ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

๓. ปัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยปัญญา
๑. มหาปัญญากถา
ว่าด้วยมหาปัญญา
[๑] อนิจจานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ อนัตตานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ วิราคานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ นิโรธานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ คือ อนิจจานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาที่แล่นไป๑- ให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาชำแรกกิเลสให้เต็มรอบ @เชิงอรรถ : @ ปัญญาที่แล่นไป แปลมาจาก ชวนปัญญา จะใช้ว่า ปัญญาฉับไวก็ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

อนัตตานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญามากให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาเฉียบแหลมให้เต็มรอบ วิราคานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาไพบูลย์ให้เต็มรอบ นิโรธานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาลึกซึ้งให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาไม่ใกล้ให้เต็มรอบ ปัญญา ๗ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำความเป็นบัณฑิตให้เต็มรอบ ปัญญา ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญากว้างขวางให้เต็มรอบ ปัญญา ๙ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาร่าเริงให้เต็มรอบ ปัญญาร่าเริงเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา อัตถปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดอรรถแห่งปัญญาร่าเริงนั้น ธัมมปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดย การกำหนดธรรม(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดนิรุตติ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิภาณปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดปฏิภาณ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิสัมภิทา ๔ ประการนี้เป็นอันบุคคล บรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาแห่งปัญญาร่าเริงนั้น อนิจจานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่าง ไหนให้เต็มรอบ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

คือ อนิจจานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไป ให้เต็มรอบ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อม ทำปัญญาไม่ใกล้ให้เต็มรอบ ปัญญา ๗ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำความเป็นบัณฑิต ให้เต็มรอบ ปัญญา ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญากว้างขวาง ให้เต็มรอบ ปัญญา ๙ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาร่าเริงให้เต็มรอบ ปัญญาร่าเริงเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา อัตถปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดอรรถแห่งปัญญาร่าเริงนั้น ธัมมปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดย การกำหนดธรรม(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดนิรุตติ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิภาณปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดปฏิภาณแห่งปัญญาร่าเริงนั้น ปฏิสัมภิทา ๔ ประการนี้เป็นอันบุคคล บรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาแห่งปัญญาร่าเริงนั้น อนิจจานุปัสสนาในเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จักขุ ฯลฯ อนิจจานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำ ปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคล เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ อนิจจานุปัสสนาใน ชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำ ปัญญาไม่ใกล้ให้เต็มรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

ปัญญา ๗ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำความเป็นบัณฑิตให้เต็มรอบ ปัญญา ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญากว้างขวางให้เต็มรอบ ปัญญา ๙ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาร่าเริงให้เต็มรอบ ปัญญาร่าเริงเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา อัตถปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดอรรถแห่งปัญญาร่าเริงนั้น ธัมมปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดธรรม(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดนิรุตติ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิภาณปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดปฏิภาณ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิสัมภิทา ๔ ประการนี้เป็นอัน บุคคลบรรลุแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาแห่งปัญญาร่าเริงนั้น [๒] อนิจจานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญา อย่างไหนให้เต็มรอบ อนิจจานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคล เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหน ให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำ ให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ อนัตตานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่าง ไหนให้เต็มรอบ อนัตตานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่าง ไหนให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

วิราคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหน ให้เต็มรอบ วิราคานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ นิโรธานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหน ให้เต็มรอบ นิโรธานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญา อย่างไหนให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ คือ อนิจจานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญา แล่นไปให้เต็มรอบ อนิจจานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคล เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาชำแรกกิเลส ให้เต็มรอบ ทุกขานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ อนัตตานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญามากให้ เต็มรอบ อนัตตานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาเฉียบ แหลมให้เต็มรอบ นิพพิทานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ วิราคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญากว้าง ขวางให้เต็มรอบ วิราคานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

นิโรธานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาลึกซึ้งให้ เต็มรอบ นิโรธานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญา ไม่ใกล้ให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูปที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่ บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ ปัญญา ๗ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำความเป็นบัณฑิตให้เต็มรอบ ปัญญา ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญากว้างขวางให้เต็มรอบ ปัญญา ๙ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาร่าเริงให้เต็มรอบ ปัญญาร่าเริงเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา อัตถปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดอรรถแห่งปัญญาร่าเริงนั้น ธัมมปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดย การกำหนดธรรม(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) นิรุตติปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดนิรุตติ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิภาณปฏิสัมภิทาเป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดปฏิภาณ(แห่งปัญญาร่าเริงนั้น) ปฏิสัมภิทา ๔ ประการนี้เป็นอัน บุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาแห่งปัญญาร่าเริงนั้น อนิจจานุปัสสนาในเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จักขุ ฯลฯ อนิจจานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำ ปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ อนิจจานุปัสสนาในชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา

ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำ ปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาอย่างไหนให้เต็มรอบ คือ อนิจจานุปัสสนาในชราและมรณะที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำ ปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ อนิจจานุปัสสนาในชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำปัญญาแล่นไปให้เต็มรอบ ฯลฯ ปฏิสัมภิทา ๔ ประการนี้เป็นอันบุคคลบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วย ปัญญาแห่งปัญญาร่าเริงนั้น [๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) ๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังพระสัทธรรม) ๓. โยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) ธรรม ๔ ประการนี้แลที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้ง สกทาคามิผล ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อ ทำให้แจ้งอรหัตตผล ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัปปุริสสังเสวะ ๒. สัทธัมมัสสวนะ ๓. โยนิโสมนสิการ ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ธรรม ๔ ประการนี้แลที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้ง อรหัตตผล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์ แห่งปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ฯลฯ ย่อมเป็นไป เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ มีปัญญาไม่ใกล้ ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ฯลฯ ย่อม เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาพลัน ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ มีปัญญาร่าเริง ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแล่นไป ฯลฯ ย่อมเป็น ไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา ชำแรกกิเลส ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัปปุริสสังเสวะ ๒. สัทธัมมัสสวนะ ๓. โยนิโสมนสิการ ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ธรรม ๔ ประการนี้แลที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความ เป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส
๑. โสฬสปัญญานิทเทส
แสดงปัญญา ๑๖ ประการ
[๔] คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ปัญญา อธิบายว่า การได้ปัญญา เป็น อย่างไร คือ การได้ การได้เฉพาะ การถึง การถึงเฉพาะ การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การเข้าถึงพร้อมซึ่งมัคคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา- ญาณ ๖ ญาณ ๗๓ ญาณ ๗๗ นี้ชื่อว่าการได้ปัญญา ในคำว่า ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญา (๑) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา อธิบายว่า ความเจริญแห่ง ปัญญา เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

คือ ปัญญาของพระเสขะ ๗ จำพวก และของกัลยาณปุถุชน ย่อมเจริญ ปัญญาของพระอรหันต์ ย่อมเจริญ ชื่อว่าความเจริญด้วยปัญญาที่เจริญแล้ว นี้ชื่อ ว่าความเจริญแห่งปัญญา ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา (๒) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา อธิบายว่า ความไพบูลย์ แห่งปัญญา เป็นอย่างไร คือ ปัญญาของพระเสขะ ๗ จำพวก และของกัลยาณปุถุชน ย่อมถึงความ ไพบูลย์ ปัญญาของพระอรหันต์ที่ถึงความไพบูลย์แล้ว นี้ชื่อว่าความไพบูลย์แห่งปัญญา ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา (๓) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก อธิบายว่า ปัญญามาก เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดอรรถได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะ กำหนดธรรมได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดนิรุตติได้มาก ชื่อว่าปัญญา มาก เพราะกำหนดปฏิภาณได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดสีลขันธ์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดสมาธิขันธ์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะ กำหนดปัญญาขันธ์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดวิมุตติขันธ์ได้มาก ชื่อว่า ปัญญามาก เพราะกำหนดวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะ กำหนดฐานะและอฐานะได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดวิหารสมาบัติได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดอริยสัจได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนด สติปัฏฐานได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดสัมมัปปธานได้มาก ชื่อว่า ปัญญามาก เพราะกำหนดอิทธิบาทได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนด อินทรีย์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดพละได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดโพชฌงค์ได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดอริยมรรคได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดสามัญญผลได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะ กำหนดอภิญญาได้มาก ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดนิพพานที่เป็นประโยชน์ อย่างยิ่งได้มาก นี้ชื่อว่าปัญญามาก ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มี ปัญญามาก (๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง อธิบายว่า ปัญญา กว้างขวาง เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในธาตุต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอายตนะต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณ เป็นไปในปฏิจจสมุปบาทต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณ เป็นไปในความได้เนืองๆ ซึ่งความว่างต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอรรถต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณ เป็นไปในธรรมต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในนิรุตติ ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในปฏิภาณต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในสีลขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในสมาธิขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในปัญญาขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในวิมุตติขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญา กว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในฐานะและอฐานะต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในวิหารสมาบัติต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่า ปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอริยสัจต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญา กว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในสติปัฏฐานต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในสัมมัปปธานต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอิทธิบาทต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะ ญาณเป็นไปในอินทรีย์ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็น ไปในพละต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในโพชฌงค์ ต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอริยมรรคต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในสามัญญผลต่างๆ กว้าง ขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในอภิญญาต่างๆ กว้างขวาง ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง เพราะญาณเป็นไปในนิพพานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเหนือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

กว่าธรรมที่ทั่วไปแก่ปุถุชน นี้ชื่อว่าปัญญากว้างขวาง ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อ ความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง (๕) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ อธิบายว่า ปัญญา ไพบูลย์ เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดอรรถไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดธรรมไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดนิรุตติไพบูลย์ ชื่อว่า ปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดปฏิภาณไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนด สีลขันธ์ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดสมาธิขันธ์ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญา ไพบูลย์ เพราะกำหนดปัญญาขันธ์ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนด วิมุตติขันธ์ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดฐานะและอฐานะไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญา ไพบูลย์ เพราะกำหนดวิหารสมาบัติไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนด อริยสัจไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดสติปัฏฐานไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญา ไพบูลย์ เพราะกำหนดสัมมัปปธานไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนด อิทธิบาทไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดอินทรีย์ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญา ไพบูลย์ เพราะกำหนดพละไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดโพชฌงค์ ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดอริยมรรคไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดสามัญญผลไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดอภิญญา ไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดอภิญญาไพบูลย์ ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ เพราะกำหนดนิพพานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไพบูลย์ นี้ชื่อว่าปัญญาไพบูลย์ ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ (๖) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง อธิบายว่า ปัญญาลึกซึ้ง เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในขันธ์ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญา ลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในธาตุลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปใน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

อายตนะลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในปฏิจจสมุปบาทลึกซึ้ง ชื่อว่า ปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในความได้เนืองๆ ซึ่งความว่างต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่า ปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในอรรถต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณ เป็นไปในธรรมต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในนิรุตติต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในปฏิภาณต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญา ลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในสีลขันธ์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้งเพราะญาณ เป็นไปในสมาธิขันธ์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในปัญญา- ขันธ์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในวิมุตติขันธ์ ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในฐานะและอฐานะต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่า ปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในวิหารสมาบัติต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในอริยสัจต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปใน สติปัฏฐานต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในสัมมัปปธานต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในอิทธิบาทต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญา ลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในอินทรีย์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณ เป็นไปในพละต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในโพชฌงค์ต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในอริยมรรคต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญา ลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในสามัญญผลต่างๆ ลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะ ญาณเป็นไปในอภิญญาลึกซึ้ง ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง เพราะญาณเป็นไปในนิพพานที่ เป็นประโยชน์ลึกซึ้ง นี้ชื่อว่าปัญญาลึกซึ้ง ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มี ปัญญาลึกซึ้ง (๗) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไม่ใกล้ อธิบายว่า ปัญญาไม่ใกล้ เป็นอย่างไร คือ อัตถปฏิสัมภิทาบุคคลใดบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดอรรถ ธัมมปฏิสัมภิทาบุคคลใดบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้อง แล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดธรรม นิรุตติปฏิสัมภิทาบุคคลใดบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา โดยการกำหนดนิรุตติ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

บุคคลใดบรรลุแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาโดยการกำหนดปฏิภาณ อรรถ ธรรม นิรุตติ และปฏิภาณของบุคคลนั้นใครอื่นสามารถจะถึงได้ และบุคคล นั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่ปุถุชนอื่นๆ ไม่สามารถจะเทียมทันได้ เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้น จึงเป็นปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของกัลยาณปุถุชนห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของ บุคคลที่ ๘ ๑- เมื่อเทียบกับกัลยาณปุถุชน บุคคลที่ ๘ มีปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของบุคคลที่ ๘ ห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของพระ โสดาบัน เมื่อเทียบกับบุคคลที่ ๘ พระโสดาบันมีปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของพระโสดาบันห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของพระ สกทาคามี เมื่อเทียบกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของพระสกทาคามีห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของพระ อนาคามี เมื่อเทียบกับพระสกทาคามี พระอนาคามีมีปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของพระอนาคามีห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของพระ อรหันต์ เมื่อเทียบกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาของพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ชิดกับปัญญาของพระ ปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อเทียบกับพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้ามีปัญญาไม่ใกล้ เมื่อเทียบกับพระปัจเจกพุทธเจ้า และโลกพร้อมทั้งเทวโลก พระตถาคตอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้เลิศ ทรงมีปัญญาไม่ใกล้ [๕] พระผู้มีพระภาคทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา ทรงมีญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ๒- เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็น บุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย @เชิงอรรถ : @ บุคคลที่ ๘ ในที่นี้หมายถึงท่านผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค (ขุ.ป.อ. ๒/๔/๒๙๔) @ เวสารัชชญาณ ๔ ได้แก่ (๑) สัมมาสัมพุทธปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ @ท่านยังไม่รู้) (๒) ขีณาสวปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้น) @(๓) อันตรายิกธรรมวาทะ (ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าเป็นอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจก่ออันตรายแก่ @ผู้เสพได้จริง) (๔) นิยยานิกธรรมเทศนา (ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็น @ทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง) (ขุ.ป.อ. ๒/๕/๒๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศ หาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก มีพระปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตามแนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงทำมรรค ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วย ศีลาทิคุณในภายหลัง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มี พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความ หมายออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้ แจ้ง มิได้ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าโดยอาการทั้งปวง ธรรมดาประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบัน หรือประโยชน์ ในภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์ ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อม เป็นไปภายในพระพุทธญาณ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่างย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มี พระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่ เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อม ไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันเหมือนชั้นแห่งผอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

๒ ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกินด้านบน ชั้นผอบด้านบนก็ไม่เกิน ด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ย่อมวางประกบกันที่ส่วนสุดโดยรอบของกันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำและพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบ ของกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็ มีอยู่เพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระ ญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมี พระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินกว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวง นับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วยมนสิการ นับเนื่อง ด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มี อาการทราม ที่พระองค์พึงสอนให้รู้แจ้งได้ง่าย พึงสอนให้รู้แจ้งได้ยาก เป็นภัพพสัตว์ (ผู้สมควรบรรลุธรรม) และอภัพพสัตว์ (ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และ มนุษย์ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละ และปลาติมิ- ติมิงคละ๑- ย่อมเป็นไปภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ย่อมเป็นไปภายใน พระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนามว่า เวนไตย ย่อมบินไปในอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลายผู้เสมอกับพระสารีบุตรด้วย @เชิงอรรถ : @ ปลาทั้ง ๓ ตัวนี้ เป็นปลาขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้ และปลาติมิติมิงคละมี @ขนาดลำตัวใหญ่ถึง ๕๐๐ โยชน์ สามารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ป.อ. ๒/๕/๓๐๐, ขุ.ม.อ. ๖๙/๒๙๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

ปัญญาก็ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธญาณ ย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่ เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มี ปัญญาละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทราย ดุจจะ เที่ยวทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่ง ปัญหาเข้าไปหาพระตถาคตทูลถามปัญหาทั้งลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้นที่พระ ผู้มีพระภาคทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้วเป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง ขณะนั้น พระผู้ มีพระภาคทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญาเพราะทรงแก้ปัญหาเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเป็นผู้เลิศ มีพระปัญญาไม่ใกล้ นี้ชื่อว่าปัญญาไม่ใกล้ ใน คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไม่ใกล้ (๘) [๖] คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน อธิบายว่า ปัญญา ดุจแผ่นดิน เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำราคะ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำราคะแล้ว ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำโทสะ ชื่อว่า ปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำโทสะแล้ว ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะ ครอบงำโมหะ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำโมหะแล้ว ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำโกธะ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำโกธะแล้ว ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำอุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทั้งปวง ฯลฯ ทุจริตทั้งปวง ฯลฯ อภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ ชื่อว่า ปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำกรรมอันเป็นเหตุให้เป็นไปสู่ภพทั้งปวง ชื่อว่า ปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะครอบงำกรรมอันเป็นเหตุให้เป็นไปสู่ภพทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะเป็นปัญญาย่ำยีราคะที่เป็นข้าศึก ชื่อว่าปัญญา ดุจแผ่นดิน เพราะเป็นปัญญาย่ำยีโทสะที่เป็นข้าศึก ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

เป็นปัญญาย่ำยีโมหะที่เป็นข้าศึก ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะเป็นปัญญาย่ำยี โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทั้งปวง ฯลฯ ทุจริตทั้งปวง ฯลฯ อภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะเป็นปัญญาย่ำยีกรรมที่เป็น เหตุไปสู่ภพทั้งปวงที่เป็นข้าศึก แผ่นดินท่านกล่าวว่า ภูริ บุคคลประกอบด้วยปัญญาที่กว้างขวางไพบูลย์ เสมอด้วยแผ่นดินนั้น เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน อีก ประการหนึ่ง คำว่า ภูริ นี้เป็นชื่อของปัญญา ปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน เป็น ปัญญาทำลายกิเลส เป็นปัญญาเครื่องแนะนำ เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่า ปัญญาดุจแผ่นดิน นี้ชื่อว่าปัญญาดุจแผ่นดิน ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ มีปัญญาดุจแผ่นดิน (๙) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา อธิบายว่า ความเป็นผู้ มากด้วยปัญญา เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้หนักด้วยปัญญา เป็นผู้ประพฤติด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นที่อาศัย น้อมไปด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นธงชัย มีปัญญาเป็นยอด มีปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วยการค้นคว้า มากด้วยการ พิจารณา มากด้วยการเพ่งพินิจ มีการเพ่งพิจารณาเป็นธรรมดา ประพฤติอยู่ด้วย ปัญญาที่แจ่มแจ้ง มีความประพฤติงดเว้นด้วยปัญญาที่แจ่มแจ้ง หนักในปัญญา มากด้วยปัญญา โน้มไปในปัญญา น้อมไปในปัญญา เงื้อมไปในปัญญา น้อมจิต ไปในปัญญา หลุดพ้นไปด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นใหญ่ เปรียบเหมือนภิกษุผู้หนัก ในคณะ ท่านเรียกว่า “ผู้มากด้วยคณะ” ผู้หนักในจีวร ท่านเรียกว่า “ผู้มากด้วยจีวร” ผู้หนักในบาตร ท่านเรียกว่า “ผู้มากด้วยบาตร” ผู้หนักในเสนาสนะ ท่านเรียกว่า “ผู้มากด้วยเสนาสนะ” นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มากด้วยปัญญา ในคำว่า ย่อมเป็นไป เพื่อความเป็นผู้มากด้วยปัญญา (๑๐) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว อธิบายว่า ปัญญาเร็ว เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

คือ ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญศีลได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะ บำเพ็ญอินทรียสังวรได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญโภชเนมัตตัญญุตาได้ เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญชาคริยานุโยคได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญา เร็ว เพราะบำเพ็ญสีลขันธ์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญสมาธิขันธ์ ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญปัญญาขันธ์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญวิมุตติขันธ์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญวิมุตติญาณ- ทัสสนขันธ์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะรู้แจ้งฐานะและอฐานะได้เร็วไว ชื่อว่า ปัญญาเร็ว เพราะบำเพ็ญวิหารสมาบัติได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะรู้แจ้ง อริยสัจได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญสติปัฏฐานได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญสัมมัปปธานได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญอิทธิบาทได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญอินทรีย์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญพละได้ เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะเจริญโพชฌงค์ได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะ เจริญอริยมรรคได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะทำให้แจ้งสามัญญผลได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะรู้แจ้งอภิญญาได้เร็วไว ชื่อว่าปัญญาเร็ว เพราะทำให้แจ้ง นิพพานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้เร็วไว นี้ชื่อว่าปัญญาเร็ว ในคำว่า ย่อมเป็นไป เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว (๑๑) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาพลัน อธิบายว่า ปัญญาพลัน เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญศีลได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญอินทรียสังวรได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญโภชเน- มัตตัญญุตาได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญชาคริยานุโยคได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญสีลขันธ์ ฯลฯ สมาธิขันธ์ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะรู้แจ้งฐานะและอฐานะได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะบำเพ็ญวิหารสมาบัติได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะรู้แจ้งอริยสัจได้เร็ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

พลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญสติปัฏฐานได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญสัมมัปปธานได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญอิทธิบาทได้ เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญอินทรีย์ได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญพละได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญโพชฌงค์ได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะเจริญอริยมรรคได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะทำ ให้แจ้งสามัญญผลได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะรู้แจ้งอภิญญาได้เร็วพลัน ชื่อว่าปัญญาพลัน เพราะทำให้แจ้งนิพพานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้เร็วพลัน นี้ ชื่อว่าปัญญาพลัน ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาพลัน (๑๒) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง อธิบายว่า ปัญญาร่าเริง เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดี มาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญศีล เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญา ร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญอินทรียสังวร เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่า ปัญญาร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความ ยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญโภชเนมัตตัญญุตา เพราะเหตุนั้น ปัญญา นั้นจึงชื่อว่าปัญญาร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญชาคริยานุโยค เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญาร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญสีลขันธ์ ฯลฯ สมาธิขันธ์ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ ฯลฯ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก บำเพ็ญวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ เพราะ เหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญาร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้ ... รู้แจ้งฐานะและอฐานะ ... บำเพ็ญวิหารสมาบัติให้ เต็มรอบ ... รู้แจ้งอริยสัจ ... เจริญสติปัฏฐาน ... เจริญสัมมัปปธาน ... เจริญอิทธิบาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

... เจริญอินทรีย์ ... เจริญพละ ... เจริญโพชฌงค์ ... เจริญอริยมรรค ... บุคคล บางคนในโลกนี้ ... ทำให้แจ้งสามัญญผล บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มีความปราโมทย์มาก ทำให้แจ้งอภิญญา เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญาร่าเริง บุคคลบางคนในโลกนี้มีความร่าเริงมาก มีความพอใจมาก มีความยินดีมาก มี ความปราโมทย์มาก ทำให้แจ้งนิพพานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ด้วยปัญญานั้น เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าปัญญาร่าเริง นี้ชื่อว่าปัญญาร่าเริง ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง (๑๓) [๗] คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแล่นไป อธิบายว่า ปัญญาแล่นไป เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปสู่รูปทั้งปวงที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต มีอยู่ ในที่ไกลหรือมีอยู่ในที่ใกล้ โดยความไม่เที่ยง ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญา พลันแล่นไปโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปโดย ความเป็นอนัตตา ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปสู่เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปสู่วิญญาณทั้งปวงที่ เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว หรือประณีต มีอยู่ในที่ไกลหรือมีอยู่ในที่ใกล้โดยความไม่เที่ยง ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญา พลันแล่นไปโดยความเป็นอนัตตา ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปสู่จักขุ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญา แล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปสู่ชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยความไม่เที่ยง ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไปโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะปัญญาพลันแล่นไป โดยความเป็นอนัตตา ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่ารูปที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีสภาวะสิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะมีสภาวะเป็นภัย ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะมีสภาวะไม่มีแก่นสาร พลันแล่น ไปในนิพพานซึ่งเป็นความดับแห่งรูป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่าเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จักขุ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่าชราและมรณะทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะมีสภาวะสิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะมีสภาวะ เป็นภัย ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะมีสภาวะไม่มีแก่นสารแล้วพลันแล่นไปในนิพพาน ซึ่งเป็นความดับแห่งชราและมรณะ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่ารูปทั้งที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกัน เกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดาแล้วพลันแล่นไปใน นิพพานซึ่งเป็นความดับแห่งรูป ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่าเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จักขุ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาแล่นไป เพราะเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ้งว่าชราและมรณะทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มี ความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดาแล้วพลันแล่นไปในนิพพานซึ่ง เป็นความดับแห่งชราและมรณะ นี้ชื่อว่าปัญญาแล่นไป ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อ ความเป็นผู้มีปัญญาแล่นไป (๑๔) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม อธิบายว่า ปัญญา เฉียบแหลม เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะทำลายกิเลสได้ฉับพลัน ชื่อว่าปัญญา เฉียบแหลม เพราะไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้นไว้ ละ บรรเทา ทำกามวิตกที่เกิดขึ้น ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นไว้ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นไว้ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นไว้ ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับราคะที่เกิดขึ้นไว้ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๑. โสฬสปัญญานิทเทส

ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับโทสะไว้ ละ บรรเทา ทำโทสะให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป ฯลฯ โมหะ ฯลฯ โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทั้งปวง ฯลฯ ทุจริตทั้งปวง ฯลฯ อภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะไม่รับกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งปวงที่เกิดขึ้นไว้ ละ บรรเทา ทำกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งปวงที่เกิดขึ้นให้สิ้นสุด ให้ถึงความ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม เพราะทำให้บรรลุ ทำให้แจ้ง ทำให้ ถูกต้องอริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ ณ อาสนะเดียว นี้ชื่อว่าปัญญาเฉียบแหลม ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา เฉียบแหลม (๑๕) คำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส อธิบายว่า ปัญญาชำแรกกิเลส เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มากด้วยความสะดุ้ง เป็นผู้มากด้วยความ หวาดเสียว เป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่าย เป็นผู้มากด้วยความระอา เป็นผู้มาก ด้วยความไม่พอใจ เบือนหน้าออก ไม่ยินดีในสังขารทั้งปวง ย่อมชำแรก ทำลาย กองโลภะที่ไม่เคยชำแรก ไม่เคยทำลาย(ด้วยปัญญา) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปัญญาชำแรกกิเลส บุคคลบางคนในโลกนี้ ... ทำลายกองโทสะที่ไม่เคยชำแรก ไม่เคยทำลาย (ด้วยปัญญา) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปัญญาชำแรกกิเลส บุคคลบางคนในโลกนี้ ... ทำลายกองโมหะที่ไม่เคยชำแรก ไม่เคยทำลาย (ด้วยปัญญา) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปัญญาชำแรกกิเลส บุคคลบางคนในโลกนี้ ... ย่อมชำแรก ทำลายโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทั้งปวง ฯลฯ ทุจริตทั้งปวง ฯลฯ อภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๒. ปุคคลวิเสสนิทเทส

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มากด้วยความสะดุ้ง เป็นผู้มากด้วยความหวาด เสียว เป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่าย เป็นผู้มากด้วยความระอา เป็นผู้มากด้วย ความไม่พอใจ เบือนหน้าออก ไม่ยินดีในสังขารทั้งปวง ย่อมชำแรก ทำลายกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวงที่ไม่เคยชำแรก ไม่เคยทำลาย(ด้วยปัญญา) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปัญญาชำแรกกิเลส นี้ชื่อว่าปัญญาชำแรกกิเลส ในคำว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส (๑๖) ปัญญาเหล่านี้เรียกว่า ปัญญา ๑๖ ประการ บุคคลประกอบด้วยปัญญา ๑๖ ประการนี้ ชื่อว่าผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
๒. ปุคคลวิเสสนิทเทส
แสดงบุคคลวิเศษ
[๘] บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งถึงพร้อมด้วยความ เพียรมาก่อน พวกหนึ่งไม่ถึงพร้อมด้วยความเพียรมาก่อน พวกที่ถึงพร้อมด้วย ความเพียรมาก่อนเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่ถึงพร้อมด้วยความเพียรมา ก่อนนั้น และญาณของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรมาก่อนย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่ถึงพร้อมด้วยความเพียร มาก่อนก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งเป็นพหูสูต พวกหนึ่งไม่ได้เป็นพหูสูต พวกที่ เป็นพหูสูตเป็นพวกที่ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่ได้เป็นพหูสูตนั้น และญาณของ บุคคลผู้เป็นพหูสูตนั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งมากด้วยเทศนา พวกหนึ่งไม่มากด้วยเทศนา พวกที่มากด้วยเทศนาเป็นผู้ ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่มากด้วยเทศนานั้น และญาณของบุคคลผู้มากด้วย เทศนานั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก และ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๒. ปุคคลวิเสสนิทเทส

พวกที่มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งอาศัยครู พวกหนึ่งไม่อาศัยครู พวกที่อาศัยครูเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่อาศัยครูนั้น และญาณของ บุคคลผู้อาศัยครูนั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก พวก ที่มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก และพวกที่อาศัยครูก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง มีวิหารธรรมมาก พวกหนึ่งมีวิหารธรรมไม่มาก พวกที่มีวิหารธรรมมากเป็นผู้ประเสริฐ วิเศษยิ่งกว่าพวกที่มีวิหารธรรมไม่มากนั้น และญาณของบุคคลผู้มีวิหารธรรมมาก นั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก พวก ที่มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก พวกที่อาศัยครูก็มี ๒ จำพวก และพวกที่มี วิหารธรรมมากก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งมีการพิจารณามาก พวกหนึ่งมีการ พิจารณาไม่มาก พวกที่มีการพิจารณามาก เป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่มีการ พิจารณาไม่มากนั้น และญาณของบุคคลผู้มีการพิจารณามากนั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก พวกที่ มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก พวกที่อาศัยครูก็มี ๒ จำพวก พวกที่มีวิหาร- ธรรมมากก็มี ๒ จำพวก และพวกที่มีการพิจารณามากก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง เป็นพระเสขะบรรลุปฏิสัมภิทา พวกหนึ่งเป็นพระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทา พวกที่เป็น พระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทาเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่เป็นพระเสขะบรรลุ ปฏิสัมภิทานั้น และญาณของพระอเสขะผู้บรรลุปฏิสัมภิทานั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก พวก ที่มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก พวกที่มีวิหารธรรมมากก็มี ๒ จำพวก พวกที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๑. มหาปัญญากถา ๒. ปุคคลวิเสสนิทเทส

มีการพิจารณามากก็มี ๒ จำพวก และพวกที่เป็นพระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทาก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งบรรลุสาวกบารมี พวกหนึ่งไม่บรรลุสาวกบารมี พวกที่ บรรลุสาวกบารมีเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่บรรลุสาวกบารมี และญาณ ของผู้บรรลุสาวกบารมีนั้นย่อมแตกฉาน บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี ๒ จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี ๒ จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี ๒ จำพวก พวกที่ มากด้วยเทศนาก็มี ๒ จำพวก พวกที่อาศัยครูก็มี ๒ จำพวก พวกที่มีวิหารธรรม มากก็มี ๒ จำพวก พวกที่มีการพิจารณามากก็มี ๒ จำพวก และพวกที่เป็น พระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทาก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งบรรลุสาวกบารมี พวกหนึ่ง เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พวกที่เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่ง กว่าพวกที่บรรลุสาวกบารมีนั้น และญาณของผู้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมแตกฉาน เมื่อเทียบกับพระปัจเจกพุทธเจ้าและโลกพร้อมทั้งเทวโลก พระตถาคต- อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศ ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงฉลาดในประเภท แห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุถึงปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ทรงเป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษดุจราชสีห์ ฯลฯ เหล่าบัณฑิต ผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทราย ดุจจะเที่ยว ทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหาเข้า ไปหาพระตถาคตทูลถามปัญหาทั้งลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาค ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญา เพราะทรงแก้ปัญหาเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงทรงเป็นผู้เลิศ ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ดังนี้
มหาปัญญากถา จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๕๓๗-๕๖๑. http://84000.org/tipitaka/atita100/m_siri.php?B=31&siri=80              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=31&A=9683&Z=10089                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=659              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=31&item=659&items=20              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6492              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=31&item=659&items=20              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6492                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu31



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :