ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
โทษ ๑๐ อย่าง ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน
[๗๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นในมี ๑๐ อย่าง ๑๐ อย่าง อะไรบ้าง? ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในพระราชฐานชั้นในนี้ พระเจ้าแผ่นดินกำลังประทับอยู่ในตำหนัก ที่ผทมกับพระมเหสี ภิกษุเข้าไปในพระราชฐานชั้นในนั้น พระมเหสีเห็นภิกษุแล้วทรงยิ้มพราย ให้ปรากฏก็ดี ภิกษุเห็นพระมเหสีแล้วยิ้มพรายให้ปรากฏก็ดี ในข้อนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะทรงระแวง อย่างนี้ว่า คนทั้ง ๒ นี้รักใคร่กันแล้ว หรือจักรักใคร่กันเป็นแม่นมั่น นี้เป็นโทษข้อที่หนึ่ง ในการ เข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชกิจ มาก ทรงมีพระราชกรณียะมาก ทรงร่วมกับพระสนมคนใดคนหนึ่งแล้วทรงระลึกไม่ได้ พระสนม นั้นตั้งพระครรภ์เพราะเหตุที่ทรงร่วมนั้น ในเรื่องนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะทรงระแวงอย่างนี้ว่า ใน พระราชฐานชั้นในนี้ คนอื่นเข้ามาไม่ได้สักคน นอกจากบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำของ บรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่สองในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก รัตนะบางอย่างในพระราชฐาน ชั้นในหายไป ในเรื่องนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะทรงระแวงอย่างนี้ว่า ในพระราชฐานชั้นในนี้ คนอื่นสักคนก็เข้ามาไม่ได้ นอกจากบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำของบรรพชิต นี้เป็นโทษ ข้อที่สาม ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก ข้อราชการลับที่ปรึกษากันเป็น การภายในพระราชฐานชั้นในเปิดเผยออกมาภายนอก ในเรื่องนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะทรงระแวง อย่างนี้ว่า ในพระราชฐานชั้นในนี้ คนอื่นสักคนก็เข้ามาไม่ได้ นอกจากบรรพชิต ชะรอยจะเป็น การกระทำของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่สี่ ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก ในพระราชฐานชั้นใน พระราช- *โอรสปรารถนาจะปลงพระชนม์พระราชบิดา หรือพระราชบิดาปรารถนาจะปลงพระชนม์พระราชโอรส ทั้ง ๒ พระองค์นั้นจะทรงระแวงอย่างนี้ว่า ในพระราชฐานชั้นในนี้ ไม่มีใครคนอื่นจะเข้ามาได้ นอกจากบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่ห้า ในการเข้าสู่ พระราชฐานชั้นใน. ๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระเจ้าแผ่นดินทรงเลื่อน ข้าราชการผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งต่ำไว้ในฐานันดรอันสูง พวกชนที่ไม่พอใจการที่ทรงเลื่อนข้าราชการ ผู้นั้นขึ้น จะระแวงอย่างนี้ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงคลุกคลีกับบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำ ของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่หก ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระเจ้าแผ่นดินทรงลดข้าราชการ ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งสูงไว้ในฐานันดรอันต่ำ พวกชนที่ไม่พอใจการที่ทรงลดตำแหน่งข้าราชการ ผู้นั้นลง จะระแวงอย่างนี้ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงคลุกคลีกับบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำ ของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่เจ็ด ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๘. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งกองทัพ ไปในกาลไม่ควร พวกชนที่ไม่พอใจพระราชกรณียะนั้น จะระแวงอย่างนี้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน ทรงคลุกคลีกับบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่แปด ในการ เข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๙. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระเจ้าแผ่นดิน ทรงส่งกองทัพ ไปในกาลอันควร แล้วรับสั่งให้ยกกลับเสียในระหว่างทาง พวกชนที่ไม่พอใจพระราชกรณียะนั้น จะระแวงอย่างนี้ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงคลุกคลีกับบรรพชิต ชะรอยจะเป็นการกระทำของบรรพชิต นี้เป็นโทษข้อที่เก้า ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน. ๑๐. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง โทษที่จะพึงกล่าวยังมีอยู่อีก พระราชฐานชั้นในเป็นสถานที่ รื่นรมย์ เพราะช้าง ม้า รถ และมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งไม่สมควรแก่บรรพชิต นี้แล เป็นโทษข้อที่สิบ ในการเข้าสู่พระราชฐาน ชั้นใน. เหล่านี้แล ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๑๐ อย่าง ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
[๗๓๔] พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอานนท์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ... แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๓๒. ๑. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไปในห้องของ พระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชายังไม่ได้เสด็จออก ที่รัตนะยัง ไม่ออก เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๗๓๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง- *ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ผู้กษัตริย์ คือ เป็นผู้เกิดดีแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายพระราชมารดา และพระราช- *บิดา เป็นผู้มีพระครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีแล้วตลอดเจ็ดชั่วบุรพชนก ไม่มีใครคัดค้าน ติเตียน โดยกล่าวถึงชาติได้. ที่ชื่อว่า ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว คือ ได้รับอภิเษกโดยสรงสนานให้เป็นกษัตริย์แล้ว. บทว่า ที่พระราชายังไม่เสด็จออก คือ พระเจ้าแผ่นดินยังไม่เสด็จออกจากตำหนัก ที่ผทม. บทว่า ที่รัตนะยังไม่ออก คือ พระมเหสียังไม่เสด็จออกจากตำหนักที่ผทม หรือ ทั้ง ๒ พระองค์ยังไม่เสด็จออก. บทว่า ยังไม่ได้รับบอกก่อน คือ ไม่มีใครนิมนต์ไว้ก่อน. ที่ชื่อว่า ธรณี ได้แก่สถานที่เขาเรียกกันว่าธรณีแห่งตำหนักที่ผทม. ที่ชื่อว่า ตำหนักที่ผทม ได้แก่ที่ผทมของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเจ้าพนักงานจัดแต่งไว้ใน สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยที่สุดแม้วงด้วยพระวิสูตร. คำว่า ก้าวล่วงธรณีเข้าไป คือ ยกเท้าที่ ๑ ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ ยกเท้าที่ ๒ ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๗๓๖] ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับบอก ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุสงสัยอยู่ ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุสำคัญว่าได้รับบอกแล้ว ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกะทุกกฏ
ได้รับบอกแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับบอก ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ได้รับบอกแล้ว ภิกษุสงสัยอยู่ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ได้รับบอกแล้วภิกษุสำคัญว่าได้รับบอกแล้ว ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๗๓๗] ได้รับบอกแล้ว ๑ ไม่ใช่กษัตริย์ ๑ ไม่ได้รับอภิเษกโดยสรงสนานให้เป็น กษัตริย์ ๑ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกจากตำหนักที่ผทมแล้ว ๑ พระมเหสีเสด็จออกจากตำหนัก ที่ผทมแล้ว ๑ หรือทั้ง ๒ พระองค์เสด็จออกจากที่ผทมแล้ว ๑ ไม่ใช่ตำหนักที่ผทม ๑ ภิกษุ วิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
รตนวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๔๑๑๐-๑๔๒๐๑ หน้าที่ ๖๐๘-๖๑๒. https://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=2&A=14110&Z=14201&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/atita100/m_siri.php?B=2&siri=119              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=731              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [733-737] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=733&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10132              The Pali Tipitaka in Roman :- [733-737] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=733&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10132              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc83/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc83/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :