ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๑ / ๑๕.

               กถาว่าด้วยทุติยฌาน               
               สองบทว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ความว่า เพราะเข้าไปสงบ คือเพราะก้าวล่วงองค์ทั้ง ๒ เหล่านี้ คือ วิตกและวิจาร. มีอธิบายว่า เพราะวิตกวิจารไม่ปรากฏในขณะแห่งทุติยฌาน.
               พึงทราบสันนิษฐานว่า ในบรรดาฌานทั้ง ๒ นั้น ธรรมในปฐมฌานแม้ทั้งหมด ไม่มีอยู่ในทุติยฌาน ด้วยว่า ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีอยู่ในปฐมฌานเป็นอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานนี้ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอย่างนี้ว่า เพราะเข้าไปสงบวิตกวิจาร เพื่อจะทรงแสดงว่า การบรรลุฌานอื่นจากปฐมฌานมีทุติยฌานเป็นต้นจะมีได้ เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบๆ ได้.

               [อรรถาธิบายอัชฌัตตศัพท์]               
               ในอธิการนี้ บัณฑิตประสงค์เอานิยกัชฌัตตัง ชื่อว่า อัชฌัตตัง. แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพียงเท่านี้ว่า อัชฌัตตังปัจจัตตัง๑- เท่านั้น. ก็เพราะบัณฑิตประสงค์เอานิยกัชฌัตตัง ชื่อว่า อัชฌัตตัง ฉะนั้น ในบทว่า อชฺฌตฺตํ นี้ บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความดังนี้ว่า เกิดแล้วในตน คือเกิดแล้วในสันดานของตน.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๖๐/หน้า ๓๔๘.

               [อรรถาธิบายสัมปสาทนศัพท์]               
               ศรัทธา (ความเชื่อ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สัมปสาทนะ ในบทว่า สมฺปสาทนํ นี้ แม้ฌาน ก็ตรัสเรียกว่า สัมปสาทนะ เพราะประกอบด้วยความผ่องใส เหมือนผ้าสีเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียวฉะนั้น
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะฌานนั้นย่อมยังใจให้เลื่อมใสด้วยดี เพราะประกอบด้วยศรัทธาที่เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส (และ) เพราะสงบระงับความกำเริบแห่งวิตกและวิจารเสียได้ เพราะเหตุแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สมฺปสาทนํ.
               ก็ในอรรถวิกัปนี้ พึงทราบสัมพันธ์เฉพาะบทอย่างนี้ว่า สมฺปสาทนํ เจตโส (เป็นความผ่องใสแห่งใจ). แต่ในอรรถวิกัปต้น พึงประกอบบทว่า เจตโส นั่นเข้ากับ เอโกทิภาวะ.

               [อรรถาธิบายเอโกทิภาวศัพท์]               
               ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               สมาธิชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้น. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นธรรมที่เลิศ คือธรรมประเสริฐที่สุด ผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารไม่ผุดขึ้น. จริงอยู่ แม้คนที่ประเสริฐที่สุด เขาก็เรียกว่า เป็นเอกในโลก. อีกอย่างหนึ่ง จะกล่าวว่า สมาธิที่เว้นจากวิตกและวิจาร ชื่อว่าเป็นธรรมเอก คือไม่มีสหาย ดังนี้บ้าง ก็ควร. อีกบรรยายหนึ่ง สมาธิ ชื่อว่า อุทิ เพราะอรรถว่า ย่อมยังสัมปยุตธรรมให้ผุดขึ้น. อธิบายว่า ให้ตั้งขึ้น. สมาธินั้น เป็นเอก เพราะอรรถว่า ประเสริฐและผุดขึ้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอโกทิ. คำว่า เอโกทิ นั่น เป็นชื่อของสมาธิ.
               ทุติยฌานย่อมยังสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้ ดังกล่าวนี้ให้เกิดคือให้เจริญ. เหตุนั้น ทุติยฌานนี้จึงชื่อว่า เอโกทิภาพ. ก็เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้นย่อมมีแก่ใจ หามีแก่สัตว์ แก่ชีวะไม่ ฉะนั้น ทุติยฌานนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เจตโส เอโกทิภาวํ (เป็นเอโกทิภาพแห่งใจ).
               มีคำถามว่า ก็ศรัทธานี้และสมาธิที่มีชื่อว่าเอโกทินี้มีอยู่ในปฐมฌานมิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ทุติยฌานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส และว่า เป็นเอโกทิภาพเล่า?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               ด้วยว่า ปฐมฌานโน้น ชื่อว่ายังไม่ผ่องใสดี เพราะวิตกและวิจารยังกำเริบได้ ดุจน้ำที่ขุ่นเพราะคลื่นและระลอก ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น แม้เมื่อศรัทธามีอยู่ ก็พึงทราบว่า ปฐมฌานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่า เป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส.
               อนึ่ง เพราะความที่ปฐมฌานยังไม่ผ่องใสด้วยดีนั่นแล แม้สมาธิในปฐมฌานนี้ ก็ยังหาเป็นธรรมปรากฏด้วยดีไม่ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ปฐมฌานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่าเป็นเอโกทิภาพบ้าง. ส่วนศรัทธามีกำลังได้โอกาสแล้ว เพราะในฌานนี้ไม่มีเหตุเครื่องกังวลคือวิตกวิจาร แม้สมาธิก็ปรากฏ เพราะกลับได้สหาย คือศรัทธามีกำลัง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ทุติยฌานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.
               แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพียงเท่านี้นั่นแลว่า ที่ชื่อว่า สัมปสาทนะ นั้นได้แก่ศรัทธา ความเชื่อถือ ความปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง ที่ชื่อว่า เจตโส เอโกทิภาวะ นั้น ได้แก่ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ๑- ดังนี้.
               ก็อรรถวรรณนานี้รวมกับปาฐะในคัมภีร์วิภังค์นั่น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น ย่อมไม่ผิด คือย่อมเทียบเคียง และเสมอกันได้โดยแท้ ฉันใด บัณฑิตพึงทราบอรรถวรรณนานี้ ฉันนั้น.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๖๑/หน้า ๓๔๘.

               [อรรถาธิบายทุติยฌานไม่มีวิตกและวิจารเพราะสงบไปแล้ว]               
               ในคำว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ทุติยฌานชื่อว่า ไม่มีวิตก เพราะอรรถว่า วิตกไม่มีในทุติยฌานนี้ หรือแก่ทุติยฌานนี้ เพราะละวิตกได้ด้วยภาวนา. ทุติยฌาน ชื่อว่าไม่มีวิจารก็โดยนัยนี้แล. แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า วิตกนี้และวิจารนี้ สงบ ระงับ เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไปด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งไปด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุด ปราศไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ด้วยประการ๑- ฉะนี้.
               ในอธิการนี้ พระอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ก็เนื้อความนี้สำเร็จแล้วแม้ด้วยบทว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจาร ดังนี้มิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อีกว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ดังนี้เล่า?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               เนื้อความนี้สำเร็จแล้วอย่างนั้น จริงทีเดียว แต่คำว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจารนี้ แสดงอรรถ กล่าวคือความไม่มีวิตกวิจารนั้น. ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วมิใช่หรือว่า ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เพราะสงบระงับวิตกและวิจาร เพื่อจะทรงแสดงว่า การบรรลุฌานเป็นต้นอื่นจากปฐมฌาน ย่อมมีได้ เพราะก้าวล่วงองค์ที่หยาบๆ ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุติยฌานนี้ ชื่อว่า สัมปสาทนะ เพราะสงบวิตกและวิจารเสียได้ หาใช่เพราะเข้าไปสงบความฟุ้งขึ้นแห่งโทษกล่าวคือกิเลสไม่ และทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะสงบวิตกและวิจาร และทุติยฌานนี้ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะละนิวรณ์เสียได้ ไม่เหมือนอุปจารฌาน และทุติยฌานนี้ ชื่อว่า เอโกทิภาพ เพราะมีองค์ปรากฏไม่เหมือนปฐมฌาน.
               เพราะเหตุนั้น คำว่า เพราะสงบวิตกวิจารนี้ ย่อมเป็นคำแสดงถึงเหตุแห่งความที่ทุติยฌานเป็นเครื่องยังใจให้ผ่องใส และเป็นธรรมเอกยังสมาธิให้ผุดขึ้น ดังกล่าวมาแล้วนี้.
               อนึ่ง ทุติยฌานนี้ ชื่อว่าไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะสงบวิตกและวิจารเสียได้, ทุติยฌานนี้ชื่ออวิตักกาวิจาร เพราะไม่มีทั้งวิตกและวิจาร หาเหมือนตติยฌานจตุตถฌาน และเหมือนวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นต้นฉะนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น คำว่า เพราะสงบวิตกวิจารนี้ ย่อมเป็นคำแสดงถึงเหตุแห่งความที่ทุติยฌานไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจาร และหาใช่เป็นคำแสดงเพียงสักว่า ความไม่มีแห่งวิตกและวิจารไม่ ดังกล่าวมาฉะนี้.
               แต่คำว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร นี้ ก็เป็นคำแสดงเพียงสักว่า ความไม่มีแห่งวิตกและวิจารเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ตรัสคำต้นแล้ว ก็ควรตรัสคำหลังอีก.
               บทว่า สมาธิชํ ความว่า เกิดจากปฐมฌานสมาธิ หรือจากสมาธิที่สัมปยุตกัน. ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทุติยฌานนี้เท่านั้นว่า เกิดจากสมาธิ เพื่อสรรเสริญทุติยฌานนี้ เพราะถึงแม้ปฐมฌานจะเกิดจากสมาธิที่สัมปยุต แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น สมาธินี้เท่านั้น ควรเรียกได้ว่า สมาธิ เพราะเป็นสมาธิที่ไม่หวั่นไหวและผ่องใสอย่างยิ่ง เหตุเว้นจากความกระเพื่อมแห่งวิตกวิจาร.
               คำว่า ปีติสุขํ นี้ มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               บทว่า ทุติยํ คือเป็นที่ ๒ โดยลำดับแห่งการคำนวณ. ฌานนี้ชื่อว่า ที่ ๒ เพราะอรรถว่า พระโยคาวจรบรรลุเป็นครั้งที่ ๒ ดังนี้บ้าง.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๖๒/หน้า ๓๔๘.

               [ปฐมฌานมีองค์ ๕ ทุติยฌานมีองค์ ๓]               
               ก็ในคำว่า ฌานํ นี้ พึงทราบว่า ปฐมฌานมีองค์ ๕ เพราะองค์ทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น ฉันใด, ทุติยฌานนี้ก็มีองค์ ๔ เพราะองค์ทั้งหลายมีสัมปสาทะเป็นต้น ฉันนั้น.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า สัมปสาทะ (ความผ่องใส) ปีติ (ความอิ่มใจ) สุข (ความสบายใจ) เอกัคคตาแห่งจิต ชื่อว่า ฌาน๑- อันนั่นเป็นนัยทางอ้อมเท่านั้น. แต่โดยนัยทางตรง ทุติยฌานนั่น เว้นองค์คือสัมปสาทะเสียแล้ว มีเพียงองค์ ๓ เท่านั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต มีอยู่ในสมัยนั้น เป็นไฉน?๒- คำที่เหลือมีนัยดักล่าวแล้วนั้นแล.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๖๓/หน้า ๓๔๘.
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๖๖/หน้า ๓๔๙.
               กถาว่าด้วยทุติยฌาน จบ               

               กถาว่าด้วยตติยฌาน               
               ปีติในคำว่า ปีติยา จ วิราคา นี้ มีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแล. ความเกลียดชัง หรือความก้าวล่วงปีตินั้น ชื่อว่า วิราคะ (ความสำรอก).
                ศัพท์ ในระหว่างบททั้ง ๒ มีการประมวลมาเป็นอรรถ. ศัพท์ ประมวลมาซึ่งความสงบ หรือความเข้าไปสงบวิตกวิจาร.
               พึงทราบโยชนาอย่างนี้ว่า
               ในการประมวลทั้งสองอย่างนั้น ในกาลใดประมวลความสงบมาอย่างเดียว ในเวลานั้น เพราะสำรอกปีติ และเพราะสงบได้เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย. ก็ในโยชนานี้ วิราคะศัพท์ มีความเกลียดชังเป็นอรรถ เพราะฉะนั้น พึงเห็นใจความดังนี้ว่า เพราะเกลียดชัง และเพราะระงับปีติ.
               พึงทราบโยชนาอย่างนี้ว่า
               ก็ในเวลาใด ประมวลความสงบระงับวิตกวิจารมา ในเวลานั้น เพราะสำรอกปีติ และเพราะเข้าไปสงบวิตกวิจารเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย. และในโยชนานี้ วิราคะศัพท์ มีความก้าวล่วงเป็นอรรถ เพราะฉะนั้น พึงเห็นใจความดังนี้ว่า เพราะก้าวล่วงปีติ และเพราะสงบระงับวิตกวิจาร.
               อนึ่ง วิตกวิจารเหล่านี้ สงบแล้วในทุติยฌานทีเดียวก็จริง ถึงกระนั้น, คำว่า เพราะเข้าไปสงบวิตกวิจาร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ก็เพื่อจะทรงแสดงอุบายเครื่องบรรลุฌานนี้ และเพื่อกล่าวสรรเสริญ (ฌานนี้).
               ถามว่า จริงอยู่ เมื่อพระองค์ตรัสว่า และเพราะความสงบระงับวิตกวิจาร คำนี้ย่อมปรากฏว่า ความสงบระงับวิตกวิจารก็เป็นอุบายเครื่องบรรลุฌานนี้ มิใช่หรือ?
               แก้ว่า เหมือนอย่างว่าในอริยมรรคที่ ๓ ท่านกล่าวการละไว้อย่างนี้ว่า เพราะละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๒ มีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ที่ยังละไม่ได้ ย่อมเป็นการกล่าวสรรเสริญ (อริยมรรคที่ ๓) เพื่อจะให้เกิดความอุตสาหะแก่เหล่าชนผู้มีความขวนขวาย เพื่อบรรลุอริยมรรคที่ ๓ นั้น ฉันใด, ในตติยฌานนี้ ท่านกล่าวความสงบระงับวิตกวิจาร แม้ที่ยังไม่สงบราบคาบไว้ เป็นการกล่าวสรรเสริญ (ฌานนี้) ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวใจความนี้ไว้ว่า เพราะก้าวล่วงปีติ และเพราะความสงบระงับวิตกวิจารดังนี้.
               ในคำว่า อุเปกฺขโก จ วิหาสึ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ธรรมชาติที่ชื่อว่า อุเบกขา เพราะอรรถว่า เพ่งโดยอุปบัติ. อธิบายว่า ย่อมเห็นเสมอคือย่อมเห็นไม่ตกไปเป็นฝักเป็นฝ่าย. บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยตติยฌาน ท่านเรียกว่า ผู้มีอุเบกขา. เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันสละสลวย ไพบูลย์ มีกำลัง.

               [อุเบกขา ๑๐ อย่าง]               
               ก็อุเบกขามีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ
               ๑. ฉฬังคุเปกขา อุเบกขาในองค์ (คืออารมณ์) ๖.
               ๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาในพรหมวิหาร.
               ๓. โพชฌังคุเปกขา อุเบกขาในโพชฌงค์.
               ๔. วิริยุเปกขา อุเบกขาในวิริยะ.
               ๕. สังขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร.
               ๖. เวทนุเปกขา อุเบกขาในเวทนา.
               ๗. วิปัสสนุเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา.
               ๘. ตัตรมัชฌัตตุเปกขา  อุเบกขาในความวางตนเป็นกลางในธรรมนั้นๆ.
               ๙. ฌานุเปกขา อุเบกขาในฌาน.
               ๑๐. ปาริสุทธุเปกขา อุเบกขาในความบริสุทธิ์.

               อุเบกขาแม้ทั้ง ๑๐ อย่างดังกล่าวมานี้ พึงทราบตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในวรรณนาแห่งภยเภรสูตร ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี หรือในอรรถกถาธรรมสังคหะ ชื่ออัตถสาลินี โดยนัยอันมาแล้วในที่นั้นๆ และด้วยสามารถแห่งสังเขปคือ ภูมิ บุคคล จิต อารมณ์ ขันธสังคหะ เอกขณจิตและกุสลติกะ.
               ก็อุเบกขา เมื่อข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในอธิการนี้ ย่อมทำนิทานแห่งพระวินัยให้เป็นภาระหนักยิ่ง, เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่กล่าว.

               [อรรถาธิบายลักษณะแห่งอุเบกขา]               
               ส่วนอุเบกขาที่ประสงค์เอาในอธิการนี้ โดยลักษณะเป็นต้น พึงทราบว่า มีความมัธยัสถ์ (ความเป็นกลาง) เป็นลักษณะ มีความไม่คำนึงเป็นรส มีความไม่ขวนขวายเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความสำรอกปีติเป็นปทัฏฐาน.
               ในอธิการว่าด้วยตติยฌานนี้ พระอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ก็ฌานุเบกขานี้ โดยอรรถก็คือ ตัตรมัชฌัตตุเบกขานั่นเอง และฌานุเบกขานั้นก็มีอยู่แม้ในปฐมฌานและทุติยฌาน เพราะฉะนั้น ฌานุเบกขานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ควรจะตรัสไว้แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น อย่างนี้ว่า อุเปกฺขโก จ วิหาสึ ดังนี้ มิใช่หรือ? เพราะเหตุไร จึงไม่ตรัสฌานุเบกขานั้นไว้เล่า?
               เฉลยว่า เพราะมีกิจยังไม่ปรากฏชัด.
               จริงอยู่ กิจแห่งฌานุเบกขานั้นในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น ชื่อว่ายังไม่ปรากฏชัด เพราะถูกปฏิปักขธรรมมีวิตกเป็นต้นครอบงำ. ส่วนในตติยฌานนี้ ฌานุเบกขานี้เกิดมีกิจปรากฏชัด เป็นดุจยกศีรษะขึ้นได้แล้ว เพราะวิตกวิจารและปีติครอบงำไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสฌานุเบกขานั้นไว้แล.
               การพรรณนาอรรถโดยประการทั้งปวงแห่งบทว่า อุเปกฺขโก จ วิหาสึ นี้จบแล้ว.

               [อธิบายลักษณะแห่งสติและสัมปชัญญะ]               
               บัดนี้จะวินิจฉัยในบาลีนี้ว่า สโต จ สมฺปชาโน. ชื่อว่าสโต เพราะอรรถว่า ระลึกได้. ชื่อว่าสัมปชาโน เพราะอรรถว่า รู้ชัดโดยชอบ. สติและสัมปชัญญะตรัสโดยบุคคล.
               ในสติและสัมปชัญญะนั้น สติมีความระลึกได้เป็นเครื่องกำหนด มีความไม่หลงลืมเป็นกิจ มีการควบคุมเป็นเหตุเครื่องปรากฏ. สัมปชัญญะมีความไม่หลงเป็นเครื่องกำหนด มีความพิจารณาเป็นกิจ มีความสอดส่องเป็นเครื่องปรากฏ.
               ก็สติและสัมปชัญญะนี้ พึงทราบโดยพิสดารตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในวรรณนาแห่งสติปัฏฐานสูตร ในอรรถกถามัชฌิมนิกายนั่นแล.
               บรรดาธรรมในตติยฌานนั้น สติและสัมปชัญญะนี้มีอยู่แม้ในฌานก่อนๆ โดยแท้ เพราะว่า แม้คุณชาติเพียงอุปจาร ย่อมไม่สำเร็จแก่พระโยคาวจรผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ, จะกล่าวไปไยถึงอัปปนา. ถึงกระนั้น เพราะความที่ฌานเหล่านั้นหยาบ การดำเนินไปของจิตจึงมีความสะดวก เหมือนการดำเนินไปบนภาคพื้นของบุรุษฉะนั้น กิจแห่งสติและสัมปชัญญะในฌานเหล่านั้น จึงยังไม่ปรากฏชัด.
               ก็เพราะความที่ฌานนี้ละเอียด เพราะละองค์ที่หยาบได้ การดำเนินไปของจิต อันกิจแห่งสติและสัมปชัญญะกำกับแล้วทีเดียว จำปรารถนา เหมือนการเดินใกล้คมมีดโกนของบุรุษฉะนั้น เพราะเหตุนี้ จึงตรัสไว้ในตติยฌานนี้ทีเดียว.
               ยังมีข้อที่จะพึงกล่าวเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย.
               นักปราชญ์พึงทราบสันนิษฐานว่า คำนี้ว่า สโต จ สมฺปชาโน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในตติยฌานนี้เท่านั้น ก็เพื่อแสดงเนื้อความพิเศษแม้นี้ว่า ลูกโคที่ยังติดแม่โค ถูกพรากจากแม่โค เมื่อไม่คอยควบคุมไว้ ย่อมเข้าหาแม่โคอีกนั่นเองฉันใด ความสุขในตติยฌานนี้ก็ฉันนั้น ถูกพรากจากปีติแล้ว ความสุขนั้นเมื่อไม่คอยควบคุมด้วยเครื่องควบคุมคือสติและสัมปชัญญะ พึงเข้าหาปีติอีกทีเดียว พึงเป็นสุขที่สัมปยุตด้วยปีตินั้นเอง.
               ถึงแม้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมกำหนัดนักในความสุข และความสุขนี้ก็เป็นสุขหวานยิ่งนัก เพราะไม่มีสุขยิ่งไปกว่านั้น แต่ความไม่กำหนัดนักในความสุข ย่อมมีในตติยฌานนี้ ด้วยอานุภาพแห่งสติและสัมปชัญญะ มิใช่มีด้วยประการอื่นดังนี้.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทสึ นี้ต่อไป :-
               พระโยคีผู้พรั่งพร้อมด้วยตติยฌาน ไม่มีความรำพึงในการเสวยความสุข แม้ก็จริง ถึงเมื่อเป็นเช่นนั้น พระโยคีนั้น แม้ออกจากฌานแล้ว ก็พึงเสวยสุขได้ เพราะเหตุที่รูปกายของท่าน อันรูปที่ประณีตยิ่ง ซึ่งมีความสุขที่สัมปยุตด้วยนามกายของท่าน หรือความสุขที่ประกอบนามกายนั้นเป็นสมุฏฐานถูกต้อง ซึมซาบแล้ว.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทสึ ดังนี้.
               บัดนี้ จะวินิจฉัยในคำว่า ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารี นี้ต่อไป :-
               พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมบอก คือย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมกระทำให้ตื้น. อธิบายว่า ย่อมประกาศ คือย่อมสรรเสริญ ซึ่งบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌานนั้น เพราะเหตุแห่งฌานใด คือเพราะฌานใดเป็นเหตุ.
               ย่อมสรรเสริญว่า อย่างไร?
               ย่อมสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้. เราเข้าถึงตติยฌานนั้นอยู่แล้ว.
               โยชนาในคำว่า ยนฺตํ อริยา เป็นต้นนี้ พึงทราบดังพรรณนามาอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุใด พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌานนั้นไว้อย่างนั้น?
               แก้ว่า เพราะเป็นผู้ที่ควรสรรเสริญ.
               จริงอยู่ เพราะพระโยคีนี้เป็นผู้มีความวางเฉยในตติยฌาน ซึ่งมีความสุขอันหวานใจยิ่งนัก ที่ถึงฝั่งแห่งความสุขแล้วก็ตาม หาถูกความใคร่ในสุขคร่าไปในตติยฌานนั้นได้ไม่ และชื่อว่าเป็นผู้มีสติเพราะเป็นผู้มีสติตั้งมั่น โดยอาการที่ปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้, และเพราะท่านได้เสวยความสุขอันไม่เศร้าหมอง ที่เป็นอริยกันต์ และอันอริยชนซ่องเสพแล้วนั่นเอง ด้วยนามกาย ฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ควรสรรเสริญ.
               พึงทราบสันนิษฐานว่า เพราะเป็นผู้ที่ควรสรรเสริญ พระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะประกาศคุณที่เป็นเหตุอันควรสรรเสริญเหล่านั้น จึงสรรเสริญบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยตติยฌานนั้น อย่างนี้ว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังพรรณนามาฉะนี้.
               บทว่า ตติยํ คือเป็นที่ ๓ ตามลำดับแห่งการคำนวณ. ฌานนี้ชื่อว่าที่ ๓ เพราะอรรถว่า พระโยคาวจรบรรลุครั้งที่ ๓ ดังนี้บ้าง.

