ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 90อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 1 / 122อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
อาณัตติกประโยค

               กถาว่าด้วยการสั่ง               
               บัดนี้ เพื่อความไม่ฉงนในสังเกตกรรม และนิมิตกรรมเหล่านี้นั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกฺขุ อาณาเปติ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า โส ตํ มญฺญมาโน ความว่า ภิกษุผู้ลักนั้นเข้าใจทรัพย์ที่ภิกษุผู้สั่ง บอกทำนิมิตเครื่องหมายไว้ว่า เป็นทรัพย์นั่น จึงลักทรัพย์นั้นนั่นแล, เป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป.
               หลายบทว่า โส ตํ มญฺญมาโนอญฺญํ ความว่า ภิกษุผู้ลักนั้นเข้าใจทรัพย์ที่ภิกษุผู้สั่งๆ ให้ลัก ว่า เป็นทรัพย์นั่น แต่ลักทรัพย์อื่นที่เขาเก็บไว้ในที่นั้นนั่นแล, ภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุ ไม่เป็นอาบัติ.
               หลายบทว่า อญฺญํ มญฺญมาโน ตํ ความว่า ภิกษุผู้ลักเข้าใจทรัพย์อื่นที่ภิกษุผู้สั่ง ทำนิมิตเครื่องหมายบอกไว้อย่างนี้ว่า ทรัพย์นี้มีราคาน้อย, แต่ทรัพย์อย่างอื่น ที่เขาเก็บไว้ในที่ใกล้ทรัพย์นั้นนั่นเอง เป็นทรัพย์ที่มีคุณค่าดังนี้ จึงลักทรัพย์นั้นนั่นเอง เป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป.
               หลายบทว่า อญฺญํ มญฺญมาโนอญฺญํ ความว่า ภิกษุผู้ลักนั้นย่อมเข้าใจโดยนัยก่อนนั่นแลว่า ทรัพย์อย่างอื่นนี้. ที่เขาเก็บไว้ในที่ใกล้ทรัพย์นั้นนั่นเอง เป็นทรัพย์ที่มีคุณค่า ดังนี้, ถ้าทรัพย์ที่ลักมานั้นเป็นทรัพย์อย่างอื่นนั่นแล, เป็นปาราชิกแก่เธอผู้ลักเท่านั้น.
               ในคำว่า อิตฺถนฺนามสฺส ปาวท เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พึงเห็นอาจารย์รูปหนึ่ง อันเตวาสิก ๓ รูปมีชื่อว่าพุทธรักขิต ธรรมรักขิตและสังฆรักขิต.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า ภิกฺขุ ภิกฺขุํ อาณาเปติ ความว่า อาจารย์กำหนดทรัพย์บางอย่างในสถานที่บางแห่ง แล้วสั่งพระพุทธรักขิต เพื่อต้องการลักทรัพย์นั้น.
               สองบทว่า อิตฺถนฺนามสฺส ปาวท ความว่า (อาจารย์สั่งว่า) ดูก่อนพุทธรักขิต คุณจงไปบอกเนื้อความนั่นแก่พระธรรมรักขิต.
               หลายบทว่า อิตฺถนฺนาโม อิตฺถนฺนามสฺส ปาวทตุ ความว่า แม้พระธรรมรักขิตจงบอกแก่พระสังฆรักขิต.
               พระธรรมรักขิตถูกท่านสั่งอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงลักสิ่งของชื่อนี้ แล้วสั่งพระสังฆรักขิตว่า จงลักสิ่งของชื่อนี้ แท้จริงบรรดาเราทั้งสอง ท่านสังฆรักขิตเป็นคนมีชาติกล้าหาญสามารถในกรรมนี้.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า เป็นทุกกฏแก่อาจารย์ผู้สั่งอย่างนี้ก่อน. แต่ถ้าคำสั่งนั้นดำเนินไปตามความประสงค์ ถุลลัจจัยที่ท่านปรับไว้ข้างหน้านั่นแล ย่อมมีในขณะสั่ง, ถ้าสิ่งของนั้นจะต้องลักมาได้แน่นอน, ปาราชิกที่ตรัสไว้ข้างหน้าว่า ทุกรูปต้องปาราชิก ดังนี้ ย่อมมีแก่อาจารย์นี้ในขณะนั้นนั่นเอง เพราะดำรัสที่ตรัสไว้นั้น, ความยุกตินี้ บัณฑิตพึงทราบในที่ทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้.
               หลายบทว่า โส อิตรสฺส อาโรเจติ ความว่า ภิกษุผู้รับสั่งบอกว่า พระพุทธรักขิตบอกพระธรรมรักขิต และพระธรรมรักขิตบอกพระสังฆรักขิตว่า อาจารย์ของพวกเรากล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า คุณจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ได้ยินว่า บรรดาเราทั้ง ๒ ตัวท่านเป็นบุรุษผู้กล้าหาญ ดังนี้, เป็นทุกกฏแม้แก่เธอเหล่านั้น เพราะมีการบอกต่อกันไป ด้วยอาการอย่างนั้นเป็นปัจจัย.
               สองบทว่า อวหารโก ปฏิคฺคณฺหาติ ความว่า พระสังฆรักขิตรับว่า ดีละ ผมจักลัก.
               หลายบทว่า มูลฏฺฐสฺส อาปตฺติ ถุลฺลจฺจยสฺส ความว่า พอพระสังฆรักขิตรับคำสั่ง เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์, เพราะคนหลายคนถูกอาจารย์นั้นชักชวนแล้ว ในบาปแล.
               หลายบทว่า โส ตํ ภณฺฑํ ความว่า ถ้าภิกษุนั้นคือพระสังฆรักขิตลักสิ่งของนั้นมาได้ไซร้, เป็นปาราชิกทั้งหมด คือทั้ง ๔ คน, และหาเป็นปาราชิกแก่ ๔ คนอย่างเดียวไม่, สมณะตั้งร้อยหรือสมณะตั้งพันก็ตามที่สั่งโดยสืบต่อกันไป ไม่ทำให้ผิดการนัดหมาย โดยอุบายอย่างนี้ เป็นปาราชิกด้วยกันทั้งหมดทีเดียว.
               ในทุติยวาร พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               หลายบทว่า โส อญฺญํอาณาเปติ ความว่า ภิกษุนั้น คือพระพุทธรักขิตอันอาจารย์สั่งไว้แล้ว แต่ไม่พบพระธรรมรักขิต หรือเป็นผู้ไม่อยากจะบอก จึงเข้าไปหาพระสังฆรักขิตทีเดียว และสั่งว่า อาจารย์ของพวกเราสั่งไว้อย่างนี้ว่า ได้ยินว่า คุณจงลักสิ่งของชื่อนี้มา.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า พระพุทธรักขิต ชื่อว่าเป็นทุกกฏ เพราะสั่งก่อน.
               หลายบทว่า ปฏิคฺคณฺหาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า พึงทราบว่า เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเดิมทีเดียว ในเมื่อพระสังฆรักขิตรับแล้ว. ก็ถ้าพระสังฆรักขิตนั้นลักทรัพย์นั้นมาได้, เป็นปาราชิกแม้ทั้งสองรูป คือ พระพุทธรักขิตผู้สั่ง ๑ พระสังฆรักขิตผู้ลัก ๑. แต่สำหรับอาจารย์ผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเดิม ไม่เป็นอาบัติปาราชิก เพราะผิดสังเกต, ไม่เป็นอาบัติทุกอย่างแก่พระธรรมรักขิตเพราะไม่รู้. ส่วนพระพุทธรักขิตทำความสวัสดีแก่ท่านทั้งสองรูปแล้ว ตนเองพินาศ.
               บรรดาอาณัติวาร ทั้ง ๔ บทถัดจากทุติยวารนี้ไป พึงทราบวินิจฉัยในอาณัติวารข้อแรกก่อน.
               หลายบทว่า โส คนฺตวา ปุน ปจฺจาคจฺฉติ ความว่า ภิกษุผู้รับสั่งนั้นไปยังที่ทรัพย์ตั้งอยู่แล้ว เห็นมีการอารักขาไว้ทั้งภายในและภายนอก ไม่อาจลักเอาได้ จึงกลับมา.
               หลายบทว่า ยทา สกฺโกสิ ตทา ความว่า ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งใหม่ว่า ทรัพย์ที่ท่านลักมาแล้วในวันนี้เท่านั้นหรือ จึงเป็นอันลัก, ไปเถิดท่าน ท่านอาจจะลักมาได้เมื่อใด, ก็จงลักทรัพย์นั้นมาเมื่อนั้น.
               สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า แม้เพราะสั่งอีกอย่างนั้นก็เป็นทุกกฏเท่านั้น. แต่ถ้าทรัพย์นั้นย่อมเป็นของที่จะลักมาได้แน่นอน, ชื่อว่าเจตนาที่ให้สำเร็จประโยชน์ ก็เป็นเช่นกับผลที่เกิดในลำดับแห่งมรรค เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สั่งนี้เป็นปาราชิกในขณะสั่งทีเดียว. แม้ถ้าภิกษุผู้ลักจะลักทรัพย์นั้นมาได้ โดยล่วงไป ๖๐ ปี และภิกษุผู้สั่งจะทำกาลกิริยา หรือสึกไปเสียในระหว่างนั่นเอง จักเป็นผู้ไม่ใช่สมณะเลย ทำกาลกิริยา หรือจักสึกไป, แต่สำหรับภิกษุผู้ลักย่อมเป็นปาราชิกในขณะที่ลักนั่นเอง.
               ในทุติยวาร เพราะภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุพูดคำนั้นเบาๆ ไม่ได้ประกาศให้ได้ยิน หรือไม่ได้ประกาศให้ได้ยินคำสั่งนี้ว่า เธออย่าลัก เพราะเธอผู้เป็นต้นเหตุนั้น เป็นคนหูหนวก. ฉะนั้น ภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุ จึงไม่พ้น.
               ส่วนในตติยวารชื่อว่าพ้น เพราะท่านประกาศให้ได้ยิน.
               ในจตุตถวาร แม้ทั้งสองรูปพ้นได้ เพราะภิกษุผู้สั่งซึ่งเป็นต้นเหตุนั้นประกาศให้ได้ยิน และเพราะภิกษุผู้รับสั่งนอกนี้รับคำว่า ดีละ แล้วก็งดเว้นเสีย ด้วยประการฉะนี้.

               จบกถาว่าด้วยการสั่ง               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท อาณัตติกประโยค จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 90อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 1 / 122อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6582&Z=6610
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=9442
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=9442
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :