ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อรรถกถา วิธุรชาดก
ว่าด้วย พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

หน้าต่างที่   ๓ / ๖.

จบมณิกัณฑ์
ปุณณกยักษ์ ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แม้ถ้าพระองค์ทรงชนะข้าพระองค์ด้วยสกาก่อน ข้าพระองค์จักถวายแก้วมณีนี้. แต่หากข้าพระองค์ชนะ พระองค์จะประทานอะไรแก่ข้าพระองค์. พระเจ้าธนัญชัยตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ยกเว้นตัวของเรา และเศวตฉัตรกับพระมเหสีเสีย ของที่เหลือซึ่งเป็นของๆ เรา เรายกให้เป็นส่วยสำหรับท่าน. ปุณณกยักษ์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ถ้าอย่างนั้น พระองค์อย่าชักช้าเลย เพราะข้าพระองค์มาแต่ไกล โปรดให้จัดแจงโรงสกาเสียเถิด.
พระราชารับสั่งให้พวกอำมาตย์จัดแจงแล้ว อำมาตย์เหล่านั้นจัดแจงโรงเล่นสกาโดยเร็ว ปูพระที่นั่งด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรงดงามสำหรับพระราชา ตกแต่งอาสนะถวายพระราชาที่เหลือ และตกแต่งอาสนะอันสมควรแก่ปุณณกยักษ์ เสร็จแล้วกราบบังคมทูลกำหนดกาลแด่พระราชา.
ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กรรมในโรงเล่นสกาสำเร็จแล้ว. เชิญพระองค์ไปทรงเล่นสกา แก้วมณีเช่นนี้ของพระองค์ไม่มี เราพึงชนะกันโดยธรรม. อย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม. ถ้าข้าพระองค์ชนะพระองค์ไซร้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า.


คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า กรรมในโรงสกาถึงเข้าแล้ว คือสำเร็จแล้ว แก้วมณีเช่นนี้นี่ไม่มีแก่พระองค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า.
บทว่า อุเปหิ ลกฺขํ ความว่า ขอพระองค์จงทรงเข้าไปสู่โรงสกา อันเป็นสถานที่เล่นด้วยสกาทั้งหลาย และเมื่อเล่น เราทั้งหลายพึงชนะกันโดยชอบธรรมเท่านั้น. ความชนะจงมีแก่เราทั้งหลายโดยสงบเถิด ก็ถ้าข้าพระองค์พึงชนะไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์จงอย่าชักช้าจงรีบกระทำทีเดียว เพราะฉะนั้น พระองค์ไม่พึงกระทำให้เนิ่นช้า พึงให้ทรัพย์ที่ข้าพระองค์ชนะแล.

ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านอย่ากลัวเราว่าเป็นพระราชา ชัยชนะหรือปราชัย จักมีโดยธรรมเท่านั้น ความชนะและแพ้ของเรา จักมีโดยสงบ.
ปุณณกยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงทูลว่า ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงทราบความชนะและแพ้ของเราทั้งสอง ก็โดยธรรมเท่านั้น ดังนี้แล้ว
เมื่อจะกระทำพระราชาเหล่านั้นให้เป็นพยาน จึงกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระสุรเสนผู้ปรากฏในกรุงปัญจาละ พระเจ้ามัจฉราชและพระเจ้ามัททราช ทั้งพระเจ้าเกกกะราช พร้อมด้วยชาวชนบท ขอจงทอดพระเนตรดู ข้าพเจ้าทั้งสองจะสู้กันด้วยสกา กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดีไม่ได้ทำสักขีพยานไว้แล้ว ย่อมไม่ทำกิจอะไรๆ ในที่ประชุม.


บรรดาบทเหล่านั้น ปุณณกยักษ์เรียกพระเจ้าปัญจาลราชนั่นแลว่า ปัจจุคคตา. เพราะเป็นผู้เลื่องชื่อ คือผู้ปรากฏ ลือเด่น.
บทว่า มจฺฉา จ ความว่า ข้าแต่พระสหาย ก็พระองค์เป็นพระราชาในมัจฉรัฐ.
บทว่า มทฺทา ความว่า ข้าแต่พระเจ้ามัททราช.
บทว่า สห เกกเกภิ ความว่า ข้าแต่พระเจ้าวัตตมานเกกกะราชพระองค์ พร้อมด้วยชาวชนบท ชื่อเกกกะ. อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตวาง สห ศัพท์ ไว้หลังบทว่า เกกเกภิ และกระทำศัพท์ว่า ปจฺจุคฺคต ให้เป็นบทวิเสสนะ ของบทว่า สูรเสน. แล้วพึงทราบความในคาถานี้อย่างนี้ว่า พระเจ้าสูรเสนมัจฉะผู้ปรากฏในแคว้นปัญจาละและพระเจ้ามัททะ พระเจ้าเกกกะและพระราชาที่เหลือ พร้อมด้วยชาวชนบท ชื่อว่าเกกกะ.
บทว่า ปสฺสตุ โน เต ความว่า ขอพระราชาเหล่านั้นจงดูการต่อสู้กันเป็นคะแนน ด้วยสกาของเราทั้งสอง.
บทว่า โน ในบทว่า น โน สภายํ กโรนฺติ กญฺจิ นี้ เป็นเพียงนิบาต. ความว่า กษัตริย์ทั้งหลายก็ดี พราหมณ์ทั้งหลายก็ดี ย่อมไม่กระทำใครๆ ให้เป็นพยานในที่ประชุม แต่ย่อมกระทำตามธรรมเนียม. เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์จึงได้กระทำยักษ์เสนาบดีให้เป็นพยานอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจักไม่ได้กล่าวว่า เหตุอันไม่สมควรอะไรจะเกิดว่า ที่เราไม่ยอมรับฟัง เราไม่ยอมรับเห็น พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.

ลำดับนั้น พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชมีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร ทรงพาปุณณกยักษ์เสด็จเข้าสู่โรงเล่นสกา. พระราชาแม้ทั้งหมดและปุณณกยักษ์ต่างก็ประทับนั่ง และนั่งบนอาสนะอันสมควรแล้ว เจ้าพนักงานก็ยกกระดานสกาที่ทำด้วยเงิน และลูกบาศก์ที่ทำด้วยทอง มาตั้งลงในท่ามกลาง.
ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงทอดสกาเร็วๆ. ลูกบาศก์สกาทั้งหลายจัดเป็น ๒๔ ลูก มีชื่อว่า มาลี สาวดี พหุลี และสันติภัทรเป็นต้น. ในลูกบาศก์สกาเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงถือลูกบาศก์ลูกที่ชอบพระทัยของพระองค์เถิด. พระราชาตรัสว่า ดีละ แล้วทรงถือเอาลูกบาศก์ที่ชื่อว่า พหุลี. ปุณณกยักษ์ถือเอาลูกบาศก์ที่ชื่อว่า สาวดี. ขณะนั้น พระราชาตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า ดูก่อนมาณพ ถ้ากระนั้นท่านจงทอดลูกสกาก่อน. ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า วาระที่ข้าพระองค์จะทอดยังไม่ถึง ขอพระองค์ทรงทอดก่อนเถิดพระเจ้าข้า. พระราชาทรงรับว่า ดีละ ก็อารักขเทวดาที่เคยเป็นพระชนนีของท้าวเธอในอัตภาพที่ ๓ มีอยู่. พระราชาทรงชนะด้วยสกา เพราะอานุภาพแห่งอารักขเทวดานั้น. อารักขเทวดานั้นได้สถิตอยู่ในที่ใกล้แห่งพระราชานั้น. พระราชาทรงระลึกถึงนางเทพธิดานั้น. เมื่อจะทรงทอดสกา จึงตรัสพระคาถาว่า
ข้าแต่มารดา ขอมารดาจงดูแลข้าพเจ้าด้วย. โปรดช่วยให้ความชนะปรากฏแก่ข้าพเจ้า. ข้าแต่มารดา ขอมารดาจงช่วยอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า. เพราะเดชแห่งมารดา ความชนะมากจะมีแก่ข้าพเจ้า. ลูกบาศก์ที่ทำด้วยทองชมพูนุท ๔ เหลี่ยมจตุรัส กว้างและยาว ๘ นิ้ว. รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางบริษัท ดุจแก้วมณีมีรัศมีสว่างไสว ที่ข้าพเจ้าจะทอดลง ณ บัดนี้. ขอให้พลิกขึ้นตามใจหวัง. ข้าแต่เทวดา จงให้ความชนะแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่ข้าพเจ้าผู้มีโภคสมบัติน้อย อันคนที่มารดาคอยช่วยอนุเคราะห์อยู่แล้ว. ย่อมจะเห็นแต่ความเจริญทุกเมื่อ. ลูกบาศก์สกาชื่อมาลี ท่านกล่าวว่ามี ๘ แต้ม. ลูกบาศก์สกาชื่อสาวดี ท่านกล่าวว่า มี ๖ แต้ม. ลูกบาศก์สกาชื่อพหุลีทราบว่ามี ๔ แต้ม. ลูกบาศก์สกาชื่อสันติภัทร ทราบว่า มี ๒ แต้ม และกระดานสกานั้น ท่านผู้รู้ประกาศว่ามี ๒๔ ตา.
พระราชา ครั้นทรงขับเพลงสกาแล้ว ทรงพลิกลูกบาศก์ด้วยพระหัตถ์ โยนขึ้นไปในอากาศ. ด้วยอานุภาพแห่งปุณณกยักษ์ ลูกบาศก์จะยังพระราชาปราชัย ย่อมตกลงไม่ดี. พระราชาทรงฉลาดในศิลปศาสตร์สกา. เมื่อทราบว่า ลูกบาศก์หมุนตกลงจะทำพระองค์ให้ปราชัย ทรงรับไว้เสียก่อนในอากาศ. ทรงจับโยนขึ้นไปใหม่ในอากาศ. แม้ครั้งที่ ๒ ก็ทรงทราบลูกบาศก์ตกลงจะทำให้พระองค์ปราชัย จึงทรงรับไว้อย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ดำริว่า พระราชาองค์นี้เล่นสกากับยักษ์ผู้เช่นเรา ยังมายื่นมือรับลูกบาศก์อันกำลังตกลงไว้ได้. นี่เพราะเหตุอะไรหนอ. เมื่อทราบว่า เพราะอานุภาพของอารักขเทวดาแล้ว. จึงถลึงตาดูอารักขเทวดานั้น แสดงดุจดังว่าโกรธ. อารักขเทวดา พอปุณณกยักษ์เพ่งดูเท่านั้น ก็สะดุ้งกลัว วิ่งหนีไปถึงที่สุดเขาจักรวาล. ได้ยืนแอบตัวสั่นอยู่รัวๆ. พระราชาทรงโยนลูกบาศก์ขึ้นไปครั้งที่ ๓ แม้จะทรงทราบว่า ลูกบาศก์ตกลงแล้วจะทำพระองค์ให้ปราชัย ก็หาสามารถจะทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ ไว้ได้ไม่. เพราะอานุภาพแห่งปุณณกยักษ์ ลูกบาศก์นั้นตกลงไม่ดี ยังพระราชาให้ปราชัย. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ทราบว่า ท้าวเธอทรงปราชัย มีใจยินดี ตบมือ หัวเราะด้วยเสียงอันดัง ๓ ครั้งว่า ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้วดังนี้ เสียงนั้นได้แผ่ไปทั่วชมพูทวีป.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระราชาของกุรุรัฐและปุณณกยักษ์ ผู้มัวเมาในการเล่นสกาเข้าไปสู่โรงเล่นสกาแล้ว. พระราชาทรงเลือกได้ลูกบาศก์ที่มีโทษ ทรงปราชัย. ส่วนปุณณกยักษ์ชนะ. พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเอาสกามารวมพร้อมแล้ว ได้เล่นสกากันอยู่ในโรงสกานั้น. ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ พระราชาผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน. ท่ามกลางพระราชา ๑๐๑ พระองค์ และพยานที่เหลือเสียงบันลือลั่นได้มีขึ้น ในสนามสกานั้น ๓ ครั้ง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาวิสุํ ความว่า เข้าไปในโรงสกา. บทว่า วิจินํ ความว่า พระราชาทรงเลือกใน ๒๔ ตา ได้ยึดในทางที่มีโทษ คือยึดเอาทางปราชัย. บทว่า กฏมคฺคหิ ความว่า ส่วนปุณณกยักษ์ยึดเอาชัยชนะ พระราชากับปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเอาสกามา พร้อมกันในโรงเล่นสกานั้น ท่านทั้งสองได้เล่นสกาแล้ว. บทว่า รญฺญํ ความว่า ครั้นปุณณกยักษ์นั้นชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน ในท่ามกลางแห่งพระราชา ๑๐๑ และท่านผู้เป็นสักขีพยานที่เหลือ. บทว่า ตตฺถปฺปนาโท ตุมุโล พภูว ความว่า เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในมณฑลสกานั้น ๓ ครั้งว่า ขอพระองค์จงทราบความที่พระราชาทรงปราชัยแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว.

พระราชา ครั้นทรงปราชัยแล้ว ทรงเสียพระทัยเป็นกำลัง. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ เมื่อจะปลอบโยนท้าวเธอให้เบาพระทัย จึงทูลเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาราชา เราทั้งสองผู้พยายามเล่นสกา ความชนะและความแพ้ ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ข้าพระองค์ชนะพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว. ข้าพระองค์ชนะแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราชทานเสียเร็วๆ เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายูหตํ ความว่า บรรดาเราทั้งสองผู้พยายามเล่นสกา ความชนะและความแพ้ ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่ง เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ท่านอย่าคิดว่า เราเป็นผู้แพ้แล้ว.
บทว่า ฆินฺโนสิ(๑. บาลีเป็น ชินฺโนสิ-ท่านเป็นผู้ชนะแล้ว.) ความว่า ท่านเป็นผู้เสื่อมแล้ว.
บทว่า วรนฺธเนน แปลว่า ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ. บทว่า ขิปฺปมวากโรหิ ความว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานทรัพย์ สำหรับเป็นค่าชัยชนะโดยฉับพลันเถิด พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า จงรับเอาซิ พ่อ. จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอันประเสริฐกว่า ทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา ท่านจงรับเอาเถิด เชิญขนเอาไปตามปรารถนาเถิด.

ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า
ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์ บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วมณีอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส เม ชิโต ความว่า ข้าพระองค์ก็ชนะพระองค์แล้ว ผู้เป็นรัตนะอันสูงสุด และพระองค์ก็เป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวง. เพราะฉะนั้นเป็นอันชื่อว่า ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว. พระองค์โปรดจงทรงพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด.

พระราชาตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา. ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้น กับทรัพย์ของเรา. วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตา จ เม โส ความว่า ก็วิธุรบัณฑิตนั้น ชื่อว่าเป็นตัวของเรา และเราได้พูดแล้วว่า เว้น ตัวเรา เศวตฉัตรและอัครมเหสีเสีย. นอกนั้นเราให้แก่ท่าน เพราะเหตุนั้น ท่านอย่ายึดวิธุรบัณฑิตนั้นไว้ และวิธุรบัณฑิตนั้นไม่ใช่ เพียงแต่เป็นตัวของเราอย่างเดียว. โดยที่แท้วิธุรบัณฑิตนั้น ทั้งเป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเราอีกด้วย.
บทว่า อสนฺตุเลยฺโย มม โส ธเนน ความว่า ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตกับด้วยทรัพย์ ๗ ประการของเรา.

ปุณณกยักษ์กล่าวคาถาว่า
การโต้เถียงกันของข้าพระองค์ และของพระองค์จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแลชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวรตุ เอตมตฺถํ ความว่า ขอวิธุรบัณฑิตนั้นนั่นแล จงประกาศว่า ท่านเป็นตัวของท่านหรือไม่. บทว่า โหตุ กถา อุภินฺนํ ถ้อยคำที่วิธุรบัณฑิตนั่นแล จงเป็นประมาณแก่เราทั้งสอง.

พระราชาตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียวและไม่ผลุนผลัน เราถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองจงยินดีตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น จ มาณว สาหสํ ความว่า ท่านอย่าใช้คำอำนาจกล่าวคำผลุนผลันออกไป.

ก็แลพระราชาครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงร่าเริงพระทัยพาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ และปุณณกยักษ์เข้าไปโรงธรรมสภาโดยเร็ว วิธุรบัณฑิตลงจากอาสนะ ถวายบังคมพระราชา แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์เจรจาปราศรัยกะพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่บัณฑิต เกียรติศัพท์ของท่านได้ปรากฏไปในสากลโลกว่า ท่านตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่พูดเท็จ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเช่นนี้ ก็ข้าพเจ้าจักทราบความที่ ท่านเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมได้ในวันนี้แล แล้วกล่าวคาถาว่า
เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐ ชื่อวิธุรบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติ ชื่อว่าวิธุระ ในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือเป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.


ในคาถานั้น ข้าพเจ้าขอถามว่าเทวดาทั้งหลายเรียก คือกล่าวประกาศถึงท่านวิธุระ ผู้เป็นอำมาตย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแห่งแคว้นกุรุอย่างนี้ว่า อำมาตย์ชื่อว่าวิธุระ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่พูดมุสาวาท แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต. เทพเหล่านั้น เมื่อทราบชัดอย่างนี้ จึงได้กล่าวแต่คำสัตย์ หรือว่าเทพเหล่านั้นพูดแต่ความไม่เป็นจริงเท่านั้นแล.
บทว่า วิธุโรติ สํขฺยา กตโมสิ โลเก ความว่า ชื่อของท่านปรากฏอยู่ในโลกว่าวิธุระ. ท่านประกาศเป็นไฉน คือเป็นทาส เป็นคนชั้นต่ำ หรือเป็นเสมอ หรือยิ่งกว่า หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา. คำที่เราถามมาแล้วนี้ ท่านจงบอกแก่เราก่อนว่า ท่านเป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า มาณพนี้ถามเราอย่างนี้ เราจะบอกเขาว่า เราเป็นญาติของพระราชา เราเป็นคนสูงกว่าพระราชา หรือไม่ได้เป็นอะไรเลยของพระราชา เช่นนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าชื่อว่าที่พึ่งในโลกนี้ จะเสมอด้วยคำจริงย่อมไม่มี เราควรจะพูดคำจริงเท่านั้น เพื่อจะแสดงว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นพระประยูรญาติของพระราชา และมิได้เป็นคนสูงกว่าพระราชา แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นทาสคนใดคนหนึ่งแห่งทาส ๔ จำพวก จึงกล่าว ๒ คาถาว่า
ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวกคือ ทาสครอกจำพวก ๑. ทาสไถ่จำพวก ๑. ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑. ทาสเชลยจำพวก ๑. แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว. ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่น ก็คงเป็นทาสของสมมติเทพ นั่นเอง. ดูก่อนมาณพ พระราชาเมื่อจะพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยชอบธรรม.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อามายทาสา ได้แก่ ทาสที่เกิดในท้องของนางทาสี ผู้มีสามีเป็นทาส.
บทว่า สยํปิ เหเก อุปยนฺติ ทาสา ความว่า คนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเกิดมาเป็นคนใช้เขาทั้งหมดนั้น ชื่อว่าทาสผู้เข้าถึงความเป็นทาสเอง. บทว่า ภยา ปนุนฺนา ความว่า คนผู้เป็นเชลยถูกไล่ออกจากที่อยู่ของตน โดยราชภัยหรือโจรภัย. แม้ไปสู่แดนแห่งข้าศึก ก็ชื่อว่าเป็นทาสเหมือนกัน. บทว่า อทฺธา หิ โยนิโต อหํปิ ทาโส ความว่า ดูก่อนมาณพ แม้เราก็เป็นทาสเกิดจากกำเนิดทาสเอง รวมอยู่ในกำเนิดทาส ๔ จำพวกโดยส่วนเดียวแท้ๆ. บทว่า ภโว จ รญฺโญ อภโว จ ความว่า ความเจริญหรือความเสื่อม จงมีแก่พระราชาก็ตาม. ข้าพเจ้าไม่สามารถจะพูดเท็จได้เลย.
บทว่า ปรํปิ ความว่า ข้าพเจ้าแม้ไปสู่ที่ไกล ก็ต้องเป็นทาสของสมมติเทพอยู่ตามเดิม.
บทว่า ทชฺชา ความว่า พระราชาทอดทิ้งข้าพเจ้า เพราะทรัพย์ในการชนะแล้ว ประทานข้าพเจ้าเป็นค่าพนันแก่ท่าน. จึงพึงพระราชทานโดยธรรม คือโดยความเป็นจริงนั่นเอง.

ปุณณกยักษ์ได้ยินดังนั้น ก็ยินดีร่าเริงปรบมืออีก แล้วกล่าวคาถาว่า
วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่า วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชเสฏฺโฐ ความว่า พระราชาผู้ประเสริฐนี้ ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ. บทว่า สุภาสิตํ ความว่า อันวิธุรบัณฑิตกล่าวดีแล้ว คือวินิจฉัยดีแล้ว. บทว่า นานุชานาสิ มยฺหํ ความว่า ปุณณกยักษ์กล่าวว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ยอมให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับวิธุรบัณฑิต ท่านไม่ให้เพื่ออะไร.

พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงโทมนัสว่า วิธุรบัณฑิตนี้ ไม่เห็นแก่ผู้มีอุปการะคุณ ผู้ให้ลาภให้ยศเช่นเรา เห็นแก่มาณพที่พึงเห็นกันเดี๋ยวนี้ แล้วทรงพระพิโรธแก่พระมหาสัตว์ ตรัสกะปุณณกยักษ์ว่า แน่ะมาณพ ถ้าวิธุรบัณฑิตเป็นทาส ท่านจงเอาเขาไปเสีย ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนกัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวญฺจ โน โส วิวเรตฺถ ปญฺหํ ความว่า ถ้าวิธุรบัณฑิตเปิดเผยปัญหาอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส หาได้เป็นญาติไม่เลย ขอท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามปรารถนาในบริษัทมณฑลของท่านเถิด.
จบอักขขัณฑกัณฑ์

ก็แลพระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่า มาณพลักพาวิธุรบัณฑิตไปตามชอบใจ นับตั้งแต่วันที่เธอจากไป ยากที่เราจะได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ ถึงอย่างไร เราควรขอให้เธอพักอยู่ในถิ่นของตน ถามปัญหาในฆราวาสธรรมเสียก่อน. ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงอาราธนาพระมหาสัตว์นั้น อย่างนี้ว่า ข้าแต่บัณฑิต เมื่อท่านจากไปแล้ว ยากที่ข้าพเจ้าจักได้ฟังธรรมกถาอันไพเราะ ขอท่านพักอยู่ในถิ่นของตนเองก่อน เชิญนั่งบนธรรมาสน์อันประดับ แล้วแสดงปัญหาในฆราวาสธรรมแก่ข้าพเจ้า ณ บัดนี้. พระมหาสัตว์รับพระบรมราชโองการว่า ดีละ พระเจ้าข้า. แล้วนั่งบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้ว. วิสัชนาปัญหาที่พระราชาตรัสถาม.
ปัญหาคาถาในฆราวาสธรรมนั้น มีดังต่อไปนี้
ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร. จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร. จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไร มาณพจึงจะชื่อว่า มีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้ว จะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เขมา วุตฺติ กถํ อสฺส ความว่า คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงประพฤติตนให้ปลอดภัยได้อย่างไร.
บทว่า กถนฺนุ อสฺส สงฺคโห ความว่า อย่างไรหนอ เขาจะพึงมีการสงเคราะห์ กล่าวคือสังคหวัตถุ ๔ ประการใด.
บทว่า อพฺยาปชฺฌํ แปลว่า ความเป็นผู้ปราศจากทุกข์. บทว่า สจฺจวาที จ ความว่า ก็อย่างไร มาณพจะพึงชื่อว่า กล่าวแต่คำสัตย์.
บทว่า เปจฺจ แปลว่าไปสู่ ปรโลก.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญาเห็นอรรถธรรมอันสุขุม กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า
ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภริยา. ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์และนิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญได้เลย.
ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่พึงเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม มีวาจาน่าคบเป็นสหาย อ่อนโยน.
ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ.
ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ทรงจำอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยเคารพ.
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่า มีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ตตฺถ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธุรบัณฑิตได้แสดงฆราวาสธรรม ถวายพระราชาในโรงธรรมสภานั้น.
บทว่า คติมา ความว่า ชื่อว่า ผู้มีคติด้วยญาณคติอันประเสริฐ. บทว่า ธิติมา ได้แก่ ผู้มั่นคงเพราะมีความเพียรไม่ขาดสาย.
บทว่า มติมา ความว่า ชื่อว่า ผู้มีปัญญาเพราะมีปัญญาอันไพบูลย์เสมอด้วยแผ่นดิน.
บทว่า อตฺถทสฺสินา ความว่า ชื่อว่า ผู้เห็นอรรถด้วยญาณอันเห็นอรรถอันละเอียดสุขุม.
บทว่า สงฺขาตา ความว่า วิธุรบัณฑิตกำหนดรู้ธรรมได้ทั้งหมดด้วยปัญญา คือญาณเครื่องรู้แล้ว. กราบทูลคำมีอาทิว่า อย่าคบหาภริยาอันสาธารณะ ในฆราวาสธรรมนั้น. ผู้ใดผิดภรรยาของชนเหล่าอื่น ผู้นั้นชื่อว่ามีภริยาเป็นสาธารณะ. ผู้เช่นนั้นอย่าพึงมีภริยาอันเป็นสาธารณะเลย.
บทว่า สาธุเมกโก ความว่า ผู้อยู่ครองเรือน ไม่ให้โภชนะอันประณีตมีรสอร่อยแก่ชนเหล่าอื่น. ไม่พึงบริโภคแต่ผู้เดียว.
บทว่า โลกายติกํ ความว่า ไม่ควรซ่องเสพวาทะอันเกี่ยวในทางหายนะ อันเป็นคำพูดให้เขาหลงเชื่อ. ไม่อาศัยประโยชน์ ไม่เป็นทางให้ไปสวรรค์.
บทว่า เนตํ ปญฺญาย วฑฺฒนํ ความว่า ก็ข้อนั้น เป็นทางทำโลกให้ปั่นป่วน ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ.
บทว่า สีลวา ได้แก่ ประกอบด้วยศีล ๕ ข้อไม่ขาด.
บทว่า วตฺตสมฺปนฺโน ความว่า ผู้อยู่ครอบครองเรือนต้องเข้าถึง ความประพฤติอนุวัตรตามพระราชา.
บทว่า อปฺปมตฺโต ความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรม.
บทว่า นิวาตวุตฺติ ความว่า ไม่กระทำความเย่อหยิ่ง ประพฤติตนตกต่ำรับโอวาทานุศาสนี.
บทว่า อตฺถทฺโธ ความว่า เว้นจากความตระหนี่เหนียวแน่น.
บทว่า สุรโต ความว่า ประกอบด้วยความสงบเสงี่ยม.
บทว่า สขิโล แปลว่า ผู้มีวาจาเป็นที่ตั้งแห่งความรัก.
บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้ไม่หยาบคายด้วยกายวาจาและจิต.
บทว่า สงฺคเหตา จ มิตฺตานํ ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็น ผู้ทำการสงเคราะห์มิตรอันดีงาม คือพึงสงเคราะห์ ในบรรดาทานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสงเคราะห์กันนั้น.
บทว่า สํวิภาคี ได้แก่ ทำการจำแนกทานแก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมเป็นต้น และแก่คนกำพร้าเป็นต้น.
บทว่า วิธานวา ความว่า พึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการจัดแจง ในกิจทั้งหมดอย่างนี้ว่า ในเวลานี้ควรจะไถ เวลานี้ควรจะหว่าน.
บทว่า ตปฺเปยฺย ความว่า พึงบรรจุภาชนะที่ตนรับแล้วๆ ให้เต็มแล้ว เมื่อให้พึงพอใจ.
บทว่า ธมฺมกาโม ความว่า ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ปรารถนาประเพณีธรรมบ้าง สุจริตธรรมบ้าง.
บทว่า สุตาธาโร ความว่า เป็นผู้ทรงสุตะ.
บทว่า ปริปุจฺฉโก ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม แล้วมีปกติ ไต่ถามด้วยคำมีอาทิว่า อะไรเป็นกุศลนะขอรับ.
บทว่า สกฺกจจํ แปลว่า โดยความเคารพ.
บทว่า เอวํ นุ อสฺส สงฺคโห ความว่า ผู้อยู่ครองเรือน แม้การสงเคราะห์ก็สมควรทำเช่นนั้น.
บทว่า สจฺจวาที ความว่า ผู้อยู่ครองเรือนปฏิบัติได้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวคำสัตย์.

พระมหาสัตว์แสดงปัญหาในฆราวาสธรรมถวายแด่พระราชาอย่างนี้แล้ว ลงจากบัลลังก์ถวายบังคมพระราชา. ฝ่ายพระราชาทรงกระทำมหาสักการะแก่พระมหาสัตว์นั้น มีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จกลับไปสู่พระนิเวศน์ของพระองค์.
จบฆราวาสธรรมปัญหา

ส่วนพระมหาสัตว์กลับเรือนของตนแล้ว. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จึงกล่าวคาถาว่า
ท่านมาไปด้วยกัน ณ บัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินธนัญชัยผู้เป็นอิสราธิบดี พระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน ในบทว่า ทินฺโน โน นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ท่านอันพระเจ้าธนัญชัยผู้เป็นอิสราธิบดี ได้พระราชทานแล้ว.
บทว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า เพราะเมื่อท่านปฏิบัติ ให้เป็นประโยชน์แก่เรา ชื่อว่าเป็นอันปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่นายของตน การทำให้เป็นประโยชน์แก่นายของตนนั้น ชื่อว่าเป็นธรรมของเก่าคือ เป็นแบบของบัณฑิตในปางก่อน อย่างแท้จริง.

วิธุรบัณฑิตกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชา ผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ตลอดเวลาที่ ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตยาหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ท่านได้ข้าพเจ้าแล้ว คือเมื่อได้ข้าพเจ้า ไม่ใช่ได้โดยประการอื่น.
บทว่า ทินฺโนหมสฺมิ ตว อิสฺสเรน ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชา ผู้เป็นอิสราธิบดีของข้าพเจ้า ได้พระราชทานแก่ท่านแล้ว.
บทว่า ตีหญฺจ ความว่า ดูก่อนมาณพ เราเป็นผู้มีอุปการะมากแก่ท่าน เพราะไม่เห็นคล้อยตามพระราชา พูดไปตามความจริงเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ท่านจงรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่แก่ตน พวกเราจะพักอยู่ในเรือนของตน ๓ วัน เพราะฉะนั้น ท่านจงยับยั้งอยู่ ให้ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรและภรรยาก่อน.

ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น แล้วคิดว่า บัณฑิตนี้พูดจริง เธอมีอุปการะแก่เราเป็นอย่างมาก แม้หากว่า เมื่อเธอจะขอให้เราพักอยู่ ๗ วันก็ดี ครึ่งเดือนก็ดี เราก็จะยับยั้งอยู่โดยแท้ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
คำที่ท่านกล่าวนั้น จงมีแก่ข้าพเจ้าเหมือนอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ ท่านจงทำกิจในเรือนทั้งหลาย ท่านจงสั่งสอนบุตรภริยาเสียแต่วันนี้ ตามที่บุตรภริยาของท่านจะพึงมีความสุข ในภายหลัง ในเมื่อท่านไปแล้ว.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมฺเม ความว่า คำที่ท่านขอนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าตามใจท่าน.
บทว่า ภวชฺช ความว่า ท่านผู้เจริญ จงสั่งสอนบุตรและภริยา ๓ วันตั้งแต่วันนี้ไป.
บทว่า ตยี เปจฺจ ความว่า ท่านจงสั่งสอนโดยประการที่เมื่อท่านไปแล้ว ภายหลังบุตรและภริยาของท่านจะพึงมีความสุข.

ปุณณกยักษ์ ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เข้าไปสู่นิเวศน์ของพระมหาสัตว์นั้นแล.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
ปุณณกยักษ์ผู้มีสมบัติน่าใคร่มากมาย กล่าวว่า ดีละ แล้วหลีกไปกับวิธุรบัณฑิต เป็นผู้มีมารยาทอันประเสริฐสุด เข้าไปในบ้านของวิธุรบัณฑิต อันบริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหูตกาโม แปลว่า ผู้มีโภคทรัพย์มากมาย.
บทว่า ตํ กุญฺชราชญฺญหยานุจิณฺณํ ความว่า สั่งสม คือบริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย.
บทว่า อริยเสฏฺโฐ ความว่า เป็นผู้สูงสุดในมารยาทอันประเสริฐสุด.

ปุณณกยักษ์เข้าไปในบ้านแห่งวิธุรบัณฑิตแล้ว ก็พระมหาสัตว์ได้มีปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่พักแรม ๓ ฤดู. ในปราสาท ๓ หลังนั้น หลังหนึ่งชื่อว่าโกญจะ หลังหนึ่งชื่อว่ามยูระ หลังหนึ่งชื่อว่าปิยเกต.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาปราสาท ๓ หลังนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ปราสาทของพระมหาสัตว์มีอยู่ ๓ หลัง คือโกญจปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑. ในปราสาททั้ง ๓ นั้น พระมหาสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาท อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก มีภักษาหารบริบูรณ์ มีข้าวน้ำเป็นอันมาก ดังหนึ่งสักกสารวิมานของท้าววาสวะ ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ความว่า บรรดาปราสาททั้ง ๓ นั้น.

พระมหาสัตว์พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่ที่ตนอยู่ในสมัยนั้นซึ่งเป็นที่ที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก. ก็แลครั้นเข้าไปแล้ว ให้จัดแจงห้องอันเป็นที่นอน และห้องโถงใหญ่ ในชั้นที่ ๗ แห่งปราสาท ที่ได้ตบแต่งไว้แล้ว. ให้ปูที่นอนอันทรงสิริ บำรุงวิธีมีข้าวและน้ำเป็นต้นทั้งหมด. แล้วมอบให้แก่ปุณณกยักษ์นั้น ด้วยสั่งว่า หญิง ๕๐๐ ดุจนางเทพกัญญาเหล่านี้ จงเป็นหญิงบำรุงบำเรอท่าน. ท่านอย่าเบื่อหน่าย จงอยู่ในที่นี้เถิด. ครั้นมอบให้แล้ว จึงได้ไปสู่ที่อยู่ของตน. เมื่อพระมหาสัตว์ไปแล้ว หญิงบำเรอเหล่านั้นจับเครื่องดนตรีต่างๆ เริ่มการประโคม มีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น เพื่อบำเรอปุณณกยักษ์.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
นารีทั้งหลายผู้ประดับประดางดงาม ดังเทพอัปสรในเทวโลก ฟ้อนรำขับเพลงอันไพเราะจับใจ กล่อมปุณณกยักษ์อยู่ในปราสาทหลังนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวฺหยนฺติ แปลว่า ย่อมร้องเรียก.
บทว่า วราวรํ ความว่า นางบำเรอเหล่านั้นประดับองค์ทรงเครื่องอันงดงาม พากันฟ้อนรำและขับกล่อมประสานเสียงกันอยู่.

พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม รับรองปุณณกยักษ์ ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้ว คิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภริยาในกาลนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมุทาหิ ความว่า พระมหาสัตว์รับรองปุณณกยักษ์ ด้วยเหล่านางบำเรอที่น่ายินดีชื่นใจและด้วยข้าวและน้ำ.
บทว่า ธมฺมปาโล แปลว่า ผู้รักษาธรรม คือผู้คุ้มครองธรรม.
บทว่า อคฺคตฺถเมว ได้แก่ ซึ่งประโยชน์อันเลิศนั่นเอง.
บทว่า ปาเวกฺขิ ภริยาย ความว่า ได้เข้าไปใกล้ภริยาผู้ประเสริฐกว่าสตรีทั้งปวง.

ได้กล่าวกะภริยาผู้มีผิวพรรณอันผุดผ่อง ดุจแท่งทองชมพูนุท มีองค์อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์และของหอมว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ ผู้มีเนตรอันแดงงาม เจ้าจงมา. จงเรียกบุตรธิดาของเรามาฟังคำสั่งสอน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภริยํ อวจ แปลว่า ได้กล่าวกะภริยา.
บทว่า อามนฺตย แปลว่า ได้เรียก.

นางอโนชาได้สดับถ้อยคำของสามี ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ผู้มีเล็บอันแดง มีตาอันงดงามว่า ดูก่อนยอดดวงใจ ผู้มีดวงตาอันงดงามหาที่ติมิได้ เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายของเราผู้ทรงเครื่องปกปิดหนัง ผู้แกล้วกล้าสามารถมา ณ บัดนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโนชา ได้แก่ ภรรยาผู้มีชื่ออย่างนั้น.
บทว่า สุณิสํ อวจ ตมฺพนขึ สุเนตฺตํ ความว่า นางอโนชาได้สดับถ้อยคำของสามี เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่. คิดว่า เราไม่ควรจะไปเรียกบุตรด้วยตนเอง เราจักสั่งลูกสะใภ้ไป. ดังนี้แล้ว ไปสู่ที่อยู่ของลูกสะใภ้นั้น ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ผู้มีเล็บอันแดง มีดวงตางดงาม.
บทว่า อามนฺตย แปลว่า จงเรียก.
บทว่า จมฺมธรานิ ความว่า ผู้ทรงซึ่งเครื่องปกปิดหนัง ผู้แกล้วกล้าสามารถ. ก็เครื่องอาภรณ์นั่นเอง ท่านประสงค์เอาว่า จมฺม เครื่องปกปิดหนังในที่นั้น. เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งเครื่องอาภรณ์ดังนี้ก็มี. บทว่า เจเต ความว่า ลูกสะใภ้เรียกเขาโดยชื่อ. บทว่า ปุตฺตานิ ได้แก่ บุตรและธิดาของเรา.
บทว่า อินฺทีวรปุปฺผสาเม ความว่า ย่อมร้องเรียกเขา.

ลูกสะใภ้รับคำว่า ดีละ. แล้วเที่ยวไปตามปราสาท ร้องเรียกเพื่อนสนิทของพระมหาสัตว์ บุตรและธิดาหมดทุกคนให้ไปประชุมกันว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย บิดาต้องการจะให้โอวาท จึงเรียกท่านทั้งหลายมา. ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายเห็นบิดาครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย. ส่วนว่า ธรรมปาลกุมารได้ยินคำนั้นแล้ว จึงพาพี่น้องร้องไห้ไปสู่สำนักของท่านบิดา. ฝ่ายวิธุรบัณฑิตเห็นบุตรธิดาเหล่านั้น ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตามปกติ มีเนตรเต็มไปด้วยน้ำตา สวมกอดและจูบศีรษะบุตรธิดาเหล่านั้น ให้บุตรคนโตนอนบนตัก. สักครู่หนึ่งแล้วก็ยกลงจากตัก ออกจากห้องอันประกอบด้วยสิริ ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ที่พื้นปราสาทหลังใหญ่ ได้ให้โอวาทแก่บุตรพันหนึ่ง.

พระศาสดา เมื่อประกาศความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม ได้จุมพิตบุตรธิดาผู้มาแล้วนั้นที่กระหม่อมไม่หวั่นไหว ครั้นเรียกบุตรธิดามาพร้อมแล้ว ได้กล่าวสั่งสอนว่า พระราชาในพระนครอินทปัตตะนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อจะสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร.
ถ้าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุเก่าๆ อะไรบ้าง. พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกัน กับเราในราชตระกูลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติตระกูล คู่ควรกับพระราชา ไม่มี.
ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมปาโล ได้แก่ พระมหาสัตว์.
บทว่า ทินฺนาหํ ความว่า เราเป็นผู้อันพระราชาทอดทิ้งทรัพย์ ในชัยชนะพระราชทานแก่มาณพ.
บทว่า ตสฺสชฺชหํ อตฺตสุขี วิเธยฺโย ความว่า บิดามีความสุขในอำนาจแห่งตนได้ชั่ว ๓ วัน แต่วันนี้ไป พ้นจาก ๓ วันนี้ไป บิดาก็เป็นไปในอำนาจแห่งมาณพ ก็ในวันที่ ๔ มาณพนั้นจะพาบิดาไปในที่ไหนๆ ที่เขาปรารถนาโดยส่วนเดียว.
บทว่า อปริตฺตาย ความว่า ก็บิดามาเพื่อจะสอนเจ้าทั้งหลายว่า บิดาหากยังมิได้ทำเครื่องป้องกันแก่พวกเจ้า จะพึงไปได้อย่างไร เหตุนั้น บิดาจะต้องมาเพื่อสั่งสอนพวกเจ้า.
บทว่า ชนสณฺโฐ ความว่า พระราชาผู้ทำความมั่นคงแก่ชน ผู้เป็นมิตรด้วยการผูกมิตร.
บทว่า ปุเร ปุราณํ ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้พวกเจ้าย่อมรู้เหตุการณ์เก่าๆ อะไรบ้าง บิดาของพวกเจ้าสั่งสอนพร่ำสอนไว้ อย่างไรบ้าง เจ้าทั้งหลายที่พระราชาตรัสถามอย่างนี้. พึงทูลว่า บิดาของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ให้โอวาทอย่างนี้ๆ.
บทว่า สมานาสนา โหถ ความว่า ก็ถ้าว่า เมื่อพวกเจ้าทูลบอกโอวาทที่บิดาให้นี้ พระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า พวกเจ้าทั้งปวงมานั่งบนอาสนะเสมอกันกับเราในวันนี้.
บทว่า โกนีธ รญฺโญ อพฺภุติโก มนุสฺโส ความว่า ในตระกูลนี้ มนุษย์คนไรนอกจากพวกเจ้า ซึ่งจะมีชาติสกุลสูงศักดิ์เสมอด้วยพระราชา หามิได้ เพราะฉะนั้น จงให้นั่งบนอาสนะของตน.
บทว่า ตมญฺชลึ ความว่า ถ้าพวกเจ้าพึงกระทำอัญชลี ถวายบังคมทูลอย่างนี้ไซร้ ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนั้น เพราะข้อนั้นหาได้ถูกธรรมเนียมไม่.
บทว่า วิยคฺฆราชสฺส ได้แก่ ไกรสรราชสีห์.
บทว่า นิหีนชจฺโจ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มีชาติต่ำต้อยเหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่ จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ได้อย่างไร. สุนัขจิ้งจอกย่อมเป็นผู้มีอาสนะเสมอด้วยราชสีห์แม้ ฉันใด. พวกข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์.

ส่วนพวกบุตรธิดาญาติผู้มีใจดีและทาสกรรมกรทั้งหมดนั้น ได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์ดังนี้ ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตามปกติ ต่างพากันร้องไห้พิไรร่ำไปตามกัน พระมหาสัตว์ได้ตักเตือนชนเหล่านั้น ให้คลายโศกาดูร มีสติรู้สึกตัวได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้.
จบลักขกัณฑ์

.. อรรถกถา วิธุรชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280834อรรถกถาชาดก 280893
เล่มที่ 28 ข้อ 893อ่านชาดก 281045อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=5626&Z=6510
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]