               [ทุติยฌานมีองค์ ๔ ตติยฌานมีองค์ ๕]               
               ในคำว่า ฌานํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า ทุติยฌานมีองค์ ๔ ด้วยองค์ทั้งหลายมีสัมปสาทะเป็นต้น ฉันใด, ตติยฌานนี้ก็มีองค์ ๕ ด้วยองค์ทั้งหลายมีอุเบกขาเป็นต้น ฉันนั้น.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อุเบกขา (ความวางเฉย) สติ (ความระลึกได้) สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) สุข (ความสบายใจ) เอกัคคตาแห่งจิต (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว) ชื่อว่าฌาน๑- ดังนี้. อันนั่นเป็นนัยทางอ้อมเท่านั้น. แต่โดยนัยทางตรง ตติยฌานนั้นเว้นองค์ คือ อุเบกขา สติและสัมปชัญญะเสีย ย่อมประกอบด้วยองค์ ๒ เท่านั้น. เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ฌานมีองค์ ๒ คือ สุข และเอกัคคตาแห่งจิต มีอยู่ในสมัยนั้น เป็นไฉน? คำที่เหลือ มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั้นแล.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๗๗/หน้า ๓๕๑

               กถาว่าด้วยตติยฌาน จบ.               

               กถาว่าด้วยจตุตถฌาน               
               #- คำว่า เพราะละสุขและเพราะละทุกข์เสียได้ ดังนั้น คือ เพราะละสุขทางกายและทุกข์ทางกาย. คำว่า ในก่อนเทียว ความว่า ก็การละสุขและทุกข์นั้นแล ได้มีแล้วในก่อนแท้ มิใช่มีในขณะจตุตถฌาน. คำว่า เพราะถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งโสมนัสและโทมนัส ดังนี้นั้น ความว่า เพราะถึงความตั้งอยู่ไม่ได้. มีคำอธิบายว่า เพราะละได้นั่นแล ซึ่งธรรม ๒ ประการเหล่านี้ คือสุขทางใจและทุกข์ทางใจ ในก่อนเทียว.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลีแปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๔.

               ถามว่า ก็จะละสุขและทุกข์โสมนัสและโทมนัสเหล่านั้นได้ เมื่อไร?
               แก้ว่า ในขณะแห่งอุปจารแห่งฌานทั้ง ๔.
               จริงอยู่ โสมนัสอันพระโยคาวจรละได้ในขณะแห่งอุปจารแห่งฌานที่ ๔ นั้นแล. ทุกข์โทมนัสและสุขละได้ในขณะแห่งอุปจารแห่งฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พึงทราบการละสุขทุกข์โสมนัสและโทมนัสเหล่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละทีเดียว, แต่ก็ได้ตรัสไว้แม้ในที่นี้โดยลำดับอุเทศแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในอินทรีย์วิภังค์นั่นแล.
               มีคำถามว่า ก็ถ้าสุขทุกข์เป็นต้นเหล่านี้ พระโยคาวจรละได้ในขณะแห่งอุปจารแห่งฌานนั้นๆ ไซร้, เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงตรัสการดับ (สุขทุกข์เป็น) ไว้ในฌานทั้งหลายนั่นแลอย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ดับหาเศษมิได้ในฌานไรเล่า?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่, ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ดับหาเศษมิได้ในฌานนี้, ก็โทมนัสสินทรีย์ ... สุขินทรีย์ ... โสมนัสสินทรีย์ ... เกิดขึ้นแล้ว ดับหาเศษมิได้ในฌานไรเล่า?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขเสียได้ ฯลฯ เข้าถึงจตุตถฌานอยู่ โสมนัสสินทรีย์ เกิดขึ้นแล้ว ดับหาเศษมิได้ในฌานนี้๑- ดังนี้เล่า.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๑๔.

               มีคำแก้ว่า เพราะเป็นความดับอย่างประเสริฐ. จริงอยู่ ความดับทุกข์เป็นต้นเหล่านั้น ในฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นความดับอย่างประเสริฐ. แต่ความดับในขณะแห่งอุปจารเท่านั้น หาเป็นความดับอย่างประเสริฐไม่.
               จริงอย่างนั้น ทุกขินทรีย์ แม้ดับแล้วในอุปจารแห่งปฐมฌาน ซึ่งมีอาวัชชนะต่างๆ กัน แต่พึงเกิดขึ้นได้อีก เพราะสัมผัสมีเหลือบและยุงเป็นต้น หรือเพราะความเดือดร้อนอันเกิดจากการนั่งไม่สม่ำเสมอ, แต่จะเกิดในภายในอัปปนาไม่ได้เลย.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุกขินทรีย์นั่น แม้ดับแล้วในอุปจาร ยังดับไม่สนิทดี เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกยังกำจัดไม่ได้. ส่วนภายในอัปปนา กายทั้งสิ้นหยั่งลงสู่ความสุข เพราะมีปีติซาบซ่าน และทุกขินทรีย์ของพระโยคาวจรผู้มีกายหยั่งลงสู่ความสุข จัดว่าดับไปแล้วด้วยดี เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกถูกกำจัดเสียได้.
               ก็โทมนัสสินทรีย์ที่พระโยคาวจรละได้แล้ว ในอุปจารแห่งทุติยฌาน ซึ่งมีอาวัชชนะต่างๆ กันนั่นแล แต่พึงเกิดขึ้นได้อีก เพราะโทมนัสสินทรีย์นั่น เมื่อมีความลำบากกายและความคับแค้นใจแม้ที่มีวิตกวิจารเป็นปัจจัยอยู่ ย่อมบังเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดไม่ได้เลยในเพราะไม่มีวิตกวิจาร, แต่โทมนัสสินทรีย์จะเกิดในจิตตุปบาทใด เพราะมีวิตกวิจารจึงเกิดขึ้นในจิตตุปบาทนั้น, วิตกวิจารในอุปจารแห่งทุติยฌานท่านยังละไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น โทมนัสสินทรีย์นั้นพึงเกิดได้ในอุปจารแห่งทุติยฌานนั้น เพราะมีปัจจัยที่ยังละไม่ได้ แต่ในทุติยฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะมีปัจจัยอันละได้แล้ว.
               อนึ่ง สุขินทรีย์ แม้ที่ละได้แล้วในอุปจารแห่งตติยฌาน ก็พึงบังเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้มีกายอันรูปที่ประณีต ซึ่งมีปีติเป็นสมุฏฐานถูกต้องแล้ว แต่ในตติยฌานเกิดขึ้นไม่ได้เลย. จริงอยู่ ปีติอันเป็นปัจจัยแห่งความสุขในตติยฌาน ดับไปแล้วโดยประการทั้งปวงแล. อนึ่ง โสมนัสสินทรีย์ แม้ที่ละได้แล้วในอุปจารแห่งจตุตถฌาน ก็พึงเกิดขึ้นอีกได้ เพราะใกล้ต่อปีติ และเพราะยังไม่ผ่านไปด้วยดี เพราะยังไม่มีอุเบกขาที่ถึงอัปปนา, แต่ในจตุตถฌานจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย. เพราะเหตุดังที่กล่าวมานี้นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงทำอปริเสสศัพท์ไว้ในที่นั้นๆ ว่า ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ดับหาเศษมิได้ในฌานนี้ ดังนี้แล.
               ในอธิการแห่งจตุตถฌานนี้ พระอาจารย์ผู้โจทก์ท้วงว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น เวทนาเหล่านั้น แม้ที่ละได้แล้วในอุปจารแห่งฌานนั้นๆ เพราะเหตุไร ในจตุตถฌานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประมวลมาไว้อีกเล่า?
               แก้ว่า เพื่อให้ถือเอาสะดวก (เพื่อเข้าใจง่าย).
               จริงอยู่ อทุกขมสุขเวทนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในองค์ฌานนี้ว่า อทุกฺสุขํ (ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข) นี้เป็นของละเอียด รู้ได้โดยยาก ไม่สามารถจะถือเอาได้โดยสะดวก, เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประมวลเวทนาเหล่านั้นมาไว้ทั้งหมด เพื่อให้ถือเอาสะดวก เปรียบเหมือนเพื่อจะจับโคดุ ซึ่งใครๆ ไม่สามารถจะเข้าไปจับใกล้ๆ ได้ โดยประการใดประการหนึ่ง คนเลี้ยงโคจึงต้อนโคทุกตัวมาไว้ในคอกเดียวกัน ภายหลังจึงปล่อยออกมาทีละตัวๆ ให้จับเอาโคแม้ตัวนั้น ซึ่งผ่านออกมาตามลำดับ โดยสั่งว่า นี่คือโคตัวนั้น พวกท่านจงจับมัน ฉะนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเวทนาเหล่านั้น ที่พระองค์ประมวลมาแล้วอย่างนั้น ย่อมทรงสามารถเพื่ออันให้ถือเอาเวทนานี้ว่า ธรรมชาติที่มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ มิใช่โสมนัส มิใช่โทมนัส นี้ คือ อทุกสุขเวทนา,
               อนึ่ง เวทนาเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ตรัสไว้ ก็เพื่อจะแสดงปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเจโตวิมุตติ.
               จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายมีการละสุขเป็นต้น๒- เป็นปัจจัยแห่งเจโตวิมุตตินั้น.
               เหมือนดังที่พระธรรมทินนาเถรีกล่าวไว้ว่า
               ดูก่อนผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นอทุกขมสุขเจโตวิมุตติมี ๔ อย่างแล, ดูก่อนผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าถึงจตุตถฌาน อันเป็นอทุกขมสุข มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อันอุเบกขาให้เกิดแล้ว เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนเทียว, ดูก่อนผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุตติ อันเป็นอทุกขมสุขมี ๔ อย่างเหล่านี้แล.๓-
               อีกอย่างหนึ่ง สังโยชน์ทั้งหลายมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ที่ละได้แล้ว ในมรรคอื่นมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น พระองค์ตรัสว่า ละได้แล้วในมรรคที่ ๓ นั้น เพื่อตรัสสรรเสริญมรรคที่ ๓ ฉันใด เวทนามีสุขเป็นต้นเหล่านั้นควรทราบว่า พระองค์ตรัสไว้ในจตุตถฌานนี้ แม้เพื่อตรัสสรรเสริญฌานนั่นฉันนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง เวทนามีสุขเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบว่า พระองค์ตรัสไว้ในจตุตถฌานนี้ แม้เพื่อจะทรงแสดงข้อที่ราคะและโทสะ เป็นธรรมชาติที่อยู่ไกลยิ่ง เพราะสังหารปัจจัยเสียได้.
               จริงอยู่ บรรดาเวทนามีสุขเป็นต้นเหล่านั้น สุขเป็นปัจจัยแห่งโสมนัส, โสมนัสเป็นปัจจัยแห่งราคะ, ทุกข์เป็นปัจจัยแห่งโทมนัส, โทมนัสเป็นปัจจัยแห่งโทสะ, และราคะโทสะพร้อมทั้งปัจจัย เป็นอันจตุตถฌานนั้นกำจัดแล้ว เพราะสังหารความสุขเป็นต้นเสียได้ เพราะเหตุนั้น ราคะและโทสะ จึงมีอยู่ในที่ไกลยิ่ง ฉะนี้แล.
____________________________
๒- วิสุทธิมรรค. ๑/๒๑๓ เป็นต้น ทุกขปฺปหานาทโย.
๒- ฏีกาสารัตถทีปนี ๑/๕๙๐ ก็เหมือนกัน.
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๑/หน้า ๕๕๓.

               [อรรถาธิบายอุเบกขาในจตุตถฌาน]               
               บทว่า อทุกฺขมสุขํ ความว่า ชื่อว่า อทุกข์ เพราะไม่มีทุกข์ ชื่อว่า อสุข เพราะไม่มีสุข. ในคำว่า อทุกฺขมสุขํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาที่ ๓ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์และสุขด้วยพระดำรัสนี้ หาทรงแสดงเพียงสักว่าความไม่มีแห่งทุกข์และสุขไม่. อทุกข์และอสุข ชื่อว่าเวทนาที่ ๓ ท่านเรียกว่า อุเบกขา บ้าง.
               อุเบกขานั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มีการเสวยอารมณ์ที่ผิดแปลกจากอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ มีความเป็นกลาง เป็นรส มีอารมณ์ไม่แจ่มแจ้งเป็นเครื่องปรากฏ มีความดับสุขเป็นปทัฏฐาน.
               บทว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ ความว่า มีสติเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์อันอุเบกขาให้เกิดแล้ว.
               จริงอยู่ ในฌานนี้ สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ด้วยดีและความบริสุทธิ์แห่งสตินั้น อันอุเบกขาทำแล้ว หาใช่ธรรมอย่างอื่นทำไม่, เพราะเหตุนั้น ฌานนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์อันอุเบกขาให้เกิดแล้ว ดังนี้. แม้ในคัมภีร์วิภังค์ พระองค์ก็ได้ตรัสไว้ว่า สตินี้ย่อมเป็นธรรมชาติเปิดเผย บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว เพราะอุเบกขานี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา.๑-
               ก็ความบริสุทธิ์แห่งสติในจตุตถฌานนี้ย่อมมีเพราะอุเบกขาใด, อุเบกขานั้น โดยอรรถพึงทราบว่า มีความเป็นกลางในธรรมนั้นๆ.
               อนึ่ง ในจตุตถฌานนี้ สติเท่านั้น เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขานั้นอย่างเดียวก็หามิได้, อีกอย่างหนึ่งแล แม้สัมปยุตตธรรมทั้งหมดก็บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานั้น (เหมือนกัน). แต่เทศนา พระองค์ตรัสไว้โดยยกสติขึ้นเป็นประธาน.
               บรรดาธรรมในจตุตถฌานนั้น อุเบกขานี้มีอยู่ในฌานทั้ง ๓ แม้ในหนหลัง ก็จริง ถึงกระนั้น จันทเลขา กล่าวคือตัตรมัชฌัตตุเปกขาแม้นี้ ถึงแม้มีอยู่ในความต่างแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมชาติไม่บริสุทธิ์ เพราะถูกเดชแห่งธรรมที่เป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นครอบงำไว้ และเพราะไม่ได้ราตรีกล่าวคืออุเบกขาเวทนาที่เป็นสภาคกัน เปรียบเหมือนจันทเลขา (ดวงจันทร์) ถึงแม้มีอยู่ในกลางวัน ก็ชื่อว่าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ไม่ผ่องใส เพราะถูกรัศมีพระอาทิตย์ครอบงำในกลางวัน หรือเพราะไม่ได้กลางคืนที่เป็นสภาคกัน โดยความเป็นของที่มีอุปการะแก่ตน โดยความเป็นของสวยงาม ฉะนั้น.
               ก็เมื่อตัตรมัชฌัตตุเปกขานั้นไม่บริสุทธิ์ ธรรมทั้งหลายมีสติเป็นต้น แม้ที่เกิดร่วมกัน ก็เป็นธรรมชาติไม่บริสุทธิ์แท้ เหมือนรัศมีแห่งดวงจันทร์ที่ไม่บริสุทธิ์ในกลางวันฉะนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ฌานแม้อย่างหนึ่งในบรรดาปฐมฌานเป็นต้นเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ตรัสว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ส่วนในจตุตถฌานนี้ ดวงจันทร์กล่าวคือตัตรมัชฌัตตุเปกขานี้ เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะไม่ถูกเดชแห่งธรรมที่เป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้นครอบงำ และเพราะได้กลางคืน คืออุเบกขาเวทนาที่เป็นสภาคกัน. เพราะความที่ตัตรมัชฌัตตุเปกขานั้นเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ธรรมทั้งหลายมีสติเป็นต้น แม้ที่เกิดร่วมกันก็เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ดุจรัศมีแห่งดวงจันทร์ที่บริสุทธิ์ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น จตุตถฌานนี้เท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา.
               บทว่า จตุตฺถํ คือเป็นที่ ๔ ตามลำดับแห่งการคำนวณ. ฌานนี้ชื่อว่าที่ ๔ เพราะอรรถว่า พระโยคาวจรบรรลุเป็นครั้งที่ ๔.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๘๓/หน้า ๓๕๒.

