ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 23อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 1 / 30อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปฐมปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

               อรรถาธิบายสิกขาบทวิภังค์ปฐมปาราชิก               
               บัดนี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาเนื้อความวิภังค์แห่งสิกขาบทต่อไป.
               ในคำว่า โย ปนาติ โย ยาทิโส เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               สองบทว่า โย ปน เป็นบทที่ควรจำแนก. บทเป็นต้นว่า โย ยาทิโส เป็นบทจำแนกแห่งบทว่า โย ปน นั้น. ก็ในสองบทว่า โย ปน นี้ ศัพท์ว่า ปน สักว่าเป็นนิบาต, บทว่า โย เป็นบทบอกเนื้อความ, และบทว่า โย นั้น แสดงบุคคลโดยไม่กะตัว, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอรรถแห่งบทว่า โย นั้น จึงตรัสเฉพาะ โย ศัพท์ ซึ่งแสดงบุคคลโดยไม่กะตัว. เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในบทว่า โย ปน นี้อย่างนี้.
               บทว่า โย ปน มีคำอธิบายว่า โยโกจิ แปลว่า ผู้ใดผู้หนึ่ง. ก็บุคคลที่ชื่อว่า ผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอันหนึ่ง ในเพศ ความประกอบ ชาติ ชื่อ โคตร ศีล ธรรมเครื่องอยู่ โคจรและวัย แน่แท้,
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศประเภทนั้น เพื่อให้รู้จักบุคคลนั้นโดยอาการอย่างนั้น จึงตรัสคำว่า ยาทิโส เป็นต้น.
               ในคำว่า ยาทิโส เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า ยาทิโส มีความว่า ว่าด้วยอำนาจเพศ จะเป็นบุคคลเช่นใดหรือเช่นนั้นก็ตามที คือจะเป็นคนสูงหรือคนเตี้ย คนดำหรือคนขาว หรือคนมีผิวเหลือง คนผอมหรือคนอ้วนก็ตามที.
               บทว่า ยถายุตฺโต มีความว่า ว่าด้วยอำนาจความประกอบจะเป็นคนประกอบด้วยการงานเช่นใดเช่นหนึ่งก็ตามที คือจะเป็นคนประกอบด้วยนวกรรม หรือจะประกอบด้วยอุเทศ หรือจะประกอบด้วยธุระในที่อยู่ก็ตามที.
               บทว่า ยถาชจฺโจ มีความว่า ว่าด้วยอำนาจชาติ จะเป็นคนมีชาติอย่างใด หรือเป็นคนมีชาติอย่างนั้นก็ตามที คือจะเป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์ หรือเป็นแพศย์ เป็นศูทรก็ตามที.
               บทว่า ยถานาโม มีความว่า ว่าด้วยอำนาจชื่อ จะเป็นคนมีชื่ออย่างใด หรือมีชื่ออย่างนั้นก็ตามที คือชื่อว่าพุทธรักขิต หรือชื่อธรรมรักขิต หรือชื่อสังฆรักขิตก็ตามที.
               บทว่า ยถาโคตฺโต มีความว่า ว่าด้วยอำนาจโคตร จะเป็นผู้มีโคตรอย่างใดหรือมีโคตรอย่างนั้น หรือว่าด้วยโคตรเช่นใดเช่นหนึ่งก็ตามที คือจะเป็นกัจจานโคตร หรือวาเสฏฐโคตร หรือโกสิยโคตรก็ตามที.
               บทว่า ยถาสีโล มีความว่า ในปกติทั้งหลายจะเป็นผู้มีอย่างใด เป็นปกติหรือว่าเป็นผู้มีอย่างนั้นเป็นปกติก็ตามที คือว่าจะเป็นผู้มีนวกรรมเป็นปกติ หรือมีอุเทศเป็นปกติ หรือมีธุระในที่อยู่เป็นปกติ ก็ตามที.
               บทว่า ยถาวิหารี มีความว่า แม้ในธรรมเครื่องอยู่ทั้งหลาย จะเป็นผู้มีอย่างใดเป็นเครื่องอยู่ หรือว่าเป็นผู้มีอย่างนั้นเป็นเครื่องอยู่ก็ตามที คือว่าจะเป็นผู้มีนวกรรมเป็นเครื่องอยู่ หรือมีอุเทศเป็นเครื่องอยู่ หรือว่ามีธุระในที่อยู่ เป็นเครื่องอยู่ก็ตามที.
               บทว่า ยถาโคจโร มีความว่า ถึงในโคจรทั้งหลายเล่า จะเป็นผู้มีอย่างใดเป็นโคจรหรือว่ามีอย่างนั้นเป็นโคจรก็ตามที คือว่าจะเป็นผู้มีนวกรรมเป็นโคจรหรือมีอุเทศเป็นโคจร หรือมีธุระในที่อยู่เป็นโคจรก็ตามที.
               ส่วนในบทว่า เถโร วา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               จะเป็นผู้ใดหรือว่าเป็นผู้นั้น ในบรรดาผู้เจริญโดยวัยเป็นต้นก็ตามที.
               คืออธิบายว่า จะเป็นพระเถระ เพราะมีพรรษาครบสิบ หรือว่าเป็นผู้ใหม่ เพราะมีพรรษาหย่อนห้า หรือว่าจะเป็นผู้ปานกลาง เพราะมีพรรษาเกินกว่าห้าก็ตามที. โดยที่แท้ บุคคลนั้นทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในอรรถนี้ว่า โย ปน.

               [อรรถาธิบายความหมายแห่งภิกษุศัพท์เป็นต้น]               
               ในภิกขุนิเทศ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ผู้ใดย่อมขอ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ขอ. อธิบายว่า จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ. ชื่อว่าผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้อาศัยการเที่ยวขอ ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงอาศัยแล้ว.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละกองโภคะน้อยหรือมาก ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน, บุคคลผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีวิตโดยกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นเสีย ยอมรับถือเพศนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้ฉันภัตในหาบอยู่ ในท่ามกลางวิหาร ก็ชื่อว่าอาศัย การเที่ยวขอ เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้เกิดอุตสาหะในบรรพชา อาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ
               ผู้ใดย่อมทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทำค่าผัสสะและสีให้เสียไป เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว.
               บรรดาการทำค่าให้เสียไปเป็นต้นนั้น พึงทราบการทำค่าให้เสียไป เพราะตัดด้วยศัสตรา.
               จริงอยู่ ผืนผ้าแม้มีราคาตั้งพันที่เขาเอามีดตัดให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้ว ย่อมมีราคาเสียไป คือมีค่าไม่ถึงแม้ครึ่งหนึ่งจากราคาเดิม. พึงทราบการทำผัสสะให้เสียไป เพราะเย็บด้วยด้าย.
               แท้จริง ผืนผ้าแม้ที่มีสัมผัสเป็นสุขที่ถูกเย็บด้วยด้ายแล้ว ย่อมมีผัสสะเสียไป คือถึงความเป็นผ้าที่มีผัสสะแข็งหยาบ. พึงทราบการทำสีให้เสียไป เพราะหม่นหมองด้วยสนิมเข็มเป็นต้น.
               แท้จริง ผืนผ้าแม้ที่บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ทำการด้วยเข็มไปแล้ว ย่อมมีสีเสียไป คือย่อมละสีเดิมไป เพราะสนิมเข็ม และเพราะน้ำที่เป็นมลทินอันเกิดจากเหงื่อมือ และเพราะการย้อมและทำกัปปะในที่สุด. ผู้ใดชื่อว่า ผู้ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายด้วยอาการ ๓ อย่าง ดังอธิบายมาแล้วนั้น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใด ชื่อว่า ผู้ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะสักว่าทรงผ้ากาสาวะทั้งหลาย ซึ่งไม่เหมือนกับผ้าของคฤหัสถ์ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ.
               บทว่า สมญฺญาย ความว่า โดยบัญญัติ คือโดยโวหาร.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนย่อมปรากฏว่าเป็นภิกษุ โดยสมัญญาเท่านั้น.
               จริงอย่างนั้น ในกิจนิมนต์เป็นต้น มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อนับจำนวนภิกษุอยู่ นับเอากระทั่งพวกสามเณรเข้าด้วยแล้ว พูดว่าภิกษุจำนวนร้อยรูป, ภิกษุจำนวนพันรูป.
               บทว่า ปฏิญฺญาย คือ โดยความปฏิญญาของตนเอง.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนย่อมปรากฏว่าเป็นภิกษุ แม้โดยความปฏิญญา.
               พึงทราบความปฏิญญาว่า เป็นภิกษุนั้นเกิดมีได้ดังในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ถามว่า ในที่นี้ เป็นใคร?
               ตอบว่า คุณ ข้าพเจ้าเอง เป็นภิกษุ. ก็ความปฏิญญานี้เป็นความปฏิญญาที่ชอบธรรม ซึ่งพระอานนทเถระได้กล่าวไว้แล้ว.
               อนึ่ง โดยส่วนแห่งราตรี แม้พวกภิกษุผู้ทุศีล เดินสวนทางมา เมื่อถูกถามว่า ในที่นี้เป็นใคร? ก็ตอบว่า พวกข้าพเจ้าเป็นภิกษุ ดังนี้ เพื่อประโยชน์แก่ปฏิญญาที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นความจริง.
               บทว่า เอหิภิกฺขุ ความว่า ผู้ถึงความเป็นภิกษุ คืออุปสมบทด้วยเอหิภิกขุ ด้วยเพียงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างนี้ว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ชื่อว่าภิกษุ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเพื่อเป็นเอหิภิกษุ จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง เปล่งพระสุรเสียงกังวานดังเสียงพรหม ตรัสเรียกว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด, จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
               พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ (ของผู้เพ่งอุปสมบทนั้น) อันตรธานไป, บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ, ผู้นั้นเป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ คือนุ่ง (ผ้าอันตรวาสก) ผืนหนึ่ง ห่ม (ผ้าอุตราสงค์) ผืนหนึ่ง พาด (ผ้าสังฆาฏิ) ไว้บนจะงอยบ่าผืนหนึ่ง มีบาตรดินที่มีสีเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย.
               ภิกษุนั้นท่านกำหนดเฉพาะด้วยบริขาร ๘ ที่สวมสอดเข้าที่ร่างกาย
               อันพระโบราณาจารย์กล่าวได้อย่างนี้ว่า
                                   บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร บาตร
                         มีดน้อย เข็ม และผ้ารัดประคดเอว เป็น ๘
                         ทั้งผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบ
                         ความเพียร
               เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เหมือนพระเถระตั้งร้อยพรรษา มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌายะ ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว.
               จริงอยู่ ครั้งปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้กุลบุตรอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมทานั่นแล ในกาลชั่วระยะหนึ่ง. และภิกษุผู้อุปสมบทด้วยวิธีอย่างนี้ มีจำนวน ๑,๓๔๑ รูป.
               คืออย่างไร? คือมีจำนวนดังนี้ :-
               พระปัญจวัคคิยเถระ ๕ ยสกุลบุตร ๑ สหายผู้เป็นบริวารของท่าน ๕๔ ภัททวัคคีย์ ๓๐ ปุราณชฏิล ๑,๐๐๐ ปริพาชกรวมกับพระอัครสาวกทั้งสอง ๒๕๐ พระอังคุลิมาลเถระ ๑ (รวมเป็น ๑,๓๔๑ รูป)
               สมจริงดังคำที่พระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า
                                   ภิกษุ ๑,๓๐๐ รูป และเหล่าอื่นอีก
                         ๔๐ รูป ทั้งพระเถระผู้มีปัญญาอีก ๑ รูป,
                         ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ท่านกล่าวว่า เป็น
                         เอหิภิกขุ.
               ภิกษุเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุจำพวกเดียวก็หามิได้, แม้เหล่าอื่นก็ยังมีอีกมาก.
               คืออย่างไร? คือมีจำนวนเป็นต้นอย่างนี้ว่า เสลพราหมณ์ทั้งบริวารมีจำนวน ๓๐๐ พระมหากัปปินทั้งบริวารมีจำนวน ๑,๐๐๐ กุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์มีจำนวน ๑๐,๐๐๐ พวกปารายนิกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้แสวงหาที่พึ่งในภพข้างหน้า) มีจำนวน ๑๖,๐๐๐ (รวม ๒๗,๓๐๐ รูป). แต่ภิกษุเหล่านั้น พระอรรถกถาจารย์มิได้กล่าวไว้ เพราะท่านพระอุบาลีเถระมิได้แสดงไว้ในบาลีพระวินัยปิฎก. ภิกษุเหล่านี้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ก็เพราะท่านพระอุบาลีเถระแสดงไว้ในบาลีพระวินัยปิฎกนั้นแล้ว.
               (พระอรรถกถาจารย์กล่าวคำไว้ในอรรถกถา) ว่า
                         ภิกษุทั้งหมดแม้เหล่านี้ คือ ๒๗,๐๐๐ รูป
               และ ๓๐๐ รูป, ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ท่านกล่าว
               ว่า เป็นเอหิภิกขุ.

               [วิธีอุปสมบทมี ๘ อย่าง]               
               หลายบทว่า ตีหิ สรณคมเนหิ อุปสมฺปนฺโน มีความว่า ผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ซึ่งลั่นวาจากล่าว ๓ ครั้ง โดยนัยเป็นต้นว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า อุปสัมปทามี ๘ อย่าง คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา ๑ สรณคมนอุปสัมทา ๑ โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ๑ ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา ๑ ครุธัมมปฏิคอุปสัมทา ๑ ทูเตนอุปสัมทา ๑ อัฏฐวาจิกาอุปสัมทา ๑ ญัตติจตุตกัมอุปสัมทา ๑.

               [อรรถาธิบายอุปสัมปทา ๘ อย่าง]               
               ในอุปสัมปทา ๘ อย่างนั้น เอหิภิกขุอุปสัมปทาและสรณคมนอุปสัมปทา ข้าพเจ้าได้กล่าวเสร็จแล้วแล.
               ที่ชื่อว่า โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปเถระ ด้วยการรับโอวาทนี้ว่า
               เพราะเหตุนั้นแล กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ กัสสป! เพราะเหตุนั้นแล กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล, เราเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป เพราะเหตุนั้นแล กัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเราซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป!๑-
____________________________
๑- สํ. นิทาน. เล่ม ๑๖/ข้อ ๕๒๔. บาลีเดิมเป็น กายคตาสติ น วิชหิสฺสติ ไม่มี มํ ศัพท์.

               ที่ชื่อว่า ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาเนื่องด้วยอสุภ ๑๐ กะโสปากสามเณร ผู้จงกรมตามเสด็จอยู่ในบุพพารามว่า โสปากะ! ธรรมเหล่านี้คือ อุทธุมาตกสัญญาก็ดี รูปสัญญาก็ดี มีอรรถต่างๆ กัน มีพยัญชนะต่างๆ กัน หรือมีอรรถอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น?
               โสปากสามเณรนั้นทูลแก้ปัญหาเหล่านั้นได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการแก่เธอ แล้วตรัสถามว่า เธอได้กี่พรรษาละ โสปากะ? สามเณรทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้ ๗ พรรษา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระหฤทัยอันโสปากสามเณรให้ยินดีว่า โสปากะ เธอแก้ปัญหาทัดเทียมกับสัพพัญญุตญาณของเรา แล้วจึงทรงอนุญาตให้อุปสมบท. นี้ชื่อว่า ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา.
               ที่ชื่อว่า ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา๒- ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดี ด้วยการรับครุธรรม ๘.
               ที่ชื่อว่า ทูเตน อุปสัมปทา๓- ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่นางอัฒกาสีคณิกา.
               ที่ชื่อว่า อัฏฐวาจิกา อุปสัมปทา๔- ได้แก่อุปสัมปทาของนางภิกษุณีด้วยกรรม ๒ พวกนี้ คือ ญัตติจตุตถกรรมฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ญัตติจตุตถกรรม่ฝ่ายภิกษุสงฆ์.
               ที่ชื่อว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา๕- ได้แก่อุปสัมปทาของภิกษุทั้งหลายในทุกวันนี้.
               มีคำกล่าวอธิบายว่า ผู้ที่อุปสมบทแล้วในบรรดาอุปสัมปทา ๘ อย่างเหล่านี้ ด้วยอุปสัมปทานี้ ที่ทรงอนุญาตแล้วอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซึ่งบรรพชา อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้.๖-
____________________________
๒- วิ. จุลฺล. เล่ม ๗/ข้อ ๕๑๖/หน้า ๓๒๓-๓๒๙.
๓- วิ. จุลฺล. เล่ม ๗/ข้อ ๕๙๕/หน้า ๓๖๕-๓๖๗.
๔- วิ. จุลฺล. เล่ม ๗/ข้อ ๕๗๓-๕๘๐/หน้า ๓๕๔-๓๕๙.
๕- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๔๒/หน้า ๑๙๑.
๖- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๓๔/หน้า ๔๑.

               บทว่า เจริญ ได้แก่ ไม่ทราม.
               จริงอยู่ เสขบุคคลทั้งหลายมีกัลยาณปุถุชนเป็นต้นจนถึงเป็นพระอรหันต์ ย่อมถึงความนับว่า ภิกษุผู้เจริญ เพราะประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะอันเจริญ.
               บทว่า สาโร มีความว่า เสขกัลยาณปุถุชนนั้น พึงทราบว่า ภิกษุผู้มีสาระ เพราะประกอบด้วยสาระทั้งหลาย มีศีลสาระเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง เปรียบเหมือนผ้าสีเขียว เพราะประกอบด้วยสีเขียวฉะนั้น. อีกอย่างหนึ่ง พระขีณาสพเท่านั้น พึงทราบว่า เป็นผู้มีสาระ เพราะเป็นผู้ปราศจากกระพี้คือกิเลส.
               บทว่า เสกฺโข มีความว่า พระอริยบุคคล ๗ จำพวก กับทั้งกัลยาณปุถุชน ย่อมศึกษาสิกขาบท ๓ เพราะเหตุนั้น จึงจัดเป็นเสกขบุคคล. ในเสกขบุคคลเหล่านั้น คนใดคนหนึ่งพึงทราบว่า เป็นภิกขุเสกขะ. ที่ชื่อว่าอเสกขบุคคล เพราะไม่ต้องศึกษา. พระขีณาสพ ท่านเรียกว่า อเสกขบุคคล เพราะล่วงเสกขธรรมเสีย ตั้งอยู่ในผลเลิศ ไม่มีสิกขาที่จะต้องศึกษาให้ยิ่งกว่านั้น.
               สองบทว่า สมคฺเคน สงฺเฆน มีความว่า ด้วยสงฆ์ ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นผู้พร้อมเพรียงกันในกรรมอันหนึ่ง เพราะภิกษุผู้เข้ากรรมในกรรมที่จะพึงทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรค โดยปริยายอย่างต่ำที่สุด ได้มาครบจำนวน เพราะได้นำฉันทะของพวกภิกษุผู้ควรฉันทะมาแล้ว และเพราะพวกภิกษุผู้อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน.
               บทว่า ญตฺติจตุตฺเถน มีความว่า อันจะพึงทำด้วยอนุสาวนา ๓ ครั้ง ญัตติ ๑ ครั้ง.
               บทว่า กมฺเมน คือ วินัยกรรมอันชอบธรรม.
               บทว่า อกุปฺเปน ความว่า เข้าถึงความเป็นกรรมอันใครๆ พึงให้กำเริบไม่ได้ คืออันใครๆ พึงคัดค้านไม่ได้ เพราะถึงพร้อมด้วยวัตถุสมบัติ ญัตติสมบัติ อนุสาวนาสมบัติ สีมาสมบัติ และปริสสมบัติ.
               บทว่า ฐานารเหน คือควรแก่เหตุ ได้แก่ควรแก่สัตถุศาสนา.
               ชื่อว่า อุปสัมบัน คือมาถึง อธิบายว่า บรรลุภาวะอันสูงสุด. อันความเป็นภิกษุเป็นภาวะอันสูง. จริงอยู่ บุคคลนั้น ท่านเรียกว่า อุปสัมบัน เพราะมาถึงความเป็นภิกษุนั้น ด้วยกรรมตามที่กล่าวแล้ว.
               ก็ในอธิการนี้มาแต่ญัตติจตุตถกรรมอย่างเดียวเท่านั้น. แต่ในที่นี้ควรนำสังฆกรรมทั้ง ๔ มากล่าวไว้โดยพิสดาร. คำนั้นทั้งหมดท่านกล่าวแล้วในอรรถกถาทั้งหลาย. และสังฆกรรมเหล่านั้นคือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม บัณฑิตพึงเรียงไว้ตามลำดับ แล้วชักบาลีมากล่าวโดยพิสดาร จากคัมภีร์ขันธกะและกัมมวิภังค์ในที่สุดแห่งคัมภีร์บริวาร.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาสังฆกรรมเหล่านั้นในกัมมวิภังค์ ในที่สุดแห่งคัมภีร์บริวารนั่นแล. เพราะว่า เมื่อมีการพรรณนาอย่างนั้น ปฐมปาราชิกวรรณนาจักไม่เป็นการหนักไป. และการพรรณนาพระบาลีตามที่ตั้งไว้ ก็จักเป็นวรรณนาที่รู้กันได้ง่าย. ทั้งฐานะเหล่านั้น จักเป็นของไม่สูญเสีย. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะทำการพรรณนาไปตามบทเท่านั้น.
               บทว่า ตตฺร มีความว่า บรรดาภิกษุทั้งหลายซึ่งกล่าวโดยนัยมีคำว่า ผู้ขอ เป็นต้นเหล่านั้น.
               สองบทว่า ยฺวายํ ภิกฺขุ ตัดบทเป็น โย อยํ ภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุนี้ใด.
               ข้อว่า สมคฺเคน สงฺเฆน ฯเปฯ อุปสมฺปนฺโน มีความว่า บรรดาอุปสัมปทา ๘ ผู้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรมเท่านั้น.
               ข้อว่า อยํ อิมสฺมึ อตฺเถ อธิปฺเปโต ภิกฺขุ มีความว่า ภิกษุนี้ประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในอรรถว่า เสพเมถุนธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้พ่ายแพ้ นี้.
               ส่วนภิกขุศัพท์นอกนี้มีว่า ภิกฺขโก เป็นต้น ตรัสด้วยอำนาจการขยายความ. และในคำว่า ภิกฺขโก เป็นต้นนั้น ศัพท์มีอาทิว่า ผู้ขอ ตรัสด้วยอำนาจภาษา. สองบทนี้ว่า เป็นภิกษุโดยสมัญญา เป็นภิกษุโดยความปฏิญญา ตรัสด้วยอำนาจการร้องเรียก.
               บทว่า เอหิภิกฺขุ ตรัสด้วยอำนาจวิธีอุปสมบทที่กุลบุตรได้แล้ว โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นอุปัชฌายะ. สรณคมนภิกฺขุ ตรัสด้วยอำนาจผู้อุปสมบทแล้ว ในเมื่อกรรมวาจายังไม่เกิดขึ้น. ศัพท์เป็นต้นว่า ผู้เจริญ พึงทราบว่า ตรัสด้วยอำนาจคุณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงจำแนกบทนี้ว่า ภิกฺขูนํ ไว้ในบัดนี้เลย เพราะไม่มีใจความที่แปลก เมื่อจะทรงแสดงสิกขาและสาชีพ เพราะเป็นเหตุให้ภิกษุถึงพร้อมแล้ว จึงเป็นผู้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสว่า สิกฺขา เป็นต้น.
               ในคำว่า สิกฺขา เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ที่ชื่อว่า สิกฺขา เพราะอรรถว่า อันกุลบุตรพึงศึกษา.
               บทว่า ติสฺโส เป็นสังขยากำหนดการคำนวณ.
               บทว่า อธิสีลสิกฺขา มีอรรถวิเคราะห์ว่า ศีลยิ่งคือสูงสุด เหตุนั้นจึงชื่อว่า อธิศีล. อธิศีลนั้นด้วย เป็นสิกขาเพราะอันกุลบุตรพึงศึกษาด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า อธิศีลสิกขา.
               ในอธิจิตสิกขาและอธิปัญญาสิกขาก็นัยนั้น.

               [อรรถาธิบายอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา]               
               ถามว่า ก็ในอธิการนี้ ศีลเป็นไฉน? อธิศีลเป็นไฉน? จิตเป็นไฉน? อธิจิตเป็นไฉน? ปัญญาเป็นไฉน? อธิปัญญาเป็นไฉน?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               ศีลมีองค์ ๕ และองค์ ๑๐ ชื่อว่าศีลเท่านั้นก่อน.
               จริงอยู่ ศีลนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วก็ตาม ยังมิได้อุบัติขึ้นก็ตาม เป็นไปอยู่ในโลก. เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี ย่อมชักชวนมหาชนให้สมาทานในศีลนั้น.
               เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้า สมณพราหมณ์ พวกกรรมวาทีประพฤติชอบธรรม พระเจ้าจักรพรรดิมหาราช และพระมหาโพธิสัตว์ ย่อมชักชวนมหาชนให้สมาทาน (ในศีลนั้น).
               พวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็สมาทาน (ศีลนั้น) แม้ด้วยตนเอง. สมณพราหมณ์เป็นต้นเหล่านั้น ครั้นบำเพ็ญกุศลธรรมนั้นให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเสวยสมบัติในหมู่ทวยเทพและในหมู่มนุษย์.
               ส่วนปาฏิโมกขสังวรศีล ท่านเรียกว่า อธิศีล.
               จริงอยู่ ปาฏิโมกขสังวรศีลนั้นเป็นศีลที่ยิ่งและสูงสุดกว่าบรรดาโลกิยศีลทั้งหมด ดุจพระอาทิตย์ยิ่งกว่าแสงสว่างทั้งหลาย ดุจภูเขาสิเนรุสูงกว่าบรรพตทั้งหลายฉะนั้น ย่อมเป็นไปได้เฉพาะในพุทธุปบาทกาลเท่านั้น นอกพุทธุปบาทกาลหาเป็นไปไม่. ด้วยว่า สัตว์อื่นไม่สามารถยกบัญญัตินั้นขึ้นตั้งไว้ได้.
               ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นทรงตัดกระแสทางแห่งความประพฤติเสียหายทางกายทวารและวจีทวารได้เด็ดขาด โดยประการทั้งปวงแล้ว จึงทรงบัญญัติศีลสังวรนั้นไว้ อันสมควรแก่ความล่วงละเมิดนั้นๆ.
               อนึ่ง ศีลที่สัมปยุตด้วยมรรคและผลเท่านั้น ชื่อว่าศีลที่ยิ่ง แม้กว่าปาฏิโมกขสังวร. แต่ศีลที่สัมปยุตด้วยมรรคและผลนั้น ท่านมิได้ประสงค์เอาในอธิการนี้. เพราะว่าภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนั้น หาเสพเมถุนธรรมไม่. กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงและสมาบัติจิต ๘ ดวง ฝ่ายโลกีย์ร่วมเข้าเป็นอันเดียวกัน พึงทราบว่า จิตเท่านั้น. และในกาลที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น จิตนั้นก็เป็นไปอยู่ การชักชวนและการสมาทาน ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในศีลนั่นแล.
               ส่วนสมาบัติจิต ๘ ดวงที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ท่านเรียกว่า อธิจิต.
               จริงอยู่ อัฏฐสมาบัติจิตนั้นเป็นจิตที่ยิ่งและสูงสุดกว่าโลกิยจิตทั้งหมด ดุจอธิศีลยิ่งกว่าบรรดาศีลทั้งหลายฉะนั้น และมีอยู่เฉพาะในพุทธุปบาทกาลเท่านั้น นอกพุทธุปบาทกาล หามีไม่.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตที่สัมปยุตด้วยมรรคและผลนั้น ท่านมิได้ประสงค์เอาในอธิการนี้. เพราะว่า ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยจิตนั้น หาเสพเมถุนธรรมไม่.
               อนึ่ง กัมมัสสกตาญาณ (ญาณรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน) ซึ่งเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ผลทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลบูชาที่บูชาแล้วมีอยู่ ชื่อว่าปัญญา.
               จริงอยู่ ปัญญานั้น เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วก็ตาม มิได้อุบัติขึ้นก็ตาม เป็นไปอยู่ในโลก. เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี ย่อมชักชวนมหาชนให้สมาทานในปัญญานั้น.
               เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้า สมณพราหมณ์ พวกกรรมวาทีประพฤติชอบธรรม พระเจ้าจักรพรรดิมหาราชและพระมหาโพธิสัตว์ ย่อมชักชวนมหาชนให้สมาทาน (ในปัญญานั้น). สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตก็สมาทาน แม้ด้วยตนเอง.
               จริงอย่างนั้น อังกุรเทพบุตรได้ถวายมหาทานสิ้นหมื่นปี. เวลามพราหมณ์ พระเวสสันดรและมนุษย์บัณฑิตเหล่าอื่นมากมาย ก็ได้ถวายมหาทานแล้ว. เวลามพราหมณ์เป็นต้นเหล่านั้น ครั้งบำเพ็ญกุศลธรรมนั้นให้บริบูรณ์แล้ว ก็ได้เสวยสมบัติในหมู่ทวยเทพและในหมู่มนุษย์.
               ส่วนวิปัสสนาญาณที่เป็นเครื่องกำหนดอาการคือไตรลักษณ์ ท่านเรียกว่า อธิปัญญา.
               จริงอยู่ อธิปัญญานั้นเป็นปัญญาที่ยิ่งและสูงสุดกว่าบรรดาโลกิยปัญญาทั้งหมด ดุจอธิศีลและอธิจิตยิ่งและสูงสุดกว่าบรรดาศีลและจิตทั้งหลาย ฉะนั้น นอกพุทธุปบาทกาลหาเป็นไปในโลกไม่. ก็ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคและผลนั่นแล เป็นปัญญาที่ยิ่งแม้กว่าวิปัสสนาญาณนั้น. แต่ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคและผลนั้น ท่านมิได้ประสงค์เอาในอธิการนี้. เพราะว่า ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญานั้น หาเสพเมถุนธรรมไม่ ฉะนี้แล.
               บทว่า ตตฺร คือบรรดาสิกขาทั้ง ๓ เหล่านั้น.
               หลายบทว่า ยา อยํ อธิสีลสิกฺขา ได้แก่ อธิสีลสิกขานี้ใด กล่าวคือปาฏิโมกขศีล.

               [อรรถาธิบายบทว่าสิกขาและสาชีพ]               
               สองบทว่า เอตํ สาชีวนฺนาม มีความว่า สิกขาบทนั้นแม้ทั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในพระวินัย นี่เรียกว่า สาชีพ เพราะเหตุว่า เป็นที่เป็นอยู่ร่วมกัน คือเป็นอยู่อย่างเดียวกัน เป็นอยู่ถูกส่วนกัน ประพฤติถูกส่วนกัน แห่งภิกษุทั้งหลายผู้ต่างกันโดยชนิดมีประเทศชาติและโคตรต่างๆ กันเป็นต้น.
               สองบทว่า ตสฺมึ สิกฺขติ มีความว่า ภิกษุทำสิกขาบทนั้นให้เป็นที่พำนักแห่งจิตแล้ว สำเหนียกพิจารณาด้วยจิตว่า เราศึกษาสมควรแก่สิกขาบทหรือไม่หนอ? ก็ภิกษุนี้จะชื่อว่าศึกษาอยู่ในสิกขาบท กล่าวคือสาชีพนั้นอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในสิกขาก็ชื่อว่าศึกษาด้วย.
               ส่วนสองบทว่า ตสฺมึ สิกฺขติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจบทที่เรียงเป็นลำดับกันว่า เอตํ สาชีวนฺนาม นี้.
               บทว่า ตสฺมึ สิกฺขติ นั้น พระองค์ตรัสอย่างนั้น ก็จริงแล, แต่ทว่า เนื้อความในบทว่า ตสฺมึ สิกฺขติ นี้ พึงเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อยังสิกขาให้บริบูรณ์ ชื่อว่าศึกษาอยู่ในสิกขานั้น และเมื่อไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศึกษาอยู่ในสิกขาบทนั้น.
               ถึงบทว่า เตน วุจฺจติ สาชีวสมาปนฺโน นี้ ก็ตรัสด้วยอำนาจแห่งบทว่าสาชีพ ซึ่งเป็นลำดับเหมือนกัน. ภิกษุนั้นแม้ถึงพร้อมซึ่งสิกขา เพราะเหตุใด, เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยความประสงค์ว่า ถึงพร้อมด้วยสิกขาบ้าง ด้วยว่า เมื่อมีความประสงค์อย่างนั้น.
               บทภาชนะแห่งบทว่า สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน นี้ เป็นอันบริบูรณ์.
               สิกฺขาสาชีวปทภาชนียํ นิฏฺฐิตํ ฯ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค ปฐมปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 23อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 25อ่านอรรถกถา 1 / 30อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=782&Z=802
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=5920
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=5920
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :