ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 176อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 180อ่านอรรถกถา 1 / 187อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท
อนุบัญญัติ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ และสิกขาบทวิภังค์


               [ภิกษุฉัพพัคคีย์พรรณนาคุณแห่งความตาย]               
               ครั้งเมื่อตติยปาราชิก อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติทำให้มั่นด้วยอำนาจแห่งความขาดมูล ด้วยประการฉะนี้แล้ว เรื่องพรรณนาคุณแห่งความตายแม้อื่นอีกก็ได้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่อนุบัญญัติ. เมื่อแสดงความเกิดขึ้นแห่งเรื่องนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า เอวญฺจิทํ ภควตา เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺตา มีความว่า ผู้มีจิตรักใคร่ด้วยฉันทราคะ. อธิบายว่า เป็นผู้มีความรักมาก คือมีความเพ่งเล็ง.
               สองบทว่า มรณวณฺณํ สํวณฺเณม มีความว่า เราจะชี้โทษในความเป็นอยู่ แล้วพรรณนาคุณ คือแสดงอานิสงส์แห่งความตาย.
               ในบทว่า กตกลฺยาโณ เป็นอาทิ มีเนื้อความเฉพาะบทดังต่อไปนี้ :-
               กรรมอันงาม คือสะอาดอันท่านทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีกรรมงามอันทำแล้วแล.
               อนึ่ง กุศลคือกรรมอันหาโทษมิได้ อันท่านทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้มีกุศลอันทำแล้ว. ความเป็นผู้ขลาดกล่าวคือความกลัวอันใดย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมรณกาลมาถึงเข้า, เครื่องต้านทานคือกรรมเครื่องป้องกันจากความเป็นผู้ขลาดนั้นอันท่านทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้มีเครื่องต้านทานจากความเป็นผู้ขลาดอันกระทำแล้ว.
               กรรมที่เป็นบาป คือลามกอันท่านมิได้ทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้ไม่ได้ทำบาป. กรรมของผู้ละโมบ คือกรรมทารุณ ได้แก่กรรมเครื่องเป็นผู้ทุศีลอันท่านมิได้ทำไว้ เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้มิได้ทำกรรมของผู้ละโมบ. กรรมหยาบช้า คือกรรมเลวทรามเป็นที่หนาขึ้นแห่งกิเลสมีโลภะเป็นต้นอันท่านมิได้ทำไว้ เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่า ผู้มิได้ทำกรรมที่หยาบช้า.
               คำว่า ท่านมีกรรมงามได้ทำแล้ว เป็นต้นนี้ เราทั้งหลายย่อมกล่าว เพราะเหตุไร? เพราะกรรมงามแม้ทุกประการอันท่านทำแล้ว กรรมอันเป็นบาปแม้ทุกประการอันท่านมิได้ทำแล้ว เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านว่าจะประโยชน์อะไรของท่าน ด้วยชีวิตอันชื่อว่าเลวทรามคือต่ำช้าเพราะถูกโรคครอบงำ อันชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะมากไปด้วยทุกข์นี้, ความตายของท่านประเสริญกว่าความเป็นอยู่.
               เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า ความตายของท่าน ดีกว่าความเป็นอยู่. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ทำกาละแล้วคือมีกาละอันทำแล้ว.
               อธิบายว่า ทำกาลกิริยา คือตายแล้วจากโลกนี้ ต่อจากตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ และท่านเข้าถึงแล้วอย่างนั้น จักเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ คือส่วนแห่งวัตถุกาม ๕ มีรูปเป็นที่น่าชอบใจเป็นต้นอันเป็นทิพย์ซึ่งเกิดขึ้นในเทวโลกนั้น ยังอัตภาพให้เที่ยวไป.
               อธิบายว่า จักเป็นผู้ประกอบพร้อม คือถึงความพรั่งพร้อม (ด้วยกามคุณ ๕ คือส่วนแห่งวัตถุกาม ๕ อันเป็นทิพย์ซึ่งเกิดขึ้นในเทวโลกนั้น) จักเที่ยวไปข้างนี้และข้างนี้ คือจักอยู่ หรือจักอภิรมย์
               บทว่า อสปฺปายานิ ความว่า โภชนาหารเหล่าใดยังตนให้ถึงความสิ้นไปแห่งชีวิตอย่างเร็วพลัน โภชนาหารเหล่านั้นจัดว่าไม่เกื้อกูล คือไม่ทำความเจริญให้.

               [อธิบายสัญจิจจศัพท์]               
               ศัพท์ว่า สญฺจิจฺจ นี้ เป็นศัพท์หนุนสัญจิจจบท ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในมาติกาว่า สญฺจิจฺจ มนุสฺสวิคฺคหํ ศัพท์ว่า สํ ในบทว่า สญฺจิจฺจ นั้นเป็นอุปสรรค. คำว่า สญฺจิจฺจ นี้ เป็นคำบ่งถึงบุพกาลกิริยา รวมกับ สํ อุปสรรคนั้น.
               ใจความแห่งบทว่า สญฺจิจฺจ นั้นว่า จงใจ คือแกล้ง. ก็ภิกษุใดแกล้งปลง, ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้อยู่ คือรู้พร้อมอยู่, และการปลงนั้นของภิกษุนั้น เป็นความแกล้ง คือฝ่าฝืนละเมิด.
               เพราะเหตุนั้น เพื่อจะไม่ทำความเอื้อเฟื้อในพยัญชนะ แสดงแต่ใจความเท่านั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวบทภาชนะแห่งบทว่า สญฺจิจฺจ นั้น อย่างนี้ว่า รู้อยู่ รู้พร้อมอยู่ แกล้งคือฝ่าฝืนละเมิด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานนฺโต คือ รู้อยู่ว่า สัตว์มีปราณ.
               บทว่า สญฺชานนฺโต คือ รู้พร้อมอยู่ว่า เราจะปลงเสียจากชีวิต. อธิบายว่า รู้อยู่พร้อมกับอาการที่รู้ว่า สัตว์มีปราณนั้นนั่นเอง.
               บทว่า เจจฺจ ความว่า จงใจ คือ ปักใจ ด้วยอำนาจเจตนาจะฆ่า
               บทว่า อภิวิตริตฺวา ความว่า ส่งจิตที่หมดความระแวงสงสัยไปย่ำยีด้วยอำนาจความพยาบาท.
               ด้วยบทว่า วีติกฺกโม มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความล่วงละเมิดแห่งจิตหรือบุคคลซึ่งเป็นไปแล้วอย่างนั้น นี้เป็นความอธิบายสุดยอดแห่งสัญจิจจศัพท์.

               [อธิบายปฐมจิตของมนุษย์ผู้เริ่มลงสู่ครรภ์]               
               บัดนี้ ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวคำเป็นต้นว่า ชื่อว่ากายมนุษย์ เพื่อจะแสดงอัตภาพของมนุษย์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคำว่า ปลงกายมนุษย์เสียจากความเป็นอยู่ นี้ตั้งแต่แรก.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า (ปฐมจิต) อันใด (เกิดขึ้นแล้ว) ในท้องแห่งมารดา ท่านพระอุบาลีเถระกล่าว เพื่อแสดงอัตภาพอันละเอียดที่สุดด้วยอำนาจแห่งเหล่าสัตว์ผู้นอนในครรภ์. ปฏิสนธิจิต ชื่อจิตดวงแรก.
               บทว่า ผุดขึ้น ได้แก่เกิด.
               คำว่า วิญญาณดวงแรก มีปรากฏ นี้เป็นคำไขของคำว่า จิตดวงแรกที่ผุดขึ้น นั้นนั่นแหละ.
               บรรดาคำเหล่านี้ ด้วยคำว่า จิตดวงแรก (ที่ผุดขึ้น) ในท้องมารดา นั่นแหละ เป็นอันท่านแสดงปฏิสนธิของสัตว์ผู้มีขันธ์ ๕ แม้ทั้งสิ้น. เพราะเหตุนั้น กายมนุษย์อันเป็นทีแรกที่สุดนี้ คือ จิตดวงแรกนั้น ๑ อรูปขันธ์ ๓ ที่เกี่ยวเกาะด้วยจิตนั้น ๑ กลลรูปที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ๑
               บรรดาอรูปขันธ์ และกลลรูปแห่งจิตดวงแรกนั้น รูป ๓๐ ถ้วนด้วยอำนาจแห่งกาย ๑๐ วัตถุ ๑๐ และภาวะ ๑๐ แห่งสตรีและบุรุษรูป ๒๐ ด้วยอำนาจแห่งกาย ๑๐ และวัตถุ ๑๐ แห่งพวกกะเทย ชื่อว่ากลลรูป. บรรดาสตรี บุรุษและกะเทยนั้น กลลรูปของสตรีและบุรุษ มีขนาดเท่าหยาดน้ำมันงาที่ช้อนขึ้นด้วยปลายข้างหนึ่ง แห่งขนแกะแรกเกิด เป็นของใสกระจ่าง.
               จริงอยู่ ในอรรถกถาท่านกล่าวคำนี้ว่า
                         หยาดน้ำมันงา หรือสัปปิใส ไม่ขุ่น
                         มัว ฉันใด, รูปมีส่วนเปรียบด้วยสี ฉันนั้น
                         เรียกว่ากลลรูป.
               อัตภาพของสัตว์มีอายุ ๑๒๐ ปีตามปกติ ที่ถึงความเติบโตโดยลำดับในระหว่างนี้ คือตั้งต้นแต่เป็นวัตถุเล็กนิดอย่างนั้น จนถึงเวลาตาย นี้ ชื่อว่ากายมนุษย์.
               สองบทว่า ปลงเสียจากชีวิต ความว่า พึงพรากเสียจากชีวิตด้วยการนาบและรีด หรือด้วยการวางยา ในกาลที่ยังเป็นกลละก็ดี หรือด้วยความพยายามที่เหมาะแก่รูปนั้นๆ ในกาลถัดจากเป็นกลละนั้นไปก็ดี. ก็ขึ้นชื่อว่าปลงเสียจากชีวิต โดยความก็คือการเข้าไปตัดอินทรีย์ คือชีวิตเสียนั่นเอง.
               เพราะฉะนั้น ในวาระจำแนกบทแห่งสองบทว่า ปลงเสียจากชีวิต นั้น ท่าน (พระอุบาลี) จึงกล่าวว่า เข้าไปตัด คือเข้าไปบั่นอินทรีย์ คือชีวิตเสีย
               (ไขความว่า!) ทำความสืบต่อให้ขาดสาย. เมื่อเข้าไปตัด และเข้าไปบั่นความสืบต่อเชื้อสาย แห่งอินทรีย์คือชีวิตเสีย ท่านกล่าวว่า ย่อมเข้าไปตัด เข้าไปบั่นอินทรีย์ คือชีวิตเสีย ในบทภาชนะนั้น.
               เนื้อความนี้นั้น ท่านแสดงด้วยบทว่า ทำความสืบต่อให้ขาดสาย.
               บทว่า ให้ขาดสาย คือพรากเสีย.
               ในบทว่า อินทรีย์ คือชีวิตนั้น อินทรีย์คือชีวิตมี ๒ อย่าง คือรูปชีวิตินทรีย์ ๑ อรูปชีวิตินทรีย์ ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น ในอรูปชีวิตินทรีย์ ไม่มีความพยายาม ใครๆ ไม่สามารถปลงอรูปชีวิตินทรีย์นั้นได้. แต่ในรูปชีวิตินทรีย์ มี, บุคคลอาจปลงได้ ก็เมื่อปลงรูปชีวิตินทรีย์นั้น ชื่อว่าปลงอรูปชีวิตินทรีย์ด้วย.
               จริงอยู่ อรูปชีวิตินทรีย์นั้นย่อมดับพร้อมกับรูปชีวิตินทรีย์นั้นนั่นเอง เพราะมีพฤติการณ์เนื่องด้วยรูปชีวิตินทรีย์นั้น.
               ถามว่า ก็เมื่อปลงชีวิตินทรีย์นั้นย่อมปลงที่เป็นอดีต หรือเป็นอนาคต หรือปัจจุบัน?
               ตอบว่า ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต.
               ก็ในชีวิตินทรีย์ ๒ ประการนั้น ประการหนึ่งดับไปแล้ว ประการหนึ่งยังไม่เกิดขึ้น. เพราะฉะนั้น ชื่อว่าไม่มีทั้ง ๒ ประการ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มี, ความพยายามจึงไม่มี เพราะความพยายามไม่มี จึงไม่อาจปลงได้ แม้ประการหนึ่ง.
               จริงอยู่ แม้คำนี้ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้ว่า๑-
               สัตว์เป็นอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เป็นอดีต ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่, จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่, กำลังเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมเป็นอยู่ในขณะจิตใด ความพยายามเป็นของสมควรในขณะจิตนั้น; เพราะเหตุนั้น บุคคลชื่อว่าย่อมปลงชีวิตินทรีย์ที่เป็นปัจจุบัน.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๔๙/หน้า ๔๘.

               [ชีวิตินทรีย์ปัจจุบันมี ๓ ขณะ]               
               ก็ขึ้นชื่อว่า ชีวิตินทรีย์ที่เป็นปัจจุบันนี้ มี ๓ อย่าง คือขณปัจจุบัน ๑ สันตติปัจจุบัน ๑ อัทธาปัจจุบัน ๑.
               ใน ๓ อย่างนั้น ปัจจุบันที่พร้อมเพรียงด้วยความเกิด ความเสื่อมและความสลาย ชื่อขณปัจจุบัน, ใครๆ ไม่สามารถจะปลงขณะปัจจุบันนั้นได้. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ดับไปเองทีเดียว.
               (ขณะจิต) ชั่ว ๗-๘ ชวนวาระที่เป็นไปด้วยอำนาจสภาคสันตติแล้วดับไป ชื่อสันตติปัจจุบัน.
               เมื่อบุคคลมาจากที่ร้อน เข้าสู่ห้องน้อยแล้วนั่ง อันธการยังมีเพียงใด หรือว่าเมื่อบุคคลมาจากที่เย็น นั่งในห้องน้อย ฤดูที่มีอยู่ก่อนยังไม่ระงับไปด้วยความปรากฏแห่งฤดูที่เป็นวิสภาคกันเพียงใด, ในระหว่างนี้ ท่านเรียกว่าสันตติปัจจุบันเพียงนั้น.
               ส่วนตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงจุติ นี้ชื่อว่าอัทธาปัจจุบัน.
               บุคคลอาจปลงหมวดสองแห่งชีวิตินทรีย์ที่เป็นสันตติปัจจุบัน และอัทธาปัจจุบันนั้นได้บ้าง.
               ถามว่า อาจปลง ได้อย่างไร?
               แก้ว่า จริงอยู่ เมื่อบุคคลทำความพยายามในหมวด ๒ แห่งสันตติปัจจุบัน และอัทธาปัจจุบันนั้น, หมวดแห่งรูป ๑๐ ประการซึ่งกำหนดด้วยชีวิต ได้ความพยายามแล้วเมื่อดับ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสันดานที่ทุรพล มีกำลังเสื่อมสิ้นไปแล้ว, ต่อจากนั้น สันตติปัจจุบันหรืออัทธาปัจจุบัน ยังไม่ทันถึงกาลที่กำหนดไว้ ย่อมดับไปในระหว่างเทียว ด้วยประการใด, บุคคลอาจปลงแม้ซึ่งหมวดสองแห่งชีวิตินทรีย์ที่เป็นสันตติปัจจุบันและอัทธาปัจจุบันนั้นได้บ้าง ด้วยประการนั้น. เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐานว่า คำว่า ทำความสืบต่อให้ขาดสาย นี้ ท่านกล่าวหมายเอาหมวดสองปัจจุบันนั่นเอง.
               ก็แล เพื่อประกาศเนื้อความนี้ ควรทราบปาณะ, ควรทราบปาณาติบาต, ควรทราบปาณาติปาตี, ควรทราบประโยคแห่งปาณาติบาต.
               บรรดาปาณะเป็นต้นเหล่านั้น ที่ชื่อว่าปาณะ โดยโวหารได้แก่สัตว์, โดยปรมัตถ์ ได้แก่ชีวิตินทรีย์.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ยังชีวิตินทรีย์ให้ตกล่วงไป ท่านกล่าวว่า ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป. ชีวิตินทรีย์นั้นมีประการดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               ปาณาติบาตินั้น คือบุคคลยังประโยคอันเข้าไปตัดเสียซึ่งชีวิตินทรีย์ ให้ตั้งขึ้นด้วยเจตนาใด เจตนานั้นชื่อว่าวธกเจตนา ท่านเรียกว่า ปาณาติบาต (เจตนาธรรมเป็นเหตุล้างผลาญชีวิตสัตว์มีปราณ). บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว พึงเห็นว่า ผู้ล้างผลาญสัตว์มีปราณ.

               [ประโยคแห่งการฆ่า ๖ อย่าง]               
               ที่ชื่อว่า ประโยคแห่งปาณาติบาตนั้น ได้แก่ ประโยคแห่งปาณาติบาต ๖ อย่าง คือ สาหัตถิกประโยค ๑ อาณัตติกประโยค ๑ นิสสัคคิยประโยค ๑ ถาวรประโยค ๑ วิชชามยประโยค ๑ อิทธิมยประโยค ๑.
               บรรดาประโยคเหล่านั้น การประหารด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกาย แห่งบุคคลผู้ฆ่าให้ตายเอง ชื่อว่าสาหัตถิกประโยค. การสั่งบังคับว่า ท่านจงแทงหรือประหารให้ตาย ด้วยวิธีอย่างนี้ ของบุคคลผู้ใช้คนอื่น ชื่อว่าอาณัติติกประโยค.
               การซัดเครื่องประหารมีลูกศร หอกยนต์และหินเป็นต้นไปด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกาย แห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ไกล ชื่อว่านิสสัคคิยประโยค.
               การขุดหลุมพรางวางกระดานหก วาง (เครื่องประหาร) ไว้ใกล้ และการจัดยา (พิษ) แห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าด้วยเครื่องมืออันไม่เคลื่อนที่ ชื่อว่าถาวรประโยค.
               ประโยคแม้ทั้ง ๔ นั้นจักมีแจ้งโดยพิสดารในอรรถกถาแห่งบาลีข้างหน้านั่นแล. ส่วนวิชชามยประโยคและอิทธิมยประโยคไม่ได้มาในบาลี.
               พึงทราบประโยคทั้ง ๒ นั้นอย่างนี้.
               ก็โดยสังเขป การร่ายมนต์เพื่อจะให้เขาตาย ชื่อว่าวิชชามยประโยค.
               แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านแสดงวิชชามยประโยคไว้อย่างนี้ว่า วิชชาประโยคเป็นไฉน?
               พวกหมออาถรรพณ์ ย่อมประกอบอาถรรพณ์ เมื่อเมืองถูกล้อมหรือเมื่อสงครามเข้าประชิดกันย่อมก่อความจัญไร ความอุบาทว์ โรค ความไข้ ให้เกิดขึ้นในพวกปัจจามิตรผู้เป็นข้าศึก ย่อมทำให้เป็นโรคจุกเสียด ให้เป็นโรคป่วง เพื่อจะป้องกัน, พวกหมออาถรรพณ์ย่อมประกอบอาถรรพณ์อย่างนี้ พวกทรงวิชาคุณ ร่ายเวทแล้ว เมื่อเมืองถูกล้อมหรือ ฯลฯ ย่อมทำให้เป็นโรคป่วง ดังนี้แล้ว กล่าวเรื่องเป็นอันมากของคนทั้งหลายที่ถูกพวกหมออาถรรพณ์ และพวกทรงวิชาคุณฆ่าเสีย จะมีประโยชน์อะไรด้วยเรื่องเหล่านั้น.
               ก็ลักษณะในวิชชามยประโยคนี้ มีดังนี้ :-
               คือการร่ายมนต์เพื่อจะให้เขาตาย ชื่อว่าวิชชามยประโยค.
               การประกอบฤทธิ์อันเกิดแต่ผลแห่งกรรม ชื่อว่าอิทธิมยประโยค.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าฤทธิ์อันเกิดแต่ผลแห่งกรรมนี้มีมากอย่างเป็นต้นว่า ฤทธิ์นาคของพวกนาค ฤทธิ์สุบรรณของพวกสุบรรณ ฤทธิ์ยักษ์ของพวกยักษ์ เทวฤทธิ์ของพวกเทพ ราชฤทธิ์ของพวกพระราชา. บรรดาฤทธิ์นาคเป็นต้นนั้น พึงทราบฤทธิ์นาคของพวกนาค ซึ่งมีพิษในขณะเห็น ขบกัดและถูกต้อง ขณะทำการเบียดเบียนสัตว์อื่น เพราะเห็น ขบกัดถูกต้อง พึงทราบฤทธิ์สุบรรณของพวกสุบรรณ ในการฉุดนาคยาวประมาณ ๑๓๒ วาขึ้นจากมหาสมุทร.
               ส่วนพวกยักษ์เมื่อมาไม่ปรากฏ เมื่อประหารก็ไม่ปรากฏ, แต่สัตว์ที่พวกยักษ์เหล่านั้นประหารแล้วย่อมตายในที่นั้นนั่นเอง, พึงทราบฤทธิ์ยักษ์ของพวกยักษ์เหล่านั้น ในเพราะเหตุนั้น พึงทราบเทวฤทธิ์ในเพราะความตายของพวกกุมภัณฑ์ ที่ท้าวเวสสุวรรณมองดูด้วยนัยนาวุธ ในกาลก่อน แต่กาลเป็นพระโสดาบัน และในเพราะฤทธานุภาพของตนๆ แห่งพวกเทวดาเหล่าอื่น.
               พึงทราบราชฤทธิ์ ในเพราะความเหาะไปได้ ในอากาศเป็นต้นของพระเจ้าจักรพรรดิพร้อมทั้งบริษัท ในเพราะความแผ่พระราชอำนาจไปเป็นต้น ในที่โยชน์หนึ่ง ทั้งเบื้องต่ำและเบื้องบนของพระเจ้าอโศก และในเพราะการฆ่าเสียซึ่งกุฎุมพีชื่อว่าจูฬสุมนะด้วยการตอกเขี้ยวแห่งจอมนระชาวสิงหลพระนามว่าปิตุราช ดังนี้แล.
               ส่วนพระอาจารย์บางพวกแสดงพระสูตรทั้งหลายเป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องอื่นยังมีอยู่อีก สมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้มีความชำนาญแห่งจิต ย่อมเป็นผู้เพ่งเล็งทารกที่อยู่ในท้องของหญิงอื่นด้วยใจอันลามกว่า ทำไฉนหนอ หญิงคนนี้ไม่พึงคลอดทารกที่อยู่ในท้องนั้นโดยความสวัสดี
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็เป็นการเบียดเบียนสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ ดังนี้ แล้วกล่าวถึงกรรม คือการเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้ด้วยภาวนามยฤทธิ์, และปรารถนาความพินาศไปแห่งฤทธิ์ พร้อมกับการเบียดเบียนสัตว์อื่นเหมือนการแตกแห่งหม้อน้ำ ที่เขาโยนขึ้นไปบนเรือนที่ถูกไฟไหม้ ฉะนั้น.
               คำที่กล่าวมานั้นเป็นแต่เพียงความปรารถนาของเกจิอาจารย์เหล่านั้นเท่านั้น.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะไม่สมด้วย กุสลัตติกะ เวทนัตติกะ วิตักกัตติกะและปริตตัตติกะ.
               ข้อนี้อย่างไร?
               ก็ชื่อว่าภาวนามยฤทธิ์นี้ในกุสลัตติกะ เป็นทั้งกุศลด้วย เป็นทั้งอัพยากฤตด้วย ปาณาติบาตเป็นอกุศล. ในเวทนัตติกะ สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขะ ปาณาติบาตสัมปยุตด้วยทุกข์. ในวิตักกัตติกะ เป็นอวิตักกอวิจาระ ปาณาติบาตเป็นสวิตักกสวิจาระ. ในปริตตัตติกะ เป็นมหัคคตะ ปาณาติบาตเป็นปริตตะ.

               [อธิบายวัตถุที่เป็นเครื่องประหาร]               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สตฺถหารกํ วาสฺส ปริเยเสยฺย นี้ดังต่อไปนี้ :-
               เครื่องประหารใดย่อมนำเสีย เหตุนั้น เครื่องประหารนั้นชื่อว่า สิ่งนำเสีย.
               ถามว่า นำเสียซึ่งอะไร? ตอบว่า นำเสียซึ่งชีวิต.
               อีกอย่างหนึ่ง เครื่องประหารใดอันบุคคลพึงนำไป เหตุนั้น เครื่องประหารนั้น ชื่อว่าสิ่งอันบุคคลพึงนำไป.
               อธิบายว่า เครื่องประหารอันบุคคลพึงจัดเตรียมไว้ ศัสตรานั้นด้วย เป็นสิ่งนำเสียด้วย. เหตุนั้น ชื่อศัสตราอันนำเสีย.
               บทว่า อสฺส ได้แก่ กายของมนุษย์.
               บทว่า ปริเยเสยฺย มีความว่า พึงทำโดยประการที่ตนจะได้.
               อธิบายว่า พึงจัดเตรียมไว้.
               ด้วยคำว่า สตฺถหารกํ สตฺถหารกํ วาสฺส ปริเยเสยฺย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถาวรประโยค. เมื่อจะถือเอาเนื้อความแม้โดยประการอื่นจากนี้แล้ว ภิกษุจะพึงเป็นปาราชิกด้วยเหตุสักว่า ศัสตราอันตนแสวงหามาแล้วเท่านั้น. อันที่จริง ข้อนั้นไม่ถูก แต่ในพระบาลี ท่านพระอุบาลีเถระไม่เอื้อเฟื้อพยัญชนะทั้งปวง เพื่อจะแสดงเฉพาะศัสตราที่สงเคราะห์เข้าในถาวรประโยค ในคำว่า สตฺถหารกํ นี้เท่านั้น จึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า อสึ วา ฯเปฯ รชฺชํ วา ดังนี้ บรรดาเครื่องประหารเหล่านั้น เครื่องประหารที่มีคมชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากที่กล่าวแล้ว พึงทราบว่าเป็นศัสตรา.
               และพึงทราบว่า สงเคราะห์ไม้ค้อน ก้อนหิน ยาพิษและเชือกเข้าเป็นศัสตราด้วย เพราะเป็นเครื่องผลาญชีวิตให้พินาศ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มรณวณฺณํ วา นี้ ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุแม้แสดงโทษในความเป็นอยู่ โดยนัยมีคำว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่อันชั่วช้าลามกเช่นนี้ ของท่านผู้ไม่ได้เพื่อบริโภคโภชนะอันดี ดังนี้เป็นต้น แม้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความตาย โดยนัยมีคำว่า อุบาสก ท่านแลเป็นผู้ทำกรรมงามไว้แล้ว ฯลฯ บาปท่านไม่ได้ทำเลย ความตายของท่านดีกว่า ความเป็นอยู่ ท่านทำกาละจากอัตภาพนี้แล้ว ฯลฯ จักยังตนให้เที่ยวไป คือจักมีนางอัปสรแวดล้อม ถึงความสุขอยู่ในสวนนันทวัน ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าพรรณนาคุณแห่งความตายทีเดียว.
               ฉะนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวบทภาชนะแยกออกเป็น ๒ ส่วนว่า ชี้โทษในความเป็นอยู่ ๑ สรรเสริญคุณในความตาย ๑.
               คำว่า มรณาย วา สมาทเปยฺย มีความว่า พึงแนะนำให้ฉวยเอาอุบาย เพื่อประโยชน์แก่ความตาย. ส่วนคำว่า ท่านจงตกบ่อตายหรือว่าจงตกเหวตาย เป็นต้น แม้ที่พระอุบาลีเถระมิได้กล่าวไว้ ในคำมีอาทิว่า สตฺถํ วา อาหร ดังนี้ทั้งหมด ก็พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้แล้วโดยใจความนั่นเอง เพราะเป็นคำซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วข้างหน้า.
               จริงอยู่ ใครๆ ก็ไม่สามารถกล่าวคำชักชวนทุกอย่างโดยสิ้นเชิงได้.
               บทว่า อิติ จิตฺตมโน มีความว่า เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้.
               อธิบายว่า เธอมีจิตหมายความตาย มีใจหมายความตายดังกล่าวแล้วในคำนี้ว่า ความตายของท่านดีกว่าความเป็นอยู่ ก็เพราะในบทว่า จิตฺตมโน นี้ มนศัพท์ ท่านกล่าวแล้วเพื่อแสดงใจความแห่งจิตตศัพท์ แต่จิตและใจ แม้ทั้ง ๒ นี้ โดยใจความก็เป็นอันเดียวกันนั่นเอง
               เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงความไม่ต่างกัน โดยใจความแห่งจิตและใจนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้นก็คือใจ, ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นก็คือจิต.
               ส่วนเนื้อความยังไม่ได้กล่าวก่อน แม้เพราะถอนอิติศัพท์ออกเสีย.
               อิติศัพท์ พึงชักมาด้วยอำนาจเป็นเจ้าหน้าที่ในบทว่า จิตฺตสงฺกปฺโป นี้.
               จริงอยู่ บทว่า จิตฺตสงฺกปฺโป นี้ แม้ไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า อิติจิตฺตสงฺกปฺโป ก็พึงทราบว่า เป็นอันตรัสแล้วโดยความเป็นเจ้าหน้าที่นั่นเอง.
               จริงอย่างนั้น เมื่อท่านจะแสดงเฉพาะเนื้อความนั้น แห่งบทว่า จิตฺตสงฺกปฺโป นั้น จึงกล่าวว่าคำว่า มรณสญฺญี (มีความหมายในอันตาย) เป็นอาทิ.
               แต่คำว่า สงฺกปฺโป นี้ ในบทว่า จิตฺตสงฺกปฺโป นั้น มิได้เป็นชื่อของวิตก อันที่แท้ คำนั่นเป็นคำเรียกกรรมเพียงการจัดแจง และการจัดแจงนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ด้วยความหมาย ความจงใจ และความประสงค์ในอรรถนี้ เพราะเหตุนั้น ผู้ศึกษาพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้มีจิตตสังกัปปะ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เธอมีความจัดแจงแปลก คือมีประการต่างๆ.
               จริงอย่างนั้น แม้บทภาชนะแห่งบทว่า จิตฺตสงฺกปฺโป นั้น ท่านพระอุบาลีเถระก็กล่าวด้วยอำนาจแห่งความหมาย ความจงใจและความประสงค์.
               แต่ในอธิการนี้ วิตก พึงทราบว่า เป็นความประสงค์.
               สองบทว่า อุจฺจาวเจหิ อากาเรหิ มีความว่า ด้วยอุบายทั้งหลายที่ใหญ่และใหญ่โดยลำดับ.
               บรรดาการพรรณนาคุณความตายและการชักชวนในความตายเหล่านั้น ในการพรรณนาคุณความตายก่อน อวจาการตา พึงทราบด้วยอำนาจการชี้โทษในความเป็นอยู่ อุจฺจาการตา พึงทราบด้วยอำนาจการสรรเสริญคุณแห่งความตาย.
               ส่วนในการชักชวน อุจฺจาการตา พึงทราบด้วยอำนาจการชักชวนในความตาย เพราะเหตุทั้งหลาย มีกำมือและปรบเข่าเป็นต้น อวจาการตา พึงทราบด้วยอำนาจการใส่ยาพิษเข้าในเล็บมือ ของบุคคลผู้บริโภคร่วมกัน แล้วชักชวนในความตายเป็นต้น.
               ในคำว่า โสพฺเภ วา นรเก วา ปปาเต วา นี้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บ่อที่ลึกซึ่งมีตลิ่งชันโดยรอบ ชื่อว่าโสพภะ. ที่ชื่อว่านรก ได้แก่ ซอกใหญ่ที่เกิดเองโดยแท้ ในเมื่อพื้นดินแตกระแหงในที่นั้นๆ อันเป็นที่ซึ่งช้างตกไปบ้าง พวกโจรแอบซ่อนอยู่บ้าง.
               ที่ชื่อว่าปปาตะ ได้แก่ ประเทศที่ขาดแหว่งข้างเดียว ในระหว่างภูเขาหรือในระหว่างบนบก.
               สองบทว่า ปุริเม อุปาทาย ความว่า ทรงเทียบเคียงบุคคลผู้เสพเมถุนธรรมและผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ แล้วต้องอาบัติปาราชิก.
               คำที่เหลือปรากฏชัดแล้วแล เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในก่อน และเพราะมีเนื้อความตื้นฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท อนุบัญญัติ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ และสิกขาบทวิภังค์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 176อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 180อ่านอรรถกถา 1 / 187อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=7558&Z=7672
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=11167
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=11167
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :