               ความสังเขปในอธิการแห่งตติยปาราชิกนี้มีเท่านี้.
               ส่วนความพิสดารพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอสุภกถาในส่วนอันหนึ่งๆ โดยอเนกปริยาย มีประเภทส่วนละ ๕ๆ ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า อสุภาย วณฺณํ ภาสติ มีความว่า พระองค์ทรงตั้งอสุภมาติกาด้วยอำนาจแห่งอุทธุมาตกอสุภะเป็นต้นแล้ว เมื่อจะทรงจำแนก คือทรงพรรณนา สังวรรณนา อสุภมาติกานั้น ด้วยบทภาชนีย์ จึงตรัสคุณานิสงส์แห่งอสุภะ.
               ข้อว่า อสุภภาวนาย วณฺณํ ภาสติ มีความว่า ความอบรม คือความเจริญ ความเพิ่มเติมจิตที่ถือเอาอาการอันไม่งาม ในส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้น หรือในอสุภะมีอุทธุมาตกอสุภะเป็นต้น หรือในวัตถุภายในและภายนอกทั้งหลาย เป็นไปนี้ใด พระองค์จะทรงแสดงอานิสงส์แห่งอสุภภาวนานั้น จึงตรัสสรรเสริญ คือทรงประกาศคุณ.
               ตรัสอย่างไรเล่า? ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเฉพาะซึ่งอสุภภาวนา ในวัตถุมีผมเป็นต้น หรือในวัตถุมีอุทธุมาตกอสุภะเป็นต้น ย่อมได้เฉพาะซึ่งปฐมฌานอันละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ มีความงาม ๓ อย่างและถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ ภิกษุนั้นอาศัยหีบใจ กล่าวคือปฐมฌานนั้น เจริญวิปัสสนา ย่อมบรรลุพระอรหัตซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุด.

               [ปฐมฌานมีลักษณะ ๑๐ และความงาม ๓]               
               บรรดาความงาม ๓ และลักษณะ ๑๐ เหล่านั้น ลักษณะ ๑๐ แห่งปฐมฌานเหล่านี้ คือ ความหมดจดแห่งจิตจากธรรมที่เป็นอันตราย ๑ ความปฏิบัติสมาธินิมิตอันเป็นท่ามกลาง ๑ ความแล่นไปแห่งจิตในสมาธินิมิตนั้น ๑ ความเพิกเฉยแห่งจิตที่หมดจด ๑ ความเพิกเฉยแห่งจิตที่ดำเนินถึงความสงบ ๑ ความเพิกเฉยแห่งจิตที่ปรากฏด้วยอารมณ์อันเดียว ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถคือความไม่กลับกลายแห่งธรรมทั้งหลายที่เกิดในฌานจิตนั้น ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถคือความที่อินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถคือความเป็นไปแห่งความเพียร อันสมควรแก่สมาธิปัญญาและอินทรีย์ซึ่งเป็นธรรมไม่กลับกลาย และมีรสเป็นอันเดียวกันนั้น ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถคือความเสพคุ้น ๑.
               บาลี๑- ในวิสัยเป็นที่เปิดเผยลักษณะ ๑๐ นั้น ดังนี้ :-
               อะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นท่ามกลาง อะไรเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน? ความหมดจดแห่งปฏิปทาเป็นเบื้องต้น ความเพิ่มพูนอุเบกขาเป็นท่ามกลาง ความผุดผ่องเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน.
               ความหมดจดแห่งปฏิปทา เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน.
               เบื้องต้นมีลักษณะเป็นเท่าไร?
               เบื้องต้นมีลักษณะ ๓. ธรรมใดเป็นอันตรายของจิตนั้น จิตย่อมหมดจดจากธรรมนั้น จิตย่อมดำเนินไปสู่สมาธินิมิตอันเป็นท่ามกลาง เพราะค่าที่เป็นธรรมชาติหมดจด จิตแล่นไปในสมาธินิมิต (ซึ่งเป็นโคจรแห่งอัปปนา) นั้น เพราะความเป็นธรรมชาติดำเนินไปแล้ว. จิตหมดจดจากธรรมที่เป็นอันตราย ๑ จิตดำเนินไปสู่สมาธินิมิตอันเป็นท่ามกลาง เพราะค่าที่เป็นธรรมชาติหมดจด ๑ จิตแล่นไปในสมาธินิมิตนั้น เพราะเป็นธรรมชาติดำเนินไป ๑ เป็นปฏิปทาวิสุทธิซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน.
               เบื้องต้นมีลักษณะ ๓ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ปฐมฌานท่านจึงกล่าวว่า เป็นคุณชาติงามในเบื้องต้น และถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓.
               ความเพิ่มพูนอุเบกขา เป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน.
               ท่ามกลางมีลักษณะเท่าไร?
               ท่ามกลางมีลักษณะ ๓. จิตหมดจดย่อมเพิกเฉย จิตดำเนินถึงความสงบย่อมเพิกเฉย จิตปรากฏด้วยอารมณ์อันเดียวย่อมเพิกฉาย. จิตหมดจดเพิกเฉย ๑ จิตดำเนินถึงความสงบเพิกเฉย ๑ จิตปรากฏด้วยอารมณ์อันเดียวเพิกเฉย ๑ เป็นความเพิ่มพูนอุเบกขาซึ่งเป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน.
               ท่ามกลางมีลักษณะ ๓ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ปฐมฌานท่านจึงกล่าวว่า เป็นคุณชาติงามในท่ามกลางและถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓.
               ความผุดผ่อง เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน.
               ที่สุดมีลักษณะเท่าไร?
               ที่สุดมีลักษณะ ๔. ความผุดผ่องด้วยอรรถ คือความไม่กลับกลายแห่งธรรมทั้งหลายที่เกิดในฌานจิตนั้น ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถ คือความที่อินทร์ทั้งหลายมีรสเป็นอันเดียวกัน ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถ คือความเป็นไปแห่งความเพียร อันสมควรแก่สมาธิปัญญาและอินทรีย์ ซึ่งเป็นธรรมไม่กลับกลาย และมีรสเป็นอันเดียวกันนั้น ๑ ความผุดผ่องด้วยอรรถ คือความเสพคุ้น ๑. ความผุดผ่องเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน.
               ที่สุดมีลักษณะ ๔ เหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ปฐมฌาน ท่านจึงเรียกว่า เป็นคุณชาติงามในที่สุด และถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๔.
               จิตที่ถึงความเป็นธรรมชาติ ๓ อย่าง มีความงาม ๓ อย่าง ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๑๐ ย่อมเป็นจิตถึงพร้อมด้วยวิตก ถึงพร้อมด้วยวิจาร ปิติและสุข ถึงพร้อมด้วยการตั้งมั่นแห่งจิต ถึงพร้อมด้วยศรัทธา และเป็นจิตที่ถึงพร้อมด้วยวิริยะ สติ สมาธิและปัญญาด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า อาทิสฺส อาทิสฺส อสุภสมาปตฺติยา วณฺณํ ภาสติ มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญ คือตรัสอานิสงส์ ทรงประกาศคุณแห่งอสุภสมาบัติ เพราะทรงทำการกำหนดอ้างถึงบ่อยๆ ว่า เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างนี้บ้าง.
               ตรัสอย่างไร? ตรัสอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วยอสุภสัญญาอยู่เนืองๆ จิตย่อมงอ หดเข้า หวนกลับจากความเข้าประชิดด้วยเมถุนธรรม คือไม่ฟุ้งซ่านไป ย่อมตั้งอยู่โดยความวางเฉย หรือโดยความเป็นของปฏิกูล
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนปีกไก่ หรือท่อนเอ็นที่บุคคลใส่เข้าไปในไฟ ย่อมงอ หดเข้า ม้วนเข้า คือไม่แผ่ออก แม้ฉันใด
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วยอสุภสัญญาอยู่เนืองๆ จิตย่อมงอ หดเข้า หวนกลับจากความเข้าประชิดด้วยเมถุนธรรม คือไม่ฟุ้งซ่านไป ฉันนั้นเหมือนกันแล.
               ข้อว่า อิจฺฉามหํ ภิกฺขเว อฑฺฒมาสํ ปฏิสลฺลิยิตุํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออก คือหลีกเร้นอยู่โดดเดี่ยวลำพังผู้เดียว ตลอดกึ่งเดือนหนึ่ง.
               ข้อว่า นมฺหิ เกนจิ อุปสงฺกมิตพฺโพอญฺญตฺร เอเกน ปิณฺฑปาตนีหารเกน มีความว่า ภิกษุรูปใดไม่ทำปยุตวาจา (วาจาเนื่องด้วยปัจจัย) ด้วยตน นำบิณฑบาตที่เขาตกแต่งเพื่อประโยชน์แก่เราในตระกูลมีศรัทธา น้อมเข้ามาแก่เรา ยกเว้นภิกษุผู้นำบิณฑบาต เข้าไปให้นั้นรูปเดียว ใครๆ คนอื่นจะเป็นภิกษุหรือคฤห์ก็ตาม อย่าเข้าไปหาเรา.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๗๑/หน้า ๒๕๒-๒๕๓.
๒- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๔๖/หน้า ๔๘.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงห้ามภิกษุฆ่ากัน เพราะทรงเห็นกรรมเก่า]
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ในครั้งดึกดำบรรพ์ นายพรานเนื้อประมาณ ๕๐๐ คน เอาท่อนไม้และข่ายเครื่องจับสัตว์เป็นอันมาก ล้อมป่าไว้พากันหัวเราะรื่นเริง รวมเป็นพวกเดียวกันนั่นแล สำเร็จการเลี้ยงชีวิตด้วยกรรมคือการฆ่าเนื้อและนก จนตลอดชีวิต แล้วเกิดในนรก. พรานเนื้อเหล่านั้นหมกไหม้ในนรกนั้นแล้ว เกิดในหมู่มนุษย์ เพราะกุศลกรรมบางอย่างที่ตนทำไว้แล้วในหนหลังนั่นแล จึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทั้งหมดด้วยอำนาจแห่งอุปนิสัยแห่งกรรมอันงาม. อปราปรเจตนาของพรานเนื้อเหล่านั้นที่ยังไม่ได้เผล็ดผล เพราะอกุศลกรรมที่เป็นรากเหง้านั้น ได้กระทำโอกาสเพื่อเข้าไปตัดรอนชีวิตเสียด้วยความพยายามของตนเอง และด้วยพยายามของผู้อื่น ในภายในกึ่งเดือนนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นความขาดไปแห่งชีวิตนั้นแล้ว. ขึ้นชื่อว่ากรรมวิบากใครๆ ไม่สามารถจะห้ามได้. ก็บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนก็มี เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระขีณาสพก็มี. ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระขีณาสพไม่มีการถือปฏิสนธิ พระอริยสาวกทั้งหลายนอกนี้เป็นผู้มีคติแน่นอน คือมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. คติของพวกภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชน ไม่แน่นอน.
               คราวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้กลัวต่อมรณภัย เพราะความรักด้วยอำนาจความพอใจในอัตภาพ จักไม่อาจชำระคติให้บริสุทธิ์ได้. เอาเถิด เราจะแสดงอสุภกถาเพื่อละความรักด้วยอำนาจความพอใจแก่เธอเหล่านั้น เธอเหล่านั้น ครั้นได้ฟังอสุภกถานั้นแล้วจัดทำการชำระคติให้บริสุทธิ์ได้ เพราะเป็นผู้ปราศจากความรักด้วยอำนาจความพอใจในอัตภาพแล้ว จักถือเอาปฏิสนธิในสวรรค์ การบรรพชาในสำนักของเรา จักเป็นคุณชาติมีประโยชน์แก่เธอเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอสุภกถา ด้วยหัวข้อพระกรรมฐาน เพื่ออนุเคราะห์แก่เธอเหล่านั้น หาได้แสดงด้วยความประสงค์ในการพรรณนาถึงคุณแห่งความตายไม่.
               ก็แล ครั้นทรงแสดงแล้ว พระองค์ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายจักพบเห็นเราตลอดกึ่งเดือนนี้ไซร้ เธอเหล่านั้นจักมาบอกเราว่า วันนี้ภิกษุมรณภาพไปรูปหนึ่ง วันนี้มรณภาพไป ๒ รูป ฯลฯ วันนี้มรณภาพไป ๑๐ รูป ดังนี้
               ก็แลกรรมวิบากนี้ เราหรือใครคนอื่นก็ไม่สามารถจะห้ามได้ เรานั้นแม้ได้ฟังเหตุนั้นแล้วก็จักทำอะไรเล่า? จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยการฟังที่หาประโยชน์มิได้มีแต่ความฉิบหายใช่ประโยชน์ เอาเถิด เราจะเข้าไปยังสถานที่ๆ ภิกษุทั้งหลายจะเห็นไม่ได้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว.
               ส่วนอาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงได้หลีกออกเร้นอยู่ เพื่อจะเว้นความติเตียนของผู้อื่น. นัยว่า ชนพวกอื่นจักกล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้เป็นผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งทรงปฏิญาณอยู่ว่า เราเป็นผู้ยังจักรคือพระสัทธรรมอันบวรให้เป็นไป ไม่ทรงสามารถจะห้ามพระสาวกทั้งหลายแม้ของพระองค์ ผู้วานกันและกันให้ฆ่ากันอยู่ ไฉนจักทรงอาจห้ามบุคคลอื่นได้เล่า? ในข้อที่ผู้อื่นกล่าวติเตียนนั้น บัณฑิตทั้งหลายจักกล่าวแก้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบการหลีกออกเร้นอยู่ หาได้ทรงทราบความเป็นไปนี้ไม่ แม้ผู้จะทูลบอกพระองค์ บางคนก็ไม่มี ถ้าพึงทรงทราบไซร้ ก็จะพึงทรงห้ามแน่นอน. แต่เพียงข้อที่ทรงมีความปรารถนาเป็นข้อแรกนี้นั่นเอง ย่อมเป็นเหตุในคำนี้ได้.
               ศัพท์ว่า อสฺสุธ ในคำว่า นาสฺสุธ นี้เป็นนิบาตลงในอรรถสักว่าทำบทให้เต็ม หรือในอรรถคือการห้ามว่า ใครๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย.
               อสุภภาวนานุโยค (ความหมั่นประกอบเนืองๆ ในการเจริญอสุภกรรมฐาน) นั้นมีกระบวนการทำต่างๆ ด้วยเหตุทั้งหลายมีสีและสัณฐานเป็นต้นมากมาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อเนกาการโวการ (มีกระบวนการทำต่างๆ มากมาย). มีคำอธิบายว่า เคล้าคละปะปนกันด้วยอาการมากมาย คือเจือปนกันด้วยเหตุหลายอย่าง.
               อเนกาการโวการนั้นได้แก่อะไร? ได้แก่อสุภภาวนานุโยค. ซึ่งความหมั่นประกอบเนืองๆ ในการเจริญอสุภกรรมฐานมีกระบวนการต่างๆ มากมายนั้น.
               สองบทว่า อนุยุตฺตา วิหรนฺติ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นประกอบคือขวนขวายอยู่.
               บทว่า อฏฺฏิยนฺติ ความว่า ย่อมเป็นผู้อึดอัด คือมีความลำบากด้วยกายนั้น.
               บทว่า หรายนฺติ แปลว่า ย่อมระอา.
               บทว่า ชิคุจฺฉนฺติ แปลว่า เป็นผู้เกิดความเกลียดชังขึ้นเอง.
               บทว่า ทหโร แปลว่า เด็กรุ่นหนุ่ม.
               บทว่า ยุวา แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม
               บทว่า มณฺฑนาขาติโย แปลว่า ผู้ชอบแต่งตัวเป็นปกติ.
               สองบทว่า สีสํ นหาโต แปลว่า ผู้อาบน้ำพร้อมทั้งศีรษะ.
               ในสองคำว่า ทหโร ยุวา นี้ท่านพระอุบาลีเถระแสดงความเป็นผู้แรกเป็นหนุ่ม ด้วยคำว่า ทหระ.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายในคราวแรกเป็นหนุ่มย่อมมีปกติเป็นผู้ชอบแต่งตัวโดยพิเศษ. ท่านพระอุบาลีเถระแสดงถึงเวลาขวนขวายการแต่งตัวด้วยคำทั้งสองว่า สีสํ นหาโต นี้. แท้จริง แม้คนหนุ่มทำการงานบางอย่างแล้วมีร่างกายเศร้าหมอง ก็หาเป็นผู้ขวนขวายการแต่งตัวไม่. แต่เขาอาบน้ำสระเกล้าเสร็จแล้วจึงตามประกอบการแต่งตัวทีเดียว ย่อมไม่ปรารถนาแม้ที่จะเห็นของสกปรกมีซากงูเป็นต้น.

               [พวกภิกษุฆ่าตัวเองและวานให้ผู้อื่นฆ่า]               
               ขณะนั้น บุรุษหนุ่มนั้นพึงอึดอัด สะอิดสะเอียน เกลียดชังด้วยซากงู ซากสุนัขหรือซากศพมนุษย์อันคล้องอยู่ที่คอ คือมีบุคคลผู้เป็นข้าศึกบางคนนั่นเองนำมาผูกไว้ คือสวมไว้ที่คอฉันใด ภิกษุเหล่านั้นก็อึดอัด ระอา เกลียดชังด้วยร่างกายของตน ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ใคร่จะสละร่างกายของตนเสีย เพราะเป็นผู้ปราศจากความรักด้วยอำนาจความพอใจ ดุจบุรุษคนนั้นผู้ใคร่จะสละทิ้งซากศพนั้นเสีย ฉะนั้น จึงถือเอาศัสตรา แล้วปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ด้วยพูดอย่างนี้ว่า ท่านจงปลงกระผมเสียจากชีวิต กระผมจะปลงท่านเสียจากชีวิต.
               คำว่า มิคลัณฑิกะ ในสองบทว่า มิคลณฺฑิกมฺปิ สมณกุตฺตกํ นี้เป็นชื่อของเขา.
               บทว่า สมณกุตฺตโก ได้แก่ ผู้ทรงเพศสมณะ.
               ได้ยินว่า มิคลัณฑิกะนั้นโกนศีรษะไว้เพียงจุก นุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งพาดไว้บนไหล่ เข้าอาศัยวิหารนั้นแล เป็นอยู่โดยความเป็นคนกินเดน. ภิกษุทั้งหลายเข้าไปหามิคลัณฑิกะผู้ทรงเพศสมณะแม้นั้น แล้วกล่าวอย่างนั้น.
               ศัพท์ว่า สาธุ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าขอร้อง. โน เป็นทุติยาวิภัตติ พหุวจนะ. มีคำอธิบายว่า พ่อคุณ ดีละ เธอจงช่วยปลงชีวิตพวกฉันที.
               ก็บรรดาภิกษุเหล่านั่น ภิกษุผู้เป็นอริยะไม่กระทำปาณาติบาต ไม่ชักชวนบุคคลอื่น ทั้งไม่อนุญาตด้วย. ส่วนภิกษุผู้เป็นปุถุชน กระทำได้แทบทุกอย่าง.
               บทว่า โลหิตกํ แปลว่า เปื้อนเลือด. แม่น้ำที่เขาสมมติกันว่าเป็นบุญของชาวโลก เรียกว่าวัคคุ ในคำว่า เยน วคฺคุมุทา นี้. ได้ยินว่า แม้มิคลัณฑิกะนั้น ไปยังแม่น้ำนั้น ด้วยความสำคัญว่า จักลอยบาปในแม่น้ำนั้น.

               [มิคลัณฑิกะฆ่าภิกษุแล้วเกิดความเสียใจ]               
               สองบทว่า อหุเทว กุกฺกุจฺจํ ความว่า ได้ยินว่า บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุบางรูปไม่ได้ทำกายวิการ หรือวจีวิการ, ทั้งหมดทุกรูป มีสติรู้สึกตัวอยู่ นอนลงโดยตะแคงขวา. เมื่อมิคลัณฑิกะนั้นตามระลึกถึงความไม่กระทำกายวิการและวจีวิการนั้น ได้มีความรำคาญใจแล้วนั่นเทียว. บาปแม้มีประมาณน้อย ชื่อว่าเขาละได้แล้ว ด้วยอานุภาพแห่งแม่น้ำย่อมไม่มี.
               คำว่า อหุ วิปฺปฏิสาโร นั่น ท่านกล่าวไว้ เพื่อกำหนดสภาพแห่งความรำคาญนั้นนั่นแล. ได้มีความรำคาญ เพราะความวิปฏิสาร มิใช่ความรำคาญทางพระวินัยแล.
               ท่านกล่าวคำว่า อลาภา วต เม เป็นต้น เพื่อแสดงอาการคือความเป็นไปแห่งความรำคาญ.
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อลาภา วต เม ความว่า มิคลัณฑิกะนั้นทอดถอนใจอยู่ว่า บัดนี้ ชื่อว่าลาภคือประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของเราย่อมไม่มีต่อไป. ก็เขาเน้นเนื้อความนั้นนั่นเองให้หนักแน่น ด้วยคำว่า ลาภของเราไม่มีหนอ นี้. แท้จริง ในคำว่า น วต เม ลาภา นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า แม้ถ้ามีใครๆ พึงกล่าวว่า เป็นลาภของท่าน คำนั้นผิด ลาภของเรา ย่อมไม่มีเลย.
               ข้อว่า ทุลฺลทฺธํ วต เม มีความว่า ความเป็นมนุษย์นี้ แม้ที่เราได้แล้วด้วยกุศลานุภาพ ก็เป็นอันเราได้ไม่ดีหนอ. ก็เขาย่อมเน้นเนื้อความนั้นนั่นเอง ให้หนักแน่นด้วยคำนี้ว่า เราได้ไม่ดีหนอ. จริงอยู่ ในคำว่า น วต เม สุลทฺธํ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า แม้ถ้าใครๆ พึงกล่าวว่า ท่านได้ดีแล้ว คำนั้นผิด เราได้ไม่ดีหนอ.
               สองบทว่า อปุญฺญํ ปสุตํ ความว่า สิ่งมิใช่บุญเราสั่งสมหรือก่อให้เกิดขึ้นแล้ว. หากจะพึงมีผู้ถามว่า เพราะเหตุไร? พึงเฉลยว่า เพราะเหตุที่เราได้ปลงภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เสียจากชีวิต. คำนั้นมีอธิบายว่า เพราะเหตุที่เราได้ปลงภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมคือผู้มีอุดมธรรม มีธรรมอันประเสริฐ เพราะความเป็นผู้มีศีลนั้นแล จากชีวิต.

               [เทวดาช่วยปลอบโยนมิคลัณฑิกะให้ฆ่าภิกษุต่อไป]               
               สองบทว่า อญฺญตรา มารกายิกา มีความว่า ภุมเทวดาตนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นฝักฝ่ายแห่งมาร ประพฤติตามมาร คิดว่า มิคลัณฑิกะนี้จักไม่กล้าล่วงบ่วงของมารคือวิสัยของมารไปได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ดังนี้แล้วจึงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เมื่อจะแสดงอานุภาพของตน จึงเดินมาบนน้ำอันไม่แตกแยก ดุจเดินไปมาอยู่บนพื้นดินฉะนั้น ได้กล่าวคำนั่นกะมิคลัณฑิกะสมณกุตก์.
               ศัพท์ว่า สาธุ สาธุ เป็นนิบาต ลงในอรรถคือความร่าเริง. เพราะเหตุนั้น ในพระบาลีนี้จึงกล่าวย้ำ ๒ ครั้งอย่างนี้แล.
               สองบทว่า อติณฺเณ ตาเรสิ ความว่า ท่านช่วยส่งพวกคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้น คือช่วยเปลื้องให้พ้นจากสงสาร ด้วยการปลงเสียจากชีวิตนี้. ได้ยินว่า เทวดาผู้เป็นพาลทรามปัญญาตนนั้น มีลัทธิดังนี้ว่า บุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่ตาย ชื่อว่ายังไม่พ้นจากสงสาร ผู้ที่ตายแล้วจึงพ้น. เพราะเหตุนั้น เทวดาผู้มีลัทธิอย่างนั้นก็เป็นเหมือนชนชาวป่า๑- ผู้จะเปลื้องตนจากสงสารฉะนั้น ได้ประกอบแม้มิคลัณฑิกะนั้นไว้ในการให้ช่วยปลงเสียจากชีวิตนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
____________________________
๑- มิลกฺข มลกฺโข คนชาวป่า, คนป่า, ผู้พูดอย่างเสียงสัตว์ร้อง, เป็นคนมิได้รับการศึกษาเลย.

               [มิคลัณฑิกะฆ่าภิกษุต่อไปวันละ ๑ รูปถึง ๕๐๐ รูป]               
               ครั้งนั้นแล มิคลัณฑิกะสมณกุตก์ถึงแม้เป็นผู้มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นกล้าแข็งเพียงนั้นก็ตาม ครั้นเห็นอานุภาพของเทวดานั้นก็ถึงความตกลงใจว่า เทวดาตนนี้ได้กล่าวอย่างนี้ ประโยชน์นี้พึงเป็นอย่างนี้ทีเดียวแน่แท้ แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า นัยว่าเป็นลาภของเรา จึงจากวิหารเข้าไปสู่วิหารจากบริเวณเข้าไปสู่บริเวณ แล้วกล่าวอย่างนี้ คือเข้าไปยังวิหารและบริเวณนั้นๆ แล้วเปิดประตู เข้าไปภายใน กล่าวกะภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่งให้ข้ามพ้น.
               สองบทว่า โหติเยว ภยํ ความว่า มีจิตสะดุ้ง เพราะอาศัยความตาย.
               บทว่า ฉมฺภิตตฺตํ ความว่า มีร่างกายสั่นเทา ตั้งแต่เนื้อหัวใจเป็นต้นไป. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ความมีร่างกายแข็งทื่อ เพราะกลัวจัดดังนี้บ้าง.
               จริงอยู่ ความมีร่างกายแข็งดุจเสา ท่านเรียกว่า ความหวาดเสียว. ความมีขนตั้งชูขึ้นข้างบน ชื่อว่าความมีขนชูชัน. ส่วนพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่เห็นสัตว์ตายเลย เพราะท่านเห็นดีแล้ว โดยความเป็นของว่างจากสัตว์. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า อันตรายมีความกลัวเป็นต้นนั่น แม้ทั้งหมดหาได้มีแก่พระขีณาสพเหล่านั้นไม่.
               มิคลัณฑิกะนั้นได้ปลงภิกษุมีประมาณ ๕๐๐ รูป แม้ทั้งหมดเหล่านั้นเสียจากชีวิตด้วยอำนาจการคำนวณอย่างนี้ คือ เขาได้ปลงภิกษุจากชีวิตเสีย วันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ฯลฯ ๖๐ รูปบ้าง.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าภิกษุสงฆ์เบาบางไป]               
               สองบทว่า ปฏิสลฺลานาวุฏฺฐิโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบข้อที่ภิกษุมีประมาณ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นถึงมรณภาพ จึงเสด็จออกจากความเป็นผู้โดดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะทรงทราบ ก็เป็นเหมือนไม่ทรงทราบจึงได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา เพื่อให้ตั้งเรื่องขึ้น.
               ข้อว่า กินฺนุโข อานนฺท ตนุภูโต วิย ภิกฺขุสงฺโฆ มีความว่า พระองค์ทรงรับสั่งว่า ดูก่อนอานนท์ ในกาลก่อนแต่นี้ไป พวกภิกษุเป็นจำนวนมากย่อมมาสู่ที่อุปัฏฐาก โดยรวมเป็นพวกเดียวกัน เรียนเอาอุเทศ ปริปุจฉา สาธยายอยู่, อารามย่อมปรากฏดุจรุ่งเรืองเป็นอันเดียวกัน, แต่บัดนี้ โดยล่วงไปเพียงกึ่งเดือน ภิกษุสงฆ์ดูเหมือนน้อยไป คือเป็นประหนึ่งว่าเบาบาง เล็กน้อย ร่อยหรอ โหรงเหรงไป มีเหตุอะไรหรือ? พวกภิกษุหลีกไปในทิศทั้งหลายหรือ?

               [พระอานนท์ทูลให้ตรัสบอกกรรมฐานอย่างอื่นแก่พวกภิกษุ]               
               ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่กำหนดเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นถึงมรณภาพไป เพราะผลแห่งกรรม แต่มากำหนดเพราะความหมั่นประกอบในอสุภกรรมฐานเป็นปัจจัย จึงได้กราบทูลคำเป็นต้นว่า ตถา หิ ปน ภนฺเต ภควา ดังนี้ เมื่อจะทูลขอพระกรรมฐานอย่างอื่นเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายบรรลุอรหัตผล จึงได้กราบทูลคำเป็นต้นว่า สาธุ ภนฺเต ภควา ดังนี้. คำนั้นมีใจความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดตรัสบอกการณ์อย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
               อธิบายว่า จริงอยู่ พระกรรมฐานที่เป็นคุณชาติหยั่งลงสู่พระนิพพานดุจท่าเป็นที่หยั่งลงสู่มหาสมุทร แม้เหล่าอื่นก็มีมาก ต่างโดยประเภท คือ อนุสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พรหมวิหาร ๔ และอานาปานัสสติ. ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลอบภิกษุทั้งหลายให้เบาใจในพระกรรมฐานเหล่านั้น แล้วตรัสบอกพระกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงทำเช่นนั้น เมื่อจะส่งพระเถระไปจึงทรงรับสั่งว่า เตนหิ อานนฺท ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เวสาลึ อุปนิสฺสาย ความว่า ภิกษุมีประมาณเท่าใดซึ่งอาศัยเมืองไพศาลีอยู่ โดยรอบในที่คาวุตหนึ่งบ้าง กึ่งโยชน์บ้าง, เธอจงเผดียงภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดให้ประชุมกัน.
               ข้อว่า สพฺเพ อุปฏฺฐานสาลายํ สนฺนิปาเตตฺวา ความว่า ไปสู่ที่ๆ ตนควรจะไปเองแล้ว ในที่อื่นส่งภิกษุหนุ่มไปแทน จัดพวกภิกษุให้ประชุมกันไม่ให้เหลือ ที่อุปัฏฐานศาลาโดยครู่เดียวเท่านั้น.
               ในคำว่า ยสฺสิทานิ ภนฺเต ภควา กาลํมญฺญติ นี้มีอธิบายดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว, นี้เป็นกาลเพื่อทรงทำธรรมกถา เพื่อประทานพระอนุศาสนีแก่ภิกษุทั้งหลาย, ขอพระองค์ทรงทราบกาลแห่งกิจที่ควรทรงกระทำในบัดนี้เถิด.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกอานาปานัสสติแก่พวกภิกษุ]               
               ข้อว่า อถโข ภควา ฯเปฯ ภิกฺขู อามนฺเตสิ อยมฺปิ โข ภิกฺขเว มีความว่า ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นรับสั่งตักเตือนแล้ว เมื่อจะตรัสบอกปริยายอย่างอื่นจากอสุภกรรมฐานที่ตรัสบอกแล้วในก่อน เพื่อบรรลุพระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสว่า อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นต้น. บัดนี้ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบาลีนี้ เพื่อทรงแสดงพระกรรมฐานที่เป็นคุณสงบและประณีตจริงๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักทำการพรรณนาในพระบาลีนี้ ตามลำดับอรรถโยชนา ไม่ละทิ้งให้เสียไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยมฺปิ โข ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ มีโยชนาดังต่อไปนี้ก่อนว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อละกิเลส หามิได้, อีกอย่างหนึ่ง อานาปานัสสติสมาธิแม้นี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบประณีตเยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตธานสงบไปโดยฉับพลัน.
               ก็ในคำว่า อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นต้นนี้ มีอรรถวรรณนาดังต่อไปนี้ :-
               สติกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกชื่อว่าอานาปานัสสติ.
               สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า ลมหายใจเข้า ชื่อว่าอานะ ไม่ใช่ปัสสาสะ, ลมหายใจออก ชื่อว่าปานะ ไม่ใช่อัสสาสะ, สติเข้าไปตั้งอยู่ ด้วยอำนาจลมหายใจเข้า สติเข้าไปตั้งอยู่ด้วยอำนาจลมหายใจออก ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้หายใจเข้า ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้หายใจออก.
               ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับสติที่กำหนดลมหายใจเข้าและหายใจออกนั้น ชื่อว่าสมาธิ. ก็เทศนานี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยหัวข้อ คือสมาธิ หาใช่ด้วยหัวข้อคือสติไม่. เพราะฉะนั้น ในบทว่า อานาปานสฺสติสมาธิ นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า สมาธิที่ประกอบด้วยอานาปานัสสติ หรือสมาธิในอานาปานัสสติชื่อว่า อานาปานัสสติสมาธิ.
               บทว่า ภาวิโต แปลว่า ให้เกิดขึ้น หรือให้เจริญแล้ว.
               บทว่า พหุลีกโต แปลว่า กระทำบ่อยๆ.
               สองบทว่า สนฺโต เจว ปณีโต จ คือ เป็นคุณสงบด้วยนั่นเทียวเป็นคุณประณีตด้วยทีเดียว. ในบททั้งสองพึงทราบความแน่นอนด้วยเอวศัพท์.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร? ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               จริงอยู่ อานาปานัสสติสมาธินี้จะเป็นธรรมไม่สงบหรือไม่ประณีต โดยปริยายอะไรๆ เหมือนอสุภกรรมฐานซึ่งเป็นกรรมฐานสงบและประณีต ด้วยอำนาจการแทงตลอดอย่างเดียว แต่ไม่สงบไม่ประณีตด้วยอำนาจอารมณ์ เพราะมีอารมณ์หยาบและเพราะมีอารมณ์ปฏิกูลฉันนั้น หามิได้, อนึ่งแล อานาปานัสสติสมาธินี้สงบ คือระงับดับสนิท เพราะมีอารมณ์สงบบ้าง เพราะมีองค์คือการแทงตลอดสงบบ้าง ประณีต คือไม่กระทำให้เสียเกียรติ เพราะมีอารมณ์ประณีตบ้าง เพราะมีองค์ประณีตบ้าง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า สงบและประณีต.
               ก็ในคำว่า อเสจนโก จ สุโจ จ วิหาโร นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               อานาปานัสสติสมาธินั้น ไม่มีเครื่องรด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเยือกเย็น คือไม่มีเครื่องราดไม่เจือปน แผนกหนึ่งต่างหาก ไม่ทั่วไป. อนึ่ง ความสงบโดยบริกรรมหรือโดยอุปจารในอานาปานัสสติสมาธินี้ไม่มี. อธิบายว่า เป็นธรรมสงบและประณีต โดยสภาพของตนทีเดียว จำเดิมแต่เริ่มต้นใฝ่ใจ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า อเสจนโก ความว่า ไม่มีเครื่องราด คือมีโอชะ มีรสอร่อยโดยสภาพทีเดียว. โดยอรรถดังกล่าวมาอย่างนี้ อานาปานัสสติสมาธินี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เยือกเย็นและอยู่เป็นสุข เพราะเป็นไปเพื่อให้ได้ความสุขทางกายและทางจิต ในขณะที่เข้าถึงแล้วๆ.
               บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน หมายความว่า ที่ยังข่มไม่ได้ๆ.
               บทว่า ปาปเก หมายความว่า เลวทราม.
               สองบทว่า อกุสเล ธมฺเม ได้แก่ ธรรมที่เกิดจากความไม่ฉลาด.
               สองบทว่า ฐานโส อนฺตรธาเปติ ความว่า ย่อมให้อันตรธานไป คือข่มไว้ได้โดยฉับพลันทีเดียว.
               บทว่า วูปสเมติ ความว่า ย่อมให้สงบไปด้วยดี.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า อานาปานัสสติสมาธินี้ ย่อมถึงความเจริญด้วยอริยมรรคโดยลำดับ เพราะมีส่วนแห่งการแทงตลอด ย่อมตัดขาดด้วยดี คือย่อมสงบราบคาบได้.
               คำว่า เสยฺยถาปิ นี้ เป็นคำแสดงความอุปมา.
               หลายบทว่า คิมฺหานํ ปจฺฉิเม มาเส ได้แก่ ในเดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘).
               บทว่า อูหตรโชชลฺลํ๑- ความว่า ฝุ่นและละอองถูกลมพัดฟุ้งขึ้นเบื้องบน คือลอยขึ้นบนอากาศจากพื้นดิน ที่แตกระแหงเพราะกีบโคและกระบือเป็นต้นกระทบ ซึ่งแห้งเพราะลมและแดดเผาตลอดกึ่งเดือน.
               เมฆซึ่งขึ้นเต็มท้องฟ้าทั้งหมด แล้วให้ฝนตกตลอดกึ่งเดือนทั้งสิ้นในชุณหปักข์แห่งเดือนอาสาหะ ชื่อว่าฝนห่าใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล. จริงอยู่ เมฆนั้น ท่านประสงค์เอาในอธิการนี้ว่า อกาลเมฆ เพราะเกิดขึ้นในเวลายังไม่ถึงฤดูฝน.
____________________________
๑- บาลีเป็น อูหตํ รโชชลฺลํ.

               หลายบทว่า ฐานโส อนฺตรธาเปติ วูปสเมติ ความว่า ฝนห่าใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาลนั้น ย่อมพัดเอาฝุ่นและละอองนั้นๆ ไป ไม่ให้แลเห็น คือพัดให้จมหายไปในแผ่นดินโดยฉับพลันทีเดียว.
               คำว่า เอวเมว โข นี้ เป็นคำเปรียบเทียบข้ออุปไมย.
               ถัดจากคำว่า เอวเมว โข นั้นไป มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.
               ในคำว่า กถํ ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               คำว่า กถํ เป็นคำถาม คือความเป็นผู้ใคร่จะยังอานาปานัสสติสมาธิภาวนาให้พิสดาร โดยประการต่างๆ.
               คำว่า ภาวิโต จ ภิกฺขเว อานาปานสฺสติสมาธิ เป็นคำแสดงไขข้อธรรมที่ถูกถาม เพราะความเป็นผู้ใคร่จะยังอานาปานัสสติสมาธินั้นให้พิสดาร โดยประการต่างๆ.
               แม้ในบทที่สอง ก็นัยนั่น.
               ก็ในคำว่า กถํ ภาวิโต จ เป็นต้นนี้ มีความสังเขปดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานัสสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้ว ด้วยประการไร ด้วยอาการไร ด้วยวิธีไร? ทำให้มากแล้ว ด้วยประการไร? จึงเป็นคุณสงบประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานไปโดยฉับพลัน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังเนื้อความนั้นให้พิสดาร จึงตรัสว่า อิธ ภิกฺขเว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ข้อว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ มีความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้. จริงอยู่ อิธศัพท์นี้ในบทว่า ภิกฺขเว นี้แสดงศาสนาซึ่งเป็นที่อาศัยของบุคคลผู้ให้อานาปานัสสติสมาธิเกิดขึ้นโดยประการทั้งปวง และปฏิเสธความไม่เป็นเช่นนั้นแห่งศาสนาอื่น. สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะ (ที่ ๑) มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีในธรรมวินัยนี้, สมณะที่ ๓ มีในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้.
____________________________
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๔๑/หน้า ๓๒๓.

               คำว่า อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาคารคโต วา นี้แสดงการที่ภิกษุนั้นเลือกหาเสนาสนะที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ. เพราะว่า จิตของภิกษุนี้เคยซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเสียนาน จึงไม่อยากจะก้าวขึ้นสู่อารมณ์ของอานาปานัสสติสมาธิ คอยแต่จะแล่นไปนอกทางอย่างเดียว ดุจรถที่เขาเทียมด้วยโคโกงฉะนั้น. เพราะฉะนั้น คนเลี้ยงโคต้องการจะฝึกลูกโคโกง ตัวดื่มน้ำนมทั้งหมดของแม่โคโกง เติบโตแล้ว พึงพรากออกจากแม่โคนม ปักหลักใหญ่ไว้ส่วนหนึ่ง แล้วเอาเชือกผูกไว้ที่หลักนั้น, คราวนั้นลูกโคนั้นของเขา ดิ้นรนไปทางโน้นทางนี้ ไม่อาจหนีไปได้ พึงยืนพิงหรือนอนอิงหลักนั้นนั่นแล ชื่อแม้ฉันใด.
               ภิกษุแม้รูปนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประสงค์จะฝึกฝนจิตที่ถูกโทษประทุษร้าย ซึ่งเจริญด้วยการดื่มรสแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นมานานแล้ว พึงพรากออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นแล้วเข้าไปสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างเปล่าแล้วพึงเอาเชือกคือสติผูกไว้ที่หลัก คือลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเธอนั้น แม้จะกวัดแกว่งไปทางโน้นและทางนี้ก็ตาม เมื่อไม่ได้รับอารมณ์ที่เคยชินมาในกาลก่อนไม่สามารถจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ ย่อมจดจ่อและแนบสนิทอารมณ์นั้นแล ด้วยอำนาจอุปจาระและอัปปนา.
               เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   นรชน เมื่อจะฝึกลูกโค พึงผูกติดไว้
                         ที่หลัก ฉันใด ภิกษุในศาสนานี้ พึงเอาสติ
                         ผูกจิตของตนไว้ที่อารมณ์ให้มั่นฉันนั้น.

               เสนาสนะนั้น ย่อมเป็นสถานที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธินั้น ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า คำนี้แสดงการที่ภิกษุนั้นเลือกหาเสนาสนะที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานัสสติสมาธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะอานาปานัสสติกรรมฐานนี้เป็นยอดในประเภทแห่งกรรมฐาน เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุคุณพิเศษ และเป็นสุขวิหารธรรมในปัจจุบันของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก อันพระโยคาวจรไม่ละชายบ้านที่อื้ออึงด้วยเสียงสตรี บุรุษ ช้างและม้าเป็นต้นจะเจริญให้ถึงพร้อม ทำไม่ได้ง่าย เพราะเสียงเป็นข้าศึกต่อฌาน.
               แต่ในป่าซึ่งไม่ใช่บ้าน พระโยคาวจรกำหนดกรรมฐานนี้แล้ว ยังจตุตถฌานอันมีลมหายใจเข้าและหายใจออก เป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว ทำฌานนั้นนั่นเองให้เป็นบาทพิจารณาสังขารทั้งหลายได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลที่เลิศจะทำได้ง่าย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะที่เหมาะแก่ภิกษุนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้.
               ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประดุจอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณรู้ชัยภูมิพื้นที่. อาจารย์ผู้ทรงวิทยารู้พื้นที่เห็นพื้นที่ที่จะสร้างนครแล้วพิจารณาโดยตระหนักแล้วชี้ว่า ขอพระองค์จงโปรดสร้างพระนครในที่นี้ เมื่อนครสำเร็จแล้วโดยสวัสดี ย่อมได้มหาสักการะแต่ราชตระกูล ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพิจารณาเสนาสนะอันสมควรแก่พระโยคาวจรแล้วย่อมทรงชี้ว่า กรรมฐานอันกุลบุตรผู้มีความเพียรพึงพากเพียรพยายามในที่นี้, แต่นั้น เมื่อพระโยคาวจรประกอบกรรมฐานอยู่ในเสนาสนะนั้นแล้ว บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ ย่อมได้มหาสักการะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้แล ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุนี้ ท่านว่า เช่นกับพยัคฆ์, เหมือนอย่างพญาเสือใหญ่ แอบอาศัยพงหญ้า ชัฏป่าหรือเทือกเขา อยู่ในไพร ย่อมจับหมู่มฤคมีกระบือป่า ชะมด (หรือกวาง) และสุกรเป็นต้น (เป็นภักษา) ฉันใด ภิกษุพากเพียรกรรมฐานอยู่ในเสนาสนะมีป่าเป็นต้นนี้ ก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรคและอริยผล โดยลำดับ.
               เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                                   ขึ้นชื่อว่า พยัคฆ์ ย่อมแอบจับหมู่มฤค
                         (เป็นภักษา) แม้ฉันใด พุทธบุตรผู้ประกอบ
                         ความเพียรบำเพ็ญวิปัสสนานี้ ก็เหมือนกัน
                         เข้าไปสู่ป่าแล้ว ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งผลอันอุดม.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอรัญญเสนาสนะอันเป็นภูมิควรแก่การประกอบเชาวนปัญญา เพื่อความเจริญก้าวหน้าแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า อรญฺญคโต วา ความว่า ไปสู่ป่าอันสะดวกแก่ความสงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง ในบรรดาป่าซึ่งมีลักษณะที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ที่ชื่อว่าป่า ได้แก่ สถานที่ภายนอกจากเสาเขื่อนออกไป นั่นทั้งหมดชื่อว่าป่า๓- และว่า เสนาสนะที่สุดไกลประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู ชื่อว่าเสนาสนะป่า.๔-
               บทว่า รุกฺขมูลคโต ว่า ความว่า ไปสู่ที่ใกล้ต้นไม้.
               บทว่า สุญฺญาคารคโต วา ความว่า ไปสู่โอกาสที่สงัด ซึ่งว่างเปล่า.
               แต่ในอธิการนี้ แม้ภิกษุจะเว้นป่าและโคนต้นไม้เสีย ไปยังเสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือ ก็ควรเรียกได้ว่า ไปสู่เรือนว่างเปล่า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงชี้เสนาสนะอันสมควรแก่การเจริญอานาปานัสสติ ซึ่งเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ และเหมาะแก่ธาตุและจริยาแก่ภิกษุนั้นอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงชี้อิริยาบถที่สงบ ซึ่งเป็นฝ่ายแห่งความไม่ท้อแท้และไม่ฟุ้งซ่าน จึงตรัสว่า นิสีทติ ดังนี้. ภายหลังเมื่อจะทรงแสดงภาวะแห่งการนั่งเป็นของมั่นคง ข้อที่ลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นไปสะดวก และอุบายเครื่องกำหนดจับอารมณ์แก่เธอนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺ วา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ ได้แก่ การนั่งพับขาทั้ง ๒ โดยรอบ (คือนั่งขัดสมาธิ).
               บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า คู้เข้าไว้.
               ข้อว่า อุชุํ กายํ ปาณิธาย มีความว่า ตั้งร่างกายส่วนบนให้ตรง คือให้กระดูกสันหลัง ๑๘ ท่อนจดที่สุดต่อที่สุด.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุนั่งด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว หนัง เนื้อและเส้นเอ็นย่อมไม่หงิกงอ. เวลานั้น เวทนาทั้งหลายที่จะพึงเกิดขึ้นแก่เธอในขณะๆ เพราะความหงิกงอแห่งหนัง เนื้อและเอ็นเหล่านั้นเป็นปัจจัยนั่นแล ย่อมไม่เกิดขึ้น. เมื่อเวทนาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียว, กรรมฐานไม่ตกไป ย่อมเข้าถึงความเจริญรุ่งเรือง.
               ข้อว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา มีความว่า ตั้งสติมุ่งหน้าต่อกรรมฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็ในคำว่า ปริมุขํ สตึ ปุปฏฺฐเปตฺวา นี้ พึงเห็นใจความตามนัยดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทานั้นแลอย่างนี้ว่า
               ศัพท์ว่า ปริ มีความกำหนดถือเอาเป็นอรรถ,
               ศัพท์ว่า มุขํ มีความนำออกเป็นอรรถ,
               ศัพท์ว่า สติ มีความเข้าไปตั้งไว้เป็นอรรถ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า.๓-
               ในบทว่า ปริมุขํ สตึ นั้นมีความย่อดังนี้ว่า ทำสติเป็นเครื่องนำออกที่ตนกำหนดถือเอาแล้ว.
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๘/หน้า ๒๖๔. อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๑๖/หน้า ๓๓๘.
๔- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ ๑๖๖/หน้า ๑๔๖.

               [อรรถาธิบายวิธีอบรมสติ ๓๒ อย่าง]               
               ข้อว่า โส สโตว อสฺสสติ มีความว่า ภิกษุนั้นนั่งอย่างนั้นและตั้งสติไว้อย่างนั้นแล้ว เมื่อไม่ละสตินั้น ชื่อว่ามีสติหายใจเข้า ชื่อว่ามีสติหายใจออก. มีคำอธิบายว่า เป็นผู้อบรมสติ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอาการเป็นเครื่องอบรมสติเหล่านั้นจึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต เป็นต้น.
               สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในวิภังค์เฉพาะแห่งสองคำนี้ว่า โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ ในปฏิสัมภิทาว่า ภิกษุย่อมเป็นผู้อบรมสติ โดยอาการ ๓๒ อย่าง คือ สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจลมหายใจเข้ายาว ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้อบรมสติด้วยสตินั่น ด้วยญาณนั้น, สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจลมหายใจออกยาว ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้อบรมสติด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น ฯลฯ สติของภิกษุผู้รู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า... ด้วยอำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก ย่อมตั้งมั่น, เธอชื่อว่าเป็นผู้อบรมสติด้วยสตินั้นด้วยญาณนั้น.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๙/หน้า ๒๖๔-๒๖๕.

               [มติลมหายใจเข้าและออกตามอรรถกถาวินัยและพระสูตร]               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ได้แก่ เมื่อให้ลมหายใจเข้ายาวเป็นไปอยู่. ในอรรถกถาวินัย ท่านกล่าวไว้ว่า ลมที่ออกไปข้างนอก ชื่อว่าอัสสาสะ คือลมหายใจออก๑- ลมที่เข้าไปข้างใน ชื่อว่าปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า. ส่วนในอรรถกถาแห่งพระสูตรทั้งหลาย มาโดยกลับลำดับกัน.
               บรรดาลมทั้งสองนั้น ในเวลาที่สัตว์ผู้นอนอยู่ในครรภ์แม้ทุกชนิดออกจากท้องแม่ ลมภายในครรภ์ย่อมออกไปข้างนอกก่อน ภายหลัง ลมข้างนอกพาเอาละอองที่ละเอียดเข้าไปข้างใน กระทบเพดานแล้วดับไป.
               พึงทราบลมอัสสาสะและปัสสาสะอย่างนี้ก่อน.
               ส่วนความที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเหล่านั้น มีระยะยาวและสั้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่งกาล. เหมือนอย่างว่า น้ำหรือทรายแผ่ออกไปตลอดระยะ คือโอกาสตั้งอยู่ เขาเรียกว่าน้ำยาว ทรายยาว น้ำสั้น ทรายสั้นฉันใด ลมหายใจเข้าและหายใจออกแม้ที่ละเอียดจนยิบก็ฉันนั้น ยังประเทศอันยาวในตัวช้างและตัวงู กล่าวคืออัตภาพของช้างและงูเหล่านั้น ให้ค่อยๆ เต็มแล้วก็ค่อยๆ ออกไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่ายาว.
               ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกยังประเทศอันสั้น กล่าวคืออัตภาพแห่งสุนัขและกระต่ายเป็นต้นให้เต็มเร็วแล้วก็ออกเร็วเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าสั้น.
               แต่บรรดาหมู่มนุษย์ มนุษย์บางจำพวกหายใจเข้าและหายใจออกยาวด้วยอำนาจระยะกาล ดุจช้างและงูเป็นต้น บางจำพวกหายใจเข้าและหายใจออกสั้น ดุจสุนัขและกระต่ายเป็นต้น เพราะฉะนั้น ลมหายใจเข้าและหายใจออกเหล่านั้นของมนุษย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจกาลที่ออกและเข้าอยู่กินเวลานาน พึงทราบว่ายาว ที่ออกและเข้าอยู่ชั่วเวลาน้อย พึงทราบว่าสั้น.
____________________________
๑- ศัพท์ว่า อสฺสาโส และปสฺสาโส หรือ อสฺสสติ และปสฺสสติ ทั้ง ๒ ศัพท์นี้
๑- บางท่าน แปล อสฺสาโส หรืออสฺสสติ ว่า หายใจออก
๑- ปาสฺสาโส หรือปสฺสสติ ว่า หายใจเข้า,
๑- ส่วนในหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นมาได้แปล อสฺสาโส หรืออสฺสสติ
๑- ว่า หายใจเข้า, ปสฺสาโส หรือปสฺสสติ ว่า หายใจออก,
๑- ที่แปลเช่นนี้ ก็เพราะอาศัยนัยอรรถกถาแห่งพระสูตรเป็นหลัก
๑- เช่นอรรถกถามหาหัตถิปโทปมสูตรในปัญจสูทนี ทุติยภาคหน้า ๓๐๘
๑- เป็นต้น ซึ่งท่านอธิบายไว้ดังนี้ คือ :-
๑- อสฺสาโสติ อนฺโต ปวิสนนาสิกวาโต ลมที่จมูกเข้าไปข้างใน ชื่อว่า อัสสาสะ
๑- คือลมหายใจเข้า, ปสฺสาโสติ พหิ นิกฺขมนนาสิกวาโต ลมที่ออกไปภายนอก
๑- ชื่อว่า ปัสสาสะ คือลมหายใจออก,
๑- ส่วนในอรรถกถาวินัย ท่านก็อธิบายไว้กลับกัน.

               [ผู้เจริญอานาปานัสสติกรรมฐานย่อมได้ความปราโมทย์เป็นต้น]
               ในลมหายใจเข้าและออกนั้น ภิกษุนั้นเมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาว โดยอาการ ๙ อย่าง ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจเข้าหายใจออกยาว.
               ก็เมื่อเธอรู้ชัดอยู่อย่างนี้ พึงทราบว่า การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ย่อมสำเร็จด้วยอาการอันหนึ่ง เหมือนอย่างที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า ถามว่าภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว๑- ฯลฯ เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น อย่างไร?๒-
               แก้ว่า ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว เมื่อหายใจออกยาว ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว, เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาว ย่อมหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างในขณะที่นับว่ายาว ฉันทะย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาว หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว, ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว, เมื่อหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว, เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ ย่อมหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว, ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ผู้เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจฉันทะ หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว, เมื่อหายใจเข้ายาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว, เมื่อหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ ย่อมหายใจออกในขณะที่นับว่ายาว ฯลฯ เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ ย่อมหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว, จิตของภิกษุผู้เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาวละเอียดกว่านั้น ด้วยอำนาจความปราโมทย์ หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับว่ายาว, ย่อมหลีกออกจากการหายใจเข้าและหายใจออกยาว อุเบกขาย่อมดำรงอยู่.
               กายคือลมหายใจเข้าและหายใจออกยาวด้วยอาการ ๙ อย่างเหล่านี้ย่อมปรากฏ สติเป็นอนุปัสสนาญาณ กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานคือ การพิจารณาเห็นกายในกาย๓- ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๙๐/หน้า ๒๖๕.
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๑/หน้า ๒๗๔.
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๙๐-๔๐๑/หน้า ๒๖๕-๒๗๔.

               แม้ในบทที่กำหนดด้วยลมสั้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               ในบทที่กำหนดด้วยลมยาวนั่น ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อหายใจเข้ายาว ย่อมหายใจเข้าในขณะที่นับว่ายาว ดังนี้ ฉันใด ในบทที่กำหนดด้วยลมสั้นนี้ ก็มีคำที่มาในบาลีว่า เมื่อหายใจเข้าสั้น ย่อมหายใจเข้าในขณะนับว่าเล็กน้อย ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น พึงประกอบด้วยสามารถแห่งบทที่กำหนดว่าสั้นนั้น จนถึงคำว่า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นกายในกาย. ภิกษุนี้ เมื่อรู้ชัดลมหายใจเข้าและหายใจออกโดยอาการ ๙ อย่างเหล่านี้ ด้วยอำนาจกาลยาวและด้วยอำนาจกาลนิดหน่อยดังพรรณนามาฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว ฯลฯ หรือเมื่อหายใจออกสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น ดังนี้.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นรู้อยู่อย่างนี้
                                   วรรณะ (คืออาการ) ทั้ง ๔ คือ ลม
                         หายใจเข้ายาวและสั้น แม้ลมหายใจออกก็
                         เช่นนั้น ย่อมเป็นไปเฉพาะที่ปลายจมูกของ
                         ภิกษุ ฉะนี้แล.

               ข้อว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ ฯเปฯ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
               มีอธิบายว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งกองลมหายใจเข้าทั้งสิ้น ให้รู้แจ้งคือทำให้ปรากฏหายใจเข้า (และ) ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งกองลมหายใจออกทั้งสิ้น ให้รู้แจ้งคือทำให้ปรากฏหายใจออก. เมื่อเธอทำให้รู้แจ้ง คือทำให้ปรากฏด้วยอาการอย่างนั้น ย่อมหายใจเข้าและหายใจออก ด้วยจิตที่สัมปยุตด้วยญาณ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักหายใจเข้า จักหายใจออก.
               จริงอยู่ เบื้องต้นในกองลมหายใจเข้าหรือในกองลมหายใจออกที่แล่นไปอย่างละเอียด๑- ย่อมปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แต่ท่ามกลางและที่สุดไม่ปรากฏ เธอสามารถกำหนดได้เฉพาะเบื้องต้นเท่านั้น ย่อมไม่ลำบากในเบื้องต้นและที่สุด. อีกรูปหนึ่ง ย่อมปรากฏแต่ท่ามกลาง เบื้องต้นและที่สุดไม่ปรากฏ เธอสามารถกำหนดได้เฉพาะท่ามกลางเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและที่สุด อีกรูปหนึ่ง ย่อมปรากฏแต่ที่สุด เบื้องต้นและท่ามกลางไม่ปรากฏ เธอสามารถกำหนดได้เฉพาะที่สุดเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและท่ามกลาง. อีกรูปหนึ่ง ย่อมปรากฏได้แม้ทั้งหมด เธอสามารถกำหนดได้แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ลำบากในส่วนไหนๆ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงชี้ว่า อันภิกษุพึงเป็นผู้เช่นนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า, ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺขติ ความว่า ย่อมพากเพียร คือพยายามอย่างนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า สิกฺขติ นี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า ความสำรวมของภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา ในอธิการว่าด้วยอานาปานัสสติภาวนานี้ สมาธิของเธอผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา ปัญญาของเธอผู้เป็นอย่างนั้น นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา เธอย่อมสำเหนียกคือย่อมซ่องเสพ เจริญกระทำให้มากซึ่งสิกขา ๓ อย่างดังพรรณนามานี้ ด้วยสตินั้น ด้วยมนสิการนั้น ในอารมณ์นั้น. เพราะว่า โดยนัยก่อน บรรดาสองนัยนั้น ภิกษุพึงหายใจเข้าและหายใจออกอย่างเดียวเท่านั้นไม่ต้องทำกิจอะไรๆ อื่น แต่จำเดิมแต่เวลาที่รู้ชัดลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ไป ควรทำความพากเพียรในอาการที่ให้ญาณเกิดขึ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ในนัยก่อนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบาลีไว้ด้วยอำนาจเป็นวัตตมานาวิภัตติว่า ย่อมรู้ชัดว่าเราหายใจเข้า ย่อมรู้ชัดว่าเราหายใจออก เท่านั้น แล้วยกพระบาลีขึ้นด้วยอำนาจคำที่เป็นอนาคตกาล โดยนัยมีอาทิว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงอาการที่ให้ญาณเกิดขึ้นเป็นต้นซึ่งควรทำจำเดิมแต่กาลนี้ไป.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค ๒/๖๑ เป็น จุณฺณวิสเฎ, สารัตถทีปนี ๒/๒๙๕ แก้ว่า
๑- จุณฺณวิคเตติ อเนกกลาปตาย จุณฺณวิจณฺเณภาเวน วิสเฏ.

               [ภิกษุกำหนดกรรมฐานแล้ว กายสังขารจึงสงบ]               
               ข้อว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ ฯเปฯ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ
               ความว่า เธอย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้สงบคือระงับ ดับ ได้แก่ให้กายสังขารที่หยาบสงบไป หายใจเข้าหายใจออก.
               ในคำว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขารที่หยาบ นั้นพึงทราบความที่ลมเป็นของหยาบและละเอียด และความระงับอย่างนี้ คือ :-
               ก็ในกาลก่อนคือในเวลาที่ภิกษุนี้ยังไม่ได้กำหนดกรรมฐาน กายและจิตยังมีความกระวนกระวาย ยังหยาบ๑- เมื่อกายและจิตซึ่งเป็นของหยาบ ยังไม่สงบ แม้ลมหายใจเข้าและหายใจออกก็เป็นของหยาบ คือเป็นไปเกินกำลัง จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างทางปาก.
               ต่อเมื่อใด กายก็ดี จิตก็ดี เป็นของอันเธอกำหนดแล้ว เมื่อนั้น กายและจิตนั้นจึงเป็นของสงบระงับ. ครั้นเมื่อกายและจิตนั้นสงบแล้ว ลมหายใจเข้าและหายใจออกย่อมเป็นไปละเอียด คือเป็นสภาพถึงอาการที่จะต้องค้นหาว่า มีอยู่หรือไม่หนอ.
               เปรียบเหมือนลมหายใจเข้าและหายใจออกของบุรุษผู้วิ่งลงจากภูเขา หรือผู้ปลงของหนักลงจากศีรษะแล้วยืนอยู่ ย่อมเป็นของหยาบ จมูกไม่พอหายใจ ต้องยืนหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างทางปาก
               ต่อเมื่อใด เขาบรรเทาความกระวนกระวายนั้นเสีย อาบและดื่มน้ำแล้ว เอาผ้าเปียกคลุมที่หน้าอกนอนพักที่ร่มไม้เย็นๆ เมื่อนั้น ลมหายใจเข้าและหายใจออกนั้นของเขาจึงเป็นของละเอียด คือถึงอาการที่จะต้องค้นหาว่ามีอยู่หรือไม่หนอ แม้ฉันใด ในกาลก่อน คือในเวลาที่ภิกษุนี้ยังไม่ได้กำหนดกรรมฐาน กายและจิต ฯลฯ คือถึงอาการที่ต้องค้นหาว่า มีอยู่หรือไม่หนอ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
               เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น ในกาลก่อน คือในเวลาที่เธอยังมิได้กำหนดกรรมฐาน การคำนึง การประมวลมา การมนสิการและการพิจารณาว่า เราจะระงับกายสังขารส่วนหยาบๆ ดังนี้ หามีแก่เธอนั้นไม่, แต่ในเวลาที่เธอกำหนดแล้ว จึงมีได้. เพราะเหตุนั้นในเวลาที่กำหนดกรรมฐาน กายสังขารของเธอนั้น จึงเป็นของละเอียดกว่าเวลาที่ยังไม่ได้กำหนด. เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                                   เมื่อกายและจิต ยังระส่ำระสายอยู่
                         กายสังขารย่อมเป็นไปเกินประมาณ เมื่อกาย
                         และจิต ไม่ระส่ำระสาย กายสังขารย่อมเป็น
                         ไปละเอียด.
____________________________
๑- ศัพท์ว่า โอฬาริกนํ ให้แก้เป็น โอฬาริกา เป็นบทคุณของกายและจิต.
๑- วิสุทธิมรรค ภาค ๒/๖๒ แก้เป็นอย่างนี้.

               [กายสังขารในฌานชั้นสูงขึ้นไปย่อมละเอียดไปตามลำดับ]               
               กายสังขารแม้ในเวลากำหนดก็ยังหยาบ ในอุปจารแห่งปฐมฌานละเอียด. ถึงแม้ในอุปจารแห่งปฐมฌานนั้นก็ยังหยาบ ในปฐมฌานละเอียด. ในปฐมฌานและในอุปจารแห่งทุติยฌานยังหยาบ ในทุติยฌานละเอียด. ในทุติยฌานและในอุปจารแห่งตติยฌานก็ยังหยาบ ในตติยฌานละเอียด. ในตติยฌานและอุปจารแห่งจตุตถฌานก็ยังหยาบ ในจตุตถฌานละเอียดยิ่งนัก ถึงความไม่เป็นไปทีเดียว. คำนี้เป็นมติของพระอาจารย์ผู้กล่าวทีฆนิกายและสังยุตตนิกายก่อน. ส่วนพระอาจารย์ทั้งหลายผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย ย่อมปรารถนาความละเอียดกว่ากัน แม้ในอุปจารแห่งฌานชั้นสูงๆ ขึ้นไปกว่าฌานชั้นต่ำๆ อย่างนี้ คือกายสังขารที่เป็นไปในปฐมฌาน ยังเป็นของหยาบ ในอุปจารแห่งทุติยฌาน จึงจัดว่าละเอียด ดังนี้เป็นต้น. ก็ตามมติของพระอาจารย์ทั้งหมดนั้นแล ควรทราบดังนี้ว่า กายสังขารที่เป็นไปในเวลาที่ยังมิได้กำหนด (กรรมฐาน) ย่อมระงับไปในเวลาที่กำหนดแล้ว กายสังขารที่เป็นไปในเวลาที่ได้กำหนด ย่อมระงับไปในอุปจารแห่งปฐมฌาน ฯลฯ กายสังขารที่เป็นไปในอุปจารแห่งจตุตถฌาน ย่อมระงับไปในจตุตถฌาน.
               ในสมถะมีนัยเท่านี้ก่อน.
               ส่วนในวิปัสสนา พึงทราบนัยดังนี้:-
               กายสังขารที่เป็นไปในเมื่อยังมิได้กำหนด ยังหยาบ ในการกำหนดมหาภูตรูปละเอียด, แม้การกำหนดมหาภูตรูปนั้นก็ยังหยาบ ในการกำหนดอุปทายรูปละเอียด, แม้การกำหนดอุปาทายรูปนั้นก็ยังหยาบ ในการกำหนดรูปทั้งสิ้นละเอียด, แม้การกำหนดรูปทั้งสิ้นนั้นก็ยังหยาบ ในการกำหนดอรูปละเอียด, แม้การกำหนดอรูปนั้นก็ยังหยาบ ในการกำหนดรูปและอรูปละเอียด, แม้การกำหนดรูปและอรูปนั้นก็ยังหยาบ ในการกำหนดปัจจัยละเอียด, แม้การกำหนดปัจจัยนั้นก็ยังหยาบ ในการเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยละเอียด, แม้การเห็นนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยนั้นก็ยังหยาบ ในวิปัสสนาที่ประกอบด้วยลักษณะและอารมณ์ ละเอียด, แม้นั้นก็ยังหยาบ ในวิปัสสนาที่มีกำลังเพลา ในวิปัสสนาที่มีกำลังจึงจัดว่าละเอียด. ในวิปัสสนานัยนั้น พึงทราบความสงบไปแห่งลมอัสสาสะและปัสสาสะก่อนๆ ด้วยลมอัสสาสะและปัสสาสะหลังๆ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.
               ในคำว่า ระงับกายสังขารที่หยาบ นี้ พึงทราบความที่ลมหยาบละเอียดและสงบไป โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้แล.
               ส่วนในปฏิสัมภิทา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวเนื้อความแห่งบทนั้น พร้อมกับคำท้วงแลคำแก้ให้กระจ่างอย่างนี้ :-
               ภิกษุย่อมสำเหนียกอย่างไร?
               ย่อมสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก.
               กายสังขารเป็นไฉน?
               ลมหายใจเข้ายาวเป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกายเป็นกายสังขาร ภิกษุระงับคือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น สำเหนียกอยู่, ลมหายใจออกยาวเป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกายเป็นกายสังขาร ภิกษุระงับคือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น สำเหนียกอยู่; ลมหายใจเข้าสั้น ลมหายใจออกสั้น ลมที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ลมที่ภิกษุรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออกเป็นไปทางกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกายเป็นกายสังขาร ภิกษุระงับคือดับ สงบกายสังขารเหล่านั้น สำเหนียกอยู่,
               ความอ่อนไป ความน้อมไป ความเอนไป ความโอนไป ความหวั่นไหว ความดิ้นรน ความโยก ความโคลงแห่งกาย เพราะกายสังขารเห็นปานใด, ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารเห็นปานนั้นหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารเห็นปานนั้น หายใจออก.
               ความไม่อ่อนไป ความไม่น้อมไป ความไม่เอนไป ความไม่โอนไป ความไม่หวั่นไหว ความไม่ดิ้นรน ความไม่โยก ความไม่โคลงแห่งกาย เพราะกายสังขารเห็นปานใด, ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารที่ละเอียดสุขุมเห็นปานนั้น หายใจเข้า หายใจออก.
               หากว่าภิกษุสำเหนียกอยู่อย่างนี้ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น ความได้ลม๑- (อัสสาสะและปัสสาสะ) ก็ไม่เป็นไป (คือไม่เกิดขึ้น), ลมอัสสาสะและปัสสาสะก็ไม่เป็นไป อานาปานัสสติก็ไม่เป็นไป อานาปานัสสติสมาธิก็ไม่เป็นไป และสมาบัตินั้น บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าบ้าง จะออกบ้าง ก็หาไม่,
               ถ้าหากว่าภิกษุสำเหนียกอยู่อย่างนี้ว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า หายใจออก. เมื่อเป็นอย่างนี้ ความได้ลม๑- (อัสสาสะและปัสสาสะ) ย่อมเป็นไป (คือเกิดขึ้น), ลมอัสสาสะและปัสสาสะย่อมเป็นไป อานาปานัสสติย่อมเป็นไป, อานาปานัสสติสมาธิย่อมเป็นไป และสมาบัตินั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมเข้าบ้าง ย่อมออกบ้าง.
               ข้อนั้นเปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลตีกังสดาล เสียงดัง (เสียงหยาบ) ย่อมกระจายไปก่อน เพราะกำหนดใส่ใจ จำไว้ด้วยดีซึ่งนิมิตแห่งเสียงดัง แม้เมื่อเสียงดังดับไปแล้ว. ต่อมาเสียงละเอียด (เสียงครวญ) ย่อมกระจายไปภายหลัง เพราะกำหนดใส่ใจ จำไว้ด้วยดีซึ่งนิมิตแห่งเสียงครวญ แม้เมื่อเสียงครวญดับไปแล้ว. ต่อมาจิตย่อมเป็นไปภายหลัง แม้เพราะมีนิมิตแห่งเสียงครวญเป็นอารมณ์.
               ข้อนี้ก็เหมือนกันฉะนั้น ลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบย่อมเป็นไปก่อน เพราะกำหนดใส่ใจจำไว้ด้วยดี ซึ่งนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบ เมื่อลมหายใจเข้าและหายใจออกที่หยาบ แม้ดับไปแล้ว. ต่อมาลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ละเอียดย่อมเป็นไปภายหลัง เพราะกำหนดใส่ใจ จำไว้ด้วยดีซึ่งนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ละเอียด เมื่อลมหายใจเข้าและลมหายใจออกที่ละเอียดแม้ดับไปแล้ว. ต่อมาจิตไม่ถึงความฟุ้งซ่านในภายหลัง แม้เพราะมีนิมิตแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออกที่ละเอียดเป็นอารมณ์. เมื่อเป็นอย่างนี้ ความได้ลม (อัสสาสะและปัสสาสะ) ย่อมเป็นไป, ลมอัสสาสะและปัสสาสะย่อมเป็นไป อานาปานัสสติย่อมเป็นไป อานาปานัสสติสมาธิย่อมเป็นไป และสมาบัตินั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมหายใจเข้าบ้าง ย่อมหายใจออกบ้าง.
               กายคือความที่บุคคลระงับกายสังขารหายใจเข้าและหายใจออกย่อมปรากฏ, สติเป็นอนุปัสสนาญาณ, กายย่อมปรากฏ ไม่ใช่สติ, สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย, ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น.
               เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานคือการพิจารณาเห็นกายในกาย๒- ดังนี้.
               ในบทว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ นี้ มีการพรรณนาตามลำดับบทแห่งปฐมจตุกกะ ซึ่งตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งกายานุปัสสนาเพียงเท่านี้ก่อน. แต่เพราะในอธิการนี้ จตุกกะนี้เท่านั้น ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งกรรมฐานของกุลบุตรผู้เริ่มทำ,
               ส่วนอีก ๓ จตุกกะนอกนี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเวทนานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา ของกุลบุตรผู้บรรลุฌานแล้วในปฐมจตุกกะนี้; ฉะนั้น พุทธบุตรผู้ปรารถนาจะเจริญกรรมฐานนี้ แล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมกับปฏิสัมภิทา ด้วยวิปัสสนาอันมีอานาปานจตุตถฌานเป็นปทัฏฐาน ควรทราบกิจที่ตนควรทำก่อนทั้งหมดตั้งแต่ต้น ในอธิการแห่งอานาปานัสสติกรรมฐานนี้แล ด้วยสามารถแห่งกุลบุตรผู้เริ่มทำ.
____________________________
๑- วาตปลทฺธิ ความสำเหนียก กำหนดหมายลม.
๒-ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๖/หน้า ๒๗๘-๒๘๐.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 126อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 176อ่านอรรถกถา 1 / 180อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=7436&Z=7557
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=10112
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=10112
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :