ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280090อรรถกถาชาดก 280094
เล่มที่ 28 ข้อ 94อ่านชาดก 280134อ่านชาดก 281045
อรรถกถา กุสชาดก
ว่าด้วย พระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี.

หน้าต่างที่   ๓ / ๓.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

พระราชบุตรีผู้มีผิวผ่องดังทองคำ ทรงผ้าโกไสยพัสตร์ มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา อันหมู่ทาสีแวดล้อม เสด็จไปยังพระตำหนักของพระมารดา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามา ได้แก่ มีผิวพรรณดุจทองคำ.
บทว่า โกเสยฺยวาสินี ได้แก่ นุ่งผ้าที่ทอด้วยไหมอนแซมขจิตด้วยทองคำ.

พระนางเสด็จไปเฝ้าพระมารดาแล้ว ถวายบังคมพระมารดา ทรงกำสรวลสะอึกสะอื้น กราบทูลว่า
ข้าแต่พระมารดา หน้าของลูกอันผัดแล้วด้วยแป้ง ส่องแล้วที่กระจกเงา งดงาม มีดวงเนตรคมคาย ผุดผ่องเป็นนวลใย จักถูกกษัตริย์ทั้งหลาย โยนทิ้งเสียในป่าเป็นแน่แล้ว
ฝูงแร้ง ก็จะพากันเอาเท้ายื้อแย่งผมของลูกอันดำ มีปลายงอน ละเอียดอ่อน ลูบไล้ด้วยน้ำมันหอมแก่นจันทน์ ในท่ามกลางป่าช้าอันเปรอะเปื้อนเป็นแน่
แขนอ่อนนุ่มทั้งสองของลูกอันมีเล็บแดง มีขนละเอียด ลูบไล้ด้วยจุณจันทน์ ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดทิ้งเสียในป่า และฝูงกาก็จะโฉบคาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่
สุนัขจิ้งจอกมาเห็นถันทั้งสองของลูก เช่นกับผลตาลอันห้อยอยู่ ซึ่งลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แคว้นกาสี ก็จะยืนคร่อมที่ถันทั้งสองของลูกเป็นแน่ เหมือนลูกอ่อนที่เกิดแต่ตนของมารดา
ตะโพกอันกลมผึ่งผายของลูก ผูกรัดด้วยสร้อยสะอิ้งทอง ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดเป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้งไปในป่า
ฝูงสุนัขจิ้งจอก ก็จะพากันมาฉุดคร่าไปกิน ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่น ซึ่งมีอยู่ได้กินนางประภาวดีแล้ว คงไม่รู้จักแก่กันเป็นแน่
ข้าแต่พระมารดา ถ้ากษัตริย์ทั้งหลายผู้มาแต่ที่ไกล ได้นำเอาเนื้อของลูกไปหมดแล้ว พระมารดาได้ทรงโปรดขอเอากระดูกมาเผาเสียในระหว่างทางใหญ่ ขอพระมารดาได้สร้างสวนดอกไม้แล้ว จงปลูกต้นกรรณิการ์ในสวนเหล่านั้น
ข้าแต่พระมารดา ในกาลใด ดอกกรรณิการ์เหล่านั้นเบ่งบานแล้ว ในเวลาหิมะตกในฤดูเหมันต์ ในกาลนั้น ขอพระมารดา พึงระลึกถึงลูกว่า ประภาวดีมีผิวพรรณ อย่างนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กกฺกูปนิเสวิตํ ความว่า ผัดแล้วด้วยแป้งสำหรับผัดหน้า ๕ อย่างเหล่านี้ คือ สาสปกักกะ แป้งที่ทำด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๑ โลณกักกะ แป้งที่ทำด้วยเกลือ ๑ มัตติกกักกะ แป้งที่ทำด้วยดิน ๑ ติลกักกะ แป้งที่ทำด้วยเมล็ดงา ๑ หลิททกักกะ แป้งที่ทำด้วยขมิ้น ๑.
บทว่า อาทาสทนฺตาถรุปจฺจเวกฺขิตํ ได้แก่ ส่องแล้วที่กระจกมีด้ามอันทำด้วยงา คือ มองดูที่กระจกนั้นแล้วแต่งตัว.
บทว่า สุภํ ได้แก่ มีใบหน้าอันงดงาม.
บทว่า วิรชํ ได้แก่ ปราศจากละออง คือหมดมลทินเครื่องเศร้าหมอง.
บทว่า อนงฺคณํ ได้แก่ เว้นจากโทษมีฝีและสิวเป็นต้น.
บทว่า ฉุฑฺฑํ ความว่า ข้าแต่พระมารดา ใบหน้าของลูกสวยออกอย่างนี้ คงจะถูกพวกกษัตริย์ทั้งหลายโยนทิ้งเสียในบัดนี้เป็นแน่.
บทว่า วเน คือ ในราวป่า. พระนางคร่ำครวญว่า หน้าของพระนางจักทิ้งอยู่ในป่า.
บทว่า อสิเต ได้แก่ ดำเป็นมันขลับ.
บทว่า เวลฺลิตคฺเค ได้แก่ มีปลายงอนขึ้นข้างบน.
บทว่า สีวถิกาย คือในสุสาน.
บทว่า ปริกฑฺฒยนฺติ ความว่า พวกแร้งทั้งหลายที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ก็จะเอาเท้าทั้ง ๒ ตะกุยยื้อแย่ง ผมของลูกซึ่งงามถึงเพียงนี้เป็นแน่.
บทว่า คยฺห ธํโก คจฺฉติ เยน กามํ ความว่า ข้าแต่พระมารดา นกชื่อว่า ธังกะ จักโฉบเอาแขนของลูกที่สวยออกอย่างนี้ไปจิกกินแล้ว จักบินไปตามความปรารถนา.
บทว่า ตาลูปนิเภ ได้แก่ คล้ายกับผลตาลมีสีเหลืองดุจทอง.
บทว่า กาสิกจนฺทเนน ได้แก่ ลูบไล้แล้วด้วยจุณไม้จันทน์มีเนื้ออันละเอียด.
บทว่า ถเนสุ เม ความว่า ข้าแต่พระมารดา สุนัขจิ้งจอกมาเห็นนมทั้ง ๒ ข้างของลูกงามออกอย่างนี้ ซึ่งตกอยู่ในสุสาน ก็จะเอาปากกัดคร่อมลงที่นมทั้ง ๒ ข้าง ของลูกนั้นเป็นแน่แท้ ประดุจลูกอ่อนของมารดาผู้เกิดแต่ตนของตน ฉะนั้น.
บทว่า โสณี คือ แผ่นสะเอว.
บทว่า สุโกฏฺฏฺตํ ได้แก่ ที่บุคคลเอาไม้คางโคทุบแต่งจนงามดี.
บทว่า อวตฺถํ คือทิ้งแล้ว.
บทว่า ภกฺขยิตฺวา ความว่า ข้าแต่พระมารดา สัตว์ทั้งหลายมีจำนวนเท่านี้เหล่านี้ เคี้ยวกินเนื้อของลูกแล้ว จักไม่แก่เป็นแน่แท้.
บทว่า สเจ มํสานิ หาเรสุํ ความว่า ข้าแต่พระมารดา ถ้าพวกกษัตริย์เหล่านั้น ยังมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในลูก พึงแล่เนื้อของลูกออก เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมารดาจงขอเอากระดูกมา.
บทว่า อนุปนฺเถ ทหาถ นํ ความว่า พระนางประภาวดีทูลว่า ขอพระมารดาพึงเผาลูกเสีย ในระหว่างแห่งทางเล็กและทางใหญ่.
บทว่า เขตฺตานิ ความว่า ข้าแต่พระมารดา ขอให้พระมารดาจงสร้างสวนดอกไม้ขึ้น ในบริเวณสถานที่ที่เผาศพของลูกแล้ว.
บทว่า เอตฺถ ความว่า พึงปลูกต้นกรรณิการ์ทั้งหลาย ในบริเวณเนื้อที่เหล่านั้นด้วย.
บทว่า หิมจฺจเย ได้แก่ ในเดือน ๔ ที่พ้นจากหิมะตกแล้ว.
บทว่า สเรยฺยาถ ความว่า พระมารดาพึงเอาดอกไม้เหล่านั้นบรรจุจนเต็มผอบแล้ว วางไว้ ณ พระเพลา แล้วพึงระลึกว่า ประภาวดีลูกของเรามีผิวพรรณดังดอกกรรณิการ์ ดังนี้.

พระนางประภาวดีนั้น ถูกมรณภัยคุกคามแล้ว จึงทรงบ่นเพ้ออยู่บน พระตำหนักของพระมารดา ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายพระเจ้ามัททราชก็ตรัสสั่งอำมาตย์ให้ถือขวานและระฆังแล้ว ทรงบังคับว่า นายเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจร จงมาในที่นี้เดี๋ยวนี้ การที่นายเพชฌฆาตนั้นเข้ามา ก็ปรากฏทั่วไปในเรือนหลวงทั้งสิ้น. ลำดับนั้น พระมารดาของพระนางประภาวดีทรงสดับว่า นายเพชฌฆาตนั้นมาแล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงเพรียบพร้อมด้วยความเศร้าโศก ได้เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระมารดาของพระนางประภาวดีเป็นขัตติยานี มีพระฉวีวรรณ ดุจดังเทพอัปสร ได้ประทับยืนอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นดาบและธนู วางอยู่ตรงพระพักตร์พระเจ้ามัททราชภายในบุรี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฏฺฐาสิ ความว่า พระนางเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชาแล้ว ประทับยืนอยู่.
บทว่า ทิสฺวา อสิญฺจ สูณญฺจ ความว่า พระนางทอดพระเนตรเห็นขวานและธนู ที่เขาวางไว้บนพื้นใหญ่ข้างพระพักตร์พระราชา อันประดับประดาแล้ว ณ ภายในบุรี

จึงทรงรำพันอยู่ตรัสพระคาถาว่า
พระองค์จะทรงฆ่าพระธิดาของหม่อมฉัน บั่นให้เป็นท่อนๆ ด้วยดาบนี้ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แน่หรือเพคะ.


คำว่า ดาบ ในคาถานั้น พระองค์ตรัสประสงค์ถึงขวาน. จริงอยู่ ขวานนั้นชื่อว่าดาบ ในที่นี้.
บทว่า สุสญฺญํ ตนิมชฺฌิมํ ได้แก่ ฟันให้เป็นท่อนถึงกลางตัว.

ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะทรงให้พระเทวีนั้นรู้สำนึก จึงตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี ท่านพูดอะไร ก็พระธิดาของท่านมาทอดทิ้งพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยรังเกียจว่า มีรูปร่างชั่วช้า เมื่อหนทางที่มายังไม่พินาศทีเดียว ก็พาเอาความตายมาโดยหน้าผาก บัดนี้ จงรับผลแห่งความเป็นอิสระ เพราะอาศัยรูปของตนเถิด. พระนางได้ทรงสดับพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว จึงเสด็จไปยังพระตำหนักของพระธิดา ทรงรำพันเพ้อ ตรัสว่า
พระลูกน้อยเอ๋ย พระราชบิดาไม่ทรงกระทำตามคำของแม่ผู้ใคร่ประโยชน์ เจ้านั้นจะเปรอะเปื้อนโลหิต ไปสู่สำนักพระยายมในวันนี้ ถ้าบุรุษผู้ใดไม่ทำตามคำของบิดามารดา ผู้เกื้อกูลมองเห็นประโยชน์ บุรุษผู้นั้นย่อมได้รับโทษอย่างนี้ และจะต้องเข้าถึงโทษที่ลามกกว่า
ในวันนี้ ถ้าลูกจะทรงไว้ซึ่งกุมาร ทรงโฉมงดงามดังสีทอง เป็นกษัตริย์เกิดกับพระเจ้ากุสราช สวมสร้อยสังวาลย์แก้วมณีแกมทอง อันหมู่พระญาติบูชาแล้วไซร้ ลูกก็จะไม่ต้องไปยังสำนักของพระยายม
ลูกหญิงเอ๋ย เสียงกลองชัยเภรีดังอยู่อึงมี่ และเสียงช้างร้องก้องอยู่ ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลายใด ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่มีความสุขยิ่งกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย
เสียงม้าศึกคึกคะนอง ร้องคำรนอยู่ที่ประตู เสียงกุมารร้องรำทำเพลงอยู่ ในตระกูลกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกเห็นอะไรเล่าหนอ ที่มีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีนกยูง นกกระเรียนและนกดุเหว่า ส่งเสียงร้องก้องเสนาะไพเราะจับใจ ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่จะมีความสุขยิ่ง ไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย.


ในคาถานั้น พระเทวีตรัสเรียกพระนางประภาวดีนั้นว่า ดูก่อนลูกน้อย ดังนี้. คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ ในวันนี้เจ้าจะกระทำอะไรในที่นี้ เจ้าไปในวังของสามี ย่อมมัวเมาด้วยความเมาในรูป เพราะฉะนั้น พระราชบิดาจึงไม่ยอมกระทำตามคำของแม่ แม้จะอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ในวันนี้ เจ้านั้นจะต้องเปื้อนด้วยโลหิตไปสู่สำนักพระยายม คือไปสู่ภพแห่งพระยามัจจุราช.
บทว่า ปาปิยญฺจ ได้แก่ ย่อมเข้าถึงโทษอันชั่วช้ากว่าโทษที่ได้รับอยู่นี้อีกด้วย.
บทว่า สเจว อชฺช ธาเรสิ ความว่า แน่ะแม่ ถ้าเจ้าไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตใจ ก็จะได้พระโอรส มีรูปโฉมงดงามดังสีทองเหมือนกับรูปร่างของตัว ซึ่งได้แล้วเพราะอาศัยพระเจ้ากุสราชผู้เป็นจอมแห่งชน.
บทว่า ยมกฺขยํ ความว่า แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์แห่งพระยายม.
บทว่า ตโต ความว่า ในตระกูลแห่งกษัตริย์ใด มีความสนุกสนานเพลิดเพลินถึงเพียงนี้ เจ้าเห็นอะไรเล่า ที่มีความสุขยิ่งไปกว่าสถานที่เช่นนั้น คือแต่ราชตระกูลกุสาวดี ที่ครึกครื้นอยู่ด้วยเสียงแห่งกลองชัย และเสียงคึกคะนองร้องคำรนแห่งช้างและนกกระเรียนในระหว่างทาง จึงได้มาเสียในที่นี้.
บทว่า หสิสติ แปลว่า ร้องดังก้อง.
บทว่า กุมาโร ได้แก่ กุมารคนธรรพ์นักฟ้อนรำ ซึ่งศึกษาชำนาญดีแล้ว.
บทว่า อุปโรทติ ได้แก่ ถือเอาดนตรีชนิดต่างๆ แล้วทำการขับร้อง.
บทว่า โกกิลาภินิกุชฺชิเต ความว่า ในตระกูลแห่งพระเจ้ากุสราช มีพวกนกกาเหว่าทั้งหลายร้องระงมอยู่ ประหนึ่งเซ็งแซ่ไปด้วยการบำรุงบำเรอด้วยการฟ้อนรำขับร้องประโคม อันเป็นไปตลอดเวลาเย็น และเวลาเช้า.

พระเทวีนั้นทรงเจรจากับพระนางประภาวดี ด้วยคาถามีประมาณเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงดำริว่า ถ้าในวันนี้ พระเจ้ากุสราชผู้เป็นจอมแห่งชน พึงประทับอยู่ในที่นี้ไซร้ ก็จะทรงออกตีพระราชาทั้ง ๗ พระนครเหล่านี้ ให้แตกหนีไป พึงเปลื้องเสียซึ่งพระลูกของเรา ให้พ้นจากความทุกข์แล้ว พึงพาลูกของเรากลับไป
แล้วตรัสคาถาว่า
พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ พึงทรงปลดเปลื้องเราทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหนหนอ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสฬารปญฺญาโณ ได้แก่ ผู้มีปัญญายิ่ง.

ในลำดับนั้น พระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า เมื่อมารดาของเราพรรณนาคุณของพระเจ้ากุสราชอยู่ ปากย่อมไม่เพียงพอ เราจักบอกว่า พระเจ้ากุสราชนั้นทรงทำการงาน ในหน้าที่พนักงานห้องเครื่องต้น ประทับอยู่ในที่นี้นั่นแหละ แด่พระมารดานั้นก่อน
จึงทูลเป็นคาถาว่า
พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นี่แหละ เพคะ.


ลำดับนั้น พระมารดาของพระนางประภาวดีนั้น จึงทรงดำริว่า ลูกเราคนนี้ เห็นจะหวาดกลัวต่อมรณภัย จึงละเมอเพ้อไป ดังนี้แล้ว
จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือไร จึงได้พูดอย่างนี้ หรือว่าเจ้าเป็นอันธพาล จึงได้พูดอย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชพึงเสด็จมาจริง ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลา ได้แก่ เป็นผู้โง่เขลาไม่มีความรู้.
บทว่า กึ น ชาเนมฺ ความว่า เพราะเหตุไร แม่จึงไม่รู้จักพระองค์. ด้วยว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น เพียงแต่ได้เสด็จมาถึงกลางทางเท่านั้น ก็จะต้องส่งพระราชสาส์นมาถึงยังพวกเรา เสนาประกอบไปด้วยองค์ทั้ง ๔ มีธงชักขึ้นไสว ก็ต้องปรากฏ ก็ลูกกล่าวถึง พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นเพราะกลัวตายกระมัง.

เมื่อพระมารดาตรัสอย่างนี้ พระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า พระมารดาของเราไม่ยอมเชื่อ และไม่ทรงทราบว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นเสด็จมาประทับอยู่ในที่นี้ถึง ๗ เดือนแล้ว เราจักแสดงพระเจ้ากุสราชนั้นแก่พระมารดา จึงจับพระหัตถ์พระมารดา ทรงเปิดบานพระแกล ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปแล้ว ทรงชี้ให้ทอดพระเนตร พร้อมกราบทูลเป็นพระคาถาว่า
พระเจ้ากุสราชนั้นทรงปลอมพระองค์ เป็นบุรุษพนักงานเครื่องต้น ทรงพระภูษาหยักรั้ง มั่นคง กำลังก้มพระองค์ล้างหม้ออยู่ ในระหว่างพระตำหนักของพระกุมารีทั้งหลาย เพคะ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมารีปุรมนฺตเร ความว่า จงประทับยืนที่หน้าต่าง ทอดพระเนตรไปในระหว่างพระตำหนักของเหล่ากุมารี ผู้เป็นพระราชธิดาของพระองค์เถิด.
บทว่า สํเวลํ ความว่า กำลังนุ่งหยักรั้งล้างหม้ออยู่.

ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงพระดำริว่า วันนี้ ความปรารถนาของเราคงถึงที่สุด พระนางประภาวดีกลัวตายหนักเข้า คงทูลพระมารดาและพระบิดาให้ทรงทราบว่า เรามาอยู่ที่นี่เป็นแน่แท้ เราจะจัดแจงล้างถ้วยชามแล้ว จักเก็บไว้ ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปตักน้ำมาแล้ว ก็ลงมือล้างถ้วยชามทั้งหลายอยู่.
ลำดับนั้น พระมารดาจึงบริภาษพระนาง ตรัสเป็นพระคาถาว่า
เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาลหรือ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล เจ้าเกิดแล้วในตระกูลพระเจ้ามัททราช เหตุใด จึงทำพระสวามีให้เป็นทาส.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวณี ได้แก่ ช่างถาก.
บทว่า อาทูสิ กุลคนฺธินี ได้แก่ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล.
บทว่า กามุกํ ความว่า เจ้าเกิดในตระกูลเห็นปานนี้ เหตุไร จึงได้ทำพระสวามีของตนให้เป็นทาสเล่า.

ในลำดับนั้น พระนางประภาวดีทรงพระดำริว่า พระมารดาของเราเห็นจะไม่ทรงทราบว่า พระเจ้ากุสราชนี้เสด็จมาประทับอย่างนี้ เพราะอาศัยเรา จึงทูลคาถานอกนี้ว่า
หม่อมฉันไม่ได้เป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาล ไม่ใช่เป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล นั่นพระเจ้ากุสราช พระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา แต่พระมารดาทรงเข้าพระทัยว่า เป็นทาส.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกากปุตฺโต ความว่า ข้าแต่พระมารดา นั่นคือพระโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่พระแม่เจ้าทรงเข้าพระทัยว่า เป็นทาส หม่อมฉันจะเรียกพระเจ้ากุสราชนั้นว่า เป็นทาส เพราะเหตุอะไร.

บัดนี้ พระนางประภาวดี เมื่อจะทรงพรรณนาถึงพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น จึงทูลว่า
ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา พระราชาพระองค์ใดทรงเชื้อเชิญ พราหมณ์สองหมื่นคนให้บริโภคภัตตาหาร ในกาลทุกเมื่อ พระราชาพระองค์นั้น คือพระเจ้ากุสราชพระโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า เป็นทาส
ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลาย เตรียมช้างไว้สองหมื่นเชือก ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า เป็นทาส
ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลายเตรียมรถไว้สองหมื่นคัน ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า เป็นทาส
ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลาย เตรียมรีดนมโคไว้สองหมื่นตัว ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า เป็นทาส.


ก็เมื่อพระนางประภาวดีนั้นทรงพรรณนาถึงพระอิสริยยศของพระมหาสัตว์ ด้วยคาถา ๕ คาถาอย่างนี้แล้ว ลำดับนั้น พระมารดาของพระนางก็ทรงเชื่อ ด้วยทรงพระดำริว่า ลูกสาวของเราคนนี้ กล่าวถ้อยคำอย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้อยคำนี้คงเป็นอย่างนี้แน่ จึงรีบเสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ ท้าวเธอก็เสด็จไปยังพระตำหนักของพระนางประภาวดีโดยด่วน ตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือลูก ได้ยินว่า พระเจ้ากุสราชเสด็จมาในที่นี้ พระนางประภาวดีกราบทูลว่า เป็นความจริงเช่นนั้น ข้าแต่พระบิดา พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นทรงทำหน้าที่ พนักงานเครื่องต้นแก่พระธิดาทั้งหลายของพระองค์ ถึงวันนี้ล่วงไปได้ ๗ เดือนแล้ว ท้าวเธอยังไม่ทรงเชื่อพระนาง จึงตรัสถามนางค่อม นางก็กราบทูลตามความเป็นจริงทุกประการ.
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงติเตียนพระธิดา จึงตรัสพระคาถาว่า
ดูก่อนเจ้าผู้เป็นพาล เจ้ากระทำกรรมอันชั่วร้ายเหลือเกิน ที่เจ้าไม่บอกพ่อว่า พระเจ้ากุสราชผู้เป็นกษัตริย์ มีทแกล้วทหารมาก ผู้เป็นพระยาช้าง มาด้วยเพศแห่งกบ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ คือ โดยส่วนเดียวเท่านั้น.

พระราชาพระองค์นั้น ครั้นทรงติเตียนพระธิดาแล้ว ก็รีบเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้นโดยด่วน ทรงมีปฏิสันถารอันพระโพธิสัตว์ทรงกระทำแล้ว จึงทรงประคองอัญชลี เมื่อจะทรงแสดงโทษของพระองค์ จึงตรัสพระคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดงดโทษแก่หม่อมฉันด้วยที่ไม่ทราบว่า พระองค์เสด็จมาในที่นี้ ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จักด้วยเถิด.


พระมหาสัตว์เจ้าทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักกล่าวคำตัดพ้อต่อว่าขึ้น หัวใจของท้าวเธอก็จักแตกเสียในที่นี้ เป็นแน่ เราควรจักเอาใจท้าวเธอไว้ ประทับยืนอยู่ในระหว่างภาชนะ ทีเดียว ตรัสคาถานอกนี้ว่า
คนเช่นหม่อมฉันมิได้ปกปิดเลย หม่อมฉันนั้นเป็นพนักงานเครื่องต้น พระองค์เท่านั้นทรงเลื่อมใสแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ไม่มีกรรมชั่วช้า ที่หม่อมฉันจะต้องอดโทษ.


พระราชาทรงได้รับปฏิสันถารจากสำนักของพระโพธิสัตว์เจ้านั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท รีบตรัสสั่งให้หาพระนางประภาวดีมาเฝ้า ทรงหวังจะส่งไปเพื่อต้องการให้อดโทษ จึงตรัสคาถาว่า
ดูก่อนเจ้าคนพาล เจ้าจงไปขอขมาโทษพระเจ้ากุสราช ผู้มีกำลังมากเสียเถิด พระเจ้ากุสราชที่เจ้าขอขมาแล้ว จักประทานชีวิตให้เจ้า.


พระนางประภาวดีนั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว จึงพร้อมด้วยพระภคินีทั้งหลายและพวกนางบริจาริกาเป็นจำนวนมาก เสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ประทับยืนอยู่ด้วยเพศแห่งคนล้างหม้อเช่นนั้นแล ทรงทราบว่า พระนางประภาวดีนั้นเสด็จมายังสำนักของพระองค์ จึงทรงพระดำริว่า วันนี้ เราจักทำลายมานะของแม่ประภาวดี ให้นางหมอบลงในโคลนใกล้เท้าของเราให้จงได้ จึงทรงราดน้ำที่พระองค์ตักมาทั้งหมด ทรงเหยียบย่ำที่ประมาณเท่ามณฑลแห่งลานนวดข้าว ทำให้เป็นโคลนไปหมด พระนางประภาวดีนั้นเสด็จไปยังสำนักของพระเจ้ากุสราชผู้พระโพธิสัตว์นั้น ทรงหมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระองค์ ประทับนั่งที่โคลน แล้วทรงขอโทษพระโพธิสัตว์นั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระนางประภาวดี ผู้มีผิวพรรณดังเทพธิดา ทรงรับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว ได้ซบพระเศียรลงกอดพระบาทพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระกำลังมาก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิรสา ความว่า พระนางประภาวดีทรงหมอบพระเศียรลง แล้วทรงจับพระเจ้ากุสราชที่พระบาท

ก็แล ครั้นทรงจับแล้ว เมื่อจะยังพระโพธิสัตว์เจ้านั้นให้ทรงอดโทษ จึงได้ภาษิตพระคาถา ๓ คาถาว่า
ราตรีเหล่านี้ที่ล่วงไป เว้นจากพระองค์นั้น เพียงใด หม่อมฉันขอถวายบังคม พระยุคลบาทของพระองค์ ด้วยเศียรเกล้า เพียงนั้น.
ขอพระองค์โปรดอย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันขอตั้งสัตว์ปฏิญาณแก่พระองค์ โปรดทรงสดับหม่อมฉันเถิด เพคะ หม่อมฉันจะไม่พึงทำความชิงชังแก่พระองค์อีกต่อไปละ.
ถ้าพระองค์จะไม่ทรงโปรดกระทำตามคำของหม่อมฉัน ผู้ทูลวิงวอนอยู่เช่นนี้ พระบิดาคงเข่นฆ่าหม่อมฉัน แล้วทรงประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้เป็นแน่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รตฺยา ได้แก่ ทั้งกลางคืนและกลางวัน.
บทว่า ตา อิมา ได้แก่ ราตรีเหล่านี้นั้นทั้งหมด ล่วงไปแล้วเว้นจากพระองค์.
บทว่า สจฺจนฺเต ปฏิชานามิ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันกระทำการเกลียดชังพระองค์ ตลอดกาลมีประมาณเพียงเท่านี้ บัดนี้ หม่อมฉันจะขอปฏิญาณคำสัตย์อย่างนี้แก่พระองค์ พระองค์จงสดับถ้อยคำอื่นอีก จำเดิมแต่นี้ไป หม่อมฉันจักไม่กระทำการเกลียดชังพระองค์อีกต่อไป.
บทว่า เอวญฺเจ ความว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงทำตามถ้อยคำของหม่อมฉัน ผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้.

พระราชาได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักพูดว่า เธอคนเดียวเท่านั้นจักรู้เรื่องนี้ ดังนี้ หัวใจของนางก็จักแตก เราจักปลอบใจเธอ แล้วจึงตรัสว่า
เมื่อพระน้องรักอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จักไม่ทำตามคำของพระน้องเล่า พี่ไม่โกรธพระน้องเลยนะคนงาม อย่ากลัวเลยประภาวดี พี่ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อพระน้อง โปรดขอจงทรงฟังพี่เถิดนะ พระราชบุตรี พี่จะไม่พึงกระทำความเกลียดชัง แก่พระน้องนางอีกต่อไปละ ดูก่อนน้องประภาวดี ผู้มีตะโพกอันกลมผึ่งผาย พี่สามารถจะทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมายแล้ว นำพระน้องนางไปได้ แต่เพราะความรักพระน้องนาง พี่จึงสู้ยอมทนทุกข์มากมาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ น กาหามิ ความว่า เพราะเหตุไร เราจึงจะไม่ทำตามคำของเธอเล่า.
บทว่า วิกุทโธ ตยสมิ ความว่า เราไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นเคืองต่อเธอเลย.
บทว่า สจจนเต ความว่า เราจักขอให้ปฏิญาณคำสัตย์นี้แก่เธอสัก ๒ ข้อ คือ จะไม่ขอโกรธเคือง ๑ ไม่ทำความเกลียดชัง ๑.
บทว่า ตว กามา ความว่า เพราะรักใคร่ คือปรารถนาเธอ.
บทว่า ติติกขิสสํ แปลว่า อดทน.
บทว่า พหุมททกุลํ หนตวา ความว่า เราสามารถที่จะฆ่าตระกูลพระเจ้ามัททราชแล้ว นำเอาเธอไปโดยพลการก็ได้

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เจ้านั้นทอดพระเนตรเห็น พระนางประภาวดีพระอัครมเหสีของพระองค์ ประหนึ่งว่า เทพกัญญาผู้เป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงยังขัตติยมานะให้บังเกิดขึ้น ทรงพระดำริว่า ได้ทราบว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ทั้งคน พระราชาทั้งหลายเหล่าอื่นจักมาแย่งเอาพระอัครมเหสีของเราไปเชียวหรือ จึงทรงแสดงท่าทางอันสง่าเสด็จลงไปยังพระลานหลวง ประดุจราชสีห์ ทรงประกาศบันลือ เปล่งเสียง โห่ร้อง ตบพระหัตถ์อยู่เอ็ดอึงว่า ชาวเมืองทั้งสิ้นจงทราบเถิดว่า เรามาแล้ว ตรัสสั่งว่า บัดนี้ เราจักจับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น จับให้ได้ทั้งเป็น ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเทียมรถเป็นต้น มาให้เรา แล้วตรัสคาถาอันเป็นลำดับไปว่า
เจ้าพนักงานทั้งหลายจงตระเตรียมรถและม้า อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการต่างๆ ให้มั่นคงแข็งแรง ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเรา ผู้กำจัดศัตรูทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป ในบัดนี้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานาจิตฺเต ได้แก่ วิจิตรด้วยเครื่องอลังการต่างๆ.
บทว่า สมาหิเต นี้ ท่านกล่าวหมายถึง ม้าทั้งหลาย อธิบายว่า ม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้ว ไม่พยศ.
บทว่า อถ ทกฺขถ เม เวคํ ความว่า ท่านทั้งหลายจักได้เห็นความหาญศึกของเราในกาลนี้.

พระโพธิสัตว์เจ้านั้นทรงส่งพระเจ้ามัททราชไปด้วยพระดำรัสว่า ขึ้นชื่อว่า การจับพระราชาทั้ง ๗ พระนคร เป็นหน้าที่ของหม่อมฉันเอง พระองค์จงเสด็จไปสรงสนาน ทรงประดับร่างกายแล้ว เสด็จขึ้นไปยังปราสาทเถิด. ฝ่ายพระเจ้ามัททราชก็ได้ทรงส่ง พวกอำมาตย์ไปเพื่อทำการอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์เจ้านั้น. พวกอำมาตย์เหล่านั้นพากันจัดแจงกั้นพระวิสูตร ล้อมรอบที่ประตูห้องเครื่องต้นนั้นทีเดียว แล้วให้พวกเจ้าพนักงานช่างกัลบกเข้าไปตัดพระเกศา ปลงพระมัสสุพระโพธิสัตว์เจ้านั้น. พระองค์ทรงใช้ช่างทำการปลงพระมัสสุเสร็จแล้ว ทรงสรงสนานชำระพระเศียรเกล้า ทรงประดับเครื่องแต่งตัวสำหรับกษัตริย์ทั้งหมด มีอำมาตย์ทั้งหลายห้อมล้อมเป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทอดพระเนตรดูไปรอบๆ ทุกทิศแล้ว ทรงปรบพระหัตถ์อยู่ฉาดฉาน. สถานที่ที่พระองค์ทรงมองดูแล้วก็หวั่นไหว. พระองค์จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงคอยดูการบุกเข้าต่อสู้กับข้าศึกของเรา ในบัดนี้.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ก็นารีทั้งหลาย ภายในพระราชวังของพระเจ้ามัททราชนั้น พากันมองดูพระโพธิสัตว์เจ้า ผู้เสด็จเยื้องกรายดุจราชสีห์ ทรงปรบพระหัตถ์ เสวยพระกระยาหารถึงสองเท่าพระองค์นั้น.


คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า ก็พวกหญิงพากันเปิดหน้าต่าง ในภายในบุรีแห่งพระราชาแล้ว มองดูพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ผู้ทรงเยื้องกรายและปรบพระหัตถ์อยู่ ในที่นั้น.

ลำดับนั้น พระเจ้ามัททราชทรงส่งช้างตัวประเสริฐ อันประดับแล้วมีควาญช้างประจำพร้อมเสร็จไปถวาย. ท้าวเธอเสด็จขึ้นประทับบนคอช้าง ซึ่งมีเศวตฉัตรอันยกขึ้นแล้ว ตรัสว่า พวกท่านทั้งหลายจงพาพระนางประภาวดีมาเถิด แล้วให้พระนางประทับนั่ง ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ อันจตุรงคินีเสนาแวดล้อม เป็นกระบวนทัพ เสด็จออกทางประตูด้านทิศปราจีน ทอดพระเนตรเห็นกองทัพของข้าศึก จึงเปล่งพระสุรสีหนาทขึ้น ๓ ครั้งว่า เราคือพระเจ้ากุสราช ใครรักชีวิต ก็จงยอมอ่อนน้อมกับเราเสียเถิด แล้วได้ทรงกระทำการปราบปรามกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ก็พระเจ้ากุสราช ครั้นเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างสาร โปรดให้พระนางประภาวดีประทับเบื้องหลัง แล้วเสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงบันลือพระสุรสีหนาท
กษัตริย์ ๗ พระนครทรงสดับพระสุรสีหนาทของพระเจ้ากุสราช ผู้บันลืออยู่ ถูกความกลัวแต่เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว พากันแตกหนีไป เหมือนดังฝูงมฤค พอได้ยินเสียงของราชสีห์ก็พากันหนีไป ฉะนั้น
พวกพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ผู้อันความกลัวแต่เสียงพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว ก็พากันแตกตื่นเหยียบย่ำกันและกัน ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทรงมีชัยในท่ามกลางสงครามนั้น มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงพระราชทานแก้วมณี อันรุ่งโรจน์ดวงหนึ่งแก่พระเจ้ากุสราช
พระเจ้ากุสราชทรงชนะสงคราม ได้แก้วมณีอันรุ่งโรจน์แล้ว เสด็จประทับบนคอช้างสาร เสด็จเข้าสู่พระนคร รับสั่งให้จับกษัตริย์ ๗ พระนครทั้งเป็น ให้มัดนำเข้าถวายพระสัสสุระ ทูลว่า ขอเดชะ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ ศัตรูทั้งหมดซึ่งคิดจะกำจัดพระองค์เสียนี้ ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว เชิญทรงกระทำตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำกษัตริย์เหล่านั้นให้เป็นทาสแล้ว จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารเสียตามแต่พระทัยเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปลายึสุ ความว่า กษัตริย์เหล่านั้นไม่อาจจะตั้งสติได้ เป็นผู้มีจิตวิปลาสแตกกระจัดกระจายไป.
บทว่า กุสสท ทภยฏฏิตา ความว่า เป็นผู้ถูกภัยอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยเสียงแห่งพระเจ้ากุสราชกระทบโสตประสาทแล้ว จึงเป็นผู้มีจิตอันหลงลืม.
บทว่า อญญมญญสส ฉินทนติ ความว่า ฆ่าฟันเหยียบย่ำกันเอง. บาลีว่า ภินทึสุ ดังนี้ก็มี.
บทว่า ตสฺมึ ความว่า ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นการบุกรบข้าศึก จนมีชัยของพระมหาสัตว์นั้น ในสงครามครั้งสำคัญ จนแตกไปด้วยอำนาจแห่งเสียงของพระโพธิสัตว์อย่างนี้ ก็มีพระทัยยินดี จึงพระราชทานแก้วมณีดวงหนึ่ง ชื่อว่า เวโรจนะ แก่พระมหาสัตว์เจ้านั้น.
คำว่า พระนคร หมายเอาบุรี คือพระนคร.
บทว่า พนธิตวา ได้แก่ ใช้ผ้าสาฎกของพวกกษัตริย์เหล่านั้น นั่นเองมัดกษัตริย์เหล่านั้นเอาแขนไว้ข้างหลัง.
บทว่า กามํ กโรหิ เต ตฺยา ความว่า พระมหาสัตว์เจ้าทูลว่า ขอพระองค์จงทรงกระทำตามความต้องการ ความปรารถนา ความชอบใจของพระองค์เถิด ด้วยว่ากษัตริย์เหล่านี้ พระองค์กระทำให้เป็นทาสแล้ว.

พระราชาตรัสว่า
กษัตริย์เหล่านี้ เป็นศัตรูของพระองค์ มิได้เป็นศัตรูของหม่อมฉัน ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ (เป็นใหญ่) กว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารศัตรูเหล่านั้น ก็ตามเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวํ โน สพเพสํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ผู้เดียวเท่านั้น ทรงเป็นใหญ่กว่าพวกหม่อมฉัน.

เมื่อพระเจ้ามัททราชตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงทรงพระดำริว่า ประโยชน์อะไร เราจะฆ่าพวกกษัตริย์เหล่านี้ การมาของกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น อย่าได้เปล่าจากประโยชน์เสียเลย พระธิดาของพระเจ้ามัททราช ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางประภาวดี ก็มีอยู่ถึง ๗ พระองค์ เราจักยกพระนางให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาว่า
พระราชธิดาของพระองค์ ล้วนทรงงดงามดังเทพกัญญา มีอยู่ถึง ๗ พระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานแก่กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้น องค์ละองค์ ขอกษัตริย์เหล่านั้นจงเป็นพระชามาดาของพระองค์เถิด.


พระเจ้ามัททราชทรงสดับคำนั้น แล้วก็เต็มพระทัย ที่จะพระราชทานพระธิดาทั้งหลายของพระองค์ จึงตรัสคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เป็นใหญ่กว่าหม่อมฉันทั้งหลาย และแก่พวกลูกของหม่อมฉันทั้งหมด เชิญพระองค์นั่นแหละทรงพระราชทาน พวกลูกของหม่อมฉันแก่กษัตริย์เหล่านั้น ตามพระราชประสงค์เถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวํ โน สพเพสํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งชนชาวแคว้นกุสะ พระองค์พูดอะไร พระองค์ผู้เดียวเป็นใหญ่เหนือพวกหม่อมฉันหมด คือ พระราชาทั้ง ๗ พระนครเหล่านี้ด้วย เหนือหม่อมฉันด้วย และเหนือพวกลูกๆ ของหม่อมฉันเหล่านี้ด้วย.
บทว่า ยทิจฉสิ ความว่า พระองค์ทรงประสงค์พระธิดาพระองค์ใด เพื่อกษัตริย์พระองค์ใด ก็จงประทานพระธิดาองค์นั้น แก่กษัตริย์พระองค์นั้นเถิด.
พระมหาสัตว์เจ้าจึงตรัสสั่งให้พวกเจ้าพนักงานตกแต่งพระธิดาของพระเจ้ามัททราชทั้ง ๗ พระองค์เหล่านั้น แล้วพระราชทานแก่พระราชาทั้ง ๗ พระองค์นั้นองค์ละองค์.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา ๕ พระคาถาว่า
ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ ได้ทรงยกพระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ประทานให้แก่กษัตริย์ ๗ พระองค์นั้น องค์ละองค์
กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ ทรงอิ่มพระทัยด้วยลาภนั้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ แล้วพากันเสด็จกลับไปยังพระนครของตนๆ ในขณะนั้นทีเดียว
ฝ่ายพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระกำลังมาก ทรงพาพระนางประภาวดี และดวงแก้วมณีอันงามรุ่งโรจน์ เสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี เมื่อพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีทั้ง ๒ พระองค์นั้น ประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน มิได้ทรงงดงามยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
พระมารดาของพระมหาสัตว์ และพระชยัมบดีราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร แล้วเสด็จกลับพระนคร พร้อมด้วยพระราชโอรส
ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดี ให้รุ่งเรืองตลอดมา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปีณิตา ได้แก่ ทรงเอิบอิ่ม.
บทว่า ปายึสุ ความว่า กษัตริย์เหล่านั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้เป็นจอมแห่งชนชาวกุสะ ประทานโอวาทว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายพึงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้ว ก็พากันกลับไป.
บทว่า อคมาสิ ความว่า ฝ่ายพระเจ้ากุสราชเสด็จพักอยู่ประมาณ ๒-๓ วัน ก็ทูลลาพระสัสสุระว่า หม่อมฉันจักกลับไปยังพระนครของหม่อมฉัน แล้วก็เสด็จกลับ.
บทว่า เอกรเถ ยนฺตา ได้แก่ พระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีแม้ทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จขึ้นสู่ราชรถคันเดียวกันเสด็จไป.
บทว่า สมานา วณณรูเปน ความว่า ทรงทัดเทียมเสมอกันด้วยผิวพรรณ และพระรูปโฉม.
บทว่า นาญญมญญมติโรจยํ ความว่า องค์หนึ่งจะงดงามกว่าองค์หนึ่งก็หามิได้.
ได้ยินว่า พระมหาสัตว์มีพระรูปโฉมงดงาม มีผิวพรรณดุจดังสีทอง ถึงความเป็นผู้ล้ำเลิศด้วยความงาม เพราะอานุภาพของแก้วมณี.
บทว่า สํคญฉิ ความว่า ลำดับนั้น พระมารดาของพระมหาสัตว์เจ้านั้น ทรงสดับว่า พระมหาสัตว์เสด็จกลับมา จึงให้พวกราชบุรุษตีกลองป่าวร้องไปทั่วพระนคร แล้วทรงถือเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก เสด็จออกไปต้อนรับ แล้วเสด็จกลับมาด้วยกัน. ก็พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นทรงกระทำประทักษิณพระนครพร้อมกับพระชนนี ตรัสให้เล่นการมหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วเสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาทอันประดับประดาแล้ว. พระภัสดาและพระชายา แม้ทั้ง ๒ พระองค์นั้น ก็ได้มีความสามัคคีกัน. ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดี ก็ทรงสมัครสมานสามัคคีกัน ทรงรื่นเริงบันเทิงอยู่ ทรงปกครองแผ่นดินให้รุ่งเรืองสุขสำราญ ตลอดพระชนมายุทั้ง ๒ พระองค์ ด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เบื่อหน่ายในธรรมวินัยรูปนั้น ก็บรรลุโสดาปัตติผล
แล้วทรงประชุมชาดกว่า
พระชนนีและพระชนกนาถของพระเจ้ากุสราช ในกาลนั้น คือตระกูลมหาราช ในบัดนี้
ชยัมบดีราชกุมารผู้เป็นอนุชาของพระเจ้ากุสราช ในกาลนั้น คือ พระอานนท์ ในบัดนี้
นางค่อม คือ นางขุชชุตตราอุบาสิกา ในบัดนี้
พระนางประภาวดี คือ พระมารดาของพระราหุล ในบัดนี้
บริษัทที่เหลือในกาลนั้น ได้เป็นพุทธบริษัท
ส่วนพระเจ้ากุสราช ก็คือ เราตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา กุสชาดก จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280090อรรถกถาชาดก 280094
เล่มที่ 28 ข้อ 94อ่านชาดก 280134อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=28&A=734&Z=942
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]