ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อรรถกถา วิธุรชาดก
ว่าด้วย พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

หน้าต่างที่   ๖ / ๖.

จบกาฬาคิรีบรรพตกัณฑ์
พระยานาคทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
ท่านผู้เป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพ ที่ตนไม่เคยเห็นแล้ว เป็นผู้ถูกภัย คือความตายคุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัวและไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยมฺหิโต แปลว่า ถูกความกลัวคุกคาม. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ดูก่อนบัณฑิต ท่านเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกภัย คือความตายคุกคามแล้ว จึงไม่ถวายโอวาทข้าพเจ้า เหตุเช่นนี้ ไม่ใช่อาการของบุคคลผู้มีปัญญาเลย.

เมื่อพระยานาคทรงประสงค์จะให้ถวายบังคมอย่างนั้น พระมหาสัตว์หาได้ทูลตรงๆ ว่า ข้าพระองค์ไม่ควรถวายบังคมพระองค์ ดังนี้ไม่ เป็นผู้ฉลาดในอุบายทูลด้วยปรีชาญาณของตนว่า ข้าพเจ้าไม่ถวายบังคมพระองค์ เพราะข้าพเจ้าต้องโทษที่บุคคลจะพึงแทงด้วยลูกศรเสียแล้ว ดังนี้แล้ว จึงทูลด้วย ๒ คาถาว่า
ข้าแต่พระยานาคราช ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัว และไม่เป็นผู้อันภัย คือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้ นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่า เขาจะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตน อย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย พระเจ้าข้า.


คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า
ข้าแต่พระยานาค ข้าพเจ้ามาเห็นนาคพิภพที่ตนยังไม่เคยเห็น ย่อมไม่กลัว และภัย คือความตายคุกคามไม่ได้ด้วย เพราะขึ้นชื่อว่าภัย คือความตาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เช่นข้าพเจ้า อนึ่ง นักโทษที่ต้องถูกฆ่า ไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาตผู้จะฆ่าตน หรือเพชฌฆาตไม่พึงยังนักโทษที่จะต้องถูกฆ่าให้กราบไหว้ตน นรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน อย่างไรหนอ หรือว่าผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงยังบุคคลผู้ที่ตนจะฆ่าให้กราบไหว้ตน อย่างไรเล่า เพราะกรรม คือกราบไหว้ของผู้ต้องถูกฆ่า และการให้กราบไหว้ของผู้จะฆ่านั้น ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาเลย ก็ข้าพระองค์ได้ทราบแล้วว่า พระองค์รับสั่งจะให้ฆ่าข้าพเจ้าในที่นี้ เหตุนั้นข้าพเจ้าจะถวายบังคมพระองค์ อย่างไรได้.

พระยานาคราชทรงสดับดังนั้น ทรงพอพระทัย เมื่อจะทรงทำความชมเชยพระมหาสัตว์ ได้ทรงภาษิต ๒ คาถาว่า
ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตน อย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.


บัดนี้ พระมหาสัตว์ เมื่อทำปฏิสันถารกับพระยานาคราช จึงทูลว่า
ข้าแต่พระยานาคราช วิมานของฝ่าพระบาทนี้เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพและการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ทรงได้มา อย่างไรหนอ วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มา เพราะอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายแก่พระองค์ ข้าแต่พระยานาคราช ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตว อิทํ ความว่า วิมานอันเกิดแต่ยศสำหรับเป็นพระเกียรติยศของพระองค์นี้ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง แต่ปรากฏเสมือนของเที่ยง ท่านอย่ากระทำความชั่ว เพราะอาศัยยศเลย เพราะฉะนั้น ด้วยบทนี้ พระมหาสัตว์จึงขอชีวิตของตนไว้.
บทว่า อิทฺธิ ความว่า ฤทธิ์ของนาคก็ดี ความรุ่งเรืองแห่งนาคก็ดี กำลังกายก็ดี ความเพียรอันเป็นไปทางจิตก็ดี การเสด็จอุบัติในนาคพิภพก็ดี ได้มีแก่พระองค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้น ข้าแต่พระยานาค ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะพระองค์ วิมานนี้พระองค์ทรงได้ด้วยอาการ อย่างไรหนอ พระองค์อาศัยใครจึงได้ หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล หรือพระองค์ทรงทำด้วยมือของพระองค์เอง หรือว่าเทวดาทั้งหลายถวายพระองค์ ข้าแต่พระยานาคผู้ทรงเป็นเจ้าพิภพบาดาลวิมานนี้ พระองค์ทรงได้ด้วยประการใด ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยประการนั้น พระเจ้าข้า.

พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
วิมานนี้ เราได้มาเพราะอาศัยอะไร ก็หามิได้. เกิดขึ้นตามฤดูกาล ก็หามิได้. เรามิได้ทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้. แต่วิมานนี้ เราได้มาด้วยบุญกรรม อันไม่ลามกของตนเอง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปาปเกหิ แปลว่า ไม่ลามก.

พระมหาสัตว์ทูลถามว่า
ข้าแต่พระยานาค อะไรเป็นวัตรของพระองค์ และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันพระองค์ทรงประพฤติดีแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺเต วตฺตํ ความว่า ข้าแต่พระยานาค ในภพก่อน อะไรเป็นวัตรของพระองค์ อนึ่ง อะไรเป็นการอยู่พรหมจรรย์ของพระองค์ อิฏฐวิบุลผล มีความเป็นผู้มีฤทธิ์ เป็นต้นนี้ เป็นวิบากสุจริตเช่นไร.

พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
เราและภรรยา เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีศรัทธาเป็นทานบดี ในครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย และเราได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ. เราทั้งสองได้ถวายทานคือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีบ ที่นอนที่พักอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ ทานที่ได้ถวายแล้ว โดยเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็น พรหมจรรย์ของเรา. ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสโลเก ได้แก่ ในกาลจัมปากนคร แคว้นอังคะ.
บทว่า ตํ เม วตฺตํ ความว่า ทานที่เราให้โดยเคารพนั้นนั่นแล การสมาทานวัตร และพรหมจรรย์ของเรา อิฏฐวิบุลผลมีฤทธิ์เป็นต้นนี้ เป็นวิบากแห่งสุจริตที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้วนั้น.

พระมหาสัตว์ทูลเป็นคาถาว่า
ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาททรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่า ทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรม ตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไป ฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชานาสิ ความว่า ถ้าว่า วิมานนั้นพระองค์ทรงได้ ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ชื่อว่า ทรงทราบผลแห่งบุญทั้งหลาย และทรงทราบการเสด็จอุบัติในวิมาน อันเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญ.
บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่วิมานนี้พระองค์ได้มา เพราะเหตุแห่งบุญ. บทว่า ปุน มาวเสสิ ความว่า ขอพระองค์จงประพฤติธรรม ให้ได้เสด็จอยู่ครองนาคพิภพนี้ แม้ต่อไปอีก.

พระยานาคตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา ตามที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.


พระมหาสัตว์ทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระยานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาค มีพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาททรงรักษาความไม่ประทุษร้าย ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุ แล้วจักเสด็จไปสู่เทวโลก อันสูงกว่านาคพิภพ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โภคี ความว่า นาคผู้มีโภคสมบัติ. บทว่า เตสุ ความว่า ขอพระองค์จงอย่าประทุษร้ายเป็นนิตย์ ด้วยกายกรรมและวจีกรรม ในนาคผู้มีโภคสมบัติมีพระโอรสและพระธิดาเป็นต้นนั้น. บทว่า อนุปาลย ความว่า จงตามรักษาความไม่ประทุษร้าย กล่าวคือความมีเมตตาจิต ในพระโอรสและพระธิดาเป็นต้น และในสัตว์ที่เหลืออย่างนี้. บทว่า อุทฺธํ อิโต ความว่า พระองค์จักเสด็จไปสู่เทวโลกที่สูงกว่านาคพิภพนี้ เพราะเมตตาจิตจัดว่าเป็นบุญยิ่งกว่าทาน.

พระยานาคได้ทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว ทรงพอพระทัยแล้ว จึงทรงดำริว่า บัณฑิตไม่อาจจะทำการเนิ่นช้าอยู่ภายนอก เราควรจะแสดงเธอแก่พระนางวิมลา ให้พระนางเธอได้ฟังสุภาษิตสงบระงับความปรารถนา แล้วส่งบัณฑิตกลับไป เพื่อให้พระเจ้าธนัญชัยทรงชื่นชมโสมนัส ดังนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า
ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุด พระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้น พรากจากท่านแล้วย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนที่ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สชีโว แปลว่า อำมาตย์. บทว่า สเมจฺจ ความว่า มาพร้อมกับท่าน. บทว่า อาตุโรปิ ความว่า แม้เป็นไข้หนัก.

พระมหาสัตว์สดับพระกระแสรับสั่งดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงทำความชมเชยพระยานาค จึงทูลเป็นคาถาอีกว่า
ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทตรัสธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประโยชน์อย่างล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมีภยันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ความว่า ท่านแสดงธรรมแก่สัตบุรุษ คือบัณฑิตทั้งหลายแน่แท้. บทว่า อตฺถปทํ ได้แก่ ส่วนที่เป็นประโยชน์. บทว่า เอตาทิสิยาสุ ความว่า คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพเจ้า ย่อมปรากฏในเมื่อได้ประสพภัยอันตรายเป็นเช่นนี้ๆ แหละ พระเจ้าข้า.

พระยานาคทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีร่าเริงเป็นนักหนา แล้วตรัสพระคาถาว่า
ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะ ในการเล่นสกาจึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่า ได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ ได้อย่างไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขาหิ โน ความว่า ท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้า. บทว่า ตายํ ตัดเป็น ตํ อยํ. บทว่า มุธานุลทฺโธ ความว่า ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือชนะด้วยเล่นสกาจึงได้ท่านมา. บทว่า อติมายมาห ความว่า ปุณณกยักษ์นี้พูดว่า เราได้บัณฑิตมาโดยชอบธรรม. บทว่า กถํ ตุวํ หตฺถมิมสฺสมาคโต ความว่า ท่านมาถึงเงื้อมมือปุณณกยักษ์นี้ ได้อย่างไร.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระนาคนั้นด้วยคาถาว่า
ปุณณกยักษ์นี้เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดี ในอินทปัตตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้น อันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยกรรมอันสาหัส พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย มิสฺสโร ความว่า พระราชาพระองค์ใดเป็นอิสราธิบดี ของข้าพระองค์. บทว่า อิมสฺสทาสิ ความว่า ได้ให้แก่ปุณณกยักษ์นี้.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ในกาลนั้น พระยานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิตของวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์แล้วทรงชื่นชมโสมนัส มีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทราม เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายาตรัสว่า
ดูก่อนพระน้องวิมลา เพราะเหตุใด พระน้องจึงดูผอมเหลืองไป เพราะเหตุใด พระน้องจึงไม่เสวยกระยาหาร ก็คุณงามความดีของวิธุรบัณฑิต ผู้ที่พระน้องต้องประสงค์ดวงหทัย เป็นผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง เช่นนี้นั้นของเราไม่มี ผู้นี้ คือวิธุรบัณฑิต มาถึงแล้วจะทำความสว่างไสวให้แก่พระน้อง เชิญพระน้องตั้งหทัยฟังถ้อยคำของท่าน การที่จะได้เห็นท่านอีก เป็นการหาได้ยาก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเวกฺขิ แปลว่า เข้าไปแล้ว. บทว่า เยน ความว่า ดูก่อนพระน้องวิมลาผู้เจริญ เจ้าซูบผอมเหลืองไป เพราะเหตุไร และเพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่เสวยกระยาหาร.
บทว่า น จ เม ตาทิโส วณฺโณ ความว่า ก็เกียรติคุณของวิธุรบัณฑิตเช่นนี้ อย่างที่เราและใครๆ อื่นมิได้มี ได้แผ่กระฉ่อนไปตลอดพื้นปฐพีและเทวโลก. วิธุรบัณฑิตผู้ที่เจ้าต้องการดวงหทัยนั้น เป็นผู้บรรเทาความมืดของชาวโลกทั้งสิ้นมาถึงแล้ว จะทำความสว่างไสวในอรรถธรรมแก่เจ้า ณ บัดนี้.
ด้วยบทว่า ปุน นี้ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าการเห็นวิธุรบัณฑิตนี้อีก หาได้ยากเบื้องหน้าแต่นี้.

พระนางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญากว้างขวาง ดังแผ่นดินนั้นแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ ขึ้นอัญชลี และตรัสกะวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หฏฺเฐน ภาเวน แปลว่า ผู้มีจิตยินดี. บทว่า ปตีตรูปา ได้แก่ เกิดความโสมนัส.

พระนางวิมลาเทวี จึงตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนยังไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกมรณภัยคุกคามแล้ว เพราะเหตุไร จึงไม่กลัวและไม่ถวายบังคมดิฉันเล่า อาการที่ทำเช่นนี้ ดูเหมือนไม่ใช่อาการของผู้มีปัญญา.


วิธุรบัณฑิตกราบทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัว และไม่เป็นผู้อันภัย คือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะกราบไหว้บุคคลผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตน อย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ พระเจ้าข้า.


พระนางวิมลาตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจึงจะกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้เล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระนางวิมลาเทวี จึงทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ ฝ่าพระบาทได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ ฝ่าพระบาทได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายฝ่าพระบาท ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.


ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวี ตรัสบอกแก่พระมหาสัตว์ว่า
วิมานนี้ ดิฉันได้มาเพราะอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้. ดิฉันมิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้. แต่วิมานนี้ ดิฉันได้มาด้วยบุญกรรม อันไม่ลามกของตนเอง.


พระมหาสัตว์กล่าวว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็นพรหมจรรย์ของฝ่าพระบาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานอันใหญ่ของฝ่าพระบาทนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว พระเจ้าข้า.


ลำดับนั้น พระนางวิมลาเทวีตรัสบอกพระมหาสัตว์ว่า
ดิฉันและพระสวามีของดิฉันเป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี. ในครั้งนั้น เรือนของดิฉันเป็น ดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และดิฉันได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ.
ดิฉันและพระสวามี เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกนั้น ได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้เครื่องประทีป ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำ โดยเคารพ. ทานที่ดิฉันได้ถวายโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของดิฉัน และการสมาทานนั้น เป็นพรหมจรรย์ของดิฉัน.
ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กราบทูลพระนางวิมลาเทวีนั้นว่า
ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาททรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ชื่อว่า ทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาทจงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไป ฉะนั้นเถิด พระเจ้าข้า.


พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ดูก่อนบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ไม่มีสมณพราหมณ์ ที่เราจะพึงถวายข้าวและน้ำเลย ดิฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ตามที่ดิฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานนี้ ต่อไปเถิด.


พระมหาสัตว์ทูลว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ พระมิตรและข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาทจงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย ในนาคมีพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้นด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาทจงทรงรักษาความไม่ประทุษร้ายด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ ตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลก อันสูงส่งกว่านาคพิภพนี้ พระเจ้าข้า.


พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชา ผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้ว พึงได้รับความสุข.


พระมหาสัตว์ทูลว่า
ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ฝ่าพระบาทตรัสถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็นบทอันแสดงประโยชน์ล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคล ผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมีภยันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.


พระนางวิมลาเทวีตรัสว่า
ขอท่านจงบอกแก่ดิฉัน ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกแก่ดิฉัน ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสกา จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้กล่าวว่าได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ ได้อย่างไร.


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลกะพระนางวิมลาเทวีนั้นว่า
ปุณณกยักษ์นี้เล่นสกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดี ในอินทปัตตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้น อันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาด้วยกรรมอันสาหัส พระเจ้าข้า.


บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคาถาเหล่านี้ โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ในหนหลังนั้นเถิด.

พระนางวิมลาเทวีทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์ ทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงพาพระมหาสัตว์ไปให้สรง ด้วยน้ำหอมเป็นจำนวนพันหม้อ ในเวลาสรงเสร็จ ทรงประทานเครื่องประดับมีผ้าทิพย์ และของหอมระเบียบทิพย์ เป็นต้น ในเวลาประดับตกแต่งเสร็จแล้ว ได้ประทานทิพยโภชน์. พระมหาสัตว์บริโภคโภชนาหารแล้ว สั่งให้ปูอาสนะที่เขาประดับไว้แล้ว นั่งเหนือธรรมาสน์ที่เขาประดับ แล้วแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ท้าววรุณนาคราชตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิต ฉันใด แม้พระนางวิมลานาคกัญญา ก็ตรัสถามปัญหากะวิธุรบัณฑิต ฉันนั้น. วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ อันท้าววรุณนาคราชตรัสถามแล้ว ได้พยากรณ์ปัญหาให้ท้าววรุณนาคราชทรงยินดี ฉันใด วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ แม้พระนางวิมลานาคกัญญาตรัสถามแล้ว ก็พยากรณ์ให้พระนางวิมลานาคกัญญาทรงยินดี ฉันนั้น.
วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ทราบว่า พระยานาคราชผู้ประเสริฐ และพระนางนาคกัญญาทั้งสองพระองค์นั้น ทรงมีพระทัยชื่นชมโสมนัส ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทอย่าทรงพระวิตกว่า ทรงกระทำกรรมของคนผู้ประทุษร้ายมิตร และอย่าทรงพระดำริว่า จักฆ่าบัณฑิตนี้ ขอฝ่าพระบาทจงกระทำกิจ ด้วยเนื้อหทัยของข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาททรงพระประสงค์เถิด ถ้าฝ่าพระบาทไม่ทรงสามารถจะฆ่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะทรงทำถวายตามพระอัธยาศัยของฝ่าพระบาทเอง พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฉมฺภี แปลว่า ไม่ครั่นคร้าม. บทว่า อโลมหฏฺโฐ ได้แก่ ไม่หวาดเสียวเพราะความกลัวเลย. บทว่า อิจฺจพฺรวิ ความว่า ได้กล่าวดังนั้นด้วยอำนาจการพิจารณา. บทว่า มา เภถยิ ความว่า พระองค์อย่ากลัวไปเลยว่า เราจะทำกรรม คือการประทุษร้ายต่อมิตร และอย่าคิดสงสัยไปเลยว่า บัดนี้ เราจักฆ่าบัณฑิตนี้ หรืออย่างไรหนอ วิธุรบัณฑิตเรียกวรุณนาคราชว่า นาค. บทว่า อยาหมสฺมิ ตัดเป็น อยํ อหมสฺมิ บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า สยํ กริสสามิ ความว่า ถ้าท่านไม่อาจจะฆ่าเรา ด้วยคิดว่า เราได้ฟังธรรมในสำนักของบัณฑิตนี้ไซร้ ข้าพเจ้าจักกระทำถวายเองให้สมกับพระอัธยาศัยของพระองค์.

พระยานาคราชตรัสว่า
ปัญญานั่นเอง เป็นดังใจของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก ปุณณกยักษ์จงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุรัฐ ในวันนี้ทีเดียว.


ก็แล พระยาวรุณนาคราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงได้พระราชทานนางอิรันทตี ให้แก่ปุณณกยักษ์. ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทตีสมปรารถนา ดังนั้นจึงมีจิตยินดี ได้เจรจาปราศัยกับพระมหาสัตว์เจ้าแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ตฺยมฺห ความว่า ข้าพเจ้าทั้งสองคนนั้นยินดีนักหนาด้วยปัญญาของท่าน ยักษ์เสนาบดีผู้มีชื่อไม่บกพร่อง ซึ่งได้แก่ปุณณกยักษ์นี้. บทว่า ลภตชชทารํ ความว่า วันนี้ขอปุณณกยักษ์เสนาบดีจงได้ภริยา เราจะให้อิรันทตีธิดาแก่ท่าน. บทว่า ปาปยาตุ ความว่า ในวันนี้ ปุณณกยักษ์จงไปส่งท่านให้ถึงอินทปัตตนครแคว้นกุรุ นั่นแล.

พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทตีนาคกัญญาแล้ว มีใจชื่นชม โสมนัส ปีติปราโมทย์ ได้กล่าวกะวิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐว่า ข้าแต่ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้ามีความพร้อมเพรียงกันกับภริยา ข้าพเจ้าจะทำกิจตอบแทนท่าน ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณีดวงนี้แก่ท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐ ในวันนี้ทีเดียว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มณิรตนํ ความว่า ดูก่อนบัณฑิต เราเลื่อมใสในอุปการะคุณของท่าน เราควรจะทำกิจอันสมควรแก่ท่าน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณี อันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดินี้แก่ท่าน และข้าพเจ้าจะไปส่งท่านให้ถึงอินทปัตตนครแคว้นกุรุ ในวันนี้ด้วย.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะกระทำความชมเชยแก่ปุณณกยักษ์นั้น ได้กล่าวคาถานอกนี้ว่า
ดูก่อนกัจจานะ ท่านจงมีความไมตรีสนิทสนมกับภรรยาที่น่ารัก อันไม่มีใครทำให้แตกแยกตลอดไป ท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบาน มีปีติโสมนัส ท่านได้ให้แก้วมณีแก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังอินทปัตตนครด้วยเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺเชยฺยเมสา ความว่า ดูก่อนท่านผู้กัจจายนโคตร ท่านพร้อมกับภริยาเป็นที่รักของท่าน จงเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงปรองดอง มีความรักใคร่กันตลอดไป จงเป็นผู้มีความสุขสวัสดี มีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู พระมหาสัตว์กล่าวความที่ปุณณกยักษ์นั้น มีความพรั่งพร้อมด้วยปีติ ด้วยคำมีอาทิว่า อานนฺทจิตฺโต เป็นผู้มีจิตบันเทิง ดังนี้.
บทว่า นยินฺทปตฺตํ ตัดเป็น นย อินฺทปตฺตํ แปลว่า จงนำไปสู่อินทปัตตนคร.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ปุณณยักษ์นั้นเชิญวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ผู้มีปัญญาไม่ทราม ให้นั่งบนอาสนะข้างหน้าของตน ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ไปถึงอินทปัตตนครเร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์พึงไปถึง.


ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า
อินทปัตตนครปรากฏอยู่โน้น และป่ามะม่วงอันน่ารื่มรมย์ ก็เห็นอยู่เป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกับภริยา และท่านก็ได้ถึงที่อยู่ของตนแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาปิ คจฺเฉ ความว่า ขึ้นชื่อว่าใจย่อมไม่ไป. แต่เมื่อใจถือเอาอารมณ์ในที่ไกล เขาจึงเรียกว่าใจไปแล้ว. เพราะฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในบทนี้อย่างนี้ว่า การไปของม้าสินธพมโนมัยนั้นได้เป็นการไปที่เร็วกว่าใจที่ถือเอาอารมณ์.
บทว่า เอตินฺทปตฺตํ ความว่า เมื่อแสดงแก่เธอ ผู้นั่งอยู่บนหลังม้านั่นแล จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
ด้วยบทว่า สกํ นิเกตํ ปุณณกยักษ์กล่าวว่า ท่านถึงที่อยู่ของท่านแล้ว.

ก็ในวันนั้นเวลาใกล้รุ่ง พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชได้ทรงพระสุบินว่า มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้พระทวารพระราชนิเวศน์ ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วไปด้วยศีล ผลเต็มไปด้วยปัญจโครส ห้อมล้อมไปด้วยช้าง และม้าที่ประดับประดาแล้ว มหาชนพากันมาทำสักการะอย่างใหญ่ ประคองอัญชลีแก่ต้นไม้นั้นเป็นอันมาก. ลำดับนั้น ยังมีบุรุษดำคนหนึ่งนุ่งผ้าแดง ทัดดอกไม้แดง ถืออาวุธมาตัดรากต้นไม้นั้นให้ขาดแล้ว เมื่อมหาชนร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ ได้ลากเอาต้นไม้นั้นไป ไม่กี่วันก็นำเอามาส่งคืนไว้ในที่เดิมอีก แล้วหลีกไปดังนี้.
พระราชาทรงพิจารณาพระสุบินนั้นอยู่ ทรงสันนิษฐานว่า ใครๆ คนอื่นที่เป็นดุจต้นไม้ใหญ่มิได้มี ต้องเป็นวิธุรบัณฑิต ใครๆ คนอื่นที่เปรียบกับบุรุษผู้มาตัดรากต้นไม้นั้น เมื่อมหาชนร้องไห้ปริเทวนาการอยู่ ลากเอาไปแล้วมิได้มี ต้องเป็นมาณพผู้เอาวิธุรบัณฑิตไป. วันพรุ่งนี้ มาณพจักนำวิธุรบัณฑิตมาประดิษฐานไว้ที่ทวารแห่งโรงธรรมสภาแล้ว จักหลีกไป เปรียบกับบุรุษผู้นำเอาต้นไม้นั้นมาคืนไว้ ณ ที่เดิมอีก แล้วไปเสีย วันนี้ เราจักได้เห็นวิธุรบัณฑิตแน่นอน.
ครั้นทรงสันนิษฐานดังนี้แล้ว ทรงมีพระหทัยโสมนัส จึงมีพระดำรัสสั่งให้ประดับพระนครทั้งสิ้น และให้จัดแจงโรงธรรมสภา ตั้งธรรมาสน์ในอลงกตรัตนมณฑป ครั้นเสร็จแล้ว ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงธรรมสภา มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์และหมู่อำมาตย์ ราษฎรชาวพระนครทั้งสิ้นแวดล้อม ทรงรอคอยการมาของวิธุรบัณฑิตอยู่ ทรงปลอบโยนมหาชนให้สบายใจไปพลางว่า พวกท่านจักเห็นบัณฑิตในวันนี้ อย่าพากันวิตกไปนักเลย. ฝ่ายปุณณกยักษ์พาบัณฑิตลงประดิษฐาน ณ ท่ามกลางบริษัท ที่ประตูแห่งโรงธรรมสภา ลาพระมหาสัตว์ แล้วพานางอิรันทตีไปสู่เทวนครของตน แล้วแล.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปุณณกยักษ์ผู้มีวรรณะดี วางวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ลงในท่ามกลางสภา แล้วขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น ทรงพระปรีดาปราโมทย์ เป็นอย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิต ด้วยพระพาหาทั้งสอง ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสภา ตรงพระพักตร์ของพระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโนมวณฺโณ แปลว่า ผู้มีวรรณะไม่ต่ำ คือผู้มีวรรณะอันสูงสุด. บทว่า อวิกมฺปยํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชานั้นทรงประคองวิธุรบัณฑิต ไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อ ในท่ามกลางมหาชน จับมือทั้งสองให้นั่งบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ให้บ่ายหน้าตรงพระพักตร์ของพระองค์.

ลำดับนั้น พระราชาทรงบันเทิงกับพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะทำปฏิสันถารด้วยพระวาจาอันไพเราะ จึงตรัสพระคาถาว่า
ท่านเป็นผู้แนะนำเราทั้งหลาย เหมือนนายสารถีนำรถที่หายไปแล้วกลับมาได้ ฉะนั้น ชาวกุรุรัฐทั้งหลายย่อมยินดี เพราะได้เห็นท่าน ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ท่านหลุดพ้นจากมาณพมา ได้อย่างไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นฏฺฐํ ความว่า ท่านช่วยแนะนำเราในอันทำประโยชน์เกื้อกูล โดยเหตุคือโดยนัย เหมือนนายสารถีนำรถที่หายไปแล้ว ให้กลับเข้ามาได้ ฉะนั้น. บทว่า นนฺทนฺติ ตํ ความว่า ชนชาวกุรุรัฐเหล่านี้ พอเห็นท่านย่อมยินดีเพราะการได้เห็นท่าน. บทว่า มาณวสฺส ความว่า ท่านได้พ้นจากสำนักของมาณพได้อย่างไร หรือว่าการที่มาณพปล่อยให้ท่านพ้นไป เป็นเพราะเหตุอะไร.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กราบทูลพระราชานั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ผู้ทรงแกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน บุรุษที่ฝ่าพระบาทตรัสเรียกมาณพนั้น ไม่ใช่มนุษย์ เป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ พระเจ้าข้า ฝ่าพระบาททรงเคยได้ยินชื่อมาแล้ว ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร พระยานาคทรงพระนามว่าวรุณ ผู้ครองนาคพิภพ มีพระกายใหญ่โต สะอาด ทรงสมบูรณ์ด้วยวรรณะและกำลัง ปุณณกยักษ์รักใคร่นางนาคกัญญานามว่า อิรันทตีพระธิดาของพระยานาคราชนั้น จึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวบางร่างน้อย น่ารักใคร่ แต่ปุณณกยักษ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา ส่วนข้าพระองค์เป็นผู้อันพระยานาคทรงอนุญาตให้มา และปุณณกยักษ์ให้แก้วมณีมาด้วย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ มาณโว ตฺยาภิวทิ ความว่า พระมหาสัตว์กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน พระองค์ทรงเรียกคนใดว่ามาณพ คนนั้นไม่ใช่มนุษย์เลย เป็นยักษ์ชื่อว่าปุณณกะ. บทว่า ภูมินฺธโร แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาเพียงดังว่าแผ่นดิน อยู่ในนาคพิภพ. บทว่า สา นาคกญฺญา ความว่า ปุณณกยักษ์นั้นรักใคร่นางอิรันทตีนาคกัญญาผู้เป็นธิดาของพระยานาคนั้น พยายามเพื่อฆ่าข้าพระองค์ให้ตาย.
บทว่า ปิยาย เหตุ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระยานาคนั้นเลื่อมใสในการแก้ปัญหาในเรื่องอุโบสถ ๔ บูชาข้าพระองค์ด้วยแก้วมณี แล้วเสด็จกลับไปยังนาคพิภพ เมื่อพระนางวิมลาเทวีทูลถามว่า แก้วมณีของพระองค์หายไปไหน พระเจ้าข้า จึงทรงพรรณนาความที่ ข้าพระองค์เป็นธรรมกถึก พระนางวิมลาเทวีนั้นมีพระประสงค์จะสดับธรรมกถาของข้าพระองค์ ได้ยังความปรารถนา ด้วยดวงหทัยของข้าพเจ้าให้เกิดขึ้น พระยานาคทรงเข้าใจผิด ตรัสกะนางอิรันทตีผู้เป็นธิดาของตนว่า มารดาของเจ้าปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เจ้าจงไปแสวงหาสามีผู้สามารถจะนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น มาให้ได้ นางอิรันทตีเที่ยวแสวงหาสามีอยู่ ได้พบปุณณกยักษ์ผู้เป็นหลานของท้าวกุเวรเวสวัณ ทราบว่าปุณณกยักษ์นั้นมีความปฏิพัทธ์ในตน จึงนำไปสู่สำนักพระบิดา.
ลำดับนั้น พระยานาคตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า เมื่อเจ้าสามารถนำดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตมาให้ จักได้นางอิรันทตีลูกสาวของเรา ปุณณกยักษ์จึงนำเอาแก้วมณี อันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ จากเวปุลบรรพตมาพนันเล่นสกากับพระองค์ ได้ข้าพระองค์แล้วพักอยู่ที่เรือนของข้าพระองค์ ๓ วัน บอกให้ข้าพระองค์จับหางม้าแล้วพาไป ทุบตีข้าพระองค์ที่ต้นไม้บ้างที่ภูเขาบ้างในหิมวันต์ประเทศ เมื่อไม่อาจให้ข้าพระองค์ตายได้ จึงบ่ายหน้าต่อลมเวรัมภะ ควบม้าไปในกองลม ๗ ครั้ง แล้ววางข้าพระองค์ไว้บนยอดเขากาฬาคิรีบรรพตที่สูงได้ ๖๐ โยชน์ ทำกรรมอย่างนี้บ้างอย่างโน้นบ้างด้วยอำนาจแห่งเพศแห่งราชสีห์ เป็นต้น ก็ไม่อาจทำให้ข้าพระองค์ตายได้.
ข้าพระองค์ถามถึงเหตุที่เขาจะฆ่า เขาบอกเหตุนั้นให้ทราบโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จึงได้แสดงสาธุนรธรรมแก่เขา เขาได้สดับสาธุนรธรรมนั้น มีจิตเลื่อมใส ใคร่จะนำข้าพระองค์มาส่ง ณ ที่นี้ ครั้นเขามีความประสงค์จะมาส่งเช่นนั้น ข้าพระองค์จึงพาเขาไปสู่นาคพิภพ แสดงธรรมถวายพระยานาคและพระนางวิมลาเทวี นาคบริษัททั้งหมดพากันเลื่อมใสในธรรมเทศนาทั้งนั้น พระยานาค ในเวลาท้าวเธอทรงยินดีในธรรมเทศนาของข้าพระองค์ ได้ประทานนางอิรันทตีแก่ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์ได้นางอิรันทตีแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงบูชาข้าพระองค์ด้วยแก้วมณี อันพระยานาคทรงบังคับให้มาส่งข้าพระองค์ จึงยกข้าพระองค์ขึ้นขี่ม้ามโนมัยสินธพ ส่วนตนเองนั่งบนอาสนะท่ามกลาง ให้ข้าพระองค์นั่งอาสนะข้างหน้า ให้นางอิรันทตีนั่งอาสนะข้างหลัง นำมาส่งในที่นี้ ยังข้าพระองค์ให้ลงที่ท่ามกลางบริษัทแล้ว พานางอิรันทตีไปสู่นครของตน แล้วแล.
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงดงามน่ารักนั้น ปุณณกยักษ์จึงได้พยายามจะฆ่าข้าพระองค์ ด้วยประการอย่างนี้ ก็แต่ว่า ปุณณกยักษ์ได้อาศัยข้าพระองค์ ในครั้งนั้นแล จึงได้เป็นผู้พร้อมเพรียง สมัครสังวาสกันกับภรรยา พระยานาคทรงสดับธรรมเทศนาของข้าพระองค์ทรงเลื่อมใสแล้ว ทรงอนุญาตให้ส่งข้าพระองค์กลับคืน และข้าพระองค์ได้แก้วมณี อันเป็นของบริโภคแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ อันสามารถให้สิ่งน่าใคร่ได้ทุกอย่าง ข้าพระองค์ได้มาจากสำนักแห่งปุณณกยักษ์ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงรับแก้วมณีดวงนี้.
ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ได้ถวายแก้วมณีแก่พระราชา แต่นั้นพระราชา เมื่อจะตรัสเล่าพระสุบินที่พระองค์ทรงเห็น ในเวลาจวนรุ่งแก่ชาวพระนคร จึงตรัสว่า ดูก่อนทวยราษฏร์ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเจ้าจงฟังสุบินนิมิตที่เราเห็นในเวลานี้ แล้วตรัสเป็นคาถาว่า

มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่งแล้วด้วยศีล. ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในอรรถและธรรม มีผลเต็มไปด้วยปัญจโครส ดารดาษไปด้วยช้างม้า และโคที่ประดับประดาแล้ว. เมื่อมหาชนทำสักการะบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลิดเพลิน ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องและดนตรีอยู่. ครั้นบุรุษดำคนหนึ่งมาไล่เสนา ที่ยืนล้อมอยู่ให้หนีไป จึงถอนต้นไม้นั้นลากไปไม่กี่วัน. ต้นไม้นั้นกลับมาประดิษฐาน อยู่ที่ประตูวังของเราอีกตามเดิม. ต้นไม้ใหญ่นั้น ก็ได้แก่วิธุรบัณฑิตนี้ซึ่งกลับมาสู่ที่อยู่ของเรา.
บัดนี้ พวกท่านทั้งปวงจงพากันทำสักการะเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือวิธุรบัณฑิตนี้ ขอเชิญบรรดาอำมาตย์ผู้มีจิตยินดี ด้วยยศที่ตนอาศัยเราได้แล้วทั้งหมดทีเดียว จงทำจิตของตนให้ปรากฏ ในวันนี้. ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงกระทำบรรณาการให้มาก พากันนำมาทำสักการะเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือวิธุรบัณฑิตนี้. สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ผูกไว้ชั้นที่สุด มฤคและปักษีที่ขังไว้เพื่อดูเล่น อันมีอยู่ในแคว้นของเรา สัตว์เหล่านั้นทุกจำพวก จงให้ปล่อยจากเครื่องผูกและที่ขังเสียทั้งหมด บัณฑิตนี้พ้นจากเครื่องผูก ฉันใดแล สัตว์เหล่านั้นจงพ้นจากเครื่องผูกและที่ขัง ฉันนั้นเหมือนกัน.
พวกชาวไร่ชาวนาทั้งปวงจงเลิกทำไร่ทำนาทั้งปวง พักเสียตลอดเดือนนี้ ให้พวกกลองตีกลอง เที่ยวประกาศชาวพระนคร พร้อมกันมาทำการสมโภชเป็นการใหญ่ จงอัญชลีพราหมณ์ทั้งหลายมาบริโภคข้าวสุกเจือด้วยเนื้อ พวกนักเลงสุราจงเว้นการเที่ยวดื่มสุรา จงเอาหม้อใส่ให้เต็มปรี่ไปนั่งดื่มอยู่ที่ร้านของตนๆ พวกหญิงแพศยาที่อยู่ประจำทาง จงเล้าโลมลวงล่อชายผู้มีความต้องการด้วยกิเลสเป็นนิตย์ อนึ่ง จงจัดการรักษาในแว่นแคว้นให้แข็งแรง อย่างที่พวกชนจะพึงเบียดเบียนกันไม่ได้ พวกท่านจงทำสักการเคารพนบนอบ ต้นไม้คือบัณฑิตนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลมยสฺส ความว่า กิ่งของต้นไม้นี้ ล้วนแล้วด้วยศีล.
บทว่า อตฺเถ จ ธมฺเม จ ความว่า ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในความเจริญและในสภาวธรรม.
บทว่า นิปาโก ความว่า ต้นไม้นั้นแล้วด้วยปัญญาประดิษฐานอยู่แล้ว.
บทว่า ควปฺผโล ความว่า ต้นไม้นั้นมีผล ล้วนแล้วด้วยปัญจโครส.
บทว่า หตฺถิควาสฺสฉนฺโน ความว่า ต้นไม้นั้นดารดาษไปด้วยฝูงช้างฝูงโค และฝูงม้าที่ประดับประดาแล้ว.
บทว่า นจฺจคีตตุริยาภินาทิเต ความว่า ครั้นเมื่อมหาชนกระทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลิดเพลินไป ด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นที่ต้นไม้นั้นอยู่ ครั้งนั้น บุรุษดำคนหนึ่งมาไล่ขับเสนา ที่ยืนล้อมถอนต้นไม้นั้นหนีไป ต้นไม้นั้นกลับมาประดิษฐานอยู่ที่ประตูของเราตามเดิม ต้นไม้ใหญ่นั้นก็ได้แก่บัณฑิตนี้ ซึ่งกลับมาสู่ที่อยู่ของเรา.
บัดนี้ พวกท่านทั้งปวงจงพากันทำสักการะ ยำเกรง เคารพ แก่ต้นไม้ คือบัณฑิตนี้ให้มาก.
บทว่า มม ปจฺจเยน ความว่า บรรดาอำมาตย์ผู้มีจิตยินดีด้วยยศ ที่ตนอาศัยเราได้มาแล้วทั้งหมดนั้น จงทำกิจของตนให้ปรากฏ ในวันนี้. บทว่า ติพฺพานิ ได้แก่ มากคือใหญ่. บทว่า อุปายนานิ ได้แก่ เครื่องบรรณาการทั้งหลาย. บทว่า เยเกจิ ความว่า โดยชั้นที่สุดหมายเอา มฤคและปักษีที่ขังไว้เพื่อดูเล่น. บทว่า มุญฺจเร แปลว่า จงให้ปล่อย. บทว่า อุนฺนงฺคลา มาสมิมํ กโรนฺตุ ความว่า ขอพวกชาวนาชาวไร่ทั้งปวง จงเลิกทำไร่ทำนาเสียตลอดเดือนนี้ ให้คนตีกลองเที่ยวประกาศไป ชาวพระนครพร้อมกันมาทำการสมโภชเป็นการใหญ่. บทว่า ภกฺขยนฺตุ ความว่า จงเชิญบริโภค. อักษรในบทว่า อมชฺชปา นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า พวกนักเลงสุรา เมื่อควรจะดื่มสุรา ย่อมมาประชุมกันดื่มอยู่ที่ร้านดื่มของตนๆ. บทว่า ปุณฺณาหิ ถาลาหิ แปลว่า ด้วยหม้ออันเต็ม. บทว่า ปลิสฺสุตาหิ ความว่า ไหลล้นออกจากหม้อเพราะมีสุราเต็มปรี่.
บทว่า มหาปถํ นิจจํ สมวฺหยนฺตุ ความว่า พวกหญิงแพศยาที่อยู่ประจำทางใหญ่ที่ตบแต่งไว้ คือที่ทางหลวง จงประเล้าประโลมลวงล่อชาย ผู้มีความต้องการด้วยกิเลส เป็นนิตย์. บทว่า ติพฺพํ แปลว่า แข็งแรง. บทว่า ยถา ความว่า ขอท่านทั้งหลายจัดการรักษาต้นไม้ อย่างที่พวกชาวนาจัดแจงรักษาต้นไม้ด้วยดี กระทำความยำเกรงต่อต้นไม้ ไม่เบียดเบียนกันและกัน. พวกท่านจักทำสักการะเคารพนบนอบต้นไม้ คือบัณฑิตนี้.

เมื่อพระราชาตรัส ดังนั้นแล้ว
พวกพระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พวกพ่อค้า ชาวนา พราหมณาจารย์ พวกกรมช้าง กรมราชองครักษ์ กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า และชาวชนบท ชาวนิคมทุกหมู่เหล่า ที่พระราชาทรงบังคับแล้ว พร้อมกันสั่งมหาชนให้ ปล่อยสัตว์จากเครื่องผูกและที่ขัง จัดแจงบรรณาการมีประการต่างๆ ส่งข้าวและน้ำ กับเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปถวายบัณฑิต ชนเป็นอันมาก เมื่อบัณฑิตมาแล้ว ได้เห็นบัณฑิตก็มีใจเลื่อมใส เมื่อบัณฑิตมาถึงแล้ว ก็พากันยกผ้าขาวโห่ร้องขึ้น ด้วยความยินดีปราโมทย์ เป็นที่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้แล.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิหารยุํ ความว่า พระสนมกำนัลในเป็นต้นเหล่านั้นที่พระราชาบังคับแล้วอย่างนี้ พร้อมกันสั่งมหาชนให้ปล่อยสัตว์ทั้งปวงจากที่คุมขังและที่ผูก จัดแจงบรรณาการมีประการต่างๆ ส่งข้าวและน้ำ พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการนั้นไปถวายบัณฑิต.
บทว่า ปณฺฑิตมาคเต ความว่า ชนเป็นอันมาก เมื่อบัณฑิตมาถึงแล้ว ได้เห็นบัณฑิตก็มีจิตเลื่อมใส.

ได้มีงานมหรสพสมโภช ตลอดกาลล่วงไปเดือนหนึ่ง จึงสำเร็จเสร็จสิ้น พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชน สั่งสอนพระราชา เหมือนกับว่าบำเพ็ญพุทธกิจให้สำเร็จ บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น และรักษาอุโบสถกรรม ตั้งอยู่ตลอดอายุ เมื่อสิ้นอายุได้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ชนชาวกุรุรัฐทั้งหมด ตั้งต้นแต่พระราชาตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ พากันรักษาศีล บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น บำเพ็ญทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ ครั้นสิ้นอายุแล้ว ได้ไปตามกรรมของตนนั่นแล.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราตถาคตก็ถึงพร้อมด้วยปัญญา ฉลาดในอุบายเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงประกาศสัจจะ ประชุมชาดก.
มารดาบิดาของบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็นมหาราชสกุล ในบัดนี้.
ภริยาใหญ่ของบัณฑิต ได้เป็น มารดาของพระราหุล.
บุตรคนโตของบัณฑิต ได้เป็น พระราหุล.
พระนางวิมลา ได้เป็น พระนางอุบลวรรณา.
พระยาวรุณนาคราช ได้เป็น พระสารีบุตร.
พระยาครุฑ ได้เป็น พระโมคคัลลานะ.
ท้าวสักกะเทวราช ได้เป็น พระอนุรุทธะ.
พระเจ้าโกรพยราช ได้เป็น พระอานนท์.
ปุณณกยักษ์ ได้เป็น พระฉันนะ.
ม้ามโนมัยสินธพ ได้เป็น พระยาม้ากัณฐกะ.
บริษัทนอกจากนั้น ได้เป็น พุทธบริษัท ในกาลนี้.
ส่วนวิธุรบัณฑิตในกาลนั้น ได้เป็น เราตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบัดนี้แล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา วิธุรชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=5626&Z=6510
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]