ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อรรถกถา วิธุรชาดก
ว่าด้วย พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

หน้าต่างที่   ๔ / ๖.

จบลักขกัณฑ์
ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิตเห็นบุตรธิดา และพวกญาติเข้าไปหาตนนั่งนิ่งเงียบอยู่. จึงกล่าวว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าวิตกไปเลย อย่าเศร้าโศก อย่าพิไรร่ำรำพันไปเลย. สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา. สมมติธรรมอันได้นามว่ายศ ย่อมมีวิบัติเป็นที่สุด. อนึ่ง เราจักแสดงจริยาวัตรของพระราชเสวกนามว่า ราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้เกิดยศแก่พวกเจ้า. พวกเจ้าจงตั้งใจสดับราชวสดีธรรมนั้น. ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงเริ่มแสดงราชวสดีธรรม ด้วยพุทธลีลา.

พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ก็วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริแห่งใจอันหดหู่ กล่าวกะบุตร ธิดา ญาติมิตรและเพื่อนสนิทว่า ดูก่อนลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราชวสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคล ผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุหทชฺชเน แปลว่า คนมีหทัยดี. บทว่า เอถยฺยา ความว่า วิธุรบัณฑิตนั้น เรียกบุตรและธิดา ด้วยคำร้องเรียกอันน่ารักว่า แม่และพ่อจงมาดังนี้. บทว่า ราชวสตึ ความว่า พวกเจ้าจงฟัง การบำรุงพระราชาที่เราจะกล่าว. บทว่า ยถา แปลว่า ด้วยเหตุใด. บทว่า ราชกุลมฺปตฺโต ความว่า บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุล คืออยู่ในสำนักพระราชา ย่อมประสพยศ.

พวกเจ้าจงฟังเหตุนั้น ดังที่เราจะกล่าวต่อไปนี้
ผู้เข้าสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบ ย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาท ในกาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปรกติ ปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้นย่อมทรงวางพระทัยและไม่ทรงรักษาความลับ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญาโต ได้แก่ ผู้มีคุณยังไม่ปรากฏ ผู้ยังไม่รับพระราชทานยศศักดิ์อันแจ่มชัด. บทว่า นาติสูโร แปลว่า ผู้ไม่แกล้วกล้า. บทว่า นาติทุมฺเมโธ แปลว่า ไม่ใช่ผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้ขลาด. บทว่า ยทาสฺส สีลํ ความว่า เมื่อใดพระราชาทรงประสบศีล ปัญญา ความสะอาด และทรงทราบอาจารสมบัติ กำลังแห่งญาณและความเป็นผู้สะอาดของเสวกนั้น. บทว่า อถ วิสฺสาสเต ตมฺหิ ความว่า เมื่อนั้น พระราชาทรงไว้วางใจในเสวกนั้น คือทรงกระทำความคุ้นเคย ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องปกปิดความลับของพระองค์ ย่อมทรงเปิดเผย.

ราชเสวกอันพระราชามิได้ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติเป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่างให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคอง ให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุลา ยถา ความว่า ราชเสวกอันพระราชาตรัสใช้ว่า เจ้าจงทำกรรมนี้ในราชกิจบางอย่าง เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ด้วยอำนาจการถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้น คือพึงเป็นผู้เสมอในกิจทั้งปวง เหมือนตราชูที่มีประการดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมไม่ยุบลง ไม่ฟูขึ้น ฉะนั้น. บทว่า ส ราชวสตึ ความว่า ราชเสวกเห็นปานนี้นั้น พึงอยู่ในราชตระกูล พึงปรนนิบัติพระราชา ก็แลเมื่อปรนนิบัติอย่างนี้ พึงได้ยศ. บทว่า สพฺพานิ อภิสมฺโภนฺโต ความว่า เมื่อทำราชกิจทุกอย่าง.

ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจ อันพระราชาตรัสใช้กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาด หวั่นไหวในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้. ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น วิกมฺเปยฺย ความว่า ราชเสวกไม่พึงหวั่นไหวปฏิบัติราชกิจเหล่านั้น. บทว่า โย จสฺส ความว่า หนทางที่เขาตบแต่งไว้เป็นอันดี เพื่อเป็นมรรควิถีเสด็จพระราชดำเนิน. บทว่า สุปฏิยาทิโต ความว่า เป็นราชเสวก แม้จะได้พระราชานุญาต ก็ไม่ควรเดินไปทางนั้น.

ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น รญฺโญ ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงบริโภคโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชา เพราะพระราชาย่อมทรงกริ้วต่อบุคคลเช่นนั้น. บทว่า สพฺพตฺถ ความว่า พึงเดินตามหลัง ปฏิบัติให้ต่ำกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ในกามคุณมีรูปเป็นต้น. บทว่า อญฺญํ กเรยฺย ความว่า พึงกระทำอากัปกิริยาอย่างอื่นจากราชอากัปกิริยา. บทว่า ส ราชวสตึ วเส ความว่า บุคคลนั้นพึงเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้ว พึงอยู่.

เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นผู้ฉลาด ไม่พึงทำการทอดสนิทในพระสนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คะนองกายวาจา มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภาวํ ได้แก่ ความประสงค์ด้วยอำนาจความคุ้นเคย. บทว่า อจปโล ได้แก่ ไม่เป็นผู้ตบแต่งประดับเป็นปกติ. บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้มีญาณแก่กล้า. บทว่า สํวุตินฺทฺริโย ได้แก่ ผู้สำรวมปิดกั้นอินทรีย์ ๖ ได้แล้ว คืออย่าพึงมองดูอวัยวะน้อยใหญ่ของพระราชา และไม่พึงมองดูตำหนักนางสนมกำนัลของพระราชานั้น. บทว่า มโนปณิธิ สมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยจิตอันไม่หวั่นไหว คือตั้งไว้ด้วยดี.

ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศรัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือและรถพระที่นั่ง ด้วยอาการทนงตนว่า เป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ควรเข้าเฝ้าให้ไกลนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นถนัด ในสถานที่ที่พอจะได้ยินพระราชดำรัส เบื้องพระพักตร์ของพระราชา.
ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้โดยเร็วไว เหมือนนัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตนว่า เป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกับพระราชา ซึ่งประทับอยู่ในราชบริษัท.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มนฺเตยฺย ความว่า เป็นราชเสวกไม่ควรเล่นหัวกับพระสนมกำนัลใน ไม่พึงเจรจาปราศรัยในที่ลับ. บทว่า โกสา ธนํ ความว่า อย่าลักลอบเอาพระราชทรัพย์จากพระคลังหลวง. บทว่า น มทาย ความว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย ราชเสวกไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย. บทว่า ทาเย ความว่า ไม่พึงฆ่า ไม่พึงเบียดเบียนมฤคที่พระราชทานอภัย. บทว่า โกจฺฉํ ได้แก่ พระแท่นภัทรบิฐ. บทว่า สมฺมโตมฺหิ ความว่า ราชเสวกอย่าทนงตนว่า เราเป็นคนโปรดปรานแล้วจะขึ้นร่วม. บทว่า สเมกฺขญฺจสฺส ติฏฺเฐยฺย ความว่า เป็นราชเสวกพึงยืนข้างหน้าของพระราชา ในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก พอที่จะได้ยินพระดำรัสที่ตรัสใช้. บทว่า สนฺทิสฺสนฺโต สภตฺตุโน ความว่า ราชเสวกนั้นพึงยืนอยู่ในที่ที่ท้าวเธอจะทอดพระเนตรเห็นได้.
บทว่า สุเกน ความว่า เป็นราชเสวกอย่าชะล่าใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา และเป็นคู่กันกับเรา อันพระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธเร็วไว ดุจนัยน์ตาถูกผงกระทบ ฉะนั้น. บทว่า น ปูชิโต มญฺญมาโน ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงถือตนว่า เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงนับถือบูชา ชะล่าใจจ้วงจาบเพ็ดทูลถ้อยคำที่หยาบคาย. บทว่า ผรุสํ ความว่า ไม่พึงเจรจาปราศรัยถ้อยคำ อันเป็นเหตุให้พระราชาทรงพระพิโรธ.

ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้. พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรส หรือพระราชวงศ์ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้นหรือชนบท ราชเสวกควรนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลทฺธทฺวาโร ลเภ ทฺวารํ ความว่า เราเป็นราชเสวก เราไม่ใช่คนเฝ้าประตู แต่ได้ประตูเป็นพิเศษ ไม่ทรงอนุญาตอย่าพึงเข้าไป แม้ได้ประตูอีก ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจึงเข้าไป.
บทว่า สโต ได้แก่ เป็นผู้ไม่ประมาท. บทว่า ภาตรํ สํ วา ได้แก่ พระราชโอรสหรือพระราชวงศ์.
บทว่า สมฺปคฺคณฺหาติ ความว่า ในกาลใด พระราชาตรัสกับเสวกทั้งหลายว่า เราจะให้บ้านโน้น หรือนิคมโน้นแก่ผู้โน้น. บทว่า น ภเณ เฉกปาปกํ ความว่า เป็นเสวกไม่พึงกล่าวสรรเสริญคุณหรือโทษ ในกาลนั้น.

พระราชาทรงปูนบำเหน็จรางวัล ให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์พึงโอนไปเหมือนคันธนู และพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เตสํ อนฺตรํ คจฺเฉ ความว่า เป็นราชเสวก ไม่ควรทูลขัดตัดลาภผลของคนเหล่านั้น. บทว่า วํโส วา ความว่า พึงเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนโอนไปในกาลที่พระราชาตรัส เหมือนยอดไม้ไผ่ลำที่สูงกว่าทุกลำในกอไผ่ ย่อมไหวในคราวที่ต้องลมพัด ฉะนั้น. บทว่า จาโปวูโนทโร ความว่า เป็นราชเสวกไม่พึงเป็นผู้มีท้องใหญ่เหมือนคันธนู ฉะนั้น. บทว่า อชิวฺหตา ความว่า พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นด้วยการพูดแต่น้อย เหมือนปลาย่อมไม่พูด เพราะไม่มีลิ้น. บทว่า อปฺปาสิ ความว่า พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ.

ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอประมาณ ไม่ควรพร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น พาฬฺหํ ความว่า เสวกไม่พึงมัวเมาด้วยสตรีบ่อยๆ. บทว่า เตชสํขฺยํ ความว่า เพราะว่า บุรุษเมื่อถึงอย่างนี้ ย่อมจะถึงความสิ้นไปแห่งเดช. เมื่อสัมผัสซึ่งเหตุให้สิ้นเดชนั้น อย่าพึงมัวเมามากนัก. บทว่า ทรํ แปลว่า ความกระวนกระวายแห่งกาย. บทว่า พาลฺยํ แปลว่า ซึ่งความเป็นผู้อ่อนกำลัง. บทว่า ขีณเมโธ ความว่า บุรุษผู้สิ้นปัญญา ด้วยอำนาจความยินดีด้วยกิเลสบ่อยๆ ย่อมถึงความเป็นโรคไอ เป็นต้น. บทว่า นาติเวลํ ความว่า ดูก่อนพ่อและแม่ทั้งหลาย เสวกไม่พึงพูดมากเกินประมาณ ในสำนักของพระราชาทั้งหลาย. บทว่า ปตฺเต กาเล ความว่า เมื่อถึงเวลาที่ตนจะต้องพูด. บทว่า อสํฆฏฺโฏ แปลว่า ไม่พูดกระทบกระทั่งบุคคลอื่น. บทว่า สมฺผํ แปลว่า คำไร้ประโยชน์. บทว่า คิรํ แปลว่า ถ้อยคำ.

ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญที่สุด ในตระกูล สมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปะฝึกตนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกล ซึ่งทูตที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่เจ้านายของตนไม่ควรพูด (เรื่องลับ) ในสำนักของพระราชาอื่น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินีโต ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาท. บทว่า สิปฺปวา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศิลปะที่จะพึงศึกษาในตระกูลของตน. บทว่า ทนฺโต ได้แก่ ผู้หมดพยศในทวารทั้ง ๖. บทว่า กตตฺโต ได้แก่ ผู้มีตนถึงพร้อมแล้ว (ทั้งวิทยาและจริยาสมบัติ). บทว่า นิยโต ได้แก่ ผู้มีสภาวะไม่หวั่นไหวเหตุอาศัยยศเป็นต้น. บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง. บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ ผู้เว้นแล้วจากความเลินเล่อในราชกิจที่ควรทำ. บทว่า ทกฺโข ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในตำแหน่งการบำรุง. บทว่า นิวาตวุตฺติ ได้แก่ มีความประพฤติอ่อนน้อม. บทว่า สปฺปติสฺโส ได้แก่ ผู้มีปกติอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ. บทว่า สณฺหิตุํ ปหิตํ ความว่า ทูตที่พระราชาอื่นส่งไปยังราชสำนักด้วยอำนาจรักษาความลับ และกระทำความลับให้ปรากฏ. ราชเสวก เมื่อจะกล่าวทูลเช่นนั้น พึงกล่าวต่อพระพักตร์กับพระราชา. บทว่า ภตฺตารญฺเญ วุทิกฺเขยฺย ความว่า พึงดูแลเอาใจใส่แต่เฉพาะเจ้านายของตนเท่านั้น. บทว่า น อญฺญสฺส จ ราชิโน ความว่า ราชเสวกไม่พึงพูดในสำนักของพระราชาอื่น.

ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวก เมื่อได้เข้าหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยเคารพ ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในสำนักได้. ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงเข้าไปสมาคมคบหากับสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกจจํ ปยิรูปาเสยฺย ความว่า ราชเสวกพึงเข้าไปทาบ่อยๆ ด้วยความเคารพ. บทว่า อนุวาเสยฺย ความว่า พึงเข้าจำอุโบสถประพฤติ. บทว่า ตปฺเปยฺย ความว่า พึงเลี้ยงดูด้วยการให้ จนพอแก่ความต้องการ. บทว่า อาสชฺช แปลว่า เข้าไปใกล้. บทว่า ปญฺเญ ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต. อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า อาสชฺช ปญฺหํ ดังนี้ก็มี. บทว่า ปญฺหํ ความว่า พึงถามถึงเหตุที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บัณฑิตทั้งหลาย พึงกระทำด้วยปัญญา.

ราชเสวกไม่พึงทำทาน ที่เคยพระราชทานในสมณะและพราหมณ์ ให้เสื่อมไป อนึ่ง เห็นพวกวณิพกซึ่งมาในเวลาพระราชทาน ไม่ควรห้ามอะไรเลย ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดราชกิจ รู้จักกาล รู้จักสมัย ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนพึงทำ จัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทินฺนปุพฺพํ ได้แก่ ทานวัตรที่ตกแต่งไว้โดยปกติ. บทว่า สมณพฺราหฺมเณ ได้แก่ สมณะหรือพราหมณ์. บทว่า วนิพฺพเก ได้แก่ ราชเสวกเห็นพวกวณิพกมา ในเวลาที่พระราชทาน ไม่พึงห้ามอะไรๆ เลย. บทว่า ปญฺญวา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาสอดส่อง. บทว่า พุทฺธิสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ไม่บกพร่อง. บทว่า วิธานวิธิโกวิโท ได้แก่ ผู้ฉลาดในส่วนเครื่องจัดแจงทาส กรรมกรและบุรุษเป็นต้น มีประการต่างๆ. บทว่า กาลญฺู ความว่า ราชเสวกพึงรู้ว่า กาลนี้เป็นกาลควรเพื่อจะให้ทาน กาลนั้นเป็นกาลเพื่อจะรักษาศีล กาลนี้เป็นกาลเพื่อจะกระทำอุโบสถกรรม. บทว่า สมยญฺญ ความว่า ราชเสวกพึงรู้ว่า สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรไถ สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรหว่าน สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรค้าขาย สมัยนี้เป็นสมัยที่ควรบำรุง. บทว่า กมฺมเธยฺเยสุ ได้แก่ ในการงานที่ตนควรกระทำ.

อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี ปศุสัตว์ และนาเสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณ แล้วให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับบริวารชนในเรือนแล้ว ให้หุงต้มพอประมาณ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว. แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งผ้าห่ม และอาหาร ควรตั้งพวกทาสหรือกรรมกร ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสุํ เขตฺตํ ได้แก่ ตระกูลปศุสัตว์ และสถานที่หว่านข้าวกล้า. บทว่า คนฺตฺวา แปลว่า มีการไปเป็นปกติ. บทว่า มิตํ ความว่า ควรตวงให้รู้ว่า ข้าวเปลือกมีประมาณเท่านี้ แล้วเก็บไว้ในยุ้งฉาง. บทว่า ฆเร ความว่า พึงนับบริวารชนในเรือน ให้หุงต้มพอประมาณเหมือนกัน. บทว่า สีเลสุ อสมาหิตํ ความว่า บุตรหรือพี่น้องวงศ์ญาติผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลาจารวัตร ไม่ควรตั้งไว้โดยฐานะที่ควรยกย่องให้ปกครองอะไรๆ. บทว่า อนงฺควา หิ เต พาลา ความว่า คำว่า องค์ นี้ ชาวโลกกล่าวหมายถึง ความเป็นญาติพี่น้องของมนุษย์ ญาติพี่น้อง แม้บางคนเหล่านี้ ท่านกล่าวว่า องคาพยพ เพราะมีส่วนเสมอญาติ แต่ผู้ทุศีล ฉะนั้น จึงย่อมไม่เป็นเสมอญาติ เพราะแต่งตั้งคนเช่นนั้น เหล่านั้นไว้ให้เป็นใหญ่ ก็เหมือนแต่งตั้งคนตาย ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ฉะนั้น เพราะพวกเหล่านั้นย่อมผลาญทรัพย์ให้พินาศ และผู้ผลาญทรัพย์หรือคนจน ย่อมไม่ยังราชกิจให้สำเร็จบริบูรณ์ได้. บทว่า อาสีนานํ ความว่า แต่ว่า ครั้นเขามาถึงแล้วควรให้วัตถุสักว่า อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เหมือนให้มตกภัตเพื่อคนตาย ฉะนั้น. บทว่า อุฏฺฐานสมฺปนฺเน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความขยันหมั่นเพียร.

ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภมาก พึงประพฤติตามเจ้านาย ประพฤติประโยชน์แก่เจ้านาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัย และพึงปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระราชประสงค์ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้. ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท ในเวลาผลัดพระภูษาทรง และในเวลาสรงสนาน แม้ถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธตอบ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโลโภ แปลว่า ผู้ไม่โลภ. บทว่า อนุวตฺโต จสฺส ราชิโน ความว่า พึงเป็นผู้ประพฤติตามใจเจ้านาย. บทว่า จิตฺตตฺโถ ได้แก่ ตั้งอยู่ในจิต อธิบายว่า อยู่ในอำนาจแห่งจิตของเจ้านาย. บทว่า อสํกุสกวุตฺติสฺส แปลว่า พึงประพฤติตามเจ้านาย ไม่เข้ากับคนผิด. บทว่า อโธสิรํ ความว่า ราชเสวก แม้เมื่อล้างพระบาท พึงก้มศีรษะลง พึงก้มหน้าลงล้าง ไม่พึงแลดูหน้าพระราชา.

บุรุษผู้หวังหาความเจริญ พึงกระทำอัญชลีในหม้อน้ำ และพึงกระทำประทักษิณนกแอ่นลม อย่างไร เขาจักไม่พึงนอบน้อมพระราชา ผู้เป็นนักปราชญ์สูงสุด พระราชทานสมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่างเล่า เพราะพระราชาพระราชทานที่นอน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ยวดยาน ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ยังโภคสมบัติให้ตกทั่วถึง เหมือนมหาเมฆยังน้ำฝนให้ตก เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป ฉะนั้น. ดูก่อนเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวัสดี เป็นอนุศาสน์สำหรับราชเสวก นรชนประพฤติตาม ย่อมยังพระราชาให้โปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมฺภิมฺหิ อญฺชลึ กยิรา วายสํ วาปิ ปทกฺขิณํ ความว่า ก็บุรุษผู้หวังความเจริญ (แก่ตน) เห็นหม้อที่เต็มด้วยน้ำ พึงทำอัญชลีแก่หม้อน้ำนั้น. แม้เพียงแต่นกแอ่นลม เขายังทำประทักษิณได้. เมื่อเขาทำอัญชลีแล้ว ทำประทักษิณแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะให้อะไรได้.
บทว่า กิเมว ความว่า พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ พระราชทานสมบัติที่น่าใคร่ทุกอย่าง. เหตุไฉน จึงไม่นมัสการพระราชานั้นเล่า. พระราชาเท่านั้น ที่พึงนมัสการและพึงให้โปรดปราน.
บทว่า ปชฺชุนฺโนริว แปลว่า ดุจเมฆ.
บทว่า เอเสยฺยา ราชวสดี ความว่า นี่แน่ะเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าราชวสดี ที่เรากล่าวแล้วนี้ เป็นอนุสาสนีสำหรับราชเสวกทั้งหลาย. บทว่า ยถา ความว่า ราชวสดีนี้อันนรชนประพฤติตามอยู่ ย่อมเป็นเหตุให้พระราชาทรงโปรดปราน และย่อมได้รับการบูชาจากสำนักพระราชาทั้งหลายแล.

พระวิธุรบัณฑิตผู้มีธุรกิจหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ได้แสดงราชวสดีธรรมสอนบุตรภรรยาญาติ และมิตรด้วยพุทธลีลา จบลงด้วยประการฉะนี้แล.
จบราชสวดีกัณฑ์

เมื่อพระมหาสัตว์พร่ำสอนบุตรภรรยาญาติและมิตรเป็นต้น อย่างนี้นั่นแลจบลง ก็เป็นวันที่ ๓ พระมหาสัตว์นั้น ครั้นทราบว่า ครบกำหนดวันแล้ว อาบน้ำแต่เช้าตรู่ บริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ คิดว่า เราพร้อมด้วยมาณพจักทูลลาพระราชาไป ดังนี้แล้ว แวดล้อมด้วยหมู่ญาติไปสู่พระราชนิเวศน์ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถ้อยคำ อันสมควรที่ตนจะพึงกราบทูล.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว หมู่ญาติมิตรพากันห้อมล้อม เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า และทำประทักษิณท้าวเธอ แล้วประคองอัญชลี กราบบังคมทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบศัตรู มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามความประสงค์ จึงจะนำข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์จะกราบทูลประโยชน์แห่งญาติทั้งหลาย ขอเชิญพระองค์ทรงสดับประโยชน์นั้น ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ดูแล บุตรภรรยาของข้าพระองค์ ทั้งทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่ในเรือนโดยที่หมู่ญาติของข้าพระองค์ จะไม่เสื่อมในภายหลัง ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้ เหมือนบุคคลพลาดล้มบนแผ่นดิน ย่อมกลับตั้งอยู่บนแผ่นดินนั้นเอง ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุหเทหิ ได้แก่ อันญาติและมิตรเป็นต้น ผู้มีใจดี.
บทว่า ยญฺจมญฺญํ ความว่า ขอพระองค์เท่านั้น จงดูแลทรัพย์สมบัติอย่างอื่นทั้งหมดนั้น อันจะนับจะประมาณมิได้ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระราชาเหล่าอื่น พระราชทานไว้สำหรับเรือนของข้าพระองค์.
บทว่า เปจฺจ แปลว่า ในภายหลัง. บทว่า ขลติ แปลว่า ย่อมพลาดล้ม.
บทว่า เอเวตํ ตัดบทเป็น เอวํ เตตํ เพราะความพลั้งพลาดในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ข้าพระองค์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในพระองค์ตามเดิม เหมือนบุคคลพลาดล้มบนแผ่นดิน ย่อมตั้งขึ้นบนแผ่นดินนั้น นั่นแหละ.
บทว่า เอตํ ปสฺสามิ ความว่า เมื่อข้าพระองค์ถูกมาณพถามว่า พระราชาเป็นอะไรแก่ท่านหรือ จึงไม่มองพระองค์ ปรารถนาแต่ความสัตย์จริงกล่าวว่า ข้าพระองค์เป็นทาส นี้เป็นโทษของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เห็นแต่โทษนี้ แต่โทษของข้าพระองค์อย่างอื่นไม่มี ขอพระองค์จงอดโทษนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ขออย่าได้กระทำโทษนั้นไว้ในพระหฤทัย จับผิดในบุตรและภริยาของข้าพระองค์ ในภายหลัง.

พระราชา ครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า ดูก่อนบัณฑิต การไปของท่านไม่ถูกใจเราเลย เราจักทำอุบายเรียกมาณพสั่งบังคับให้เอาไปฆ่า แล้วปิดเนื้อความเสียมิให้ใครได้รู้ ข้อนั้นแหละจะชอบใจเรา ดังนี้ จึงได้ตรัสคาถาว่า
ท่านไม่อาจจะไปนั่นแล เป็นความพอใจของเรา เราจะสั่งให้ฆ่าตัดออกเป็นท่อนๆ แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านอยู่ในที่นี้แหละ การทำดังนี้เราชอบใจ ดูก่อนบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงสุด กว้างขวางดุจแผ่นดิน ท่านอย่าไปเลย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆตฺวา ความว่า เราจะโบยท่านให้ตาย แล้วปกปิดไว้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง.

พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระราชอัธยาศัยเห็นปานนี้ มิบังควรแก่พระองค์เลย ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า
ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและในธรรมเถิด กรรมอันเป็นอกุศล ไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศล พึงเข้าถึงนรกในภายหลัง นี้มิใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ. ข้าแต่พระจอมประชาชน ธรรมดาว่า นายผู้เป็นใหญ่ของทาส จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าเสียก็ได้ ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และข้าพระองค์ขอกราบทูลลาไป.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา เหว ธมฺเมสุ ความว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรม คือในอนัตถะ ได้แก่ในความชั่วของพระองค์เลย.
บทว่า ปจฺฉา ความว่า ความไม่แก่และไม่ตาย ย่อมไม่มีเพราะการทำกรรมใด โดยที่แท้ บุคคลผู้กระทำกรรมนั้น ย่อมเข้าถึงนรกในภายหลังทีเดียว.
บทว่า ธิรตฺถุ กมฺมํ ความว่า กรรมนั้นน่าติเตียน คือเป็นกรรมที่บัณฑิตในปางก่อนติเตียนแล้ว. บทว่า เนเวส ความว่า นี้มิใช่เป็นสภาวะธรรมของโบราณกบัณฑิต. บทว่า อยิโร แปลว่า นาย.
บทว่า ฆาเตตุํความว่า ธรรมดาว่า นายผู้เป็นใหญ่แห่งทาส เพื่อจะทำการฆ่าเป็นต้นนั้นย่อมไม่ได้ เพื่อจะทำกรรมทั้งหมดนั้นได้ ดูก่อนมาณพ ความโกรธของเราแม้มีประมาณน้อยย่อมไม่มี นับตั้งแต่ เวลาพระราชทานข้าพระองค์ให้แก่มาณพนี้ ควรที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ให้เที่ยงตรง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งนรชน ข้าพระองค์ขอลาไป.

พระมหาสัตว์ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว จึงถวายบังคมลาพระราชา ไปสั่งสอนพระสนมกำนัลในและราชบริษัท เมื่อชนเหล่านั้น แม้อดกลั้นความโศกไว้ตามปกติไม่ได้ ร้องไห้คร่ำครวญอย่างใหญ่หลวง ได้ออกจากพระราชนิเวศน์ไป ชนชาวพระนครทั้งสิ้นพูดกันเซ็งแซ่ว่า ข่าวว่า วิธุรบัณฑิตจะไปกับมาณพ พวกเราจงมาไปเยี่ยมท่านเถิด ดังนี้แล้ว จึงไปประชุมกัน เยี่ยมพระมหาสัตว์ที่หน้าพระลานหลวง.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้สั่งสอนชาวพระนครเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าคิดวิตกไปเลย สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สรีระไม่ยั่งยืน สมมติธรรมอันได้นามว่า ยศ ย่อมมีความวิบัติเป็นที่สุด อนึ่ง ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทในบุญกุศล มีทานเป็นต้น ดังนี้แล้ว ได้บ่ายหน้ากลับสู่เรือนของตน ขณะนั้น ธรรมปาลกุมารพาหมู่น้องชายน้องหญิงออกไป ด้วยหวังว่า จะทำการต้อนรับบิดา ได้พร้อมกันคอยบิดาอยู่ที่ประตูบ้าน พระมหาสัตว์เห็นธรรมปาลกุมารนั้นแล้ว ไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ สวมกอดธรรมปาลกุมารเข้าไว้กับทรวง แล้วอุ้มไปสู่เรือน.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์นั้นมีเนตรทั้งสองนองด้วยน้ำตา กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว. สวมกอดบุตรคนโตแล้วเข้าไปยังเรือนหลังใหญ่.


ก็พระมหาสัตว์นั้น มีบุตรพันหนึ่ง มีธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง นางวรรณทาสีเจ็ดร้อย และทั้งทาสกรรมกรญาติและมิตรที่เหลือ บรรดามีอยู่ในเรือนของท่าน ต่างก็พากันร้องไห้ ล้มฟุบลงทับกันไปประดุจป่าไม้รัง ถูกลมยุคันต์พัดให้หักทับล้มลงไป ฉะนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง และทาสเจ็ดร้อย ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต ต่างประคองแขนทั้งสอง ร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือกกลับทับกันไป เหมือนป่าไม้รังถูกลมพัดล้มระเนระนาดทับกันไป ฉะนั้น.
พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พวกพ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างก็มาประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต. พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบทและชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต. ภริยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อยต่างพากันประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจะละดิฉันทั้งหลายไปเสีย. พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้งหลาย ... พวกกองช้าง กองม้ากองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละข้าพเจ้าทั้งหลายไปเสีย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสนฺติ ความว่า บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภริยาพันหนึ่ง และนางวรรณทาสีเจ็ดร้อย บรรดามีอยู่ในเรือนของวิธุรบัณฑิต ต่างกอดแขนทั้งสองข้าง ร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือกล้มระเนระนาดทับกันไป ดังป่าไม้รังใหญ่ที่ถูกลมพัด หักทับทอดพื้นแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้น.
บทว่า ภริยานํ ได้แก่ หญิง คือภริยาพันหนึ่ง. บทว่า กสฺมา โน ความว่า พากันคร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละพวกเราไป.

พระมหาสัตว์ปลอบโยนมหาชนทั้งหมดนั้นให้สร่างโศก ทำกิจที่ยังเหลือให้เสร็จ สั่งสอนอันโตชนและพาหิรชน บอกเรื่องที่ควรจะบอกทุกอย่างแก่บุตรและภริยาเสร็จแล้ว ไปสู่สำนักของปุณณกยักษ์ บอกกิจของตนที่ทำเสร็จแล้วแก่ปุณณกยักษ์นั้น.

พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์กระทำกิจทั้งหลายในเรือนสั่งสอนคนของตน คือมิตร สหาย คนใช้ บุตร ธิดา ภริยาและพวกพ้อง จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์และการส่งหนี้เสร็จแล้ว ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว กิจที่จะพึงทำในเรือนของข้าพเจ้า ทำเสร็จแล้ว อนึ่ง บุตรและภริยาข้าพเจ้าได้สั่งสอนแล้ว ข้าพเจ้าย่อมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมนฺตํ สํวิเธตฺวาน ความว่า จัดกิจที่ควรทำในเรือนว่า ควรทำอย่างนี้และอย่างนี้. บทว่า นิธึ ได้แก่ ทรัพย์ที่ฝังไว้ในที่นั้นๆ. บทว่า อิณทานํ ได้แก่ ทรัพย์ที่ประกอบไว้ด้วยอำนาจหนี้. บทว่า ยถามตึ เต ความว่า บัดนี้ท่านจงกระทำตามอัธยาศัยของท่าน.

ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า
ดูก่อนมหาอำมาตย์ ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง ถ้าว่า ท่านสั่งสอนบุตรภริยาและคนอาศัยแล้ว เชิญท่านมารีบไปในบัดนี้ เพราะในทางข้างหน้ายังไกลนัก ท่านอย่ากลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนย การเห็นชีวโลกของท่านนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺเต ความว่า ปุณณกยักษ์ถึงโสมนัสเรียกมหาสัตว์ว่า กตฺเต. บทว่า อทฺธาปิ ความว่า แม้เพียงหนทางที่จะพึงไปก็ยังไกลนัก. บทว่า อสมฺภีโตว แปลว่า เป็นทางปลอดภัย.

ปุณณกยักษ์นั้นไม่หยั่งลงสู่ภายใต้ปราสาท ประสงค์จะหลีกไปจากนั้น จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า
ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย ทางวาจาและทางใจ อันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสหํ กิสฺสานุภายิสฺสํ ความว่า พระมหาสัตว์ถูกปุณณกยักษ์กล่าวว่า อย่ากลัวเลย ท่านจงถือเอาเถิด ดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.

พระมหาสัตว์บันลือสีหนาทด้วยประการอย่างนี้ จะได้สะดุ้งกลัวหามิได้ เป็นผู้หมดภัย องอาจดังพระยาไกรสรราชสีห์ ทำอธิษฐานบารมีให้เป็นปุเรจาริกว่า ผ้าสาฎกของอาตมาผืนนี้ จงอย่าหลุดลุ่ยออกจากร่างกายของอาตมา แล้วนุ่งผ้าให้แน่น จับหางม้าด้วยมือทั้งสอง กระหวัดหางม้าไว้ให้มั่น เอาเท้าทั้งสองเกี่ยวขาม้าไว้ให้แน่น กล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าจับหางม้าแล้ว ท่านจงไปตามความชอบใจเถิด. ขณะนั้น ปุณณกยักษ์ได้ให้สัญญาแก่ม้ามโนมัยสินธพ ส่วนม้ามโนมัยสินธพนั้น ได้พาวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
พระยาม้านั้นนำวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาว ไม่กระทบที่กิ่งไม้หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพต โดยฉับพลัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาขาสุ เสเลสุ อสชฺชมาโน ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์คิดว่า เรามาไกลแล้ว เราควรจะทุบวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายที่ต้นไม้ และภูเขาในหิมวันตประเทศ ถือเอาแต่เนื้อหทัย ทิ้งซากศพเสียในซอกแห่งภูเขา แล้วไปสู่นาคพิภพ ถวายเนื้อหทัยนั้นแก่พระนางวิมลาเทวีในนาคพิภพ แล้วจักรับเอานางอิรันทตีกลับมา.

ปุณณกยักษ์นั้นทุบพระมหาสัตว์ที่ต้นไม้และภูเขา ขับม้าไปในระหว่าง ทางแห่งต้นไม้และภูเขานั้นแล ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี ได้แหวกช่องหลีกออกห่างจาก สรีระของพระมหาสัตว์ข้างละศอก. ปุณณกยักษ์เหลียวกลับหลัง มองดูหน้าพระมหาสัตว์ เพื่ออยากทราบว่า ตายแล้วหรือยัง. เห็นหน้าพระมหาสัตว์ผ่องใสดุจแว่นทอง รู้ว่าแม้ทำเพียงนี้เธอก็ยังไม่ตาย จึงทุบตีพระมหาสัตว์ที่ต้นไม้และภูเขา ๓ ครั้ง ขับม้าไปในระหว่างแห่งต้นไม้และภูเขาในหิมวันตประเทศนั้นอีก ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี ย่อมแหวกช่องหลีกออกให้ห่างไกลเช่นกับหนก่อน นั่นแล. พระมหาสัตว์ได้รับความลำบากกายเป็นอย่างยิ่ง ปุณณกยักษ์ดำริว่า เราจักทำเธอให้เป็นจุณวิจุณไปที่กองลม ในบัดนี้ แล้วขับม้าไปในกองลม เหลียวกลับดูด้วยคิดว่า เธอตายแล้วหรือยังไม่ตาย เห็นหน้าพระมหาสัตว์เบิกบาน ดังดอกปทุมที่แย้มบาน ก็โกรธเหลือกำลัง ควบม้าไปสู่กองลมแล่นกลับไปกลับมาสิ้น ๗ ครั้ง ด้วยอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ กองลมได้แยกออกเป็น ๒ ภาคให้ช่องแก่พระมหาสัตว์. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ขับม้าไปให้กระทบลมแม้ที่ลมเวรัมภะ แม้อันว่า ลมเวรัมภะก็มีเสียงดังครืน ดุจเสียงฟ้าฟาดตั้งแสนครั้ง ได้แยกช่องให้แก่พระโพธิสัตว์. ฝ่ายปุณณกยักษ์ เมื่อเห็นว่า พระโพธิสัตว์ไม่เป็นอันตรายด้วยลมเวรัมภะนั้น ได้ขับม้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพต.

เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาว่า
พระยาม้านั้นนำวิธุรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาว ไม่กระทบที่กิ่งไม้หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬาคิรีบรรพต โดยฉับพลัน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสชฺชมาโน ความว่า ไม่ติดขัด ไม่กระทบกระทั่ง นำวิธุรบัณฑิตเข้าไปสู่ยอดแห่งกาฬาคิรีบรรพต.

ในเวลาที่ ปุณณกยักษ์พาพระมหาสัตว์ไปอย่างนั้น ปิยชนทั้งหลายมี บุตรและภรรยาเป็นต้น ของวิธุรบัณฑิตไปสู่ที่พักแห่งปุณณกยักษ์ ไม่เห็นพระมหาสัตว์ จึงล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าขาดไป ต่างคนต่างพากันร้องไห้ ร่ำไรด้วยเสียงอันดัง.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ภรรยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อย ประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ ... กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธุรบัณฑิตไป. ภรรยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อย ต่างประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธุรบัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน. พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ ... กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธุรบัณฑิตไปแล้ว ณ ที่ไหน.


ชนเหล่านั้นทั้งหมดเห็น และได้ทราบว่า ปุณณกยักษ์พาพระมหาสัตว์ไปทางอากาศ พากันคร่ำครวญแล้ว แม้อย่างนี้ พากันคร่ำครวญพร้อมด้วยชนพระนครทั้งสิ้น ได้พากันไปยังพระราชวัง. พระราชาทรงสดับเสียงคร่ำครวญอันดัง ทรงเปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดู จึงตรัสถามว่า พวกเจ้าร้องไห้พิไรร่ำรำพัน เพราะเหตุไร. ลำดับนั้น ชนชาวพระนครเหล่านั้นทูลบอกเนื้อความนั้นแด่ท้าวเธอว่า ข้าแต่สมมติเทพ นัยว่า มาณพนั้นไม่ใช่พราหมณ์ เป็นยักษ์จำแลงเพศเป็นพราหมณ์มาเอาวิธุรบัณฑิตไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพลัดพรากจากวิธุรบัณฑิตนั้นเสียแล้ว ชีวิตเห็นจะหาไม่ ถ้าวิธุรบัณฑิตจักไม่กลับมาในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไปไซร้ พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง จักขนเอาฟืนมาด้วยเกวียน ๑๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ก่อไฟให้เป็นเปลวลุกรุ่งโรจน์ แล้วเข้าไปสู่กองไฟ ดังนี้แล้ว ทูลด้วยคาถานี้ว่า
ถ้าวิธุรบัณฑิตนั้นจักไม่มาโดย ๗ วัน ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยชีวิต.


แม้ในกาลเป็นที่ปรินิพพานแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายไม่มีใครพูดว่า พวกเราจะเข้ากองไฟตายเช่นนี้ หาได้มีเหมือนครั้งเสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิตไม่ เหตุนั้น ผู้มีปัญญาจึงเข้าใจว่า ในพระนคร พระมหาสัตว์ครอบครองด้วยแล้วแล.
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว จึงมีพระราชดำริว่า พวกเจ้าอย่าพากันวิตก อย่าเศร้าโศกร่ำไรไปนักเลย วิธุรบัณฑิตเป็นผู้แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด จะเล้าโลมมาณพด้วยธรรมกถา ให้หมอบลงแทบบาทของตนไม่กี่วัน ก็จักมาเช็ดหน้าของพวกเราที่เต็มไปด้วยน้ำตาให้เบิกบาน พวกเจ้าอย่าละห้อยสร้อยเศร้าไปเลย ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม สามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์แจ้งชัด มีปัญญาเครื่องพิจารณา คงจะเปลื้องตนได้โดยพลัน ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตน แล้วก็จักรีบกลับมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิยตฺโต ความว่า ประกอบด้วยความเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม คือด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา. บทว่า วิภาวี ความว่า เป็นผู้สามารถแสดงถึง ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เหตุและมิใช่เหตุให้แจ่มชัด. บทว่า วิจกฺขโณ ความว่า ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องรู้แจ้ง ถึงเหตุที่เกิดขึ้นตามฐานะในขณะนั้น นั่นเอง. บทว่า มา ภายิตฺถ ความว่า ท่านสั่งสอนว่า พวกท่านอย่ากลัวเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนให้พ้น แล้วจักกลับมาโดยเร็วพลัน.

ฝ่ายชาวพระนครกลับได้ความอุ่นใจว่า วิธุรบัณฑิตจักทูลบอกกับพระราชาแล้วจึงไป ด้วยประการฉะนี้แล.
จบกัณฑ์ว่าด้วย การปลดเปลื้องโทษ

.. อรรถกถา วิธุรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=5626&Z=6510
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]