               [ตติยฌานมีองค์ ๕ จตุตถฌานมีองค์ ๓]               
               ในคำว่า ฌานํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้คือ :-
               ตติยฌานมีองค์ ๕ ด้วยองค์ทั้งหลายมีอุเบกขาเป็นต้นฉันใด จตุตถฌานนี้ก็มีองค์ ๓ ด้วยองค์ทั้งหลาย มีอุเบกขาเป็นต้นฉันนั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อุเบกขา (ความวางเฉย) สติ (ความระลึกได้) เอกัคคตาแห่งจิต (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว) ชื่อว่า ฌาน ดังนี้.๑- อันนั้นเป็นนัยทางอ้อมเท่านั้น. แต่โดยนัยทางตรง จตุตถฌานนี้ เว้นองค์คือสติเสีย เพราะถือเอาองค์คืออุเบกขาเวทนานั่นแล จึงประกอบด้วยองค์ ๒ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ฌานประกอบด้วยองค์ ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตาแห่งจิต มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นไฉน?๒-
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแล.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๘๕/หน้า ๓๕๒.
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๑๔/หน้า ๓๕๗.

               กถาว่าด้วยจตุตถฌาน จบ.               

               [อรรถาธิบายฌาน ๔ ของบุคคล ๕ ประเภท]               
               ฌาน ๔ อย่างเหล่านี้ดังพรรณนามานี้ ของบุคคลบางพวกมีความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเป็นประโยชน์ ของคนบางพวกเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ของคนบางพวกเป็นบาทแห่งอภิญญา ของคนบางพวกเป็นบาทแห่งนิโรธ ของคนบางพวกมีการก้าวลงสู่ภพเป็นประโยชน์.
               บรรดาบุคคล ๕ ประเภทเหล่านั้น ฌานทั้ง ๔ ของพระขีณาสพทั้งหลายมีความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเป็นประโยชน์.
               จริงอยู่ พระขีณาสพเหล่านั้นตั้งใจไว้อย่างนี้ว่า เราเข้าฌานแล้ว มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง จักอยู่เป็นสุขตลอดวัน ดังนี้ แล้วทำบริกรรมในกสิณให้สมาบัติทั้ง ๘ เกิดขึ้น.
               ฌานทั้งหลายของเหล่าพระเสขะและปุถุชนผู้ออกจากสมาบัติแล้วตั้งใจไว้ว่า เรามีจิตตั้งมั่นแล้ว จักเห็นแจ้ง แล้วให้เกิดขึ้น จัดว่าเป็นบาทแห่งวิปัสสนา.
               ส่วนบุคคลเหล่าใด ให้สมาบัติทั้ง ๘ เกิดขึ้นแล้ว จึงเข้าฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท แล้วออกจากสมาบัติ ปรารถนาอภิญญา มีนัยดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า แม้เป็นคนๆ เดียว กลับเป็นมากคนก็ได้๑- ดังนี้ จึงให้เกิดขึ้น ฌานทั้งหลายของบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นบาทแห่งอภิญญา.
               ส่วนบุคคลเหล่าใด ให้สมาบัติทั้ง ๘ เกิดขึ้น จึงเข้านิโรธสมาบัติ แล้วตั้งใจไว้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีจิตบรรลุนิโรธนิพพาน อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมเทียว ตลอดเจ็ดวัน แล้วให้ฌานเกิดขึ้น ฌานทั้งหลายของบุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นบาทแห่งนิโรธ.
               ส่วนบุคคลเหล่าใด ให้สมาบัติทั้ง ๘ เกิดขึ้นแล้ว ตั้งใจไว้ว่า เราเป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม จักเกิดขึ้นในพรหมโลก แล้วให้ฌานเกิดขึ้น ฌานทั้งหลายของบุคคลเหล่านั้น มีการก้าวลงสู่ภพเป็นประโยชน์.
               ก็จตุตถฌานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เกิดขึ้นแล้ว ณ โคนต้นโพธิพฤกษ์ จตุตถฌานนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้เป็นบาทแห่งวิปัสนาด้วย เป็นบาทแห่งอภิญญาด้วย เป็นบาทแห่งนิโรธด้วย บันดาลกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วย บัณฑิตพึงทราบว่า อำนวยให้คุณทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตระทุกอย่าง.
____________________________
๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๐๐/หน้า ๒๑๗.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :