ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
ว่าด้วย พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

ทศพรคาถา
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม อาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ ดังนี้ เป็นต้น.
ความพิสดารว่า พระศาสดาทรงยังธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั้นตลอดเหมันตฤดู มีพระอุทายีเถระเป็นมัคคุเทศก์ พระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ แวดล้อม เสด็จจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นการเสด็จครั้งแรก ศักยราชทั้งหลายประชุมกัน ด้วยคิดว่า พวกเราจักได้เห็นสิทธัตถกุมารนี้ ผู้เป็นพระญาติอันประเสริฐของพวกเรา เลือกหาสถานที่เป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กำหนดกันว่า ราชอุทยานของนิโครธศักยราช น่ารื่นรมย์ จึงทำวิธีปฏิบัติ จัดแจงทุกอย่างในนิโครธารามนั้น ถือของหอมดอกไม้และจุรณเป็นต้น รับเสด็จ ส่งทารกทาริกาชาวเมืองที่ยังหนุ่มๆ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงไปก่อน แต่นั้นจึงส่งราชกุมารีไป เสด็จไปเองในระหว่างราชกุมารราชกุมารีเหล่านั้น บูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้ของหอมและจุรณเป็นต้น พาเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปสู่นิโครธารามนั่นแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ แวดล้อม ประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ในนิโครธารามนั้น. กาลนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายเป็นชาติถือตัว กระด้างเพราะถือตัว คิดกันว่า สิทธัตถกุมารนี้เด็กกว่าพวกเรา เป็นน้อง เป็นภาคิไนย เป็นบุตร เป็นนัดดาของพวกเรา คิดฉะนี้แล้ว จึงกล่าวกะราชกุมารที่ยังหนุ่มๆ เหล่านั้นว่า เธอทั้งหลายจงไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเราจักนั่งเบื้องหลังพวกเธอ. เมื่อเจ้าศากยะเหล่านั้นไม่อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งกันอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของเจ้าศากยะเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า พระญาติทั้งหลายไม่ไหว้เรา เอาเถิด เราจักยังพระญาติเหล่านั้นให้ไหว้ ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว ทรงเข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา จำเดิมแต่นั้น ก็เสด็จขึ้นสู่อากาศ เป็นดุจโปรยละอองธุลีพระบาทลงบนเศียรแห่งพระญาติเหล่านั้น ทรงทำปาฏิหาริย์เช่นกับยมกปาฏิหาริย์ ณ ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์.
กาลนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้ทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวันเมื่อพระองค์ประสูติ เมื่อพระพี่เลี้ยงเชิญพระองค์เข้าไปใกล้ เพื่อให้นมัสการชฏิล ชื่อ กาฬเทวละ. ข้าพระองค์ก็ได้เห็นพระบาททั้งสองของพระองค์กลับไปตั้งอยู่ ณ ศีรษะแห่งพราหมณ์ ข้าพระองค์ก็ได้กราบพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งแรก. ในวันวัปปมงคลแรกนาขวัญ เมื่อพระองค์บรรทม ณ พระยี่ภูอันมีสิริใต้ร่มเงาไม้หว้า ข้าพระองค์ได้เห็นเงาไม้หว้า ไม่บ่ายไป. ข้าพระองค์ก็ได้กราบพระบาทของพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งที่ ๒. บัดนี้ ข้าพระองค์เห็นปาฏิหาริย์ อันยังไม่เห็นนี้ จึงได้กราบพระบาทของพระองค์ นี้เป็นการกราบของข้าพระองค์ครั้งที่ ๓. ก็เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะถวายบังคมแล้ว เจ้าศากยะแม้องค์หนึ่งที่จะไม่อาจถวายบังคม ดำรงนิ่งอยู่ มิได้มี. ชนเหล่านั้น แม้ทั้งหมดได้ถวายบังคมแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้ถวายบังคมแล้ว เสด็จลงจากอากาศประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว พระประยูรญาติที่ประชุมกันได้แวดล้อมแล้ว ทั้งหมดมีจิตแน่วแน่ นั่งอยู่.
ลำดับนั้น มหาเมฆตั้งขึ้นยังฝนโบกขรพรรษให้ตกแล้ว น้ำฝนนั้นสีแดง เสียงซู่ซ่าไหลไปลงที่ลุ่ม. ผู้ต้องการให้เปียกก็เปียก ฝนนั้นไม่ตกต้องกายของผู้ที่ไม่ต้องการให้เปียก แม้สักหยาดเดียว ชนทั้งปวงเหล่านั้นเห็นอัศจรรย์นั้น ก็เกิดพิศวง. ภิกษุทั้งหลายพูดกันว่า โอ น่าอัศจรรย์ โอ ไม่เคยมี โอ อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า มหาเมฆจึงยังฝนโบกขรพรรษ เห็นปานนี้ ให้ตกในสมาคมแห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย. พระศาสดาทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว มีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่มหาเมฆยังฝนโบกขรพรรษให้ตก แม้ในกาลก่อน เวลาที่เรายังเป็นโพธิสัตว์อยู่ มหาเมฆเห็นปานนี้ ก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกในญาติสมาคม เหมือนกัน ตรัสฉะนี้ แล้วทรงดุษณีภาพ. ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่า ดังต่อไปนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า สีวิมหาราช ครองราชสมบัติในกรุงเชตุดร แคว้นสีพี มีพระโอรสพระนามว่า สญชัยกุมาร เพื่อสญชัยกุมารนั้นทรงเจริญวัย พระเจ้าสีวีมหาราชนำราชกัญญาพระนามว่า ผุสดี ผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราชมา ทรงมอบราชสมบัติแก่สญชัยราชกุมารนั้น แล้วตั้งพระนางผุสดีเป็นอัครมเหสี.
ต่อไปนี้เป็นบุรพประโยค คือความเพียรที่ทำในศาสนาของพระพุทธเจ้าในปางก่อนแห่งพระนางนั้น คือในที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดาพระนามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก. ในกาลนั้น พระราชาพระนามว่า พันธุมราช เสวยราชสมบัติในพันธุมดีนคร. เมื่อพระวิปัสสีศาสดาประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน อาศัยพันธุมดีนคร. กาลนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งส่งสุวรรณมาลาราคา ๑ แสน กับแก่นจันทน์อันมีค่ามาก ถวายแด่พระเจ้าพันธุมราช. พระเจ้าพันธุมราชมีพระราชธิดา ๒ องค์ พระเจ้าพันธุมราชมีพระราชประสงค์ จะประทานบรรณาการนั้น แก่พระราชธิดาทั้งสอง. จึงได้ประทานแก่นจันทน์ แก่พระธิดาองค์ใหญ่. ประทานสุวรรณมาลา แก่พระธิดาองค์เล็ก. ราชธิดาทั้งสองนั้นคิดว่า เราทั้งสองจักไม่นำบรรณาการนี้ มาที่สรีระของเรา. เราจักบูชาพระศาสดา เท่านั้น. ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ข้าพระบาททั้งสองจักเอาแก่นจันทน์ และสุวรรณมาลาบูชาพระทศพล. พระเจ้าพันธุมราชทรงสดับดังนั้น ก็ประทานอนุญาตว่า ดีแล้ว. ราชธิดาองค์ใหญ่บดแก่นจันทน์ ละเอียดเป็นจุรณ บรรจุในผอบทองคำ แล้วให้ถือไว้. ราชธิดาองค์น้อยให้ทำสุวรรณมาลา เป็นมาลาปิดทรวง. บรรจุผอบทองคำ แล้วให้ถือไว้. ราชธิดาทั้งสองเสด็จไป สู่มฤคทายวันวิหาร. บรรดาราชธิดาสององค์นั้น องค์ใหญ่บูชาพระพุทธสรีระ ซึ่งมีวรรณะดังทองคำของพระทศพล ด้วยจรุณแก่นจันทน์. โปรยปรายจุรณแก่นจันทน์ ที่ยังเหลือในพระคันธกุฎี. ได้ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงเป็นมารดาแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์ ในอนาคตกาล. แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำการบูชาพระองค์ ด้วยจุรณแห่งแก่นจันทน์นี้. ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็น มารดาแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์ ในอนาคตกาล.
ฝ่ายราชธิดาองค์เล็กบูชาพระสรีระ ซึ่งมีวรรณะดังทองคำของพระทศพล ด้วยสุวรรณมาลา ทำเป็นอาภรณ์เครื่องปิดทรวง. ได้ทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เครื่องประดับนี้ จงอย่าหายไปจากสรีระของข้าพระพุทธเจ้า จนตราบเท่าบรรลุพระอรหัต. แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าบูชาพระองค์ด้วยสุวรรณมาลา ด้วยอำนาจพุทธบูชานี้. ขอบุญจงบันดาล ให้สุวรรณมาลามีที่ทรวงของข้าพระพุทธเจ้า. ส่วนพระบรมศาสดาก็ทรงทำ บูชานุโมทนาแก่ราชธิดาทั้งสองนั้นว่า ก็เธอทั้งสองได้ประดิษฐานการบูชา อันใดแก่เราในภพนี้. วิบากแห่งการบูชานั้น จงสำเร็จแก่เธอทั้งสอง. ความปรารถนาเธอทั้งสองเป็นอย่างใด จงเป็นอย่างนั้น.
ราชธิดาทั้งสองนั้นดำรงอยู่ตลอดพระชนมายุ ในที่สุดแห่งพระชนมายุ เคลื่อนจากมนุษยโลก ไปบังเกิดในเทวโลก. ใน ๒ องค์นั้น องค์ใหญ่เคลื่อนจากเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ยังมนุษยโลก. เคลื่อนจากมนุษยโลก ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวโลก. ในที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ ได้เป็นพุทธมารดามีพระนามว่า มหามายาเทวี ฝ่ายราชกุมารีองค์เล็กก็ท่องเที่ยวอยู่อย่างนั้น. ในกาลเมื่อพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ บังเกิด. ได้เกิดเป็นราชธิดาแห่งพระราชาพระนามว่า กิกิราช. พระนางเป็นราชกุมาริกาพระนามว่า อุรัจฉทา เพราะความที่ระเบียบแห่งเครื่องปิดทรวง ราวกะว่าทำแล้วด้วยจิตรกรรม เกิดแล้วแต่พระทรวง อันตกแต่งแล้ว. ในกาลเมื่อ ราชกุมาริกามีชนมพรรษา ๑๖ ปี ได้สดับภัตตานุโมทนาแห่งพระตถาคตเจ้า ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. กาลต่อมา ในวันที่พระชนกทรงสดับภัตตานุโมทนาแล้วทรงได้บรรลุโสดาปัตติผล. พระนางได้บรรลุพระอรหัต ผนวชแล้วปรินิพพาน. พระเจ้ากิกิราชมีพระธิดาอื่นอีก ๗ องค์ พระนามของราชธิดาเหล่านั้นคือ
นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกษุณี นางภิกขุทาสิกา นางธรรมา นางสุธรรมาและนางสังฆทาสีเป็นที่ ๗. ราชธิดาทั้ง ๗ เหล่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามปรากฏคือ นางเขมา นางอุบลวรรณา นางปฏาจารา พระนางโคตมี นางธรรมทินนา พระนางมหามายา และนางวิสาขาเป็นที่ ๗.
บรรดาราชธิดาเหล่านั้น นางผุสดี ชื่อสุธรรมาได้บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เป็นนางกุมาริกา ชื่อผุสดี เพราะความเป็นผู้มีสรีระ ดุจอันบุคคลประพรมแล้ว ด้วยแก่นจันทน์แดงเกิดแล้ว ด้วยผลแห่งการบูชาด้วยจุรณแก่นจันทน์ อันนางได้ทำแล้ว แด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า. ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ต่อมาได้เกิดเป็นอัครมเหสีแห่งท้าวสักกเทวราช. ครั้งนั้น เมื่อบุรพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วอายุแห่งนางผุสดี. ท้าวสักกเทวราชทราบความที่นางจะสิ้นอายุ จึงพานางไปสู่นันทวันอุทยานด้วยยศใหญ่ ประทับบนตั่งที่นอนอันมีสิริ. ตรัสอย่างนี้กะนางผู้บรรทมอยู่ ณ ที่นอนอันมีสิริประดับแล้วนั้นว่า แน่ะนางผุสดีผู้เจริญ เราให้พร ๑๐ ประการแก่เธอ เธอจงรับพร ๑๐ ประการเหล่านั้น.

ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประทานพรนั้นได้ทรงภาษิตประถมคาถา ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ ว่า
ดูก่อนนางผุสดีผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้างาม เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ ในแผ่นดินอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอ.


ธรรมเทศนามหาเวสสันดรนี้ ชื่อว่าท้าวสักกเทวราชให้ตั้งขึ้นแล้วในเทวโลกด้วยประการฉะนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุสฺสตี เป็นบทที่ท้าวสักกเทวราชใช้เรียกชื่อเธอ.
บทว่า วรวณฺณาเภ ความว่า ประกอบด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ.
บทว่า ทสธา ได้แก่ ๑๐ ประการ. บทว่า ปฐพฺยา ได้แก่ ทำให้เป็นสิ่งที่พึงถือเอาในแผ่นดิน.
บทว่า วรสฺสุ ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสบอกว่า เธอจงถือเอา.
บทว่า จารุปุพฺพงฺคี ความว่า ประกอบด้วยส่วนเบื้องหน้าอันงาม คือด้วยลักษณะอันประเสริฐ.
บทว่า ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า เธอจงถือเอาพรซึ่งเป็นที่รักแห่งใจของเธอนั้นๆ ทั้ง ๑๐ ส่วน.

ผุสดีเทพกัญญาไม่ทราบว่า ตนจะต้องจุติเป็นธรรมดา เป็นผู้ประมาทกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
ข้าแต่เทวราช ข้าพระบาทขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าพระบาทได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ ฝ่าพระบาทจึงให้ข้าพระบาทจุติจากทิพยสถานที่น่ารื่นรมย์ ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้หักไปฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นโม ตยตฺถุ ความว่า ขอนอบน้อมแด่พระองค์.
บทว่า กึ ปาปํ ความว่า นางผุสดีทูลถามว่า ข้าพระบาทได้ทำบาปอะไรไว้ในสำนักของพระองค์.
บทว่า ธรณีรุหํ ได้แก่ ต้นไม้.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทราบว่า นางเป็นผู้ประมาท จึงได้ภาษิต ๒ คาถาว่า
บาปกรรม เธอมิได้ทำไว้เลย และเธอไม่เป็นที่รักของเรา ก็หาไม่ แต่บุญของเธอสิ้นแล้ว เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้ ความตายใกล้เธอ เธอจักต้องพลัดพรากจากไป จงเลือกรับพร ๑๐ ประการนี้จากเราผู้จะให้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน เตวํ ความว่า ซึ่งเป็นเหตุให้เรากล่าวกะเธออย่างนี้.
บทว่า ตุยฺหํ วินาภาโว ความว่า เธอกับพวกเราจักพลัดพรากจากกัน.
บทว่า ปเวจฺฉโต แปลว่า ผู้ให้อยู่.

ผุสดีเทพกัญญาได้สดับคำท้าวสักกเทวราชก็รู้ว่าตนจุติแน่แท้ เมื่อจะทูลขอรับพร จึงกล่าวว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของเหล่าสัตว์ทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่ข้าพระบาทไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทพึงอยู่ในพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้ากรุงสีพีนั้น ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ข้าพระบาทพึงเป็นผู้มีจักษุดำ เหมือนตาลูกมฤคีซึ่งมีดวงตาดำ พึงมีขนคิ้วดำ พึงเกิดในพระราชนิเวศน์นั้นโดยนามว่าผุสดี.
พึงได้พระราชโอรสผู้ให้สิ่งอันเลิศ ประกอบความเกื้อกูลแก่ยาจก ไม่ตระหนี่ อันพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติ มียศ เมื่อข้าพระบาททรงครรภ์ อุทรอย่านูนขึ้นพึงมีอุทรไม่นูน เสมอดังคันศรที่นายช่างเหลาเกลาเกลี้ยง ฉะนั้น ถันทั้งคู่ของข้าพระบาทอย่าพึงหย่อนยาน ข้าแต่ท้าววาสวะ ผมหงอกก็อย่าได้มี ธุลีก็อย่าพึงติดในกาย.
ข้าพระบาทพึงปลดปล่อยนักโทษประหารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทพึงได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้ากรุงสีวี ในพระราชนิเวศน์ อันกึกก้องด้วยเสียงร้องของนกยูง และนกกระเรียน พรั่งพร้อมด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ เกลื่อนกล่นไปด้วยคนเตี้ยและคนค่อม อันพ่อครัวชาวมาคธบอกเวลาบริโภคอาหาร กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้ม.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิราชสฺส ความว่า นางผุสดีนั้นตรวจดูพื้นชมพูทวีป เห็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีวีราชสมควรแก่ตน เมื่อปรารถนาความเป็นอัครมเหสีในพระราชนิเวศน์นั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า ยถา มิคี ความว่า เหมือนลูกมฤคอายุ ๑ ปี.
บทว่า นีลกฺขี ความว่า ขอจงมีตาดำใสสะอาด เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าพึงเกิดในพระราชนิเวศน์นั้น โดยนามว่าผุสดี.
บทว่า ลเภถ แปลว่า พึงได้. บทว่า วรทํ ความว่า ผู้ให้สิ่งประเสริฐมีเศียรที่ประดับแล้วนัยน์ตาทั้งคู่ หทัยเนื้อเลือด เศวตฉัตร บุตรและภรรยาเป็นต้น แก่ยาจก ผู้ขอแล้ว.
บทว่า กุจฺฉิ ได้แก่ อวัยวะที่อยู่กลางตัว ดังนั้นท่านแสดงคำที่กล่าวแล้วโดยย่อ.
บทว่า ลิขิตํ ได้แก่ คันศรที่ช่างศรผู้ฉลาดขัดเกลาอย่างดี.
บทว่า อนุนฺนตํ ความว่า มีกลางคันไม่นูนขึ้นเสมอดังคันชั่ง ครรภ์ของข้าพเจ้าพึงเป็นอย่างนี้.
บทว่า นปฺปวตฺเตยฺยุํ ความว่า ไม่พึงคล้อยห้อยลง.
บทว่า ปลิตา นสฺสนฺตุ วาสว ความว่า ข้าแต่ท้าววาสวะผู้ประเสริฐที่สุดในทวยเทพ แม้ผมหงอกทั้งหลายบนศีรษะของข้าพเจ้า ก็จงหายไป คืออย่าได้ปรากฏบนศีรษะของข้าพเจ้า. ปาฐะว่า ปลิตานิ สิโรรุหา ดังนี้ก็มี.
บทว่า วชฺฌญฺจาปิ ความว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้สามารถปล่อยโจรผู้ทำความผิด คือ ผิดต่อพระราชา ถึงโทษประหาร ด้วยกำลังของตน นางผุสดีแสดงความเป็นใหญ่ของตนด้วยบทนี้.
บทว่า สูทมาคธวณฺณิเต ความว่า อันพวกพ่อครัวชาวมาคธทั้งหลาย ผู้บอกเวลาบริโภคอาหารเป็นต้น กล่าวชมเชยสรรเสริญแล้ว.
บทว่า จิตฺรคฺคเฬรุฆุสิเต ความว่า กึกก้องไปด้วยเสียงกลอน และบานประตูอันวิจิตรด้วยรัตนะ ๗ ที่ส่งเสียงไพเราะ น่ารื่นรมย์ใจเช่นเสียงของดนตรีเครื่อง ๕.
บทว่า สุรามํสปฺปโพธเน ความว่า เธอจงถือเอาพร ๑๐ ประการเหล่านี้ว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราช ในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีวีราช เห็นปานนี้ ซึ่งมีคนเชิญบริโภคสุรา และเนื้อว่า พวกท่านจงมาดื่ม พวกท่านจงมากิน ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บรรดาพร ๑๐ ประการนั้น ความเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราชเป็นพรที่ ๑. ความมีตาดำเป็นพรที่ ๒. ความเป็นผู้มีขนคิ้วดำเป็นพรที่ ๓. ชื่อว่าผุสดีเป็นพรที่ ๔. การได้พระโอรสเป็นพรที่ ๕. มีครรภ์ไม่นูนเป็นพรที่ ๖. มีถันไม่คล้อยเป็นพรที่ ๗. ไม่มีผมหงอกเป็นพรที่ ๘. มีผิวละเอียดเป็นพรที่ ๙. สามารถปล่อยนักโทษประหารได้เป็นพรที่ ๑๐.

ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
แน่ะนางผู้งามทั่วองค์ พร ๑๐ ประการเหล่าใดที่เราให้แก่เธอ เธอจงได้พรเหล่านั้นทั้งหมด ในแว่นแคว้นของพระเจ้าสีวีราช.


พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ครั้นท้าววาสวะมฆสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงอนุโมทนาประทานพรแก่นางผุสดีเทพอัปสร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุโมทิตฺถ ความว่า มีจิตบันเทิง คือทรงโสมนัส.
บทว่า สพฺเพ เต ลจฺฉสิ วเร ความว่า ย่อมได้พรเหล่านั้นทั้งหมด.

ท้าวสักกเทวราชทรงประทานพร ๑๐ ประการแล้ว เป็นผู้มีจิตบันเทิง มีพระมนัสยินดีแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
จบทศพรคาถา

.. อรรถกถา มหาเวสสันตรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280893อรรถกถาชาดก 281045
เล่มที่ 28 ข้อ 1045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=6511&Z=8340
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]